ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 242อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 255อ่านอรรถกถา 35 / 274อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ปัจจยาการวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

               ปฏิจจสมุปปาทวิภังค์๑-               
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์               
               ว่าด้วยอุเทศวาร               
____________________________
๑- บาลีข้อ ๒๕๕ เป็นปัจจยาการวิภังค์.

               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในปฏิจจสมุปปาทวิภังค์ในลำดับต่อจากอินทรีย์วิภังค์ต่อไป :-
               พระบาลีตันติ (แบบแผน) นี้ใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้โดยนัยมีอาทิว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา (สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย) ดังนี้ อันกุลบุตรผู้ที่จะทำการสังวรรณนาเนื้อความแห่งพระบาลีนั้น ควรเข้าสู่ที่ประชุมพุทธสาวกผู้เป็นวิภัชชวาที พึงเป็นผู้ไม่กล่าวตู่อาจารย์ ไม่เลี่ยงไปสู่ลัทธิของตน ไม่กังวลขวนขวายลัทธิอื่น ไม่ปฏิเสธพระสูตร คล้อยตามพระวินัย ตรวจดูมหาประเทศแสดงธรรม (ปฏิจจสมุปบาท) รวบรวมอรรถ ไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อความ และแสดงโดยปริยายแม้อย่างอื่น จึงสมควรทำการสังวรรณนาความตามพระบาลี.
               อนึ่ง การสังวรรณนาความแห่งปฏิจจสมุปบาท แม้โดยปรกติก็เป็นเรื่องที่กระทำได้โดยยาก เหมือนอย่างที่พระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า
                         สจฺจํ สตฺโต ปฏิสนฺธิ   ปจฺจยาการเมว จ
                         ทุทฺทสา จตุโร ธมฺมา  เทเสตุญฺจ สุทุกฺกรา
                                        ธรรม ๔ อย่าง คือ สัจจะ ๑ สัตว์-
                         บัญญัติ ๑ ปฏิสนธิ ๑ ปัจจยาการ ๑ เป็น
                         ธรรมเห็นได้โดยยาก และแสดงได้แสนยาก.

               เพราะฉะนั้น การสังวรรณนาความแห่งปฏิจจสมุปบาท จึงกระทำไม่ได้โดยง่าย เว้นแต่ท่านผู้สำเร็จปริยัติ และบรรลุมรรคผลทั้งหลายแล้วเท่านั้น.
                                   ข้าพเจ้า (พระพุทธโฆสาจารย์) ใคร่
                         ครวญประสงค์จะกล่าวพรรณนาปัจจยาการ
                         ในวันนี้ แต่ยังไม่ได้ที่พึ่งพิงเหมือนหยั่งลงสู่
                         สาคร แต่เพราะพระศาสนา (บาลีปฏิจจสมุ-
                         ปบาท) นี้ ประดับด้วยนัยแห่งเทศนาต่างๆ
                         และแนวประพันธ์แห่งบุรพาจารย์ (อรรถกถา
                         ปฏิจจสมุปบาทเก่า) ก็ยังเป็นไปอยู่มิขาดสาย
                         ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักอาศัยข้อความทั้ง ๒ นั้น
                         เริ่มการวรรณนาความแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้
                         ขอท่านทั้งหลายตั้งใจสดับการสังวรรณนานั้น.
               ข้อนี้ สมด้วยคำที่ท่านบูรพาจารย์ กล่าวไว้ว่า
                                   ผู้ใดผู้หนึ่งสนใจฟังการสังวรรณนานี้
                         เขาก็จะพึงได้คุณพิเศษสืบต่อไปในภพหน้า
                         ครั้นได้คุณวิเศษสืบต่อไปในภพหน้าแล้ว ก็
                         พึงถึงที่อันไม่พบเห็นของพระยามัจจุราช.
               อนึ่ง บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในคำมีอาทิว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ดังนี้ จำเดิมแต่ต้นก่อนทีเดียว.
                         เทสนาเภทโต อตฺถ    ลกฺขเณกวิธาทิโต
                         องฺคานญฺจ ววตฺถานา  วิญฺญาตพฺโพ วินิจฺฉโย
                                        พึงทราบวินิจฉัย โดยความแตกต่าง
                         แห่งเทศนา ๑ โดยอรรถ ๑ โดยลักษณะ
                         เป็นต้น ๑ โดยเป็นธรรมมีอย่างเดียวเป็นต้น ๑
                         และโดยการกำหนดองค์ทั้งหลาย ๑.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยความแตกต่างแห่งเทศนา               
               บรรดาข้อวินิจฉัยเหล่านั้น ข้อว่า โดยความแตกต่างแห่งเทศนา นั้น อธิบายว่า การแสดงปฏิจสมุปบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้ามี ๔ นัย คือทรงแสดงตั้งแต่ข้อต้นไปข้อสุดท้าย (ปลาย) บ้าง ตั้งแต่ท่ามกลางไปข้อสุดท้ายบ้าง อนึ่ง ทรงแสดงตั้งแต่ข้อสุดท้ายไปข้อต้นบ้าง ตั้งแต่ท่ามกลางไปข้อต้นบ้าง เหมือนการจับเถาวัลย์ของบุรุษ ๔ คน ผู้นำเถาวัลย์ไปฉะนั้น.

               แสดงปฏิจจสมุปบาทอย่างที่ ๑               
               เหมือนอย่างว่า ในบุรุษ ๔ คนผู้นำเถาวัลย์ไป คนหนึ่งเห็นโคนเถาวัลย์ก่อนนั่นเทียว เขาจึงตัดโคนเถาวัลย์นั้นจับดึงเถาวัลย์ทั้งหมดไปใช้ในการงานฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ย่อมทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทตั้งแต่ข้อต้นจนถึงแม้ข้อสุดท้ายว่า อิติ โข ภิกฺขเว อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ฯเปฯ ชาติปจฺจยา ชรามรณํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ฯลฯ ชราและมรณะ เกิดเพราะชาติเป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้แล๑- ดังนี้.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๔๖/หน้า ๔๘๐.

               แสดงปฏิจจสมุปบาทอย่างที่ ๒               
               เหมือนอย่างว่า ในบุรุษเหล่านั้น คนหนึ่งเห็นท่ามกลางเถาวัลย์ก่อน เขาจึงตัดในท่ามกลาง ดึงเอาส่วนท่อนบนเท่านั้นมาใช้ในการงานฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ย่อมทรงแสดงตั้งแต่ท่ามกลางไปจนถึงแม้สุดท้ายว่า ตสฺส ตํ เวทนํ อภินนฺทโต อภิวทโต อชฺโฌสาย ติฏฺฐโต อุปฺปชฺชติ นนฺทิ ยา เวทนาสุ นนฺทิ ตทุปาทานํ ตสฺสุปาทานปจฺจยา ภโว ภวปจฺจยา ชาติ เมื่อกุมารนั้นเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้น ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้น ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายเป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ (เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะ)๑- ดังนี้.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๕๓/หน้า ๔๘๘

               แสดงปฏิจจสมุปบาทอย่างที่ ๓               
               เหมือนอย่างว่า ในบุรุษเหล่านั้น คนหนึ่งเห็นปลายเถาวัลย์ก่อนเขา จึงจับปลายสาวเอามาทั้งเถาจนถึงโคนตามแนวของปลายแล้วนำไปใช้ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ย่อมทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทตั้งแต่ข้อปลายจนถึงแม้ข้อต้นว่า ชาติปจฺจยา ชรามรณนฺติ อิติ โข ปเนตํ ฯเปฯ อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ก็ข้อว่า ชราและมรณะมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมี ในข้อนี้ เป็นอย่างนี้หรือมิใช่ (พวกภิกษุกราบทูลว่า) พระพุทธเจ้าข้า เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมี ในข้อนี้ มีความเป็นอย่างนี้แลว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ ก็ข้อที่ว่า ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ดังนี้นั้นเรากล่าวแล้ว ฯลฯ
               (พระผู้มีพระภาคเจ้า) ก็ข้อที่ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย ดังนี้นั้น เรากล่าวแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขารทั้งหลาย ในข้อนี้ เป็นอย่างนี้ หรือมิใช่ (พวกภิกษุ) พระพุทธเจ้าข้า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ในข้อนี้ก็เป็นอย่างนี้ว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขารทั้งหลาย๑- ดังนี้.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๔๗/หน้า ๔๘๘

               แสดงปฏิจจสมุปบาทข้อที่ ๔               
               เหมือนอย่างว่า ในบุรุษเหล่านั้น คนหนึ่งเห็นท่ามกลางเถาวัลย์นั่นแหละก่อน เขาก็ตัดตรงกลางจับสาวลงมาข้างล่างจนถึงโคนนำไปใช้การงานฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมทรงแสดงตั้งแต่ท่ามกลางจนถึงข้อต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อาหาร ๔ เหล่านี้ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด. อาหาร ๔ เหล่านี้มีตัณหาเป็นเหตุ มีตัณหาเป็นสมุทัย มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ตัณหานี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด. ตัณหามีเวทนาเป็นเหตุ มีเวทนาเป็นสมุทัย มีเวทนาเป็นกำเนิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ เวทนา ... ผัสสะ ... สฬายตนะ ... นามรูป ... วิญญาณ ... สังขารทั้งหลายมีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นเหตุ มีอวิชชาเป็นสมุทัย มีอวิชชาเป็นกำเนิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด๑- ดังนี้.
____________________________
๑- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๔๔๖/หน้า ๔๘๘

               ถามว่า เพราะเหตุไร พระองค์จึงแสดงเช่นนี้
               ตอบว่า เพราะปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมเจริญรอบด้าน และพระผู้มีพระภาคเจ้าเล่าก็ทรงถึงความเป็นผู้งดงามด้วยเทศนา.
               จริงอยู่ ปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นธรรมเจริญรอบด้าน ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อแทงตลอดญายธรรมโดยเทศนานั้นนั่นแหละ. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถึงความเป็นผู้งดงามด้วยเทศนา เพราะทรงประกอบด้วยเวสารัชชญาณ ๔ และปฏิสัมภิทาญาณ ๔ และทรงถึงความลึกซึ้ง (ในปฏิจจสมุปบาท) ๔ อย่าง พระองค์ทรงแสดงธรรมโดยนัยต่างๆ ก็เพราะทรงถึงความเป็นผู้งดงามด้วยเทศนานั่นแล.
               แต่เมื่อว่าโดยแปลกกันแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้น เทศนาใดเป็นเทศนาโดยอนุโลมจำเดิมแต่ต้น เทศนานั้นบัณฑิตพึงทราบว่า เป็นเทศนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพิจารณาเห็นเวไนยชนผู้ลุ่มหลงในการจำแนกเหตุที่เป็นไปทรงประกาศแล้ว เพื่อทรงชี้แจงความเป็นไปตามเหตุอันควรแก่ตน และเพื่อทรงชี้แจงถึงลำดับแห่งความเกิดขึ้น.
               เทศนาใดที่ทรงแสดงโดยปฏิโลมตั้งแต่ข้อสุดท้ายทวนไป เทศนานั้นพึงทราบว่า เป็นเทศนาที่พระองค์พิจารณาเห็นโลกที่ถึงความลำบาก โดยนัยมีอาทิว่า "โลกนี้ถึงความลำบากหนอ ย่อมเกิด ย่อมแก่และย่อมตาย"๒- ทรงประกาศแล้ว เพื่อทรงชี้แจงถึงเหตุแห่งทุกข์มีชราและมรณะเป็นต้นนั้นๆ ที่พระองค์ทรงบรรลุแล้ว โดยทำนองแห่งการแทงตลอดในส่วนเบื้องต้น.
               อนึ่ง เทศนาใด ทรงแสดงตั้งแต่ท่ามกลางไปจนถึงข้อต้น เทศนานั้นพระองค์ทรงประกาศแล้ว เพื่อทรงนำอดีตกาลมาแสดงโดยลำดับแห่งเหตุและผล จำเดิมแต่อดีตกาลอีก โดยทำนองการกำหนดตัณหาเป็นเหตุแห่งอาหาร. แต่เทศนาใดที่ทรงแสดงตั้งแต่ท่ามกลางจนถึงที่สุด เทศนานั้นเป็นเทศนาที่ทรงประกาศเพื่อทรงชี้แจงอนาคตกาล จำเดิมแต่สมุฏฐานแห่งเหตุของอนาคตกาลในปัจจุบันนกาล.
               ในเทศนา ๔ เหล่านั้น เทศนานี้ใดที่ตรัสแสดงโดยอนุโลมตั้งแต่ต้น เพื่อทรงชี้แจงความเป็นไปตามเหตุของตนแก่เวไนยชนผู้ลุ่มหลงเหตุแห่งความเป็นไป และเพื่อทรงชี้แจงลำดับความเกิดขึ้นนั้น เทศนานั้นพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งไว้แล้วในปฏิจจสมุปปาทวิภังค์นี้.
____________________________
๒- ที. มหาวคฺค. เล่ม ๑๐/ข้อ ๓๘/หน้า ๓๕

               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ในปฏิจจสมุปบาทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอวิชชาไว้แต่ต้น แม้อวิชชาก็ไม่มีอะไรเป็นเหตุ เป็นเหตุเดิมของโลก เหมือนความคงที่ของพวกปกติวาทีหรือ?
               ตอบว่า อวิชชามิใช่ไม่มีเหตุ เหตุแห่งอวิชชา พระองค์ตรัสว่า อาสวสมุทยา อวิชฺชาสมุทโย (อวิชชาเกิดขึ้น เพราะอาสวเกิดขึ้น) ดังนี้.
               ถามว่า ก็ปริยายที่เป็นเหตุเดิมมีโดยสภาวะใด ก็สภาวะนั้นได้แก่อะไร
               ตอบว่า ได้แก่ภาวะที่เป็นประธานของวัฏฏกถา (กถาว่าด้วยวัฏฏะ).
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสวัฏฏกถา ก็ตรัสธรรม ๒ อย่างทำให้เป็นประธาน หรือตรัสอวิชชาเป็นประธาน เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ปุริมา ภิกฺขเว โกฏิ น ปญฺญายติ อวิชฺชาย อิโต ปุพฺเพ อวิชฺชา นาโหสิ อถ ปจฺฉา สมภวีติ เอวญฺเจตํ ภิกฺขเว วุจฺจติ อถ จ ปน ปญฺญายติ อิทปฺปจฺจยา อวิชฺชา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาไม่ปรากฏ ในกาลก่อนแต่นี้ อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำนี้ อย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น อวิชชามีข้อนี้เป็นปัจจัย จึงปรากฏ๓- ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ตรัส ภวตัณหาเป็นประธาน เหมือนอย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งภวตัณหาไม่ปรากฏ ในกาลก่อน แต่นี้ภวตัณหาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำนี้อย่างนี้ว่า ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ภวตัณหามีข้อนี้เป็นปัจจัย จึงปรากฏ๔- ดังนี้.
____________________________
๓- องฺ ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๖๑/หน้า ๑๒๐
๔- องฺ ทสก. เล่ม ๒๔/ข้อ ๖๒/หน้า ๑๒๔

               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อตรัสวัฏฏกถา จึงตรัสธรรม ๒ นี้ทำให้เป็นประธาน.
               ตอบว่า เพราะอวิชชา เป็นเหตุพิเศษแห่งกรรมให้สัตว์ถึงสุคติหรือทุคติ.
               จริงอยู่ อวิชชาเป็นเหตุพิเศษแห่งกรรมอันให้สัตว์ถึงทุคติ. เพราะเหตุไร เพราะปุถุชนผู้อันอวิชชาครอบงำแล้ว ย่อมเริ่มทำกรรมอันให้ตนถึงทุคติอเนกประการมีปาณาติบาตเป็นต้น อันไม่มีความชื่นใจเพราะความเร่าร้อนด้วยกิเลสบ้าง อันนำความพินาศแก่ตนเพราะต้องตกไปสู่ทุคติบ้าง เหมือนแม่โคที่จะถูกฆ่าถูกความบอบช้ำครอบงำ เพราะเร่าร้อนด้วยไฟและถูกตีด้วยค้อน และเหมือนการดื่มน้ำร้อนอันไม่มีความชื่นใจ เพราะความเป็นผู้กระหายด้วยการบอบช้ำนั้น แม้นำมาซึ่งความพินาศแก่ตน.
               ส่วนภวตัณหาเป็นเหตุพิเศษแห่งกรรมอันยังสัตว์ให้ถึงสุคติ เพราะเหตุไร?
               เพราะปุถุชนผู้อันภวตัณหาครอบงำแล้ว ย่อมเริ่มทำกรรมอันให้ถึงสุคติอเนกประการมีเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ซึ่งมีแต่สำราญใจ เพราะเว้นจากความเร่าร้อนด้วยกิเลส และบรรเทาความบอบช้ำด้วยทุกข์ในทุคติของตน เพราะลุถึงสุคติ เหมือนแม่โคมีประการตามที่กล่าวแล้ว เริ่มดื่มน้ำเย็นซึ่งมีแต่ความสำราญด้วยความอยากในน้ำเย็น และบรรเทาความบอบช้ำของตน ฉะนั้น.
               ก็บรรดาธรรมที่เป็นประธานแห่งวัฏฏกถาเหล่านี้ ในที่บางแห่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเทศนาอันมีธรรมอย่างเดียวเป็นมูล อย่างไร?
               คือเหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุดังนี้แล สังขารทั้งหลายมีอวิชชาเป็นที่อิงอาศัย วิญญาณมีสังขารเป็นที่อิงอาศัยเป็นต้น.๕-
               อีกอย่างหนึ่ง ได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี๖- เป็นต้น.
               ในที่บางแห่ง ทรงแสดงธรรมแม้ทั้ง ๒ เป็นมูล คืออย่างที่ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายของคนพาลผู้มีอวิชชานิวรณ์ ประกอบพร้อมด้วยตัณหาเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ และกายนี้ด้วย นามรูปภายนอกทั้งนี้ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ เพราะอาศัยกายและนามรูปภายนอกทั้ง ๒ จึงเกิดผัสสะ สฬายตนะทั้งหลาย คนพาลผู้อันผัสสะและสฬายตนะทั้ง ๒ เหล่าใดถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเสวยเฉพาะสุขหรือทุกข์ ดังนี้เป็นต้น.
               บรรดาเทศนาเหล่านั้นๆ เทศนานี้ในอธิการนี้ ด้วยอำนาจอวิชชาว่า สังขารทั้งหลายย่อมเกิด เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นธรรมอันหนึ่งที่เป็นมูล (เอกธมฺมมูลิกา).
               พึงทราบวินิจฉัยโดยความต่างแห่งเทศนาในปฏิจจสมุปบาทนี้ ด้วยประการฉะนี้ก่อน.
____________________________
๕- สํ. นิทาน. เล่ม ๑๖/ข้อ ๖๙/หน้า ๓๗.
๖- สํ. นิทาน. เล่ม ๑๖/ข้อ ๑๙๖/หน้า ๑๐๒

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยอรรถ               
               ข้อว่า โดยอรรถ ได้แก่ โดยอรรถ (เนื้อความ) แห่งบททั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น คืออย่างไร คือกายทุจริตเป็นต้น ชื่อว่า อวินฺทิยํ (ธรรมชาติไม่ควรได้) เพราะอรรถว่าไม่ควรบำเพ็ญ คือสิ่งที่ไม่ควรได้ (วิเคราะห์ว่า) ตํ อวินฺทิยํ วินฺทตีติ อวิชฺชา ที่ชื่อว่าอวิชชา เพราะอรรถว่าย่อมได้สิ่งที่ไม่ควรได้นั้น.
               กายสุจริตเป็นต้น ชื่อว่าธรรมชาติที่ควรได้ เพราะเป็นภาวะตรงกันข้ามกับกายทุจริตเป็นต้นนั้น. (วิเคราะห์ว่า) ตํ วินฺทิยํ น วินฺทตีติ อวิชฺชา ที่ชื่อว่าอวิชชา เพราะอรรถว่าย่อมไม่ได้สิ่งที่ควรได้นั้น.
               ที่ชื่อว่าอวิชชา เพราะอรรถว่าย่อมกระทำ (ปัญญา) ไม่ให้รู้แจ้งซึ่งอรรถ (เนื้อความ) แห่งกองขันธ์ทั้งหลาย ซึ่งอรรถแห่งการเกิดของอายตนะทั้งหลาย ซึ่งอรรถแห่งความว่างเปล่าของธาตุทั้งหลาย ซึ่งอรรถอันแท้จริงของสัจจะทั้งหลาย ซึ่งอรรถแห่งความเป็นอธิบดีของอินทรีย์ทั้งหลาย.
               ที่ชื่อว่าอวิชชา แม้เพราะอรรถว่าย่อมกระทำอรรถอย่างละ ๔#- ตามที่ตรัสไว้ด้วยอำนาจการบีบคั้นเป็นต้นของทุกข์เป็นต้น.
____________________________
#- ในวิสุทธิมรรคบาลีตอนญาณทัสสนวิสุทธิ หน้า ๓๔๖ แสดงว่า
               ทุกฺขสฺส บีฬนฏฺโฐ ทุกข์มีความบีบคั้นเป็นอรรถ
               สงฺขตฏโฐ มีความปรุงแต่งเป็นอรรถ
               สนฺตาปฏฺโฐ มีความให้เร่าร้อนเป็นอรรถ
               วิปริณามฏฺโฐ มีความแปรปรวนเป็นอรรถ
สมุทยสฺส อายูหนฏฺโฐ สมุทัยมีอันประมวลมาเป็นอรรถ
นิทานฏฺโฐ มีเหตุเป็นแดนเกิดเป็นอรรถ
สํโยคฏฺโฐ มีอันประกอบไว้เป็นอรรถ
ปลิโพธฏฺโฐ มีความกังวลใจเป็นอรรถ
               นิโรธสฺส นิสฺสรณฏฺโฐ นิโรธมีอันสลัดออกเป็นอรรถ
               วิเวกฏฺโฐ มีความสงัดจากทุกข์เป็นอรรถ
               อสงขฺตฎโฐ มีสภาวะไม่ปรุงแต่งเป็นอรรถ
               อมตฏฺโฐ มีอมตะเป็นอรรถ
มคฺคสฺส นิยฺยานฏฺโฐ มรรคมีการนำออกเป็นอรรถ
เหตวฏฺโฐ มีอันเป็นเหตุเป็นอรรถ
ทสฺสนฏฺโฐ มีการเห็นนิพพานเป็นอรรถ
อธิปเตยฺยฏฺโฐ มีความเป็นอธิบดีในการสำเร็จกิจเป็นอรรถ.


               ที่ชื่อว่าอวิชชา เพราะอรรถว่าย่อมยังสัตว์ให้แล่นไปในสงสารอันไม่มีที่สุด คือในกำเนิด คติ ภพ วิญญาณฐิติและสัตตาวาส.
               ที่ชื่อว่าอวิชชา เพราะอรรถว่าย่อมแล่นไปในหญิงชายเป็นต้นอันไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ย่อมไม่แล่นไปในธรรมมีขันธ์เป็นต้น แม้อันเป็นของมีอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าอวิชชา แม้เพราะปกปิดธรรมซึ่งอาศัยกันและกันเกิดขึ้นแห่งปฏิจจสมุปบาทด้วยอำนาจวัตถุและอารมณ์มีจักขุวิญญาณเป็นต้น ยํ ปฏิจฺจ ผลเมติ โส ปจฺจโย ผลอาศัยธรรมใดเกิดขึ้นเป็นไป เพราะเหตุนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อว่าปัจจัย. คำว่า ปฏิจฺจ (อาศัย) ได้แก่ ไม่เว้นธรรมนั้น คือเว้นธรรมนั้นแล้วก็ไม่ปรากฏ. คำว่า เอติ๑- ได้แก่ ย่อมเกิดขึ้น และย่อมเป็นไป. อีกอย่างหนึ่ง อรรถแห่งปัจจัยมีความหมายถึงอุปการธรรม.
____________________________
๑- คำว่า เอติ แยกมาจากบทว่า ผลเมติ.

               อวิชฺชา จ สา ปจฺจโย จาติ อวิชฺชาปจฺจโย อวิชชานั้นด้วย เป็นปัจจัยด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อวิชฺชาปจฺจโย (อวิชชาเป็นปัจจัย), เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนั้น. สงฺขตมภิสงฺขโรนฺตีติ สงฺขารา ธรรมที่ชื่อว่าสังขารทั้งหลาย เพราะอรรถว่าย่อมปรุงแต่งสังขตธรรม.
               อีกนัยหนึ่ง สังขาร มี ๒ อย่าง คือ
                         สังขารที่มีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ๑
                         สังขารที่มาด้วยศัพท์ว่า สังขาร ๑
               บรรดาสังขารทั้ง ๒ นั้น สังขารที่มีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ๖ เหล่านี้ คือสังขาร ๓ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร และสังขาร ๓ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร สังขารเหล่านั้นแม้ทั้งหมดสักว่าเป็นโลกิยกุศลและอกุศลเท่านั้น.
               ก็สังขาร ๔ ที่มาแล้วโดยสังขารศัพท์เหล่านี้ คือสังขตสังขาร อภิสังขตสังขาร อภิสังขรณกสังขาร ปโยคาภิสังขาร.
               บรรดาสังขารเหล่านั้น ธรรมพร้อมทั้งปัจจัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสในประโยคมีอาทิว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา แม้ทั้งหมด ชื่อว่าสังขตสังขาร. รูปธรรม อรูปธรรมเป็นไปในภูมิ ๓ ที่เกิดแต่กรรมซึ่งกล่าวไว้ในอรรถกถา ชื่อว่าอภิสังขตสังขาร. รูปธรรมและอรูปธรรมแม้เหล่านั้น ย่อมสงเคราะห์ในบาลีนี้ว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา ดังนี้ทั้งหมด แต่อาคตสถานแห่งธรรมเหล่านั้น ไม่ปรากฏส่วนหนึ่ง ก็เจตนาที่เป็นกุศลและอกุศลที่เป็นไปในภูมิ ๓ ท่านเรียกว่าอภิสังขรณกสังขาร. อาคตสถานแห่งอภิสังขรณกสังขารนั้น ย่อมปรากฏในประโยคมีคำว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลตกอยู่ในอวิชชา ถ้าอภิสังขารคือบุญ ย่อมปรุงแต่ง" ดังนี้เป็นต้น.
               อนึ่ง ความเพียรอันเป็นไปทางกายและจิต ท่านเรียกว่าปโยคาภิสังขาร. ปโยคาภิสังขารนั้นมาในประโยคว่า "ล้อนั้น เมื่อนายช่างรถหมุนไป ก็หมุนไปได้เท่าที่นายช่างรถหมุนไปแล้วตั้งอยู่เหมือนอยู่ในเพลา ฉะนั้น"๑- เป็นต้น.
               อนึ่ง มิใช่แต่สังขารเหล่านี้อย่างเดียวเท่านั้น แม้สังขารเหล่าอื่นเป็นอเนก ที่มาโดยศัพท์สังขาร โดยนัยมีอาทิว่า "ดูก่อนวิสาขะผู้มีอายุ เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ วจีสังขารย่อมดับก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารก็ดับ ต่อจากนั้น จิตตสังขารก็ย่อมดับ"๒- ดังนี้ บรรดาสังขารเหล่านั้น สังขารที่ไม่สงเคราะห์เข้าในสังขตสังขาร ย่อมไม่มี.
               เบื้องหน้าแต่นี้ไป คำใดที่ตรัสไว้ในประโยคมีอาทิว่า สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ (วิญญาณเกิด เพราะสังขารเป็นปัจจัย) ดังนี้ คำนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ส่วนในคำที่ยังมิได้กล่าวนั้น พึงทราบวินิจฉัยต่อไปนี้.
               # ๑. อํ ติก. เล่ม ๒๐. ๔๕๔/๑๔๑ ๒. อํ ติก เล่ม ๒๐. ๔๕๔/๑๔๑ ๓. ม. มูล. เล่ม ๑๒. ๕๑๐/๕๕๑
____________________________
๑- องฺ ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๕๔/หน้า ๑๔๑.
๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๑๐/หน้า ๕๕๑.

               วิชานาตีติ วิญฺญาณํ ชื่อว่าวิญญาณ เพราะอรรถว่าย่อมรู้แจ้ง.
               นมตีติ นามํ ชื่อว่านาม เพราะอรรถว่าย่อมน้อมไป.
               รุปฺปตีติ รูปํ ชื่อว่ารูป เพราะอรรถว่าย่อมสลาย.
               อาเย ตโนติ อายตญฺจ นยตีติ อายตนํ ที่ชื่อว่าอายตนะ เพราะอรรถว่าย่อมแผ่ไปซึ่งกาย (นามรูป) อันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ และย่อมนำไปสู่สังสารอันยาวนาน.
               ผุสตีติ ผสฺโส ชื่อว่าผัสสะ เพราะอรรถว่าถูกต้อง.
               เวทยตีติ เวทนา ชื่อว่าเวทนา เพราะอรรถว่าเสวยอารมณ์.
               ปริตสฺสตีติ ตณฺหา ชื่อว่าตัณหา เพราะอรรถว่าทะยานอยาก.
               อุปาทิยตีติ อุปาทานํ ชื่อว่าอุปาทาน เพราะอรรถว่ายึดมั่น.
               ภวติ ภาวยติ จาติ ภโว ชื่อว่าภพ เพราะอรรถว่าย่อมเป็นและย่อมให้เป็น.
               ชนนํ ชาติ ความเกิด ชื่อว่าชาติ.
               ชิรณํ ชรา ความคร่ำคร่า ชื่อว่าชรา.
               มรนฺติ เอเตนาติ มรณํ ชื่อว่ามรณะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุตายของสัตว์ทั้งหลาย. โสจนํ โสโก ความเศร้า ชื่อว่าโสกะ ปริเทวนํ ปริเทโว ความร้องคร่ำครวญ ชื่อว่าปริเทวะ ทุกฺขยตีติ ทุกฺขํ ชื่อว่าทุกข์ เพราะอรรถว่าทำให้ลำบาก. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าทุกข์ เพราะอรรถว่าย่อมขุด ๒ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งอุปปาทะและฐีติ. ทุมฺมนสฺส ภาโว ภาวะแห่งทุมนัส ชื่อว่าโทมนัส. ภูโส อายาโส อุปายาโส ความคับแค้นใจอย่างมาก ชื่อว่าอุปายาส.
               บทว่า สมฺภวนฺติ แปลว่า ย่อมเกิด บัณฑิตพึงทำการประกอบศัพท์ สมฺภวนฺติ ด้วยบทมีความโศกเป็นต้นอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ โดยที่แท้ ควรทำประกอบด้วยบททั้งหมด เพราะเมื่อกล่าวว่า อวิชฺชาปจฺยา สงฺขารา นอกจาก สมฺภวนฺติ ศัพท์นี้ ธรรมคืออวิชชาและสังขารก็ไม่พึงปรากฏว่า ย่อมกระทำซึ่งกิจอะไรกัน แต่เมื่อมีการประกอบด้วยบทว่า สมฺภวนฺติ ศัพท์ ก็เป็นอันกำหนดธรรมที่เป็นปัจจัยและธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัย๑- ว่า อวิชชานั้นด้วย เป็นปัจจัยด้วย ชื่อว่าอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น สังขารทั้งหลายจึงเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ดังนี้.
               ในบททั้งหลายก็นัยนี้.
____________________________
๑- คือที่เป็น ปัจจัยธรรม และปัจจยุปบันนธรรม.

               บทว่า เอวํ (ด้วยประการฉะนี้) นี้เป็นบทอธิบายนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว. อธิบายว่า ด้วยบทว่า เอวํ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงว่า ธรรมที่เป็นปัจจยาการเหล่านี้ย่อมเกิดเพราะเหตุทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้นเท่านั้น มิใช่เกิดขึ้นด้วยเหตุมีพระอิศวรเนรมิตเป็นต้น.
               บทว่า เอตสฺส (นี้) ได้แก่ ตามที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า เกวลสฺส ได้แก่ (กองทุกข์) ที่ไม่ปะปนกัน หรือว่าทั้งมวล.
               บทว่า ทุกฺขกฺขนฺธสฺส (กองทุกข์) ได้แก่ ประชุมแห่งทุกข์ มิใช่ประชุมแห่งสัตว์ มิใช่ประชุมแห่งวิปัลลาสมีความสุขและความงามเป็นต้น.
               บทว่า สมุทโย ได้แก่ ความเกิด.
               บทว่า โหติ ได้แก่ ย่อมเกิด.
               พึงทราบวินิจฉัยโดยอรรถในปฏิจจสมุปบาทนี้ ด้วยประการฉะนี้.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยลักษณะเป็นต้น               
               ข้อว่า โดยลักษณะเป็นต้น ได้แก่ โดยธรรม ๔ มีลักษณะเป็นต้นแห่งปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชาเป็นต้น อย่างไร? คือ อวิชชา
               ๑. อญาณลกฺขณา        มีความไม่รู้เป็นลักษณะ
               สมฺโมหนรสา          มีความหลงเป็นกิจ
               ฉาทนปจฺจุปฏฺฐานา  มีความปกปิดสภาวะแห่งอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน
               อาสวปทฏฺฐานา       มีอาสวะเป็นปทัฏฐาน
               ๒.  อภิสงฺขรณลกฺขณา    สังขารทั้งหลายมีการปรุงแต่งเป็นลักษณะ
               อายูหนรสา          มีความขวนขวายเป็นกิจ
               เจตนาปจฺจุปฏฺฐานา  มีเจตนาเป็นปัจจุปัฏฐาน
               อวิชฺชาปทฏฺฐานา    มีอวิชชาเป็นปทัฏฐาน
               ๓.  วิชานนลกฺขณํ    วิญญาณมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ
               ปุพฺพงฺคมรสํ            มีการเป็นประธานเป็นกิจ
               ปฏิสนฺธิปจฺจุปฏฺฐานํ    มีการเกิดสืบต่อเป็นปัจจุปัฏฐาน
               สงฺขารปทฏฺฐานํ         มีสังขารเป็นปทัฏฐานหรือ
               วตฺถารมฺมณปทฏฺฐานํ  มีวัตถุและอารมณ์เป็นปทัฏฐาน
               ๔.  นมนลกฺขณํ        นามมีการน้อมไปเป็นลักษณะ
               สมฺปโยครสํ             มีการประกอบพร้อมกันเป็นกิจ
               อวินิพฺโภคปจฺจุปฏฺฐานํ  มีการไม่แยกจากจิตเป็นปัจจุปัฏฐาน
               วิญฺญาณปทฏฺฐานํ      มีวิญญาณเป็นปทัฏฐาน
               ๕.  รุปฺปนลกฺขณํ      รูปมีการแปรปรวนเป็นลักษณะ
               วิกิรณรสํ              มีการกระจัดกระจายไปเป็นรส
               อพฺยากตปจฺจุปฏฺฐานํ  มีความเป็นอัพยากตธรรมเป็นปัจจุปัฏฐาน
               วิญฺญาณปทฏฺฐานํ     มีวิญญาณเป็นปทัฏฐาน
               ๖.  อายตนลกฺขณํ         สฬายตนะมีการทำวัฏฏะให้ยาวนานเป็นลักษณะ
               ทสฺสนาทิรสํ               มีการทำความเห็นเป็นต้นเป็นรส
               วตฺถุทฺวารภาวปจฺจุปฏฺฐานํ  มีความเป็นวัตถุและทวารเป็นปัจจุปัฏฐาน
               นามรูปปทฏฺฐานํ          มีนามรูปเป็นปทัฏฐาน
               ๗.  ผุสนลกฺขโณ       ผัสสะมีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ
               สํฆฏฺฏนรโส             มีการประสานอารมณ์กับจิตเป็นรส
               สงฺคติปจฺจุปฏฺฐาโน     มีการประชุม (วัตถุ อารมณ์ จิต) เป็นปัจจุปัฏฐาน
               สฬายตนปทฏฺฐาโน   มีสฬายตนะเป็นปทัฏฐาน
               ๘.  อนุภวนลกฺขณา   เวทนามีการเสวยอารมณ์เป็นลักษณะ
               วิสยรสสมฺโภครสา     มีการบริโภคร่วมกันซึ่งรสแห่งอารมณ์เป็นรส
               สุขทุกฺขปจฺจุปฏฺฐานา  มีสุขและทุกข์เป็นปัจจุปัฏฐาน
               ผสฺสปทฏฺฐานา        มีผัสสะเป็นปทัฏฐาน
               ๙.  เหตุลกฺขณา           ตัณหามีความเป็นเหตุเป็นลักษณะ
               อภินนฺทนรสา             มีความบันเทิงใจเป็นรส
               อติตฺติภาวปจฺจุปฏฺฐานา  มีความไม่อิ่มในอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน
               เวทนาปทฏฺฐานา          มีเวทนาเป็นปทัฏฐาน
               ๑๐.  คหณลกฺขณํ     อุปาทานมีการยึดไว้เป็นลักษณะ
               อมุญฺจนรสํ              มีการไม่ปล่อยเป็นรส
               ตณฺหาทฬฺหตฺตทิฏฺฐิปจฺจุปฏฺฐานา  มีความมั่นคงด้วยตัณหาและเห็นผิดในอัตตา
เป็นปัจจุปัฏฐาน
               ตณฺหาปทฏฺฐานํ       มีตัณหาเป็นปทัฏฐาน
               ๑๑.  กมฺมกมฺมผลลกฺขโณ   ภพมีกรรมและผลของกรรมเป็นลักษณะ
               ภาวนภวนรโส              มีความทำให้เกิดขึ้นและความเกิดขึ้นเป็นรส
               กุสลากุสลาพฺยากตปจฺจุปฏฺฐาโน  มีความเป็นกุศล อกุศลและอัพยากตะ
เป็นปัจจุปัฏฐาน
               อุปาทานปทฏฺฐาโน        มีอุปาทานเป็นปทัฏฐาน.

               ธรรมมีลักษณะเป็นต้นแห่งปัจจยาการมีชาติเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในสัจจวิภังค์นั้นแล.
               พึงทราบวินิจฉัยในปัจจยาการนี้ แม้โดยลักษณะเป็นต้นด้วยประการฉะนี้.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยมีอย่างเดียวเป็นต้น               
               ในข้อว่า โดยมีอย่างเดียวเป็นต้น นี้พึงทราบว่า อวิชชาชื่อว่ามีอย่างเดียว เพราะเป็นอัญญาณ (ไม่รู้) อทัสสนะ (ไม่เห็น) และโมหะ (ความหลง) เป็นต้น. ที่ชื่อว่ามี ๒ อย่าง เพราะความไม่ปฏิบัติและความปฏิบัติ. อนึ่ง เพราะเป็นสังขารและอสังขาร ที่ชื่อว่ามี ๓ อย่าง เพราะสัมปยุตด้วยเวทนา ๓ ที่ชื่อว่ามี ๔ อย่าง เพราะไม่แทงตลอดสัจจะ ๔ ที่ชื่อว่ามี ๕ อย่าง เพราะปกปิดโทษแห่งคติ ๕.#-
               อนึ่ง ว่าโดยทวารและอารมณ์ อวิชชานั้น พึงทราบว่า มี ๖ อย่าง ในอรูปธรรมแม้ทั้งหมด.
               สังขาร ชื่อว่ามีอย่างเดียว เพราะเป็นสาสววิปากธัมมธรรมเป็นต้น ที่ชื่อว่ามี ๒ อย่าง เพราะเป็นกุศลและอกุศล อนึ่ง เพราะเป็นปริตตธรรมและมหัคคตธรรม เพราะเป็นหีนธรรมและมัชฌิมธรรม และเพราะเป็นมิจฉัตตนิยตธรรมและมิจฉัตตอนิยธรรม ที่ชื่อว่ามี ๓ อย่าง เพราะเป็นปุญญาภิสังขารเป็นต้น ชื่อว่ามี ๔ อย่าง เพราะเป็นไปในกำเนิด ๔ ชื่อว่ามี ๕ อย่าง เพราะเป็นทางแห่งคติ ๕.#-
____________________________
#- ปกปิดคติ ๕ คือ ทางไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน ปิตติวิสัย มนุษย์และเทวดา.

               วิญญาณ ชื่อว่ามีอย่างเดียว เพราะเป็นโลกิยวิบากเป็นต้น ชื่อว่ามี ๒ อย่าง เพราะเป็นสเหตุกะและอเหตุกะเป็นต้น ชื่อว่ามี ๓ อย่าง เพราะนับเนื่องด้วยภพ ๓ เพราะประกอบพร้อมด้วยเวทนา ๓ และเพราะเป็นอเหตุกะ ทุเหตุกะและติเหตุกะ ชื่อว่าเป็น ๔ อย่างและเป็น ๕ ด้วยอำนาจกำเนิดและอำนาจคติ.
               นามรูป ชื่อว่ามีอย่างเดียว เพราะอาศัยวิญญาณและโดยมีกรรมเป็นปัจจัย ชื่อว่ามี ๒ อย่าง เพราะเป็นสารัมมณะและอนารัมมณะ ชื่อว่ามี ๓ อย่าง เพราะเป็นอดีตเป็นต้น ชื่อว่ามี ๔ และ ๕ อย่างด้วยอำนาจกำเนิด ๔ และคติ ๕.
               สฬายตนะ ชื่อว่ามีอย่างเดียว เพราะเป็นที่เกิดและประชุม ชื่อว่ามี ๒ อย่าง เพราะเป็นภูตรูป ประสาทรูปและวิญญาณ๒- เป็นต้น ชื่อว่ามี ๓ อย่าง เพราะเป็นอารมณ์ที่เป็นสัมปัตตะ อสัมปัตตะ และไม่ใช่ทั้ง ๒ (คือทางมโนทวาร) ชื่อว่ามี ๔ และ ๕ อย่าง เพราะนับเนื่องด้วยกำเนิด ๔ และคติ ๕ แล. บัณฑิตพึงทราบธรรมแม้มีผัสสะเป็นต้นว่าเป็นธรรมอย่างเดียวเป็นต้นโดยนัยนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในปัจจยาการนี้แม้โดยเป็นธรรมมีอย่างเดียวเป็นต้นอย่างนี้.
____________________________
๒- ทวิปัญจวิญญาณ.

               ว่าด้วยวินิจฉัยโดยการกำหนดองค์               
               ข้อว่า โดยการกำหนดองค์ ความว่า ก็ในปัจจยาการนี้ ความโศกเป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อทรงแสดงความไม่ขาดตอนของภวจักร เพราะความโศกเป็นต้นนั้น ย่อมเกิดแก่คนพาลผู้ถูกชราและมรณะเบียดเบียนแล้ว เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับอันทุกขเวทนาทางกายถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบาก ย่อมคร่ำครวญ ย่อมตีอกร้องไห้ ย่อมถึงการหลงใหล๑- ดังนี้เป็นต้น.
               อนึ่ง อวิชชายังเป็นไปตราบเท่าที่ความโศกเป็นต้นเหล่านั้นยังเป็นไปอยู่ เพราะเหตุนั้น การเกี่ยวเนื่องกันว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา (สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย) ดังนี้ แม้อีกจึงเป็นภวจักรทีเดียว เพราะฉะนั้น พึงทราบองค์แห่งปฏิจจสมุปบาทมี ๑๒ เท่านั้น เพราะประมวลความโศกเป็นต้น แม้เหล่านั้นเข้าด้วยกันกับชรามรณะนั่นเอง พึงทราบวินิจฉัยในปัจจยาการนี้แม้โดยการกำหนดองค์ทั้งหลายไว้ ด้วยประการฉะนี้.
               กถาว่าโดยย่อในปัจจยาการนี้ด้วยสามารถอุเทศวารเพียงเท่านี้.
____________________________
๑- สํ. สฬายตน. เล่ม ๑๘/ข้อ ๓๖๙/หน้า ๒๕๗.
               วรรณนาอุเทศวาร จบ.               

               ว่าด้วยนิเทศอวิชชาเป็นปัจจัย (บาลีข้อ ๒๕๖)               
               บัดนี้ เป็นกถาว่าโดยพิสดาร ด้วยสามารถแห่งนิเทศวาร.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ดังนี้ ในพระบาลีนั้น เมื่อจะทรงแสดงสังขารทั้งหลายอันมีอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะบุคคลเมื่อจะพูดถึงบุตรก็ย่อมกล่าวถึงบิดาก่อน ด้วยว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ บุตรก็เป็นคำพูดได้ดีว่า บุตรของนายมิต บุตรของนายทัตตะ ดังนี้ ฉะนั้น พระศาสดาทรงเป็นผู้ฉลาดในเทศนา เพื่อทรงแสดงอวิชชาเช่นเป็นบิดาด้วยอรรถว่ายังสังขารทั้งหลายให้เกิดก่อน จึงตรัสคำว่า ตตฺถ กตมา อวิชฺชา ทุกฺเข อญฺญาณํ (ในปัจจยาการเหล่านั้น อวิชชาเป็นไฉน? ความไม่รู้ทุกข์) เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น เพราะอวิชชานี้ย่อมไม่ให้เพื่ออันรู้ เพื่ออันเห็น เพื่ออันแทงตลอดลักษณะพร้อมทั้งกิจรสตามความเป็นจริงของทุกขสัจจะ จึงปกปิดหุ้มห่อยึดถือไว้อยู่ ฉะนั้น จึงตรัสว่า ทุกฺเข อญฺญาณํ (ความไม่รู้ในทุกข์) ดังนี้.
               อนึ่ง เพราะอวิชชาย่อมไม่ให้เพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อแทงตลอดซึ่งลักษณะพร้อมทั้งรสตามความเป็นจริงแห่งทุกขสมุทัย แห่งทุกขนิโรธ แห่งทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ปกปิดแล้ว หุ้มห่อแล้ว ยึดถือไว้อยู่ ฉะนั้นจึงตรัสว่า ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ ความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ความไม่รู้ (อัญญาณ) ตรัสว่า อวิชชา ในฐานะ ๔ เหล่านี้ โดยปริยายแห่งพระสูตร.
               แต่โดยปริยายแห่งพระอภิธรรมในนิกเขปกัณฑ์ ทรงถือเอาอัญญาณ (ความไม่รู้) ในฐานะ ๔ แม้อื่นอีกว่า ปุพฺพนฺเต อญฺญาณํ (ความไม่รู้ในอดีต) เป็นต้น. ในพระบาลีนั้น คำว่า ปุพฺพนฺโต ได้แก่ อดีตอัทธา คือขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลายที่ล่วงแล้ว.
               บทว่า อปรนฺโต ได้แก่ อนาคตอัทธา คือขันธ์ ธาตุ อายตนะทั้งหลายที่ยังไม่มาถึง.
               บทว่า ปุพฺพนฺตาปรนฺโต ได้แก่ กาลทั้ง ๒ แห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะที่ล่วงแล้วและยังไม่มาถึงนั้น.
               บทว่า อิทปฺปจฺจยตา (ความมีธรรมนี้เป็นปัจจัย) ได้แก่ องค์ทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุแห่งธรรมทั้งหลายมีสังขารเป็นต้น.
               บทว่า ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนธมฺมา (ธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น) ได้แก่ ธรรมทั้งหลายมีสังขารเป็นต้นซึ่งเกิดขึ้นแต่ธรรมทั้งหลายมีอวิชชาเป็นต้น ในธรรมเหล่านั้น เพราะอวิชชานี้ ย่อมไม่ให้เพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อแทงตลอดซึ่งลักษณะพร้อมทั้งกิจรสตามความเป็นจริงแห่งขันธ์เป็นต้นที่เป็นอดีต ย่อมปกปิด หุ้มห่อ ยึดถือเอาไว้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ปุพฺพนฺเต อญฺญาณํ (ความไม่รู้ในอดีต).
               อนึ่ง เพราะอวิชชานี้ ย่อมไม่ให้ เพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อแทงตลอดซึ่งลักษณะพร้อมทั้งรสตามความเป็นจริงแห่งขันธ์เป็นต้นอันเป็นอนาคต ฯลฯ แห่งขันธ์เป็นต้นที่เป็นทั้งอดีตและอนาคต ฯลฯ ย่อมไม่ให้ เพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อแทงตลอดซึ่งลักษณะพร้อมทั้งรสตามความเป็นจริงแห่งความที่ธรรมนี้เป็นปัจจัย และธรรมที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้น ย่อมปกปิด หุ้มห่อ ยึดถือเอาไว้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ความไม่รู้ในความที่ธรรมนี้เป็นปัจจัย ในธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้นดังนี้. ตรัสความไม่รู้โดยปริยายแห่งพระอภิธรรมในฐานะทั้ง ๘ เหล่านี้ว่าเป็นอวิชชา.
               ถามว่า ด้วยลักษณะอย่างนี้ ย่อมเป็นอันพระองค์ตรัสถึงอะไร?
               ตอบว่า ชื่อว่า เป็นอันตรัสอวิชชา โดยกิจและโดยชาติ.
               อย่างไร?
               ก็อวิชชานี้ย่อมไม่ให้ เพื่อรู้ เพื่อเห็น เพื่อแทงตลอดฐานะทั้ง ๘ เหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสโดยกิจ และอวิชชานี้แม้เมื่อเกิดก็ย่อมเกิดในฐานะ ๘ เหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงตรัสโดยชาติ ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วทรงถือเอาบท ๒๕ มีอาทิว่า ยํ เอวรูปํ อญฺญาณํ อทสฺสนํ (ความไม่รู้ ความไม่เห็นอันใดเห็นปานนี้) อีก เพื่อทรงแสดงลักษณะอวิชชาต่อไป.
               อธิการนี้ เพราะอวิชชานี้แม้ตรัสแล้วด้วยบททั้ง ๘ เหล่านี้ เมื่อยังไม่ตรัสถึงลักษณะด้วยบท ๒๕ อีก ชื่อว่าเป็นอันตรัสดีแล้วยังไม่ได้ แต่เมื่อตรัสถึงลักษณะด้วยบท ๒๕ แล้ว ย่อมชื่อว่าเป็นอันตรัสดีแล้ว เหมือนบุรุษเมื่อกำลังแสวงหาโคที่หายไป พึงถามพวกมนุษย์ว่า เจ้านาย ท่านเห็นโคขาว ท่านเห็นโคแดงบ้างไหม ดังนี้ พวกมนุษย์เหล่านั้นก็พึงพูดอย่างนี้ว่า ในแคว้นนี้มีโคสีขาวสีแดงมากมาย โคของท่านมีลักษณะอย่างไรเล่า ลำดับนั้น เมื่อบุรุษนั้นพูดว่า เป็นรูปผ้าพาดหรือเป็นรูปคันไถ ดังนี้ โคจึงชื่อว่าเขาบอกดีแล้วฉันใด อวิชชานี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้ตรัสด้วยบททั้ง ๘ ยังมิได้ตรัสถึงลักษณะด้วยบท ๒๕ อีก ย่อมชื่อว่าตรัสดีแล้วก็หาไม่ แต่เมื่อตรัสถึงลักษณะแล้วนั่นแหละ จึงชื่อว่าตรัสไว้ดีแล้ว เพราะฉะนั้น เพื่อแสดงลักษณะแห่งอวิชชานั้น พึงทราบด้วยอำนาจแม้บท ๒๕ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วเหล่านั้น. ข้อนี้เป็นอย่างไร?

               อวิชชามีลักษณะ ๒๕               
               คือปัญญา ชื่อว่าญาณ ปัญญานั้นย่อมกระทำสัจจธรรม ๔ ซึ่งเป็นผลและเป็นผล ซึ่งเป็นเหตุและเป็นเหตุ ที่รู้แล้วให้ปรากฏ แต่อวิชชานี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ให้เพื่ออันกระทำสัจจธรรม ๔ นั้น ให้รู้ ให้ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอัญญาณ (ความไม่รู้) เพราะเป็นข้าศึกต่อญาณ.
               ปัญญา ชื่อว่าทัสสนะ (ความเห็น) ก็มี ปัญญาแม้นั้นย่อมเห็นซึ่งอาการแห่งสัจจธรรม ๔ ตามที่กล่าวนั้น แต่อวิชชาเกิดขึ้นแล้วย่อมไม่ให้เพื่อเห็นสัจจธรรม ๔ นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอทัสสนะ.
               ปัญญา ชื่อว่าอภิสมัย (ความตรัสรู้) ก็มี ปัญญานั้น ย่อมตรัสรู้ อาการแห่งสัจจธรรม ๔ ตามที่กล่าวนั้น แต่อวิชชาเกิดขึ้นแล้วย่อมไม่ให้เพื่อตรัสรู้อริยสัจจะ ๔ นั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอนภิสมัย.
               ปัญญา ชื่อว่าอนุโพธะ (ความตรัสรู้ตาม) สัมโพธะ (ความตรัสรู้พร้อม) ปฏิเวธะ (การแทงตลอด) ก็มี ปัญญานั้นย่อมตรัสรู้ตาม ย่อมตรัสรู้พร้อม ย่อมแทงตลอดอาการแห่งสัจจธรรม ๔ ตามที่กล่าวแล้วนั้น แต่อวิชชาเกิดขึ้นแล้วย่อมไม่ให้เพื่อตรัสรู้ตามเพื่อตรัสรู้พร้อม เพื่อแทงตลอดสัจจธรรมนั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอนนุโพธะ อสัมโพธะและอัปปฏิเวธะ,
               ปัญญา ชื่อว่าสังคาหณา (ความถือเอาถูก) ก็มี ปัญญานั้นถือเอาแล้ว ทดลองแล้ว ย่อมถือเอาอาการนั้น แต่อวิชชาเกิดขึ้นแล้วย่อมไม่ให้เพื่อถือเอา ทดลองแล้วถือเอาอาการนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอสังคาหณา.
               ปัญญา ชื่อว่าปริโยคาหณา (ความหยั่งโดยรอบ) ก็มี ปัญญานั้นหยั่งลงแล้ว ชำแรกแล้วซึ่งอาการนั้น ย่อมถือเอา แต่อวิชชาเกิดขึ้นแล้วไม่ให้เพื่อหยั่งลง ชำแรกแล้วถือเอา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอปริโยคาหณา.
               ปัญญา ชื่อว่าสมเปกขนา (ความพินิจ) ก็มี ปัญญานั้นย่อมเพ่งอาการนั้นโดยสม่ำเสมอและโดยชอบ แต่อวิชชาเกิดขึ้นแล้วย่อมไม่ให้เพื่ออันเพ่งอาการนั้นโดยสม่ำเสมอและโดยชอบ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอสมเปกขนา.
               ปัญญา ชื่อว่าปัจจเวกขณา (ความพิจารณา) ก็มี ปัญญานั้นย่อมพิจารณาอาการนั้น แต่อวิชชาเกิดขึ้นแล้วย่อมไม่ให้เพื่ออันพิจารณาอาการนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอปัจจเวกขณา.
               กรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอันประจักษ์ ย่อมไม่มีแก่อวิชชานี้ และกรรมที่ตัวเอง (คืออวิชชา) ไม่พิจารณาแล้วกระทำ มีอยู่ เพราะเหตุนั้น อวิชชานี้จึงชื่อว่าอัปปัจจักขกรรม (มีกรรมอันไม่พิจารณากระทำให้ประจักษ์).
               อวิชชานี้ ชื่อว่าทุมมิชฌะ (ความทรามปัญญา) เพราะความโฉดเฉา.
               อวิชชานี้ ชื่อว่าพาลยะ (ความโง่เขลา) เพราะความเป็นธรรมชาติโง่เขลา.
               ปัญญา ชื่อว่าสัมปชัญญะ (ความรู้ทั่วพร้อม) ก็มี ปัญญานั้นย่อมรู้ทั่วซึ่งสัจจธรรม ๔ ที่เป็นผลและเป็นผล ที่เป็นเหตุและเป็นเหตุโดยชอบ แต่อวิชชาเกิดขึ้นแล้วย่อมไม่ให้เพื่ออันรู้ทั่วซึ่งอาการนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอสัมปชัญญะ.
               อวิชชา ชื่อว่าโมหะ (ความหลง) ด้วยอำนาจแห่งความโง่.
               อวิชชา ชื่อว่าปโมหะ (ความลุ่มหลง) ด้วยอำนาจความหลงทั่ว.
               อวิชชา ชื่อว่าสัมโมหะ (ความหลงใหล) ด้วยอำนาจความหลงพร้อม.
               อวิชชา ชื่อว่าอวิชชา ด้วยอำนาจอรรถมีอาทิว่า ย่อมรู้สิ่งที่ไม่ควรรู้.
               อวิชชา ชื่อว่าอวิชโชฆะ (โอฆะคืออวิชชา) เพราะย่อมนำลงคือ ให้จมลงในวัฏฏะ.
               อวิชชา ชื่อว่าอวิชชาโยคะ (โยคะคืออวิชชา) เพราะประกอบไว้ในวัฏฏะ.
               อวิชชา ชื่อว่าอวิชชานุสัย (อนุสัยคืออวิชชา) ด้วยอำนาจการละยังไม่ได้ และเพราะเกิดขึ้นบ่อยๆ.
               อวิชชา ชื่อว่าอวิชชาปริยุฏฐาน (การกลุ้มรุมจิตคืออวิชชา) เพราะย่อมกลุ้มรุม ย่อมจับ ย่อมปล้นกุศลจิต เหมือนพวกโจรซุ่มในหนทางปล้นคนเดินทางฉะนั้น.
               อวิชชา ชื่อว่าอวิชชาลังคี (กลอนเหล็กคืออวิชชา) เพราะอรรถว่าเมื่อลิ้มคือกลอนเหล็กที่ประตูเมืองตกไปแล้ว ย่อมตัดขาดซึ่งการออกไปภายนอกเมือง ของพวกคนภายในเมืองบ้าง ซึ่งการเข้าไปภายในเมืองของพวกคนภายนอกเมืองบ้างฉันใด อวิชชานี้ตกไปในกายนครของตนแห่งบุคคลใด ย่อมตัดขาดการดำเนินไป คือญาณอันให้ถึงพระนิพพานของบุคคลนั้นฉันนั้น.
               อวิชชา ชื่อว่าอกุศลมูล เพราะอรรถว่าอกุศลนั้นเป็นมูล หรือเพราะอรรถว่าอวิชชาเป็นมูลแห่งอกุศลทั้งหลาย. ก็อกุศลมูลนั้นมิใช่อื่น ในที่นี้ทรงประสงค์เอาโมหะ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าอกุศลมูล คือโมหะ.
               บทว่า อยํ วุจฺจติ (นี้เรียกว่า) ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า นี้ ชื่อว่าอวิชชามีลักษณะอย่างนี้.
               พึงทราบลักษณะอวิชชาด้วยอำนาจบท ๒๕ ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง อวิชชานี้มีลักษณะอย่างนี้ แม้ตรัสว่า ความไม่รู้ในทุกข์เป็นต้น ก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งแห่งทุกขสัจจะ เป็นธรรมเกิดพร้อมกัน ย่อมกระทำทุกขสัจจะนั้นให้เป็นอารมณ์ ย่อมปกปิดทุกขสัจจะนั้น. มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของสมุทยสัจจะ เป็นธรรมเกิดพร้อมกัน ย่อมกระทำสมุทยสัจจะนั้นให้เป็นอารมณ์ ย่อมปกปิดสมุทยสัจจะนั้น. ไม่เป็นส่วนหนึ่งของนิโรธสัจจะ ไม่เกิดพร้อมกัน ไม่ทำนิโรธสัจจะนั้นให้เป็นอารมณ์ ย่อมปกปิดอย่างเดียว. ไม่เป็นส่วนหนึ่งแม้แห่งมรรคสัจจะ ไม่เกิดพร้อมกัน ไม่ทำมรรคสัจจะนั้นให้เป็นอารมณ์ ย่อมปกปิดอย่างเดียว.
               อวิชชาย่อมเกิดขึ้นเพราะความมีทุกข์เป็นอารมณ์ และย่อมปกปิดทุกข์ที่เป็นอารมณ์นั้น อวิชชาย่อมเกิดขึ้น เพราะความมีสมุทัยเป็นอารมณ์ และย่อมปกปิดสมุทัยที่เป็นอารมณ์นั้น อวิชชาย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะความมีนิโรธเป็นอารมณ์ และย่อมปกปิดนิโรธนั้น อวิชชาย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะความมีมรรคเป็นอารมณ์ แต่ย่อมปกปิดมรรคนั้น.
               สัจจะ ๒ ชื่อว่าลึกซึ้ง (คัมภีระ) เพราะเห็นได้โดยยาก สัจจะ ๒ ชื่อว่าเห็นได้โดยยาก เพราะความเป็นของลึกซึ้ง. อีกอย่างหนึ่ง อริยสัจคือทุกขนิโรธ เป็นสภาพลึกซึ้งและเห็นได้โดยยาก.
               บรรดาสัจจะเหล่านั้น ขึ้นชื่อว่าทุกข์ เป็นสภาพปรากฏ แต่ที่ชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะเห็นลักษณะได้ยาก. แม้ในสมุทัยก็นัยนี้เหมือนกัน เปรียบเหมือนหนึ่ง ธรรมดาว่า การกวนมหาสมุทรแล้วนำเอาโอชะออกมาเป็นภาระ (ของหนัก) ธรรมดาว่า การขนทรายจากเชิงเขาสิเนรุ ก็เป็นภาระ ธรรมดาว่า การบีบคั้นภูเขาแล้วนำรสออกมาก็เป็นภาระฉันใด สัจจะทั้ง ๒ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะความเป็นภาวะลึกซึ้งโดยแท้ แต่นิโรธสัจจะทั้งลึกซึ้งอย่างยิ่ง และเห็นได้ยากอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ความบอดคือโมหะซึ่งปกปิดอริยสัจ ๔ ที่ชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะเห็นได้ยาก และชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะความลึกซึ้งนี้ ด้วยประการฉะนี้ จึงตรัสเรียกว่าอวิชชา.
               บทว่าด้วยนิเทศอวิชชา จบ.               

               ว่าด้วยนิเทศสังขาร (บาลีข้อ ๒๕๗)               
               พึงทราบวินิจฉัยในบทแห่งสังขาร ต่อไป.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงเฉพาะสังขารที่มีอวิชชาเป็นปัจจัยเท่านั้น ไม่ทรงพาดพิงสังขารที่มาด้วยสังขารศัพท์ ในสังขารตามที่ตรัสไว้ในหนหลัง จึงตรัสคำว่า
               ตตฺถ กตเม อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา ปุญฺญาภิสงฺขาโร
               บรรดาปัจจยาการเหล่านั้น สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เป็นไฉน? ปุญญาภิสังขาร ดังนี้เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น สภาวะที่ชื่อว่าบุญ เพราะอรรถว่าย่อมชำระกรรมอันเป็นการทำของตน คือย่อมยังอัชฌาศัยของผู้กระทำตนนั้นให้บริบูรณ์ และยังภพอันน่าบูชาให้เกิดขึ้น. ที่ชื่อว่าอภิสังขาร เพราะอรรถว่าย่อมปรุงแต่งวิบาก และกฏัตตารูป. อภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่ง) คือบุญ ชื่อว่าปุญญาภิสังขาร. สภาพที่ชื่อว่า อปุญฺโญ (อบุญ) เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อบุญ. อภิสังขารคืออบุญ ชื่อว่าอปุญญาภิสังขาร. ที่ชื่อว่าอาเนญชะ เพราะอรรถว่าย่อมไม่หวั่นไหว. ที่ชื่อว่าอาเนญชาภิสังขาร เพราะอรรถว่าอภิสังขารคืออาเนญชะ (ความไม่หวั่นไหว) และสภาพที่ปรุงแต่งภพอันไม่หวั่นไหว.
               ที่ชื่อว่ากายสังขาร เพราะอรรถว่าเป็นสังขาร (การปรุงแต่ง) อันกายให้เป็นไป หรือเพราะกาย หรือเป็นไปแก่กาย.
               แม้ในวจีสังขารและจิตตสังขาร ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               ในสังขารเหล่านั้น สังขาร ๓ แรก ทรงถือเอาด้วยอำนาจแห่งปริวิมังสนสูตร.
               จริงอยู่ ในสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า หากว่า บุคคลย่อมปรุงแต่งสังขาร (สภาพปรุงแต่ง) ที่เป็นบุญ วิญญาณก็เข้าถึงความเป็นบุญ หากว่า บุคคลย่อมปรุงแต่งสังขารที่เป็นอบุญ วิญญาณก็เข้าถึงความเป็นอบุญ (บาป) หากว่า บุคคลย่อมปรุงแต่งสังขารที่เป็นอาเนญชะ วิญญาณก็เข้าถึงความเป็นอาเนญชะ ดังนี้. สังขาร ๓ ที่สอง ทรงถือเอาด้วยอำนาจแห่งวิภังคสูตรอันเป็นลำดับแห่งปริวิมังสนสูตรนั้น แม้กล่าวว่าทรงถือเอาโดยปริยายแห่งสัมมาทิฏฐิสูตร ดังนี้ ก็ควรเหมือนกัน. เพราะในวิภังคสูตรนั้นตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขาร ๓ เหล่านี้ สังขาร ๓ เป็นไฉน? กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ดังนี้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร จึงทรงถือเอาสังขารเหล่านั้นด้วยอำนาจแห่งสูตรเหล่านั้นเล่า.
               ตอบว่า เพื่อแสดงบทนี้ว่า ธรรมดาพระอภิธรรมนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงกระทำไว้ในบัดนี้ พวกฤาษีภายนอก หรือพวกพระสาวก หรือพวกเทวดามิได้ภาษิตไว้ ก็พระอภิธรรมนี้เป็นภาษิตของพระชินเจ้าผู้เป็นสัพพัญญูพุทธะ เพราะในพระอภิธรรมก็ดี ในพระสูตรก็ดี เป็นพระบาลีแบบแผนที่ยกขึ้นแสดงออกเป็นเช่นเดียวกันทั้งนั้น ดังนี้.

               ว่าด้วยปุญญาภิสังขาร               
               บัดนี้ เพื่อทรงแสดงสังขารเหล่านั้นโดยชนิดต่างๆ จึงตรัสคำมีอาทิว่า ตตฺถ กตโม ปุญฺญาภิสงฺขาโร ในสังขารเหล่านั้น ปุญญาภิสังขารเป็นไฉน?
               ในพระบาลีนั้น แม้เจตนาที่เป็นไปในภูมิ ๔ ตรัสโดยไม่กำหนดไว้ว่า เจตนาที่เป็นกุศล แต่เพราะทรงกำหนดว่า กามาวจร รูปาวจร ดังนี้ เจตนา ๑๓ ดวง คือ กามาวจรกุศลเจตนา ๘ ดวงและรูปาวจรกุศลเจตนา ๕ ดวง ชื่อว่าปุญญาภิสังขาร. ด้วยบททั้งหลายว่า ทานมยา (ทานมัย) เป็นต้น ทรงแสดงความเป็นไปด้วยสามารถแห่งบุญกิริยาวัตถุแห่งเจตนาเหล่านั้นนั่นเอง.
               ในพระบาลีนั้น เจตนา ๘ ดวงเป็นกามาพจรย่อมสำเร็จด้วยทานและศีลเท่านั้น แต่เจตนาแม้ทั้ง ๑๓ ดวง สำเร็จด้วยภาวนา เปรียบเหมือนบุคคลสาธยายธรรมคล่องแคล่ว ย่อมไม่รู้ซึ่งธรรมที่เป็นไปแม้สนธิหนึ่ง แม้สนธิสอง เมื่อนึกถึงจึงรู้ในภายหลังฉันใด เมื่อพระโยคาวจรกระทำกสิณบริกรรม พิจารณาฌานที่เกิดคล่องแคล่ว และเมื่อมนสิการกรรมฐานที่ชำนาญก็ฉันนั้นเหมือนกัน เจตนาแม้ปราศจากญาณ ก็ย่อมสำเร็จเป็นภาวนา ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า เจตนาแม้ทั้ง ๑๓ ดวง สำเร็จด้วยภาวนา ดังนี้.
               ในเทศนานั้น เทศนานี้เป็นเทศนาโดยย่อในบุญกิริยาวัตถุมีทานเป็นต้นว่า เจตนา สัญเจตนา (ความตั้งใจ) ความคิดปรารภทาน ทำทานให้เป็นใหญ่อันใด ย่อมเกิดขึ้น นี้เรียกว่าปุญญาภิสังขารสำเร็จด้วยทาน เจตนา ความตั้งใจ ความคิด ปรารภศีล ฯลฯ ปรารภภาวนาทำภาวนาให้เป็นใหญ่อันใด นี้เรียกว่าปุญญาภิสังขารสำเร็จด้วยภาวนา ดังนี้.
               ส่วนกถานี้เป็นกถาโดยพิสดารว่า บรรดาปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น หรือบรรดาอารมณ์ ๖ มีรูปารมณ์เป็นต้น หรือทานวัตถุ ๑๐ มีการให้ข้าวเป็นต้น เจตนาของบุคคลผู้ให้วัตถุนั้นๆ ที่เป็นไปในกาลทั้ง ๓ คือ ในบุรพภาค (ส่วนเบื้องต้น) จำเดิมแต่การเกิดขึ้นแห่งของนั้นๆ ๑ ในเวลาบริจาค ๑ ในการระลึกถึงด้วยจิตโสมนัสในภายหลัง ๑ ชื่อว่าทานมัย.
               ส่วนเจตนาที่เป็นไปแก่บุคคลผู้ไปสู่วิหารผู้ตั้งใจว่า เราจักบวชเพื่อบำเพ็ญศีล ดังนี้ บวชแล้วยังมโนรถให้ถึงที่สุดแล้ว รำพึงอยู่ว่า เราบวชแล้วเป็นการดีหนอๆ ดังนี้ สำรวมพระปาฏิโมกข์ พิจารณาอยู่ซึ่งปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น ระวังอยู่ซึ่งจักขุทวารเป็นต้นในอารมณ์มีรูปเป็นต้นที่มาสู่คลอง และชำระอาชีวะให้หมดจดอยู่ ชื่อว่าศีลมัย.
               เจตนาที่เป็นไปแก่พระโยคาวจรผู้เจริญอยู่ซึ่งจักษุโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เจริญรูปทั้งหลาย ฯลฯ เจริญธรรมทั้งหลาย เจริญจักขุวิญญาณ ฯลฯ เจริญมโนวิญญาณ เจริญจักขุสัมผัส ฯลฯ เจริญมโนสัมผัส เจริญจักขุสัมผัสสชาเวทนา ฯลฯ เจริญมโนสัมผัสสชาเวทนา ฯลฯ เจริญรูปสัญญา ฯลฯ เจริญชรามรณะ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยทางแห่งวิปัสสนาที่กล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรค ชื่อว่าภาวนามัย ดังนี้.

               ว่าด้วยอปุญญาภิสังขาร               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศอปุญญาภิสังขาร ต่อไป.
               บทว่า อกุสลา เจตนา (อกุศลเจตนา) ได้แก่ เจตนาสัมปยุตด้วยอกุศลจิต ๑๒ ดวง.
               บทว่า กามาวจรา (เป็นกามาพจร) ความว่า บรรดาอกุศลเจตนา ๑๒ ดวงเหล่านั้น เว้นเจตนาที่สหรคตด้วยโทมนัส ๒ ดวงที่เหลือ ย่อมเกิดขึ้นแม้ในรูปภพและอรูปภพ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ชักปฏิสนธิมาในรูปภพและอรูปภพนั้น ย่อมยังวิบากให้ท่องเที่ยวไปในกามาวจรด้วยอำนาจปฏิสนธินั่นแหละ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า เป็นกามาพจรเท่านั้น ดังนี้.

               ว่าด้วยอาเนญชาภิสังขาร               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศอาเนญชาภิสังขาร ต่อไป.
               บทว่า กุสลา เจตนา อรูปาวจรา (กุศลเจตนาเป็นอรูปาวจร) ได้แก่ กุศลเจตนาเป็นอรูปาวจร ๔.
               จริงอยู่ กุศลเจตนาเป็นอรูปาวจร ๔ เหล่านี้ ตรัสเรียกว่าอาเนญชาภิสังขาร เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว และเพราะอรรถว่าปรุงแต่งความไม่หวั่นไหว ด้วยว่าธรรม ๑๕ คือเจตนาที่เป็นกุศล วิบาก กิริยาที่เกิดแต่จตุตถฌานที่เป็นรูปาวจร ๓ ดวง เจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๑๒ ดวง ชื่อว่าอาเนญชา เพราะอรรถว่ามั่นคง เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว.
               บรรดาเจตนา ๑๕ เหล่านั้น รูปาวจรกุศลเจตนา แม้เป็นสภาพไม่หวั่นไหว แต่ก็ให้เกิดรูปและอรูปที่เหมือนกับตนบ้าง ไม่เหมือนกับตนบ้าง ให้มีความหวั่นไหวบ้าง ไม่มีความหวั่นไหวบ้าง เพราะฉะนั้น จึงไม่ชื่อว่าอาเนญชาภิสังขาร ส่วนรูปาวจรวิบากเจตนาและรูปาวจรกิริยาเจตนา ย่อมปรุงแต่งวิบากไม่ได้ เพราะไม่มีวิบาก จึงชื่อว่าเป็นอาเนญชาภิสังขารไม่ได้ เจตนาที่เป็นอรูปาวจรวิบากและกิริยา ก็เป็นอาเนญชาภิสังขารไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เจตนาเหล่านี้แม้ทั้ง ๑๑ ดวง จึงเป็นอาเนญชา (ความไม่หวั่นไหว) เท่านั้น ไม่เป็นอภิสังขาร.
               แต่อรูปาวจรกุศลเจตนา ๔ ดวงเท่านั้น ตรัสเรียกว่า อาเนญชาภิสังขาร เพราะอรรถว่าย่อมให้เกิดอรูปอันไม่หวั่นไหวเช่นกับตน เหมือนเงาของสัตว์มีช้างม้าเป็นต้นก็เป็นเช่นเดียวกับสัตว์มีช้างม้าเป็นต้นฉะนั้น เจตนาเหล่านี้แม้ทั้งหมด คือกามาวจรกุศลเจตนา ๑๓ ดวงด้วยอำนาจแห่งปุญญาภิสังขาร อกุศลเจตนา ๑๒ ดวงด้วยอำนาจแห่งอปุญญาภิสังขาร อรูปกุศลเจตนา ๔ ดวงด้วยอำนาจอาเนญชาภิสังขาร ประมวลมาเป็นเจตนา ๒๙ ดวง ด้วยประการฉะนี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดเจตนาที่เป็นกุศลและอกุศลที่เกิดขึ้นแก่เหล่าสัตว์หาประมาณมิได้ ในจักรวาลอันประมาณมิได้ ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ทรงแสดงเจตนาไว้ ๒๙ ดวงเท่านั้น เหมือนทรงชั่งอยู่ด้วยคันชั่งอันใหญ่ และเหมือนทรงตวงใส่ไว้ในทะนานนั่นแหละ ด้วยประการฉะนี้.

               ว่าด้วยทวารแห่งกรรม               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงทวารแห่งกรรม ๓ ที่เหล่าสัตว์ซึ่งหาประมาณมิได้ ในจักรวาลอันนับประมาณมิได้ ผู้ประกอบอยู่ซึ่งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ย่อมประกอบด้วยทวารเหล่านั้น จึงตรัสคำว่า ตตฺถ กตโม กายสงฺขาโร กายสญฺเจตนา ในสังขารเหล่านั้น กายสังขาร เป็นไฉน? คือ กายสัญเจตนา ดังนี้เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น คำว่า กายสัญเจตนา ได้แก่ เจตนา ๒๐ ถ้วน คือกามาวจรกุศลเจตนา ๘ ดวง อกุศลเจตนา ๑๒ ดวง ที่เป็นไปโดยกายทวารซึ่งยังกายวิญญัตติให้ตั้งขึ้น แม้จะกล่าวว่า เจตนาที่เป็นกุศลและอกุศล ๒๐ ที่เกิดขึ้นให้ถึงการไหวไปด้วยการยึด และการถือเอาในกายทวาร ดังนี้ก็สมควร.
               คำว่า วจีสัญเจตนา ได้แก่ เจตนา ๒๐ ดวงนั้นนั่นเองเป็นไปทางวจีทวารยังวจีวิญญัตติให้ตั้งขึ้น แม้จะกล่าวว่า เจตนา ๒๐ ดวงที่เกิดขึ้นให้คงหวั่นไหวถึงเปล่งวาจา ในวจีทวารดังนี้ก็ควร.
               แต่ในอธิการนี้ อภิญญาเจตนาย่อมไม่เป็นปัจจัยแก่วิญญาณข้างหน้า เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ถือเอา แม้อุทธัจจเจตนาก็ไม่เป็นปัจจัยเหมือนอภิญญาเจตนา เพราะฉะนั้น แม้อุทธัจจเจตนานั้นก็พึงนำออกจากความเป็นปัจจัยของวิญญาณ ก็เจตนาแม้ทั้งหมดเหล่านี้ ย่อมมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย.
               คำว่า มโนสัญเจตนา ได้แก่ เจตนา ๒๙ ดวงแม้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในมโนทวาร ไม่ยังวิญญัตติแม้ทั้ง ๒ ให้ตั้งขึ้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทวารแห่งกรรมที่สัตว์พยายามไว้ว่าสัตว์ทั้งหลายในจักรวาลซึ่งนับประมาณมิได้ เมื่อประกอบกุศลและอกุศลกรรม ย่อมประกอบด้วยทวาร ๓ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.

               ว่าด้วยสัมปโยคะแห่งอภิสังขาร ๓               
               อนึ่ง พึงทราบสัมปโยคะ (การประกอบพร้อมกัน) แห่งหมวด ๓ ทั้ง ๒ เหล่านี้ต่อไป.
               สัมปโยคะกันอย่างไร? คือ ปุญญาภิสังขารพึงเป็นกายสังขารแก่บุคคลผู้งดเว้นจากกายทุจริตก็มี พึงเป็นวจีสังขารแก่บุคคลผู้งดเว้นจากวจีทุจริตก็มี ดังนั้น กุศลเจตนา ๘ ดวงจึงเป็นกามาพจร เป็นปุญญาภิสังขาร เป็นกายสังขารและวจีสังขาร. ส่วนเจตนา ๑๓ ดวงที่เกิดในมโนทวารเป็นปุญญาภิสังขารและจิตตสังขาร.
               แม้อปุญญาภิสังขาร พึงเป็นกายสังขารในเวลาเป็นไปด้วยอำนาจกายทุจริตนั่นแหละก็มี พึงเป็นวจีสังขารในเวลาเป็นไปด้วยอำนาจวจีทุจริตก็มี พึงเป็นจิตตสังขารในเวลาเป็นไปในมโนทวารยกเว้นทวาร ๒ ก็มี ดังนั้น อปุญญาภิสังขารจึงเป็นกายสังขารบ้าง เป็นวจีสังขารบ้าง เป็นจิตตสังขารบ้าง. ก็กายสังขารพึงเป็นปุญญาภิสังขารก็มี เป็นอปุญญาภิสังขารก็มี ไม่เป็นอาเนญชาภิสังขาร. วจีสังขารก็เหมือนกัน (คือเป็นปุญญาภิสังขารก็มี อปุญญาภิสังขารก็มี ไม่เป็นอาเนญชาภิสังขาร) แต่จิตตสังขารพึงเป็นปุญญาภิสังขารก็มี เป็นอปุญญาภิสังขารก็มี เป็นอาเนญชาภิสังขารก็มี เพราะฉะนั้น ชื่อว่าสังขารทั้งหลายจึงมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย.

               ว่าด้วยสังขารมีอวิชชาเป็นปัจจัยอย่างไร               
               ถามว่า ก็ข้อนี้จะพึงทราบได้อย่างไรว่า สังขารทั้งหลายเหล่านี้ย่อมมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย.
               ตอบว่า รู้ได้ เพราะความที่อวิชชามีสังขารจึงมี.
               จริงอยู่ บุคคลใดยังละอัญญาณ (ความไม่รู้) กล่าวคืออวิชชาในสัจจะ ๔ มีทุกข์เป็นต้นไม่ได้ บุคคลนั้นก็จะยึดถือสังสารทุกข์ โดยความสำคัญว่าเป็นสุขด้วยความไม่รู้ธรรมมีขันธ์ในอดีตเป็นต้นก่อน แล้วย่อมปรารภสังขารแม้ทั้ง ๓ (มีปุญญาภิสังขารเป็นต้น) อันเป็นเหตุแห่งสังสารทุกข์นั้น. ด้วยความไม่รู้ในทุกขสมุทัย เมื่อเขาสำคัญก็ย่อมปรารภสังขารทั้งหลายที่เป็นบริวารของตัณหา แม้เป็นเหตุแห่งทุกข์ โดยความเป็นเหตุแห่งสุข.
               อนึ่ง เพราะความที่ไม่รู้ในนิโรธและมรรค บุคคลจึงมีความสำคัญในทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) ในคติพิเศษแม้มิใช่ความดับทุกข์ และมีความสำคัญในพิธีกรรมทั้งหลายมีการบูชายัญ และบำเพ็ญตบะเพื่อให้เป็นเทวดาเป็นต้นแม้มิใช่ทางแห่งความดับทุกข์ว่าเป็นทางดับทุกข์ เมื่อปรารถนาทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์) ก็ย่อมปรารภสังขารแม้ ๓ อย่าง โดยมุ่งหน้าพิธีกรรมมีการบูชายัญ และทำตบะเพื่อความเป็นเทวดาเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะบุคคลนั้นยังไม่ได้ละอวิชชาในสัจจะ ๔ นั้น จึงไม่รู้อยู่ซึ่งทุกข์กล่าวคือผลแห่งบุญแม้ระคนด้วยโทษเป็นอเนกมีชาติ ชราและมรณะเป็นต้น โดยความเป็นทุกข์พิเศษ ย่อมปรารภปุญญาภิสังขารอันต่างด้วยกายสังขารและวจีสังขาร เพื่อบรรลุทุกข์นั้น เหมือนผู้ต้องการนางฟ้า (เทพอัปสร) ปรารถนาเกิดเป็นเทพบุตรฉะนั้น และเมื่อบุคคลนั้นแม้ไม่เห็นผลบุญนั้น แม้สมมติว่าเป็นสุขซึ่งถึงความเป็นทุกข์เพราะแปรปรวนอันยังความเร่าร้อนใหญ่ให้เกิดขึ้นในบั้นปลาย และความที่ผลบุญนั้นมีความสำราญน้อย ย่อมปรารภปุญญาภิสังขารมีประการตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ซึ่งมีผลบุญนั้นเป็นปัจจัย เหมือนตั๊กแตนบ่ายหน้าตกลงสู่เปลวประทีป และเหมือนบุคคลผู้ติดใจในหยดน้ำผึ้งถึงกับเลียคมศัสตราที่เปื้อนน้ำผึ้งฉะนั้น.
               อนึ่ง เมื่อไม่เห็นโทษในธรรมที่มีวิบากมีการเสพกามเป็นต้น ย่อมปรารภอปุญญาภิสังขาร แม้เป็นไปด้วยทวาร ๓ เพราะสำคัญว่าเป็นสุข และเพราะความเป็นผู้ถูกกิเลสครอบงำแล้ว ดุจทารกเล่นอยู่ซึ่งคูถอันปฏิกูล ดุจผู้ต้องการตายเคี้ยวกินยาพิษฉะนั้น และเมื่อไม่หยั่งรู้ความทุกข์อันมีความแปรปรวนแห่งสังสาร แม้ในวิบากของความเป็นอรูป ก็ย่อมปรารภอาเนญชาภิสังขาร อันเป็นจิตตสังขารโดยวิปลาสมีความเที่ยงเป็นต้น ดุจคนหลงทิศ เริ่มเดินทางมุ่งหน้าไปสู่นครปิศาจฉะนั้น. เพราะความที่อวิชชามีอยู่นั่นแหละสังขารจึงมี มิใช่เพราะความไม่มี ฉะนั้น ข้อนี้จึงทราบได้ว่า สังขารเหล่านี้ย่อมมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ด้วยประการฉะนี้ แม้คำนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนเขลาตกอยู่ในอวิชชาแล้ว เพราะความไม่รู้ ย่อมปรุงแต่งปุญญาภิสังขารบ้าง ย่อมปรุงแต่งอปุญญาภิสังขารบ้าง ย่อมปรุงแต่งอาเนญชาภิสังขารบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแลภิกษุละอวิชชาเสียแล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น เพราะการสำรอกอวิชชา เพราะความเกิดขึ้นแห่งวิชชา ภิกษุนั้นย่อมไม่ปรุงแต่งปุญญาภิสังขาร ดังนี้.

               ว่าด้วยอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารอย่างไร               
               ถามว่า ในอธิการนี้ หากมีผู้กล่าวว่า พวกเรายอมรับว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลาย นี้ไว้ก่อน แต่คำที่ท่านกล่าวว่า อวิชชาเป็นปัจจัยอย่างไรแก่สังขารเหล่าไหนเล่า?
               ในปัญหากรรมนี้ ท่านย่อมกล่าวคำนี้ว่า
                         ปจฺจโย โหติ ปุญฺญานํ  ทุวิธาเนกธา ปน
                         ปเรสํ ปจฺฉิมานํ สา     เอกธา ปจฺจโย มตา
                                        อวิชชานั้นเป็นปัจจัยแก่ปุญญาภิสังขาร
                         ๒ อย่าง เป็นปัจจัยแก่อปุญญาภิสังขาร ซึ่งมีข้างหน้า
                         หลายอย่าง เป็นปัจจัยแก่อาเนญชาภิสังขารสุดท้าย
                         อย่างเดียว ดังนี้.

               ในการกล่าวแก้ปัญหานั้น ข้อว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่ปุญญาภิสังขาร ๒ อย่าง ได้แก่ เป็นปัจจัย ๒ อย่าง คือด้วยอารัมมณปัจจัยและอุปนิสสยปัจจัย.
               จริงอยู่ อวิชชานั้นเป็นปัจจัยแก่ปุญญาภิสังขารที่เป็นกามาพจร ในการพิจารณาสังขารโดยความสิ้นไปเสื่อมไป และเป็นปัจจัยแก่ปุญญาภิสังขารที่เป็นรูปาวจรในกาลรู้จิตมีโมหะด้วยอภิญญาจิต ด้วยอารัมมณปัจจัย.
               อนึ่ง เมื่อบุคคลบำเพ็ญซึ่งบุญกิริยาวัตถุที่เป็นกามาพจร มีการให้ทานเป็นต้น และเมื่อบุคคลยังรูปาวจรฌานทั้งหลายให้เกิดขึ้นอยู่เพื่อก้าวล่วงอวิชชา ก็เป็นปัจจัยแก่ปุญญาภิสังขารเหล่านั้น แม้ทั้งสองด้วยอุปนิสสยปัจจัย และเมื่อบุคคลปรารถนาสมบัติในกามภพและรูปภพ กระทำอยู่ซึ่งบุญเหล่านั้นแหละก็ย่อมเป็นปัจจัยด้วยอุปนิสสยปัจจัยเหมือน เพราะความหลงใหลด้วยอวิชชา.
               อนึ่ง ข้อว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่อปุญญาภิสังขารซึ่งมีข้างหน้าหลายอย่าง ได้แก่ อวิชชาเป็นปัจจัยแก่อปุญญาภิสังขารหลายอย่าง อย่างไร?
               คือ อวิชชานี้ปรารภอวิชชา ในกาลเกิดกิเลสมีราคะเป็นต้น ก็เป็นปัจจัยด้วยอารัมมปัจจัย ในเวลาที่ยินดีกระทำให้หนักก็เป็นปัจจัย ด้วยอารัมมณาธิปติปัจจัยและอารัมมณูปนิสสยปัจจัย. เมื่อบุคคลหลงใหลด้วยอวิชชา ไม่เห็นโทษกระทำอยู่ซึ่งปาณาติบาตเป็นต้น ก็เป็นปัจจัยด้วยอุปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยแก่ชวนะที่ ๒ เป็นต้น ด้วยอนันตระ สมนันตระ อุปนิสสยะ อาเสวนะ นัตถิและวิคตปัจจัย. เมื่อทำอกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นปัจจัยหลายอย่าง คือ ด้วยเหตุ สหชาตะ อัญญมัญญะ นิสสยะ สัมปยุตตะ อัตถิและอวิคตปัจจัย.
               ข้อว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่อาเนญชาภิสังขารสุดท้ายอย่างเดียว ความว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่อาเนญชาภิสังขาร ด้วยอุปนิสสยปัจจัย อย่างเดียวเท่านั้น ก็ความที่อวิชชาเป็นอุปนิสสยปัจจัยนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวในปุญญาภิสังขารนั่นแหละ.
               ก็ในที่นี้มีผู้สงสัยกล่าวถามว่า อวิชชานี้อย่างเดียวเท่านั้นเป็นปัจจัยแก่สังขารทั้งหลาย หรือว่า แม้ธรรมเหล่าอื่นเป็นปัจจัยก็มีอยู่. พึงเฉลยว่า ในข้อนี้จะมีคำกล่าวอะไรเล่า? ถ้ามีอวิชชาอย่างเดียวเท่านั้น ลัทธิว่าเหตุสำหรับกระทำมีอย่างเดียวก็จะปรากฏ ถ้าธรรมแม้อื่นเป็นปัจจัยมีอยู่ การอธิบายถึงเหตุอย่างเดียวว่า สังขารทั้งหลายย่อมมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ดังนี้ ก็ไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะเหตุไร? เพราะว่า
                         เอกํ น เอกโต อิธ       นาเนกมเนกโตปิ โน เอกํ
                         ผลมตฺถิ อตฺถิ ปน เอก   เหตุผลทีปเน อตฺโถ
                                        ในโลกนี้ ผลอย่างเดียว ย่อมมีเพราะ
                         เหตุอย่างเดียวก็หาไม่ ผลหลายอย่าง ย่อมมี
                         เพราะเหตุอย่างเดียวก็หาไม่ ผลอย่างเดียว
                         ย่อมมีเพราะเหตุหลายอย่างก็หาไม่ แต่ว่า
                         ประโยชน์ในการแสดงเหตุและผลแต่ละอย่าง
                         มีอยู่.

               อธิบายว่า ในโลกนี้ ผลอย่างเดียวย่อมมีเพราะเหตุอย่างเดียวก็หาไม่ ผลหลายอย่างย่อมมีเพราะเหตุอย่างเดียวก็หาไม่ ผลอย่างเดียวย่อมมี แม้เพราะเหตุหลายอย่างก็หาไม่ แต่ว่า ผลมากอย่างเท่านั้น ย่อมมีเพราะเหตุมากอย่าง.
               จริงอย่างนั้น ผล (พืชพันธุ์ไม้) กล่าวคือหน่อมีรูป (สี) กลิ่นรสเป็นต้นซึ่งเกิดขึ้นมิใช่น้อยเลย ย่อมปรากฏได้ เพราะเหตุทั้งหลายเป็นอเนก คืออุตุ แผ่นดิน พืชและน้ำ. ก็แต่ว่า การแสดงเหตุและผลแต่ละอย่างอันใดนี้ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ (สังขารทั้งหลายเกิด เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย วิญญาณเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย) ที่ทรงทำไว้แล้ว ความต้องการคือประโยชน์ในการอธิบายเหตุผลแต่ละอย่างเหล่านั้น มีอยู่. เพราะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงแสดงเหตุหรือผลอย่างเดียวเท่านั้น โดยสมควรแก่เทศนาวิลาส (ความไพเราะแห่งเทศนา) และแก่เหล่าเวไนยสัตว์ เพราะในที่บางแห่งมีเหตุและผลเป็นประธาน เพราะในที่บางแห่งมีเหตุและผลปรากฏแล้ว เพราะในที่บางแห่งมีเหตุและผลเป็นอสาธารณะ.
               จริงอยู่ ในข้อว่า ผสฺสปจฺจยา เวทนา (เวทนาย่อมเกิด เพราะผัสสะเป็นปัจจัย) นี้ พระองค์ตรัสเหตุและผลอย่างเดียวเท่านั้น. เพราะผัสสะเป็นปธานเหตุ (เหตุอันเป็นประธาน) ของเวทนา เพราะทรงกำหนดเวทนาตามผัสสะ และเวทนาก็เป็นปธานผล (ผลที่เป็นประธาน) ของผัสสะ เพราะทรงกำหนดผัสสะตามเวทนา.
               ในข้อว่า เสมฺหสมุฏฺฐานา อาพาธา (อาพาธทั้งหลายย่อมเกิดเพราะเสมหะเป็นสมุฏฐาน) นี้ พระองค์ตรัสเหตุอย่างเดียว เพราะเป็นของปรากฏ (ชัดเจน) แล้ว ก็ในอธิการนี้เสมหะปรากฏ มิใช่กรรมเป็นต้นปรากฏ.
               ในข้อว่า เยเกจิ ภิกฺขเว อกุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต อโยนิโสมนสิการ มูลกา (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีอยู่ อกุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีอโยนิโสมนสิการเป็นมูล) ดังนี้ ตรัสเหตุอย่างเดียว เพราะเป็นเหตุไม่ทั่วไป.
               จริงอยู่ อกุศลธรรมทั้งหลายมีอโยนิโสมนสิการเป็นอสาธารณเหตุ แต่มีวัตถุและอารมณ์เป็นต้น เป็นสาธารณเหตุ ฉะนี้แล.
               เพราะฉะนั้น ในอธิการนี้ อวิชชานี้ เมื่อธรรมอื่นๆ มีวัตถุ อารมณ์และสหชาตธรรมเป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุแห่งสังขารแม้มีอยู่ บัณฑิตก็พึงทราบว่า พระองค์ทรงแสดงโดยความเป็นเหตุแห่งสังขารทั้งหลาย เพราะคำว่า เหตุ ดังนี้ เป็นประธานแห่งเหตุของสังขารแม้เหล่าอื่นมีตัณหาเป็นต้น โดยพระบาลีว่า เมื่อบุคคลมีปรกติตามเห็นความชอบใจเนืองๆ ตัณหาย่อมเจริญและพระบาลีว่า อาสวสมุทัยย่อมเกิดเพราะอวิชชาสมุทัย ดังนี้ และเพราะความเป็นเหตุปรากฏและเป็นอสาธารณเหตุ โดยพระบาลีว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะความไม่รู้ คนเขลาผู้ตกอยู่ในอวิชชาย่อมปรุงแต่งซึ่งปุญญาภิสังขารบ้างเป็นต้น.
               ก็ด้วยคำเฉลยการแสดงเหตุและผลแต่ละอย่างนี้นั่นแหละ พึงทราบประโยชน์ในการแสดงเหตุและผลในที่ทั้งปวง ด้วยประการฉะนี้แล.
               ในข้อนี้ หากมีผู้กล่าวถามว่า แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น อวิชชาเป็นธรรมมีโทษมีผล ไม่น่าปรารถนาโดยส่วนเดียวย่อมควรซึ่งความเป็นปัจจัยแก่ปุญญาภิสังขารและอาเนญชาภิสังขารได้อย่างไร เพราะอ้อยย่อมไม่เกิดแต่พืชสะเดา.
               ตอบว่า อวิชชานั้น จักไม่ควรซึ่งความเป็นปัจจัยแก่ปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขารได้อย่างไร เพราะในโลกนี้
                                   ธรรมทั้งหลายที่สำเร็จเป็นปัจจัยแล้ว
                         ผิดฐานะกันก็มี เหมือนกันก็มี อนึ่ง เป็นเช่น
                         เดียวกันและไม่เป็นเช่นเดียวกันก็มี ธรรม
                         เหล่านั้นหาใช่วิบากอย่างเดียวไม่.
               อธิบายว่า ปัจจัยแห่งธรรมทั้งหลายที่สำเร็จแล้วในโลก เป็นธรรมที่ผิดแผกกันโดยฐานะ โดยสภาวะและโดยกิจ (หน้าที่) เป็นต้นก็มี ที่ไม่ผิดกันก็มี.
               จริงอยู่ จิตดวงแรกเป็นปัจจัยที่ผิดฐานของจิตดวงหลัง และการศึกษาศิลป์ครั้งแรกเป็นต้น เป็นปัจจัยที่ผิดฐานแก่การทำศิลป์เป็นต้นที่กำลังเป็นไปในภายหลัง. กรรมเป็นปัจจัยที่ผิดสภาวะของรูป นมสดเป็นต้นเป็นปัจจัยที่ผิดสภาวะของนมส้มเป็นต้น. แสงสว่างเป็นปัจจัยที่ผิดกิจของจักขุวิญญาณและงบน้ำอ้อยเป็นต้น เป็นปัจจัยที่ผิดกิจของเครื่องหมักดองเป็นต้น.
               ส่วนจักขุและรูปเป็นต้น เป็นปัจจัยไม่ผิดฐานะของจักขุวิญญาณเป็นต้น ชวนะดวงแรกเป็นต้น เป็นปัจจัยที่ไม่ผิดสภาวะและไม่ผิดกิจของชวนะดวงหลังเป็นต้น. อนึ่ง ปัจจัยที่สำเร็จแล้วผิดฐานกันและไม่ผิดฐานกัน มีอยู่ฉันใด แม้ปัจจัยที่สำเร็จแล้วที่เหมือนกัน และไม่เหมือนกันก็มีอยู่ฉันนั้น.
               จริงอยู่ รูปกล่าวคืออุตุและอาหารเป็นเช่นเดียวกันนั่นแหละเป็นปัจจัยแก่รูป. พืชข้าวสาลีเป็นต้นเป็นปัจจัยแก่ผลแห่งข้าวสาลีเป็นต้น. แม้สิ่งที่ไม่เหมือนกัน คือรูปเป็นปัจจัยแก่อรูป อรูปเป็นปัจจัยแก่รูปก็ได้. และขนโค ขนแกะ เขาสัตว์ นมส้ม งาและแป้งเป็นต้น ย่อมเป็นปัจจัยแก่หญ้าแพรกและตะไคร้น้ำเป็นต้น.
               อนึ่ง ธรรมเหล่าใดที่มีปัจจัยที่ผิดกันและไม่ผิดกัน ที่เหมือนกันและไม่เหมือนกัน ธรรมเหล่านั้นมิใช่วิบากแห่งธรรมเหล่านั้น. อวิชชานี้แม้เป็นธรรมมีโทษ ด้วยอำนาจแห่งการให้ผล (วิบาก) และด้วยอำนาจสภาวะที่มีผลไม่น่าปรารถนาโดยส่วนเดียว ก็พึงทราบว่า เป็นปัจจัยแก่ปุญญาภิสังขารเป็นต้นเหล่านี้แม้ทั้งหมดตามควร ด้วยอำนาจแห่งปัจจัยที่ผิดกันและไม่ผิดกันโดยฐานะ โดยกิจ โดยสภาวะและด้วยอำนาจแห่งปัจจัยที่เหมือนกันและไม่เหมือนกัน ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ความที่อวิชชานั้นเป็นปัจจัยนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า จริงอยู่ บุคคลใด ยังละอัญญาณ (ความไม่รู้) กล่าวคืออวิชชา ในสัจจะ ๔ มีทุกข์เป็นต้นไม่ได้ บุคคลนั้นก็จะยึดถือสังสารทุกข์ โดยความไม่รู้ในทุกข์และในขันธ์ที่เป็นส่วนอดีตเป็นต้น ด้วยความสำคัญว่าเป็นสุขก่อนแล้วย่อมปรารภสังขารแม้ ๓ อย่าง (มีปุญญาภิสังขารเป็นต้น) ที่เป็นเหตุของทุกข์นั้น ดังนี้.

               ว่าด้วยอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขารอีกอย่างหนึ่ง               
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบปริยายแม้อื่น ดังต่อไปนี้ว่า
                                   บุคคลใด หลงใหลอยู่ในการตาย
                         และการเกิด (จุติและอุปบัติ) ในสังสาร
                         ในลักษณะแห่งสังขารทั้งหลาย ในธรรมที่
                         อาศัยกันเกิดขึ้น บุคคลนั้น ย่อมปรุงแต่ง
                         สังขาร ๓ เหล่านี้ เพราะเหตุที่อวิชชาเป็น
                         ปัจจัยแก่สังขารแม้ทั้ง ๓ เหล่านี้ ดังนี้.
               อนึ่ง หากมีผู้กล่าวถามว่า ก็บุคคลผู้หลงใหลในธรรมเหล่านั้น ย่อมทำสังขารแม้ทั้ง ๓ เหล่านี้ อย่างไร?
               ขอตอบว่า บุคคลผู้หลงใหลในการตาย (จุติ) ก่อน เมื่อเขาไม่ถือเอาซึ่งจุติว่า การแตกแห่งขันธ์ทั้งหลายชื่อว่ามรณะในที่ทุกแห่ง ดังนี้ ย่อมกำหนดว่า สัตว์ย่อมตาย คือการก้าวไปสู่กายอื่นของสัตว์เป็นต้น. ผู้หลงใหลในการเกิด (อุปปาตะ) เมื่อไม่ถือการเกิดว่า ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลายในที่ทั้งปวงชื่อว่าชาติ ย่อมกำหนดว่า สัตว์เกิด คือความที่สัตว์ปรากฏมีสรีระใหม่เป็นต้น. ผู้หลงใหลในสังสาร เมื่อไม่ถือ ซึ่งสังสารที่ท่านพรรณนาไว้อย่างนี้ว่า
                         ขนฺธานญฺจ ปฏิปาฏิ        ธาตุอายตนาน จ
                         อพฺโพจฺฉินฺนา วตฺตมานา   สํสาโร ปวุจฺจติ
                                        ลำดับแห่งขันธ์ทั้งหลาย และแห่ง
                         ธาตุอายตนะทั้งหลาย เป็นไปอยู่ไม่ขาดสาย
                         เรียกว่า สังสาร ดังนี้.

               ย่อมกำหนดเหตุเป็นต้นว่า สัตว์นี้ย่อมไปสู่โลกอื่นจากโลกนี้ ย่อมมาสู่โลกนี้จากโลกอื่น ดังนี้.
               ผู้หลงใหลในลักษณะแห่งสังขารทั้งหลาย เมื่อไม่ถือเอาสภาวลักษณะ (ลักษณะแห่งความมีของตน) และสามัญลักษณะ (ลักษณะที่เสมอกัน) ของสังขารทั้งหลาย ย่อมกำหนดสังขารทั้งหลาย โดยความเป็นตน โดยเป็นของเนื่องด้วยตน โดยความยั่งยืน โดยความงามและโดยความสุข.
               ผู้หลงใหลในธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น เมื่อไม่ถือเอาความเป็นไปแห่งธรรมมีสังขารเป็นต้น เพราะปัจจัยมีอวิชชาเป็นต้น ย่อมกำหนดว่า
               "อัตตาย่อมรู้บ้าง ย่อมไม่รู้บ้าง อัตตานั้นแหละย่อมกระทำ ย่อมยังผู้อื่นให้กระทำ อัตตานั้นย่อมเกิดในปฏิสนธิ อณู และพระอิศวรเป็นต้นตั้งสรีระของอัตตานั้นไว้โดยความเป็นกลละเป็นต้น แล้วยังอินทรีย์ทั้งหลายให้บริบูรณ์ อัตตานั้นสมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ ย่อมถูกต้อง ย่อมเสวย ย่อมถือเอา ย่อมยึดถือ ย่อมสืบต่อ อัตตานั้นจะมีในภพอื่นอีก" ดังนี้บ้าง ว่า
               "สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นผู้แปรเปลี่ยนไปเป็นของเที่ยง เป็นของเกี่ยวข้องกัน" ดังนี้บ้าง
               บุคคลนั้นอันอวิชชาทำให้บอดแล้ว เมื่อกำหนดอยู่อย่างนี้ ย่อมปรุงแต่งอภิสังขาร คือบุญบ้าง บาปบ้าง อาเนญชาบ้าง เหมือนคนตาบอด เมื่อเที่ยวไปบนแผ่นดิน ย่อมเดินสู่ทางบ้าง นอกทางบ้าง ที่ดอนบ้าง ที่ลุ่มบ้าง ที่เสมอบ้าง ที่ไม่เสมอบ้าง" ดังนี้
               ด้วยเหตุนั้น บัณฑิตจึงกล่าวคาถานี้ไว้ว่า
                         ยถาปิ นาม ชจฺจนฺโธ    นโร อปรินายโก
                         เอกธา ยาติ มคฺเคน     อุมฺมคฺเคนาปิ เอกธา
                                        ธรรมดา คนบอดแต่กำเนิด ไม่มีผู้นำไป
                         ในกาลบางครั้ง ย่อมไปตามทาง ในกาลบางครั้ง
                         ย่อมเดินไปนอกทาง แม้ฉันใด
                         สํสาเร สํสรํ พาโล      ตถา อปรินายโก
                         กโรติ เอกธาปุญฺญํ   อปุญฺญํปิ เอกธา
                                        คนพาล ก็ฉันนั้น เมื่อท่องเที่ยวไป
                         ในสังสาร ไม่มีผู้แนะนำ ในกาลบางคราว
                         ย่อมทำบุญ บางคราวก็ย่อมทำบาป.
                         ยทา ญตฺวา จ โส ธมฺมํ  สจฺจานิ อภิสเมสฺสติ
                         ตทา อวิชฺชูปสมา       อุปสนฺโต จริสฺสติ
                                        อนึ่ง เมื่อใดคนพาลนั้นรู้ธรรมแล้ว
                         จักตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย เมื่อนั้นเขาจักเข้าไป
                         สงบ เพราะอวิชชาสงบแล้ว เที่ยวไป ดังนี้.

               นี้เป็นกถาพิสดารในบทว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา แล.

               นิเทศอวิชชาเป็นปัจจัย จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ปัจจยาการวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 242อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 255อ่านอรรถกถา 35 / 274อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=3732&Z=3845
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=3266
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=3266
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๙  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :