ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 131อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 144อ่านอรรถกถา 35 / 171อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
สัจจวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               ว่าด้วยนิเทศโสกะ (บาลีข้อ ๑๔๙)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศโสกะ ต่อไป.
               สภาวะใด ย่อมถึงความพราก. อธิบายว่า ย่อมซัดไป คือย่อมกำจัดประโยชน์เกื้อกูลและความสุข เพราะเหตุนั้น สภาวะนั้นจึงชื่อว่าพยสนะ (ความเสื่อม) ความเสื่อมญาติชื่อว่าญาติพยสนะ. อธิบายว่า ความสิ้นญาติคือความพินาศแห่งญาติ ด้วยภัยแต่โจรและโรคเป็นต้น คือด้วยความเสื่อมแห่งญาตินั้น.
               บทว่า ผุฏฺฐสฺส (ของผู้ที่ถูกกระทบ) ได้แก่ ของบุคคลผู้อันความเสื่อมท่วมทับแล้ว ครอบงำแล้ว คือประกอบพร้อมแล้ว. แม้ในคำที่เหลือก็นัยนี้แหละ.
               แต่ความแปลกกันมี ดังนี้
               ความเสื่อมแห่งโภคะทั้งหลาย ชื่อว่าโภคพยสนะ. อธิบายว่า ความสิ้นโภคะ ความพินาศแห่งโภคะด้วยอำนาจแห่งภัยมีราชภัยและโจรภัยเป็นต้น. ความเสื่อมคือโรคชื่อว่าโรคพยสนะ.
               จริงอยู่ โรคย่อมยังความไม่มีโรคให้พราก คือย่อมให้พินาศไป เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าพยสนะ. ความพินาศแห่งศีลชื่อว่าสีลพยสนะ (ความเสื่อมศีล) คำว่า สีลพยสนะ นี้เป็นชื่อของความเป็นผู้ทุศีล. ความเสื่อมคือทิฏฐิซึ่งยังสัมมาทิฏฐิให้พินาศเกิดขึ้น ชื่อว่าทิฏฐิพยสนะ๑- (ความเสื่อมทิฏฐิ).
               อนึ่ง บรรดาความเสื่อม ๕ เหล่านี้ ความเสื่อม ๒ เบื้องต้น (คือความเสื่อมญาติและความเสื่อมโภคทรัพย์). เป็นของยังไม่เกิดขึ้น แต่ความเสื่อมหลัง ๓ (คือความเสื่อมด้วยโรค ความเสื่อมศีล ความเสื่อมทิฏฐิ) เป็นของเกิดขึ้นแล้ว คือถูกไตรลักษณ์กระทบแล้ว.
               อนึ่ง ความเสื่อม ๓ แรกไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล. ความเสื่อม ๒ คือศีลและทิฏฐิเป็นอกุศล.
____________________________
๑- หมายถึงความเสื่อมจากสัมมาทิฏฐิ.

               บทว่า อญฺญตรญฺญตเรน (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ได้แก่ ด้วยความเสื่อมอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาความเสื่อมทั้งหลายมีความเสื่อมจากมิตรและอำมาตย์เป็นต้นที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งถือเอาก็ตามไม่ถือเอาก็ตาม.
               บทว่า สมนนฺนาคตสฺส (ของบุคคลผู้ประกอบ) ได้แก่ ของผู้พัวพันอยู่คือผู้ยังไม่พ้นไป.
               บทว่า อญฺญตรญฺญตเรน ทุกฺขธมฺเมน (ด้วยเหตุแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง) ได้แก่ ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นแห่งทุกข์คือความโศกอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า โสโก (ความโศก) ที่ชื่อว่าความโศก ด้วยอำนาจความเศร้าโศก คำว่าความโศกนี้เป็นบทเฉพาะตนโดยสภาพของความโศกที่เกิดขึ้นด้วยเหตุเหล่านี้.
               บทว่า โสจนา (กิริยาที่โศก) ได้แก่ อาการของความโศกเศร้า. ความเป็นแห่งความโศกเศร้า ชื่อว่า โสจิตฺตตฺตํ (สภาพโศกเศร้า).
               บทว่า อนฺโต โสโก (ความแห้งผากภายใน) ได้แก่ ความโศกเศร้าในภายใน.
               บทที่ ๒ (อนฺโต ปริโสโก ความแห้งกรอบภายใน) ทรงเพิ่มบทอุปสรรค.
               จริงอยู่ ความโศกเศร้านั้นยังภายในให้แห้งผาก ให้แห้งกรอบเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสเรียกว่า ความแห้งผากภายในและความแห้งกรอบภายใน.
               บทว่า เจตโส ปริชฺฌายนา (ความเกรียมใจ) ได้แก่ อาการที่เผาจิต เพราะความโศกเศร้า เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเผาจิต ย่อมไหม้จิตอย่างเดียว ย่อมยังบุคคลให้บ่นว่า จิตของเราเกรียมแล้ว ไม่มีอะไรๆ แจ่มใส ดังนี้. มนะที่ถึงทุกข์ ชื่อว่าทุมมนะ (เสียใจ) ภาวะแห่งทุมมนะนั้น ชื่อว่าความโทมนัส ชื่อว่าลูกศร คือความโศกเศร้า ด้วยอรรถว่าแล่นเข้าไปโดยลำดับ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าโสกสัลละ (ลูกศรคือความโศก).
               คำว่า อยํ วุจฺจติ โสโก (นี้เรียกว่า โสกะ) ความว่า นี้เราย่อมเรียกชื่อว่า โสกะ ก็ความโศกนี้ว่าโดยใจความก็ได้แก่ โทมนัสเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ความโศกนั้น อนฺโตนิชฺฌายนลกฺโณ มีการเผาไหม้ภายในเป็นลักษณะ เจตโส ปรินิชฺฌายนรโส มีการเผารนใจเป็นรส อนุโสจนปจฺจุปฏฺฐาโน มีความเศร้าโศกเนืองๆ เป็นปัจจุปัฏฐาน.๑-
____________________________
๑- คำว่า โทสจิตฺตุปฺปาทปทฏฺฐาโน โศกมีโทสจิตตุปบาทเป็นปทัฏฐาน ในที่นี้ท่านไม่กล่าวไว้.

               พึงทราบอรรถแห่งความโศกเป็นทุกข์               
               ก็ในข้อว่า พึงทราบอรรถแห่งความโศกเป็นทุกข์ นี้ความว่า โศกนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นทุกข์ เพราะความโศกนั้นเป็นสภาวทุกข์ และเพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์.
               ถามว่า ของทุกข์ไหน?
               ตอบว่า ของทุกข์กาย และทุกข์คือโทมนัสในขณะแห่งชวนะ.
               จริงอยู่ ด้วยกำลังแรงของความโศก ฝีใหญ่ย่อมตั้งขึ้นที่หัวใจสุกงอมแล้วย่อมแตกออก และโลหิตดำย่อมไหลออกทางปากแผล ทุกข์ทางกายรุนแรงย่อมเกิดขึ้น. เมื่อครุ่นคิดอยู่ว่า ญาติของเราเท่านี้สิ้นไปแล้ว โภคะของเราเท่านี้สิ้นไปแล้ว ดังนี้ โทมนัสแรงกล้าก็เกิดขึ้นได้.
               พึงทราบโศกนี้ว่าเป็นทุกข์ เพราะความเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ทั้ง ๒ นี้ด้วยประการฉะนี้แล.
               อีกอย่างหนึ่ง
                         สตฺตานํ หทยํ โสโก   สลฺลํ วิย วิตุชฺชติ
                         อคฺคีตตฺโตว นาราโจ  ภูสญฺจ อุหเต ปุน,
                         สมาวหติ จ พฺยาธิ    ชรามรณเภทนํ
                         ทุกฺขํปิ วิวิธํ ยสฺมา    ตสฺมา ทุกฺโขติ วุจฺจติ
                                        โศก ย่อมเสียดแทงหทัยของเหล่าสัตว์
                         ดุจลูกศร และย่อมแผดเผาอย่างแรงกล้าอีก เหมือน
                         หลาวเหล็กเผาไฟสังหารอยู่ เพราะโศกนั้นย่อมนำ
                         มาพร้อมแม้ซึ่งทุกข์ชนิดต่างๆ อันต่างโดยพยาธิ
                         ชราและมรณะฉะนั้น โศกนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า
                         จึงตรัสว่า เป็นทุกข์แล.

               ว่าด้วยนิเทศปริเทวะ (บาลีข้อ ๑๕๐)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศปริเทวะ ต่อไป.
               ที่ชื่อว่าอาเทวะ (ความร้องไห้) เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้สัตว์เปล่งเสียงร้องไห้โดยอ้างว่า ธิดาของฉัน บุตรของฉัน ดังนี้ ที่ชื่อว่าปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) เพราะอรรถว่าเป็นเหตุให้สัตว์คร่ำครวญถึงธิดาและบุตรนั้นๆ. บทละ ๒ บท๑- ข้างหน้านอกจากบทที่ ๒ บทที่กล่าวนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยการขยายความโดยอาการของ ๒ บทต้นนั่นเอง.
               บทว่า วาจา ก็คือคำพูด. คำที่พูดเปล่าไม่มีประโยชน์ ชื่อว่า ปลาโป (พูดพร่ำ) พูดพร่ำจนน่าเกลียดด้วยอำนาจการพูดครึ่งๆ กลางๆ และพูดไปอย่างอื่นเป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า วิปปลาปะ (ความพร่ำเพ้อ).
               บทว่า ลาลโป (ความพิไรร่ำ) ได้แก่ การพูดซ้ำซาก. อาการแห่งการพูดซ้ำซาก ชื่อว่า ลาลนา (กิริยาที่พิไรร่ำ). ภาวะแห่งกิริยาพิไรร่ำ ชื่อว่า ลาลปฺปิตตฺตํ (สภาพพิไรร่ำ).
               คำว่า อยํ วุจฺจติ ปริเทโว (นี้เรียกว่า ปริเทวะ) ความว่า นี้เรากล่าวให้ ชื่อว่าปริเทวะ. ปริเทวะนั้น ลาลปฺปนลกฺขโณ มีการพิลาปรำพันเป็นลักษณะ คุณโทสปริกิตฺตนรโส มีการรำพันถึงคุณและโทษเป็นกิจ สมฺภมปจฺจุปฏฺฐาโน มีความวุ่นวายไม่ตั้งมั่นเป็นปัจจุปัฏฐาน.๒-
____________________________
๑- ได้แก่ คำว่า กิริยาที่ร้องไห้ กิริยาที่คร่ำครวญ สภาพที่ร้องไห้ สภาพที่คร่ำครวญ.
๒- และคำว่า โทสจิตตชมหาภูตปทฏฺฐาโน มีมหาภูตรูปที่เกิดแต่โทสจิตเป็นปทัฏฐาน ท่านไม่ได้กล่าวไว้ในที่นี้.

               พึงทราบอรรถแห่งปริเทวะเป็นทุกข์               
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในข้อว่า พึงทราบอรรถแห่งปริเทวะเป็นทุกข์ต่อไป.
               ปริเทวะแม้นี้ตัวเองไม่เป็นทุกข์ แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นทุกข์ เพราะความเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์กายและทุกขโทมนัส.
               จริงอยู่ บุคคลผู้กำลังคร่ำครวญย่อมเอากำปั้นทุบลำตัวของตนได้ ย่อมเอามือทั้ง ๒ ตีอก ขยี้อก ย่อมเอาหัวชนฝาก็ได้ เพราะเหตุนั้น ทุกข์กายอย่างแรงจึงเกิดแก่เขาได้ เขาย่อมคิดเป็นต้นว่า ญาติของเราเท่านี้สิ้นแล้ว เสื่อมแล้ว ตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น โทมนัสอย่างแรงจึงเกิดขึ้นแก่เขา.
               พึงทราบปริเทวะว่าเป็นทุกข์โดยความเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ทั้ง ๒ แม้เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.
               อีกนัยหนึ่ง
                                   ยํ โสกสลฺลวิหโต ปริเทวมาโน
                                   กณฺโฐฏฺฐตาลุตลโสสชมปฺปสยฺหํ
                                   ภิยฺโยธิมตฺตมธิคจฺฉติเยว ทุกฺขํ
                                   ทุกฺโขติ เตน ภควา ปริเทวมาห

                                   บุคคล ผู้ถูกลูกศรคือความโศกเสียด
                         แทงแล้ว คร่ำครวญอยู่ ย่อมประสบทุกข์ใด
                         ซึ่งทนไม่ได้ อันเกิดแต่แห้งที่คอริมฝีปาก
                         พื้นเพดานอย่างยิ่งเหลือประมาณ ด้วยทุกข์
                         นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสปริเทวะคือ
                         ความคร่ำครวญว่าเป็นทุกข์แล.

               นิเทศแห่งทุกข์และโทมนัส (บาลีข้อ ๑๕๑-๑๕๒) ปรากฏชัดแล้ว เพราะข้าพเจ้าพรรณนาไว้ในอรรถกถาธรรมสังคหะ (อรรถกถาอรรถสาลีนี) ในหนหลังนั่นแล. และหมวดธรรม ๔ มีลักษณะเป็นต้นของทุกข์และโทมนัสเหล่านั้นข้าพเจ้าก็ได้กล่าวไว้ในที่นั้นเหมือนกัน.

               พึงทราบอรรถแห่งทุกข์เป็นทุกข์เป็นต้น               
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในข้อนี้ว่า พึงทราบอรรถแห่งทุกข์ว่าเป็นทุกข์และพึงทราบอรรถแห่งโทมนัสว่าเป็นทุกข์ต่อไป. ทุกข์และโทมนัสแม้ทั้ง ๒ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นทุกข์ เพราะตัวเองเป็นทุกข์ด้วย เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์ทางกายและทางจิตด้วย.
               จริงอยู่ เมื่อบุคคลประสบทุกข์ โดยทุกข์คือการถูกตัดมือตัดเท้า และตัดหูตัดจมูกซึ่งนอนวางกระเบื้องเก่าไว้ข้างหน้าขออาหารในศาลาของคนอนาถา เมื่อมีหมู่หนอนออกจากแผลทั้งหลาย ทุกข์กายเหลือกำลังย่อมเกิดขึ้น โทมนัสรุนแรงก็ย่อมเกิด เพราะเห็นมหาชนผู้มีเสื้อผ้าย้อมด้วยสีต่างๆ ประดับได้ตามชอบใจเล่นงานนักษัตรอยู่.
               พึงทราบความที่ทุกข์เป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์แม้ทั้ง ๒ อย่างนี้ก่อน.
               อีกอย่างหนึ่ง
                                   เพราะทุกข์ทางกายนี้ ย่อมบีบคั้น
                         และย่อมให้เกิดทุกข์ทางใจอย่างยิ่ง ฉะนั้น
                         คำว่า เป็นทุกข์ จึงมีโดยความต่างกัน.
               อนึ่ง บุคคลผู้เพรียบด้วยทุกข์ทางใจ ย่อมสยายผม ย่อมขยี้อก ่ย่อมกลิ้งเกลือกไปมา ย่อมโดดเหว ย่อมนำศัสตรามา ย่อมเคี้ยวยาพิษ ย่อมเอาเชือกแควนคอ ย่อมเข้าไปสู่กองไฟ เป็นผู้มีความเดือดร้อน โดยประการนั้นๆ เป็นผู้มีจิตรุ่มร้อนอยู่ ย่อมคิดถึงเรื่องวิปริตนั้นๆ.
               พึงทราบความที่โทมนัสเป็นวัตถุที่ตั้งของทุกข์ทั้ง ๒ ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง
                         เพราะโทมนัส ย่อมบีบคั้นจิต และ
               ย่อมนำความบีบคั้นมาแก่ร่างกาย ฉะนั้น
               บัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวแม้โทมนัสว่าเป็น
               ทุกข์ เพราะความเสียใจนั้นแล.

               ว่าด้วยนิเทศอุปายาส (บาลีข้อ ๑๕๓)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศอุปายาส ต่อไป.
               ที่ชื่อว่า อายาสะ (ความแค้น) ด้วยอรรถว่าลำบาก คำว่าอายาสะนี้เป็นชื่อของความลำบากจิตที่เป็นไปโดยอาการตกใจและเศร้าใจ ความแค้นใจอย่างแรง ชื่อว่าอุปายาส (ความขุ่นแค้น). ภาวะแห่งบุคคลผู้แค้นใจ ชื่อว่า อายาสิตตฺตํ ( สภาพแค้น) ภาวะแห่งบุคคลผู้ขุ่นแค้น ชื่อว่า อุปายาสิตตฺตํ (สภาพขุ่นแค้น).
               คำว่า อยํ วุจฺจติ อุปายาโส (นี้เรียกอุปายาส) ความว่า นี้เราเรียกชื่อว่า อุปายาส. ก็อุปายาสนี้นั้น พฺยาสตฺติลกฺขโณ มีการติดในอารมณ์ต่างๆ เป็นลักษณะ นิตฺถุนนรโส มีการทอดถอนใจเป็นกิจ วิสาทปจฺจุปฏฺฐาโน มีความเศร้าใจเป็นปัจจุปัฏฐาน.๑-
____________________________
๑- หทยวตฺถุปทฏฺฐาโน มีหทยวัตถุเป็นปทัฏฐาน (ไม่กล่าวไว้ในที่นี้).

               พึงทราบอรรถแห่งอุปายาสเป็นทุกข์               
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในข้อว่า พึงทราบอรรถแห่งอุปายาสเป็นทุกข์ นี้ต่อไป.
               อุปายาสแม้นี้ตัวเองไม่เป็นทุกข์ แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นทุกข์ ดังนี้ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์แม้ทั้ง ๒.
               จริงอยู่ เมื่อบุคคลถูกพระราชากริ้ว ถอดยศมีบุตรและพี่ชายน้องชายถูกประหาร ตัวเองเล่าก็ถูกสั่งฆ่าก็จะเข้าไปสู่ดงเพราะความกลัวหลบหลีกแล้ว ถึงความเป็นผู้เศร้าใจอย่างใหญ่หลวง ย่อมเกิดทุกข์กายมีกำลัง เพราะยืนเป็นทุกข์ นอนเป็นทุกข์ นั่งเป็นทุกข์. เมื่อคิดอยู่ว่า พวกญาติของเราเท่านี้ โภคทรัพย์เท่านี้ ฉิบหายแล้ว ดังนี้ โทมนัสมีกำลังก็ย่อมเกิดขึ้น.
               พึงทราบอุปายาสว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์เหล่านี้แม้ทั้ง ๒ ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง
                                   อุปายาส ย่อมยังทุกข์มีประมาณยิ่ง
                         อันใด ให้เกิดขึ้น เพราะการเผาจิต และทำ
                         กายให้เศร้าหมอง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
                         อุปายาสว่าทุกข์ เพราะทุกข์นั้นแล.

               ว่าด้วยการเปรียบทุกข์ ๓ อย่าง               
               อนึ่ง บรรดาทุกข์ ๓ อย่างมีโสกะเป็นต้นเหล่านี้ โสกะ พึงเห็นเหมือนการหุงน้ำมันเป็นต้นในภายในภาชนะเท่านั้นด้วยไฟอ่อน. พึงเห็นปริเทวะ เหมือนการล้นออกข้างนอกภาชนะของน้ำมันที่หุงอยู่ด้วยไฟแรง. พึงเห็นอุปายาส เหมือนการเคี่ยวจนแห้งในภายในภาชนะนั้นนั่นแหละของน้ำมันเป็นต้นซึ่งเหลือจากการล้นไปข้างนอกไม่พอที่จะล้นไปได้.

               ว่าด้วยนิเทศอัปปิยสัมปโยคทุกข์ (บาลีข้อ ๑๕๔)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศอัปปิยสัมปโยคทุกข์ ต่อไป.
               บทว่า ยสฺส ตัดบทเป็น เย อสฺส (แปลว่า อันใด ... ของ).
               บทว่า อนิฏฺฐา (อันไม่เป็นที่ปรารถนา) ได้แก่ ที่เขาไม่แสวงหา คือว่าที่เขาแสวงหา หรือไม่แสวงหาก็ตาม. อนึ่ง บทว่า อนิฏฺฐา นี้ เป็นชื่อของอารมณ์ที่ไม่ชอบใจอันไม่พึงแสวงหา.
               ธรรมมีรูปเป็นต้นเหล่าใด ย่อมไม่ก้าวไป คือย่อมไม่เข้าไปในใจ เพราะเหตุนั้น ธรรมมีรูปเป็นต้นเหล่านั้น จึงชื่อว่า อกันตา (ไม่เป็นที่รักใคร่). ธรรมเหล่าใด ย่อมไม่น่ารัก ย่อมไม่ยังใจให้เจริญ เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่า อมนาปา (ไม่เป็นที่ชอบใจ).
               คำว่า รูป เป็นต้นเป็นคำขยายความสภาวะของธรรมเหล่านั้น. บุคคลเหล่าใดย่อมใคร่คือย่อมปรารถนาสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ เพราะเหตุนั้น บุคคลเหล่านั้น จึงชื่อว่า อนตฺถกามา (ผู้มุ่งก่อความพินาศ). บุคคลเหล่าใดย่อมใคร่ คือย่อมปรารถนาสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพราะเหตุนั้น บุคคลเหล่านั้นจึงชื่อว่า อหิตกามา (ผู้มุ่งทำลายประโยชน์เกื้อกูล). บุคคลเหล่าใดย่อมใคร่ คือย่อมปรารถนาความไม่ผาสุกคือการอยู่เป็นทุกข์ เพราะเหตุนั้น บุคคลเหล่านั้นจึงชื่อว่า อผาสุกา (ผู้มุ่งทำลายความผาสุก). บุคคลเหล่าใดย่อมไม่ปรารถนาแดนเกษมจากโยคะ ๔ คือวิวัฏฏะอันปราศภัย คือย่อมใคร่ ย่อมปรารถนา วัฏฏะอันมีภัยนั่นแหละเพื่อโยคะ ๔ เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น บุคคลเหล่านั้นจึงชื่อว่า อโยคกฺเขมกามา (ผู้มุ่งทำลายแดนเกษมจากโยคะ).
               อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในบททั้ง ๔ มีคำว่า อนตฺถกามา เป็นต้นนี้ อย่างนี้ว่า บุคคลผู้ชื่อว่า อนตฺถกามา (ผู้มุ่งก่อความพินาศ) เพราะไม่ใคร่ต่อประโยชน์ กล่าวคือความเจริญธรรมมีศรัทธาเป็นต้น และเพราะใคร่ต่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ กล่าวคือความเสื่อมแห่งศรัทธาเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแหละ.
               ที่ชื่อว่า อหิตกามา (ผู้มุ่งทำลายประโยชน์เกื้อกูล) เพราะไม่ใคร่ต่อประโยชน์เกื้อกูลอันเป็นอุบายวิธีแห่งศรัทธาเป็นต้นนั่นเอง และเพราะใคร่ต่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เกื้อกูลอันเป็นอุบายวิธีแห่งอกุศลมีความเสื่อมศรัทธาเป็นต้นนั่นแหละ.
               ที่ชื่อว่า อผาสุกา (ผู้มุ่งทำลายความผาสุก) เพราะไม่ใคร่ต่อการอยู่เป็นผาสุกและเพราะใคร่ต่อการอยู่โดยไม่เป็นผาสุก.
               ที่ชื่อว่า อโยคกฺเขมกามา (ผู้มุ่งทำลายแดนเกษม) เพราะไม่ใคร่ต่อความปลอดภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง และเพราะใคร่ต่อภัย ดังนี้.
               การไปประกอบพร้อมกัน ชื่อว่า สํคติ (ความไปร่วม). ความมาร่วมกัน ชื่อว่า สมาคโม (ความมาร่วม). ภาวะที่พร้อมกันในการยืนการนั่งเป็นต้น ชื่อว่า สโมธานํ (ความประชุมร่วม). การทำร่วมกันซึ่งกิจทั้งปวง ชื่อว่า มิสฺสีภาโว (ความเป็นผู้กระทำร่วม).
               นี้เป็นโยชนา คือข้อแนะนำด้วยอำนาจแห่งสัตว์.
               ส่วนโยชนาด้วยอำนาจแห่งสังขาร พึงถือเอาความตามที่ได้.
               คำว่า อยํ วุจฺจติ (นี้เรียกว่า) ความว่า นี้เราเรียกชื่อว่า อัปปิยสัมปโยคทุกข์. อัปปิยสัมปโยคนั้น อนิฏฺฐสโมธานลกฺขโณ มีการประชุมลงซึ่งสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ จิตฺตวิฆาฏกรณรโส มีการทำความพิฆาตจิตเป็นรส อนตฺถภาวปจฺจุปฏฺฐาโน มีภาวะที่ไร้ประโยชน์เป็นปัจจุปัฏฐาน อัปปิยสัมปโยคทุกข์นั้น ชื่อว่าเป็นธรรมหนึ่งไม่มีโดยอรรถะ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์แม้ทั้ง ๒ อย่างแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยอารมณ์อันไม่เป็นที่รักอย่างเดียว เพราะวัตถุทั้งหลายอันไม่น่าปรารถนาถึงการประชุมลงแล้ว ย่อมยังทุกข์ทางกายให้เกิดขึ้นโดยการแทง การตัด การผ่าเป็นต้นบ้าง ย่อมยังทุกข์ทางใจให้เกิดขึ้นโดยการเกิดความสะดุ้งกลัวบ้าง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า
                                   เพราะเห็นสัตว์อันไม่เป็นที่รัก จึง
                         เป็นทุกข์ที่ใจก่อนทีเดียว และการเกิดทุกข์
                         ด้วยความพยายามของสัตว์อันไม่เป็นที่รักนั้น
                         ในกาย เพราะฉะนั้น พึงทราบการสมาคม
                         กับสัตว์อันไม่เป็นที่รักนั้นว่า พระมหาฤาษี
                         ตรัสว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแม้แห่ง
                         ทุกข์ทั้ง ๒ ในโลกนี้แล.

               ว่าด้วยนิเทศปิยวิปปโยคทุกข์ (บาลีข้อ ๑๕๕)               
               นิเทศแห่งปิยวิปปโยคทุกข์ พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับคำที่กล่าวแล้วแล.
               ก็ในนิเทศนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำว่า มาตา วา (มารดาก็ตาม) เป็นต้น เพื่อทรงแสดงบุคคลผู้ใคร่ประโยชน์โดยย่อ.
               ในพระบาลีนั้น มีวิเคราะห์ว่า ที่ชื่อว่ามารดา เพราะอรรถว่าย่อมถนอมรัก. ที่ชื่อว่าบิดา เพราะอรรถว่าย่อมพอใจ. ที่ชื่อว่าพี่ชายน้องชาย ด้วยอรรถว่าย่อมคุ้นกัน. ที่ชื่อว่าภคินี ก็เหมือนกัน. ที่ชื่อว่ามิตร เพราะอรรถว่าประพฤติเมตตา หรือว่าด้วยอรรถว่านับถือ. อธิบายว่า ย่อมสอดใส่ความลับทั้งหมดไว้ภายใน. ที่ชื่อว่าอำมาตย์ เพราะอรรถว่าย่อมเป็นผู้ร่วม ด้วยอรรถว่าเป็นผู้พร้อมกันในกรณียกิจทั้งหลาย. ที่ชื่อว่าญาติ เพราะอรรถว่าย่อมรู้ หรือทราบอย่างนี้ว่า คนนี้เป็นคนภายในของพวกเรา. ที่ชื่อว่าสาโลหิต เพราะอรรถว่าเป็นผู้สัมพันธ์กันด้วยสายเลือด.
               พึงทราบบทเหล่านี้ โดยเนื้อความ ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า อยํ วุจฺจติ (นี้เรียกว่า) ความว่า นี้เราเรียกชื่อว่า ปิเยหิวิปปโยคทุกข์. ปิเยหิวิปปโยคทุกข์นั้น อิฏฺฐวตฺถุวิโยคลกฺขโณ มีการพลัดพรากจากวัตถุที่ปรารถนาเป็นลักษณะ โสกุปฺปาทนรโส มีการให้เกิดขึ้นแห่งความโศกเป็นรส พฺยาสนปจฺจุปฏฺฐาโน มีความฉิบหายเป็นปัจจุปัฏฐาน.
               ปิเยหิวิปปโยคทุกข์นั้น ชื่อว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งโดยอรรถ ย่อมไม่มี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์แม้ทั้ง ๒ ของบุคคลผู้พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักอย่างเดียว เพราะวัตถุที่น่าปรารถนาทั้งหลายเมื่อพลัดพรากไป ย่อมยังทุกข์แม้ทางกายให้เกิดขึ้นโดยความเป็นผู้มีสรีระซูบซีดและเหี่ยวแห้งเป็นต้น แม้ทางใจก็ให้เกิดทุกข์ โดยการให้เศร้าโศกว่า แม้สิ่งที่มีอยู่แก่พวกเรานั้นก็ไม่มีแล้ว ดังนี้.
               เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ดังนี้ว่า
                                   เพราะพลัดพรากจากญาติและทรัพย์
                         เป็นต้น พวกคนพาลผู้เพรียบพร้อมด้วยลูก-
                         ศรคือความโศกเสียดแทงอยู่ เพราะเหตุใด
                         เพราะเหตุนั้น ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
                         เขาจึงรู้กันว่า เป็นทุกข์.

               ว่าด้วยนิเทศอิจฉา (บาลีข้อ ๑๕๖)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศอิจฉา (ความปรารถนา) ต่อไป.
               บทว่า ชาติธมฺมานํ (มีความเกิดเป็นธรรมดา) ได้แก่ มีความเกิดเป็นสภาพ มีความเกิดปกติ.
               บทว่า อิจฺฉา อุปฺปชฺชติ (ความปรารถนาย่อมเกิด) ได้แก่ ตัณหาย่อมเกิด.
               ศัพท์ว่า อโห วต (โอหนอ) เป็นการปรารถนา.
               คำว่า น โข ปเนตํ อจฺฉาย ปตฺตพฺพํ (ข้อนี้ไม่พึงสำเร็จตามความปรารถนา) ความว่า ความไม่มาแห่งชาติ (ความเกิด) อันมีอยู่ในพวกสาธุชนผู้ละสมุทัยได้แล้ว และมีอยู่ในท่านผู้ปรินิพพาน ซึ่งไม่มีความเกิดเป็นธรรมดา อันชนทั้งหลายปรารถนาแล้วอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอพวกเราอย่ามีความเกิดเป็นธรรมดา และขอความเกิดอย่ามาถึงพวกเราเลยหนา ดังนี้นั้น ชื่อว่าย่อมไม่สำเร็จตามความปรารถนาได้ เพราะเว้นจากมรรคภาวนา แม้บุคคลปรารถนาอยู่ก็ไม่พึงสำเร็จ และเพราะเป็นธรรมพึงถึงด้วยมรรคภาวนา แม้แก่บุคคลผู้ไม่ปรารถนา.
               บทว่า อิทมฺปิ แปลว่า แม้นี้. ปิ อักษร หมายเอาบทที่แปลกกันข้างหน้า.
               บทว่า ยมฺปิจฺฉํ เป็นต้น ความว่า เมื่อบุคคลปรารถนาวัตถุที่ไม่พึงได้โดยธรรมแม้ใด ย่อมไม่ได้ซึ่งความปรารถนาในวัตถุที่ไม่พึงได้นั้น พึงทราบว่า เป็นทุกข์. แม้ในบทมีคำว่า แก่เหล่าสัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา เป็นต้น ก็นัยนี้. ความปรารถนาในวัตถุที่ไม่พึงได้ในนิเทศนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ (ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์) ด้วยประการฉะนี้.
               ความปรารถนานั้น อลพฺภเนยฺยวตฺถุอิจฺฉนลกฺขณา มีความอยากในวัตถุที่ไม่พึงได้เป็นลักษณะ ตปฺปริเยสนรสา มีการแสวงหาสิ่งนั้นเป็นรส เตสํ อปฺปตฺติปจฺจุปฏฺฐานา มีความไม่สำเร็จสิ่งเหล่านั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน. ก็ความปรารถนานั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์แม้ทั้ง ๒.
               จริงอยู่ บางคนที่คนอื่นยกย่องว่า จักเป็นพระราชา เขามีคณะที่ฝ่ายบ้านเมืองตัดขาดแตกไปติดตามแล้วเข้าไปยังโขดเขา หรือราวไพร. ที่นั้นพระราชาทรงทราบพฤติการณ์นั้นแล้วทรงกองทัพไป บุรุษนั้นมีบริวารถูกราชบุรุษกำจัดแล้ว แม้ตนเองก็ถูกทำร้าย จึงหนีเข้าไปยังระหว่างต้นไม้ หรือระหว่างแผ่นหิน. สมัยนั้น เมฆใหญ่ตั้งขึ้น มีฝนพรำดำมืดยิ่ง ในขณะนั้นฝูงสัตว์มีมดดำเป็นต้นก็ล้อมเกาะเขารอบด้าน ด้วยเหตุนั้น ความทุกข์กายมีกำลังจึงเกิดแก่เขา เมื่อคิดอยู่ว่า พวกญาติเท่านี้และโภคทรัพย์เท่านี้ฉิบหายแล้ว เพราะอาศัยเราคนเดียว ดังนี้ โทมนัสมีกำลังก็เกิดแก่เขา.
               ความปรารถนานี้พึงทราบว่าเป็นทุกข์ เพราะเป็นวัตถุที่ตั้งแห่งทุกข์เหล่านี้แม้ทั้ง ๒ ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง
                                   เมื่อสัตว์ปรารถนาวัตถุนั้นๆ อยู่
                         เพราะไม่ได้วัตถุนั้นๆ ความทุกข์อันใด ซึ่ง
                         เกิดแด่ความพลาดหวัง ย่อมเกิดแก่พวกสัตว์
                         ในโลกนี้ ความปรารถนาวัตถุที่บุคคลไม่พึง
                         ได้เป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น เพราะฉะนั้น พระ
                         ชินพุทธเจ้าจึงตรัสความไม่ได้ตามความ
                         ปรารถนาว่าเป็นทุกข์แล.

               ว่าด้วยนิเทศอุปาทานขันธ์ (บาลีข้อ ๑๕๗)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศแห่งอุปาทานขันธ์ ต่อไป.
               บทว่า สงฺขิตฺเตน (โดยย่อ) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาเทศนา.
               จริงอยู่ ใครๆ ไม่อาจย่อทุกข์ได้ว่า เท่านี้เป็นทุกข์ร้อยหนึ่ง หรือว่า เท่านี้เป็นทุกข์พันหนึ่ง แต่เทศนาอาจย่อได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจะทรงย่อเทศนาว่า ขึ้นชื่อว่าทุกข์ มิใช่อะไรอื่น โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ดังนี้ จึงตรัสแล้วอย่างนี้.
               ศัพท์ว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต เนื้อความแห่งนิบาตนั้นมีอธิบายว่า หากว่า มีผู้ถามว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านั้น เป็นไฉนดังนี้. เนื้อความแห่งบทว่า รูปูปาทานกฺขนฺโธ (รูปูปาทานขันธ์) เป็นต้น ข้าพเจ้าพรรณนาไว้แล้วในขันธวิภังค์แล.

               พึงทราบอรรถแห่งขันธ์ทั้งหลายเป็นทุกข์               
               อนึ่ง พึงทราบวินิจฉัยในข้อว่า พึงทราบอรรถแห่งขันธ์ทั้งหลายว่าเป็นทุกข์ นี้ ต่อไป.
                         ชาติปฺปภูติกํ ทุกฺขํ        ยํ วุตฺตํ อิธ ตาทินา
                         อวุตฺตํ ยญฺจ ตํ สพฺพํ       วินา เอเต น วิชฺชติ
                         ยสฺมา ตสฺมา อุปาทาน    กฺขนฺธา สํเขปโต อิเม
                         ทกฺขาติ วุตฺตา ทุกฺขนฺเต   เทสเกน มเหสินา
                                        เพราะทุกข์มีชาติเป็นแดนเกิดอันใด
                         อันพระพุทธเจ้าผู้คงที่ตรัสไว้ในโลกนี้ และ
                         ทุกข์ใดที่มิได้ตรัสไว้ ทุกข์นั้นทั้งหมดเว้น
                         อุปาทานขันธ์ ๕ แล้ว ย่อมไม่มี ฉะนั้น พระ-
                         มหาฤาษีพุทธเจ้า ผู้ทรงแสดงซึ่งที่สุดแห่ง
                         ทุกข์ จึงตรัสว่า โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ นี้
                         เป็นทุกข์แล.

               จริงอย่างนั้น ชาติเป็นต้นเบียดเบียนอยู่ซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ นั้นแหละโดยประการต่างๆ เหมือนไฟป่าเบียดเบียนเชื้อไฟ เหมือนเครื่องประหารเบียดเบียนเป้า เหมือนเหลือบและยุงเป็นต้นเบียดเบียนโค เหมือนผู้เก็บเกี่ยวเบียดเบียนนา เหมือนโจรปล้นบ้านเบียดเบียนหมู่บ้าน ย่อมเกิดขึ้นในอุปาทานขันธ์ ๕ นั่นเอง เหมือนหญ้าและเถาวัลย์เป็นต้นย่อมเกิดขึ้นในพื้นดิน ดุจดอกไม้ ผลไม้และใบอ่อนเป็นต้นเกิดที่ต้นไม้ฉะนั้น.
               อนึ่ง ทุกข์ที่เป็นเบื้องต้นแห่งอุปาทานขันธ์คือชาติ ทุกข์ในท่ามกลางคือชรา ทุกข์ในที่สุดคือมรณะ. เพราะกระทบทุกข์มีความตายเป็นที่สุด จึงมีทุกข์แผดเผาคือโสกะ. เพราะการอดกลั้นความโศกนั้นไม่ได้ มีทุกข์เป็นเหตุพูดรำพันคือปริเทวะ. จากนั้นก็มีทุกข์เป็นทุกข์เบียดเบียนกาย เพราะประกอบกับโผฏฐัพพะ (กระทบ) กับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาคือธาตุกำเริบ. เพราะปุถุชนผู้ถูกทุกข์กายนั้นเบียดเบียนอยู่โดยเกิดปฏิฆะในอุปาทานขันธ์นั้น ก็เกิดทุกข์ที่เบียดเบียนทางใจคือโทมนัส. ทุกข์มีการทอดถอนใจของบุคคลผู้เศร้าหมองอันเกิดแต่ความเจริญของโสกะเป็นต้นคืออุปายาส. ทุกข์พลาดหวังของบุคคลผู้พลาดจากมโนรถคือการไม่ได้สิ่งที่ตนปรารถนา. อุปาทานขันธ์ที่บุคคลมีปัญญาเข้าไปพิจารณาอยู่โดยประการต่างๆ เทียว ด้วยประการฉะนี้ ชื่อว่าเป็นทุกข์แล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อทรงแสดงย่อทุกข์ที่ตรัสแสดงไว้แต่ละอย่าง ซึ่งใครๆ ไม่สามารถแสดงโดยไม่เหลือด้วยกัปเป็นอเนกนั้นแม้ทั้งหมดในอุปาทานขันธ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดุจทรงย่อรสน้ำในสมุทรทั้งสิ้นมาแสดงในน้ำหยดเดียว (มีรสเค็ม) จึงได้ตรัสว่า สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์.
               กถาว่าด้วยนิเทศแห่งทุกขสัจจะ จบ.               

               วรรณนานิเทศวาร               
               ว่าด้วยสมุทยสัจจะ (บาลีข้อ ๑๕๘)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศสมุทยสัจจะ ต่อไป
               บทว่า ยายํ ตณฺหา ตัดบทเป็น ยา อยํ ตณฺหา แปลว่า ตัณหา นี้ใด.
               บทว่า โปโนพฺภวิกา มีวิเคราะห์ว่า เหตุทำซึ่งภพใหม่ ชื่อว่า โปโนพฺภโว เหตุทำซึ่งภพใหม่เป็นปกติของตัณหานั้น มีอยู่ เพราะเหตุนั้น ตัณหานั้นจึงชื่อว่า โปโนพฺภวิกา (เป็นเหตุเกิดในภพใหม่ๆ)
               อีกอย่างหนึ่ง ตัณหาใดย่อมให้ซึ่งภพใหม่ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อภพใหม่ ย่อมเกิดในภพบ่อยๆ เพราะเหตุนั้น ตัณหานั้นจึงชื่อว่า โปโนพฺภวิกา.
               อนึ่ง ตัณหานั้นเป็นตัวให้ภพใหม่ก็มี ไม่ให้ภพใหม่ก็มี เป็นไปเพื่อภพใหม่ก็มี ไม่เป็นไปเพื่อภพใหม่ก็มี แม้แต่ที่อำนวยอุปธิในปฏิสนธิที่ตัณหานั้นให้แล้ว. ตัณหานั้นเมื่อให้อยู่ซึ่งภพใหม่ก็ดี ไม่ให้ก็ดี เป็นไปเพื่อภพใหม่ก็ดี ไม่เป็นไปเพื่อภพใหม่ก็ดี แม้แต่อำนวยอุปธิในปฏิสนธิที่ตนให้แล้วนั้น ก็ได้ชื่อว่า โปโนพภวิกา เหมือนกัน.
               ที่ชื่อว่า นันทิราคสหคตา (ประกอบด้วยความกำหนัดยินดี) เพราะอรรถว่าไปพร้อมกับนันทิราคะ กล่าวคือความยินดียิ่ง. มีอธิบายว่า โดยอรรถไปสู่ความเป็นอันเดียวกับนันทิราคะนั่นเอง.
               บทว่า ตตฺรตตฺราภินนฺทินี เพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ความเป็นอัตตามีอยู่ในที่ใดๆ ก็มีความยินดียิ่งในที่นั้นๆ หรือว่า มีความเพลิดเพลินในอารมณ์มีรูปเป็นต้นนั้นๆ.
               อธิบายว่า มีความเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์.
               ศัพท์ว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต เนื้อความแห่งศัพท์ว่า เสยฺยถีทํ นั้นว่า หากมีคำถามว่า ตัณหานั้นเป็นไฉนดังนี้.
               บทว่า กามตณฺหา มีวิเคราะห์ว่า ตัณหาในกาม ชื่อว่ากามตัณหา. คำว่า กามตัณหานี้เป็นชื่อของราคะอันประกอบด้วยกามคุณ ๕. ตัณหาในภพ ชื่อว่าภวตัณหา. คำว่า ภวตัณหานี้เป็นชื่อของราคะ (ความยินดี) ในรูปภพ อรูปภพและความพอใจในฌาน ที่สหรคตด้วยสัสสตทิฏฐิซึ่งเกิดขึ้นแล้วด้วยอำนาจปรารถนาภพ. ตัณหาในวิภพ ชื่อว่าวิภวตัณหา. คำว่า วิภวตัณหานี้เป็นชื่อของราคะสหรคตด้วยอุจเฉททิฏฐิ.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงแสดงวัตถุที่ตั้ง แห่งตัณหานั้นโดยพิสดาร จึงตรัสคำเป็นต้นว่า สา โข ปเนสา (ก็ตัณหานี้นั้นแล). ในพระบาลีนั้น บทว่า อุปฺปชฺชติ แปลว่าย่อมเกิด.
               บทว่า นิวีสติ (ย่อมตั้งอยู่) ได้แก่ ย่อมตั้งมั่นด้วยอำนาจความเป็นไปบ่อยๆ.
               คำว่า ยํ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ (ปิยรูป สาตรูปใด มีอยู่ในโลก) ความว่า สิ่งใดเป็นสภาพน่ารัก และเป็นสภาพอ่อนหวานในโลก.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำมีอาทิว่า จกฺขุํ โลเก จักษุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ต่อไป.
               จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายผู้ยึดมั่นในจักษุเป็นต้นโดยความถือตัวของเราในโลก ตั้งมั่นในสมบัติ ย่อมสำคัญจักษุของตน (เป็นต้น) ว่าเป็นประสาท ๕ ที่ผ่องใส โดยทำนองการถือเอานิมิตในกระจกเงาเป็นต้น ดุจสีหบัญชรแก้วมณีที่เผยออกในวิมานทอง ย่อมสำคัญโสตเป็นดุจหลอดเงินและดังสายสังวาล ย่อมสำคัญฆานะมีโวหารอันได้แล้วว่า มีจมูกโด่ง ดุจเกลียวหรดาลกลมตั้งอยู่ ย่อมสำคัญชิวหาอันอ่อนให้รสอันละเอียดดุจผ้ากัมพลแดง ย่อมสำคัญกาย ดุจหลักเสาไม้แก่น และดุจเสาค่ายทองคำ ย่อมสำคัญใจว่าโอฬารไม่เหมือนใจของชนเหล่าอื่น ย่อมสำคัญรูป ดุจสีทองและสีดอกกรรณิการ์เป็นต้น ย่อมสำคัญเสียง ดุจเสียงขันของนกการเวกและดุเหว่าที่กำลังเพลิน และเสียงกังวานของขลุ่ยแก้วมณีที่เป่าเบาๆ ย่อมสำคัญอารมณ์ คือกลิ่นเป็นต้นที่เกิดแต่สมุฏฐาน ๔ ที่ตนได้เฉพาะแล้วว่า คนอื่นใครเล่าจะมีอารมณ์เห็นปานนี้. เมื่อชนเหล่านั้นสำคัญอยู่อย่างนี้ อายตนะเหล่านั้นมีจักษุเป็นต้นก็ย่อมเป็นปิยรูปและสาตรูป เมื่อเป็นเช่นนั้น ตัณหาของชนเหล่านั้นซึ่งยังไม่เกิดขึ้นก็ย่อมเกิดขึ้นในจักษุเป็นต้นนั้น และที่เกิดแล้วก็ย่อมตั้งมั่นด้วยอำนาจที่เป็นไปบ่อยๆ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงพระดำรัสมีอาทิว่า จกฺขุํ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ จักษุเป็นปิยรูปสาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อเกิดก็ย่อมเกิดที่จักษุนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อุปฺปชฺชมานา (เมื่อเกิด) ความว่า เมื่อใด ตัณหาย่อมเกิด เมื่อนั้นก็ย่อมเกิดในจักษุนี้. แม้ในบททั้งปวงก็นัยนี้แล.
               กถาว่าด้วยนิเทศแห่งสมุทยสัจจะ จบ.               

               วรรณนานิเทศวาร               
               ว่าด้วยนิโรธสัจจะ (บาลีข้อ ๑๖๐)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศนิโรธสัจจะ ต่อไป.
               ในข้อว่า โย ตสฺสาเยว ตณฺหาย (ความสำรอก ... แห่งตัณหานั้นเทียว) ความว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าควรจะตรัสว่า โย ตสฺเสว ทุกฺขสฺส (ความสำรอก ... ทุกข์นั้นนั่นแหละ) ดังนี้ แต่เพราะทุกข์ดับไป เพราะการดับสมุทัยมิใช่โดยประการอื่น เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
                                   ยถา หิ มูเล อนุปทฺทเว ทฬฺเห
                                   ฉินฺโนปิ รุกฺโข ปุนเรว รูหติ
                                   เอวํปิ ตณฺหานุสเย อนุหเต
                                   นิพฺพตฺตเต ทุกฺขมิทํ ปุนปฺปุนํ

                                   เปรียบเหมือนต้นไม้แม้ถูกตัดแล้ว
                         เมื่อรากยังมั่นคง ไม่มีอุปัทวะ ก็ย่อมงอกขึ้น
                         อีกฉันใด แม้ทุกข์นี้ก็ฉันนั้น เมื่อตัณหานุสัย
                         ยังมิได้ถอนขึ้น ก็ย่อมขึ้นบ่อยๆ.

               ฉะนั้น เมื่อทรงแสดงการดับทุกข์นั้นจึงตรัสไว้อย่างนี้ เพื่อทรงแสดงโดยความดับสมุทัย แท้จริง พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงประพฤติเปรียบเสมือนสีหราชพระตถาคตเจ้าทั้งหลายเมื่อทรงดับทุกข์ และเมื่อทรงแสดงความดับทุกข์ ย่อมปฏิบัติในเหตุ มิใช่ในผล แต่พวกอัญเดียรถีย์มีความประพฤติเปรียบด้วยสุนัข พวกเขาเหล่านั้นเมื่อจะดับทุกข์ก็ดี เมื่อจะแสดงความดับทุกข์ก็ดี ย่อมปฏิบัติในผลโดยประกอบความเพียรในอันทำตนให้ลำบาก (อัตตกิลมถานุโยค) และด้วยการแสดงการประกอบความเพียรในอันทำตนให้ลำบากนั่นเอง ไม่ปฏิบัติในเหตุแล.
               พระศาสดาผู้ปฏิบัติอยู่ในเหตุ เพราะประพฤติเปรียบด้วยสีหะ จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า โย ตสฺสา เยว ดังนี้.
               ในพระบาลีนั้น บทว่า ตสฺสาเยว (แห่งตัณหานั้นนั่นเทียว) ความว่า สภาวะนั้นใดแห่งตัณหานั้นนั่นแหละที่พระองค์ทรงประกาศไว้ในหนหลัง ด้วยสามารถแห่งความเกิดและความตั้งมั่น.
               บทว่า อเสสวิราคนิโรโธ (ความสำรอกและความดับโดยไม่เหลือ) เป็นต้นทั้งหมดเป็นไวพจน์ของพระนิพพานทั้งนั้น เพราะอาศัยพระนิพพาน ตัณหาย่อมสำรอก ย่อมดับโดยไม่เหลือ ฉะนั้น พระนิพพานนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อเสสวิราคนิโรโธ (ความสำรอกและความดับโดยไม่เหลือ) แห่งตัณหานั้นนั่นเทียว. และเพราะอาศัยพระนิพพานแล้ว บุคคลจึงชนะตัณหาได้ ย่อมสละคืนได้ ย่อมพ้นได้และย่อมไม่ติดอยู่ ฉะนั้นจึงตรัสเรียกพระนิพพานว่า จาโค (ความสละ) ปฏินิสฺสคฺโค (ความสละคืน) มุตฺติ (ความพ้น) อนาลโย (ความไม่อาลัย).

               ธรรมที่เป็นไวพจน์พระนิพพาน               
               ความจริง พระนิพพานมีอย่างเดียวเท่านั้น แต่พระนิพพานนั้น มีชื่อเรียกแทนพระนิพพานเป็นอเนก ด้วยสามารถแห่งชื่อที่เป็นปฏิปักษ์แห่งสังขตธรรมทั้งหมด อย่างไร คือ ชื่อมีอาทิว่า
                         อเสสโต วิราโค (ความสำรอกโดยไม่เหลือ)
                         นิโรโธ (ความดับ)
                         จาโค (ความสละ)
                         ปฏินิสฺสคฺโค (ความสละคืน)
                         มุตฺติ (ความพ้น)
                         อนาลโย (ความไม่มีอาลัย)
                         ราคกฺขโย (ความสิ้นราคะ)
                         โทสกฺขโย (ความสิ้นโทสะ)
                         โมหกฺขโย (ความสิ้นโมหะ)
                         ตณฺหกฺขโย (ความสิ้นตัณหา)
                         อนุปฺปาโท (ความไม่เกิดขึ้น)
                         อปฺปวตฺตํ (ความไม่เป็นไป)
                         อนิมิตฺตํ (ความไม่มีเครื่องหมาย)
                         อปฺปณิหิตํ (ความไม่มีที่ตั้ง)
                         อนายูหนํ (ความไม่พยายาม)
                         อปฺปฏิสนฺธิ (ความไม่มีปฏิสนธิ)
                         อปฺปฏิวตฺติ (ความไม่กลับเป็นไป)
                         อคติ (ความไม่มีคติ)
                         อชาตํ (ความไม่เกิด)
                         อชรํ (ความไม่แก่)
                         อพฺยาธิ (ความไม่เจ็บ)
                         อมตํ (ความไม่ตาย)
                         อโสกํ (ความไม่มีโศก)
                         อปริเทวํ (ความไม่มีปริเทวะ)
                         อนุปายาสํ (ความไม่มีอุปายาส)
                         อสํกิลิฏฺฐํ (ความไม่เศร้าหมอง).
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อทรงแสดงความไม่มีแห่งตัณหาอันมรรคตัดแล้ว แม้อาศัยพระนิพพานแล้วก็ถึงความไม่เป็นไปในวัตถุเป็นที่ตั้งอันใด ที่พระองค์ทรงแสดงความเกิดของมันไว้ในที่นั้นนั่นแหละ จึงตรัสคำว่า สา โข ปเนสา (ก็ตัณหานี้นั้นแล) เป็นต้น.
               ในพระดำรัสนั้นมีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บุรุษเห็นเถาบวบขมเกิดในนา แล้วพึงแสวงหารากไปตั้งแต่ยอดแล้วก็ตัดเสีย บวบขมนั้นก็จะเหี่ยวแห้ง ถึงความไม่มีบัญญัติ แต่นั้น เถาบวบขมในนานั้น บุคคลก็พึงกล่าวได้ว่า อันตรธานไปแล้ว ถูกทำลายแล้วฉันใด ตัณหาในอารมณ์ทั้งหลายมีจักษุเป็นต้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดุจเถาบวบขมในนา ตัณหานั้นถูกอริยมรรคตัดรากแล้ว เพราะอาศัยพระนิพพานจึงถึงความเป็นไปไม่ได้ ก็ตัณหานั้นถึงความเป็นไปอย่างนี้ ก็ย่อมไม่ปรากฏในวัตถุที่ตั้งเหล่านั้น ดุจเถาบวบขมในนาไม่ปรากฏอยู่ ฉะนั้น.
               อนึ่ง พวกราชบุรุษนำพวกโจรมาจากดงแล้วพึงประหารชีวิตที่ประตูด้านทักษิณของพระนคร ต่อจากนั้น ใครๆ ก็พึงกล่าวว่า โจรในดงตายแล้ว หรือโจรถูกราชบุรุษฆ่าแล้วฉันใด ตัณหาในจักษุเป็นต้นอันใดเป็นเหมือนพวกโจรในดงก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดับไปแล้วเพราะอาศัยพระนิพพาน ชื่อว่าดับไปในพระนิพพาน ดุจพวกโจรถูกประหารที่ประตูด้านทักษิณ ก็ตัณหานั้นดับแล้วอย่างนี้จึงไม่ปรากฏในวัตถุที่ตั้งเหล่านั้น ดุจพวกโจรไม่ปรากฏในดงฉะนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงความดับตัณหานั้นในที่อารมณ์มีจักษุเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแหละ จึงตรัสคำมีอาทิว่า จกฺขุ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺเถสา ตณฺหา ปหียมานา ปหียติ เอตฺถ นิรุชฺฌมานา นิรุชฺฌติ (จักษุเป็นปิยรูป สาตรูปในโลก ตัณหานี้เมื่อจะละ ย่อมละที่จักษุนี้ เมื่อจะดับย่อมดับที่จักษุนี้).
               คำที่เหลือในที่ทั้งหมดมีเนื้อความตื้นทั้งนั้นแล.
               กถาว่าด้วยนิเทศแห่งนิโรธสัจจะ จบ.               

               วรรณนานิเทศวาร               
               ว่าด้วยมรรคสัจจะ (บาลีข้อ ๑๖๒)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศแห่งมรรคสัจจะ ต่อไป.
               บทว่า อยเมว (นี้เท่านั้น) เป็นคำกำหนดแน่นอน เพื่อปฏิเสธมรรคอื่น.
               บทว่า อริโย (อริยะ) ความว่า ที่ชื่อว่า อริยะ เพราะไกลจากกิเลสทั้งหลายที่ฆ่าด้วยมรรคนั้นๆ เพราะทำความเป็นอริยะ และเพราะทำการได้เฉพาะซึ่งอริยผล. องค์ ๘ ของมรรคนั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่า อฏฺฐงฺคิโก (มีองค์ ๘) องค์ ๘ ของมรรคนี้นั้นเป็นเพียงองค์เท่านั้น เหมือนเสนามีองค์ ๔ และดนตรีมีองค์ ๕ พ้นจากองค์มิได้มี. ที่ชื่อว่ามรรค เพราะอรรถว่าอันผู้ต้องการพระนิพพานย่อมแสวงหา หรือย่อมแสวงหาพระนิพพาน หรือเป็นสภาพฆ่ากิเลสทั้งหลายไป.
               ศัพท์ว่า เสยฺยถีทํ ความว่า ถ้ามีผู้ถามว่า องค์มรรคนั้นเป็นไฉน ดังนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงว่า มรรค คือองค์มรรคนั่นเอง นอกจากองค์มรรคย่อมไม่มี จึงตรัสว่า สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ ดังนี้.
               บรรดาองค์มรรค ๘ เหล่านั้น สัมมาทิฏฐิ สมฺมาทสฺสนลกฺขณา มีปัญญาเห็นโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาสังกัปปะ สมฺมา อภินิโรปน ลกฺขโณ มีการยกสัมปยุตตธรรมขึ้นโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาวาจา สมฺมา ปริคฺคหลกฺขณา มีการกำหนดถือโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมากัมมันตะ สมฺมา สมุฏฺฐาปนลกฺขโณ มีการงานตั้งขึ้นดีโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาอาชีวะ สมฺมา โวทานลกฺขโณ มีอาชีวะที่ผ่องแผ้วโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาวายามะ สมฺมา ปคฺคหลกฺขโณ มีความเพียรประคองไว้โดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาสติ สมฺมา อุปฏฺฐานลกฺขณา๑- มีการปรากฏโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาสมาธิ สมฺมา สมาธานลกฺขโณ มีการตั้งใจมั่นโดยชอบเป็นลักษณะ.
____________________________
๑- คำว่า อุปฏฐานลกฺขณา นี้ เฉพาะคำว่า อุปฏฐาน มีคำแปลหลายอย่าง คือแปลว่า มีการปรากฏบ้าง มีการบำรุงบ้าง มีการปฏิบัติบ้าง มีการตั้งมั่นบ้าง.

               บรรดาองค์มรรค ๘ เหล่านั้น แต่ละองค์มีกิจ คือหน้าที่องค์ละ ๓.
               อย่างไร คือ สัมมาทิฏฐิก่อน ย่อมละมิจฉาทิฏฐิกับกิเลสที่เป็นข้าศึกของตนแม้อื่นๆ ได้ ๑ ย่อมทำนิโรธให้เป็นอารมณ์ ๑ ย่อมเห็นสัมปยุตตธรรมทั้งหลายเพราะไม่ฟั่นเฝือด้วยอำนาจกำจัดโมหะอันปกปิดสัมปยุตตธรรมนั้นๆ ได้ ๑ แม้สัมมาสังกัปปะเป็นต้นก็เช่นนั้นเหมือนกัน ย่อมละมิจฉาสังกัปปะเป็นต้น ย่อมกระทำนิโรธให้เป็นอารมณ์ แต่ในสัมมาสังกัปปะเป็นต้นนี้.
               ว่าโดยความแปลกกัน สัมมาสังกัปปะย่อมยกขึ้นซึ่งสหชาตธรรม สัมมาวาจาย่อมกำหนดถือไว้โดยชอบ สัมมากัมมันตะย่อมยังการงานให้ตั้งขึ้นดีโดยชอบ สัมมาอาชีวะย่อมให้อาชีวะผ่องแผ้วโดยชอบ สัมมาวายามะย่อมประคองไว้โดยชอบ สัมมาสติย่อมปรากฏโดยชอบ สัมมาสมาธิย่อมตั้งมั่นโดยชอบ.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรมดาสัมมาทิฏฐินี้ ในส่วนเบื้องต้น (โลกีย์มรรค) มีขณะต่างกัน มีอารมณ์ต่างกัน ในกาลแห่งมรรคมีขณะเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกัน ก็ว่าโดยกิจ (หน้าที่) ย่อมได้ชื่อ ๔ อย่างมีคำอาทิว่า ทุกฺเข ญาณํ (ญาณในทุกข์). แม้สัมมาสังกัปปะเป็นต้นในส่วนเบื้องต้นก็มีขณะต่างกัน มีอารมณ์ต่างกัน ในกาลแห่งมรรค มีขณะเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกัน บรรดาองค์มรรค ๗ มีสัมมาสังกัปปะเป็นต้นเหล่านั้น ว่าโดยกิจ (หน้าที่) สัมมาสังกัปปะย่อมได้ชื่อ ๓ อย่างว่า เนกขัมมสังกัปปะเป็นต้น. องค์มรรค ๓ มีสัมมาวาจาเป็นต้นในส่วนเบื้องต้น มีขณะต่างกัน มีอารมณ์ต่างกัน คือย่อมเป็นวิรตีบ้าง เป็นเจตนาบ้าง ในขณะแห่งมรรคเป็นวิรตีอย่างเดียว. องค์มรรค ๒ แม้นี้ คือสัมมาวายามะ สัมมาสติ ว่าโดยกิจย่อมได้ชื่อ ๔ อย่างด้วยอำนาจแห่งสัมมัปปธานและสติปัฏฐาน. ส่วนสัมมาสมาธิในส่วนเบื้องต้นก็ดี ในขณะแห่งมรรคก็ดี ก็ชื่อว่าสัมมาสมาธินั่นแล.

               ว่าด้วยธรรม ๘ โดยลำดับ               
               ในธรรม ๘ ตามที่แสดงมานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัมมาทิฏฐิก่อนเพราะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่พระโยคีผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน เพราะสัมมาทิฏฐินี้พระองค์ตรัสเรียกว่า "ประทีปอันโพลงทั่วคือปัญญา ศัสตราคือปัญญา" เป็นต้น ฉะนั้น พระโยคาวจรผู้ทำลายความมืดคืออวิชชา ด้วยสัมมาทิฏฐิ กล่าวคือวิปัสสนาญาณในกาลเบื้องต้นนี้แล้วฆ่าโจรคือกิเลสอยู่ ย่อมบรรลุพระนิพพานได้โดยปลอดภัย ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัมมาทิฏฐิก่อน เพราะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่พระโยคีผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน ดังนี้.
               อนึ่ง สัมมาสังกัปปะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฏฐินั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสไว้ในลำดับสัมมาทิฏฐินั้น เปรียบเหมือนเหรัญญิก (ผู้ดูเงิน) ใช้มือพลิกเงินกลับไปมาแล้วตรวจดูกหาปณะด้วยตา ย่อมรู้ว่า กหาปณะนี้เก๊ กหาปณะนี้ดีฉันใด แม้พระโยคาวจรก็ฉันนั้น ใช้วิตกตรึกแล้วๆ ในกาลส่วนเบื้องต้นแล้วตรวจดูอยู่ด้วยวิปัสสนาปัญญา ก็จะทราบได้ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกามาพจร ธรรมเหล่านี้เป็นรูปาพจรเป็นต้น ก็หรือว่า เปรียบเหมือนช่างถากใช้มีดถากท่อนไม้ใหญ่ อันบุรุษจับตรงปลายพลิกกลับไปมาโดยรอบให้แล้ว ย่อมนำไปในการงานได้ฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น กำหนดธรรมทั้งหลายอันวิตกตรึกแล้วๆ ให้แล้ว โดยนัยมีอาทิว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกามาพจร ธรรมเหล่านั้นเป็นรูปาพจร ด้วยปัญญา ดังนี้แล้ว ย่อมน้อมไปในการงานได้ ด้วยเหตุนั้น จึงกล่าวว่า ก็สัมมาสังกัปปะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฏฐินั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัมมาสังกัปปะในลำดับแห่งสัมมาทิฏฐินั้น.
               สัมมาสังกัปปะนี้เป็นธรรมมีอุปการะมากแม้แก่สัมมาวาจา ดุจมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฏฐิ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า "ดูก่อนคหบดี บุคคลตรึกแล้วตรองแล้วก่อนแล ย่อมเปล่งวาจาภายหลัง" เพราะฉะนั้น พระองค์จึงตรัสสัมมาวาจาในลำดับของสัมมาสังกัปปะนั้น.
               อนึ่ง เพราะชนทั้งหลายจัดแจงด้วยวาจาก่อนว่า "พวกเราจะทำสิ่งนี้ๆ" แล้วจึงประกอบการงานในโลก ฉะนั้น วาจาจึงเป็นธรรมมีอุปการะแก่กายกรรม เพราะเหตุนั้น จึงตรัสสัมมากัมมันตะในลำดับแห่งสัมมาวาจา.
               อนึ่ง เพราะอาชีวัฏฐมกศีล (ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘) ย่อมเต็มแก่บุคคลผู้ละวจีทุจริต ๔ กายทุจริต ๓ ยังสุจริตทั้ง ๒ ให้บริบูรณ์นั่นแหละ มิใช่เต็มแก่บุคคลนอกจากนี้ ฉะนั้น จึงตรัสสัมมาอาชีวะในลำดับสุจริตทั้ง ๒ นั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงแสดงว่า บุคคลผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์แล้วอย่างนี้ ไม่สมควรจะพอใจเพียงเท่านี้ว่า อาชีวะของเราบริสุทธิ์แล้ว เป็นคนประมาทดังคนหลับ โดยที่แท้ ควรเริ่มความเพียรนี้ในทุกอิริยาบถ ดังนี้ จึงตรัสสัมมาวายามะในลำดับสัมมาอาชีวะนั้น.
               ต่อจากนั้น เพื่อจะทรงแสดงว่า พระโยคาวจรแม้มีความเพียรเริ่มแล้ว ก็พึงทำสติให้ตั้งมั่นอย่างดีในวัตถุ ๔ มีกาย๑- เป็นต้นดังนี้ จึงทรงแสดงสัมมาสติในลำดับแห่งสัมมาวายามะนั้น.
               อนึ่ง เพราะสติตั้งมั่นดีอย่างนี้แล้วก็จะตรวจดูคติทั้งหลายแห่งธรรมทั้งหลายที่มีอุปการะและไม่มีอุปการะของสมาธิ จึงเพียงพอเพื่อตั้งจิตมั่นในอารมณ์มีความเป็นหนึ่งได้ ฉะนั้น พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสัมมาสมาธิไว้ในลำดับแห่งสัมมาสติ ดังนี้.
____________________________
๑- คือ กาย เวทนา จิต ธรรม.

               ว่าด้วยนิเทศแห่งสัมมาทิฏฐิ (บาลีข้อ ๑๖๓)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศแห่งสัมมาทิฏฐิ ต่อไป.
               กรรมฐานในสัจจะ ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงด้วยพระดำรัสมีอาทิว่า ทุกฺเข ญาณํ (ความรู้ในทุกข์) ดังนี้. บรรดาสัจจะ ๔ เหล่านั้น สัจจะ ๒ ข้างต้นเป็นวัฏฏะ สัจจะ ๒ หลังเป็นวิวัฏฏะ ในสัจจะที่เป็นวัฏฏะและวิวัฏฏะเหล่านั้น ภิกษุย่อมมีความยึดมั่นกรรมฐานในสัจจะที่เป็นวัฏฏะ ไม่มีความยึดมั่นในสัจจะที่เป็นวิวัฏฏะ.
               จริงอยู่ พระโยคาวจรเรียนสัจจะ ๒ ข้างต้นในสำนักอาจารย์โดยย่ออย่างนี้ว่า ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ตัณหาเป็นสมุทัย ดังนี้ และโดยพิสดารมีนัยอาทิว่า ขันธ์ ๕ เป็นไฉน คือรูปขันธ์ ดังนี้ แล้วทบทวนด้วยวาจาอยู่บ่อยๆ ย่อมทำกรรม. แต่ในสัจจะ ๒ นอกนี้ พระโยคาวจรย่อมทำกรรมด้วยการฟังอย่างนี้ว่า "นิโรธสัจจะน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มรรคสัจจะน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ" ดังนี้ เมื่อเธอทำกรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมแทงตลอดสัจจะทั้ง ๔ ด้วยการแทงตลอดคราวเดียวกัน ย่อมตรัสรู้ด้วยการตรัสรู้คราวเดียวกัน คือแทงตลอดทุกข์ด้วยการแทงตลอด คือการกำหนดรู้ (ปริญญากิจ) ย่อมแทงตลอดสมุทัยด้วยการแทงตลอด คือการละ (ปหานกิจ) ย่อมแทงตลอดนิโรธด้วยการแทงตลอดคือการทำให้แจ้ง (สัจฉิกิริยากิจ) ย่อมแทงตลอดมรรคด้วยการแทงตลอด คือการเจริญ ย่อมตรัสรู้ทุกข์ด้วยการตรัสรู้คือการกำหนดรู้ ฯลฯ ย่อมตรัสรู้มรรคด้วยการตรัสรู้ คือการเจริญ.
               การแทงตลอด (ปฏิเวธ) ด้วยการเรียน การสอบถาม การฟัง การทรงจำและการพิจารณาในสัจจะ ๒ ในส่วนเบื้องต้นของภิกษุนั้น ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ในสัจจะ ๒ หลังมีการแทงตลอดได้ด้วยการฟังอย่างเดียว. ในการส่วนอื่นอีก ย่อมมีการแทงตลอดในสัจจะ ๓ โดยกิจการแทงตลอดด้วยอารมณ์ ย่อมมีในนิโรธ ในการแทงตลอดโดยกิจและอารมณ์เหล่านั้น ความรู้ด้วยปฏิเวธะ (ปฏิเวธญาณ) แม้ทั้งหมดเป็นโลกุตระ ความรู้ด้วยการฟัง การทรงจำและการพิจารณาเป็นโลกิยะฝ่ายกามาพจร ก็มรรคสัจจะย่อมมีปัจจเวกขณะ และพระโยคาวจรนี้ก็เป็นอาทิกัมมิกบุคคล เพราะฉะนั้น ปัจจเวกขณะ (คือการพิจารณา) นั้น ข้าพเจ้าจึงไม่กล่าวไว้ในที่นี้.
               อนึ่ง การผูกใจ การใส่ใจ การมนสิการและการพิจารณา ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนี้ผู้ถือเอาในเบื้องต้นว่า "เราจะกำหนดรู้ทุกข์ จะละสมุทัย จะทำนิโรธให้แจ้ง จะเจริญมรรค" แต่ย่อมมีจำเดิมแต่การกำหนดถือเอา ส่วนในกาลอื่นอีก ทุกข์ย่อมเป็นอันเธอรู้แล้วโดยแท้ ฯลฯ มรรคก็ย่อมเป็นอันเธอเจริญแล้วเหมือนกัน.
               บรรดาสัจจะ ๔ เหล่านั้น สองสัจจะเป็นธรรมลึกซึ้ง เพราะสัตว์เห็นได้ยาก สัจจะ ๒ ที่ชื่อว่าเห็นได้โดยยาก เพราะลึกซึ้ง.
               จริงอยู่ ทุกขสัจจะเป็นของปรากฏเพราะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมถึงแม้คำอันบุคคลพึงกล่าวว่า ทุกข์หนอ ในเวลาที่ถูกตอหรือหนามทิ่มแทงเป็นต้น. ถึงสมุทัยก็ปรากฏโดยการเกิดขึ้น ด้วยอำนาจแห่งบุคคลผู้ประสงค์จะเคี้ยวจะบริโภค ก็สัจจะทั้ง ๒ แม้นั้นเป็นของลึกโดยการแทงตลอดลักษณะ ก็สัจจะ ๒ เหล่านั้นชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะสัตว์เห็นได้ยาก ด้วยประการฉะนี้.
               การประกอบความเพียรเพื่อจะเห็นสัจจะ ๒ นอกนี้ (นิโรธ มรรค) ย่อมดุจการเหยียดมือไปเพื่อจับภวัครพรหม ดุจการเหยียดเท้าเพื่อถูกต้องอเวจีนรก และเป็นดุจเอาปลายขนทรายจดปลายขนทรายที่แบ่งแล้วร้อยส่วน๑- สัจจะ ๒ เหล่านั้นชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้ง ด้วยประการฉะนี้.
               คำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ทุกฺเข ญาณํ นี้ ทรงหมายเอาความเกิดขึ้นแห่งญาณในบุพภาค ด้วยสามารถแห่งการเรียนเป็นต้นในสัจจะ ๔ ที่ชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะเห็นได้ยาก และชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะความลึกซึ้ง ด้วยประการฉะนี้ แต่ในขณะแห่งการแทงตลอด ญาณนั้นย่อมมีครั้งเดียวกันแล.
____________________________
๑- บางแห่งแสดงว่า เอาปลายขนทรายยินปลายขนทรายที่แบ่งแล้ว ๗ ส่วน.

               ว่าด้วยนิเทศแห่งสัมมาสังกัปปะ (บาลีข้อ ๑๖๔)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศแห่งสัมมาสังกัปปะ ต่อไป.
               สังกัปปะ (ความดำริ) ใด ออกจากกาม เพราะเหตุนั้น สังกัปปะนั้นจึงชื่อว่าเนกขัมมสงกัปปะ (ความดำริในการออกจากกาม). สังกัปปะใดออกจากพยาบาท เพราะเหตุนั้น สังกัปปะนั้นจึงชื่อว่าอัพยาปาทสังกัปปะ (ความดำริในการไม่พยาบาท). สังกัปปะใดออกจากความเบียดเบียน เพราะเหตุนั้น สังกัปปะนั้นจึงชื่อว่าอวิหิงสาสังกัปปะ (ความดำริในการไม่เบียดเบียน).
               บรรดาสังกัปปะทั้ง ๓ เหล่านั้น เนกขัมมวิตกเกิดขึ้นทำการตัดทาง คือทำลายทางเป็นเครื่องดำเนินของกามวิตก อัพยาบาทวิตกเกิดขึ้นทำการตัดทาง คือทำลายทางเป็นเครื่องดำเนินของพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นทำการตัดทาง คือทำลายทางเป็นเครื่องดำเนินของวิหิงสาวิตก.
               อนึ่ง เนกขัมมวิตกเกิดขึ้นเป็นข้าศึกต่อกามวิตก อัพยาบาทวิตกและอวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นเป็นข้าศึกต่อพยาบาทวิตกและวิหิงสาวิตก.
               ในวิตกเหล่านั้น พระโยคาวจรย่อมพิจารณากามวิตก ก็หรือสังขารไรๆ อื่น เพื่อทำลายทางของกามวิตก ต่อจากนั้น ความดำริของเธอซึ่งสัมปยุตด้วยวิปัสสนาในขณะแห่งวิปัสสนาก็จะเกิดขึ้นทำการตัดทาง คือทำลายทางของกามวิตก ด้วยสามารถแห่งองค์ของวิปัสสนานั้น (ตทังคปหาน) เธอขวนขวายวิปัสสนาก็จะบรรลุมรรคได้ ลำดับนั้น สังกัปปะ (ความดำริ) ซึ่งสัมปยุตด้วยมรรคในขณะแห่งมรรคของเธอก็จะเกิดขึ้นทำการตัดทาง คือทำลายเครื่องดำเนินของกามวิตก ด้วยสามารถแห่งสมุจเฉท.
               อนึ่ง พระโยคาวจรย่อมพิจารณาพยาบาทวิตกหรือสังขารอื่น เพื่อทำลายทางของพยาบาทวิตก หรือย่อมพิจารณาวิหิงสาวิตกหรือสังขารอื่น เพื่อทำลายทางของวิหิงสาวิตก ต่อจากนั้น พึงประกอบคำทั้งปวงในขณะแห่งวิปัสสนาของเธอ โดยนัยมีในก่อนนั่นแล.

               กรรมฐานที่เป็นข้าศึกต่ออกุศลวิตก ๓               
               อนึ่ง ในอารมณ์กรรมฐาน ๓๘ ที่ทรงจำแนกไว้ในพระบาลี แม้กรรมฐานหนึ่ง ชื่อว่าไม่เป็นข้าศึกต่ออกุศลวิตก ๓ มีกามวิตกเป็นต้น หามีไม่. ก็ปฐมฌานในอสุภะทั้งหลายทั้งหมดทีเดียว เป็นข้าศึกต่อกามวิตกโดยส่วนเดียวก่อน ฌานหมวด ๓ หมวด ๔ (ปัญจกนัย) ในเมตตาภาวนาเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาบาทวิตก ฌานหมวด ๓ และหมวด ๔ ในกรุณาเป็นปฏิปักษ์ต่อวิหิงสาวิตก เพราะฉะนั้น เมื่อพระโยคาวจรกระทำบริกรรมในอสุภะเข้าฌานสังกัปปะ (ความดำริ) ที่สัมปยุตด้วยฌานในขณะแห่งสมาบัติก็จะเกิดเป็นข้าศึกต่อกามวิตก ด้วยสามารถแห่งวิกขัมภนะ เมื่อพระโยคาวจรทำฌานให้เป็นบาท เริ่มตั้งวิปัสสนา สังกัปปะอันสัมปยุตด้วยวิปัสสนาในขณะแห่งวิปัสสนาก็ย่อมเกิดเป็นข้าศึกต่อกามวิตกด้วยสามารถแห่งองค์ของวิปัสสนา (ตทังคปหาน) นั้น เมื่อเธอขวนขวายวิปัสสนาบรรลุมรรคแล้ว สังกัปปะที่สัมปยุตด้วยมรรคในขณะแห่งมรรคก็เกิดขึ้นเป็นข้าศึกต่อกามวิตก ด้วยสามารถแห่งสมุจเฉทปหาน สังกัปปะ (ความดำริ) อันเกิดขึ้นอย่างนี้ พึงทราบว่า ตรัสเรียกว่า เนกขัมมสังกัปปะแล.
               อนึ่ง บัณฑิตพึงประกอบคำทั้งปวงว่า "พระโยคาวจรทำบริกรรมในเมตตาภาวนา ทำบริกรรมในกรุณาภาวนาเข้าฌาน" เป็นต้น โดยนัยก่อนนั่นแหละ พึงทราบว่า สังกัปปะอันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ ตรัสเรียกว่า อัพยาปาทสังกัปปะและอวิหิงสาสังกัปปะ สังกัปปะเหล่านี้มีเนกขัมมสังกัปปะเป็นต้นด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่ามีอารมณ์ต่างๆ ในส่วนเบื้องต้น เพราะความที่สังกัปปะเหล่านั้นเกิดขึ้นมีอารมณ์ต่างกันด้วยอำนาจแห่งวิปัสสนาและฌาน แต่ในขณะแห่งมรรค กุศลสังกัปปะ (ความดำริที่เป็นกุศล) ย่อมเกิดขึ้นเป็นอันเดียวกัน ทำองค์แห่งมรรคให้บริบูรณ์ เพราะตัดทางดำเนินแห่งอกุศลสังกัปปะที่เกิดขึ้นในฐานะ ๓ เหล่านี้ ด้วยสามารถแห่งการไม่เกิดขึ้นได้สำเร็จ.
               นี้ ชื่อว่าสัมมาสังกัปปะ.

               ว่าด้วยนิเทศแห่งสัมมาวาจา (บาลีข้อ ๑๖๕)               
               พึงทราบวินิจฉัยแม้ในนิเทศแห่งสัมมาวาจา ต่อไป.
               อนึ่ง เพราะบุคคลย่อมงดเว้นมุสาวาทด้วยจิตดวงหนึ่ง ย่อมงดเว้นปิสุณาวาจาเป็นต้นด้วยจิตดวงหนึ่ง ฉะนั้น เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นทั้ง ๔ เหล่านี้จึงต่างๆ กันในส่วนเบื้องต้น แต่ในขณะแห่งมรรค ย่อมเกิดเจตนางดเว้น เป็นกุศลกล่าวคือสัมมาวาจาอย่างเดียวเท่านั้นอันยังองค์มรรคให้บริบูรณ์ เพราะตัดทางดำเนินแห่งเจตนาความเป็นผู้ทุศีลในอกุศล ๔ อย่าง กล่าวคือมิจฉาวาจาด้วยสามารถไม่เกิดขึ้นได้สำเร็จ.
               นี้ ชื่อว่าสัมมาวาจา.

               ว่าด้วยนิเทศสัมมากัมมันตะ               
               พึงทราบวินิจฉัยแม้ในนิเทศแห่งสัมมากัมมันตะ ต่อไป.
               อนึ่ง เพราะบุคคลย่อมงดเว้นปาณาติบาตด้วยจิตดวงหนึ่ง ย่อมงดเว้นอทินนาทานด้วยจิตดวงหนึ่ง ย่อมงดเว้นกาเมสุมิจฉาจารด้วยจิตดวงหนึ่ง ฉะนั้น เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นทั้ง ๓ เหล่านี้ จึงต่างๆ กันในส่วนเบื้องต้น แต่ในขณะแห่งมรรค ย่อมเกิดกุศลเจตนาเป็นเครื่องงดเว้น กล่าวคือสัมมากัมมันตะดวงเดียวเท่านั้น อันยังองค์มรรคให้บริบูรณ์ เพราะตัดทางดำเนินของเจตนาเป็นเหตุทุศีลในอกุศล ๓ อย่าง กล่าวคือมิจฉากัมมันตะ ด้วยสามารถแห่งความไม่เกิดขึ้นได้สำเร็จ.
               นี้ ชื่อว่าสัมมากัมมันตะ.

               ว่าด้วยนิเทศสัมมาอาชีวะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศสัมมาอาชีวะ ต่อไป.
               บทว่า อิธ ได้แก่ ในพระศาสนานี้.
               บทว่า อริยสาวโก ได้แก่ สาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นอริยะ.
               บทว่า มิจฺฉาอาชีวํ ปหาย (ละมิจฉาอาชีวะแล้ว) ได้แก่ ละขาดซึ่งอาชีวะอันลามก.
               บทว่า สมฺมาอาชีเวน (ด้วยสัมมาอาชีวะ) ได้แก่ อาชีวะอันเป็นกุศลที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญแล้ว.
               บทว่า ชีวิตํ กปฺเปติ (เลี้ยงชีวิตอยู่) ได้แก่ ยังความเป็นไปแห่งชีวิตให้ดำเนินไป.
               แม้ในสัมมาอาชีวะนี้ เพราะบุคคลย่อมงดเว้นจากการก้าวล่วงทางกายทวารด้วยจิตดวงหนึ่ง ย่อมงดเว้นจากการก้าวล่วงทางวจีทวารด้วยจิตดวงหนึ่ง ฉะนั้น ในส่วนเบื้องต้นจึงเกิดขึ้นในขณะต่างๆ แต่ในขณะแห่งมรรค ย่อมเกิดกุศลเจตนาเครื่องงดเว้น กล่าวคือสัมมาอาชีวะดวงเดียวเท่านั้น อันยังองค์มรรคให้บริบูรณ์ เพราะตัดทางดำเนินของเจตนาเป็นเครื่องทุศีลในมิจฉาอาชีวะที่เกิดขึ้น ด้วยอำนาจกรรมบถ ๗ ในทวารทั้ง ๒ ด้วยสามารถไม่ให้เกิดขึ้นได้สำเร็จ.
               นี้ ชื่อว่าสัมมาอาชีวะ.

               ว่าด้วยนิเทศสัมมาวายามะเป็นต้น               
               นิเทศแห่งสัมมาวายามะจักแจ่มแจ้งด้วยสามารถการพรรณนาตามบทในสัมมัปปธานวิภังค์.
               ก็สัมมาวายามะนี้ย่อมได้ในจิตต่างๆ ในกาลเบื้องต้น เพราะบุคคลย่อมทำความเพียรเพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้นด้วยจิตดวงหนึ่ง เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วด้วยจิตดวงหนึ่ง และเพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นด้วยจิตดวงหนึ่ง เพื่อความดำรงอยู่แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วด้วยจิตดวงหนึ่ง แต่ในขณะแห่งมรรค ย่อมได้ในจิตดวงเดียวเท่านั้น เพราะความเพียรอันสัมปยุตด้วยมรรคอันเดียวเท่านั้นย่อมได้ชื่อ ๔ อย่าง ด้วยอรรถว่ายังกิจ ๔ อย่างให้สำเร็จ.
               แม้นิเทศแห่งสัมมาสติก็จักมีแจ้งด้วยสามารถการพรรณนาตามบทในสติปัฏฐานวิภังค์.
               อนึ่ง สัมมาสติแม้นี้ก็ย่อมได้ในจิตต่างๆ ในส่วนเบื้องต้น.
               จริงอยู่ บุคคลย่อมกำหนดกายเป็นอารมณ์ด้วยจิตดวงหนึ่ง ย่อมกำหนดเวทนาเป็นต้นด้วยจิตดวงหนึ่งๆ แต่ในขณะแห่งมรรคย่อมได้ในจิตดวงเดียวเท่านั้น เพราะสติที่สัมปยุตด้วยมรรคดวงเดียวเท่านั้นย่อมได้ชื่อ ๔ อย่าง ด้วยอรรถว่าให้สำเร็จกิจ ๔ อย่าง.

               ว่าด้วยนิเทศสัมมาสมาธิ (บาลีข้อ ๑๗๐)               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศสัมมาสมาธิ ต่อไป.
               ฌาน ๔ มีความต่างกันแม้ในส่วนเบื้องต้น แม้ในขณะแห่งมรรค ในส่วนเบื้องต้นต่างกันด้วยอำนาจสมาบัติ ในขณะแห่งมรรคต่างกันด้วยอำนาจแห่งมรรค. ความจริง ปฐมมรรคของบุคคลคนหนึ่งย่อมเป็นธรรมประกอบด้วยปฐมฌาน แม้มรรคดวงที่ ๒ เป็นต้นก็เป็นธรรมประกอบด้วยปฐมฌาน หรือประกอบด้วยฌานใดฌานหนึ่งมีทุติยฌานเป็นต้น. ปฐมมรรคของบุคคลคนหนึ่งก็ประกอบด้วยฌานใดฌานหนึ่งมีทุติยฌานเป็นต้น. แม้ทุติยมรรคเป็นต้นก็เป็นธรรมประกอบด้วยฌานใดฌานหนึ่งแห่งทุติยฌานเป็นต้น หรือว่าประกอบด้วยปฐมฌาน. ด้วยอาการอย่างนี้ มรรคแม้ทั้ง ๔ ย่อมเป็นเช่นเดียวกันบ้าง ไม่เป็นเช่นเดียวกันบ้าง หรือเป็นเช่นเดียวกันบางอย่าง ด้วยอำนาจฌาน.
               ส่วนความแปลกกันของมรรคนั้น ด้วยกำหนดฌานเป็นบาทมีดังต่อไปนี้.
               ว่าด้วยนิยาม (การกำหนด) มรรคที่มีฌานเป็นบาทก่อน เมื่อบุคคลผู้ได้ปฐมฌานออกจากปฐมฌานแล้วเห็นแจ้งอยู่ มรรคเป็นธรรมประกอบด้วยปฐมฌานก็เกิดขึ้น และในมรรคนี้ องค์มรรคและโพชฌงค์ย่อมเป็นธรรมบริบูรณ์ทีเดียว เมื่อบุคคลได้ทุติยฌานออกจากทุติยฌานพิจารณาเห็นแจ้งอยู่ มรรคประกอบด้วยทุติยฌานก็เกิดขึ้น แต่ในมรรคนี้ องค์มรรคย่อมมี ๗ องค์ เมื่อได้ตติยฌานออกจากตติยฌานแล้วพิจารณาเห็นแจ้งอยู่ มรรคประกอบด้วยตติยฌานก็เกิดขึ้น แต่ในมรรคนี้ องค์มรรคมี ๗ โพชฌงค์มี ๖. นับตั้งแต่จตุตถฌานจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็นัยนี้. ฌานที่เป็นจตุกนัยและปัญจกนัยย่อมเกิดขึ้นในอรูปภพ ก็ฌานนั้นแลตรัสเรียกว่า โลกุตระมิใช่โลกิยะ.
               ถามว่า ในอธิการนี้เป็นอย่างไร.
               ตอบว่า ในอธิการนี้ พระโยคาวจรออกจากฌานใด บรรดาปฐมฌานเป็นต้น ได้เฉพาะซึ่งโสดาปัตติมรรคแล้วเจริญอรูปสมาบัติเกิดขึ้นในอรูปภพ มรรค ๓ (เบื้องต้น) ของเขาประกอบด้วยฌานนั้นแหละ ย่อมเกิดขึ้นในภพนั้น ด้วยอาการอย่างนี้ ฌานที่เป็นบาทนั่นเอง ย่อมกำหนดมรรค.
               แต่พระเถระบางพวกย่อมกล่าวว่า ขันธ์ทั้งหลายที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาย่อมกำหนด บางพวกกล่าวว่า อัชฌาสัยของบุคคลย่อมกำหนด บางพวกกล่าวว่า วิปัสสนาที่เป็นวุฏฐานคามินีย่อมกำหนด บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยวาทะของพระเถระเหล่านั้น โดยนัยที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในการวรรณนา บทภาชนีย์ว่าด้วยโลกุตระในจิตตุปปาทกัณฑ์ในหนหลังนั่นแล.
               คำว่า อยํ วุจฺจติ สมฺมาสมาธิ (นี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ) ความว่า เอกัคคตา (สมาธิจิต) ในฌาน ๔ เหล่านี้ เราเรียกชื่อว่า สัมมาสมาธิ เป็นโลกิยะในส่วนเบื้องต้น แต่ในกาลภายหลังเป็นโลกุตระ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมรรคสัจจะด้วยสามารถเป็นโลกิยะและโลกุตระ ด้วยประการฉะนี้.

               ว่าด้วยมรรคที่เป็นโลกีย์และโลกุตระ               
               บรรดามรรคที่เป็นโลกีย์และโลกุตระเหล่านั้น ในโลกิยมรรค องค์มรรคทั้งหมดย่อมมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในอารมณ์ ๖ ตามสมควร แต่ในโลกุตรมรรค ปัญญาจักษุ (จักษุคือปัญญา) มีนิพพานเป็นอารมณ์ อันถอนเสียซึ่งอวิชชานุสัย ของพระอริยสาวกผู้ประพฤติเพื่อแทงตลอดสัจจะ ๔ เป็นสัมมาทิฏฐิ.
               อนึ่ง การยกจิตขึ้นสู่แนวทางพระนิพพานซึ่งสัมปยุตด้วยสัมมาทิฏฐินั้นแล้วถอนเสียซึ่งมิจฉาสังกัปปะ ๓ อย่าง ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นสัมมาสังกัปปะ.
               อนึ่ง เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นมิจฉาวาจา ที่สัมปยุตด้วยสัมมาสังกัปปะนั้นแหละ ถอนขึ้นซึ่งวจีทุจริต ๔ อย่าง ของบุคคลผู้เห็นอยู่และตรึกอยู่ เป็นสัมมาวาจา.
               เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นกายทุจริต ๓ อย่างที่สัมปยุตด้วยสัมมาวาจานั้นแหละตัดขาดมิจฉากัมมันตะ ของบุคคลผู้งดเว้นอยู่ เป็นสัมมากัมมันตะ.
               เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นมิจฉาอาชีวะ ที่เป็นธรรมชาติผ่องแผ้วของสัมมาวาจาและกัมมันตะเหล่านั้นนั่นเอง เป็นธรรมสัมปยุตด้วยสัมมาวาจาและกัมมันตะนั้นๆ แหละตัดขาดอกุศลมีการหลอกลวงเป็นต้น เป็นสัมมาอาชีวะ.
               อนึ่ง วิริยารัมภะ (ปรารภความเพียร) ของบุคคลผู้ตั้งมั่นในภูมิศีล กล่าวคือสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ นี้สมควรแก่ศีลนั้น สัมปยุตด้วยศีลนั้นแลตัดขาดความเกียจคร้าน ให้สำเร็จความไม่เกิดอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้ดำรงอยู่ เป็นสัมมาวายามะ.
               ความที่จิตไม่หลงลืมของผู้พยายามอยู่อย่างนี้ สัมปยุตด้วยสัมมาวายามะนั้นถอนขึ้นซึ่งมิจฉาสติ ให้สำเร็จเป็นกายานุปัสสนาเป็นต้น ในอารมณ์มีกายเป็นต้น เป็นสัมมาสติ.
               ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งของผู้รักษาจิตอันอนุตรสติจัดแจงดีแล้ว สัมปยุตด้วยสัมมาสติและถอนขึ้นซึ่งมิจฉาสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิ ด้วยประการฉะนี้แล.
               นี้เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นโลกุตระ.

               ว่าด้วยมรรคเป็นทั้งวิชชาและจรณะเป็นต้น               
               อนึ่ง โลกุตรมรรคใด พร้อมทั้งโลกิยมรรค ถึงซึ่งการนับว่าเป็น ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา (ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์) มรรคนั้นแลเป็นทั้งวิชชาและจรณะ เพราะสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิชชา ธรรมที่เหลือสงเคราะห์ไว้ด้วยจรณะ.
               อนึ่ง มรรคนั้นเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะความที่สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทั้ง ๒ เหล่านั้น ทรงสงเคราะห์ไว้ด้วยวิปัสสนาญาณ ธรรมนอกจากนี้สงเคราะห์ไว้ด้วยสมถญาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง มรรคนั้นเป็นทั้งขันธ์ ๓ และสิกขา ๓ เพราะความที่สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะทั้ง ๒ เหล่านั้น ทรงสงเคราะห์ด้วยปัญญาขันธ์ ธรรม ๓ ในลำดับต่อจากสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะนั้นสงเคราะห์ด้วยศีลขันธ์ ที่เหลือสงเคราะห์ด้วยสมาธิขันธ์ และธรรมเหล่านั้นแหละสงเคราะห์ด้วยอธิปัญญาสิกขา อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา.
               พระอริยสาวกประกอบด้วยมรรคใด เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดุจบุคคลผู้เดินทางไกลประกอบด้วยจักษุทั้ง ๒ อันสามารถในการเห็นและเท้าทั้ง ๒ อันสามารถในการเดิน เว้นที่สุด ๒ อย่าง คือกามสุขัลลิกานุโยคด้วยวิปัสสนาญาณ และอัตตกิลมถานุโยคด้วยสมถญาณ ดำเนินไปสู่มัชฌิมปฏิปทา ทำลายอยู่ซึ่งกองโมหะด้วยปัญญาขันธ์ ซึ่งกองแห่งโทสะด้วยศีลขันธ์ ซึ่งกองโลภะด้วยสมาธิขันธ์ บรรลุสมบัติ ๓ คือซึ่งปัญญาสัมปทาด้วยอธิปัญญาสิกขา ซึ่งศีลสัมปทาด้วยอธิศีลสิกขา ซึ่งสมาธิสัมปทาด้วยอธิจิตตสิกขา ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งอมตะคือพระนิพพาน ชื่อว่าหยั่งลงสู่อริยภูมิ กล่าวคือสัมมัตตนิยาม (นิยามอันชอบ) ซึ่งวิจิตรด้วยรัตนะคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการอันงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและปริโยสาน แล.
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ สัจจวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 131อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 144อ่านอรรถกถา 35 / 171อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=2637&Z=2865
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=2078
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=2078
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :