ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 418อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 422อ่านอรรถกถา 34 / 446อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ อัพยากตธรรม โลกุตตรวิบาก

               อรรถกถาแสดงโลกุตตรวิบาก               
               แม้โลกุตรวิบาก พระองค์ก็ทรงจำแนกกระทำให้คล้อยตามกุศลนั่นแหละ เพราะเป็นเช่นเดียวกับโลกุตรกุศล. แต่เพราะเตภูมิกกุศลย่อมสั่งสมย่อมยังวัฏฏะให้เจริญด้วยอำนาจแห่งจุติและปฏิสนธิ ฉะนั้น ในวิบากแห่งโลกุตรกุศลนั้น จึงตรัสไว้ว่า เพราะกุศลฌานเป็นโลกุตระอันได้ทำไว้แล้ว ได้สั่งสมไว้แล้ว ดังนี้ ส่วนโลกุตระแม้ถูกวิบากนั้นสั่งสมไว้ ก็ย่อมคลายความสั่งสม แม้ตนเองก็ไม่สั่งสมไว้ด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ เพราะเหตุนั้น ในวิบากโลกุตรกุศลนั้น จึงไม่ตรัสไว้ (ในข้อที่ ๔๒๒) ว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว ได้สั่งสมไว้แล้ว แต่ตรัสว่า เพราะได้กระทำไว้แล้ว เพราะได้เจริญไว้แล้ว ดังนี้.
               พึงทราบวินิจฉัยในพระบาลี (ที่ตรัสไว้ในข้อ ๔๒๗) มีคำว่า สุญญตะเป็นต้น ว่ามรรคย่อมได้ชื่อเพราะเหตุ ๓ คือ เพราะการบรรลุ ๑ เพราะคุณของตน ๑ เพราะอารมณ์ ๑ ก่อน. สุญญตะนี้ข้าพเจ้าให้พิสดารไว้ในอธิการแห่งกุศลในหนหลังแล้ว. ในอธิการนั้น มรรคย่อมได้ชื่อโดยคุณของตนบ้าง โดยอารมณ์บ้าง โดยปริยายแห่งพระสูตร ก็ปริยายนี้เป็นปริยายเทศนา ส่วนอภิธรรมกถาเป็นนิปปริยายเทศนา เพราะฉะนั้น ในนิปปริยายเทศนานี้ จึงไม่ได้ชื่อโดยคุณของตน หรือโดยอารมณ์ แต่ย่อมได้ชื่อโดยการบรรลุอย่างเดียว เพราะการบรรลุเท่านั้นเป็นธุระ การบรรลุนั้นมี ๒ อย่าง คือบรรลุวิปัสสนาและบรรลุมรรค.
               ในการบรรลุสองอย่างนั้น การบรรลุวิปัสสนาเป็นธุระในฐานะที่มรรคปรากฏแล้ว การบรรลุมรรคเป็นธุระในฐานะที่ผลปรากฏแล้ว แม้คำทั้งสองนี้ข้าพเจ้าก็กล่าวไว้ในหนหลังเหมือนกัน. ในบรรดาฐานะทั้งสองนั้น นี้เป็นฐานะที่ผลปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า การบรรลุเป็นธุระในฐานะนี้.
               ก็มรรคนี้นั้นชื่อว่าสุญญตะ เพราะการบรรลุแล้วยังเรียกได้แม้ว่า อนิมิตตะ อัปปณิหิตะ เพราะคุณของตนและเพราะอารมณ์ เพราะฉะนั้น ตนเองตั้งอยู่ในฐานะที่บรรลุได้แล้ว จึงให้ชื่อ ๓ อย่างแก่ผลของตน. ให้ชื่ออย่างไร?
               คือว่า มรรคนี้เป็นสุญญตมรรค มีชื่ออันได้มาด้วยอำนาจแห่งการบรรลุอย่างเดียวเท่านั้น เพราะตั้งอยู่ในฐานะที่บรรลุได้เอง เมื่อจะให้ชื่อแก่ผลของตน จึงได้ทำชื่อว่าสุญญตะ ก็มรรคสุญญตะและอนิมิตตะ๑- เพราะตั้งอยู่ในฐานะที่บรรลุได้เองเมื่อจะให้ชื่อ จึงได้ทำชื่อว่าอนิมิตตะ.
____________________________
๑- น่าจะเป็นอนิมิตตมรรคอย่างเดียว.

               มรรคสุญญตะและอัปปณิหิตะ๒- เพราะตั้งอยู่ในฐานะพึงบรรลุได้เอง เมื่อจะให้ชื่อผลของตน จึงได้ทำชื่อว่าอัปปณิหิตะ ก็ชื่อ ๓ อย่างเหล่านี้ย่อมได้โดยนัยนี้ ในผลจิตในลำดับแห่งมรรคเท่านั้น หาใช่ได้ในเวลาใช้ผลสมาบัติในเวลาอื่นไม่. แต่ว่าในเวลาภายหลัง ย่อมอาจเพื่อเห็นได้ด้วยวิปัสสนา ๓ มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น.
____________________________
๒- น่าจะเป็นอัปปณิหิตมรรคอย่างเดียว.

               อนึ่ง ผลทั้ง ๓ กล่าวคืออนิมิตตะ อัปปณิหิตะ สุญญตะ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนาของพระโยคาวจรที่ออกแล้วๆ ญาณเหล่านั้นนั่นแหละของผลทั้ง ๓ นั้น มีอนิจจานุปัสสนาเป็นต้น มีสังขารเป็นอารมณ์ ชื่อว่าอนุโลมญาณ.
               ก็แม้ในอัปปณิหิตมรรคที่ท่านกล่าวไว้ในสุญญตมรรค ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               จริงอยู่ อัปปณิหิตมรรคนั้นมีชื่ออันได้แล้วด้วยอำนาจแห่งการบรรลุอย่างเดียวเท่านั้น เพราะตั้งอยู่ในฐานะที่พึงบรรลุได้เอง เมื่อจะให้ชื่อผลของตน จึงได้ทำชื่อว่าอัปปณิหิตะ มรรคที่เป็นอัปปณิหิตะและอนิมิตตะ เพราะตั้งอยู่ในฐานะที่พึงบรรลุได้เอง เมื่อจะให้ผลของตนจึงได้ทำชื่อว่าอนิมิตตะ มรรคที่เป็นอัปปณิหิตะและสุญญตะ เพราะตั้งอยู่ในฐานะที่พึงบรรลุได้เอง เมื่อจะให้ชื่อผลของตน จึงได้กระทำชื่อว่าสุญญตะ ชื่อทั้ง ๓ แม้เหล่านี้ย่อมได้โดยนัยนี้ในผลจิตในลำดับเท่านั้น ไม่ใช่ได้ในกาลอื่นอีก คือในเวลาใช้ผลสมาบัติ.
               ในนิทเทสแห่งวิบากจิตนี้ พึงทราบวิบากจิตทั้งหลายมีคุณ ๓ อย่างด้วยกุศลจิตอย่างนี้. เหมือนอย่างว่า กุศลจิตอันเป็นไปในภูมิ ๓ ย่อมไม่อาจยังวิบากของตนให้ได้อธิบดี ฉันใด โลกุตรกุศลทั้งหลายย่อมเป็นฉันนั้นหามิได้ เพราะเหตุไร? เพราะเวลาที่ประกอบกรรมของกุศลเป็นไปในภูมิ ๓ เป็นอย่างหนึ่ง เวลาให้วิบากก็เป็นอย่างหนึ่ง เพราะเหตุนั้น กุศลอันเป็นไปในภูมิ ๓ นั้น จึงไม่ยังวิบากของตนให้ได้ซึ่งอธิบดี. ส่วนโลกุตระทั้งหลาย เมื่อศรัทธานั้น เมื่อวิริยะนั้น เมื่อสตินั้น เมื่อสมาธินั้น เมื่อปัญญานั้น ยังไม่เข้าไปสงบ (คือยังเป็นไป) ก็ย่อมได้วิบากในลำดับแห่งมรรคนั้นนั่นแหละ ไม่ผิดพลาด ด้วยเหตุนั้น โลกุตรกุศลนั้นจึงอาจยังวิบากของตนให้ได้อธิบดี.
               เหมือนอย่างว่า ในที่ที่เขาก่อไฟไว้กองน้อย เมื่อไฟดับแล้วเท่านั้น อาการร้อนก็ดับไม่มีอะไรๆ แต่เมื่อเอาโคมัยโปรยไปรอบๆ ดับกองไฟใหญ่ที่โพลงขึ้นแล้ว อาการคือความร้อน ย่อมไม่สงบลงทันที ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือขณะแห่งกรรม (การทำ) ในกุศลเป็นไปในภูมิ ๓ เป็นอย่างหนึ่ง ขณะแห่งวิบากเป็นอย่างหนึ่ง เหมือนเวลาที่อาการคือความร้อนดับไปแห่งไฟกองน้อย เพราะฉะนั้น กุศลอันเป็นไปในภูมิ ๓ นั้นจึงไม่อาจเพื่อยังวิบากของตนให้ได้อธิบดี ส่วนโลกุตรกุศล เมื่อศรัทธานั้น ฯลฯ เมื่อปัญญานั้นยังไม่เข้าไปสงบ ผลก็เกิดขึ้นในลำดับแห่งมรรคทันที เพราะฉะนั้น โลกุตรกุศลนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมยังวิบากของตนให้ได้ซึ่งอธิบดี ดังนี้ ด้วยเหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า อธิบดีไม่มีในวิบากจิต เว้นแต่โลกุตระ ดังนี้.

               ว่าด้วยอัญญาตาวินทรีย์ในโลกุตรวิบากดวงที่ ๔               
               พึงทราบวินิจฉัยนิทเทสแห่งผลซึ่งเกิดแต่มรรคที่ ๔ ต่อไป
               คำว่า อัญญาตาวินทรีย์ ได้แก่ อินทรีย์ของท่านผู้รู้ทั่วถึง คือผู้มีญาณกิจสำเร็จในสัจจะ ๔. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะให้สำเร็จอรรถแห่งความเป็นใหญ่ในภายในธรรมทั้งหลายที่รู้ทั่วถึง คือมีกิจอันสำเร็จในสัจจะ ๔ อันรู้แล้ว แทงตลอดสัจจะ ๔ แล้วดำรงอยู่.
               แม้ในนิทเทสวารแห่งอัญญาตาวินทรีย์นั้น คำว่า รู้ทั่วถึงแล้ว ได้แก่ รู้แล้วดำรงอยู่.
               คำว่า ธรรมทั้งหลาย ได้แก่ ในภายในแห่งสัมปยุตธรรมทั้งหลาย.
               บทว่า อญฺญา (ความรู้ทั่ว) ได้แก่ ความรู้ทั่วถึง.
               คำว่า ความรู้ชัดกิริยาที่รู้ชัด เป็นต้น มีเนื้อความตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
               บทว่า มคฺคงฺคํ มคฺคปริยาปนฺนํ (องค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค) อธิบายว่า เป็นองค์มรรคในผล และนับเนื่องในองค์มรรคในผล.
               อีกอย่างหนึ่ง ในโลกุตรวิบากนี้ มีปกิณกะดังนี้
               อินทรีย์ถึงฐานะเดียวมีอย่างหนึ่ง อินทรีย์ถึงฐานะหกมีอย่างหนึ่งและอินทรีย์ถึงฐานะเดียวมีอีกอย่างหนึ่ง. มีอธิบายว่า ก็อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์อย่างเดียวถึงฐานะหนึ่งคือโสดาปัตติมรรค. อัญญินทรีย์หนึ่งถึงฐานะ ๖ คือผลเบื้องต่ำ ๓ มรรคเบื้องบน ๓. อัญญาตาวินทรีย์หนึ่ง ถึงฐานะหนึ่งคืออรหัตผล.
               ว่าโดยอรรถในมรรคและผลทั้งหมด ได้ตรัสอินทรีย์อันเป็นโลกุตระไว้ ๖๔ คือ มรรคและผลอย่างละ ๘ อินทรีย์ แต่ในพระบาลีเป็นอินทรีย์ ๗๒ เพราะทำมรรคและผลอย่างละ ๙ อินทรีย์. ในมรรคก็ตรัสว่า มัคคังคะ (องค์แห่งมรรค) แม้ในผลก็ตรัสว่า มัคคังคะ (องค์แห่งมรรค). ในมรรคตรัสว่า โพชฌงค์ (องค์แห่งการตรัสรู้) แม้ในผลก็ตรัสว่า โพชฌงค์. แม้ในขณะแห่งมรรคก็ตรัสว่า อารติ วิรตี (ความงดเว้น). แม้ในขณะแห่งผลก็ตรัสว่า อารติ วิรตี.
               บรรดามรรคและผลเหล่านั้น มรรค ชื่อว่ามรรค โดยความเป็นมรรคนั่นเอง. ส่วนผล ชื่อว่ามรรค เพราะอาศัยมรรค. แม้จะกล่าวว่า องค์แห่งผลนับเนื่องในผล ดังนี้ก็ควร.
               ในมรรค ตรัสเรียกว่าสัมโพชฌงค์ เพราะอรรถว่าเป็นองค์แห่งบุคคลผู้ตรัสรู้. ในผล ตรัสเรียกว่าสัมโพชฌงค์ เพราะอรรถว่าเป็นองค์แห่งผู้ตรัสรู้แล้ว. ในมรรค ตรัสว่า อารติ วิรตี ด้วยอำนาจความงดเว้นอารมณ์นั่นเอง. ในผล ตรัสว่า อารติ วิรตี ด้วยอำนาจความงดเว้นนั่นแหละ.

               กถาว่าด้วยโลกุตรวิบาก จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อัพยากตธรรม โลกุตตรวิบาก จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 418อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 422อ่านอรรถกถา 34 / 446อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=3395&Z=3935
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=8668
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=8668
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๘  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :