ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 101อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 114อ่านอรรถกถา 35 / 124อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อรรถกถา วิภังคปกรณ์
ธาตุวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์

               ธาตุวิภังคนิเทศ               
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงย่อธาตุทั้งหมดไว้ด้วยธาตุหมวดละ ๖ แสดงสุตตันตภาชนีย์ด้วยหมวดธาตุ ๖ รวม ๓ หมวดในธาตุวิภังค์ ซึ่งเป็นลำดับต่อจากอายตนวิภังค์นั้น จึงตรัส คำมีอาทิว่า ฉ ธาตุโย (ธาตุ ๖) ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า (๖) เป็นคำกำหนดจำนวน.
               บทว่า ธาตุโย เป็นคำแสดงธรรมที่ทรงกำหนดไว้.
               พึงทราบวินิจฉัยในบททั้งหลายมีคำว่า ปถวีธาตุ เป็นต้น ต่อไป.
               ชื่อว่า อรรถว่าธาตุ มีความหมายว่า เป็นสภาวะ ชื่อว่า อรรถว่าสภาวะ มีความหมายว่าเป็นของสูญ ชื่อว่า อรรถว่าเป็นของสูญ มีความหมายว่า มิใช่สัตว์ เพราะฉะนั้น โดยอรรถที่อธิบายมานี้ ธาตุ คือปถวี (ดิน) นั้นแหละ ชื่อว่าปถวีธาตุ (ธาตุดิน) ด้วยอรรถว่ามีสภาพสูญและไม่ใช่สัตว์.
               แม้ธาตุมีอาโปธาตุเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. บัณฑิตทราบบทสมาสในคำว่า ปฐวีธาตุ เหล่านี้ อย่างนี้แล้วพึงทราบอรรถ (ความหมาย) ต่อไป.
               คำว่า ปถวีธาตุ (ธาตุดิน) ได้แก่ ธาตุตั้งมั่น.
               คำว่า อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) ได้แก่ ธาตุเกาะกุม.
               คำว่า เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ได้แก่ ธาตุแผดเผา.
               คำว่า วาโยธาตุ (ธาตุลม) ได้แก่ ธาตุเคลื่อนไหว.
               คำว่า อากาสธาตุ (ธาตุคือช่องว่าง) ได้แก่ ธาตุที่สัมผัสไม่ได้.
               คำว่า วิญฺญาณธาตุ (ธาตุคือวิญญาณ) ได้แก่ ธาตุรู้แจ้ง.

               นิเทศปฐวีธาตุ               
               บทว่า ปถวีธาตุทฺวยํ (ปฐวีธาตุ ๒ อย่าง) ได้แก่ ปฐวีธาตุนี้มี ๒ อย่าง. อธิบายว่า ชื่อว่าปฐวีธาตุนี้มิได้มีอย่างเดียวเท่านั้น แต่มี ๒ อย่างโดยแยกเป็นปฐวีธาตุภายในและปฐวีธาตุภายนอก ด้วยเหตุนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อตฺถิ อชฺฌตฺติกา อตฺถิ พาหิรา (ปฐวีธาตุภายในมีอยู่ ปฐวีธาตุภายนอกมีอยู่).
               บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อชฺฌตฺติกา (ภายใน) ได้แก่ที่นับเนื่องในสันดานของสัตว์ คือที่อยู่ภายในซึ่งเกิดในตน. คำว่า พาหิรา (ภายนอก) ได้แก่ ที่นับเนื่องในสันดาน (การสืบต่อ) ของสังขาร คือที่ไม่เกี่ยวด้วยอินทรีย์. คำว่า อชฺฌตฺตํ ปจฺจตฺตํ (เป็นภายในเฉพาะตน) นี้แม้ทั้ง ๒ ก็เป็นชื่อของธาตุที่อยู่ภายในซึ่งเกิดในตนนั้นเอง.
               บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงปฐวีธาตุนั้นโดยอาการ (ลักษณะ) แห่งภาวะของตนจึงตรัสคำว่า กกฺขฬํ (แข็ง) เป็นต้น. บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า กกฺขฬํ (แข็ง) ได้แก่ ธรรมชาติที่แข็ง. คำว่า ขริคตํ (กระด้าง) ได้แก่ ธรรมชาติที่หยาบ. คำว่า กกฺขฬตฺตํ (ความแข็ง) ได้แก่ ภาวะที่แข็ง. คำว่า กกฺขฬภาโว (ภาวะที่แข็ง) ได้แก่ สภาวะที่แข็ง.
               คำว่า อชฺฌตฺตํ อุปาทินฺนํ (อุปาทินนรูปที่เป็นภายใน) ได้แก่ อุปาทินนรูป กล่าวคือรูปภายในเกิดในตน รูปที่ตั้งอยู่ในสรีระ ชื่อว่าอุปาทินนะ.
               จริงอยู่ รูปที่ตั้งอยู่ในสรีระจะมีกรรมเป็นสมุฏฐานก็ตาม หรือไม่มีกรรมเป็นสมุฏฐานก็ตาม ทรงหมายเอารูปที่ตั้งอยู่ในสรีระอันเป็นอุปาทินนะบ้าง เป็นอนุปาทินนะบ้างนั้น. แต่เพื่อทรงแสดงว่า รูปที่ตั้งอยู่ในสรีระเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เป็นอุปาทินนรูป ด้วยอำนาจแห่งรูปที่มีใจครองซึ่งถูกตัณหาและทิฏฐิยึดถือไว้แล้วนั่นแหละ จึงตรัสคำว่า อชฺฌตฺตํ อุปาทินฺนํ เป็นต้น.

               นิเทศปฐวีธาตุภายใน               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะแสดงปฐวีธาตุนั้นนั่นแหละด้วยสามารถแห่งวัตถุ จึงตรัสคำว่า เสยฺยถีทํ เกสา โลมา ดังนี้เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น คำว่า เสยฺยถีทํ เป็นนิบาต. คำว่า เสยฺยถีทํ นั้นมีอธิบายว่า ปฐวีธาตุที่เป็นภายในเป็นไฉน? หรือว่ารูปที่อยู่ภายในเป็นของเฉพาะตน ชื่อว่า เป็นธรรมชาติแข็งนั้น เป็นไฉน?
               คำว่า เกสา โลมา เป็นต้น เป็นคำแสดงประเภทแห่งปฐวีธาตุที่เป็นภายในนั้นด้วยอำนาจที่เป็นวัตถุ มีคำอธิบายไว้อย่างนี้ว่า ชื่อว่า เกสา (ผมทั้งหลาย) อยู่ภายในเป็นอุปาทินนรูป เป็นของตั้งอยู่ในสรีระ มีความแข็งเป็นลักษณะ เป็นโกฏฐาส (ส่วน) หนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้. ชื่อว่า โลมา (ขนทั้งหลาย) ฯลฯ ชื่อว่า กรีสะ (อาหารเก่า). มัตถลุงคัง (มันสมอง) แม้มิได้ตรัสไว้ในธาตุวิภังค์นี้ แต่ท่านก็ยกขึ้นสู่บาลีในปฏิสัมภิทามรรค ชื่อว่ามัตถลุงคัง ที่นำมาแล้วเป็นของภายใน เป็นอุปาทินนรูป ตั้งอยู่ในสรีระ มีความแข็งเป็นลักษณะ เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้. แม้ในน้ำดีเป็นต้นในนิเทศแห่งอาโปธาตุเป็นต้นข้างหน้า ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ถามว่า ด้วยคำว่า เสยฺยถีทํ เกสา เป็นต้นนี้ ทรงแสดงอะไร.
               ตอบว่า มนสิการธาตุ.
               ถามว่า ก็กุลบุตรผู้ปรารถนาจะทำกรรมในมนสิการธาตุนี้แล้วเริ่มวิปัสสนาเพื่อบรรลุพระอรหัตอันเป็นประโยชน์สูงสุด จะพึงทำอย่างไร.
               ตอบว่า พึงชำระปาริสุทธิศีล ๔ ให้บริสุทธิ์. เพราะว่าการเจริญกรรมฐานย่อมสำเร็จแก่บุคคลผู้มีศีล วิธีทำการชำระจตุปาริสุทธิศีลนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคนั่นแหละ. ก็กุลบุตรผู้มีศีลบริสุทธิ์ตั้งอยู่ในศีลแล้วพึงตัดปลิโพธ (ความกังวลใจ) เบื้องต้น ๑๐ อย่าง วิธีการตัดปลิโพธ ๑๐ อย่างแม้เหล่านั้น ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคนั้นแหละ อันกุลบุตรผู้ตัดปลิโพธแล้วพึงเรียนเอากรรมฐานมนสิการธาตุ แม้อาจารย์ผู้ให้อันเตวาสิกเรียนกรรมฐานมนสิการธาตุ ก็พึงบอกอุคคหโกศล#- ๗ อย่างและมนสิการโกศล##- ๑๐ อย่าง แม้อันเตวาสิกก็ควรทำการสาธยายในสำนักแห่งอาจารย์ให้มากแล้ว ทำกรรมฐานให้คล่องแคล่วหมดความยุ่งยาก. ข้อนี้สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาว่า ภิกษุผู้แรกเริ่มกรรมฐานเป็นผู้ใคร่เพื่อจะพ้นจากชราและมรณะพึงปรารถนาอุคคหโกศลโดยอาการ ๗ อย่าง พึงปรารถนามนสิการโกศลโดยอาการ ๑๐ อย่าง.
____________________________
#- ผู้ฉลาดในการเรียน ๗ อย่าง.
##- ผู้ฉลาดในการมนสิการ ๑๐ อย่าง.

               ว่าด้วยอุคคหโกศล ๗ อย่าง               
               บรรดาอุคคหโกศลและมนสิการโกศลเหล่านั้น กุลบุตรพึงปรารถนาอุคคหโกศลในกรรมฐานมนสิการธาตุเหล่านี้ คือ
                         โดยวาจา ๑
                         โดยใจ ๑
                         โดยสี ๑
                         โดยสัณฐาน ๑
                         โดยทิศ ๑
                         โดยโอกาส ๑
                         โดยปริเฉท ๑.

               ว่าด้วยมนสิการโกศลมี ๑๐ อย่าง               
               กุลบุตรพึงปรารถนามนสิการโกศลโดยอาการ ๑๐ อย่างเหล่านี้คือ
                         โดยลำดับ ๑
                         โดยไม่เร็วเกินไป ๑
                         โดยไม่ช้าเกินไป ๑
                         โดยห้ามความฟุ้งซ่าน ๑
                         โดยก้าวล่วงบัญญัติ ๑
                         โดยละลำดับ ๑
                         โดยลักษณะ ๑
                         โดยสูตรทั้ง ๓.#-
____________________________
#- อธิจิตตสูตร สีติภาวสูตร โพชฌงคโกสัลลสูตร.

               โกศลแม้ทั้ง ๒ จักแจ่มแจ้งในสติปัฏฐานวิภังค์ข้างหน้า.
               ก็กุลบุตรผู้มีกรรมฐานอันเรียนเอาอย่างนี้ พึงเว้นเสนาสนะที่เป็นโทษ ๑๘ แห่งตามที่กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรค อยู่ในเสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ แม้ตนเองก็ประกอบด้วยองค์แห่งภิกษุผู้ประกอบความเพียร ๕##- กลับจากบิณฑบาตในเวลาภายหลังภัตแล้ว เข้าไปสู่ที่โอกาสอันสงัดมนสิการกรรมฐาน ก็กุลบุตรนั้นเมื่อมนสิการพึงมนสิการโกฏฐาสแต่ละอย่างในบรรดาโกฏฐาสทั้งหลายมีผมเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งสี สัณฐาน ทิศ โอกาสและปริจเฉท ในกาลเป็นที่สุด พึงให้มนสิการเป็นไปอย่างนี้.
____________________________
##- ในที่นี้ท่านไม่ได้บอกไว้ ผู้แปลได้นำมาจากหมวดธรรมในพระไตรปิฎก กล่าวว่ามี ๕ เหมือนกัน คือ ๑. มีศรัทธา ๒. มีโรคน้อยเป็นผู้อดทน ๓. เป็นผู้ไม่โอ่อวด ไม่มีมายา ๔. มีความเพียรไม่ท้อถอย ๕. มีปัญญามีความสามารถเห็นความเกิดดับ.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการเกสา (ผมทั้งหลาย)               
               ธรรมดาเกสา คือผมทั้งหลายเหล่านี้เกิดในหนังหุ้มกะโหลกศีรษะ ในผมทั้งหลายเหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า บรรดาหญ้าแฝกหอมทั้งหลายซึ่งเกิดบนจอมปลวก จอมปลวกย่อมไม่รู้ว่า หญ้าแฝกหอมทั้งหลายเกิดในเรา แม้หญ้าแฝกหอมเล่าก็ไม่รู้ว่า พวกเราเกิดบนจอมปลวก ดังนี้ฉันใด หนังหุ้มกะโหลกศีรษะก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า ผมทั้งหลายเกิดในเรา แม้ผมทั้งหลายเล่าก็ไม่รู้ว่า พวกเราเกิดในหนังหุ้มกะโหลกศีรษะ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้ เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าผมทั้งหลายที่เป็นโกฏฐาส (ส่วน) หนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการโลมา (ขนทั้งหลาย)               
               โลมา ขนทั้งหลายเกิดในหนังหุ้มสรีระ ในขนทั้งหลายเหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า บรรดาหญ้าแพรกทั้งหลายซึ่งเกิดในที่สุญญาคาร สถานที่สุญญาคารย่อมไม่รู้ว่า หญ้าแพรกทั้งหลายเกิดในเรา แม้หญ้าแพรกเล่าก็ไม่รู้ว่า พวกเราเกิดในสถานที่สุญญาคาร ดังนี้ฉันใด หนังที่หุ้มสรีระก็ฉันนั้นย่อมไม่รู้ว่า ขนทั้งหลายเกิดในเรา แม้ขนทั้งหลายเล่าก็ไม่รู้ว่า พวกเราเกิดในหนังหุ้มสรีระ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากการคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะเหตุนั้น ขึ้นชื่อว่าขนทั้งหลายที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการนขา (เล็บทั้งหลาย)               
               นขา เล็บทั้งหลายเกิดที่ปลายนิ้วทั้งหลาย ในเล็บทั้งหลายเหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า พวกเด็กๆ เอาท่อนไม้เล็กๆ เสียบเม็ดมะซางเล่นอยู่ ท่อนไม้เล็กๆ ทั้งหลายย่อมไม่รู้ว่า เม็ดมะซางตั้งอยู่ในพวกเรา แม้เม็ดมะซางเล่าก็ไม่รู้ว่า พวกเราตั้งอยู่บนท่อนไม้เล็กๆ ทั้งหลาย ดังนี้ฉันใด นิ้วทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า เล็บทั้งหลายเกิดที่ปลายของพวกเรา แม้เล็บทั้งหลายเล่าก็ไม่รู้ว่า พวกเราเกิดที่ปลายของนิ้วทั้งหลาย ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากการคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าเล็บทั้งหลายที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการทนฺตา (ฟันทั้งหลาย)               
               ทนฺตา ฟันทั้งหลายเกิดที่กระดูกคางทั้งหลาย ในฟันทั้งหลายเหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อนายช่างเอายางเหนียวอย่างใดอย่างหนึ่งเชื่อมครกหินตั้งไว้บนเสา ครกหินย่อมไม่รู้ว่า เสาทั้งหลายตั้งอยู่ที่พวกเรา แม้พวกเสาเล่าก็ไม่รู้ว่า พวกเราตั้งอยู่ที่ครกทั้งหลาย ดังนี้ฉันใด กระดูกคางทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า ฟันทั้งหลายเกิดในพวกเรา แม้พวกฟันเล่าก็ไม่รู้ว่า พวกเราเกิดที่กระดูกคางทั้งหลาย ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าฟันทั้งหลายที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการตโจ (หนัง)               
               ตโจ หนัง ตั้งหุ้มสรีระทั้งสิ้น ในหนังที่ตั้งหุ้มสรีระนั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อพิณใหญ่ที่ถูกหุ้มด้วยหนังโคสด พิณใหญ่ย่อมไม่รู้ว่า เราถูกหุ้มด้วยหนังโคสด แม้หนังโคสดเล่าก็ไม่รู้ว่า พิณใหญ่ถูกเราหุ้มไว้ ดังนี้ฉันใด สรีระก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า เราถูกหนังหุ้มไว้ แม้หนังเล่าก็ไม่รู้ว่า เราหุ้มสรีระไว้ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากการคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าหนังที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการมํสํ (เนื้อ)               
               มํสํ เนื้อตั้งฉาบติดอยู่ซึ่งร่างกระดูก ในเนื้อนั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อเอาก้อนดินเหนียวใหญ่มาฉาบติดฝาเรือนไว้ ก้อนดินเหนียวใหญ่ย่อมไม่รู้ว่า ฝาเรือนถูกเราฉาบติดไว้ แม้ฝาเรือนเล่าก็ไม่รู้ว่า เราถูกก้อนดินเหนียวใหญ่ฉาบติดไว้ ดังนี้ฉันใด ร่างกระดูกก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า เราถูกฉาบติดด้วยชิ้นเนื้อ ๙๐๐ ชิ้น แม้เนื้อเล่าก็ไม่รู้ว่า ร่างกระดูกถูกเราฉาบติดไว้ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าเนื้อที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการนหารู (เอ็นทั้งหลาย)               
               นหารู เอ็นทั้งหลายตั้งรึงรัดกระดูกทั้งหลายในภายในสรีระ ในเอ็นเหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า ท่อนไม้ในกระท่อมที่เขาเอาเถาวัลย์มาผูกมัดเป็นเกลียวไว้ ท่อนไม้ในกระท่อมทั้งหลายย่อมไม่รู้ว่า พวกเราถูกเถาวัลย์ผูกเป็นเกลียวไว้ แม้เถาวัลย์ทั้งหลายก็ไม่รู้ว่า ท่อนไม้ในกระท่อมถูกพวกเรามัดเป็นเกลียวไว้ ดังนี้ฉันใด กระดูกทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า พวกเราถูกเอ็นทั้งหลายรึงรัดไว้ แม้เอ็นทั้งหลายเล่าก็ไม่รู้ว่า กระดูกทั้งหลายถูกพวกเรารึงรัดไว้ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าเอ็นทั้งหลายที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการอฏฺฐิ (กระดูก)               
               บรรดากระดูกทั้งหลาย กระดูกส้นเท้ายกกระดูกข้อเท้าตั้งไว้ กระดูกข้อเท้ายกกระดูกแข้งตั้งไว้ กระดูกแข้งยกกระดูกขาอ่อนตั้งไว้ กระดูกขาอ่อนยกกระดูกสะเอวตั้งไว้ กระดูกสะเอวยกกระดูกสันหลังตั้งไว้ กระดูกสันหลังยกกระดูกคอตั้งไว้ กระดูกคอยกกระดูกศีรษะตั้งไว้ กระดูกศีรษะตั้งอยู่บนกระดูกคอ กระดูกคอตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว กระดูกสะเอวตั้งอยู่บนกระดูกขาอ่อน กระดูกขาอ่อนตั้งอยู่บนกระดูกแข้ง กระดูกแข้งตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้าตั้งอยู่บนกระดูกส้นเท้า.
               ในบรรดากระดูกเหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า บรรดาของทั้งหลายที่กองสุมกันอยู่มีอิฐ เศษไม้และโคมัยเป็นต้น สิ่งของที่อยู่ข้างล่างๆ ย่อมไม่รู้ว่า พวกเรายกของข้างบนๆ ขึ้นตั้งไว้ แม้ของข้างบนๆ ก็ไม่รู้ว่า พวกเราตั้งอยู่ในของข้างล่างๆ ดังนี้ฉันใด กระดูกส้นเท้าเล่าก็ไม่รู้ว่า เรายกกระดูกข้อเท้าตั้งไว้ กระดูกข้อเท้าเล่าก็ไม่รู้ว่า เรายกกระดูกแข้งตั้งไว้ กระดูกแข้งเล่าก็ไม่รู้ว่า เรายกกระดูกขาอ่อนตั้งไว้ กระดูกขาอ่อนเล่าก็ไม่รู้ว่า เรายกกระดูกสะเอวตั้งไว้ กระดูกสะเอวเล่าก็ไม่รู้ว่า เรายกกระดูกสันหลังตั้งไว้ กระดูกสันหลังเล่าก็ไม่รู้ว่า เรายกกระดูกคอตั้งไว้ กระดูกคอเล่าก็ไม่รู้ว่า เรายกกระดูกศีรษะตั้งไว้ กระดูกศีรษะเล่าก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกคอ กระดูกคอก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว กระดูกสะเอวก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกขาอ่อน กระดูกขาอ่อนก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกแข้ง กระดูกแข้งก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้าก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกส้นเท้า ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่า กระดูกที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการอฏฺฐิมิญฺชํ (เยื่อในกระดูก)               
               อฏฺฐิมิญฺชํ เยื่อในกระดูกตั้งอยู่ภายในกระดูกเหล่านั้นๆ ในเยื่อในกระดูกเหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อบุคคลเอายอดหวายที่นึ่งแล้วเป็นต้นใส่เข้าไปภายในกระบอกไม้ไผ่เป็นต้น กระบอกไม้ไผ่เป็นต้นย่อมไม่รู้ว่า ยอดหวายเป็นต้นเขาใส่ไว้ในพวกเรา แม้ยอดหวายเป็นต้นเล่าก็ไม่รู้ว่า พวกเราตั้งอยู่ในกระบอกไม้ไผ่เป็นต้น ดังนี้ฉันใด กระดูกทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า เยื่อในกระดูกตั้งอยู่ภายในของพวกเรา แม้เยื่อในกระดูกเล่าก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในภายในของกระดูกทั้งหลาย ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าเยื่อในกระดูกที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการวกฺกํ๑- (ไต)               
               วกฺกํ ไตตั้งแวดล้อมเนื้อหัวใจโดยผูกไว้ด้วยเอ็นใหญ่ มีโคนเดียวกันออกจากหลุมคอไปหน่อยหนึ่งแล้วแยกออกเป็น ๒ ในไตนั้นพระโยคี พึงมนสิการว่า เมื่อผลมะม่วงคู่ติดอยู่ที่ขั้ว ขั้วมะม่วงย่อมไม่รู้ว่า ผลมะม่วงคู่ติดอยู่กับเรา แม้ผลมะม่วงคู่ก็ไม่รู้ว่า เราติดอยู่กับขั้ว ดังนี้ฉันใด แม้เอ็นใหญ่ทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า ไตติดอยู่กับเรา แม้ไตเล่าก็ไม่รู้ว่า เราติดอยู่กับเอ็นใหญ่ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าไตที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.
____________________________
๑- คำว่า วกฺกํ เคยแปลกัน ม้าม แต่ปัจจบันแปลว่า ไต.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการหทยํ (หัวใจ)               
               หทยํ หัวใจอาศัยตั้งอยู่ท่ามกลางซี่กรงกระดูกอกภายในสรีระ ในหัวใจนั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อชิ้นเนื้ออาศัยตั้งอยู่ภายในซี่กรงของรถศึกเก่า ภายในซี่กรงของรถศึกเก่า ย่อมไม่รู้ว่า ชิ้นเนื้ออาศัยเราตั้งอยู่ แม้ชิ้นเนื้อก็ไม่รู้ว่า เราอาศัยภายในซี่กรงรถศึกเก่าตั้งอยู่ ดังนี้ฉันใด ภายในซี่กรงกระดูกอกก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า หทัยอาศัยเราตั้งอยู่ แม้หทัยเล่าก็ไม่รู้ว่า เราอาศัยภายในซี่กรงกระดูกอกตั้งอยู่ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าหทัยที่เป็นโกฏฐาสหนึ่ง โดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการ ยกนํ (ตับ)               
               ยกนํ ตับอาศัยตั้งอยู่ข้างขวาภายในระหว่างราวนมทั้งสองภายในสรีระ ในตับนั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อเขาห้อยก้อนเนื้อคู่ไว้ที่กระพุ้งหม้อข้าว ข้างกระพุ้งหม้อข้าว ย่อมไม่รู้ว่า ก้อนเนื้อคู่ห้อยไว้ในเรา แม้ก้อนเนื้อคู่ก็ไม่รู้ว่า เราถูกห้อยไว้ที่ข้างกระพุ้งหม้อข้าว ดังนี้ฉันใด สีข้างด้านขวาระหว่างราวนมทั้งคู่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่รู้ว่า ตับอาศัยเราตั้งอยู่ แม้ตับเล่าก็ไม่รู้ว่า เราอาศัยตั้งอยู่ทางสีข้างด้านขวาระหว่างราวนมทั้งคู่ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่า ตับที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการกิโลมกํ (พังผืด)               
               บรรดาพังผืดทั้งหลาย พังผืดที่ปิดบัง (ปฏิจฺฉนฺนกิโลมกํ) ล้อมหทัยและไตไว้ตั้งอยู่ (อย่างหนึ่ง) พังผืดที่ไม่ปิดบังหทัยและไต (อปฺปฏิจฺฉนฺนกิโลมกํ) แต่หุ้มเนื้อภายใต้หนังในสรีระทั้งสิ้นตั้งอยู่ (อย่างหนึ่ง).
               ในพังผืดเหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อเนื้อถูกคลุมไว้ด้วยผ้าผืนเก่า เนื้อย่อมไม่รู้ว่า เราถูกผ้าผืนเก่าคลุมไว้ แม้ผ้าเก่าก็ไม่รู้ว่า เนื้อถูกเราคลุมไว้ ดังนี้ฉันใด ไตหัวใจและเนื้อในสรีระทั้งสิ้นก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า เราถูกพังผืดปกปิดไว้ แม้พังผืดเล่าก็ไม่รู้ว่า ไตหัวใจเนื้อในสรีระทั้งสิ้นถูกเราปกปิดไว้ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าพังผืดที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการปิหกํ๑- (ม้าม)               
               ปิหกํ ม้ามอาศัยตั้งอยู่ข้างบนเยื่อหุ้มท้องข้างซ้ายของหัวใจ ในม้ามนั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อก้อนโคมัยวางแนบข้างบนยุ้งข้าว ข้างบนยุ้งข้าวย่อมไม่รู้ว่า ก้อนโคมัยอาศัยเราตั้งอยู่ แม้ก้อนโคมัยก็ไม่รู้ว่า เราอาศัยข้างบนยุ้งข้าวตั้งอยู่ ดังนี้ฉันใด ข้างบนเยื่อหุ้มท้องก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า ม้ามอาศัยเราตั้งอยู่ แต่ม้ามเล่าก็ไม่รู้ว่า เราอาศัยข้างบนเยื่อหุ้มท้องตั้งอยู่ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่า ม้ามที่เป็นโกฏฐาสในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.
____________________________
๑- ปิหกํ โบราณแปลว่า ไต.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการปปฺผาสํ (ปอด)               
               ปปฺผาสํ ปอดห้อยปิดข้างบนหัวใจและตับตั้งอยู่ระหว่างนมทั้ง ๒ ภายในสรีระ ในปอดนั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อรังนกห้อยอยู่ภายในยุ้งข้าวเก่า ภายในยุ้งข้าวเก่าย่อมไม่รู้ว่า รังนกห้อยอยู่ในเรา แม้รังนกก็ไม่รู้ว่า เราห้อยอยู่ภายในยุ้งข้าวเก่า ดังนี้ฉันใด ภายในแห่งสรีระก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า ปอดห้อยอยู่ในเรา แม้ปอดเล่าก็ไม่รู้ว่า เราห้อยอยู่ภายในสรีระเห็นปานนี้ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าปอดที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการอนฺตํ (ไส้ใหญ่)               
               อนฺตํ ไส้ใหญ่ ตั้งอยู่ภายในสรีระจากหลุมคอลงไปถึงทวารหนักเป็นที่สุด ในไส้ใหญ่นั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อร่างงูเรือนที่ถูกตัดศีรษะวางขดไว้ในรางเลือด รางเลือดย่อมไม่รู้ว่า ร่างงูเรือนเขาวางไว้ในเรา แม้ร่างงูเรือนก็ไม่รู้ว่า เราถูกวางไว้ในรางเลือด ดังนี้ฉันใด ภายในสรีระก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า ไส้ใหญ่ตั้งอยู่ในเรา แม้ไส้ใหญ่เล่าก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ภายในสรีระ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าไส้ใหญ่ที่เป็นโกฏฐาสหนึ่ง โดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการอนฺตคุณํ (ไส้น้อย)               
               อนฺตคุณํ ไส้น้อยตั้งอยู่ระหว่างไส้ใหญ่โดยพันขนดไส้ใหญ่ ๒๑ ขนด ในไส้น้อยนั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อบุคคลเอาเชือกเย็บมณฑลเชือกสำหรับเช็ดเท้าตั้งไว้ มณฑลเชือกสำหรับเช็ดเท้าย่อมไม่รู้ว่า เชือกเย็บเราตั้งไว้ แม้เชือกก็ไม่รู้ว่า พวกเราเย็บมณฑลเชือกสำหรับเช็ดเท้าตั้งไว้ ดังนี้ฉันใด ไส้ใหญ่ก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า ไส้น้อยพันตัวเราตั้งไว้ แม้ไส้น้อยเล่าก็ไม่รู้ว่า เราพันไส้ใหญ่ตั้งไว้ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน ขึ้นชื่อว่าไส้น้อยที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการอุทริยํ (อาหารใหม่)               
               อุทริยํ อาหารใหม่ ได้แก่ ของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้มที่อยู่ในท้อง บรรดาอาหารใหม่เหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อรากสุนัขตั้งอยู่ในรางสุนัข รางสุนัขย่อมไม่รู้ว่า รากสุนัขตั้งอยู่ในเรา แม้รากสุนัขก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในรางสุนัข ดังนี้ฉันใด ท้องก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า อาหารใหม่ตั้งอยู่ในเรา แม้อาหารใหม่เล่าก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในท้อง ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าอาหารใหม่ที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการกรีสํ (อาหารเก่า)               
               กรีสํ อาหารเก่า ตั้งอยู่ในที่สุดแห่งไส้ใหญ่ กล่าวคือกระเพาะอาหารเก่า เช่นกับกระบอกไม้ไผ่ยาว ๘ นิ้ว ในอาหารเก่าเหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อเอาดินเหนียวละเอียดสีเหลืองขยำใส่ในปล้องไม้ไผ่ ปล้องไม้ไผ่ย่อมไม่รู้ว่า ก้อนดินเหนียวสีเหลืองตั้งอยู่ในเรา แม้ก้อนดินเหนียวสีเหลืองก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ ดังนี้ฉันใด กระเพาะอาหารเก่าก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า อาหารเก่าตั้งอยู่ในเรา แม้อาหารเก่าเล่าก็ย่อมไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในกระเพาะอาหารเก่า ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าอาหารเก่าที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการมตฺถลุงฺคํ (มันสมอง)               
               มตฺถลุงฺคํ มันสมองตั้งอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ในมันสมองนั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อบุคคลเอาก้อนแป้งใส่ในกะโหลกน้ำเต้าเก่า กะโหลกน้ำเต้าเก่าย่อมไม่รู้ว่า ก้อนแป้งตั้งอยู่ในเรา แม้ก้อนแป้งก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในกะโหลกน้ำเต้า ดังนี้ฉันใด ภายในกะโหลกศีรษะก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า มันสมองตั้งอยู่ในเรา แม้มันสมองเล่าก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในกะโหลกศีรษะ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่ามันสมองที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติแข็ง ชื่อว่าปฐวีธาตุ ดังนี้.

               นิเทศปฐวีธาตุภายนอก               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศปฐวีธาตุภายนอก บทว่า อโย (เหล็ก) ได้แก่ โลหะดำ.
               บทว่า โลหํ (โลหะ) ได้แก่ โลหะ ๔ ชนิด คือชาติโลหะ ๑ วิชาตโลหะ ๑ กิตติมโลหะ ๑ ปิสาจโลหะ ๑. บรรดาโลหะ ๔ เหล่านั้น โลหะ ๗ ชนิดเหล่านี้ คือ อโย (เหล็ก) สชฺฌุ (เงิน) สุวณฺณํ (ทอง) ติปุ (ดีบุก) สีสํ (ตะกั่ว) ตมฺพโลหํ (ทองแดง) เวกนฺตกโลหํ (ทองเหลือง) ชื่อว่าชาติโลหะ โลหะมีลักษณะดังงวงช้าง ชื่อว่าวิชาติโลหะ โลหะ ๓ อย่าง คือ กังสโลหะ วัฏฏโลหะ อารกูฏ ชื่อว่ากิตติมโลหะ โลหะ ๘ คือ โมรักขกะ ปุถุกะ มลีนกะ จปลกะ เสลกะ อาฏกะ ตัลลกะ ทุสิโลหะ ชื่อว่าปิสาจโลหะ.
               บรรดาโลหะเหล่านั้น ชาติโลหะ ๕ (ข้างต้น) ตรัสไว้แผนกหนึ่งในพระบาลี แต่โลหะที่เหลือแม้ทั้งหมดกับชาติโลหะ ๒ เหล่านี้ คือทองแดงและทองเหลือง พึงทราบว่า โลหะ ในที่นี้.
               บทว่า ติปุ (ดีบุก) ได้แก่ ดีบุกขาว. บทว่า สีสํ ได้แก่ ดีบุกดำ. บทว่า สชฺฌุ แปลว่า เงิน. บทว่า มุตฺตา (แก้วมุกดา) ได้แก่ แก้วมุกดาเกิดในทะเล.
               บทว่า มณิ (แก้วมณี) ความว่า เว้นแก้วไพฑูรย์เป็นต้นที่มาในพระบาลีแล้ว ที่เหลือแม้ทั้งหมด ชื่อว่าแก้วมณี อันต่างด้วยแก้วมณีโชตรสเป็นต้น.
               บทว่า เวฬุริโย (แก้วไพฑูรย์) ได้แก่ แก้วมณีมีสีเหมือนสีผิวไม้ไผ่.
               บทว่า สํโข (สังข์) ได้แก่ หอยสังข์เกิดในทะเล. บทว่า สิลา (ศิลา) ได้แก่ ศิลาแม้ทั้งหมดอันต่างด้วยศิลาดำ ศิลาเหลือง ศิลาขาวเป็นต้น.
               บทว่า ปวาฬํ คือแก้วประพาฬนั่นเอง. บทว่า รชตํ (เงินตรา) ได้แก่ กหาปณะ. บทว่า ชาตรูปํ ได้แก่ ทอง. บทว่า โลหิตงฺโค ได้แก่ มณีแดง. บทว่า มสารคลฺลํ (แก้วลาย) ได้แก่ เพชรตาแมว.
               พึงทราบวินิจฉัยในวัตถุมีหญ้าเป็นต้น พฤกษชาติที่มีข้างนอกแข็งโดยที่สุดมีต้นมะพร้าวเป็นต้น ชื่อว่าหญ้า. วัตถุที่มีแก่นข้างในโดยที่สุดแม้ท่อนฟืน ชื่อว่าท่อนไม้. ก้อนหินโดยประมาณเม็ดถั่วเขียวจนถึงกำปั้น ชื่อว่ากรวด แต่กรวดที่เล็กกว่าเม็ดถั่วเขียวลงมา เรียกว่าทราย. คำว่า กระเบื้อง ได้แก่กระเบื้องอย่างใดอย่างหนึ่ง. คำว่า ภูมิ ได้แก่ แผ่นดิน. คำว่า ปาสาโณ (แผ่นหิน) ได้แก่ แผ่นหินมีขนาดตั้งแต่กำไม่มิดขึ้นไป แต่ไม่ถึงประมาณเท่าช้าง ชื่อว่าแผ่นหิน แต่ถ้ามีขนาดช้างขึ้นไป ชื่อว่าบรรพต.
               ด้วยบทว่า ยํ วา ปน (หรือว่าธาตุอันใด) นี้ ท่านรวมเอาปถวีที่เหลืออันต่างด้วยวัตถุมีเมล็ดตาลและผลมะพร้าวเป็นต้น. ด้วยคำว่า ยา จ อชฺฌตฺติกา ปถวีธาตุ ยา จ พาหิรา (ปฐวีธาตุภายในและปฐวีธาตุภายนอกอันใด) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปฐวีธาตุแม้ทั้ง ๒ โดยลักษณะว่าเป็นปฐวีธาตุอันเดียวเท่านั้น เพราะอรรถว่าเป็นธรรมชาติแข็ง ดังนี้.

               นิเทศอาโปธาตุภายใน               
               ในนิเทศอาโปธาตุเป็นต้นพึงทราบโดยนัยที่กล่าวในหนหลังนั่นแหละ. พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อาโป อาโปคตํ (ความเอิบอาบ ธรรมชาติที่เอิบอาบ) ดังนี้เป็นต้น ที่ชื่อว่า อาโป (ความเอิบอาบ) ด้วยอำนาจความเกาะกุม คำว่า อาโป นั้นนั่นแหละ ที่ชื่อว่า อาโปคตํ (ธรรมชาติที่เอิบอาบ) เพราะความที่อาโปธาตุน้ำนั้นนั่นแหละ ถึงความเป็นสภาพแห่งอาโป. ที่ชื่อว่า สิเนโห (ความเหนียว) ด้วยอำนาจแห่งสิเนหา ความสิเนหานั้นนั่นแหละ ชื่อว่า สิเนหคตํ (ธรรมชาติที่เหนียว) เพราะถึงสภาพแห่งความเหนียว.
               บทว่า พนฺธนตฺตํ รูปสฺส (ธรรมชาติที่เกาะกุมรูป) ได้แก่ เครื่องผูกของอวินิโภครูป (รูปที่แยกออกไม่ได้ ๘ รูป). แม้คำว่า ปิตฺตํ (น้ำดี) เสมฺหํ (เสลด) เป็นต้น พระโยคีพึงมนสิการด้วยอำนาจแห่งความเป็นธาตุนั่นแหละ โดยกำหนดถือเอาด้วยสามารถแห่งสี สัณฐาน ทิศ โอกาสและปริจเฉท.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการปิตฺตํ (น้ำดี)               
               ในอธิการแห่งอาโปธาตุนั้น มีนัยดังต่อไปนี้.
               ก็บรรดาน้ำดีทั้งหลาย น้ำดีที่ไม่อยู่ในถุง (อพทฺธปิตฺตํ) ตั้งอยู่ ซึมซาบสรีระทั้งสิ้นอันเนื่องด้วยชีวิตินทรีย์ น้ำดีที่อยู่ในถุง (พทฺธปิตฺตํ) ตั้งอยู่ในถุงของน้ำดี. บรรดาน้ำดีทั้ง ๒ เหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อมีน้ำมันซึมซาบขนมตั้งอยู่ ขนมย่อมไม่รู้ว่า น้ำมันซึมซาบเราตั้งอยู่ แม้น้ำมันก็ไม่รู้ว่า เราซึมซาบขนมตั้งอยู่ ดังนี้ฉันใด สรีระก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า น้ำดีที่ไม่อยู่ในถุงซึมซาบเราตั้งอยู่ แม้น้ำดีที่ไม่อยู่ในถุงเล่าก็ไม่รู้ว่า เราซึมซาบสรีระตั้งอยู่ ดังนี้ และเหมือนรังบวบขมที่เต็มด้วยน้ำฝน รังบวบขมย่อมไม่รู้ว่า น้ำฝนตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำฝนก็ย่อมไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในรังบวบขม ดังนี้ฉันใด ถุงน้ำดีก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า น้ำดีในถุงตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำดีในถุงก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในถุงของน้ำดี ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าน้ำดีที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติเหลว มีอาการเกาะกุม ชื่อว่าอาโปธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการเสมฺหํ (เสลด)               
               เสมฺหํ เสลดมีประมาณเต็มกอบหนึ่งตั้งอยู่ที่เยื่อบุท้อง ในเสลดนั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อบ่อน้ำคลำมีแผ่นฝาฟองขึ้นเบื้องบนมีอยู่ บ่อน้ำคลำย่อมไม่รู้ว่า แผ่นฝาฟองตั้งอยู่ในเรา แม้แผ่นฝาฟองก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในบ่อน้ำคลำ ดังนี้ฉันใด เยื่อบุท้องก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า เสลดตั้งอยู่ในเรา แม้เสลดเล่าก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในเยื่อบุท้อง ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าเสลดที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติเหลว มีอาการเกาะกุม ชื่อว่าอาโปธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการปุพฺโพ (น้ำหนอง)               
               ปุพฺโพ น้ำหนองไม่ตั้งอยู่ประจำ เมื่อส่วนแห่งร่างกายถูกตอหนาม การประหารและเปลวไฟเป็นต้นกระทบแล้วในที่ใดๆ โลหิตก็จะห้อขึ้นหรือว่าฝีและต่อมเป็นต้นก็ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ในส่วนแห่งร่างกายนั้นๆ ทีเดียว ในน้ำหนองเหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อต้นไม้มียางไหลออกด้วยอำนาจการประหารด้วยขวานเป็นต้น ส่วนแห่งต้นไม้ที่ถูกประหารด้วยขวานเป็นต้นย่อมไม่รู้ว่า ยางต้นไม้ตั้งอยู่ในพวกเรา แม้ยางต้นไม้ก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในส่วนแห่งต้นไม้ที่ถูกประหารด้วยขวานเป็นต้น ดังนี้ฉันใด ประเทศแห่งร่างกายที่ถูกกระทบด้วยตอ หนามเป็นต้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่รู้ว่า น้ำหนองตั้งอยู่ในพวกเรา แม้น้ำหนองเล่าก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในประเทศร่างกายเหล่านั้น ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าน้ำหนองที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นของเหลว มีอาการเกาะกุม ชื่อว่าอาโปธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการโลหิตํ (น้ำเลือด)               
               โลหิตํ น้ำเลือดที่ไหลไปมาตั้งซึมซาบสรีระทั้งสิ้นอยู่เหมือนน้ำดีที่ไม่อยู่ในถุง เลือดที่ขังอยู่มีประมาณเต็มกอบหนึ่ง ขังอยู่ภายใต้ฐานของตับ ทำให้ไต หัวใจ ตับ ปอด ชุ่มอยู่ ในเลือดเหล่านั้น พึงทราบวินิจฉัยเลือดที่ไหลไปมาเช่นเดียวกับน้ำดีที่มิได้อยู่ในถุงนั่นแหละ ส่วนเลือดอีกอย่างหนึ่งนอกนี้ พระโยคีพึงมนสิการว่า น้ำขังอยู่ที่ภาชนะเก่ายังก้อนดินและท่อนไม้ในภายใต้ให้ชุ่มอยู่ วัตถุมีก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น ย่อมไม่รู้ว่า พวกเราเปียกน้ำตั้งอยู่ แม้น้ำก็ไม่รู้ว่า เราทำก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นให้เปียก ดังนี้ฉันใด ที่อันเป็นส่วนเบื้องล่างของตับก็ดี ส่วนต่างๆ มีไตเป็นต้นก็ดีก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า เลือดขังอยู่ในเรา เราเท่านั้นเปียกอยู่ แม้เลือดเล่าก็ไม่รู้ว่า เรายังไตเป็นต้นให้เปียกอยู่ ยังส่วนภายใต้ของตับให้เต็มแล้ว ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่า เลือดที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติเหลว มีอาการเกาะกุม ชื่อว่าอาโปธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการเสโท (เหงื่อ)               
               เสโท เหงื่อย่อมตั้งอยู่เต็มและไหลออกตามช่องผมและขุมขนในเวลาเร่าร้อนด้วยไฟเป็นต้น บรรดาเหงื่อเหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อบุคคลถอนกำเหง้าบัว รากบัว และก้านดอกบัวขาวขึ้นจากน้ำ ช่องกำแห่งเหง้าบัวเป็นต้นย่อมไม่รู้ว่า น้ำย่อมไหลออกจากพวกเรา แม้น้ำที่ไหลออกจากช่องกำแห่งเหง้าบัวเป็นต้นก็ย่อมไม่รู้ว่า เราย่อมไหลออกจากช่องกำแห่งเหง้าบัวเป็นต้น ดังนี้ฉันใด ช่องผมและขุมขนก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า เหงื่อย่อมไหลออกจากพวกเรา แม้เหงื่อเล่าก็ไม่รู้ว่า เราย่อมไหลออกจากช่องผมและขุมขน ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าเหงื่อที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติเหลว มีอาการเกาะกุม ชื่อว่าอาโปธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการเมโท (มันข้น)               
               เมโท มันข้นเป็นมันเหนียวข้น ของคนอ้วนแผ่กระจายไปสู่สรีระทั้งสิ้น ของคนผอมอาศัยเนื้อปลีแข้งเป็นต้นตั้งอยู่ ในบรรดามันข้นเหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อก้อนเนื้อถูกปกปิดด้วยผืนผ้าเก่าสีเหมือนขมิ้นอยู่ ก้อนเนื้อย่อมไม่รู้ว่า ผืนผ้าเก่าสีเหมือนขมิ้นอาศัยเราตั้งอยู่ แม้ผืนผ้าเก่าสีขมิ้นก็ไม่รู้ว่า เราอาศัยก้อนเนื้อตั้งอยู่ ดังนี้ฉันใด เนื้อในสรีระทั้งสิ้นหรือที่ปลีแข้งเป็นต้นก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า มันข้นอาศัยเราตั้งอยู่ แม้มันข้นเล่าก็ไม่รู้ว่า เราอาศัยเนื้อตั้งอยู่ในสรีระทั้งสิ้น หรือที่ปลีแข้งเป็นต้น ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่ามันข้นที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นยางข้น เป็นน้ำข้น มีอาการเกาะกุม ชื่อว่าอาโปธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการอสฺสุ (น้ำตา)               
               อสฺสุ น้ำตา ในเวลามันเกิดจะคลออยู่เต็มเบ้าตาบ้าง ย่อมไหลออกบ้าง ในน้ำตานั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อเบ้าแห่งผลตาลอ่อนเต็มด้วยน้ำ เบ้าแห่งผลตาลอ่อนทั้งหลายย่อมไม่รู้ว่า น้ำตั้งอยู่ในพวกเรา แม้น้ำก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในเบ้าแห่งผลตาลอ่อนทั้งหลาย ดังนี้ฉันใด เบ้าแห่งตาก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า น้ำตาตั้งอยู่ในพวกเรา แม้น้ำตาเล่าก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในเบ้าตาทั้งสอง ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าน้ำตาที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งมีอยู่โดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติเหลว มีอาการเกาะกุม ชื่อว่าอาโปธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการวสา (มันเหลว)               
               วสา มันเหลวเป็นมันเหนียวที่ละลายในสรีระที่ตั้งอยู่ตามฝ่ามือ หลังเท้า ฝาเท้า โพรงจมูก หน้าผากและจะงอยบ่าในเวลาเกิดความร้อนด้วยไฟเป็นต้น บรรดามันเหลวเหล่านั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า ในข้าวตังที่บุคคลใส่น้ำมันเข้าไปแล้ว ข้าวตังย่อมไม่รู้ว่า น้ำมันท่วมทับเราตั้งอยู่ แม้น้ำมันก็ไม่รู้ว่า เราท่วมทับข้าวตังตั้งอยู่ ดังนี้ฉันใด ประเทศแห่งฝามือเป็นต้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่รู้ว่า มันเหลวท่วมทับเราตั้งอยู่ แม้มันเหลวก็ไม่รู้ว่า เราท่วมทับประเทศมีฝ่ามือเป็นต้นตั้งอยู่ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่ามันเหลวที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติเหลว มีอาการเกาะกุม ชื่อว่าเป็นอาโปธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการเขโฬ (น้ำลาย)               
               เขโฬ น้ำลาย เมื่อมีปัจจัยที่จะให้เกิดน้ำลายอย่างใดอย่างหนึ่ง มันจะไหลจากกระพุ้งแก้มทั้ง ๒ มาตั้งอยู่ที่ลิ้น บรรดาน้ำลายนั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า บ่อใกล้ฝั่งแม่น้ำ มีน้ำไหลมาไม่ขาดสาย พื้นบ่อย่อมไม่รู้ว่า น้ำตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในบ่อ ดังนี้ฉันใด พื้นลิ้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่รู้ว่า น้ำลายไหลจากกระพุ้งแก้มทั้ง ๒ มาตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำลายเล่าก็ไม่รู้ว่า เราไหลจากกระพุ้งแก้มทั้ง ๒ มาตั้งอยู่ที่พื้นลิ้น ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าน้ำลายที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติเหลว มีอาการเกาะกุม ชื่อว่าอาโปธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการสิงฺฆาณิกา (น้ำมูก)               
               สิงฺฆาณิกา น้ำมูก ในเวลาที่มันเกิด มันจะตั้งอยู่เต็มโพรงจมูกบ้าง ่ย่อมไหลออกบ้าง ในน้ำมูกนั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อช้อนหอยที่เขาตักในภาชนะที่เต็มด้วยนมส้มบูด ช้อนหอยย่อมไม่รู้ว่า นมส้มบูดตั้งอยู่ในเรา แม้นมส้มบูดก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในช้อนหอย ดังนี้ฉันใด โพรงจมูกก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่รู้ว่า น้ำมูกตั้งอยู่ในพวกเรา แม้น้ำมูกเล่าก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในโพรงจมูก ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าน้ำมูกที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติเหลว มีลักษณะเกาะกุม ชื่อว่าอาโปธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการลสิกา (ไขข้อ)               
               ลสิกา ไขข้อทำกิจหยอดข้อต่อกระดูก ตั้งอยู่ที่ข้อต่อ ๑๘๐ ข้อ ในไขข้อนั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อเอาน้ำมันหยอดเพลารถ เพลารถย่อมไม่รู้ว่า มีน้ำมันหยอดเราอยู่ แม้น้ำมันก็ไม่รู้ว่า เราหยอดเพลารถอยู่ ดังนี้ฉันใด ข้อต่อกระดูก ๑๘๐ ข้อก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่รู้ว่า ไขข้อหยอดพวกเราอยู่ แม้ไขข้อเล่าก็ไม่รู้ว่า เราหยอดข้อต่อ ๑๘๐ ข้ออยู่ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าไขข้อที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญไม่ใช่สัตว์ เป็นธรรมชาติเหลว มีอาการเกาะกุม ชื่อว่าอาโปธาตุ ดังนี้.

               ว่าด้วยวิธีมนสิการมุตฺตํ (น้ำมูตร)               
               มุตฺตํ (น้ำมูตร) ตั้งอยู่ภายในกระเพาะปัสสาวะ ในน้ำมูตรนั้น พระโยคีพึงมนสิการว่า เมื่อหม้อเกลือคว่ำปากถูกทิ้งไว้ในน้ำคลำ หม้อเกลือย่อมไม่รู้ว่า รสน้ำคลำตั้งอยู่ในเรา แม้รสน้ำคลำก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในหม้อเกลือ ดังนี้ฉันใด กระเพาะปัสสาวะก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่รู้ว่า น้ำมูตรตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำมูตรเล่าก็ไม่รู้ว่า เราตั้งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ดังนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นจากความคิดและพิจารณาซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าน้ำมูตรที่เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สตว์ เป็นธรรมชาติเหลว มีอาการเกาะกุม ชื่อว่าอาโปธาตุ ดังนี้.
               คำว่า ยํ วา ปน นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาอาโปธาตุในโกฏฐาส ๓ ที่เหลือ.

               นิเทศแห่งอาโปธาตุภายนอก               
               พึงทราบวินิจฉัยนิเทศอาโปธาตุภายนอก ต่อไป.
               รสที่อาศัยรากไม้เกิดขึ้น ชื่อว่า มูลรส (รสรากไม้). แม้ในรสทั้งหลายมีรสเกิดแต่ลำต้นไม้เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. วัตถุมีนมสดเป็นต้นแจ่มแจ้งแล้วทั้งหมดทีเดียว แต่ในที่นี้ไม่มีกำหนดแน่นอนเหมือนในสิกขาบทว่าด้วยเภสัช. น้ำนมอย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าน้ำนมนั่นแหละ. แม้ในบทที่เหลือทั้งหลาย ก็นัยนี้แล.
               บทว่า ภุมฺมานิ (พื้นดิน) ได้แก่ น้ำที่อยู่ในบ่อเป็นต้น.
               บทว่า อนฺตลิกฺขานิ (อากาศ) ได้แก่ น้ำฝนที่ยังไม่ตกถึงแผ่นดิน.
               บทว่า ยํ วา ปน (ก็หรือว่า น้ำใด) ได้แก่ น้ำหิมะ น้ำยังกัปให้พินาศ น้ำรองแผ่นดินเป็นต้นจัดเข้าฐานะในเยวาปนกนัย ในที่นี้.

               นิเทศเตโชธาตุภายใน               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศเตโชธาตุ ต่อไป.
               ที่ชื่อว่า เตโช (ธาตุไฟ) ด้วยสามารถแห่งความร้อน. เตโชนั่นแหละชื่อว่า เตโชคตํ (ธรรมชาติที่ร้อน) เพราะเป็นธรรมชาติถึงความเป็นของร้อน. บทว่า อุสฺมา (ความอุ่น) ได้แก่ อาการร้อน. ความอุ่นนั่นเอง ชื่อว่า อุสฺมาคตํ (ธรรมชาติที่อุ่น) เพราะเป็นธรรมชาติถึงความเป็นอาการร้อน.
               บทว่า เยน จ ได้แก่ ธรรมชาติที่ร้อนอันกำเริบแล้ว.
               บทว่า สนฺตปฺปติ (ย่อมร้อน) ได้แก่ กายนี้ย่อมร้อน คือเกิดไออุ่นโดยภาวะที่มีความแก่สิ้นวันหนึ่งเป็นต้น.
               คำว่า เยน จ ชิรยติ (เตโชธาตุทำให้ทรุดโทรม) ได้แก่ กายนี้ย่อมทรุดโทรมย่อมถึงความขาดแคลนแห่งอินทรีย์ สิ้นกำลัง และภาวะมีหนังเหี่ยวและผมหงอกเป็นต้น ด้วยธาตุใด.
               คำว่า เยน จ ปริฑยฺหติ (เตโชธาตุที่ทำให้เร่าร้อน) ได้แก่ กายนี้ถูกธาตุใดที่กำเริบแผดเผา และบุคคลนั้นก็จะครำครวญว่า เราร้อน เราร้อน ดังนี้ ก็จะหวังเอาเนยใสที่ชำระตั้งร้อยครั้งและจันทน์แดงเป็นต้นมาไล้ทา และลมจากพัดใบตาล.
               คำว่า เยน จ อสิตปีตขายิตสายิตํ สมฺมา ปริณามํ คจฺฉติ (เตโชธาตุที่ทำให้ของกินของดื่มของเคี้ยวของลิ้มถึงความย่อมไปด้วยดี) ความว่า ของกินมีข้าวสุกเป็นต้นก็ดี ของดื่มมีน้ำดื่มเป็นต้นก็ดี ของเคี้ยวมีของเคี้ยวที่เป็นแป้งก็ดี ของลิ้มมีผลมะม่วงสุกน้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้นก็ดี ย่อมถึงการย่อย คือย่อมละลายไปโดยความเป็นรสเป็นต้น ด้วยธาตุใด. อนึ่ง ในเตโชธาตุ ๔ เหล่านี้ เตโชธาตุ ๓ ข้างต้นมีสมุฏฐาน ๔ อย่าง เตโชธาตุหลังมีกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว.
               วรรณนาบทในเตโชธาตุนี้มีเพียงเท่านี้.               

               ว่าด้วยวิธีมนสิการเตโชธาตุ               
               ก็วิธีมนสิการเตโชธาตุ มีดังต่อไปนี้.
               ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ย่อมมนสิการว่า กายนี้ย่อมร้อน (อบอุ่น) ด้วยธาตุใด ธาตุนี้เป็นโกฏฐาส (ส่วน) หนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ มีอาการทำให้ร้อน ชื่อว่าเตโชธาตุ ดังนี้ ย่อมมนสิการว่ากายนี้ย่อมทรุดโทรมด้วยธาตุใด ย่อมเร่าร้อนด้วยธาตุใด ย่อมยังของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้มให้ถึงการย่อยด้วยดี ด้วยธาตุใด ธาตุนี้เป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ มีอาการทำให้ร้อน ชื่อว่าเตโชธาตุ ดังนี้.
               บทว่า ยํ วา ปน (ก็หรือธาตุใด) ความว่า ในสรีระนี้มีอุตุ (คือไออุ่น) ชนิดหนึ่งเป็นปกติ อุตุนั้นก็รวมเข้าฐานะของเยวาปนกนัย.

               นิเทศเตโชธาตุภายนอก               
               ไฟมีไม้เป็นเชื้อลุกโพลงเพราะอาศัยไม้ ชื่อว่ากัฏฐัคคิ (ไฟฟืน). แม้ในคำมีอาทิว่าไฟสะเก็ดไม้ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สงฺการคฺคิ (ไฟหยากเยื่อ) ได้แก่ ไฟที่บุคคลลากเอาหยากเยื่อมาทำให้โพลงขึ้น ชื่อว่าไฟหยากเยื่อ.
               บทว่า อินฺทคฺคิ ได้แก่ ไฟอสนีบาต (ฟ้าผ่า).
               บทว่า อคฺคิสนฺตาโป (ความร้อนแห่งไฟ) ได้แก่ ความร้อนของเปลวไฟ หรือของถ่านไฟที่ปราศจากเปลว.
               บทว่า สุริยสนฺตาโป (ความร้อนแห่งดวงอาทิตย์) ได้แก่ แดด. ความร้อนในกองฟืน. ในบทแม้ที่เหลือก็นัยนี้แหละ.
               บทว่า ยํ วา ปน (ก็หรือว่าไฟธาตุใด) ได้แก่ ไฟไหม้เปรต ไฟที่ยังกัปให้พินาศ และไฟในนรกเป็นต้นก็รวมเข้าฐานะของเยวาปนกนัยในที่นี้.

               นิเทศวาโยธาตุภายใน               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศวาโยธาตุ ต่อไป.
               ที่ชื่อว่า วาโย ด้วยสามารถความพัดไปมา วาโยนั่นแหละ ชื่อว่า วาโยคตํ (ธรรมชาติที่พัดไปมา) เพราะถึงความเป็นวาโย.
               บทว่า ถมฺภิตตฺตํ รูปสฺส (ความเคร่งตึงแห่งรูป) ได้แก่ ความเคร่งตึงแห่งอวินิโภครูป (รูปที่แยกจากกันไม่ได้ ๘ รูป).
               บทว่า อุทฺธงฺคมา วาตา (ลมพัดขึ้นเบื้องบน) ได้แก่ ลมพัดขึ้นข้างบนทำให้อาเจียนและสะอึกเป็นต้น.
               บทว่า อโธคมา วาตา (ลมพัดลงเบื้องต่ำ) ได้แก่ ลมพัดลงเบื้องต่ำซึ่งยังอุจจาระและปัสสาวะเป็นต้นให้ออกไป.
               บทว่า กุจฺฉิสยา วาตา (ลมในท้อง) ได้แก่ ลมที่อยู่ภายนอกลำไส้ใหญ่.
               บทว่า โกฏฐาสยา วาตา (ลมในไส้) ได้แก่ ลมภายในไส้ใหญ่ทั้งหลาย.
               บทว่า องฺคมงฺคานุสาริโน วาตา (ลมพัดไปตามตัว) ได้แก่ ลมที่พัดไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ในสรีระทั้งสิ้น โดยพัดไปตามช่องของเส้นเอ็น ทำให้เกิดงอมือและเหยียดมือเป็นต้น.
               บทว่า สตฺถกวาตา (ลมศัสตรา) ได้แก่ ลมที่พัดไป เหมือนเอากรรไกรตัดข้อต่อและเส้นเอ็น.
               บทว่า ขรุกวาตา (ลมมีดโกน) ได้แก่ ลมผ่าหัวใจ เหมือนผ่าด้วยมีดโกน.
               บทว่า อุปฺปลกวาตา (ลมเพิกหัวใจ) ได้แก่ ลมที่ทำลายเนื้อหัวใจนั่นแหละ.
               บทว่า อสฺสาโส (ลมหายใจเข้า) ได้แก่ ลมจมูกเข้าไปในภายใน.
               บทว่า ปสฺสาโส (ลมหายใจออก) ได้แก่ ลมจมูกออกไปภายนอก. ก็ลมในภายในนี้ ลมทั้งหมดข้างต้นมีสมุฏฐาน ๔ ลมหายใจเข้าลมหายใจออกมีจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว.
               การพรรณนาบทในธาตุนี้ มีเพียงเท่านี้.               

               ว่าด้วยวิธีมนสิการวาโยธาตุ               
               อนึ่ง วิธีมนสิการมีดังต่อไปนี้.
               ภิกษุในพระศาสนานี้กำหนดลมทั้งหลายอันต่างด้วยลมพัดขึ้นเบื้องบนเป็นต้น ด้วยสามารถการพิจารณาลมพัดขึ้นเบื้องบนเป็นต้นแล้ว มนสิการว่า ขึ้นชื่อว่าลมพัดขึ้นเบื้องบนเป็นโกฏฐาสหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากตะ เป็นของสูญ ไม่ใช่สัตว์ มีอาการเคร่งตึง ชื่อว่าวาโยธาตุ ดังนี้. แม้ในลมที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ยํ วา ปน (ก็หรือลมใด) ได้แก่ ลมที่พัดไปในโกฏฐาสวาโยธาตุที่เหลือ ก็รวมเข้าฐานะของเยวาปนกนัยในที่นี้.

               นิเทศวาโยธาตุภายนอก               
               บทว่า ปุรตฺถิมา วาตา (ลมตะวันออก) ได้แก่ ลมที่พัดมาจากทิศตะวันออก.
               แม้ในลมที่พัดมาจากทิศตะวันตก ทิศเหนือและทิศใต้ก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สรชา วาตา (ลมมีฝุ่นละออง) ได้แก่ ลมพัดไปพร้อมกับฝุ่นละออง ชื่อว่าลมมีฝุ่นละออง.
               บทว่า อรชา วาตา (ลมไม่มีฝุ่นละออง) ได้แก่ ลมอย่างเดียวปราศจากฝุ่นละออง ชื่อว่าลมไม่มีฝุ่นละออง.
               บทว่า สีตา (ลมหนาว) ได้แก่ ลมที่มีฤดูหนาวเป็นสมุฏฐานตั้งขึ้นในระหว่างเมฆที่เย็น.
               บทว่า อุณฺหา (ลมร้อน) ได้แก่ ลมที่มีฤดูร้อนเป็นสมุฏฐานตั้งขึ้นในภายในเมฆที่ร้อน.
               บทว่า ปริตฺตา (ลมอ่อน) ได้แก่ ลมพัดมาอ่อนๆ คือพัดมาเบาๆ.
               บทว่า อธิมตฺตา (ลมแรง) ได้แก่ ลมที่พัดมาแรง.
               บทว่า กาฬา (ลมดำ) ได้แก่ ลมที่ตั้งขึ้นภายในเมฆดำ อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า คำว่า ลมดำ นี้ เป็นชื่อของลมที่พัดทำให้ผิวดำดังนี้ก็มี.
               บทว่า เวรมฺภวาตา (ลมบน)๑- ได้แก่ ลมพัดไปเกินหนึ่งโยชน์.
               บทว่า ปกฺขวาตา (ลมกระพือปีก) ได้แก่ ลมที่ตั้งขึ้นแต่การกระพือปีกโดยที่สุดแม้แมลงวัน.
               บทว่า สุปณฺณวาตา ได้แก่ ลมครุฑ แม้ลมครุฑนี้จะเป็นลมเกิดแต่ปีกก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านก็ถือไว้ส่วนหนึ่งด้วยสามารถเป็นลมแรง.
               บทว่า ตาลวณฺฑวาตา (ลมใบตาล) ได้แก่ ลมที่เกิดแต่ใบตาลหรือวัตถุมีสัณฐานกลมอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า วิธูปนวาตา (ลมใบพัด) ได้แก่ ลมที่เกิดขึ้นด้วยใบพัด ก็ลมที่เกิดแต่ใบตาลและลมใบพัดเหล่านี้ ย่อมยังลมแม้ไม่เกิดให้เกิดขึ้น แม้ที่เกิดแล้วก็ให้เปลี่ยนไป.
               ในบทว่า ยํ วา ปน นี้ ได้แก่ ลมที่เหลือ เว้นลมที่มาในบาลีแล้วรวมเข้าในฐานะเป็นเยวาปนกนัย.
____________________________
๑- คำว่า เวรมฺภวาตา หมายถึงลมพายุใหญ่.

               นิเทศอากาสธาตุภายใน               
               พึงทราบวินิจฉัยนิเทศอากาสธาตุ ต่อไป.
               ที่ชื่อว่า อากาส เพราะอรรถว่าย่อมไถไม่ได้ โดยอรรถว่ากระทบไม่ได้. อากาสนั่นเอง ชื่อว่า อากาสคตํ (ธรรมชาติอันนับว่าอากาส) เพราะถึงภาวะเป็นอากาส.
               ที่ชื่อว่า อฆํ (ความว่างเปล่า) เพราะเป็นสิ่งที่กระทบไม่ได้. บทว่า วิวโร (ช่องว่าง) ได้แก่ ช่องในระหว่าง ช่องว่างนั้นนั่นเอง ชื่อว่า วิวรคตํ (ธรรมชาติอันนับว่าช่องว่าง).
               บทว่า อสมฺผุฏฺฐํ มํสโลหิเตหิ (ที่อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง) ได้แก่ ที่อันเนื้อและเลือดไม่ติดกัน. ก็บทว่า กณฺณจฺฉิทฺทํ (ช่องหู) เป็นต้นนี้ เป็นบทแสดงประเภทธรรมคือเนื้อและเลือดไม่ติดกันนั้นนั่นแหละ. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กณฺณจฺฉิทฺทํ ได้แก่ ช่อง คือโพรงในหูเป็นโอกาส (คือช่องว่าง) ที่เนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง.
               แม้ในคำที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า เยน๑- (ด้วยช่องใด) ความว่า สัตว์ย่อมกลืนกินสิ่งที่ควรมีของกินเป็นต้นนี้ ให้เข้าไปภายใน ด้วยช่องใด.
               บทว่า ยตฺถ (ที่ใด) ความว่า อาหารที่กลืนกินเข้าไป ๔ อย่างนี้นั่นแหละ ย่อมตั้งอยู่ในโอกาส (ช่องว่าง) กล่าวคือในภายในกระเพาะอันใด.
               บทว่า เยน (โดยช่องใด) ความว่า อาหาร ๔ อย่างนั้นแม้ทั้งหมดซึ่งย่อยแล้ว ถึงความเป็นกากแล้ว ย่อมออกไปโดยช่องใด ช่องนั้นจากเพดานท้องถึงทวารหนักมีประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว เป็นที่อันเนื้อและเลือดไม่ถูกต้อง คือเป็นที่อันเนื้อและเลือดไม่ติดกัน พึงทราบว่า เป็นอากาสธาตุ.
               ในบทว่า ยํ วา ปน นี้ ได้แก่ ช่องว่างทั้งหมดนี้ คือช่องว่างระหว่างหนัง ช่องว่างระหว่างเนื้อ ช่องว่างระหว่างเอ็น ช่องว่างระหว่างกระดูก ช่องว่างระหว่างขน ท่านรวมเข้าฐานะของเยวาปนกนัย.
____________________________
๑- บทว่า เยน บทว่า ยตฺถ และบทว่า เยน โดยลำดับ สำนวนในพระไตรปิฎกฉบับแปลท่านตัดออก แต่ถ้าไม่ตัดออกจะมีเนื้อความตามที่ท่านอรรถกถากล่าวไว้นี้.

               นิเทศอากาสธาตุภายนอก               
               พึงทราบวินิจฉัยอากาสธาตุภายนอก ต่อไป.
               คำว่า อสมฺผุฏฺฐํ จตูหิ มหาภูเตหิ (ที่อันมหาภูตรูป ๔ ไม่ถูกต้อง) นั้น บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นช่องฝาเรือน ช่องประตูเป็นต้นอันมหาภูตรูป ๔ ไม่ติดกัน. เมื่อพระโยคาวจรทำบริกรรมในอากาสใด ฌานหมวด ๔ หรือฌานหมวด ๕ ย่อมเกิดขึ้น คำนั้น ท่านกล่าวไว้แล้วด้วยคำที่เป็นอากาสภายนอกนี้.

               นิเทศวิญญาณธาตุ               
               พึงทราบวินิจฉัยนิเทศวิญญาณธาตุ ต่อไป.
               ธาตุกล่าวคือจักขุวิญญาณ ชื่อว่าจักขุวิญญาณธาตุ. แม้ในธาตุที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               เมื่อพระโยคาวจรกำหนดธาตุ ๖ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว ธาตุ ๑๘ ชื่อว่าเป็นอันกำหนดแล้วได้อย่างไร? คือโผฏฐัพพธาตุย่อมเป็นอันท่านถือเอาด้วยศัพท์ว่า ปถวี เตโช วาโย นั่นแหละก่อน. ธรรมธาตุเป็นอันท่านถือเอาด้วยศัพท์ว่า อาโปธาตุและอากาสธาตุนั้นเป็นมโนธาตุ๑- เป็นอันท่านถือเอาด้วยศัพท์ว่าวิญญาณ เพราะความที่มโนธาตุนั้นเป็นธรรมเกิดก่อนและเกิดหลังของวิญญาณธาตุนั้นทีเดียว มีจักขุวิญญาณธาตุเป็นต้นมาแล้วในสูตรนั่นแหละ ธาตุ ๙ อย่างที่เหลือบัณฑิตพึงนำมาแสดง.
____________________________
๑- มโนธาตุ ๓ คือ อเหตุกกิริยา (ปัญจทวาราวัชชนจิต) ๑ ดวง อเหตุกวิบาก (สัมปฏิฉันนจิต) ๒ ดวง.

               จริงอยู่ จักขุธาตุอันเป็นที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณธาตุนั้น และรูปธาตุอันเป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณธาตุนั้น ย่อมเป็นอันท่านถือเอาด้วยศัพท์ว่า จักขุวิญญาณธาตุ ด้วยประการฉะนี้ โสตธาตุเป็นต้นก็ย่อมเป็นอันท่านถือเอาด้วยศัพท์ว่า โสตวิญญาณธาตุเป็นต้น ธาตุแม้ ๑๘ ก็ย่อมเป็นอันถือเอาแล้วด้วยประการฉะนี้.
               บรรดาธาตุ ๑๘ เหล่านั้น ท่านกำหนดรูปธาตุไว้ ๑๐ กำหนดอรูปธาตุไว้ ๗ ในธรรมธาตุ ท่านกำหนดเอารูปธาตุก็มี กำหนดเอาอรูปธาตุก็มี ด้วยเหตุนี้ การกำหนดรูปธาตุจึงมี ๑๐ ครึ่ง (๑๐ ๑/๒) กำหนดอรูปธาตุจึงมี ๗ ครึ่ง (๗ ๑/๒) เพราะฉะนั้น การถือเอารูปธาตุแลอรูปธาตุ ชื่อว่าท่านถือเอาแล้ว. บัณฑิตพึงแสดงขันธ์ ๕ ที่เป็นรูปและอรูป (อย่างนี้คือ) ธรรมที่เป็นรูปและอรูปนั้นเป็นทุกขสัจจะ ตัณหาในภพก่อนที่เป็นเหตุให้ทุกขสัจจะนั้นตั้งขึ้น เป็นสมุทยสัจจะ ความไม่เป็นไปแห่งทุกขสัจจะและสมุทยสัจจะทั้ง ๒ เป็นนิโรธสัจจะ มรรคอันเป็นเหตุรู้นิโรธสัจจะนั้น เป็นมรรคสัจจะ กรรมฐานคือสัจจะ ๔ นี้ ด้วยประการฉะนี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมเป็นเครื่องออกเพราะบรรลุธรรมอันสูงสุดจนถึงพระอรหัตของภิกษุผู้มุ่งมั่นด้วยธาตุ ๑๘.

               นิเทศธาตุ ๖ นัยที่สอง               
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงธาตุ ๖ นัยที่สอง จึงตรัสว่า อปราปิ ฉ ธาตุโย (ธาตุ ๖ อีกนัยหนึ่ง) เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น คำว่า สุขธาตุ ทุกฺขธาตุ (สุขธาตุ ทุกขธาตุ) ได้แก่ สุขและทุกข์ที่อาศัยกายประสาทเกิด ทรงแสดงกระทำให้เป็นของคู่กันด้วยอำนาจความเป็นปฏิปักษ์กัน.
               จริงอยู่ สุขเป็นปฏิปักษ์ (เป็นธรรมตรงกันข้าม) ต่อทุกข์ ทุกข์ก็เป็นปฏิปักษ์ต่อสุข. ฐาน (ที่) อันสุขแผ่ไปแล้วมีประมาณเท่าไร (ในกายนี้) ทุกข์ก็แผ่ไปมีประมาณเท่านั้น. ฐานอันทุกข์แผ่ไปแล้วมีประมาณเท่าไร สุขก็แผ่ไปมีประมาณเท่านั้น.
               คำว่า โสมนสฺสธาตุ โทมนสฺสธาตุ (โสมนัสสธาตุ โทมนัสสธาตุ) แม้นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำให้เป็นคู่กัน เหมือนอย่างสุขและทุกข์นั่นแหละ.
               จริงอยู่ โสมนัสเป็นปฏิปักษ์ต่อโทมนัส. โทมนัสก็เป็นปฏิปักษ์ต่อโสมนัส ฐานที่โสมนัสแผ่ไปในสรีระนี้มีประมาณเท่าไร โทมนัสก็แผ่ไปมีประมาณเท่านั้น ฐานที่โทมนัสแผ่ไปมีประมาณเท่าไร โสมนัสก็แผ่ไปมีประมาณเท่านั้น.
               อนึ่ง คำว่า อุเปกฺขาธาตุ อวิชฺชาธาตุ (อุเปกขาธาตุ อวิชชาธาตุ) ๒ บทนี้ ตรัสกระทำให้คู่กันด้วยอำนาจเป็นธรรมคล้ายกัน. จริงอยู่ ธาตุทั้ง ๒ นี้เป็นธาตุคล้ายกัน เพราะความเป็นธาตุไม่แจ่มแจ้ง.
               บรรดาธาตุเหล่านั้น กายธาตุที่ประกอบกับสุขและทุกข์นั้นเป็นที่อาศัยให้กายวิญญาณเกิด และโผฏฐัพพธาตุที่เป็นอารมณ์ประกอบกับสุขและทุกข์นั้น ย่อมเป็นอันถือเอาด้วยศัพท์ว่าสุขทุกขธาตุนั่นเอง. มโนวิญญาณธาตุที่สัมปยุตโสมนัสและโทมนัสนั้น ย่อมเป็นอันถือเอาด้วยศัพท์ว่า โสมนัสและโทมนัสธาตุ ธรรมธาตุถือเอาด้วยอวิชชาธาตุ. จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุและมโนธาตุ (๓) และจักขุธาตุรูปธาตุเป็นต้นที่เป็นวัตถุ (เป็นที่อาศัยให้วิญญาเกิด) และเป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณธาตุเป็นต้นเหล่านั้นนั่นแหละ เป็นอันถือเอาแล้วด้วยศัพท์ว่า อุเปฺกขาธาตุ เพราะฉะนั้น ธาตุแม้ ๑๘ อย่างจึงเป็นอันถือเอาแล้วด้วยประการฉะนี้.
               บัดนี้ พึงทราบคำทั้งหมดมีอาทิว่า บรรดาธาตุ ๑๘ เหล่านั้น ท่านกำหนดรูปธาตุไว้ ๑๐ อย่าง โดยนัยที่กล่าวไว้ในหนหลังนั่นเอง และพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสธรรมเป็นเครื่องออกไปแก่ภิกษุรูปหนึ่งผู้บรรลุธรรมอันสูงสุดจนถึงพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.
               คำว่า ตตฺถ กตมา สุขธาตุ ยํ กายิกํ สาตํ (ในธาตุ ๖ นั้น สุขธาตุ เป็นไฉน ความสบายกาย ความสุขใจ) เป็นต้น มีนัยตามที่กล่าวไว้ในหนหลังนั่นแล.

               นิเทศธาตุ ๖ นัยที่สาม               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิเทศธาตุ ๖ นัยที่สาม ต่อไป.
               คำว่า กาม ได้แก่ กาม ๒ คือ วัตถุกามและกิเลสกาม. บรรดากามทั้ง ๒ นั้น ธาตุที่ประกอบด้วยกาม หมายถึงกิเลสกาม ชื่อว่ากามธาตุ กามธาตุนี้เป็นชื่อของกามวิตก (ความตรึกในกาม) ธาตุคือกามนั่นเอง หมายถึงวัตถุกาม ชื่อว่ากามธาตุ คำนี้เป็นชื่อของกามาวจรธรรม.
               ธาตุที่ประกอบด้วยพยาบาท ชื่อว่าพยาปาทธาตุ คำว่า พยาปาทธาตุ นี้เป็นชื่อของพยาปาทวิตก (ความตรึกในพยาบาท) ธาตุคือพยาบาทนั้นเอง ชื่อว่าพยาปาทธาตุ. คำว่า พยาปาทธาตุ นี้เป็นชื่อของปฏิฆะมีอาฆาตวัตถุ ๑๐#- ประการ.
               ธาตุที่ประกอบด้วยวิหิงสา (ความเบียดเบียน) ชื่อว่าวิหิงสาธาตุ คำว่า วิหิงสาธาตุ นี้เป็นชื่อของวิหิงสาวิตก (ความตรึกในการเบียดเบียน) ธาตุคือวิหิงสานั่นเอง ก็ชื่อว่าวิหิงสาธาตุ คำนี้เป็นชื่อของการเบียดเบียนสัตว์อื่น.
____________________________
#- อาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ คือ ๑. อาฆาตโดยคิดว่าเขาได้เคยทำความเสื่อมให้เรา ๒. อาฆาตโดยคิดว่าเขากำลังทำความเสื่อมให้เรา ๓. อาฆาตโดยความคิดว่า เขาจะทำความเสื่อมให้เรา ๔. อาฆาตโดยความคิดว่า เขาได้เคยทำความเสื่อมให้คนที่เรารัก ๕. อาฆาตโดยคิดว่า เขากำลังทำความเสื่อมให้คนที่เรารัก ๖. อาฆาตโดยคิดว่า เขาจะทำความเสื่อมให้คนที่เรารัก ๗. อาฆาตโดยคิดว่า เขาเคยทำคุณประโยชน์แก่คนที่เราชัง ๘. อาฆาตโดยคิดว่าเขากำลังทำคุณประโยชน์แก่คนที่เราชัง ๙. อาฆาตโดยคิดว่า เขาทำคุณประโยชน์แก่คนที่เราชัง ๑๐. อาฆาตในฐานอันไม่ควร มีการเดินสะดุดเป็นต้น.

               อนึ่ง วิหิงสานี้ เพราะยังไม่มา (ยังไม่ได้กล่าวไว้) ในหนหลัง จึงควรทราบโดยการจำแนกอรรถเป็นต้น ดังต่อไปนี้.
               คำว่า วิหึสํ มีวิเคราะห์ว่า ที่ชื่อว่าวิหิงสา เพราะอรรถว่ามีเจตนาเป็นเหตุเบียดเบียนสัตว์ หรือสัตว์มีความเบียดเบียน. วิหิงสานั้น บัณฑิตพึงทราบว่า มีความเบียดเบียนเป็นลักษณะ หรือว่ามีความเป็นปฏิปักษ์ต่อกรุณาเป็นลักษณะ มีความให้เกิดความหวาดเสียวในสันดานของสัตว์อื่นเป็นรส หรือว่า มีความกำจัดความกรุณาในสันดานของตนเป็นรส มีความเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์เป็นปัจจุปัฏฐาน มีปฏิฆะเป็นปทัฏฐาน.
               อโลภะ (ความไม่โลภ) เรียกว่าเนกขัมมะ เพราะออกจากความโลภ. ปฐมฌานก็เรียกว่าเนกขัมมะ เพราะออกจากนิวรณ์ทั้งหลาย กุศลทั้งหมดก็เรียกว่าเนกขัมมะ เพราะออกจากอกุศลทั้งหมด. ธาตุประกอบด้วยเนกขัมมะ ชื่อว่าเนกขัมมธาตุ คำว่าเนกขัมมธาตุนี้เป็นชื่อของเนกขัมมวิตก.
               ธาตุที่ประกอบด้วยความไม่พยาบาท ชื่อว่าอัพยาปาทธาตุ คำว่าอัพยาปาทธาตุนี้เป็นชื่อของเมตตา. ธาตุที่ประกอบความไม่เบียดเบียน ชื่อว่าอวิหิงสาธาตุ คำว่า อวิหิงสาธาตุนี้เป็นชื่อของอวิหิงสาวิตก ธาตุคืออวิหิงสานั้นเอง ชื่อว่าอวิหิงสาธาตุ คำว่าอวิหิงสาธาตุนี้เป็นชื่อของกรุณา.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะแสดงเนื้อความ (ธาตุ ๖) นั้นนั่นแหละจึงเริ่มบทภาชนะ (บทขยายความ) ว่า ตตฺถ กตมา กามธาตุ (ในธาตุ ๖ นั้น กามธาตุเป็นไฉน) เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น บทว่า ปฏิสํยุตฺโต (ประกอบ) ที่ชื่อว่า ปฏิสํยุตฺโต (ประกอบ) ด้วยอำนาจสัมปโยคะ.๑-
____________________________
๑- สัมปโยคะ ประกอบด้วยองค์ ๔ คือเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีอารมณ์อันเดียวกันและมีวัตถุที่อาศัยเกิดอันเดียวกัน.

               บทว่า ตกฺโก วิตกฺโก (ความตรึกความตรึกอย่างแรง) เป็นต้นมีเนื้อความตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. คำว่า วิเหเฐติ แปลว่า ย่อมเบียดเบียน คือย่อมให้รับทุกข์. คำว่า เหฐนา (ความข่มเหง) ได้แก่ การก่อให้เกิดความทุกข์ โดยการเบียดเบียนด้วยฝ่ามือเป็นต้น ความข่มเหงอย่างแรง ชื่อว่า วิเหฐนา เจตนาเป็นเหตุเบียดเบียน ชื่อว่า หิงสนา เจตนาเป็นเหตุเบียดเบียนมีกำลัง ชื่อว่า วิหิงสนา.
               คำว่า โรสนา ได้แก่ ความขึ้งเคียด. คำว่า วิโรสนา ได้แก่ เคียดแค้น. ในบททั้งหมดท่านเพิ่มบท ด้วยวิอุปสรรค. เจตนาเป็นเหตุเข้าไปเบียดเบียน ชื่อว่าอุปฆาตะ ความทำร้ายผู้อื่น ชื่อว่าปรูปฆาตะ.
               เจตนาเป็นเหตุมีไมตรี ชื่อว่า เมตฺติ (ความมีไมตรี) อาการแห่งความมีไมตรี ชื่อว่า เมตฺตายนา (กิริยาที่มีความไมตรี) ความเป็นของบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเมตตา ของบุคคลผู้ประกอบด้วยเมตตา ชื่อว่า เมตฺตายิตตฺตํ (สภาพที่มีไมตรี) ความหลุดพ้นทางใจของผู้หลุดพ้นจากพยาบาทชื่อว่า เจโตวิมุตฺติ ในที่นี้เมตตาที่กล่าวไว้ ๓ บทแรก๑- ถึงอุปจารสมาธิบ้าง ถึงอัปปนาสมาธิบ้าง บทหลัง (คือ เจโตวิมุตติ) ตรัสเมตตาไว้ถึงอัปปนาเท่านั้น.
____________________________
๑- เมตตาที่กล่าวไว้ ๓ บทแรก คือ เมตฺติ (ความมีไมตรี) ๑ เมตฺตายนา (กิริยาที่มีไมตรี) ๑ เมตฺตายิตตฺตํ (ความเป็นของบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยเมตตาของบุคคลผู้ประกอบด้วยเมตตา) ๑.

               เจตนาเป็นเหตุให้เอ็นดู ชื่อว่าความกรุณา อาการของความกรุณา ชื่อว่า กรุณายนา (กิริยาที่กรุณา) ภาวะของบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกรุณาของบุคคลผู้ประกอบด้วยความกรุณา ชื่อว่า กรุณยิตตฺตํ (สภาพที่กรุณา) ความหลุดพ้นทางใจของผู้หลุดพ้นจากความเบียดเบียน ชื่อว่า เจโตวิมุตฺติ. แม้ในข้อนี้ก็พึงทราบความต่างกันแห่งอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิโดยนัยก่อนนั่นแหละ. อนึ่ง ในบทสุดท้ายแม้ทั้ง ๒ คือ เมตตากรุณา พระองค์ตรัสไว้เพื่อแสดงความแปลกกันของเจโตวิมุตติ.
               อนึ่ง ในบรรดาธาตุ ๖ เหล่านี้ กามวิตกย่อมเกิดขึ้นในเพราะสัตว์ทั้งหลายบ้าง ในเพราะสังขารทั้งหลายบ้าง กามวิตก แม้เกิดขึ้นในเพราะสัตว์และสังขารทั้ง ๒ เป็นการทำลายกรรมบถโดยแท้ แต่ความพยาบาทเกิดขึ้นในสัตว์ทั้งหลายอย่างเดียว ก็ทำลายกรรมบถ นอกนี้ไม่ทำลาย. แม้ในวิหิงสาก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็ในอธิการนี้ มีกถา ๒ คือ สัพพสังคาหิกะ (รวมไว้ทั้งหมด) และอสัมภินนะ (แยกกัน).
               จริงอยู่ แม้พยาปาทธาตุ และวิหิงสาธาตุ ทรงถือเอาด้วยศัพท์ว่า กามธาตุ ก็แลความพยาบาทและวิหิงสานี้แม้ทั้ง ๒ ก็นำออกแล้วๆ จากกามธาตุนั่นเองทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น กถานี้พึงทราบว่าชื่อ สัพพสังคาหิกกถาในที่นี้ก่อน. ส่วนกถาที่ตรัสว่า เว้นพยาปาทและวิหิงสาธาตุแล้ว ธรรมที่เหลือแม้ทั้งหมด เป็นกามธาตุเท่านั้น ดังนี้ นี้ชื่อว่าอสัมภินนกถา.
               อัพยาปาทธาตุ และอวิหิงสาธาตุพระองค์ทรงถือเอาแม้ด้วยศัพท์ว่าเนกขัมมธาตุนั่นแหละ ก็ความไม่พยาบาทและความไม่เบียดเบียนแม้ทั้ง ๒ นั้น พระองค์ก็ทรงนำออกแล้วๆ จากเนกขัมมธาตุมาแสดง เพราะฉะนั้น กถานี้จึงชื่อว่า สัพพสังคาหิกกถา แม้ในที่นี้. กถานี้ว่า อัพยาปาทธาตุและอวิหิงสาธาตุ ที่เหลือ ชื่อว่าเนกขัมมธาตุ ดังนี้ ชื่อว่าอสัมภินนกถา.
               อนึ่ง ธาตุ ๖ เหล่านี้ ทรงถือเอาแล้ว ธาตุ ๑๘ ก็ชื่อว่า ทรงถือเอาแล้วเหมือนกัน เพราะธาตุแม้ทั้งหมดเหล่านั้นอันบุคคลนำออกแล้วๆ จากกามธาตุก็ได้ธาตุ ๑๘ เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เมื่อว่าโดยธาตุหมวด ๖ ทั้งสามหมวด ก็ย่อมได้ธาตุ ๑๘ แต่ถ้าไม่ถือเอาธาตุด้วยอาการอย่างนี้ ก็พึงทราบว่า ในหมวดธาตุ ๖ แต่ละหมวดกระทำให้เป็นหมวดละ ๑๘ โดยนัยที่กล่าวแล้ว แม้ย่นธาตุ ๑๘ ทั้งหมดเหล่านั้นเป็นอันเดียวกัน ก็จะมีเพียง ๑๘ เท่านั้น. ในสุตตันตภาชนีย์นี้ กามธาตุ ๑๖ ที่เป็นไปในภูมิ ๓ มี ๒ ธาตุ เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า วาระว่าด้วยสัมมสนะ (การพิจารณา) ในอธิการแห่งธาตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยประการฉะนี้.
               วรรณนาสุตตันตภาชนีย์ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา วิภังคปกรณ์ ธาตุวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ จบ.
อ่านอรรถกถา 35 / 1อ่านอรรถกถา 35 / 101อรรถกถา เล่มที่ 35 ข้อ 114อ่านอรรถกถา 35 / 124อ่านอรรถกถา 35 / 1118
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=35&A=2064&Z=2251
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=54&A=1401
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=54&A=1401
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :