ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 15อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 16อ่านอรรถกถา 34 / 73อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม กามาวจรมหากุศลจิต ๘ จิตดวงที่ ๑

               อรรถกถาจิตตุปปาทกัณฑ์               
               อธิบายบทภาชนีย์กามาวจรกุศล               
               บัดนี้ เพื่อแสดงธรรมทั้งหลายที่ทรงรวบรวมไว้ด้วยมาติกา (แม่บท) ตามที่ทรงตั้งไว้โดยชนิดต่างๆ จึงเริ่มบทภาชนีย์ นี้ว่า กตเม ธมฺมา กุสลา (ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน) เป็นต้น.
               ในบทภาชนีย์นั้น กามาวจรกุศล นี้ใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ครั้งแรกว่า กามาวจรกุศลจิตเกิดขึ้นในสมัยใด ดังนี้ ในนิเทศแห่งกามาวจรกุศลนั้น มีมหาวาระ ๓ คือ
                         ธัมมววัฏฐานวาระ (วาระว่าด้วยการกำหนดธรรม)
                         สังคหวาระ (วาระว่าด้วยการรวบรวม)
                         สุญญตวาระ (วาระว่าด้วยความว่าง).
               บรรดาวาระทั้ง ๓ เหล่านั้น ธัมมววัฏฐานวาระ ทรงตั้งไว้ ๒ อย่างด้วยอำนาจแห่งอุทเทสวารและนิทเทสวาร บรรดาอุทเทสวารและนิทเทสวารทั้ง ๒ นั้น อุทเทสวารมี ๔ ปริจเฉท (ตอน) คือ ปุจฉา สมยนิทเทส ธัมมนิทเทส อัปปนา.
               บรรดาอุทเทสวาร ๔ ปริจเฉทนั้น ปริเฉทว่า กตเม ธมฺมา กุสลา นี้ชื่อว่า ปุจฉา. ปริเฉทว่า ยสฺมึ สมเย กามาวจรํ กุสลํ จิตฺตํ อุปฺปนฺนํ โหติ ฯเปฯ ตสฺมึ สมเย (กามาวจรกุศลจิตเกิดขึ้นในสมัยใด ฯลฯ ในสมัยนั้น) นี้ชื่อว่า สมยนิทเทส (แสดงเวลา). ปริเฉทว่า ผสฺโส โหติ ฯเปฯ อวิกฺเขโป โหติ (ผัสสะย่อมมี ฯลฯ ความไม่ฟุ้งซ่านย่อมมี) นี้ชื่อว่า ธัมมนิทเทส (แสดงธรรม). ปริเฉทว่า ก็หรือว่า อรูปธรรมทั้งหลายที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้นแม้อื่นใด มีอยู่ในสมัยนั้น ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล นี้ชื่อว่า อัปปนา (ฌาน).

               ว่าด้วยคำปุจฉา ๕               
               ปริจเฉทว่าด้วยคำถามที่หนึ่งของอุทเทสวาร ตั้งไว้ ๔ ปริจเฉทอย่างนี้ดังนี้
               บรรดาปริจเฉทว่าด้วยคำถามนั้น ปริจเฉทว่า กุศลธรรมเป็นไฉน นี้ชื่อว่า กเถตุกัมยตาปุจฉา.
               แท้จริง คำถามมี ๕ อย่าง คือ
                         อทิฏฐโชตนาปุจฉา (ถามเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ไม่รู้)
                         ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา (ถามเทียบเคียงกับสิ่งที่รู้แล้ว)
                         วิมติเฉทนาปุจฉา (ถามเพื่อตัดความสงสัย)
                         อนุมติปุจฉา (ถามเพื่อความเห็นชอบ)
                         กเถตุกัมยตาปุจฉา (ถามเพื่อประสงค์จะตอบเอง)
               คำถามเหล่านั้นมีความแตกต่างกันดังนี้
               อทิฏฐโชตนาปุจฉาเป็นไฉน?
               โดยปกติ ลักษณะปัญหาใดที่ตนไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง ไม่แจ่มแจ้ง ยังไม่ชัดเจน บุคคลย่อมถามปัญหาแห่งลักษณะนั้นเพื่อความรู้ เพื่อเห็น เพื่อพิจารณา เพื่อไตร่ตรอง เพื่อแจ่มแจ้ง เพื่อให้ชัดเจน นี้ชื่อว่า อทิฏฐโชตนาปุจฉา.
               ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา เป็นไฉน?
               โดยปกติ ลักษณะปัญหาใด ที่รู้แล้ว เห็นแล้ว พิจารณาแล้ว ไตร่ตรองแล้ว แจ่มแจ้งแล้วให้ชัดเจนแล้ว บุคคลย่อมถามปัญหา เพื่อเทียบเคียงกับบัณฑิตเหล่าอื่น นี้ชื่อว่า ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา.
               วิมติเฉทนาปุจฉา เป็นไฉน?
               โดยปกติ คนที่แล่นไปสู่ความสงสัยเคลือบแคลงใจ เกิดความเห็น ๒ แง่ว่า อย่างนี้หรือหนอ มิใช่หรือหนอ อะไรหนอ อย่างไรหนอ เขาย่อมถามปัญหา เพื่อต้องการตัดความสงสัย นี้ชื่อว่า วิมติเฉทนาปุจฉา.
               อนุมติปุจฉา เป็นไฉน?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสถามปัญหา เพื่อความเห็นชอบของภิกษุทั้งหลายว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอย่อมสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า? เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือหนอเพื่อพิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นเป็นของเรา เราเป็นนั่น นั่นอัตตาของเรา? ข้อนั้นไม่ควรเลย พระเจ้าข้า.
               นี้ชื่อว่า อนุมติปุจฉา.
               กเถตุกัมยตาปุจฉา เป็นไฉน?
               พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสถามปัญหา เพื่อประสงค์จะตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ก็สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้เป็นไฉน? นี้ชื่อว่า กเถตุกัมยตาปุจฉา.
               บรรดาคำปุจฉา ๕ เหล่านั้น คำถาม ๓ เบื้องต้นไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะเหตุไร.
               เพราะธรรมอะไรๆ ที่ปัจจัยปรุงแต่งแล้วในกาลทั้ง ๓ หรือพ้นจากกาล เป็นอสังขตะอันพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงเห็นแล้ว ไม่โชติช่วงแล้ว ไม่พิจารณา ไม่ไตร่ตรอง ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ชัดเจนแล้ว มิได้มี เพราะเหตุนั้น อทิฏฐโชตนาปุจฉา จึงไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               ก็ธรรมชาติใดอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแทงตลอดแล้วด้วยพระญาณของพระองค์ กิจที่จะต้องเทียบเคียงของธรรมชาตินั้นกับผู้อื่นจะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหมย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น ทิฏฐสังสันทนาปุจฉาของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่มี.
               ก็เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีความสงสัย ทรงข้ามพ้นวิจิกิจฉาแล้ว มีความสงสัยอันขจัดได้แล้วในธรรมทั้งปวง ฉะนั้น วิมติเฉทนาปุจฉาของพระองค์จึงไม่มี. แต่ว่า ปุจฉา ๒ นอกจากนี้มีอยู่แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในปุจฉา ๒ เหล่านั้น พึงทราบ กตเม ธมฺมา กุสลา ดังนี้ว่าเป็นกเถตุกัมยตาปุจฉา ต่อไป.
               บรรดาบทเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสถามในธรรมที่ทรงยกขึ้นแสดงด้วยบทว่า กตเม ดังนี้ เพราะว่า ด้วยคำสักว่า ธมฺมา กุสลา ดังนี้ ใครๆ ก็ไม่อาจเพื่อจะรู้ได้ว่า กระทำอะไรแล้ว หรือว่า ย่อมกระทำอะไร แต่เมื่อตรัสคำว่า กตเม แล้ว ความที่ธรรมอันพระองค์พึงยกขึ้นแสดงเหล่านั้นมาถามแล้ว ก็ย่อมปรากฏ ด้วยเหตุนั้น จึงกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมตรัสถามในธรรมที่ทรงยกขึ้นแสดงด้วยบทว่า กตเม ย่อมทรงแสดงธรรม ที่ตรัสถามด้วยคำถามสองบทว่า ธมฺมา กุสลา ดังนี้ เนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้น ประกาศไว้แล้วแล.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร ในที่นี้ ไม่ตรัสคำว่า กุสลา ธมฺมา เหมือนมาติกา แต่ตรัสทำตามลำดับแห่งบทว่า ธมฺมา กุสลา ตอบว่า เพื่อแสดงเทศนาธรรมทั้งหลายโดยประเภทแล้วแสดงธรรมมีชนิดต่างๆ เพราะว่า ในอภิธรรมนี้ พึงแสดงล้วนๆ ก็อภิธรรมเหล่านั้นมีประเภทมิใช่น้อยมีชนิดต่างๆ มีกุศลเป็นต้น เพราะฉะนั้น ในอภิธรรมนี้ พึงแสดงธรรมทั้งหลายเท่านั้น เทศนานี้ไม่ใช่แสดงโดยโวหาร แต่ธรรมเหล่านั้นพึงแสดงประเภทต่างๆ มิใช่น้อย มิใช่แสดงเพียงสักแต่ธรรม เพราะเทศนาโดยประเภทต่างๆ ย่อมนำมาซึ่งญาณในการแยกกลุ่มก้อนและญาณในปฏิสัมภิทา. พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงเทศนาแห่งธรรมทั้งหลายโดยประเภทว่า กุสลา ธมฺมา ดังนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงธรรมเหล่าใด ก็พึงแสดงธรรมเหล่านั้นโดยประเภทนั้นๆ จึงทรงกระทำลำดับบทนี้ว่า กตเม ธมฺมา กุสลา ด้วยว่าเมื่อประเภทธรรมทั้งหลายที่ทรงแสดงแล้ว ประเภทธรรมที่สัตว์เห็นอยู่ ย่อมถูกต้อง และพึงรู้ได้ง่าย.
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ยสฺมึ สมเย กามาวจรํ กุสลํ จิตฺตํ ต่อไป.

               ว่าด้วยสมยศัพท์               
                         สมเย นิทฺทิสิ จิตฺตํ  จิตฺเตน สมยํ มุนิ
                         นิยเมตฺวาน ทีเปตุํ  ธมฺเม ตตฺถ ปเภทโต
                         พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นมุนี ทรงแสดงจิตในสมัย
                         เพื่อกำหนดสมัยด้วยจิตแล้วแสดงธรรมทั้งหลาย
                         โดยประเภทในสมัยนั้น.

               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงว่า ในสมัยใด กามาวจรกุศลจิตเป็นต้น ก็ทรงแสดงจิตในสมัย เพราะเหตุไร เพราะทรงกำหนดสมัยอย่างนี้ว่า ตสฺมึ สมเย ในกาลเป็นที่สุดด้วยจิตที่กำหนดสมัยนั้น ลำดับนั้นเพื่อให้ตรัสรู้ธรรมทั้งหลายมีผัสสะและเวทนาเป็นต้น ซึ่งเป็นประเภทที่ตรัสรู้ตามได้ยาก ด้วยสามารถแห่งฆนะโดยสันติ สมูหะ กิจ อารมณ์เหล่านั้นในสมัยที่ ทรงกำหนดจิตนั้นอย่างนี้ว่า แม้เมื่อมีสมัยต่างกัน ถ้าสมัยใดมีจิต สมัยนั้นนั่นแหละ ผัสสะก็มี เวทนาก็มี.
               บัดนี้ พึงทราบการพรรณนาตามบทในคำวินิจฉัยว่า ยสฺมึ สมเย เป็นต้นนี้ ต่อไป.
               บทว่า ยสฺมึ เป็นอรรถแสดงถึงสัตตมีวิภัตติโดยไม่แน่นอน.
               บทว่า สมเย เป็นคำแสดงถึงสมัยที่แสดงไว้โดยไม่กำหนด. สมัยทรงแสดงโดยไม่กำหนดไว้ด้วยคำมีประมาณเท่านี้. ในคำว่า สมัยนั้น สมยศัพท์ ท่านใช้ในอรรถว่า พร้อมเพรียง ในขณะ ในกาล ในการประชุม ในเหตุ ในทิฏฐิ การได้เฉพาะ การละ การแทงตลอด.
               จริงอย่างนั้น สมยศัพท์นั้น ใช้ในความหมายว่า ความพร้อมเพรียง ดังในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า ถ้ากระไรแม้วันพรุ่งนี้ พวกเราใคร่ครวญกาลและความพร้อมเพรียงกันแล้วพึงเข้าไปหา.
               ใช้ในความหมายว่า ขณะ ดังประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขณะ (โอกาส) และสมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์มีประการเดียวแล.
               ใช้ในความหมายถึง กาล (เวลา) ดังในประโยคมีอาทิว่า ฤดูร้อนเป็นเวลาเร่าร้อน.
               ใช้ในความหมายว่า ประชุม ดังในประโยคมีอาทิว่า การประชุมใหญ่ มีในป่าใหญ่.
               ใช้ในความหมายว่า เหตุ ดังในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภัททาลิ แม้เหตุที่เธอต้องแทงตลอดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถีแล แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จักทรงทราบเราว่า ภิกษุชื่อภัททาลิไม่ทำให้บริบูรณ์ ในสิกขา ในศาสนาของพระศาสดาดังนี้ ดูก่อนภัททาลิ เหตุแม้นี้แล เธอก็ไม่แทงตลอดแล้ว.
               ใช้ในความหมายว่า ทิฏฐิ ดังในประโยคมีอาทิว่า ก็ครั้งนั้นแล ปริพาชกชื่ออุคคาหมานะ เป็นบุตรของนางสมณมุณฑิกา อาศัยอยู่ในอารามของพระนางมัลลิกาเทวี อันมีศาลาหลังเดียว แวดล้อมด้วยแถวต้นมะพลับ เป็นที่ประชุมแสดงลัทธิ.
               ใช้ในความหมายว่า การได้เฉพาะ ดังในประโยคมีอาทิว่า
                                   นักปราชญ์ ท่านเรียกว่า บัณฑิต
                         เพราะการได้เฉพาะซึ่งประโยชน์ในภพนี้
                         และประโยชน์ในภพหน้า.
               ใช้ในความหมายว่า ละ ดังในประโยคมีอาทิว่า ภิกษุได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะโดยชอบ. ใช้ในความหมายว่า การแทงตลอด ดังในประโยคมีอาทิว่า สภาพแห่งทุกข์มีอรรถว่าบีบคั้น มีอรรถว่าปรุงแต่ง มีอรรถว่าทำให้เดือดร้อน มีอรรถว่าแปรปรวน มีอรรถว่าควรแทงตลอด.
               ในสมยศัพท์มีอรรถเป็นอเนก ด้วยประการฉะนี้.
                         สมวาโย ขโณ กาโล       สมูโห เหตุเยว จ
                         เอเต ปญฺจาปิ วิญฺเญยฺยา  สมยา อิธวิญฺญุนา
                                        สมยศัพท์ในอธิการนี้ พึงทราบว่า
                         มีเพียง ๕ คือ ความพร้อมเพรียง ๑ ขณะ ๑
                         กาล ๑ ประชุม ๑ เหตุ ๑.

               แท้จริงในบรรดาสมยศัพท์ ๙ อย่างเหล่านั้น ในอธิการว่าด้วยกุศลนี้ว่า ยสฺมึ สมเย กามาวจรํ กุสลํ ดังนี้ บัณฑิตพึงทราบสมยศัพท์ ๕ มีความพร้อมเพรียงเป็นต้นต่อไป.
                                   บรรดาสมยศัพท์เหล่านั้น ความ
                         พร้อมเพรียงแห่งปัจจัยพึงทราบว่าความ
                         พร้อมเพรียง ส่วนสมยศัพท์อันเป็นอรรถ
                         ข้อที่ ๙ (การแทงตลอด) พึงทราบว่าเป็น
                         ขณะหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง จักรแม้ทั้ง ๔ ก็
                         พึงทราบว่าเป็นขณะ.
               จริงอยู่ ความพร้อมเพรียงแห่งปัจจัยทั้งหลายที่ดำรงอยู่ด้วยความเป็นเหตุ อันยังผลทั่วไปให้สำเร็จนั้น บัณฑิตพึงทราบว่าเป็นความพร้อมเพรียงในที่นี้. ส่วนสมยศัพท์มีอรรถที่ ๙ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขณะและสมัยในการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์มีประการเดียวแล ดังนี้ พึงทราบว่าเป็นขณะหนึ่ง.
               อีกอย่างหนึ่ง จักร (การถึงพร้อม) ๔ คือ
               ปฏิรูปเทสวาโส (การอยู่ในประเทศที่สมควร)
               สปฺปุริสูปนิสฺสโย (การคบสัตบุรุษ)
               อตฺตสมฺมาปณิธิ (การตั้งตนไว้ชอบ)
               ปุพฺเพกตปุญฺญตา (ความเป็นผู้มีบุญทำไว้ก่อน)
               ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในบาลีนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักร ๔ ประการนี้เป็นเครื่องดำเนินไปของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ประกอบแล้ว ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นขณะ ด้วยอรรถว่าเป็นโอกาสรวมจักร ๔ เหล่านั้นเป็นอันเดียวกัน. ด้วยว่า จักร ๔ เหล่านั้นเป็นโอกาสในการยังกุศลให้เกิดขึ้น. ครั้นทราบสมยศัพท์ คือ ความพร้อมเพรียง และขณะอย่างนี้แล้ว บัณฑิตพึงทราบคำชี้แจงในสมยศัพท์ทั้งหลายมีกาลเป็นต้นเหล่านี้ ต่อไป.
                         บัญญัติ ชื่อว่ากาล เพราะอาศัยธรรมนั้นๆ
                         ก็กาลนั้น เป็นเพียงโวหาร (มิใช่ปรมัตถ์)
                         กองแห่งธรรมมีผัสสะเป็นต้น พึงทราบว่า
                         เป็นการพร้อมเพรียง (สมูหะ).
               บัญญัติ ชื่อว่า กาล เพราะอาศัยธรรมนั้นๆ อย่างนี้ คือ เพราะอาศัยธรรมทั้งหลายโดยนัยเป็นต้นว่า จิตฺตกาโล (กาลแห่งจิต) รูปกาโล (กาลแห่งรูป) หรือเพราะอาศัยการประพฤติธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า อตีตธรรม อนาคตธรรม หรือเพราะอาศัยลำดับแห่งธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า กาลนี้เป็นกาลแห่งพืช กาลนี้เป็นกาลแห่งหน่อ หรือเพราะอาศัยลักษณะแห่งธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า นี้เป็นกาลเกิด นี้เป็นกาลแก่ หรือเพราะอาศัยกิจแห่งธรรมโดยนัยเป็นต้นว่า กาลเป็นที่เสวยอารมณ์ กาลเป็นที่จำอารมณ์ หรือเพราะอาศัยกิจที่สัตว์ต้องทำโดยนัยเป็นต้นว่า นี้เป็นกาลอาบน้ำ เป็นกาลดื่มน้ำ หรือเพราะอาศัยอิริยาบถโดยนัยเป็นต้นว่า กาลที่เดิน กาลที่ยืน หรือเพราะอาศัยการหมุนเวียนของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โดยนัยเป็นต้นว่า กาล (เวลา) เช้า เย็น กลางวัน กลางคืน หรือเพราะอาศัยการประชุมแห่งกาล กล่าวคือกลางวันและกลางคืนเป็นต้น โดยนัย ครึ่งเดือน หนึ่งเดือนเป็นต้น. ก็กาลนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นเพียงบัญญัติเท่านั้น เพราะไม่มีสภาวะ (ภาวะของตน).
               ส่วนหมวดแห่งธรรมทั้งหลายมีผัสสะและเวทนาเป็นต้นนั้น ท่านชี้แจงไว้ว่า เป็นการประชุม (สมูหะ) ในอธิการนี้. ครั้นทราบสมัยที่ใช้คำว่า กาลและประชุมอย่างนี้แล้ว พึงทราบสมยศัพท์ที่ใช้ในความหมายว่า เหตุ ต่อไป.
                         เหตูติ ปจฺจโย เจตฺถ       ตสฺส ทฺวารวเสน วา
                         อเนกภาโวปิ วิญฺเญยฺโย   ปจฺจยานํ วเสน วา.
                                        ก็ในสมยศัพท์นี้ ปัจจัย ชื่อว่าเหตุ
                         บัณฑิตพึงทราบความที่เหตุนั้น มีมากอย่าง
                         แม้ด้วยทวารหรือด้วยปัจจัยทั้งหลาย.

               จริงอยู่ ในอธิการนี้ ปัจจัยนั่นเอง ชื่อว่าเหตุ บัณฑิตพึงทราบความที่เหตุนั้นมีมากอย่างด้วยสามารถแห่งทวาร หรือปัจจัยทั้งหลาย. พึงทราบอย่างไร?
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัจจัย ๔ มีจักขุ รูป อาโลกะ มนสิการเป็นต้น แห่งจักขุวิญญาณเป็นต้นที่เกิดขึ้นในจักขุทวารเป็นต้น และตรัสปัจจัย ๒๔ ในมหาปกรณ์ โดยนัยมีอาทิว่า เหตุปจฺจโย ดังนี้. บรรดาปัจจัยเหล่านั้นยกเว้นวิปากปัจจัย ปัจฉาชาตปัจจัย แล้วที่เหลือเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมทั้งหลายทั้งนั้น. แต่ในอธิการนี้ ท่านประสงค์เอาธรรมเหล่านั้นแม้ทั้งหมดเป็นเหตุ บัณฑิตพึงทราบความที่เหตุนั้นเป็นปัจจัยมากอย่าง ด้วยสามารถแห่งทวารนี้ หรือด้วยสามารถแห่งปัจจัยอย่างนี้ อรรถทั้ง ๕ มีความพร้อมเพรียงเป็นต้นเหล่านี้ พึงทราบว่าท่านกำหนดด้วยสมยศัพท์ในอธิการนี้ด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร บรรดาอรรถเหล่านี้ ท่านไม่กำหนดเอาอรรถอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่กำหนดเอาทั้งหมด.
               ตอบว่า เพราะการแสดงอรรถที่แตกต่างกันนั้นๆ ด้วยสมยศัพท์นั้นๆ มีอยู่.
               จริงอยู่ บรรดาสมยศัพท์เหล่านั้น สมยศัพท์กล่าวคือความพร้อมเพรียง ย่อมแสดงถึงความเป็นไปโดยเหตุมิใช่น้อย ด้วยสมยศัพท์อันนั้น ย่อมมีการปฏิเสธลัทธิที่มีเหตุเดียว. ธรรมดาว่าความพร้อมเพรียงย่อมมุ่งถึงสิ่งที่อาศัยกันและกันในการยังผลทั่วไปให้สำเร็จ เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงอรรถแม้นี้ว่า ชื่อว่าผู้สร้างคนเดียวย่อมไม่มี. ก็โดยสภาวะ เมื่อผู้สร้างมีอยู่ ก็ไม่ควรเพ่งถึงเหตุอื่น ด้วยลักษณะอย่างนี้ จะเป็นการปฏิเสธคำมีอาทิว่า สุขและทุกข์อันตนทำเอง โดยแสดงถึงความไม่มีผู้กระทำคนใดคนหนึ่งนั้น.
               ในคำที่กล่าวแล้วนั้น หากจะมีคำท้วงว่า คำใดที่กล่าวแล้วย่อมแสดงความเป็นไปโดยเหตุมิใช่น้อย คำนั้นก็ไม่ถูกซิ เพราะเหตุไร. เพราะสิ่งที่ไม่เป็นเหตุ ไม่มีในความพร้อมเพรียงกัน แม้ในความพร้อมเพรียงก็เป็นเหตุไม่ได้.
               จริงอยู่ เมื่อคนตาบอดคนหนึ่งไม่อาจเห็น คนตาบอดตั้งร้อยก็ย่อมไม่เห็น.
               ตอบว่า ที่ว่าไม่ถูก หาควรไม่ เพราะความที่เหตุยังผลทั่วไปให้สำเร็จได้ตั้งอยู่แล้ว ชื่อว่าความพร้อมเพรียง หาใช่เหตุสักว่าการประชุมแห่งเหตุมิใช่น้อยไม่. ก็ผลทั่วไป ชื่อว่าการเห็นของบุคคลผู้ตาบอดทั้งหลายหามีไม่. เพราะเหตุไร เพราะแม้เมื่อคนตาบอดตั้งร้อยมีอยู่ ผลโดยทั่วไปก็ไม่มี ก็ผลอันทั่วไปนั้นของจักขุเป็นต้นมี เพราะความที่ธรรมมีจักษุวิญญาณเหล่านั้น มีอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง ความไม่มีเหตุทั้งหลายในความไม่พร้อมเพรียงเป็นเหตุ ในความพร้อมเพรียงสำเร็จได้ ข้อนี้พึงทราบว่า เพราะความไม่มีผลในความไม่พร้อมเพรียง แต่มีผลในความพร้อมเพรียง เพราะว่า เมื่อจักษุเป็นต้นบกพร่อง จักษุวิญญาณก็มีไม่ได้ และเมื่อจักขุเป็นต้นไม่บกพร่อง จักขุวิญญาณจึงสำเร็จประจักษ์แก่สัตวโลก นี้เป็นการแสดงอรรถด้วยสมยศัพท์ คือความพร้อมเพรียงก่อน.
               ส่วนขณะที่ ๙ เว้นอขณะทั้ง ๘ ท่านเรียกว่า ขณะเพราะอรรถว่าเป็นโอกาส กล่าวคือจักร ๔ มีการอยู่ในประเทศอันสมควรเป็นต้น ขณะนั้น เว้นความพร้อมเพรียงแห่งขณะ คือความเป็นมนุษย์ การเสด็จอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า การฟังพระสัทธรรมและมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นเสียก็มีไม่ได้ และความเป็นมนุษย์เป็นต้น เป็นภาวะที่ได้โดยยาก โดยการอุปมาด้วยเต่าตาบอดเป็นต้น กุศลอันเป็นอุปการะแก่โลกุตรธรรมทั้งหลาย อันประกอบด้วยขณะอันแสนจะได้ยากแท้ เพราะความที่ขณะเป็นของหาได้โดยยาก ดังพรรณนามาฉะนี้.
               บรรดาสมยศัพท์ตามที่กล่าวแล้ว สมยศัพท์กล่าวคือขณะย่อมส่องถึงความเป็นของได้โดยยาก เพราะเป็นการเกิดขึ้นแห่งกุศล ว่าโดยฐานะที่แสดงอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นอันท่านปฏิเสธการอยู่ด้วยความประมาทของชนผู้ได้ขณะแล้ว ทำขณะให้เป็นโมฆะ เพราะการไม่ยังกุศลนั้นอันประกอบด้วยขณะให้เกิดขึ้น อรรถนี้ท่านอธิบายไว้ด้วยสมยศัพท์ กล่าวคือขณะ.
               ก็ธรรมดาว่า การเป็นของกุศลจิตนี้ นั้นเป็นของน้อยยิ่งนัก ก็การที่กุศลจิตนั้นเป็นของน้อยยิ่งนักนั้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งอรรถกถาพระสูตรนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า ความเร็วของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เร็วกว่าความเร็วของบุรุษ เทวดาผู้ไปข้างหน้าของพระจันทร์และพระอาทิตย์ เรียกว่าพระจันทร์และพระอาทิตย์ อายุสังขารทั้งหลายย่อมสิ้นไปเร็วกว่านั้น.
               จริงอยู่ สูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกาลเล็กน้อยของรูปชีวิตินทรีย์ก่อน รูปที่เกิดขึ้นเฉพาะแล้วยังตั้งอยู่เพียงใด จิต ๑๖ ดวงเกิดขึ้นแล้วดับเพียงนั้น แม้การอุปมาด้วยข้อที่จิตเหล่านั้นเป็นของเล็กน้อยโดยกาล ย่อมไม่มีด้วยประการฉะนี้ ด้วยเหตุนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เป็นไปรวดเร็ว แม้การเปรียบก็กระทำไม่ได้ง่ายดังนี้. บรรดาสมยศัพท์เหล่านี้ สมยศัพท์กล่าวคือ กาลย่อมแสดงถึงความเล็กน้อยยิ่งของกาลที่เป็นไปในกุศลจิตด้วยประการฉะนี้. ว่าด้วยฐานะที่ทรงแสดงอยู่อย่างนี้ เป็นโอวาทที่ทรงประทานไว้ว่า จิตนี้แทงตลอดได้ยากเหมือนการร้อยแก้วมุกดาโดยแสงสว่างแห่งฟ้าแลบ เพราะความที่จิตมีเวลาเป็นไปน้อยยิ่ง เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงทำความอุตสาหะให้มาก และความเอื้อเฟื้อให้มาก ในการแทงตลอดจิตนี้ ดังนี้. เนื้อความนี้แสดงสมยศัพท์คือกาล.
               ส่วนสมยศัพท์ กล่าวคือการประชุม ย่อมแสดงความเกิดขึ้นพร้อมกันแห่งธรรมแม้มิใช่น้อย.
               จริงอยู่ กองแห่งธรรมมีผัสสะเป็นต้น ท่านกล่าวว่า การประชุม ดังนี้. อนึ่ง จิตเมื่อเกิดขึ้นย่อมเกิดขึ้นในกองแห่งธรรมนั้นพร้อมกับธรรมเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงความเกิดขึ้นพร้อมกันแห่งธรรมมิใช่น้อย โดยฐานะที่แสดงอยู่อย่างนี้ เป็นอันว่าแสดงการปฏิเสธความเกิดขึ้นแห่งธรรมอย่างเดียวนั่นเอง. เนื้อความนี้แสดงสมยศัพท์กล่าว คือการประชุม.
               ส่วนสมยศัพท์กล่าวคือเหตุ ย่อมแสดงความเป็นไปอันประกอบด้วยธรรมอื่น. จริงอยู่ บทว่า ยสฺมึ สมเย มีอธิบายว่า เมื่อเหตุอย่างใดมีกุศลก็ย่อมเกิดขึ้น ดังนี้ เพราะฉะนั้น จึงแสดงความที่ธรรมมีการเป็นไปโดยอาศัยเหตุอื่น เพราะมีเหตุที่เป็นไป ด้วยฐานะที่แสดงอยู่อย่างนี้ จึงเป็นอันปฏิเสธความสำคัญผิดว่า ธรรมทั้งหลายเป็นไปในอำนาจของตนได้. เนื้อความนี้แสดงความเป็นไปได้ด้วยสมยศัพท์กล่าวคือเหตุ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺมึ สมเย อธิบายว่า ในกาลใด ด้วยอำนาจแห่งสมยศัพท์ กล่าวคือกาล. พึงทราบเนื้อความแห่งสมยศัพท์ คือการประชุมในบทว่า ยสฺมึ สมูเห นี้ ได้แก่ บรรดาสมยศัพท์ทั้งหลาย คือขณะ ความพร้อมเพรียงและเหตุ มีอยู่ คือ เมื่อมีขณะใด มีความพร้อมเพรียงใด มีเหตุใด กามาวจรกุสลจิตย่อมเกิดขึ้น เมื่อกามาวจรกุศลจิตนั้นนั่นแหละ มีอยู่ ธรรมทั้งหลายแม้มีผัสสะเป็นต้นก็เกิดขึ้น ดังนี้ เพราะสมยศัพท์กล่าวคือกาล และการประชุมเป็นอธิกรณะ (เป็นอาธารสัตตมีวิภัตติ ให้แปลว่า ใน).
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วุตฺตธมฺมานํ นี้ เป็นสัตตมีวิภัตติด้วยสามารถแห่งอธิกรณะ อธิบายว่า ภาวะในธรรมเหล่านั้น พึงกำหนดด้วยภาวะแห่งสมยศัพท์ กล่าวคือขณะ ความพร้อมเพรียง และเหตุ เพราะฉะนั้น ในคำว่า วุตฺตธมฺมานํ นี้ จึงเป็นสัตตมีวิภัตติ ด้วยสามารถการกำหนดภาวะด้วยภาวะ.

               อธิบายคำว่ากามาวจร               
               บทว่า กามาวจรํ ได้แก่ จิตที่นับเนื่องในกามาวจรธรรมทั้งหลายที่ตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า ธรรมเป็นกามาวจร เป็นไฉน? คือ เบื้องต่ำมีอเวจีนรกเป็นที่สุด เบื้องบนมีสวรรคชั้นปรนิมมิตวสวัตดีเป็นที่สุด.
               ในกามาวจรนั้น มีวจนัตถะ (ความหมายของถ้อยคำ) ดังต่อไปนี้
               ว่าโดยอุทาน กามมี ๒ คือ วัตถุกาม และกิเลสกาม. บรรดากามทั้ง ๒ นั้น ว่าโดยอรรถ กิเลสกามได้แก่ฉันทราคะ วัตถุกามได้แก่วัฏฏะอันเป็นไปในภูมิ ๓.
               อนึ่ง กิเลสกามชื่อว่า กาม เพราะอรรถว่า ย่อมใคร่. วัตถุกามชื่อว่า กาม เพราะอรรถว่า วัตถุอันเขาใคร่. ก็กามทั้ง ๒ อย่างนั้น ย่อมท่องเที่ยวไปในประเทศใดด้วยสามารถแห่งความเป็นไป ประเทศนั้นมี ๑๑ คือ อบายภูมิ ๔ มนุษยภูมิ ๑ เทวโลก ๖ ชั้น. กามย่อมท่องเที่ยวไปในที่นี้ เพราะฉะนั้น ที่นี้จึงชื่อว่า กามาวจร ดุจการท่องเที่ยวไปกับพวกเกวียน.
               เหมือนอย่างว่า พ่อค้าเกวียน ย่อมท่องเที่ยวไปในประเทศใด ประเทศนั้น ท่านเรียกว่า บุรุษผู้เที่ยวไปกับพ่อค้าเกวียน ถึงจะมีสัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้าเหล่าอื่นท่องเที่ยวไปด้วย แม้มีอยู่ ท่านก็กำหนดเฉพาะชนผู้เที่ยวไปเหล่านั้นฉันใด ประเทศนี้ ท่านก็เรียกว่า กามาวจรเท่านั้น เพราะแม้เมื่อรูปาวจรเป็นต้นเหล่าอื่นท่องเที่ยวไปในประเทศนั้น ท่านก็กำหนดเอาเฉพาะกามาวจรเหล่านั้นเท่านั้น ฉันนั้น. กามนี้ท่านเรียกว่า กามเท่านั้น เพราะลบบทหลังเสีย เหมือนรูปภพ ท่านเรียกว่า รูป ฉันใด จิตนี้ ย่อมท่องเที่ยวไปในกาม กล่าวคือ ๑๑ ประเทศนี้ฉันนั้น เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า กามาวจร.
               จิตนี้ย่อมท่องเที่ยวไปแม้ในรูปภพและอรูปภพแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ช้างใหญ่มีชื่ออันได้แล้วว่า เข้าสู่สงคราม เพราะการหยั่งลงสู่สงคราม แม้จะเที่ยวไปในเมือง เขาก็เรียกว่า ช้างสงครามนั่นแหละ สัตว์จำนวนมากที่เที่ยวไปบนบกและในน้ำ แม้ยืนอยู่ในที่มิใช่บกและมิใช่น้ำ เขาก็เรียกว่า สัตว์เที่ยวไปบนบกและเที่ยวไปในน้ำ ฉันใด จิตนี้ แม้เที่ยวไปในที่อื่นๆ ก็พึงทราบว่า กามาวจร (ท่องเที่ยวไปในกาม) ฉันนั้นเหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง กามย่อมท่องเที่ยวไปในจิตนี้ ด้วยสามารถทำให้เป็นอารมณ์ แม้เพราะเหตุนั้น จิตนี้ก็เรียกว่า กามาวจร. กามนั้นย่อมท่องเที่ยวไปแม้ในรูปภพและอรูปภพ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็พึงทราบอุปมานี้ เหมือนเขากล่าวว่า สัตว์ที่ชื่อว่า ลูกโค เพราะมันส่งเสียงร้อง ที่ชื่อว่า กระบือ เพราะมันนอนบนแผ่นดิน สัตว์มีจำนวนเท่าใดก็ตามจะส่งเสียงร้องหรือนอนบนแผ่นดินก็ตาม สัตว์ทั้งหมดเหล่านั้นหามีชื่ออย่างนั้นไม่. ก็อีกอย่างหนึ่ง จิตใด ย่อมท่องเที่ยวไปสู่ปฏิสนธิในกาม กล่าวคือกามภพ เพราะเหตุนั้น จิตนั้นจึงชื่อว่ากามาวจร.

               อธิบายคำว่ากุศล               
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า กุศล ต่อไป ธรรมที่ชื่อว่ากุศล ด้วยอรรถทั้งหลายมีการตัดบาปทั้งหลายเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่ากุศล ด้วยอรรถว่า ความไม่มีโรค ด้วยอรรถว่าไม่มีโทษ และด้วยอรรถว่าเกิดแต่ความฉลาด.
               บัณฑิตพึงทราบธรรมที่ชื่อว่า กุศล ด้วยอรรถว่าไม่มีโรค เพราะความไม่มีความกระสับกระส่ายด้วยกิเลส ไม่มีความป่วยไข้คือกิเลส ไม่มีพยาธิคือกิเลสในอรูปธรรมเลย เหมือนคำที่ท่านกล่าวว่า ชื่อว่ากุศล ด้วยอรรถว่า ไม่มีโรค เพราะไม่มีความกระสับกระส่ายในร่างกาย เพราะไม่มีความป่วยไข้ในร่างกาย เพราะไม่มีพยาธิในร่างกาย ดุจในคำว่า ความไม่มีโรคมีแก่ท่านผู้เจริญบ้างแลหรือ.
               ก็ธรรมที่ชื่อว่ากุศล ด้วยอรรถว่า ไม่มีโทษ เพราะความไม่มีโทษที่ควรเว้นคือกิเลส โทษที่ประทุษร้ายคือกิเลส โทษที่กระวนกระวายคือกิเลส. ปัญญา ท่านเรียกว่า โกสัลละ (ความเป็นผู้ฉลาด) ธรรมที่ชื่อว่ากุศล ด้วยอรรถว่า เกิดแต่ความฉลาด เพราะความเกิดขึ้นแต่ปัญญาชื่อว่าโกสัลละ.
               คำว่า กุศล ที่เป็นญาณสัมปยุตจงพักไว้ก่อน แต่คำว่ากุศลที่เป็นญาณวิปปยุต เป็นอย่างไร. แม้กุศลที่เป็นญาณวิปปยุตนั้นก็เป็นกุศลนั่นแหละ ด้วยรุฬหีศัพท์. เหมือนอย่างว่า พัดที่บุคคลทำด้วยเสื่อรำแพนไม่ได้ทำด้วยใบตาล เขาก็เรียกกันว่า พัดใบตาลนั่นแหละ ด้วยรุฬหิศัพท์ เพราะสิ่งนั้นคล้ายกัน ฉันใด กุศลแม้เป็นญาณวิปปยุต บัณฑิตก็พึงทราบว่า เป็นกุศลนั่นแหละฉันนั้น. แต่เมื่อว่าโดยนิปปริยาย (โดยตรง) กุศลที่เป็นญาณสัมปยุต ได้ชื่อว่า กุศล ถึง ๓ อย่าง คือ ด้วยอรรถว่าไม่มีโรค ด้วยอรรถว่าไม่มีโทษ ด้วยอรรถว่าเกิดแต่ความฉลาด. กุศลที่เป็นญาณวิปปยุต ได้ชื่อว่ากุศล เพียง ๒ อย่างเท่านั้น. เพราะฉะนั้น กุศลใดที่กล่าวไว้แล้วโดยการบรรยายถึงชาดกก็ดี โดยการบรรยายถึงพาหิรสูตรก็ดี โดยการบรรยายถึงพระอภิธรรมก็ดี กุศลนั้นทั้งหมดย่อมได้ในจิตนี้ด้วยอรรถแม้ทั้ง ๓. กุศลนี้นั้น ว่าโดยลักขณาทิจตุกะ คือกุศล
                         มีสุขวิบากอันไม่มีโทษ เป็นลักษณะ
               มีการกำจัดอกุศล เป็นรส มีการผ่องแผ้ว
               เป็นปัจจุปัฏฐาน มีโยนิโสมนสิการ หรือมี
               ความไม่มีโทษเป็นปทัฏฐาน.
               อีกอย่างหนึ่ง กุศลชื่อว่า มีความไม่มีโทษ เป็นลักษณะนั้นแหละ เพราะความเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมที่มีโทษ มีความผ่องแผ้วเป็นรส มีวิบากที่น่าปรารถนาเป็นปัจจุปัฏฐาน มีโยนิโสมนสิการหรือความไม่มีโทษเป็นปทัฏฐาน.
               จริงอยู่ ในธรรมทั้ง ๔ มีลักษณะเป็นต้น สภาวะหรือความเสมอกันแห่งธรรมนั้นๆ ชื่อว่า ลักษณะ กิจ (หน้าที่การงาน) หรือสัมปัตติ (การถึงพร้อม) ชื่อว่า รส. อาการปรากฏ หรือผล ชื่อว่าปัจจุปัฏฐาน. เหตุใกล้ ชื่อว่าปทัฏฐาน. ดังนั้น ข้าพเจ้าจักกล่าวธรรมทั้งหลายมีลักษณะเป็นต้นในที่ใดๆ พึงทราบความแตกต่างกันแห่งธรรมเหล่านั้นในที่นั้นๆ โดยนัยนี้แล.

               อธิบายคำว่าจิต               
               พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า จิตฺตํ สภาวะที่ชื่อว่า จิต เพระอรรถว่า ย่อมคิด คือว่าย่อมรู้แจ้งซึ่งอารมณ์. อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า จิต นี้ทั่วไปแก่จิตทั้งปวง เพราะฉะนั้น ในบทว่า จิตฺตํ นี้ จิตใดที่เป็นกุศล อกุศลและมหากิริยาจิตฝ่ายโลกียะ จิตนั้นชื่อว่าจิต เพราะอรรถว่า ย่อมสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี. ชื่อว่าจิต เพราะอรรถว่า เป็นธรรมชาติอันกรรมและกิเลสทั้งหลายสั่งสมวิบาก. อีกอย่างหนึ่ง จิตแม้ทั้งหมด ชื่อว่าจิต เพราะความเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร. ชื่อว่าจิต เพราะกระทำให้วิจิตร.
               พึงทราบเนื้อความในบทว่า จิตฺตํ นี้ ดังพรรณนามาฉะนี้.
               บรรดาจิตเหล่านั้น จิตมีราคะก็อย่างหนึ่ง จิตมีโทสะก็อย่างหนึ่ง จิตมีโมหะก็อย่างหนึ่ง จิตเป็นกามาวจรก็อย่างหนึ่ง จิตเป็นรูปาวจรเป็นต้น ก็อย่างหนึ่ง จิตมีรูปเป็นอารมณ์ก็อย่างหนึ่ง จิตมีเสียงเป็นต้นเป็นอารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง บรรดาจิตแม้ที่มีรูปเป็นอารมณ์ จิตที่มีสีเขียวเป็นอารมณ์ก็อย่างหนึ่ง จิตที่มีสีเหลืองเป็นต้นเป็นอารมณ์ก็อย่างหนึ่ง แม้จิตที่มีเสียงเป็นต้น เป็นอารมณ์ก็นัยนี้แหละ ในจิตเหล่านั้น แม้ทั้งหมด หีนจิตก็อย่างหนึ่ง มัชฌิมจิตก็อย่างหนึ่ง ปณีตจิตก็อย่างหนึ่ง ถึงในจิตที่เป็นหีนจิตเป็นต้น จิตที่มีฉันทะเป็นอธิบดีก็อย่างหนึ่ง จิตที่มีวิริยะเป็นอธิบดีก็อย่างหนึ่ง ฯลฯ จิตมีวิมังสาเป็นอธิบดีก็อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบความที่จิตเหล่านี้เป็นธรรมวิจิตร ด้วยสามารถแห่งสัมปยุตตธรรม ภูมิ อารมณ์ เป็นหีนะ มัชฌิมะ ปณีตะและอธิบดี. ก็บรรดาจิตเหล่านี้ เป็นจิตแต่ละดวง มิใช่จิตทั้งหลายเลย ถึงอย่างนั้น จิตนั้นก็ชื่อว่า จิต เพราะรวมอยู่ในความวิจิตรทั้งหลาย บรรดาจิตเหล่านั้น จิตดวงใดดวงหนึ่งสมควรเรียกว่าจิต เพราะเป็นธรรมวิจิตร. ชื่อว่าจิต เพราะความวิจิตรอย่างนี้ก่อน.
               ชื่อว่าจิต เพราะทำให้วิจิตร อย่างไร?
               จริงอยู่ ชื่อว่า วิจิตรอื่นยิ่งกว่าจิตรกรรม ไม่มีในโลก ธรรมดาว่า ลวดลายแม้ในความวิจิตรนั้น ก็เป็นความวิจิตรคือความงดงามยิ่งนัก. พวกจิตรกรเมื่อกระทำจิตรกรรมนั้นก็เกิดสัญญาอันวิจิตรว่า รูปมีอย่างต่างๆ เราควรทำอย่างนี้ ในที่นี้ ดังนี้. การทำอันวิจิตร อันสำเร็จแล้วด้วยกิจมีการเขียน การระบายสี การทำสีให้เรืองรอง และการสลับสีเป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยสัญญาอันวิจิตร รูปอันวิจิตรอย่างใดอย่างหนึ่ง ในความวิจิตรกล่าวคือลวดลาย ย่อมสำเร็จแต่จิตรกรรมนั้น. การเกิดขึ้นแห่งศิลปะอันวิจิตรอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกอย่างนี้ ศิลปะทั้งหมดนั้น อันจิตเท่านั้นคิดว่า รูปนี้จงมีข้างบนรูปนี้ รูปนี้จงมีข้างล่างของรูปนี้ รูปนี้จงมีที่ข้างทั้ง ๒ ของรูปนี้แล้วจึงกระทำ จิตรกรรมนั้นอันช่างให้วิจิตรแล้ว ฉันใด แม้จิตที่ให้สำเร็จความวิจิตร ก็ชื่อว่าจิต ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะกระทำให้วิจิตรด้วยอาการอย่างนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง จิตนั่นแหละ ชื่อว่าวิจิตรกว่าจิตรกรรมนั้น เพราะให้สำเร็จจิตรกรรมทุกชนิดตามที่คิด. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า ลวดลายอันวิจิตร พวกเธอเห็นแล้วหรือ พวกภิกษุกราบทูลว่า เห็นแล้วพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลวดลายอันวิจิตรแม้นั้นแลอันจิตนั่นเองคิดแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตเท่านั้นวิจิตรกว่าลวดลายอันวิจิตรแม้นั้นแล.
               อนึ่ง จิตที่เป็นไปภายในต่างชนิดโดยกรรม เพศ สัญญาและโวหารเป็นต้น ในคติทั้งหลาย มีเทวดา มนุษย์และสัตว์เดรัจฉานนี้ใด จิตแม้นั้นก็ กระทำให้วิจิตรแล้วเหมือนกัน.
               จริงอยู่ กุศลกรรมและอกุศลกรรม อันต่างโดยกรรมมีกายกรรมเป็นต้นที่เป็นไปโดยนัยมีทาน ศีล ความเบียดเบียนและความโอ้อวดเป็นต้น สำเร็จแล้วด้วยจิต ชื่อว่ามีความต่างกันเพราะกรรม.
               สัณฐานแห่งอวัยวะมีมือ เท้า ท้อง คอและหน้าเป็นต้นในคติทั้งหลายนั้นๆ แตกต่างกันไป ด้วยความต่างกันแห่งกรรมนั่นแหละ ชื่อว่าความต่างกันแห่งเพศ. เมื่อสัญญาเกิดขึ้นว่า นี้เป็นหญิง นี้เป็นชาย ดังนี้ ด้วยสามารถแห่งสัณฐานตามที่ถือเอา เพราะความต่างกันแห่งเพศ ชื่อว่าความต่างกันแห่งสัญญา. เมื่อชนทั้งหลายร้องเรียกด้วยคำว่า หญิง หรือว่า ชาย ดังนี้ อันสมควรแก่สัญญา เพราะความต่างกันแห่งสัญญา ชื่อว่าความต่างกันแห่งโวหาร. แต่เพราะเหตุที่บุคคลทำกรรมอันให้เกิดอัตภาพนั้นๆ ด้วยสามารถแห่งความต่างกันแห่งโวหารอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าจักเป็นหญิง ข้าพเจ้าจักเป็นชาย ข้าพเจ้าจักเป็นกษัตริย์ ข้าพเจ้าจักเป็นพราหมณ์ ดังนี้ ฉะนั้น จึงชื่อว่า ความต่างกันแห่งกรรม เพราะความต่างกันแห่งโวหาร. ก็ความต่างกันแห่งกรรมนั้นๆ เมื่อจะยังภพตามที่ปรารถนาให้เกิดขึ้น ย่อมให้เกิดขึ้นด้วยคติ เหตุใด เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ความต่างกันแห่งคติ เพราะความต่างกันแห่งกรรม.
               อนึ่ง ความที่สัตว์ทั้งหลายนั้นๆ เกิดเป็นสัตว์ไม่มีเท้าและสัตว์ ๒ เท้าเป็นต้น เกิดเป็นสัตว์สูงและต่ำเป็นต้นในคตินั้นๆ เกิดเป็นผู้มีผิวพรรณดีและผิวพรรณทรามเป็นต้น เป็นผู้มีลาภและเสื่อมลาภเป็นต้นในอัตภาพนั้นๆ ย่อมปรากฏเพราะความต่างกันแห่งกรรมนั่นแหละ เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นไปในภายในต่างโดยกรรม เพศ สัญญา และโวหารเป็นต้นในคติทั้งหลายอันต่างโดยความเป็นเทวดา มนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั้งหมดนั่นแหละ พึงทราบว่าอันจิตนั้นเองกระทำแล้ว.
               เนื้อความนี้นั้น พึงทราบด้วยสามารถพระสูตรที่ยังมิได้ขึ้นสู่สังคีตินี้. สมจริงดังที่ท่านกล่าวว่า การกำหนดประเภทของความต่างกันของเพศที่มีมาก ย่อมมีได้ด้วยสามารถแห่งการกำหนดประเภทของความต่างกันแห่งกรรมที่มีมาก การกำหนดประเภทของความต่างกันของความต่างกันของสัญญาที่มีมาก ย่อมมีได้ด้วยสามารถแห่งการกำหนดประเภทของความต่างกันแห่งเพศที่มีมาก การกำหนดประเภทแห่งความต่างกันของโวหารที่มีมาก ย่อมมีได้ด้วยสามารถแห่งกำหนดประเภทแห่งความต่างกันของสัญญาที่มีมาก การกำหนดประเภทแห่งความต่างกันของกรรมที่มีมาก ย่อมมีได้ด้วยสามารถแห่งการกำหนดประเภทของความต่างกันแห่งโวหารที่มีมาก ความต่างกันแห่งคติของสัตว์ทั้งหลายย่อมปรากฏ เพราะอาศัยความต่างกันแห่งกรรม สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า มี ๒ เท้า มี ๔ เท้า มีเท้ามาก มีรูป ไม่มีรูป มีสัญญา ไม่มีสัญญา มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ความต่างกันแห่งความอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย คือความสูงต่ำ เลวประณีต ไปสู่สุคติและทุคติ ย่อมปรากฏเพราะอาศัยความต่างกันแห่งกรรม ความต่างกันในอัตภาพของสัตว์ทั้งหลาย คือความเป็นผู้มีผิวพรรณดีและผิวพรรณทราม ความเป็นผู้มีชาติดีและไม่ดี ความเป็นผู้มีทรวดทรงดีและไม่ดีย่อมปรากฏ เพราะอาศัยความต่างกันแห่งกรรม ความต่างกันในโลกธรรมของสัตว์ทั้งหลายในความมีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขและทุกข์ ย่อมปรากฏเพราะอาศัยความต่างกันแห่งกรรมดังนี้.
               แม้ข้ออื่นอีก พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ว่า
                                   เพศย่อมเป็นไปเพราะกรรม สัญญา
                         ย่อมเป็นไปเพราะเพศ สัตว์ทั้งหลายย่อมถึง
                         ความต่างกันเพราะสัญญาว่า นี้เป็นหญิง
                         หรือเป็นชายสัตวโลกย่อมเป็นไปตามกรรม
                         หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม สัตว์ทั้งหลาย
                         มีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน ดุจลิ่มสลักเพลารถ
                         ที่ไปอยู่ บุคคลย่อมได้เกียรติ ได้การ
                         สรรเสริญก็เพราะกรรม ย่อมได้ความเสื่อม
                         การถูกประหาร และการจองจำก็เพราะกรรม
                         บุคคลรู้ความต่างกันแห่งกรรมนั้นแล้ว
                         ไฉนเล่าจึงพูดว่ากรรมไม่มีในโลก.
               ดูก่อนมาณพ สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายโดยให้เลวและประณีต บัณฑิตพึงทราบความที่จิตเป็นธรรมชาติวิจิตร เพราะความวิจิตรด้วยการกระทำดังพรรณนามาฉะนี้.
               จริงอยู่ ความวิจิตรเหล่านี้แม้ทั้งหมด อันจิตนั่นแหละกระทำแล้ว ก็จิตเท่านั้น เป็นธรรมชาติ วิจิตรกว่าความวิจิตรอันใดที่เป็นไปภายในอันจิตกระทำแล้วที่กล่าวแล้วนั้น เพราะความที่จิตไม่ได้โอกาส ไม่มีการกระทำความวิจิตรบางอย่าง หรือว่าเพราะความที่จิตบกพร่องด้วยปัจจัยที่เหลือก็ไม่มีการกระทำให้วิจิตรในบางอย่าง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นสัตว์หมู่อื่นแม้สักหมู่หนึ่ง ที่วิจิตรเหมือนสัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายนี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนั่นแหละเป็นธรรมชาติวิจิตรกว่าสัตว์เดียรัจฉานแม้เหล่านั้นแล ดังนี้.

               อธิบายคำว่าอุปปันนธรรม ๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อุปฺปนฺนํ โหติ นี้ ต่อไป.
               ธรรมที่ชื่อว่าอุปปันนะ มีประเภทหลายอย่างด้วยสามารถแห่งวัตตมานอุปปันนะ ภูตาปคตอุปปันนะ โอกาสกตอุปปันนะและภูมิลัทธอุปปันนะ.
               บรรดาวัตตมานอุปปันนะเป็นต้นเหล่านั้น ธรรมชาติแม้ทั้งหมดกล่าวคือความพรั่งพร้อมด้วยความเกิดขึ้น ความแก่ และความดับ ชื่อว่าวัตตมานอุปปันนะ กุศลและอกุศลที่เสวยรสแห่งอารมณ์แล้วดับไป กล่าวคือเสวยแล้วก็ดับด้วย กุศลและอกุศลที่เข้าถึงหมวด ๓ มีอุปปาทขณะเป็นต้นแล้ว ก็ดับกล่าวคือเกิดแล้วก็ดับด้วย กุศลและอกุศลที่ปัจจัยปรุงแต่งที่เหลือด้วยชื่อว่า ภูตาปคตอุปปันนะ กรรมที่ตรัสไว้โดยนัยเป็นต้นว่า กรรมทั้งหลายเหล่านี้ใดที่กระทำไว้แล้วในกาลก่อน ดังนี้ แม้เป็นอดีต และเพราะห้ามวิบากอื่นที่มีอยู่แล้ว ให้โอกาสแก่วิบากของตน และวิบากที่มีโอกาสอันกระทำแล้ว อย่างนั้น มีอยู่แม้ยังไม่เกิดขึ้น แต่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนเพราะโอกาสทำแล้วอย่างนั้น ชื่อว่าโอกาสกตอุปปันนะ อกุศลที่ยังไม่ได้ถอนขึ้นในภูมิทั้งหลายนั้นๆ ชื่อว่า ภูมิลัทธอุปปันนะ บัณฑิตพึงทราบความต่างกันแห่งภูมิ และภูมิลัทธะ ในคำว่า ภูมิลัทธอุปปันนะ ต่อไป. ขันธ์ ๕ เป็นไปในภูมิ ๓ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ชื่อว่าภูมิ การเกิดขึ้นแห่งกิเลสอันควรแก่การเกิดขึ้นในขันธ์เหล่านั้น ชื่อว่า ภูมิลัทธะ (มีภูมิอันได้แล้ว) จริงอยู่ ภูมิเหล่านั้น ชื่อว่า อันกิเลสนั้นได้แล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ภูมิลัทธะ (มีภูมิอันได้แล้ว) บรรดาอุปปันนะ ๔ ตามที่กล่าวมาอย่างนี้ ในคำว่า อุปฺปนฺนํ โหติ นี้ ท่านประสงค์เอาวัตตมานอุปปันนะ.

               ว่าด้วยอุปปันนศัพท์               
               พึงทราบคำจำกัดความในคำว่า อุปฺปนฺนํ โหติ ต่อไป.
               ธรรมที่ชื่อว่า อุปปันนะ เพราะอรรถว่า เคลื่อนจากธรรมส่วนเบื้องต้น (คืออดีต) มุ่งหน้าต่ออุปปาทขณะเป็นต้น. ก็อุปปันนศัพท์นี้ใช้ในอรรถหลายอย่าง คือในอดีต (ธรรมที่ล่วงแล้ว) ปฏิลัทธะ (ได้เฉพาะ) สมุฏฐิตะ (ตั้งขึ้นพร้อม) อวิกขัมภิตะ (ข่มไม่ได้) อสมุจฉินนะ (ตัดไม่ได้) ขณัตตยคตะ (ถึงขณะทั้ง ๓).
               จริงอยู่ อุปปันนศัพท์นี้มาในความหมายว่า อดีต ดังในประโยคนี้ว่า เตน โข ปน ภิกฺขเว สมเยน กกุสนฺโธ ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ โลเก อุปฺปนฺโน (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า กกุสันธะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก) ดังนี้
               มาในความหมายว่า ได้เฉพาะ ดังในประโยคนี้ว่า อายสฺมโต อานนฺทสฺส อติเรกจีวรํ อุปฺปนฺนํ โหติ (อติเรกจีวรเป็นของอันท่านพระอานนท์ได้เฉพาะแล้ว)
               มาในความหมายว่า ตั้งขึ้นพร้อม ดังในประโยคนี้ว่า เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว อุปฺปนฺนํ มหาเมฆํ ตเมนํ มหาวาโต อนฺตราเยว อนฺตรธาเปติ (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาเมฆตั้งขึ้นพร้อมแล้ว ลมใหญ่ย่อมพัดมหาเมฆนี้นั้นให้อันตรธานไปในระหว่างนั่นแหละ)
               มาในความหมายว่า ข่มไม่ได้ ดังในประโยคนี้ว่า อุปฺปนฺนํ คมิยจิตฺตํ ทุปฺปฏิวิโนทนญฺจ อุปฺปนฺนุปฺปนฺเน ปาปเก อกุสเล ธมฺเม ฐานโส อนฺตรธาเปติ (จิตคิดจะไป ข่มไม่ได้ บรรเทาได้ยาก และย่อมยังบาปอกุศลธรรมที่ข่มไม่ได้ ที่ข่มไม่ได้ให้อันตรธานไปโดยฉับพลัน)
               มาในความหมายว่า ตัดไม่ได้ ดังในประโยคนี้ว่า อริยํ อฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ ภาเวนฺโต พหุลีกโรนฺโต อุปฺปนฺนุปนฺเน ปาปเก อกุสเล ธมฺเม อนฺตราเยว อนฺตรธาเปติ (บุคคลเจริญกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมยังบาปอกุศลธรรมที่ยังละไม่ได้ และละไม่ได้ให้อันตรธานไป)
               มาในความหมายว่า ถึงขณะทั้ง ๓ ดังในประโยคนี้ว่า อุปฺปชฺชมานํ อุปฺปนฺนนฺติ อามนฺตา (ถามว่า จิตกำลังเกิด ชื่อว่า ถึงขณะทั้ง ๓ หรือ ตอบว่า ใช่)
               แม้อุปปันนศัพท์ในที่นี้ ก็พึงทราบว่า ถึงขณะทั้ง ๓ เท่านั้น. เพราะฉะนั้น ในคำว่า อุปฺปนฺนํ โหติ นี้ พึงทราบเนื้อความสังเขปนี้ว่า ถึงขณะทั้ง ๓ กำลังเป็นไป ได้แก่ปัจจุบัน.

               อธิบายคำว่าจิตเป็นประธาน               
               ก็คำว่า จิตฺตํ อุปฺปนฺนํ นี้ คือจิตเป็นประธานแห่งเทศนา ก็จิตย่อมไม่เกิดขึ้นเฉพาะดวงเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเขาพูดว่า พระราชาเสด็จมาแล้ว ดังนี้ ก็พระราชาทรงละบริษัทแล้วมาพระองค์เดียวเท่านั้นก็หาไม่ แต่ที่แท้แล้วย่อมปรากฏว่า มาพร้อมกับบริษัททีเดียว ฉันใด แม้จิตนี้ก็ฉันนั้น บัณฑิตพึงทราบว่าเกิดขึ้นพร้อมกับกุศลธรรมเกิน ๕๐ โดยแท้. อนึ่ง คำว่า จิตฺตํ อุปฺปนฺนํ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ด้วยอรรถว่าเป็นประธาน (เป็นสภาพถึงก่อน).
               จริงอยู่ เพ่งถึงโลกิยธรรมแล้ว จิตก็เป็นใหญ่ เป็นธุระ เป็นประธาน แต่เพ่งถึงโลกุตรธรรมแล้ว ปัญญาเป็นใหญ่ เป็นธุระ เป็นประธาน เพราะเหตุนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นถึงปริยายพระวินัยแล้ว เมื่อจะตรัสถามปัญหาก็ไม่ตรัสถามว่า เธอมีผัสสะเป็นอย่างไร มีเวทนาเป็นอย่างไร มีสัญญาเป็นอย่างไร มีเจตนาเป็นอย่างไร ย่อมตรัสถามทำจิตเท่านั้นให้เป็นธุระว่า ดูก่อนภิกษุ เธอมีจิตเป็นอย่างไร ดังนี้ เมื่อภิกษุกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ไม่มีไถยจิต ดังนี้ พระองค์ก็ไม่ตรัสว่า ภิกษุไม่มีไถยผัสสะก็ไม่ต้องอาบัติเป็นต้น แต่ย่อมตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่มีไถยจิต ดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อถึงปริยายพระวินัยทรงยกจิตขึ้นเป็นธุระเท่านั้นก็หาไม่ เมื่อทรงแสดงโลกิยเทศนาแม้อื่นก็ทรงแสดงทำจิตนั่นแหละให้เป็นธุระ เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นส่วนอกุศล เป็นฝ่ายอกุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมดมีใจเป็นประธาน ใจย่อมเกิดก่อนธรรมเหล่านั้น ดังคาถาประพันธ์ที่ตรัสไว้ว่า
                                   ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นประธาน มีใจ
                         ประเสริฐที่สุด สำเร็จด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจ
                         อันโทษประทุษร้ายแล้ว จะพูดก็ตาม จะ
                         กระทำก็ตาม เพราะทุจริต ๓ อย่างนั้น ทุกข์
                         ย่อมตามเขาไป เหมือนล้อหมุนไปตามรอย
                         เท้าโคตัวลากเกวียน ฉะนั้น ธรรมทั้งหลาย
                         มีใจเป็นประธาน มีใจประเสริฐที่สุด สำเร็จ
                         แล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว จะพูด
                         ก็ตาม จะกระทำก็ตาม เพราะสุจริต ๓ อย่าง
                         นั้น สุขย่อมไปตามเขา เหมือนเงาไปตามตัว
                         ฉะนั้น สัตว์โลกอันจิตย่อมนำไป ย่อม
                         กระเสือกกระสนไปเพราะจิต สัตว์ทั้งหมด
                         ทีเดียว ย่อมเป็นไปตามอำนาจของธรรมอัน
                         หนึ่งคือจิต ดังนี้.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง ย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เป็นประภัสสร แต่ก็จิตนั้นแลเศร้าหมองแล้ว เพราะอุปกิเลสทั้งหลายจรมา. ดูก่อนคหบดี เมื่อบุคคลไม่รักษาจิต แม้กายกรรมก็ชื่อว่าเธอไม่รักษา แม้วจีกรรมก็ชื่อว่าไม่รักษา แม้มโนกรรมก็ชื่อว่าไม่รักษา ดูก่อนคหบดี เมื่อบุคคลรักษาจิต ฯลฯ ดูก่อนคหบดี เมื่อจิตพยาบาท ฯลฯ ดูก่อนคหบดี เมื่อจิตไม่พยาบาท ฯลฯ ดูก่อนคหบดี เมื่อจิตถูกกิเลสรั่วรด ฯลฯ ดูก่อนคหบดี เมื่อจิตไม่ถูกกิเลสรั่วรดกายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี ก็ไม่ถูกกิเลสรั่วรด เพ่งถึงโลกิยธรรมอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า จิตเป็นใหญ่ เป็นธุระ เป็นประธาน ดังนี้ ก็บรรดาสูตรที่กล่าวแล้วเหล่านี้ พึงทราบว่า ท่านไม่ถือสูตรหนึ่งหรือสองสูตร แต่ถือสูตรแม้ทั้งหมดเพื่อตามรักษาสูตรไว้.
               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า จะตรัสถามโลกุตรธรรมก็ไม่ตรัสถามว่า เธอบรรลุผัสสะไหน บรรลุเวทนาไหน บรรลุสัญญาไหน บรรลุเจตนาไหนและบรรลุจิตไหน ดังนี้ ทรงถามทำปัญญาให้เป็นธุระว่า ดูก่อนภิกษุ เธอบรรลุปัญญาไหน หรือว่า เธอบรรลุมรรคปัญญาที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่หรือ ดังนี้.
               ในที่พึงทราบพระสูตรเป็นต้นอย่างนี้ว่า กุศลธรรมทั้งปวงมีปัญญาเป็นเยี่ยมย่อมไม่เสื่อม ก็ปัญญามีประโยชน์อย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาที่คล้อยตามปัญญาของอริยสาวกผู้มีปัญญานั้น ย่อมดำรงอยู่ วิริยะที่คล้อยตามศรัทธานั้นย่อมดำรงอยู่ สติที่คล้อยตามวิริยะนั้นย่อมดำรงอยู่ สมาธิที่คล้อยตามสตินั้น ก็ย่อมดำรงอยู่ ดังนี้ เพราะฉะนั้น เพ่งถึงโลกุตรธรรม แล้วพึงทราบว่า ปัญญาเป็นใหญ่ เป็นธุระ เป็นประธาน ดังนี้ แต่นี้เป็นโลกิยเทศนา เพราะฉะนั้น เมื่อทรงแสดงจิตให้เป็นธุระ จึงตรัสว่า อุปฺปนฺนํ โหติ ดังนี้.

               อธิบายคำว่าโสมนัสสสหคตะ               
               คำว่า โสมนสฺสสหคตํ ได้แก่ ถึงภาวะมีการเกิดพร้อมกันเป็นต้นกับโสมนัส กล่าวคือการเสวยอารมณ์ที่ยินดีเหมือนน้ำผึ้ง ก็สหคตศัพท์นี้ใช้ในอรรถเหล่านี้ คือ ความเป็นอย่างนั้น (ตัพภาวะ) เจือแล้ว (โวกิณณะ) ที่อาศัย (นิสสยะ) อารมณ์ (อารัมมณะ) และความเกี่ยวข้อง (สังสัฏฐะ).
               บรรดาอรรถเหล่านั้น สหคตศัพท์นี้พึงทราบว่า ใช้ในความหมายว่า ความเป็นอย่างนั้น เหมือนในประโยคว่า ยายํ ตณฺหา โปโนพฺภวิกา นนฺทิราคสหคตา (ตัณหานี้ใด อันก่อให้เกิดในภพใหม่ เพราะความเป็นอย่างนั้นแห่งนันทิราคะ (ตัณหา). อธิบายว่า เป็นความกำหนัดด้วยความเพลิดเพลิน.
               ใช้ในความหมายว่า เจือแล้ว เหมือนในประโยคว่า ยายํ ภิกฺขเว วีมํสา โกสชฺสหตา โกสชฺสมฺยุตฺตา (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิมังสานี้ใด เจือแล้วด้วยความเกียจคร้าน ประกอบแล้วด้วยความเกียจคร้าน) ในอธิการนี้พึงทราบอธิบายว่า วิมังสานี้เจือแล้วด้วยความเกียจคร้านที่เกิดขึ้นในระหว่างๆ.
               ใช้ในความหมายว่า อาศัย เหมือนในประโยคว่า อฏฺฐิกสญฺญาสหคตํ สติสมฺโพชฺฌงฺคํ ภาเวติ (ภิกษุเจริญสติสัมโพชฌงค์อาศัยอัฏฐิกสัญญา). อธิบายว่า เจริญอัฏฐิกสัญญาได้เฉพาะแล้ว เพราะอาศัยอัฏฐิกสัญญา.
               ใช้ในความหมายว่า อารมณ์ เหมือนในประโยคว่า ลาภี โหติ รูปสหคตานํ วา สมาปตฺตีนํ อรูปสหคตานํ วา (ภิกษุมีปกติได้สมาบัติทั้งหลายมีรูปเป็นอารมณ์ หรือมีอรูปเป็นอารมณ์). อธิบายว่า มีรูปหรืออรูปเป็นอารมณ์.
               ใช้ในความหมายว่า ความเกี่ยวข้อง เหมือนในประโยคว่า อิทํ สุขํ อิมาย ปีติยา สหคตํ โหติ สหชาตํ สํสฏฺฐํ สมฺปยุตฺตํ (สุขนี้เป็นธรรมชาตสหรคตแล้ว เกิดพร้อมแล้ว เกี่ยวข้องแล้ว สัมปยุตแล้วด้วยปีตินี้) ในบทว่า สังสัฏฐะนี้ ท่านประสงค์เอาความหมายนี้เท่านั้น.
               จริงอยู่ จิตที่เกี่ยวข้องกับโสมนัสในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โสมนัสสสหคตะ ดังนี้.

               ว่าด้วยสังสัฏฐศัพท์               
               อนึ่ง แม้สังสัฏฐศัพท์นี้ ก็ใช้ในอรรถมากอย่าง คือ ในความหมายว่า เช่นเดียวกัน (สทิเส) กิเลสรั่วรด (อวสฺสุเต) ความสนิทสนมฉันท์มิตร (มิตฺตสนฺถเว) เกิดพร้อมกัน (สหชาเต).
               จริงอยู่ สังสัฏฐศัพท์นี้มาในความหมายว่า เช่นเดียวกัน ดังในประโยคนี้ว่า กีเส ถูเล จ วิวชฺเชตฺวา สํสฏฺฐา โยชิตา หยา (ม้าทั้งหลายที่เทียมแล้ว ยกเว้นม้าผอมทั้งหลาย และม้าอ้วนทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน).
               มาในความหมายว่า กิเลสรั่วรด ดังในประโยคว่า สํสฏฺฐา จ ตุมฺเห อยฺเย วิหรถ (แม่เจ้าทั้งหลาย พวกท่านจงชุ่มด้วยกิเลสเถิด).
               มาในความหมายว่า สนิทสนมฉันท์มิตร ดังในประโยคว่า คิหิสํสฏฺโฐ วิหรติ (ภิกษุสนิทสนมฉันท์มิตรกับคฤหัสถ์).
               มาในความหมายว่า เกิดพร้อมกัน ดังในประโยคว่า อิทํ สุขํ อิมาย ปีติยา สหคตํ โหติ สหชาตํ สํสฏฺฐํ สมฺปยุตฺตํ (สุขนี้ สหรคตแล้ว เกิดร่วมกัน เกิดพร้อมกัน สัมปยุตกันด้วยปีตินี้)
               สังสัฏฐศัพท์ในที่แม้นี้ ประสงค์เอาในความหมายว่าเกิดพร้อมกัน (สหชาตะ). ก็ในอรรถเหล่านี้ ธรรมที่สหรคต ชื่อว่าไม่เกิดพร้อมกัน ไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่สัมปยุตกัน ย่อมไม่มี แต่ว่า ธรรมที่เกิดพร้อมกัน เกี่ยวข้องกัน สัมปยุตกัน มีบ้าง ไม่มีบ้าง.
               จริงอยู่ เมื่อรูปธรรมกับอรูปธรรมเกิดพร้อมกัน รูปย่อมเกิดพร้อมกับอรูป แต่ไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่สัมปยุตกัน. อรูปก็เหมือนกัน เกิดพร้อมกับรูปแต่ไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่สัมปยุตกัน และรูปเกิดพร้อมกับรูป ก็ไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่สัมปยุตกัน.
               ส่วนอรูปโดยแน่นอนทีเดียวเกิดพร้อมกัน เกี่ยวข้องกัน สัมปยุตกันกับอรูปทีเดียว เพราะฉะนั้น ทรงหมายเอาการเกิดพร้อมกันนั้น จึงตรัสคำว่า โสมนสฺสสหคตํ ดังนี้.

               อธิบายคำว่าญาณสัมปยุต               
               บทว่า ญาณสมฺปยุตฺตํ แปลว่า สัมปยุตด้วยญาณ. อธิบายว่า ประกอบด้วยอาการมีการเกิดพร้อมกันเป็นต้นเสมอกัน. ก็คำใดที่ควรกล่าวในญาณสัมปยุตนี้ คำนั้นข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้ว ในเวทนาติกะในการพรรณนาบทมาติกานั่นแหละ เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ญาณนั้นสัมปยุตด้วยลักษณะนี้ คือเกิดพร้อมกัน (เอกุปฺปาทา) ดับพร้อมกัน (เอกนิโรธา) มีวัตถุเดียวกัน (เอกวตฺถุกา) มีอารมณ์เดียวกัน (เอการมฺมณา).
               ส่วนนิทเทส (การชี้แจง) โดยอุกฤษฏ์มีดังนี้
               ก็ในอรูป แม้เว้นความมีวัตถุเป็นอันเดียวกัน ก็ได้สัมปโยคะ
               ถามว่า ด้วยคำมีเท่านี้ ท่านกล่าวไว้อย่างไร?
               ตอบว่า ท่านกล่าวมหาจิต ที่สหรคตด้วยโสมนัสในกามาวจรทั้งหลายที่เป็นติเหตุกญาณสัมปยุต เป็นอสังขาริก.
               จริงอยู่ ทรงถือเอากุศลจิตที่เป็นไปในภูมิ ๔ ด้วยคำถามที่มิได้กำหนดแน่นอนว่า ธรรมเป็นกุศล เป็นไฉน ดังนี้ ด้วยพระบาลีว่า กามาวจรํ กุสลํ จิตฺตํ อุปฺปนฺนํ โหติ (กามาวจรกุศลจิตเกิดขึ้นแล้ว) ดังนี้ ทรงเว้นกุศลจิตเป็นไปในภูมิ ๓ ทรงถือเอากามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงเท่านั้น. พระบาลีว่า โสมนสฺสสหคตํ ดังนี้ ทรงเว้นอุเบกขาสหรคต ๔ อย่าง จากกามาวจรกุศลจิตนั้นนั่นแหละ แล้วทรงถือเอาเฉพาะโสมนัสสสหคตจิตเฉพาะ ๔ อย่าง ด้วยพระบาลีว่า ญาณสมฺปยุตฺตํ ดังนี้ ทรงเว้นจิตที่เป็นญาณวิปปยุต ๒ ดวงจากจิตที่เป็นโสมนัสสสหคตนั้นนั่นแหละ แล้วทรงถือเอาเฉพาะจิตที่เป็นญาณสัมปยุต ๒ ดวงเท่านั้น. ส่วนความที่จิตเป็นอสังขาริกมิได้ทรงถือเอา เพราะความที่จิตเป็นอสังขาริกนั้นมิได้ตรัสไว้ แม้มิได้ทรงถือเอาความที่จิตเป็นอสังขาริกแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น เพราะพระบาลีว่า สสงฺขาเรน ข้างหน้าแม้จะมิได้ตรัสว่า อสงฺขาเรน ไว้ในที่นี้ บัณฑิตก็พึงทราบความที่จิตเป็นอสังขาริก เพราะได้ทรงกำหนดเพื่อแสดงมหาจิตนี้ตั้งแต่ต้นทีเดียว จึงทรงเริ่มเทศนานี้ดังนี้ ในข้อนี้ พึงทราบว่าท่านทำความสันนิษฐานไว้อย่างนี้.

               อธิบายคำว่าอารมณ์               
               บัดนี้ เพื่อแสดงจิตนั้นนั่นแหละโดยอารมณ์ จึงตรัสคำว่า รูปารมฺมณํ วา เป็นต้น.
               จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อแสดงอรูปธรรมทั้งหลาย ย่อมทรงแสดงด้วยวัตถุ หรือด้วยอารมณ์ หรือทั้งวัตถุและอารมณ์ หรือว่าด้วยภาวะพร้อมทั้งรส. อรูปธรรมทั้งหลายที่ทรงแสดงด้วยวัตถุ ดังในประโยคมีอาทิว่า จักขุสัมผัส ฯลฯ มโนสัมผัส เวทนาเกิดแต่จักษุสัมผัส ฯลฯ เวทนาเกิดแต่มโนสัมผัส จักขุวิญญาณ ฯลฯ มโนวิญญาณ ดังนี้. และทรงแสดงอรูปธรรมทั้งหลายด้วยอารมณ์ ดังในประโยคมีอาทิว่า รูปสญฺญา ฯเปฯ ธมฺมสญฺญา รูปสญฺเจตนา ฯเปฯ ธมฺมสญฺเจตนา ดังนี้. และทรงแสดงอรูปธรรมทั้งหลาย ทั้งวัตถุและอารมณ์ ดังในประโยคมีอาทิว่า จักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุและรูป ผัสสะ คือการประชุมธรรมทั้ง ๓ ฯลฯ มโนวิญญาณย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยมนะและธรรมทั้งหลาย ผัสสะคือการประชุมแห่งธรรมทั้ง ๓ ดังนี้. ทรงแสดงอรูปธรรมทั้งหลาย ด้วยภาวะพร้อมทั้งรส ดังในประโยคมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารทั้งหลายจึงเกิดขึ้น เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงเกิดขึ้น ดังนี้.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงในฐานะนี้ด้วยอารมณ์จึงตรัสคำว่า รูปารมฺมณํ วา เป็นต้น.
               บรรดาธรรมที่มีรูปเป็นอารมณ์เป็นต้นนั้น รูปมีสมุฏฐาน ๔ ที่เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบันนั่นแหละ เรียกว่ารูปารมณ์. เสียงมีสมุฏฐาน ๒ ที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันนั่นแหละ เรียกว่าสัททารมณ์. คันธะมีสมุฏฐาน ๔ ที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันนั่นแหละ เรียกว่าคันธารมณ์. รสนั่นแหละมีสมุฏฐาน ๔ ที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน เรียกว่ารสารมณ์. โผฏฐัพพะนั่นแหละมีสมุฏฐาน ๔ ที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน เรียกว่าโผฏฐัพพารมณ์. ธรรมทั้งหลายนั่นแหละกล่าวคือโคจร (อารมณ์) ของจิตที่มีสมุฏฐานหนึ่ง มีสมุฏฐานสอง มีสมุฏฐานสาม มีสมุฏฐานสี่ แม้ไม่เกิดจากสมุฏฐานไหนๆ ที่เป็นอดีตอนาคตปัจจุบัน ทั้งธรรมที่ไม่พึงกล่าว และที่เหลือจากธรรมที่กล่าวแล้ว เรียกว่าธรรมารมณ์.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ธรรมทั้งหลายเหล่าใด แม้มีรูปเป็นต้นที่ไม่มาสู่คลอง ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรมารมณ์ทั้งนั้น ธรรมเหล่านั้นถูกปฏิเสธด้วยสูตรนี้.
               ข้อนี้ สมกับคำที่พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ ๕ เหล่านี้แล มีวิสัยต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่รับเอาโคจรวิสัยของกันและกัน (รับเฉพาะของตนเอง) มีใจเป็นที่พึ่ง ใจเท่านั้นย่อมรับโคจรวิสัยของอินทรีย์ ๕ เหล่านั้น ดังนี้.
               จริงอยู่ อารมณ์ทั้งหลายมีรูปารมณ์เป็นต้นแห่งอินทรีย์ ๕ เหล่านั้น ชื่อว่าโคจรวิสัย รูปารมณ์เป็นต้นเหล่านั้น อันใจเสวยอยู่ ก็คือรูปารมณ์เป็นต้นนั่นแหละ เพราะฉะนั้น จึงสำเร็จประโยชน์นี้ อนึ่ง ความที่ญาณทั้งหลายมีทิพยจักษุญาณเป็นต้น มีรูปเป็นต้นเป็นอารมณ์ ก็ย่อมสำเร็จประโยชน์นี้เหมือนกัน เพราะว่า การกำหนดโดยนัยที่กล่าวว่า รูปารมณ์เป็นต้น ที่ไม่มาสู่คลองนั่นแหละเป็นอารมณ์ของทิพยจักษุญาณเป็นต้น แต่รูปารมณ์เหล่านั้นไม่เป็นธรรมารมณ์มีอยู่ดังนี้.
               บรรดาอารมณ์มีรูปเป็นต้นเหล่านั้น อารมณ์แต่ละอารมณ์ย่อมมาสู่คลองในทวารทั้งสอง. จริงอยู่ รูปารมณ์กระทบจักขุประสาทแล้ว มาสู่คลองมโนทวารในขณะนั้นทันที. อธิบายว่า เป็นปัจจัยแก่ภวังคจลนะ. แม้สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ก็นัยนี้. เหมือนอย่างว่า นกบินมาทางอากาศ ซ่อนตัวอยู่ที่ยอดต้นไม้นั่นแหละ ย่อมกระทบกิ่งไม้ด้วย เงาของนกนั้นย่อมกระทบแผ่นดินด้วย การกระทบที่กิ่งไม้ และการแผ่ไปแห่งเงาที่แผ่นดิน ย่อมมีในขณะเดียวกัน คือไม่ก่อนไม่หลังกัน ฉันใด การกระทบจักขุประสาทเป็นต้นของรูปที่เป็นปัจจุบันเป็นต้น และการมาสู่คลองมโนทวาร เพราะสามารถให้ภวังค์ไหว ย่อมมีในขณะเดียวกันนั่นแหละไม่ก่อนไม่หลังกัน ฉันนั้น.
               ลำดับนั้น มหาจิตนี้ก็เกิดขึ้นในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแห่งอารมณ์เหล่านั้นอันติดต่อกันไปแห่งอาวัชชนจิตเป็นต้น ที่ตัดภวังค์แล้วเกิดขึ้นในจักขุทวารเป็นต้น มีโวฏฐานจิต*(โวฏฐัพพนจิต) เป็นที่สุด แต่ว่าในมโนทวารล้วนๆ ไม่มีกิจกระทบกับประสาท โดยปกติอารมณ์เหล่านี้ ย่อมมาสู่คลองด้วยสามารถแห่งรูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว กลิ่นที่ดมแล้ว รสที่ลิ้มแล้ว กายที่กระทบแล้วเท่านั้น.
               ถามว่า อารมณ์เหล่านี้มาสู่คลอง (มโนทวาร) อย่างไร.
               ตอบว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ กระทำประทักษิณมหาเจดีย์ประดับตกแต่งแล้ว ฉาบทาด้วยปูนขาว วิจิตรด้วยสีมีหรดาลและมโนศิลาเป็นต้น มีการปักธงชัยและธงแผ่นผ้ามีประการต่างๆ ผูกพวงดอกไม้ล้อมประทีปและมาลัย รุ่งโรจน์อยู่ด้วยสิริอันรื่นรมย์ใจอย่างยิ่ง ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษที่ฐานพระเจดีย์ ๑๖ ชั้น แล้วยืนประคองอัญชลี แลดูอยู่ถือปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เมื่อบุคคลนั้นเห็นพระเจดีย์ ยังปีติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ให้เกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว ภายหลังไปในที่ใดที่หนึ่ง นั่งในที่พักเป็นที่พักในเวลากลางคืนและกลางวัน รำพึงอยู่ มหาเจดีย์ที่ประดับตกแต่งแล้ว เช่นเดียวกับที่มาสู่คลองในจักขุทวารนั่นแหละ เป็นเหมือนเวลาที่กระทำประทักษิณแล้วไหว้พระเจดีย์ฉะนั้น รูปารมณ์ย่อมมาสู่คลองด้วยสามารถแห่งรูปที่ตนเห็นมาก่อน ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง เมื่อบุคคลฟังเสียงพระธรรมกถึกผู้กล่าวธรรมกถาด้วยเสียงอันไพเราะ หรือฟังเสียงนักสวดซึ่งสวดอยู่ด้วยเสียงไพเราะ ภายหลังไปนั่งในที่ใดที่หนึ่ง แล้วรำพึงอยู่ ธรรมกถา หรือเสียงสรภัญญะ เป็นเหมือนมาสู่คลองในโสตทวาร และเหมือนเวลาให้สาธุการแล้วฟังธรรม ฉะนั้น สัททารมณ์ย่อมมาสู่คลองด้วยสามารถแห่งเสียงที่ฟังแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง เมื่อบุคคลได้ของหอม หรือดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมแล้วบูชาที่อาสนะ หรือที่องค์พระเจดีย์ ด้วยจิตที่มีกลิ่นเป็นอารมณ์ ภายหลังนั่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง รำพึงอยู่ คันธารมณ์นั้นย่อมเป็นราวกะมาสู่คลองในฆานทวาร เป็นเหมือนเวลาที่ทำการบูชา คันธารมณ์นั้นย่อมมาสู่คลองด้วยสามารถแห่งกลิ่นที่เคยสูดดมแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง เมื่อบุคคลได้ขาทนียะและโภชนียะอันประณีตแล้ว แบ่งปันแก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายแล้วบริโภค ต่อมาภายหลังได้โภชนะมีหญ้ากับแก้เป็นต้นในที่ใดที่หนึ่งแล้วรำพึงว่า ในเวลาโน้น เราแบ่งโภชนะอันประณีตกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายแล้วบริโภค รสารมณ์นั้นเป็นเหมือนมาสู่คลองในชิวหาทวาร เป็นเหมือนเวลาที่บริโภค รสารมณ์ย่อมมาสู่คลองด้วยสามารถแห่งรสที่ตนได้ลิ้มแล้ว ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง เมื่อบุคคลใช้สอยเตียงและตั่ง หรือเครื่องปูลาด หรือผ้าห่มมีเนื้ออ่อนนุ่ม มีสัมผัสเป็นสุข ภายหลังต้องนอนที่นอนที่ไม่ดีในที่ใดที่หนึ่ง ก็รำพึงอยู่ว่า เมื่อก่อนเราใช้เตียงและตั่งอ่อนนุ่ม ดังนี้ โผฏฐัพพารมณ์นั้นเป็นเหมือนมาสู่คลองในกายทวาร เป็นราวกะว่าเวลาเสวยสัมผัสอันดี ฉะนั้น โผฏฐัพพารมณ์ย่อมมาสู่คลองด้วยสามารถแห่งการกระทบ ด้วยประการฉะนี้ ในมโนทวารล้วนๆ กิจคือการกระทบประสาท (ทั้ง ๕) ย่อมไม่มีด้วยประการฉะนี้ ตามปกติอารมณ์เหล่านี้ พึงทราบว่า ย่อมมาสู่คลองด้วยสามารถแห่งรูปที่เคยเห็นแล้ว เสียงที่ได้ฟังแล้ว กลิ่นที่เคยสูดดมแล้ว รสที่เคยลิ้มแล้วและโผฏฐัพพะที่กระทบแล้ว ดังนี้.

               ว่าโดยนัยอรรถกถาปุตตกะ               
               บัดนี้ ในการที่อารมณ์มาสู่คลองด้วยสามารถแห่งรูปที่เคยเห็นแล้วเป็นต้นตามปกติ มีอีกนัยหนึ่ง คือ อรรถกถามุตตกะ (นอกจากอรรถกถา) อนึ่ง เบื้องต้นบัณฑิตพึงทราบรูปทั้งหลายที่เห็นแล้วเป็นต้นเหล่านี้ว่า ทิฏฺฐํ สุตํ เป็นความเกี่ยวข้องกันทั้ง ๒ บท.
               ในคำว่า ทิฏฺฐํ สุตํ เหล่านั้น รูปที่เคยถือเอาด้วยสามารถแห่งทวาร ๕ ชื่อว่า ทิฏฺฐํ และรูปเป็นต้นที่บุคคลไม่เห็นโดยประจักษ์ แต่ถือเอาโดยการได้ฟังมา ชื่อว่า สุตํ. การเกี่ยวเนื่องกันด้วยบทว่า ทิฏฺฐํ สุตํ เหล่านี้แม้ทั้ง ๒ ชื่อว่า อุภยสัมพันธะ บัณฑิตพึงทราบว่า อารมณ์เหล่านี้ย่อมมาสู่คลองในมโนทวารด้วยสามารถแห่งรูปที่เห็นแล้วเป็นต้น แม้เหล่านี้อย่างนี้ การมาสู่คลองด้วยสามารถแห่งรูปที่เห็นแล้วในคำว่า ทิฏฺฐํ สุตํ นั้นเท่านั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วโดยนัยทั้งหลาย ๕ นัย นั่นแหละ.
               ก็คนบางคนได้ยินว่า รูป ชื่อเห็นปานนี้ เกิดด้วยบุญอันประเสริฐยิ่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระสุรเสียงก็ไพเราะยิ่ง กลิ่นดอกไม้ทั้งหลายในที่บางแห่ง หอมชื่นใจยิ่งแก่คนบางคน รสของผลไม้ทั้งหลายก็อร่อยยิ่งแก่คนบางคน สัมผัสของผ้านุ่งห่มเป็นต้นก็เป็นสุขยิ่งแก่คนบางคน ดังนี้ รูปเป็นต้นเหล่านั้นสักว่าฟังมาเท่านั้น มิได้กระทบกับประสาทมีจักขุประสาทเป็นต้นของบุคคลนั้นเลยย่อมมาสู่คลองในมโนทวาร ลำดับนั้น จิตนั้นของบุคคลนั้นย่อมเป็นไปด้วยอำนาจความเลื่อมใสในรูปหรือในเสียง หรือว่าย่อมเป็นไปในกลิ่นเป็นต้นด้วยอำนาจความปรารถนาถวายทานแก่พระอริยะทั้งหลาย หรือว่าด้วยสามารถแห่งการอนุโมทนา ในทานทั้งหลายอันบุคคลเหล่าอื่นถวายแล้ว รูปเป็นต้นเหล่านี้ ย่อมมาสู่คลองในมโนทวารด้วยสามารถแห่งการได้ฟังมาแล้วด้วยประการฉะนี้.
               โดยประการอื่นอีก รูปเป็นต้นที่เห็นมาแล้ว เคยฟังมาแล้ว ตามที่กล่าว ยังมีอยู่ คืออารมณ์เหล่านั้นย่อมมาสู่คลองในมโนทวาร โดยความเนื่องกัน รูปที่เห็นแล้วและเสียงที่ฟังแล้ว โดยไม่กระทบกับจักขุประสาทเป็นต้นนั่นแหละโดยนัยมีอาทิว่า รูปเช่นนี้ของพระพุทธเจ้านั้นจักมีแก่พระพุทธเจ้าผู้ทรงอุบัติขึ้นในกาลต่อไป ดังนี้ ทีนั้น มหาจิตนี้ก็มีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นนั้น ของบุคคลนั้นก็จะเป็นไปโดยนัยที่กล่าวไว้ในหนหลังนั่นแหละ อารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นเหล่านี้ย่อมมาสู่คลองในมโนทวาร ด้วยสามารถความเกี่ยวข้องแห่งรูปที่เห็นแล้วและเสียงที่เคยฟังแล้วทั้งสองด้วยประการฉะนี้.
               ก็คำที่กล่าวแม้นี้เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น ส่วนโดยพิสดาร บัณฑิตพึงทราบการมาสู่คลองในมโนทวารของอารมณ์เหล่านั้นนั่นแหละ ด้วยอำนาจแห่งศรัทธา ความพอใจ อาการปริวิตก ทิฏฐิ การเข้าไปเพ่งและขันติเป็นต้น ก็อารมณ์ที่มาสู่คลองเหล่านี้ด้วยอาการอย่างนี้เป็นจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง เพราะฉะนั้น นัยนี้ พระอรรถกถาจารย์จึงไม่ถือเอาในอรรถกถา ด้วยคำตามที่กล่าวมานี้ ชวนะมีอารมณ์อย่างหนึ่ง บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมเกิดในทวารทั้งหลายทั้งสอง. จริงอยู่ ชวนจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ย่อมเกิดขึ้นในจักขุทวารบ้าง ในมโนทวารบ้าง แม้ในสัททารมณ์เป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               ในทวารทั้ง ๒ เหล่านี้ ชวนจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ เมื่อเกิดในมโนทวารมี ๓ อย่างเท่านั้น คือ
               ๑. ทานมัย (ชวนจิตเกิดแต่การให้ทาน)
               ๒. สีลมัย (ชวนจิตเกิดแต่การรักษาศีล)
               ๓. ภาวนามัย (ชวนจิตเกิดแต่ภาวนา)
               ในชวนจิตที่เกิดแต่ทานมัยเป็นต้นเหล่านั้น แต่ละอย่างก็มีถึง ๓ อย่าง คือกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม แม้ในสัทธารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์เป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน ในบรรดาชวนจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์เหล่านั้น มหากุสลจิตดวงหนึ่ง เมื่อทำรูปให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น ย่อมทำสี กล่าวคือสุภนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งในดอกไม้ ผ้า และธาตุทั้งหลายที่มีสีเขียว สีเหลือง สีแดงและขาวที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ายินดีให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้น.
               ถามว่า ก็อิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) เป็นที่ตั้งแห่งโลภะมิใช่หรือ ไฉนจิตนี้จึงเกิดมีชื่อว่า กุศลเล่า.
               ตอบว่า ที่มีชื่อว่า กุศล ด้วยสามารถแห่งการกำหนด (นิยมิต) ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน (ปริณามิต) ด้วยสามารถแห่งความประพฤติดี (สมุทาจาร) ด้วยสามารถแห่งการผูกใจ (อาภุชิต).
               จริงอยู่ จิตของบุคคลใด ชื่อว่า กำหนด ในเพราะการทำกุศลว่า กุศลเท่านั้นเราควรกระทำ ดังนี้. ที่ชื่อว่า เปลี่ยนไป ในเพราะการยังอกุศลที่เป็นไปให้กลับแล้วทำกุศล. ที่ชื่อว่า ประพฤติดี ด้วยการประพฤติกุศลนั่นแหละโดยการกระทำบ่อยๆ และความคำนึงเป็นไปแล้ว โดยแยบคายด้วยอุปนิสสัยทั้งหลาย มีการอยู่ในประเทศอันสมควร ๑ การคบสัตบุรุษ ๑ การฟังพระสัทธรรม ๑ ความเป็นผู้มีบุญอันกระทำไว้ในกาลก่อน ๑ ชื่อว่าการผูกใจ. ธรรมดาว่า กุศลย่อมเกิดแก่จิตนั้น ด้วยสามารถแห่งการกำหนด ด้วยสามารถแห่งการเปลี่ยน ด้วยสามารถการประพฤติดี และด้วยสามารถแห่งการผูกใจนี้.
               ก็ความที่มหากุศลเป็นโสมนัสสสหคตะในจิตนี้ พึงทราบด้วยสามารถแห่งอารมณ์. จริงอยู่ จิตนี้ชื่อว่าเกิดเป็นโสมนัสเพราะความเกิดขึ้นในอารมณ์ที่น่าปรารถนา และเหตุทั้งหลายมีความเป็นผู้มากด้วยศรัทธาเป็นต้นก็เกิดขึ้นในจิตที่มีโสมนัสสสหคตะนี้เหมือนกัน เพราะว่า โสมนัสย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ผู้ไม่มีศรัทธา และเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย เพราะเห็นแม้รูปของพระตถาคตซึ่งเป็นอิฏฐารมณ์โดยส่วนเดียว และบุคคลเหล่าใดไม่เห็นอานิสงส์ในการสร้างกุศล โสมนัสก็ไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลเหล่านั้น แม้บุคคลอื่นให้อุตสาหะสร้างกุศล เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบความที่กุศลจิตเป็นโสมนัสสสหคตะในที่นี้อย่างนี้ คือ ความเป็นผู้มากด้วยศรัทธา ความเป็นผู้มีทิฏฐิบริสุทธิ์ และความเป็นผู้มีปกติเห็นอานิสงส์.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๑๑ อย่าง ย่อมเป็นไปเพราะอาศัยปีติสัมโพชฌงค์คือ
               ๑. พุทธานุสติ
               ๒. ธรรมานุสติ
               ๓. สังฆานุสติ
               ๔. สีลานุสติ
               ๕. จาคานุสติ
               ๖. เทวตานุสติ
               ๗. อุปสมานุสติ
               ๘. การเว้นบุคคลที่เศร้าหมอง
               ๙. การคบบุคคลผู้น่ารัก
               ๑๐. การพิจารณาพระสูตรเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส
               ๑๑. ความเป็นผู้น้อมไปในปีติสัมโพชฌงค์นั้น.
               เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบความที่กุศลจิตเป็นโสมนัสสสหคตะในที่นี้ ด้วยเหตุทั้งหลายแม้เหล่านี้.
               ส่วนความพิสดารของธรรมที่เป็นเหตุเหล่านี้จักแจ่มแจ้งในโพชฌงค์วิภังค์.
               อนึ่ง บัณฑิตพึงทราบความที่กุศลจิตที่เป็นโสมนัสสสหคตะเป็นธรรมสัมปยุตด้วยญาณในที่นี้ด้วยเหตุเหล่านี้ คือ โดยกรรม โดยความเกิดขึ้น โดยความแก่รอบแห่งอินทรีย์ และความเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส.
               จริงอยู่ บุคคลใดแนะนำธรรมแก่ชนเหล่าอื่น คือให้ศึกษาสิปปายตนะ (คือวิชาขี่ช้าง ขี่ม้าและขับรถเป็นต้น) กัมมายตนะ (คือวิชากสิกรรม พาณิชยกรรมและหัตถกรรมเป็นต้น) และวิชชัฏฐาน (คือดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ แพทยศาสตร์และไสยศาสตร์) อันไม่มีโทษ ถวายเครื่องสักการะ อาราธนาพระธรรมกถึกให้แสดงธรรม ตั้งความปรารถนาว่าในกาลต่อไป ข้าพเจ้าจักเป็นผู้มีปัญญาดังนี้ แล้วถวายทานมีประการต่างๆ กุศลที่เป็นญาณสัมปยุต เมื่อเกิดแก่บุคคลนั้นเข้าไปอาศัยกรรมเห็นปานนี้ แล้วย่อมเกิดขึ้น อีกอย่างหนึ่ง ถ้าบุคคลนั้นเกิดในโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน บทแห่งธรรมที่ง่ายย่อมปรากฏแก่เขาในที่นั้น.
               กุศลจิตญาณสัมปยุต เมื่อเกิดก็อาศัยความเกิดขึ้น โดยนัยนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเกิดขึ้นแห่งสติช้า แต่ว่า สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งคุณวิเศษเร็วพลัน ดังนี้.
               อนึ่ง กุศลญาณสัมปยุตจิตเมื่อเกิดแม้เพราะอาศัยความแก่รอบแห่งอินทรีย์ของบุคคลผู้ประกอบ คือการแก่รอบแห่งอินทรีย์ของบุคคลผู้บรรลุหมวด ๑๐ แห่งปัญญา (วิปัสสนาญาณ ๑๐) เกิดขึ้น.
               ก็กิเลสทั้งหลายอันบุคคลใดข่มไว้แล้ว กุศลญาณสัมปยุตจิตของบุคคลนั้น เมื่อเกิดก็อาศัยความที่ตนเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลสเกิดขึ้น. สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                         โยคา เว ชายเต ภูริ    อโยคา ภูริ สงฺขโย
                         เอตํ ทฺวิธา ปถํ ญตฺวา  ภวาย วิภวาย จ
                         ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย    ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ.
                                        ภูริปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบแล
                         ความเสื่อมสิ้นไปแห่งภูริปัญญาย่อมเกิดเพราะการ
                         ไม่ประกอบ บัณฑิตรู้ทางสองแพร่งแห่งความเจริญ
                         และความเสื่อมนี้แล้ว พึงตั้งตนไว้โดยอาการที่ปัญญา
                         เพียงดังแผ่นดิน (ภูริปัญญา) จะเจริญขึ้นเถิด.

               บัณฑิตพึงทราบความที่กุศลจิตเป็นญาณสัมปยุตโดยเหตุเหล่านี้ คือโดยกรรม โดยความเกิดขึ้น โดยความแก่รอบแห่งอินทรีย์และโดยความเป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส ด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๗ อย่าง ย่อมเป็นไปเพราะอาศัยธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ
               ๑. ความสอบถาม (ปริปุจฺฉกตา)
               ๒. การทำวัตถุภายในและภายนอกให้สะอาด (วตฺถุวิสทกิริยา)
               ๓. การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน (อินฺทฺริยสมตฺตปฏิปาทนตา)
               ๔. การเว้นบุคคลผู้ทรามปัญญา (ทุปฺปญฺญปุคฺคลปริวชฺชนตา)
               ๕. การคบผู้มีปัญญา (ปญฺญวนฺตปุคฺคลเสวนตา)
               ๖. การพิจารณาจริยาด้วยญาณอันลึกซึ้ง (คมฺภิรญาณจริยปจฺจเวกฺขณตา)
               ๗. ความน้อมจิตเพื่อให้ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้น (ตทธิมุตฺตตา).
               บัณฑิตพึงทราบความที่กุศลจิตเป็นญาณสัมปยุตในที่นี้ ด้วยเหตุทั้งหลายเหล่านี้ ส่วนความพิสดารแห่งเหตุทั้ง ๗ เหล่านี้ จักแจ่มแจ้งในอรรถกถาแห่งโพชฌงค์วิภังค์.
               ก็กุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นญาณสัมปยุตด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่าอสังขาริก เพราะความที่จิตนั้นเป็นสภาพเกิดขึ้นโดยอสังขาร (คือไม่มีการปรุงแต่งหรือไม่มีการชักชวน) โดยไม่มีปโยคะ (การประกอบ) โดยไม่คิดด้วยอุบาย กุศลจิตที่ชื่อว่า อสังขาริกนี้นั้น มีสีที่น่าปรารถนาเป็นอารมณ์จึงเกิดขึ้นโดยแท้ ย่อมเกิดขึ้นโดยกำหนด ๓ อย่าง คือ ทานมัย สีลมัยและภาวนามัย.
               ถามว่า กุศลญาณสัมปยุตจิตที่ชื่อว่า อสังขาริกในทานมัยเป็นต้นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
               ตอบว่า ก็เมื่อใด บุคคลได้ดอกไม้อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาดอกไม้ที่มีสีเขียว เหลือง แดง และขาวเป็นต้น แล้วรำพึงถึงสีดอกไม้นั้น แล้วบูชาพระพุทธรัตนะเป็นต้น ด้วยคิดว่า เราถวายสีเป็นทาน ดังนี้ เมื่อนั้นบุญย่อมสำเร็จด้วยทาน.
               ในทานมัยนั้น มีเรื่องเล่าไว้ดังนี้.
               ได้ยินว่า ผู้รักษาเรือนคลัง ชื่อว่า สังฆมิต ได้ผ้าลายทอง (ขจิตด้วยทอง) ผืนหนึ่ง จึงคิดว่า ผ้าแม้นี้มีสีเหมือนทอง แม้พระสัมมาสัมพุทธะ ก็มีพระฉวีวรรณเหมือนทอง ผ้ามีสีเหมือนทองสมควรแก่ผู้ที่มีผิวพรรณดังทองเท่านั้น และการให้สีจักมีแก่พวกเรา ดังนี้ จึงให้เอาขึ้นไปห่มพระมหาเจดีย์
               กุศลญาณสัมปยุตจิตในกาลแม้เห็นปานนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า เป็นทานมัย.
               ก็เมื่อใด บุคคลได้ไทยธรรม (วัตถุที่ควรให้) เหมือนอย่างนั้นนั่นแหละแล้วบูชาพระรัตนตรัยมีพุทธรัตนะเป็นต้น ด้วยการคิดว่า นั่นเป็นวงศ์ตระกูล เป็นแบบแผนตระกูล เป็นประเพณีตระกูล เป็นวัตรของเรา ดังนี้ เมื่อนั้นย่อมเป็นสีลมัย.
               ก็เมื่อใด บุคคลทำการบูชาพระไตรรัตน์ด้วยวัตถุเช่นนั้น แล้วเริ่มตั้งความสิ้นไป เสื่อมไป ด้วยมนสิการว่า สี (วรรณะ) นี้ จักถึงความสิ้นไป จักถึงความเสื่อมไป ดังนี้ เมื่อนั้น ย่อมเป็นภาวนามัย.
               อนึ่ง กุศลญาณสัมปยุตจิตเป็นทานมัยยังเป็นไปอยู่ ในกาลใด ความเป็นไปของบุคคลผู้บูชาพระไตรรัตน์ด้วยมือของตน ในกาลนั้น เป็นกายกรรม. ในกาลใด เมื่อบุคคลจะบูชาพระไตรรัตน์จึงสั่งบุตร ภรรยา ทาส กรรมกรและบุรุษเป็นต้นให้บูชา ในกาลนั้น เป็นวจีกรรม. ในกาลใด บุคคลปรารภวัตถุทานที่มีอยู่ มีประการตามที่กล่าวแล้วนั้นนั่นแหละ แล้วคิดว่า เราจักให้สีเป็นทาน (วณฺณทานํ) ดังนี้ ในกาลนั้น เป็นมโนกรรม.
               อีกอย่างหนึ่ง เพ่งถึงสำนวนพระวินัยแล้ว กุศลจิตนั้น ชื่อว่าเป็นทาน โดยลักษณะนี้ว่า การเปล่งวาจาว่าเราจักถวาย จักกระทำดังนี้ แต่ถ้าเพ่งถึงสำนวนพระอภิธรรมแล้ว จิตนั้นย่อมเป็นกุศลจำเดิมแต่เวลาที่ใจคิดปรารภถึงวัตถุที่มีอยู่ว่า เราจักให้ ดังนี้. ท่านอธิบายไว้ว่า ในกาลอื่นอีก บุคคลนั้นจักกระทำกิจที่ควรกระทำด้วยกายหรือด้วยวาจา. ทานมัยตามที่กล่าวมานี้ จึงมี ๓ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม.
               ก็ในกาลใด บุคคลได้วัตถุมีประการตามที่กล่าวแล้ว ย่อมบูชาพระไตรรัตน์ด้วยมือของตน ด้วยอำนาจแห่งวงศ์ตระกูลเป็นต้น ในกาลนั้น กุศลจิตนั้น ก็เป็นสีลมัย หรือเป็นกายกรรม. ในกาลใด สั่งให้บุตรและภรรยาเป็นต้นด้วยอำนาจแห่งวงศ์ตระกูลเป็นต้นบูชา ในกาลนั้น กุศลจิตนั้นเป็นวจีกรรม. ในกาลใด บุคคลคิดว่า เราจักถวายสีเป็นทาน (วณฺณทานํ) ดังนี้ เพราะปรารภวัตถุที่มีอยู่ว่า วงศ์ตระกูลของเรา แบบแผนตระกูล ประเพณีตระกูล วัตรนั้นของเรา ดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิตนั้น ก็เป็นมโนกรรม. กุศลจิตที่เป็นสีลมัยมี ๓ อย่าง ด้วยสามารถแห่งกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนในกาลใด บุคคลได้วัตถุมีประการดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อเดินบูชาพระไตรรัตน์ ก็เริ่มตั้งความสิ้นไปเสื่อมไป ในกาลนั้น กุศลญาณสัมปยุตจิตที่เป็นภาวนามัย ย่อมเป็นกายกรรม เมื่อบุคคลเริ่มรู้ตลอดเพราะวาจา ก็เป็นวจีกรรม เมื่อบุคคลไม่ให้ส่วนแห่งกายและวาจาเคลื่อนไหว เริ่มตั้งการรู้ตลอดด้วยใจเท่านั้น ก็เป็นมโนกรรมอย่างเดียว กุศลญาณสัมปยุตจิตที่เป็นภาวนามัยมี ๓ อย่าง ด้วยอำนาจกาย วาจาและใจ ด้วยประการฉะนี้. ในอธิการนี้ พระธรรมราชาทรงจำแนกแสดงกุศลที่มีรูปเป็นอารมณ์ไว้ด้วยกรรม ทวาร ๙ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งบุญกิริยาวัตถุ ๓ ด้วยประการฉะนี้ แม้ในสัททารมณ์เป็นต้นก็นัยนี้แหละ.
               ความจริง กุศลจิตนี้กระทำเสียงอันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีในเสียงกลองเป็นต้นให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นด้วยการกำหนด ๓ อย่างโดยนัยที่กล่าวมาแล้วนั่นแหละ. ในบรรดากุศลจิตที่เป็นทานมัยเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่าเสียง ใครๆ ไม่อาจเพื่อหยิบมาวางไว้ในมือแล้วให้ เหมือนถอนเหง้าบัวขึ้น หรือเหมือนวางกำดอกอุบลเขียวไว้ในมือได้ แต่เมื่อบุคคลทำเสียงพร้อมด้วยวัตถุให้อยู่ ชื่อว่า ย่อมให้เสียงเป็นทาน เพราะฉะนั้น ในกาลใด บุคคลคิดว่า เราจักถวายเสียงให้เป็นทานดังนี้ จึงทำการบูชาพระไตรรัตน์ ด้วยเครื่องดนตรีอย่างใดอย่างหนึ่ง มีกลองและตะโพนเป็นต้น แล้วให้หยุดเครื่องดนตรีมีกลองเป็นต้น ด้วยคิดว่า เราจักถวายทานด้วยเสียงของเรา จึงถวายเภสัช น้ำมัน น้ำอ้อยเป็นต้นด้วยเปล่งเสียงถวายภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก ย่อมโฆษณาการฟังธรรม ย่อมสวดสรภัญญะ ย่อมกล่าวธรรมกถา ย่อมกล่าวอุปนิสินนกถา อนุโมทนากถา ในกาลนั้น กุศลจิตนั้นย่อมเป็นทานมัย. ในกาลใด บุคคลกระทำวิธีอย่างนี้นั่นแหละ ด้วยสามารถแห่งวงศ์ตระกูลเป็นต้น ด้วยสามารถแห่งวัตร ในกาลนั้น กุศลจิตนั้นย่อมเป็นสีลมัย. ในกาลใด บุคคลกระทำวิธีนั้นทั้งหมด แล้วเริ่มพิจารณาว่า เสียงนี้มีประมาณเท่านี้ แม้มีประมาณเท่าพรหมโลกก็จักถึงความสิ้นไป จักถึงความเสื่อมไป ดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิตนั้นย่อมเป็นภาวนามัย.
               บรรดาบุญกิริยาวัตถุเหล่านั้น จะกล่าวกุศลจิตที่เป็นทานมัยก่อน
               ในกาลใด บุคคลถือเอาเครื่องดนตรีมีกลองเป็นต้นกระทำการบูชาพระไตรรัตน์ด้วยมือของตน แม้จะตั้งไว้เพื่อต้องการบูชาประจำก็วางไว้ด้วยมือของตน ย่อมเดินโฆษณาการฟังธรรม ย่อมไปกล่าวธรรมกถา สวดสรภัญญะ ด้วยคิดว่า เราจักให้เสียงของเราเป็นทานดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิตนั้นก็เป็นกายกรรม. ในกาลใด สั่งบุคคลอื่นว่า ดูก่อนพ่อทั้งหลาย พ่อจงไป จงทำเสียงของพวกเราให้เป็นทานบูชาพระไตรรัตน์ ดังนี้ คิดว่า เราจักให้เสียงของเราเป็นทาน จึงสั่งบุคคลอื่นว่า พวกท่านจงวางกลองนี้ ตะโพนนี้ ที่ลานพระเจดีย์ ย่อมโฆษณาธรรมสวนะเองทีเดียว ย่อมกล่าวธรรมกถา ย่อมสวดสรภัญญะ ในกาลนั้น กุศลจิตนั้น ย่อมเป็นวจีกรรม. ในกาลใด บุคคลไม่ให้ส่วนแห่งกาย แห่งวาจาไหว สละวัตถุอันมีอยู่ด้วยใจว่า เราจักให้เสียงเป็นทาน ดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นมโนกรรม.
               กุศลจิตแม้ที่เป็นภาวนามัย ในกาลใด บุคคลกำลังเดิน เริ่มตั้งความสิ้นไป เสื่อมไปในเสียง ในกาลนั้น กุศลจิตนั้นก็เป็น กายกรรม. ก็หรือว่า เมื่อบุคคลไม่ยังส่วนแห่งกายให้ไหวพิจารณาอยู่ตามวาจา กุศลจิตที่เป็นภาวนามัยก็เป็นวจีกรรม. เมื่อบุคคลไม่ให้กายและวาจาไหว พิจารณาอยู่ซึ่งสัททายตนะด้วยใจเท่านั้น กุศลจิตที่เป็นภาวนามัยนั้นก็เป็น มโนกรรม. พระธรรมราชาทรงจำแนกแสดงแล้วซึ่งกุศลจิตแม้มีเสียงเป็นอารมณ์ ด้วยกรรมและทวาร ๙ ด้วยสามารถแห่งบุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง ดังพรรณนามาฉะนี้.
               กุศลจิตนี้กระทำกลิ่นอันน่าชอบใจแม้ในกลิ่นที่เกิดแต่รากไม้เป็นต้น ให้เป็นอารมณ์เกิดขึ้นโดยการกำหนด ๓ อย่าง โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ ในกาลใด บุคคลได้กลิ่นหอมอย่างใดอย่างหนึ่ง ในกลิ่นทั้งหลายมีกลิ่นที่เกิดแต่รากไม้เป็นต้นแล้วคำนึงถึงด้วยอำนาจแห่งกลิ่น คิดว่า เราจักถวายกลิ่นของเราให้เป็นทาน ดังนี้ จึงบูชาพระพุทธรัตนะเป็นต้น ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นทานมัย. บัณฑิตพึงทราบคำทั้งหมดโดยพิสดาร โดยนัยที่กล่าวไว้ในการให้สีเป็นทานนั่นแหละ พระธรรมราชาทรงจำแนกแสดงซึ่งกุศลจิต แม้มีกลิ่นเป็นอารมณ์ ด้วยกรรมและทวาร ๙ ด้วยสามารถแห่งบุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง ด้วยประการฉะนี้.
               ก็กุศลจิตที่ทำรสอันน่าชอบใจในรสทั้งหลายมีรสเกิดจากรากเป็นต้นให้เป็นอารมณ์ ย่อมเกิดขึ้นด้วยการกำหนด ๓ อย่าง โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ ในกาลใด บุคคลได้รสที่น่ายินดีอย่างใดอย่างหนึ่งในรสทั้งหลายมีรสเกิดแต่รากเป็นต้นนั้น แล้วรำพึงด้วยสามารถแห่งรส ย่อมให้ย่อมสละด้วยคิดว่า เราจักให้รสของเราเป็นทาน ดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นทานมัย ดังนี้. พึงทราบข้อความทั้งปวง โดยพิสดารตามนัยที่กล่าวไว้ในการให้สีเป็นทาน. ก็ในกุศลจิตที่มีสีลมัยนี้ มีเรื่องทั้งหลายมาในมหาอรรถกถา ตั้งแต่เรื่องพระเจ้าทุฏฐคามนิอภัย ทรงพระดำริว่า ธรรมดาว่า การไม่ถวายสังฆทานแล้วบริโภค เราไม่เคยประพฤติ ดังนี้ จึงให้ถวายทานแก่ภิกษุประมาณ ๑,๒๐๐ รูป แล้วจึงเสวยพระกระยาหารมีรสดี. ข้อความที่แตกต่างกันมีเพียงเท่านี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ธรรมราชา ทรงจำแนกแสดงกุศลจิตแม้มีรสเป็นอารมณ์ ด้วยกรรมและทวาร ๙ โดยบุญกิริยาวัตถุ ๓ นั่นแหละ.
               แม้ในโผฏฐัพพารมณ์ มหาภูตรูป ๓ คือ ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ชื่อว่าโผฏฐัพพารมณ์. ในฐานะนี้ บัณฑิตไม่ทำการประกอบด้วยอำนาจแห่งธาตุทั้ง ๓ เหล่านี้ พึงทำการประกอบด้วยสามารถแห่งเตียงและตั่งเป็นต้น. จริงอยู่ ในกาลใด บุคคลได้วัตถุอันควรถูกต้องน่าปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ในวัตถุทั้งหลายมีเตียงและตั่งเป็นต้น แล้วคำนึงถึงด้วยอำนาจแห่งการถูกต้อง ย่อมให้ ย่อมบริจาค ด้วยคิดว่า เราจักให้โผฏฐัพพะเป็นทานของเรา ดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิตก็ย่อมเป็นทานมัย ดังนี้. บัณฑิตพึงทราบข้อความ ทั้งปวง โดยพิสดารตามนัยที่กล่าวไว้ในการให้สีเป็นทานนั่นแหละ พระธรรมราชาทรงจำแนกแสดงกุศลจิตแม้มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ ด้วยกรรมและทวาร ๙ ด้วยบุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่างดังพรรณนามาฉะนี้.
               แต่ว่า ในธรรมารมณ์ ได้แก่ ธรรมทั้งหลายที่เป็นปริยาปันนะและอปริยาปันนะในธรรมายตนะเหล่านี้ คืออายตนภายใน ๖ ลักษณะ ๓ อรูปขันธ์ ๓ สุขุมรูป ๑๕ นิพพานและบัญญัติ ชื่อว่า ธรรมารมณ์. แต่ในฐานะนี้ บัณฑิตไม่ทำการประกอบไว้ด้วยอำนาจแห่งธรรมเหล่านี้ พึงประกอบไว้ด้วยการให้โอชะ การให้ปานะ และการให้ชีวิตเป็นทาน. จริงอยู่ กุศลจิตนี้ กระทำธรรมารมณ์อันน่ายินดีในโอชะเป็นต้น ให้เป็นอารมณ์ เกิดขึ้นด้วยการกำหนด ๓ อย่าง โดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ. ในธรรมารมณ์นั้น เมื่อใด บุคคลย่อมถวายเนยใสเนยข้นเป็นต้น โดยคิดว่า เราถวายโอชะเป็นทาน ย่อมถวายน้ำปานะ ๘ อย่าง โดยคิดว่า เราถวายน้ำปานะให้เป็นทาน ดังนี้ ย่อมถวายสลากภัต ปักขิยภัต สังฆภัตเป็นต้น โดยคิดว่า เราถวายชีวิตเป็นทาน ดังนี้ ย่อมถวายเภสัชแก่ภิกษุผู้ไม่ผาสุกทั้งหลาย ให้หมอมารักษา ให้เผาตาข่าย ให้รื้อรอบ ให้ทำลายกรงนก ให้พ้นจากเรือนจำ ให้ตีกลองห้ามฆ่าสัตว์ กระทำเห็นปานนี้แม้อื่นๆ เพื่อป้องกันชีวิต ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นทานมัย. อนึ่ง ในกาลใด บุคคลคิดว่า การให้โอชะเป็นทาน ให้น้ำปานะเป็นทาน ให้ชีวิตเป็นทาน เป็นวงศ์ตระกูลวงศ์ของเรา เป็นแบบแผนของตระกูล เป็นประเพณีของตระกูล ดังนี้ จึงยังทานมีโอชะเป็นต้นให้เป็นไปด้วยวัตรเป็นประธาน ในกาลนั้น กุศลจิตย่อมเป็นสีลมัย. ในกาลใด เริ่มตั้งความสิ้นไปเสื่อมไปในธรรมารมณ์ ในกาลนั้น กุศลจิตย่อมเป็นภาวนามัย. อนึ่ง กุศลจิตที่เป็นทานมัยแม้กำลังเป็นไป คือ ในกาลใด บุคคลย่อมถวายโอชะเป็นทาน น้ำปานะเป็นทาน ชีวิตเป็นทานด้วยมือของตน ในกาลนั้น ย่อมเป็นกายกรรม ในกาลใดใช้ให้บุตรและภรรยาเป็นต้นให้ถวายทาน ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นวจีกรรม ในกาลใด ไม่ยังส่วนแห่งกายและวาจาให้เคลื่อนไหว ย่อมคิดด้วยใจว่า เราจักถวายวัตถุที่มีอยู่ด้วยอำนาจแห่งการให้โอชะเป็นทาน ให้น้ำปานะเป็นทาน ให้ชีวิตเป็นทาน ดังนี้ ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นมโนกรรม.
               อนึ่ง ในกาลใด บุคคลย่อมให้วัตถุอันมีอยู่มีประการตามที่กล่าวแล้วด้วยมือของตน ด้วยอำนาจแห่งวงศ์ตระกูลเป็นต้น ในกาลนั้น กุศลจิตที่เป็นสีลมัย ย่อมเป็นกายกรรม. ในกาลใด ใช้ให้บุตรและภรรยาเป็นต้นให้ถวายด้วยอำนาจแห่งวงศ์ตระกูลนั่นแหละ ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นวจีกรรม. ในกาลใด ย่อมคิดด้วยใจว่า เราจักถวายวัตถุอันมีอยู่มีประการตามที่กล่าวแล้วด้วยอำนาจแห่งวงศ์ตระกูลเป็นต้นนั่นแหละ ในกาลนั้น กุศลจิตก็เป็นมโนกรรม.
               อนึ่ง บุคคลเดินไปแล้ว เริ่มตั้งความสิ้นไปเสื่อมไปในธรรมารมณ์ กุศลจิตที่เป็นภาวนามัย ย่อมเป็นกายกรรม. เมื่อบุคคลไม่ยังส่วนแห่งกายให้ไหวแล้ว เริ่มตั้งความสิ้นไปเสื่อมไปด้วยวาจา กุศลจิต ย่อมเป็นวจีกรรม. บุคคลไม่ยังส่วนแห่งกายและวาจาให้ไหว เริ่มตั้งซึ่งความสิ้นไปเสื่อมไปด้วยใจเท่านั้น กุศลจิตย่อมเป็นมโนกรรม. กุศลจิตที่เป็นภาวนามัย ๓ อย่าง ย่อมมีด้วยอำนาจ กายกรรม วจีกรรมและมโนกรรม ด้วยประการฉะนี้. พระธรรมราชาทรงจำแนกแสดงกุศลจิตที่เป็นธรรมารมณ์ ในที่นี้ด้วยกรรมและทวาร ๙ ด้วยสามารถแห่งบุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง ดังพรรณนามาฉะนี้.
               จิตนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วอย่างนี้ ด้วยอำนาจแห่งวัตถุต่างกัน และอารมณ์ต่างกัน. แต่จิตนี้ บัณฑิตย่อมได้ในวัตถุเดียวกัน ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ที่ต่างกัน. ถามว่า ได้อย่างไร ตอบว่า เพราะในปัจจัย ๔ อย่าง เฉพาะในจีวร (เอกวัตถุ) บัณฑิตย่อมได้อารมณ์ ๖ อย่าง. จริงอยู่ สีแห่งจีวรที่ย้อมใหม่ เป็นสีที่ชอบใจ น่าดู นี้ เรียกว่า มีสีเป็นอารมณ์. อนึ่ง ในเวลาใช้สอยย่อมส่งเสียงดังปฏะปฏะ นี้เป็นสัททารมณ์. ในผ้านั้น มีกลิ่นเปลือกไม้ไทรดำเป็นต้น นี้เป็นคันธารมณ์. อนึ่ง รสารมณ์ ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถแห่งรสคือการใช้สอย. ในผ้านั้นมีสัมผัสเป็นสุข นี้เป็นโผฏฐัพพารมณ์. สุขเวทนาเกิดขึ้นเพราะอาศัยจีวร นี้เป็นธรรมารมณ์. รสารมณ์ บัณฑิตย่อมได้ในบิณฑิตโดยนิปปริยาย (โดยตรง) ทีเดียว. บัณฑิตทำการประกอบจิตในปัจจัย ๔ ด้วยสามารถแห่งอารมณ์ต่างๆ อย่างนี้แล้วพึงทราบความต่างกันแห่งจิตที่เป็นทานมัยเป็นต้น. อนึ่ง อารมณ์เป็นสภาวะผูกพันจิตนี้ เป็นอารมณ์แล้ว จิตก็ไม่เกิดขึ้น. ส่วนทวารไม่ผูกพันจิตไว้ ถามว่า เพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะกรรมเป็นสภาพไม่ผูกพัน. จริงอยู่ เมื่อกรรมไม่ผูกพันจิตไว้แม้ทวาร ก็ชื่อว่าไม่ผูกพันเหมือนกัน.

               กามาวจรกุศลและทวารกถา               
               ว่าด้วยกายกรรมและทวาร               
               ก็เพื่อประกาศเนื้อความนี้ ในมหาอรรถกถาท่านกล่าวทวารกถาไว้ในฐานะนี้. ในทวารกถานั้น ชื่อการตั้งมาติกาในทวารกถานี้มีประมาณเท่านี้ คือ
                         กรรม ๓
                         ทวารแห่งกรรม ๓
                         วิญญาณ ๕
                         ทวารวิญญาณ ๕
                         ผัสสะ ๖
                         ทวารผัสสะ ๖
                         อสังวร ๘
                         ทวารแห่งอสังวร ๘
                         สังวร ๘
                         ทวารแห่งสังวร ๘
                         อกุศลกรรมบถ ๑๐
                         กุศลกรรมบถ ๑๐
               ในการตั้งมาติกาเหล่านั้น กรรม ๓ อย่าง ท่านกล่าวไว้ก่อน แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นท่านก็เว้นกรรม ๓ เหล่านั้น แล้วแสดงจำแนกทวารแห่งกรรม ๓ โดยความเป็นเบื้องต้นก่อน.
               ถามว่า ทวารแห่งกรรม ๓ เป็นไฉน?
               ตอบว่า ทวารแห่งกายกรรม ทวารแห่งวจีกรรม ทวารแห่งมโนกรรม.
               ในทวารแห่งกายกรรมนั้น กายมี ๔ อย่าง คือ อุปาทินนกกาย (กายที่มีใจครอง) ๑ อาหารสมุฏฐานกาย ๑ อุตุสมุฏฐานกาย ๑ จิตตสมุฏฐานกาย ๑. บรรดากาย ๔ เหล่านั้น รูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ๘ คือ มีจักขายตนะเป็นต้น๑- มีชีวิตินทรีย์เป็นที่สุดก็ดี รูป ๘ คือ ธาตุ ๔ วรรณะ คันธะ รสะ โอชา ที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานก็ดี ชื่อว่าอุปาทินนกกาย.
               รูป ๘ เหล่านั้นนั่นแหละเกิดแต่อาหาร ชื่อว่าอาหารสมุฏฐานิกกาย รูป ๘ เกิดแต่อุตุ ชื่อว่าอุตุสมุฏฐานิกกาย. รูป ๘ เกิดแต่จิต ชื่อว่าจิตตสมุฏฐานิกกาย.
____________________________
๑- จักขุโสตฆานชิวหากายอิตถิปุริสชีวิตินทรียรูป.

               ในบรรดาอุปาทินนกายเป็นต้นเหล่านั้น คำว่า ทวารแห่งกายกรรม มิได้เป็นชื่อของอุปาทินนกกาย มิได้เป็นชื่อของกายนอกนี้ แต่ในรูป ๘ มีจิตเป็นสมุฏฐาน มีวิญญัติรูปหนึ่ง รูปนี้ ชื่อว่าทวารแห่งกายกรรม ตามที่ท่านกล่าวไว้ว่า รูปที่ชื่อว่ากายวิญญัติ นั้นเป็นไฉน? ความเคร่งตึง ความเคร่งตึงด้วยดี กิริยาที่เคร่งตึงด้วยดี การเคลื่อนไหวกายให้รู้ความหมาย กิริยาที่แสดงให้รู้ความหมาย ภาวะที่ให้ผู้อื่นรู้ความหมายของกายของผู้มีจิตเป็นกุศล หรือผู้มีจิตเป็นอกุศล หรือมีจิตเป็นอัพยากตะ หรือผู้ก้าวไปข้างหน้า หรือถอยกลับ หรือแลดูข้างหน้า หรือเหลียวดูซ้ายขวา หรือเหยียด หรือคู้แขน อันใด รูปนี้นั้น เรียกว่ากายวิญญัติ.
               จริงอยู่ จิตที่เกิดขึ้นว่า เราจักก้าวไปข้างหน้า จักถอยกลับ ดังนี้ ย่อมยังรูปให้ตั้งขึ้น ในขณะแห่งจิตที่เกิดขึ้นนั้น วาโยธาตุมีจิตเป็นสมุฏฐาน ในภายในแห่งรูปกลาปทั้ง ๘ เหล่านี้ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ วรรณะ คันธะ รสะ โอชะ ซึ่งอาศัยธาตุทั้ง ๔ นั้น ย่อมค้ำจุน ทรงไว้ ยังรูปกายที่เกิดพร้อมกับตนนั้นให้เคลื่อนไหว ให้ก้าวไปข้างหน้า ให้ถอยกลับ.
               ในบรรดารูปกลาป ๘ เหล่านั้น วาโยธาตุที่ตั้งขึ้นด้วยจิตดวงแรกในบรรดาชวนจิต ๗ ดวง ในอาวัชชนวิถีหนึ่ง ย่อมสามารถค้ำจุน ดำรงไว้ซึ่งรูปกายที่เกิดพร้อมกับตนได้ แต่ไม่อาจให้เคลื่อนไหวไปมา แม้ในชวนจิตดวงที่ ๒ เป็นต้น ก็นัยนี้แหละ. ส่วนวาโยธาตุที่ตั้งขึ้นด้วยชวนจิตดวงที่ ๗ ได้วาโยธาตุที่ตั้งขึ้นด้วยชวนจิต ๖ ดวงเบื้องต้น เป็นปัจจัยอุปถัมภ์แล้ว ย่อมสามารถเพื่อค้ำจุน เพื่อทรงไว้ เพื่อยังรูปที่เกิดพร้อมกับตนให้เคลื่อนไหว ให้ก้าวไปข้างหน้า ให้ถอยกลับ ให้แลดู ให้เหลียวซ้ายแลขวา ให้คู้เข้า ให้เหยียดออก เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า เกิดการเดินไปเกิดการเดินมา ชื่อว่าเกิดการเดินไปเดินมา คือย่อมถึงคำอันบุคคลพึงกล่าวว่า ไปได้โยชน์หนึ่ง ไปได้ ๑๐ โยชน์ ดังนี้.
               เหมือนอย่างว่า เมื่อเกวียนที่พึงลากไปด้วยแอก ๗ แอก โคที่เทียมแล้วในแอกคู่แรก ย่อมสามารถเพื่อค้ำจุน เพื่อทรงแอกไว้ได้ก่อน แต่ไม่ อาจให้ล้อหมุนไป แม้ในคู่ที่ ๒ เป็นต้นก็เหมือนกัน แต่ว่าในกาลใด สารถีผู้ฉลาดเทียมคู่โคที่ ๗ ที่แอกนั่งที่ทูบเกวียน ถือเชือกแล้วเอาปลายปฏักกระตุ้นคู่โคจำเดิมแต่โคคู่แรกทั้งหมด ในกาลนั้น คู่โคทั้งหมดทีเดียวก็รวมกำลังกัน ทรงแอกและให้ล้อหมุนไป ย่อมถึงคำอันบุคคลพึงพูดได้ว่า โคพาเกวียนไปได้ ๑๐ โยชน์ พาไป ๒๐ โยชน์ ฉันใด คำอุปมาเป็นเครื่องยังอุปไมยให้ถึงพร้อมนี้ บัณฑิตพึงทราบฉันนั้น.
               ในบรรดากาย ๔ เหล่านั้น กายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่วิญญัติ แต่วิการแห่งอาการหนึ่งที่สามารถเพื่อเป็นปัจจัย เพื่อให้ค้ำจุน ทรงไว้ซึ่งรูปกาย ที่เกิดพร้อมกับวาโยธาตุที่มีจิตเป็นสมุฏฐานให้ไหวได้ นี้ชื่อว่าวิญญัติ. วิญญัตินั้นไม่ใช่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เหมือนรูป ๘ อย่าง. เหมือนอย่างคำมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชราและมรณะ ชื่อว่าไม่เที่ยง เป็นสังขตะ เพราะความที่ธรรมทั้งหลายมีประเภทที่ไม่เที่ยงเป็นต้นต้องแก่และตาย ฉันใด วิญญัติแม้นั้น ชื่อว่ามีจิตเป็นสมุฏฐาน เพราะความที่รูปทั้งหลายมีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นสภาพประกาศให้รู้ ฉันนั้น.
               ก็วิญญัตินั้น เรียกว่าวิญญัติ เพราะประกาศให้รู้. ประกาศให้รู้อะไร? ประกาศให้รู้ทางกายอย่างหนึ่ง จริงอยู่ บุคคลยืนอยู่ในคลองแห่งจักษุ ย่อมยกมือหรือเท้า สั่นศีรษะหรือยักคิ้ว อาการของมือเป็นต้นนี้ เป็นการให้รู้ได้ด้วยจักษุ แม้วิญญัติก็ไม่รู้ได้ด้วยตาแต่รู้ได้ด้วยใจเท่านั้น เพราะว่าบุคคลย่อมเห็นสีเป็นอารมณ์ เป็นไปต่างๆ ด้วยสามารถแห่งการเคลื่อนไหวมือเป็นต้น แต่ว่า บุคคลคิดถึงรูปที่ประกาศให้รู้ ด้วยจิตทางมโนทวารแล้ว จึงรู้ว่า บุคคลนี้เห็นจะให้เราทำสิ่งนี้และสิ่งนี้ ดังนี้.
               เหมือนอย่างว่า พวกมนุษย์ให้ผูกใบตาลเป็นต้นที่ยอดต้นไม้ในสถานที่มีน้ำในฤดูแล้งในป่า โดยประสงค์ว่า ชนทั้งหลายจักรู้ซึ่งความที่น้ำมีอยู่ในที่นี้ ด้วยสัญญานี้ หรือชักธงขึ้นที่ประตูร้านสุรา หรือว่า ลมพัดต้นไม้สูงให้หวั่นไหว หรือว่า เมื่อปลาแหวกว่ายอยู่ในน้ำ ฟองน้ำก็ผุดขึ้นข้างบน หรือเศษหญ้าและใบไม้ที่ถูกน้ำซัดไปติดอยู่ที่ทางไปของห้วงน้ำใหญ่ ในกาลใด บุคคลเห็นใบตาล ธง กิ่งไม้ ฟองน้ำ เศษหญ้าและใบไม้ แม้ไม่เห็นด้วยตาแต่ก็ย่อมรู้ด้วยมโนวิญญาณว่า ในที่นี้น้ำจักมี สุราจักมี ต้นไม้นี้ถูกลมพัด ปลาจักมีภายในน้ำ ห้วงน้ำจักไหลท่วมที่มีประมาณเท่านี้ ฉันใด แม้วิญญัติ ก็ฉันนั้น ไม่รู้ด้วยตา รู้ได้ด้วยใจ เพราะว่า บุคคลย่อมเห็นสีเป็นอารมณ์เคลื่อนไหวไปมา ด้วยอำนาจแห่งการยกมือเป็นต้นด้วยตาเท่านั้น แต่เขาคิดด้วยจิตทางมโนทวาร จึงรู้ว่า บุคคลนี้เห็นจะให้เราทำอย่างนี้ๆ.
               ก็วิญญัตินี้ ชื่อว่าวิญญัติ เพราะการประกาศให้รู้อย่างเดียวก็หาไม่ ที่แท้แล้ว ชื่อว่าวิญญัติ เพราะควรรู้ก็มีทีเดียว. เพราะว่า วิญญัตินี้ย่อมปรากฏแก่ชนทั้งหลายเหล่าอื่น โดยที่สุดแม้แก่สัตว์เดรัจฉานบ้าง. จริงอยู่ สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายมีสุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก กา โคเป็นต้น ที่ประชุมกันในที่นั้น เมื่อบุคคลจับท่อนไม้ หรือก้อนดินแสดงอาการขว้างป่า สัตว์นี้ก็รู้ว่า เขาต้องประหารพวกเรา ย่อมหนีไปที่ใดที่หนึ่ง แต่เมื่อบุคคลอื่นอยู่ในภายในกำแพงและฝาเรือนเป็นต้น เวลานั้นก็เป็นเวลาที่รูปไม่ปรากฏ ในขณะนั้นรูปไม่ปรากฏแก่เขา ถึงอย่างนั้น ก็ชื่อว่าวิญญัตินั่นแหละ เพราะเป็นธรรมชาติปรากฏแก่ผู้อยู่เฉพาะหน้า.
               ถามว่า เมื่อกายที่มีจิตเป็นสมุฏฐานกำลังไหว กายที่มีสมุฏฐาน ๓ ย่อมไหวไปด้วย หรือไม่ไหวไป.
               ตอบว่า กายมีสมุฏฐาน ๓ แม้นั้นก็ไหวไปเหมือนกัน.
               กายที่มีสมุฏฐาน ๓ นั้น มีคติเหมือนกายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน คล้อยตามกายที่มีจิตเป็นสมุฏฐานโดยแท้. เหมือนอย่างว่า เมื่อน้ำกำลังไหลไปอยู่ แม้เศษไม้แห้ง หญ้าแห้ง ใบไม้แห้งเป็นต้นที่ตกไปสู่น้ำ ก็ย่อมไหลไปตามน้ำ (มีคติอย่างน้ำ) ทีเดียว คือเมื่อน้ำไหลไป เศษไม้แห้งเป็นต้นก็ย่อมลอยไป เมื่อน้ำหยุด เศษไม้แห้งเป็นต้นนั้นก็หยุด ฉันใด คำอุปมาเป็นเครื่องยังอุปไมย ให้ถึงพร้อมนี้บัณฑิตพึงทราบ ฉันนั้น วิญญัติในรูปทั้งหลายที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน แม้นี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ชื่อทวารแห่งกายกรรม ด้วยประการฉะนี้.
               ก็เจตนาที่ให้สำเร็จในทวารนั้นเป็นเหตุให้บุคคลฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้ ประพฤติมิจฉาจาร งดเว้นจากปาณาติบาต ข้อนี้ชื่อว่ากายกรรม. เมื่อปรวาทีมีอยู่อย่างนี้ บัณฑิตก็พึงดำรงไว้ด้วยนัยแห่งคำว่า กายเป็นทวาร เจตนาที่สำเร็จในทวารนั้นเป็นกายกรรม คือเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล ดังนี้. แต่เมื่อปรวาทีไม่มี ก็พึงดำรงติกะว่า กายกรรมเป็นกุศลหรืออกุศลหรืออัพยากตะ ดังนี้ให้บริบูรณ์ ในข้อนั้น เปรียบเหมือนประตูพระนคร ย่อมตั้งไว้ในที่ที่เขาสร้างไว้แล้ว ย่อมไม่เลื่อนไปเลื่อนมาแม้สักองคุลี ก็มหาชนย่อมสัญจรไปทางประตูนั้นๆ ฉันใด ทวารก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะเที่ยวไปหาได้ไม่ ส่วนกรรมย่อมเที่ยวไปโดยการเกิดขึ้นในทวารนั้นๆ ด้วยเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
                         ทฺวาเร จรนฺติ กมฺมานิ   น ทฺวารา ทฺวารจาริโน
                         ตสฺมา ทฺวาเรหิ กมฺมานิ  อญฺญมญฺญํ ววฏฺฐิตา.
                                        กรรมทั้งหลายย่อมเที่ยวไปในทวาร
                         ทวารทั้งหลายไม่เที่ยวไปกับทวารทั้งหลาย
                         เพราะฉะนั้น ท่านจึงกำหนดกรรมทั้งหลาย
                         กับทวารทั้งหลายไว้ด้วยกัน.

               ในคาถานั้น อธิบายว่า ทวารย่อมได้ชื่อตามกรรม แม้กรรมก็ได้ชื่อตามทวาร. เหมือนอย่างว่า ที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นต้น ย่อมได้ชื่อว่าทวารแห่งวิญญาณ ทวารแห่งผัสสะ ทวารแห่งความไม่สำรวมทวารแห่งความสำรวม ดังนี้ ฉันใด ที่เป็นที่เกิดขึ้นแห่งกายกรรม ก็ได้ชื่อว่าทวารแห่งกายกรรม ฉันนั้น. แม้ในทวารแห่งวจีกรรมและมโนกรรมก็นัยนี้เหมือนกัน.
               อนึ่ง เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้นั้นๆ ย่อมได้ชื่อตามต้นไม้นั้นๆ ว่า เทวดาไม้งิ้ว (สิมฺพลิเทวตา) เทวดาใบไม้เหลือง (ปลาสเทวตา) เทวดา ต้นสะเดา (ปุจิมนฺทเทวตา) เทวดาไม้สะคร้อ ฉันใด แม้กรรมที่บุคคลทำแล้วด้วยกายทวาร ย่อมได้ชื่อตามทวารว่า กายกรรม ฉันนั้นเหมือนกัน. แม้ในวจีกรรมและมโนกรรมก็นัยนี้เหมือนกัน. ในบรรดากายและกรรมนั้น กายก็เป็นอย่างหนึ่ง กรรมก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ท่านเรียกกายและกรรมนั้นว่า กายกรรม เพราะความที่กรรมนั้นกระทำด้วยกาย ด้วยเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
                                   หากกรรมกระทำด้วยกาย เรียกว่า
                         กายกรรม กายและกายกรรม ท่านก็กำหนด
                         ไว้ด้วยกัน หากกรรมกระทำด้วยเข็ม เรียกว่า
                         สุจิกรรม เข็มและสุจิกรรม ท่านก็กำหนด
                         ไว้ด้วยกัน หากกรรมกระทำด้วยมีด เรียกว่า
                         วาสิกรรม มีดและวาสิกรรม ท่านก็กำหนด
                         ไว้ด้วยกัน หากกรรมกระทำด้วยบุรุษ
                         เรียกว่า ปุริสกรรม บุรุษและปุริสกรรม
                         ท่านก็กำหนดไว้ด้วยกัน ฉันใด หากกรรม
                         กระทำด้วยกาย ก็เรียกว่ากายกรรม กาย
                         และกายกรรม ท่านกำหนดไว้ด้วยกัน ฉันนั้น
                         เหมือนกัน.
               ครั้นเมื่อความเป็นอย่างนั้น การกำหนดเฉพาะทวารก็ไม่ถูก การกำหนดเฉพาะกรรมก็ไม่ถูก ถามว่า ไม่ถูกอย่างไร ตอบว่า เพราะบาลีว่า ทฺวาเร จรนฺติ กมฺมานิ (กรรมทั้งหลายย่อมเที่ยวไปในทวาร) แม้วจีกรรมก็ย่อมเป็นไปในกายวิญญัติ เพราะฉะนั้น การกำหนดวจีวิญญัตินั้นว่าทวารแห่งกายกรรมดังนี้ก็ไม่ถูก ทั้งกายกรรมก็ย่อมเป็นไป แม้ในวจีวิญญัติ เพราะเหตุนั้น การกำหนดวจีวิญญัตินั้นว่า กายกรรมก็ไม่ถูก. การกำหนดอย่างนั้นมิใช่ไม่ถูก เพราะเหตุไร เพราะความเป็นไปโดยมาก และเพราะเป็นไปมากในทวารนั้น. จริงอยู่ กายกรรมเท่านั้นย่อมเป็นไปโดยมากในกายวิญญัติ วจีกรรมนอกนี้ไม่เป็นไปโดยมาก เพราะฉะนั้น ความที่กายวิญญัตินี้เป็นทวารแห่งกายกรรมสำเร็จแล้วเป็นไปโดยมากแห่งกายกรรม เปรียบเหมือนบ้านพราหมณ์ สวนมะม่วง และไม้กากะทิงเป็นต้น ชื่อว่าบ้านพราหมณ์เป็นต้น เพราะฉะนั้น การกำหนดทวารจึงถูก เพราะกายกรรมย่อมเป็นไปมาก ในกายทวารทีเดียว ส่วนในวจีทวารเป็นไปน้อย ฉะนั้น การที่ทวารนี้เป็นกายกรรมสำเร็จเป็นไปมากในกายทวาร เปรียบเหมือนโคจรของนายพรานป่าและกุมาริกาอ้วนเป็นต้น ชื่อว่านายพรานป่าเป็นต้น ฉะนั้น แม้การกำหนดกรรมจึงถูกต้อง ด้วยประการฉะนี้.
               จบกถาว่าด้วยทวารแห่งกายกรรม.               

               กถาว่าด้วยทวารแห่งวจีกรรม               
               ก็ในกถาว่าด้วยทวารแห่งวจีกรรม ชื่อว่าวาจา มี ๓ อย่าง คือ เจตนา วิรติ สัททะ (เสียง) บรรดาวาจา ๓ อย่างเหล่านั้น วาจานี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๔ เหล่านี้ เป็นวาจาสุภาษิต มิใช่วาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ เป็นวาจาที่ผู้รู้ทั้งหลายไม่ติเตียน ดังนี้ ชื่อว่าเจตนาวาจา. วาจานี้ว่า การงด การเว้นจากวจีทุจริต ๔ ฯลฯ อันใด นี้ตรัสเรียกว่า สัมมาวาจา ดังนี้ ชื่อว่าวิรติวาจา. วาจานี้ว่า จริงอยู่ วาจาที่เปล่ง คลองแห่งคำ การเปล่งขึ้น เสียงกึกก้อง ทำเสียงให้กึกก้อง วาจา การเปล่งวาจา ดังนี้ ชื่อว่าสัททวาจา.
               บรรดาวาจาทั้ง ๓ เหล่านั้น คำว่า วจีกรรมทวาร มิใช่เป็นชื่อของเจตนามิใช่เป็นชื่อของวิรติ แต่ว่า วิญญัติอย่างหนึ่งซึ่งมีเสียงร่วมด้วยมีอยู่ นี้ชื่อว่าทวารแห่งวจีกรรม. วจีทวารที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาตรัสไว้ว่า รูปที่เป็นวจีวิญญัตินั้น เป็นไฉน? การพูด การเปล่งออก คลองแห่งวาจา การเปล่งขึ้น เสียงกึกก้อง การทำเสียงให้กึกก้อง วาจา การเปล่งวาจา แห่งบุคคลผู้มีจิตเป็นกุศล หรือมีจิตเป็นอกุศล หรือมีจิตเป็นอัพยากตะ อันใด ดังนี้ นี้เรียกว่า วาจา. วิญญัติ การแสดงให้รู้ความหมาย กิริยาที่แสดงให้รู้ความหมายทางวาจา อันใด รูปนี้นั้น เรียกว่า วจีวิญญัติ.
               จริงอยู่ เมื่อเราตรึกว่า เราจักกล่าวคำนี้ เราจักกล่าวคำนั้น ชื่อว่าเสียงอันแผ่ไปด้วยวิตก ย่อมเกิดขึ้น. วาทะนี้มาในมหาอรรถกถาว่า เสียงนี้มิได้รู้ได้ด้วยโสตะ รู้ได้ด้วยใจ ดังนี้ แต่ในอรรถกถาที่มาทั้งหลาย. อธิบายคำว่า วิตกฺกวิปฺผารสทฺทํ (เสียงที่แผ่ไปด้วยวิตก) เป็นเสียงของคนหลับและประมาทแล้ว กำลังบ่นเพ้ออันเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการแผ่ไปของวิตก.
               คำว่า สุตฺวา นั้น ความว่า เมื่อบุคคลนั้นฟังแล้วตรึกซึ่งเรื่องใด เสียงอันแผ่ไปแห่งวิตกนั้นเกิดขึ้นแล้ว ด้วยอำนาจแห่งเรื่องนั้น ก็จักทายใจได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้บ้าง ใจของท่านเป็นอย่างนั้นบ้าง ครั้นกล่าวด้วยประการฉะนั้นแล้ว ก็กล่าวแม้เรื่องทั้งหลาย. แม้ในปัฏฐานก็มีพระบาลีอันมาแล้วว่า สัททายตนะ มีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นปัจจัยแก่โสตวิญญาณด้วยอารัมมณปัจจัย ดังนี้ เพราะฉะนั้น ชื่อว่า เสียงที่แผ่ไปแห่งวิตกที่รู้ไม่ได้ด้วยโสตะ ซึ่งเกิดขึ้นเว้นจากการกระทบกับวิญญัติย่อมไม่มี ก็จิตเมื่อเกิดขึ้นว่า ข้าพเจ้าจักกล่าวคำนี้ ข้าพเจ้าจักกล่าวคำนั้นดังนี้ ย่อมยังรูปให้ตั้งขึ้น ๘ รูป คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ วรรณะ คันธะ รส โอชา ปฐวีธาตุที่มีจิตเป็นสมุฏฐานในภายในแห่งรูป ๘ เหล่านั้น กระทบอยู่ซึ่งอุปาทินนกกายก่อนจึงเกิดขึ้น เสียงย่อมเกิดขึ้นด้วยการกระทบกับปฐวีธาตุนั้น นี้ชื่อว่า เสียงที่มีจิตเป็นสมุฏฐานนี้ไม่ใช่วิญญัติ แต่ว่า วิการแห่งอาการอย่างหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยแก่การกระทบอุปาทินนกกายของปฐวีธาตุที่มีจิตเป็นสมุฏฐานนั้น นี้ชื่อว่าวจีวิญญัติ นอกจากนี้ คำทั้งปวงมีอาทิว่า สา อฏฺฐ รูปานิ วิย น จิตฺตสมุฏฺฐานา วจีวิญญัตินั้น ไม่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เหมือนรูปทั้ง ๘ บัณฑิตพึงทราบโดยนัยกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               จริงอยู่ แม้ในที่นี้ บุคคลฟังเสียงของผู้เรียกว่า ติสสะ ทัตตะ มิตตะดังนี้ แล้วก็คิดถึงวิญญัติ ด้วยมโนทวารจิตแล้วย่อมรู้ว่า ผู้นี้เห็นจะให้กระทำสิ่งนี้และสิ่งนี้ ดังนี้ อนึ่ง แม้วาจานี้ ก็ย่อมปรากฏแก่สัตว์เดรัจฉาน ดุจกายวิญญัติ. จริงอยู่ แม้สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายฟังเสียงว่า เจ้าจงมา เจ้าจงไป ดังนี้ก็รู้ว่า บุคคลนี้เห็นจะให้ทำชื่อสิ่งนี้ จึงเดินมาและเดินไป.
               ก็วาระนี้ว่า เสียงย่อมยังกายอันมีสมุฏฐาน ๓ อย่าง ย่อมให้ไหวหรือไม่ให้ไหว ดังนี้ ไม่มีในวจีวิญญัตินี้ แม้กิจคือการอุปถัมภ์แห่งเสียง ที่มีจิตเป็นสมุฏฐานดวงก่อนก็ไม่มี แต่ว่า เจตนาใดที่ให้สำเร็จแม้ในวจีทวารนั้น และเจตนาที่เป็นเหตุพูดเท็จ กล่าวส่อเสียด กล่าวคำหยาบ กล่าวเพ้อเจ้อ เจตนางดเว้นจากมุสาวาทเป็นต้น นี้ชื่อว่าวจีกรรม. เบื้องหน้าแต่นี้ บัณฑิตพึงทราบการกำหนดกรรม การกำหนดทวาร โดยนัยที่กล่าวไว้ในหนหลังนั้นแล.
               จบกถาว่าด้วยทวารแห่งวจีกรรม.               

               กถาว่าด้วยทวารแห่งมโนกรรม               
               ก็บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยในกถาว่าด้วยทวารแห่งมโนกรรมต่อไป ใจ ๔ อย่าง ด้วยสามารถแห่งจิตที่เป็นกามาวจรจิตเป็นต้น ชื่อว่า มโน (ใจ) ในบรรดามโนที่เป็นกามาวจรเป็นต้นเหล่านั้น มโนแม้ทั้งหมดมี ๘๙ อย่าง คือมโนที่เป็นกามาวจร ๕๔ อย่าง มโนที่เป็นรูปาวจรมี ๑๕ อย่าง มโนที่เป็นอรูปาวจรมี ๑๒ อย่าง มโนที่เป็นโลกุตรมี ๘ อย่าง ในบรรดามโนเหล่านั้น ธรรมดามโนนี้ไม่ควรกล่าวว่า ไม่เป็นมโนทวาร เหมือนอย่างว่า ธรรมดาว่า เจตนานี้ ไม่ควรกล่าวว่า ไม่เป็นกรรม เพราะโดยที่สุดแม้เจตนาที่สัมปยุตด้วยปัญจวิญญาณ (วิญญาณ ๕) ในมหาปกรณ์ก็ทรงแสดงไว้ว่า เป็นกรรมนั่นแหละ ฉันใด ธรรมดาว่า มโนนี้ก็ไม่ควรกล่าวว่า ไม่ใช่มโนทวาร ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ในอธิการว่าด้วยมโนทวารนี้ มีผู้ท้วงกล่าวว่า ธรรมดาว่า กรรมนี้ย่อมทำซึ่งอะไร. ตอบว่า ย่อมประมวลมา ย่อมปรุงแต่ง ย่อมรวบรวม ย่อมตั้งใจ ย่อมดำริ ย่อมให้สำเร็จ.
               ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เจตนาในปัญจวิญญาณ ย่อมประมวลมา ย่อมปรุงแต่ง ย่อมรวบรวมซึ่งอะไร. ตอบว่า ย่อมประมวลมา ย่อมปรุงแต่ง ย่อมรวบรวม ซึ่งสหชาตธรรมทั้งหลาย.
               จริงอยู่ เจตนาในปัญจวิญญาณแม้นั้น ย่อมประมวล ย่อมตกแต่ง ย่อมรวบรวม ย่อมตั้งใจ ย่อมดำริ ย่อมให้สำเร็จสัมปยุตขันธ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน. อีกอย่างหนึ่ง มีประโยชน์อะไร ด้วยการกล่าวถึงข้อนี้ เพราะท่านได้กล่าวคำนี้ไว้ด้วยสามารถแห่งการรวบรวมมโน (ใจ) ไว้ทั้งหมด ก็ในอธิการว่าด้วยมโนทวารนี้ มีคำสันนิษฐานดังนี้ มโน ๒๙ อย่าง ด้วยสามารถแห่งกุศลและอกุศลอันเป็นไปในภูมิ ๓ ชื่อว่า ทวารแห่งมโนกรรม แต่เจตนาใดที่ให้สำเร็จในมโนทวารนั้น ย่อมถือเอาซึ่งอภิชฌา พยาบาท มิจฉาทัสสนะและความไม่มีอภิชฌา ไม่พยาบาท และสัมมาทัสสนะด้วยเจตนาใด นี้ชื่อว่ามโนกรรม. เบื้องหน้าแต่นี้ บัณฑิตพึงทราบการกำหนดกรรมและการกำหนดทวารทั้งหมด โดยนัยที่กล่าวไว้ในหนหลังนั่นแหละ ดังนี้แล.

               จบกถาว่าด้วยทวารแห่งมโนกรรม.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม กามาวจรมหากุศลจิต ๘ จิตดวงที่ ๑
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 15อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 16อ่านอรรถกถา 34 / 73อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=598&Z=847
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=2490
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=2490
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๗  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :