ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 99อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 125อ่านอรรถกถา 34 / 139อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม กามาวจรมหากุศลจิต ๘ จิตดวงที่ ๒ เป็นต้น

               อธิบายจิตดวงที่ ๒               
               บัดนี้ เพื่อแสดงมหากุศลจิตมีจิตดวงที่ ๒ เป็นต้น จึงเริ่มคำเป็นต้นว่า กตเม ธมฺมา ดังนี้อีก. แม้ในจิตเหล่านั้นทั้งหมด พึงทราบมหาวาระดวงละ ๓ วาระโดยนัยที่กล่าวแล้วในปฐมจิต และไม่ใช่มหาวาระอย่างเดียวเท่านั้น แม้อรรถแห่งบททั้งปวงเช่นกับคำที่กล่าวในปฐมจิต ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วเหมือนกัน. เพราะว่า เบื้องหน้านี้ไปข้าพเจ้าจักกระทำการพรรณนาตามลำดับบท เบื้องต้นพึงทราบวินิจฉัยในนิทเทสแห่งจิตดวงที่ ๒ ก่อน.
               คำว่า สสงฺขาเรน นี้เท่านั้นเป็นคำยังไม่เคยพรรณนา พึงทราบเนื้อความแห่งคำว่า สสงฺขาเรน นั้น. ธรรมที่ชื่อว่า สสังขาร (การชักชวน) เพราะเป็นไปกับด้วยสังขาร.
               อธิบายว่า มีสังขารนั้น คือมีการประกอบ มีอุบาย มีปัจจัยเป็นหมู่.
               จริงอยู่ ปฐมจิต (มหากุศลจิตดวงที่ ๑) ย่อมเกิดขึ้นด้วยหมู่แห่งปัจจัยมีอารมณ์เป็นต้น อันใด จิตดวงที่ ๒ นี้ ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วยหมู่แห่งปัจจัยโดยมีปโยคะ มีอุบายนั้นเหมือนกัน.
               พึงทราบความเกิดขึ้นแห่งจิตดวงที่ ๒ นั้น อย่างนี้ว่า ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ อาศัยอยู่ในที่สุดแห่งวิหาร เมื่อถึงเวลากวาดลานพระเจดีย์ หรือถึงเวลาบำรุงพระเถระ หรือถึงวันฟังธรรม ก็คิดว่า เมื่อเราไปแล้วกลับมาจักไกลยิ่ง เราจักไม่ไป ดังนี้ แล้วคิดอีกว่า ชื่อว่าการปัดกวาดลานพระเจดีย์ หรือการบำรุงพระเถระ หรือการไม่ไปฟังธรรมไม่สมควรแก่ภิกษุ เราจักไป ดังนี้ จึงไป. กุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น ผู้กระทำปโยคะของตน หรือถูกผู้อื่นแสดงโทษในการไม่ทำวัตรเป็นต้น และอานิสงส์ในการกระทำแล้ว กล่าวสอนอยู่ หรือแก่ภิกษุที่ถูกสั่งให้กระทำว่า เจ้าจงมาจงกระทำสิ่งนี้ ดังนี้ ชื่อว่าย่อมเกิดขึ้นโดยมีสังขาร มีหมู่แห่งปัจจัย ดังนี้.
               จบจิตดวงที่ ๒.               

               อธิบายจิตดวงที่ ๓               
               ในจิตดวงที่ ๓ บทว่า ญาณวิปฺปยุตฺตํ ความว่า จิตไม่ประกอบด้วยญาณ ชื่อว่าญาณวิปปยุต ถึงจิตญาณวิปปยุตนี้จะร่าเริงยินดีแล้วในอารมณ์ แต่ว่าในจิตดวงที่ ๓ นี้ ไม่มีญาณเป็นเครื่องกำหนด เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นญาณวิปปยุตนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมเกิดขึ้นในกาลที่พวกเด็กเล็กๆ เห็นภิกษุแล้วไหว้ด้วยคิดว่า พระเถระนี้ของพวกเราดังนี้ และในกาลต่างๆ มีการไหว้พระเจดีย์และการฟังธรรมเป็นต้น โดยนัยนั้นนั่นแหละ ก็ในพระบาลี จิตดวงที่ ๓ นี้ไม่มีปัญญาในที่ ๗ แห่ง คำที่เหลือเป็นไปตามปกติ คือ เช่นกับที่กล่าวมาแล้วนั่นแล.
               จบจิตดวงที่ ๓.               

               อธิบายจิตดวงที่ ๔               
               แม้ในจิตดวงที่ ๔ ก็นัยนี้เหมือนกัน แต่จิตดวงที่ ๔ นี้ เพราะพระบาลีว่า สสงฺขาเรน (การชักชวน) พึงทราบว่า ย่อมมีในกาลที่มารดาบิดาจับศีรษะเด็กเล็กๆ ให้ก้มไหว้พระเจดีย์เป็นต้น ถึงแม้เด็กเหล่านั้นไม่ปรารถนาจะไหว้ก็ร่าเริงยินดี.
               จบจิตดวงที่ ๔.               

               อธิบายจิตดวงที่ ๕ เป็นต้น               
               ในจิตดวงที่ ๕ บทว่า อุเปกฺขาสหคตํ ได้แก่ สัมปยุตด้วยอุเบกขาเวทนา เพราะว่า อุเบกขาสหคตะนี้ ย่อมเป็นกลางในอารมณ์ ในจิตดวงที่ ๕ นี้ มีญาณเป็นเครื่องกำหนดโดยแท้. ก็ในจิตดวงที่ ๕ นี้ในบาลี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อุเบกขาย่อมมีในหมวด ๔ แห่งฌาน อุเบกขินทรีย์ย่อมมีในหมวด ๘ แห่งอินทรีย์ ดังนี้ แล้วทรงทำเทศนาโดยการปฏิเสธสิ่งที่น่ายินดี ไม่น่ายินดี สุข ทุกข์ในนิทเทสแห่งบทว่า เวทนา เป็นต้นแม้ทั้งปวง แล้วตรัสอทุกขมสุขเวทนา พึงทราบความที่อทุกขสุขเวทนานั้นเป็นอุเบกขินทรีย์ด้วยสามารถแห่งการครองความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งมัชฌัตตา. อนึ่ง เมื่อว่าโดยลำดับแห่งบทไม่มีปีติในฐานะหนึ่งเลย เพราะฉะนั้น ธรรม ๕๕ ท่านจึงยกขึ้นสู่พระบาลีด้วยสามารถแห่งองค์ประกอบของจิต พึงทราบวินิจฉัยในโกฏฐาสทั้งปวง และในวาระทั้งปวงด้วยสามารถแห่งธรรมเหล่านั้น.
               พึงทราบจิตดวงที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ โดยนัยที่กล่าวแล้วในจิตดวงที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นั่นแหละ. ในจิตดวงที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ เหล่านี้ การเปลี่ยนไปแห่งเวทนาและการลดปีติอย่างเดียว. คำที่เหลือกับนัยแห่งการเกิดขึ้นเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน. แม้ในการบริกรรมของกรุณาและมุทิตา ความเกิดขึ้นแห่งจิตดวงที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ เหล่านี้ ได้รับรองแล้วในมหาอรรถกถาทีเดียว. จิตเหล่านี้ชื่อว่ากามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง.
               กามาวจรกุศลจิตเหล่านั้น แม้ทั้งหมดบัณฑิตพึงแสดงด้วยบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ.
               ถามว่า แสดงอย่างไร?
               ตอบว่า พึงแสดงชื่อบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เหล่านี้ คือ
                         ๑. ทานมัย บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน
                         ๒. สีลมัย บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล
                         ๓. ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา
                         ๔. อปจิติสหคตะ บุญที่สหรคตด้วยนอบน้อม
                         ๕. เวยยาวัจจสหคตะ บุญที่สหรคตด้วยการขวนขวาย
                         ๖. ปัตตานุปทานมัย บุญสำเร็จด้วยการแผ่ส่วนบุญ
                         ๗. อัพภานุโมทนมัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา
                         ๘. เทศนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
                         ๙. สวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
                         ๑๐. ทิฏฐุชุกรรม.
               บรรดาบุญกิริยาวัตถุเหล่านั้น ทานนั่นแหละชื่อว่าทานมัย เป็นการทำบุญ (ปุญฺญกิริยา) การทำบุญนั้นด้วย เป็นวัตถุ (คือที่ตั้ง) แห่งอานิสงส์ทั้งหลายนั้นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุ. ในบุญกิริยาวัตถุแม้ที่เหลือก็นัยนี้แหละ.
               บรรดาบุญกิริยาวัตถุเหล่านั้น เมื่อบุคคลให้ปัจจัยเป็นต้น ในบรรดาปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น หรือในบรรดาอารมณ์ ๖ มีรูปเป็นต้น หรือทานวัตถุ ๑๐ มีการให้ข้าวเป็นต้นนั้น เจตนาที่เป็นไปในกาลทั้ง ๓ คือ ในกาลเบื้องต้น ๑ ในกาลบริจาค ๑ ในการตามระลึกถึงด้วยจิตโสมนัสในกาลภายหลัง ๑ จำเดิมแต่การเกิดขึ้นแห่งปัจจัยเป็นต้นนั้นๆ ชื่อว่าเป็นบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยการให้ (ทานมยํ).
               เจตนาที่เป็นไปของบุคคลผู้สมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือศีล ๑๐ หรือของผู้ไปสู่วิหารด้วยคิดว่า เราจักบวชก็ดี ผู้บวชอยู่ก็ดี ผู้ยังมโนรถให้ถึงที่สุดแล้วรำพึงว่า เราบวชแล้วเป็นการดียิ่งหนอดังนี้ก็ดี ผู้สำรวมพระปาฏิโมกข์ก็ดี ผู้พิจารณาปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้นก็ดี ผู้สำรวมทวารมีจักขุทวารเป็นต้น ในรูปเป็นต้นที่มาสู่คลองก็ดี ผู้ชำระอาชีวะให้บริสุทธิ์ก็ดี ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล (สีลมยํ).
               เจตนาที่เป็นไปของบุคคลผู้พิจารณา จักษุโดยความเป็น ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ผู้พิจารณาโสต ฯลฯ ผู้พิจารณามนะ ฯลฯ ผู้พิจารณารูปทั้งหลาย ฯลฯ ผู้พิจารณาธรรมทั้งหลาย ผู้พิจารณาจักขุวิญญาณ ฯลฯ ผู้พิจารณามโนวิญญาณ ผู้พิจารณาจักขุสัมผัส ฯลฯ ผู้พิจารณามโนสัมผัส ผู้พิจารณาเวทนาอันเกิดแต่จักขุสัมผัส ฯลฯ ผู้พิจารณาเวทนาอันเกิดแต่มโนสัมผัส ผู้พิจารณารูปสัญญา ฯลฯ ผู้พิจารณาชรามรณะโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยอุบายแห่งวิปัสสนา (วิปสฺสนามคฺเคน) ที่พระสารีบุตรเถระกล่าวไว้ในปฏิสัมภิทามรรค หรือว่าเจตนาแม้ทั้งหมดที่ไม่ถึงอัปปนาในอารมณ์ ๓๘ อย่าง ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา (ภาวนามยํ).
               พึงทราบบุญกิริยาวัตถุที่สหรคต โดยเห็นผู้ใหญ่แล้วทำการต้อนรับ การรับบาตรจีวร การอภิวาทและการหลีกทางให้เป็นต้น.
               พึงทราบบุญกิริยาวัตถุที่สหรคตด้วยการขวนขวายในกาลขวนขวายทางกาย ด้วยสามารถทำวัตรและทำวัตรปฏิบัติแก่ภิกษุผู้เจริญกว่าก็ดี โดยเห็นภิกษุผู้เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต แล้วรับบาตรชักชวนให้เข้าไปรับภิกษาในบ้านก็ดี โดยได้ยินคำว่า ท่านจงไป จงนำบาตรมาให้ภิกษุทั้งหลาย แล้วรีบไปนำบาตรมาให้เป็นต้นก็ดี.
               เมื่อบุคคลให้ทาน กระทำการบูชาด้วยของหอมเป็นต้น แล้วให้ส่วนบุญว่า ขอส่วนบุญจงมีแก่บุคคลชื่อโน้น หรือว่า ขอส่วนบุญจงมีแก่สรรสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นบุญกิริยาวัตถุอันเกิดแต่การให้ส่วนบุญ.
               ถามว่า ก็เมื่อบุคคลให้อยู่ซึ่งส่วนบุญนี้ บุญย่อมไม่หมดไปหรือ.
               ตอบว่า ย่อมไม่หมดไป เหมือนอย่างว่า บุคคลตามประทีปให้โพลงอยู่หนึ่งดวง แล้วก็ยังประทีปหนึ่งพันดวงให้สว่างโพลงได้เพราะประทีปหนึ่งดวงนั้น ใครๆ ไม่พึงพูดได้ว่า ประทีปดวงแรกสิ้นไปแล้ว แต่ว่า แสงสว่างแห่งประทีปดวงหลังๆ กับประทีปดวงแรกรวมกันแล้วก็เป็นแสงสว่างมากยิ่ง ฉันใด เมื่อบุคคลให้อยู่ซึ่งส่วนบุญก็ฉันนั้นเหมือนกัน ชื่อว่าบุญทั้งหลายที่จะลดลงไปย่อมไม่มี พึงทราบว่า ย่อมมีแต่เจริญขึ้นเท่านั้น.
               พึงทราบบุญกิริยาวัตถุที่เกิดจากการอนุโมทนา ด้วยสามารถแห่งการอนุโมทนาส่วนบุญที่บุคคลอื่นให้แล้ว หรือว่าด้วยบุญกิริยาอื่นๆ ด้วยการเปล่งว่า สาธุ (ดี) สุฏฺฐุ (ดี) ดังนี้.
               ภิกษุรูปหนึ่งตั้งอยู่ในความอยากโดยคิดว่า ชนทั้งหลายจักรู้จักเราว่า เป็นพระธรรมกถึก ดังนี้ แล้วเป็นผู้หนัก (มาก) ด้วยลาภแสดงธรรม การแสดงธรรมนั้นไม่มีผลมาก. ส่วนภิกษุรูปหนึ่ง ไม่หวังผลตอบแทนแสดงธรรมที่ตนชำนาญแก่ชนเหล่าอื่น โดยอุบายที่จะให้บรรลุวิมุตติ การแสดงนี้ ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยการแสดง (เทสนามยํ).
               ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อฟังธรรม ย่อมฟังด้วยคิดว่า ชนทั้งหลายจักรู้เราว่าเป็นผู้มีศรัทธา การฟังนั้นไม่มีผลมาก. ส่วนภิกษุรูปหนึ่ง ย่อมฟังธรรมด้วยจิตอ่อนโยน ด้วยการแผ่ไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูลว่า ผลมากจักมีแก่เราด้วยอาการอย่างนี้ การฟังธรรมนั้น ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยการฟัง (สวนมยํ).
               เมื่อบุคคลทำความเห็นให้ตรง ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุที่เกิดจากการทำความเห็นให้ตรง. แต่ท่านทีฆภาณกาจารย์กล่าวว่า ทิฏฐุชุกรรมเป็นลักษณะนิยม (คือเครื่องหมายแห่งความสมบูรณ์) ของบุญกิริยาทั้งหมด เพราะว่า เมื่อบุคคลจะทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นบุญมีผลมาก เพราะความเห็นอันตรงนั่นเอง ดังนี้.
               ก็บรรดาบุญกิริยาวัตถุเหล่านั้น บุญกิริยาวัตถุที่เป็นทานมัยย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้คิดอยู่ว่า เราจักให้ทานก่อน เมื่อบุคคลกำลังให้ทาน บุญกิริยาวัตถุที่เป็นทานมัยก็เกิดขึ้น เมื่อบุคคลพิจารณาอยู่ว่า ทานอันเราให้แล้วดังนี้ บุญกิริยาวัตถุที่เป็นทานมัยก็เกิดขึ้น ธรรมดาว่า บุญกิริยาวัตถุที่เป็นทานมัยจะมีได้ก็เพราะทำเจตนาทั้ง ๓ คือ บุพเจตนา มุญจนเจตนา อปรเจตนา ให้เป็นอันเดียวกัน. แม้ศีลมัย ก็ย่อมเกิดแก่บุคคลผู้คิดอยู่ว่า เราจักบำเพ็ญศีลมัยก็ย่อมเกิดขึ้น ในเวลาที่กำลังบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ศีลมัยก็เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาว่า เราได้บำเพ็ญศีลแล้ว ศีลมัยก็ย่อมเกิดขึ้น. ธรรมดาว่า บุญกิริยาวัตถุที่เป็นศีลมัยจะมีได้ก็เพราะเจตนาแม้ทั้งปวงนั้นเป็นอันเดียวกัน ฯลฯ แม้บุญกิริยาวัตถุที่เป็นทิฏฐุชุกรรม เมื่อเกิดก็ย่อมเกิดแก่บุคคลผู้คิดว่า เราจักทำความเห็นให้ตรง ดังนี้ เมื่อบุคคลกำลังทำความเห็นให้ตรง ทิฏฐุชุกรรมก็ย่อมเกิดขึ้น เมื่อบุคคลพิจารณาอยู่ว่า ความเห็นอันเราทำให้ตรงแล้ว ดังนี้ ทิฏฐุชุกรรมก็ย่อมเกิดขึ้น. ธรรมดาบุญกิริยาวัตถุที่เป็นทิฏฐุชุกรรม จะมีได้ก็เพราะทำเจตนาแม้ทั้งหมดเหล่านั้นให้เป็นอันเดียวกัน ก็บุญกิริยาวัตถุในพระสูตรมีมาเพียง ๓ เท่านั้น.
               พึงทราบการสงเคราะห์บุญกิริยาวัตถุแม้นอกนี้ ลงในบุญกิริยาวัตถุ ๓ เหล่านั้น.
               จริงอยู่ ความประพฤติอ่อนน้อมและการขวนขวาย ย่อมสงเคราะห์เป็นศีลมัยเท่านั้น. การให้ส่วนบุญและการอนุโมทนาส่วนบุญสงเคราะห์เข้าในทานมัย. การแสดงธรรม การฟังและทิฏฐุชุกรรมสงเคราะห์เข้าในภาวนามัย. ส่วนชนเหล่าใดกล่าวว่า ทิฏฐุชุกรรมเป็นลักษณะแห่งความสมบูรณ์กว่าบุญกิริยาทั้งปวง ทิฏฐุชุกรรมของชนเหล่านั้นย่อมถึงการสงเคราะห์ลงในบุญกิริยาวัตถุแม้ทั้ง ๓. บุญกิริยาวัตถุเหล่านี้โดยย่อมี ๓ โดยพิสดารมี ๑๐ ด้วยประการฉะนี้.
               บรรดาบุญกิริยาวัตถุเหล่านั้น เมื่อบุคคลคิดอยู่ว่า เราจักให้ทาน ดังนี้ ย่อมคิดด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งโดยแท้. แม้เมื่อให้ (ทาน) ก็ย่อมให้ด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงดวงใดดวงหนึ่งนั่นแหละ แม้เมื่อพิจารณาว่า ทานอันเราถวายแล้วดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงดวงใดดวงหนึ่งเหมือนกัน แม้เมื่อคิดว่า เราจักบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ ดังนี้ ก็ย่อมคิดด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงดวงใดดวงหนึ่งนั่นแหละ แม้กำลังบำเพ็ญศีลอยู่ ก็บำเพ็ญด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงดวงใดดวงหนึ่งนั่นแหละ แม้พิจารณาว่า ศีลเราบำเพ็ญแล้ว ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงดวงใดดวงหนึ่งเหมือนกัน แม้เมื่อคิดว่า เราจักเจริญภาวนา ดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงดวงใดดวงหนึ่งนั่นแหละ แม้เมื่อเจริญภาวนา ก็ย่อมเจริญด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงดวงใดดวงหนึ่งนั่นแหละ แม้เมื่อพิจารณาว่า ภาวนาเราเจริญแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศล ๘ ดวงดวงใดดวงหนึ่งเหมือนกัน.
               แม้เมื่อคิดว่า เราจักทำความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ก็ย่อมคิดด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งนั่นแหละ แม้เมื่อจะกระทำก็ย่อมกระทำด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวงเหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อพิจารณาว่า ความอ่อนน้อมเรากระทำแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อคิดว่า เราจักทำกรรมคือการขวนขวายทางกาย แม้เมื่อจะกระทำ แม้เมื่อพิจารณาว่า เราทำการขวนขวายแล้ว ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อคิดว่า เราจักให้ส่วนบุญ ดังนี้ แม้เมื่อกำลังให้ แม้เมื่อพิจารณาว่า ส่วนบุญอันเราให้แล้ว แม้คิดว่าเราจักอนุโมทนาส่วนบุญ หรือกุศลที่เหลือ ดังนี้ ก็คิดด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อจะอนุโมทนา ก็ย่อมอนุโมทนาด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อจะพิจารณาว่า คำอนุโมทนาเราอนุโมทนาแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง
               แม้เมื่อคิดว่า เราจักแสดงธรรม ก็คิดด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อแสดง ก็ย่อมแสดงด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อพิจารณาว่า เราแสดงเทศนาแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อคิดว่า เราจักฟังธรรม ดังนี้ ก็ย่อมคิดด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อฟังก็ย่อมฟังด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อพิจารณาว่า เราฟังธรรมแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศล ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง แม้เมื่อคิดว่า เราจักกระทำทิฏฐิให้ตรง ดังนี้ ก็ย่อมคิดด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง ก็เมื่อจะกระทำความเห็นให้ตรง ก็ย่อมกระทำโดยญาณสัมปยุต ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง เมื่อพิจารณาว่า ทิฏฐิอันตรงเรากระทำแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมพิจารณาด้วยกามาวจรกุศลจิต ๘ เหล่านั้นดวงใดดวงหนึ่ง.

               ว่าด้วยอนันตะ (สิ่งไม่มีที่สุด) ๔ อย่าง               
               ในฐานะ (แห่งกามาวจรกุศลจิต ๘) นี้ ท่านถือเอาอนันตะ ๔ อย่าง.
               จริงอยู่ อนันตะ มี ๔ อย่าง คือ
                         อากาโส อนนฺโต (อากาศไม่มีที่สุด)
                         จกฺกวาฬานิ อนนฺตานิ (จักรวาลไม่มีที่สุด)
                         สตฺตนิกาโย อนนฺโต (หมู่สัตว์ไม่มีที่สุด)
                         พุทฺธญาณํ อนนฺตํ (พุทธญาณไม่มีที่สุด).
               จริงอยู่ การกำหนดอากาศว่า ในทิศบูรพา หรือในทิศปัจฉิม ในทิศอุดร ในทิศทักษิณว่ามีเท่านี้ร้อยโยชน์ หรือเท่านี้พันโยชน์ ย่อมไม่ได้ ถ้าว่าเอาค้อนเหล็กเท่าขุนเขาสิเนรุทำแผ่นดินให้แยกเป็นส่วนแล้วโยนไป ค้อนเหล็กก็พึงตกไปข้างล่างโดยแท้ หามีที่รองรับไว้ได้ไม่ ชื่อว่าอากาศ เป็นอนันตะ (คือไม่มีที่สุด) อย่างนี้.
               การกำหนดแม้จักรวาลทั้งหลายว่ามีหลายร้อย หรือว่าหลายพัน หรือว่าหลายแสนจักรวาล หาได้ไม่. จริงอยู่ แม้ถ้าว่า ท้าวมหาพรหมทั้ง ๔ ผู้เกิดในอกนิฏฐภพ ผู้ประกอบด้วยความเร็ว ผู้สามารถผ่านแสนจักรวาลไปด้วยเวลาเพียงเท่าที่ลูกศรที่เร็วมากของนายขมังธนูผู้มีกำลังแข็งแรงผ่านเงาต้นตาลด้านขวาง พึงวิ่งไปโดยเร็วนั้น ด้วยคิดว่า เราจักดูที่สุดจักรวาล ดังนี้ ท้าวมหาพรหมเหล่านั้นไม่ทันเห็นที่สุดแห่งจักรวาล ก็จะพึงปรินิพพานเสียโดยแท้ ชื่อว่าจักรวาลทั้งหลายเป็นอนันตะ (คือไม่มีที่สุด) อย่างนี้.
               ก็ประมาณแห่งสัตว์ที่อยู่ในน้ำ และที่อยู่บนบกทั้งหลายในจักรวาลทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ ย่อมไม่มี หมู่สัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นอนันตะ (คือไม่มีที่สุด) อย่างนี้.
               พุทธญาณ ชื่อว่าเป็นอนันตะ (คือไม่มีที่สุด) แม้กว่าอนันตะทั้ง ๓ นั้นโดยแท้. กุศลจิตที่เป็นกามาวจร สหรคตด้วยโสมนัสเป็นญาณสัมปยุต เป็นอสังขาริก ย่อมเกิดขึ้นมากมายแก่สัตว์หนึ่งของสัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีประมาณในจักรวาลที่หาประมาณมิได้ โดยประการฉะนี้ กุศลจิตมากดวงย่อมเกิดขึ้นแก่สัตว์แม้มาก. กุศลจิตเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ชื่อว่าย่อมถึงความเป็นอันเดียวกัน ด้วยอรรถว่าเป็นกามาวจร ด้วยอรรถว่าสหรคตด้วยโสมนัส ด้วยอรรถว่าเป็นญาณสัมปยุต ด้วยอรรถว่าเป็นอสังขาริก. มหาจิตที่สหรคตด้วยโสมนัส เป็นติกเหตุกะ เป็นอสังขาริก มีดวงเดียวเท่านั้น มหาจิตเป็นอสังขาริกก็เหมือนกัน ฯลฯ จิตที่สหรคตด้วยอุเบกขาญาณวิปยุตเป็นทุเหตุกะ เป็นสสังขาริก ก็เหมือนกันแล.
               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดกามาวจรกุศลจิตแม้ทั้งหมด ที่เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณในจักรวาลที่ไม่มีประมาณอย่างนี้ ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ เป็นดุจทรงชั่งอยู่ด้วยตราชั่งใหญ่ ดุจใส่ในทะนานนับอยู่ฉะนั้น ทรงกระทำให้เป็นส่วน ๘ ส่วนเท่านั้นแล้วทรงแสดงจิตเหล่านั้นว่ามี ๘ เท่านั้นโดยสภาวะเป็นเช่นเดียวกัน.
-----------------------------------------------------
               ปุน อิมสฺมึ ฐาเน ฉพฺพิเธน ปุญฺญายูหนํ นาม คหิตํ. ปุญฺญญฺหิ อตฺถิ
สยงฺการํ, อตฺถิ ปรงฺการํ, อตฺถิ สาหตฺถิกํ, อตฺถิ อาณตฺติกํ, อตฺถิ สมฺปชานกตํ,
อตฺถิ อสมฺปชานกตนฺติ.

               ในฐานะนี้ ชื่อว่าการประมวลมาซึ่งบุญ ๖ อย่าง ที่ทรงถือเอาอีก.
               จริงอยู่ บุญที่กระทำเอง (สยงฺการํ) ก็มี บุญที่ผู้อื่นกระทำ (ปรงฺการํ) ก็มี บุญที่ทำด้วยมือของตนก็มี บุญที่สั่งให้คนอื่นกระทำก็มี บุญที่เกิดด้วยความรู้ก็มี บุญที่เกิดด้วยความไม่รู้ก็มี.
-----------------------------------------------------
               บรรดาบุญทั้ง ๖ เหล่านั้น บุญที่ทำตามธรรมดาของตน ชื่อว่าสยังการ. บุญที่เห็นคนอื่นกระทำก็กระทำ ชื่อว่าปรังการ. บุญที่ทำด้วยมือของตนเอง ชื่อว่าสาหัตถิกะ. บุญที่ใช้ให้บุคคลกระทำ ชื่อว่าอาณัตติกะ. บุญที่เชื่อกรรมและผลแล้วกระทำ ชื่อว่าสัมปชานกตะ. บุญที่ไม่รู้กรรมก็ดี ผลก็ดีกระทำแล้ว ชื่อว่าอสัมปชานกตะ.
               บรรดาบุญทั้ง ๖ เหล่านั้น บุคคลแม้เมื่อกระทำเองก็ย่อมกระทำด้วยกุศลจิต ๘ ดวงเหล่านี้ดวงใดดวงหนึ่งนั่นแหละ เมื่อจะทำอาศัยผู้อื่นก็ดี เมื่อกระทำด้วยมือของตนก็ดี เมื่อใช้ให้ผู้อื่นกระทำก็ดี ก็ย่อมกระทำด้วยกุศลจิต ๘ ดวงเหล่านี้ดวงใดดวงหนึ่งเหมือนกัน. แต่การกระทำด้วยความรู้ ย่อมประกอบด้วยญาณ ๔ ดวง. การกระทำด้วยความไม่รู้ ย่อมไม่ประกอบด้วยญาณ ๔ ดวง.
               ในฐานะนี้แม้อื่นอีก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาทักขิณาวิสุทธิ ๔ อย่าง คือความที่ปัจจัยทั้งหลายเกิดขึ้นโดยธรรม (ธัมมิกะ) ๑ ความที่เจตนามีกำลังมาก (เจตนามหัตตะ) ๑ วัตถุสมบัติ ๑ ความเป็นผู้มากยิ่งด้วยคุณ (คุณาติเรกตา) ๑.
               บรรดาทักขิณาวิสุทธิ ๔ อย่างเหล่านั้น ปัจจัยทั้งหลายที่เกิดขึ้นโดยชอบธรรม ชื่อว่าธัมมิกะ. ก็เมื่อบุคคลเชื่อมั่นแน่วแน่แล้วให้อยู่ ชื่อว่าเจตนามหัตตะ. ความเป็นแห่งพระขีณาสพ ชื่อว่าวัตถุสมบัติ. ความที่พระขีณาสพนั่นแหละออกจากนิโรธสมาบัติ ชื่อว่าคุณาติเรกตา. เมื่อบุคคลสามารถประมวลทักขิณาวิสุทธิ ๔ เหล่านี้มาแล้วถวายอยู่ กามาวจรกุศลย่อมให้วิบากในอัตภาพนี้โดยแท้ ดุจกามาวจรกุศลที่ให้วิบากแก่ปุณณกเศรษฐี นายกาลวลิยะและนายสุมนมาลาการเป็นต้น.
               ก็เมื่อว่าโดยย่อ กามาวจรกุศลจิตนั้นแม้ทั้งหมด ชื่อว่าเป็นอย่างเดียวเท่านั้น ด้วยอรรถว่าจิตเป็นสภาพวิจิตร เพราะทำให้วิจิตร. ว่าด้วยอำนาจแห่งเวทนาเป็น ๒ อย่าง คือสหรคตด้วยโสมนัสและสหรคตด้วยอุเบกขา. อสังขาริกมหาจิตที่สหรคตด้วยโสมนัส เป็นญาณสัมปยุต และอสังขาริกมหาจิตที่สหรคตด้วยอุเบกขา เป็นญาณสัมปยุต เป็น ๔ อย่างด้วยสามารถแห่งการแสดงจำแนกญาณ ชื่อว่าเป็นอย่างเดียวเท่านั้น เพราะอรรถว่าเป็นญาณสัมปยุต และเพราะอรรถว่าเป็นอสังขาริก. สสังขาริกที่เป็นญาณสัมปยุต อสังขาริกที่เป็นญาณวิปปยุต และสสังขาริกที่เป็นญาณวิปปยุตก็เหมือนกันอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้ ในกามาวจรกุศลจิตนี้จึงมี ๔ อย่างด้วยสามารถแห่งการแสดงการจำแนกญาณ ว่าโดยการจำแนกอสังขารและสสังขารแล้วก็ได้กุศลจิต ๘ ดวงเท่านั้น คืออสังขาริก ๔ ดวง สสังขาริก ๔ ดวง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเป็นพระสัพพัญญู ทรงเป็นผู้ประเสริฐกว่าเจ้าคณะทั้งหลาย ทรงเป็นมุนีผู้ประเสริฐสุด ทรงทราบกามาวจรกุศลจิตเหล่านั้นตามความเป็นจริงแล้วจึงทรงบอก ทรงแสดง ทรงบัญญัติ ทรงแต่งตั้ง ทรงเปิดเผย ทรงจำแนก ทรงทำให้ง่าย ดังนี้แล.

               นิทเทสว่าด้วยกามาวจรกุศลจิต               
               ในอรรถกถาธรรมสังคหะชื่ออัฏฐสาลินีจบบริบูรณ์.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กุศลธรรม กามาวจรมหากุศลจิต ๘ จิตดวงที่ ๒ เป็นต้น จบ.
อ่านอรรถกถา 34 / 1อ่านอรรถกถา 34 / 99อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 125อ่านอรรถกถา 34 / 139อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=1144&Z=1278
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=5171
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=5171
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๓  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๗
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :