ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 15อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 16อ่านอรรถกถา 34 / 73อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม กามาวจรมหากุศลจิต ๘ จิตดวงที่ ๑

หน้าต่างที่ ๒ / ๔.

               กถาว่าด้วยกรรม ๓#-               
____________________________
#- กถานี้เป็นลำดับแรกแต่ท่านแสดงไว้ที่ ๒

               ชื่อว่าทวารแห่งกรรม ๓ เหล่านี้ บัดนี้จะกล่าวถ้อยคำพิสดารการตั้งมาติกาในกถาว่าด้วยทวารที่กล่าวค้างไว้ ตั้งต้นแต่กรรม ๓ ตามที่ได้แสดงทวารแห่งกรรมเหล่านี้แล้ว เว้นกรรม ๓ เหล่านั้นไว้.
               จริงอยู่ กรรม ๓ คือกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม. ถามว่า ชื่อว่ากรรม นี้ได้แก่อะไรบ้าง. ตอบว่า ได้แก่ เจตนา และธรรมที่สัมปยุตด้วยเจตนาบางอย่าง บรรดาธรรมทั้งสองเหล่านั้น ความที่เจตนาเป็นกรรม มีพระสูตรเหล่านี้กล่าวไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลจงใจแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ (และคำว่า) ดูก่อนอานนท์ จริงอยู่ เมื่อกายมีอยู่ ความสุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะกายสัญเจตนาเป็นเหตุ (เพราะความจงใจทางกายเป็นเหตุ) ดูก่อนอานนท์ หรือเมื่อวาจามีอยู่ ความสุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะวจีสัญเจตนาเป็นเหตุ ดูก่อนอานนท์ หรือว่าเมื่อใจมีอยู่ ความสุขและทุกข์อันเป็นภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะมโนสัญเจตนาเป็นเหตุ
               (และคำว่า) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายสัญเจตนา ๓ อย่าง เป็นกายกรรมฝ่ายอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก วจีสัญเจตนา ๔ อย่าง เป็นวจีกรรมฝ่ายอกุศล ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มโนสัญเจตนา ๓ อย่าง เป็นมโนกรรมฝ่ายกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก (และคำว่า) ดูก่อนอานนท์ ถ้าโมฆบุรุษ ชื่อว่าสมิทธิ นี้ถูกปาฏลิบุตรปริพาชกถามอย่างนี้ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูก่อนท่านปาฏลิบุตร ท่านกระทำกรรมเนื่องด้วยสัญเจตนา ย่อมเสวยสุขเนื่องด้วยสุขเวทนา ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ฯลฯ ท่านก็ย่อมเสวยอทุกขมสุขเนื่องด้วยอทุกขมสุขเวทนา ดังนี้ ดูก่อนอานนท์ เมื่อสมิทธิโมฆบุรุษนั้นพยากรณ์อย่างนี้ ชื่อว่าพยากรณ์โดยชอบแก่ปาฏลิบุตรปริพาชก. ความที่เจตนาเป็นกรรมมีพระสูตรเพียงเท่านี้ก่อน.
               ส่วนความที่สัมปยุตตธรรมด้วยเจตนาเป็นกรรม ท่านแสดงไว้โดยกรรมจตุกะ (หมวด ๔ แห่งกรรม) สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรม ๔ เหล่านี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองประกาศแล้ว กรรม ๔ เป็นไฉน?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กรรมดำมีวิบากดำก็มี กรรมขาวมีวิบากขาวก็มี กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาวก็มี กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไป เพื่อความสิ้นกรรมก็มี.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมเป็นไฉน? สติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ นี้เราเรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เป็นไฉน?
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เท่านั้น คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ นี้เราเรียกว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม.
               ธรรม ๑๕ อย่าง ต่างโดยโพชฌงค์และองค์มรรคเหล่านี้ ทรงแสดงไว้ด้วยกรรมจตุกะ ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง พึงทราบธรรมที่สัมปยุตด้วยเจตนา ๒๑ อย่างกับธรรม ๖ อย่างเหล่านี้ คือ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ อนภิชฌา อัพยาบาทและสัมมาทิฏฐิ.
               บรรดาธรรมเหล่านั้น โลกุตรมรรคเมื่อจะรวมเป็นพวก ก็ย่อมรวมกรรม ๓ อย่างมีกายกรรมเป็นต้น. จริงอยู่ การสำรวมจากการประพฤติก้าวล่วงความทุศีลทางวาจา พึงทราบว่าเป็นวาจสิกะ สัมมากัมมันตะเป็นกายกรรม สัมมาวาจาเป็นวจีกรรม เมื่อถือเอากรรมทั้งสองหมวดนี้ สัมมาอาชีวะย่อมชื่อว่าเป็นอันถือเอาแล้ว เพราะเป็นพวกแห่งกรรมทั้งสองนั้นทีเดียว. ส่วนการสำรวมจากการก้าวล่วงความทุศีลทางใจ พึงทราบว่าเป็น มานสิกะ มานสิกะ (การสำรวมทางใจ) นั้นมี ๕ อย่าง ด้วยสามารถแห่งทิฏฐิ สังกัปปะ วายามะ สติและสมาธิ มานสิกะแม้ ๕ อย่างนี้ ชื่อว่ามโนกรรม. โลกุตรมรรค เมื่อรวมเป็นพวกก็ย่อมรวมกรรม ๓ อย่างด้วยประการฉะนี้.
               ในที่นี้ ชื่อว่าการเทียบเคียงกับทวาร จริงอยู่ กรรมที่ถึงความหวั่นไหวในกายทวารและวจีทวารแต่ไม่ถึงกรรมบถก็มี กรรมที่ถึงความปรากฏเป็นไปในมโนทวาร แต่ไม่ถึงกรรมบถก็มี ท่านจึงถือเอากรรมนั้นๆ (ที่ไม่เป็นกรรมบถ) กระทำให้เป็นพวกของทวารนั้นๆ ทีเดียว.
               ในเรื่องนั้นมีนัย ดังนี้.
               บุคคลใดคิดว่าจักไปล่าเนื้อ จึงจัดแจงธนู ฟั่นเชือก ลับหอก บริโภคอาหารแล้วนุ่งห่มเสื้อผ้า ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ กรรมก็ถึงความหวั่นไหว แล้วในกายทวาร. เขาเที่ยวไปในป่าตลอดวันย่อมไม่ได้อะไรโดยที่สุด แม้กระต่ายและแมว. ถามว่า อกุศลนี้ ชื่อว่าเป็นกายกรรมหรือไม่. ตอบว่า ไม่เป็น. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะไม่ถึงกรรมบถ. แต่พึงทราบว่า กุศลจิตนี้ ชื่อว่ากายทุจริตอย่างเดียว. แม้ในการไปจับปลาเป็นต้นก็นัยนี้เหมือนกัน.
               แม้ในวจีทวาร บุคคลสั่งว่า เราจักไปล่าเนื้อ พวกเจ้าจงเตรียมธนูเป็นต้นโดยเร็วเถิด ดังนี้ เมื่อไม่ได้อะไรในป่าโดยนัยก่อนนั่นแหละ กรรมนั้นถึงความหวั่นไหวในวจีทวารแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ไม่เป็นวจีกรรม. พึงทราบว่า อกุศลจิตนั้น ชื่อว่าเป็นวจีทุจริตอย่างเดียว. ส่วนในมโนทวาร เมื่อวธกเจตนาเพียงเกิดขึ้นเท่านั้นก็ย่อมเป็นอันทำลายกรรมบถทีเดียว.
               อนึ่ง ประเภทกรรมบถนั้นย่อมมี ด้วยอำนาจแห่งความพยาบาท มิใช่ด้วยอำนาจแห่งปาณาติบาต. จริงอยู่ กายกรรมที่เป็นอกุศล ย่อมตั้งขึ้นในกายทวารและวจีทวาร ไม่ตั้งขึ้นในมโนทวาร. วจีกรรมที่เป็นอกุศลก็เหมือนกัน. แต่มโนกรรมที่เป็นอกุศลย่อมตั้งขึ้นในทวารแม้ทั้งสาม. กายกรรม วจีกรรมและมโนทวารที่เป็นกุศลก็เหมือนกัน.
               ถามว่า เป็นอย่างไร?
               ตอบว่า เมื่อบุคคลฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้ ประพฤติมิจฉาจาร กรรมย่อมเป็นกายกรรมเท่านั้น แม้ทวารก็เป็นกายทวารเหมือนกัน กายกรรมที่เป็นอกุศลย่อมตั้งขึ้นในกายทวารอย่างนี้ก่อน ส่วนอภิชฌา พยาบาทและมิจฉาทิฏฐิที่เกิดพร้อมกับจิตเหล่านั้น ย่อมเป็นไปในฝ่ายเจตนาบ้าง เป็นอัพโพหาริก (กล่าวอ้างไม่ได้ว่ามีหรือไม่มี) บ้าง.
               แต่เมื่อบุคคลสั่งว่า เจ้าจงไปฆ่าผู้นี้ จงลักสิ่งของชื่อนี้ กรรมเป็นกายกรรม สำหรับทวารเป็นวจีทวาร กายกรรมที่เป็นอกุศลย่อมตั้งขึ้นในวจีทวารอย่างนี้ ส่วนอภิชฌา พยาบาทและมิจฉาทิฏฐิที่เกิดพร้อมกับจิตเหล่านั้นเป็นไปในฝ่ายเจตนาบ้าง เป็นอัพโพหาริกบ้าง ชื่อว่า คำอธิบายที่เหมือนกันของอาจารย์ทั้งหลายมีประมาณเท่านี้.
               ส่วนอาจารย์วิตัณฑวาทีกล่าวว่า กายกรรมที่เป็นอกุศลย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารก็มี อาจารย์วิตัณฑวาทีนั้น ถูกอาจารย์อื่นท้วงว่า ท่านจงนำสูตรที่ยกขึ้นในการรวบรวม (สังคายนา) ทั้ง ๓ ดังนี้ จึงนำชื่อกุลุมพสูตรนี้มาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญจิต เพ่งดูสัตว์ในเกิดในครรภ์ของหญิงอื่นด้วยใจอันลามกว่า โอหนอ สัตว์ในครรภ์นี้ อย่าพึงคลอดออกมาด้วยความสวัสดี ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การฆ่าสัตว์ในครรภ์ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้. อาจารย์วิตัณฑวาทีครั้นนำสูตรนี้มาแล้ว จึงกล่าวว่า ก็เพียงแต่คิดเท่านั้น สัตว์เกิดในครรภ์ของหญิงนั้นก็ย่อมย่อยยับไปเหมือนก้อนฟองน้ำ ในการย่อยยับแห่งครรภ์นี้มีการไหวส่วนแห่งกายหรือส่วนแห่งวาจาแต่ที่ไหนเล่า ก็กายกรรมที่เป็นอกุศลนี้ ย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารทีเดียว ดังนี้.
               อาจารย์ทั้งหลายกล่าวกะอาจารย์วิตัณฑวาทีนั้นว่า พวกเราจักพิจารณาเนื้อความพระสูตรของท่าน ดังนี้ แล้วพากันพิจารณาโดยนัยที่ท่านอาจารย์วิตัณฑวาทีกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านกล่าวถึงการฆ่าสัตว์อื่นด้วยฤทธิ์ ก็ธรรมดาว่า ฤทธิ์นั้นมี ๑๐ อย่าง คือ อธิษฐานอิทธิ วิกุพพนอิทธิ มโนมยอิทธิ ญาณวิปผารอิทธิ สมาธิวิปผารอิทธิ อริยอิทธิ กัมมวิปากชอิทธิ ปุญญวโตอิทธิ วิชชามยอิทธิ ภาวนามยอิทธิ ที่ชื่อว่าฤทธิ์ ด้วยอรรถว่าสำเร็จ เพราะการประกอบโดยชอบในคุณนั้นๆ เป็นปัจจัย บรรดาฤทธิ์เหล่านั้น ท่านกล่าวถึงฤทธิ์อย่างไหน. ท่านวิตัณฑวาทีตอบว่า ภาวนามยอิทธิ. ถามว่า กรรมคือการฆ่าสัตว์อื่นมีได้ ด้วยภาวนามยอิทธิหรือ. ท่านวิตัณฑวาทีตอบว่า ใช่. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า การฆ่าสัตว์อื่นด้วยภาวนามยอิทธินั้นมีได้ครั้งหนึ่ง. เหมือนหม้อน้ำเต็มด้วยน้ำ บุคคลประสงค์จะประหารผู้อื่นจึงขว้างไปแล้ว แม้หม้อก็แตก แม้น้ำก็พินาศไป ฉันใด กรรม คือการฆ่าผู้อื่นด้วยภาวนามยอิทธิ ย่อมมีได้ครั้งหนึ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน ต่อจากนั้นไปฤทธิ์นั้นก็เสื่อม.
               ลำดับนั้น อาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวกะท่านวิตัณฑวาทีนั้นว่า กรรม คือการประหารผู้อื่นด้วยภาวนามยอิทธิ มิได้มีหนึ่งครั้งสองครั้งเท่านั้น แล้วจึงถามท่านวิตัณฑวาทีซึ่งไม่ดำเนินไปด้วยวาจาตามประกาศให้รู้ว่า ภาวนามยอิทธิเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นอัพยากตะ สัมปยุตด้วยสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา เป็นสวิตักกวิจาร ไม่มีวิตกมีแต่วิจาร ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร เป็นกามาวจร เป็นรูปาวจร เป็นอรูปาวจร. บุคคลใดรู้ปัญหานี้ บุคคลนั้นย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า ภาวนามยอิทธิย่อมเป็นกุศลบ้าง เป็นอัพยากตะบ้าง เป็นที่ตั้งของอทุกขมสุขบ้าง เป็นอวิตักกอวิจาร และเป็นรูปาวจรเท่านั้น. อาจารย์วิตัณฑวาทีนั้นจะพึงถูกผู้อื่นถามว่า เจตนาที่ยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไปย่อมรวมเข้ากันได้กับส่วนไหนในบรรดากุศลเป็นต้น. เมื่ออาจารย์วิตัณฑวาทีรู้อยู่ก็ย่อมบอกว่า เจตนาที่ยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นอกุศล เป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา มีวิตกและวิจารเป็นกามาวจรเท่านั้น. เมื่อเป็นเช่นนั้นก็พึงบอกวิตัณฑวาทีว่า ปัญหาของท่านไม่สมกับเป็นกุศลติกะ ไม่สมกับเวทนาติกะ ไม่สมกับวิตักกติกะ ไม่สมกับภุมมันตระ (คือกามาวจรเป็นต้น). อาจารย์วิตัณฑวาทีจะกล่าวว่า ก็สูตรใหญ่อย่างนี้ไม่มีประโยชน์หรือ? พวกอาจารย์พึงตอบว่า มิใช่ ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าท่านย่อมไม่รู้ประโยชน์ของสูตรนั้นว่า สมณะหรือพราหมณ์ นั้นมีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจ. จริงในที่นี้ท่านไม่ประสงค์เอาภาวนามยอิทธิ แต่ประสงค์เอาอาถัพพนิทธิ.
               จริงอยู่ อาถัพพนิทธินั้น เมื่อได้ย่อมได้ในคำว่า ท่านผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางใจนี้ แต่ว่า อาถัพพนิทธินั้น พ้นจากกายทวารและวจีทวาร แล้วก็ไม่อาจทำได้ เพราะว่า บุคคลผู้ประกอบอาถัพพนิทธิทั้งหลาย ต้องบริโภคของไม่เค็ม ปูลาดหญ้าแพรกนอนบนพื้นดิน ประพฤติตบะตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ ตกแต่งพื้นที่ป่าช้า แล้วยืนอยู่ในย่างเท้าที่ ๗ ทำให้มือหมุนไปมา ร่ายมนต์ด้วยปาก ทีนั้นการทำของพวกเขาจึงสำเร็จ ฤทธิ์แม้นี้พ้นจากกายทวารและวจีทวารแล้ว ก็ไม่อาจทำได้ เพราะฉะนั้น ในข้อนี้ พึงถึงความตกลงว่า กายกรรมย่อมไม่ตั้งขึ้นในมโนทวาร ดังนี้.
               ก็เมื่อบุคคลกล่าวมุสาวาทเป็นต้นด้วยศีรษะและมือ กรรมเป็นวจีกรรม แต่ทวารเป็นกายทวาร แม้วจีกรรมที่เป็นอกุศลก็ย่อมตั้งขึ้นในกายทวารด้วยประการฉะนี้. ส่วนอภิชฌา พยาบาทและมิจฉาทิฏฐิที่เกิดพร้อมกับจิตทั้งหลายเหล่านั้นย่อมเป็นฝ่ายของเจตนาบ้าง เป็นอัพโพหาริกบ้าง ก็เมื่อบุคคลทำการเปล่งวาจากล่าวมุสาวาทเป็นต้น แม้กรรมก็เป็นวจีกรรม แม้ทวารก็เป็นวจีทวารเหมือนกัน วจีกรรมที่เป็นอกุศลย่อมตั้งขึ้นในวจีทวารด้วยประการฉะนี้. ส่วนอภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิที่เกิดพร้อมกับจิตเหล่านั้นเป็นฝ่ายของเจตนาบ้าง เป็นอัพโพหาริกบ้าง ชื่อว่า คำชี้แจงที่เหมือนกันของอาจารย์ทั้งหลายมีเพียงเท่านี้.
               ส่วนอาจารย์วิตัณฑวาทีกล่าวว่า วจีกรรมที่เป็นอกุศลย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารก็ได้. อาจารย์วิตัณฑวาทีนั้นถูกอาจารย์อื่นซักว่า ท่านจงนำสูตรที่ขึ้นสู่การรวบรวมทั้งสามครั้งมา จึงนำสูตรอุโปสถขันธกะมาว่า ก็ภิกษุใด เมื่อถูกสวดประกาศถึง ๓ ครั้ง ระลึกได้ แต่ไม่ทำให้แจ้งซึ่งอาบัติที่มีอยู่ ภิกษุนั้นย่อมต้องอาบัติสัมปชานมุสาวาท ดังนี้. ครั้นท่านนำสูตรนี้มาแล้วก็กล่าวว่า ภิกษุนั้นไม่กระทำให้แจ้งอาบัติอย่างนี้ เป็นผู้นิ่งเฉย ย่อมต้องอาบัติอื่น การไหวส่วนแห่งกาย หรือวาจาในที่นี้มีที่ไหน ก็วจีกรรมที่เป็นอกุศล ย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารนั่นแหละ ดังนี้.
               อาจารย์ทั้งหลายพึงถามวิตัณฑวาทีนั้นว่า ก็สูตรที่ท่านกล่าวนี้ มีเนื้อความที่ควรแนะนำ หรือมีเนื้อความอธิบายไว้แล้ว อย่างไร? วิตัณฑวาทีกล่าวว่า สูตรของข้าพเจ้านี้ มีเนื้อความอธิบายไว้แล้ว ดังนี้ แล้วถูกกล่าวเตือนว่า ท่านอย่าพูดอย่างนี้ พวกเราจักช่วยกันพิจารณาดูเนื้อความของสูตรนั้น ดังนี้ แล้วพึงถาม อย่างนี้ว่า มีอาบัติอะไรในเพราะสัมปชานมุสาวาท. เมื่ออาจารย์วิตัณฑวาทีรู้อยู่ก็จักบอกว่า เป็นอาบัติทุกกฏในเพราะสัมปชานมุสาวาท จากนั้นก็พึงถูกกล่าวว่า วินัยมีมูลเหตุสองอย่าง คือ กายและวาจา จริงอยู่ พระสัมมาสัมพุทธะทรงบัญญัติอาบัติทั้งหมดในทวารทั้ง ๒ เหล่านี้เท่านั้น ขึ้นชื่อว่าการบัญญัติอาบัติ ในมโนทวารย่อมไม่มี ท่านรู้วินัยบัญญัติมากไป บุคคลใดบัญญัติอาบัติในฐานะอันพระศาสดาไม่บัญญัติไว้ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมกล่าวตู่พระสัมมาสัมพุทธะ ย่อมประหารชินจักร ครั้นถูกข่มด้วยถ้อยคำเป็นต้นอย่างนั้น แล้วก็พึงถามปัญหาให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า สัมปชานมุสาวาทย่อมตั้งขึ้นเพราะการกระทำหรือ หรือว่าเพราะการไม่กระทำ ดังนี้ เมื่อวิตัณฑวาทีทราบอยู่ก็จักบอกว่า เพราะการไม่กระทำ จากนั้น ก็พึงบอกท่านว่า ภิกษุผู้ไม่ทำให้แจ้งอาบัติย่อมทำกิริยาอย่างไหน ท่านวิตัณฑวาทีเมื่อไม่เห็นการกระทำแน่แท้ก็จักถึงความลำบากใจ ลำดับนั้น อาจารย์ทั้งหลายพึงให้วิตัณฑวาทีนั้นย่อมจำนนด้วยเนื้อความแห่งสูตรนี้. ก็ในสูตรนี้มีเนื้อความดังต่อไปนี้.
               ถามว่า สัมปชานมุสาวาท ที่ท่านกล่าวว่าเป็นอาบัติ เป็นอาบัติอะไร คือเป็นอาบัติประเภทไหน. ตอบว่า เป็นอาบัติทุกกฏ ก็อาบัติทุกกฏนั้นแล ว่าโดยลักษณะแห่งมุสาวาท บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นอาบัติซึ่งมีการไม่ทำในวจีทวารตามพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสมุฏฐาน สมจริงดังคำที่ตรัสไว้ในปริวาร ว่าด้วยเสทโมจนคาถาว่า
                                   ภิกษุไม่เจรจากับมนุษย์ไรๆ ไม่เปล่ง
                         วาจาพูดกับผู้อื่น แต่ต้องอาบัติทางวาจา ไม่
                         ต้องอาบัติทางกาย ปัญหานี้ท่านผู้รู้ทั้งหลาย
                         คิดกันแล้ว ดังนี้.
               ในที่นี้ พึงถึงความตกลงว่า วจีกรรมที่เป็นอกุศลย่อมไม่ตั้งขึ้นในมโนทวาร ด้วยประการฉะนี้.
               ก็แต่ในกาลใด บุคคลมีจิตสหรคตด้วยอภิชฌายังส่วนแห่งกายให้ไหว กระทำกิจมีการถือเอาด้วยมือเป็นต้น มีใจสหรคตด้วยพยาบาทมีการถือไม้เป็นต้น มีใจสหรคตด้วยมิจฉาทิฏฐิ คิดว่า พระขันธกุมาร พระศิวะประเสริฐที่สุด จึงทำกิจมีการอภิวาท อัญชลีกรรมและตกแต่งตั่งน้อยสำหรับภูต เพื่อพระศิวะนั้น ในกาลนั้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นกายทวาร มโนกรรมที่เป็นอกุศลย่อมตั้งขึ้นในกายทวาร ด้วยประการฉะนี้ แต่เจตนาในที่นี้เป็นอัพโพหาริก.
               ในกาลใด บุคคลมีใจสหรคตด้วยอภิชฌา ยังส่วนแห่งวาจาให้ไหว เพ่งดูอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นโดยพูดว่า โอหนอ ของผู้อื่นพึงเป็นของเรา ดังนี้ มีใจสหรคตด้วยพยาบาท กล่าวว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกเบียดเบียน จงถูกฆ่า จงขาดสูญ หรือว่า จงอย่าได้มี ดังนี้ มีใจสหรคตด้วยมิจฉาทิฏฐิ ย่อมกล่าวว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้วไม่มีผลเป็นต้น ในกาลนั้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นวจีทวาร มโนกรรมย่อมตั้งขึ้นในวจีทวารด้วยประการฉะนี้ เจตนาในที่นี้ก็เป็นอัพโพหาริก.
               ก็ในกาลใด บุคคลไม่ยังส่วนแห่งกายและวาจาให้ไหวนั่งแล้วในที่ลับ ให้จิตทั้งหลายเกิดขึ้นสหรคตด้วยอภิชฌา พยาบาทและมิจฉาทิฏฐิ ในกาลนั้น กรรมเป็นมโนกรรม แม้ทวารก็เป็นมโนทวารเหมือนกัน มโนกรรมที่เป็นอกุศลย่อมตั้งขึ้นในมโนทวาร ด้วยประการฉะนี้. ก็ในที่นี้ เจตนาก็ดี ธรรมที่สัมปยุตด้วยเจตนาก็ดี ย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารเท่านั้น มโนกรรมที่เป็นอกุศล บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมตั้งขึ้นในทวารแม้ทั้ง ๓ ดังพรรณนามาฉะนี้.
               ก็คำที่ท่านกล่าวว่า กายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม ที่เป็นกุศลก็เหมือนกันนั้น มีนัยดังต่อไปนี้.
               จริงอยู่ ในกาลใด บุคคลไม่สามารถกล่าววาจาด้วยเหตุบางอย่าง ย่อมถือเอาสิกขาบทเหล่านี้ ด้วยมือและศีรษะว่า ข้าพเจ้าย่อมงดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร ดังนี้ ในกาลนั้น กรรมเป็นกายกรรม แม้ทวารก็เป็นกายทวารเหมือนกัน กายกรรมที่เป็นกุศลย่อมตั้งขึ้นในกายทวารอย่างนี้ ธรรมมีอภิชฌาเป็นต้นที่เกิดพร้อมกับจิตเหล่านั้น ย่อมเป็นฝ่ายของเจตนาบ้าง เป็นอัพโพหาริกบ้าง.
               แต่ในกาลใด บุคคลเปล่งวาจารับสิกขาบททั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละ ในกาลนั้น กรรมเป็นกายกรรม แต่ทวารเป็นวจีทวาร กายกรรมที่เป็นกุศล ย่อมตั้งขึ้นในวจีทวารอย่างนี้ ธรรมมีอนภิชฌาเป็นต้นที่เกิดพร้อมกับจิตเหล่านั้น ย่อมเป็นฝ่ายของเจตนาบ้าง เป็นอัพโพหาริกบ้าง.
               แต่ในกาลใด เมื่อพระภิกษุให้สิกขาบทเหล่านั้นอยู่ บุคคลไม่ให้ส่วนแห่งกายและวาจาให้ไหว ย่อมรับเอาด้วยใจเท่านั้นว่า ข้าพเจ้าย่อมงดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร ดังนี้ ในกาลนั้น กรรมเป็นกายกรรม แต่ทวารเป็นมโนกรรม กายกรรมที่เป็นกุศลย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารอย่างนี้ ธรรมมีอนภิชฌาเป็นต้นที่เกิดพร้อมกับจิตเหล่านั้น ย่อมเป็นฝ่ายของเจตนาบ้าง เป็นอัพโพหาริกบ้าง ก็เมื่อบุคคลรับสิกขาบททั้ง ๔ มีเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากมุสาวาทเป็นต้น ด้วยกายเป็นต้นโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ วจีกรรมที่เป็นกุศล บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมตั้งขึ้นในทวารทั้ง ๓ ดังนี้ แม้ในที่นี้ ธรรมมีอนภิชฌาเป็นต้น ก็ย่อมเป็นฝ่ายของเจตนาบ้าง เป็นอัพโพหาริกบ้าง.
               แต่ว่า บุคคลยังส่วนแห่งกายให้ไหวไปด้วยจิตอันสหรคต ด้วยอนภิชฌาเป็นต้น กระทำการปัดกวาดลานพระเจดีย์ ทำการบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น และไหว้พระเจดีย์เป็นต้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นกายทวาร มโนกรรมที่เป็นกุศลย่อมตั้งขึ้นในกายทวารอย่างนี้ แต่ว่าเจตนาในที่นี้ เป็นอัพโพหาริกเท่านั้น เมื่อบุคคลมีจิตสหรคตด้วยอนภิชฌา ยังส่วนแห่งวาจาให้ไหว ไม่เพ่งดูว่า โอหนอ วัตถุเครื่องปลื้มใจของคนอื่น พึงเป็นของเราดังนี้ มีจิตสหรคตด้วยอัพยาบาท กล่าวอยู่ว่า สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ ดังนี้ มีจิตสหรคตด้วยสัมมาทิฏฐิ เปล่งวาจาว่า ทานที่บุคคลให้แล้วมีผลเป็นต้น กรรมเป็นมโนกรรม แต่ทวารเป็นวจีทวาร มโนกรรมที่เป็นกุศลย่อมตั้งขึ้นในวจีทวารอย่างนี้ แต่เจตนาในที่นี้เป็นอัพโพหาริก แต่เมื่อบุคคลไม่ให้กายและวาจาไหว นั่งในที่ลับให้จิตเกิดขึ้นสหรคตด้วยอนภิชฌาเป็นต้น ด้วยใจเท่านั้น กรรมเป็นมโนกรรม แม้ทวารก็เป็นมโนทวารเหมือนกัน มโนกรรมที่เป็นกุศลย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารอย่างนี้ แต่ในฐานะนี้ เจตนาก็ดี ธรรมที่สัมปยุตด้วยเจตนาก็ดี ย่อมตั้งขึ้นในมโนทวารเท่านั้น.
               บรรดากรรมและทวารเหล่านั้น บุคคลเมื่อกล่าวว่า เมื่อปาณาติบาตและอทินนาทานทั้งหลายที่ตั้งขึ้นด้วยอาณัติ แม้กรรมก็เป็นกายกรรม แม้ทวารก็เป็นกายทวารด้วยอำนาจแห่งกรรมนั่นแหละ ดังนี้ ย่อมรักษากรรม ชื่อว่าย่อมทำลายทวาร เมื่อกล่าวว่า บรรดามุสาวาทเป็นต้นที่ตั้งขึ้นด้วยมือและศีรษะ แม้ทวารก็เป็นกายทวาร แม้กรรมก็เป็นกายกรรมด้วยอำนาจแห่งทวารนั่นแหละ ดังนี้ ย่อมรักษาทวาร ชื่อว่าย่อมทำลายกรรม เพราะฉะนั้น ไม่ควรทำลายทวารด้วยคิดว่า เราจักรักษากรรม และไม่พึงทำลายกรรม ด้วยคิดว่า เราจักรักษาทวาร อนึ่ง บัณฑิตพึงทราบกรรมและทวารโดยนัยตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ เพราะว่า เมื่อบุคคลกล่าวอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่ทำลายกรรมและทวารดังนี้แล.
               จบกถาว่าด้วยกรรม.               

               อธิบายว่าด้วยวิญญาณ ๕ เป็นต้น               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยวิญญาณ ๕ และทวารวิญญาณ ๕ ต่อไป.
               ชื่อว่าวิญญาณ ๕ คือ
                         ๑. จักขุวิญญาณ
                         ๒. โสตวิญญาณ
                         ๓. ฆานวิญญาณ
                         ๔. ชิวหาวิญญาณ
                         ๕. กายวิญญาณ
               ชื่อว่าทวารวิญญาณ ๕ คือ
                         ๑. ทวารแห่งจักขุวิญญาณ
                         ๒. ทวารแห่งโสตวิญญาณ
                         ๓. ทวารแห่งฆานวิญญาณ
                         ๔. ทวารแห่งชิวหาวิญญาณ
                         ๕. ทวารแห่งกายวิญญาณ
               เจตนาที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งทวาร ๕ เหล่านี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ไม่เป็นกายกรรม ไม่เป็นวจีกรรม เป็นแต่มโนทวารเท่านั้น. แต่ชื่อว่า สัมผัสเหล่านี้มี ๖ คือ จักขุสัมผัส โสต ฆาน ชิวหา กาย มโนสัมผัส. ชื่อว่าทวารแห่งสัมผัสเหล่านี้มี ๖ คือ ทวารแห่งจักขุสัมผัส ทวารแห่งโสต ฆาน ชิวหา กาย มโนสัมผัส. ชื่อว่าอสังวร ๘ เหล่านี้ คือ จักขุอสังวร โสต ฆาน ชิวหาอสังวร ปสาทกายอสังวร โจปนกายอสังวร วาจาอสังวร มโนอสังวร. อสังวร ๘ เหล่านั้น ว่าโดยอรรถได้แก่ธรรม ๕ เหล่านี้ คือ ความเป็นผู้ทุศีล (ทุสฺสีลยํ) ความเป็นผู้หลงลืมสติ (มุฏฺฐสจฺจํ) ความไม่รู้ (อญฺญาณํ) ความไม่อดทน (อกฺขนฺติ) ความเกียจคร้าน (โกสชฺชํ) บรรดาธรรม ๕ เหล่านั้น แม้ธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมไม่เกิดขึ้นในจิตทั้งหลายมีโวฏฐัพพนจิตเป็นที่สุดในปัญจทวาร แต่ย่อมเกิดในขณะแห่งชวนจิตเท่านั้น ธรรมนั้นแม้เกิดขึ้นในชวนจิต ท่านเรียกว่า อสังวร (ความไม่สำรวม) ในทวาร ๕.
               จริงอยู่ ผัสสะเกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ ชื่อว่าจักขุสัมผัส เจตนาชื่อว่ามโนกรรม จิตนั้นชื่อว่าทวารแห่งมโนกรรม ในจักขุวิญญาณนี้ อสังวร ๕ อย่างยังไม่มี. ผัสสะที่เกิดพร้อมกับสัมปฏิกิจฉันนจิต ชื่อว่ามโนสัมผัส เจตนาชื่อว่ามโนกรรม จิตนั้นชื่อว่าทวารแห่งมโนกรรมในสัมปฏิจฉันนจิตแม้นี้ อสังวรก็ยังไม่มี. แม้ในสันติรณจิตและโวฏฐัพพนจิตก็มีนัยนี้แหละ แต่ว่าผัสสะที่เกิดพร้อมกับชวนจิตชื่อว่ามโนสัมผัส เจตนาชื่อว่ามโนกรรม จิตนั้นชื่อว่าทวารแห่งมโนกรรม ความไม่สำรวมในชวนจิตนั้น ชื่อว่าจักขุอสังวร (ความไม่สำรวมทางจักษุ).
               แม้ในโสตฆานชิวหาปสาทกายทวาร ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ก็ในกาลใด ชวนจิตทางมโนทวารมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มีรูปเป็นต้นเป็นอารมณ์ เว้นวจีทวาร ย่อมเกิดขึ้นยังความไหวกายทวารล้วนให้เป็นไปอยู่ ในกาลนั้น ผัสสะที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น ชื่อว่ามโนสัมผัส เจตนาชื่อว่ากายกรรม แต่จิตนั้นเป็นอัพโพหาริก ไม่ถึงการนับว่าเป็นมโนทวาร เพราะความไหวเกิดแล้ว ก็ความไม่สำรวมในชวนะนี้ ชื่อว่าความไม่สำรวมทางกาย (กายอสังวร).
               ในกาลใด ชวนจิตเช่นนั้นนั่นแหละ จากกายทวาร เกิดขึ้นยังการไหววจีทวารล้วนๆ ให้เป็นไปอยู่ ในกาลนั้น ผัสสะที่เกิดพร้อมกับจิตนั้นชื่อว่ามโนสัมผัส เจตนาชื่อว่าวจีกรรม แต่จิตนั้นเป็นอัพโพหาริกไม่ถึงการนับว่าเป็นมโนทวาร เพราะความไหวเกิดขึ้นแล้ว ความไม่สำรวมในชวนจิตนี้ ชื่อว่าความไม่สำรวมทางวาจา (วาจาอสังวร).
               แต่ในกาลใด ชวนจิตเช่นนั้นเว้นจากกายทวารและวจีทวาร เป็นมโนทวารล้วนๆ เกิดขึ้น ในกาลนั้น ผัสสะที่เกิดพร้อมกับจิตนั้น ชื่อว่ามโนสัมผัส เจตนาชื่อว่ามโนกรรม จิตชื่อว่าทวารแห่งมโนกรรม ความไม่สำรวมในชวนจิตนี้ ชื่อว่าความไม่สำรวมทางใจ (มโนอสังวร).
               บัณฑิตพึงทราบทวารแห่งอสังวร ๘ เหล่านี้ คือ ทวารแห่งอสังวรทางจักษุ ทวารแห่งอสังวรทางโสต ฆาน ชิวหา ปสาทกาย โจปนกาย วาจา มโน ด้วยอำนาจแห่งอสังวร ๘ เหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนชื่อว่า สังวร ๘ เหล่านี้ คือ จักขุสังวร (สำรวมทางตา) โสตสังวร ฆานสังวร ชิวหาสังวร ปสาทกายสังวร โจปนกายสังวร วาจาสังวร มโนสังวร. บรรดาสังวรเหล่านั้น ว่าโดยอรรถ ได้แก่ธรรม๕ เหล่านี้ คือศีล สติ ญาณ ขันติ วิริยะ ในบรรดาธรรมทั้ง ๕ แม้เหล่านั้น แม้ธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมไม่เกิดในจิตทั้งหลายมีโวฏฐัพพนจิตเป็นที่สุดในปัญจทวาร ธรรมนั้นย่อมเกิดในขณะแห่งชวนจิตเท่านั้น แม้เกิดในชวนจิต ท่านก็เรียกว่า สังวรในปัญจทวาร.
               บัณฑิตพึงทราบความเกิดขึ้นแห่งผัสสะนั้นแม้ทั้งหมด โดยนัยที่กล่าวแล้วในอสังวรซึ่งมีคำว่า จกฺขุวิญฺญาณสหชาโต หิ ผสฺโส จกฺขุสมฺผสฺโส (จริงอยู่ ผัสสะที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ ชื่อว่าจักขุสัมผัส) เป็นต้น ด้วยสามารถแห่งสังวร ๘ เหล่านี้อย่างนี้ บัณฑิตพึงทราบสังวรทวาร (ทวารแห่งสังวร) ๘ เหล่านี้ คือ ทวารแห่งสังวรทางจักษุ ฯลฯ ทวารแห่งสังวรทางมโนตามที่กล่าวแล้ว.

               กถาว่าด้วยอกุศลกรรมบถ               
               ก็ชื่อว่าอกุศลกรรมบถเหล่านี้มี ๑๐ คือ
                         ปาณาติบาต
                         อทินนาทาน
                         กาเมสุมิจฉาจาร
                         มุสาวาท
                         ปิสุณาวาจา
                         ผรุสวาจา
                         สัมผัปปลาปะ
                         อภิชฌา
                         พยาบาท
                         มิจฉาทิฏฐิ.
               บรรดาอกุศลกรรมบถเหล่านั้น การยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ชื่อว่าปาณาติบาต ท่านอธิบายว่า การทำลายชีวิต คือการฆ่าสัตว์. ก็ในคำว่าปาณาติบาตนี้ โดยโวหารได้แก่สัตว์ โดยปรมัตถ์ได้แก่ชีวิตินทรีย์ ๒ อย่าง วธกเจตนา (เจตนาฆ่า) ของบุคคลผู้มีความสำคัญในสัตว์นั้น ว่ามีชีวิต เป็นไปทางทวารใดทวารหนึ่งของกายทวาร หรือวจีทวารที่ตั้งขึ้นด้วยความพยายามเข้าไปตัดชีวิตินทรีย์ ชื่อว่าปาณาติบาต. ในบรรดาสัตว์ทั้งหลายมีสัตว์เดรัจฉานเป็นต้นที่ไม่มีคุณ ปาณาติบาตนั้น ชื่อว่ามีโทษน้อยในเพราะสัตว์เล็ก ชื่อว่ามีโทษมากในเพราะร่างกายใหญ่.
               ถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะมีความพยายามมาก. แม้จะมีความพยายามเสมอกันก็มีโทษมากเพราะวัตถุใหญ่ บรรดาสัตว์ที่มีคุณมีมนุษย์เป็นต้น ปาณาติบาตนั้นชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะสัตว์มีคุณน้อย ชื่อว่ามีโทษมากเพราะมีคุณมาก. เมื่อสัตว์นั้นมีสรีระและคุณเท่ากัน ก็พึงทราบว่า ปาณาติบาตมีโทษน้อยเพราะความที่กิเลสทั้งหลาย และความพยายามอ่อน ชื่อว่ามีโทษมากเพราะกิเลสและความพยายามกล้า.
               องค์ (ส่วนประกอบ) ของปาณาติบาตนั้นมี ๕ อย่าง คือ
                         ๑. ปาโณ (สัตว์มีชีวิต)
                         ๒. ปาณสญฺญิตา (รู้ว่าสัตว์มีชีวิต)
                         ๓. วธกจิตฺตํ (มีจิตคิดฆ่า)
                         ๔. อุปกฺกโม (มีความพยายาม)
                         ๕. เตน มรณํ (สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น)
               ปาณาติบาตนั้น มีประโยค ๖ คือ
                         ๑. สาหัตถิกปโยคะ
                         ๒. อาณัตติกปโยคะ
                         ๓. นิสสัคคิยปโยคะ
                         ๔. ถาวรปโยคะ
                         ๕. วิชชามยปโยคะ
                         ๖. อิทธิมยปโยคะ
               ก็อรรถนี้ข้าพเจ้าให้พิสดารอยู่ย่อมจะชักช้าไป เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจักไม่ยังอรรถนั้น และอรรถอื่นอย่างเดียวกันให้พิสดาร แต่ผู้ต้องการอรรถพิสดารพึงตรวจดูอรรถกถาพระวินัย ชื่อสมันตปาสาทิกา แล้วถือเอาเถิด.

               ว่าด้วยอทินนาทาน               
               การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ ชื่อว่าอทินนาทาน ท่านอธิบายว่า การนำภัณฑะ (สิ่งของ) ของคนอื่นไป คือการลัก การขโมย. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อทินฺนํ ได้แก่ สิ่งของที่บุคคลอื่นหวงแหน. อธิบายว่า บุคคลอื่นใช้ของที่ให้ทำแล้วตามชอบใจในสิ่งใด ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ เถยยเจตนาของบุคคลผู้มีความสำคัญในวัตถุที่บุคคลอื่นหวงแหนนั้น ก็รู้ว่าผู้อื่นหวงแหนแล้ว ให้ตั้งขึ้นด้วยความพยายามถือเอาสิ่งนั้น จึงชื่อว่าอทินนาทาน. อทินนาทานนั้น ชื่อว่ามีโทษน้อย ในเพราะวัตถุอันเป็นของมีอยู่ของผู้อื่นน้อย ชื่อว่ามีโทษมาก ในเพราะวัตถุประณีต เพราะเหตุไรจึงมีโทษมาก เพราะวัตถุที่ลักไปนั้นเป็นของประณีต เมื่อวัตถุเสมอกัน อทินนาทานนั้นชื่อว่ามีโทษมาก เพราะเป็นวัตถุของบุคคลผู้มีคุณอันยิ่ง ชื่อว่ามีโทษน้อยในเพราะวัตถุอันมีอยู่ของบุคคลผู้มีคุณอันเลว โดยเทียบกับผู้มีคุณนั้นๆ.
               อทินนาทานนั้น มีองค์ ๕ คือ
                         ๑. ปรปริคฺคหิตํ (สิ่งของที่เขาเก็บรักษาไว้)
                         ๒. ปรปริคฺคหิตสญฺญิตา (รู้ว่าสิ่งของที่เขาเก็บรักษาไว้)
                         ๓. เถยฺยจิตฺตํ (มีจิตคิดลัก)
                         ๔. อุปกฺกโม (มีความพยายาม)
                         ๕. เตน หรณํ (นำสิ่งของนั้นไปด้วยความพยายามนั้น)
               อทินนาทานนั้น มีประโยค ๖ มีสาหัตถิกปโยคะเป็นต้น ประโยคเหล่านั้นแล ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งอวหาร (การขโมย) ๕ เหล่านี้ คือ
                         ๑. เถยยาวหาร (การลักโดยขโมย)
                         ๒. ปสัยหาวหาร (การลักโดยข่มขู่)
                         ๓. ปฏิจฉันนาวหาร (การลักโดยปกปิด)
                         ๔. ปริกัปปาวหาร (การลักโดยกำหนดไว้)
                         ๕. กุสาวหาร (การลักโดยจับสลาก)
               เนื้อความในที่นี้ท่านย่อไว้ ส่วนความพิสดาร ท่านกล่าวไว้ในสมันตปาสาทิกาแล้ว.

               ว่าด้วยกาเมสุมิจฉาจาร               
               ก็พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า กาเมสุมิจฉาจาร ต่อไป
               คำว่า กาเมสุ ได้แก่ การเสพเมถุน. การประพฤติลามกอันบัณฑิตติเตียนโดยส่วนเดียว ชื่อว่ามิจฉาจาร. แต่เมื่อว่าโดยลักษณะ ได้แก่เจตนาเป็นเหตุก้าวล่วงฐานะที่ไม่ควรเกี่ยวข้องที่เป็นไปทางกายทวารโดยประสงค์อสัทธรรม ชื่อว่ากาเมสุมิจฉาจาร.

               อคมนียฐาน ๒๐               
               ในกาเมสุมิจฉาจารนั้น มีหญิง ๒๐ จำพวก ได้แก่ หญิงที่มารดารักษาเป็นต้น ๑๐ จำพวกแรก คือ
                         ๑. หญิงที่มารดารักษา
                         ๒. หญิงที่บิดารักษา
                         ๓. หญิงที่มารดาบิดารักษา
                         ๔. หญิงที่พี่ชายน้องชายรักษา
                         ๕. หญิงที่พี่สาวน้องสาวรักษา
                         ๖. หญิงที่ญาติรักษา
                         ๗. หญิงที่ตระกูลรักษา
                         ๘. หญิงที่มีธรรมรักษา
                         ๙. หญิงที่รับหมั้นแล้ว
                         ๑๐. หญิงที่กฎหมายคุ้มครอง
               และหญิงที่เป็นภรรยามีการซื้อมาด้วยทรัพย์เป็นต้นเหล่านี้ คือ
                         ๑. ภรรยาที่ซื้อไถ่มาด้วยทรัพย์
                         ๒. ภรรยาที่อยู่ด้วยความพอใจ
                         ๓. ภรรยาที่อยู่ด้วยโภคะ
                         ๔. ภรรยาที่อยู่ด้วยผ้า
                         ๕. ภรรยาที่ทำพิธีรดน้ำ (จุ่มน้ำ)
                         ๖. ภรรยาที่ชายปลงเทริดลงจากศีรษะ
                         ๗. ภรรยาที่เป็นทาสีในบ้าน
                         ๘. ภรรยาที่จ้างมาทำงาน
                         ๙. ภรรยาที่เป็นเชลย
                         ๑๐. ภรรยาที่อยู่ด้วยกันครู่หนึ่ง
               หญิง ๒๐ จำพวกนี้ ชื่อว่าอคมนียฐาน (คือฐานะที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง) ก็บรรดาหญิงทั้งหลาย หญิง ๑๒ จำพวกที่บุรุษไม่ควรล่วงเกิน คือหญิงที่รับหมั้นและกฏหมายคุ้มครองแล้วรวม ๒ จำพวก และหญิงที่เป็นภรรยา ๑๐ จำพวกมีหญิงที่เป็นภรรยาไถ่มาด้วยทรัพย์เป็นต้น นี้ชื่อว่าอคมนียฐาน.
               ก็มิจฉาจารนี้นั้น ชื่อว่ามีโทษน้อย ก็เพราะอคมนียฐานเว้นจากคุณมีศีลเป็นต้น ชื่อว่ามีโทษมาก ในเพราะอคมนียฐานถึงพร้อมด้วยคุณมีศีลเป็นต้น.
               มิจฉาจารนั้นมี (องค์) ๔ คือ
                         ๑. อคมนียวตฺถุ (วัตถุที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง)
                         ๒. ตสฺมึ เสวนจิตตํ (มีจิตคิดเสพในอคมนียวัตถุนั้น)
                         ๓. เสวนปฺปโยโค (พยายามเสพ)
                         ๔. มคฺเคน มคฺคปฏิปตฺติอธิวาสนํ (การยังมรรคให้ถึงมรรค)
               ประโยคของมิจฉาจารนั้น มีหนึ่งคือสาหัตถิกปโยคะเท่านั้น.

               ว่าด้วยมุสาวาท               
               ความพยายามทางวาจา (วจีปโยคะ) หรือความพยายามทางกายอันทำลายประโยชน์ ของบุคคลผู้มุ่งกล่าวให้ขัดแย้งกัน ชื่อว่ามุสา. ก็เจตนาอันให้ตั้งขึ้นด้วยความพยายามทางกายหรือทางวาจาที่มุ่งจะกล่าวให้คลาดเคลื่อนเป็นอย่างอื่น ของบุคคลอื่น โดยประสงค์จะกล่าวให้คลาดเคลื่อน ชื่อว่ามุสาวาท.
               อีกนัยหนึ่ง เรื่องอันไม่เป็นจริง ไม่ใช่ของแท้ ชื่อว่ามุสา. การให้บุคคลรู้เรื่องไม่จริงไม่แท้นั้น โดยภาวะว่าจริง ว่าแท้ เรียกว่าวาทะ ก็ว่าโดยลักษณะ เจตนาที่ให้ตั้งขึ้นด้วยเคลื่อนไหวอย่างนั้น ของบุคคลผู้ประสงค์ให้คนอื่นรู้ถึงเรื่องไม่จริงแท้ เรียกว่ามุสาวาท.
               มุสาวาทนั้น ชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะประโยชน์ที่ผู้พูดทำลายประโยชน์นั้นน้อย ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะทำลายประโยชน์มาก. อีกอย่างหนึ่ง มุสาวาทของคฤหัสถ์ทั้งหลายที่เป็นไปโดยนัยมีอาทิว่า ไม่มี ดังนี้ เพราะประสงค์จะไม่ให้วัตถุที่มีอยู่ของตน ชื่อว่ามีโทษน้อย. มุสาวาทที่ตนเป็นพยานกล่าวเพื่อทำลายประโยชน์ ชื่อว่ามีโทษมาก. มุสาวาทของบรรพชิตทั้งหลายที่เป็นไปโดยนัยปูรณกถาว่า น้ำมันในบ้าน วันนี้เห็นทีจะไหลไปเหมือนแม่น้ำ โดยประสงค์จะหัวเราะกันเล่น เพราะน้ำมันหรือเนยใสเพียงเล็กน้อย ชื่อว่ามีโทษน้อย แต่มุสาวาทของบรรพชิตผู้กล่าวโดยนัยมีอาทิว่า ไม่เห็นเลยว่าเห็น ดังนี้ ชื่อว่ามีโทษมาก.
               (องค์) ของมุสาวาทนั้นมี ๔ อย่าง คือ
                         ๑. อตถํ วตฺถุ (เรื่องไม่จริง)
                         ๒. วิสํวาทนจิตฺตํ (คิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน)
                         ๓. ตชฺโช วายาโม (พยายามเกิดด้วยความคิดนั้น)
                         ๔. ปรสฺส ตทตฺถวิชานนํ (คนอื่นรู้เนื้อความนั้น)
               ประโยคของมุสาวาทมีอย่างเดียว คือสาหัตถิกปโยคะเท่านั้น. มุสาวาทนั้น พึงทราบโดยการกระทำกิริยาของผู้กล่าวให้คลาดเคลื่อนด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย หรือด้วยวาจา. ถ้าบุคคลอื่นรู้เนื้อความนั้นด้วยกิริยานั้น เจตนาอันตั้งขึ้นด้วยกิริยานี้ ย่อมผูกพันโดยกรรมที่เป็นมุสาวาทในขณะนั้นทีเดียว. อนึ่ง เมื่อบุคคลสั่งว่า เจ้าจงกล่าวแก่บุคคลนี้ ดังนี้ก็ดี เมื่อเขียนหนังสือทิ้งไปข้างหน้าก็ดี เมื่อเขียนติดไว้ที่ข้างฝาเรือนเป็นต้นโดยประสงค์ว่า บุคคลนี้พึงทราบอย่างนี้ก็ดี โดยประการที่ให้บุคคลอื่นกล่าวให้คลาดเคลื่อนจากกาย หรือจากวัตถุเนื่องด้วยกาย หรือด้วยวาจา เพราะฉะนั้น แม้ประโยคทั้งหลายคือ อาณัตติปโยคะ นิสสัคคิยปโยคะ ถาวรปโยคะ ก็ย่อมสมควรในมุสาวาทนี้ แต่เพราะไม่มีมาในอรรถกถาทั้งหลาย จึงควรพิจารณาก่อนแล้วถือเอา.

               ว่าด้วยปิสุณาวาจาเป็นต้น               
               พึงทราบวินิจฉัยในปิสุณาวาจาเป็นต้น.
               บุคคลย่อมกล่าววาจาแก่บุคคลใดย่อมกระทำความรักของตนในหัวใจของบุคคลนั้น ให้เกิดการป้ายร้ายแก่บุคคลอื่น วาจานั้นชื่อว่าปิสุณาวาจา. ก็วาจาใด ย่อมกระทำความหยาบคายให้ตนบ้าง ให้ผู้อื่นบ้าง วาจานั้นชื่อว่าผรุสวาจา. อีกอย่างหนึ่ง วาจาใด ทำความหยาบคายเอง ไม่เพราะหู ไม่จับใจ วาจานี้ชื่อว่าผรุสวาจา. บุคคลย่อมพูดเพ้อเจ้อ คือไร้ประโยชน์ด้วยภาวะใด ภาวะนั้น ชื่อว่าสัมผัปปลาปะ แม้เจตนาก็ได้ชื่อว่าปิสุณาวาจา เป็นต้นนั่นแหละ เพราะเป็นเหตุของวาจาเหล่านั้น. ก็เจตนานั้นเองท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               บรรดาวาจาเหล่านั้น เจตนาของบุคคลผู้มีจิตเศร้าหมองแล้ว ตั้งขึ้นด้วยความพยายามทางกายและวาจาเพื่อความแตกแยกของชนเหล่าอื่น หรือทำความรักให้แก่ตน ชื่อว่าปิสุณาวาจา. เจตนาที่เป็นปิสุณาวาจานั้น ชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะทำความแตกแยกให้บุคคลผู้มีคุณน้อย ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะบุคคลนั้นมีคุณมาก.
               ส่วนประกอบ (องค์) ของปิสุณาวาจามี ๔ คือ
               มีคนอื่นที่ตนพึงทำให้แตกกัน (ภินฺทิตพฺโพ ปุโร) ๑.
               ความเป็นผู้มีเจตนากล่าวให้แตกกัน (เภทปุเรกฺขารตา) ด้วยประสงค์ว่า ชนเหล่านี้จักเป็นไปต่างๆ กันด้วยอุบายอย่างนี้ หรือว่าเป็นผู้ใคร่จะทำตนให้เป็นที่รักว่า เราจักเป็นที่รักใคร่ จักเป็นที่คุ้นเคยด้วยอุบายอย่างนี้ ๑.
               มีความพยายามเกิดขึ้นด้วยจิตนั้น (ตชฺโช วายาโม) ๑.
               บุคคลนั้นรู้ความหมายนั้น (ตสฺส ตทตฺถวิชานนํ) ๑.
               ก็เมื่อบุคคลอื่นไม่แตกกัน กรรมบถก็ไม่แตก เมื่อบุคคลแตกกันนั่นแหละกรรมบถจึงแตกทีเดียว.
               เจตนาหยาบคายโดยส่วนเดียว ที่ตั้งขึ้นด้วยความพยายามทางกายและวาจาอันตัดความรักของผู้อื่น ชื่อว่าผรุสวาจา. เพื่อความแจ่มแจ้งแห่งผรุสวาจานั้น มีเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์.
               ได้ยินว่า เด็กชายคนหนึ่งไม่เชื่อฟังถ้อยคำของมารดาไปป่า มารดาไม่อาจให้เขากลับได้ จึงได้ด่าว่า ขอให้แม่ควายดุร้ายจงไล่ตามมัน ดังนี้ ทีนั้นแม่ควายในป่าก็ได้ปรากฏแก่เขา เหมือนอย่างมารดานั้นกล่าวนั่นแหละ เด็กได้ทำสัจจกิริยาว่า แม่ของข้าพเจ้าย่อมพูดคำใดด้วยปาก (ไม่คิดร้าย) ขอคำนั้นจงอย่ามี ถ้าแม่คิดคำใดด้วยความตั้งใจ ขอคำนั้นจงมีเถิด ดังนี้. แม่ควายได้ยืนอยู่ เหมือนบุคคลผูกไว้ในที่นั้นนั่นแหละ.
               ความพยายามแม้อันตัดเสียซึ่งความรักอย่างนี้ ย่อมไม่ชื่อว่าผรุสวาจา เพราะความที่จิตอ่อน. จริงอยู่ ในกาลบางครั้ง มารดาและบิดาย่อมพูดกะบุตรน้อยแม้อย่างนี้ว่า ขอให้พวกโจรจงตัดพวกเจ้าให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ดังนี้ แต่ท่านทั้งสองนั้นไม่ปรารถนาอะไรๆ แม้กลีบดอกอุบลตกไปถูกบุตรเหล่านั้น.
               อนึ่ง ในกาลบางคราว อาจารย์และอุปัชฌาย์ ย่อมกล่าวกะศิษย์ผู้อาศัยอย่างนี้ว่า พวกนี้ไม่มีหิริ ไม่มีโอตัปปะ พูดอะไร พวกเจ้าจงไล่เขาออกไปเสีย แต่ที่แท้ ท่านเหล่านั้นย่อมปรารถนาซึ่งความถึงพร้อมแห่งการเล่าเรียนและการบรรลุมรรคผลของศิษย์เหล่านั้น ไม่ชื่อว่าผรุสวาจา เพราะความที่จิตอ่อน แม้ฉันใด ไม่ชื่อว่าเป็นผรุสวาจา เพราะเป็นวาจาอ่อนหวาน ฉันนั้นก็หาไม่ ด้วยว่าคำพูดของบุคคลผู้ประสงค์จะให้คนอื่นตายว่า พวกท่านจงให้ผู้นี้นอนเป็นสุข ดังนี้ ย่อมไม่เป็นผรุสวาจาก็หาไม่. ก็วาจานั้นเป็นผรุสวาจาแท้เป็นวาจามีจิตหยาบ. วาจานั้นชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะความที่บุคคลนั้นมีคุณน้อย ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะบุคคลนั้นมีคุณมาก.
               ผรุสวาจานั้นมีองค์ ๓ คือ
                         ๑. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร (มีคนอื่นที่ตนพึงด่า)
                         ๒. กุปิตจิตฺตํ (มีจิตโกรธ)
                         ๓. อกฺโกสนา (การด่า)
               อกุศลเจตนาอันยังบุคคลอื่นรู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งตั้งขึ้นด้วยการพยายามทางกายและวาจา ชื่อว่าสัมผัปปลาปะ สัมผัปปลาปะนั้นชื่อว่ามีโทษน้อย เพราะความที่มีการซ่องเสพน้อย ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะมีการซ่องเสพมาก.
               องค์ของสัมผัปปลาปะมี ๒ คือ
               ภารตยุทฺธสีตาหรณาทินิรตฺถกกถาปุเรกฺขารตา (ความเป็นผู้มีเจตนาจะพูดเรื่องไร้ประโยชน์มีภารตยุทธ์และการลักพานางสีดาไปเป็นต้น) ๑.
               ตถารูปีกถากถน (การกล่าววาจาเช่นนั้น) ๑.
               ก็เมื่อบุคคลอื่นไม่ถือเอาถ้อยคำนั้น กรรมบถก็ไม่แตก เมื่อมีผู้อื่นถือสัมผัปปลาปะนั่นแหละ กรรมบถจึงแตกไป.
               ธรรมชาติที่เพ่งเล็ง ชื่อว่าอภิชฌา. อธิบายว่า เป็นผู้มุ่งต่อสิ่งของของผู้อื่น ย่อมเป็นไปโดยความเป็นผู้น้อมไปสู่สมบัติของผู้อื่นนั้น อภิชฌานั้นมีการเพ่งเล็งภัณฑะของบุคคลอื่นเป็นลักษณะอย่างนี้ว่า โอหนอ สิ่งนี้พึงเป็นของเรา ดังนี้ ชื่อว่ามีโทษน้อยและโทษมาก เหมือนอทินนาทาน.
               อภิชฌานั้นมีองค์ ๒ คือ
               ปรภณฺฑํ (สิ่งของของบุคคลอื่น) ๑.
               อตฺตโนปริณามนญฺจ (น้อมมาเพื่อตน) ๑.
               ที่จริง เมื่อความโลภในวัตถุอันเป็นของผู้อื่น แม้เกิดแล้ว กรรมบถยังไม่แตกไปก่อน จนกว่า เขาน้อมมาเพื่อตนด้วยคำว่า โอหนอ วัตถุนี้พึงเป็นของเรา ดังนี้.
               สภาวธรรมที่ยังประโยชน์เกื้อกูลและความสุขให้พินาศไป ชื่อว่าพยาบาท. พยาบาทนั้นมีความมุ่งร้ายเพื่อให้ผู้อื่นพินาศเป็นลักษณะ มีโทษน้อยและมีโทษมาก เหมือนผรุสวาจา.
               พยาบาทนั้นมีองค์ ๒ คือ
               ปรสตฺโต (สัตว์อื่น) ๑.
               ตสฺส จ วินาสจินฺตา (ความคิดที่ให้สัตว์นั้นพินาศไป) ๑.
               ที่จริง เมื่อความโกรธมีสัตว์อื่นเป็นที่ตั้งแม้เกิดขึ้นแล้ว กรรมบถยังไม่แตกไปก่อน ตราบจนกว่าจะคิดยังสัตว์ให้พินาศว่า ไฉนหนอ สัตว์นี้พึงขาดสูญ พึงพินาศดังนี้.
               ธรรมชาติที่ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เห็นผิดโดยความไม่ถือเอาตามความเป็นจริง. มิจฉาทิฏฐินั้นมีความเห็นวิปริตเป็นลักษณะโดยนัยเป็นอาทิว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล ดังนี้ ชื่อว่ามีโทษน้อยและมีโทษมาก เหมือนสัมผัปปลาปะ.
               อีกอย่างหนึ่ง อนิยตมิจฉาทิฏฐิมีโทษน้อย นิยตมิจฉาทิฏฐิมีโทษมาก.
               องค์ของมิจฉาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ
               วตฺถุโน จ คหิตาการวิปรีตตา (เรื่องทั้งหลายวิปริตจากอาการที่ถือเอา) ๑.
               ยถา จ ตํ คณฺหาติ ตถาภาเวน ตสฺสูปฏฺฐานํ (ความปรากฏแห่งเรื่องนั้นโดยความไม่เป็นจริงตามที่ยึดถือ) ๑.
               บรรดามิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น กรรมบถย่อมแตกไป เพราะนัตถิกทิฏฐิ อเหตุกทิฏฐิและอกิริยทิฏฐิเท่านั้น กรรมบถย่อมไม่แตกไป เพราะทิฏฐิอื่นๆ.

               ว่าด้วยอกุศลกรรมบถ ๕ ประเภท               
               พึงทราบวินิจฉัยอกุศลกรรมบถ ๑๐ แม้เหล่านี้ โดยอาการ ๕ คือ โดยธรรม (ธมฺมโต) โดยโกฏฐาส (โกฏฺฐาสโต) โดยอารมณ์ (อารมฺมณโต) โดยเวทนา (เวทนาโต) โดยมูล (มูลโต).
               บรรดาอาการ ๕ เหล่านั้น คำว่า โดยธรรม ความว่า ก็บรรดาอกุศลกรรมบถ ๑๐ เหล่านั้น อกุศลกรรมบถ ๗ โดยลำดับ (คือกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔) เป็นธรรมคือเจตนาเท่านั้น อกุศลกรรมบถ ๓ มีอภิชฌาเป็นต้น เป็นธรรมที่สัมปยุตกับเจตนา.
               คำว่า โดยโกฏฐาส ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๘ ที่ไม่เป็นมูล คือ อกุศลกรรมบถ ๗ โดยลำดับและมิจฉาทิฏฐิ ๑. อภิชฌาและพยาบาทเป็นกรรมบถด้วย เป็นมูลด้วย. จริงอยู่ อภิชฌา คือโลภะเพ่งถึงมูล ย่อมเป็นอกุศลมูล พยาบาท คือโทสะ ย่อมเป็นอกุศลมูล.
               คำว่า โดยอารมณ์ ได้แก่ ปาณาติบาตมีสังขารเป็นอารมณ์ เพราะมีชีวิตินทรีย์เป็นอารมณ์. อทินนาทานมีสัตว์เป็นอารมณ์ หรือมีสังขารเป็นอารมณ์. มิจฉาจารมีสังขารเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจโผฏฐัพพะ. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า มิจฉาจารมีสัตว์เป็นอารมณ์ ดังนี้บ้าง. มุสาวาทมีสัตว์เป็นอารมณ์ หรือมีสังขารเป็นอารมณ์. ปิสุณาวาจามีอารมณ์เหมือนมุสาวาท ผรุสวาจามีสัตว์เป็นอารมณ์เท่านั้น. สัมผัปปลาปะมีสัตว์เป็นอารมณ์ หรือมีสังขารเป็นอารมณ์ ด้วยสามารถธรรมคือ ทิฏฐะ สุตะ มุตะ วิญญาตะ. อภิชฌาก็เหมือนกัน พยาบาทมีสัตว์เป็นอารมณ์เท่านั้น. มิจฉาทิฏฐิมีสังขารเป็นอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งธรรมอันเป็นไปในภูมิ ๓.
               คำว่า โดยเวทนา ได้แก่ปาณาติบาตเป็นทุกขเวทนา. จริงอยู่ พระราชาทั้งหลายทรงเห็นโจรแล้ว แม้ทรงพระสรวลอยู่ ก็ทรงตรัสว่า พวกเธอจงไปฆ่ามันเสียแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เจตนาที่ถึงความตกลงพระทัยของพระราชาเหล่านั้นก็เป็นเจตนาสัมปยุตด้วยทุกขเวทนาโดยแท้. อทินนาทานมีเวทนา ๓ จริงอยู่ อทินนาทานนั้น เมื่อบุคคลเห็นภัณฑะของผู้อื่นร่าเริงยินดีถือเอาก็เป็นสุขเวทนา เมื่อมีความหวาดกลัวถือเอาก็เป็นทุกขเวทนา หรือเมื่อพิจารณาผลอันไหลออกของอทินนาทานก็เป็นทุกขเวทนาเหมือนกัน แต่ในเวลาที่ลักไป ตั้งอยู่ในภาวะความเป็นกลาง อทุกขมสุขเวทนาก็เกิดขึ้น. มิจฉาจารมีเวทนา ๒ คือด้วยสามารถแห่งสุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา แต่ในจิตที่ตกลงใจ ไม่เป็นอุเบกขาเวทนา. มุสาวาทมีเวทนา ๓ โดยนัยที่กล่าวแล้วในอทินนาทานนั่นแหละ. ปิสุณาวาจาก็มีเวทนา ๓ เหมือนกัน. ผรุสวาจาเป็นทุกขเวทนา. สัมผัปปลาปะมีเวทนา ๓.
               จริงอยู่ ในเวลาบุคคลผู้ยินดีร่าเริง กล่าวเรื่องมีการลักพานางสีดาและภารตยุทธ์เป็นต้น เมื่อบุคคลเหล่าอื่นกำลังให้สาธุการ มีการยกขึ้นซึ่งแผ่นผ้าเป็นต้น สัมผัปปลาปะนั้นย่อมเป็นสุขเวทนา. ครั้นเมื่อบุคคลคนหนึ่งให้สินจ้างไว้ก่อน แต่มาภายหลังคนอื่นพูดว่า ขอท่านจงกล่าวเรื่องตั้งแต่ต้น ดังนี้ ในเวลาที่กำลังเล่าเรื่อง โทมนัสเกิดขึ้นด้วยคิดว่า เราจักกล่าวกถาเบ็ดเตล็ดไม่สืบต่อกันหรือไม่หนอ ดังนี้ ย่อมเป็นทุกขเวทนา. เมื่อเขากล่าวกถาเฉยๆ ย่อมเป็นอทุกขมสุขเวทนา. อภิชฌามีเวทนา ๒ ด้วยสามารถแห่งสุขเวทนาและอุเบกขาเวทนา. มิจฉาทิฏฐิก็มี ๒ เหมือนอภิชฌา. พยาบาทเป็นทุกขเวทนา.
               คำว่า โดยมูล คือ ปาณาติบาตมี ๒ มูลด้วยสามารถแห่งโทสมูลและโมหมูล. อทินนาทานก็มี ๒ มูล คือด้วยอำนาจแห่งโทสะกับโมหะ หรือว่าด้วยอำนาจแห่งโลภะกับโมหะ. มิจฉาจารก็มีมูล ๒ คือด้วยอำนาจแห่งโลภะและโมหะนั่นแหละ มุสาวาทมี ๒ มูลด้วยสามารถแห่งโทสะกับโมหะ หรือโลภะกับโมหะ. ปิสุณาวาจาและสัมผัปปลาปะก็มี ๒ เหมือนกัน. ผรุสวาจามี ๒ มูลด้วยสามารถแห่งโทสะและโมหะ อภิชฌามีมูลเดียวด้วยสามารถแห่งโมหะ พยาบาทก็มีมูลเดียวเหมือนกัน มิจฉาทิฏฐิมี ๒ มูลด้วยอำนาจแห่งโลภมูลและโมหมูลแล.
               จบกถาว่าด้วยอกุศลกรรมบถ.               

               กถาว่าด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐               
               ธรรม ๑๐ อย่างเหล่านี้ คือ การงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น (มี ๗ อย่าง) อนภิชฌา อัพยาบาทและสัมมาทิฏฐิ ชื่อว่ากุศลกรรมบถ. บรรดากุศลกรรมบถ ๑๐ เหล่านั้น ปาณาติบาตเป็นต้นมีเนื้อความตามที่กล่าวไว้แล้วนั่นแหละ ธรรมที่ชื่อว่าวิรัติ (วิรติ) เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นด้วยธรรมนี้ หรือว่าเป็นตัวงดเว้น หรือว่า ธรรมนี้เป็นเพียงการงดเว้นเท่านั้น. การงดเว้นของบุคคลผู้งดเว้นจากปาณาติบาต สัมปยุตด้วยกุศลจิต ตามที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า การงด การเว้นจากปาณาติบาต อันใด มีในสมัยนั้น ดังนี้.
               วิรัติ (การงดเว้น) นั้นมี ๓ ประเภท คือ
                         สัมปัตตวิรัติ
                         สมาทานวิรัติ
                         สมุจเฉทวิรัติ
               บรรดาวิรัติ ๓ ประเภทนั้น วิรัติเมื่อเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ได้สมาทานสิกขาบททั้งหลาย ซึ่งพิจารณาถึงความเกิด (ชาติ) ความเสื่อม (วย) และพาหุสัจจะเป็นต้นของตนแล้ว ไม่ก้าวล่วงวัตถุที่ถึงพร้อมด้วยคิดว่า การกระทำเห็นปานนี้ไม่สมควรแก่พวกเรา ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นสัมปัตตวิรัติ.
               สัมปัตตวิรัตินั้นมีเรื่องเป็นอุทาหรณ์ เหมือนวิรัติของอุบาสกชื่อจักกนะ ในเกาะสีหลดังต่อไปนี้.
               ได้ยินว่า โรคเกิดขึ้นแก่มารดาของนายจักกนะนั้น ในเวลาที่เขายังเป็นเด็กทีเดียว. หมอบอกว่า ควรได้เนื้อกระต่ายสด. ลำดับนั้น พี่ชายของนายจักกนะจึงส่งให้นายจักกนะไปด้วยคำว่า พ่อจักกนะจงไปเที่ยวหาที่ไร่นา นายจักกนะนั้นก็ไปในที่นั้น. ก็ในสมัยนั้น มีกระต่ายตัวหนึ่งมาเพื่อจะเคี้ยวกินข้าวกล้าอ่อน มันเห็นนายจักกนะนั้นก็แล่นไปโดยเร็ว ได้ถูกเถาวัลย์พันไว้ จึงส่งเสียงกิริ กิริ ดังนี้. นายจักกนะไปตามเสียงนั้น จับมันแล้วคิดว่า เราจักปรุงยาให้มารดา แล้วคิดอีกว่า เราฆ่าสัตว์อื่นเพราะชีวิตมารดาเป็นเหตุ นี้ไม่สมควรแก่เรา. ลำดับนั้นจึงปล่อยไปโดยกล่าวว่า เจ้าจงไปกินหญ้าและน้ำ พร้อมกับกระต่ายทั้งหลายในป่าเถิด. เขาถูกพี่ชายถามว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าได้กระต่ายแล้วหรือ เขาบอกเรื่องนั้นทั้งหมด. ลำดับนั้น จึงถูกพี่ชายด่าเอา นายจักกนะนั้นไปสู่สำนักมารดาแล้ว กล่าวอธิษฐานสัจจะว่า ตั้งแต่เกิดแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่รู้จักการแกล้งฆ่าสัตว์มีชีวิตเลย ดังนี้ ทันใดนั้น มารดาของเขาก็หายจากโรค.
               ก็วิรัติเมื่อเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้สมาทานสิกขาบททั้งหลาย ในเวลาสมาทานสิกขาบทนั่นแหละ และในกาลต่อไปถึงสละชีวิตของตนก็ไม่ก้าวล่วงวัตถุ พึงทราบว่า เป็นสมาทานวิรัติ. เหมือนวิรัติของอุบาสกผู้อาศัยอยู่ที่ภูเขาชื่อว่าทันตรวัฑฒมานะ.
               ได้ยินว่า อุบาสกนั้นรับสิกขาบททั้งหลายในสำนักของพระเถระปิงคลพุทธรักขิตตะ ผู้อยู่ในอัมพรวิหารแล้วไปไถนา. ครั้งนั้น โคของเขาหายไป เขาตามหาโคนั้น จึงขึ้นไปยังภูเขาชื่อว่าทันตรวัฑฒมานะ งูใหญ่ได้รัดเขา ในที่นั้น เขาคิดว่า เราจักตัดศีรษะงูนั้นด้วยมีดอันคมนี้ แล้วคิดอีกว่า เรารับสิกขาบททั้งหลายในสำนักครูที่ควรแก่การยกย่องแล้วพึงทำลายเสีย ข้อนั้นไม่สมควรแก่เราเลย ดังนี้. เขาคิดอย่างนี้จนถึง ๓ ครั้ง แล้วตัดสินใจว่า เราจักสละชีวิต จักไม่สละสิกขาบท ดังนี้ จึงทิ้งมีดอันคมที่วางบนบ่า ทันทีนั้นแหละ งูใหญ่ก็ปล่อยเขาได้เลื้อยไปแล้ว.
               วิรัติที่สัมปยุตด้วยอริยมรรค พึงทราบว่าเป็นสมุจเฉทวิรัติ จำเดิมแต่สมุจเฉทวิรัติเกิดขึ้นแล้ว แม้จิตของพระอริยบุคคลทั้งหลายก็ไม่เกิดขึ้นว่า เราจักฆ่าสัตว์ ดังนี้.

               ว่าด้วยกุศลกรรม ๕ ประเภท               
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยกุศลกรรมบถเหล่านี้ โดยอาการ ๕ อย่างเหมือนอกุศลกรรมบถ คือ โดยธรรม โดยโกฏฐาส โดยอารมณ์ โดยเวทนา โดยมูล.
               บรรดากุศลกรรม ๕ ประเภทนั้น คำว่า โดยธรรม ความว่า จริงอยู่ บรรดากรรมบถ ๑๐ เหล่านั้น กรรมบถ ๗ โดยลำดับ (กายสุจริต ๓ วจีสุจริต ๔) ย่อมเป็นเจตนาและเป็นทั้งวิรัติ กรรมบถ ๓ เบื้องปลายเป็นธรรมสัมปยุตด้วยเจตนาเท่านั้น.
               คำว่า โดยโกฏฐาส ความว่า กรรมบถ ๗ โดยลำดับเป็นกรรมบถอย่างเดียว ไม่เป็นมูล. กรรมบถ ๓ เบื้องปลายเป็นกรรมบถด้วย เป็นมูลด้วย. จริงอยู่ อนภิชฌา คืออโลภะเพ่งถึงมูลแล้วก็เป็นกุศลมูล. อัพยาบาท คืออโทสะเป็นกุศลมูล. สัมมาทิฏฐิ คืออโมหะเป็นกุศลมูล.
               คำว่า โดยอารมณ์ ความว่า อารมณ์ทั้งหลายของปาณาติบาตเป็นต้นนั่นแหละก็เป็นอารมณ์ของกุศลกรรมเหล่านั้น. จริงอยู่ การงดเว้น (วิรัติ) จากวัตถุที่พึงก้าวล่วงนั่นแหละ ชื่อว่าเวรมณี. เหมือนอย่างว่า อริยมรรคมีนิพพานเป็นอารมณ์ ย่อมละกิเลสทั้งหลาย ฉันใด ก็กรรมบถเหล่านี้มีชีวิตินทรีย์เป็นต้นเป็นอารมณ์ พึงทราบว่า ย่อมละความเป็นผู้ทุศีลทั้งหลายมีปาณาติบาตเป็นต้น ฉันนั้น.
               คำว่า โดยเวทนา ความว่า กุศลกรรมบถทั้งหมดเป็นสุขเวทนาหรืออุเบกขาเวทนา. จริงอยู่ เพ่งถึงกุศลแล้ว ชื่อว่าทุกขเวทนาย่อมไม่มี.
               คำว่า โดยมูล ความว่า กรรมบถ ๗ โดยลำดับ ย่อมมี ๓ มูล คืออโลภะ อโทสะ อโมหะของบุคคลผู้งดเว้นด้วยจิตอันสัมปยุตด้วยญาณ มี ๒ มูลของบุคคลผู้งดเว้นด้วยจิตไม่ประกอบด้วยญาณ และมี ๒ มูลของบุคคลผู้งดเว้นด้วยจิตอันสัมปยุตด้วยอนภิชฌาและญาณ มีมูลเดียวของบุคคลผู้งดเว้นด้วยจิตไม่ประกอบด้วยญาณ แต่อโลภะไม่เป็นมูลของตนกับตน แม้ในอัพยาบาทก็มีนัยนี้แหละ สัมมาทิฏฐิมี ๒ มูลด้วยอำนาจแห่งอโลภะและอโทสะ ชื่อว่ากุศลกรรมบถมี ๑๐ เหล่านี้ด้วยประการฉะนี้.
               บัดนี้ บัณฑิตพึงทราบชื่อการเทียบเคียงกรรมบถ ในที่นี้. จริงอยู่ อสังวรที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจทวารแห่งผัสสะ ๕ ย่อมเป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศลเท่านั้น. อสังวรที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจทวารแห่งมโนสัมผัส ย่อมเป็นกรรมแม้ทั้ง ๓ อย่าง. เพราะว่า อสังวรนั้นถึงการไหวในกายทวารแล้ว ย่อมเป็นกายกรรมฝ่ายอกุศล ถึงความไหวในวจีทวารก็เป็นวจีกรรมฝ่ายอกุศล ไม่ถึงการไหวในทวารทั้ง ๒ นี้ ก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศล. อสังวรอันเกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งอสังวร ๕ เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศลเท่านั้น. อสังวรที่เกิดขึ้นด้วยทวารแห่งอสังวรที่กายไหว ย่อมเป็นกายกรรมฝ่ายอกุศลเท่านั้น. อสังวรที่เกิดขึ้นด้วยทวารแห่งอสังวรโดยให้วาจาไหว ย่อมเป็นวจีกรรมฝ่ายอกุศลเท่านั้น. อสังวรที่เกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งอสังวรโดยใจไหวไป ย่อมเป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศลเท่านั้น กายทุจริต ๓ อย่างเป็นกายกรรมฝ่ายอกุศลเท่านั้น. วจีทุจริต ๔ อย่างก็เป็นวจีกรรมฝ่ายอกุศลนั่นแหละ มโนทุจริต ๓ อย่างก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศลเท่านั้น.
               แม้สังวรก็เกิดด้วยสามารถทวารแห่งผัสสะ ๕ ก็เป็นมโนกรรมฝ่ายกุศลเท่านั้น. ส่วนสังวรแม้นี้เกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งมโนสัมผัส ก็เป็นกรรมแม้ทั้ง ๓ ดุจอสังวร. สังวรแม้เกิดแล้วด้วยสามารถทวารแห่งสังวร ๕ ก็เป็นมโนกรรมฝ่ายกุศลเท่านั้น. สังวรที่เกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งการไหวกาย ก็เป็นกายกรรมฝ่ายกุศลเท่านั้น. สังวรที่เกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งสังวรให้ไหววาจา ก็เป็นวจีกรรมฝ่ายกุศลเท่านั้น. สังวรที่เกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งสังวรทางใจ ก็เป็นมโนกรรมฝ่ายกุศลเหมือนกัน. กายสุจริต ๓ อย่างย่อมเป็นกายกรรมฝ่ายกุศลเท่านั้น. วจีสุจริต ๔ อย่าง ย่อมเป็นวจีกรรมฝ่ายกุศลเท่านั้น. มโนสุจริต ๓ อย่าง ก็เป็นมโนกรรมฝ่ายกุศลเหมือนกัน.
               กายกรรมที่เป็นอกุศลย่อมไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งผัสสะ ๕ แต่ย่อมเกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งมโนสัมผัสเท่านั้น. วจีกรรมฝ่ายอกุศลก็เหมือนกัน แต่มโนกรรมฝ่ายอกุศลย่อมเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งสัมผัส ๖. มโนกรรมนั้นถึงความไหวในกายทวารและวจีทวารแล้ว ก็เป็นกายกรรมและวจีกรรมฝ่ายอกุศล. มโนกรรมนั้นไม่ถึงความไหวในกายทวารและวจีทวาร ก็เป็นมโนกรรมฝ่ายอกุศลเท่านั้น. เหมือนอย่างว่า กายกรรมฝ่ายอกุศล ย่อมไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งผัสสะ ๕ ฉันใด กายกรรมฝ่ายอกุศลก็ย่อมไม่เกิดขึ้นแม้ด้วยสามารถทวารแห่งอสังวร ๕ ฉันนั้น คือย่อมเกิดด้วยสามารถทวารแห่งอสังวรอันยังกายให้ไหว และด้วยสามารถทวารแห่งอสังวรทางวาจา ย่อมไม่เกิดด้วยสามารถทวารแห่งอสังวรทางมโน. แม้วจีกรรมที่เป็นอกุศล ย่อมเกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งอสังวร ๕ ย่อมเกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งอสังวรอันยังกายและวาจาให้ไหว ย่อมไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งอสังวรทางมโน. มโนกรรมฝ่ายอกุศลย่อมเกิด แม้ด้วยสามารถทวารแห่งอสังวร ๘ นั่นแหละ แม้ในกายกรรมที่เป็นฝ่ายกุศลเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน. ส่วนต่างกันมีดังนี้.
               กายกรรมและวจีกรรมที่เป็นอกุศล ย่อมไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งอสังวรทางมโน ฉันใด กายกรรมและวจีกรรมที่เป็นกุศลก็ย่อมไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งสังวรทางมโนทวาร ฉันนั้น. แต่ว่า กายกรรมและวจีกรรมฝ่ายกุศลเหล่านี้ ย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ไม่ยังส่วนแห่งกายและวาจาให้ไหวรับสิกขาบททั้งหลาย แม้ในทวารแห่งมโนสังวร.
               ด้วยประการดังกล่าวมาแล้ว กุศลจิตที่เป็นกามาวจร ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้นในมโนทวารนั้น ด้วยสามารถแห่งกรรมและทวาร ๓ อย่าง ไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งวิญญาณ ๕. การเสวยอารมณ์เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรืออทุกขมสุขนี้อันใด ย่อมเกิดขึ้น เพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย. ก็โดยนัยนี้กุศลจิตที่เป็นกามาวจร ย่อมเกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งผัสสะ ๖ ย่อมไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งอสังวร ๘ ย่อมเกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งสังวร ๘ ย่อมไม่เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งอกุศลกรรมบถ ๑๐ ย่อมเกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งกุศลกรรมบถ ๑๐ เพราะฉะนั้น กุศลจิตนี้จึงเกิดขึ้นด้วยสามารถทวารแห่งกรรม ๓ อย่าง หรือด้วยสามารถทวารแห่งผัสสะ ๖ หรือด้วยสามารถทวารแห่งสังวร ๘ หรือว่า ด้วยสามารถแห่งกุศลกรรมบถ ๑๐. เมื่อคำว่า กามาวจรกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นปรารภรูปารมณ์ ฯลฯ หรือธรรมารมณ์ ดังนี้ตรัสแล้ว กามาวจรกุศลจิตทั้งหมดก็เป็นอันตรัสไว้แล้วแล.
               จบกถาว่าด้วยทวาร.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม กามาวจรมหากุศลจิต ๘ จิตดวงที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 15อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 16อ่านอรรถกถา 34 / 73อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=598&Z=847
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=2490
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=2490
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :