ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 569อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 580อ่านอรรถกถา 35 / 589อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
มรรควิภังค์ อภิธรรมภาชนีย์ อัฏฐังคิกวาร

               วรรณนาอภิธรรมภาชนีย์               
               ในอภิธรรมภาชนีย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสคำว่า อริโย ตรัสแต่คำว่า มรรคมีองค์ ๘ ดังนี้. ถึงไม่ตรัสว่าอริยะก็ตาม มรรคมีองค์ ๘ นี้ ก็เป็นอริยมรรคโดยแท้.
               เหมือนอย่างว่า บุตรของพระราชาผู้มุรธาภิเษกแล้ว ซึ่งเกิดในครรภ์ของพระเทวีผู้มุรธาภิเษกแล้ว แม้ใครๆ ไม่กล่าวว่า ราชบุตร เขาก็ย่อมเป็นราชบุตรนั่นแหละฉันใด แม้อริยมรรคนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ตรัส คำว่า อริยะ ก็พึงทราบว่า มรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นอริยมรรคโดยแท้. คำที่เหลือแม้ในที่นี้ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในสัจจวิภังค์นั่นแหละ. แม้ในปัญจังคิกวาระ ถึงจะไม่ตรัสว่า มรรคมีองค์ ๘ ก็พึงทราบว่า มรรคนั้น มีองค์ ๘ เหมือนกัน. เพราะว่า ธรรมดาว่าโลกุตตรมรรคประกอบเพียงองค์ ๕ มิได้มี.
               ในอธิการนี้ พึงทราบอรรถกถาอันมีอยู่แห่งอาจารย์ทั้งหลายต่อไป :-
               ก็อาจารย์วิตัณฑวาที (อาจารย์ผู้มีปกติกล่าวเคาะ) กล่าวว่า แม้โลกุตตรมรรคชื่อว่า ประกอบด้วยองค์ ๘ มิได้มี มีแต่ประกอบด้วยองค์ ๕ เท่านั้น ถูกโต้ว่า จงนำสูตรมาอ้าง อาจารย์วิตัณฑวาทีนั้น เมื่อไม่เห็นสูตรอื่นจริงๆ ก็จักนำส่วนแห่งสูตรนี้มาอ้าง เพราะเป็นมหาสฬายตนสูตร. คือว่า ทิฏฐิแห่งภิกษุผู้มีความเห็นอย่างนั้นใด ทิฏฐิของภิกษุนั้น จึงชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ. สังกัปปะ วายามะ สติ สมาธิแห่งความเห็นอย่างนั้น ย่อมมีแก่ภิกษุนั้นใด สมาธิของภิกษุนั้นนี้ ก็ชื่อว่าสัมมาสมาธิ. ด้วยว่ากายกรรม วจีกรรม อาชีวะของภิกษุนั้น ย่อมเป็นธรรมบริสุทธิ์ดีแล้ว ในกาลก่อนนั่นแหละ.
               ลำดับนั้น เขาพึงท้วงอาจารย์วิตัณฑวาทีว่า ขอจงนำบทแห่งสูตรถัดไปมา. ถ้าอาจารย์วิตัณฑวาทีนำเนื้อความมาอ้างได้ นั่นเป็นการดี ถ้านำมาอ้างไม่ได้ ก็พึงนำมากล่าวเองว่า
               "วาทะของอาจารย์วิตัณฑวาทีนั้นแตกแยกออกไปจากคำสั่งสอนของพระศาสดา ที่ตรัสว่า อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ย่อมถึงความเต็มรอบด้วยภาวนาแก่ภิกษุนั้น เพราะฉะนั้น โลกุตตรมรรคจึงชื่อว่า ประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่มี คงมีแต่ประกอบด้วยองค์ ๘ เท่านั้น".
               ก็องค์ ๓ เหล่านี้ (กายกรรม วจีกรรม อาชีวะ) ย่อมเป็นธรรมบริสุทธิ์แล้ว เป็นไปก่อน แต่ย่อมเป็นธรรมบริสุทธิ์ยิ่งในขณะแห่งโลกุตตรมรรคแล.
               ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ คำว่า มรรคประกอบด้วยองค์ ๕ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาแล้ว เพื่อประโยชน์อะไร.
               ตอบว่า เพื่อแสดงกิจอันยิ่ง (พิเศษ).
               จริงอยู่ ในสมัยใด ย่อมละมิจฉาวาจา ย่อมยังสัมมาวาจาให้บริบูรณ์ ในสมัยนั้น สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะชื่อว่า ย่อมไม่มี. องค์ ๕ เหล่านี้จึงเป็นองค์ที่เป็นเหตุให้ละมิจฉาวาจา. ก็สัมมาวาจา ย่อมบริบูรณ์ (เต็ม) เอง ด้วยสามารถแห่งวิรตี. ในสมัยใดย่อมละมิจฉากัมมันตะ ย่อมบำเพ็ญสัมมากัมมันตะ ในสมัยนั้น สัมมาวาจา สัมมาอาชีวะมิได้มี. องค์ ๕ อันเป็นเหตุเหล่านี้นั่นแหละ ย่อมละมิจฉากัมมันตะ. ก็สัมมากัมมันตะ ย่อมบริบูรณ์เอง ด้วยอำนาจแห่งวิรตี. ในสมัยใดย่อมละมิจฉาอาชีวะ ย่อมบำเพ็ญสัมมาอาชีวะ สมัยนั้น ไม่มีสัมมาวาจา และสัมมากัมมันตะ. องค์ ๕ อันเป็นเหตุเหล่านี้นั่นแหละ ย่อมละมิจฉาอาชีวะ. ย่อมบริบูรณ์เองด้วยสามารถแห่งวิรตี. เพื่อแสดงซึ่งความที่ธรรม ๕ เหล่านี้ เป็นองค์ที่เป็นเหตุและเป็นธรรมพิเศษโดยกิจนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงถือเอาศัพท์ว่า มรรคประกอบด้วยองค์ ๕ ดังนี้.
               จริงอยู่ โลกุตตรมรรคย่อมประกอบด้วยองค์ ๘ เท่านั้น มิได้ชื่อว่า ประกอบด้วยองค์ ๕. ถ้าเขากล่าวว่า ไม่แน่ว่ามรรคประกอบด้วยองค์ ๕. ถ้าเขากล่าวว่า ไม่แน่ว่ามรรคประกอบด้วยองค์ ๘ โดยรวมสัมมาวาจาเป็นต้น เพราะความที่วิรตีนี้ มีเจตนามาก คือ สัมมาวาจามีเจตนา ๔ สัมมากัมมันตะ ๓ สัมมาอาชีวะ ๗ เหตุนั้น จึงกล่าวว่าโลกุตตรมรรค ประกอบด้วยองค์ ๕ เท่านั้น ดังนี้จะพึงแก้อย่างไร?
               ข้าพเจ้าจักเปลื้อง แม้เพราะความที่วิรตีเป็นธรรมมีเจตนามากด้วย จักกล่าวว่าโลกุตตรมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ด้วย. เบื้องต้น พึงถามเขาว่า ท่านอ่านคัมภีร์มหาจัตตารีสะหรือไม่ ถ้าเขาตอบว่าไม่ พึงกล่าวว่า ท่านไม่ทราบเพราะมิได้ศึกษาไว้. ถ้าเขากล่าวว่า อ่าน (ท่องไว้) ก็พึงพูดว่าจงนำสูตรมาอ้าง. ถ้าเขานำสูตรมา ข้อนั้นเป็นการดี. ถ้าไม่นำมา พึงนำมาเองจากอุปริปัณณาสก์ ดังต่อไปนี้.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจา เป็นไฉน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวสัมมาวาจา ๒ อย่าง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาวาจาอันเป็นไปกับด้วยอาสวะเป็นส่วนแห่งบุญ เป็นผลแห่งอุปธิ (เป็นผลให้เกิดอุปธิ) มีอยู่. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาวาจาเป็นอริยะ ไม่เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นมัคคังคะ มีอยู่.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจา อันมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ เป็นผลแห่งอุปธิ เป็นไฉน. เจตนาเป็นเครื่องงดเว้น จากมุสาสวาท จากปิสุณาวาท จากผรุสวาท จากสัมผัปปลาปะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาวาจานี้เป็นไปกับด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ เป็นผลวิเศษแล้วแห่งอุปธิ.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจา เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นมัคคังคะ เป็นไฉน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การงด การเว้น การเว้นขาด เจตนาเป็นเครื่องดเว้น จากวจีทุจริต ๔ อันใดแล ของอริยจิต ของจิตอันหาอาสวะมิได้ ของผู้พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค ของผู้เจริญอริยมรรค ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาวาจานี้ เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นมังคังคะ.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวสัมมากัมมันตะ ๒ อย่าง ฯลฯ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน. สัมมากัมมันตะเป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ ฯลฯ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาอาชีวะเป็นไฉน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวสัมมาอาชีวะ ๒ อย่าง ฯลฯ
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาอาชีวะเป็นไฉน. เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นมัคคังคะ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การงด การเว้น การเว้นขาด เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากมิจฉาอาชีวะ อันใดแล ของอริยจิต ของจิตอันหาอาสวะมิได้ ของการพรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค ของผู้เจริญอริยมรรค. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาอาชีวะนี้ เรากล่าวว่า เป็นอริยะ เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นมัคคังคะ ดังนี้.
               ในอธิการนี้ การงดเว้นแต่ละอย่าง คือจากวจีทุจริต ๔ กายทุจริต ๓ และมิจฉาอาชีวะ เรากล่าวว่า เป็นอริยะ เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นมังคังคะ (องค์แห่งมรรค) ดังนี้. ในฐานะเช่นนี้ ความเป็นผู้มากด้วยเจตนาจักมีแต่ที่ไหน มรรคประกอบด้วยองค์ ๕ จักมีแต่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงสูตรนี้แก่ผู้ไม่มีความห่วงใยว่า โลกุตตรมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ดังนี้. ถ้าเขากำหนดได้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ไซร้ ข้อนั้นเป็นการดี. ถ้าเขากำหนดไม่ได้ พึงนำเหตุแม้เหล่าอื่นมาให้เข้าใจ.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ไว้ว่า ดูก่อนสุภัททะ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ไม่มีในธรรมวินัยใดแล แม้สมณะก็ไม่มีในธรรมวินัยนั้น ฯลฯ ดูก่อนสุภัททะ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ มีในธรรมวินัยใดแล ดูก่อนสุภัททะ สมณะก็ย่อมมีในธรรมวินัยนั้นนั่นแหละ ฯลฯ ลัทธิของผู้อื่น (ปรับปวาท) ว่างจากสมณะ ดังนี้. มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ มาแล้วในสูตรแม้เหล่าอื่นก็มีเป็นอเนก นับเป็นร้อย.

               มรรค ๘ ในกถาวัตถุปกรณ์               
               แม้ในกถาวัตถุปกรณ์ ท่านสกวาทยาจารย์ก็ได้กล่าวอ้างพุทธพจน์ว่า
                         มคฺคานฏฺฐงฺคิโก เสฏฺโฐ  สจฺจานํ จตุโร ปทา
                         วิราโค เสฏฺโฐ ธมฺมานํ   ทฺวิปทานญฺจ จกฺขุมา

               บรรดามรรค (ทาง) ทั้งหลาย มรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประเสริฐที่สุด บรรดาสัจจะทั้งหลาย บทสี่ประเสริฐที่สุด บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะประเสริฐที่สุด บรรดาสัตว์สองเท้าทั้งหลาย พระตถาคตผู้มีจักษุประเสริฐที่สุด ดังนี้ เป็นสูตรมีอยู่จริง มิใช่หรือ.
               ท่านปรวาทยาจารย์ ตอบรับรองว่า ใช่.
               ท่านสกวาทยาจารย์ จึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น มรรคก็ประกอบด้วยองค์ ๘ ดังนี้.
               ก็ถ้าเขาไม่เข้าใจแม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ได้ไซร้ พึงส่งเธอไปด้วยคำว่า เธอจงเข้าไปสู่วิหารดื่มข้าวยาคูเถิด (การรับประทานอาหารทำให้เกิดปฏิภาณได้). การที่จะกล่าวเหตุผลให้มากกว่านี้ เป็นอฐานะ แล. คำที่เหลือในที่นี้ มีอรรถตื้นทั้งนั้น.
               ในที่นี้ บัณฑิตพึงนับนัยทั้งหลาย ดังนี้.
               ก็ในมรรคทั้ง ๔ ท่านจำแนกไว้ ๔,๐๐๐ นัย ในการถามรวมกัน ตอบรวมกัน ในมรรคประกอบด้วยองค์ ๘. ในมรรคประกอบด้วยองค์ ๕ ในการถามรวมกัน ตอบรวมกัน ท่านจำแนกไว้ ๔,๐๐๐ นัย แต่ในการถามแยกกัน ตอบแยกกัน ท่านจำแนกไว้อย่างละ ๔,๐๐๐ นัย รวมในองค์ทั้ง ๕ จึงเป็น ๒๐,๐๐๐ นัย.
               อนึ่ง นัยทั้งหมด ท่านจำแนกไว้ในมัคควิภังค์ ๒๘,๐๐๐ นัย คือ ๘,๐๐๐ นัยในก่อน รวมกับ ๒,๐๐๐ นัยหลังนี้ด้วยประการฉะนี้. ก็กุศลทั้งหลายเหล่านั้นแล เป็นโลกุตตระที่เกิดขึ้นแล้ว. แต่การนับนัยในวิปากะ พึงทำนัยทั้งหลายแห่งกุศล แล้วคูณด้วย ๓ แล.
               วรรณนาอภิธรรมภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ มรรควิภังค์ อภิธรรมภาชนีย์ อัฏฐังคิกวาร จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 569อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 580อ่านอรรถกถา 35 / 589อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=7559&Z=7609
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=8100
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=8100
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :