ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 311อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 338อ่านอรรถกถา 34 / 415อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ อัพยากตธรรม กามาวจรวิบาก

               อธิบายอัพยากตธรรม               
               บัดนี้ พระองค์ทรงประสงค์จะแสดงจำแนกบทอัพยากตธรรม จึงเริ่มคำว่า ธรรมอันเป็นอัพยากตะ เป็นไฉน? เป็นต้น.
               ในพระบาลีนั้น อัพยากตะมี ๔ อย่าง คือ วิบาก กิริยา รูป พระนิพพาน. บรรดาอัพยากตะเหล่านั้น พระองค์ตรัสประสงค์เอาอัพยากตวิบาก แม้ในอัพยากตวิบาก ก็ทรงประสงค์เอากุศลวิบาก แม้ในกุศลวิบากนั้น ก็ทรงประสงค์เอากามาวจรวิบาก แม้ในกามาวจรวิบาก ก็ทรงประสงค์เอาอเหตุกะ แม้ในอเหตุกะก็ทรงประสงค์เอาปัญจวิญญาณ (วิญญาณ ๕) แม้ในปัญจวิญญาณนั้นก็ทรงประสงค์เอาจักขุวิญญาณตามลำดับในทวาร แม้จักขุวิญญาณนั้นเล่า ทรงประสงค์จะแสดงความเกิดขึ้นด้วยอำนาจกรรมปัจจัยที่ไม่ทั่วไปเท่านั้น เว้นสาธารณปัจจัยทางทวารและอารมณ์เป็นต้น จึงตรัสพระดำรัสว่า เพราะกามาวจรกุศลกรรมอันตนทำแล้ว.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กตตฺตา (อันได้ทำไว้แล้ว) ได้แก่ เหตุที่ทำไว้แล้ว.
               บทว่า อุปฺปจิตตฺตา (ได้สั่งสมไว้แล้ว) ได้แก่ ทำให้เจริญขึ้นแล้ว.
               บทว่า จกฺขุวิญฺญาณํ ความว่า ที่ชื่อว่าจักขุวิญญาณ เพราะอรรถว่าเป็นวิญญาณแห่งจักษุที่มีเหตุสำเร็จแล้ว หรือว่าวิญญาณอันเป็นไปทางจักษุ หรือว่าเป็นวิญญาณอันอาศัยในจักษุ แม้ในโสตวิญญาณเป็นต้นข้างหน้าก็นัยนี้แหละ.
               ในวิญญาณ ๕ เหล่านั้น จักขุวิญญาณมีการรู้รูปอาศัยจักขุประสาทเป็นลักษณะ (จกฺขุสนฺนิสฺสิตรูปวิชาลกฺณํ) มีอารมณ์เพียงรูปเป็นรส (รูปมตฺตารมฺมณรสํ) มีความมุ่งต่อรูปเป็นปัจจุปัฏฐาน (รูปาภิมุขภาวปจฺจุปฏฺฐานํ) มีการไม่ปราศจากกิริยามโนธาตุซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์เป็นปทัฏฐาน (รูปารมฺมณาย กิริยามโนธาตุยา อปคมนปทฏฺฐานํ).
               โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ที่จะมาข้างหน้าก็มีการรู้เสียงเป็นต้นอาศัยโสตเป็นต้นเป็นลักษณะ มีอารมณ์สักแต่ว่าเสียงเป็นต้นเป็นรส มีความมุ่งต่อเสียงเป็นต้นเป็นปัจจุปัฏฐาน มีการไม่ปราศจากกิริยามโนธาตุที่มีอารมณ์มีเสียงเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน.
               ในอัพยากตวิบากนี้ มีบทธรรมตามลำดับ ๑๐ บท ว่าโดยการถือเอาบทที่ยังมิได้ถือเอาก็ได้ ๗ บท. ในบรรดา ๗ บทเหล่านั้น บทที่จำแนกไม่ได้ มี ๕ บท บทที่จำแนกได้มี ๒ บท บรรดาธรรมที่จำแนกได้นั้น จิตถึงการจำแนกในที่ทั้ง ๒ คือด้วยสามารถแห่งผัสสปัญจกะและด้วยสามารถแห่งอินทรีย์ เวทนาถึงการจำแนกในที่ทั้ง ๓ คือด้วยสามารถแห่งผัสสปัญจกะ องค์ฌานและอินทรีย์. แม้กองธรรมเหล่านี้ก็มี ๓ เหมือนกัน เยวาปนกธรรมมีหนึ่ง คือมนสิการเท่านั้น.
               ในนิทเทสวาร ตรัสจักขุวิญญาณว่า ปณฺฑรํ (ผ่องใส) โดยวัตถุ.
               จริงอยู่ กุศล ชื่อว่า ปณฺฑรํ (ผ่องใส) เพราะความที่ตนบริสุทธิ์. อกุศลก็ชื่อว่า ปณฺฑรํ (ผ่องใส) เพราะผลอันไหลออกจากภวังค์ วิบากก็ชื่อว่า ปณฺฑรํ (ผ่องใส) เพราะผ่องใสโดยวัตถุ.
               ในนิทเทสเอกัคคตาแห่งจิต ตรัสบทเดียวเท่านั้นว่า จิตฺตสฺส ฐิติ (ความตั้งอยู่แห่งจิต) เพราะจิตแม้นี้ทุรพลในอัพยากตวิบากนี้ ย่อมได้เพียงตั้งอยู่เป็นไปเท่านั้น ย่อมไม่อาจเพื่อถึงความเป็นสัณฐิติ (ความดำรงอยู่) อวัฏฐิติ (ความมั่นอยู่) ในสังคหวาร ไม่ทรงยกองค์ฌานและองค์มรรคขึ้นแสดง เพราะเหตุไร?
               เพราะธรรมดาฌานมีวิตกเป็นธรรมต่ำ ธรรมดามรรคก็มีเหตุเป็นธรรมต่ำ องค์ฌานย่อมไม่ได้ในจิตที่ไม่มีวิตกตามปกติ องค์มรรคก็ไม่ได้ในอเหตุกจิต (จิตไม่ประกอบด้วยเหตุ) เหมือนกัน เพราะฉะนั้น องค์ฌานและองค์มรรคแม้ทั้ง ๒ พระองค์จึงไม่ทรงยกขึ้นแสดงในจักขุวิญญาณนี้ ก็สังขารขันธ์ในจักขุวิญญาณนี้เป็นธรรมประกอบด้วยองค์ ๔ (ผัสสะ เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรีย์) นั่นแหละจึงทรงจำแนกไว้. สุญญตวารเป็นไปตามปกตินั่นแหละ แม้นิทเทสแห่งโสตวิญญาณเป็นต้น พึงทราบโดยนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ในวิญญาณ ๕ นั้น มีความแปลกกันอย่างเดียว คือในจักขุวิญญาณเป็นต้น ทรงจำแนกอุเบกขา ในกายวิญญาณทรงจำแนกสุข. แม้ความต่างกันนั้นก็พึงทราบว่า ย่อมมีด้วยอำนาจการกระทบ เพราะในทวาร ๔ มีจักขุทวารเป็นต้น อุปาทารูปย่อมกระทบกับอุปาทารูปเท่านั้น ครั้นเมื่ออุปาทารูปนั่นแหละกระทบอยู่ซึ่งอุปาทารูป ความเสียดสีเกิดจากการกระทบย่อมไม่มีกำลัง ย่อมเป็นเพียงถูกกันเท่านั้น ย่อมไม่กระทบกันหนัก เหมือนเวลาที่เขาวางปุยนุ่นอันเกิดแต่ฝ้าย ๔ อันไว้บนทั่ง ๔ อัน แล้วเอาปุยนุ่นนั่นแหละกระทบกัน ฉะนั้น เวทนาจึงตั้งอยู่ในฐานะกลาง (อุเบกขา) แต่ในกายทวาร อารมณ์ที่เป็นมหาภูตรูปในภายนอกกระทบกายปสาทอันเป็นภายในแล้วกระทบมหาภูตรูปทั้งหลายที่มีปสาทรูปเป็นปัจจัย เหมือนบุคคลวางปุยนุ่นบนทั่งแล้วเอาค้อนทุบ ค้อนก็เลยปุยนุ่นไปกระทบทั่ง เพราะการเสียดสีเป็นสภาพมีกำลัง ข้อนี้ฉันใด การกระทบมหาภูตรูปกับมหาภูตรูปเป็นการเสียดสีที่มีกำลัง ฉันนั้นเหมือนกัน. กายวิญญาณที่สหรคตด้วยสุข ย่อมเกิดขึ้นในอิฏฐารมณ์ กายวิญญาณที่สหรคตด้วยทุกข์ย่อมเกิดขึ้นในอนิฏฐารมณ์.
               ก็วัตถุทวารและอารมณ์ของจิตทั้ง ๕ เหล่านี้ ย่อมเป็นของเกี่ยวข้องกันโดยเฉพาะ ชื่อว่าการก้าวก่ายกันด้วยวัตถุเป็นต้น ในที่นี้ย่อมไม่มี เพราะจักขุวิญญาณที่เป็นกุศลวิบาก กระทำจักขุปสาทให้เป็นวัตถุ (ที่อาศัยเกิด) แล้วยังทัสสนกิจ (กิจคือการเห็น) ให้สำเร็จในรูปารมณ์อันมีสมุฏฐาน ๔ ในอิฏฐารมณ์และในอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ดำรงอยู่ในจักขุทวารสำเร็จผล.
               โสตวิญญาณเป็นต้น ทำโสตปสาทเป็นต้นให้เป็นวัตถุแล้วให้สำเร็จสวนกิจฆายนกิจ สายนกิจ และผุสนกิจในอารมณ์มีเสียงเป็นต้นที่เป็นอิฏฐารมณ์และอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ดำรงอยู่ในโสตทวารเป็นต้นสำเร็จผล. ก็ในอารมณ์เหล่านี้ เสียงมีสมุฏฐาน ๒ เท่านั้น.

               อธิบายมโนธาตุกุศลวิบาก               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งมโนธาตุต่อไป.
               ธาตุ คือ มโนนั่นแหละ ชื่อว่ามโนธาตุ ด้วยอรรถว่าสูญจากสภาวะและมิใช่สัตว์. มโนธาตุนั้นมีการรู้รูปารมณ์เป็นต้น ในลำดับแห่งจักขุวิญญาณเป็นต้นเป็นลักษณะ (จกฺขุวิญฺญาณาทีนํ อนนฺตรรูปาทิวิชานลกฺขณา) มีการรับอารมณ์ มีรูปเป็นต้นเป็นรส (รูปาทีนํ สมฺปฏิจฺฉนฺนรสา) มีภาวะเช่นการรับอารมณ์อย่างนั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน (ตถาภาวปจฺจุปฏฺฐานา) มีการไม่ปราศจากจักขุวิญญาณเป็นปทัฏฐาน (จกฺขุวิญฺญาณา อปคมนปทฏฺฐานา) ธัมมุทเทสในมโนธาตุนี้มี ๑๒ บท ว่าด้วยการถือเอาบทที่ยังมิได้ถือเอา ก็ได้ ๙ บท. ใน ๙ บทนั้น ๗ บทจำแนกไม่ได้ ๒ บทจำแนกได้. เยวาปนกธรรมมี ๒ คือ อธิโมกข์และมนสิการ.
               นิทเทสแห่งวิตก พระองค์ทรงกำหนดไว้ถึงอภินิโรปนะ (คือการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์) ก็เพราะจิต (อัพยากตวิบาก) ดวงนี้เป็นกุศลก็มิใช่ เป็นอกุศลก็มิใช่ เพราะฉะนั้น จึงไม่ตรัสว่า เป็นสัมมาสังกัปปะหรือเป็นมิจฉาสังกัปปะ องค์ฌานแม้ได้อยู่ในสังคหวารก็ตกไปเป็นไปในกระแสแห่งวิญญาณ ๕ เพราะฉะนั้น จึงไม่ยกขึ้นแสดง ส่วนองค์มรรคย่อมไม่ได้โดยแท้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ทรงยกขึ้นแสดงสุญญตวารเป็นไปตามปกตินั่นแหละ จิตนี้เป็นจิตเนื่องด้วยวัตถุ คืออาศัยเกิดที่หทยวัตถุเท่านั้น. ทวารและอารมณ์เป็นสภาพไม่เนื่องกัน บรรดาทวารและอารมณ์ที่ไม่เนื่องกันเหล่านั้น ทวารและอารมณ์จะก้าวก่ายกันแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็มีฐานเดียวกัน เพราะฐานนี้มีสัมปฏิจฉันนกิจ (กิจคือมีหน้าที่รับอารมณ์) เหมือนกัน.
               จริงอยู่ จิตดวงนี้ (อัพยากตวิบาก) เป็นสัมปฏิจฉันนจิต (เป็นจิตรับอารมณ์) ในอารมณ์ ๕ ในปัญจทวาร สำเร็จผล เมื่อวิญญาณ ๕ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น ที่เป็นกุศลวิบากดับแล้ว สัมปฏิจฉันนจิต (อัพยากตวิบาก) นั้นก็รับอารมณ์เหล่านั้นนั่นแหละมีรูปารมณ์เป็นต้นที่ถึงฐานในลำดับทีเดียว.

               อธิบายมโนวิญญาณธาตุ               
               พึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งสันติรณมโนวิญญาณธาตุ.
               บทว่า ปีติ เป็นบทอธิกะ (ยิ่ง) ในมโนวิญญาณธาตุดวงที่หนึ่ง แม้เวทนาก็เป็นโสมนัสสเวทนา เพราะมโนวิญญาณธาตุดวงที่หนึ่งนี้ ย่อมเป็นไปในอิฏฐารมณ์อย่างเดียว ส่วนมโนวิญญาณธาตุดวงที่สอง ย่อมเป็นไปในอิฏฐมัชฌัตตัตตารมณ์ เพราะฉะนั้น ในมโนวิญญาณธาตุดวงที่สองนี้ จึงเป็นอุเบกขาเวทนา บททั้งหลายเป็นเช่นเดียวกันในนิทเทสแห่งมโนธาตุนั่นแหละ ในมโนวิญญาณธาตุ แม้ทั้ง ๒ ดวง พระองค์มิได้ทรงยกองค์ฌานขึ้นแสดง เพราะความที่มโนวิญญาณธาตุ ๒ ดวงนั้นเป็นธรรมชาติ ตกไปเป็นไปในกระแสแห่งวิญญาณ ๕ ทีเดียว องค์มรรคก็เหมือนกัน มิได้ทรงยกขึ้นแสดงเพราะไม่ได้โดยแท้. คำที่เหลือในที่ทั้งหมดพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
               อนึ่ง ว่าโดยลักษณะเป็นต้น มโนวิญญาณธาตุแม้ทั้ง ๒ เป็นอเหตุกวิบาก (วิปากจิตไม่มีเหตุประกอบ) มีการรู้อารมณ์ ๖ เป็นลักษณะ (สฬารมฺมณวิชานนลกฺขณา) พึงทราบว่า มีการพิจารณาอารมณ์เป็นต้นเป็นรส (สนฺติรณาทิรสา) มีความเป็นอย่างนั้น (มีการพิจารณาอารมณ์เป็นต้นอย่างนั้น) เป็นปัจจุปัฏฐาน (ตถาภาวปจฺจุปฏฺฐานา) มีหทยวัตถุเป็นปทัฏฐาน (หทยวตฺถุปทฏฺฐานา).
               บรรดามโนวิญญาณธาตุ ๒ ดวงนั้น ดวงที่ ๑ ย่อมให้ผลในฐานทั้ง ๒.
               จริงอยู่ มโนวิญญาณธาตุดวงที่ ๑ นั้น เมื่อมโนธาตุอันเป็นวิบาก (สัมปฏิจฉันนจิต) รับอารมณ์ในลำดับแห่งจักขุวิญญาณเป็นต้น ซึ่งเป็นกุศลวิบากในทวาร ๕ นั้นดับแล้วก็ยังสันติรณกิจให้สำเร็จอยู่ในอารมณ์นั้นนั่นแหละ ย่อมตั้งอยู่ให้ผลในทวาร ๕ และย่อมเป็นตทารัมมณะให้ผลในอารมณ์ที่มีกำลังในทวาร ๖ ข้อนี้ เป็นอย่างไร?
               คือ เปรียบเหมือนเมื่อเรือขวางลำในแม่น้ำกระแสเชี่ยวไปอยู่ กระแสน้ำก็แตกติดตามเรือไปสู่ที่หน่อยหนึ่ง แล้วก็ไปตามสมควรแก่กระแสนั่นแหละ ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือเมื่ออารมณ์มีกำลังปรากฏชัดในทวาร ๖ ไปสู่คลองแล้ว ชวนจิตย่อมแล่นไป เมื่อชวนะนั้นเสพอารมณ์แล้วก็เป็นโอกาสของภวังค์ แต่ว่าจิต (สันตรณจิต) นี้ไม่ให้โอกาสแก่ภวังค์ จึงรับอารมณ์ที่ชวนจิตรับแล้วก็เป็นไปสิ้น ๑ วารจิต ๒ วารจิตก็หยั่งลงสู่ภวังค์ทีเดียว. บัณฑิตพึงยังอุปมาด้วยอาการอย่างนี้นั่นแหละให้พิสดาร แม้ในฝูงโคที่กำลังข้ามแม่น้ำ. มโนวิญญาณธาตุดวงที่หนึ่งนี้ ชื่อว่าตทารัมมณจิต เพราะความที่มโนวิญญาณธาตุนั้นนั่นแหละรับอารมณ์ที่ชวนจิตรับเอาแล้วให้ผลอยู่.
               ส่วนมโนวิญญาณธาตุดวงที่ ๒ ย่อมให้ผลใน ๕ ฐาน อย่างไร?
               คือ ในเบื้องต้นให้ผลเป็นปฏิสนธิจิต ในเวลาถือปฏิสนธิของคนบอดแต่เกิด คนหนวกแต่เกิด คนใบ้แต่เกิด คนบ้าแต่เกิด เป็นอุภโตพยัญชนกและเป็นกระเทย ในมนุษยโลกประการ ๑ เมื่อปฏิสนธิผ่านไปแล้วก็ให้ผลเป็นภวังค์ตลอดอายุประการ ๑ ย่อมให้ผลเป็นสันติรณะ (พิจารณา) ในวิถีแห่งอารมณ์ ๕ ในอิฏฐมัชฌัตตตารมณ์ประการ ๑ ย่อมให้ผลเป็นตทารัมมณะในอารมณ์ที่มีกำลังในทวาร ๖ ประการ ๑ ในเวลามรณะให้ผลเป็นจุติจิตประการ ๑ มโนวิญญาณธาตุดวงที่ ๒ นี้ย่อมอำนวยผลใน ๕ ฐานเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.

               มโนวิญญาณธาตุ ๒ ดวงจบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ อัพยากตธรรม กามาวจรวิบาก จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 311อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 338อ่านอรรถกถา 34 / 415อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=3023&Z=3314
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=7976
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=7976
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :