ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 192อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 193อ่านอรรถกถา 34 / 196อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม เตภูมิกกุศลธรรม ๓ ประเภท

               อรรถกถาจิตตุปปาทกัณฑ์               
               อธิบายกุศลที่เป็นไปในภูมิ ๓               
               บัดนี้ กุศลที่เป็นไปในภูมิ ๓ แม้ทั้งหมดเหล่านี้ ย่อมเป็นไปโดยประเภท ๓ มีประเภทต่ำเป็นต้น ก็เพื่อแสดงประเภทนั้นแห่งธรรมเหล่านั้น จึงทรงเริ่มคำเป็นต้นว่า กตเม ธมฺมา กุสลา ดังนี้อีก.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หีนํ (ต่ำ) ได้แก่ ลามก คือหยาบ พึงทราบกุศลต่ำด้วยสามารถแห่งการประมวลมา กุศลที่มีในท่ามกลางแห่งหีนะและอุตตมะ ชื่อว่ามัชฌิมะ (อย่างกลาง) กุศลที่นำไปสู่ความเพียร ชื่อว่าประณีต ได้แก่ กุศลที่สูงสุด บัณฑิตพึงทราบกุศลแม้เหล่านั้น ด้วยอำนาจการประมวลมานั่นแหละ.
               จริงอยู่ ในขณะที่ประมวลมาซึ่งกุศลใด จะเป็นฉันทะ หรือวิริยะ หรือจิตตะ หรือวิมังสาเป็นหีนะ (อย่างต่ำ) มีอยู่ กุศลนั้นชื่อว่าต่ำ. ธรรมเหล่านั้นเป็นมัชฌิมะ เป็นประณีตแห่งกุศลใด กุศลนั้นชื่อว่ามัชฌิมะและปณีตะ. ก็กุศลใดประมวลมาซึ่งฉันทะคือความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ ทำฉันทะให้เป็นธุระ ให้เป็นใหญ่ ให้เป็นประธาน กุศลนั้นชื่อว่าฉันทาธิปไตย เพราะความที่กุศลมาแล้วโดยฉันทาธิบดี และในวิริยาธิปไตยเป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               แต่ในที่นี้ พึงถือเอานัยทั้งหลายที่ตั้งไว้แล้ว คือนัยที่จำแนกไว้ก่อน เป็นนัย ๑ คำว่า หีนะ เป็นนัย ๑ คำว่า มัชฌิมะ เป็นนัย ๑ คำว่า ปณีตะ เป็นนัย ๑ และคำว่า ฉันทาธิปไตย เป็นนัย ๑ นัยทั้ง ๕ เหล่านี้ในฉันทาธิปไตยเท่านี้ก่อน. แม้ในวิริยาธิปไตยเป็นต้นก็อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ปัญจกนัยทั้ง ๔ จึงเป็น ๒๐ นัย.
               อีกอย่างหนึ่ง เป็น ๒๐ นัย แม้อย่างนี้ คือนัยแรกเป็นสุทธิกนัย ๑ นัย ๓ นัยมีคำว่า หีนะเป็นต้น (มัชฌิมะ และปณีตะ) นัย ๔ นัยมีคำว่า ฉันทาธิปไตยเป็นต้น (วิริยะ จิตตะ วิมังสา) และนัย ๑๒ นัยมีคำว่า ฉนฺทาธิปเตยฺเย หีนํ (ฉันทะเป็นต้น กับหีนะเป็นต้น) นัยเหล่านี้เป็นมหานัย ๒๐ ก่อน.
               ถามว่า ทรงจำแนกนัยเหล่านี้ไว้ในที่ไหน?
               ตอบว่า ในหีนติกะ ในมหาปกรณ์.
               แต่ในฐานะนี้ พึงถือเอากองธรรมมัชฌิมะจากหีนติกะ แล้วแบ่งเป็น ๓ ส่วน ด้วยอำนาจหีนะ มัชฌิมะ ปณีตะ พึงเว้นกองธรรมมัชฌิมะแม้จากหีนติกะนั้นแล้วถือเอาหีนะและปณีตะ แล้วแบ่งออกอย่างละ ๙ ส่วน เพราะว่าในหีนะนั่นแหละ กุศลธรรมที่ต่ำก็มี กุศลธรรมที่ปานกลางก็มี กุศลธรรมที่ประณีตก็มี ถึงแม้ในปณีตะเล่า กุศลธรรมที่ต่ำก็มี กุศลธรรมที่ปานกลางก็มี กุศลธรรมที่ประณีตก็มี.
               อนึ่ง ในธรรมที่เป็นหีนะและหีนะ กุศลธรรมที่เป็นหีนะ (ต่ำ) ก็มี ในธรรมที่เป็นหีนะและหีนะ กุศลธรรมที่เป็นมัชฌิมะก็มี ในธรรมที่เป็นหีนะและหีนะ กุศลธรรมที่เป็นปณีตะก็มี ในธรรมที่เป็นหีนะและมัชฌิมะ กุศลธรรมที่เป็นหีนะก็มี ในธรรมที่เป็นหีนะและมัชฌิมะ กุศลธรรมที่เป็นมัชฌิมะก็มี ในธรรมที่เป็นหีนะและมัชฌิมะ กุศลธรรมที่เป็นปณีตะก็มี ในธรรมที่เป็นหีนะและปณีตะ กุศลธรรมที่เป็นหีนะก็มี ในธรรมที่เป็นหีนะและปณีตะ กุศลธรรมที่เป็นมัชฌิมะก็มี ในธรรมที่เป็นหีนะและปณีตะ กุศลธรรมที่เป็นปณีตะก็มี นี้เรียกว่านวกะหนึ่ง.
               แม้ในธรรมที่เป็นปณีตะและหีนะ ชื่อว่ากุศลธรรมที่ต่ำก็มี ในธรรมที่เป็นปณีตะและหีนะ กุศลธรรมที่เป็นมัชฌิมะก็มี ในธรรมที่เป็นปณีตะและหีนะ กุศลธรรมที่เป็นปณีตะก็มี.
               อนึ่ง ในธรรมที่เป็นปณีตะและมัชฌิมะ กุศลธรรมที่ต่ำก็มี ในธรรมที่เป็นปณีตะและมัชฌิมะ กุศลธรรมที่เป็นมัชฌิมะก็มี ในธรรมที่เป็นปณีตะและมัชฌิมะ กุศลธรรมที่เป็นปณีตะก็มี ในธรรมที่เป็นปณีตะและปณีตะกุศลธรรมที่เป็นหีนะ (ต่ำ) ก็มี ในธรรมที่เป็นปณีตะและปณีตะ กุศลธรรมที่เป็นมัชฌิมะก็มี ในธรรมที่เป็นปณีตะและปณีตะ กุศลธรรมที่เป็นปณีตะก็มี นี้เป็นนวกะที่ ๒ รวมนวกะทั้งสองเป็นธรรม ๑๘. ธรรม ๑๘ เหล่านี้ ชื่อว่ากรรมทวาร. ว่าด้วยกรรมทวารเหล่านี้ พึงทราบว่า กษัตริย์ ๑๘ พราหมณ์ ๑๘ แพทย์ ๑๘ ศูทร ๑๘ โคตรจรณะ ๔๘ เพราะความเป็นผู้อบรมแล้วด้วยกรรมทวาร ๑๘ เหล่านี้.
               บรรดากุศลธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ เหล่านี้ กามาวจรกุศลเป็นทุเหตุกะโดยการไม่ประกอบญาณสัมปยุตบ้าง แต่รูปาวจรและอรูปาวจร เป็นติเหตุกะอย่างเดียว คือเป็นญาณสัมปยุตเท่านั้น. ก็ในกุศลที่เป็นไปในภูมิ ๓ เหล่านี้
               กามาวจรกุศลย่อมเกิดร่วมกับอธิบดีบ้าง เว้นจากอธิบดีบ้าง แต่รูปาวจรและอรูปาวจรกุศลย่อมสัมปยุตด้วยอธิบดีโดยแท้. และในกุศลประกอบด้วยภูมิ ๓ นี้ ในกามาวจรกุศลย่อมได้อธิบดี เพียง ๒ เท่านั้น คือ อารัมมณาธิปติ สหชาตาธิปติ. ในรูปาวจรและอรูปาวจรกุศลย่อมไม่ได้อารัมมณาธิปติ ย่อมได้เฉพาะสหชาตาธิปติเท่านั้น ในสหชาตาธิปติเหล่านั้น ตรัสความเป็นจิตตาธิปไตยของจิตไว้ด้วยอำนาจสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย. แต่เพราะจิต ๒ ดวงไม่มีพร้อมกัน ชื่อว่าจิตตาธิปติ ของสัมปยุตตจิตก็ไม่มี.
               อนึ่ง ฉันทาธิปติเป็นต้นแห่งธรรมมีฉันทะเป็นต้นก็เช่นเดียวกัน แต่อาจารย์บางพวกย่อมปรารถนาชื่ออธิบดี ด้วยสามารถแห่งการมาอย่างนี้ว่า กุศลจิตดวงอื่นอีกกระทำจิตใดให้ เป็นธุระให้เป็นใหญ่ ประมวลมาแล้วอย่างนี้ว่า ถ้ากุศลธรรมมีอยู่แก่บุคคลผู้มีจิตไซร้ กุศลธรรมก็จักมีแก่เรา ดังนี้ จิตดวงเดิมนั้นของบุคคลนั้น ชื่อว่าเป็นจิตตาธิปติ จิตนี้ชื่อว่า จิตตาธิปไตย เพราะมาจากจิตดวงนั้น ดังนี้. ก็นัยนี้ไม่ปรากฏในพระบาลีและอรรถกถา เพราะฉะนั้น พึงทราบความเป็นอธิบดีโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ.
               ก็ในมหานัย ๑๙ เหล่านี้ มีจิตทั้งหลายประมาณตามที่กล่าวในสุทธิกนัยต้น และมีนวกะทั้งหลาย และวาระแห่งพระบาลีทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พึงทราบประเภท จิตตะ นวกะและวาระ ซึ่งคูณด้วย ๒๐ โดยประมาณที่กล่าวในญาณสัมปยุต และคูณด้วย ๑๖ ในญาณวิปปยุต ๔ ดังนี้ นี้ชื่อว่าปกิณณกกถา ในกุศลเป็นไปในภูมิ ๓ ดังนี้แล.
               กุศลที่เป็นไปในภูมิ ๓ จบ.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม เตภูมิกกุศลธรรม ๓ ประเภท จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 192อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 193อ่านอรรถกถา 34 / 196อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=2024&Z=2120
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=6717
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=6717
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๖  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :