ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 15อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 16อ่านอรรถกถา 34 / 73อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม กามาวจรมหากุศลจิต ๘ จิตดวงที่ ๑

หน้าต่างที่ ๓ / ๔.

               อรรถกถาจิตตุปปาทกัณฑ์               
               พึงทราบการประกอบเนื้อความในพระบาลีนี้ว่า ยํ ยํ วา ปนารพฺภ ดังต่อไปนี้.
               บรรดารูปารมณ์เป็นต้นตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ปรารภรูปเป็นอารมณ์ คือกระทำรูปให้เป็นอารมณ์ หรือปรารภเสียงเป็นอารมณ์ ฯลฯ หรือปรารภธรรมารมณ์เกิดขึ้น ด้วยคำมีประมาณเท่านี้ ย่อมเป็นเช่นกับทรงรับรองอารมณ์หนึ่งเท่านั้น ในบรรดาอารมณ์เหล่านี้ อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งของจิตนี้. ก็จิตนี้ของบุคคลคนหนึ่ง ในสมัยหนึ่ง ปรารภรูปารมณ์เกิดขึ้น หรือปรารภอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้มีเสียงเป็นต้นของบุคคลอื่นในสมัยอื่นจึงเกิดขึ้นอีกทีเดียว.
               อนึ่ง เมื่อจิตนี้มีอารมณ์เกิดขึ้นอยู่อย่างนี้ ก็ไม่มีลำดับแม้นี้ว่า จิตดวงหนึ่งปรารภรูปารมณ์ก่อน ในภพหนึ่งเป็นไปแล้ว จึงปรารภสัททารมณ์ในภายหลัง ดังนี้. แม้ลำดับนี้ว่า ในบรรดาอารมณ์ที่มีรูปเป็นต้นมีสีเขียวเป็นอารมณ์ก่อนแล้ว มีสีเหลืองเป็นอารมณ์ในภายหลัง ดังนี้ ก็ไม่กำหนดไว้ เพื่อแสดงจิตนั้นนั่นแหละมีอารมณ์ทุกอย่างนี้ และความไม่มีลำดับ และแม้ในความไม่มีลำดับ ก็ยังไม่มีความกำหนดอารมณ์ มีสีเขียวและสีเหลืองเป็นต้น จึงตรัสคำว่า ยํ ยํ วา ปนารพฺภ ดังนี้ คำนี้ท่านอธิบายไว้ว่า บรรดาอารมณ์ทั้งหลายมีรูปารมณ์เป็นต้นเหล่านี้ มิใช่มีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงอารมณ์เดียว ที่แท้แล้วปรารภอารมณ์อะไรก็ได้เกิดขึ้น และจิตนั้นแม้เมื่อเกิดขึ้นอย่างนี้ ก็ไม่เกิดขึ้นแม้โดยลำดับอย่างนี้ว่า มีรูปเป็นอารมณ์ก่อน ภายหลังจึงมีเสียงเป็นอารมณ์ แต่ว่า ปรารภอารมณ์ใดๆ ก็ได้เกิดขึ้น. อธิบายว่า กระทำอารมณ์อย่างใดก็ตามในบรรดารูปารมณ์เป็นต้น เกิดขึ้นโดยปฏิโลมหรือโดยอนุโลม หรือโดยนัยมีอารมณ์อย่างหนึ่งคั่นหรือสองอย่างคั่นเป็นต้น. และแม้รูปารมณ์ทั้งหลายก็ไม่เกิดโดยกำหนดแม้นี้ว่า จิตมีสีเขียวเป็นอารมณ์ก่อน ภายหลังจึงมีสีเหลืองเป็นอารมณ์ แต่ปรารภอารมณ์ใดๆ ก็ได้. อธิบายว่า จิตปรารภรูปารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดารูปารมณ์ทั้งหลายมีสีเขียวและสีเหลืองเป็นต้นเกิดขึ้น. แม้ในสัททารมณ์เป็นต้นก็นัยนี้แหละ นี้เป็นการประกอบความอธิบายไว้อย่างหนึ่งก่อน ยังมีข้อความที่ควรแนะนำอื่นอีก ดังต่อไปนี้.
               รูปเป็นอารมณ์ของจิตนี้ มีอยู่ เพราะเหตุนั้น จิตนี้จึงชื่อว่า มีรูปเป็นอารมณ์ ฯลฯ ธรรมเป็นอารมณ์ของจิตนี้มีอยู่ เพราะเหตุนั้น จิตนี้จึงชื่อว่ามีธรรมเป็นอารมณ์. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสว่า จิตมีรูปารมณ์ ฯลฯ หรือมีธรรมารมณ์เกิดขึ้น ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงตรัสอีกว่า ก็หรือว่า จิตปรารภอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น ดังนี้ เนื้อความแห่งพระดำรัสที่ตรัสว่า จิตปรารภอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นดังนี้นั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในรูปเป็นต้นเหล่านี้เถิด.
               ส่วนในมหาอรรถกถามีข้อความกล่าวไว้เพียงเท่านี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเยวาปนกนัยไว้ ไม่มีอะไรใหม่ คือเป็นอารมณ์ที่ถือเอาแล้ว ในหนหลังนั่นแหละ แล้วตรัสพระดำรัสนี้ เพื่อกล่าวปรารภรูป ฯลฯ หรือปรารภธรรม หรือปรารภอารมณ์นี้หรืออารมณ์นั้น ดังนี้.

               อธิบายคำว่าธรรมมีผัสสะเป็นต้น               
               คำว่า ตสฺมึ สมเย นี้เป็นคำปฏินิทเทส (คือการวกกลับมาอธิบายอีก) โดยกำหนดสมัยที่ทรงยกขึ้นแสดงโดยไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความแห่งคำว่า ตสฺมึ สมเย นั้นว่า กามาวจรกุศลจิต เกิดขึ้นในสมัยใด ผัสสะ ฯลฯ อวิกเขปะก็เกิดขึ้นในสมัยนั้นนั่นแหละ ดังนี้.
               ในเนื้อความเหล่านั้น คำที่เป็นมติของอาจารย์ทั้งหลายนอกจากอรรถกถากล่าวไว้ดังนี้ว่า พึงทำการประกอบการอธิบายธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น เหมือนจิตนั่นแหละ ด้วยสามารถแห่งบทที่คิดได้ โดยนัยมีอาทิว่า ผัสสะย่อมเกิดขึ้น ดังนี้ ถามว่า ผัสสะย่อมเกิดเป็นอะไร ตอบว่า ย่อมเกิดเป็นกามาวจร เป็นกุศล เป็นโสมนัสสสหคตะ เพราะว่า ในเวทนาย่อมไม่ได้ในคำว่า โสมนัสสสหคตะ และในปัญญินทรีย์ก็ย่อมไม่ได้ในคำว่า ญาณสัมปยุต เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า ด้วยสามารถแห่งบทที่คิดได้ดังนี้ แต่คำที่อาจารย์กล่าวแล้วนี้ไม่ควรเห็นเป็นสาระ.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ในคำว่า ผสฺโส โหติ เป็นต้นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสผัสสะไว้ก่อน.
               ตอบว่า เพราะผัสสะยังจิตให้ตกไปก่อน.๑-
               จริงอยู่ ผัสสะเป็นธรรมยังจิตให้ตกไปก่อนในอารมณ์ ถูกต้องอารมณ์เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสผัสสะก่อน ก็จิตถูกต้องอารมณ์ด้วยผัสสะ เสวยอารมณ์ด้วยเวทนา จำอารมณ์ได้ด้วยสัญญา ย่อมคิดด้วยเจตนา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้อันผัสสะถูกต้องแล้วย่อมเสวยอารมณ์ ผู้อันผัสสะถูกต้องแล้วย่อมจำอารมณ์ ผู้อันผัสสะถูกต้องแล้วย่อมคิดอารมณ์ ดังนี้.
____________________________
๑- บาลีบางแห่งว่า จิตฺตสฺส ปฐมาภินิปาตตฺตา แปลว่า เพราะเป็นการประชุมร่วมกันแห่งจิตเป็นครั้งแรก.

               อีกอย่างหนึ่ง ผัสสะนี้เป็นปัจจัยที่มีกำลังของสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกัน เหมือนปราสาท ชื่อว่า เสาเป็นปัจจัยสำคัญของทัพสัมภาระที่เหลือ คือ ขื่อ ไม้ระแนง เชิงฝา ยอด กลอน จั่ว ดั้ง แป เป็นสิ่งที่เนื่องด้วยเสา ตั้งอยู่บนเสา ฉะนั้น ผัสสะนี้เป็นเช่นกับเสา สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกัน เป็นเช่นกับทัพสัมภาระที่เหลือ แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสผัสสะก่อน แต่ข้อความที่กล่าวแล้วนี้มิใช่เป็นเหตุ (การณะ) เพราะว่า ธรรมข้อนี้ไม่ได้เพื่อจะกล่าวว่า ผัสสะนี้เกิดขึ้นก่อนธรรมที่เกิดขึ้นในจิตดวงหนึ่ง แต่สัมปยุตธรรมนี้เกิดภายหลัง ดังนี้ ทั้งเหตุ (การณะ) ของผัสสะ แม้ในความเป็นแห่งปัจจัยที่มีกำลังก็ไม่ปรากฏ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสผัสสะไว้ก่อน ด้วยวาระแห่งเทศนาเท่านั้น. ความจริงแม้จะนำมากล่าวว่า เวทนาย่อมเกิด ผัสสะย่อมเกิด สัญญาย่อมเกิด ผัสสะย่อมเกิด เจตนาย่อมเกิด ผัสสะย่อมเกิด จิตย่อมเกิด ผัสสะย่อมเกิด เวทนาย่อมเกิด สัญญาย่อมเกิด เจตนาย่อมเกิด วิตกย่อมเกิด ดังนี้ก็ควร. ก็ผัสสะนั่นเอง พึงทราบว่า ตรัสไว้ก่อนโดยวาระแห่งเทศนา ดังนี้. อนึ่ง ในผัสสะนี้ ฉันใด แม้ธรรมที่เหลือนอกนี้ ก็พึงทราบฉันนั้น ชื่อว่า ลำดับแห่งธรรมที่เกิดก่อนและเกิดหลัง บัณฑิตไม่พึงแสวงหา แต่พึงแสวงหาธรรมทั้งหลาย โดยความหมายแห่งคำ (วจนัตถะ) ลักษณะและรสเป็นต้นเท่านั้น คือ

               ความหมายของคำว่าผัสสะ               
               ผุสตีติ ผสฺโส ธรรมชื่อว่าผัสสะ เพราะอรรถว่ากระทบอารมณ์ ผัสสะนั้นมีลักขณาทิจตุกะดังนี้.
               ผุสนลกฺขโณ มีกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ
               สํฆฏนรโส มีการประสานเป็นกิจ
               สนฺนิปาตปจฺจุปฏฺฐาโน มีการประชุมพร้อมกันเป็นปัจจุปัฏฐาน
               อาปาถคตวิสยปทฏฺฐาโน มีอารมณ์มาสู่คลองเป็นปทัฏฐาน
               จริงอยู่ ผัสสะนี้ แม้มิใช่รูปธรรมแต่ก็เป็นไปโดยอาการการถูกต้องอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ ผัสสะนี้ แม้ไม่ติดกับอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ก็ประสานจิตกับอารมณ์เหมือนรูปกับจักษุ และเสียงกับโสต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีการประสานเป็นกิจรส. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า มีการประสานเป็นสัมปัตติรส เพราะการเกิดประสานวัตถุกับอารมณ์ สมดังคำอรรถกถากล่าวไว้ว่า ผัสสะที่เป็นไปในภูมิ ๔ ชื่อว่ามีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะไม่มีก็หามิได้ แต่ผัสสะที่เป็นไปทางปัญจทวารเท่านั้น มีการประสานเป็นรส จริงอยู่ คำว่า มีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะก็ดี มีการประสานเป็นรสก็ดี เป็นชื่อของผัสสะที่เป็นไปทางปัญจทวาร คำว่า มีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะเป็นชื่อของผัสสะที่เป็นไปทางมโนทวาร แต่คำว่า มีการประสานเป็นรส หาได้เป็นชื่อของผัสสะที่เป็นไปทางมโนทวารไม่ ครั้นท่านกล่าวคำนี้แล้ว ได้นำสูตรนี้มาว่า ดูก่อนมหาบพิตร แพะสองตัวชนกัน พึงเห็นจักษุเหมือนแพะตัวหนึ่ง พึงเห็นรูปเหมือนแพะตัวที่สอง พึงเห็นผัสสะ เหมือนการชนกันของแพะทั้งสองนั้น ผัสสะมีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะและมีการประสานเป็นรสด้วยอาการอย่างนี้ อนึ่ง ดูก่อนมหาบพิตร เหมือนฝ่ามือทั้งสองประสานกัน คือพึงเห็นจักษุเหมือนฝ่ามือข้างหนึ่ง พึงเห็นรูปเหมือนฝ่ามือข้างที่สอง พึงเห็นผัสสะเหมือนการประสานกันของฝ่ามือทั้งสองนั้น ผัสสะมีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ และมีการประสานเป็นรส ด้วยประการฉะนี้ ความพิสดารมีเพียงเท่านี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ตรัสธรรมมีจักขุวิญญาณเป็นต้น โดยชื่อว่า จักขุเป็นต้น ในประโยคว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา เป็นต้น (เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ) ฉันใด แม้ในที่นี้ก็พึงทราบว่า จักขุวิญญาณเป็นต้นเหล่านั้น ตรัสไว้โดยชื่อจักขุเป็นต้นฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พึงทราบเนื้อความในคำมีอาทิว่า เอวํ จกฺขุ ทฏฺฐพฺพํ ดังนี้ โดยนัยนี้ว่า พึงเห็นจักขุวิญญาณ ฉันนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะการประสานจิตกับอารมณ์ในสูตรแม้นี้ ผัสสะจึงสำเร็จเป็นการประสานเป็นรสด้วยกิจรสเป็นอรรถ.
               ก็ผัสสะนั้น ชื่อว่ามีการประชุมพร้อมกันเป็นปัจจุปัฏฐาน เพราะแสดงให้ทราบด้วยอำนาจแห่งการกระทำของตน กล่าวคือการประชุมพร้อมกันของธรรม ๓ (อารมณ์ วัตถุ วิญญาณ). จริงอยู่ ผัสสะนี้ประกาศให้รู้ด้วยอำนาจแห่งการกระทำในที่นั้นๆ อย่างนี้ว่า ชื่อว่าผัสสะ เพราะมีการประชุมสภาวธรรม ๓ อย่าง เพราะฉะนั้น พึงทราบบทแห่งพระสูตรนี้ว่า ชื่อว่าผัสสะ เพราะมีการประชุมแห่งสภาวธรรม ๓ ดังนี้ หาใช่ผัสสะเพียงการประชุมเท่านั้นไม่ แต่ผัสสะย่อมปรากฏโดยอาการนั้นนั่นแหละ เพราะการประกาศแล้วอย่างนี้ ฉะนั้น จึงกล่าวว่า มีการประชุมพร้อมกันเป็นอาการปรากฏ ดังนี้.
               อนึ่ง ผัสสะนั้น ชื่อว่ามีเวทนาเป็นปัจจุปัฏฐาน เพราะปัจจุปัฏฐาน คือมีผลเป็นอรรถ. จริงอยู่ ผัสสะนี้ย่อมยังเวทนาให้ปรากฏ คือย่อมให้เกิดขึ้น. อนึ่ง ผัสสะนี้ เมื่อจะให้เวทนาเกิดขึ้น แม้จะมีปัจจัยอื่นกล่าวคือวัตถุและอารมณ์ แต่ก็ทำให้เวทนาเกิดขึ้นเฉพาะในจิต ซึ่งเป็นที่อาศัยของตนเท่านั้น เพราะตนอาศัยจิต พึงทราบว่า ไม่ทำให้เกิดเวทนาในวัตถุ หรืออารมณ์แม้จะเป็นปัจจัยของตน เหมือนกับไออุ่นที่อาศัยอยู่ในธาตุคือครั่ง ย่อมทำให้เกิดความอ่อนในครั่งอันเป็นที่อาศัยของตน แม้เพราะความร้อนภายนอกเป็นปัจจัย แต่ไม่ทำให้เกิดความอ่อนในความร้อน กล่าวคือถ่านที่ปราศจากเปลวไฟในภายนอก แม้จะเป็นปัจจัยของตน ผัสสะนี้ท่านเรียกว่า มีอารมณ์ที่มาสู่คลอง เป็นปทัฏฐาน (คือเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น) เพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะไม่มีการขัดขวางในอารมณ์ ที่ประมวลมาแห่งธรรมเหล่านั้น และอินทรีย์ที่ปรุงแต่งดีแล้ว ดังนี้.

               ความหมายของคำว่าเวทนา               
               เวทยตีติ เวทนา ธรรมที่ชื่อว่าเวทนา เพราะอรรถว่ารู้สึกอารมณ์ เวทนานั้นมีลักขณาทิจตุกะดังนี้.
               เวทยิตลกฺขณา มีการรู้สึกอารมณ์เป็นลักษณะ
               อนุภวนรสา มีการเสวยรสอารมณ์เป็นกิจ
               อิฏฺฐาการสมฺโภครสา หรือมีความเสวยอารมณ์ที่ชอบเป็นกิจ
               เจตสิก อสฺสาทปจฺจุปฏฺฐานา มีความพอใจทางใจเป็นปัจจุปัฏฐาน
               ปสฺสทฺธิปทฏฺฐานา มีปัสสัทธิเป็นปทัฏฐาน.
               จริงอยู่ เวทนาเป็นไปในภูมิ ๔ ชื่อว่า ไม่มีการรู้สึกอารมณ์ เป็นลักษณะก็หาไม่ แต่ท่านกล่าวว่า เวทนามีการเสวยอารมณ์เป็นรส ย่อมได้เฉพาะสุขเวทนาเท่านั้น แล้วกลับปฏิเสธวาทะนั้นอีก แล้วแสดงเนื้อความนี้ว่า สุขเวทนาก็ตาม ทุกขเวทนาก็ตาม อุเบกขาเวทนาก็ตาม ทั้งหมด มีการเสวยอารมณ์เป็นรส. จริงอยู่ มุ่งถึงฐานะการเสวยอารมณ์เป็นรสแล้วสัมปยุตตธรรมที่เหลือ ย่อมเสวยอารมณ์เพียงบางส่วน คือผัสสะก็มีเพียงกระทบอารมณ์เท่านั้น สัญญามีเพียงจำอารมณ์เท่านั้น เจตนามีเพียงความตั้งใจเท่านั้น วิญญาณมีการรู้แจ้งอารมณ์เท่านั้น แต่เวทนาเท่านั้นย่อมเสวยรสแห่งอารมณ์โดยส่วนเดียว เพราะความเป็นเจ้าของโดยความเป็นใหญ่ เป็นผู้สมควร. จริงอยู่ เวทนาเปรียบเหมือนพระราชา ธรรมที่เหลือเหมือนพ่อครัว พ่อครัวยังโภชนะมีรสอันเลิศต่างๆ ให้เรียบร้อยแล้วใส่สมุกประทับตรา ยกไปวางไว้ในสำนักพระราชา ทำลายตราแล้วเปิดสมุก แล้วพนักงานก็ถือเอาส่วนข้างบนจากกับแกงทั้งหลายใส่ภาชนะเพื่อลองชิมดูว่ามีโทษหรือไม่มีโทษ จากนั้นก็น้อมโภชนะมีรสต่างๆ ไปถวายพระราชา พระราชาเท่านั้นทรงเป็นเจ้าของเสวยได้ตามปรารถนา เพราะทรงเป็นใหญ่และทรงมีอำนาจ ธรรมนอกนั้นเสวยรสอารมณ์บางส่วน เหมือนพ่อครัวเพียงแต่ชิม และทดลองชิมพระกระยาหารเพียงบางส่วนเท่านั้น ฉันใด แม้ธรรมที่เหลือก็ฉันนั้น ย่อมเสวยรสอารมณ์เพียงบางส่วนเท่านั้น เหมือนอย่างว่า พระราชาทรงเป็นเจ้าของ เพราะพระองค์ทรงเป็นใหญ่ เป็นผู้สมควร ย่อมเสวยตามความพอพระทัย ฉันใด แม้เวทนาก็ฉันนั้น ย่อมเสวยรสแห่งอารมณ์ โดยความเป็นเจ้าของ เพราะความเป็นใหญ่ เป็นผู้สมควร เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เวทนามีการเสวยอารมณ์เป็นรส.
               ในการกำหนดเนื้อความที่สอง เวทนาที่ท่านประสงค์เอาในที่นี้ ท่านกล่าวว่า เวทนา (สุขเวทนา) ว่ามีการเสวยอาการที่น่าปรารถนาเป็นรส เพราะอรรถว่า ย่อมเสวยรสแห่งอารมณ์ มีอาการน่าปรารถนาตามที่ประสบ ก็เวทนานี้ เมื่อว่าโดยความชอบใจ ท่านกล่าวว่า มีความพอใจเป็นปทัฏฐาน หมายถึงการปรากฏโดยสภาวะของตน ก็เพราะบุคคลผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมเสวยความสุข ฉะนั้น พึงทราบว่า เวทนานี้มีความสงบเป็นปทัฏฐาน ดังนี้.

               ความหมายของคำว่าสัญญา               
               นีลาทิเภทํ อารมฺมณํ สญฺชานาตีติ สญฺญา ธรรมที่ชื่อว่าสัญญา เพราะอรรถว่าย่อมจำอารมณ์มีสีเขียวเป็นต้น สัญญานั้นมีลักขณาทิจตุกะดังนี้.
               สญฺชานนลกฺขณา สัญญานั้นมีการจำเป็นลักษณะ
               ปจฺจาภิญฺญาณรสา มีการทำเครื่องหมายเป็นรส.
               จริงอยู่ สัญญาเป็นไปในภูมิ ๔ ไม่ชื่อว่ามีความจำได้หามีไม่ สัญญาทั้งหมดล้วนมีความจำเป็นลักษณะทั้งนั้น. ก็ในที่นี้ สัญญาใดย่อมจำได้โดยเครื่องหมาย สัญญานั้น ชื่อว่ามีการทำเครื่องหมายเป็นรส. พึงทราบความเป็นไปแห่งสัญญานั้นในเครื่องหมายนั้นอีก และในเวลาที่บุรุษกำหนดเครื่องหมายด้วยไฝดำเป็นต้น แล้วจำเครื่องหมายของบุคคลนั้นอีกว่า บุคคลนี้ ชื่อโน้นด้วยเครื่องหมายนั้น และในเวลาที่ขุนคลังผู้รักษาเครื่องประดับของพระราชา ผูกชื่อหนังสือไว้ที่เครื่องประดับนั้น เมื่อพระราชาตรัสว่า เจ้าจงนำเครื่องประดับชื่อโน้นมา ขุนคลังก็จุดประทีปแล้วเข้าไปในห้องด้วยประทีปนั้น อ่านหนังสือแล้วก็นำเครื่องประดับนั้นๆ นั่นแหละมาได้.
               อีกนัยหนึ่ง ก็เมื่อว่าโดยการรวบรวมธรรมทั้งหมด สัญญามีการจำได้เป็นลักษณะ มีการทำนิมิตโดยปัจจัยให้จำได้อีกเป็นรส เหมือนช่างถากเป็นต้น ทำเครื่องหมายที่ไม้เป็นต้น ด้วยสามารถแห่งนิมิตตามที่ตนทำไว้ ชื่อว่าการกระทำความโน้มน้าวไว้เป็นปัจจุปัฏฐาน เหมือนคนตาบอดแสดงช้าง หรือว่ามีการตั้งอยู่ในอารมณ์ไม่นานเป็นปัจจุปัฏฐาน เพราะไม่หยั่งลงในอารมณ์ เหมือนสายฟ้า หรือความที่มีอารมณ์ตามที่ปรากฏเป็นปทัฏฐาน เหมือนกับสัญญาที่เกิดขึ้นแก่ลูกเนื้อทั้งหลายในหุ่นหญ้าว่าเป็นคน. ก็ในที่นี้ สัญญาใดเป็นญาณสัมปยุต สัญญานั้นก็เป็นไปตามญาณนั่นแหละ ธรรมที่เหลือทั้งหลาย บัณฑิตพึงทราบเหมือนปฐวีธาตุเป็นต้น ในสสัมภารปฐวีธาตุเป็นต้น ดังนี้.

               ความหมายของคำว่าเจตนา               
               เจตยตีติ เจตนา ธรรมที่ชื่อว่าเจตนา เพราะอรรถว่า ตั้งใจ. อธิบายว่า ย่อมยังสัมปยุตตธรรมกับตนให้เป็นไปในอารมณ์ เจตนานั้นมีลักขณาทิจตุกะดังนี้.
               เจตยิกลกฺขณา มีการตั้งใจเป็นลักษณะ คือมีความจงใจเป็นลักษณะ อายูหนรสา มีการประมวลมาเป็นรส. จริงอยู่ เจตนาที่เป็นไปในภูมิ ๔ ชื่อว่า ไม่มีความจงใจเป็นลักษณะก็หาไม่. เจตนาทั้งหมดมีความตั้งใจเป็นลักษณะทั้งนั้น ก็เจตนาที่มีการประมวลมาเป็นรสย่อมเป็นทั้งกุศลและอกุศลทั้งนั้น เพ่งถึงฐานะแห่งการประมวลมาซึ่งกุศลกรรม และอกุศลกรรมแล้ว สัมปยุตตธรรมที่เหลือก็มีกิจเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ว่าเจตนามีอุตสาหะยิ่งนัก มีความพยายามยิ่งนัก คือมีอุตสาหะสองเท่า มีความพยายามสองเท่า ด้วยเหตุนั้น อาจารย์ในปางก่อน จึงกล่าวว่า ก็แล เจตนานี้ตั้งอยู่ในสภาพความเป็นเจ้าของแท้ เจ้าของนา เรียกว่าเจ้าของแท้ เหมือนอย่างว่า บุรุษเจ้าของนาชวนบุรุษรวมแรงกัน ๕๕ คน หยั่งลงนาพร้อมกัน โดยบอกว่า เราจักเกี่ยวข้าว ดังนี้ เจ้าของนามีความอุตสาหะยิ่ง มีความพยายามยิ่ง คือมีความอุตสาหะสองเท่า มีความพยายามสองเท่า ย่อมบอกกล่าวถึงเขต มีคำว่า พวกท่านจงเกี่ยวติดต่อกันไป ดังนี้ แล้วจัดแจงสุราอาหารและของหอมเป็นต้น นำไปให้ชนเหล่านั้น ย่อมชี้ทางให้เท่าๆ กัน ฉันใด ข้ออุปไมยนี้ บัณฑิตพึงทราบฉันนั้นเถิด จริงอยู่ เจตนาเหมือนบุรุษเจ้าของนา ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล ๕๕ ที่เกิดขึ้นด้วยสามารถเป็นองค์ของจิต เหมือนบุรุษผู้ร่วมแรงกัน ๕๕ คน เพราะเพ่งถึงฐานะแห่งการประมวลมาซึ่งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เจตนาก็มีความอุตสาหะสองเท่า มีความพยายามสองเท่า เหมือนเวลาที่บุรุษเจ้าของนาทำการอุตสาหะสองเท่า มีความพยายามสองเท่า บัณฑิตพึงทราบความที่เจตนานั้นมีความประมวลมาเป็นรส ด้วยประการฉะนี้.
               ก็เจตนานั้น มีการจัดแจงเป็นปทัฏฐาน (สํวิทหนปจฺจุปฏฺฐานา) จริงอยู่ เจตนานี้เมื่อจัดแจงย่อมปรากฏเหมือนศิษย์ผู้ใหญ่ และนายช่างใหญ่เป็นต้นผู้สามารถทำกิจของตนและของผู้อื่นให้สำเร็จ. เหมือนอย่างว่า ศิษย์ผู้ใหญ่เห็นพระอุปัชฌาย์มาแต่ไกล เมื่อตนเองสาธยายอยู่ ก็ยังเตือนศิษย์ผู้น้อยนอกนี้ ให้สาธยายตามอัชฌาศัยของตนๆ เมื่อศิษย์ผู้ใหญ่นั้นเริ่มสาธยาย ศิษย์ผู้น้อยแม้เหล่านั้นก็สาธยาย เพราะคล้อยตามศิษย์ผู้ใหญ่นั้น ฉันใด และเปรียบเหมือนนายช่างใหญ่ เมื่อตนเองถากก็ยังช่างถากแม้นอกนี้ให้เป็นไปในกรรมคือการถากของตนๆ เพราะว่า เมื่อนายช่างใหญ่นั้นเริ่มถาก ช่างถากเหล่านั้นก็ย่อมถากตามนายช่างใหญ่นั้น ฉันใด และเปรียบเหมือนแม่ทัพ เมื่อตนเองรบ ก็เตือนนักรบแม้นอกนี้ให้ทำการรบ เพราะว่า เมื่อแม่ทัพเริ่มทำการรบ นักรบแม้เหล่านั้นก็ทำการรบตามแม่ทัพนั้น ฉันใด แม้เจตนานี้ก็ฉันนั้น แม้เป็นไปในอารมณ์ด้วยกิจของตนอยู่ ก็ยังสัมปยุตตธรรมแม้อื่นๆ ให้เป็นไปในการกระทำของตนๆ เพราะว่า เมื่อเจตนานั้น เริ่มกิจของตน แม้ธรรมที่สัมปยุตกับเจตนานั้นก็เริ่ม เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า เจตนานั้นทำกิจของตนและของผู้อื่นให้สำเร็จ เหมือนศิษย์ผู้ใหญ่และนายช่างใหญ่เป็นต้น. ก็เจตนานี้ พึงทราบว่า ปรากฏเป็นไปโดยภาวะที่ให้สัมปยุตธรรม ให้อุตสาหะในการระลึกถึงการงานที่รีบด่วนเป็นต้น ดังนี้.

               ความหมายของคำว่าจิต               
               ความหมายของคำแห่งจิต ข้าพเจ้ากล่าวไว้โดยนัยเป็นต้นว่า อารมฺมณํ จินฺเตตีติ จิตฺตํ (ธรรมที่ชื่อว่าจิต เพราะอรรถว่า คิดซึ่งอารมณ์) นั่นแหละ ก็เมื่อว่าโดยลักษณะเป็นต้น จิตมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ (วิชานนลกฺขณํ) มีการเป็นหัวหน้าเป็นรส (ปุพฺพงฺคมรสํ) มีการเกี่ยวข้องกันเป็นปัจจุปัฏฐาน (สนฺธานปจฺจุปฏฺฐานํ) มีนามรูปเป็นปทัฏฐาน (นามรูปปทฏฺฐานํ). จริงอยู่ จิตที่เป็นไปในภูมิ ๔ ชื่อว่า ไม่มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะก็หาไม่ จิตทั้งหมดมีการรู้แจ้งอารมณ์ทั้งนั้น.
               ก็เพ่งถึงทวารแล้ว จิตก็เป็นหัวหน้า คือมีปกติเที่ยวไปก่อนในที่เป็นที่กระทำให้แจ่มแจ้งซึ่งอารมณ์. จริงอยู่ บุคคลย่อมรู้แจ้งรูปารมณ์อันเห็นด้วยจักษุ ด้วยจิตนั่นแหละ ฯลฯ ย่อมรู้แจ้งธรรมารมณ์ อันรู้แล้วด้วยใจ ด้วยจิตนั่นแหละ เหมือนอย่างว่า บุคคลผู้รักษาพระนครนั่งอยู่ที่ทาง ๔ แพร่ง ในท่ามกลางพระนครย่อมใคร่ครวญ ย่อมกำหนดชนผู้มาแล้วๆ ว่า คนนี้เป็นเจ้าถิ่น คนนี้เป็นผู้จรมา ฉันใด พึงทราบข้ออุปไมยฉันนั้น. ข้อนี้เหมือนกับคำที่พระมหาเถระนามว่านาคเสนกล่าวไว้ว่า ธรรมดาบุคคลผู้รักษาพระนคร นั่งอยู่ที่ทาง ๔ แพร่ง ท่ามกลางพระนครพึงเห็นบุคคลผู้มาจากทิศตะวันออก พึงเห็นบุคคลผู้มาจากทิศตะวันตก จากทิศทักษิณ จากทิศอุดร ฉันใด ข้าแต่มหาบพิตร ฉันนั้นนั่นแหละ บุคคลย่อมเห็นรูปใดด้วยจักษุ ย่อมรู้แจ้งรูปนั้นด้วยวิญญาณ ย่อมฟังเสียงใดด้วยโสต ย่อมสูดกลิ่นด้วยฆานะ ย่อมลิ้มรสด้วยชิวหา ย่อมถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ย่อมรู้แจ้งธรรมด้วยใจ ย่อมรู้แจ้งสิ่งนั้นๆ ด้วยวิญญาณ เพราะเพ่งถึงทวารแล้ว จิตเท่านั้นเป็นหัวหน้า เป็นธรรมชาติเที่ยวไปข้างหน้า ในฐานะที่กระทำอารมณ์ให้แจ่มแจ้งอย่างนี้ ฉะนั้นจึงกล่าวว่า มีการเป็นหัวหน้าเป็นรส ดังนี้.
               จิตนี้นั้น ดวงหลังๆ เมื่อเกิดขึ้น ย่อมปรากฏติดต่อกันทีเดียว เพราะทำดวงต้นๆ ให้สืบต่อกันนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามีการเกี่ยวข้องกัน เป็นปัจจุปัฏฐาน แต่ว่า ในปัญจโวการภพ (ภพที่มีขันธ์ ๕) จิตนั้น มีนามรูปเป็นปทัฏฐาน ในจตุโวการภพ มีนามเท่านั้นเป็นปทัฏฐานโดยแน่นอน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า จิตมีนามและรูปเป็นปทัฏฐาน ดังนี้.
               ถามว่า ก็จิตนี้ เป็นจิตดวงเดียวกันกับจิตที่แสดงมาข้างต้นหรือเป็นดวงอื่น. ตอบว่า เป็นดวงเดียวกันนั่นแหละ. ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร จึงกล่าวอีกเล่า. ตอบว่า คำนี้อรรถกถาและอาจารย์ทั้งหลายยังมิได้วิจารในคำแห่งจิตนี้. ก็ในคำแห่งจิตนี้ มีการประกอบดังนี้ เหมือนอย่างว่า พระอาทิตย์เป็นต้นที่บัญญัติ เพราะอาศัยรูปเป็นต้น ว่าโดยความหมายก็มิใช่สิ่งอื่นที่นอกไปจากรูปเป็นต้น ด้วยเหตุนั้นนั่นแหละ แม้จะกล่าวว่า สมัยใด พระอาทิตย์ย่อมอุทัย สมัยนั้น รูปคือแสงแห่งพระอาทิตย์นั้น ย่อมปรากฏ ดังนี้ ขึ้นชื่อว่าพระอาทิตย์อื่น นอกจากรูปเป็นต้นย่อมไม่มี ฉันใด จิตนี้ย่อมมีฉันนั้น หามิได้ พระองค์ทรงบัญญัติจิต เพราะอาศัยธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้น แต่เมื่อว่าโดยความหมาย จิตนั้นก็เป็นอีกดวงหนึ่ง นอกจากธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้นเหล่านั้นโดยแท้ เพราะเหตุนั้น เพื่อแสดงเนื้อความนี้ว่า สมัยใด จิตย่อมเกิดขึ้น สมัยนั้น จิตดวงอื่นอีกนอกจากธรรมมีผัสสะเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้น ดังนี้ จิตนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระองค์ทรงตรัสไว้อีก.
               เหมือนอย่างว่า เมื่อพระองค์ทรงกำหนดสมัยด้วยบุคคลผู้เจริญมรรค ในพระบาลีมีคำเป็นต้นว่า สมัยใด บุคคลเจริญมรรค ฯลฯ มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ เพื่อความเกิดขึ้นในรูปภพ สมัยนั้น ผัสสะย่อมมี ดังนี้ ผู้ใดย่อมเจริญมรรคในสมัย ว่าโดยอรรถ ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมเกิดขึ้นหามิได้ เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ ในข้อที่กล่าวแล้วนั้น จึงตรัสว่า ผัสสะย่อมมี เวทนาย่อมมี ฉันใด แต่มิได้ตรัสว่า บุคคลใดย่อมเจริญมรรค ผู้นั้นย่อมมีฉันนั้น แต่เมื่อทรงกำหนดสมัยด้วยจิต ในพระบาลีมีคำเป็นต้นว่า สมัยใด กามาวจรกุศลจิตเกิดขึ้น ดังนี้ จิตทรงกำหนดไว้ด้วยสมัย ว่าโดยอรรถแล้ว ย่อมไม่เกิดขึ้น เหมือนอย่างนั้น หามิได้ แต่ตรัสว่า ผัสสะย่อมมี เวทนาย่อมมี ในสมัยนั้น ฉันใด แม้จิตนี้ก็ย่อมมี ฉันนั้น ดังนี้ เพื่อแสดงเนื้อความแม้นี้ พึงทราบว่า ทรงตรัสจิตนี้อีก ก็ในข้อนี้ มีข้อสันนิษฐาน ดังต่อไปนี้
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงจิต เพื่อประมวลมาไว้ในอุทเทสวารและเพื่อทรงจำแนกในนิทเทสวาร จริงอยู่ พระองค์ทรงกำหนดสมัยไว้ด้วยจิตศัพท์ ซึ่งเป็นศัพท์ต้นอย่างเดียว เพื่อทรงแสดงธรรมในสมัยซึ่งมีการกำหนดด้วยจิต จึงเริ่มตรัสว่า ผสฺโส โหติ เป็นต้น แม้จิตนั้นก็ย่อมมีในสมัยนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เพื่อประมวลมาซึ่งจิตแม้นั้น จึงตรัสคำว่าจิตนี้อีก. อนึ่ง เมื่อไม่ตรัสคำว่าจิตนี้ในที่นี้ ก็ไม่อาจเพื่อจำแนกในนิทเทสวารได้ว่า จิตในสมัยนั้น เป็นไฉน? ด้วยเหตุนั้น การจำแนกจิตนั้นนั่นเองก็จะหายไป เพราะฉะนั้นนั่นแหละ พึงทราบว่า เพื่อทรงจำแนกจิตนั้นในนิทเทสวาร จึงตรัสจิตนี้อีก.
               อีกอย่างหนึ่ง ในอรรถกถาท่านวิจารว่า คำว่า จิตเกิดขึ้นในคำว่า อุปฺปนฺนํ โหติ นี้ ว่าเป็นเพียงหัวข้อแห่งเทศนาเท่านั้น แต่จิตนี้มิได้เกิดขึ้นได้เพียงดวงเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น แม้ในคำว่า อุปฺปนฺนํ นี้ ก็มิได้ถือเอาจิตอย่างเดียว แต่ถือเอาจิตกับกุศลธรรมเกิน ๕๐ ทีเดียว โดยประการฉะนี้ จึงเริ่มตรัสคำว่า ผสฺโส โหติ เป็นต้น เพื่อแสดงจิตนั้น ในที่นั้นโดยสังเขป แล้วแสดงโดยประเภทโดยถือเอาจิตและเจตสิกธรรมทั้งปวงนั้น และโดยย่อ ในที่นี้ ด้วยประการฉะนี้ พึงทราบว่า แม้จิตก็พึงตรัสไว้เหมือนธรรมมีผัสสะเป็นต้น ฉะนี้แล.

               ความหมายของคำว่าวิตก               
               วิตกฺเกตีติ วิตกฺโก วิตกฺนํ วา วิตกฺโก ธรรมที่ชื่อว่าวิตก เพราะอรรถว่า ตรึก. อีกอย่างหนึ่ง การตรึก คือการจดอารมณ์ ชื่อว่าวิตก. วิตกนี้นั้นมีการยกจิตขึ้นในอารมณ์เป็นลักษณะ (อารมฺมเณ จิตฺตสฺส อภินิโรปนลกฺขโณ) จริงอยู่ วิตกนั้นยกจิตขึ้นในอารมณ์. เหมือนอย่างว่า คนบางคนอาศัยญาติ หรือมิตรที่เป็นราชวัลลภ จึงเข้าไปสู่พระราชมณเฑียรได้ฉันใด จิตก็อาศัยวิตก ฉันนั้น เพราะฉะนั้น วิตกนั้น ท่านจึงกล่าว มีการยกจิตขึ้นในอารมณ์เป็นลักษณะ.
               อนึ่ง พระนาคเสนเถระกล่าวว่า วิตกมีการเคาะอารมณ์เป็นลักษณะ ขอถวายพระพรมหาบพิตร เปรียบเหมือนบุคคลตีกลอง หลังจากนั้นก็มีเสียงกลองดังกระหึ่มออกไป ฉันใด มหาบพิตรพึงเข้าพระทัย วิตกเหมือนบุคคลตีกลอง พึงเข้าพระทัยวิจารเหมือนเสียงกลองดังกระหึ่ม ฉันนั้น.
               วิตกนั้นมีการกระทำให้จิตกระทบอารมณ์บ่อยๆ เป็นรส (อาหนนปริยาหนนรโส) จริงอย่างนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระโยคาวจรย่อมกระทำจิตนั้น อันวิตกให้กระทบแล้วบ่อยๆ วิตกนั้นมีการนำจิตมาในอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน (อารมฺมเณ จิตฺตสฺส อานยปจฺจุปฏฺฐาโน) และมีนามขันธ์ ๓ ที่เหลือ (เวทนา สัญญา วิญญาณขันธ์) เป็นปทัฏฐาน (เสสขนฺธตฺตยปทฏฺฐาโน).๑-
               อารมฺมเณ เตน จิตฺตํ วิจรตีติ วิจาโร ธรรมที่ชื่อว่าวิจาร เพราะเป็นเหตุให้จิตเที่ยวไปในอารมณ์. อีกอย่างหนึ่ง การเที่ยวไป คือการสัญจรไปตามอารมณ์ ชื่อว่าวิจาร. วิจารนั้นมีการเคล้าคลึงในอารมณ์เป็นลักษณะ (อารมฺมณานุมชฺชนลกฺขโณ) มีการประกอบสหชาตธรรมไว้ในอารมณ์นั้นเป็นรส (ตตฺถ สหชาตานุโยชนรโส) มีการผูกพันจิตไว้ในอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน (จิตฺตอนุปฺปพนฺธปจฺจุปฏฺฐาโน).
____________________________
๑- บาลีว่า เสสขนฺธตฺตยปทฏฺฐาโน ไม่มีในที่นี้

               อนึ่ง เมื่อความไม่แยกจากกันแห่งวิตกและวิจารในจิตตุปบาทบางแห่ง แม้มีอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้ การที่จิตตกไปในอารมณ์ครั้งแรก ชื่อว่าวิตก เพราะอรรถว่าเป็นธรรมหยาบ เพราะอรรถว่าเป็นธรรมถึงก่อน เพราะอรรถว่ายกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เหมือนการเคาะระฆัง. การผูกพันในอารมณ์ ชื่อว่าวิจาร เพราะอรรถว่า เป็นธรรมสุขุม เพราะอรรถว่าเคล้าคลึงในอารมณ์ เหมือนเสียงครางของระฆัง ฉะนั้น. ก็ในธรรม ๒ อย่างนั้น วิตกมีการแผ่ไป เป็นการแผ่ไปโดยรอบในกาลเกิดขึ้นแห่งจิต จับอารมณ์ครั้งแรกเหมือนการขยับปีกของนกตัวที่ต้องการบินขึ้นในอากาศ และเหมือนภมรมีจิตผูกพันในกลิ่นมุ่งหน้าบินลงสู่ดอกปทุม ฉะนั้น. วิจารมีความเป็นไปสงบ ไม่มีการแผ่ไปของจิตเกินไป เหมือนการกางปีกของนกตัวที่ต้องการบินไปในอากาศ และเหมือนภมรตัวที่บินลงที่ดอกปทุมแล้วบินเคล้าเคลียเบื้องบน ฉะนั้น.
               แต่ในอรรถกถาทุกนิบาต ท่านกล่าวไว้ว่า วิตกเป็นไปโดยการยกจิตขึ้นในอารมณ์ เหมือนนกใหญ่บินไปในอากาศ กระพือปีกทั้งสองให้จับลม แล้วให้ปีกทั้งสองติดลมบินไป เพราะว่าวิตกนั้นมีอารมณ์เป็นหนึ่งแน่วแน่. ส่วนวิจารเป็นไปโดยการเคล้าอารมณ์ เหมือนนกใหญ่ขยับปีกเพื่อให้จับลมเป็นไป เพราะว่า วิจารนั้น มีการเคล้าในอารมณ์ ดังนี้. ถ้อยคำในอรรถกถาทุกนิบาตนั้น เหมาะสมอย่างยิ่งในการที่จิตผูกพันในอารมณ์เป็นไป. แต่ว่าการแปลกกันแห่งวิตกและวิจารนั้น ย่อมปรากฏชัดในฌานที่หนึ่งและที่สอง.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลเอามือข้างหนึ่งจับภาชนะสำริดที่ติดสนิมไว้ให้มั่น แล้วเอามืออีกข้างหนึ่งขัดสีด้วยจุรณน้ำมัน หรือมูลสัตว์ที่เหมาะสม วิตกเหมือนมือที่จับไว้มั่น วิจารเหมือนมือที่ขัดสี อนึ่ง เมื่อช่างหม้อใช้ไม้ตี หมุนจักรทำภาชนะ วิตกเหมือนกับมือที่กดไว้ วิจารเหมือนกับมือที่หมุนไปทางโน้นและทางนี้. อนึ่ง เมื่อบุคคลทำวงกลม วิตกคือการจดจ่ออยู่ซึ่งอารมณ์ เหมือนเหล็กแหลมที่ปักยันไว้ท่ามกลาง วิจารเคล้าอารมณ์ เหมือนเหล็กแหลมที่หมุนไปรอบๆ ข้างนอก ฉะนั้น.

               ความหมายของคำว่าปีติ               
               ปีนยตีติ ปีติ ธรรมที่ชื่อว่าปีติ เพราะเอิบอิ่ม ปีตินั้นมีการชื่นชมยินดีเป็นลักษณะ (สมฺปิยายนลกฺณา) มีการทำกายและจิตให้เอิบอิ่มเป็นรส หรือว่าซาบซ่านไปเป็นรส (กายจิตฺตปีนนรสา ผรณรสา วา) มีการฟูกายและใจเป็นปัจจุปัฏฐาน (โอทคฺยปจฺจุปฏฺฐานา).
               ก็ปีตินั้นมี ๕ อย่าง คือ
                         ขุททกาปีติ
                         ขณิกาปีติ
                         โอกกันติกาปีติ
                         อุพเพงคาปีติ
                         ผรณาปีติ.
               บรรดาปีติเหล่านั้น ขุททกาปีติสามารถเพื่อทำเพียงขนในร่างกายให้ชูชันเท่านั้น. ขณิกาปีติย่อมเป็นเช่นกับความเกิดขึ้นแห่งฟ้าแลบขณะหนึ่งๆ โอกกันติกาปีติ ก้าวลงสู่กายแล้ว ครั้นก้าวลงแล้วก็แตกไป เหมือนคลื่นที่ฝั่งสมุทร อุพเพงคาปีติ เป็นปีติมีกำลัง ทำกายให้ฟูขึ้นถึงการลอยไปในอากาศได้.
               จริงอย่างนั้น พระมหาติสสเถระผู้อยู่ในปุณณวัลลิกวิหารในวันปุรณมีเวลาเย็นไปสู่ลานพระเจดีย์เห็นแสงสว่างดวงจันทร์ จึงหันหน้าไปทางพระมหาเจดีย์แล้วรำพึงว่า เวลานี้พวกบริษัท ๔ กำลังไหว้พระมหาเจดีย์กันหนอ ดังนี้ ยังอุพเพงคาปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ให้เกิดขึ้นด้วยสามารถอารมณ์ที่เห็น ตามปกติ ลอยขึ้นไปในอากาศแล้วไปยืนอยู่เฉพาะที่ลานแห่งพระมหาเจดีย์นั่นแหละ เหมือนลูกข่างอันวิจิตรที่ขว้างไปที่พื้นที่ฉาบไว้ด้วยปูนขาว.
               อนึ่ง แม้กุลธิดาคนหนึ่งในบ้านวัตตกาลก ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้คิริกัณฑวิหาร ลอยขึ้นไปในอากาศด้วยอุพเพงคาปีติ มีพระพุทธคุณที่มีกำลังเป็นอารมณ์ ได้ยินว่า มารดาบิดาของกุลธิดานั้นเมื่อไปวิหารเพื่อต้องการฟังธรรม ในเวลาเย็นได้บอกว่า แม่เจ้ามีภาระหนัก ไม่อาจเพื่อเที่ยวไปในเวลาอันไม่ควรกับพวกแม่ได้ พวกแม่จะฟังธรรมให้ส่วนบุญนั้นแก่เจ้า แล้วพากันไป. กุลธิดานั้นแม้อยากจะไป แต่ไม่อาจขัดขืนคำของมารดาบิดาได้ จึงหยุดอยู่ข้างหลัง ยืนอยู่ที่ประตูบ้าน แลดูอยู่ซึ่งลานพระเจดีย์ที่คิริกัณฑวิหารทางอากาศด้วยแสงจันทร์ ได้เห็นการบูชาดวงประทีปแห่งพระเจดีย์ และได้เห็นบริษัท ๔ กระทำการบูชาพระเจดีย์ด้วยมาลา และของหอมเป็นต้นแล้วกระทำประทักษิณ ได้ฟังเสียงสาธยายเป็นคณะของหมู่ภิกษุ. ทีนั้นเมื่อนางคิดว่า โอมนุษย์ผู้มีบุญเหล่านี้พากันไปวิหารย่อมได้เพื่อการเดินเวียนที่เนินพระเจดีย์ และได้การฟังธรรมกถาที่ไพเราะเห็นปานนี้ ดังนี้แล้ว กำลังมองดูพระเจดีย์เช่นกับกองแก้วมุกดานั่นแหละ อุพเพงคาปีติก็เกิดขึ้น. นางลอยไปในอากาศหยั่งลงที่ลานพระเจดีย์ทางอากาศก่อนกว่ามารดาบิดาทีเดียว แล้วไหว้พระเจดีย์ ยืนฟังธรรมอยู่. ทีนั้น มารดาและบิดาจึงมาถึงแล้วถามนางกุลธิดานั้นว่า แม่เจ้ามาทางไหน? นางตอบว่า มาทางอากาศ มิได้มาตามทาง มารดาบิดากล่าวว่า แม่ชื่อว่าพระขีณาสพทั้งหลายจึงท่องเที่ยวไปทางอากาศได้ เจ้ามาได้อย่างไร? นางตอบว่า เมื่อลูกยืนแลดูพระเจดีย์อยู่โดยแสงจันทร์ ปีติมีกำลังมีพุทธคุณเป็นอารมณ์ก็เกิดขึ้น ทีนั้น ดิฉันไม่ทราบว่าตนยืนหรือนั่งลอยไปสู่อากาศด้วยนิมิต ที่ถือเอานั่นแหละ แล้วยืนอยู่ที่ลานพระเจดีย์ อุพเพงคาปีติมีการลอยไปในอากาศ ด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนผรณาปีติเกิดขึ้นแล้วก็แผ่ไปสู่สรีระทั้งสิ้น เหมือนถุงที่เต็มด้วยลม และเหมือนท้องภูเขาที่ห้วงน้ำใหญ่ไหลเข้าไปซึมซาบแล้ว.
               ก็ปีติ ๕ อย่างเหล่านี้ เมื่อถือเอาครรภ์ถึงความแก่รอบย่อมยังปัสสัทธิ ๒ อย่าง คือกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิให้บริบูรณ์. ปัสสัทธิเมื่อถือเอาครรภ์ถึงความแก่รอบย่อมยังสุข ๒ อย่าง คือกายิกสุขและเจตสิกสุขให้บริบูรณ์ ความสุขเมื่อถือเอาครรภ์ถึงความแก่รอบย่อมยังสมาธิ ๓ อย่าง คือขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิให้บริบูรณ์. บรรดาปีติเหล่านั้น ปีติ ๒ อย่าง เว้นปีติที่ถึงความสมบูรณ์ด้วยอัปปนา ย่อมควรในกามาวจรนี้.

               ความหมายของคำว่าสุข               
               สุขยตีติ สุขํ ธรรมที่ชื่อว่าสุข เพราะอรรถว่า สบาย. อธิบายว่า ความสุขย่อมเกิดแก่ผู้ใด ก็ทำบุคคลนั้นให้ถึงความสุข. อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติใดย่อมเคี้ยวกินอย่างดี และย่อมขุด (ทำลาย) อาพาธทางกายทางใจ เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าสุข. สุขนี้เป็นชื่อของโสมนัสสเวทนา. บัณฑิตพึงทราบลักษณะเป็นต้นของสุขนั้นโดยนัยที่กล่าวแล้วในบทแห่งเวทนานั่นแหละ
               อีกนัยหนึ่ง สุขมีการยินดีเป็นลักษณะ (สาตลกฺขณํ) มีการยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้เจริญเป็นรส (สปฺปยุตฺตานํ อุปพฺรูหนรสํ) มีการอนุเคราะห์เป็นปัจจุปัฏฐาน (อนุคฺคหณปจฺจุปฏฺฐานํ) อนึ่ง เมื่อปีติและสุขเหล่านั้นไม่แยกจากกันมีอยู่ในที่บางแห่ง ความยินดีในการได้อิฏฐารมณ์เป็นปีติ การเสวยรสอารมณ์ที่ได้แล้ว เป็นสุข ปีติมีในที่ใด สุขก็มีในที่นั้น สุขมีในที่ใด ในที่นั้นไม่แน่ว่าเป็นปีติ.
               ปีติท่านสงเคราะห์เข้าในสังขารขันธ์ สุขท่านสงเคราะห์เข้าในเวทนาขันธ์. ปีติย่อมมีในกรณีที่บุคคลเหน็ดเหนื่อยในทางกันดารได้เห็นหรือได้ยินน้ำในป่า. สุขย่อมมีในเวลาที่บุคคลนั้นเข้าไปสู่ร่มเงาในป่า และใช้สอยน้ำฉะนั้น.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษเดินทางไกลกันดารมาก มีเหงื่อโซมตัว มีความอยากกระหายเห็นบุรุษเดินทางสวนมาก็พึงถามว่า มีน้ำดื่มที่ไหนบ้าง บุรุษนั้นตอบว่า ผ่านดงไปมีสระธรรมชาติและป่าสูง ท่านไปในที่นั้นจักได้ ดังนี้ เขาฟังคำบอกบุรุษคนนั้นแล้วก็พึงมีใจร่าเริง ยินดี เมื่อเขาไปจากที่นั้นเห็นกลีบ ก้าน ใบดอกอุบลเป็นต้นตกเกลื่อนที่แผ่นดิน ก็เป็นผู้มีจิตยินดีร่าเริงอย่างดี เมื่อเดินไปเห็นบุรุษมีผ้าเปียก ผมเปียก ฟังเสียงไก่ป่าและนกยูงป่าเป็นต้น พึงเห็นไพรสณฑ์อันเขียวเช่นกับข่ายแก้วมณีเกิดที่ในเขตสระธรรมชาติ พึงเห็นดอกอุบลและดอกโกมุทเป็นต้นซึ่งเกิดในสระ พึงเห็นน้ำใสสะอาด เขาก็มีความยินดีร่าเริงยิ่ง จึงก้าวลงสู่สระธรรมชาติ อาบดื่มตามชอบใจระงับความกระวนกระวายแล้ว เคี้ยวกินเหง้ารากใบบัวเป็นต้น ประดับดอกอุบลเขียวเป็นต้น เอารากบัวขาวพาดที่บ่า ขึ้นจากสระนุ่งผ้าตากผ้าที่แดดนอนอยู่ใต้ร่มเงาอันเย็น เมื่อลมอ่อนๆ โชยมาก็พึงกล่าวว่า สุขหนอ สุขหนอ ดังนี้ คำอุปมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบพึงเห็นอย่างนี้ว่า
               ก็ปีติมีอาการร่าเริงยินดีในอารมณ์อันเป็นส่วนเบื้องต้น พึงเห็นเหมือนเวลาที่ร่าเริงยินดี นับตั้งแต่เวลาที่บุรุษนั้นได้ยินว่ามีสระธรรมชาติและไพรสณฑ์ จนกระทั่งถึงการเห็นน้ำ. สุขดำรงอยู่ด้วยอาการเสวยรสอารมณ์ถึงแล้วซึ่งกำลัง พึงเห็นเหมือนบุคคลอาบน้ำ ดื่มแล้วนอนรำพึงว่า สุขหนอ สุขหนอ ที่ร่มเงาไม้อันเย็นเมื่อลมอ่อนๆ โชยมากระทบ. ก็สุขนี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะความปรากฏในสมัยนั้นๆ ดังนี้ คำนี้ท่านกล่าวอธิบายว่า ก็ในที่ใดมีปีติ แม้สุขก็มีอยู่ในที่นั้นนั่นแล.

               อธิบายว่าด้วยเอกัคคตาแห่งจิต               
               ความที่จิตมีอารมณ์เลิศเป็นหนึ่ง ชื่อว่า จิตฺตสฺเสกคฺคตา คำว่า จิตตัสเสกัคคตานี้ เป็นชื่อของสมาธิ. ก็ในบรรดาธรรมมีลักษณะเป็นต้นของสมาธินั้น ท่านอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ในอรรถกถาก่อนแล้ว. สมาธินั้นมีความเป็นประธานเป็นลักษณะ (ปาโมกฺลกฺโณ) และมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ (อวิกฺเขปลกฺโณ).
               จริงอยู่ สมาธิชื่อว่าเป็นประธานแห่งธรรมเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เพราะกุศลธรรมทั้งปวงสำเร็จด้วยสมาธิ เหมือนช่อฟ้าเรือนยอดชื่อว่าเป็นประธานของทัพสัมภาระของเรือนที่เหลือ เพราะเป็นเครื่องยึดไว้ เพราะเหตุนั้น พระนาคเสนเถระจึงถวายพระพรว่า มหาบพิตร ไม้จันทันทั้งหลาย ไม่ว่าอันใดแห่งเรือนยอด ไม้จันทันทั้งหมดเหล่านั้นไปรวมที่ยอดเรือน น้อมไปที่ยอด ไปประชุมกันที่ยอด เงื้อมไปที่ยอด ยอดเรือน บัณฑิตกล่าวว่าเป็นเลิศกว่าไม้จันทันเหล่านั้น ฉันใด ขอถวายพระพรมหาบพิตร กุศลธรรมไม่ว่าชนิดใด กุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมดน้อมไปสู่สมาธิ ประชุมลงที่สมาธิ เงื้อมไปสู่สมาธิ สมาธิ บัณฑิตย่อมเรียกว่าเป็นเลิศกว่ากุศลธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น สมาธิชื่อว่ามีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ เพราะไม่ให้สหชาตธรรมทั้งหลายฟุ้งซ่านกระจัดกระจาย เหมือนพระราชาจอมทัพเสด็จไปสู่ที่ทหารประชุมกันเนืองแน่น ในที่ที่พระองค์เสด็จไปๆ ทหารย่อมพรั่งพร้อมทำลายทหารข้าศึก ย่อมคล้อยตามพระราชานั่นแหละ.
               อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าสมาธิ กล่าวคือเอกกัคคตาแห่งจิตนี้ มีความไม่ซ่านไปเป็นลักษณะ หรือมีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ มีการประมวลมาซึ่งสหชาตธรรมทั้งหลายเข้าด้วยกันเป็นรส ดุจน้ำประมวลจุรณสำหรับอาบน้ำ (ทำจุรณให้เป็นก้อน) มีความเข้าไปสงบเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีญาณเป็นปัจจุปัฏฐาน คือว่าบุคคลมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมทราบชัด ย่อมเห็นตามความเป็นจริง ว่าโดยพิเศษ สมาธิมีสุขเป็นปทัฏฐาน บัณฑิตพึงทราบความตั้งอยู่แห่งจิต เหมือนการตั้งอยู่แห่งเปลวประทีปทั้งหลายที่ปราศจากลมฉะนั้น.

               ความหมายของคำว่าสัทธินทรีย์               
               ธรรมที่ชื่อว่าศรัทธา เพราะอรรถว่า เป็นเหตุให้เชื่อ หรือเชื่อเองหรือเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น ก็ชื่อว่าศรัทธา. ศรัทธานั้น ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นอธิบดี โดยครอบงำความไม่มีศรัทธา.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่กว่าธรรมอื่น ในการน้อมใจเชื่อเป็นลักษณะ. ศรัทธานั่นเองเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าสัทธินทรีย์. ก็ศรัทธานั้น มีการเลื่อมใสเป็นลักษณะ และมีความแล่นไปเป็นลักษณะ ศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นย่อมข่มนิวรณ์ทั้งหลาย ย่อมให้กิเลสสงบ ย่อมให้จิตผ่องใส ย่อมทำจิตไม่ให้ขุ่นมัว เหมือนแก้วมณีพระเจ้าจักรพรรดิอันทำน้ำให้ใสสะอาด ใส่ในน้ำแล้วสามารถทำให้น้ำใส ย่อมให้โคลนสาหร่าย จอกแหน เปือกตมสงบ ย่อมให้น้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัวฉะนั้น. กุลบุตรโยคาวจรให้ทานก็ดี สมาทานศีลก็ดี กระทำอุโบสถกรรมก็ดี เริ่มภาวนาก็ดี ด้วยจิตอันผ่องใส พึงทราบศรัทธานั้น อย่างนี้ว่ามีความเลื่อมใสเป็นลักษณะ เพราะเหตุนั้น ท่านพระนาคเสนเถระจึงถวายพระพรพระยามิลินทร์ว่า มหาบพิตร พระเจ้าจักรพรรดิข้ามแม่น้ำน้อยพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา น้ำนั้นพึงกระทบกระเทือนด้วยช้าง ม้า รถและพลเดินเท้าทั้งหลายก็ขุ่นมัว ขุ่นข้นเป็นเปือกตม พระราชาทรงข้ามไปแล้ว จึงสั่งมนุษย์ทั้งหลายว่า แน่ะพนาย พวกเธอจงนำน้ำดื่มมา เราจักดื่มน้ำนั้น ก็พระราชามีแก้วมณีสำหรับทำน้ำให้ใสสะอาด พวกมนุษย์จึงกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า แล้วเอาแก้วมณีอันทำน้ำให้ใสนั้นใส่ลงในน้ำ พร้อมกับการตกไปในน้ำ โคลน สาหร่าย จอกแหน เปือกตมก็สงบ น้ำพึงเป็นน้ำใสสะอาดไม่ขุ่นมัว จากนั้นพวกมนุษย์ก็น้อมน้ำดื่มถวายพระราชา กราบทูลว่า ขอพระองค์ผู้สมมติเทพ จงทรงดื่ม พระเจ้าข้า.
               ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์พึงเห็นจิตเหมือนน้ำ พึงเห็นกุลบุตรโยคาวจรเหมือนมนุษย์เหล่านั้น พึงเห็นกิเลสทั้งหลายเหมือนโคลน สาหร่าย จอกแหนเปือกตม พึงเห็นศรัทธาเหมือนแก้วมณีทำน้ำให้ใสสะอาด ขอถวายพระพรมหาบพิตร ศรัทธาเมื่อเกิดย่อมข่มนีวรณ์ทั้งหลาย จิตปราศจากนิวรณ์ก็ใสสะอาดไม่ขุ่นมัว เหมือนเมื่อใส่แก้วมณีอันยังน้ำให้ใสสะอาดแล้ว โคลน สาหร่าย จอกแหนเปือกตมย่อมสงบ น้ำย่อมใสสะอาดไม่ขุ่นมัว ฉะนั้น.
               เหมือนอย่างว่า เหล่าชนผู้กลัวอาศัยมหานทีที่เกลื่อนกล่นไปด้วยจระเข้ มังกรและรากษสร้ายเป็นต้น ก็ยืนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำทั้งสอง ส่วนทหารผู้ใหญ่ผู้กล้าในสงครามมาถึงจึงถามว่า เพราะเหตุไร พวกท่านจึงยืนอยู่ เมื่อเขากล่าวว่า พวกเราไม่อาจข้ามเพราะมีภัยเฉพาะหน้า จึงจับดาบที่ตนเคยชำนาญมาแล้วนั้น แล้วกล่าวว่า พวกท่านจงมาข้างหลังเรา อย่ากลัวเลย แล้วก้าวลงสู่แม่น้ำ ป้องกันจระเข้เป็นต้นที่มาแล้วๆ กระทำความสวัสดีแก่พวกมนุษย์ทั้งหลาย นำจากฝั่งนี้ไปฝั่งโน้น จากฝั่งโน้นมาสู่ฝั่งนี้ ฉันใด เมื่อบุคคลให้ทาน รักษาศีล กระทำอุโบสถกรรม เริ่มภาวนา ศรัทธาย่อมเป็นหัวหน้าเป็นภาวะนำหน้าไป เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า ศรัทธามีการแล่นไปเป็นลักษณะ ดังนี้.
               อีกนัยหนึ่ง ศรัทธามีการเชื่อเป็นลักษณะ หรือมีการเชื่อมั่นเป็นลักษณะ มีการผ่องใสเป็นรส ราวกะแก้วมณีทำน้ำให้ใสสะอาด หรือว่ามีการแล่นไปเป็นรสเหมือนการข้ามห้วงน้ำ มีการไม่ขุ่นมัวเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีการน้อมใจเชื่อเป็นปัจจุปัฏฐาน มีวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาเป็นปทัฏฐาน หรือมีโสดาปัตติยังคะเป็นปทัฏฐาน บัณฑิตพึงเห็นเหมือนมือ ทรัพย์สมบัติและพืช.

               ความหมายของคำว่าวิริยินทรีย์               
               ความเป็นแห่งบุคคลผู้กล้า ชื่อว่าวิริยะ หรือการงานของบุคคลผู้กล้า ชื่อว่าวิริยะ หรือว่า ชื่อว่าวิริยะ เพราะอรรถว่าพึงดำเนินไป คือให้เป็นไปโดยวิธี คือโดยนัย โดยอุบาย. วิริยะนั้นนั่นแหละ ชื่อว่าอินทรีย์ ด้วยอรรถว่าเป็นอธิบดีเพราะครอบงำโกสัชชะ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่กว่าธรรมอื่นในลักษณะของความเพียร. ความเพียรนั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าวิริยินทรีย์. ก็วิริยะนี้นั้นมีการอุปถัมภ์ คือค้ำจุนไว้เป็นลักษณะ และมีความประคองไว้เป็นลักษณะ เหมือนอย่างว่า เรือนเก่าย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยเสาอื่นนำมาค้ำจุนไว้ ฉันใด พระโยคาวจรก็เหมือนกันนั่นแหละ เป็นผู้ได้อุปถัมภ์แล้วด้วยความอุปถัมภ์ของความเพียร กุศลธรรมทั้งปวงจึงไม่เสื่อมสูญไป พึงทราบความที่วิริยินทรีย์นั้นมีความอุปถัมภ์คือค้ำจุนไว้เป็นลักษณะอย่างนี้ก่อน ด้วยเหตุนั้น พระนาคเสนเถระจึงถวายพระพรกะพระยามิลินทร์ว่า มหาบพิตร วิริยะมีการอุปถัมภ์คือค้ำจุนไว้เป็นลักษณะ กุศลธรรมทั้งหมดมีวิริยอุปถัมภ์ค้ำจุนแล้ว ย่อมไม่เสื่อมไป เหมือนเมื่อบ้านเก่าจะพังไป ได้ไม้อื่นมาค้ำจุนไว้ บ้านเรือนที่มีเสาอุปถัมภ์ค้ำจุนแล้วนั่นแหละก็ไม่พึงล้มไป ฉะนั้น.
               เหมือนอย่างว่า กองทัพน้อยและกองทัพใหญ่ทำสงครามกัน กองทัพน้อยถอยร่นมา ทีนั้นเขาพึงกราบทูลพระราชา พระราชาพึงส่งพลและพาหนะไป กองทัพของพระองค์อันพลและพาหนะสนับสนุนแล้ว พึงยังกองทัพของข้าศึกให้พ่ายแพ้ ฉันใด วิริยะก็เหมือนกันนั่นแหละ ย่อมไม่ทำให้สัมปยุตธรรมที่เกิดพร้อมกันให้ล้าให้ถอย ย่อมยกคือย่อมประคองไว้ ด้วยเหตุนั้น จึงกล่าวว่า วิริยะมีความประคองไว้เป็นลักษณะ.
               อีกนัยหนึ่ง วิริยะมีความอุตสาหะเป็นลักษณะ มีความอุปถัมภ์สหชาตธรรมทั้งหลายเป็นรส มีความไม่ท้อถอยเป็นปัจจุปัฏฐาน มีความสลดใจเป็นปทัฏฐาน เพราะพระบาลีว่า สํวิคฺโค โยนิโส ปทหติ (ความสลดย่อมเริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคาย) หรือมีวัตถุแห่งวิริยารัมภะเป็นปทัฏฐาน. บัณฑิตพึงทราบว่า ความเพียรอันเริ่มตั้งไว้โดยชอบ เป็นมูลเหตุแห่งสมบัติทั้งปวง ดังนี้.

               ความหมายของคำว่าสตินทรีย์               
               ธรรมที่ชื่อว่า สติ เพราะเป็นเหตุระลึก หรือว่า ย่อมระลึกเอง หรือว่า เป็นเพียงการระลึกเท่านั้น. ก็สตินั้น ชื่อว่าอินทรีย์ ด้วยอรรถเป็นอธิบดี โดยครอบงำความเป็นผู้หลงลืมด้วยสติ. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการอุปการะ สตินั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าสตินทรีย์. ก็สตินี้นั้นมีการระลึก (การไม่ฟั่นเฟือน) เป็นลักษณะและมีการเข้าไปประคองไว้เป็นลักษณะ สติย่อมให้กำหนด ย่อมให้ระลึกกุศลกรรมโดยชอบ เหมือนขุนคลังของพระราชารักษารัตนะ ๑๐ อย่าง ย่อมยังพระราชาให้กำหนด ให้ระลึกถึงอิสริยสมบัติในเวลาเย็นเวลาเช้า ฉะนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระนาคเสนเถระจึงถวายพระพรพระราชาว่า มหาบพิตร ขุนคลังของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมให้พระเจ้าจักรพรรดิให้ระลึกถึงอิสริยสมบัติทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้าว่า ข้าแต่เทวะ ช้างมีประมาณเท่านี้ ม้ามีประมาณเท่านี้ รถมีประมาณเท่านี้ พลเดินเท้ามีประมาณเท่านี้ เงินมีประมาณเท่านี้ ทองมีประมาณเท่านี้ สมบัติทั้งปวงมีประมาณเท่านี้ ขอเทวะจงระลึกถึงอิสริยสมบัตินั้น ฉันใด ขอถวายพระพรมหาบพิตร สติก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมให้ระลึกถึงกุศลธรรมทั้งหลาย คือ สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้ อิทธิบาท ๔ เหล่านี้ อินทรีย์ ๕ เหล่านี้ พละ ๕ เหล่านี้ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ นี้อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้สมถะ นี้วิปัสสนา เหล่านี้เป็นอริยสัจ นี้เป็นวิชชา นี้เป็นวิมุตติ เหล่านี้เป็นโลกุตรธรรม มหาบพิตร สติมีการระลึกเป็นลักษณะอย่างนี้แล.
               ก็สติใคร่ครวญคติทั้งหลายแห่งธรรมที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ รู้ว่าธรรมทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้นเหล่านี้ ว่าไม่มีประโยชน์ ย่อมบรรเทาธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ รู้ว่าธรรมมีกายสุจริตเป็นต้นเหล่านี้เป็นประโยชน์ ย่อมประคับประคองธรรมที่เป็นประโยชน์ เหมือนปริณายกแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ รู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่เป็นประโยชน์ของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมนำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป ย่อมน้อมเข้ามาซึ่งสิ่งเป็นประโยชน์ ฉะนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระนาคเสนเถระจึงถวายพระพรพระราชาว่า มหาบพิตร ปริณายกแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แก่พระเจ้าจักรพรรดิว่า สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่พระราชา สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ สิ่งเหล่านี้เป็นอุปการะ สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นอุปการะ ดังนี้ จากนั้นก็จะบรรเทา (กำจัด) สิ่งไม่เป็นประโยชน์ ย่อมประคับประคองสิ่งที่เป็นประโยชน์ ฉันใด ขอถวายพระพรมหาบพิตร สติฉันนั้นเหมือนกันแล เมื่อเกิดขึ้น ย่อมใคร่ครวญคติทั้งหลายแห่งธรรมที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ดังนี้ จากนั้นย่อมบรรเทา (กำจัด) ธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ ย่อมประคับประคองธรรมที่เป็นประโยชน์ มหาบพิตร สติมีการประคับประคองเป็นลักษณะอย่างนี้แล.
               ก็อีกนัยหนึ่ง สติมีการระลึกเป็นลักษณะ มีการไม่หลงลืมเป็นรส มีการอารักขา (การรักษาอารมณ์) เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีการมุ่งต่ออารมณ์ เป็นปทัฏฐาน มีการจำได้อันมั่นคงเป็นปทัฏฐาน หรือว่ามีกายคตาสติปัฏฐานเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน ก็บัณฑิตพึงเห็นสติเหมือนเสาเขื่อน เพราะตั้งอยู่มั่นคงในอารมณ์ และเหมือนนายทวารผู้รักษาประตู เพราะรักษาทวารทั้งหลายมีจักขุทวารเป็นต้น.

               ความหมายของสมาธินทรีย์               
               ธรรมที่ชื่อว่าสมาธิ เพราะตั้งมั่น คือวางจิตไว้ในอารมณ์โดยชอบ ก็สมาธินั้น ชื่อว่าอินทรีย์ ด้วยอรรถว่าเป็นอธิบดี เพราะครอบงำความฟุ้งซ่าน. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่กว่าธรรมอื่นในลักษณะแห่งความไม่ฟุ้งซ่าน. สมาธินั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าสมาธินทรีย์ ก็ธรรมมีลักษณะเป็นต้นของสมาธินั้น บัณฑิตพึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.

               ความหมายของคำว่าปัญญินทรีย์               
               ปชานาตีติ ปญฺญา ธรรมที่ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่าย่อมรู้ทั่ว. ถามว่า ย่อมรู้ทั่วซึ่งอะไร? ตอบว่า ย่อมรู้ทั่วซึ่งอริยสัจทั้งหลายโดยนัยมีคำว่า นี้ทุกข์ เป็นต้น แต่ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่า ย่อมให้รู้. ถามว่า ย่อมให้รู้อะไร? ตอบว่า ย่อมให้รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.
               ก็ปัญญานั้น ชื่อว่าอินทรีย์ ด้วยอรรถว่าเป็นอธิบดีเพราะครอบงำอวิชชา. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่กว่าธรรมอื่นในลักษณะแห่งการเห็น. ปัญญานั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าปัญญินทรีย์. ก็ปัญญานี้นั้นมีการส่องแสงเป็นลักษณะ และมีการรู้ทั่วเป็นลักษณะ เหมือนอย่างว่า เมื่อบุคคลจุดประทีปให้สว่างในเวลากลางคืนในบ้านที่มีฝา ๔ ด้าน ความมืดย่อมหมดไป แสงสว่างย่อมปรากฏฉันใด ปัญญามีการส่องสว่างฉันนั้น เหมือนกัน. ธรรมดาแสงสว่างเสมอด้วยแสงสว่างของปัญญาย่อมไม่มี.
               จริงอยู่ เมื่อมหาบุรุษผู้มีปัญญานั่งโดยบัลลังก์หนึ่ง หมื่นโลกธาตุก็มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน. ด้วยเหตุนั้น พระนาคเสนเถระจึงถวายพระพรพระราชาว่า มหาบพิตร ในเวลาที่มืดค่ำแล้ว บุรุษพึงเอาประทีปเข้าไปวางไว้ในบ้าน ประทีปที่นำเข้าไปแล้วย่อมกำจัดความมืด ย่อมยังโอภาสให้เกิดขึ้น ย่อมยังแสงสว่างให้รุ่งโรจน์ ย่อมทำรูปทั้งหลายให้ปรากฏ ฉันใด มหาบพิตร ปัญญาก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นย่อมกำจัดความมืดคือ อวิชชา ย่อมยังโอภาสคือวิชชาให้เกิด ย่อมยังแสงสว่างคือญาณให้รุ่งโรจน์ และย่อมทำอริยสัจจะทั้งหลายให้ปรากฏ มหาบพิตร ปัญญามีการส่องสว่างเป็นลักษณะด้วยประการฉะนี้แล.
               อีกอย่างหนึ่ง ปัญญาเมื่อเกิดขึ้นย่อมรู้ทั่วซึ่งธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลและอกุศล ที่ควรเสพและไม่ควรเสพ ที่เลวและประณีต ที่ดำและขาว และที่เข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ เหมือนแพทย์ผู้ฉลาดย่อมรู้เภสัชเป็นต้นที่เป็นที่สบายและไม่สบายแก่บุคคลผู้ป่วย ฉะนั้น. สมดังคำพระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้ว่า ดูก่อนอาวุโส ธรรมชาติใดย่อมรู้ทั่ว เพราะเหตุนั้น ธรรมชาตินั้นจึงชื่อว่าปัญญา. ถามว่า ย่อมรู้ทั่วซึ่งอะไร? ตอบว่า ย่อมรู้ทั่วว่า นี้ทุกข์เป็นต้น ข้อความนี้บัณฑิตพึงให้พิสดาร. พึงทราบความที่ปัญญานั้นมีความรู้ทั่วเป็นลักษณะด้วยประการฉะนี้.
               อีกนัยหนึ่ง ปัญญามีการแทงตลอดสภาวะเป็นลักษณะ หรือการแทงตลอดไม่ผิดพลาดเป็นลักษณะดุจการแทงของลูกศรที่นายขมังธนูผู้ฉลาดยิงไป ฉะนั้น มีการส่องให้เห็นอารมณ์เป็นรสดุจประทีป มีการไม่หลงใหลเป็นปัจจุปัฏฐานดุจผู้ชี้ทางแก่บุคคลไปมาฉะนั้น.

               ความหมายของคำว่ามนินทรีย์               
               ธรรมที่ชื่อว่ามนะ เพราะย่อมรู้ คือย่อมรู้แจ้ง.
               แต่ท่านอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ชื่อว่ามนะ เพราะย่อมรู้อารมณ์ เหมือนบุคคลนับอยู่ด้วยทะนาน และเหมือนชั่งอยู่ด้วยชั่งใหญ่ ฉะนั้น. มนะนั้นนั่นแหละ ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่กว่าธรรมอื่นในลักษณะแห่งความรู้. มนะนั่นแหละเป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่ามนินทรีย์.
               มนะนี้เป็นคำไวพจน์ของจิตตามที่กล่าวแล้วในหนหลัง.

               ความหมายของคำว่าโสมนัสสินทรีย์               
               บุคคลชื่อว่าสุมนะ เพราะมีใจงาม เพราะสัมปโยคะด้วยปีติและโสมนัส. ความเป็นแห่งบุคคลผู้มีใจงาม ชื่อว่าโสมนัสสะ โสมนัสสะนั้นชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่กว่าธรรมอื่นในลักษณะแห่งความยินดี. โสมนัสสะนั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าโสมนัสสินทรีย์.
               โสมนัสสินทรีย์นี้เป็นไวพจน์ของเวทนาตามที่กล่าวแล้วในหนหลังแล.

               ความหมายของชีวิตินทรีย์               
               ธรรมที่ชื่อว่าชีวิต เพราะเป็นเหตุให้ธรรมที่สัมปยุตด้วยชีวิตินทรีย์นั้นเป็นอยู่. ชีวิตนั้นชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่กว่าธรรมอื่นในลักษณะแห่งการตามรักษา. ชีวิตนั่นแหละเป็นอินทรีย์ ชื่อว่าชีวิตินทรีย์ ชีวิตินทรีย์นั้นเป็นอธิบดีในความเป็นไปและสืบต่อ. ก็เมื่อว่าโดยลักษณะเป็นต้น ชีวิตินทรีย์มีการตามรักษาธรรมที่เกิดแล้วโดยไม่เว้นตนเป็นลักษณะ มีการเป็นไปแห่งสัมปยุตธรรมเหล่านั้นเป็นรส มีการดำรงอยู่แห่งสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นนั่นแหละเป็นปัจจุปัฏฐาน มีธรรม (คือ เวทนา สัญญา วิญญาณ) ที่เป็นอยู่เป็นปทัฏฐาน. เมื่อการทรงไว้มีการตามรักษาเป็นต้น แม้มีอยู่ ชีวิตินทรีย์ก็ย่อมตามรักษาธรรมในขณะที่มีอยู่เท่านั้น เหมือนน้ำตามรักษาอยู่ซึ่งดอกอุบลเป็นต้น และย่อมรักษาธรรมทั้งหลายอันเกิดขึ้นเพราะปัจจัยตามความเป็นของตนดุจแม่นมเลี้ยงดูกุมาร และเป็นไปโดยสัมพันธ์กับธรรมที่ตนให้เป็นไปดุจต้นหนยังเรือให้แล่นไป ชีวิตินทรีย์นั้นให้เป็นไปเหนือภังคขณะไม่ได้ เพราะความที่ตนและธรรมที่ตนให้เป็นไปไม่มี ย่อมไม่ตั้งอยู่ในภังคขณะเพราะตนเองก็ต้องแตกดับ ดุจไส้น้ำมันสิ้นไปอยู่ เปลวประทีปก็ดับไป บัณฑิตไม่พึงเห็นชีวิตินทรีย์ว่าเว้นจากอานุภาพแห่งการรักษา การให้เป็นไป การดำรงไว้เพราะชีวิตินทรีย์ยังอานุภาพนั้นๆ ให้สำเร็จ ดังนี้.

               อธิบายว่าด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นต้น               
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น องค์มรรคที่ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ เพราะอรรถว่าการเห็น. ชื่อว่าสัมมาสังกัปปะ เพราะอรรถว่าการยกขึ้น. ชื่อว่าสัมมาวายามะ เพราะอรรถว่าการประคอง. ชื่อว่าสัมมาสติ เพราะอรรถว่าการอุปการะ ชื่อว่าสัมมาสมาธิ เพราะอรรถว่าการไม่ฟุ้งซ่าน. ก็ว่าโดยวจนัตถะ คือความหมายของพระบาลี ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ เพราะเห็นชอบหรือว่าเป็นเหตุให้เห็นชอบ. ชื่อว่าสัมมาสังกัปปะ เพราะดำริชอบหรือว่าเป็นเหตุให้ดำริชอบ. ชื่อว่าสัมมาวายามะ เพราะพยายามชอบหรือว่าเป็นเหตุให้พยายามชอบ. ชื่อว่าสัมมาสติ เพราะระลึกชอบหรือว่าเป็นเหตุให้ระลึกชอบ. ชื่อว่าสัมมาสมาธิ เพราะตั้งมั่นโดยชอบหรือว่าเป็นเหตุให้ตั้งมั่นโดยชอบ. อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบวจนัตถะขององค์มรรคนั้นโดยนัยแม้นี้ว่า ทิฏฐิอันบัณฑิตสรรเสริญแล้วเป็นทิฏฐิดี ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ. ส่วนธรรมมีลักษณะเป็นต้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแหละ.

               อธิบายว่าด้วยศรัทธาพละเป็นต้น               
               ธรรมมีศรัทธาพละเป็นต้นมีเนื้อความตามกล่าวไว้แม้ใน ศรัทธาพละนั่นแหละ แต่ว่าพึงทราบว่าพละเพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหว. บรรดาธรรมเหล่านั้น ธรรมที่ชื่อว่าศรัทธาพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา. ชื่อว่าวิริยพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในความเกียจคร้าน. ชื่อว่าสติพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในความหลงลืมสติ. ชื่อว่าสมาธิพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในความฟุ้งซ่าน. ชื่อว่าปัญญาพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในอวิชชา. ชื่อว่าหิริพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในอหิริกะ. ชื่อว่าโอตตัปปพละ เพราะไม่หวั่นไหวไปในอโนตตัปปะ นี้เป็นการพรรณนาเนื้อความด้วยอำนาจบททั้งสอง ด้วยประการฉะนี้.
               บรรดาพละ ๗ เหล่านั้น พละ ๕ เบื้องต้นข้าพเจ้าประกาศแล้วโดยลักษณะเป็นต้นนั่นแหละ พละ ๒ บทหลัง มีคำอธิบายว่า ธรรมที่ชื่อว่าหิริ เพราะละอายแต่กายทุจริตเป็นต้น คำว่า หิรินี้เป็นชื่อของความละอาย ชื่อว่าโอตตัปปะ เพราะความเกรงกลัวแต่กายทุจริตเป็นต้นเหล่านั้น เหมือนกัน คำว่าโอตตัปปะนี้เป็นชื่อของความเกรงกลัวต่อบาป. เพื่อการแสดงความต่างกันแห่งหิริและโอตตัปปะทั้ง ๒ นั้น ท่านจึงเริ่มตั้งมาติกา (แม่บท) นี้ว่า สมุฏฺฐานํ อธิปติลชฺชาภยลกฺขเณน วา (สมุฏฐาน อธิบดี ลัชชาภัยและลักษณะ) ดังนี้.
               ว่าโดยสมุฏฐานเป็นต้น ชื่อว่าหิริ เพราะมีเหตุภายในเป็นสมุฏฐาน. ชื่อว่าโอตตัปปะ เพราะมีเหตุภายนอกเป็นสมุฏฐาน. ชื่อว่าหิริ เพราะมีอัตตาเป็นอธิบดี ชื่อว่าโอตตัปปะ เพราะมีโลกเป็นอธิบดี. ชื่อว่าหิริ เพราะตั้งอยู่โดยสภาพแห่งความละอาย. ชื่อว่าโอตตัปปะ เพราะตั้งอยู่โดยสภาพแห่งความกลัว. ชื่อว่าหิริ เพราะมีความเคารพเชื่อฟังเป็นลักษณะ ชื่อว่าโอตตัปปะ เพราะมีความกลัวโทษและเห็นภัยเป็นลักษณะ บรรดาหิริและโอตตัปปะเหล่านั้น บุคคลย่อมให้หิริอันมีเหตุภายในเป็นสมุฏฐานด้วยเหตุ ๔ คือ พิจารณาถึงชาติ พิจารณาถึงวัย พิจารณาถึงความเป็นผู้กล้า พิจารณาถึงความเป็นพหูสูต.
               ถามว่า พิจารณาอย่างไร?
               ตอบว่า เบื้องต้นบุคคลพิจารณาถึงชาติอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าการกระทำความชั่วนี้ไม่ใช่การงานของบุคคลสมบูรณ์ด้วยชาติ การงานนี้เป็นของบุคคลผู้มีชาติมีพวกประมงเป็นต้น การงานนี้ไม่สมควรแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยชาติเช่นดังเรา แล้วไม่ทำปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่ายังหิริให้ตั้งขึ้น.
               อนึ่ง บุคคลผู้พิจารณาถึงวัยอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าการทำบาปนี้เป็นการกระทำอันคนหนุ่มทั้งหลายพึงกระทำ การทำนี้ไม่สมควรแก่ผู้ดำรงอยู่ในวัยเช่นอย่างเรา แล้วไม่ทำปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่าย่อมยังหิริให้ตั้งขึ้น.
               อนึ่ง บุคคลพิจารณาถึงความเป็นผู้กล้าอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าการทำบาปนี้เป็นการทำของบุคคลผู้มีชาติอ่อนแอ การทำนี้ไม่สมควรแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยความกล้าเช่นเรา แล้วไม่ทำปาณาติบาตเป็นต้น ชื่อว่าย่อมยังหิริให้ตั้งขึ้น.
               อนึ่ง บุคคลพิจารณาถึงความเป็นพหูสูตอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าการทำบาปนี้เป็นการกระทำของบุคคลอันธพาลไม่ใช่ของบัณฑิต การทำนี้ไม่สมควรแก่บุคคลผู้เป็นพหูสูตผู้เป็นบัณฑิตเช่นกับเราแล้วไม่ทำบาป ชื่อว่าย่อมยังหิริให้ตั้งขึ้นด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลชื่อว่าย่อมยังหิริอันมีเหตุภายในเป็นสมุฏฐานให้ตั้งขึ้นด้วยเหตุ ๔ อย่าง ก็และครั้นให้ตั้งขึ้น คือให้หิริเข้าไปตั้งไว้ในจิตของตนไม่กระทำบาปกรรม ชื่อว่าหิริ มีเหตุภายในเป็นสมุฏฐานด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า ชื่อว่าโอตตัปปะ มีเหตุภายนอกเป็นสมุฏฐาน อย่างไร?
               ตอบว่า ถ้าท่านจักทำบาป ท่านก็จักถูกบริษัท ๔ ติเตียน.
               จริงอยู่ เมื่อบุคคลพิจารณาอยู่อย่างนี้ว่า
                                   วิญญูชนทั้งหลายจักติเตียนเธอ เธอ
                         จักเป็นอันบุคคลผู้มีศีลทั้งหลายเว้นแล้ว
                         เหมือนชาวพระนครเว้นของไม่สะอาด
                         ดูก่อนภิกษุ เธอจักทำอย่างไรเล่า ดังนี้.
               บุคคลนั้นย่อมไม่ทำบาปกรรมเพราะโอตตัปปะอันมีเหตุภายนอกเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่าโอตตัปปะ มีเหตุภายนอกเป็นสมุฏฐาน ด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า ชื่อว่าหิริ มีอัตตาเป็นอธิบดี อย่างไร.
               ตอบว่า กุลบุตรบางคนในโลกนี้กระทำตนให้เป็นใหญ่ให้เป็นหัวหน้าแล้วคิดว่า การทำความชั่วไม่สมควรแก่บุคคลผู้บวชด้วยศรัทธา เป็นพหูสูต ผู้ปฏิบัติธุดงค์ ผู้เช่นกับเรา แล้วไม่ทำบาปกรรม ชื่อว่าหิริ มีอัตตาเป็นอธิบดี อย่างนี้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า บุคคลนั้นกระทำตนเท่านั้นให้เป็นใหญ่ ให้เป็นหัวหน้าแล้วย่อมละอกุศล เจริญกุศล ย่อมละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมไม่มีโทษ ย่อมบริหารตนให้หมดจด ดังนี้.
               ถามว่า ชื่อว่าโอตตัปปะ มีโลกเป็นอธิบดี อย่างไร.
               ตอบว่า กุลบุตรบางคนในโลกนี้กระทำโลกให้เป็นใหญ่ ให้เป็นหัวหน้า แล้วไม่ทำบาปกรรม เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า ก็โลกสันนิวาสนี้ใหญ่แล อนึ่ง ในโลกสันนิวาสใหญ่แล ย่อมมีสมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้จิตของผู้อื่น สมณพราหมณ์เหล่านั้นย่อมมองเห็นได้แม้แต่ที่ไกล แม้แต่ที่ใกล้เราก็มองไม่เห็นท่าน สมณพราหมณ์ เหล่านั้นย่อมรู้ชัดซึ่งจิตแม้ด้วยจิต ท่านแม้เหล่านั้นจักรู้เราอย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงดูกุลบุตรนี้ซิ เขาเป็นผู้มีศรัทธาออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตผู้ไม่มีเรือน แต่เกลื่อนกล่นด้วยอกุศลธรรมอันลามกอยู่ ดังนี้ ถึงเทวดาทั้งหลายที่มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุ รู้ใจผู้อื่นก็มีอยู่ เทวดาเหล่านั้นย่อมมองเห็นได้แม้แต่ที่ไกล แม้ท่านอยู่ใกล้พวกเราก็ไม่เห็น เทวดาเหล่านั้นย่อมรู้ชัดซึ่งจิตแม้ด้วยจิต ถึงพวกเทวดาเหล่านั้นก็จักรู้เราอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงดูกุลบุตรนี้ซิ เป็นผู้มีศรัทธาออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตผู้ไม่มีเรือน แต่เกลื่อนกล่นไปด้วยอกุศลธรรมอันลามกทั้งหลายอยู่ ดังนี้ บุคคลนั้นกระทำโลกเท่านั้นให้เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้าแล้ว ย่อมละอกุศล เจริญกุศล ย่อมละธรรมที่มีโทษ เจริญธรรมไม่มีโทษ ย่อมบริหารตนให้หมดจด ชื่อว่าโอตตัปปะ มีโลกเป็นอธิบดี ด้วยประการฉะนี้.
               ก็บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในคำว่า หิริ อันตั้งขึ้นด้วยสภาวะ คือความละอาย และโอตตัปปะอันตั้งขึ้นด้วยสภาวะคือความกลัวต่อไป คำว่า ละอาย ได้แก่ อาการที่น่าละอาย อธิบายว่า หิริตั้งอยู่โดยสภาวะที่น่าละอายนั้น. คำว่า กลัว ได้แก่ กลัวอบาย. อธิบายว่า โอตตัปปะตั้งอยู่โดยสภาวะที่กลัวนั้น. หิริและโอตตัปปะแม้ทั้ง ๒ นั้น ย่อมปรากฏในการเว้นจากความชั่ว. จริงอยู่ คนบางคนก้าวลงสู่ธรรมคือ ความละอายในภายใน ย่อมไม่ทำบาป เหมือนอย่างกุลบุตรบางคนผู้กระทำการถ่ายอุจจาระปัสสาวะเป็นต้น เห็นบุคคลแม้คนเดียวที่ตนควรละอายก็พึงถึงอาการละอาย พึงแอบแล้วเป็นผู้ละอายแล้ว ไม่ทำการถ่ายอุจจาระปัสสาวะฉะนั้น. คนบางคนเป็นผู้กลัวต่อภัยในอบายแล้ว ก็ไม่ทำบาปกรรม.
               ในอธิการแห่งหิริและโอตตัปปะนั้น มีข้ออุปมาดังนี้.
               เปรียบเหมือนก้อนเหล็ก ๒ ก้อน ก้อนหนึ่งเย็นแต่เปื้อนคูถ ก้อนหนึ่งร้อนลุกโพลง บรรดาก้อนเหล็กทั้ง ๒ นั้น คนฉลาดรังเกียจก้อนเหล็กที่เย็นแต่เปื้อนคูถจึงไม่จับ รังเกียจก้อนเหล็กนอกนี้เพราะกลัวความร้อน ในการอุปมานั้น พึงทราบการที่บุคคลก้าวลงสู่ธรรม คือความละอายภายในแล้วไม่ทำ บาปเหมือนคนฉลาดไม่จับก้อนเหล็กเย็นที่เปื้อนคูถเพราะความรังเกียจ. พึงทราบการไม่ทำบาปเพราะกลัวอบาย เหมือนบุคคลไม่จับก้อนเหล็กร้อนเพราะกลัวความร้อน ฉะนั้น.
               หิริมีความเคารพเชื่อฟังเป็นลักษณะ โอตตัปปะมีความกลัวโทษและเห็นภัยเป็นลักษณะ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้ง ๒ แม้นี้จึงปรากฏในการเว้นจากบาปเหมือนกัน. จริงอยู่ คนบางคนยังหิริอันมีความเคารพเชื่อฟังเป็นลักษณะ ให้ตั้งขึ้นแล้วไม่ทำบาปด้วยเหตุ ๔ คือ พิจารณาถึงชาติที่เป็นใหญ่ พิจารณาถึงศาสดาที่เป็นใหญ่ พิจารณาถึงความเป็นทายาทที่เป็นใหญ่ พิจารณาถึงเพื่อนพรหมจารีที่เป็นใหญ่ บางคนยังโอตตัปปะอันมีความกลัวโทษและเห็นภัยเป็นลักษณะให้ตั้งขึ้นแล้วไม่ทำบาปด้วยเหตุ ๔ คือ ภัยเกิดแต่การติเตียนตนเอง ภัยเกิดแต่การติเตียนแต่ผู้อื่น ภัยแต่อาชญา ภัยแต่ทุคติ. บรรดาเหตุทั้ง ๘ เหล่านั้น บัณฑิตพึงกล่าวถึงการพิจารณาชาติที่เป็นใหญ่เป็นต้น และภัยมีการติเตียนตนเองเป็นต้นให้พิสดาร.

               ความหมายของคำว่าอโลภะ               
               ธรรมที่ชื่อว่าอโลภะ เพราะเป็นเหตุให้ไม่โลภ หรือว่า ตัวเองไม่โลภ หรือว่าเป็นเพียงความไม่โลภ. แม้ในอโทสะและอโมหะก็นัยนี้เหมือนกัน บรรดาธรรมทั้ง ๓ เหล่านั้น อโลภะมีความที่จิตไม่กำหนัดในอารมณ์เป็นลักษณะ หรือมีความที่จิตไม่ติดในอารมณ์เป็นลักษณะเหมือนหยดน้ำไม่ติดบนใบบัว มีการไม่หวงแหนเป็นรสเหมือนภิกษุพ้นแล้ว มีการไม่ติดใจ เป็นปัจจุปัฏฐานเหมือนบุรุษผู้ตกไปในของไม่สะอาด ฉะนั้น. อโทสะมีการไม่ดุร้ายเป็นลักษณะ หรือว่า มีการไม่พิโรธเป็นลักษณะเหมือนมิตรผู้ช่วยเหลือ มีการกำจัดความอาฆาตเป็นรส หรือว่า มีการกำจัดความเร่าร้อนเป็นรสเหมือนเนื้อไม้จันทน์ มีความร่มเย็นเป็นปัจจุปัฏฐานเหมือนจันทร์เพ็ญ. ส่วนอโมหะพร้อมทั้งลักษณะเป็นต้น ท่านตั้งบทอธิบายเหมือนปัญญินทรีย์ ตามที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               อนึ่ง ในธรรมทั้ง ๓ เหล่านี้ อโลภะเป็นข้าศึกต่อมลทินคือความตระหนี่ อโทสะเป็นข้าศึกต่อมลทินคือความเป็นผู้ทุศีล อโมหะเป็นข้าศึกต่อความไม่เจริญในกุศลธรรมทั้งหลาย และในบรรดาคุณธรรมเหล่านั้น อโลภะเป็นเหตุแห่งทาน อโทสะเป็นเหตุแห่งศีล อโมหะเป็นเหตุแห่งภาวนา. บรรดาคุณธรรมเหล่านั้น บุคคลมีความไม่โลภย่อมถือเอาไม่มาก เพราะผู้โลภจึงถือเอามาก บุคคลไม่มีโทสะย่อมถือเอาไม่พร่อง เพราะผู้โทสะประทุษร้ายจึงถือเอาพร่อง บุคคลไม่มีความหลงย่อมถือเอาไม่วิปริต เพราะผู้หลงจึงถือเอาวิปริต.
               อนึ่ง ในบรรดาคุณธรรมเหล่านี้ บุคคลทรงจำโทษที่มีอยู่โดยความเป็นโทษ ย่อมเปิดเผยโทษทั้งหลายไปเพราะความไม่โลภ เพราะว่า บุคคลโลภแล้วย่อมปกปิดโทษ. บุคคลทรงจำคุณที่มีอยู่โดยความเป็นคุณ ย่อมประกาศคุณทั้งหลายให้เป็นไปเพราะความไม่มีโทสะ เพราะว่า บุคคลมีโทสะประทุษร้ายแล้ว ย่อมลบหลู่คุณท่าน. บุคคลทรงจำไว้ซึ่งสภาวะตามความเป็นจริง โดยสภาวะตามความเป็นจริง ย่อมประกาศสภาวะตามความเป็นจริงให้เป็นไป เพราะความไม่หลง เพราะว่า บุคคลหลงย่อมถือเอาสิ่งที่แท้จริง ว่าเป็นสิ่งที่ไม่แท้จริง ถือเอาสิ่งที่ไม่แท้จริง ว่าเป็นสิ่งที่แท้จริง.
               อนึ่ง ทุกข์มีการพลัดพรากจากของที่รักย่อมไม่มี เพราะความไม่โลภ เพราะคนโลภแล้ว มีสภาวะยึดถือความรัก และเพราะอดทนต่อการพลัดพรากของที่รักไม่ได้. ทุกข์อันประสบกับของอันไม่เป็นที่รักย่อมไม่มีเพราะความไม่มีโทสะ เพราะบุคคลมีโทสะประทุษร้าย แล้วมีสภาวะยึดถือสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก และเพราะอดทนต่อการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักไม่ได้. ทุกข์มีการไม่ได้สิ่งที่ปรารถนาย่อมไม่มีเพราะความไม่หลง เพราะบุคคลผู้ไม่หลงมีการเจริญ พิจารณาอย่างนี้ว่า พวกท่านพึงได้สิ่งนั้นในที่นี้แต่ที่ไหน เป็นต้น.
               อนึ่ง บรรดาคุณธรรมเหล่านี้ ชาติทุกข์ย่อมไม่มีเพราะอโลภะ เพราะอโลภะเป็นปฏิปักษ์ต่อตัณหา และชาติทุกข์มีตัณหาเป็นมูล. ชราทุกข์ย่อมไม่มี เพราะอโทสะ เพราะบุคคลมีโทสะกล้าเป็นผู้มีสภาวะคือความชราเร็วพลัน. มรณทุกข์ย่อมไม่มีเพราะอโมหะ เพราะการตายของบุคคลผู้หลงเป็นทุกข์ แต่ทุกข์นั้นย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่หลง.
               อนึ่ง การอยู่ร่วมกันเป็นสุขของคฤหัสถ์ทั้งหลายเพราะความไม่โลภ การอยู่ร่วมกันเป็นสุขของบรรพชิตทั้งหลายเพราะความไม่หลง การอยู่ร่วมกันเป็นสุขของคฤหัสถ์และบรรพชิตแม้ทั้งหมด เพราะความไม่มีโทสะ.
               อนึ่ง บรรดาคุณธรรมเหล่านั้น ว่าโดยพิเศษ ความเกิดขึ้นในปิตติวิสัยย่อมไม่มีเพราะความไม่โลภ. จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายโดยมากย่อมเข้าถึงปิตติวิสัยเพราะตัณหา ด้วยว่า ความไม่โลภเป็นปฏิปักษ์ต่อตัณหา. ความเกิดในนรกย่อมไม่มีเพราะความไม่มีโทสะ จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมเข้าถึงนรกเช่นกับโทสะ เพราะความเป็นผู้ดุร้ายด้วยโทสะ ด้วยว่าอโทสะเป็นปฏิปักษ์ต่อโทสะ การเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานย่อมไม่มีเพราะความไม่หลง.
               จริงอยู่ บุคคลทั้งหลายผู้หลงเป็นนิตย์ด้วยโมหะย่อมเข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ด้วยว่า อโมหะเป็นปฏิปักษ์ต่อโมหะ บรรดาคุณธรรมเหล่านั้น อโลภะย่อมไม่ทำความเกี่ยวข้องด้วยอำนาจแห่งราคะ อโทสะย่อมไม่ทำความเกี่ยวข้องด้วยอำนาจแห่งโทสะ อโมหะย่อมไม่ทำความเป็นกลางด้วยอำนาจแห่งโมหะ.
               อนึ่ง ว่าโดยคุณธรรมเหล่านี้แม้ทั้ง ๓ ย่อมได้สัญญา ๓ เหล่านี้ ตามลำดับ คือ เนกขัมมสัญญา อัพยาปาทสัญญา อวิหึสาสัญญา และสัญญา ๓ เหล่านี้ คืออสุภสัญญา อัปปมาณสัญญา ธาตุสัญญา ก็การเว้นธรรมที่สุดคือกามสุขัลลิกานุโยคย่อมมีเพราะอโลภะ การเว้นธรรมที่สุดคืออัตตกิลมถานุโยคย่อมมีเพราะอโทสะ การดำเนินไปด้วยข้อปฏิบัติอันเป็นมัชฌิมาย่อมมีเพราะอโมหะ อนึ่ง การทำลายอภิชฌากายคัณฐะย่อมมีเพราะอโลภะ การทำลายพยาปาทกายคัณฐะย่อมมีเพราะอโทสะ การทำลายคัณฐะทั้ง ๒ ที่เหลือย่อมมีเพราะอโมหะ และสติปัฏฐาน ๒ ข้อเบื้องต้น ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพ (ความยิ่งใหญ่) แห่งคุณธรรม ๒ ข้อเบื้องต้น สติปัฏฐาน ๒ ข้อหลัง ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพแห่งคุณธรรมข้อหลังเท่านั้น.
               อนึ่ง บรรดาคุณธรรมเหล่านี้ อโลภะย่อมเป็นปัจจัยแก่ความไม่มีโรค เพราะบุคคลไม่โลภแล้วย่อมไม่เสพอสัปปายะ แม้เป็นอารมณ์ของโลภะ เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ไม่โลภจึงไม่มีโรค. อโทสะย่อมเป็นปัจจัยแก่ความหนุ่มสาว เพราะบุคคลไม่มีโทสะประทุษร้ายแล้ว ก็ไม่ถูกไฟคือโทสะอันนำมาซึ่งความเป็นผู้มีหนังเหี่ยวย่น และผมหงอกแผดเผาอยู่ ย่อมเป็นหนุ่มสาวได้นาน. อโมหะย่อมเป็นปัจจัยแก่ความมีอายุยืน เพราะบุคคลผู้ไม่หลงรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ ก็เว้นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เสพสิ่งที่เป็นประโยชน์ จึงเป็นผู้มีอายุยืน.
               อนึ่ง บรรดาคุณธรรมเหล่านั้น อโลภะเป็นปัจจัยแก่โภคสมบัติ เพราะคนไม่โลภแล้วก็เป็นผู้ได้เฉพาะซึ่งโภคะ ด้วยจาคะ. อโทสะเป็นปัจจัยแก่การได้มิตตสมบัติ เพราะเมื่อบุคคลไม่มีโทสะประทุษร้ายแล้ว ก็ได้มิตรและการไม่เสื่อมมิตร. อโมหะเป็นปัจจัยแก่อัตตสมบัติ เพราะบุคคลไม่หลง เมื่อทำประโยชน์ของตนนั่นแหละ ย่อมชื่อว่ายังตนให้ถึงพร้อม. อโลภะเป็นปัจจัยแก่ทิพยวิหาร อโทสะเป็นปัจจัยแก่พรหมวิหาร อโมหะเป็นปัจจัยแก่อริยวิหาร.
               อนึ่ง บรรดาคุณธรรมเหล่านั้น บุคคลผู้ดับเข็ญในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายตนได้ด้วยอโลภะ เพราะสัตว์และสังขารเหล่านั้นพินาศไป ก็ไม่มีความทุกข์อันมีความเกี่ยวข้องกันเป็นเหตุ ผู้ดับเข็ญในสัตว์และสังขารทั้งหลายฝ่ายอื่นได้ด้วยอโทสะ เพราะบุคคลไม่มีโทสะประทุษร้ายแล้ว ก็ไม่มีความสำคัญแม้ในบุคคลทั้งหลายที่จองเวรกัน. ผู้ดับเข็ญในสัตว์และสังขารทั้งหลายในฝ่ายความเฉยได้ด้วยอโมหะ เพราะคนไม่หลงก็ไม่มีความเกี่ยวข้องทั้งหมด. การเห็นอนิจจังย่อมมีด้วยอโลภะ เพราะบุคคลโลภแล้วย่อมไม่เห็นสังขารแม้ไม่เที่ยงโดยความเป็นไม่เที่ยง โดยมุ่งจะใช้สอย. การเห็นทุกข์ย่อมมีด้วยอโทสะ เพราะคนมีอัชฌาศัยไม่มีโทสะ กำหนดสละอาฆาตวัตถุได้แล้วย่อมเห็นสังขารนั่นแหละ โดยความเป็นทุกข์. การเห็นอนัตตาย่อมมีด้วยอโมหะ เพราะคนไม่หลงเป็นผู้ฉลาดในการถือเอาสภาวะตามความเป็นจริง ย่อมรู้ขันธ์ ๕ ซึ่งมิใช่ผู้เป็นใหญ่โดยมิใช่ผู้เป็นใหญ่. การเห็นอนิจจังเป็นต้น ย่อมมีด้วยคุณธรรม ๓ เหล่านี้ ฉันใด แม้คุณธรรม ๓ เหล่านั้นก็ย่อมมีด้วยการเห็นอนิจจังเป็นต้น ฉันนั้นเหมือนกัน.
               จริงอยู่ ความไม่โลภย่อมมีเพราะการเห็นอนิจจลักษณะ ความไม่โกรธย่อมมีเพราะการเห็นทุกขลักษณะ ความไม่หลงย่อมมีเพราะการเห็นอนัตตลักษณะ. เพราะว่า ชื่อว่าใครรู้โดยชอบว่า สิ่งนี้เป็นของไม่เที่ยงดังนี้แล้ว พึงให้ความรักเกิดขึ้นเพื่อต้องการสิ่งไม่เที่ยงนั้น หรือรู้อยู่ว่านี้เป็นทุกข์ในสังขารดังนี้แล้ว. พึงยังความทุกข์ที่เกิดจากความโกรธจัด แม้อื่นให้เกิดซ้ำอีกทีเดียว และรู้ถึงความว่างเปล่าแห่งอัตตาแล้ว ก็พึงถึงความหลงใหลอีกเล่า ดังนี้.

               ความหมายของคำว่าอนภิชฌา               
               ธรรมที่ชื่อว่าอนภิชฌา เพราะไม่เพ่งเล็ง. ชื่อว่าอัพยาบาท เพราะยังสุขทางกายสุขทางใจ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และการได้เกียรติที่ได้เฉพาะแล้วด้วยอานุภาพแห่งความดีไม่ให้พินาศ. ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ เพราะย่อมเห็นโดยชอบ หรือเห็นอันงาม. คำว่า อนภิชฌา เป็นต้นเหล่านั้นเป็นชื่อของธรรมมีความไม่โลภเป็นต้นนั่นแหละ ก็ธรรมเหล่านี้ พึงทราบว่า ในตอนต้นท่านถือเอาด้วยสามารถแห่งความเป็นมูล ในที่นี้พึงทราบว่า ท่านถือเอาด้วยสามารถแห่งกรรมบถ.
               แม้หิริและโอตตัปปะก็พึงทราบว่า ในตอนต้นท่านถือเอาด้วยอำนาจแห่งความเป็นพละ ในที่นี้พึงทราบด้วยอำนาจแห่งโลกบาล.
               จริงอยู่ ธรรมทั้ง ๒ นี้ย่อมรักษาโลก เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรมทั้ง ๒ เหล่านี้ ย่อมรักษาโลก ธรรม ๒ ประการเป็นไฉน? คือ หิริและโอตตัปปะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุกกธรรม ๒ เหล่านี้แลย่อมรักษาโลก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าสุกกธรรม ๒ เหล่านี้ไม่พึงคุ้มครองโลกไซร้ ในโลกนี้ก็ไม่พึงปรากฏ คำว่า แม่ น้า ป้า ภรรยาของอาจารย์ หรือภรรยาของครู ชาวโลกจักถึงแล้วซึ่งการปะปนกันเหมือนอย่างพวกแพะ แกะ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะสุกกธรรมทั้ง ๒ เหล่านี้ย่อมคุ้มครองโลก ฉะนั้น จึงยังปรากฏคำว่า แม่ น้า ป้า ภรรยาของอาจารย์ หรือภรรยาของครู ดังนี้.

               ความหมายของยุคลธรรม               
               ความสงบกายชื่อว่ากายปัสสัทธิ ความสงบจิตชื่อว่าจิตตปัสสัทธิ คำว่า กาย ในคำว่า กายปัสสัทธินี้ ได้แก่ ขันธ์ ๓ มีเวทนาขันธ์เป็นต้น อนึ่ง ปัสสัทธิธรรมทั้ง ๒ แม้เหล่านี้รวมกันแล้ว พึงเห็นว่ากายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิ มีการระงับความกระวนกระวายทางกายและทางจิตเป็นลักษณะ มีการกำจัดความกระวนกระวายทางกายและจิตเป็นรส มีการเยือกเย็นไม่เร่าร้อนแห่งกายและจิตเป็นปัจจุปัฏฐาน มีกาย (เจตสิก) และจิตเป็นปทัฏฐาน เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส มีอุทธัจจะอันกระทำความไม่สงบเป็นต้นแห่งกายและจิต.
               ความเบาแห่งกาย ชื่อว่ากายลหุตา. ความเบาแห่งจิต ชื่อว่าจิตตลหุตา. ลหุตาทั้ง ๒ นั้น พึงเห็นว่า มีความสงบความหนักกายและจิต เป็นลักษณะ มีการกำจัดความหนักกายและจิตเป็นรส มีความไม่ชักช้าแห่งกายและจิตเป็นปัจจุปัฏฐาน มีกายและจิตเป็นปทัฏฐาน เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีถีนมิทธะเป็นต้นที่กระทำความหนัก.
               ความอ่อนแห่งกาย ชื่อว่ากายมุทุตา. ความอ่อนแห่งจิต ชื่อว่าจิตตมุทุตา. กายและจิตตมุทุตาเหล่านั้น มีความสงบความกระด้างกายและจิต เป็นลักษณะ มีการกำจัดความกระด้างกายและจิตเป็นรส มีการไม่คับแค้นใจ เป็นปัจจุปัฏฐาน มีกายและจิตเป็นปทัฏฐาน พึงเห็นว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีทิฏฐิและมานะเป็นต้น อันกระทำความที่กายและจิตให้กระด้าง.
               ความควรแก่การงานของกาย ชื่อว่ากายกัมมัญญตา ความควรแก่การงานของจิต ชื่อว่าจิตตกัมมัญญตา. กัมมัญญตาทั้ง ๒ นั้นมีการเข้าไปสงบความไม่ควรแก่การงานของกายและจิตเป็นลักษณะ มีการกำจัดการไม่ควรแก่การงานของกายและจิตเป็นรส มีการถึงพร้อมด้วยการทำกายและจิตสมควรแก่อารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน มีกายและจิตเป็นปทัฏฐาน พึงเห็นว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์ที่เหลือ อันกระทำความไม่ควรแก่การงานของกายและจิต. และพึงเห็นกัมมัญญตาทั้ง ๒ นั้น เป็นธรรมนำมาซึ่งความเลื่อมใสในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสทั้งหลาย เป็นการนำมาซึ่งความเกษม เหมาะสมในการทำประโยชน์เกื้อกูลดุจความหมดจดแห่งทอง ฉะนั้น.
               ความเป็นแห่งการคล่องแคล่วของกาย ชื่อว่ากายปาคุญญตา ความเป็นแห่งการคล่องแคล่วของจิต ชื่อว่าจิตตปาคุญญตา. ปาคุญญตาทั้ง ๒ นั้น มีการไม่ขัดข้องของกายและจิตเป็นลักษณะ มีการกำจัดความขัดข้องของกายและจิตเป็นรส มีการปราศจากโทษเป็นปัจจุปัฏฐาน มีกายและจิตเป็นปทัฏฐาน พึงเห็นว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลส คือความเป็นผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น อันกระทำความขัดข้องของกายและจิต.
               ความตรงของกาย ชื่อว่ากายุชุกตา ความตรงของจิต ชื่อว่าจิตตุชุกตา. อุชุกตาทั้ง ๒ นั้น มีการตรงของกายและจิตเป็นลักษณะ มีการกำจัดการคดของกายและจิตเป็นรส มีการซื่อตรงของกายและจิตเป็นปัจจุปัฏฐาน มีกายและจิตเป็นปทัฏฐาน พึงทราบว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อกิเลสมีมายาและสาเถยยะเป็นต้น อันกระทำความคดโค้งของกายและจิต.
               ธรรมที่ชื่อว่าสติ เพราะระลึก ชื่อว่าสัมปชัญญะ เพราะรู้ตัว. อธิบายว่า ย่อมรู้โดยประการต่างๆ รอบด้าน. ก็บรรดาธรรมทั้ง ๒ นั้น พึงทราบสัมปชัญญะ ๔ ประเภทเหล่านี้ คือ สาตถกสัมปชัญญะ สัปปายสัมปชัญญะ โคจรสัมปชัญญะ อสัมโมหสัมปชัญญะ ส่วนธรรมมีลักษณะเป็นต้นของสติและสัมปชัญญะเหล่านั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวในสตินทรีย์และปัญญินทรีย์นั่นแหละ คู่ธรรมนี้ ตรัสไว้ในหนหลังแล้ว ในที่นี้ตรัสไว้อีกด้วยสามารถแห่งความเป็นธรรมมีอุปการะด้วยประการฉะนี้.
               ธรรมที่ชื่อว่าสมถะ เพราะสงบธรรมที่เป็นข้าศึกมีกามฉันทะเป็นต้น. ชื่อว่าวิปัสสนา เพราะเห็นธรรมทั้งหลายโดยอาการต่างๆ ด้วยสามารถแห่งความไม่เที่ยงเป็นต้น โดยอรรถะวิปัสสนานี้ก็คือปัญญานั่นเอง. ธรรมมีลักษณะเป็นต้นแห่งสมถะและวิปัสสนาแม้เหล่านี้มีเนื้อความตามที่กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล แต่ถือเอาในที่นี้อีกด้วยสามารถแห่งธรรมยุคนัทธะ (ธรรมเนื่องกันเหมือนแอก).
               ธรรมที่ชื่อว่าปัคคาหะ เพราะประคองสหชาตธรรม. ที่ชื่อว่าอวิกเขปะ เพราะความไม่ฟุ้งซ่านโดยปฏิปักษ์ต่อความฟุ้งซ่าน คืออุทธัจจะ ธรรมมีลักษณะเป็นต้น แม้แห่งธรรมทั้ง ๒ นี้ กล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแหละ ก็ธรรมทั้ง ๒ นี้ พึงทราบว่าถือเอาในที่นี้เพื่อการประกอบวิริยะและสมาธิแล.

               อธิบายคำว่า เยวาปนกนัย               
               คำว่า เยวาปน ตสฺมึ สมเย อญฺเญปิ อตฺถิ ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา อรูปิโน ธมฺมา อิเม ธมฺมา กุสลา (ก็หรือว่า ในสมัยนั้น ธรรมที่มิใช่รูป ซึ่งอาศัยกันและกันเกิดขึ้น แม้อื่นใดมีอยู่ ธรรมเหล่านี้ชื่อว่ากุศล) พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               กุศลธรรมเกิน ๕๐ (ปโรปณฺณาสธมฺมา) เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกขึ้นแสดงโดยลำดับว่า ผัสสะย่อมมี ฯลฯ อวิกเขปะย่อมมีอย่างเดียว ก็หาไม่ โดยที่แท้ทรงแสดงว่า ในสมัยใด มหาจิตเป็นอสังขาริก ดวงที่หนึ่งสหรคตด้วยโสมนัสสติเหตุกะฝ่ายกามาวจรย่อมเกิดขึ้น ในสมัยนั้น ธรรมแม้เหล่าอื่นที่เป็นเยวาปนกธรรม ที่สัมปยุตด้วยธรรมเหล่านั้นนั่นแหละ มีผัสสะเป็นต้น ซึ่งอาศัยปัจจัยอันสมควรแก่ตนๆ เกิดขึ้น ชื่อว่าอรูป เพราะความไม่มีรูป ซึ่งกำหนดได้โดยสภาวะ ธรรมเหล่านี้แม้ทั้งหมดเป็นกุศล.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ธรรมราชาครั้นแสดงธรรมเกิน ๕๐ ที่ยกขึ้นไว้ในบาลีด้วยอำนาจแห่งส่วนประกอบของจิตด้วยพุทธพจน์มีประมาณเท่านี้แล้ว จึงทรงแสดงธรรม ๙ อย่าง แม้อื่นอีกด้วยสามารถแห่งเยวาปนกธรรม. จริงอยู่ บรรดาบทพระสูตรเหล่านั้นๆ ธรรม ๙ เหล่านี้ย่อมปรากฏ คือ
               ฉันทะ ๑ อธิโมกข์ ๑ มนสิการ ๑ ตัตรมัชฌัตตตา ๑ กรุณา ๑ มุทิตา ๑ กายทุจริตวิรัติ ๑ วจีทุจริตวิรัติ ๑ มิจฉาชีววิรัติ ๑.
               อนึ่ง ในมหาจิตดวงที่หนึ่งแม้นี้ ฉันทะในกุศลธรรมของความเป็นผู้ใคร่เพื่อกระทำก็มีอยู่ แต่ไม่ได้ยกไว้ในพระบาลีด้วยอำนาจแห่งส่วนประกอบของจิต ในที่นี้ ฉันทะนั้นท่านจึงถือเอาด้วยสามารถแห่งเยวาปนกธรรม. อธิโมกข์ก็มี มนสิการ ตัตรมัชฌัตตตา และบุรพภาคของเมตตาก็มี เมื่ออโทสะทรงถือเอาแล้ว บุรพภาคของเมตตานั้นก็เป็นอันถือเอาด้วยเหมือนกัน ถึงบุรพภาคของกรุณา บุรพภาคของมุทิตา บุรพภาคของอุเบกขาก็มี แต่เมื่อตัตรมัชฌัตตตาทรงถือเอาแล้ว บุรพภาคของอุเบกขานั้นก็ย่อมเป็นอันถือเอาแล้วโดยแท้ สัมมาวาจาก็มี สัมมากัมมันตะก็มี สัมมาอาชีวะก็มี แต่ท่านไม่ได้ยกขึ้นไว้ในบาลีด้วยสามารถแห่งส่วนประกอบของจิต ในที่นี้ ธรรมมีสัมมาวาจาเป็นต้นแม้นั้นก็ถือเอาด้วยอำนาจแห่งเยวาปนกธรรม แต่ในบรรดาธรรม ๙ อย่างเหล่านี้ ธรรม ๔ อย่าง ที่ได้ในขณะเดียวกัน คือ ฉันทะ ๑ อธิโมกข์ ๑ มนสิการ ๑ ตัตรมัชฌัตตตา ๑ ที่เหลือนอกนั้นได้ในขณะต่างกัน.
               เหมือนอย่างว่า บุคคลย่อมละมิจฉาวาจาด้วยจิตดวงนี้ ย่อมบำเพ็ญสัมมาวาจาด้วยอำนาจวิรัติในกาลใด ในกาลนั้น ธรรม ๕ อย่างเหล่านี้ คือธรรม ๔ มีฉันทะเป็นต้น และสัมมาวาจาย่อมเกิดในขณะเดียวกัน. เมื่อใด บุคคลย่อมละมิจฉากัมมันตะ ย่อมบำเพ็ญสัมมากัมมันตะด้วยอำนาจวิรัติ ฯลฯ ย่อมละมิจฉาอาชีวะ ย่อมบำเพ็ญสัมมาอาชีวะด้วยอำนาจวิรัติ ฯลฯ เมื่อใดกระทำบริกรรมด้วยกรุณา ฯลฯ ทำบริกรรมด้วยมุทิตา ในกาลนั้น ธรรม ๕ เหล่านี้ย่อมเกิดในขณะเดียวกัน คือ ธรรม ๔ อย่างมีฉันทะเป็นต้น และบุรพภาคของมุทิตา. ก็นอกจากนี้แล้ว เมื่อบุคคลให้ทาน บำเพ็ญศีล เจริญภาวนา ย่อมได้ธรรม ๔ อย่าง (ฉันทะ อธิโมกข์ มนสิการ ตัตรมัชฌัตตตา) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่แน่นอน.

               อธิบายฉันทะเป็นต้น               
               บรรดาเยวาปนกธรรมทั้ง ๙ เหล่านี้ ดังที่พรรณนามานี้ คำว่า ฉันทะ เป็นชื่อของกัตตุกัมยตา เพราะฉะนั้น ฉันทะนั้น จึงมีความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำเป็นลักษณะ มีการแสวงหาอารมณ์เป็นกิจ มีการต้องการอารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน อารมณ์ของฉันทะนั้นนั่นแหละเป็นปทัฏฐาน ก็ฉันทะนี้ในการยึดอารมณ์ บัณฑิตพึงเห็นเหมือนจิตเหยียดมือออกไป.
               ความน้อมใจเชื่อ ชื่อว่าอธิโมกข์ อธิโมกข์นั้นมีการตกลงใจเป็นลักษณะ มีการไม่ส่ายไปเป็นรส มีการตัดสินเป็นปัจจุปัฏฐาน มีธรรมที่พึงตกลงใจเป็นปทัฏฐาน อธิโมกข์นี้พึงเห็นเหมือนเสาเขื่อนเพราะความไม่หวั่นไหวในอารมณ์.
               การกระทำ ชื่อว่า การะ การกระทำไว้ในใจชื่อว่ามนสิการ ธรรมที่ชื่อว่ามนสิการ เพราะทำใจให้ขึ้นสู่วิถีจากภวังคจิต.
               มนสิการนี้นั้นมี ๓ ประการ คือ
                         อารัมมณปฏิปาทกะ (สังขารขันธ์)
                         วิถีปฏิปาทกะ (ปัญจทวาราวัชชนจิต)
                         ชวนปฏิปาทกะ (มโนทวาราวัชชนจิต).
               บรรดามนสิการทั้ง ๓ นั้น มนสิการที่ทำจิตให้รับอารมณ์ ชื่อว่ามนสิการ เพราะกระทำไว้ในใจ. มนสิการที่ทำจิตให้รับอารมณ์นั้น มีการทำสัมปยุตตธรรมให้รับอารมณ์เป็นลักษณะ มีการประกอบสัมปยุตตธรรมทั้งหลายไว้ด้วยอารมณ์เป็นรส มีการมุ่งต่ออารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน นับเนื่องด้วยสังขารขันธ์ (มีอารมณ์เป็นปทัฏฐาน) พึงเห็นเหมือนสารถี เพราะยังสัมปยุตตธรรมให้ดำเนินไปในอารมณ์. ส่วนคำว่า วิถีปฏิปาทกะ นี้เป็นชื่อของปัญจทวาราวัชชนจิต. คำว่า ชวนปฏิปาทกะ นี้เป็นชื่อของมโนทวาราวัชชนจิต. มนสิการทั้ง ๒ เหล่านั้น ท่านไม่ประสงค์เอาในที่นี้.
               ความเป็นกลางในธรรมเหล่านั้น ชื่อว่า ตัตรมัชฌัตตตา ตัตรมัชฌัตตตานั้น มีการทรงไว้ซึ่งจิตและเจตสิกให้เสมอกันเป็นลักษณะ มีการห้ามจิตและเจตสิกไม่ให้ยิ่งและหย่อนเป็นรส หรือมีการตัดขาดจากการตกไปในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นรส มีความเป็นกลางเป็นปัจจุปัฏฐาน ด้วยอำนาจแห่งความวางเฉยต่อจิตและเจตสิก (และมีสัมปยุตตธรรมเป็นปทัฏฐาน) ตัตรมัชฌัตตตานี้ พึงเห็นเหมือนสารถีผู้วางเฉยต่อม้าอาชาไนยทั้งหลายที่วิ่งไปเรียบร้อย ฉะนั้น.
               กรุณาและมุทิตาจักมีแจ้งในนิทเทสแห่งพรหมวิหาร อันที่จริง กรุณาและมุทิตานั้นมีข้อที่แปลกกันอยู่เท่านี้ว่า ที่ถึงอัปปนาเป็นรูปาวจร ในที่นี้เป็นกามาพจร.
               การงดเว้นจากกายทุจริต ชื่อว่า กายทุจริตวิรัติ. วิรัติ ๒ ที่เหลือก็นัยนี้แหละ ก็วิรัติแม้ทั้ง ๓ เหล่านั้นโดยลักษณะเป็นต้น มีการไม่ก้าวล่วงวัตถุมีกายทุจริตเป็นต้นเป็นลักษณะ. อธิบายว่า มีการไม่ย่ำยีสัตว์เป็นลักษณะ วิรัติ ๓ นั้นมีการเบือนหน้าจากวัตถุมีกายทุจริตเป็นต้นเป็นรส มีการไม่ทำกายทุจริตเป็นต้นเป็นปัจจุปัฏฐาน มีคุณคือศรัทธา หิริ โอตตัปปะและความปรารถนาน้อยเป็นต้นเป็นปทัฏฐาน พึงเห็นวิรัติ ๓ นั้นเป็นจิตที่เฉยต่อการทำบาป.
               วาระแห่งธัมมุทเทส (ธรรมที่ทรงยกขึ้นแสดง) นี้ มีบทธรรมแม้ทั้งหมด ๖๕ บท คือธรรม ๕๖ มีผัสสะเป็นต้น และธรรม ๙ ที่ตรัสไว้ด้วยอำนาจเยวาปนกธรรม.
               บรรดาบทเหล่านั้น บางคราวในขณะเดียวกันมี ๖๑ บท บางคราวมี ๖๐ บทถ้วน เพราะว่า บทธรรมเหล่านั้นที่ตรัสไว้ด้วยอำนาจแห่งการสมบูรณ์ ด้วยสัมมาวาจาเป็นต้นก็มี ๖๑ บท ที่เป็นไปในฐาน ๕ (วิรัติ ๓ อัปปมัญญา ๒) ในฐานะหนึ่งพ้นจากฐาน ๕ เหล่านี้ มีฐานะ ๖๐ ถ้วน แต่ถ้าเว้นเยวาปนกธรรม บทธรรมที่ท่านถือเอาด้วยสามารถแห่งรุฬหีศัพท์ในพระบาลีมี ๕๖ บท. แต่ถ้าไม่นับบทที่ซ้ำกันในบาลีนี้ ก็มีบทธรรม ๓๐ ถ้วน คือ หมวด ๕ แห่งผัสสะ (ผสฺสปญฺจกํ) วิตก ๑ วิจาร ๑ ปีติ ๑ จิตเตกัคคตา ๑ อินทรีย์ ๕ พละ ๒ คือหิริพละ โอตตัปปพละ มูล ๒ คืออโลภะ อโทสะ ธรรม ๑๒ มีกายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิเป็นต้น.
               บรรดาธรรม ๓๐ เหล่านั้น ธรรม ๑๘ ท่านไม่จำแนกไว้ ธรรม ๑๒ ท่านจำแนกไว้. ธรรม ๑๘ ประการเป็นไฉน? ธรรม ๑๘ ประการเหล่านี้ คือผัสสะ ๑ สัญญา ๑ เจตนา ๑ วิจาร ๑ ปีติ ๑ ชีวิตินทรีย์ ๑ ธรรม ๑๒ มีกายปัสสัทธิเป็นต้นท่านไม่จำแนกไว้. ธรรม ๑๒ ประการเหล่านี้ คือเวทนา ๑ จิต ๑ วิตก ๑ จิตเตกัคคตา ๑ สัทธินทรีย์ ๑ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ หิริพละ ๑ โอตตัปปพละ ๑ อโลภะ ๑ อโทสะ ๑ ท่านจำแนกไว้.
               บรรดาธรรมเหล่านั้น ธรรม ๗ ประการจำแนกไว้ในฐานะทั้ง ๒ ธรรมหนึ่งจำแนกไว้ในฐานะทั้ง ๓ ธรรมสองจำแนกไว้ในฐานะ ๔ ธรรมหนึ่งจำแนกไว้ในฐานะ ๖ ธรรมหนึ่งจำแนกไว้ในฐานะ ๗.
               ธรรม ๗ เหล่านี้ คือ จิต วิตก ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ จำแนกไว้ในฐานะ ๒ อย่างไร? จริงอยู่ บรรดาธรรม ๗ เหล่านั้น จิตก่อนท่านมุ่งถึงธรรมมีหมวด ๕ แห่งผัสสะ ท่านเรียกว่า จิต เพ่งถึงอินทรีย์ ท่านเรียกว่ามนินทรีย์. วิตกถึงเป็นองค์ฌานก็เรียกว่าวิตก ถึงเป็นองค์มรรคเรียกว่าสัมมาสังกัปปะ ศรัทธาเพ่งถึงเป็นอินทรีย์เรียกว่าสัทธินทรีย์ เพ่งถึงเป็นพละเรียกว่าสัทธาพละ หิริเพ่งถึงเป็นพละเรียกว่าหิริพละ เพ่งถึงธรรมหมวด ๒ แห่งโลกบาลเรียกว่าหิริ. แม้ในโอตตัปปะก็นัยนี้เหมือนกัน. อโลภะ เพ่งถึงมูลเรียกว่าอโลภะ เพ่งถึงกรรมบถเรียกว่าอนภิชฌา. อโทสะเพ่งถึงมูลเรียกว่าอโทสะ เพ่งถึงกรรมบถเรียกว่าอัพยาบาท. ธรรม ๗ เหล่านี้ จำแนกแล้วในฐานะทั้ง ๒.
               ส่วนเวทนา เพ่งถึงธรรมหมวด ๕ แห่งผัสสะเรียกว่า เวทนา เพ่งถึงองค์ฌานเรียกว่าสุข เพ่งถึงอินทรีย์เรียกว่าโสมนัสสินทรีย์. ธรรมหนึ่งนี้จำแนกไว้ในฐานะ ๓ อย่างนี้.
               ส่วนวิริยะเพ่งถึงอินทรีย์เรียกว่าวิริยินทรีย์ เพ่งถึงองค์มรรคเรียกว่าสัมมาวายามะ เพ่งถึงพละเรียกว่าวิริยพละ เพ่งถึงปิฏฐิทุกะเรียกว่าปัคคาหะ แม้สติเพ่งถึงอินทรีย์ก็เรียกว่าสตินทรีย์ เพ่งถึงองค์มรรคเรียกว่าสัมมาสติ เพ่งถึงพละเรียกว่าสติพละ เพ่งถึงปิฏฐิทุกะเรียกว่าสติ. ธรรม ๒ เหล่านี้จำแนกไว้ในฐานะ ๔ ด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนสมาธิเพ่งถึงองค์ฌานเรียกว่า จิตเตกัคคตา เพ่งถึงอินทรีย์เรียกว่าสมาธินทรีย์ เพ่งถึงองค์มรรคเรียกว่า สัมมาสมาธิ เพ่งถึงพละเรียกว่า สมาธิพละ เพ่งถึงปิฏฐิทุกะ เรียกว่าสมถะและอวิกเขปะ ธรรมอย่างหนึ่งนี้จำแนกไว้ในฐานะ ๖ ด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนปัญญาเพ่งถึงอินทรีย์ เรียกว่าปัญญินทรีย์ เพ่งถึงองค์มรรค เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เพ่งถึงพละเรียกว่าปัญญาพละ เพ่งถึงมูล เรียกว่าอโมหะ เพ่งถึงกรรมบถ เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เพ่งถึงปิฏฐิทุกะ เรียกว่าสัมปชัญญะและวิปัสสนา ธรรมหนึ่งนี้จำแนกไว้ในฐานะ ๗ ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ถ้าบุคคลไรๆ พึงท้วงว่า ในพระบาลีนี้ ขึ้นชื่อว่าบทที่ไม่เคยมี หามีไม่ เพราะพระองค์ทรงกำหนดธรรมที่ทรงถือเอาแล้วในหนหลัง นั่นแหละมาทำบทให้เต็มในฐานะนั้นๆ กถาที่ไม่มีอนุสนธิเช่นกับสิ่งของอันพวกโจรลักมาสุมกันไว้เช่นกับหญ้าที่ฝูงโคเหยียบย่ำที่ทางเดิน อันพระพุทธเจ้าไม่ทรงรู้แล้วจึงตรัสไว้ไซร้ บุคคลนั้นพึงถูกกล่าวปฏิเสธว่า ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ธรรมดาว่าเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ไม่มีอนุสนธิ หามีไม่ เป็นเทศนาที่มีอนุสนธิ แม้ถ้อยคำที่ไม่ทรงทราบตรัสไว้ก็ไม่มี เรื่องทั้งหมดพระองค์ทรงทราบแล้วจึงตรัสไว้ทั้งนั้น. จริงอยู่ พระสัมมาสัมพุทธะทรงทราบหน้าที่ (กิจ) ของธรรมเหล่านั้นๆ ครั้นทรงทราบกิจนั้นแล้วจึงทรงยกขึ้นจำแนกไปตามหน้าที่ ทรงทราบธรรม ๑๘ อย่าง ว่ามีหน้าที่แต่ละอย่าง จึงทรงยกขึ้นจำแนกไว้ในฐานะแต่ละฐานะ ทรงทราบธรรม ๗ อย่าง มีหน้าที่อย่างละ ๒ จึงทรงยกขึ้นจำแนกในฐานะ ๒ ทรงทราบเวทนามีหน้าที่ ๓ ในฐานะ ๓ จึงทรงยกขึ้นจำแนกในฐานะ ๓ ทรงทราบวิริยะและสติมีหน้าที่ ๔ อย่าง จึงทรงยกขึ้นจำแนกในฐานะ ๔ ทรงทราบสมาธิมีหน้าที่ ๖ อย่าง จึงทรงยกขึ้นจำแนกในฐานะ ๖ ทรงทราบปัญญามีหน้าที่ ๗ จึงทรงยกขึ้นจำแนกในฐานะ ๗ ในข้อนั้นมีอุปมา ดังนี้.
               ได้ยินว่า พระราชาพระองค์หนึ่งทรงเป็นบัณฑิตเสด็จประทับอยู่ในที่เฉพาะพระองค์แล้วทรงดำริว่า เราจักเพิ่มสินจ้างอันสมควรแก่ผู้รู้ศิลปะโดยประการที่ไม่พึงเสียทรัพย์พระคลังหลวงนี้ ท้าวเธอจึงตรัสให้เรียกนักศิลปะทั้งหมดประชุมกัน แล้วตรัสว่า พวกเธอจงเชิญคนที่มีความรู้เฉพาะอย่างเดียวมา เมื่อพระองค์ตรัสให้เรียกอย่างนี้ ชนทั้ง ๑๘ ก็ลุกขึ้นมาแล้วก็พระราชทาน ให้ชนเหล่านั้นคนละส่วน. เมื่อพระราชาตรัสว่า ผู้รู้ศิลปะ ๒ อย่างจงมา คน ๗ คนพากันมาเฝ้า พระองค์ก็ทรงพระราชทานให้คนเหล่านั้นคนละ ๒ ส่วน เมื่อตรัสว่าผู้รู้ศิลปะ ๓ อย่างจงมา มีคนเพียงคนเดียวเข้ามาเฝ้า พระองค์ก็พระราชทานให้คนนั้น ๓ ส่วน เมื่อพระองค์ตรัสว่า ผู้รู้ศิลปะ ๔ อย่างจงมา ก็มีคน ๒ คนเข้ามาเฝ้า พระองค์ก็พระราชทานให้คนละ ๔ ส่วน เมื่อพระองค์ตรัสว่า ผู้รู้ศิลปะ ๕ อย่างจงมา แม้คนเดียวก็ไม่มา เมื่อตรัสว่า ผู้รู้ศิลปะ ๖ อย่างจงมา มีเพียงคนเดียวเท่านั้นเข้ามา พระองค์ก็พระราชทานให้ ๖ ส่วนแก่เขา เมื่อตรัสว่า ผู้รู้ศิลปะ ๗ อย่างจงมา มีเพียงคนเดียวเท่านั้นเข้ามา พระองค์ก็พระราชทานให้เขาถึง ๗ ส่วน.
               ในเรื่องนั้นมีข้ออุปมา ดังนี้.
               พระสัมมาสัมพุทธะผู้ทรงเป็นธรรมราชาไม่มีใครยิ่งกว่า เปรียบเหมือนพระราชาผู้เป็นบัณฑิต ธรรมทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการเป็นองค์ของจิต เปรียบเหมือนชนผู้รู้ศิลปะ การที่พระองค์ทรงยกธรรมเหล่านั้นๆ ขึ้นจำแนกด้วยสามารถแห่งหน้าที่ เปรียบเหมือนการเพิ่มค่าจ้างให้สมควรแก่ผู้รู้ศิลปะ ก็ธรรมเหล่านี้แม้ทั้งหมดเป็นกองแห่งธรรม ๑๗ หมวด คือหมวดธรรม ๕ มีผัสสะเป็นต้น องค์แห่งฌาน ๑ อินทรีย์ ๑ องค์แห่งมรรค ๑ พละ ๑ มูล ๑ กรรมบถ ๑ โลกบาล ๑ ปัสสัทธิ ๑ ลหุตา ๑ มุทุตา ๑ กัมมัญตา ๑ ปาคุญตา ๑ อุชุกตา ๑ สัมปชัญญะ๑ สมถวิปัสสนา ๑ ปัคคาหาวิกเขปะ ๑.

               จบกถาว่าด้วยธรรมุทเทสวาร.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม กามาวจรมหากุศลจิต ๘ จิตดวงที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 15อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 16อ่านอรรถกถา 34 / 73อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=598&Z=847
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=2490
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=2490
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :