ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 810อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 836อ่านอรรถกถา 34 / 878อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
นิกเขปกัณฑ์ สุตตันติกทุกะ

               อรรกถานิกเขปกัณฑ์               
               ว่าด้วยนิทเทสวิชชูปมทุกะ               
               นิทเทสบททั้งหลายแห่งสุตตันติกทุกะเหล่านั้น โดยมากมีอรรถตื้นทั้งนั้น เพราะสุตตันติกะทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้จำแนกแสดงโดยใจความในมาติกากถาแล้ว และเพราะนิทเทสบทแม้เหล่านั้น เข้าใจง่ายโดยนัยที่ได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล. แต่ในที่นี้ ข้าพเจ้าจะแสดงเนื้อความที่ต่างกันต่อไป.
               พึงทราบวินิจฉัยในวิชชูปมทุกะก่อน.
               ได้ยินว่า บุรุษผู้มีจักษุเดินทางไปในเวลาราตรีมีเมฆมืด ทางย่อมไม่ปรากฏแก่บุรุษนั้น เพราะความมืด สายฟ้าแลบแล้วขจัดความมืดไป ทีนั้นทางก็ปรากฏแก่เขา เพราะปราศจากความมืด เขาจึงเดินทางต่อไป. แม้ครั้งที่สองความมืดก็ย่อมปกคลุมอีก ทางจึงไม่ปรากฏแก่เขา สายฟ้าแลบแล้วขจัดความมืดนั้น เมื่อปราศจากความมืดแล้ว ทางก็ได้ปรากฏ เขาจึงเดินทางต่อไป ครั้งที่สามความมืดได้ปกคลุมแล้ว ทางก็ไม่ปรากฏ สายฟ้าแลบแล้วก็ขจัดความมืดไป.
               บรรดาข้ออุปมาเหล่านั้น การเริ่มวิปัสสนาของอริยสาวกเพื่อประโยชน์บรรลุโสดาปัตติมรรค เหมือนการเดินทางของบุรุษผู้มีจักษุในเวลาที่มืด ความมืดปิดบังสัจจะ เหมือนเวลาที่ทางไม่ปรากฏในความมืด เวลาที่แสงสว่างคือโสดาปัตติมรรคเกิดขึ้นกำจัดความมืดปิดบังสัจจะ เหมือนเวลาที่สายฟ้าแลบขึ้นกำจัดความมืด เวลาที่สัจจะ ๔ ปรากฏแก่โสดาปัตติมรรค เหมือนเวลาที่ทางปรากฏในการปราศจากความมืด ก็การปรากฏของทางก็คือการปรากฏของบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรคสมังคีนั่นเอง.
               การเริ่มวิปัสสนาของบุคคล เพื่อประโยชน์บรรลุสกทาคามิมรรคเหมือนการดำเนินไปครั้งที่สอง ความมืดปิดบังสัจจะ เหมือนเวลาที่ทางไม่ปรากฏในความมืด เวลาที่แสงสว่างคือสกทาคามิมรรคเกิดขึ้นกำจัดความมืดปิดบังสัจจะ เหมือนเวลาสายฟ้าแลบครั้งที่สองกำจัดความมืด เวลาที่สัจจะ ๔ ปรากฏแก่สกทาคามิมรรค เหมือนเวลาที่ทางปรากฏในการปราศจากความมืด ก็การปรากฏของทางก็คือการปรากฏของบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรคนั่นแหละ.
               การเริ่มวิปัสสนาเพื่อบรรลุอนาคามิมรรค เหมือนบุคคลเดินทางครั้งที่สาม ความมืดอันปิดบังสัจจะ เหมือนทางไม่ปรากฏในเวลามืด เวลาที่แสงสว่างคืออนาคามิมรรคเกิดขึ้นกำจัดความมืดปิดบังสัจจะ เหมือนเวลาที่สายฟ้าแลบกำจัดความมืดครั้งที่สาม เวลาที่สัจจะ ๔ ปรากฏแก่อนาคามิมรรค เหมือนเวลาที่ทางปรากฏในเวลาปราศจากความมืด ก็การปรากฏของทางก็คือการปรากฏของบุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรคนั่นแหละ.
               อนึ่ง แผ่นหินหรือแก้วมณี ชื่อว่าไม่แตกไปด้วยวชิระ (ฟ้าผ่า) ย่อมไม่มี วชิระตกไปในที่ใด ที่นั้นย่อมเป็นอันถูกขจัดแล้วทีเดียว วชิระ เมื่อฟาดไปย่อมฟาดไปมิให้อะไรเหลือ ขึ้นชื่อว่าทางที่วชิระผ่านไปแล้วจะไม่เป็นสิ่งปรากฏอีก ชื่อว่ากิเลสที่อรหัตมรรคไม่ประหาณแล้วก็ย่อมไม่มีอย่างนั้นเหมือนกัน แม้อรหัตมรรคย่อมกำจัดกิเลสทั้งสิ้น คือเมื่อยังกิเลสให้สิ้นไปย่อมให้สิ้นไปโดยไม่เหลือ เหมือนวชิระกำจัดอยู่ฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าการกลับมาเกิดอีกของกิเลสที่อรหัตมรรคประหาณแล้วย่อมไม่มี เหมือนทางที่วชิระผ่านไปแล้ว ไม่กลับเป็นสิ่งปรากฏอีก ฉะนั้น.

               ว่าด้วยนิทเทสพาลทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสพาลทุกะ ต่อไป.
               อหิริกะและอโนตตัปปะปรากฏแล้วในพาลชนทั้งหลาย. อนึ่ง อหิริกะและอโนตตัปปะเหล่านั้นยังเป็นมูลแห่งพาลธรรมที่เหลือ ด้วยว่าคนที่ไม่มีหิริไม่มีโอตตัปปะ ชื่อว่าไม่ทำอกุศลอะไรๆ ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ธรรมทั้ง ๒ เหล่านี้จึงตรัสแยกไว้ก่อนทีเดียว.
               แม้ในธรรมที่เป็นฝ่ายขาว (สุกกธรรม) ก็นัยนี้แหละ. ในกัณหทุกะก็เหมือนกัน.

               ว่าด้วยนิทเทสตปนียทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสตปนียทุกะ ต่อไป.
               บัณฑิตพึงทราบตปนธรรม (ธรรมที่เร่าร้อน) เพราะเหตุที่ทำและเพราะเหตุที่ไม่ทำ.
               จริงอยู่ กายทุจริตเป็นต้น ย่อมให้เร่าร้อนเพราะเหตุที่ทำ กายสุจริตเป็นต้น ย่อมให้เร่าร้อนเพราะเหตุที่ไม่ทำ. จริงอย่างนั้น บุคคลย่อมเดือดร้อนว่า กายทุจริตเรากระทำไว้ และย่อมเดือดร้อนว่า กายสุจริต เรามิได้กระทำไว้ ย่อมเดือดร้อนว่า วจีทุจริตเรากระทำไว้ ฯลฯ ย่อมเดือดร้อนว่า มโนสุจริตเรามิได้ทำไว้. แม้ในอตปนียธรรม (ธรรมที่ไม่เร่าร้อน) ก็นัยนี้แหละ.
               จริงอยู่ บุคคลผู้ทำความดี ย่อมไม่เร่าร้อนว่า กายสุจริตเราทำไว้แล้ว ย่อมไม่เร่าร้อนว่า กายทุจริตเราไม่ทำไว้แล้ว ย่อมไม่เร่าร้อนว่า วจีสุจริตเรากระทำไว้ ฯลฯ ไม่เร่าร้อนว่า มโนทุจริตเราไม่ทำไว้ ดังนี้.

               ว่าด้วยนิทเทสอธิวจนทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสอธิวจนทุกะ ต่อไป.
               บทว่า ยา เตสํ เตสํ ธมฺมานํ (ธรรมนั้นๆ อันใด) ได้แก่ ทรงรวบรวมเอาธรรมทั้งหมด. ที่ชื่อว่าสังขา (การกล่าวขาน) เพราะอันเขาบอก คือย่อมสนทนากัน ย่อมสนทนากันอย่างไร ย่อมสนทนากันด้วยอาการหลายประการอย่างนี้ว่า เรา ของเรา คนอื่น ของคนอื่น ว่าเป็นสัตว์ เป็นภาวะ เป็นบุรุษ เป็นบุคคล เป็นนระ เป็นมานพ ชื่อว่าติสสะ ชื่อว่าทัตตา ว่าเตียง ว่าตั่ง ว่าฟูก ว่าหมอน วิหาร บริเวณ ประตู หน้าต่าง ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าสังขา (การกล่าวขาน).
               ที่ชื่อว่าสมัญญา (การกำหนดรู้) เพราะอรรถว่าย่อมรู้โดยชอบ.
               ย่อมรู้โดยชอบอย่างไร ย่อมรู้ว่า เรา ของเรา ฯลฯ ประตู หน้าต่าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าสมัญญา เพราะอรรถว่าย่อมรู้โดยชอบ.
               ที่ชื่อว่าบัญญัติ เพราะอรรถว่าอันเขาย่อมแต่งตั้ง.
               ที่ชื่อว่าโวหาร เพราะอรรถว่าอันเขาย่อมร้องเรียก ย่อมร้องเรียกอย่างไร ย่อมร้องเรียกว่า เรา ของเรา ฯลฯ ประตู หน้าต่าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าโวหาร.
               บทว่า นามํ (นาม) ได้แก่ นาม ๔ อย่าง คือ
                         ๑. สามัญนาม ชื่อทั่วไป
                         ๒. คุณนาม ชื่อโดยคุณ
                         ๓. กิตติมนาม ชื่อโดยการยกย่อง
                         ๔. อุปปาติกนาม ชื่อตามที่เกิดขึ้น.
               บรรดานาม ๔ อย่างนั้น นามของพระราชาว่า มหาสมมต ดังนี้ เพราะมหาชนในครั้งปฐมกัปประชุมกันตั้งไว้ ชื่อว่าสามัญนาม ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงตรัสไว้ว่า ดูก่อนวาเสฏฐะ อักษรแรกว่ามหาสมมต ดังนี้ เกิดขึ้นเพราะมหาชนสมมติขึ้นแล. นามอันมาแล้วโดยคุณอย่างนี้ว่า พระธรรมกถึก ผู้ทรงบังสุกุลจีวร พระวินัยธร ผู้ทรงพระไตรปิฏก ผู้มีศรัทธา ผู้เลื่อมใสแล้ว ดังนี้ ชื่อว่าคุณนาม.
               แม้พระนามของพระตถาคตมีหลายร้อยอาทิว่า ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ดังนี้ ก็ชื่อว่าคุณนาม เหมือนกัน ด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า
                         อสงฺเขยฺยานิ นามานิ    สคุเณน มเหสิโน
                         คุเณน นามมุทฺเธยฺยํ    อปิ นาม สหสฺสโต
                                  พระพุทธเจ้าผู้ทรงแสวงหาคุณอันใหญ่
                         มีพระนามโดยพระคุณของพระองค์นับไม่ถ้วน
                         บัณฑิตพึงยกพระนามโดยพระคุณขึ้นแสดง
                         แม้เป็นพันๆ พระนาม ดังนี้.

               ส่วนนามใดที่พวกญาติทั้งหลายผู้ยืนอยู่ในที่ใกล้กระทำสักการะแก่พระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย พากันคิดกำหนดแล้วในวันที่ตั้งชื่อของเด็กผู้เกิดมากระทำการตั้งชื่อว่า เด็กนี้ชื่อโน้น นามนี้ชื่อว่ากิตติมนาม.
               อนึ่ง บัญญัติแรกย่อมตกไปในบัญญัติหลัง โวหารแรกย่อมตกไปในโวหารหลัง เช่นพระจันทร์แม้ในกัปก่อนชื่อว่าพระจันทร์ แม้ในปัจจุบันก็เรียกว่าพระจันทร์เหมือนกัน พระอาทิตย์ สมุทร ปฐวี บรรพตในกัปก่อน ชื่อว่าบรรพต แม้ในปัจจุบันก็เรียกว่าบรรพตนั่นแหละ นี้ชื่อว่าอุปปาติกนาม. นามแม้ทั้ง ๔ อย่างนี้ ก็คงเป็นนามอย่างเดียวกันนั่นเอง.
               บทว่า นามกมฺมํ (นามกรรม) คือการให้ชื่อ.
               บทว่า นามเธยฺยํ (นามเธยยะ) คือการตั้งชื่อ.
               บทว่า นิรุตฺติ (การออกชื่อ) ได้แก่ การเรียกชื่อ.
               บทว่า พฺยญฺชนํ (การระบุชื่อ) ได้แก่ การประกาศชื่อ ก็เพราะการระบุชื่อนี้ ย่อมปรากฏถึงความหมาย ฉะนั้น จึงตรัสไว้อย่างนั้น.
               บทว่า อภิลาโป (การเรียกชื่อ) ได้แก่ ชื่อที่เรียกนั่นเอง.
               บทว่า สพฺเพว ธมฺมา อธิวจนปถา (ธรรมทั้งหมดแล ชื่อว่าอธิวจนปถธรรม) ได้แก่ ชื่อว่าธรรมที่เป็นวิถีของธรรมที่เป็นชื่อไม่มีหามิได้ ธรรมหนึ่งย่อมรวมลงในธรรมทั้งหมด ธรรมทั้งหมดก็ประชุมลงในธรรมหนึ่ง ข้อนี้เป็นอย่างไร?
               คือว่า ธรรมหนึ่งคือนามบัญญัตินี้นั้น ย่อมประมวลลงในธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๔ ทั้งหมด คือสัตว์ก็ดี สังขารก็ดี ชื่อว่าพ้นไปจากชื่อหามีไม่. แม้ต้นไม้ในดง และภูเขาเป็นต้น ก็ยังเป็นภาระ (คำพูด) ของชาวชนบท เพราะว่า ชาวชนบทเหล่านั้น ถูกเขาถามว่า ต้นไม้นี้ชื่ออะไร? ก็จะบอกชื่อที่ตนรู้จักว่า ต้นไม้นั้นเป็นต้นตะเคียน ดังนี้ พวกเขาไม่รู้จักชื่อต้นไม้ใด ก็จะพูดว่า ต้นไม้นั้นไม่มีชื่อ ดังนี้ แม้คำว่าต้นไม้ไม่มีชื่อนั้น ก็เป็นนามเธยยะ (การตั้งชื่อ) ของต้นไม้นั้นนั่นเอง. แม้ปลาและเต่าเป็นต้นในทะเลก็นัยนี้แหละ.
               สองทุกะนอกนี้ (คือนิรุตติทุกะและปัญญัติทุกะ) มีเนื้อความเหมือนทุกะนี้แล.

               ว่าด้วยนิทเทสแห่งนามรูปทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งนามรูปทุกะ ต่อไป.
               ที่ชื่อว่านาม ด้วยอรรถว่าเป็นนามกรณะ (การให้ชื่อ) ด้วยอรรถว่าการน้อมไปสู่อารมณ์ และด้วยอรรถว่าการยังอารมณ์ให้น้อมลงในตน.
               ในบรรดาอรรถทั้ง ๓ เหล่านั้น ขันธ์ ๔ ก่อน ชื่อว่านาม ด้วยอรรถว่าการให้ชื่อ เหมือนอย่างพระนามว่ามหาสมมต ดังนี้ เป็นชื่อของพระเจ้ามหาสมมตพระองค์นั้น เพราะมหาชนยกย่องแล้วฉันใด หรือว่ามารดาและบิดาตั้งชื่ออันมีเกียรติแก่บุตร อย่างนี้ว่า ลูกนี้จงชื่อว่าติสสะ ลูกนี้จงชื่อว่าปุสสะ ฉันใด หรือว่า นามที่มาโดยคุณว่า พระธรรมกถึก พระวินัยธร ดังนี้ ฉันใด ชื่อของขันธ์ ๔ มีเวทนาเป็นต้น ฉันนั้นหามิได้ เพราะขันธ์ ๔ มีเวทนาเป็นต้นเมื่อจะทำชื่อของตนเกิดขึ้น ก็เป็นดุจมหาปฐพีเป็นต้น เมื่อเวทนาเป็นต้นเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว ชื่อของขันธ์มีเวทนาเป็นต้น ก็ย่อมเกิดขึ้นโดยแท้.
               จริงอยู่ ใครๆ จะพูดถึงเวทนาที่เกิดขึ้นแล้วว่า เจ้าจงชื่อว่าเวทนา ดังนี้ หาได้ไม่. และกิจคือหน้าที่ที่จะตั้งชื่อของเวทนานั้นก็ไม่มี. เมื่อปฐพีเกิดขึ้นแล้ว กิจที่จะตั้งชื่อว่า เจ้าจงชื่อว่าปฐพีดังนี้มิได้มี เมื่อจักรวาล เขาสิเนรุ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวนักษัตร เกิดขึ้นแล้ว กิจที่จะตั้งชื่อว่า เจ้าจงชื่อว่าจักรวาล เจ้าจงชื่อว่าสิเนรุ เจ้าจงชื่อว่านักษัตร ดังนี้ มิได้มี. นาม (ชื่อ) เกิดขึ้นแล้วนั่นแหละ ย่อมตกลงไปในโอปปาติกบัญญัติ (ได้ชื่อว่าตามสภาพที่เกิดขึ้น) ฉันใด เมื่อเวทนาเกิดขึ้นแล้วก็ฉันนั้น กิจที่จะตั้งชื่อว่า เจ้าจงชื่อว่าเวทนา ดังนี้ มิได้มี. เมื่อเวทนานั้นเกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่าเวทนา ก็ย่อมเกิดขึ้นนั่นแหละ. แม้ในขันธ์มีสัญญาเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               จริงอยู่ เวทนาก็ชื่อว่า เวทนานั่นแหละ สัญญาก็ชื่อว่าสัญญา สังขาร ก็ชื่อว่าสังขาร และวิญญาณก็ชื่อว่า วิญญาณเหมือนกัน แม้ในอดีต แม้ในอนาคต แม้ในปัจจุบัน. ถึงพระนิพพานก็ชื่อว่า พระนิพพานนั่นแหละแม้ในกาลทุกเมื่อ เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๔ จึงชื่อว่า นาม โดยสภาวะกระทำชื่อ.
               ส่วนในข้อว่า การน้อมไปสู่อารมณ์ นี้ ขันธ์ ๔ ชื่อว่านาม.
               จริงอยู่ ขันธ์ ๔ เหล่านั้นน้อมไปมุ่งเฉพาะต่ออารมณ์ นามแม้ทั้งหมดชื่อว่านาม ด้วยอรรถว่าน้อมไป. เพราะขันธ์ ๔ ย่อมยังกันและกันให้น้อมไปในอารมณ์ พระนิพพานย่อมยังธรรมไม่มีโทษให้น้อมไปในตน เพราะเป็นอารัมมณาธิปติปัจจัย.
               ในอวิชชาทุกนิทเทส พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำหนดอวิชชาและภวตัณหา เพื่อแสดงความเกิดขึ้นเป็นไปของวัฏมูล.
               ในนิทเทสภวทิฏฐิ บทว่า ภวิสฺสติ อตฺตา จ โลโก จ (อัตตาและโลกจักเกิด) ได้แก่ สัสสตทิฏฐิ ที่ถือว่าขันธบัญจกว่าเป็นอัตตาและโลก แล้วยึดถือไว้โดยอาการที่ยึดถือว่า ขันธปัญจกนั้นจักเกิด. ทิฏฐิที่ ๒ คืออุจเฉททิฏฐิ ซึ่งยึดถือเอาโดยอาการว่า ขันธปัญจกนั้นจักไม่เกิด.
               ในนิทเทสปุพพันตานุทิฏฐิทุกะ บทว่า ปุพฺพนฺตํ อารพฺภ (ปรารภส่วนอดีต) ได้แก่ ทำส่วนอดีตให้เป็นอารมณ์ ทรงถือเอาปุพพันตานุทิฏฐิ ๑๘ ที่มาในพรหมชาลสูตร ด้วยบทว่า ปุพฺพนฺตํ อารพฺภ นี้.
               บทว่า อปรนฺตํ อารพฺภ (ปรารภส่วนอนาคต) ได้แก่ กระทำส่วนอนาคตให้เป็นอารมณ์แล้วถือเอาอปรันตานุทิฏฐิ ๔๔ อันมาแล้วในพรหมชาลสูตรนั้นนั่นแหละ ด้วยบทว่า อปรนฺตํ อารพฺภ นี้.
               ในโทวจัสสตานิทเทส บทว่า สหธมฺมิเก วุจฺจมาเน (เมื่อถูกว่ากล่าวโดยสหธรรม) ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทอันใด ชื่อว่าสหธรรมิก เมื่อภิกษุถูกชี้ถึงวัตถุในสิกขาบทนั้น ปรับอาบัติ กล่าวอยู่ว่า ท่านต้องอาบัติชื่อนี้ นิมนต์ท่านแสดงอาบัติ นิมนต์ท่านออกจากอาบัติ นิมนต์ท่านกระทำคืนอาบัติ ดังนี้.
               ในบทว่า โทวจสฺสายํ (กิริยาของผู้ว่ายาก) เป็นต้น กรรมของผู้ว่ายากซึ่งถูกตักเตือนอยู่อย่างนี้ โดยการประท้วงตอบบ้าง โดยไม่ยอมรับโอวาทโดยเคารพบ้าง ชื่อว่า โทวจสฺสายํ (กิริยาของผู้ว่ายาก) กิริยาของผู้ว่ายากนั้นนั่นแหละ ตรัสเรียกว่า โทวจัสสัง (ความเป็นผู้ว่ายาก) ดังนี้ก็มี. ภาวะของความเป็นผู้ว่ายากนั้น ชื่อว่า โทวจสฺสิยํ (ความเป็นผู้ว่ายาก) คำนอกจากนี้ มีคำว่า ความยึดข้างขัดขืนเป็นต้น เป็นคำไวพจน์ของความเป็นผู้ว่ายากนั่นแหละ.
               บทว่า วิปฺปฏิกุลคาหิตา (ความยึดข้างขัดขืน) ได้แก่ ความยึดถือโดยไม่คล้อยตาม บุคคลชื่อว่า วิปจฺจนีกสาโต (พอใจทางโต้แย้ง) เพราะอรรถว่ามีความยินดีโดยการโต้แย้งกล่าวคือถือข้างขัดขืน. คำนี้เป็นชื่อของบุคคลผู้ได้ความสุขโดยพอใจว่า เราได้กระทำเขาให้หมดเสียงด้วยคำที่สำคัญเพียงคำเดียวเท่านั้น. ภาวะของบุคคลผู้พอใจในทางโต้แย้งนั้น ชื่อว่า วิปจฺจนีกสาตตา (ความพอใจทางโต้แย้ง) ภาวะของคนผู้ไม่เอื้อเฟื้อด้วยอำนาจความไม่รับเอาโอวาท ชื่อว่า อนาทริยํ (ความไม่เอื้อเฟื้อ) คำนอกนี้มีภาวะแห่งผู้ไม่เอื้อเฟื้อเป็นต้น เป็นไวพจน์ของความไม่เอื้อเฟื้อนั้นนั่นแหละ. อีกอย่างหนึ่ง อาการที่ไม่เอื้อเฟื้อ ชื่อว่า อนาทริตา (ความเป็นผู้ไม่เอื้อเฟื้อ).
               ภาวะที่ไม่เคารพอันเกิดขึ้นด้วยการไม่อยู่ในอำนาจปกครองของครู ชื่อว่า อคารวตา (ความไม่เคารพ). ภาวะที่ไม่ยอมเชื่อฟังอันเกิดขึ้นด้วยการไม่อยู่ในอำนาจการปกครองของบุคคลผู้มีความเจริญ ชื่อว่า อปฺปฏิสฺสวตา (ความไม่รับฟัง).
               บทว่า อยํ วุจฺจติ (นี้เรียก) ความว่า กิริยานี้ คือเห็นปานนี้ เรียกว่า โทวจสฺสตา (กิริยาของผู้ว่ายาก).
               ก็ โทวจสฺสตา (กิริยาของผู้ว่ายาก) นี้ว่าโดยใจความได้แก่ ขันธ์ ๔ อันเป็นไปโดยอาการนั้น หรือว่า ได้แก่ สังขารขันธ์อย่างเดียว. แม้ในปาปมิตตตาเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               จริงอยู่ โทวจัสสตาและปาปมิตตตาเป็นต้น ชื่อว่าเป็นเจตสิกธรรมส่วนหนึ่ง ย่อมไม่มี.
               ที่ชื่อว่า อสทฺธา (คนไม่มีศรัทธา) เพราะอรรถว่า ศรัทธาของบุคคลเหล่านั้นไม่มี. อธิบายว่า เขาย่อมไม่เชื่อวัตถุทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
               บทว่า ทุสฺสีลา (ไม่มีศีล) ได้แก่ ขึ้นชื่อว่า ความผิดของศีลไม่มี คือผู้ไม่มีศีล.
               บทว่า อปฺปสฺสุตา (มีสุตะน้อย) คือเว้นจากการศึกษา.
               ที่ชื่อว่า มัจฉรี (มีความตระหนี่) เพราะอรรถว่ามีความตระหนี่ ๕ อย่าง.
               ที่ชื่อว่า นิปฺปญฺญา (มีปัญญาทราม) เพราะอรรถว่าไร้ปัญญา.
               ชื่อว่า เสวนา (การเสพ) ด้วยสามารถการคบหา. การเสพที่มีกำลัง ชื่อว่า นิเสวนา (การซ่องเสพ). การเสพโดยประการทั้งปวง ชื่อว่า สํเสวนา (การซ่องเสพด้วยดี).
               อีกอย่างหนึ่ง ทรงเพิ่มบทด้วยอำนาจอุปสรรคแล้วตรัสการเสวนะแม้ทั้ง ๓ บททีเดียว.
               บทว่า ภชนา (การคบ) ได้แก่ การเข้าไปใกล้.
               บทว่า สมฺภชนา (การคบหา) ได้แก่ การคบโดยส่วนทั้งปวง ชื่อว่าการคบหา.
               อีกอย่างหนึ่ง ตรัสเพิ่มบทด้วยอำนาจอุปสรรค.
               บทว่า ภตฺติ (ความภักดี) ได้แก่ ความภักดีอย่างแน่วแน่.
               บทว่า สมฺภตฺติ (ความจงรักภักดี) ได้แก่ ความภักดีโดยส่วนทั้งปวง.
               อีกอย่างหนึ่ง ทรงเพิ่มบทด้วยอุปสรรคแล้วตรัสความภักดีมั่นคงแม้ทั้งสองบท.
               บทว่า ตํสมฺปวงฺกตา (ความเป็นผู้มีกายและใจโน้มน้าวไปตามบุคคลนั้น) ได้แก่ ภาวะที่โน้มน้าวไปด้วยกายและจิตในบุคคลเหล่านั้น. อธิบายว่า ความเอียงไป ความโอนไป ความเงื้อมไปในบุคคลนั้น. แม้นิทเทสโสวจัสสตาทุกะก็พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับคำที่กล่าวแล้ว.
               ในนิทเทสอาปัตติกุสลตาทุกะ บทว่า ปญฺจปิ อาปตฺติขนฺธา (อาบัติทั้ง ๕ หมวด) ได้แก่ อาบัติ ๕ หมวดเหล่านี้ตามนิทเทสแห่งมาติกา คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ.
               บทว่า สตฺตปิ อาปตฺติกฺขนฺธา (อาบัติทั้ง ๗ หมวด) ได้แก่ อาบัติ ๗ หมวดเหล่านี้ตามนิทเทสแห่งวินัย คือปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต.
               บรรดาความเป็นผู้ฉลาดในอาบัติเหล่านั้น ปัญญาที่รู้การกำหนดอาบัติเหล่านั้นพร้อมด้วยวัตถุ ชื่อว่าอาปัตติกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในอาบัติ) ส่วนปัญญาที่รู้การกำหนดในการออกจากอาบัติพร้อมกับกรรมวาจา ชื่อว่าอาบัติวุฏฐานกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากอาบัติ).
               ในนิทเทสสมาบัติกุสลตา ที่ชื่อว่าสมาบัติ เพราะอันพระโยคีพึงเข้า ส่วนปัญญาที่รู้การกำหนดอัปปนาพร้อมทั้งบริกรรม ชื่อว่าสมาปัตติกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในการเข้าสมาบัติ) ชื่อว่าสมาปัตติวุฏฐานกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาบัติ) เพราะเมื่อตั้งใจว่า เมื่อพระจันทร์ หรือพระอาทิตย์ หรือดาวนักษัตรโคจรมาสู่ที่นี้แล้ว เราจักออกจากสมาบัติ ดังนี้ มีอยู่ด้วยปัญญาเป็นเครื่องกำหนดการออกในสมัยนั้นไม่ผิดพลาด.
               ในนิทเทสธาตุกุสลตาทุกะ ปัญญาที่รู้การกำหนดการเรียน การมนสิการ การฟัง การทรงจำ ซึ่งธาตุ ๑๘ ชื่อว่าธาตุกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในธาตุ) ปัญญาที่รู้การเรียน การมนสิการซึ่งธาตุเหล่านั้นนั่นแหละ ชื่อว่ามนสิการกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในมนสิการ).
               ในนิทเทสอายตนกุสลตาทุกะ ปัญญาที่รู้กำหนดการเรียน การมนสิการ การฟัง การทรงจำซึ่งอายตนะ ๑๒ ชื่อว่าอายตนกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในอายตนะ).
               อีกอย่างหนึ่ง บรรดากุสลตาเหล่านี้แม้ทั้ง ๓ (ธาตุกุสลตา มนสิการกุสลตา อายตนกุสลตา) ความรู้ทั้งปวง คือการเรียน มนสิการ การฟัง การเข้าใจ การแทงตลอด การพิจารณาเห็น ย่อมสมควร. ในบรรดาการรู้ทั้ง ๖ เหล่านั้น การฟัง การเรียน การพิจารณาเห็นเป็นโลกีย์ การแทงตลอดเป็นโลกุตระ การเข้าใจและมนสิการเป็นมิสสกะคือเป็นโลกีย์ก็มี เป็นโลกุตระก็มี.
               บทว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เป็นต้นจักแจ่มแจ้งในปฏิจจสมุปปาทวิภังค์. ปัญญาที่รู้ว่า ธรรมนี้เป็นปัจจัยแก่ธรรมนี้ ดังนี้ ชื่อว่าปฏิจจสมุปปาทกุสลตา (ความเป็นผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท).

               ว่าด้วยนิทเทสฐานาฐานทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสฐานาฐานทุกะ ต่อไป.
               คำแม้ทั้ง ๒ นี้ว่า เหตุปจฺจยา (เป็นเหตุเป็นปัจจัย) เป็นคำไวพจน์ของกันและกัน.
               จริงอยู่ จักขุประสาทเป็นเหตุ และเป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณที่ทำรูปให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น. อนึ่ง โสตประสาทเป็นต้นก็เป็นเหตุและเป็นปัจจัยแก่โสตวิญญาณเป็นต้น พืชทั้งหลายมีพืชมะม่วงเป็นต้นก็เป็นเหตุและเป็นปัจจัยแก่ผลมะม่วงเป็นต้น.
               ในนัยที่ ๒ พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า บทว่า เย ธมฺมา (ธรรมเหล่าใด) เป็นคำแสดงปัจจัยธรรมที่เป็นวิสภาคะกัน.
               บทว่า เยสํ เยสํ (เหล่าใดๆ) เป็นคำแสดงถึงปัจจยสมุปปันนธรรมที่เป็นวิสภาคะกัน.
               บทว่า น เหตู น ปจฺจยา (ไม่เป็นเหตุ ไม่เป็นปัจจัย) ได้แก่ จักขุประสาทไม่เป็นเหตุ ไม่เป็นปัจจัยแก่โสตวิญญาณที่เกิดขึ้นกระทำเสียงให้เป็นอารมณ์.
               อนึ่ง โสตประสาทเป็นต้นไม่เป็นเหตุ ไม่เป็นปัจจัยแก่วิญญาณที่เหลือ และพืชมะม่วงเป็นต้นก็ไม่เป็นเหตุ ไม่เป็นปัจจัยแก่ความเกิดขึ้นแห่งต้นตาลเป็นต้น ฉะนั้น.

               ว่าด้วยนิทเทสอาชวะและมัททวะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสอาชวะและมัททวะทุกะ ต่อไป.
               บทว่า นีจจิตฺตตา (ความเจียมใจ) นี้เป็นความต่างกันเพียงบทเท่านั้น เนื้อความแห่งคำนั้นว่า บุคคลชื่อว่า นีจจิตฺโต (เจียมใจ) เพราะอรรถว่ามีใจเจียมโดยไม่มีมานะ. ภาวะแห่งบุคคลผู้เจียมใจ ชื่อว่า นีจจิตฺตตา (ความเจียมใจ). คำที่เหลือมาในบทภาชนีย์แห่งจิตตุชุกตาและจิตตมุทุตานั่นแหละ.

               ว่าด้วยนิทเทสขันติทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสขันติทุกะ ต่อไป.
               ที่ชื่อว่า ขันติ ด้วยอำนาจการอดทน อาการแห่งความอดทน ชื่อว่า ขมนตา (กิริยาที่อดทน). ที่ชื่อว่า อธิวาสนตา (ความอดกลั้น) เพราะอรรถว่าเป็นเหตุอดกลั้น คือเป็นเหตุยกขึ้นเหนือตนทนอยู่ ไม่ต่อต้าน ไม่เป็นข้าศึกดำรงอยู่.
               ภาวะแห่งความไม่ดุร้าย ชื่อว่า อจณฺฑิกฺกํ (ความไม่ดุร้าย) คำพูดที่เปล่งออกมาชั่ว เพราะยกขึ้นพูดหาความชอบมิได้ ในบทว่า อนสุโรโป (ความไม่ปากร้ายนี้) ท่านเรียกว่า ความปากร้าย. ชื่อว่า อนสุโรโป (ความไม่ปากร้าย) เพราะมีสภาพตรงกันข้ามกับปากร้ายนั้น ได้แก่วาจาที่เปล่งออกมาดี.
               ในอธิการนี้ ทรงแสดงถึงเหตุ โดยผลูปจารนัยอย่างนี้.
               บทว่า อตฺตมนตา จิตฺตสฺส (ความแช่มชื่นแห่งจิต) ได้แก่ ความที่จิตเป็นใจของตนด้วยอำนาจโสมนัส อธิบายว่า ภาวะแห่งจิตเป็นของตนนั่นแหละ คือการที่จิตไม่พยาบาทแล้ว.

               ว่าด้วยนิทเทสโสรัจจทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสโสรัจจทุกะ ต่อไป.
               บทว่า กายิโก อวีติกฺกโม (ความไม่ล่วงละเมิดทางกาย) ได้แก่ กายสุจริต ๓ อย่าง.
               บทว่า วาจสิโก อวีติกฺกโม (ความไม่ล่วงละเมิดทางวาจา) ได้แก่ วจีสุจริต ๔ อย่าง.
               ด้วยบทว่า กายิกวาจสิโก (ทางกายและทางวาจา) นี้ ทรงกำหนดถืออาชีวัฏฐมกศีล (ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘) ซึ่งตั้งขึ้นทางกายและทางวาจา.
               บทว่า อิทํ วุจฺจติ โสรจฺจํ (นี้เรียกว่าโสรัจจะ) นี้ ตรัสชื่อโสรัจจะไว้ เพราะความงดเว้นด้วยดีจากบาป.
               บทว่า สพฺโพปิ สีลสํวโร (ศีลสังวรแม้ทั้งหมด) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อทรงแสดงการถือศีลทางใจ เพราะบุคคลมิใช่ประพฤติอนาจารทางกายและทางวาจาเท่านั้น แม้ทางใจก็ต้องประพฤติเหมือนกัน.

               ว่าด้วยนิทเทสสาขัลยทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสสาขัลยทุกะ ต่อไป.
               บทว่า อณฺฑกา (เป็นปม) ได้แก่ เกิดเป็นปมด้วยวาจาปริภาษและเย้ยหยันประกอบด้วยโทสะ เหมือนกับปมที่เกิดขึ้นที่ต้นไม้ที่มีโทษ ฉะนั้น.
               บทว่า กกฺกสา (เป็นกาก) ได้แก่ วาจาเสีย คือวาจานั้นเป็นกาก เช่นเดียวกับต้นไม้ที่เสียย่อมเป็นกาก เป็นจุณไหลออกมา ฉะนั้น. วาจาที่เป็นกากนั้น เป็นราวกะเสียดสีโสตเข้าไป ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า เป็นกาก.
               บทว่า ปรกฏุกา (เผ็ดร้อนต่อผู้อื่น) ได้แก่ เผ็ดร้อนไม่เป็นที่ชอบใจ ให้เกิดโทสะแก่ผู้อื่น. บทว่า ปราภิสชฺชนี (เกี่ยวผู้อื่นไว้) ได้แก่ เป็นดุจกิ่งไม้มีหนามงอแทงผิวหนังเกี่ยวผู้อื่นไว้ไม่ให้ไปแม้เขาจะไปก็ทำให้ติดอยู่ ย่อมไม่ให้ไป ฉะนั้น.
               บทว่า โกธสามนฺตา (ยั่วให้โกรธ) ได้แก่ เป็นวาจาใกล้ต่อความโกรธ. บทว่า อสมาธิสํวตฺตนิกา (ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ) ได้แก่ ไม่เป็นไปเพื่ออัปปนาสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ คำเหล่านี้ทั้งหมดเป็นไวพจน์ของวาจาที่เป็นไปกับโทสะ ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ตถารูปึ วาจํ ปหาย (ละวาจาเช่นนั้นเสีย) นี้ ตรัสไว้เพื่อแสดงว่า วาจาอ่อนหวานแม้เป็นไปในระหว่างของผู้มิได้ละผรุสวาจาตั้งอยู่ ก็ชื่อว่าวาจาไม่อ่อนหวานนั่นแหละ.
               บทว่า เนฬา อธิบายว่า โทษตรัสเรียกว่า เอฬํ โทษของวาจานั้นไม่มี เพราะเหตุนั้น วาจานั้นจึงชื่อว่า เนฬา (ไร้โทษ) อธิบายว่า ไม่มีโทษ ดุจศีล (ที่ไร้โทษ) ซึ่งตรัสไว้ในคำนี้ว่า เนฬงฺโค เสตปจฺฉาโท เป็นต้น๑- แปลว่า รถคืออัตภาพมีศีลอันหาโทษมิได้ มีการประดับด้วยบริขารขาวเป็นต้น.
               บทว่า กณฺณสุขา (สบายหู) ได้แก่ สบายแก่หูทั้งสอง เพราะเป็นวาจาที่ไพเราะโดยพยัญชนะ คือไม่ทำการเสียดแทงหูให้เกิดขึ้นดุจการแทงด้วยเข็ม.
               วาจาใดไม่ยังความโกรธให้เกิด ย่อมยังความรักให้เกิดในสรีระ เพราะเป็นวาจาไพเราะโดยอรรถ เพราะเหตุนั้น วาจานั้นจึงชื่อว่า เปมนียา (วาจาไพเราะ).
               วาจาใดไปสู่หทัย ไม่มีอะไรกระทบกระเทือนเข้าไปสู่จิตโดยง่าย เพราะเหตุนั้น วาจานั้นจึงชื่อว่า หทยงฺคมา (วาจาจับใจ).
               วาจาใดเป็นของมีอยู่ในเมือง เพราะเป็นวาจาบริบูรณ์ด้วยคุณ เพราะเหตุนั้น วาจานั้นจึงชื่อว่า โปรี (วาจาของชาวเมือง). วาจาที่กล่าวเรียกว่า ดูก่อนกุมารีผู้ดี ดุจนารีผู้มีวัฒนธรรมอันดีในบุรี เพราะเหตุนั้น แม้วาจานั้นก็ชื่อว่า โปรี. วาจานี้ใดเป็นของมีอยู่แก่ชาวเมือง เพราะเหตุนั้น แม้วาจานั้นก็ชื่อว่า โปรี อธิบายว่า เป็นถ้อยคำของชาวพระนคร.
               จริงอยู่ ชาวพระนครมีถ้อยคำสมควร ย่อมเรียกบุคคลคราวพ่อว่าพ่อ ย่อมเรียกบุคคลควรเป็นพี่ชายน้องชายว่าพี่ชายน้องชายเป็นต้น.
               วาจาใดเห็นปานนี้ ย่อมเป็นที่รักชอบใจแก่ชนเป็นอันมาก เพราะเหตุนั้น วาจานั้นจึงชื่อว่า พหุชนกนฺตา (วาจาที่ชอบใจของชนหมู่มาก).
               วาจาใดเป็นที่ยังใจให้ชุ่มชื่น คือทำความเจริญแห่งจิตแก่ชนจำนวนมาก โดยความเป็นวาจาที่เจริญใจของชนหมู่มากนั่นแหละ เพราะเหตุนั้น วาจานั้นจึงชื่อว่า พหุชนมนาปา (วาจาที่เจริญใจ).
               บทว่า ยา ตตฺถ ได้แก่ วาจาใดในบุคคลนั้น.
               บทว่า สณฺหวาจตา (ความเป็นผู้มีวาจาละเอียดอ่อน) ได้แก่ ความเป็นผู้มีวาจาสละสลวย.
               บทว่า สขิลวาจตา (ความเป็นผู้มีวาจาอ่อนหวาน) ได้แก่ วาจาอ่อนน้อม.
               บทว่า อผรุสวาจตา (ความเป็นผู้มีวาจาไม่หยาบคาย) ได้แก่ วาจาไม่กักขฬะ.
____________________________
๑- ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๕๑/หน้า ๒๐๑.

               ว่าด้วยนิทเทสปฏิสันถารทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสปฏิสันถารทุกะ ต่อไป.
               บทว่า อามิสปฏิสนฺถาโร (อามิสปฏิสันถาร) ได้แก่ ช่องว่าง (รอยแตกร้าวสามัคคี) ของชนเหล่าอื่นกับตน เพราะการไม่ได้อามิส ย่อมปิดสนิทแล้วโดยประการใด การต้อนรับแขกด้วยอามิสโดยประการนั้น.
               บทว่า ธมฺมปฏิสนฺถาโร (ธรรมปฏิสันถาร) ได้แก่ ช่องว่างของชนเหล่าอื่นกับตน เพราะการไม่ได้ธรรม ย่อมปิดสนิทแล้วโดยประการใด การต้อนรับแขกด้วยธรรมโดยประการนั้น.
               บทว่า ปฏิสนฺถารโก โหติ (บุคคลผู้ปฏิสันถาร) ความว่า ช่องของโลกสันนิวาสมี ๒ เท่านั้น บุคคลผู้ปฏิสันถาร (ผู้อุดช่อง) ทั้ง ๒ นั้นคือ บุคคลผู้ปฏิสันถารนั้นย่อมอุดช่องคือกระทำเป็นนิตย์ ด้วยการปฏิสันถารทั้ง ๒ นี้ คือด้วยอามิสปฏิสันถารหรือด้วยธรรมปฏิสันถาร ในอธิการนี้พึงทราบกถานี้จำเดิมแต่ต้น.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้ทำปฏิสันถารเห็นอาคันตุกภิกษุมาอยู่ พึงลุกขึ้นต้อนรับ รับบาตรจีวร ถวายอาสนะ พัดวีด้วยก้านใบตาล ล้างเท้าทาน้ำมัน เมื่อมีเนยใสและน้ำอ้อยก็พึงถวายเป็นเภสัช พึงเอื้อเฟื้อด้วยน้ำดื่ม พึงจัดที่อาศัยด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าอามิสปฏิสันถารอันภิกษุกระทำโดยเอกเทศ.
               อนึ่ง ในเวลาเย็น เมื่อภิกษุผู้อ่อนกว่ายังไม่มาสู่ที่บำรุงของตนนั่นแหละ ควรไปสู่สำนักของภิกษุอาคันตุกะนั้น พึงนั่งถามปัญหาในวิสัย มิใช่ถามปัญหาที่เหลือวิสัยของเธอ คือไม่ถามว่า พวกเธอเรียนนิกายไหน พึงถามว่า อาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของท่านชำนาญคัมภีร์ไหน ดังนี้ แล้วถามปัญหาในฐานะ พอเหมาะพอควร. ถ้าเธอสามารถตอบได้ ข้อนั้นเป็นการดี. ถ้าเธอไม่อาจตอบก็พึงตอบเสียเอง ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าธรรมปฏิสันถารอันภิกษุทำโดยเอกเทศ.
               ถ้าเธออยู่ในสำนักของตน พึงพาเธอไปเที่ยวบิณฑบาตเป็นนิตย์ ถ้าเธอต้องการเพื่อจะไป วันรุ่งขึ้น ก็พึงพาเธอไปในทิศที่ควรไป เที่ยวบิณฑบาตในบ้านหนึ่งแล้วก็พึงส่งกลับ. ถ้าพวกภิกษุถูกนิมนต์ในทางทิศอื่น ก็พึงพาภิกษุนั้นผู้ปรารถนาไปด้วย เมื่อไม่ปรารถนาจะไป ด้วยคิดว่า ทิศนี้ไม่ควรแก่เรา ดังนี้ ก็พึงส่งพวกภิกษุที่เหลือให้ไป แล้วพาเธอเที่ยวบิณฑบาต อามิสที่ตนได้แล้วควรถวายเธอ อย่างนี้ชื่อว่า อามิสปฏิสันถารอันภิกษุกระทำแล้ว.
               ถามว่า อามสที่ตนได้แล้ว อันภิกษุผู้ทำปฏิสันถารพึงถวายใคร.
               ตอบว่า ควรถวายภิกษุอาคันตุกะก่อน ถ้าภิกษุผู้อาพาธหรือยังไม่ได้พรรษามีอยู่ไซร้ ก็พึงถวายแก่ภิกษุแม้ผู้อาพาธเป็นต้นเหล่านั้น พึงถวายแก่อาจารย์และอุปัชฌาย์ พึงถวายแก่ภิกษุผู้แจกภัณฑะ แต่ภิกษุผู้บำเพ็ญสาราณียธรรมพึงถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้มาแล้วๆ แม้ร้อยครั้งพันครั้ง จำเดิมแต่เถรอาสน์ไป ส่วนภิกษุผู้ทำปฏิสันถารพึงให้แก่ภิกษุผู้ยังไม่ได้ ออกไปบ้านแล้ว เห็นภิกษุหรือ ภิกษุณีผู้ชราหรืออนาถา ก็พึงถวายแก่ท่านแม้เหล่านั้น.
               ในข้อนั้น มีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์.
               ได้ยินว่า เมื่อพวกโจรปล้นบ้านชื่อว่าคุตตศาลา ในขณะนั้นนั่นแหละ พระขีณาสวเถรีรูปหนึ่งออกจากนิโรธแล้วให้ภิกษุณีถือสิ่งของไปสู่ทางพร้อมกับมหาชน ถึงประตูบ้านนกุลนครนั่งที่โคนไม้ในเวลาเที่ยงวัน ในสมัยนั้น พระมหานาคเถระผู้อยู่ในวิหารกาฬวัลลิมณฑปเที่ยวไปบิณฑบาตที่บ้านนกุลนคร ออกมาเห็นพระเถรีจึงถามเอื้อเฟื้อด้วยภัต พระเถรีตอบว่า ดิฉันไม่มีบาตร. พระเถระได้ให้ภัตพร้อมทั้งบาตรว่า นิมนต์ท่านฉันด้วยบาตรนี้. พระเถรีทำภัตกิจเสร็จแล้วล้างบาตรถวายพระเถระแล้วกล่าวว่า ท่านจักลำบากด้วยภิกขาจารเพียงวันนี้เท่านั้น หลวงพ่อ ตั้งแต่วันนี้ไปขึ้นชื่อว่าความลำบากด้วยภิกขาจารของท่านจักไม่มี ดังนี้ ตั้งแต่วันนั้น ขึ้นชื่อว่าบิณฑบาตมีค่าหย่อนกว่ากหาปณะ มิได้เกิดขึ้นแก่พระเถระเลย นี้ชื่อว่าอามิสปฏิสันถาร.
               อันภิกษุกระทำปฏิสันถารนี้ควรตั้งอยู่ในฝ่ายสงเคราะห์บอกกรรมฐานแก่ภิกษุนั้น พึงบอกธรรม พึงกำจัดความสงสัย พึงทำกรณียกิจที่เกิดขึ้น พึงให้อัพภาน วุฏฐานะ มานัต และปริวาส ผู้ควรบรรพชาก็พึงให้บรรพชา ผู้ควรอุปสมบทก็พึงให้อุปสมบท. การทำกรรมวาจาแม้แก่ภิกษุณีผู้หวังอุปสมบทในสำนักของตนก็ควร นี้ชื่อว่าธรรมปฏิสันถาร.
               ภิกษุผู้ทำปฏิสันถารทั้ง ๒ นี้ ย่อมยังลาภที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิด ย่อมทำลาภที่เกิดแล้วให้มั่นคง ย่อมรักษาชีวิตของตนในฐานะอันคับขัน (คือประกอบด้วยภัยร้ายแรง) ได้ เหมือนพระเถระ (ผู้ตกอยู่ในฐานะอันดับขัน) ใช้มือที่จับบาตรนั่นแหละถือภัตอันเลิศ เกลี่ยถวายภัตในบาตรทั้งหมดต่อพระเจ้าโจรนาคราช ฉะนั้น.๑-
               ส่วนในการยังลาภที่ยังไม่ได้ให้เกิดขึ้น บัณฑิตพึงแสดงถึงเรื่องการถวายมหาเภสัชที่พระเจ้ามหานาคผู้เสด็จหนีจากฝั่งนี้ไปฝั่งโน้นแล้วได้รับความอนุเคราะห์ในสำนักของพระเถระรูปหนึ่ง ได้กลับมาดำรงอยู่ในราชสมบัติอีก ทรงประพฤติให้เป็นไป ณ ลานวัดเสตัมพวิหาร ตลอดพระชนมชีพ. ในการทำลาภที่เกิดขึ้นแล้วให้ถาวร พึงแสดงเรื่องที่พวกโจรได้รับปฏิสันถารจากมือของพระทีฆภาณกอภัยเถระแล้วไม่ปล้นห่อภัณฑะที่เจติยบรรพต.
____________________________
๑- ได้ยินว่า พระเจ้าโจรนาคราชดุร้าย.

               ว่าด้วยนิทเทสอินทริเยสุอคุตตทวารตาทุกะ               
               จะวินิจฉัยนิทเทสความเป็นผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ต่อไป.
               บทว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา (เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว) ได้แก่ เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณอันสามารถในการเห็นรูป ซึ่งมีโวหารอันได้แล้วว่า จักษุ ดังนี้ ด้วยสามารถเป็นเหตุ. ก็พระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า จักษุย่อมไม่เห็นรูป เพราะจักษุไม่ใช่จิต จิตก็เห็นรูปไม่ได้ เพราะจิตไม่มีจักษุ แต่บุคคลย่อมเห็นได้ด้วยจิตที่มีปสาทวัตถุโดยการกระทบกันแห่งทวารและอารมณ์ ก็กถานี้เช่นนี้ ชื่อว่าสสัมภารกถา เหมือนในประโยคมีอาทิว่า เขายิงด้วยธนู ดังนี้ เพราะฉะนั้น ในอธิการนี้จึงมีคำอธิบายว่า เห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ ดังนี้.
               บทว่า นิมิตฺตคฺคาหี (ผู้ถือนิมิต) ได้แก่ ย่อมถือนิมิตว่าเป็นหญิง เป็นชาย หรือนิมิตอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสมีความงามเป็นต้น ด้วยอำนาจฉันทราคะ ไม่ดำรงอยู่ในรูปเพียงการเห็นเท่านั้น.
               บทว่า อนุพฺยญฺชนคฺคาหี (เป็นผู้ถือโดยอนุพยัญชนะ) ได้แก่ ถือเอากิริยาอาการอันต่างด้วยมือ เท้า การยิ้ม การหัวเราะ การพูด การมองดู การเหลียวซ้ายแลขวาเป็นต้นอันได้โวหารว่า อนุพยัญชนะ เพราะเครื่องปรากฏของกิเลสทั้งหลาย คือเพราะกระทำกิเลสให้ปรากฏ.
               บทว่า ยตฺวาธิกรณเมนํ (เพราะเหตุที่ไม่สำรวมจักขุนทรีย์ใด) ความว่า ธรรมทั้งหลายมีอภิชฌาเป็นต้นเหล่านี้พึงครอบงำ คือพึงติดตาม พึงท่วมทับบุคคลนี้ ผู้มีจักขุนทรีย์ไม่สำรวมแล้วด้วยบานประตูคือสติ คือเป็นผู้ไม่มีจักขุทวารอันปิดกั้นแล้วอยู่นี้ เพราะเหตุไร เพราะเหตุที่ไม่สำรวมจักขุนทรีย์ใด.
               บทว่า ตสฺส สํวราย น ปฏิปชฺชติ (ไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์นั้น) ความว่า ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่การปิดจักขุนทรีย์นั้น ด้วยประตูคือสติ ก็บุคคลผู้เป็นอย่างนี้แหละ ตรัสเรียกว่า ผู้ไม่รักษาจักขุนทรีย์ ไม่สำเร็จการสำรวมในจักขุนทรีย์ ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ผู้ไม่สำเร็จการสำรวมในจักขุนทรีย์นั้น ว่า สังวรก็ดี อสังวรก็ดี ย่อมไม่มีในจักขุนทรีย์แม้โดยแท้ เพราะว่าสติ หรือความหลงลืมสติย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุประสาทหามิได้. แต่ว่า ในกาลใด รูปารมณ์มาถึงคลองจักขุ ในกาลนั้น เมื่อภวังคจิตเกิดดับ ๒ วาระแล้ว กิริยามโนธาตุก็ยังอาวัชชนกิจให้สำเร็จเกิดดับ ในลำดับนั้น จักขุวิญญาณก็ยังทัศนกิจให้สำเร็จเกิดดับ จากนั้นวิปากมโนธาตุก็ยังสัมปฏิจฉันนกิจให้สำเร็จเกิดดับ จากนั้น วิปากาเหตุกมโนวิญญาณธาตุก็ยังสันติรณกิจให้สำเร็จเกิดดับ จากนั้นมโนวิญญาณธาตุ อันเป็นอเหตุกกิริยาก็ยังโวฏฐานกิจให้สำเร็จเกิดดับ ในลำดับนั้น ชวนจิตย่อมแล่นไป สังวรก็ดี อสังวรก็ดี จะมีอยู่ในสมัยแห่งภวังคจิตแม้นั้น ก็หาไม่ หรือจะมีอยู่ในสมัยแห่งอาวัชชนจิตเป็นต้นสมัยใดสมัยหนึ่ง ก็หาไม่ แต่ในขณะแห่งชวนจิต ความเป็นผู้ทุศีลบ้าง ความหลงลืมสติบ้าง ความไม่รู้บ้าง ความไม่อดทนบ้าง ความเกียจคร้านบ้างย่อมเกิดขึ้น อสังวรย่อมมี.
               ก็อสังวรนั้นเป็นอย่างนี้ จึงตรัสเรียกว่า อสังวรในจักขุนทรีย์ ดังนี้. เพราะเหตุไร?
               เพราะเมื่ออสังวรนั้นมีอยู่ แม้ทวารก็มิได้คุ้มครอง แม้ภวังค์ แม้วิถีจิตมีอาวัชชนจิตเป็นต้นย่อมเป็นอันมิได้คุ้มครอง. เหมือนอะไร?
               เหมือนประตู ๔ ด้านในพระนครเขามิได้ปิดไว้ ถึงในภายในเรือน ซุ้มประตูและห้องเป็นต้นจะปิดไว้อย่างดีก็จริง ถึงอย่างนั้น ก็ชื่อว่ามิได้รักษา มิได้คุ้มครองสิ่งของทั้งหมดไว้ในภายในพระนครได้เลย เพราะพวกโจรเข้าไปทางประตูนคร พึงกระทำตามปรารถนาได้ ฉันใด เมื่อความทุศีลเป็นต้นเกิดขึ้นแล้วในชวนะ เมื่ออสังวรนั้นมีอยู่ ย่อมเป็นอันมิได้คุ้มครองแม้ทวาร แม้ภวังค์ แม้วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้น ฉันนั้นเหมือนกัน.
               แม้คำมีอาทิว่า ฟังเสียงด้วยโสตแล้ว ก็นัยนี้นั่นแหละ.
               บทว่า ยา อิเมสํ (อินทรีย์ ๖ เหล่านี้อันใด) ความว่า การไม่คุ้มครองอันใด กิริยาที่ไม่คุ้มครองอันใด การไม่รักษาอันใด การไม่สำรวมอันใดแห่งอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านี้. อธิบายว่า การไม่กั้น การไม่ปิดอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านี้ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งโภชเน อมัตตัญญุตา ต่อไป.
               บทว่า อิเธกจฺโจ (บุคคลบางคนในโลกนี้) ได้แก่ บุคคลบางคนในสัตวโลกนี้.
               บทว่า อปฺปฏิสงฺขา (ไม่พิจารณา) ได้แก่ ไม่รู้ คือไม่ใคร่ครวญด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา.
               บทว่า อโยนิโส (โดยไม่แยบคาย) ได้แก่ โดยมิใช่อุบาย.
               บทว่า อาหารํ (อาหาร) ได้แก่ สิ่งที่พึงกลืนกินมีอาหารและน้ำดื่มเป็นต้น.
               บทว่า อาหาเรติ (บริโภค) ได้แก่ ย่อมบริโภค คือย่อมกลืนกิน.
               บทว่า ทวาย (เพื่อจะเล่น) เป็นต้นนี้ตรัสไว้เพื่อแสดงถึงสิ่งที่ไม่ใช่อุบาย.
               จริงอยู่ บุคคลเมื่อบริโภคอาหารโดยไม่ใช้อุบาย ย่อมบริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อตกแต่ง๑- หรือเพื่อการประดับ๒- ไม่ชื่อว่าบริโภค เพราะอาศัยอุบายอันเป็นประโยชน์นี้.
               บทว่า ยา ตตฺถ อสนฺตุฏฺฐตา (ความเป็นผู้ไม่สันโดษ) ได้แก่ กิริยาที่ไม่พอใจ คือความที่ไม่พอใจในการบริโภคอาหาร โดยมิใช่อุบายนั้นอันใด.
               บทว่า อมตฺตญฺญุตา (ความเป็นผู้ไม่รู้ประมาณ) ได้แก่ ความที่ตนเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณ คือการไม่รู้จักประมาณ กล่าวคือความพอดี.
               บทว่า อยํ วุจฺจติ (นี้เรียกว่า) ความว่า ความประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจการบริโภคอาหารอันไม่พิจารณานี้ เรียกชื่อว่า โภชเน อมตฺตญฺญุตา (ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค).
____________________________
๑- บาลีว่า มณฺฑนาย เพื่อประเทืองผิว.
๒- บาลีว่า วิภูสนาย เพื่อความอ้วนพี.

               ว่าด้วยนิทเทสอินทริเยสุคุตตทวารตาทุกะ               
               จะวินิจฉัยนิทเทสความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ ต่อไป.
               บทว่า จกฺขุนา (ด้วยจักษุ) เป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
               บทว่า น นิมิตฺตคฺคาหี โหติ (เป็นผู้ไม่ถือนิมิต) ได้แก่ ย่อมไม่ถือนิมิตมีประการตามที่กล่าวแล้ว ด้วยอำนาจฉันทราคะ.
               แม้บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับคำที่กล่าวแล้วนั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ก็คำที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหนหลังว่า เมื่อความเป็นผู้ทุศีลเป็นต้นเกิดขึ้นในชวนจิต เมื่ออสังวรนั้นมีอยู่ แม้ทวารก็ย่อมเป็นอันมิได้คุ้มครอง แม้ภวังค์ แม้วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้นก็เป็นอันมิได้คุ้มครอง ฉันใด ในอธิการนี้ก็ฉันนั้น เมื่อศีลเป็นต้นเกิดขึ้นในชวนจิตนั้น แม้ทวารก็ย่อมเป็นอันคุ้มครองแล้ว แม้ภวังค์ แม้วิถีจิตทั้งหลายมีอาวัชชนะเป็นต้น ก็ย่อมเป็นอันคุ้มครองแล้ว เหมือนอะไร?
               เหมือนประตูพระนครที่ปิดดีแล้ว ภายในบ้านเป็นต้นไม่ได้ปิดไว้แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น สิ่งของทั้งหมดภายในพระนคร ก็ย่อมเป็นอันรักษาดีแล้ว คุ้มครองดีแล้วเหมือนกัน เพราะเมื่อประตูพระนครปิดแล้ว พวกโจรก็ย่อมเข้าไปไม่ได้ ฉันใด เมื่อศีลเป็นต้นเกิดในชวนจิตแล้ว แม้ทวารก็เป็นอันคุ้มครองแล้ว แม้ภวังค์ แม้วิถีจิตมีอาวัชชนะเป็นต้น ก็เป็นอันคุ้มครองแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น สังวรแม้เกิดอยู่ในขณะแห่งชวนจิต พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สังวรในจักขุนทรีย์ ดังนี้.
               แม้ในบทมีอาทิว่า ได้ยินเสียงด้วยโสตแล้ว ก็นัยนี้แหละ.
               จะวินิจฉัยในนิทเทสความเป็นผู้รู้ประมาณ ต่อไป.
               บทว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส อาหารํ อาหาเรติ (พิจารณาโดยแยบคายบริโภคอาหาร) ได้แก่ รู้ด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาแล้วบริโภคอาหารโดยอุบาย.
               บัดนี้ เพื่อทรงแสดงอุบายนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า เนว ทวาย (ไม่ใช่เพื่อเล่น) ดังนี้. ในบทเหล่านั้น บทว่า เนว ทวาย ได้แก่ ไม่บริโภคเพื่อเล่น.
               ในพระบาลีนั้น นักเต้นรำและคนกระโดดสูงเป็นต้น ชื่อว่าย่อมบริโภคเพื่อเล่น. เพราะเมื่อเขาบริโภคโภชนะใดแล้ว การเล่นกล่าวคือฟ้อนรำกาพย์กลอนและการเล่นโศลก ย่อมแจ่มใสยิ่งนัก ชนเหล่านั้นแสวงหาอาหารโดยอธรรมมิได้สม่ำเสมอแล้วย่อมบริโภคอาหารเหล่านั้น แต่ภิกษุนี้ไม่บริโภคอย่างนั้น.
               บทว่า น มทาย (ไม่ใช่เพื่อจะมัวเมา) ได้แก่ ย่อมไม่บริโภคเพื่อความเพิ่มพูนความเมาด้วยมานะและเมาด้วยสำคัญว่าเป็นบุรุษ. ในข้อนั้น พระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา ชื่อว่าย่อมบริโภคเพื่อความมัวเมา เพราะชนเหล่านั้นย่อมบริโภคโภชนะมีรสกลมกล่อมและประณีต เพื่อความเพิ่มพูนความเมาด้วยมานะและเมาด้วยสำคัญว่าเป็นบุรุษของตน แต่ภิกษุนี้ย่อมไม่บริโภคอย่างนั้น.
               บทว่า น มณฺฑนาย (ไม่บริโภคเพื่อประเทืองผิว) ความว่า ไม่บริโภคเพื่อตกแต่งสรีระ ในข้อนั้น หญิงแพศยา หญิงชาวบ้าน หญิงในเมืองเป็นต้น ย่อมดื่มเนยใสและน้ำอ้อย ย่อมบริโภคอาหารแต่น้อยทั้งเป็นอาหารที่ละเอียดอ่อน ด้วยคิดว่า การบริโภคอย่างนี้ การดำรงอยู่แห่งอวัยวะของพวกเราจักดำรงอยู่ดี ฉวีวรรณในสรีระจักผ่องใส ดังนี้ แต่ภิกษุนี้ย่อมไม่บริโภคอย่างนั้น.
               บทว่า น วิภูสนาย (ไม่บริโภคเพื่อความอ้วนพี) ได้แก่ ไม่บริโภคเพื่อต้องการประดับด้วยเนื้อในสรีระ ในบุคคลเหล่านั้น นักมวยปล้ำ นักมวยกำหมัด และนักมวยสมัครเล่นเป็นต้น ย่อมยังสรีระให้ล่ำสันด้วยโภชนาหารมีปลาและเนื้อเป็นต้นที่สนิทดี โดยคิดว่า ด้วยการบริโภคอย่างนี้ เนื้อของพวกเราจักล่ำสันเพื่อประโยชน์แก่การที่จะทนต่อการต่อยตี ดังนี้ แต่ภิกษุนี้ย่อมไม่บริโภคเพื่อประโยชน์ทำเนื้อให้ล่ำสันในสรีระอย่างนั้น.
               บทว่า ยาวเทว (เพียง) นี้เป็นคำแสดงการกำหนดประโยชน์ในการกลืนกินอาหาร.
               บทว่า อิมสฺส กายสฺส ฐิติยา (เพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ได้) ได้แก่ ย่อมบริโภคเพื่อต้องการให้กรชกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้ ดำรงอยู่ ข้อนี้เป็นประโยชน์ในการกลืนกินอาหารของภิกษุนี้.
               บทว่า ยาปนาย (เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป) ได้แก่ ย่อมบริโภคเพื่อประโยชน์แก่การให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป.
               บทว่า วิหึสูปรติยา (เพื่อบำบัดความหิว) ได้แก่ ความหิวเกิดขึ้นเพราะการไม่ได้บริโภคเป็นปัจจัย ชื่อว่า วิหิงสา ย่อมบริโภคเพื่อต้องการกำจัดวิหิงสานั้น คือเพื่อให้วิหิงสานั้นสงบลง.
               บทว่า พฺรหฺมจริยานุคฺคหาย (เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์) ความว่า ไตรสิกขาคือศาสนาทั้งสิ้น ชื่อว่าพรหมจรรย์ ย่อมบริโภคเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์นั้น.
               บทว่า อิติ นี้เป็นบทแสดงถึงอุบาย อธิบายว่า ด้วยอุบายนี้.
               บทว่า ปุราณญฺจ เวทนํ ปฏิหํขามิ (เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสียด้วย) ความว่า เวทนาที่เกิดขึ้นเพราะการไม่ได้บริโภคอาหารเป็นปัจจัย ชื่อว่า เวทนาเก่า ภิกษุย่อมบริโภคอาหารด้วยคิดว่า เราจักกำจัดเวทนาเก่านั้น.
               บทว่า นวญฺจ เวทนํ น อุปฺปาเทสฺสามิ (จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้นด้วย) ความว่า เวทนาอันเกิดขึ้นเพราะการบริโภคเกินไปเป็นปัจจัย๑- ชื่อว่าเวทนาใหม่ ภิกษุย่อมบริโภคด้วยคิดว่า เราจักไม่ให้เวทนาใหม่นั้นเกิดขึ้น ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง เวทนาอันเกิดขึ้นเพราะการบริโภคแล้วเป็นปัจจัย ชื่อว่าเวทนาใหม่ ภิกษุย่อมบริโภคเพื่อมิให้เกิดเวทนานั้นซึ่งยังไม่เกิดขึ้นนั่นแหละ.
____________________________
๑- ฉบับพม่าเป็น อติภุตฺตปจฺจเยน.

               บทว่า ยาตฺรา จ เม ภวิสฺสติ แปลว่าความดำรงอยู่แห่งชีวิตจักมีแก่เรา.
               บทว่า อนวชฺชตา จ (ความไม่มีโทษ) นี้ ได้แก่ ในการบริโภคนี้ สิ่งที่มีโทษก็มี สิ่งที่ไม่มีโทษก็มี ในสองอย่างนั้น การแสวงหาโดยไม่ชอบธรรม การรับเอาโดยไม่ชอบธรรม การบริโภคโดยไม่ชอบธรรม นี้ชื่อว่าสาวัชชะ (มีโทษ). การแสวงหาโดยธรรม การรับเอา การพิจารณาแล้วบริโภคโดยธรรม นี้ชื่อว่าอนวัชชะ (ไม่มีโทษ).
               บุคคลบางคนย่อมทำอาหารที่ไม่มีโทษนั่นแหละให้มีโทษ คือทำอาหารที่ตนได้มาโดยธรรมแล้วบริโภคเกินประมาณ เธอย่อมไม่อาจเพื่อให้อาหารนั้นๆ ให้ย่อย ย่อมลำบากด้วยการอาเจียนและถ่ายท้องเป็นต้น พวกภิกษุทั้งวัดต้องช่วยกันขวนขวายในการปฏิบัติร่างกายและแสวงหายาเป็นต้นให้ภิกษุนั้น เมื่อถูกถามว่า นี่อะไรๆ กัน พวกภิกษุก็จะพูดว่า ภิกษุรูปโน้นท้องขึ้นดังนี้เป็นต้น ภิกษุทั้งหลายก็จะพากันตำหนิติเตียนว่า ท่านนี้มีปรกติอย่างนี้เป็นนิจกาลแหละ ย่อมไม่รู้จักประมาณท้องของตน ดังนี้ ภิกษุนี้ชื่อว่าย่อมทำอาหารที่ไม่มีโทษให้มีโทษ อย่างนี้. ภิกษุไม่กระทำเหมือนอย่างนั้น ย่อมฉันอาหารด้วยมนสิการว่า ความไม่มีโทษจักมี ดังนี้.
               แม้ในบทว่า ผาสุวิหาโร จ (และการอยู่โดยผาสุก) นี้ความว่า การอยู่โดยผาสุกก็มี การอยู่โดยไม่ผาสุกก็มี.

               พราหมณ์ตะกละ ๕ คน               
               ในการบริโภคนั้น การบริโภคของพราหมณ์ ๕ คนเหล่านี้ คือ พราหมณ์ชื่ออาหารหัตถกะ ๑ พราหมณ์ชื่อ อลังสาฏกะ ๑ พราหมณ์ชื่อตัตถวัฏฏกะ ๑ พราหมณ์ชื่อกากมาสกะ ๑ พราหมณ์ชื่อภุตตวมิตกะ ๑ ชื่อว่าอยู่ไม่ผาสุก.
               จริงอยู่ บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น พราหมณ์ชื่ออาหารหัตถกะ บริโภคมากไม่อาจลุกขึ้นได้ตามธรรมดาของตน จึงพูดว่า ช่วยฉุดมือที ดังนี้. พราหมณ์ชื่ออลังสาฏกะ บริโภคอาหารมากแม้จะลุกขึ้นได้แต่ไม่อาจนุ่งผ้าได้. พราหมณ์ชื่อตัตถวัฏฏกะ บริโภคมากไม่สามารถลุกขึ้นได้ ย่อมกลิ้งอยู่ที่นั้นนั่นแหละ. พราหมณ์ชื่อกากมาสกะ บริโภคมากจนล้นถึงปาก จนถึงพวกกาอาจจิกกินได้. พราหมณ์ชื่อภุตตวมิตกะ บริโภคมากไม่อาจเพื่อหุบปากได้ ย่อมอาเจียนในที่นั้นนั่นแล.
               ภิกษุย่อมไม่ทำอย่างนี้ ย่อมฉันอาหารด้วยคิดว่า การอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา ดังนี้. การที่ท้องพร่องด้วยคำข้าว ๔-๕ คำ ชื่อว่าการอยู่เป็นผาสุก เพราะเมื่อภิกษุบริโภคอาหารเพียงนี้แล้วดื่มน้ำ อิริยาบถ ๔ ย่อมเป็นไปโดยสะดวก เพราะฉะนั้น พระธรรมเสนาบดีจึงกล่าวคาถาไว้อย่างนี้ว่า
                         จตฺตาโร ปญฺจ อาโลเป  อภุตฺวา อุทกํ ปิเว
                         อลํ ผาสุวิหาราย        ปหิตตฺตสฺส ภิกฺขุโน
                                        ภิกษุไม่บริโภคอาหาร ๔-๕ คำ
                         แล้วพึงดื่มน้ำแทน การบริโภคอย่างนั้น
                         สมควรเพื่ออยู่เป็นผาสุกของภิกษุผู้มีจิต
                         เป็นไปในกรรมฐาน ดังนี้.

               องค์ ๑๒ ของภิกษุผู้ฉันอาหาร               
               ก็ในฐานะนี้ควรประมวลองค์ทั้งหลาย คือ
               ข้อว่า ไม่บริโภคเพื่อเล่น เป็นองค์ ๑
               ข้อว่า ไม่บริโภคเพื่อมัวเมา เป็นองค์ ๑
               ข้อว่า ไม่บริโภคเพื่อประเทืองผิว เป็นองค์ ๑
               ข้อว่า ไม่บริโภคเพื่ออ้วนพี เป็นองค์ ๑
               ข้อว่า เพื่อกายดำรงอยู่และชีวิตินทรีย์เป็นไป เป็นองค์ ๑
               ข้อว่า เพื่อบำบัดความหิวเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ เป็นองค์ ๑
               ข้อว่า เพราะโดยอุบายนี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าและไม่ให้เวทนาใหม่เกิด เป็นองค์ ๑
               ข้อว่า ความดำรงอยู่แห่งชีวิตจักมีแก่เรา เป็นองค์ ๑
               ความไม่มีโทษ และการอยู่เป็นสุข เป็นองค์ ๑
               ในการบริโภคอาหารนี้ เป็นอานิสงส์แห่งการบริโภคโภชนะ.

               พระมหาสิวเถระจัดองค์ไว้ ๘               
               ส่วนพระมหาสีวเถระกล่าวองค์ ๔ ข้างต้น ชื่อว่าเป็นข้อห้ามรวมเป็นองค์ ๑ พึงประมวลองค์ ๘ เบื้องปลายมา ในองค์ ๘ เบื้องปลายนั้น ข้อว่าเพียงให้กายนี้ดำรงอยู่ จัดเป็นองค์ ๑ ข้อว่า เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป จัดเป็นองค์ ๑ ข้อว่า เพื่อบำบัดความหิว จัดเป็นองค์ ๑ ข้อว่า เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ จัดเป็นองค์ ๑ ข้อว่า ด้วยอุบายนี้เราจักกำจัดเวทนาเก่า จัดเป็นองค์ ๑ ข้อว่า จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น จัดเป็นองค์ ๑ ข้อว่า ความดำรงอยู่แห่งชีวิตจักมีแก่เรา จัดเป็นองค์ ๑ ข้อว่า ความไม่มีโทษ จัดเป็นองค์ ๑ ก็การอยู่ผาสุกเป็นผลของการบริโภค ดังนี้.
               ภิกษุเมื่อบริโภคอาหารประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร.
               บทว่า อยํ วุจฺจติ (นี้เรียกว่า) ความว่า การบริโภคด้วยการพิจารณาเป็นไปด้วยสามารถการรู้จักประมาณอันควรในการแสวงหา การรับและการบริโภคนี้ ชื่อว่า โภชเน มตฺตญฺญุตา (ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนาหาร).

               ว่าด้วยมุฏฐสัจจทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในมุฏฐสัจจทุกะ ต่อไป.
               บทว่า อสติ (ความระลึกไม่ได้) ได้แก่ นามขันธ์ ๔ ที่เว้นจากสติ.
               บทว่า อนนุสฺสติ อปฺปฏิสฺสติ (ความไม่ตามระลึก ความไม่หวนระลึก) นี้ทรงเพิ่มบทด้วยอำนาจอปสรรค.
               บทว่า อสรณตา แปลว่า อาการที่ระลึกไม่ได้.
               บทว่า อธารณตา (ความไม่ทรงจำ) ได้แก่ ไม่อาจเพื่อจะทรงจำ เพราะบุคคลผู้ประกอบด้วยความไม่ทรงจำนั้นถึงตั้งใจจำก็ไม่อาจรักษาไว้ได้.
               ที่ชื่อว่า ปิลาปนตา (ความเลื่อนลอย) เพราะอรรถว่า ย่อมเลื่อนลอยในอารมณ์ เหมือนกะโหลกน้ำเต้าลอยในน้ำฉะนั้น.
               บทว่า ปมุสฺสนตา๑- (ความหลงลืม) ได้แก่ เพราะไม่มีสติ หรือหลงลืมสติ เพราะบุคคลผู้ไม่มีสติหรือหลงลืมสตินั้น ย่อมเป็นดุจกาที่เก็บก้อนข้าว และเป็นเช่นกับสุนัขจิ้งจอกที่เก็บก้อนเนื้อ ฉะนั้น.
____________________________
๑- บาลีเป็น สมฺมุสนตา.

               ว่าด้วยภาวนาพลทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสภาวนาพละ ต่อไป.
               บทว่า กุสลานํ ธมฺมานํ (ซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย) คือโพธิปักขิยธรรม.
               บทว่า อาเสวนา (การเสพ) คือการเสพตั้งแต่ต้น.
               บทว่า ภาวนา (การเจริญ) คือการเพิ่มขึ้น.
               บทว่า พหุลีกมฺมํ (กระทำให้มาก) คือกระทำบ่อยๆ.
               นิทเทสแห่งศีลวิบัติ พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับโสรัจจนิทเทส. นิทเทสแห่งทิฏฐิวิบัติ พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับทิฏฐิสัมปทา และนิทเทสแห่งทิฏฐิสัมทา พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับนิทเทสแห่งทิฏฐิปาทาน. นิทเทสแห่งศีลวิสุทธิเหมือนกับนิทเทสแห่งศีลสัมปทาก็จริง ถึงอย่างนั้น ในนิทเทสแห่งศีลสัมทานั้น พระองค์ตรัสปาฏิโมกขสังวรศีลอันให้ถึงวิสุทธิ ส่วนในนิทเทสแห่งศีลวิสุทธินี้ ตรัสศีลอันถึงวิสุทธิ.
               อนึ่ง โลกิยะและโลกุตรธรรมแม้เป็นไปในภูมิ ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ด้วยทุกะทั้ง ๖ เหล่านี้ คือ
               ๑. สติและสัมปชัญญะ (ทุกะที่ ๓๐)
               ๒. ปฏิสังขานพละและภาวนาพละ (ทุกะที่ ๓๑)
               ๓. สมถะและวิปัสสนา (ทุกะที่ ๓๒)
               ๔. สมถนิมิตและปัคคาหนิมิต (ทุกะที่ ๓๓)
               ๕. ปัคคาหะและอวิกเขปะ (ทุกะที่ ๓๔)
               ๖. สีลสัมปทา ทิฏฐิสัมปทา (ทุกะที่ ๓๖).

               ว่าด้วยนิทเทสทิฏฐิวิสุทธิทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสทิฏฐิวิสุทธิ ต่อไป.
               บทว่า กมฺมสฺสกตญาณํ (ญาณเป็นเครื่องรู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน) ได้แก่ ปัญญาเป็นเครื่องรู้ว่า นี้เป็นกรรมของตน นี้ไม่ใช่กรรมของตน บรรดากรรมทั้ง ๒ เหล่านั้น กรรมที่ตนทำแล้วหรือผู้อื่นทำแล้วจงยกไว้ อกุศลกรรมแม้ทั้งหมดไม่ใช่ของตน เพราะเหตุไร? เพราะทำลายอรรถ และเพราะให้เกิดอนรรถ ส่วนกุศลกรรมชื่อว่าเป็นกรรมของตน เพราะทำลายอนรรถ และเพราะให้เกิดอรรถ ในข้อนั้น เหมือนบุรุษมีทรัพย์มีโภคะ เดินทางไกล ในระหว่างทาง เมื่อเขาประกาศเล่นงานนักษัตรในบ้านและนิคมเป็นต้น ก็มิได้คิดว่า เราเป็นอาคันตุกะ (แขก) พึงอาศัยใครหนอเล่นงานนักษัตร เมื่อเล่นนักษัตรโดยทำนองที่ต้องการ ย่อมผ่านทางกันดารโดยสบาย ฉันใด สัตว์เหล่านี้ตั้งอยู่ในกัมมัสสกตญาณนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน กระทำกรรมอันเป็นวัฏฏคามีมาก เสวยความสุขด้วยความสุข บรรลุพระอรหัตแล้วเหลือจะคณนา.
               บทว่า สจฺจานุโลมิกญาณํ (สัจจานุโลมิกญาณ) ได้แก่ วิปัสสนาญาณที่คล้อยตามสัจจะ ๔.
               บทว่า มคฺคสมงฺคิสฺส ญาณํ ผลสมงฺคิสฺส ญาณํ (ญาณของท่านผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค ญาณของท่านผู้พร้อมเพรียงด้วยผล) ได้แก่มรรคญาณและผลญาณนั่นแหละ.
               ในนิทเทสแห่งบทว่า ทิฏฺฐิวิสุทฺธิ โข ปน (ความหมดจดแห่งทิฏฐิ) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำแนกญาณ ๔ มีกัมมัสสกตญาณเป็นต้นนั่นแหละที่ตรัสไว้ในหนหลัง ด้วยบทมีอาทิว่า ยา ปญฺญา ปชานนา (ปัญญากิริยาที่รู้ชัด อันใด) ดังนี้.
               ในนิทเทสแห่งบทว่า ยถา ทิฏฺฐิสฺส จ ปธานํ (ความเพียรแห่งบุคคลผู้มีทิฏฐิอันหมดจด) ได้แก่ ความเพียรที่ทรงแสดงด้วยบทมีอาทิว่า โย เจตสิโก วิริยารมฺโภ (การปรารภความเพียรทางใจอันใด) ดังนี้ มีคติอย่างปัญญานั่นแหละ ในฐานะแห่งปัญญาที่เป็นโลกีย์ ก็พึงทราบว่าวิริยะนั้นเป็นโลกีย์ ในฐานะแห่งโลกุตรปัญญา ก็พึงทราบว่า วิริยะนั้นเป็นโลกุตระ ดังนี้.

               ว่าด้วยนิทเทสสังเวคทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสสังเวคทุกะ ต่อไป.
               บทว่า ชาติภยํ (กลัวชาติ) ได้แก่ ญาณที่เห็นชาติ (ความเกิด) โดยความเป็นภัยตั้งอยู่. แม้ในญาณที่เห็นชราและมรณะโดยความเป็นภัยเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               ด้วยบทว่า อนุปฺปนฺนานํ ปาปกานํ (เพื่อความไม่เกิดขึ้นแห่งอกุศลบาปธรรม) เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสความเพียรอันเป็นเหตุของ ภิกษุผู้เห็นชาติเป็นต้น โดยความเป็นภัยแล้วใคร่เพื่อจะพ้นไปจากชาติ ชราพยาธิและมรณะ. ส่วนเนื้อความแห่งบทภาชนีย์จักมีแจ้งในอรรถกถาวิภังคัฏฐกถา.

               ว่าด้วยนิทเทสอสันตุฏฐตากุศลธรรมทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในบทนิทเทสว่า อสนฺตุฏฺฐตา จ กุสเลสุ ธมฺเมสุ (ความไม่รู้จักอิ่มในกุศลธรรมทั้งหลาย) ต่อไป.
               บทว่า ภิยฺโย กมฺยตา (ความพอใจยิ่งๆ ขึ้นไป) ได้แก่ ความพอใจอย่างเยี่ยม.
               จริงอยู่ บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมถวายปักขิยภัต (อาหารที่ถวายประจำปักษ์) บ้าง สลากภัต (อาหารที่ถวายโดยวิธีจับสลาก) บ้าง อุโปสถิกภัต (อาหารที่ถวายในวันอุโบสถ) บ้าง ปาฏิปทิกภัต (อาหารที่ถวายในวันหนึ่งค่ำ) บ้าง ตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียว บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่อิ่มด้วยการถวายทานนั้นๆ จึงถวายธุวภัต๑- (ถวายอาหารประจำ) สังฆภัต (ถวายอาหารแก่สงฆ์) วัสสาวาสิกภัต (ถวายอาหารแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษา) อีก ย่อมสร้างอาวาส ย่อมถวายปัจจัยแม้ทั้ง ๔. เขาก็ยังเป็นผู้ไม่อิ่มใจแม้ในการถวายนั้นๆ จึงรับสรณะทั้งหลาย สมาทานเบญจศีล เขาก็ยังเป็นผู้ไม่อิ่มแม้ในการทำกุศลนั้นๆ จึงบวช ครั้นบวชแล้วก็เรียนพระพุทธวจนะ คือพระไตรปิฎก คือนิกายหนึ่ง สองนิกาย ย่อมยังสมาบัติ ๘ ให้เกิด เจริญวิปัสสนาถือเอาพระอรหัต จำเดิมแต่การบรรลุพระอรหัตแล้ว ย่อมเป็นผู้ชื่อว่ามหาสันตุฏฐะ (อิ่มใจอย่างใหญ่) ความพอใจอย่างเยี่ยม (พิเศษ) จนถึงพระอรหัตอย่างนี้ ชื่อว่า ภิยฺโยกมฺยตา (ความพอใจยิ่งๆ ขึ้นไป).
____________________________
๑- โยชนาว่า ธุรภัต อาหารที่ถวายผู้ทำความเพียร.

               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งบทว่า อปฺปฏิวานิตา จ ปธานสฺมึ (ความไม่ท้อถอยในความพยายาม) ดังนี้ เพราะภิกษุหน่ายอยู่ในการเจริญกุศลธรรมอันยิ่งทั้งหลายในเสนาสนะอันสงัดทั้งหลาย ชื่อว่ายังความเพียรให้ถ้อถอย ภิกษุเมื่อไม่หน่าย ชื่อว่าไม่ยังความเพียรให้ถ้อถอย เพราะฉะนั้น เพื่อทรงแสดงนัยนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า ยา กุสลานํ ธมฺมานํ (เพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรมอันใด) ดังนี้.
               ในพระบาลีเหล่านั้น บทว่า สกฺกจฺจกิริยตา (ความเป็นผู้กระทำโดยเคารพ) ได้แก่ ความเป็นผู้กระทำโดยเคารพในการทำกุศลทั้งหลาย.
               บทว่า สาตจฺจกิริยตา (ความกระทำติดต่อ) คือ ทำติดต่อกันนั่นแหละ.
               บทว่า อฏฺฐิตกิริยตา (ความกระทำไม่หยุด) คือ ทำไม่ให้ขาด ทำไม่หยุด.
               บทว่า อโนลีนวุตฺติตา (ความประพฤติไม่ย่อหย่อน) คือ ความดำรงชีพไม่ย่อหย่อน หรือความประพฤติไม่ย่อหย่อน.
               บทว่า อนิกฺขิตฺตฉนฺทตา (ความไม่ทิ้งฉันทะ) คือ ไม่ทิ้งกุศลฉันทะ.
               บทว่า อนิกฺขิตฺตธุรตา (ความไม่ทอดธุระ) คือ ไม่ทอดทิ้งธุระความเพียรในการสร้างกุศล.

               ว่าด้วยนิทเทสวิชชาทุกะ               
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติญาณํ วิชฺชา นี้ต่อไป.
               บทว่า ปุพฺเพนิวาโส (บุพเพนิวาส) ได้แก่ ขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อนและขันธ์ที่เนื่องกัน. การตามระลึกบุพเพนิวาสได้ ชื่อว่าบุพเพนิวาสานุสติ. ญาณสัมปยุตด้วยบุพเพนิวาสานุสตินั้น ชื่อว่าบุพเพนิวาสานุสติญาณ. บุพเพนิวาสานุสติญาณนี้นั้น ชื่อว่าวิชชา แม้เพราะอรรถว่าย่อมกำจัดความมืดอันปกปิดขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน คือญาณนั้นกำจัดความมืดแล้วกระทำขันธ์เหล่านั้นอันตนรู้แจ้งแล้วให้ปรากฏ เพราะเหตุนั้น ญาณนั้นจึงชื่อว่าวิชชา ด้วยอรรถว่ากระทำขันธ์ให้ปรากฏ.
               บทว่า จุตูปปาเต ญาณํ (จุตูปปาตญาณ) ได้แก่ ญาณ (คือความรู้) ในจุติและอุปบัติ. ญาณแม้นี้ก็ชื่อว่าวิชชา แม้ด้วยอรรถว่าย่อมกำจัดความมืดอันปกปิดจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย คือญาณนั้นกำจัดความมืดแล้วกระทำจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายที่รู้แล้วให้ปรากฏ เพราะฉะนั้น ญาณนั้นจึงชื่อว่าวิชชา แม้ด้วยอรรถว่ากระทำจุติปฏิสนธิที่รู้แล้วให้ปรากฏ.
               บทว่า อาสวานํ ขเย ญาณํ (อาสวักขยญาณ) ได้แก่ ญาณในสมัยสิ้นสรรพกิเลสทั้งหลาย ญาณนี้นั้นชื่อว่าวิชชา แม้เพราะอรรถว่าย่อมกำจัดความมืดอันปิดบังสัจจะทั้ง ๔ คือญาณนั้นกำจัดความมืดแล้วกระทำสัจจะ ๔ ที่รู้แล้วให้ปรากฏ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าวิชชา แม้ด้วยอรรถว่ากระทำสัจจะให้แจ่มแจ้ง.
               ในข้อว่า จิตฺตสฺส จ อธิมุตฺติ นิพฺพานญฺจ (อธิมุตติแห่งจิตและนิพพาน) นี้ สมาบัติ ๘ ชื่อว่าอธิมุตติแห่งจิต ด้วยอรรถว่าน้อมไปในอารมณ์ และด้วยอรรถว่าหลุดพ้นด้วยดีจากธรรมอันเป็นข้าศึกทั้งหลาย. ส่วนญาณนอกนี้ชื่อว่านิพพาน ด้วยอรรถว่าวานะกล่าวคือตัณหาไม่มีในนิพพานนี้ หรือพระนิพพานนี้ออกไปจากวานะ (คือตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด) นั้น. บรรดาธรรมทั้ง ๒ (คืออธิมุตติแห่งจิตและนิพพาน) เหล่านั้น สมาบัติ ๘ ตรัสว่าวิมุตติ เพราะหลุดพ้นแล้วจากกิเลสที่ข่มไว้ได้เอง. แต่นิพพานตรัสว่าวิมุตติ เพราะหลุดพ้นโดยส่วนเดียวจากสรรพกิเลสทั้งหลาย.
               บทว่า มคฺคสมงฺคิสฺส ญาณํ (ญาณของท่านผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค) ได้แก่ มรรคญาณทั้ง ๔.
               บทว่า ผลสมงฺคิสฺส ญาณํ (ญาณของท่านผู้พร้อมเพรียงด้วยผล) ได้แก่ ผลญาณทั้ง ๔.
               ในบรรดาญาณเหล่านั้น มรรคญาณที่ ๑ ชื่อว่า ขเย ญาณํ (ญาณในความสิ้นไป) เพราะอรรถว่าเกิดขึ้นยังกิเลส ๕ อย่างให้สิ้นไป ให้ดับไป ให้สงบ ให้ระงับ. มรรคญาณที่ ๒ ยังกิเลส ๔ อย่าง ให้สิ้นไป. มรรคญาณที่ ๓ ก็ยังกิเลส ๔ อย่างให้สิ้นไปเหมือนกัน แต่มรรคญาณที่ ๔ ชื่อว่า ขเย ญาณํ (ขยญาณ) เพราะอรรถว่าย่อมเกิดขึ้นทำกิเลส ๘ อย่างให้สิ้นไป ให้ดับไป ให้สงบ ให้ระงับ.
               แต่ผลญาณของมรรคนั้นๆ ชื่อว่า อนุปฺปาเท ญาณํ (อนุปปาทญาณ) เพราะอรรถว่าเกิดขึ้นในที่สุดแห่งการสิ้นไป ในที่สุดแห่งการดับไป ในที่สุดแห่งการสงบไป ในที่สุดแห่งการระงับไป ในที่สุดแห่งการไม่เกิดขึ้น ในที่สุดแห่งการไม่เป็นไปแห่งกิเลสเหล่านั้น ดังนี้แล.
               การพรรณนานิกเขปกัณฑ์               
               อัฏฐสาลินี อรรถกถาธรรมสังคณี จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ สุตตันติกทุกะ จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 810อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 836อ่านอรรถกถา 34 / 878อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=7290&Z=7582
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=11088
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=11088
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๒  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :