ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 338อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 415อ่านอรรถกถา 34 / 417อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ อัพยากตธรรม กามาวจรวิบาก มหาวิบาก ๘

               อธิบายมหาวิบาก ๘ ดวง               
               บัดนี้ พระองค์ทรงประสงค์จะแสดงมหาวิบากจิต ๘ ดวง จึงทรงเริ่มพระดำรัส มีอาทิว่า กตเม ธมฺมา อพฺยากตา (ธรรมเป็นอัพยากฤต เป็นไฉน?) อีก.
               ในมหาวิบาก ๘ เหล่านั้น ทรงแสดงเพียงนัยไว้ในพระบาลีแล้วทรงย่อวาระไว้ทั้งหมด. บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งวาระเหล่านั้นโดยนัยที่กล่าวในหนหลังนั่นแหละ ส่วนความแปลกกันอันใดในมหาวิบากจิตเหล่านั้น ทรงประสงค์จะแสดงความแปลกกันนั้น จึงตรัสพระพุทธพจน์มีอาทิว่า อโลโภ อพฺยากตมูลํ (อัพยากตะคืออโลภะ) ดังนี้. พระดำรัสใดแม้มิได้ตรัสไว้ พระดำรัสนั้น บัณฑิตพึงทราบอย่างนี้ว่า
               ก็ความต่างกันแห่งกรรม ทวาร กรรมบถ บุญกิริยาวัตถุ อันใดที่ตรัสไว้ในกามาวจรกุศลทั้งหลาย ความต่างกันอันนั้นไม่มีในมหาวิบาก ๘ เหล่านี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร?
               เพราะมหาวิบาก ๘ ให้วิญญัติเกิดไม่ได้ คือ เหตุที่มหาวิบากไม่มีวิบากเป็นธรรมดา และเพราะมหาวิบากไม่เป็นไป (เหมือนบุญกิริยาวัตถุ) อย่างนั้น กรุณาและมุทิตาแม้เหล่าใดที่ตรัสไว้ในเยวาปนกธรรมทั้งหลาย กรุณาและมุทิตานั้นก็ไม่มีอยู่ในวิบากทั้งหลาย เพราะมีสัตว์เป็นอารมณ์ ด้วยว่า กามาวจรวิบากทั้งหลายเป็นปริตตารมณ์อย่างเดียว มิใช่กรุณาและมุทิตาเท่านั้นไม่มี แม้วิรตีทั้งหลายก็ไม่มีในวิบากเหล่านี้ ข้อนี้สมจริงดังที่ตรัสว่า สิกขาบท ๕ เป็นกุศลเท่านั้น. ก็ในมหาวิบากนี้ พึงทราบวิธีของธรรมที่เป็นอสังขาร (ไม่มีการชักจูง) สสังขาร (มีการชักจูง) โดยกุศล และโดยความต่างแห่งปัจจัย.
               จริงอยู่ กุศลเป็นอสังขาริก วิบากก็เป็นอสังขาริก กุศลเป็นสสังขาริก วิบากก็เป็นสสังขาริก. อนึ่ง กุศลที่เป็นอสังขาริกเกิดขึ้นด้วยปัจจัยที่มีกำลัง กุศลที่เกิดขึ้นด้วยปัจจัยนอกนี้เป็นสสังขาริก. แม้ในความต่างกันแห่งความเลวเป็นต้น มหาวิบากเหล่านี้ย่อมไม่ชื่อว่าเลว ปานกลางและประณีต เพราะความที่ธรรมมีฉันทะเป็นต้นที่เลว ปานกลางและประณีตไม่ให้สำเร็จไว้ แต่ว่าวิบากของกุศลที่เลวก็ย่อมเลว วิบากของกุศลปานกลางก็ย่อมเป็นปานกลาง วิบากของกุศลที่ประณีตก็ย่อมเป็นของประณีต ในวิบากเหล่านี้ แม้ธรรมที่เป็นอธิบดีทั้งหลาย ก็มิได้มี.
               ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไร?
               เพราะความที่วิบากเหล่านี้ไม่ทำฉันทะเป็นต้นให้เป็นธุระแล้วเกิดขึ้น. คำที่เหลือทั้งหมดเหมือนกับคำที่กล่าวไว้ในกุศล ๘ นั่นแล.
               บัดนี้ พึงทราบที่เป็นที่ให้ผลของมหาวิบากจิต ๘ เหล่านี้ต่อไป.
               จริงอยู่ มหาวิบากเหล่านี้ย่อมให้ผลในที่ทั้ง ๔ คือ ในปฏิสนธิ ๑ ในภวังค์ ๑ ในจุติ ๑ ในตทารัมมณะ ๑ ให้ผลอย่างไร?
               คือ ย่อมให้ผลเป็นปฏิสนธิ ในเวลาถือปฏิสนธิของผู้มีบุญทั้งหลายเป็นทุเหตุกะและติเหตุกะในพวกมนุษย์ และในพวกเทพชั้นกามาพจรก่อน เมื่อปฏิสนธิจิตผ่านไปแล้วก็ให้ผลเป็นภวังค์ในปวัตติกาลตลอดอายุ ๖๐ ปีบ้าง ๘๐ ปีบ้าง ตลอดอสงไขยหนึ่งบ้าง ย่อมให้ผลเป็นตทารัมมณะในอารมณ์ที่มีกำลังในทวาร ๖ และย่อมให้ผลเป็นจุติในเวลาตาย มหาวิบากย่อมให้ผลในที่ ๔ ด้วยประการฉะนี้.
               ในกาลให้ผลของมหาวิบากจิต ๘ เหล่านั้น พระสัพพัญญูโพธิสัตว์ แม้ทุกพระองค์ย่อมถือปฏิสนธิด้วยมหาวิบากจิตที่เป็นอสังขาริก สหรคตด้วยโสมนัส เป็นติเหตุกะดวงที่หนึ่ง ในการถือปฏิสนธิภพสุดท้าย ก็มหาวิบากจิตดวงนั้นเป็นวิบากของจิตมีเมตตาเป็นส่วนเบื้องต้น ก็ปฏิสนธิจิตอันมหาวิบากมีเมตตาเป็นส่วนเบื้องต้นนั้นให้มีอายุหนึ่งอสงไขย แต่ย่อมเปลี่ยนไปด้วยอำนาจแห่งกาล.
               ส่วนพระมหาสิวเถระกล่าวว่า มหาวิบากจิตที่สหรคตด้วยอุเบกขามีกำลังกว่ามหาวิบากที่สหรคตด้วยโสมนัส พระสัพพัญญูโพธิสัตว์ย่อมถือปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่สหรคตด้วยอุเบกขานั้น เพราะผู้ถือปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่สหรคตด้วยอุเบกขานั้น ย่อมเป็นผู้มีอัธยาศัยใหญ่ เพราะความเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ทั้งหลายอันเป็นทิพย์ เหมือนพระจูฬนาคเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกเป็นต้น. แต่คำนี้ในอรรถกถาท่านปฏิเสธว่า นี้เป็นความชอบใจของพระเถระ ข้อนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ แล้วกล่าวว่า การบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลของพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทั้งหลายเป็นสภาพมีกำลังมาก เพราะฉะนั้น พระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมถือปฏิสนธิด้วยอสังขาริกจิต อันเป็นติเหตุกะ สหรคตด้วยกามาวจรกุศลวิบากมีเมตตาเป็นส่วนเบื้องต้น.

               อธิบายทวารวิบากมาติกากถา               
               บัดนี้ ควรจะตั้งมาติกาในกถาทวารวิบาก ต่อไป.
               พระจูฬนาคเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกกล่าวไว้ก่อนว่า กุศลเจตนาดวงเดียวย่อมเกิดวิบากจิต ๑๖ ดวง ในกุศลเจตนาดวงนี้แหละเป็นเหตุให้เกิดวิบากจิต ๑๒ ดวงบ้าง เป็นอเหตุกจิต ๘ บ้าง ดังนี้.
               ก็พระมหาทัตตเถระผู้อยู่ในวิหารโมรวาปีกล่าวว่า กุศลเจตนาหนึ่งดวงย่อมเกิดวิบากจิต ๑๒ ดวง ในกุศลเจตนาดวงนี้แหละเป็นเหตุให้เกิดวิบากจิต ๑๐ ดวงบ้าง อเหตุกจิต ๘ บ้าง ดังนี้.
               แต่พระมหาธัมมรัก ขิตเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกกล่าวว่า กุศลเจตนาดวงเดียวย่อมเกิดวิบากจิต ๑๐ ดวง ในกุศลเจตนาดวงนี้แหละ เป็นอเหตุกจิต ๘ ดังนี้.
               ในฐานะนี้ พระเถระเหล่านั้นถือเอาเรื่องชื่อว่า สาเกตกปัญหา.
               ได้ยินว่า พวกอุบาสกผู้อยู่ในเมืองสาเกต นั่งในศาลาสนทนากันถึงปัญหาว่า ในเจตนากรรมดวงเดียวที่ประกอบแล้ว จะมีปฏิสนธิอย่างเดียวหรือหลายอย่าง ดังนี้ ไม่อาจวินิจฉัยได้ จึงพากันไปถามพระเถระผู้ทรงพระอภิธรรม. พระเถระทั้งหลายให้พวกอุบาสกเหล่านั้นยอมรับด้วยคำว่า หน่ออันเดียวเท่านั้นย่อมออกจากเมล็ดมะม่วงอันเดียวฉันใด เจตนาเดียวก็มีปฏิสนธิหนึ่งเท่านั้น ฉันนั้นดังนี้. ในวันต่อมาก็สนทนากันถึงปัญหาว่า ก็เจตนาต่างๆ ที่กระทำกรรมแล้วย่อมมีปฏิสนธิต่างๆ หรือมีปฏิสนธิเดียว ดังนี้ เมื่อไม่อาจวินิจฉัยได้จึงพากันไปถามพระเถระทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายยังอุบาสกเหล่านั้นให้ยอมรับด้วยคำว่า เมื่อเมล็ดมะม่วงมากที่เขาเพาะไว้ หน่อเป็นอันมาก ก็ย่อมงอกขึ้น ฉันใด เจตนามากก็มีปฏิสนธิมากฉันนั้นเหมือนกัน ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ในฐานะนี้ ท่านถือเอาเรื่องชื่อว่าการแสดงถึงสิ่งที่มีมากเป็นประมาณ เพราะสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้มีโลภะมากก็ดี มีโทสะมากก็ดี มีโมหะมากก็ดี มีอโลภะอโทสะอโมหะมากก็ดี ถามว่า ธรรมอะไรย่อมกำหนดสภาวะนั้นของสัตว์เหล่านั้นที่มีมากได้.
               ตอบว่า บุรพเหตุย่อมกำหนด ความต่างกันย่อมมีในขณะแห่งการประกอบกรรมนั่นแหละ ข้อนี้เป็นอย่างไร?
               คือ ในขณะการประกอบกรรมของบุคคลใด โลภะมีกำลังแรง อโลภะมีกำลังอ่อน อโทสะและอโมหะมีกำลังแรง โทสะและโมหะมีกำลังอ่อน อโลภะอ่อนของบุคคลนั้น ไม่อาจเพื่อครอบงำโลภะได้ แต่ว่าอโทสะและอโมหะมีกำลังแรง ย่อมอาจเพื่อครอบงำโทสะและโมหะได้ เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นเกิดด้วยอำนาจปฏิสนธิอันกรรมนั้นให้แล้วย่อมเป็นคนมักได้ มีความสุขเป็นปกติ มักไม่โกรธ แต่มีปัญญา มีญาณเปรียบด้วยเพชร ดังนี้.
               อนึ่ง ในขณะที่ประกอบกรรมของบุคคลใด โลภะและโทสะมีกำลังแรง อโลภะและอโทสะมีกำลังอ่อน และมีอโมหะแรงมีโมหะอ่อน บุคคลนั้นเป็นผู้มักได้โดยนัยก่อนนั่นแหละด้วย เป็นผู้มักประทุษร้ายด้วย แต่เป็นคนมีปัญญา มีญาณเปรียบด้วยเพชร ดุจพระทัตตาภยเถระ.
               อนึ่ง ในขณะประกอบกรรมของบุคคลใด โลภะอโทสะโมหะมีกำลังแรง นอกนี้ (อโลภะโทสะและอโมหะ) มีกำลังอ่อน บุคคลนั้นเป็นผู้มักโลภโดยนัยก่อนนั่นแหละด้วย เป็นคนเขลาด้วย แต่เป็นคนมีความสุขเป็นปกติ มักไม่โกรธ.
               อนึ่ง ในขณะประกอบกรรมของบุคคลใด โลภะ โทสะและโมหะ แม้ทั้ง ๓ มีกำลังแรง อโลภะเป็นต้นมีกำลังอ่อน บุคคลนั้นเป็นผู้มักได้ตามนัยก่อนนั่นแหละด้วย เป็นผู้มักประทุษร้ายด้วย เป็นผู้ลุ่มหลงด้วย.
               อนึ่ง ในขณะประกอบกรรมของบุคคลใด อโลภะ โทสะ โมหะมีกำลังแรง นอกนี้ (คือโลภะ อโทสะและอโมหะ) มีกำลังอ่อน บุคคลนั้นมีกิเลสน้อยโดยนัยก่อนนั่นแหละ เขาเห็นแม้อารมณ์อันเป็นทิพย์ก็ไม่หวั่นไหว แต่เป็นผู้มักประทุษร้ายและมีปัญญาทราม ดังนี้.
               อนึ่ง ในขณะประกอบกรรมของบุคคลใด อโลภะ อโทสะและโมหะ มีกำลังแรง นอกนี้ (คือโลภะ โทสะและอโมหะ) มีกำลังอ่อน บุคคลนั้นเป็นคนไม่มักได้ เป็นคนมีความสุขเป็นปกติ แต่เป็นคนโง่เขลา.
               อนึ่ง ในขณะที่ประกอบกรรมของบุคคลใด อโลภะ โทสะและอโมหะ มีกำลังแรง นอกนี้ (คือโลภะ อโทสะและโมหะ) มีกำลังอ่อน บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มักได้โดยนัยก่อนนั่นแหละด้วย มีปัญญาด้วย แต่เป็นคนมักประทุษร้าย มักโกรธ.
               อนึ่ง ในขณะที่ประกอบกรรมของบุคคลใดมีอโลภะเป็นต้น แม้ทั้ง ๓ มีกำลังแรง มีโลภะเป็นต้นอ่อน บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มักโลภ ไม่มักประทุษร้ายและมีปัญญา เหมือนพระมหาสังฆรักขิตเถระ ดังนี้แล.
               อีกอย่างหนึ่ง ในฐานะนี้ ท่านถือเอาเรื่องการยกย่องเหตุ.
               จริงอยู่ กรรมที่ประกอบด้วยเหตุ ๓ ย่อมให้วิบากเป็นติเหตุกะบ้าง ทุเหตุกะบ้าง อเหตุกะบ้าง. กรรมอันประกอบด้วยเหตุ ๒ ย่อมไม่ให้วิบากเป็นติเหตุกะ ให้แต่วิบากนอกนี้ ด้วยกรรมที่ประกอบด้วยเหตุ ๓ ปฏิสนธิย่อมเป็นติเหตุกะบ้าง ทุเหตุกะบ้าง ไม่มีอเหตุกะ ด้วยกรรมที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ ปฏิสนธิย่อมเป็นทุเหตุกะบ้าง ย่อมเป็นอเหตุกะบ้าง ไม่เป็นติเหตุกะ กุศลกรรมที่เป็นอสังขาริก ย่อมให้วิบากเป็นอสังขาริกบ้าง เป็นสสังขาริกบ้าง. กุศลที่เป็นสสังขาริกย่อมให้วิบากเป็นสสังขาริกบ้าง อสังขาริกบ้าง. เวทนาพึงเปลี่ยนไปตามอารมณ์ตทารัมมณะพึงกำหนดด้วยชวนะ.

               ว่าด้วยวิบากจิต ๑๖ ดวง นัยของพระจูฬนาคเถระ               
               บัดนี้ พึงทราบเหตุเกิดวิบาก ๑๖ ดวงเป็นต้นในวาทะของพระเถระนั้นๆ ก็สัตว์ผู้ถือปฏิสนธิด้วยมหาวิบากจิตดวงที่หนึ่งเช่นเดียวกับกามาวจรกุศลดวงที่หนึ่ง ออกจากการอยู่ในครรภ์แล้ว เข้าถึงความเป็นผู้สามารถเพื่อเริ่มตั้งอยู่ในสังวรและอสังวร เมื่ออิฏฐารมณ์มาสู่คลองจักษุทวารแล้ว มโนธาตุที่เป็นกิริยา ไม่ยังภวังค์ให้เปลี่ยนไป ขอบเขตอารมณ์ที่ก้าวล่วงก็ไม่มี เพราะเหตุไร จึงเป็นเช่นนั้น เพราะอารมณ์มีกำลังอ่อน นี้เป็นโมฆวาระหนึ่งก่อน.
               ก็ถ้าว่า จิตนั้นหมุนไปสู่ภวังค์ เมื่อมโนธาตุที่เป็นกิริยายังภวังค์ให้เปลี่ยนไป จิตนั้นไม่ทันถึงโวฏฐัพพนะเลย จิตนั้นจักกลับมาตั้งอยู่ในจักขุวิญญาณหรือสัมปฏิจฉันนะ หรือสันติรณะดังนี้ ข้อนี้ไม่ใช่ฐานะที่มีได้. แต่ว่าจิตหนึ่งดวงบ้าง สองดวงบ้าง ตั้งอยู่ในโวฏฐัพพนะเป็นไป จากนั้นก็ดำรงอยู่ในที่ชวนะได้อาเสวนะแล้วก็หยั่งลงสู่ภวังค์อีก แม้จิตนี้ก็ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ เพราะความที่อารมณ์ทุรพล แต่วาระนี้ย่อมได้ในเวลาที่กล่าวถ้อยคำมีอาทิว่า รูปนี้เหมือนข้าพเจ้าเห็นแล้ว เสียงนี้เหมือนข้าพเจ้าฟังแล้ว ดังนี้ โมฆวาระแม้นี้เป็นที่สอง.
               เมื่อมโนธาตุที่เป็นกิริยาของบุคคลอื่นอีก ยังภวังค์ให้เปลี่ยนไปแล้ว วิถีจิตทั้งหลายย่อมเกิด ชวนะย่อมแล่นไป ในเวลาสุดแห่งชวนะก็เป็นวาระของตทารัมมณะ แต่ตทารัมมณะนั้นยังไม่เกิดเลย ก็หยั่งลงสู่ภวังค์ไป ในข้อนั้นมีอุปมาดังนี้
               เหมือนเมื่อเขาสร้างทำนบกั้นแม่น้ำทำให้น้ำไหลบ่าไปสู่เหมืองใหญ่ น้ำย่อมไหลบ่าไปเต็มขอบคันในฝั่งทั้งสอง แล้วก็ล้นไปตามทางทั้งหลายมีทางปูเป็นต้นแล้วก็หยั่งลงสู่แม่น้ำนั่นแหละอีก ฉันใด ข้ออุปไมยนี้พึงทราบฉันนั้นเถิด. ก็ในความข้อนี้เวลาที่ภวังควิถีเป็นไป เหมือนเวลาเป็นไปของน้ำในแม่น้ำ. เวลามโนธาตุที่เป็นกิริยายังภวังค์ให้เปลี่ยนไป เหมือนเวลาที่เขาสร้างทำนบกั้นแม่น้ำ. การที่วิถีจิตเป็นไป เหมือนเวลาที่น้ำกำลังไหลไปในเหมืองใหญ่. ชวนะเหมือนการเต็มขอบคันทั้งสองฝั่ง. การแล่นไปของชวนะแล้ว แต่ตทารมณ์ยังไม่ทันเกิดเลย จิตชวนะนั้นก็หยั่งลงสู่ภวังค์อีก เหมือนน้ำไหลจากทางทั้งหลายมีทางปูเป็นต้น แล้วไปสู่แม่น้ำอีก คลองการนับจิตที่หยั่งลงสู่ภวังค์ด้วยอาการอย่างนี้หามีไม่ แม้จิตนี้ ย่อมเป็นอย่างนี้ก็เพราะความที่อารมณ์ทุรพล นี้เป็นโมฆวาระที่สาม.
               ก็ถ้าอารมณ์ที่มีกำลังแรงมาสู่คลองไซร้ มโนธาตุที่เป็นกิริยายังภวังค์ให้เปลี่ยนไปแล้ว จิตทั้งหลายมีจักขุวิญญาณเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้น ก็ในฐานแห่งชวนะ กามาวจรกุศลจิตดวงที่หนึ่งเป็นชวนะแล้ว ก็แล่นไป ๖-๗ วาระ แล้วจึงให้โอกาสแก่ตทารัมมณะ ตทารัมมณะเมื่อตั้งอยู่ ก็ย่อมตั้งอยู่เป็นมหาวิบากจิตเช่นเดียวกับกามาวจรกุศลจิตดวงที่หนึ่งนั่นแหละ มหาวิบากจิตดวงนี้ได้มี ๒ ชื่อคือมูลภวังค์ เพราะเป็นเหมือนจิตปฏิสนธิ และชื่อว่า ตทารัมมณะ เพราะความที่จิตนั้นรับอารมณ์ที่ชวนจิตรับมาแล้ว. ในฐานนี้วิบากจิตย่อมถึงการนับได้ ๔ อย่าง คือ จักขุวิญญาณ ๑ สัมปฏิจฉันนะ ๑ สันติรณะ ๑ ตทารัมมณะ ๑.
               อนึ่ง เมื่อใดกุศลจิตดวงที่ ๒ เป็นชวนะ เมื่อนั้นกุศลวิบากจิตดวงที่ ๒ เช่นกับกุศลจิตดวงที่สองนั้นก็ตั้งอยู่ในฐานเป็นตทารัมมณะ แม้วิปากจิตดวงที่ ๒ นี้ย่อมได้ชื่อ ๒ อย่าง คือ ชื่อว่าอาคันตุกภวังค์ เพราะไม่เป็นเช่นเดียวกับปฏิสนธิจิต และชื่อว่าตทารัมมณะโดยนัยก่อนนั่นแหละ วิบากจิตดวงก่อนๆ ๔ ดวง กับจิตดวงนี้รวมเป็นจิต ๕ ดวง.
               ก็เมื่อใด กุศลจิตดวงที่ ๓ เป็นชวนะ เมื่อนั้นวิบากจิตดวงที่ ๓ เช่นกับกุศลจิตนั้นก็ตั้งอยู่ในฐานเป็นตทารัมมณะ วิปากจิตดวงที่ ๓ นี้ ได้ชื่อ ๒ อย่าง คือ อาคันตุกภวังค์และตทารัมมณะโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ วิบากจิตดวงก่อนๆ ๕ ดวง กับจิตนี้ก็รวมเป็นจิต ๖ ดวง.
               อนึ่ง เมื่อใดกุศลจิตดวงที่ ๔ เป็นชวนะ เมื่อนั้นวิบากจิตดวงที่ ๔ เช่นกับกุศลจิตนั้น ก็ตั้งอยู่ในฐานเป็นตทารัมมณะ วิปากจิตแม้นี้ย่อมได้ ๒ ชื่อ คืออาคันตุกภวังค์ และตทารัมมณะ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ วิบากจิตดวงก่อนๆ ๖ ดวงกับจิตดวงนี้ก็รวมเป็นจิต ๗ ดวง.
               ก็เมื่อใด อิฏฐมัชฌัตตารมณ์มาสู่คลองทวารนั้น เมื่อนั้นย่อมได้โมฆวาระ ๓ โดยนัยที่กล่าวไว้อิฏฐารมณ์แม้นั้น แต่เพราะเวทนาย่อมเปลี่ยนไปตามอารมณ์ ฉะนั้น ในเวทนานั้น สันติรณะจึงสหรคตด้วยอุเบกขา. ในที่สุดแห่งมหากุศลชวนะที่สหรคตด้วยอุเบกขา ๔ ดวง มหาวิบากจิตที่ สหรคตด้วยอุเบกขา ๔ ดวง ย่อมตั้งอยู่โดยความเป็นตทารัมมณะ แม้มหาวิบากจิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ๔ เหล่านั้น ก็ได้ชื่อ ๒ อย่าง คือ อาคันตุกภวังค์และตทารัมมณะ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ท่านเรียกว่า ปิฏฐิภวังค์ (ภวังค์ดวงหลัง) ดังนี้ก็มี วิบากจิต ๕ ดวงกับดวงนี้ และวิบากจิต ๗ ดวงก่อน รวมเป็น ๑๒ ดวงด้วยประการฉะนี้. วิบากจิตในจักขุทวารมี ๑๒ ดวง ในโสตทวารเป็นต้นก็มีทวารละ ๑๒ ดวง จึงรวมเป็นวิบากจิต ๖๐ ดวงถ้วนด้วยประการฉะนี้.
               เมื่อกุศลเจตนาดวงหนึ่งประกอบกรรมแล้ว ย่อมยังวิบากจิต ๖๐ ถ้วนให้เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ แต่ว่าเมื่อถือเอาวิบากที่ยังมิได้ถือเอา ก็ได้วิบากจิต ๑๖ ดวง คือ วิบากจิต ๑๒ ดวง เกิดในจักขุทวารและวิบากจิต ๔ ดวง ได้แก่ โสตวิญญาณ ๑ ฆานวิญญาณ ๑ ชิวหาวิญญาณ ๑ และกายวิญญาณ ๑.
               ในฐานะนี้ ท่านถือเอาเรื่องชื่อว่าอัมโพปมา คือเปรียบด้วยผลมะม่วง.
               สมมติว่า บุรุษคนหนึ่งนอนคลุมศีรษะที่โคนต้นมะม่วงที่มีผลสุกแล้วหลับไป ขณะนั้นผลมะม่วงสุกผลหนึ่งหลุดจากขั้วหล่นลงพื้นดินเสียงดัง เหมือนเสียดสีอยู่ซึ่งช่องหูของเขา เขาตื่นขึ้นด้วยเสียงของมะม่วงนั้นแล้วลืมตาแลดู ในทันทีนั้นจึงเหยียดมือไปหยิบผลมะม่วงบีบ สูดดมกลิ่นแล้วบริโภค.
               ในคำอุปมาเหล่านั้น เวลาที่ภวังค์พร้อมเพียงกัน พึงทราบว่าเหมือนเวลาที่บุรุษคนนั้นนอนหลับที่โคนต้นมะม่วง เวลาที่อารมณ์กระทบประสาท เหมือนเวลาที่ผลมะม่วงสุกหลุดจากขั้วตกลงเสียดสีอยู่ซึ่งช่องหู เวลาที่มโนธาตุคือกิริยายังภวังค์ให้เปลี่ยนไป เหมือนเวลาที่บุรุษนั้นตื่นขึ้นด้วยเสียงมะม่วงตก เวลาที่จักขุวิญญาณยังทัศนกิจให้สำเร็จ เหมือนเวลาบุรุษนั้นลืมตาขึ้นแลดู เวลาที่มโนธาตุซึ่งเป็นวิบากรับอารมณ์ เหมือนเวลาที่บุรุษเหยียดมือไปหยิบผลมะม่วงนั้น เวลาที่มโนวิญญาณธาตุซึ่งเป็นวิบากพิจารณาอารมณ์ เหมือนเวลาที่บุรุษหยิบมะม่วงมาบีบ เวลาที่มโนวิญญาณธาตุซึ่งเป็นกิริยากำหนดอารมณ์ เหมือนเวลาสูดดมกลิ่นมะม่วง เวลาที่ชวนจิตเสวยรสอารมณ์ เหมือนเวลาบุรุษนั้นบริโภคมะม่วง ฉะนั้น.
               ถามว่า อุปมานี้แสดงเนื้อความอะไร?
               ตอบว่า แสดงถึงการกระทบประสาทเป็นกิจ๑- (หน้าที่) ของอารมณ์เท่านั้น.
               คือเมื่ออารมณ์นั้นมากระทบประสาทแล้ว การเปลี่ยนไปแห่งภวังค์นั้น เป็นกิจของกิริยามโนธาตุ กิจของจักขุวิญญาณมีเพียงการเห็นเท่านั้น กิจของวิบากมโนธาตุมีเพียงการรับอารมณ์เท่านั้น กิจของวิบากมโนวิญญาณธาตุมีเพียงการพิจารณาอารมณ์เท่านั้น กิจของกิริยามโนธาตุมีเพียงกำหนดอารมณ์เท่านั้น ชวนะเท่านั้นย่อมเสวยรสอารมณ์อย่างเดียว ดังนี้.
               ก็ในความเป็นไปแห่งจิตนี้ ใครๆ เป็นผู้กระทำหรือผู้สั่งให้กระทำว่า ท่านจงชื่อว่าภวังค์ ท่านจงชื่อว่าอาวัชชนะ ท่านจงชื่อว่าทัสสนะ (จักขุวิญญาณ) ท่านจงชื่อว่าสัมปฏิจฉันนะ ท่านจงชื่อว่าสันติรณะ ท่านจงชื่อว่าโวฏฐัพพนะ ท่านจงชื่อว่าชวนะ ท่านจงชื่อว่าตทาลัมพนะ ดังนี้ มิได้มี. (เพื่อความแจ่มแจ้งจึงแสดงถึงนิยาม ๕)
____________________________
๑- ท่านแสดงกิจทั้งหมดมี ๑๔ ที่นี่แสดงไว้ ๘ คือ
               ๑. การกระทบประสาทเป็นกิจของอารมณ์
               ๒. การรำพึงถึงอารมณ์เป็นกิจของอาวัชชนะ
               ๓. การเห็นเป็นกิจของจักขุวิญญาณ
               ๔. การรับอารมณ์เป็นกิจของสัมปฏิจฉันนะ
               ๕. การพิจารณาเป็นกิจของสันติรณะ
               ๖. การตัดสินอารมณ์เป็นกิจของโวฏฐัพพนะ
               ๗. การเสวยรสอารมณ์เป็นกิจของชวนะ
               ๘. การเสวยรสอารมณ์ที่เหลือจากชวนะเป็นกิจของตทารัมมณะ

               ว่าด้วยนิยาม ๕ อย่าง               
               ก็ในฐานะนี้ท่านถือเอาเรื่องชื่อนิยาม ๕ อย่าง คือ
               พีชนิยาม (ความแน่นอนของพืช)
               อุตุนิยาม (ความแน่นอนของฤดูกาล)
               กรรมนิยาม (ความแน่นอนของกรรม)
               ธรรมนิยาม (ความแน่นอนของธรรม)
               จิตนิยาม (ความแน่นอนของจิต).
               บรรดานิยาม ๕ เหล่านั้น ความที่พืชนั้นๆ ให้ผลเหมือนกันกับพืชนั้น คือ ความที่กอถั่วพูชนิดหนึ่งทอดยอดไปทางซ้าย๑- เถาวัลย์ไปทางขวา พันล้อมต้นไม้ไปทางขวา ดอกทานตะวันหันหน้าไปทางพระอาทิตย์ เถาย่างทรายมุ่งหน้าไปเฉพาะต้นไม้อย่างเดียว ผลมะพร้าวมีรูข้างบน ชื่อว่าพีชนิยาม (โยชนาว่า เป็นธรรมดาของพืช) ความที่ต้นไม้นั้นๆ ผลิดอกออกผลและมีใบอ่อนพร้อมๆ กันในสมัยนั้นๆ ชื่อว่าอุตุนิยาม ความที่กรรมนั้นๆ ให้ผลเช่นเดียวกันกับกรรมนั้นๆ อย่างนี้คือ กรรมที่ประกอบด้วยกุศลเหตุ ๓ ย่อมให้วิบากเป็นติเหตุกะ ทุเหตุกะและอเหตุกะ กรรมที่ประกอบด้วยกุศลเหตุ ๒ ย่อมให้วิบากเป็นทุเหตุกะและอเหตุกะ ไม่ให้วิบากเป็นติเหตุกะ ชื่อว่ากรรมนิยาม.
____________________________
๑- หันหน้าไปทางทิศตะวันออกก็เป็นซ้ายมือ หรือเรียกว่าทิศอุดร.

               อีกอย่างหนึ่ง เป็นกรรมนิยามด้วยอำนาจแห่งวิบากเหมือนกับกรรมนั้นแหละ เพื่อแสดงกรรมนิยามนั้น ท่านอาจารย์ทั้งหลายกล่าวเรื่องไว้ดังนี้
               ในสมัยแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บ้านใกล้ประตูพระนครสาวัตถีถูกไฟไหม้ กระจุกหญ้า๒- ติดไฟโพลงแต่บ้านไฟไหม้นั้น ขึ้นไปสวมคอกาตัวบินทางอากาศ กานั้นร้องตกตายในแผ่นดิน.
____________________________
๒- กระจุกหญ้าที่เขามัดทำวงกลมรองหม้อ.

               เรือลำหนึ่งได้หยุดนิ่งลอยอยู่แม้ในมหาสมุทร เมื่อพวกเขาไม่เห็นทางที่ใครๆ จะปลอดภัยจากอันตรายในภายใต้ จึงใคร่ครวญจับสลากคนกาลกรรณี สลากนั้นได้ตกไปในมือหญิงภรรยาใกล้ชิดของนายเรือนั้นเท่านั้น ทีนั้น ชนทั้งหลายจึงพูดว่า ขอคนทั้งหมดอย่าพากันฉิบหายเพราะเหตุแห่งหญิงคนเดียว พวกเราจักโยนเขาไปในน้ำ นายเรือพูดว่า เราไม่อาจเห็นหญิงนี้ลอยอยู่ในน้ำได้ จึงให้เอาหม้อบรรจุทรายผูกติดคอโยนลงไป ในขณะนั้นนั่นเอง เรือก็แล่นไปดุจลูกศรที่ยิงไป ฉะนั้น.
               ภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในถ้ำ ยอดภูเขาใหญ่ตกมาปิดประตูถ้ำ ในวันที่ ๗ ยอดเขานั้นก็เปิดเองทีเดียว.
               พวกภิกษุกราบทูลเรื่องทั้ง ๓ นี้ แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประทับนั่งแสดงธรรมในพระเชตวัน คราวเดียวกันทั้งหมด พระศาสดาตรัสว่า นั่นมิใช่ผู้อื่นกระทำ นั่นเป็นกรรมอันเขานั่นแหละทำแล้ว ดังนี้ เมื่อจะทรงนำเรื่องอดีตมาแสดงธรรม จึงตรัสว่า กาเป็นมนุษย์ในอัตภาพก่อน ไม่อาจเพื่อฝึกโคโกงตัวหนึ่ง จึงได้ผูกเขน็ดฟางสวมคอโคจุดไฟ โคนั้นตายด้วยเหตุนั้นแหละ บัดนี้ กรรมนั้นจึงไม่ปล่อยกานั้นแม้บินอยู่ทางอากาศ. แม้หญิงนี้ก็เป็นหญิงคนหนึ่งนั่นแหละในอัตภาพก่อน สุนัขตัวหนึ่งคุ้นเคยกัน เมื่อเธอไปป่าก็ไปด้วย เมื่อมาก็มาด้วย พวกมนุษย์ทั้งหลายผู้ออกไปย่อมเยาะเย้ยเธอว่า บัดนี้ พรานสุนัขออกแล้ว ดังนี้ นางอึดอัดอยู่ด้วยสุนัขนั้น เมื่อไม่อาจห้ามสุนัขได้ จึงเอาหม้อใส่ทรายผูกคอแล้วเหวี่ยงไปในน้ำ กรรมนั้นจึงไม่ปล่อยเธอในท่ามกลางสมุทร. แม้ภิกษุนั้นก็เป็นนายโคบาลในอัตภาพก่อน เมื่อเหี้ยเข้าไปในรูก็หักกิ่งไม้กำมือหนึ่งปิดรูเสีย หลังจากนั้นมา ๗ วัน เขาจึงมาเปิดรูเองทีเดียว เหี้ยตัวสั่นออกมา ด้วยกรุณาเขาจึงไม่ฆ่ามัน กรรมนั้นไม่ให้เพื่อจะปล่อยภิกษุนั้นผู้เข้าไปยังซอกเขานั่งอยู่.
               เมื่อทรงประชุมเรื่องทั้ง ๓ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
                         น อนฺตลิกฺเขน สมุทฺทมชฺเฌ
                         น ปพฺพตานํวิวรํ ปวิสฺส
                         น วิชฺชเตโส ชคติปฺปเทโส
                         ยตฺรฏฺฐิโตมุจฺเจยฺย ปาปกมฺมา
                                        ไม่ว่าในที่ใดๆ ในอากาศ ในกลางทะเล
                         หรือในซอกเขา ส่วนภูมิประเทศที่สัตว์สถิตอยู่แล้ว
                         จะพึงพ้นไปจากบาปกรรมได้ ไม่มี ดังนี้.

               นี้ก็ชื่อว่ากรรมนิยาม เหมือนกัน. เรื่องอื่นๆ แม้เช่นนี้ก็ควรแสดง.
               อนึ่ง ในเวลาที่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายทรงถือปฏิสนธิ ในเวลาทรงออกจากครรภ์พระมารดา ในเวลาที่ตรัสรู้อภิสัมโพธิญาณ ในเวลาที่พระตถาคตทรงประกาศพระธรรมจักร ในเวลาที่ทรงปลงอายุสังขาร ในเวลาที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน หมื่นจักรวาลหวั่นไหว นี้ชื่อว่าธรรมนิยาม.
               อนึ่ง เมื่ออารมณ์กระทบประสาท ใครๆ เป็นผู้กระทำหรือสั่งให้กระทำว่า เจ้าจงชื่อว่าอาวัชชนะ ฯลฯ เจ้าจงชื่อว่าชวนะ ดังนี้ มิได้มี ก็ว่าโดยธรรมดาของตนตั้งแต่เวลาที่อารมณ์กระทบประสาทแล้ว จิตที่เป็นกิริยามโนธาตุก็ยังภวังค์ให้เปลี่ยนไป จักขุวิญญาณก็ทำทัสสนกิจ (หน้าที่เห็น) วิบากมโนธาตุก็ทำสัมปฏิจฉันนกิจ (หน้าที่รับอารมณ์) วิบากมโนวิญญาณธาตุก็ทำสันติรณกิจ (หน้าที่พิจารณาอารมณ์) กิริยามโนวิญญาณธาตุก็ทำโวฏฐัพพนกิจ (หน้าที่ตัดสินอารมณ์) ชวนะเสวยรสแห่งอารมณ์ ดังนี้ นี้ชื่อว่าจิตนิยาม ในอธิการนี้ ทรงประสงค์เอาจิตนิยามนี้.
               กุศลจิตประกอบด้วยติเหตุกะเป็นสสังขาริกก็ดี กุศลจิตที่ประกอบด้วยอสังขาริกและสสังขาริกสหรคตด้วยอุเบกขาก็ดี ประกอบ (ทำ) กรรมแล้ว ปฏิสนธิอันวิบากจิตเช่นเดียวกับจิตที่ทำกรรมแล้วนั้นให้ผลแล้ว ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ก็จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ๒ ดวง บัณฑิตพึงแสดงความเป็นไปครั้งแรกด้วยอำนาจอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ภายหลังจึงควรแสดงด้วยอำนาจอิฏฐารมณ์. ในทวารแต่ละทวารเป็นวิบากจิตทวารละ ๑๒ ดวง รวมเป็นจิต ๖๐ ดวงถ้วน แม้ด้วยประการฉะนี้. เมื่อว่าโดยการถือเอาวิบากจิตที่ยังมิได้ถือเอาก็ได้วิบากจิต ๑๖ ดวง.

               อุปมาวิบากจิตเปรียบด้วยคนหีบอ้อย               
               ในฐานะนี้ท่านถือเอาเรื่อง ชื่อว่านาฬิยันโตปมะ เปรียบด้วยนัยว่า ในเวลาที่คั้นอ้อยมีคนหีบอ้อย ๑๑ คน ถือเครื่องคั้นอ้อยออกจากบ้านหนึ่งพบแหล่ง (ศูนย์รวม) อ้อยแห่งหนึ่ง ทราบว่าอ้อยนั้นแก่แล้ว จึงเข้าไปหาเจ้าของอ้อยแล้วพูดว่า พวกเรารับจ้างหีบอ้อย เจ้าของอ้อยตอบว่า เรากำลังหาพวกท่านเหมือนกัน แล้วพาชนเหล่านั้นไปโรงหีบอ้อย พวกคนรับจ้างเหล่านั้นตระเตรียมเครื่องหีบอ้อยแล้วพูดว่า พวกเรามี ๑๑ คน ได้อีกหนึ่งคนก็จะได้รับค่าจ้างพอดี เจ้าของอ้อยพูดว่า เรานี้แหละจะเป็นสหายช่วยท่าน แล้วขนอ้อยไปเต็มโรงจึงได้เป็นสหายช่วยเหลือชนเหล่านั้น ชนเหล่านั้นทำกิจของตนๆ เคี้ยวน้ำอ้อยข้นทำเป็นงบน้ำอ้อยแล้ว เมื่อเจ้าของพิจารณาให้ส่วนแบ่งแล้วก็ถือเอาส่วนของตนๆ มอบโรงอ้อยให้แก่เจ้าของโดยอุบายนี้แหละ ทำการงานในโรงอ้อย ๔ หลัง อื่นอีกแล้วหลีกไป.
               ในข้อนั้น ประสาททั้ง ๕ พึงเห็นเหมือนโรงเครื่องยนต์ ๕ แห่ง อารมณ์ ๕ พึงเห็นเหมือนแหล่งอ้อย ๕ แห่ง วิบากจิต ๑๑ ดวง พึงเห็นเหมือนคนรับจ้างหีบอ้อย ๑๑ คนเที่ยวไป วิญญาณ ๕ พึงเห็นเหมือนเจ้าของโรงหีบอ้อย ๕ คน. เวลาที่วิบากจิต ๑๑ ดวง ร่วมกับจักขุวิญญาณทำกิจของตนๆ ในรูปารมณ์ทางจักขุทวาร พึงเห็นเหมือนเวลาคนรับจ้างหีบอ้อย ๑๑ คนร่วมกับเจ้าของโรงหีบอ้อยในโรงแรก แล้วถือเอาส่วนงานที่กระทำ เวลาที่จักขุวิญญาณไม่ล่วงทวารไป พึงเห็นเหมือนเวลาที่เจ้าของโรงอ้อยรับอ้อยไว้ในโรง. เวลาที่วิบากจิต ๑๑ ดวง ร่วมกับกายวิญญาณ ทำกิจของตนๆ ในโผฏฐัพพารมณ์ทางกายทวาร การไม่ก้าวก่ายทวารของกายวิญญาณ พึงทราบเหมือนเวลาที่เจ้าของโรงอ้อยรับอ้อยไว้ในโรง. วาระที่ท่านกล่าวไว้ว่า ติเหตุกปฏิสนธิ (ปฏิสนธิประกอบด้วยเหตุ ๓) ย่อมมีด้วยกรรมอันประกอบด้วยเหตุ ๓ มีเพียงเท่านี้. ส่วนทุเหตุกปฏิสนธิ มีด้วยกรรมอันเป็นติเหตุกะนั้นยังลี้ลับนัก.๑-
____________________________
๑- ไม่ปรากฏเลย.

               ว่าด้วยทุเหตุกปฏิสนธิมีกรรมเป็นทุเหตุกะ               
               บัดนี้ ควรกล่าววาระที่ว่า ทุเหตุกปฏิสนธิ ย่อมมีด้วยกรรมอันเป็นทุเหตุกะ.
               จริงอยู่ เมื่ออสังขาริกจิตสหรคตด้วยโสมนัสทำกรรมแล้ว สัตว์ผู้ถือปฏิสนธิด้วยวิบากจิตที่เป็นทุเหตุกะเช่นเดียวกับจิตที่เป็นอสังขาริกสหรคตด้วยโสมนัสทำกรรมนั้นนั่นแหละมี ๓ โมฆวาระในอิฏฐารมณ์ที่มาสู่คลองจักขุทวารโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นเอง ในที่สุดลงแห่งอสังขาริกชวนจิตที่สหรคตด้วยโสมนัสที่เป็นทุเหตุกะ ตทารัมมณะ กล่าวคือมูลภวังค์เช่นเดียวกับจิตที่ทำกรรมนั่นแหละก็เกิดขึ้น. ในที่สุดลงแห่งสังขาริกชวนจิต ตทารมณ์กล่าวคืออาคันตุกภวังค์เช่นเดียวกับจิตที่ทำกรรมนั่นแหละก็เกิดขึ้น. ในที่สุดลงแห่งชวนจิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา ๒ ดวง ในอิฏฐมัชฌัตตารมณ์เท่านั้น ตทารมณ์ ๒ ดวง เช่นเดียวกับจิตที่ทำกรรมนั้นแหละเกิดขึ้น. ในอธิการนี้เท่านั้น ทวารแต่ละทวาร แบ่งจิตทวารละ ๘ ดวง จึงรวมเป็นจิต ๔๐ ดวงถ้วน. แต่เมื่อถือเอาจิตที่ยังมิได้ถือเอาก็ได้จิตในจักขุทวาร ๘ ดวง อีก ๔ ดวง คือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณ จึงรวมเป็นจิต ๑๒ ดวง เมื่อเจตนาดวงเดียวประกอบกรรมแล้วย่อมให้วิบากจิต ๑๒ ดวง เกิดขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้ กถาว่าด้วยการเปรียบด้วยผลมะม่วง และนิยาม ๕ เป็นไปตามปกตินั่นแล. แม้ในปฏิสนธิที่สัตว์ถือเอาด้วยวิบากเช่นเดียวกับทุเหตุกจิตที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน อนึ่ง ในทุเหตุกปฏิสนธินี้ ว่าโดยการเปรียบกับคนหีบอ้อย ก็ได้คนหีบอ้อย ๗ คน ในการอุปมานั้น พึงทราบการประกอบโดยทำนองแห่งนัยที่กล่าวกระทำคนรับจ้างหีบอ้อย ๗ คนนั้น ตระเตรียมเครื่องหีบอ้อยแล้วทำเจ้าของอ้อยให้เป็นคนที่ ๘ นั่นแหละ ข้าพเจ้ากล่าววาระที่ว่า ทุเหตุกปฏิสนธิ ย่อมมีด้วยกรรมอันเป็นทุเหตุกะไว้ด้วยคำเพียงเท่านี้.

               ว่าด้วยอเหตุกปฏิสนธิ               
               บัดนี้ เป็นกถาว่าด้วยอเหตุกปฏิสนธิ อธิบายว่า เมื่อกรรมอันกุศลจิตที่เป็นทุเหตุกะ ๔ ดวงทำแล้ว ปฏิสนธิของสัตว์ผู้ถือเอาด้วยจิตที่เป็นอเหตุกมโนวิญญาณธาตุสหรคตด้วยอุเบกขาเป็นกุศลวิบาก ไม่ควรกล่าวว่าเป็นเช่นเดียวกับกรรมที่ให้ปฏิสนธิ เพราะกรรมเป็นทุเหตุกะ (ประกอบด้วยเหตุ ๒) ปฏิสนธิเป็นอเหตุกะ (จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ). เมื่อบุคคลผู้ปฏิสนธิด้วยอเหตุกจิตนั้นถึงความเจริญขึ้นแล้ว เมื่ออิฏฐมัชฌัตตารมณ์มาสู่คลองประสาทในจักขุทวารแล้ว ก็พึงทราบโมฆวาระ ๓ วาระ โดยนัยก่อนนั่นแหละ แต่เมื่อกุศลจิตที่เป็นทุเหตุกะดวงใดดวงหนึ่งเป็นชวนะสิ้นสุดลง อเหตุกจิตก็ตั้งอยู่ในความเป็นตทารัมมณะ อเหตุกจิตนั้นได้ชื่อ ๒ อย่างคือมูลภวังค์และตทารัมมณะ ในอเหตุกจิตนี้ จิต ๔ ดวง คือจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันติรณะที่สหรคตด้วยอุเบกขา แม้ตทารัมมณะก็สหรคตด้วยอุเบกขาเหมือนกัน ย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ในจิต ๔ เหล่านั้น ถือเอาดวงหนึ่ง ก็เหลือ ๓ ดวงเท่านั้นที่เข้าถึงการนับเอา.
               แต่ในอิฏฐารมณ์ สันติรณะก็ดี ตทารัมมณะก็ดี ย่อมสหรคตด้วยโสมนัสได้เหมือนกัน บรรดาจิตเหล่านั้น วิบากจิต ๓ ดวงก่อน รวมกับดวงหนึ่งก็เป็นวิบากจิต ๔ ดวง เมื่อเจตนาดวงหนึ่งทำกรรมในทวาร ๕ ทวารละ ๔ ดวง พึงทราบว่า ย่อมยังวิบากจิต ๒๐ ดวงให้เกิดขึ้น แต่เมื่อถือเอาธรรมที่ยังมิได้ถือเอาก็ได้วิบากจิต ๔ ดวงในจักขุทวาร โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณและกายวิญญาณรวมเป็นวิบากจิต ๘ ดวง นี้ชื่อว่าอเหตุกจิต ๘ ดวง. อเหตุกจิต ๘ ดวงนี้ ทรงถือเอามนุษยโลก.
               ส่วนในอบาย ๔ ย่อมได้จิต ๘ ดวงนี้ในปวัตติกาล.
               จริงอยู่ เมื่อใด พระมหาโมคคัลลานเถระเนรมิตดอกปทุมในนรก นั่งอยู่ที่กลีบดอกปทุมแสดงธรรมกถาแก่พวกสัตว์นรก เมื่อนั้นจักขุวิญญาณซึ่งเป็นกุศลวิบากก็เกิดขึ้นแก่พวกเขาผู้เห็นพระเถระ เมื่อฟังเสียงโสตวิญญาณกุศลวิบากก็เกิด เมื่อพระเถระไปนั่งพักผ่อนกลางวันที่ป่าไม้จันทน์ ฆานวิญญาณก็เกิดในเวลาสูดกลิ่นจีวร ในเวลาบันดาลฝนให้ตกดับไฟนรกแล้วได้ดื่มน้ำที่ควรดื่ม ชิวหาวิญญาณกุศลวิบากก็เกิด ในเวลาที่บันดาลให้ลมพัดมาอ่อนๆ กายวิญญาณกุศลวิบากก็เกิดขึ้น วิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้นอย่างนี้ ๕ ดวง สัมปฏิจฉันนะ ๑ ดวง สันติรณะ ๒ ดวง เพราะฉะนั้นจึงได้อเหตุกจิต ๘ ดวง.
               ปฏิสนธิแม้ของพวกนาค ครุฑและเวมานิกเปรตย่อมมีด้วยอกุศล แต่กุศลย่อมให้ผลในปวัตติกาล ปฏิสนธิของช้างม้ามงคลเป็นต้นของพระเจ้าจักรพรรดิก็เหมือนกัน นี้เป็นการประพันธ์ถ้อยคำด้วยอำนาจแห่งกุศลชวนะในอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ทั้งหลายก่อน. แต่ในอิฏฐารมณ์เมื่ออกุศลจิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ๔ ดวง เสพชวนะแล้ว อเหตุกจิตสหรคตด้วยโสมนัสที่เป็นกุศลวิบาก ย่อมเป็นตทารัมมณะ ในอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ จิต ๔ ดวงที่สัมปยุตด้วยโลภะสหรคตด้วยอุเบกขาเสพชวนะแล้ว อเหตุกจิตสหรคตด้วยอุเบกขากุศลวิบากเป็นตทารัมมณะ ก็คำใดที่ท่านกล่าวว่า ตทารัมมณะ อันชวนะพึงกำหนดดังนี้ คำนั้นพึงทราบว่า ท่านกล่าวหมายถึงกุศล.
               ถามว่า ตทารัมมณะเมื่อเกิดขึ้นในลำดับแห่งชวนะสหรคตด้วยโทมนัสย่อมเกิดจิตอะไร.
               ตอบว่า จิตที่เป็นอเหตุกมโนวิญญาณธาตุฝ่ายอกุศลวิบากย่อมเกิดขึ้น.
               ถามว่า ก็ชวนะนี้ สภาวะอะไรย่อมกำหนดไว้โดยความเป็นกุศลหรืออกุศล.
               ตอบว่า อาวัชชนะและโวฏฐัพพนะย่อมกำหนด.
               จริงอยู่ เมื่ออาวัชชนะเปลี่ยนมาโดยแยบคายแล้ว โวฏฐัพพนะกำหนดโดยไม่แยบคาย ชวนะจักเป็นอกุศล ดังนี้ ข้อนี้เป็นไปไม่ได้ เมื่ออาวัชชนะเปลี่ยนมาโดยไม่แยบคายแล้ว โวฏฐัพพนะกำหนดโดยแยบคาย ชวนะจักเป็นกุศล ดังนี้ ข้อนี้ก็เป็นไปไม่ได้. แต่เมื่ออาวัชชนะและโวฏฐัพพนะทั้ง ๒ เปลี่ยนมากำหนดโดยแยบคาย พึงทราบว่า ชวนะเป็นกุศล ถ้าไม่แยบคายก็เป็นอกุศล.
               ถามว่า ในอิฏฐารมณ์ เมื่อความสงสัยและอุทธัจจะเกิดขึ้น ตทารัมมณะย่อมเป็นจิตอะไร?
               ตอบว่า ในอิฏฐารมณ์ ความสงสัยจะมีก็ตามไม่มีก็ตาม หรืออุทธัจจะจะมีก็ตามไม่มีก็ตาม โสมนัสจิตอเหตุกะฝ่ายกุศลวิบากเท่านั้นย่อมเป็นตทารมณ์ ในอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ จิตสหรคตด้วยอุเบกขาอเหตุกะฝ่ายกุศลวิบากเป็นตทารมณ์ ก็ในการกำหนดตทารมณ์นี้ การแสดงเนื้อความโดยสังเขปนี้ ชื่อว่าเป็นวาทะของพระมหาธรรมรักขิตเถระ. ก็เมื่อชวนะอันสหรคตด้วยโสมนัสเสพอารมณ์แล่นไปแล้ว พึงแสวงหาตทารัมมณจิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ๕ ดวง เมื่อชวนะที่สหรคตด้วยอุเบกขาเสพอารมณ์แล่นไปแล้ว พึงแสวงหาจิต ๖ ดวงที่สหรคตด้วยอุเบกขาแล.
               ถามว่า ก็ในกาลใด เมื่อบุคคลผู้ถือปฏิสนธิสหรคตด้วยโสมนัสยังฌานให้เกิดในปวัตติกาลแล้ว มีฌานอันเสื่อมแล้วด้วยความประมาท พิจารณาอยู่ว่า ธรรมอันประณีตของเราฉิบหายแล้ว ดังนี้ โทมนัสย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปฏิสาร ในกาลนั้น จิตอะไรย่อมเกิดขึ้น เพราะในคัมภีร์ปัฏฐานท่านปฏิเสธว่า โทมนัสย่อมไม่เกิดในลำดับแห่งโสมนัส และโสมนัสย่อมไม่เกิดในลำดับแห่งโทมนัส เมื่อชวนจิตเสพอารมณ์แล้ว แม้ตทารมณ์ก็ปฏิเสธไว้ในคัมภีร์ปัฏฐานนั้นเหมือนกัน.
               ตอบว่า อเหตุกมโนวิญญาณธาตุเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากที่สหรคตด้วยอุเบกขา ย่อมเกิดขึ้น.
               ถามว่า จิตอะไร เป็นอาวัชชนะของอเหตุกมโนวิญญาณธาตุนั้น.
               ตอบว่า อาวัชชนกิจของอเหตุกมโนวิญญาณธาตุนั้นไม่มีเหมือนความไม่มีแห่งอาวัชชนะของภวังค์ อเหตุกมโนวิญญาณธาตุเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้น เพราะความที่ตนน้อมไปในอารมณ์ เพราะความที่อารมณ์ตนเคยเสพ และเพราะความที่ตนเองเสพอารมณ์อยู่เสมอ.
               ถามว่า อเหตุกมโนวิญญาณธาตุนี้ ย่อมเกิดอย่างไร?
               ตอบว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะที่เป็นอนันตรปัจจัยแก่นิโรธ (คือดับจิตและเจตสิก) ๑ จิตที่ประกอบด้วยผลสมาบัติ ของบุคคลผู้ออกจากนิโรธ ๑ อริยมรรคจิต ๑ ผลจิตที่เป็นลำดับแห่งมรรค ๑ ไม่มีอาวัชชนะย่อมเกิดได้ ฉันใด แม้เมื่ออาวัชชนะ (คือการพิจารณาอารมณ์) ไม่มีอยู่ อเหตุกมโนวิญญาณธาตุทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นด้วยการน้อมไปด้วยความเคยเสพและด้วยความที่เสพอยู่เสมอ ฉันนั้น.
               จริงอยู่ จิตเว้นจากอาวัชชนะ (คือการพิจารณาอารมณ์) ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่จิตนั้นเว้นจากอารมณ์ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้.
               ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น อะไรเล่าเป็นอารมณ์ของจิตนี้.
               ตอบว่า ได้แก่ ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในปริตธรรมมีรูปเป็นต้น.
               จริงอยู่ ในปริตธรรมมีรูปเป็นต้นนั้น อารมณ์ใดมาสู่คลองในสมัยนั้นนั่นแหละ พึงทราบว่า จิตนี้เกิดขึ้นปรารภอารมณ์นั้น.
               บัดนี้ เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งจิตเหล่านี้แม้ทั้งหมด ท่านจึงกล่าวนัยปกิณกะไว้ว่า
                         สุตฺตํ โทวาริโก จ     คามิลโก อมฺโพ โกลิยเกน จ
                         ชจฺจนฺโธ ปีฐสปฺปี จ   วิสยคาโห จ อุปนิสฺสยมตฺถโส
                                        เรื่องใยแมงมุม ๑ เรื่องนายทวาร ๑
                         เรื่องเด็กชาวบ้าน ๑ เรื่องมะม่วงกับเจ้าของ
                         โรงหีบอ้อย ๑ เรื่องชายบอดกับคนเปลี้ย ๑
                         เรื่องการรับอารมณ์โดยอุปนิสสยปัจจัยเป็น
                         ประโยชน์ ๑.

               จิตเปรียบด้วยแมงมุมชักใยเป็นต้น               
               บรรดาปกิณกนัยมีเรื่องแมงมุมเป็นต้นเหล่านั้น พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สุตฺตํ (ใยแมงมุม) ต่อไป.
               ก็แมงมุมริมทางตัวหนึ่งขึงใยไป ๕ ทิศ ทำข่ายแล้วนอนอยู่ตรงกลาง เมื่อใยที่ขึงไปในทิศแรกถูกกระทบด้วยสัตว์เล็กๆ หรือตั๊กกระแตนหรือแมลงวัน มันก็จะเคลื่อนออกจากที่เป็นที่นอนไปตามสายใยเจาะศีรษะดูดเลือดของสัตว์นั้น แล้วกลับมานอน ณ ท่ามกลางใยนั้นนั่นแหละอีก แม้ในเวลาที่ทิศที่ ๒ เป็นต้น ถูกกระทบแล้วก็กระทำเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ
               ในข้อนั้น ประสาททั้ง ๕ พึงทราบว่า เหมือนใยแมงมุมที่ขึงไป ๕ ทิศ. จิตเหมือนแมงมุมนอนในท่ามกลาง. เวลาที่อารมณ์มากระทบประสาท เหมือนเวลาที่สัตว์เล็กๆ เป็นต้นมากระทบใยแมงมุม. เวลาที่กิริยามโนธาตุรับอารมณ์ที่กระทบประสาทแล้วยังภวังค์ให้เปลี่ยนไป เหมือนการไหวของแมงมุมซึ่งนอนท่ามกลาง. ความเป็นไปของวิถีจิต เหมือนเวลาการไปตามสายใยของแมงมุม. เวลาที่ชวนจิตเสพอารมณ์ เหมือนการเจาะศีรษะดูดเลือด. การที่จิตอาศัยหทัยวัตถุเป็นไป เหมือนแมงมุมกลับมานอนในท่ามกลางใยอีก.
               ถามว่า ความอุปมานี้ ย่อมแสดงให้ทราบอะไร?
               ตอบว่า ย่อมแสดงให้ทราบว่า เมื่ออารมณ์กระทบประสาทแล้ว จิตที่อาศัยหทัยรูปเกิด ย่อมเกิดขึ้นก่อนกว่าจิตที่อาศัยประสาทรูปเกิด คือย่อมอธิบายให้ทราบว่า อารมณ์แต่ละอารมณ์ย่อมมาสู่คลองในทวารทั้งสอง ดังนี้.

               จิตเปรียบด้วยนายทวารเป็นต้น               
               พระราชาพระองค์หนึ่งบรรทมหลับอยู่บนแท่นบรรทม มหาดเล็กของพระองค์ นั่งถวายงานนวดพระยุคลบาทอยู่ มีนายทวารหูหนวกยืนอยู่ที่พระทวาร มีทหารยามเฝ้าอยู่ ๓ คน ยืนเรียงตามลำดับ ครั้งนั้น มีชาวชนบทคนหนึ่งถือเครื่องบรรณาการมาเคาะประตูเรียก นายทวารหูหนวกไม่ได้ยินเสียงมหาดเล็ก ผู้ถวายงานนวดพระยุคลบาทจึงให้สัญญาณ เขาจึงเปิดประตูด้วยสัญญาณนั้นมองดู ทหารยามคนที่หนึ่งจึงรับเครื่องบรรณาการแล้วส่งให้คนที่ ๒ คนที่ ๒ ส่งให้คนที่ ๓ คนที่ ๓ ทูลเกล้าถวายพระราชา พระราชาจึงเสวย.
               ในข้อนั้น ชวนจิตพึงเห็นเหมือนพระราชาพระองค์นั้น อาวัชชนจิตเหมือนมหาดเล็กผู้นวดพระบาท. จักขุวิญญาณเหมือนนายประตูหูหนวก. วิถีจิต ๓ ดวงมีสัมปฏิจฉันนะเป็นต้น เหมือนนายทหารยาม ๓ คน. การที่อารมณ์มากระทบประสาท เหมือนชาวชนบทถือเครื่องราชบรรณาการมาเคาะประตูเรียก เวลาที่กิริยามโนธาตุเปลี่ยนมาแต่ภวังค์ เหมือนเวลาที่มหาดเล็กผู้นวดพระยุคลบาทให้สัญญาณ. เวลาที่จักขุวิญญาณทำกิจเห็นอารมณ์ เหมือนเวลาที่นายประตูหูหนวกเปิดประตูด้วยสัญญาณที่มหาดเล็กให้สัญญานั้น. เวลาที่วิบากมโนธาตุทำสัมปฏิจฉันนกิจ คือรับอารมณ์ เหมือนเวลาทหารยามคนที่หนึ่งรับบรรณาการ. เวลาที่วิบากมโนวิญญาณธาตุทำสันติรณกิจ คือการพิจารณาอารมณ์ เหมือนเวลาที่ทหารยามคนที่หนึ่งส่งบรรณาการให้ทหารยามคนที่สองแล้ว. เวลาที่กิริยามโนวิญญาณธาตุทำโวฏฐัพพนกิจ คือการกำหนดอารมณ์ เหมือนเวลาที่ทหารยามคนที่สามทูลถวายบรรณาการแด่พระราชา. เวลาที่ชวนะทำชวนกิจ คือเสวยรสอารมณ์ เหมือนเวลาที่พระราชาเสวยเครื่องบรรณาการฉะนั้น.
               ถามว่า อุปมานี้ ย่อมแสดงให้ทราบอะไร?
               ตอบว่า ย่อมแสดงให้ทราบถึงคำนี้ว่า กิจของอารมณ์มีเพียงกระทบประสาทเท่านั้น. กิจของกิริยามโนธาตุ มีเพียงรู้ว่ามีอารมณ์มากระทบภวังค์. กิจทั้งหลายของจักขุวิญญาณเป็นต้น เป็นเพียงการเห็นอารมณ์ การรับอารมณ์ การพิจารณาอารมณ์และการกำหนดอารมณ์เท่านั้น ชวนจิตเท่านั้นย่อมเสวยรสอารมณ์โดยส่วนเดียว ดังนี้.

               จิตเปรียบด้วยเด็กชาวบ้าน               
               คำว่า เด็กชาวบ้าน คือพวกเด็กชาวบ้านเป็นอันมากย่อมเล่นฝุ่นที่ระหว่างทาง บรรดาพวกเด็กเหล่านั้น กหาปณะกระทบมือของเด็กคนหนึ่ง เด็กคนนั้นพูดว่า นั่นอะไร กระทบมือของเรา ดังนี้. ลำดับนั้น เด็กคนหนึ่งจึงพูดว่า นั่นสีขาว ดังนี้. อีกคนหนึ่งก็ถือไว้มั่นคงพร้อมกับฝุ่น คนอื่นพูดว่า นั่นสี่เหลี่ยมหนา คนอื่นอีกพูดว่า นั่นกหาปณะ ลำดับนั้น พวกเขาจึงนำเหรียญกหาปณะนั้นมาให้มารดา มารดาก็นำไปใช้ในการงาน.
               ในข้อนั้น ความเป็นไปของภวังคจิต พึงเห็นเหมือนเวลาที่พวกเด็กมากด้วยกันนั่งเล่นในระหว่างทาง. เวลาที่ประสาทถูกอารมณ์กระทบแล้วเหมือนเวลาที่กหาปณะกระทบมือ. เวลาที่กิริยามโนธาตุยังภวังค์ให้เปลี่ยนไปรับอารมณ์นั้นเหมือนเวลาที่เด็กคนหนึ่งพูดว่า นั่นอะไร. เวลาที่จักขุวิญญาณทำทัสสนกิจเหมือนเวลาที่เด็กคนหนึ่งพูดว่า นั่นสีขาว. เวลาที่วิบากมโนธาตุทำหน้าที่รับอารมณ์ เหมือนเวลาที่เด็กคนหนึ่งถือกหาปณะพร้อมกับฝุ่นไว้มั่น. เวลาที่วิบากมโนวิญญาณธาตุทำกิจพิจารณาอารมณ์ เหมือนเวลาที่เด็กคนหนึ่งพูดว่า นั่นสี่เหลี่ยมหนา. เวลาที่กิริยามโนวิญญาณธาตุทำหน้าที่กำหนดอารมณ์ เหมือนเวลาที่เด็กคนหนึ่งพูดว่า นั่นกหาปณะ การที่ชวนจิตเสวยรสอารมณ์ พึงทราบเหมือนเวลาที่มารดานำกหาปณะไปใช้ในการงานฉะนั้น.
               ถามว่า ความอุปมานี้ ย่อมแสดงให้รู้ถึงอะไร?
               ตอบว่า ย่อมแสดงให้รู้ว่า กิริยามโนธาตุยังมิได้เห็นเลย ยังภวังค์ให้เปลี่ยนไป วิบากมโนธาตุก็ไม่เห็น ย่อมทำหน้าที่รับอารมณ์ วิบากมโนวิญญาณธาตุก็ไม่เห็น ย่อมทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ กิริยามโนวิญญาณธาตุก็ไม่เห็น ย่อมทำหน้าที่กำหนดอารมณ์ ชวนจิตก็ไม่เห็น ย่อมทำหน้าที่เสวยรสอารมณ์ ส่วนจักขุวิญญาณเท่านั้น ย่อมทำกิจการเห็น (ทัสสนกิจ) โดยส่วนเดียว ดังนี้.
               คำว่า มะม่วงกับเจ้าของโรงหีบอ้อย นี้ ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในภายหลังแล้ว คำนี้ กล่าวหมายเอาอุปมาด้วยผลมะม่วง และอุปมาด้วยเจ้าของโรงหีบอ้อย.

               นามรูปเปรียบด้วยชายบอดและคนเปลี้ย               
               คำว่า ชายบอดและคนเปลี้ย ความว่า ได้ยินว่า ในศาลาใกล้ประตูพระนคร มีชายตาบอดแต่กำเนิดและคนเปลี้ยสนทนากันอยู่ ในบรรดาคนทั้งสองนั้น คนเปลี้ยพูดว่า เจ้าบอด เพราะเหตุไร เจ้าจึงซูบซีดอยู่ในที่นี้ เจ้าเที่ยวไปประเทศโน้นซึ่งมีภิกษาหาได้ง่าย มีข้าวน้ำมาก เจ้าไปในที่นั้นก็เป็นอยู่สบายไม่สมควรหรือ ชายตาบอดพูดว่า เจ้าบอกเราก่อนแล้ว แต่เจ้าเล่าไปในที่นั้นก็อยู่สบายไม่สมควรหรือ.
               คนเปลี้ย : เท้าที่จะเดินของเราไม่มี.
               ชายบอด : ตาของเราจะดูไม่มี.
               คนเปลี้ย : ถ้าอย่างนั้น เจ้าเป็นเท้า เราเป็นตา.
               คนทั้ง ๒ ต่างก็รับคำกันแล้ว ชายบอดให้คนเปลี้ยขี่คอไป คนเปลี้ยนั้นนั่งขี่คอของชายบอดเอามือซ้ายโอบศีรษะชายตาบอด เอามือขวากำหนดทางบอกว่า ในที่นี้มีรากไม้ขวางอยู่ ในที่นี้มีหิน ท่านจงละทางซ้ายถือเอาทางขวา จงละทางขวาถือเอาทางซ้าย ดังนี้ เท้าเป็นของคนตาบอดแต่กำเนิด ตาเป็นของคนเปลี้ย คนแม้ทั้งสองไปแล้วสู่ที่ตนปรารถนาด้วยความพยายามร่วมกันเป็นอยู่แล้วเป็นสุข ด้วยประการฉะนี้.
               ในความอุปมานั้น รูปกาย พึงเห็นเหมือนชายตาบอดแต่กำเนิด อรูปกาย (นามกาย) เหมือนคนเปลี้ย. รูปกายเว้นนามกายก็ไม่สามารถให้ถึงการยึดถือ การจับ และการเคลื่อนไหวได้ เหมือนเวลาที่ชายตาบอดแต่เว้นคนเปลี้ย ก็ไม่เกิดความตั้งใจที่จะเดินทางไปยังถิ่นต่างๆ ได้. อรูป (นามกาย) เว้นรูปเสียก็เป็นไปไม่ได้ในปัญจโวการภพ เหมือนคนเปลี้ยเว้นชายตาบอดแต่กำเนิด ก็ไม่เกิดความตั้งใจที่จะเดินทางไปสู่ถิ่นต่างๆ ได้. รูปธรรมและอรูปธรรมมีสภาพเป็นไปในกิจทั้งปวงได้ด้วยการประกอบซึ่งกันและกัน เหมือนเวลาที่ชายตาบอดและคนเปลี้ยแม้ทั้งสองไปสู่ที่ตนปรารถนาด้วยความพยายามร่วมกันแล้วเป็นอยู่สบาย ฉะนั้น. ปัญหานี้ท่านอาจารย์กล่าวได้ด้วยอำนาจปัญจโวการภพ.

               ว่าด้วยการรับอารมณ์โดยมีอุปนิสสยปัจจัย               
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า การรับอารมณ์ ต่อไป.
               จักษุย่อมรับอารมณ์เฉพาะรูป โสตเป็นต้นก็รับอารมณ์เฉพาะเสียงเป็นต้น.
               คำว่า โดยมีอุปนิสสยปัจจัยเป็นประโยชน์ คือโดยอุปนิสสยปัจจัย (ต้องอาศัยแน่นอนขาดไม่ได้) และโดยความเป็นประโยชน์.

               จักขุวิญญาณอาศัยปัจจัย ๔ เกิดขึ้น               
               ในข้อว่า โดยมีอุปนิสสยปัจจัยและโดยเป็นประโยชน์นั้น จักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับสัมปยุตธรรมทั้งหลายได้เพราะอาศัยปัจจัย ๔ คือ
               อสมฺภินฺนตฺตา จกฺขุสฺส เพราะจักขุประสาทยังไม่แตกดับ
               อาปาถคตฺตา รูปานํ เพราะรูปมาสู่คลอง
               อาโลกสนฺนิสฺสิตํ อาศัยแสงสว่าง
               มนสิการเหตุกํ อาศัยมนสิการเป็นเหตุ.
               บรรดาปัจจัย ๔ เหล่านั้น จักษุแม้ของคนตายย่อมเป็นของแตกดับไปสิ้น จักษุของคนมีชีวิตดับไปก็ดี หรือถูกน้ำดีหรือเสมหะหรือโลหิตขัดขวางแล้วก็ดี ไม่อาจเป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ชื่อว่าแตกดับไปแล้ว เมื่อสามารถเป็นปัจจัยได้ ชื่อว่าไม่แตกดับ.
               แม้ในโสตวิญญาณเป็นต้น ก็นัยนี้แหละ.
               ก็เมื่อจักขุประสาทแม้ยังไม่แตกดับ แต่รูปารมณ์ภายนอกยังไม่มาสู่คลองจักษุประสาท จักขุวิญญาณก็เกิดไม่ได้ เมื่อรูปนั้นมาสู่คลองแล้ว แต่ปัจจัยที่อาศัย คือแสงสว่างไม่มี จักขุวิญญาณก็เกิดไม่ได้ เมื่อแสงสว่างซึ่งเป็นปัจจัยนั้นมีอยู่ แต่กิริยามโนธาตุไม่ยังภวังค์ให้เปลี่ยนไป จักขุวิญญาณก็เกิดไม่ได้ เมื่อกิริยามโนธาตุทำภวังค์ให้เปลี่ยนไปได้ จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้น (จึงเกิดการเห็นได้). จักขุวิญญาณเมื่อเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมเกิดขึ้น พร้อมกับสัมปยุตธรรมทั้งหลายโดยแท้ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า จักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้น เพราะได้ปัจจัย ๔ เหล่านี้ทีเดียว.
               โสตวิญญาณย่อมเกิดขึ้นกับสัมปยุตธรรมทั้งหลาย เพราะปัจจัย ๔ เหล่านี้ คือ
               อสมฺภินฺนตฺตา โสตสฺส เพราะโสตประสาทยังไม่แตกดับ
               อาปาถคตตฺตา สทฺทานํ เพราะเสียงทั้งหลายมาสู่คลอง
               อากาสสนฺนิสฺสิตํ อาศัยอากาศ
               มนสิการเหตุกํ มีมนสิการเป็นเหตุ.
               บรรดาปัจจัย ๔ เหล่านั้น คำว่า อาศัยอากาศ คือ โสตวิญญาณนั้นได้อาศัยอากาศจึงเกิดขึ้น เว้นอากาศก็ไม่เกิด เพราะเมื่อบุคคลปิดช่องหูเสีย โสตวิญญาณก็ไม่เป็นไป. คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแหละ คือแม้ฆานวิญญาณเป็นต้นนอกจากนี้ ก็พึงทราบความเหมือนในโสตวิญญาณนี้ ข้าพเจ้าจักกล่าวแต่เนื้อความที่ต่างกันเท่านั้น.
               ฆานวิญญาณย่อมเกิดพร้อมกับสัมปยุตธรรมทั้งหลาย เพราะปัจจัย ๔ เหล่านี้ คือ
               อสมฺภินฺนตฺตา ฆานสฺส เพราะฆานประสาทยังไม่แตกดับ
               อาปาถคตตฺตา คนฺธานํ เพราะกลิ่นทั้งหลายมาสู่คลอง
               วาโยสนฺนิสฺสิตํ อาศัยวาโย
               มนสิการเหตุกํ มีมนสิการเป็นเหตุ.
               บรรดาเหตุ ๔ เหล่านั้น คำว่า อาศัยวาโย อธิบายว่า เมื่อวาโยพากลิ่นทั้งหลายเข้าไปสู่ช่องจมูกนั่นแหละ ฆานวิญญาณจึงเกิด เมื่อลมไม่มี ฆานวิญญาณก็ไม่เกิด.
               ชิวหาวิญญาณย่อมเกิดพร้อมกับสัมปยุตธรรมทั้งหลายเพราะปัจจัย ๔ เหล่านี้ คือ
               อสมฺภินฺนตฺตตา ชิวฺหาย เพราะชิวหาประสาทยังไม่แตกดับ
               อาปาถคตตฺตา รสานํ เพราะรสทั้งหลายมาสู่คลอง
               อาโปสนฺนิสฺสิตํ อาศัยอาโป
               มนสิการเหตุกํ มีมนสิการเป็นเหตุ.
               บรรดาปัจจัย ๔ เหล่านั้น คำว่า อาศัยอาโป ความว่า ได้อาโปทำให้เปียก ฆานวิญญาณจึงเกิด เว้นอาโปก็ไม่เกิด เพราะเมื่อบุคคลลิ้นแห้ง แม้วางขาทนียะที่แห้งไว้ที่ลิ้น ชิวหาวิญญาณย่อมไม่เกิดขึ้น.
               กายวิญญาณย่อมเกิดพร้อมกับสัมปยุตธรรมทั้งหลาย เพราะปัจจัย ๔ เหล่านี้ คือ
               อสมฺภินฺนตฺตา กายสฺส เพราะประสาทกายยังไม่แตกดับ
               อาปาถคตตฺตา โผฏฺฐพฺพานํ เพราะโผฏฐัพพะมาสู่คลอง
               ปฐวีสนฺนิสฺสิตํ อาศัยปฐวี
               มนสิการเหตุกํ มีมนสิการเป็นเหตุ.
               บรรดาปัจจัย ๔ เหล่านั้น คำว่า อาศัยปฐวี ได้แก่ อาศัยปฐวีที่ควบคุมกัน คือกายประสาทเป็นปัจจัยนั่นแหละ กายวิญญาณจึงเกิดขึ้น เว้นกายประสาทแล้ว กายวิญญาณก็ไม่เกิด เพราะมหาภูตรูปเป็นอารมณ์ภายนอกกระทบกายประสาทในภายในที่กายทวาร ย่อมกระทบที่มหาภูตรูปทั้งหลายที่มีประสาทเป็นปัจจัย.
               มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับสัมปยุตธรรมทั้งหลาย เพราะปัจจัย ๔ เหล่านี้ คือ
               อสมฺภินฺนตฺตา มนสฺส เพราะมโนยังไม่แตกดับ
               อาปาถคตตฺตา ธมฺมานํ เพราะธรรมทั้งหลายมาสู่คลอง
               วตฺถุสนฺนิสฺสิตํ อาศัยวัตถุ
               มนสิการเหตุกํ มีมนสิการเป็นเหตุ.
               บรรดาปัจจัย ๔ เหล่านั้น คำว่า มโน ได้แก่ ภวังคจิต. อธิบายว่า ภวังคจิตนั้นแตกดับแล้วก็ดี มีกำลังอ่อนไม่สามารถเป็นปัจจัยแก่อาวัชชนจิตให้เป็นไปก็ดี ชื่อว่าแตกดับ แต่ที่สามารถเป็นปัจจัยแก่อาวัชชนะได้ ชื่อว่ายังไม่แตกดับ.
               คำว่า เพราะธรรมทั้งหลายมาสู่คลอง ได้แก่ เมื่อธรรมารมณ์มาสู่คลอง.
               คำว่า อาศัยวัตถุ คือ ได้อาศัยหทยวัตถุเท่านั้นจึงเกิดขึ้น เว้นหทยวัตถุก็ไม่เกิดขึ้น.
               ปัญหาแม้นี้พระเถระกล่าวหมายถึงปัญจโวการภพ.
               คำว่า มีมนสิการเป็นเหตุ อธิบายว่า กิริยามโนวิญญาณธาตุยังภวังค์ให้เปลี่ยนไปก่อน มโนวิญญาณจึงเกิดขึ้น. พรรณนาอุปนิสสยปัจจัยในข้อว่า การรับอารมณ์โดยอุปนิสสยปัจจัยเป็นประโยชน์ นี้เพียงเท่านี้.
               ก็จักขุเป็นอรรถชื่อว่าทัสสนัตถะ (มีการเห็นเป็นอรรถ) โสตเป็นอรรถชื่อว่าสวนัตถะ (มีการฟังเป็นอรรถ) ฆานะเป็นอรรถชื่อว่าฆานัตถะ (มีการสูดกลิ่นเป็นอรรถ) ชิวหาเป็นอรรถชื่อว่าสายนัตถะ (มีการลิ้มรสเป็นอรรถ) กายเป็นอรรถชื่อว่าผุสนัตถะ (มีการถูกกระทบเป็นอรรถ) มโนเป็นอรรถชื่อว่าวิชานนัตถะ (มีการรู้เป็นอรรถ).
               พึงทราบวินิจฉัยคำว่า มีการเห็นเป็นอรรถ เป็นต้นต่อไป
               การเห็นเป็นอรรถของจักขุวิญญาณนั้น เพราะเหตุนั้น จักขุวิญญาณนั้นจึงชื่อว่าทัสสนัตถะ. จริงอยู่ การเห็นนั้นอันจักขุพึงให้สำเร็จ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าทัสสนัตถะ (มีการเห็นเป็นอรรถ) แม้ในโสตวิญญาณเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ เป็นอันจบวิบากจิต ๑๖ ดวง ในวาทะของพระจูฬนาคเถระผู้ทรงพระไตรปิฎกพร้อมกับวิบากจิต ๑๒ ดวง และอเหตุกจิต ๘ ดวง เพียงเท่านี้.

               วิบากจิต ๑๒ ดวงในวาทะพระมหาทัตตเถระ               
               บัดนี้ เป็นกถามรรควิบากจิต ๑๒ ดวง ในวาทะของพระมหาทัตตเถระผู้อยู่ในโมรวาปี. ในวาทะนั้น ปัญหาในเมืองสาเกต การถือส่วนข้างมากและการแสดงเหตุเป็นไปตามปกติทั้งนั้น แต่พระเถระนี้เห็นข้อบกพร่องในจิตที่เป็นอสังขาริกและสสังขาริก จึงกล่าวว่า กรรมที่เป็นอสังขาริกย่อมให้วิบากที่เป็นอสังขาริกไม่ให้วิบากที่เป็นสสังขาริก แม้กรรมที่เป็นสสังขาริกก็ย่อมให้วิบากเป็นสสังขาริกเท่านั้นไม่ให้วิบากเป็นอสังขาริก และพระเถระนี้ไม่กล่าวจิตนิยามโดยชวนะ แต่ย่อมกล่าวนิยามแห่งเวทนาโดยอารมณ์ เพราะเหตุนั้น ในวาทะของท่านนี้นั่นแหละ แม้วิบากจิต ๑๐ ดวงก็ดี อเหตุกจิต ๘ ดวงก็ดี ชื่อว่าแนวทางแห่งวิบากจิต ๑๒ ดวง.
               ในแนวทางวิบากจิตนั้น มีนัยต่อไปนี้.
               ก็เมื่ออสังขาริกจิตเป็นติเหตุกะสหรคตด้วยโสมนัสทำกรรมแล้ว บุคคลผู้ถือปฏิสนธิด้วยวิบากจิตเช่นนั้นนั่นแหละ ถึงการเจริญวัยแล้ว เมื่ออิฏฐารมณ์มาสู่คลองจักขุทวารแล้ว โมฆวาระ ๓ ย่อมมีโดยนัยที่กล่าวไว้ในหนหลังเหมือนกัน ในกถาว่าด้วยจิตเหล่านั้น จิต ๑๓ ดวง เหล่านี้ คือกุศลวิบาก ๔ ดวง อกุศลวิบากที่สหรคตด้วยโสมนัส ๔ ดวง และกิริยาจิต ๕ ดวงดวงใดดวงหนึ่ง เมื่อชวนจิตเสพอารมณ์สุดแล้ว ก็ตั้งอยู่เป็นตทารมณ์ ติเหตุกจิตที่เป็นอสังขาริกซึ่งสหรคตด้วยโสมนัสก็ดี อเหตุกจิตที่เป็นทุเหตุกเป็นอสังขาริกก็ดี ก็ย่อมตั้งอยู่เป็นตทารมณ์นั่นแหละ ด้วยอาการอย่างนี้ ในจักขุทวารของบุคคลนั้นจึงเป็นวิบากจิต ๔ ดวง เข้าถึงการนับเป็น ๕ ดวง คือวิบากจิต ๓ ดวง มีจักขุวิญญาณเป็นต้นและตทารัมจิต ๒ ดวง
               อนึ่ง ครั้นเปลี่ยนเวทนาไปโดยอารมณ์แล้ว อุเบกขาสหคตจิต ๑๒ ดวง คือกุศลวิบาก ๔ ดวง อกุศลวิบาก ๔ ดวง กิริยาจิต ๔ ดวงดวงใดดวงหนึ่ง เมื่อชวนะเสพอารมณ์เสร็จแล้ว จิตที่เป็นติเหตุกอสังขาริกสหรคตด้วยอุเบกขาก็ดี วิบากจิต อสังขาริก ทุเหตุกะก็ดี ก็เกิดขึ้นเป็นตทารัมมณะ ด้วยประการฉะนี้ ในจักขุทวารของบุคคลนั้นก็เข้าถึงการนับได้ ๓ ดวงเหล่านี้ คือสันติรณจิตสหรคตด้วยอุเบกขา และตทารัมมณจิต ๒ ดวงเหล่านี้ จิต ๓ ดวงเหล่านั้นกับจิต ๕ ดวงก่อนรวมเป็น ๘ ดวง แม้ในโสตทวารเป็นต้นก็ได้ทวารละ ๘ ดวง เมื่อกรรมอันเจตนาดวงหนึ่งทำแล้ว จิต ๔๐ ดวงถ้วนย่อมเกิดขึ้น. แต่เมื่อถือเอาจิตที่ยังมิได้ถือเอาก็ได้จิต ๑๒ ดวง คือในจักขุทวาร ๘ ดวง ในโสตวิญญาณเป็นต้นอีก ๔ ดวง. ในข้อนั้นพึงทราบมูลภวังค์ ภวังค์ที่เป็นไปและกถาอันเปรียบด้วยมะม่วงและนิยามโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ เมื่อกรรมอันกุศลจิตที่เป็นสสังขาริก ติเหตุกะสหรคตด้วยโสมนัสกระทำแล้วก็ดี เมื่อกรรมอันอสังขาริกและสสังขาริกะเป็นติเหตุกะสหรคตด้วยอุเบกขาทำแล้วก็ดี ก็นัยนี้แหละ.
               ความอุปมาเรื่องเครื่องหีบอ้อย ท่านกล่าวว่า ไม่ได้ใน ๒ ข้อนี้ เมื่อกรรมอันกุศลจิตที่เป็นสสังขาริกทุเหตุกสหรคตด้วยโสมนัสทำแล้วก็ดี เมื่อกรรมอันอสังขาริกและสสังขาริก ที่เป็นทุเหตุกะสหรคตด้วยอุเบกขาทำแล้วก็ดี ก็มีนัยนี้เหมือนกัน ด้วยคำมีประมาณเพียงเท่านี้ ท่านกล่าววาระว่า ทุเหตุกปฏิสนธิย่อมมีด้วยกรรมอันเป็นทุเหตุกะ ดังนี้.
               ส่วนวาระ อเหตุกปฏิสนธิ ย่อมมี ดังนี้ พึงทราบอย่างนี้ เมื่อกรรมอันกุศลญาณวิปปยุต ๔ ดวงกระทำแล้ว บัณฑิตไม่ควรกล่าวว่า เป็นปฏิสนธิเช่นกับกรรมที่อเหตุกมโนวิญญาณธาตุที่เป็นกุศลวิบากที่สหรคตด้วยอุเบกขาถือปฏิสนธิ ตั้งแต่ต้นไปพึงทราบว่า ความเกิดขึ้นแห่งจิตที่มีอิฏฐารมณ์บ้าง อิฏฐมัชฌัตตารมณ์บ้าง ตามที่กล่าวโดยนัยที่กล่าวไว้ในหนหลังนั่นแหละ.
               จริงอยู่ ในวาทะของพระเถระนี้ ชวนะที่ประมวลมาเป็นพวกเดียวกันย่อมเสพอารมณ์ ถ้อยคำที่เหลือทั้งหมดมีอาทิว่า ชวนะนี้จิตตุปบาทอะไร ย่อมกำหนดไว้โดยความเป็นกุศลหรืออกุศล โดยนัยที่กล่าวไว้ในที่นั้นๆ นั่นแหละ แนวทางกถาว่าด้วยวิบาก ๑๒ ดวง กับวิบากจิต ๑๐ ดวง อเหตุกะ ๘ ดวง ในวาทะของพระมหาทัตตเถระผู้อยู่ในโมรวาปี จบแล้วด้วยคำมีประมาณเท่านี้.

               วิบากจิต ๑๐ ดวงในวาทะพระมหาธรรมรักขิตเถระ               
               บัดนี้ เป็นเรื่องว่าด้วยวิบากจิต ๑๐ ดวง ในวาทะของพระธรรมรักขิตเถระต่อไป. ในวาทะนั้น ปัญหาในเมืองสาเกต และการแสดงส่วนข้างมาก เป็นไปตามปกตินั่นแหละ ส่วนการแสดงนี้แตกต่างกันคือ
               กรรมที่เป็นติเหตุกะ ย่อมให้วิบากเป็นติเหตุกะจิตบ้าง ให้วิบากเป็นทุเหตุกจิตบ้าง ให้วิบากเป็นอเหตุกจิตบ้าง. กรรมที่เป็นทุเหตุกะ ย่อมไม่ให้วิบากเป็นติเหตุกจิตเท่านั้น แต่ให้วิบากจิตนอกนี้. ด้วยกรรมที่เป็นติเหตุกะ ปฏิสนธิย่อมเป็นติเหตุกจิตเท่านั้น ไม่เป็นทุเหตุกะหรืออเหตุกจิต. ด้วยกรรมที่เป็นทุเหตุกะ ปฏิสนธิย่อมเป็นทุเหตุกะและอเหตุกจิต ไม่เป็นติเหตุกจิต. กรรมที่เป็นอสังขาริก ย่อมให้วิบากที่เป็นอสังขาริกเท่านั้น ไม่ให้วิบากเป็นสสังขาริก. แม้กรรมที่เป็นสสังขาริก ก็ให้วิบากที่เป็นสสังขาริกเท่านั้น ไม่ให้วิบากเป็นอสังขาริก. เวทนาพึงเปลี่ยนไปด้วยอารมณ์ ชวนจิตก็ย่อมเสพอารมณ์ แล่นไปในกลุ่มเดียวกันนั่นแหละ บัณฑิตพึงกล่าวอธิบายจิตทั้งหลายตั้งแต่ต้นต่อไป.
               ในข้อนั้น พึงทราบกถาดังต่อไปนี้.
               บุคคลหนึ่ง ทำกรรมด้วยกุศลจิตดวงที่หนึ่ง เขาย่อมถือปฏิสนธิด้วยวิบากจิตดวงที่หนึ่งเท่านั้น. ปฏิสนธิจิตนี้เป็นเช่นกับกรรมที่กระทำ. เมื่อบุคคลนั้นเจริญวัยแล้ว เมื่ออิฏฐารมณ์มาสู่คลองในจักขุทวาร โมฆวาระ ๓ ย่อมมีโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. ลำดับนั้น เมื่อเวลาสิ้นสุดลงแห่งชวนจิตที่สหรคตด้วยโสมนัส ๑๓ ตามที่กล่าวในหนหลังนั่นแหละ ดวงใดดวงหนึ่งของบุคคลนั้นเสพแล้ว วิบากจิตดวงที่หนึ่งเท่านั้นย่อมเป็นตทารมณ์. วิบากจิตนั้นได้ชื่อ ๒ อย่าง คือ มูลภวังค์ และตทารัมมณะ ด้วยอาการอย่างนี้ จิตทั้งหลายของเขาย่อมเข้าถึงการนับได้ ๔ ดวง คือ วิบากจิต ๓ ดวง (ตามลำดับ) มีจักขุวิญญาณเป็นต้น และตทารัมมณะในเวลาสิ้นสุดลงแห่งจิตชวนะที่สหรคตด้วยอุเบกขา ๑๒ ดวง โดยนัยที่กล่าวในอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ในหนหลังนั่นเอง ดวงใดดวงหนึ่งเสพแล้ว จิตที่เป็นติเหตุกะอสังขริกที่สหรคตด้วยอุเบกขาก็ตั้งอยู่ในความเป็นตทารัมมณ์. วิบากจิตนั้นได้ชื่อ ๒ อย่าง คืออาคันตุกภวังค์และตทารัมมณะ จิตของเขาจึงนับได้ ๒ อย่าง คืออุเบกขาสหรคตสันติรณจิตและตทารัมมณะดวงนี้. วิบากจิต ๒ ดวงนี้กับวิบากจิต ๔ ดวงก่อน จึงรวมเป็นวิบากจิต ๖ ดวง ด้วยประการฉะนี้ แม้ในโสตทวารเป็นต้นก็ได้วิบากจิตทวาร ๖ เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมอันเจตนาดวงเดียวทำกุศลแล้ว วิบากจิต ๓๐ ดวงถ้วน ย่อมเกิดขึ้นในทวาร ๕ ว่าด้วยการนับจิต (ถือเอา) ที่ยังมิได้นับ ย่อมได้วิบากจิต ๑๐ ดวง คือในจักขุทวาร ๖ ดวง ในโสตวิญญาณเป็นต้น ๔ ดวง. ข้อเปรียบเทียบด้วยผลมะม่วงและนิยามกถาคงเป็นไปตามเดิมนั่นแหละ.
               เมื่อกรรมอันกุศลจิตดวงที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ แม้กระทำแล้ว วิบากจิตก็มีประมาณเท่านี้ และย่อมมีด้วยประการฉะนี้. แม้ในกรรมที่อุเบกขาสหคตจิต ๔ ดวง กระทำแล้ว ก็นัยนี้เหมือนกัน. ก็ในวาทะนี้ พึงแสดงอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ก่อน ภายหลังจึงเปลี่ยนเวทนาด้วยอิฏฐารมณ์. ในข้อนั้น ข้อเปรียบเทียบด้วยผลมะม่วงและนิยามกถาเป็นไปตามเดิมเหมือนกัน แต่ไม่ได้ข้อเปรียบเทียบว่าด้วยข้อหีบอ้อย บัณฑิตพึงกล่าวอเหตุกจิต ๘ ดวงทั้งหมดให้พิสดารตั้งแต่นี้ว่า ก็เมื่อว่าโดยกุศล เมื่อกรรมอันญาณวิปปยุตจิต ๔ ดวงทำแล้ว ดังนี้เป็นต้น.
               ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ วิบากจิต ๑๐ ดวงกับอเหตุกจิต ๘ ดวง ในวาทะของพระมหาธรรมรักขิตเถระ จบแล้วด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า วาทะของพระเถระทั้ง ๓ เหล่านี้ ของรูปไหนควรถือเอา.
               ตอบว่า ไม่ควรถือเอาของท่านรูปไหนโดยส่วนเดียว แต่ควรถือเอาวาทะของท่านทั้งหมดที่ถูกต้อง.
               ด้วยว่า ในวาทะของพระเถระรูปแรกท่านประสงค์จัดประเภทจิตที่เป็นสังขาร (มีการชักจูง) และอสังขาร (ไม่มีการชักจูง) โดยความต่างกันแห่งปัจจัย ด้วยเหตุนั้น ในวาทะพระเถระรูปที่หนึ่งนี้ ท่านจึงกล่าวถึงทางแห่งวิบาก ๑๖ ดวง ด้วยสามารถแห่งพระเสกขะและปุถุชน ถือเอาวิบากที่เป็นสสังขารของกุศลที่เป็นอสังขารซึ่งเกิดขึ้นด้วยปัจจัยที่ทุรพล และวิบากที่เป็นอสังขารของกุศลที่เป็นสสังขาร ซึ่งเกิดขึ้นด้วยปัจจัยที่มีกำลังละกิริยาชวนะทั้งหลายแม้ได้อยู่แล้วกำหนดตทารัมมณะด้วยกุศลชวนะทั้งหลาย กำหนดเวทนาด้วยอารมณ์ ก็ในวาทะของพระเถระที่หนึ่งนี้ ท่านแสดงตทารัมมณะอันใดอันเป็นอเหตุกวิบากเท่านั้น ในที่สุดแห่งอกุศลชวนจิต ตทารัมมณะนั้นท่านไม่แสดงไว้ในวาทะนอกนี้เลย เพราะฉะนั้น ในวาทะของท่านนั้น ตทารัมมณะที่เป็นอเหตุกวิบากนั้น ในวาทของพระเถระที่หนึ่งนั้น และตทารัมมณะที่เป็นสเหตุกวิบากที่กล่าวไว้ในวาทะนอกนี้นั้น วาทะทั้งหมดนี้ย่อมได้ในอธิการแม้นี้เหมือนกัน.
               ข้อนั้น มีนัยดังต่อไปนี้.
               ก็ในกาลใด อกุศลจิตเสพอารมณ์ในระหว่างๆ (สลับวิถีกัน) แห่งกุศลชวนจิตทั้งหลายในกาลนั้น ตทารัมมณะเป็นสเหตุกะก็พึงรับอารมณ์ ในที่สุดแห่งอกุศลชวนจิต เหมือนกับรับอารมณ์เนืองๆ ในที่สุดแห่งกุศลชวนจิตนั่นแหละ. ในกาลใดอกุศลจิตเกิดติดต่อกันไปไม่ขาดสาย ในกาลนั้น อเหตุกวิบากจึงควรเป็นตทารัมมณะ พึงถือเอาข้อที่ถูกในวาทะของพระเถระรูปที่หนึ่งอย่างนี้ก่อน.
               ก็ในวาทะของพระเถระรูปที่ ๒ ท่านประสงค์จัดประเภทจิตที่เป็นอสังขารและสสังขารของกุศล ด้วยเหตุนั้น ในวาทะที่ ๒ นี้จึงกล่าวถึงวิบากจิต ๑๒ ดวง ด้วยอำนาจชวนะที่รวมกันเท่านั้น ซึ่งสมควรแก่การเกิดขึ้นแก่พระเสกขะพระอเสกขะและปุถุชนแม้ทั้งหมด โดยถือเอาวิบากจิตที่เป็นอสังขาริกของกุศลจิตที่เป็นอสังขาริกอย่างเดียว และวิบากจิตที่เป็นสสังขาริกของกุศลที่เป็นสสังขาริกอย่างเดียว ไม่กระทำการกำหนดตทารัมมณะโดยชวนจิต. แต่ในวาทะที่ ๒ นี้ เมื่อชวนจิตเป็นติเหตุกะสิ้นสุดลง ตทารัมมณะก็สมควรเป็นติเหตุกะ เมื่อชวนจิตเป็นทุเหตุกะสิ้นสุดลง ตทารัมมณะสมควรเป็นทุเหตุกวิบากจิต เมื่อชวนจิตอันเป็นอเหตุกะสิ้นสุดลง ตทารัมมณะจิตสมควรเป็นอเหตุกวิบากจิต แต่ข้อนี้ท่านมิได้จำแนกไว้. ก็คำที่ควรถือเอาถูกต้องในวาทะที่ ๒ มีด้วยประการฉะนี้.
               แม้ในวาทะของพระเถระรูปที่ ๓ ท่านก็ประสงค์จัดสสังขาริกจิตและอสังขาริกจิตของกุศลนั่นแหละ เพราะคำที่กล่าวว่า กรรมที่เป็นติเหตุกะย่อมให้วิบากเป็นติเหตุกะบ้าง ให้วิบากเป็นทุเหตุกะบ้าง ให้วิบากเป็นอเหตุกะบ้าง ดังนี้ ควรเป็นแม้ตทารัมมณะที่เป็นอสังขาริกติเหตุกะบ้าง เป็นอสังขาริกทุเหตุกะบ้าง ของปฏิสนธิจิตที่เป็นอสังขาริกติเหตุกะ แต่ท่านไม่แสดงตทารัมมณะนั้นแสดงแต่ตทารัมมณะที่เป็นเช่นเดียวกับติเหตุกจิตเท่านั้น ตทารัมมณะนั้นไม่สมกับลัทธิที่แสดงเหตุข้างมากในเบื้องต้น การที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ เพื่ออธิบายถึงแนวทางแห่งวิบากจิต ๑๐ ดวงเท่านั้น แต่ตทารัมมณะแม้นอกนี้ก็ยังได้นั่นแหละ ควรถือเอาข้อที่ถูกต้องแม้ในวาทะที่ ๓ อย่างนี้.
               อนึ่ง วาทะนี้แม้ทั้งหมดเป็นถ้อยคำว่าด้วยตทารัมมณะหมายเอาวิบากของกรรมอันให้เกิดปฏิสนธิเท่านั้น แต่เพราะพระบาลีว่า สเหตุกภวงฺคสฺส อนนฺตรปจฺจโย (ภวังค์ที่เป็นสเหตุกจิตเป็นอนันตรปัจจัย) ดังนี้ ตทารัมมณจิตที่เป็นสเหตุกวิบากย่อมเกิดขึ้น แม้แก่ปฏิสนธิที่เป็นอเหตุกจิตด้วยกรรมต่างๆ กัน วิธีแห่งการเกิดขึ้นของตทารัมมณะนั้น จักแจ่มแจ้งในมหาปกรณ์แล.

               กถาว่าด้วยกามาวจรกุศลวิบากจิต จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อัพยากตธรรม กามาวจรวิบาก มหาวิบาก ๘ จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 338อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 415อ่านอรรถกถา 34 / 417อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=3315&Z=3330
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=8071
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=8071
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :