ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 416อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 431อ่านอรรถกถา 35 / 458อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
สติปัฏฐานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

               สัมโมหวิโนทนี๑-               
               อรรถกถาวิภังค์               
               สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส               
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์               
____________________________
๑- บาลีอรรถกถาหน้า ๒๗๙ เป็นต้นไป.

               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในสติปัฏฐานวิภังค์อันเป็นลำดับต่อจากปฏิจจสมุปปาทวิภังค์นั้นต่อไป
               คำว่า ๔ เป็นคำกำหนดจำนวน. ด้วยคำนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงกำหนดสติปัฏฐานไว้ว่า มีจำนวนไม่ต่ำกว่านั้น ไม่เกินกว่านั้น ดังนี้.
               คำว่า สติปัฏฐาน ได้แก่ สติปัฏฐาน ๓ อย่าง คือ สติโคจร ๑ ความที่พระศาสดาผู้ประพฤติล่วงความยินดียินร้ายในหมู่พระสาวกผู้ปฏิบัติ ๓ อย่าง ๑ ตัวสติ ๑.
               จริงอยู่ สติโคจร (อารมณ์ของสติ) ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน ในคำว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงเหตุให้เกิด และความดับไปแห่งสติปัฏฐาน ๔ เธอทั้งหลายจงฟังคำนั้น จงมนสิการให้ดี ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่าเป็นเหตุให้เกิดกาย ความเกิดขึ้นแห่งกายย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร เป็นต้น.
               โดยทำนองนั้น กายย่อมเป็นอารมณ์ปรากฏ มิใช่สติปรากฏ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สติอุปัฏฐาน๑- และสติ เป็นต้น. เนื้อความแห่งคำนั้น พึงทราบว่า ที่ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้งมั่น.
               ถามว่า อะไร ย่อมตั้งมั่น?
               ตอบว่า สติ. ที่เป็นที่ตั้งมั่นแห่งสติ จึงชื่อว่าสติปัฏฐาน. อีกอย่างหนึ่ง ที่ตั้งมั่นอันเป็นประธาน ชื่อว่าปัฏฐาน ที่ตั้งอันเป็นประธานแห่งสติ จึงชื่อว่าสติปัฏฐาน เหมือนคำว่า ที่อันเป็นที่ตั้งอยู่ของช้างและของม้าเป็นต้นฉะนั้น.
               การที่พระศาสดาเป็นผู้ประพฤติล่วงความยินดียินร้ายในหมู่สาวกผู้ปฏิบัติ ๓ อย่าง ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน ในคำนี้ว่า พระศาสดาผู้อริยะเสพธรรมใด ธรรมนั้นคือ สติปัฏฐาน ๓ ก็เมื่อเสพธรรมนั้นอยู่ จึงควรเพื่อตามสอนหมู่คณะ๒- ดังนี้. เนื้อความแห่งคำนั้น พึงทราบว่า ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะเป็นธรรมควรให้ตั้งไว้. อธิบายว่า เพราะควรให้เป็นไป.
____________________________
๑- คำว่า สติอุปัฏฐาน แปลว่า การเข้าไปตั้งสติ.
๒- จากสฬายตนวิภังคสูตร ม. อุ. ข้อ ๖๓๓-๖๓๖.

               ถามว่า ควรให้ตั้งไว้ด้วยธรรมอะไร.
               ตอบว่า ด้วยสติ การให้ตั้งไว้ด้วยสติ จึงชื่อว่า สติปัฏฐาน
               ก็ตัวสตินั่นแหละ ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน ในคำเป็นต้นว่า สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ ดังนี้. เนื้อความแห่งคำนั้น พึงทราบว่า ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะอรรถว่าย่อมดำรงอยู่. อธิบายว่า ย่อมปรากฏ คือก้าวลงแล้วย่อมแล่นไป ย่อมเป็นไป. สตินั่นแหละ ชื่อว่าสติปัฏฐาน เพราะอรรถว่าดำรงอยู่ (หรือการตั้งมั่น).
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสติ เพราะอรรถว่าการระลึก. ชื่อว่าปัฏฐาน เพราะอรรถว่าเข้าไปตั้งมั่น. ด้วยประการฉะนี้ สตินั้นด้วย ปัฏฐานนั้นด้วย จึงชื่อว่าสติปัฏฐาน. สติปัฏฐานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาไว้ที่นี้.
               ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร ท่านจึงทำคำว่า สติปัฏฐาน ให้เป็นพหูพจน์เล่า.
               ตอบว่า เพราะความที่สติมีมาก. จริงอยู่ ท่านทำสติไว้มาก ก็เพราะความต่างกันแห่งอารมณ์.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ เท่านั้น ไม่หย่อนไม่ยิ่ง.
               ตอบว่า เพราะจะให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เวไนยสัตว์.
               จริงอยู่ บรรดาสัตว์ทั้งหลาย ประเภทตัณหาจริต และทิฏฐิจริต หรือสมถยานิก และวิปัสสนายานิกเป็นไป ๒ อย่าง ด้วยสามารถแห่งมันทะและติกขบุคคล (คือจริตอ่อนและแก่กล้า) กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอันโอฬาร เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้ตัณหาจริตอย่างอ่อน. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอันสุขุม เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้มีตัณหาจริตอย่างแก่กล้า. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งมีอารมณ์อันแยกออกไม่มากนัก เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้มีทิฏฐิจริตอย่างอ่อน. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งมีอารมณ์อันแยกออกมาก เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้มีทิฏฐิจริตอย่างแก่กล้า.
               อนึ่ง สติปัฏฐานที่ ๑ ซึ่งมีนิมิตอันบุคคลพึงบรรลุได้โดยไม่ลำบาก เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้สมถยานิกอย่างอ่อน. สติปัฏฐานที่ ๒ เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้สมถยานิกอย่างแก่กล้า เพราะไม่เกิดในอารมณ์อันหยาบ. สติปัฏฐานที่ ๓ มีอารมณ์อันแยกออกไม่มากนัก เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้วิปัสสนายานิกอย่างอ่อน. สติปัฏฐานที่ ๔ มีอารมณ์อันแยกออกมากยิ่ง เป็นทางแห่งความหมดจดของบุคคลผู้วิปัสสนายานิกอย่างแก่กล้า.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ โดยไม่หย่อนไม่ยิ่งด้วยประการฉะนี้แล.

               สติปัฏฐานตามนัยแห่งปกรณ์๑-               
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละวิปัลลาส ๔ เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พระองค์ตรัสสติปัฏฐาน ๔ ก็เพื่อละสุภวิปัลลาส สุขวิปัลลาส นิจจวิปัลลาส อัตตวิปัลลาส คือเข้าใจว่า เป็นสุภะ เป็นสุขะ เป็นของเที่ยง เป็นอัตตา.
               จริงอยู่ กายเป็นอสุภะ แต่สัตว์ทั้งหลายผู้เข้าใจผิดด้วยสุภวิปัลลาสในกายนั้น มีอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานที่ ๑ ไว้ เพื่อจะให้สัตว์เหล่านั้นละวิปัลลาสนั้น โดยการแสดงถึงความเป็นอสุภะในกาย.
               อนึ่ง บรรดาธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้น แม้อันสัตว์ถือเอาแล้วว่า เป็นสุข เป็นของเที่ยง เป็นอัตตา ที่จริงเวทนาเป็นทุกข์ จิตก็ไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายก็เป็นอนัตตา. แต่สัตว์ทั้งหลายผู้เข้าใจผิดมีความเห็นคลาดเคลื่อนในธรรมทั้งหลายมีเวทนาเป็นต้นเหล่านั้นว่า เป็นสุข เป็นของเที่ยง เป็นอัตตา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสติปัฏฐาน ๓ ที่เหลือไว้ก็เพื่อจะให้สัตว์เหล่านั้นละวิปัลลาสนั้นโดยการแสดงถึงความเป็นทุกข์เป็นต้นในธรรมมีเวทนาเป็นต้นเหล่านั้น พึงทราบว่าได้ตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ เท่านั้น ไม่หย่อนไม่ยิ่งดังนี้ เพื่อละวิปัลลาสในความเห็นว่าเป็นสุภะ เป็นสุข เป็นของเที่ยง เป็นอัตตาอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็เพื่อการละวิปัลลาสเท่านั้นก็หาไม่ โดยที่แท้ พึงทราบว่า พระองค์ตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ เพื่อละโอฆะ ๔ โยคะ ๔ อาสวะ ๔ คันถะ ๔ อุปาทาน ๔ อคติ ๔ และเพื่อให้กำหนดรู้อาหาร ๔ ด้วย.
____________________________
๑- นัยนี้รจนาขึ้นโดยภาษาของชาวเกาะลังกา
               นัยแห่งปกรณ์มีเพียงเท่านี้.               

               นัยแห่งอรรถกถา               
               ก็ในอรรถกถา ท่านกล่าวคำไว้เพียงเท่านี้ว่า สติปัฏฐานมีอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยสามารถแห่งการระลึก และด้วยสามารถแห่งการประชุมโดยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ว่าเป็น ๔ ได้ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ ดังนี้. เหมือนอย่างว่าในนครหนึ่งมี ๔ ประตู ชนทั้งหลายผู้มาจากทิศตะวันออก ถือเอาสิ่งของอันมีอยู่ทางทิศตะวันออกแล้วก็เข้าไปสู่นครทางประตูทิศตะวันออกนั้นนั่นแหละ. ผู้มาจากทิศใต้ ผู้มาจากทิศตะวันตก ผู้มาจากทิศเหนือ ถือเอาสิ่งของอันมีอยู่ทางทิศเหนือแล้วก็เข้าไปสู่นครทางประตูทิศเหนือนั่นแหละฉันใด คำอุปมาเครื่องยังอุปไมยให้ถึงพร้อมนี้ บัณฑิตพึงทราบฉันนั้นเถิด.
               จริงอยู่ พระนิพพานเปรียบเหมือนนคร. โลกุตตรมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เปรียบเหมือนประตู. กายเป็นต้นเปรียบเหมือนทิศตะวันออกเป็นต้น. ชนทั้งหลายผู้มาจากทิศตะวันออกถือเอาสิ่งของอันมีอยู่ทางทิศตะวันออกแล้วก็เข้าไปสู่นครโดยประตูทิศตะวันออกนั่นแหละฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลายผู้มาด้วยกายานุปัสสนาเป็นประธานก็ฉันนั้น เจริญกายานุปัสสนาโดย ๑๔ ปัพพะแล้วหยั่งลงสู่พระนิพพานหนึ่งเทียว ด้วยอริยมรรคอันเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งการเจริญกายานุปัสสนา.
               ชนทั้งหลายผู้มาจากทิศใต้ ถือเอาสิ่งของอันมีอยู่แต่ทิศใต้แล้วก็เข้าไปสู่นคร โดยประตูด้านใต้นั่นแหละฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลายผู้มาด้วยเวทนานุปัสสนาเป็นประธานก็ฉันนั้น เจริญเวทนานุปัสสนาโดย ๘ ปัพพะแล้วหยั่งลงสู่พระนิพพานหนึ่งนั่นแหละ ด้วยอริยมรรคเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งการเจริญเวทนานุปัสสนา.
               ชนทั้งหลายผู้มาจากทิศตะวันตก ถือเอาสิ่งของอันมีอยู่แต่ทิศตะวันตกแล้วเข้าไปสู่นคร โดยประตูด้านตะวันตกนั่นแหละฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลายผู้มาด้วยจิตตานุปัสสนาเป็นประธานก็ฉันนั้น เจริญจิตตานุปัสสนา ๑๖ ปัพพะแล้วหยั่งลงสู่พระนิพพานหนึ่งนั่นแหละ ด้วยอริยมรรคอันเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งจิตตานุปัสสนา.
               ชนทั้งหลายผู้มาจากทิศเหนือ ถือเอาสิ่งของอันมีอยู่แต่ทิศเหนือแล้วเข้าไปสู่นคร โดยประตูด้านเหนือนั่นแหละฉันใด พระโยคาวจรทั้งหลายผู้มาด้วยธัมมานุปัสสนาเป็นประธานก็ฉันนั้น เจริญธัมมานุปัสสนาเป็นประธานก็ฉันนั้น เจริญธัมมานุปัสสนาโดย ๕ ปัพพะแล้วหยั่งลงสู่พระนิพพานหนึ่งนั่นแหละ ด้วยอริยมรรคอันเกิดขึ้นด้วยอานุภาพของธัมมานุปัสสนา.
               ด้วยประการฉะนี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสติปัฏฐานไว้ ๑ เท่านั้นด้วยสามารถแห่งการระลึก และด้วยสามารถแห่งการประชุมโดยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ ดังนี้.

               กายานุปัสสนานิทเทส               
               อุทเทสวารกถา               
               อธิบายคำว่า อิธ ภิกฺขุ (ภิกษุในพระศาสนานี้)               
               ในคำว่า อิธ ภิกฺขุ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในเทวโลกตรัสสติปัฏฐานวิภังค์นี้ แม้ภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อว่านั่งอยู่ในสำนักของพระองค์ในเทวโลกนั้นไม่มีก็จริง เมื่อความเป็นอย่างนั้น (เพราะเหตุไร พระองค์จึงตรัสคำว่า อิธ ภิกฺขุ นี้) ก็เพราะสติปัฏฐานเหล่านั้นเป็นอารมณ์ของภิกษุ ทั้งภิกษุทั้งหลายก็เจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสคำว่า อิธ ภิกฺขุ ดังนี้.
               ถามว่า ก็พวกภิกษุเท่านั้นหรือ ย่อมเจริญสติปัฏฐานเหล่านี้ ภิกษุณีเป็นต้นไม่เจริญหรือ?
               ตอบว่า ชนเหล่าอื่นแม้มีภิกษุณีเป็นต้นก็เจริญ แต่ภิกษุทั้งหลายเป็นบริษัทชั้นเลิศ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อิธ ภิกฺขุ เพราะความเป็นบริษัทชั้นเลิศ ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พระองค์ตรัสอย่างนั้นก็เพราะจะแสดงความเป็นภิกษุด้วยการปฏิบัติ.
               จริงอยู่ บุคคลใดดำเนินไปสู่การปฏิบัตินี้ บุคคลนั้นชื่อว่าภิกษุ ด้วยว่าบุคคลผู้ปฏิบัติจะเป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์ก็ตาม ย่อมถึงการนับว่าเป็นภิกษุทั้งนั้น.
               เหมือนอย่างที่ตรัสพระคาถาว่า
                         แม้ถ้าว่า ผู้ใดมีธรรมอันประดับแล้ว
               ผู้สงบแล้ว ผู้ฝึกตนแล้ว ผู้เที่ยง ผู้ประพฤติ
               พรหมจรรย์ สละอาชญาในสัตว์ทั้งปวง
               ประพฤติธรรมอันสงบ ผู้นั้นเป็นพราหมณ์
               เป็นสมณะ เป็นภิกษุ.

               อธิบายคำว่า อชฺฌตฺตํ กาเย (ในกายภายใน)               
               คำว่า อชฺฌตฺตํ ท่านประสงค์เอากายภายในอันเป็นของตน เพราะฉะนั้น คำว่า อชฺฌตฺตํ กาเย จึงได้แก่ ในกายของตน. บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า กาเย ได้แก่ ในรูปกาย.
               จริงอยู่ รูปกาย ประสงค์เอาว่า กายในที่นี้ ดุจกายช้าง กายม้าและกายรถเป็นต้น เพราะอรรถว่าเป็นที่ประชุมแห่งธรรม คืออวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย และโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้น. ก็รูปกาย ท่านประสงค์เอาว่ากาย เพราะอรรถว่าเป็นที่ประชุมฉันใด รูปกาย ท่านก็ประสงค์เอาว่า กาย เพราะอรรถว่าเป็นบ่อเกิดแห่งสิ่งเลวทรามฉันนั้น.
               จริงอยู่ ที่ชื่อว่ากาย เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้นอันเลวทราม คืออันน่ารังเกียจอย่างยิ่ง. ประเทศอันเป็นบ่อเกิด ชื่อว่าอายะ. พึงทราบวจนัตถะในคำว่า อายะ นั้น ดังนี้
               กายชื่อว่า อายะ (บ่อเกิด) เพราะอรรถว่า เป็นแดนเกิดแห่งธรรมทั้งหลาย (หรือว่า ธรรมทั้งหลายย่อมเกิดแต่กายนี้ ฉะนั้น กายนี้จึงชื่อว่าอายะ) ถามว่า ธรรมเหล่าไหนย่อมเกิด.
               ตอบว่า โกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้นอันน่ารังเกียจ ย่อมเกิด. เพราะฉะนั้น กาย ก็คือบ่อเกิดแห่งโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้นอันน่ารังเกียจ ด้วยประการฉะนี้.

               อธิบายคำว่า กายานุปสฺสี (มีปกติตามเห็นกาย)               
               คำว่า กายานุปสฺสี ได้แก่ มีปกติตามเห็นกาย หรือว่า เห็นกายอยู่เนืองๆ ก็คำนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ตรัสคำว่า กาเย ดังนี้แล้วทรงทำศัพท์กายที่ ๒ ว่า กายานุปสฺสี ดังนี้อีก เพื่อจะแสดงการกำหนดและการแยกฆนะเป็นต้นไม่ให้ปะปนกัน. ด้วยเหตุนั้น จึงมิได้ตรัสว่า มีปกติตามเห็นเวทนาในกาย หรือว่า มีปกติตามเห็นจิต มีปกติตามเห็นธรรมในกายเลย โดยที่แท้ ทรงแสดงการกำหนดมิให้ปะปนกัน โดยการแสดงอาการ คือ การตามเห็นกายในวัตถุกล่าวคือกาย ในคำว่า กาเย กายานุปสฺสีเยว (มีปกติตามเห็นกายในกายเท่านั้น) ดังนี้.
               โดยทำนองเดียวกัน ก็ไม่ตรัสว่า มีปกติตามเห็นธรรมอื่นสักอย่างหนึ่งนอกจากอวัยวะน้อยใหญ่ในกาย ทั้งไม่ตรัสว่า มีปกติตามเห็นผู้หญิง ผู้ชาย นอกจากผมขนเป็นต้น. ก็กายแม้ใดกล่าวคือที่ประชุมแห่งภูตรูปและอุปาทารูปมีผมขนเป็นต้น มีอยู่ในกายนี้ จึงมิได้ตรัสว่า มีปกติตามเห็นธรรมสักอย่างหนึ่งนอกจากภูตรูปและอุปาทารูปในกายแม้นั้น. อันที่จริง ทรงแสดงการแยกฆนะ โดยการแสดงวัตถุกล่าวคือกาย ด้วยอำนาจแห่งกายคือที่ประชุมนั่นแหละ โดยประการต่างๆ ว่า เป็นผู้มีปกติตามเห็นการประชุมแห่งอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตรวจดูส่วนประกอบแห่งรถด้วย เป็นผู้มีปกติตามเห็นการประชุมแห่งโกฏฐาสทั้งหลายมีผมขนเป็นต้น เปรียบเหมือนบุคคลผู้ตรวจดูส่วนประกอบน้อยใหญ่ของเมืองด้วย เป็นผู้มีปกติตามเห็นการประชุมของภูตรูป อุปาทารูปทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลแยกใบกล้วยหยวกกล้วยออกจากลำต้นกล้วย และเปรียบเหมือนผู้แบกำมืออันเปล่าด้วยฉะนั้น.
               จริงอยู่ ในอธิการนี้ จะเป็นกายที่นอกจากกายคือที่ประชุมตามที่กล่าวแล้วก็ตาม จะเป็นหญิง เป็นชายหรือว่าเป็นธรรมอะไรๆ อื่นก็ตาม ย่อมไม่ปรากฏ. แต่ว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมกระทำการยึดมั่นเพราะความเห็นผิด ในเหตุสักว่าการประชุมแห่งธรรมตามที่กล่าวแล้วโดยประการนั้นๆ มีอยู่ ด้วยเหตุนั้นโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่า
                         ยํ ปสฺสติ น ตํทิฏฺฐํ     ยํทิฏฺฐํ ตํ น ปสฺสติ
                         อปสฺสํ พชฺฌเต มุฬฺโห  พชฺฌมาโน น มุจฺจติ.
                                        แปลว่า
                                        บุคคลเห็นอยู่ซึ่งสิ่งใด๑- สิ่งนั้น๒- ชื่อว่า
                         อันเขาเห็นแล้วก็หาไม่ สิ่งใด๒- อันเขาเห็นแล้ว
                         เขาชื่อว่าย่อมไม่เห็นซึ่งสิ่งนั้น บุคคลผู้หลง
                         เมื่อไม่เห็นย่อมติด เมื่อติด ก็ย่อมไม่หลุดพ้น.
                         ย่อมไม่หลุดพ้น.
____________________________
๑- คือเห็นเป็นผู้หญิงผู้ชาย.
๒- หมายถึงรูปายตนะ.

               คำว่า มีปกติตามเห็นกายในกาย ท่านกล่าวแล้วเพื่อการแสดงการแยกฆนะเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้. อนึ่ง ในอธิการนี้ บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแม้นี้ ด้วยอาทิศัพท์.
               จริงอยู่ พระโยคาวจรนี้มีปกติตามเห็นกายในกายนี้เท่านั้น มิใช่มีปกติตามเห็นธรรมอื่น.
               ถามว่า ข้อนี้ ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
               ตอบว่า ท่านอธิบายว่าชนทั้งหลาย ผู้มีปกติตามเห็นพยับแดดแม้อันไม่มีน้ำว่าเป็นน้ำฉันใด พระโยคาวจรมีปกติตามเห็นกายนี้อันเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะนั่นแหละว่า เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา เป็นสุภะ ฉันนั้นหามิได้ โดยที่แท้ มีปกติตามเห็นกายก็คือ มีปกติตามเห็นการประชุมแห่งอาการของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะเท่านั้น ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแม้อย่างนี้ว่า กายนี้ใด มีลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นเบื้องต้น และมีกระดูกอันแตกเป็นจุณไปเป็นที่สุด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานโดยนัยว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ไปที่ป่าก็ตาม ฯลฯ เธอย่อมมีสติเที่ยวหายใจเข้า" เป็นต้น. และกายใดที่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทาว่า "ภิกษุบางพวกในพระศาสนานี้ ย่อมตามเห็นกายคือปฐวี โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โดยทำนองเดียวกัน ย่อมตามเห็นกายคืออาโป กายคือเตโช กายคือวาโย กายคือผม กายคือขน กายคือผิว กายคือหนัง กายคือเนื้อ กายคือเลือด กายคือเอ็น กายคือกระดูก กายคือเยื่อในกระดูก โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยงเป็นต้น ก็เพราะการตามเห็นอยู่ในกายนี้นั่นแหละแห่งกายทั้งปวง จึงชื่อว่ามีปกติตามเห็นกายในกาย (กาเย กายานุปสฺสี) ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบอรรถอย่างนี้ว่า ชื่อว่ามีปกติตามเห็นกาย กล่าวคือที่ประชุมแห่งธรรมมีผมเป็นต้นในกาย โดยการไม่ตามเห็นอะไรๆ อันพึงถือเอาในกายอย่างนี้ว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา ดังนี้ แต่เพราะการตามเห็นที่ประชุมแห่งธรรมต่างๆ มีผมขนเป็นต้นนั้นนั่นแหละ จึงชื่อว่า กาเย กายานุปสฺสี ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบเนื้อความแม้อย่างนี้ว่า ชื่อว่ามีปกติตามเห็นกายในกาย แม้เพราะการตามเห็นกาย กล่าวคือที่ประชุมแห่งอาการอันมีอนิจจลักษณะเป็นต้นทั้งปวงเทียวซึ่งมีนัยอันมาแล้วในปฏิสัมภิทามรรคโดยลำดับว่า ภิกษุย่อมตามเห็นในกายนี้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง มิใช่โดยความเป็นของเที่ยงเป็นต้น ดังนี้. จริงอย่างนั้น ภิกษุนี้ดำเนินไปสู่การปฏิบัติคือ การตามเห็นกายในกาย๓- ย่อมตามเห็นกายนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ด้วยอำนาจอนุปัสสนา ๗ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น มิใช่ตามเห็นโดยความเป็นของเที่ยง, ย่อมตามเห็นโดยความเป็นทุกข์ มิใช่ตามเห็นโดยความเป็นสุข, ย่อมตามเห็นโดยความเป็นอนัตตา มิใช่ตามเห็นโดยความเป็นอัตตา. ย่อมเบื่อหน่าย มิใช่ย่อมเพลิดเพลิน, ย่อมคลายความกำหนัด มิใช่ย่อมกำหนัด, ย่อมให้ดับ มิใช่ย่อมให้เกิด, ย่อมสละคืน มิใช่ย่อมยึดถือ. ภิกษุนั้น เมื่อตามเห็นกายนั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญา, เมื่อตามเห็นโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญา, เมื่อตามเห็นโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญา, เมื่อหน่าย ย่อมละความเพลิดเพลิน, เมื่อคลายความกำหนัด ย่อมละราคะ, เมื่อดับ ย่อมละสมุทัย และเมื่อสละคืน ย่อมละการยึดถือ ดังนี้.
____________________________
๓- หรือใช้คำว่า พิจารณากายในกายเนืองๆ ก็ได้.

               อธิบายคำว่า วิหรติ (อยู่)               
               คำว่า วิหรติ นั้น เป็นคำแสดงการประกอบการอยู่ด้วยอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาการอยู่ด้วยอิริยาบถ ๔. อธิบายว่า ตัดขาดการเบียดเบียนอิริยาบถหนึ่งด้วยอิริยาบถนั้น แล้วจึงนำอัตภาพอันยังไม่ตกไป ให้เป็นไปอยู่.

               อธิบายคำว่า พหิทฺธา กาเย เป็นอาทิ (ในกายภายนอกเป็นต้น)               
               คำว่า พหิทฺธา กาเย ได้แก่ ในกายของผู้อื่น.
               คำว่า อชฺฌตฺตพหิทฺธา กาเย ความว่า ในกายของตนตามกาลสมควร ในกายของผู้อื่นตามกาลสมควร. ก็โดยนัยแรก ท่านกล่าวการกำหนดกายในกายของตน. โดยนัยที่ ๒ ท่านกล่าวกำหนดกายในกายของผู้อื่น. โดยนัยที่ ๓ ท่านกล่าวการกำหนดกายในกายของตนตามกาลสมควร ในกายของผู้อื่นตามกาลสมควร. ก็ชื่อว่าอารมณ์ที่กระทบทั้งภายในทั้งภายนอก (พร้อมกัน) ย่อมไม่มี. แต่ว่า ท่านกล่าวกาลเป็นที่สัญจรของกรรมฐานอันคล่องแคล่วแล้วๆ เล่าๆ ไว้ในคำว่า อชฺฌตฺตพหิทฺธา นี้.

               อธิบายคำว่า อาตาปี สมฺปชาโน สติมา               
               คำว่า อาตาปี (มีความเพียร) นั้น เป็นคำแสดงการประกอบความเพียรของผู้กำหนดกาย (เป็นอารมณ์). ก็เพราะเหตุที่ภิกษุนั้นประกอบความเพียรที่ท่านให้ชื่อว่า อาตาปะ เพราะเป็นเครื่องเผาผลาญกิเลสทั้งหลายในภพทั้ง ๓ ในสมัยนั้น ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อาตาปี.
               คำว่า สมฺปชาโน (มีสัมปชัญญะ) คือผู้ประกอบด้วยญาณ กล่าวคือสัมปชัญญะอันกำหนดเอาซึ่งกาย (เป็นอารมณ์).
               คำว่า สติมา (มีสติ) คือผู้ประกอบด้วยสติอันกำหนดกาย. ก็เพราะเหตุที่ภิกษุนี้กำหนดอารมณ์ด้วยสติ แล้วก็ตามเห็นอยู่ด้วยปัญญา.
               จริงอยู่ ขึ้นชื่อว่าการตามเห็นของภิกษุเว้นจากสติ ก็ไม่มี. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสติแลว่าเป็นธรรมมีประโยชน์ในที่ทั้งปวง ฉะนั้น กายานุปัสสนาสติปัฏฐานกรรมฐาน ในคำว่า กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ นี้ ย่อมเป็นคำอธิบายอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยคำมีประมาณเท่านี้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า เพราะความหดหู่ภายในเป็นธรรม ทำอันตรายแก่ภิกษุผู้ไม่มีอาตาปี ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ ย่อมหลงใหลในการกำหนดธรรมอันเป็นอุบาย และในการเว้นจากสิ่งที่มิใช่อุบาย. ผู้มีสติหลงลืม ก็ย่อมเป็นผู้ไม่สามารถในการไม่สละอุบายและในการกำหนดสิ่งที่มิใช่อุบาย. เพราะฉะนั้น กรรมฐานของเขาจึงไม่รุ่งเรือง ด้วยเหตุนั้น กรรมฐานนั้นย่อมรุ่งเรืองด้วยอานุภาพแห่งธรรมเหล่าใด เพื่อการแสดงธรรมเหล่านั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำนี้ว่า อาตาปี สมฺปชาโน สติมา ดังนี้. ครั้งทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และสัมปโยคะ (การประกอบพร้อม) ด้วยประการฉะนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงองค์แห่งการละ จึงตรัสว่า วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ ดังนี้.

               อธิบายคำว่า วิเนยฺย โลเก อภิชฺฌาโทมนสฺสํ๑-               
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า วิเนยฺย ได้แก่ นำออกแล้ว ด้วยตทังควินัยหรือด้วยวิกขัมภนวินัย. กายนี้ใด อันต่างด้วยกายภายในเป็นต้น ที่ทรงกำหนดในคำว่า โลเก นี้ กายนั้นนั่นแหละ ชื่อว่าโลก ในที่นี้. อธิบายว่า นำอภิชฌาโทมนัสในโลกนี้ออก. แต่เพราะในที่นี้ กามฉันทะย่อมถึงการสงเคราะห์ด้วยอภิชฌาศัพท์ พยาปาทะย่อมถึงการสงเคราะห์ด้วยโทมนัสศัพท์ ฉะนั้น พึงทราบว่า การละนิวรณ์ เป็นคำอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยการแสดงธรรม ๒ อย่าง ที่มีกำลังอันนับเนื่องในนิวรณ์ดังนี้.
____________________________
๑- แปลว่า "พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ในโลก".

               อนึ่ง ว่าโดยพิเศษ ในที่นี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการละความยินดีอันมีกายสมบัติเป็นมูล ด้วยการนำอภิชฌาออก ละการยินร้ายอันมีกายวิบัติเป็นมูล ด้วยการนำโทมนัสออก. ตรัสการละความยินดียิ่งในกาย ด้วยการนำอภิชฌาออก ละการไม่ยินดียิ่งในกายภาวนา (การเจริญกาย) ด้วยการนำโทมนัสออก. อภิชฺฌาวินเยน กาเย อภูตานํ สุภสุขภาวาทีนํ ปกฺเขปสฺส โทมนสฺสวินเยน กาเย ภูตานํ อสุภาสุขภาวาทีนํ อปนยนสฺส จ ปหานํ วุตฺตํ ฯ และตรัสการละซึ่งการเพิ่มใส่ในสิ่งอันไม่มีในกายอันมีความงามความสุขเป็นต้น ด้วยการนำอภิชฌาออก ละการนำออกซึ่งสิ่งอันมีในกายอันมีความไม่งามความไม่สุขเป็นต้น ด้วยการนำโทมนัสออก. ด้วยคำนั้น อานุภาพแห่งความเพียรและความเป็นผู้สามารถในความเพียร ย่อมเป็นคำอันพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงแล้ว.
               จริงอยู่ อานุภาพแห่งความเพียรนั้น ย่อมหลุดพ้นจากความยินดียินร้าย อดทนต่อความไม่ยินดีและความยินดี ทั้งเว้นจากการเพิ่มใส่ในสิ่งที่ไม่มี และเว้นจากการนำสิ่งที่มีออกไป. ก็พระโยคาวจรนั้น เว้นจากความยินดียินร้าย อดทนต่อความไม่ยินดีและยินดี เมื่อไม่เพิ่มใส่ในสิ่งอันไม่มี และไม่นำสิ่งที่มีออกไป จึงชื่อว่าผู้มีความสามารถในความเพียรฉะนี้.
               อีกนัยหนึ่ง พึงทราบ ในคำว่า กาเย กายานุปสฺสี นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกรรมฐานไว้ ด้วยอนุปัสสนา (การตามเห็น). ในคำว่า วิหรติ นี้ ตรัสการบริหารกายของผู้ปฏิบัติกรรมฐาน ด้วยการอยู่ตามที่กล่าวแล้ว. ในคำว่า อาตาปี เป็นต้น ตรัสสัมมัปปธานไว้ด้วยอาตาปะ. ตรัสกรรมฐานอันมีประโยชน์ทั้งปวง หรืออุบายเป็นเครื่องบริหารกรรมฐานไว้ด้วยสติสัมปชัญญะ. ตรัสการได้สมถะ ด้วยสติหรือว่าด้วยอำนาจกายานุปัสสนา. ตรัสวิปัสสนาไว้ ด้วยสัมปชัญญะ. และตรัสผลแห่งภาวนาไว้ ด้วยการนำอภิชฌาโทมนัสออก ดังนี้.
               พรรณนาเนื้อความอุทเทสแห่งกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จบ.               

               พรรณนาเนื้อความอุทเทสแห่งเวทนานุปัสสนาเป็นต้น               
               วินิจฉัยในอุทเทสแห่งเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้น. พึงทราบเวทนาภายในเป็นต้น โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. ก็บรรดาเวทนาเป็นต้นเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสการกำหนดไว้ ๓ อย่าง คือ ในเวทนาเป็นต้น ของตน ๑ ในเวทนาเป็นต้น ของผู้อื่น ๑ ในเวทนาเป็นต้น ของตนตามกาลสมควรและของผู้อื่นตามกาลสมควร ๑. ก็ประโยชน์ในการกล่าวซ้ำซึ่งธรรมมีเวทนาเป็นต้น ในคำทั้งหลายมีคำว่า เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี เป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในกายานุปัสสนานั่นแหละ.
               ก็ในคำว่า เวทนาสุ เวทนานุปสฺสี, จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี, ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี นี้ คำว่า เวทนา ได้แก่เวทนา ๓ และเวทนาเหล่านั้นก็เป็นเพียงโลกีย์เท่านั้น. แม้จิตก็เป็นโลกีย์. แม้ธรรมทั้งหลายก็อย่างนั้น. การจำแนกธรรมเหล่านั้น จักปรากฏในนิทเทสวาระ แต่ในที่นี้ เวทนาอันภิกษุพึงตามเห็นได้โดยประการใด เมื่อตามเห็นโดยประการนั้น ก็พึงทราบว่า เป็นผู้มีปกติตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ดังนี้. ในจิตและธรรมทั้งหลายก็นัยนี้.
               ถามว่า เวทนา พระโยคาวจรจะพึงตามเห็นอย่างไร?
               ตอบว่า สุขเวทนาก่อน พึงตามเห็นโดยความเป็นทุกข์ ทุกขเวทนาพึงตามเห็นโดยความเป็นดังลูกศร อทุกขมสุขเวทนาพึงตามเห็นโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   ภิกษุใด เห็นสุขโดยความเป็นทุกข์ เห็น
                         ทุกข์โดยความเป็นดังลูกศร เห็นอทุกขมสุข อัน
                         สงบแล้ว โดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง ภิกษุนั้น
                         แลเป็นผู้เห็นชอบ จักเป็นผู้สงบ เที่ยวไป ดังนี้.
               อนึ่ง เวทนาเหล่านั้นทั้งหมดเทียว พึงตามเห็นว่า เป็นทุกข์เท่านั้นก็ได้ ข้อนี้สมกับคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เวทนาทั้งหมดนั้นเรากล่าวว่า เป็นทุกข์ ดังนี้. สุขเวทนาพึงตามเห็นโดยความเป็นทุกข์ก็ได้ เหมือนคำที่ตรัสว่า สุขเวทนายังตั้งอยู่ก็เป็นสุข เมื่อแปรไปก็เป็นทุกข์ ดังนี้ บัณฑิตควรยังคำทั้งหมดให้พิสดาร.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงตามเห็นเวทนาด้วยสามารถแห่งอนุปัสสนา ๗ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้นบ้างก็ได้. คำที่เหลือจักมีแจ้งในนิทเทสวาระ. แม้ในจิตและธรรมทั้งหลาย เฉพาะจิต พึงตามเห็นด้วยสามารถแห่งอนุปัสสนา ๗ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้นอันมีประเภทต่างๆ กัน โดยเป็นอารมณ์ อธิปติ สหชาต ภูมิ กรรม วิบากและกิริยาเป็นต้น และด้วยสามารถแห่งการแตกต่างกันแห่งจิตมีราคะเป็นต้น อันมาแล้วในนิทเทสวาระ. ธรรมทั้งหลายพึงตามเห็นด้วยสามารถแห่งสลักษณะ และสามัญญลักษณะ สุญญตาธรรม อนุปัสสนา ๗ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น และด้วยสามารถแห่งอันต่างด้วยธรรมอันสงบและไม่สงบเป็นต้น อันมาแล้วในนิทเทสวาระ. คำที่เหลือมีนัยดังที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
               ก็ในอธิการนี้ อภิชฌาโทมนัสในโลก กล่าวคือกายอันบุคคลใดละได้แล้ว อภิชฌาโทมนัสนั้น แม้ในโลกกล่าวคือเวทนาเป็นต้น ก็ชื่อว่าบุคคลนั้นละได้แล้วเหมือนกันก็จริง ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ในสติปัฏฐานทั้งหมด ด้วยสามารถแห่งบุคคลต่างๆ และด้วยสามารถแห่งการเจริญสติปัฏฐาน อันเกิดขึ้นในขณะแห่งจิตที่แตกต่างกัน.
               จริงอยู่ การละอภิชฌาโทมนัสในโลกหนึ่งได้แล้ว ก็ชื่อว่าละอภิชฌาโทมนัสในโลกที่เหลือได้. ด้วยเหตุนั้นแหละ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนั้นไว้ ก็เพื่อแสดงการละอภิชฌาโทมนัสในโลกเหล่านั้น ของบุคคลนั้นแล.
               อุทเทสวารกถา จบ.               

               นิทเทสวารกถา               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะกระทำสัตว์ทั้งหลาย ให้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ มีประการมิใช่น้อย ด้วยสติปัฏฐานเทศนา จึงทรงแบ่งสัมมาสติข้อหนึ่งนั่นแหละออกเป็น ๔ ส่วน เป็นสติปัฏฐาน ๔ ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ โดยนัยว่า ภิกษุในศาสนานี้ พิจารณาเห็นกายในกายภายในเนืองๆ อยู่ เป็นต้นแล้ว เมื่อจะทรงถือเอาสติปัฏฐานหนึ่งๆ จากสติปัฏฐาน ๔ นั้นจำแนกออกไป จึงเริ่มตรัสนิทเทสวาระ โดยนัยเป็นต้นว่า ก็ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายในเนืองๆ อยู่ เป็นอย่างไร ดังนี้.
               เปรียบเหมือนช่างสานผู้ฉลาด ต้องการจะทำอุปกรณ์ทั้งหลาย มีเสื่อลำแพนชนิดหยาบละเอียด เตียบ ข้องและชะลอมเป็นต้น ได้ไม้ไผ่ลำใหญ่มาลำหนึ่งแล้วตัดออกเป็น ๔ ท่อน ถือเอาท่อนหนึ่งๆ จาก ๔ ท่อนนั้นผ่าออกแล้ว จึงทำอุปกรณ์นั้นๆ ก็หรือว่าเปรียบเหมือนช่างทองผู้ฉลาด ต้องการจะทำเครื่องประดับชนิดต่างๆ ได้แท่งทองคำอันบริสุทธิ์อย่างดี ตัดออกเป็น ๔ ส่วน แล้วถือเอาส่วนหนึ่งๆ จาก ๔ ส่วนนั้น ทำเครื่องประดับนั้นๆ ฉันนั้น.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า กถญฺจ (แปลว่าเป็นอย่างไร) เป็นต้น เป็นคำถามโดยประสงค์จะกล่าวให้พิสดาร. ก็ในอธิการนี้ มีเนื้อความโดยสังเขป ดังนี้ว่า โดยอาการอย่างไร โดยประการอย่างไร ภิกษุ ชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายภายในอยู่ ดังนี้. แม้ในวาระแห่งคำถามที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               คำว่า อิธ ภิกฺขุ คือ ภิกษุในศาสนานี้ ศัพท์ว่า อิธ ในที่นี้ เป็นคำแสดงถึงศาสนาอันเป็นที่อาศัยของบุคคลผู้ทำกายานุปัสสนาโดยประการทั้งปวง ด้วยสามารถแห่งกายภายในเป็นต้น ให้เกิดขึ้น และปฏิเสธความเป็นอย่างนั้นของศาสนาอื่น ดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะมีอยู่ในศาสนานี้เท่านั้น ฯลฯ ศาสนาอื่นว่างจากสมณะ ดังนี้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ภิกษุในศาสนานี้ ดังนี้.
               คำว่า อชฺฌตฺตํ กายํ คือ กายของตน.
               คำว่า อุทฺธํ ปาทตลา คือ แต่พื้นเท้าขึ้นไปในเบื้องบน.
               คำว่า อโธ เกสมตฺถกา คือ แต่ปลายผมลงมาในเบื้องต่ำ.
               คำว่า ตจปริยนฺตํ คือ มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ.
               คำว่า ปูรนฺนานปฺปการสฺส อสุจิโน ปจฺจเวกฺขติ ความว่า พระโยคาวจรย่อมเห็นว่า กายนี้เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีเกสาเป็นต้น ซึ่งมีประการต่างๆ. คืออย่างไร คือ อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย เกสา โลมา ฯลฯ มุตฺตํ ดังนี้.
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อตฺถิ แปลว่า มีอยู่. คำว่า อิมสฺมึ ได้แก่ ในกายที่ท่านกล่าวว่าเบื้องบน ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมา มีหนังห่อหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ นี้. คำว่า กาเย ได้แก่ ในสรีระ.
               จริงอยู่ ท่านเรียกว่า กาย เพราะสั่งสมของไม่สะอาด เป็นบ่อเกิดแห่งโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้น อันน่ารังเกียจ ทั้งเป็นบ่อเกิดแห่งโรคหลายร้อยอย่างมีโรคตาเป็นต้น.
               คำว่า เกสา โลมา เป็นต้นนี้ คืออาการ ๓๒ มีผมเป็นต้น.
               พึงทราบความสัมพันธ์ (คือการเกี่ยวเนื่องกัน) ในโกฏฐาสเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ผมมีอยู่ในกายนี้ ขนมีอยู่ในกายนี้เป็นต้น.
               จริงอยู่ ในกเฬวระ คืออัตภาพประมาณวาหนึ่งนี้ เบื้องบนตั้งแต่เท้าขึ้นไป เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมา โดยที่สุดรอบๆ ตั้งแต่หนังเข้าไป เมื่อค้นหาอยู่แม้โดยอาการทุกอย่าง ใครๆ ย่อมไม่พบอะไรๆ คือ จะเป็นแก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ กฤษณา จันทน์แดง การบูรหรือจุณสำหรับอบเป็นต้น หรือว่าสิ่งที่เป็นของสะอาดแม้สักนิดหนึ่ง โดยที่แท้ ย่อมพบแต่สิ่งที่ไม่สะอาดทั้งสิ้นอันต่างด้วยผม ขนเป็นต้น มีประการต่างๆ อันมีกลิ่นเหม็นน่ารังเกียจอย่างยิ่ง ทั้งการดูก็ไม่เป็นสิริ. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อตฺถิ อิมสฺมึ กาเย เกสา โลมา ฯลฯ มุตฺตํ ดังนี้.
               นี้เป็นการพรรณนาบทสัมพันธ์ในอธิการนี้.

               กรรมฐานกถาว่าด้วยอำนาจสมถะ               
               อุคคหโกศล               
               ก็กุลบุตรผู้ใคร่จะเจริญกรรมฐานนี้เพื่อบรรลุพระอรหัต เบื้องต้นต้องชำระศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในศีลอันบริสุทธิ์ดีแล้ว ตัดปลิโพธที่มีอยู่ ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้น ด้วยการเจริญปฏิกูลมนสิการกรรมฐาน ทำฌานให้เป็นบาทเริ่มตั้งวิปัสสนา ก็พึงเรียนเอาในสำนักของกัลยาณมิตรผู้บรรลุพระอรหัต หรือในพระอนาคามิผลเป็นต้นรูปใดรูปหนึ่ง โดยกำหนดอย่างต่ำที่สุด แม้ผู้เป็นตันติอาจารย์ (อาจารย์ผู้สอนพระพุทธพจน์) ซึ่งชำนาญในพระบาลีพร้อมทั้งอรรถกถา แต่เมื่อไม่ได้กัลยาณมิตรเช่นนั้น ในวิหารเดียวกัน พึงไปยังที่อยู่ของท่านแล้วเรียนเอาเถิด.
               บรรดาวิธีการเหล่านั้น การชำระศีล ๔ ให้หมดจด ปลิโพธ การตัดปลิโพธและวิธีการเข้าไปสู่สำนักของอาจารย์แม้ทั้งหมดนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้โดยพิศดารแล้วในปกรณ์วิสุทธิมรรค เพราะฉะนั้น พึงทราบกิจนั้นโดยนัยที่กล่าวแล้วในปกรณ์วิสุทธิมรรคนั้นนั่นแหละ.

               วจสา บอกโดยวาจา               
               ก็อาจารย์ผู้บอกกรรมฐานพึงบอกโดยวิธีการ ๓ อย่าง คือสำหรับภิกษุที่เรียนกรรมฐานตามปกติ ในวาระที่เธอมานั่งแล้ว อาจารย์พึงให้เธอทำการสาธยายครั้งหนึ่งหรือ ๒ ครั้ง แล้วจึงบอก.
               สำหรับภิกษุผู้ต้องการจะอยู่ในสำนักเรียนเอากรรมฐาน อาจารย์พึงบอกในเวลาที่เธอมาแล้วๆ.
               สำหรับภิกษุผู้ต้องการจะเรียนแล้วไปในที่อื่น อาจารย์พึงบอกกรรมฐาน อย่าให้ยุ่งยาก อย่าให้สงสัย โดยไม่ทำให้พิสดารเกินไปและไม่ย่อเกินไป.
               ถามว่า เมื่อจะบอก อาจารย์พึงบอกอย่างไร?
               ตอบว่า พึงบอกอุคคหโกศล ๗ อย่างและมนสิการโกศล ๑๐ อย่าง ในสองอย่างนั้น อาจารย์พึงบอกอุคคหโกศล ๗ อย่าง อย่างนี้คือ วจสา (โดยวาจา) มนสา (โดยใจ) วณฺณโต (โดยสี) สณฺฐานโต (โดยสัณฐาน) ทิสโต (โดยทิศ) โอกาสโต (โดยโอกาส) ปริจเฉทโต (โดยปริจเฉท).

               พึงสาธยายด้วยวาจา               
               ก็ในปฏิกูลมนสิการกรรมฐานนี้ แม้ภิกษุนั้นจะทรงพระไตรปิฎกก็พึงทำการสาธยายด้วยวาจาก่อนในเวลาที่มนสิการ. เพราะเมื่อเธอผู้เดียวทำการสาธยายอยู่ กรรมฐานย่อมปรากฏ เหมือนพระเถระ ๒ รูปผู้เรียนกรรมฐานในสำนักของพระมหาเทวเถระผู้อยู่ในมลยะประเทศ.
               ได้ยินว่า พระมหาเทวเถระอันพระเถระ ๒ รูปนั้นขอกรรมฐานแล้ว ได้ให้ทวัตติงสาการบาลี โดยสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงทำการสาธยายนี้อย่างนี้ตลอด ๔ เดือน พระเถระทั้ง ๒ นั้นแม้มีนิกาย ๒-๓ นิกายเหล่านั้นคล่องแคล่วแล้วก็จริง ถึงอย่างนั้น เพราะความที่ตนมีปกติรับโอวาทโดยความเคารพ จึงได้สาธยายทวัตติงสาการตลอด ๔ เดือน ได้เป็นพระโสดาบันแล้ว.
               เพราะฉะนั้น อาจารย์เมื่อจะบอกกรรมฐาน พึงบอกอันเตวาสิกว่า ครั้งแรกเธอจงสาธยายด้วยวาจาก่อน ดังนี้ ก็เมื่อจะกระทำการสาธยาย พึงกำหนดตจปัญจกกรรมฐานเป็นต้น แล้วกระทำการสาธยายด้วยสามารถแห่งอนุโลมและปฏิโลม.

               วจสา (วิธีการสาธยายด้วยวาจา)               
               จริงอยู่ ภิกษุนั้นครั้นกล่าวว่า เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ แล้ว พึงว่าโดยปฏิโลมอีกว่า ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา ดังนี้.
               ครั้นว่า มํสํ นหารู อฏฺฐี อฏฺฐิมิญฺชํ วกฺกํ ในวักกปัญจกะ อันเป็นลำดับแห่งตจปัญจกะนั้นแล้ว พึงว่าโดยปฏิโลมอีกว่า วกฺกํ อฏฺฐิมิญฺชํ อฏฺฐี นหารู มํสํ, ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา ดังนี้.
               ลำดับนั้น ครั้นว่าในปัปผาสปัญจกะว่า หทยํ ยกนํ กิโลมกํ ปิหกํ ปปฺผาสํ แล้วพึงว่าโดยปฏิโลมอีกว่า ปปฺผาสํ ปิหกํ กิโลมกํ ยกนํ หทยํ, วกฺกํ อฏฺฐิมิญฺชํ อฏฺฐี นหารู มํสํ, ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา ดังนี้.
               ลำดับนั้น พึงยก มตฺถลุงฺคํ อันมาในปฏิสัมภิทามรรคแม้ไม่ได้ยกขึ้นสู่บาลีนี้ ให้ขึ้นสู่บาลีในที่สุดแห่งกรีสะ แล้วว่าในมัตถลุงคปัญจกะนี้ว่า อนฺตํ อนฺตคุณํ อุทริยํ กรีสํ มตฺถลุงฺคํ แล้วพึงว่าโดยปฏิโลมอีกว่า มตฺถลุงฺคํ กรีสํ อุทริยํ อนฺตคุณํ อนฺตํ, ปปฺผาสํ ปิหกํ กิโลมกํ ยกนํ หทยํ, วกฺกํ อฏฺฐิมิญฺชํ อฏฺฐี นหารู มํสํ, ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา ดังนี้.
               ลำดับนั้น พึงว่าในเมทฉักกะว่า ปิตฺตํ เสมฺหํ ปุพฺโพ โลหิตํ เสโท เมโท แล้วพึงว่าโดยปฏิโลมอีกว่า เมโท เสโท โลหิตํ ปุพฺโพ เสมฺหํ ปิตฺตํ, มตฺถลุงฺคํ กรีสํ อุทริยํ อนฺตคุณํ อนฺตํ, ปปฺผาสํ ปิหกํ กิโลมกํ ยกนํ หทยํ, วกฺกํ อฏฺฐิมิญฺชํ อฏฺฐี นหารู มํสํ, ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา ดังนี้.
               ลำดับนั้น พึงว่าในมุตตฉักกะว่า อสฺสุ วสา เขโฬ สึฆานิกา ลสิกา มุตฺตํ แล้วพึงว่าโดยปฏิโลมอีกว่า มุตฺตํ ลสิกา สึฆานิกา เขโฬ วสา อสฺสุ, เมโท เสโท โลหิตํ ปุพฺโพ เสมฺหํ ปิตฺตํ, มตฺถลุงฺคํ กรีสํ อุทริยํ อนฺตคุณํ อนฺตํ. ปปฺผาสํ ปิหกํ กิโลมกํ ยกนํ หทยํ, วกฺกํ อฏฺฐิมิญฺชํ อฏฺฐี นหารู มํสํ, ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา ดังนี้.
               พึงทำการสาธยายร้อยครั้งบ้าง พันครั้งบ้าง แสนครั้งบ้าง ด้วยวาจาดังพรรณนามาฉะนี้.
               จริงอยู่ ระบบแห่งกรรมฐาน ย่อมเป็นอันคล่องแคล่วโดยการสาธยายด้วยวาจา จิตย่อมไม่แล่นไปข้างโน้นข้างนี้ โกฏฐาสทั้งหลายย่อมปรากฏเหมือนสายสร้อยข้อมือ เหมือนแถวหลักรั้ว ฉะนั้น.

               มนสา (วิธีการสาธยายด้วยใจ)               
               ก็พระโยคาวจรพึงทำการสาธยายด้วยวาจาฉันใด แม้การสาธยายด้วยใจก็ฉันนั้นนั่นแหละ เพราะการสาธยายด้วยวาจาเป็นปัจจัยแก่การสาธยายด้วยใจ. การสาธยายด้วยใจเป็นปัจจัยแก่การแทงตลอดซึ่งลักษณะ. การแทงตลอดลักษณะเป็นปัจจัยแก่การแทงตลอดมรรคและผล.

               วณฺณโตทิ (กำหนดโดยสีเป็นต้น)               
               ข้อว่า วณฺณโต ความว่า พึงกำหนดสีแห่งโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้น. คำว่า สณฺฐานโต คือ พึงกำหนดสัณฐานแห่งโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแหละ.
               คำว่า ทิสโต ความว่า ในสรีระนี้ ทิศเบื้องบนตั้งแต่นาภีขึ้นไปทิศเบื้องต่ำจากนาภีลงมา ฉะนั้น พึงกำหนดทิศว่า โกฏฐาสนี้อยู่ในทิศชื่อนี้. คำว่า โอกาสโต ความว่า พึงกำหนดโอกาสแห่งโกฏฐาสนั้นๆ อย่างนี้ว่า โกฏฐาสนี้ตั้งอยู่ในโอกาสชื่อนี้.
               คำว่า ปริจฺเฉทโต ได้แก่การกำหนด ๒ อย่าง คือสภาคปริจเฉท (กำหนดส่วนที่เสมอกัน) และวิสภาคปริจเฉท (กำหนดส่วนที่ไม่เสมอกัน).
               ในการกำหนด ๒ อย่างนั้น พึงทราบสภาคปริจเฉทอย่างนี้ว่า โกฏฐาสนี้กำหนดตัดตอนด้วยโกฏฐาสชื่อนี้ทั้งเบื้องล่าง เบื้องบน เบื้องขวางโดยรอบ. พึงทราบวิสภาคปริจเฉทด้วยอำนาจความไม่ปะปนกันแห่งโกฏฐาส อย่างนี้ว่า ผมมิใช่ขน แม้ขนก็ไม่ใช่ผม เป็นต้น.

               ข้อที่ควรทราบก่อนจะบอกอุคคหโกศล               
               ก็พระอาจารย์ เมื่อจะบอกอุคคหโกศล ๗ อย่าง อย่างนี้ ควรจะทราบว่า "กรรมฐานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรโน้นด้วยอำนาจแห่งปฏิกูล กรรมฐานนี้ตรัสไว้ในพระสูตรโน้นด้วยอำนาจแห่งธาตุ" ดังนี้ แล้วจึงบอก.
               จริงอยู่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานด้วยอำนาจแห่งปฏิกูลเท่านั้น แต่ในมหาหัตถิปโทปมสูตร มหาราหุโลวาทสูตรและธาตุวิภังค์ ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งธาตุ. ก็ในกายคตาสติสูตร ตรัสจำแนกฌาน ๔ หมายเอาฌานที่ปรากฏโดยสีแห่งโกฏฐาส.
               บรรดากรรมฐานสองอย่างนั้น วิปัสสนากรรมฐานตรัสด้วยอำนาจแห่งธาตุ สมถกรรมฐานตรัสด้วยอำนาจแห่งปฏิกูล. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า สมถกรรมฐานนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในสติปัฏฐานวิภังค์นี้ ด้วยสามารถแห่งสาธารณกรรมฐานทั้งปวง โดยไม่แปลกกันแล.

               มนสิการโกศล ๑๐               
               พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงบอกอุคคหโกศล ๗ อย่าง อย่างนี้แล้วจึงบอกมนสิการโกศล ๑๐ อย่าง อย่างนี้คือ
               ๑. อนุปุพฺพโต (โดยลำดับ)
               ๒. นาติสีฆโต (โดยไม่รีบด่วน)
               ๓. นาติสณิกโต (โดยไม่ช้าเกินไป)
               ๔. วิกฺเขปปฏิพาหนโต (โดยการห้ามความฟุ้งซ่าน)
               ๕. ปณฺณตฺติสมติกฺกมนโต (โดยการก้าวล่วงบัญญัติ)
               ๖. อนุปุพฺพมุญฺจนโต (โดยการปล่อยลำดับ)
               ๗. อปฺปนาโต (โดยอัปปนา)
               ๘. ๙. ๑๐. ตโย จ สุตฺตนฺตา (โดยสุตตันตะ ๓)

               มนสิการโดยลำดับ               
               บรรดาโกศล ๑๐ เหล่านั้น ข้อว่า อนุปุพฺพโต ความว่า พระโยคาวจรพึงทำกรรมฐานนั้นไว้ในใจโดยลำดับ คือตั้งแต่การสาธยาย ไม่พึงเว้นกรรมฐานหนึ่งไว้ในระหว่าง เพราะเมื่อมนสิการเว้นกรรมฐานหนึ่งไว้ในระหว่าง จิตก็จะเหน็ดเหนื่อย ย่อมตกไปจากอารมณ์ เพราะความไม่บรรลุตามใจชอบที่จะพึงได้ด้วยสามารถแห่งภาวนาสมบัติ ย่อมไม่ทำภาวนาให้สำเร็จ เปรียบเหมือนบุรุษผู้ไม่ฉลาด ก้าวขึ้นบันได ๓๒ ขั้นโดยข้ามไปขั้นหนึ่งในระหว่างฉะนั้น.

               มนสิการโดยไม่รีบด่วน               
               อนึ่ง แม้เมื่อมนสิการไปโดยลำดับ ก็ไม่พึงมนสิการโดยรีบด่วน เพราะว่าเมื่อมนสิการโดยรีบด่วนเกินไป กรรมฐานย่อมถึงที่สุดอย่างเดียว แต่ไม่แจ่มแจ้ง ทั้งไม่นำมาซึ่งคุณวิเศษ เปรียบเหมือนเมื่อบุรุษเดินทาง ๓ โยชน์ ไม่ได้กำหนดทางเบี่ยงและทางแยกไว้ เดินไปเดินมาโดยรวดเร็วแม้ทั้ง ๗ ครั้ง ทางย่อมจะสิ้นไปเร็วแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ต้องถามคนอื่นทุกครั้งจึงจะเดินทางไปได้ เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรไม่พึงมนสิการโดยรีบด่วนเกินไป.

               มนสิการโดยไม่ช้าเกินไป               
               ก็พระโยคาวจรมนสิการโดยไม่รีบด่วนฉันใด พึงมนสิการโดยไม่ชักช้าเกินไปฉันนั้น เพราะว่า เมื่อมนสิการโดยชักช้าเกินไป กรรมฐานย่อมจะไม่ถึงที่สุด ทั้งไม่เป็นปัจจัยแก่การบรรลุคุณวิเศษ เปรียบเหมือนบุรุษผู้ต้องการเดินทางไกล ๓ โยชน์นั่นแหละ มัวแต่ชักช้าหยุดพักตามโคนไม้เชิงเขาเป็นต้นในระหว่างทาง ทางก็ย่อมไม่ถึงการสิ้นไป ต้องเดินไป ๒-๓ วันจึงจะถึงสุดทางได้.

               มนสิการโดยห้ามความฟุ้งซ่าน               
               ข้อว่า วิกฺเขปปฏิพาหนโต ความว่า พึงห้ามจิตที่สละกรรมฐาน ฟุ้งไปในอารมณ์ภายนอกมากมายเสีย เพราะเมื่อไม่ห้ามจิตไว้ เมื่อจิตฟุ้งไปภายนอก กรรมฐานย่อมเสื่อมสลายไป เปรียบเหมือนเมื่อบุคคลเดินทางข้ามเหว อันเป็นทางเดินได้คนเดียว ไม่กำหนดทางที่เหยียบ มัวเหลียวดูทางโน้นทางนี้ย่อมก้าวพลาด ทีนั้นเขาจะตกลงไปในเหวลึกชั่วร้อยบุรุษ เพราะฉะนั้น พึงมนสิการโดยการห้ามความฟุ้งซ่านเสีย.

               มนสิการโดยการก้าวล่วงบัญญัติ               
               ข้อว่า ปณฺณตฺติสมติกฺกมนโต ความว่า พระโยคาวจรพึงก้าวล่วงบัญญัติว่า ผมขนเป็นต้น และพึงตั้งจิตว่า นั่นเป็นของปฏิกูล. คือในครั้งแรก ความเป็นปฏิกูลย่อมปรากฏ ลำดับนั้นพึงก้าวล่วงบัญญัติว่า เกสา โลมา แล้วตั้งจิตไว้ในความเป็นปฏิกูลเท่านั้น เปรียบเหมือนในเวลาที่น้ำหาได้ยาก พวกมนุษย์เห็นที่มีน้ำในป่า จึงผูกอะไรๆ มีใบตาลเป็นต้นไว้เป็นสัญญาณ (เครื่องหมาย) ในที่นั้น พวกเขาย่อมมาอาบและดื่มด้วยสัญญาณนั้น. ก็แลในกาลใด รอยเท้าของพวกเขาที่สัญจรมาบ่อยๆ ปรากฏแล้ว ในกาลนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นด้วยสัญญาณนั้นอีก เขาย่อมไปอาบและดื่มได้ในขณะที่ต้องการๆ.

               มนสิการโดยการปล่อยลำดับ               
               ข้อว่า อนุปุพฺพมุญฺจนโต ความว่า โกฏฐาสใดๆ ไม่ปรากฏ เมื่อปล่อยโกฏฐาสนั้นๆ ก็พึงมนสิการไปโดยการปล่อยตามลำดับ คือว่า พระโยคาวจรผู้อาทิกัมมิกะ (ผู้เริ่มทำครั้งแรก) เมื่อมนสิการว่า เกสา ก็มนสิการไปจนจดโกฏฐาสสุดท้ายว่า มุตฺตํ นี้ และเมื่อมนสิการว่า มุตฺตํ ก็มนสิการไปจนจดโกฏฐาสต้นว่า เกสา นี้นั่นแหละ ทีนั้นเมื่อมนสิการโกฏฐาสนั้นอยู่โกฏฐาสบางอย่างย่อมปรากฏ บางอย่างก็ไม่ปรากฏ โกฏฐาสใดๆ ปรากฏด้วยมนสิการนั้น พึงทำกรรมฐานนั้นๆ ก่อน.
               บรรดาโกฏฐาสเหล่านั้น เมื่อปรากฏ ๒ โกฏฐาส โกฏฐาสหนึ่งปรากฏดีกว่า มนสิการโกฏฐาสนั้นนั่นแหละบ่อยๆ อยู่ ก็พึงให้อัปปนาเกิดได้.
               ในข้อนี้มีอุปมาดังนี้.
               เหมือนอย่างว่า นายพรานต้องการจะจับลิงที่อยู่ในดงตาลซึ่งมีต้นตาล ๓๒ ต้น เอาลูกศรยิงไปยังใบตาลต้นแรกแล้วตะเพิด ทีนั้นแล ลิงตัวนั้นพึงกระโดดไปที่ต้นตาลนั้นๆ โดยลำดับ จนถึงต้นตาลต้นสุดท้าย เมื่อนายพรานไปที่ต้นตาลแม้นั้นแล้วก็ทำอย่างนั้นนั่นแหละ ลิงนั้นก็พึงมายังต้นตาลต้นแรก โดยนัยนั้นนั่นแหละอีก. ลิงนั้น เมื่อไปโดยลำดับแล้วๆ เล่าๆ อย่างนี้ก็จะปรากฏตัวออกไปในที่ที่นายพรานตะเพิดเท่านั้น แล้วจะหมอบลงที่ต้นตาลต้นหนึ่งโดยลำดับอีก แล้วจับยอดใบตาลอ่อนกลางต้นตาลนั่นแหละไว้มั่น แม้จะถูกนายพรานยิงก็ไม่หนีไปฉันใด คำอุปมัยนี้ก็พึงทราบฉันนั้น.
               ในข้อนั้น มีคำเปรียบเทียบอุปมาและอุปมัยดังต่อไปนี้.

               การอุปมาและอุปมัย               
               โกฏฐาส ๓๒ ในกายนี้เปรียบเหมือนต้นตาล ๓๒ ต้นในดงตาล. จิตเปรียบเหมือนลิง พระโยคาวจรเปรียบเหมือนนายพราน. การที่จิตของพระโยคาวจรแล่นไปเนืองๆ ในกายอันมีโกฏฐาส ๓๒ ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ เปรียบเหมือนการที่ลิงอยู่ในดงตาลอันมีต้นตาล ๓๒ ต้น. การที่เมื่อพระโยคาวจรเริ่มมนสิการว่า เกสา เป็นต้น จิตก็จะดำเนินไปตามลำดับแล้วหยุดอยู่ที่โกฏฐาสสุดท้าย เปรียบเหมือนเมื่อนายพรานเอาลูกศรยิงไปยังใบตาลต้นแรกแล้วตะเพิด ลิงจะกระโดดไปที่ต้นตาลต้นนั้นๆ แล้วไปยังต้นสุดท้าย. แม้ในการที่ลิงกลับมาอีก ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               การที่เมื่อพระโยคาวจรมนสิการบ่อยๆ ครั้นเมื่อโกฏฐาสบางอย่างปรากฏแล้ว ละทิ้งโกฏฐาสที่ไม่ปรากฏ ทำบริกรรมในโกฏฐาสที่ปรากฏ เปรียบเหมือนการปรากฏของลิงผู้ไปอยู่โดยลำดับแล้วๆ เล่าๆ ในที่ที่นายพรานตะเพิดแล้วๆ. การที่เมื่อโกฏฐาส ๒ โกฏฐาสปรากฏ โกฏฐาสใดปรากฏดีกว่า พระโยคาวจรมนสิการโกฏฐาสนั้นนั่นแหละบ่อยๆ แล้วยังอัปปนาให้เกิดขึ้นในกาลที่สุด เปรียบเหมือนการที่ลิงหมอบลงที่ตาลต้นหนึ่งโดยลำดับ แล้วยึดใบตาลอ่อนกลางต้นตาลนั้นนั่นแหละไว้มั่น แม้ถูกนายพรานยิงก็ไม่หนีไปฉะนั้น.
               พึงทราบคำอุปมาแม้อื่นอีก.
               เปรียบเหมือน ภิกษุผู้มีบิณฑบาตเป็นวัตร๑- อาศัยบ้าน ๓๒ สกุลอยู่ ได้ภิกษา ๒ ที่ในบ้านหลังหนึ่งแล้ว พึงเว้นบ้านหลังหนึ่งข้างหน้า ในวันรุ่งขึ้นได้ภิกษา ๓ ที่ พึงเว้นบ้าน ๒ หลังข้างหน้า ในวันที่ ๓ ได้ภิกษาเต็มบาตรในบ้านหลังแรกนั่นแหละ แล้วไปยังอาสนศาลาฉันภิกษาฉันใด ข้ออุปมัยนี้พึงทราบฉันนั้น.
               จริงอยู่ อาการ ๓๒ เปรียบเหมือนบ้าน ๓๒ สกุล. พระโยคาวจรเปรียบเหมือนภิกษุผู้มีบิณฑบาตเป็นวัตร. การที่พระโยคาวจรทำบริกรรมในอาการ ๓๒ เปรียบเหมือนภิกษุนั้นเข้าไปอาศัยหมู่บ้านนั้นอยู่. การที่พระโยคาวจรมนสิการไปๆ ละทิ้งโกฏฐาสทั้งหลายที่ไม่ปรากฏ กระทำบริกรรมในโกฏฐาสทั้ง ๒ ที่ปรากฏ เปรียบเหมือนภิกษุนั้นได้ภิกษา ๒ ที่ ในบ้านหลังแรกแล้วเว้นบ้านหลังหนึ่งข้างหน้า และเปรียบเหมือนในวันที่ ๒ ได้ภิกษา ๓ ที่ แล้วเว้นบ้าน ๒ หลังข้างหน้า. การที่เมื่อสองโกฏฐาสปรากฏแล้ว โกฏฐาสใดดีกว่า ก็มนสิการโกฏฐาสนั้นๆ นั่นแหละบ่อยๆ แล้วยังอัปปนาให้เกิดได้ เปรียบเหมือนในวันที่ ๓ ได้ภิกษาเต็มบาตรในบ้านหลังแรกนั่นแหละ แล้วไปนั่งฉันในอาสนศาลา.
____________________________
๑- ระเบียบการถือบิณฑบาตเป็นวัตรของท่านในสมัยนั้น ปัจจุบันนี้รู้สึกว่าเข้าใจยาก.

               โดยอัปปนา               
               ข้อว่า อปฺปนาโต ได้แก่ โกฏฐาสที่เป็นอัปปนา ในข้อนี้มีอธิบายว่า พึงทราบว่า บรรดาโกฏฐาสทั้งหลายมีเกสาเป็นต้น ทุกๆ โกฏฐาสเป็นอัปปนาได้.

               โดยสุตตันตะ ๓               
               ในข้อว่า ตโย จ สุตฺตนฺตา นี้ มีอธิบายดังนี้ว่า พึงทราบสุตตันตะ ๓ อย่างเหล่านี้ เพื่อประโยชน์แก่วิริยะและสมาธิ คืออธิจิตตสูตร สีติภาวสูตร โพชฌังคโกสลสูตร.

               อธิจิตตสูตร               
               บรรดาพระสูตรเหล่านั้น พระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งอธิจิต พึงมนสิการนิมิต ๓ โดยกาลอันสมควร คือพึงมนสิการสมาธินิมิตโดยกาลอันสมควร พึงมนสิการปัคนิมิตโดยกาลอันสมควร พึงมนสิการอุเปกขานิมิตโดยกาลอันสมควร. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งอธิจิต พึงมนสิการสมาธินิมิตโดยส่วนเดียวเท่านั้นไซร้ ฐานะนั้นพึงให้จิตเป็นไปเพื่อโกสัชชะได้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งอธิจิต พึงมนสิการปัคคหนิมิตโดยส่วนเดียวไซร้ ฐานะนั้นพึงให้จิตเป็นไปเพื่ออุทธัจจะได้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งอธิจิต พึงมนสิการอุเปกขานิมิตโดยส่วนเดียวไซร้ ฐานะนั้น จิตย่อมไม่ตั้งมั่นโดยชอบเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ในกาลใดแล ภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งอธิจิต มนสิการสมาธินิมิต ปัคนิมิต อุเปกขานิมิต โดยกาลอันควร จิตนั้นย่อมเป็นธรรมชาติอ่อนควรแก่การงาน เป็นปภัสสร ไม่เปราะ (คือไม่ย่อยยับ) ย่อมตั้งมั่นโดยชอบเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายช่างทอง หรือลูกมือของนายช่างทอง ประกอบเบ้า (คือทำเตาสำหรับหลอมทอง) ครั้นประกอบเบ้าแล้วก็สุมไฟปากเบ้า ครั้นสุมไฟแล้วก็เอาคีมคีบทองใส่เข้าไปในปากเบ้า ย่อมสูบลมเข้าไปตามกาลอันควร ย่อมเอาน้ำประพรมโดยกาลอันควร ย่อมวางเฉยโดยกาลอันควร.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้านายช่างทองหรือลูกมือของนายช่างทอง พึงเป่าลมเข้าไปโดยส่วนเดียวไซร้ ฐานะนั้น ทองก็พึงละลายไป. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้านายช่างทองหรือลูกมือของนายช่างทอง พึงเอาน้ำประพรมโดยส่วนเดียวไซร้ ฐานะนั้น ทองก็จะพึงเย็นไป. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้านายช่างทองหรือลูกมือนายช่างทองพึงดูทองนั้นเฉยๆ อยู่อย่างเดียวไซร้ ฐานะนั้น ทองก็ไม่พึงสุกปลั่ง. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล นายช่างทองหรือลูกมือนายช่างทอง ย่อมเป่าลมเข้าไปโดยกาลอันควร ย่อมเอาน้ำประพรมโดยกาลอันควร ดูเฉยๆ อยู่ตามกาลอันควร ทองนั้นย่อมเป็นธรรมชาติอ่อน ควรแก่การงาน สุกปลั่ง ไม่เปราะ ย่อมใช้งานได้ดี. นายช่างทองหรือลูกมือนายช่างทอง จำนงอยู่ด้วยเครื่องประดับชนิดใดๆ ผิว่าจะทำเข็มขัด จะทำตุ้มหู จะทำสร้อยคอ จะทำมาลัยทอง แท่งทองคำนั้นย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เขาฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งอธิจิต ฯลฯ ย่อมตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย. ภิกษุนั้นย่อมน้อมจิตไปเพื่อธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยอภิญญาใดๆ เมื่อสติอายตนะมีอยู่ เธอย่อมถึงความเป็นผู้สามารถเพื่อทำให้แจ้ง ด้วยอภิญญาในธรรมนั้นๆ นั่นแหละ ดังนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าอธิจิตตสูตร.

               สีติภาวสูตร               
               พระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ เป็นผู้ควร เพื่อทำให้แจ้งซึ่งสีติภาวะ (ความเป็นผู้สงบ) อันยอดเยี่ยม.
               ธรรม ๖ เป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม ย่อมประคองจิตในสมัยที่ควรประคอง ย่อมทำให้จิตร่าเริงในสมัยที่ควรทำให้ร่าเริง ย่อมวางจิตเฉยๆ ในสมัยที่ควรวางจิตเฉยๆ ย่อมเป็นผู้น้อมจิตไปในธรรมอันประณีต และเป็นผู้ยินดียิ่งในพระนิพพาน.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ เหล่านี้แลเป็นผู้ควร เพื่อทำให้แจ้งซึ่งสีติภาวะอันยอดเยี่ยม ดังนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าสีติภาวสูตร.

               โพชฌังคโกสัลลสูตร               
               ก็โพชฌังคโกสัลลสูตร มาแล้วในโพชฌังคสังยุตนั่นแหละ ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรคว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นนั่นแล ในสมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลที่จะเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ดังนี้ เป็นต้น.
               พระโยคาวจรนั้น ครั้นทำการเรียนอุคคหโกศล ๗ อย่างนี้ได้ดีแล้วและกำหนดมนสิการโกศล ๑๐ อย่างนี้ให้ดีแล้ว พึงเรียนกรรมฐานด้วยสามารถแห่งโกศลทั้งสองให้แม่นยำ. ก็แล ถ้าเธอมีความผาสุกอยู่ในวิหารเดียวกันกับอาจารย์ไซร้ ก็ไม่จำเป็นต้องให้อาจารย์บอกกรรมฐานโดยพิสดารอย่างนั้น พึงประกอบเนืองๆ ซึ่งกรรมฐานไป เมื่อไม่ได้คุณวิเศษแล้ว จึงให้ท่านบอกให้ยิ่งต่อไป.
               พระโยคาวจรผู้ปรารถนาจะไปอยู่ที่อื่น พึงให้อาจารย์บอกโดยพิสดารโดยวิธีตามที่กล่าวแล้ว ทบทวนอยู่บ่อยๆ ทำลายบทอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยทั้งปวง ละเสนาสนะอันไม่สมควรแก่การเจริญกรรมฐานเสีย อยู่ในวิหารอันสมควร เว้นจากวิหารอันเป็นโทษ ๑๘ ประการมีความเป็นอาวาสใหญ่เป็นต้น ตัดปลิโพธเล็กน้อย ภิกษุใดเป็นผู้มีราคจริตน้อย เพราะจะต้องละราคะก่อนฉะนั้น พึงทำบริกรรมไปในปฏิกูลมนสิการ. ก็เมื่อจะทำ พึงถือเอานิมิตในผมทั้งหลายก่อน คือพึงถอนผมเส้นหนึ่งหรือสองเส้นวางไว้บนฝ่ามือแล้ว พึงกำหนดสีก่อน. จะดูผมทั้งหลายในที่เป็นที่ปลงผมก็ได้. จะดูผมในบาตรใส่น้ำหรือในบาตรใส่ยาคูก็ได้เหมือนกัน. เห็นในเวลาที่ผมมีสีดำ ก็พึงมนสิการว่าดำ เห็นในเวลาที่มีสีขาว ก็มนสิการว่าขาว แต่ในเวลาที่ผมมีสีปนกัน (เหมือนดอกเลา) ก็พึงมนสิการด้วยอำนาจแห่งสีที่มาก.
               ก็ในผมทั้งหลายฉันใด ในตจปัญจกะแม้ทั้งสิ้นก็ฉันนั้น เห็นแล้วก็พึงถือเอานิมิตทีเดียว.
               ครั้นถือเอานิมิตอย่างนี้แล้ว พึงกำหนดในโกฏฐาสด้วยสามารถแห่งสี สัณฐาน ทิศ โอกาสและปริจเฉทแล้ว พึงกำหนดโดยความเป็นปฏิกูล ๕ อย่าง ด้วยสามารถแห่งสี สัณฐาน กลิ่น ที่อยู่และโอกาส.
               ต่อไปนี้เป็นอนุปุพพิกถา (การกล่าวตามลำดับ) ในโกฏฐาสทั้งปวงเหล่านั้น.

               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 416อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 431อ่านอรรถกถา 35 / 458อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=5874&Z=6259
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=5445
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=5445
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :