ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 515อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 539อ่านอรรถกถา 34 / 588อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
รูปกัณฑ์ รูปวิภัตติ ทุกนิเทศ (ต่อ)

               อรรถกถารูปกัณฑ์               
               อรรถกถาโนอุปาทานิสเทส               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่ง โน อุปาทา ต่อไป.
               รูปที่ชื่อว่า โน อุปาทา เพราะอรรถว่า โนอุปาทารูปนี้ย่อมไม่อาศัย เหมือนอุปาทารูปย่อมอาศัยมหาภูตรูปเท่านั้นไม่อาศัยรูปอื่น. ที่ชื่อว่าโผฏฐัพพะ เพราะอรรถว่าอันกายพึงถูกต้อง. อธิบายว่า ถูกต้องแล้วจึงรู้. รูปนั้นเป็นโผฏฐัพพะด้วย เป็นอายตนะด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าโผฏฐัพพายตนะ ก็รูปนั้นเป็นอาโปด้วย เป็นธาตุด้วย ด้วยอรรถว่ามิใช่สัตว์และเป็นสภาวะที่ว่างเปล่า เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าอาโปธาตุ.

               อรรถกถาโผฏฐัพพายตนนิทเทส               
               บัดนี้ เพื่อทรงแสดงจำแนกรูปทั้ง ๓ ที่กายถูกต้องแล้วพึงรู้ได้เหล่านั้น จึงตรัสว่า รูปที่เรียกว่า โผฏฐัพพายตนะนั้น เป็นไฉน? ปฐวีธาตุ เป็นต้น.
               บรรดาธาตุเหล่านั้น ปฐวีธาตุ กกฺขฬตฺตลกฺขณา มีความแข่นแข็งเป็นลักษณะ ปติฏฺฐานรสา มีการตั้งมั่นเป็นรส สมฺปฏิจฺฉนฺนปจฺจุปฏฺฐานา มีการรองรับเป็นปัจจุปัฏฐาน. เตโชธาตุ อุณฺหตฺตลกฺขณา มีความร้อนเป็นลักษณะ ปริปาจนรสา มีการทำให้สุก (การย่อย) เป็นรส มทฺทวานุปฺปาทนปจฺจุปฏฺฐานา มีการทำให้อ่อนเป็นปัจจุปัฏฐาน. วาโยธาตุ วิตฺถมฺภนลกฺขณา มีการเคร่งตึงเป็นลักษณะ สมุทีรณรสา มีการไหวเป็นรส อภินีหารปจฺจุปฏฺฐานา มีการน้อมไปเป็นปัจจุปัฏฐาน. ส่วนอาโปธาตุ ข้างต้น ปคฺฆรณลกฺขณา มีการไหลไปเป็นลักษณะ๑- อุปพฺรูรสา มีความพอกพูนเป็นรส สงฺคหปจฺจุปฏฺฐานา มีการควบคุมไว้เป็นปัจจุปัฏฐาน ก็ในธาตุทั้ง ๔ เหล่านั้น แต่ละธาตุพึงทราบว่ามีธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือเป็นปทัฏฐาน (เสสตฺปทฏฺฐานา).
____________________________
๑- อาโปธาตุ บางแห่งแสดงถึงการเกาะกุมสหชาตรูปเป็นลักษณะด้วย.

               บทว่า กกฺขฬํ แปลว่า แข็ง. บทว่า มุทุกํ (อ่อน) คือ ไม่แข็ง. บทว่า สณฺหํ (ละเอียด) คือเกลี้ยง. บทว่า ผรุสํ (หยาบ) คือ ขรุขระ. บทว่า สุขสมฺผสฺสํ (มีสัมผัสสบาย) ได้แก่ มีสุขเวทนาเป็นปัจจัย คือมีโผฏฐัพพะที่น่าปรารถนา. บทว่า ทุกฺขสมฺผสฺสํ (มีสัมผัสไม่สบาย) ได้แก่ มีทุกขเวทนาเป็นปัจจัย คือโผฏฐัพพะที่ไม่น่าปรารถนา. บทว่า ครุกํ (หนัก) คือเต็มไปด้วยภาระ. บทว่า ลหุกํ (เบา) คือเบาพร้อมไม่มีภาระหนัก.
               ก็ในบรรดาธาตุเหล่านี้ ปฐวีธาตุเท่านั้นทรงจำแนกด้วยบทว่า แข็ง อ่อน ละเอียด หยาบ หนัก เบา. แม้ในพระสูตรว่า เมื่อใด กายนี้ยังประกอบด้วยอายุ ยังประกอบด้วยไออุ่น ยังประกอบด้วยวิญญาณ เมื่อนั้น กายนี้ก็เบากว่า อ่อนกว่า ควรแก่การงานกว่า ตรัสหมายถึงปฐวีธาตุที่เบาและอ่อนเท่านั้น.
               แต่ด้วยสองบทว่า มีสัมผัสสบาย มีสัมผัสไม่สบาย ตรัสจำแนกมหาภูตรูป ๓ เพราะปฐวีธาตุมีสัมผัสสบายบ้าง มีสัมผัสเป็นทุกข์บ้าง เตโชธาตุและวาโยธาตุก็ตรัสเหมือนปฐวีธาตุ. บรรดาธาตุ ๓ เหล่านั้น ปฐวีธาตุ มีสัมผัสสบาย คือว่า เมื่อเด็กหนุ่มผู้มีฝามืออ่อนบีบนวดเท้าอยู่ บุคคลนั้นย่อมสบายใจ ย่อมทำอาการที่จะให้พูดว่า นวดเข้าเถิดพ่อ ดังนี้. เตโชธาตุมีสัมผัสสบาย เมื่อฤดูหนาว เมื่อนำเอากระเบื้องถ่านเพลิงมาให้อบอุ่นร่างกาย เขาก็สบายใจ ย่อมทำอาการที่จะให้พูดว่า อบเข้าเถิดพ่อ ดังนี้. วาโยธาตุมีสัมผัสสบาย เมื่อฤดูร้อน ภิกษุหนุ่มถึงพร้อมด้วยวัตรพัดวีอยู่ ย่อมให้สบายใจ ย่อมทำอาการที่จะให้พูดว่า พัดเข้าเถิดพ่อ ดังนี้.
               แต่เมื่อเด็กหนุ่มมีมือแข็ง นวดเท้าทั้งสองอยู่ ย่อมเป็นเหมือนเวลาที่กระดูกทั้งหลายจะแตกไป แม้เขาก็จะต้องถูกกล่าวสิ่งที่ควรจะพูดว่า เจ้าจงออกไปดังนี้ เมื่อฤดูร้อนมีคนนำเอากระเบื้องถ่านเพลิงมาให้ ก็จะถูกกล่าวว่า เจ้าจงนำมันออกไปเสีย ดังนี้ เมื่อฤดูหนาวมีคนนำเอาพัดมาพัดโบกอยู่ ก็จะถูกกล่าวว่า จงออกไปอย่ามาพัด ดังนี้. พึงทราบความที่ธาตุทั้ง ๓ เหล่านั้น มีสัมผัสสบาย และไม่สบาย ด้วยประการฉะนี้.
               ก็วาระ ๑๓ ประดับด้วยนัยอย่างละ ๔ นัยตามที่ตรัสไว้ โดยนัยว่า โผฏฐัพพะใด เห็นไม่ได้แต่กระทบได้ ดังนี้เป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าว ในรูปายตนะเป็นต้น ในหนหลังนั่นแหละ
               ถามว่า ก็มหาภูตรูป ๓ เหล่านั้น มาสู่คลองพร้อมกันหรือไม่
               ตอบว่า มาพร้อมกัน
               ถามว่า มหาภูตรูป ๓ มาแล้วอย่างนี้ กระทบกายประสาทหรือไม่
               ตอบว่า ย่อมกระทบ
               ถามว่า กายวิญญาณกระทำมหาภูตรูป ๓ เหล่านี้ให้เป็นอารมณ์พร้อมกันเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้น
               ตอบว่า กายวิญญาณ ไม่เกิดขึ้น
               ถามว่า เพราะเหตุไร
               ตอบว่า เพราะการที่กายวิญญาณกระทำมหาภูตรูป ๓ ให้เป็นอารมณ์พร้อม ย่อมมีด้วยอำนาจการคำนึงถึง หรือด้วยสามารถธาตุที่มีมาก.
               ในบรรดาทั้ง ๒ ข้อนั้น ว่าด้วยการคำนึงถึงก่อน. จริงอยู่ เมื่อคนเอาข้าวสุกบรรจุบาตรจนเต็มนำมาแล้วก็หยิบเมล็ดข้าวเมล็ดหนึ่งมาทดลองดูว่า แข็งหรืออ่อน ในข้าวเมล็ดหนึ่งนั้น ย่อมมีทั้งเตโชธาตุ มีทั้งวาโยธาตุ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นเขาก็ย่อมคำนึงถึงปฐวีธาตุเท่านั้น.
               เมื่อหย่อนมือลงในน้ำร้อนทดลองดูในน้ำร้อนนั้น ย่อมมีทั้งปฐวีธาตุ ย่อมมีทั้งวาโยธาตุ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เขาก็ย่อมคำนึงถึงเตโชธาตุเท่านั้น. ในฤดูร้อน เขาเปิดหน้าต่างให้ลมโชยสรีระยืนอยู่ เมื่อลมอ่อนๆ โชยมาอยู่ ในลมอ่อนๆ ที่โชยมานั้น ย่อมมีทั้งปฐวีธาตุ ย่อมมีทั้งเตโชธาตุ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เขาก็คำนึงถึงวาโยธาตุเท่านั้น กายวิญญาณธาตุชื่อว่าย่อมกระทำมหาภูตรูป ๓ ให้เป็นอารมณ์ด้วยสามารถแห่งการคำนึงถึง ด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนบุคคลใดพลาดล้มลงก็ดี เอาศีรษะชนกับต้นไม้ก็ดี กำลังบริโภคอาหารกัดก้อนกรวดก็ดี ในการพลาดล้มลงเป็นต้นนั้น ย่อมมีทั้งเตโชธาตุ ย่อมมีทั้งวาโยธาตุ แต่บุคคลนั้นย่อมกระทำเฉพาะปฐวีธาตุเท่านั้นให้เป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจธาตุที่มีมาก เมื่อเหยียบไฟก็ดี ในไฟนั้น ก็ย่อมมีทั้งปฐวีธาตุ ย่อมมีทั้งวาโยธาตุ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เขาก็ทำเฉพาะเตโชธาตุเท่านั้นให้เป็นอารมณ์ ด้วยสามารถแห่งธาตุที่มีมาก เมื่อลมแรงพัดแก้วหูราวกะทำให้หูหนวก ในลมแรงนั้น ย่อมมีทั้งปฐวีธาตุ ย่อมมีทั้งเตโชธาตุ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เขาก็กระทำเฉพาะธาตุลมเท่านั้นให้เป็นอารมณ์ ด้วยสามารถแห่งธาตุที่มีมาก.
               บุคคลกระทำอยู่ซึ่งธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นอารมณ์ แม้กายวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน เมื่อบุคคลถูกเข็มทั้งกลุ่มแทงแล้ว กายถูกเข็มทั้งนั้นกระทบพร้อมกัน แต่ในที่ใดๆ กายประสาทมีมาก ในที่นั้นๆ กายวิญญาณย่อมเกิดขึ้น แม้ในที่ใดๆ มีการกระทบเสียดสีแรง ในที่นั้นๆ กายวิญญาณย่อมเกิดขึ้นก่อน. เมื่อเอาขนไก่มาชะแผล เส้นขนไก่แต่ละเส้นย่อมกระทบกายประสาท ก็ในที่ใดๆ กายประสาทมีมาก ในที่นั้นๆ นั่นแหละ กายวิญญาณย่อมเกิดขึ้น บุคคลย่อมทำธาตุทั้ง ๓ ให้เป็นอารมณ์ ด้วยสามารถแห่งธาตุที่มีมากอย่างนี้ กายวิญญาณ ชื่อว่า ย่อมเกิด ด้วยสามารถแห่งธาตุที่มีมากนั่นแหละ.
               ถามว่า ก็จิตเล่า ก้าวไปจากอารมณ์ได้อย่างไร?
               ตอบว่า ก้าวไปด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ โดยอัชฌาศัย (ความปรารถนา) หรือโดยอารมณ์มีกำลังแรง.
               จริงอยู่ ในเวลาที่มีงานฉลองพระวิหารเป็นต้น คนผู้ไปด้วยความตั้งใจว่า เราจักไหว้พระเจดีย์ และจักไหว้พระปฏิมานั้นๆ เราจักดูโปตถกรรม (การทำหนังสือ) และจิตรกรรม (การวาดภาพ) ดังนี้ ไหว้หรือเห็นสิ่งหนึ่ง แล้วก็ตั้งใจเพื่อต้องการไหว้ เพื่อต้องการชมสิ่งนอกนี้แล้ว ก็ไปเพื่อไหว้บ้าง เพื่อดูบ้างทีเดียว อย่างนี้ จิตชื่อว่าก้าวไปจากอารมณ์ โดยอัชฌาศัย คือความปรารถนา. แต่เมื่อยืนแลดูพระมหาเจดีย์ อันมีส่วนเปรียบด้วยยอดเขาไกรลาส ครั้นเวลาต่อมา เมื่อบรรเลงดนตรีทั้งปวงขึ้น จึงละรูปารมณ์ ก้าวขึ้นสู่สัททารมณ์ ครั้นเมื่อบุคคลนำดอกไม้มีกลิ่นที่ชอบใจ หรือของหอมมา ก็ละสัททารมณ์ ก้าวขึ้นสู่คันธารมณ์ อย่างนี้ชื่อว่า ก้าวไปโดยอารมณ์มีกำลังแรง.

               อรรถกถาอาโปธาตุนิทเทส               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งอาโปธาตุ ต่อไป.
               บทว่า อาโป (ความเอิบอาบ) เป็นการแสดงสภาวะ อาโปนั่นแหละเรียกว่า อาโปคตํ (ธรรมชาติที่เอิบอาบ) สิเนโห (ความเหนียว) ด้วยอำนาจแห่งความเหนียวนั่นแหละ เรียกว่า สิเนหคตํ (ธรรมชาติที่เหนียว).
               บทว่า พนฺธนตฺตํ รูปสฺส (ธรรมชาติเครื่องเกาะกุมรูป) ได้แก่ ธรรมชาติเป็นเครื่องประกอบภูตรูปมีปฐวีเป็นต้น. จริงอยู่ อาโปธาตุควบคุมวัตถุทั้งหลายมีแท่งเหล็กเป็นต้นไว้แล้วย่อมทำให้ติดกัน ธรรมชาติทั้งหลายมีก้อนเหล็กเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่าติดกันอยู่ เพราะความที่อาโปธาตุนั้น เป็นเครื่องเกาะกุมไว้ แม้ในแผ่นหิน ภูเขา ต้นตาล หนอไม้ งาช้างและเขาโคเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็อาโปธาตุเท่านั้นเกาะกุมวัตถุเหล่านั้นทั้งหมด กระทำให้ติดกัน ธรรมชาติเหล่านั้นชื่อว่า เป็นธรรมชาติติดกัน ก็เพราะถูกอาโปธาตุควบคุมไว้.
               ถามว่า ก็ปฐมวีธาตุถูกต้องธาตุที่เหลือ (มีอาโปเป็นต้น) แล้วก็เป็นที่ตั้งอาศัย หรือไม่ถูกต้องก็เป็นที่อาศัย อีกนัยหนึ่ง อาโปธาตุเมื่อเกาะกุมธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ ถูกต้องแล้วย่อมเกาะกุม หรือว่าไม่ถูกต้องแล้วก็เกาะกุมได้.
               ตอบว่า เบื้องต้น ปฐวีธาตุไม่ถูกต้องกับอาโปธาตุ ก็เป็นที่อาศัยให้ได้ แต่สำหรับเตโชธาตุและวาโยธาตุแล้ว ปฐวีธาตุต้องถูกต้องจึงเป็นที่อาศัยให้ได้ ส่วนอาโปธาตุไม่ถูกต้องแม้ปฐวีธาตุ แม้เตโชธาตุและวาโยธาตุเลยก็ย่อมเกาะกุมได้ ถ้าว่าอาโปธาตุถูกต้องแล้วพึงเกาะกุมไซร้ อาโปธาตุนั้นก็พึงชื่อว่าโผฏฐัพพายตนะ.
               แม้ในการที่เตโชธาตุและวาโยธาตุทำกิจของตนๆ ในธาตุที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน. จริงอยู่ เตโชธาตุ ถูกต้องปฐวีธาตุแล้ว ก็ยังปฐวีให้ไหม้ ส่วนปฐวีธาตุนั้นมิใช่เป็นของร้อนย่อมถูกไหม้ ถ้าว่า ปฐวีธาตุพึงเป็นของร้อนแผดเผาไซร้ ปฐวีธาตุก็พึงมีความร้อนเป็นลักษณะ อนึ่ง เตโชธาตุนั้นมิได้ถูกต้องอาโปธาตุเลยก็ทำให้อาโปธาตุนั้นร้อนได้ แม้อาโปธาตุนั้น เมื่อร้อนอยู่ก็หาเป็นสภาวะร้อนเผาไม่ ถ้าว่าอาโปธาตุนั้นเป็นตัวสภาวะความร้อนพึงเผาไซร้ อาโปธาตุนั้น ก็พึงชื่อว่ามีความร้อนเป็นลักษณะ. อนึ่ง เตโชธาตุนั้นถูกต้องวาโยธาตุนั้นแหละจึงแผดเผา แม้วาโยธาตุนั้น เมื่อถูกแผดเผาอยู่ก็มิใช่เป็นตัวความร้อนแผดเผา ถ้าวาโยธาตุเป็นตัวสภาวะความร้อนแผดเผาอยู่ไซร้ วาโยธาตุนั้นก็พึงชื่อว่ามีความร้อนเป็นลักษณะ.
               วาโยธาตุถูกต้องปฐวีธาตุแล้วย่อมเคร่งตึง (คือขยายตัวออก) ถูกต้องเตโชธาตุก็ทำให้เคร่งตึงเหมือนกัน แต่ว่าวาโยธาตุนั้นแม้ไม่ถูกต้องอาโปธาตุเลย ก็ย่อมทำให้อาโปธาตุเคร่งตึงได้.
               ถามว่า เมื่อบุคคลเคี่ยวน้ำอ้อยทำเป็นงบ อาโปธาตุจะเป็นของแข็ง หรือไม่.
               ตอบว่า ไม่เป็น เพราะอาโปธาตุนั้นมีการไหลออก (หรือไหลซึม) เป็นลักษณะ ปฐวีธาตุมีความแข็งเป็นลักษณะ แต่ว่าอาโปธาตุมีปริมาณต่ำ (น้อย) ก็จะเป็นไปตามปฐวีธาตุที่มากยิ่ง.
               จริงอยู่ อาโปธาตุนั้นย่อมละภาวะที่ตั้งอยู่โดยอาการเป็นรส (น้ำ) ได้ แต่ไม่ละลักษณะ แม้เมื่อละลายงบน้ำอ้อยอยู่ ปฐวีธาตุย่อมไม่ละลาย เพราะปฐวีมีความแข็งเป็นลักษณะ อาโปธาตุมีการไหลออกเป็นลักษณะ.
               แต่ว่า ปฐวีธาตุมีปริมาณต่ำก็จะเกิดเป็นไปตามอาโปธาตุที่มีปริมาณมาก. ปฐวีธาตุนั้นย่อมละภาวะที่ทั้งอยู่โดยอาการเป็นก้อนได้ แต่ไม่ละลักษณะตน เพราะว่ามหาภูตรูปทั้ง ๔ ย่อมถึงความแปรปรวนเป็นไปเท่านั้น ขึ้นชื่อว่าความแปรปรวนของลักษณะมิได้มี ความไม่มีแห่งความแปรปรวนโดยลักษณะนั้นทรงแสดงไว้โดยอัฏฐานปริกัปปสูตร.
               ข้อนี้สมด้วยพระดำรัสที่ตรัสไว้ว่า “ดูก่อนอานนท์ ก็มหาภูตรูป ๔ คือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ จะพึงแปรเป็นอื่นไปได้ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าจะแปรเป็นอื่นไป ข้อนี้ไม่พึงมีได้เลย” ดังนี้ ก็ในอัฏฐานปริกัปปสูตรนี้มีอธิบายดังนี้ว่า “ดูก่อนอานนท์ ปฐวีธาตุอันมีความแข็งเป็นลักษณะจะพึงเปลี่ยนไปเป็นอาโปธาตุซึ่งมีความไหลออกเป็นลักษณะได้ แต่พระอริยสาวกชื่อว่าเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นมิได้มี ดังนี้ การกำหนดอฐานะ (เหตุอันเป็นไปไม่ได้) มาแล้วในพระบาลีนี้ด้วยประการฉะนี้.

               อรรถกถาอุปาทินนาทินิทเทส               
               เบื้องหน้าแต่นี้พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งอุปาทินนรูปเป็นต้นต่อไป.
               เนื้อความแห่งอุปาทินนรูปเป็นต้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวในมาติกานั่นแหละ เนื้อความจักขายตนะเป็นต้น ข้าพเจ้าก็ให้พิสดารแล้วในหนหลังเหมือนกัน แต่ข้าพเจ้าจักกล่าวเฉพาะเนื้อความที่ต่างกันในที่นั้นๆ เท่านั้น.
               ในนิทเทสแห่งอุปาทินนรูปก่อน รูปทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่าจักขายตนะเป็นต้น เพราะเป็นรูปมีใจครองอย่างเดียว แต่เพราะรูปายตนะเป็นต้นมีใจครองก็มี ไม่มีใจครองก็มี ฉะนั้น รูปายตนะเป็นต้นเหล่านั้นพระองค์จึงแสดงโดยสังเขปว่า ยํ ยํ วา ปน (หรือว่ารูปแม้อื่นใดๆ) แล้วพึงให้พิสดารโดยนัยมีอาทิว่า กมฺมสฺสกตตฺตา รูปายตนํ (รูปายตนะที่กรรมแต่งขึ้น) ดังนี้อีก เนื้อความในเยวาปนกธรรมทั้งหมดพึงทราบโดยอุบายนี้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ในนิทเทสแม้ทั้ง ๒ คือ กมฺมสฺส กตตฺตา (รูปที่กรรมแต่งขึ้น) และ น กมฺมสฺส กตตฺตา (รูปที่กรรมมิได้แต่งขึ้น) พระองค์มิได้ทรงถือเอาชรตารูปและอนิจจตารูปเล่า? ทรงถือเอาเฉพาะในนิทเทสทั้งหลายแห่งอนุปาทินนรูปเป็นต้นเท่านั้น.
               ตอบว่า ในบทว่า น กมฺมสฺส กตตฺตา (รูปที่กรรมมิได้แต่งขึ้น) นี้ พระองค์ทรงรวมรูปที่มีสมุฏฐานเกิดแต่ปัจจัยอื่นนอกจากกรรมก่อน แต่ใน
               บทว่า กมฺมสฺส กตตฺตา (รูปที่กรรมแต่งขึ้น) นี้ ทรงรวบรวมรูปที่มีสมุฏฐานเกิดแต่กรรมอย่างเดียว รูปทั้ง ๒ คือชรตารูปและอนิจจตารูปเหล่านี้มิได้เกิดแต่กรรม มิได้เกิดแต่ปัจจัยอย่างอื่น ที่ยังรูปให้เกิด เพราะฉะนั้น พระองค์จึงมิทรงถือเอา. ก็ความไม่เกิดขึ้นแห่งชรตารูปและอนิจจตารูปด้วยกรรมปัจจัยเป็นต้นนั้นจักแจ่มแจ้งข้างหน้า.
               อนึ่ง ในคำเป็นต้นว่า อนุปาทินฺนํ (รูปที่ไม่มีใจครอง) ทรงปฏิเสธความที่รูปมีสมุฏฐานเกิดแต่กรรมเป็นต้น ไม่ทรงอนุญาตความที่รูปนั้นมีปัจจัยอื่นเป็นสมุฏฐาน ด้วยศัพท์ว่า อนุปาทินนะ เป็นต้นอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ในนิทเทสแห่งอนุปาทินนรูปเป็นต้นนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า รูปทั้ง ๒ พระองค์ทรงถือเอาแล้วดังนี้.

               อรรถกถาจิตตสมุฏฐานนิทเทส               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งจิตตสมุฏฐาน ต่อไป.
               รูปทั้ง ๒ นี้คือ กายวิญญัตติ วจีวิญญัตติ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ย่อมปรากฏเพราะอาศัยภูตรูป มีจิตเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว แต่เมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้ว รูปทั้ง ๒ ที่อาศัยภูตรูปนั้นไม่ใช่ภูตรูป แต่เป็นรูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานซึ่งมีภูตรูปนั่นแหละ เพราะความที่รูปเหล่านั้นอาศัยจิตตั้งขึ้น แม้รูปทั้ง ๒ นี้ ก็มีชื่อว่ามีจิตเป็นสมุฏฐาน เหมือนชราและมรณะของรูปที่ไม่เที่ยงก็ ชื่อว่าไม่เที่ยง.
               แม้ในนิทเทสแห่ง จิตตสหภู ก็นัยนี้เหมือนกัน รูปทั้ง ๒ (กายวิญญัตติและวจีวิญญัตติ ที่เป็นสหภู) นี้เท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ เพราะรูปทั้ง ๒ นั้นปรากฏอยู่ได้ตลอดเวลาที่จิตยังปรากฏอยู่ แต่รูปทั้ง ๒ นี้มิได้เกิดพร้อมกับจิต เหมือนภูตรูปและเหมือนสัมปยุตธรรมมีเจตนาเป็นต้น.
               แม้ในนิทเทสแห่ง จิตตานุปริวัติ ก็นัยนี้แหละ ก็รูปทั้ง ๒ (กายวิญญัตติและวจีวิญญัตติ) นี้ ตรัสเรียกว่า จิตตานุปริวัติ เพราะรูปทั้ง ๒ นี้ ปรากฏอยู่ได้ตลอดเวลาที่จิตยังปรากฏอยู่ ฉะนั้น.
               บทว่า โอฬาริกํ (รูปหยาบ) ได้แก่ ที่ชื่อว่าหยาบ โดยเป็นวัตถุที่พึงถือเอาด้วยสามารถแห่งการกระทบ เพราะเป็นทั้งวัตถุและอารมณ์ พึงทราบรูปละเอียดโดยสภาพตรงกันข้ามกับรูปหยาบที่กล่าวแล้ว.
               บทว่า ทูเร (รูปไกล) ได้แก่ รูปแม้ตั้งอยู่ในที่ใกล้ ก็ชื่อว่ารูปไกล โดยภาวะที่รู้ได้ยาก เพราะถือเอาไม่ได้ด้วยสามารถแห่งการกระทบ ส่วนรูปนอกนี้แม้ตั้งอยู่ไกลก็ชื่อว่าอยู่ใกล้ โดยเป็นภาวะที่รู้ได้ง่าย เพราะพึงถือเอาได้ด้วยสามารถแห่งการกระทบ.
               นิทเทสแห่งจักขายตนะเป็นต้น พึงทราบโดยพิสดารตามนัยที่กล่าวไว้ในหนหลังนั่นแหละ ในการสงเคราะห์รูปหมวด ๒ มีข้อแตกต่างกันเพียงเท่านี้.
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ รูปกัณฑ์ รูปวิภัตติ ทุกนิเทศ (ต่อ) จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 515อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 539อ่านอรรถกถา 34 / 588อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=4763&Z=5041
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=9733
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=9733
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๙  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :