ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 462อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 465อ่านอรรถกถา 35 / 483อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
สัมมัปปธานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

               อรรถกถาสัมมัปปธานวิภังค์               
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในสัมมัปปธานวิภังค์ อันเป็นลำดับแห่งสติปัฎฐานวิภังค์นั้นต่อไป.
               คำว่า ๔ เป็นคำกำหนดจำนวน. ด้วยคำนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงการกำหนดสัมมัปปธานว่า มีไม่ต่ำกว่านั้น ไม่เกินกว่านั้น ดังนี้.
               คำว่า สมฺมปฺปธานา ได้แก่ ความเพียรที่เป็นเหตุ ความเพียรที่เป็นอุบาย ความเพียรโดยแยบคาย.
               คำว่า อิธ ภิกฺขุ ได้แก่ ภิกษุผู้ปฏิบัติในพระศาสนานี้.
               คำว่า อนุปฺปนฺนานํ ได้แก่ ที่ยังไม่เกิดขึ้น.
               คำว่า ปาปกานํ ได้แก่ อันลามก.
               คำว่า อกุสลานํ ธมฺมานํ ได้แก่ ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลในอรรถว่าไม่ฉลาด.
               คำว่า อนุปฺปาทาย ได้แก่ เพื่อต้องการไม่ให้เกิดขึ้น.
               คำว่า ฉนฺทํ ชเนติ ได้แก่ ย่อมยังฉันทะในกุศล กล่าวคือความเป็นผู้ใคร่เพื่อกระทำให้เกิด คือให้บังเกิดขึ้น.
               คำว่า วายมติ ได้แก่ ย่อมทำความบากบั่นประกอบความเพียร.
               คำว่า วิริยํ อารภติ ได้แก่ ทำความเพียรอันเป็นไปทางกายและทางจิต.
               คำว่า จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ได้แก่ ย่อมยกจิตขึ้นด้วยความเพียรอันเป็นสหชาตินั้น นั่นแหละ.
               คำว่า ปทหติ ได้แก่ ย่อมทำความเพียรอันเป็นประธาน.
               อนึ่ง บทแม้ทั้ง ๔ เหล่านี้ พึงประกอบโดยการเสพ การเจริญ การกระทำให้มากและการกระทำให้ติดต่อกันไป โดยลำดับ.
               คำว่า อุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ ได้แก่ บาปธรรมอันถึงซึ่งคำอันบุคคลไม่ควรกล่าวว่ายังไม่เกิดขึ้น.
               คำว่า ปหานาย ได้แก่ เพื่อต้องการแก่การละ.
               คำว่า อนุปฺปนฺนานํ กุสลานํ ธมฺมานํ ได้แก่ กุศลธรรมทั้งหลายอันยังไม่เกิดขึ้น.
               คำว่า อุปฺปาทาย ได้แก่ เพื่อต้องการให้เกิดขึ้น.
               คำว่า อุปฺปนฺนานํ ได้แก่ บังเกิดขึ้นแล้ว.
               คำว่า ฐิติยา ได้แก่ เพื่อความดำรงอยู่.
               คำว่า อสมฺโมสาย ได้แก่ เพื่อความไม่เสื่อมไป.
               คำว่า ภิยฺโยภาวาย ได้แก่ เพื่อความเจริญบ่อยๆ.
               คำว่า เวปุลฺลาย ได้แก่ เพื่อความไพบูลย์.
               คำว่า ภาวนาย ได้แก่ เพื่อความเจริญ.
               คำว่า ปริปูริยา ได้แก่ เพื่อความบริบูรณ์.
               นี้เป็นการยกอรรถอันประกอบด้วยบทเฉพาะขึ้นไว้ ด้วยสามารถแห่งอุทเทสวาระแห่งสัมมัปปธาน ๔ ก่อน.

               วรรณนาตามพระบาลีนิทเทสวาระ               
               บัดนี้ เพื่อทรงแสดงจำแนกบทเหล่านั้นโดยลำดับ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มนิทเทสวาระ โดยนัยว่า "กถญฺจ ภิกฺขุ อนุปฺปนฺนานํ" เป็นอาทิ. ในนิทเทสวาระนั้น บทใดเช่นกับบทที่มีมาแล้วในธัมมสังคหะ บทนั้นพึงทราบโดยนัยที่ท่านกล่าวแล้ว ในการวรรณนาธัมมสังคหะนั้นเถิด แต่ว่า บทใดไม่มาในธัมมสังคหะนั้น พึงทราบในฉันทนิทเทสในพระบาลีนั้น ดังต่อไปนี้.

               ฉันทนิทเทส               
               คำว่า โย ฉนฺโท ได้แก่ ฉันทะ ด้วยความสามารถแห่งการตั้งไว้ซึ่งความพอใจ อันใด.
               คำว่า ฉนฺทิกตา ได้แก่ ความเป็นผู้ประกอบด้วยฉันทะ หรืออาการแห่งการกระทำฉันทะ.
               คำว่า กตฺตุกมฺมยตา ได้แก่ ความเป็นผู้ใคร่เพื่อทำ.
               คำว่า กุสโล ได้แก่ ผู้ฉลาด.
               คำว่า ธมฺมจฺฉนฺโท ได้แก่ ฉันทะ อันเป็นสภาวะ.
               จริงอยู่ ชื่อว่าฉันทะนี้มีประการต่างๆ มากอย่าง คือ ตัณหาฉันทะ ทิฏฐิฉันทะ วิริยฉันทะ ธัมมฉันทะ.
               ในฉันทะเหล่านั้น คำว่า ธมฺมฉนฺโท ท่านประสงค์เอาฉันทะในธรรมอันเป็นกุศลของผู้ใคร่เพื่อกระทำในที่นี้.
               คำว่า อิมํ ฉนฺทํ ชเนติ ได้แก่ ผู้ทำอยู่ซึ่งฉันทะนั่นแหละ ชื่อว่าย่อมยังฉันทะให้เกิด.
               คำว่า สญฺชเนติ ได้แก่ บท (ชเนติ) นั้น ท่านเพิ่มบทอุปสรรค.
               คำว่า อุฏฺฐาเปติ ได้แก่ ผู้ทำฉันทะอยู่นั้นแหละ ชื่อว่าย่อมให้ฉันทะตั้งขึ้น.
               คำว่า สมุฏฺฐาเปติ ได้แก่ บท (อุฏฺฐาเปติ) นั้น ท่านเพิ่มบทอุปสรรค.
               คำว่า นิพฺพตฺเตติ ได้แก่ ผู้ทำฉันทะอยู่อย่างนั้น ชื่อว่าย่อมให้ฉันทะนั้นบังเกิด.
               คำว่า อภินิพฺพตฺเตติ ได้แก่ บท (นิพฺพตฺเตติ) นั้น ท่านเพิ่มบทอุปสรรค.
               อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุผู้ทำฉันทะนั่นแหละ ชื่อว่าย่อมให้ฉันทะเกิด ผู้ทำฉันทะนั้นนั่นแหละให้ติดต่อกันไป ชื่อว่าย่อมให้ฉันทะเกิดด้วยดี ผู้ยกขึ้นอีกซึ่งฉันทะอันตกไปแล้วด้วยอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าย่อมให้ฉันทะตั้งขึ้น, ผู้ยังฉันทะอันตั้งมั่นติดต่อกันไปให้ถึงอยู่ ชื่อว่าย่อมให้ฉันทะตั้งขึ้นด้วยดี, ผู้ทำฉันทะนั้นให้ปรากฏ ชื่อว่าย่อมให้บังเกิด ผู้ให้ฉันทะบังเกิดขึ้นด้วยความเป็นใหญ่ยิ่ง เพราะความไม่ท้อถอย เพราะความไม่หดหู่เป็นไป จึงชื่อว่าย่อมให้บังเกิดอย่างยิ่ง.

               วิริยนิทเทส               
               ในนิทเทสแห่งวิริยะ พระโยคาวจรผู้ทำความเพียรอยู่นั่นแหละ ชื่อว่าปรารภความเพียร. บทที่ ๒ ท่านทำให้เจริญด้วยอุปสรรค. เมื่อทำความเพียรอยู่นั่นแหละ ชื่อว่าย่อมเสพ ย่อมเจริญ. เมื่อทำความเพียรบ่อยๆ ชื่อว่าทำให้มาก. เมื่อทำตั้งแต่ต้นเทียว ชื่อว่าย่อมปรารภ. เมื่อทำบ่อยๆ ชื่อว่าปรารภด้วยดี. เมื่อซ่องเสพด้วยสามารถแห่งภาวนา ชื่อว่าย่อมเสพ. เมื่อให้เจริญอยู่ ชื่อว่าย่อมเจริญ. เมื่อทำสิ่งนั้นนั่นแหละในกิจทั้งปวงให้มาก พึงทราบว่า ย่อมกระทำให้มาก ดังนี้.

               จิตตปัคคหนิทเทส               
               ในนิทเทสแห่งการประคองจิตไว้ พระโยคาวจรผู้ประกอบโดยการประคับประคองซึ่งความเพียร ชื่อว่าย่อมประคองจิตไว้. อธิบายว่า ยกจิตขึ้น. เมื่อประคับประคองจิตบ่อยๆ ชื่อว่าย่อมประคองจิตไว้ด้วยดี. จิตอันบุคคลประคับประคองไว้ด้วยดี ย่อมไม่ตกไปโดยประการใด เมื่ออุปถัมภ์ฐานะโดยประการนั้น โดยการอุปถัมภ์ด้วยความเพียร ชื่อว่าอุปถัมภ์อยู่ เมื่ออุปถัมภ์จิตแม้อันท่านอุปถัมภ์แล้วบ่อยๆ เพื่อความมั่นคง ชื่อว่าย่อมค้ำชูซึ่งจิตนั้น.
               ในนิทเทสแห่งบทว่า "ฐิติยา" พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงแสดงซึ่งคำไวพจน์ของคำว่า ฐิติ๑- (ความดำรงอยู่) แม้แห่งธรรมทั้งหมดมีความไม่สาบสูญเป็นต้น จึงตรัสคำว่า "ยา ฐิติ โส อสมฺโมโส" เป็นอาทิ (แปลว่าความดำรงอยู่อันใด นั้นคือความไม่สาบสูญเป็นต้น). อันที่จริง ในข้อนี้ แม้จะกล่าวว่า บทหลังๆ เป็นคำอธิบายเนื้อความของบทหน้าๆ และบทหน้าๆ เป็นคำอธิบายเนื้อความของบทหลังๆ ดังนี้ก็ควร. คำที่เหลือในที่ทั้งปวงมีอรรถตื้นทั้งนั้นแล. นี้เป็นการวรรณนาตามพระบาลีก่อน.
____________________________
๑- คำไวพจน์ของฐิติ คือ ความไม่สาบสูญ ความภิญโญยิ่ง ความเจริญ ความบริบูรณ์.

               วินิจฉัยกถาพระบาลี               
               ก็พึงทราบวินิจฉัยกถาในพระบาลีต่อไป.
               จริงอยู่ สัมมัปปธานกถานี้มี ๒ อย่าง คือเป็นโลกียะอย่างหนึ่ง เป็นโลกุตตระอย่างหนึ่ง. ในสองอย่างนั้น สัมมัปปธานที่เป็นโลกิยะย่อมมีในบุพภาคทั้งหมด. สัมมัปปธานนั้น พึงทราบในขณะที่เป็นโลกิยมรรค โดยปริยายแห่งกัสสปสังยุต.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า "ดูก่อนอาวุโส บรรดาธรรมเหล่านั้น สัมปปธานนี้มี ๔. สัมมัปธาน ๔ เป็นไฉน? ดูก่อนอาวุโส ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมทำความเพียรเผากิเลส ด้วยการคิดว่า "อกุศลธรรมอันลามกของเราที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดพึงเป็นไปเพื่อความฉิบหาย" ดังนี้. เธอย่อมทำความเพียรเผากิเลส ด้วยคิดว่า "อกุศลธรรมอันลามกของเราที่เกิดขึ้นแล้ว อันเราไม่ละเสีย ก็จะพึงเป็นไปเพื่อความพินาศ" ดังนี้. เธอย่อมทำความเพียร ด้วยคิดว่า "กุศลธรรมทั้งหลายของเรา ที่ยังไม่เกิด เมื่อไม่เกิดขึ้นพึงเป็นไปเพื่อความพินาศ" ดังนี้. เธอย่อมทำความเพียรเผากิเลส ด้วยการคิดว่า "กุศลธรรมทั้งหลายของเรา ที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อดับไป (หมายความถึงการเสื่อมไป) ก็จะพึงเป็นไปเพื่อความพินาศ" ดังนี้.
               ก็ในคำว่า "กุศลธรรมของเราที่ยังไม่เกิดขึ้น" นี้ ได้แก่ สมถวิปัสสนา และมรรค.
               สมถวิปัสสนานั่นแหละ ชื่อว่า กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนมรรคเกิดครั้งเดียวแล้วก็ดับไป ย่อมชื่อว่าไม่เป็นไปเพื่อความพินาศ เพราะว่ามรรคนั้น ให้ความเป็นปัจจัยแก่ผลเท่านั้นแล้ว ก็ดับไป.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวไว้ว่า สมถวิปัสสนาในกุศลอันมีมาก่อนนั้นแหละก็พึงถือเอา. แต่ข้อนั้นหาควรไม่ เพราะบรรดากุศลธรรมทั้งหลายมีสมถวิปัสสนาและมรรคนั้น สมถวิปัสสนาอันเกิดขึ้นแล้ว เมื่อดับไปย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศ แล.
               เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งเนื้อความ พึงทราบเรื่องต่อไปนี้
               ได้ยินว่า พระเถระผู้ขีณาสพองค์หนึ่ง กับสามเณรผู้ได้สมาบัติเป็นผู้ถือภัณฑะ มาสู่มหาวิหารจากชนบท ท่านคิดว่า "เราจักไหว้พระเจดีย์และมหาโพธิ์" ดังนี้ แล้วได้เข้าไปสู่ปิงครบริเวณ. เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ไหว้พระเจดีย์อยู่ในเวลาเย็น ท่านมิได้ออกไปเพื่อจะไหว้พระเจดีย์. ถามว่า เพราะเหตุใด. ตอบว่า เพราะพระขีณาสพทั้งหลายเป็นผู้เคารพในพระรัตนตรัยมาก ฉะนั้น เมื่อภิกษุสงฆ์ไหว้แล้วหลีกไปแล้ว พระเถระจึงคิดว่า "ในเวลาที่มนุษย์ทั้งหลายกินถั่ว (ของกินหลังอาหาร) ตอนเย็น เราจักไม่ให้ใครๆ รู้ แม้แต่สามเณร แล้วจักไปไหว้พระเจดีย์" ดังนี้ เป็นผู้เดียวเท่านั้นออกไปแล้ว.
               สามเณรคิดว่า "เหตุอะไรหนอ พระเถระจึงเป็นผู้เดียวไปในเวลาที่ไม่สมควร เราจักทราบเหตุนั้น" จึงติดตามอุปัชฌาย์ของตนออกไป. พระเถระไม่พิจารณา จึงไม่ทราบการมาของสามเณรนั้น ท่านได้ขึ้นไปสู่ลานของพระมหาเจดีย์ทางประตูด้านทิศทักษิณ. แม้สามเณรก็ขึ้นไปตามทางนั้นเหมือนกัน. พระมหาเถระแลดูพระมหาเจดีย์แล้วถือเอาปีติอันมีพุทธคุณเป็นอารมณ์ แล้วก็ประมวลมาซึ่งพุทธคุณทั้งปวงด้วยใจ เป็นผู้ยินดีแล้ว ยินดียิ่งแล้วไหว้พระมหาเจดีย์อยู่. แม้สามเณรเห็นอาการคือกิริยาที่ไหว้ของพระเถระแล้ว จึงคิดว่า "อุปัชฌาย์ของเรามีจิตเลื่อมใสอย่างยิ่งไหว้อยู่ ท่านได้ดอกไม้แล้วหรือ จึงทำการบูชา" ดังนี้. เมื่อพระเถระไหว้แล้วลุกขึ้นแล้ว ก็ตั้งอัญชลีโดยเคารพ ยืนแลดูพระมหาเจดีย์อยู่ สามเณรจึงกระแอมไอ ให้พระเถระทราบความที่ตนมาแล้ว.
               พระเถระหันมาดูแล้วถามว่า "เธอมาเมื่อไร" สามเณรจึงเรียนว่า "ท่านขอรับในกาลที่ท่านไหว้พระเจดีย์ ท่านมีจิตเลื่อมใสอย่างยิ่งไหว้พระเจดีย์ ท่านได้ดอกไม้ทั้งหลายบูชาหรือ" พระเถระกล่าวว่า "เออ สามเณร ชื่อว่าการบรรจุพระธาตุมีประมาณเท่านี้ ในที่ใดที่หนึ่งเหมือนพระเจดีย์นี้มิได้มีมหาสถูปเห็นปานนี้ไม่เป็นเช่นกับสถูปอื่น ใครๆ ได้ดอกไม้ทั้งหลายแล้วจะไม่พึงบูชาเล่า"
               สามเณรจึงเรียนว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอท่านจงรอ กระผมจักนำดอกไม้มา" แล้วเข้าฌาน ในขณะนั้นนั่นแหละไปสู่หิมวันต์ด้วยฤทธิ์ ถือเอาดอกไม้ทั้งหลาย อันถึงพร้อมด้วยสีและกลิ่น ให้เต็มธมกรก (กระบอกกรองน้ำ) แล้ว เมื่อพระเถระไปจากมุขด้านทิศใต้ ยังไม่ทันถึงมุขด้านทิศตะวันตก มาแล้ว เรียนท่านว่า "ท่านขอรับ ขอท่านวางธมกรกดอกไม้ที่มือแล้วบูชาเถิด" พระเถระกล่าวว่า "สามเณร ดอกไม้ของเราน้อยมาก" สามเณรเรียนท่านว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงนึกถึงคุณทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วบูชาเถิด."
               พระเถระก้าวขึ้นไปตามบันไดที่ติดมุขทางทิศตะวันตกแล้ว เริ่มกระทำการบูชาด้วยดอกไม้ ณ แท่นบูชา ซึ่งตั้งอยู่ภายในที่นั้นแล พื้นที่แห่งแท่นบูชาก็เต็มไปด้วยดอกไม้ทั้งหลาย และตกลงไปยังพื้นชั้นล่าง ให้เต็มสูงขึ้นมีประมาณถึงหัวเข่า จากนั้น พระเถระก็หยั่งลงสู่ระเบียงเบื้องหลังบนฐานสำหรับบูชาแล้วบูชาอยู่ แม้ดอกไม้ก็เต็มรอบแล้ว พระเถระทราบความที่ดอกไม้เหล่านั้นเต็มรอบแล้ว จึงเกลี่ยดอกไม้ไปในพื้นเบื้องต่ำแล้วจึงไป ลานแห่งพระเจดีย์ทั้งปวงก็มีดอกไม้เต็มรอบแล้ว เมื่อลานพระเจดีย์มีดอกไม้เต็มรอบแล้วจึงกล่าวว่า "สามเณร ดอกไม้ยังไม่หมด" สามเณรเรียนท่านว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงคว่ำธมกรก พระเถระจึงคว่ำปากธมกรกแล้วสะบัด ดอกไม้ทั้งหลายจึงสิ้นไปในกาลนั้น.
               พระเถระให้ธมกรกคืนแก่สามเณรแล้วทำปทักษิณพระเจดีย์เดินไปตามกำแพงประมาณ ๖๐ ศอก แล้วไหว้ในทิศทั้ง ๔ ขณะที่กำลังเดินไปสู่บริเวณ ก็คิดว่า "สามเณรนี้มีฤทธิ์มาก จักอาจเพื่อรักษาอิทธานุภาพนี้ได้ตลอดไปหรือไม่หนอ" ในลำดับนั้นก็ทราบว่า สามเณรนี้จักไม่อาจรักษาฤทธานุภาพไว้ได้ จึงได้กล่าวกะสามเณรว่า "สามเณร บัดนี้เธอมีฤทธิ์มาก แต่ในกาลสุดท้ายที่ฤทธิ์เห็นปานนี้พินาศไปแล้ว เธอจักดื่มน้ำข้าวอันช่างหูกตาบอดข้างหนึ่งเอามือขยำแล้ว" ดังนี้. ก็ข้อที่ฤทธิ์เสื่อมไปนี้ เป็นข้อบกพร่องของความเป็นคนหนุ่ม. สามเณรนั้นสลดจิตด้วยคำของอุปัชฌาย์ ทั้งมิได้กล่าวขอกรรมฐานว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงบอกกรรมฐานแก่กระผม" ดังนี้ แต่คิดว่า "อุปัชฌาย์ของเราพูดอะไร" ได้เดินไปแล้ว เหมือนบุคคลผู้ไม่ได้ยินถ้อยคำนั้น.
               พระเถระครั้นไหว้มหาเจดีย์และมหาโพธิ์แล้ว ให้สามเณรถือบาตรและจีวร ได้ไปสู่มหาวิหารชื่อว่ากุเฏฬิติสสะโดยลำดับ. สามเณรผู้ติดตามอุปัชฌาย์ ไม่ปรารถนาจะเดินไปภิกขาจาร จึงถามท่านว่า ท่านขอรับ ท่านจะเข้าไปสู่บ้านไหน เมื่อทราบว่า บัดนี้ อุปัชฌาย์ของตนจักถึงประตูบ้านแล้ว จึงถือเอาบาตรและจีวรของตนและของอุปัชฌาย์มาทางอากาศ ถวายบาตรและจีวรแก่พระเถระแล้วจึงเข้าไปเพื่อบิณฑบาต. พระเถระได้กล่าวตักเตือนสามเณรตลอดกาลทั้งปวงว่า "สามเณร เธออย่าได้กระทำอย่างนี้ ชื่อว่าฤทธิ์ของปุถุชน เป็นสภาพหวั่นไหว ไม่แน่นอน ได้อารมณ์มีรูปเป็นต้นอันเป็นอสัปปายะแล้ว ย่อมแตกไปโดยเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อสมาบัติอันมีอยู่เสื่อมไปแล้ว ปุถุชนทั้งหลายย่อมไม่อาจตั้งมั่นในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์" ดังนี้.
               สามเณรคิดว่า อุปัชฌาย์ของเราพูดอะไร มิได้ปรารถนาจะฟัง กระทำอยู่อย่างนั้นนั่นแหละ. พระเถระเมื่อทำการไหว้พระเจดีย์โดยลำดับแล้วไปสู่วิหาร ชื่อกัมพุเปณฑวิหาร. เมื่อพระเถระแม้อยู่ในวิหารนั้น สามเณรก็ยังกระทำอยู่อย่างนั้น.
               ภายหลังวันหนึ่ง ธิดาของนายช่างหูกคนหนึ่งซึ่งมีรูปงาม ดำรงอยู่ในปฐมวัยออกจากบ้านที่อาศัยแล้วก้าวลงสู่สระบัวร้องเพลงขับเด็ดดอกบัวอยู่. ก็ในสมัยนั้นสามเณรผู้ไปสู่สระบัวฟังเสียงแห่งเพลงขับของหญิงแล้ว เป็นราวกะว่าแมลงตาบอดติดอยู่ในรสน้ำหวาน ในขณะนั้นทีเดียว ฤทธิ์อันตรธานไปแล้ว ได้เป็นราวกะนกกาปีกขาดฉะนั้น แต่ด้วยกำลังแห่งสมาบัติยังมีอยู่ สามเณรจึงมิได้ตกไปในพื้นน้ำนั้น ได้ยืนอยู่แล้วที่ฝั่งแห่งสระดอกบัว เป็นราวกะว่าปุยไม้งิ้วค่อยๆ ลอยตกไป. สามเณรนั้นกลับมาโดยเร็วแล้วถวายบาตรและจีวรแก่อุปัชฌาย์แล้วก็ไป. พระมหาเถระไม่กล่าวคำอะไรๆ ด้วยคิดว่า "เรื่องนั้นเราเห็นแล้ว แม้เราจะห้ามเธออยู่ก็จะไม่กลับมา" ดังนี้ จึงไปบิณฑบาต. ฝ่ายสามเณรไปยืนอยู่ที่ฝั่งแห่งสระบัว คอยท่าธิดาช่างหูกนั้นขึ้นมาอยู่.
               แต่ธิดานั้นก็เห็นสามเณรผู้ไปทางอากาศและกลับมาอีก ก็ทราบได้ว่า "สามเณรนี้อาศัยเราจึงมีความกระสัน" ดังนี้ จึงกล่าวว่า "สามเณร จงหลีกไป" สามเณรนั้นก็หลีกไป ธิดาช่างหูกขึ้นจากสระบัว นุ่งห่มผ้าแล้วเข้าไปหาสามเณรถามว่า "มีอะไรหรือ" สามเณรนั้นได้บอกเนื้อความนั้นแล้ว ธิดานั้นแม้แสดงโทษในการอยู่ครองเรือนด้วยเหตุมากมาย และแสดงอานิสงส์ในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ตักเตือนอยู่ ก็ไม่อาจเพื่อให้สามเณรนั้นบรรเทาความกระสันได้ จึงคิดว่า "สามเณรนี้เสื่อมจากฤทธิ์เห็นปานนี้เพราะเรา บัดนี้ เราไม่ควรจะทอดทิ้งเธอ" ดังนี้ จึงกล่าวว่า จงยืนอยู่ที่นี่ก่อน แล้วกลับไปบ้าน ได้บอกเรื่องนั้นแก่มารดาและบิดาของเธอ.
               มารดาและบิดาไปแล้วให้โอวาทแก่สามเณรมีประการต่างๆ ได้กล่าวถ้อยคำอันไม่ต้อนรับว่า "ท่านอย่าสำคัญว่าพวกเรามีตระกูลสูง เราทุกคนเป็นช่างหูก ท่านสามารถจะกระทำการงานของช่างหูกได้หรือ" สามเณรกล่าวว่า "ดูก่อนอุบาสก ขึ้นชื่อว่าเป็นคฤหัสถ์ก็ต้องทำอะไรๆ จะเป็นการงานของช่างหูกหรือจะเป็นการงานของคนมัดฟ่อนไม้ก็ตาม ขอท่านอย่าได้หวงผ้าสำหรับนุ่งด้วยเหตุนี้เลย" นายช่างหูกได้ให้ผ้าสาฎกอันพันไว้ที่เอว และนำไปสู่บ้านแล้วยกธิดาให้.
               มาณพนั้น (สามเณรที่สึกแล้ว) เรียนการงานของช่างหูกแล้ว ก็กระทำการงานที่ศาลากับด้วยช่างหูกทั้งหลาย. หญิงทั้งหลายของครอบครัวอื่นจัดแจงอาหารแล้วนำมาแต่เช้าตรู่ แต่ภรรยาของมาณพนั้นยังมิได้มา เมื่อชนทั้งหลายพักการงานบริโภคอาหารกัน มาณพนั้นยังนั่งกรอด้ายอยู่ ภริยาของเขามาในภายหลัง. ลำดับนั้น มาณพนั้นจึงคุกคามภริยาด้วยคำว่า "เธอมาช้าเกินไป".
               ก็ธรรมดามาตุคามทราบจิตอันใครๆ มีความรักในตนแล้ว ย่อมสำคัญบุคคลทั้งหลาย แม้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชว่าเป็นราวกะทาส.
               เพราะฉะนั้น หญิงนั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ในเรือนของชนอื่น เขามีคนนำวัตถุ เครื่องใช้มีฟืน ใบไม้ เกลือเป็นต้น จากภายนอกมาเก็บเตรียมไว้แล้ว ก็ดิฉันเป็นผู้เดียว แม้ท่านก็ไม่รู้ว่า ในบ้านของเรา สิ่งนี้มี สิ่งนี้ไม่มี ถ้าท่านต้องการก็จงบริโภค ถ้าไม่ต้องการก็อย่าบริโภค. มาณพนั้นโกรธแล้วโดยคิดว่า หญิงนี้ไม่ใช่แต่นำอาหารมาในเวลาสายเกินไปอย่างเดียว ยังเสียดสีเราแม้ด้วยวาจาดังนี้ เมื่อไม่เห็นเครื่องประหารอื่น จึงถอดไม้กระสวยทอผ้านั้นนั่นแหละออกแล้วขว้างไป. เมื่อหญิงนั้นกำลังจะหลบอยู่ ปลายท่อนไม้ของกระสวยก็เข้าไปกระทบที่ปลายแห่งลูกตา หญิงนั้นได้เอามือทั้งสองกุมลูกตาโดยเร็ว โลหิตไหลออกแล้วจากที่เป็นที่แตกแล้ว.
               มาณพนั้นระลึกถึงคำของอุปัชฌาย์ได้ในเวลานั้น จึงเริ่มร้องไห้คร่ำครวญด้วยเสียงอันดังว่า "อุปัชฌาย์กล่าวกะเราหมายเอาเหตุนี้ว่า ในอนาคต เธอจักดื่มกินน้ำข้าวที่ช่างหูกตาบอดข้างหนึ่งเอามือขยำ" ดังนี้ เหตุอันนี้จักเป็นอันพระเถระเห็นแล้ว โอ พระผู้เป็นเจ้าเห็นการณ์ไกลหนอ.
               ช่างหูกทั้งหลายเหล่าอื่นกล่าวตอบว่า "อย่าเลยเธอ อย่าร้องไห้ไปเลย ธรรมดาว่า นัยน์ตาแตกแล้ว อันบุคคลผู้ร้องไห้ไม่อาจเพื่อกระทำนัยน์ตาให้เป็นปกติได้. มาณพนั้นกล่าวว่า "กระผมมิได้ร้องไห้เพื่อเหตุนี้ แต่ว่ากระผมร้องไห้หมายเอาเรื่องนี้" แล้วจึงได้บอกความเป็นไปทั้งหมดโดยลำดับแล.
               สมถวิปัสสนาอันเกิดขึ้นแล้ว เมื่อดับไป ย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศดังพรรณนามาฉะนี้.

               อีกเรื่องหนึ่ง               
               ภิกษุประมาณ ๓๐ รูป ไหว้พระมหาเจดีย์อันงดงามแล้วก็ก้าวไปสู่ทางใหญ่ โดยหนทางอันเป็นป่าทึบ ในระหว่างทางได้พบมนุษย์คนหนึ่งผู้ทำการงานในไร่อันไฟไหม้แล้วกำลังเดินทางมา ร่างกายของเขาแปดเปื้อนด้วยเขม่าไฟ เมื่อใครๆ แลดูเขาผู้มีผ้านุ่งอันเปื้อนเขม่าไฟนั่นแหละด้วย ผ้านุ่งที่เขาหนีบไว้ที่รักแร้ผืนหนึ่งด้วย ก็จะปรากฏเป็นราวกะว่าตอไม้อันไฟไหม้แล้ว. เขากระทำการงานในเวลากลางวันเสร็จแล้วจึงยกมัดฟืนซึ่งไฟไหม้แล้วครึ่งหนึ่งขึ้นบนหลัง มีผมอันยุ่งเหยิงเดินมาผิดทาง ได้มาหยุดอยู่ตรงหน้าภิกษุทั้งหลาย.
               พวกสามเณรเห็นแล้วก็แลดูซึ่งกันและกัน แล้วพูดว่า "พ่อของเธอ ปู่ของเธอ ลุงของเธอ." ดังนี้ หัวเราะกันอยู่แล้วถามว่า "ดูก่อนอุบาสก ท่านชื่ออะไร".
               มนุษย์นั้นถูกถามถึงชื่อ ก็มีความเร่าร้อนใจ โยนมัดฟืนทิ้งแล้วจัดแจงนุ่งห่มผ้า ไหว้พระมหาเถระแล้วเรียนว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงหยุดก่อน".
               พระมหาเถระได้หยุดแล้ว พวกสามเณรหนุ่มๆ แม้มาแล้วต่อหน้าพระมหาเถระทั้งหลายก็ยังกระทำความรื่นเริงกัน.
               อุบาสกกล่าวว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกท่านเห็นกระผมแล้วหัวเราะกันใหญ่เข้าใจว่า พวกเราถึงที่สุดแล้ว ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ทีเดียว เมื่อก่อนแม้กระผมก็ได้เป็นสมณะเช่นเดียวกับพวกท่านนั่นแหละ ก็เหตุสักว่าความเป็นเอกัคคตาแห่งจิตของพวกท่านก็ยังไม่มี ส่วนกระผมได้เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากในพระศาสนานี้ กระทำอากาศให้เป็นดังแผ่นดิน กระทำแผ่นดินให้เป็นดังอากาศ ถือเอาระยะทางที่ไกลกระทำให้ใกล้ ทำทางที่ใกล้ให้ไกล ไปได้สู่พันแห่งจักรวาลโดยขณะเดียว ท่านทั้งหลายจงดูมือของกระผม ก็แต่ว่าบัดนี้เป็นเช่นกับมือลิง กระผมนั่งอยู่ในโลกนี้นั่นแหละเอามือทั้งสองลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ได้ กระผมนั่งแล้วกระทำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ให้เป็นดุจพื้นที่สำหรับล้างเท้าก็ได้ ฤทธิ์ของกระผมเห็นปานนี้อันตรธานไปแล้วด้วยความประมาท ขอท่านทั้งหลายจงอย่าประมาทเลย เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายถึงความพินาศไปเช่นนี้เพราะความประมาท ท่านทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่จะกระทำที่สุดแห่งชาติ ชราและมรณะได้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายกระทำผมให้เป็นอารมณ์แล้ว จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิดขอรับ" ครั้นคุกคามแล้วได้ให้แล้วซึ่งโอวาท.
               เมื่อมนุษย์นั้นกล่าวอยู่อย่างนั้นนั่นแหละ ภิกษุสามเณร ๓๐ เหล่านั้นถึงความสังเวชแล้ว เห็นแจ้งอยู่ ก็บรรลุพระอรหัตในที่นั้นนั่นแล.
               สมถวิปัสสนาอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ เมื่อดับไป บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมเป็นไปเพื่อความพินาศ ดังพรรณนามาฉะนี้.

               วินิจฉัยในโลกิยสัมมัปปธานกถา               
               พึงทราบวินิจฉัยในโลกิยสัมมัปปธานกถาก่อน ดังต่อไปนี้.
               ก็สำหรับในขณะแห่งโลกุตตรมรรค ความเพียรอย่างหนึ่งเท่านั้นย่อมได้ชื่อ ๔ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งการยังกิจ ๔ อย่างให้สำเร็จ.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อนุปฺปนฺนานํ ได้แก่ (อกุศลธรรมอันลามกทั้งหลาย) ที่ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยสามารถแห่งการปรากฏ หรือด้วยสามารถแห่งอารมณ์อันยังไม่เคยเสพ. จริงอยู่ ในสังสารอันหาเบื้องต้นและที่สุดมิได้ ขึ้นชื่อว่าอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นแล้วโดยประการอื่นๆ มิได้มี. ก็อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นเหล่านั้นนั่นแหละแม้เมื่อจะเกิดก็ย่อมเกิดขึ้นได้ แม้เมื่อละก็พึงละได้.
               ในข้อว่า อนุปฺปนฺนานํ นั้น กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ ด้วยอำนาจแห่งวัตรของภิกษุบางรูป คือย่อมไม่ปรากฏแก่ภิกษุบางรูป ด้วยสามารถแห่งวัตรอย่างใดอย่างหนึ่งแห่งคันถะ ธุดงค์ สมาธิ วิปัสสนา นวกรรมและภพ. กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏ ด้วยสามารถแห่งวัตรเป็นอย่างไร.
               ก็ภิกษุบางรูปเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรมีอยู่ เมื่อเธอกระทำอยู่ซึ่งวัตรเล็กๆ น้อยๆ ๘๒ มหาวัตร ๑๔ และเจติยังคณวัตร โพธิยังคณวัตร ปานียวัตร มาฬกวัตร อุโปสถาคารวัตร อาคันตุกวัตร และคมิกวัตรอยู่นั่นแหละ กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ได้โอกาส. ก็ในกาลอื่นอีก เมื่อเธอมีวัตรอันแตกเพราะ กิเลสทั้งหลายอาศัยอโยนิโสมนสิการและการสละสติแล้ว ย่อมเกิดขึ้น. กิเลสทั้งหลายอันยังไม่พึงเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งการไม่ปรากฏอย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้นได้.
               ภิกษุบางรูปประกอบในการศึกษาเล่าเรียน ถือเอาพุทธพจน์ ๑ นิกายบ้าง ๒-๓-๔-๕ นิกายบ้าง เมื่อภิกษุนั้นนั่นแหละถือเอา สาธยายอยู่ คิดอยู่ บอกอยู่ ประกาศอยู่ซึ่งพระไตรปิฎก คือพุทธพจน์ ด้วยสามารถแห่งอรรถด้วยสามารถแห่งบาลี ด้วยสามารถแห่งอนุสนธิ ด้วยสามารถแห่งบทต้นและบทปลายอยู่ กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ได้โอกาส. ก็แต่ในกาลอื่นอีก เธอละการศึกษาเป็นผู้เกียจคร้านเที่ยวไปอยู่ กิเลสทั้งหลายอาศัยอโยนิโสมนสิการและการสละสติแล้ว ย่อมเกิดขึ้น. กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งการไม่ปรากฏแม้อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้นได้.
               อนึ่ง ภิกษุบางรูปเป็นผู้ทรงธุดงค์ สมาทานประพฤติธุดงคคุณ ๑๓ มีอยู่. เมื่อเธอบริหารธุดงคคุณทั้งหลาย กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ได้โอกาส. แต่ในกาลอื่นอีก ภิกษุนั้นสละธุดงค์ทั้งหลายแล้วเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก เที่ยวไปอยู่ กิเลสทั้งหลายอาศัยอโยนิโสมนสิการและการสละสติแล้ว ย่อมเกิดขึ้น. กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งการไม่ปรากฏแม้อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               ก็ภิกษุบางรูปเป็นผู้ชำนาญในสมาบัติ ๘ มีอยู่. เธออาศัยอยู่ด้วยสามารถแห่งอาวัชชนวสีเป็นต้น ในปฐมฌานเป็นต้น กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ได้โอกาส. แต่ในกาลอื่นอีก ภิกษุนั้นเสื่อมจากฌาน หรือสละฌานเสีย หรือเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ในการพูดสิ่งที่ไร้ประโยชน์เป็นต้นอยู่ กิเลสทั้งหลายอาศัยอโยนิโสมนสิการและการสละสติแล้ว ย่อมเกิดขึ้น. กิเลสทั้งหลายอันยังไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งการไม่ปรากฏแม้อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้นได้.
               ก็ภิกษุบางรูปเป็นผู้ปฏิบัติวิปัสสนา กระทำอยู่ซึ่งการงานในอนุปัสสนา ๗ หรือมหาวิปัสสนา ๑๘ เป็นไปอยู่. เมื่อเธอปฏิบัติอยู่อย่างนั้น กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ได้โอกาส. แต่ในกาลอื่นอีก เธอสละการงานแห่งวิปัสสนาเป็นผู้มากด้วยการทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่. กิเลสทั้งหลายอาศัยอโยนิโสมนสิการและการสละสติแล้ว ย่อมเกิดขึ้น. กิเลสทั้งหลายอันยังไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งการไม่ปรากฏแม้อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               ภิกษุบางรูปเป็นนวกัมมิกะ (ผู้ก่อสร้าง) ย่อมกระทำโรงอุโบสถและโรงฉันภัตเป็นต้น. เมื่อเธอคิดอุปกรณ์แห่งโรงอุโบสถเป็นต้นเหล่านั้น กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ได้โอกาส. แต่ในกาลอื่นอีก เมื่อนวกรรมของเธอเสร็จแล้วหรือเป็นผู้สละนวกรรมแล้ว กิเลสทั้งหลายอาศัยอโยนิโสมนสิการและการสละสติแล้ว ย่อมเกิดขึ้น. กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งการไม่ปรากฏแม้อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้น.
               ก็ภิกษุบางรูปมาจากพรหมโลก ย่อมเป็นสัตว์บริสุทธิ์. กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ได้โอกาส เพราะยังไม่มีการซ่องเสพ. แต่ว่าในกาลอื่นอีก เธอมีการซ่องเสพอันได้แล้ว กิเลสทั้งหลายอาศัยอโยนิโสมนสิการและการสละสติ ย่อมเกิดขึ้น. กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยสามารถแห่งการไม่ปรากฏแม้อย่างนี้ ชื่อว่า ย่อมเกิดขึ้นได้.
               พึงทราบความที่กิเลสทั้งหลายยังไม่เกิดขึ้น ด้วยสามารถแห่งการไม่ปรากฏ ดังพรรณนามาฉะนี้ก่อน.
               อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ที่ยังไม่เคยเสพเป็นอย่างไร?
               ภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้ ได้อารมณ์อันต่างด้วยอารมณ์มีอารมณ์อันเป็นที่ชอบใจเป็นต้นที่ยังไม่เคยเสพ. กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น อาศัยอโยนิโสมนสิการ และการสละสติแล้ว ย่อมเกิดขึ้นแก่เธอในอารมณ์นั้นได้. กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งอารมณ์อันยังไม่เคยเสพอย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้นได้.
               แต่ว่า ในขณะแห่งโลกุตตรมรรค วิริยะหนึ่งนั่นแหละย่อมยังกิจ คือการไม่ให้กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นและพึงเกิดอย่างนี้ ย่อมไม่ให้เกิดขึ้น ยังกิจคือการละกิเลสทั้งหลายอันเกิดขึ้นแล้วด้วย ให้สำเร็จ.
               เพราะฉะนั้น ในข้อว่า "อุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ" นี้ จึงได้อุปปันนะ (คือกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว) ๔ อย่าง คือ
               ๑. วัตตมานุปปันนะ (เกิดขึ้นเป็นไปในขณะทั้ง ๓)
               ๒. ภุตวา วิคตุปปันนะ (เกิดขึ้นเสพอารมณ์แล้วดับไป)
               ๓. โอกาสกตุปปันนะ (เกิดขึ้นกระทำโอกาสให้แก่ตน)
               ๔. ภูมิลัทธุปปันนะ (เกิดขึ้นในภูมิอันตนได้แล้ว)
               บรรดาอุปปันนธรรม ๔ เหล่านั้น กิเลสเหล่าใดที่มีอยู่ กิเลสเหล่านั้นเป็นสภาพพรั่งพร้อมด้วยอุปปาทะเป็นต้น (อุปาทะ ฐิติ ภังคะ) นี้ชื่อว่าวัตตมานุปปันนะ. ก็เมื่อกิเลสนั้นเสพเพราะกรรมแล้ว เสวยรสแห่งอารมณ์แล้ว วิบากดับไปแล้ว ชื่อว่าภุตวา วิคตะ (เสพแล้ว ปราศไปแล้ว). กรรมอันเกิดขึ้นแล้ว ดับไป ก็ชื่อว่าภุตวา วิคตะ. แม้ทั้งสองนี้ ย่อมถึงซึ่งการนับว่า ภุตวา วิคตุปปันนะ. กรรมอันเป็นกุศลและอกุศล ห้ามวิบากแห่งกรรมอื่นแล้ว ให้โอกาสแก่วิบากของตน เมื่อกรรมกระทำโอกาสแล้วอย่างนี้ วิบากอันเกิดขึ้นตั้งแต่การกระทำโอกาส ท่านเรียกว่า อุปปันนะ (กิเลสเกิดขึ้นแล้ว) นี้ชื่อว่าโอกาสกตุปปันนะ.
               อนึ่ง ปัญจขันธ์ ชื่อว่าภูมิแห่งวิปัสสนา. ปัญจขันธ์อันต่างด้วยอดีตเป็นต้นเหล่านั้นมีอยู่ ก็กิเลสอันนอนเนื่องแล้วในขันธ์เหล่านั้น ใครๆ ไม่พึงกล่าวว่า เป็นอดีต หรืออนาคต หรือปัจจุบัน. เพราะว่ากิเลสทั้งหลายแม้นอนเนื่องแล้วในอดีตขันธ์ทั้งหลายย่อมเป็นสภาวะที่ละไม่ได้ แม้ในอนาคต ขันธ์ทั้งหลายในปัจจุบันขันธ์ทั้งหลายก็เหมือนกัน นี้ชื่อว่าภูมิลัทธุปปันนะ.
               ด้วยเหตุนั้น อาจารย์ในปางก่อนทั้งหลายจึงกล่าวว่า กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่ได้ถอนขึ้นในภูมินั้นๆ ย่อมถึงซึ่งการนับว่า เป็นภูมิลัทธุปปันนะ แล.
               อุปปันนธรรม ๔ อย่าง อีกอย่างหนึ่ง คือ
                         ๑. สมุทาจารุปปันนะ
                         ๒. อารัมมณาธิคหิตุปปันนะ
                         ๓. อวิกขัมภิตุปปันนะ
                         ๔. อสมุคฆาฏิตุปปันนะ
               ใน ๔ อย่างนั้น กิเลสทั้งหลายกำลังเป็นไปอยู่ในบัดนี้นั่นแหละ ชื่อว่าสมุทาจารุปปันนะ.
               เมื่อบุคคลลืมตาขึ้นครั้งเดียวแล้วถือเอาอารมณ์ ใครๆ ไม่พึงกล่าวว่า กิเลสทั้งหลายจักไม่เกิดขึ้น ในขณะที่ตนตามระลึกถึงแล้ว และระลึกถึงแล้ว.
               ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะความเป็นผู้ยึดถือเอาซึ่งอารมณ์.
               ท่านกล่าวไว้อย่างไร. ท่านกล่าวเปรียบว่า ใครๆ ไม่พึงกล่าวว่า น้ำนมจักไม่ออกไปจากต้นไม้ที่มีน้ำนม ในขณะที่บุคคลเอาขวานถากแล้วและถากแล้วฉันใด ข้อนี้ก็ชื่อว่าอารัมมณาธิคหิตุปปันนะ ฉันนั้น.
               อนึ่ง กิเลสที่ยังมิได้ข่มไว้ด้วยสมาบัติ ใครๆ ไม่พึงกล่าวว่า กิเลสเหล่านั้นจักไม่เกิดขึ้นในที่ชื่อโน้น. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะมิได้ข่มไว้. ท่านกล่าวไว้อย่างไร? ท่านกล่าวไว้ว่า ถ้าว่าบุคคลพึงเอาขวานถากต้นไม้มีน้ำนม ใครๆ ก็ไม่พึงกล่าวว่า น้ำนมไม่พึงออกไปในที่ชื่อโน้น ข้อนี้ก็ฉันนั้น จึงชื่อว่าอวิกขัมภิตุปปันนะ.
               อนึ่ง บัณฑิตพึงยังคำว่า "กิเลสที่ยังมิได้ถอนขึ้นด้วยมรรคแล้ว จักไม่เกิดขึ้นแม้แก่ผู้บังเกิดในภวัคคภูมิ (ยอดภูมิ)" ดังนี้ ให้พิสดารโดยนัยก่อนนั่นแหละ นี้ชื่อว่าอสมุคฆาฏิตุปปันนะ.
               บรรดาอุปปันนะ (คือกิเลสที่เกิดขึ้นแล้ว) อุปปันนะ ๔ อย่างที่มรรคไม่พึงฆ่า คือ
                         ๑. วัตตมานุปปันนะ
                         ๒. ภุตวา วิคตุปปันนะ
                         ๓. โอกาสกตุปปันนะ
                         ๔. สมุทาจารุปปันนะ
               อุปปันนะที่มรรคพึงฆ่า ๔ อย่าง คือ
                         ๑. ภูมิลัทธุปปันนะ
                         ๒. อารัมมณาธิคหิตุปปันนะ
                         ๓. อวิกขัมภิตุปปันนะ
                         ๔. อสมุคฆาฏิตุปปันนะ
               จริงอยู่ มรรคเมื่อเกิดขึ้นย่อมละกิเลสทั้งหลายเหล่านี้. ก็แต่ว่า มรรคนั้นละกิเลสเหล่าใด กิเลสเหล่านั้น ใครๆ ไม่พึงกล่าวว่า เป็นอดีต หรืออนาคต หรือปัจจุบัน.
               ข้อนี้ สมจริงดังที่ท่านกล่าวว่า ถ้าว่า มรรคย่อมละกิเลสทั้งหลายที่เป็นอดีตได้ไซร้ ถ้าอย่างนั้นมรรคนั้นก็ยังกิเลสที่สิ้นไปแล้ว ให้สิ้นไปได้ ย่อมยังกิเลสที่ดับไปแล้วให้ดับไปได้ ย่อมยังกิเลสที่ปราศไปแล้วให้ปราศไปได้ ย่อมยังกิเลสอันถึงซึ่งความเสื่อมไปแล้ว ให้ถึงความเสื่อมไปได้ สิ่งใดอันเป็นอดีตมิได้มีอยู่ ย่อมละสิ่งนั้นได้.
               ถ้าว่า มรรคย่อมละกิเลสทั้งหลายอันเป็นอนาคตได้ไซร้ ถ้าอย่างนั้นมรรคนั้นก็ย่อมละกิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้นแล้วได้ ย่อมละกิเลสที่ยังไม่บังเกิดแล้ว อันไม่เกิดขึ้นแล้ว อันไม่ปรากฏแล้วได้ สิ่งใดอันยังไม่มาถึงอันมิได้มีอยู่ ย่อมละสิ่งนั้นได้.
               ถ้าว่า มรรคย่อมละกิเลสทั้งหลายที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า (ปัจจุบัน) ได้ ถ้าอย่างนั้น มรรคนั้นก็มีราคะย้อมแล้วย่อมละราคะ มีโทสะประทุษร้ายแล้วย่อมละโทสะ มีโมหะแล้วย่อมละโมหะ มีมานะผูกพันแล้วย่อมละมานะ มีทิฏฐิยึดถือไว้แล้วย่อมละทิฏฐิ มีความฟุ้งซ่านแล้วย่อมละอุทธัจจะ มีความลังเลไม่ตั้งมั่นแล้วย่อมละวิจิกิจฉา มีกิเลสที่มีกำลัง ย่อมละอนุสัยได้. ธรรมอันดำและขาวกำลังติดกันเป็นไปเป็นคู่ๆ (เช่นนี้) มรรคภาวนา ก็ย่อมประกอบไปด้วยสังกิเลส ถ้าอย่างนั้น มรรคภาวนาก็ไม่มี การทำให้แจ้งซึ่งผลก็ไม่มี การละกิเลสก็ไม่มี ธรรมาภิสมัย (การตรัสรู้ธรรม) ก็ไม่มี.
               อันที่จริง มรรคภาวนามีอยู่ ฯลฯ ธรรมาภิสมัย ก็มีอยู่.
               ถามว่า เหมือนอะไร.
               ตอบว่า เหมือนต้นไม้ที่ยังไม่เกิดผล ซึ่งมีมาในพระบาลี (สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค) ว่า
               เสยฺยถาปิ ตรุโณ รุกฺโข ฯลฯ อปาตุภูตาเนว น ปาตุภวนฺติ
               แปลว่า เหมือนต้นไม้กำลังรุ่น ยังไม่เกิดผล บุรุษพึงตัดต้นไม้นั้นที่ราก ผลที่ยังไม่เกิดแห่งต้นไม้นั้นก็จะไม่เกิดเลย ที่ยังไม่บังเกิดก็ไม่บังเกิดเลย ที่ไม่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่เกิดขึ้นเลย ที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏเลย ฉันใด ฯลฯ
               เหมือนอย่างว่า ต้นมะม่วงรุ่นที่มีผล มนุษย์ทั้งหลายพึงบริโภคผลทั้งหลายของต้นมะม่วงนั้น ผลทั้งหลายที่เหลือตกลงไปแล้วก็พึงยังต้นมะม่วงที่เกิดภายหลังให้สมบูรณ์ ในลำดับนั้น มนุษย์อื่นพึงเอาขวานตัดต้นมะม่วงนั้น ด้วยเหตุนั้น ผลทั้งหลายของต้นมะม่วงที่เป็นอดีตนั้น จึงมิได้พินาศ ผลทั้งหลายของต้นมะม่วงที่เป็นอนาคต และปัจจุบันก็ไม่พินาศไป เพราะว่า ผลมะม่วงที่เป็นอนาคตเล่าก็ยังไม่เกิดขึ้น จึงมิอาจเพื่อพินาศไป แต่ในสมัยใด ต้นมะม่วงนั้นถูกตัดขาดแล้ว ในกาลนั้น ผลมะม่วงเหล่านั้นย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น แม้ผลมะม่วงที่เป็นปัจจุบันก็ไม่พินาศไป ก็ถ้าว่า ต้นมะม่วงมิได้ถูกตัดไปแล้วไซร้ ผลมะม่วงเหล่าใดอาศัยรสแห่งปฐวี และรสแห่งอาโปแล้ว ก็พึงเกิดอีก ผลมะม่วง (ต้นที่ถูกตัดแล้ว) เหล่านั้นเป็นของพินาศไปแล้ว.
               จริงอยู่ ผลมะม่วงที่ยังไม่เกิดเหล่านั้นนั่นแหละย่อมไม่เกิดขึ้น ที่ยังไม่ปรากฏ ฉันใด มรรคก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมละกิเลสทั้งหลายอันต่างด้วยอดีตเป็นต้น ก็หาไม่ ย่อมไม่ละกิเลสทั้งหลายก็หาไม่ เพราะว่า เมื่อขันธ์ทั้งหลายอันมรรคยังมิได้กำหนดรู้แล้ว ความเกิดขึ้นแห่งกิเลสเหล่าใดพึงมี เพราะความที่ขันธ์ทั้งหลายอันมรรคกำหนดรู้แล้ว กิเลสที่ยังไม่เกิดขึ้นเหล่านั้นนั่นแหละย่อมไม่เกิดขึ้น ที่ยังไม่บังเกิดนั่นแหละ ย่อมไม่บังเกิดขึ้น ที่ยังไม่ปรากฏนั่นแหละย่อมไม่ปรากฏ.
               บัณฑิตพึงชี้แจงเนื้อความนี้ ด้วยยาที่บุคคลดื่มแล้ว เพื่อการไม่เกิดขึ้นแห่งบุตรของหญิง หรือเพื่อความเข้าไปสงบแห่งโรคของผู้มีพยาธิก็ได้.
               บัณฑิตไม่พึงกล่าวว่า มรรคย่อมละกิเลสเหล่าใด กิเลสเหล่านั้นเป็นอดีต หรืออนาคต หรือปัจจุบัน ดังพรรณนามาฉะนี้.
               อนึ่ง มรรคย่อมไม่ละกิเลสทั้งหลายก็หาไม่ แต่ว่ามรรคละกิเลสเหล่าใด พระผู้มีพระภาคเจ้าหมายเอากิเลสเหล่านั้น จึงตรัสว่า อุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ เป็นต้น.
               มรรคย่อมละกิเลสอย่างเดียวก็หาไม่ อุปาทินนขันธ์เหล่าใดพึงเกิดขึ้นเพราะความที่กิเลสทั้งหลายยังมิได้ละ มรรคย่อมละแม้อุปาทินนขันธ์เหล่านั้นนั่นแหละด้วย.
               ข้อนี้ท่านกล่าวขยายความด้วยโสดาปัตติมัคคญาณ อันดับซึ่งอภิสังขารและวิญญาณคือ เว้นภพทั้ง ๗ แล้ว อุปาทินนขันธ์เหล่าใด คือ นามและรูปพึงเกิดขึ้นในสังสาร อันหาเบื้องต้นและที่สุดมิได้ อุปาทินนขันธ์เหล่านั้น ย่อมดับไปในอธิการนี้ ฉะนั้น มรรคนั้นจึงมีอรรถอันกว้างขวาง.
               ด้วยประการฉะนี้ มรรคจึงชื่อว่า ย่อมออกไปจากอุปาทินนขันธ์และอนุปาทินนขันธ์.
               แต่เมื่อว่าโดยอำนาจแห่งภพแล้ว โสดาปัตติมรรคย่อมออกไปจากอบายภูมิ. สกทาคามิมรรคย่อมออกไปจากสุคติภพบางส่วน. อรหัตตมรรคย่อมออกไปจากรูปภพและอรูปภพ.
               อาจารย์ทั้งหลายย่อมกล่าวว่า อรหัตตมรรคย่อมออกไปจากภพทั้งหมดเลย ดังนี้ก็มี.
               ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ในขณะแห่งมรรค ภาวนาย่อมมี เพื่อความเกิดขึ้นแห่งธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเพื่อความตั้งมั่นแห่งธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วอย่างไร.
               ตอบว่า ภาวนาย่อมมี เพราะความเป็นไปแห่งมรรคนั่นแหละ.
               จริงอยู่ มรรคเมื่อกำลังเป็นไป ท่านกล่าวว่า ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะความที่มรรคนั้นไม่เคยเกิดขึ้น เพราะความที่มรรคนั้นไม่เคยเกิดแล้วในกาลก่อน. เหมือนชนทั้งหลายผู้ไปสู่ที่อันไม่เคยไป หรือเสวยอารมณ์อันตนไม่เคยเสวยแล้ว เขาย่อมกล่าวว่า พวกเรามาแล้วสู่ที่อันไม่เคยมา หรือว่า ย่อมเสวยอารมณ์อันไม่เคยเสวย ฉันนั้น.
               อนึ่ง ความเป็นไปแห่งมรรคอันใด ชื่อว่าความตั้งมั่นก็อันนี้นั่นแหละ เพราะฉะนั้น การกล่าวว่า ย่อมเจริญมรรคเพื่อความตั้งมั่น ดังนี้ ก็ควร.
               ในขณะแห่งโลกุตตรมรรค ความเพียรของภิกษุนี้ ย่อมได้ชื่อ ๔ อย่าง ซึ่งมีคำว่า อนุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ อกุสลานํ ธมฺมานํ อนุปาทาย เป็นอาทิ ดังพรรณนามาฉะนี้. นี้เป็นสัมมัปปธานกถา ในขณะแห่งโลกุตตรมรรค.
               ท่านชี้แจงสัมมัปปธานอันเจือด้วยโลกียะและโลกุตตระไว้ในสัมมัปปธานวิภังค์นี้ด้วยประการฉะนี้.

               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สัมมัปปธานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 462อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 465อ่านอรรถกถา 35 / 483อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=6456&Z=6468
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=7357
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=7357
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๕  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :