ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 34 / 2อ่านอรรถกถา 34 / 970
อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์
มาติกา ติกมาติกา ๒๒ ติกะ

หน้าต่างที่ ๓ / ๓.

               อรรถกถามาติกานุบุพบท๑-               
____________________________
๑- (เริ่มอธิบายมาติกา ๒๒ ติกะ)

               บัดนี้ ถึงโอกาสการกล่าวอภิธรรมกถาตามที่ข้าพเจ้าให้ปฏิญญาไว้อย่างนี้ว่า
                                   เมื่อข้าพเจ้ากล่าวอภิธรรมกถานี้อยู่
                         ด้วยอาการอย่างนี้ ขอสาธุชนทั้งหลายอย่า
                         ฟุ้งซ่าน จงตั้งใจสดับฟัง เพราะกถาเช่นนี้
                         หาฟังได้ยากนัก.
               ในอภิธรรมกถานั้น ปกรณ์ ๗ มีอภิธรรมสังคณีเป็นต้น ชื่อว่าอภิธรรม แม้ในธรรมสังคณีก็จำแนกเป็น ๔ กัณฑ์ มีจิตตุปปาทกัณฑ์เป็นต้น ถึงจิตตุปปาทกัณฑ์นั้นมีมาติกาเป็นเบื้องต้น ถึงมาติกานั้นก็ยังแบ่งเป็น ๒ คือติกมาติกาและทุกมาติกา. ในมาติกาทั้ง ๒ อย่างนั้น ติกมาติกาเป็นเบื้องต้น แม้ในติกมาติกาก็มีกุศลติกะเป็นเบื้องต้น ถึงในกุศลติกะก็มีบทนี้ว่า กุสลา ธมฺมา เป็นเบื้องต้น เพราะฉะนั้น
                                   ตั้งแต่นี้ไป ขอท่านสาธุชนทั้งหลาย
                         จงมีจิตสงบ ตั้งใจสดับฟังอภิธรรมกถาอัน
                         ลึกซึ้งนี้ ซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวอยู่ให้ดีเถิด.
               ติกะที่ได้ชื่อเพราะบทเบื้องต้นว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา นี้ชื่อว่ากุศลติกะก่อน ติกะที่ได้ชื่อเพราะบททั้งปวงว่า สุขาย เวทนา สมฺปยุตฺตา ธมฺมา ทุกฺขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา อทุกฺขมสุขาย เวทนาย สมฺปยุตฺตา ธมฺมา นี้ชื่อว่าเวทนาติกะ บัณฑิตพึงทราบชื่อติกะและทุกะ แม้มาติกาทั้งปวงด้วยสามารถแห่งบทเบื้องต้นหรือบททั้งหมด ด้วยประการฉะนี้.
               ติกะและทุกะเหล่านั้นแม้ทั้งหมดท่านแยกไว้ ๑๕ ปริจเฉท คือติกะมี ๑ ปริจเฉท ทุกะมี ๑๔ ปริจเฉท. ทุกะ ๖ มีคำว่า เหตู ธมฺมา น เหตู ธมฺมา เป็นต้น เรียกว่าเหตุโคจฉกะ เพราะท่านตั้งไว้เหมือนพวงดอกกรรณิการ์ โดยการเกี่ยวเนื่องกันและกันทั้งโดยคัมภีร์ และโดยอรรถกถา ต่อจากนั้นไป ทุกะ ๗ ทุกะมีคำอาทิว่า สปฺปจฺจยา ธมฺมา อปฺปจฺจยา ธมฺมา ดังนี้เป็นทุกะไม่เกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน พึงทราบว่า เป็นจูฬันตรทุกะ เพราะท่านเลือกทุกะที่เหมือนกันล้วนตั้งไว้ตามลำดับของโคจฉกะ และเพราะเป็นทุกะที่น้อยกว่าในระหว่างทุกะเหล่าอื่น. ต่อจากนั้น พึงทราบว่าเป็นอาสวโคจฉกะด้วยสามารถแห่งทุกะ ๖ มีอาสวทุกะเป็นต้น. พึงทราบสัญโญชนโคจฉกะด้วยสามารถแห่งทุกะ ๖ มีสัญโญชนทุกะเป็นต้น.
               อนึ่ง พึงทราบคัณฐโคจฉกะ โอฆโคจฉกะ โยคโคจฉกะและนีวรณโคจฉกะ ด้วยสามารถแห่งทุกะ ๖ มีคัณฐะ โอฆะ โยคะและนีวรณทุกะเป็นต้น. พึงทราบปรามาสโคจฉกะ ด้วยสามารถแห่งทุกะ ๕ มีปรามาสทุกะเป็นต้น. ต่อจากนั้น ทุกะ ๑๔ มีคำเป็นต้นว่า สารมฺมณา ธมฺมา ชื่อว่ามหันตรทุกะ จากนั้นทุกะ ๘ มีกิเลสทุกะเป็นต้น ชื่อว่ากิเลสทุกะ. ต่อจากนั้น ทุกะ ๑๘ มี ทสฺสเนน ปหาตพฺพเหตุกา เป็นต้น ชื่อว่าปิฏิฐทุกะ เพราะท่านตั้งไว้ในที่สุดแห่งอภิธรรมมาติกา.
               ส่วนทุกะ ๔๒ มีคำว่า วิชฺชาภาคิโน ธมฺมา อวิชฺชาภาคิโน ธมฺมา เป็นต้น ชื่อว่าสุตตันตทุกะ ติกะและทุกะเหล่านี้แม้ทั้งหมด พึงทราบว่าท่านกำหนดไว้ ๑๕ ปริจเฉท ดังพรรณนามาฉะนี้.

               ว่าด้วยสัปปเทสะและนิปปเทสะ               
               ก็ติกะและทุกะเหล่านี้ ท่านกำหนดไว้อย่างนี้แล้วยังแยกออกเป็น ๒ โกฏฐาส คือสัปปเทสะ (แสดงไว้ไม่หมด) และนิปปเทสะ (แสดงโดยสิ้นเชิง) เท่านั้น.
               จริงอยู่ บรรดาส่วนทั้ง ๒ นั้น ติกะ ๙ และทุกะ ๗๑ ชื่อว่าสัปปเทสะ เพราะท่านกำหนดรูปธรรมและอรูปธรรมไว้ยังไม่หมด. ติกะ ๑๓ ที่เหลือ และทุกะ ๗๑ ชื่อว่า นิปปเทสะ. บรรดาธรรมทั้ง ๒ นั้น ติกะ ๙ เหล่านี้ คือ เวทนาติกะ วิตักกติกะ ปีติติกะ อุปปันนติกะ อตีตติกะและอารัมมณติกะ ๔ ชื่อว่าสัปปเทสะ.
               ในทุกะทั้งหลาย ในที่สุดแห่งโคจฉกะ ๙ มีเหตุโคจฉกะเป็นต้น มีอุปาทานโคจฉกะเป็นที่สุด มีโคจฉกะละ ๓ ทุกะ ในที่สุดแห่งกิเลสทุกะ มีโคจฉกะละ ๔ ทุกะ มหันตรทุกะอย่างละ ๒ คือ จิตฺตสมฺปยุตฺตา ธมฺมา จิตฺตวิปฺปยุตฺตา ธมฺมา จิตฺตสํสฏฺฐา ธมฺมา จิตฺตวิสํสฏฺฐา ธมฺมา และในสุตตันตทุกะทั้งหลายเว้นทุกะ ๔ เหล่านี้ คือ อธิวจนทุกะ นิรุตติทุกะ ปัญญัตติทุกะ นามรูปทุกะ
               ก็ทุกะ ๓๘ ที่เหลือเหล่านี้ ชื่อว่าสัปปเทสะ บัณฑิตพึงทราบติกะและทุกะที่เหลือตามที่กล่าวแล้วแม้ทั้งหมดว่า เป็นนิปปเทสะ ดังนี้.

               อธิบายธรรมเป็นกุสลติกที่ ๑#-               
               บัดนี้ เป็นการพรรณนาบทตามบทมาติกา มีคำว่า กุสลา ธมฺมา เป็นต้นนี้. กุศลศัพท์ใช้ในอรรถว่า ความไม่มีโรค ความไม่มีโทษ ความฉลาด และมีสุขเป็นวิบาก.
               จริงอยู่ กุศลศัพท์นี้ใช้ในอรรถว่าความไม่มีโรค ดังในประโยคมีอาทิว่า กจฺจิ นุ โภโต กุสลํ กจฺจิ โภโต อนามยํ (ความไม่มีโรค มีแก่ท่านผู้เจริญบ้างหรือ ความไม่ป่วยไข้ มีแก่ท่านผู้เจริญบ้างหรือ).
               ใช้ในอรรถว่า ความไม่มีโทษ ดังในประโยคมีอาทิว่า กตโม ปน ภนฺเต กายสมาจาโร กุสโล โย โข มหาราช กายสมาจาโร อนวชฺโช ... (ข้าแต่ท่านพระอานนท์ กายสมาจารที่เป็นกุศลเป็นไฉน ดูก่อนมหาบพิตร กายสมาจารที่ไม่มีโทษแล ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมในธรรมทั้งหลายอันไม่มีโทษ).
               ใช้ในอรรถว่า ความฉลาด ในประโยคมีอาทิว่า กุสโล ตฺวํ รถสฺส องฺคปจฺจงฺคานํ กุสลา นจฺจคีตสฺส สุสิกฺขิตา จตุริตฺถิโย (ท่านเป็นผู้ฉลาดในเครื่องประกอบของรถ และคำว่า หญิง ๔ คนศึกษาดีแล้ว เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำขับร้อง).
               ใช้ในอรรถว่า สุขวิบาก ดังในประโยคมีอาทิว่า กุสลานํ ภิกฺขเว ธมฺมานํ สมาทานเหตุ กุสลสฺส กมฺมสฺส กตตฺตา (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะสมาทานธรรมทั้งหลายที่เป็นสุขวิบาก และคำว่า เพราะทำกรรมที่เป็นสุขวิบาก) ในที่นี้กุศลศัพท์ควรใช้ในอรรถว่า ไม่มีโรคบ้าง ไม่มีโทษบ้าง ในสุขวิบากบ้าง.
               ธัมมศัพท์แม้นี้ ใช้ในอรรถว่า ปริยัติ เหตุ คุณและนิสสัตตนิชชีวะเป็นต้น.
               จริงอยู่ ธัมมศัพท์นี้ใช้ในอรรถว่า ปริยัติ เช่นในประโยคมีอาทิว่า ธมฺมํ ปริยาปุณาติ สุตฺตํ เคยฺยํ (กุลบุตรย่อมเล่าเรียนปริยัติคือ สุตตะ เคยยะ).
               ใช้ในอรรถว่า เหตุ เช่นในประโยคมีอาทิว่า เหตุมฺหิ ญาณํ ธมฺมปฏิสมฺภิทา (ญาณในเหตุ ชื่อว่า ธรรมปฏิสัมภิทา).
               ใช้ในอรรถว่า คุณ เช่นในคาถามีอาทิว่า
                         น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ    อุโภ สมวิปากิโน
                         อธมฺโม นิรยํ เนติ       ธมฺโม ปาเปติ สุคตึ.
                                        ธรรมและอธรรม ทั้งสองมีวิบาก
                         เสมอกันหามิได้ อธรรมย่อมนำไปสู่นรก
                         ธรรมย่อมให้ถึงสุคติ.

               ใช้ในอรรถว่า นิสสัตตนิชชีวะ เช่นในประโยคมีอาทิว่า ตสฺมึ โข ปน สมเย ธมฺมา โหนฺติ ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ (ก็สมัยนั้นแล นิสสัตตนิชชีวธรรมทั้งหลายย่อมมี และคำว่า ภิกษุมีปกติพิจารณาเห็นนิสสัตตนิชชีวธรรมทั้งหลายอยู่). แม้ในที่นี้ ธัมมศัพท์ควรใช้ในอรรถว่านิสสัตตนิชชีวะเท่านั้น.
____________________________
#- (ได้แก่กุศลจิต ๒๑ เจตสิก ๓๘ แจกเป็นขันธ์ ๔ อายตนะ ๒ ธาตุ ๒ สัจจะ ๒ คือ เจตสิก ๓๘ นั้น เวทนาเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือ ๓๖ เป็นสังขารขันธ์ กุศลจิต ๒๑ เป็นวิญญาณขันธ์. ได้อายตนะ ๒ คือ กุศลจิต ๒๑ เป็นมนายตนะ เจตสิก ๓๘ เป็นธัมมายตนะ ได้ธาตุ ๒ คือ กุศลจิต ๒๑ เป็นมโนวิญญาณธาตุ เจตสิก ๓๘ เป็นธรรมธาตุได้สัจจะ ๒ คือ โลกิยกุศลจิต ๑๗ เจตสิก ๓๘ เป็นทุกขสัจจะ องค์มรรค ๘ ในปฐมฌานมรรคหรือองค์มรรค ๗ ในทุติยฌานมรรคขึ้นไป เป็นมัคคสัจจะ ส่วนธรรมที่เหลือในกุศลบทนี้ ๒๙ เป็นสัจจวิมุตติ (พ้นจากสัจจะ ๔) คือ โลกุตรจิต ๔ ตาม ลักษณะจิตนับเป็น ๑ เจตสิกที่เหลือจากองค์มรรค ๘ อีก ๒๔ รวมมัคคจิตตุปบาท ๒๙.)

               วิเคราะห์ศัพท์ว่า กุศลและธรรม               
               พึงทราบความหมายของคำว่า กุศล เป็นต้นในที่นี้.
               สภาวะที่ชื่อว่ากุศล เพราะอรรถว่า ยังปาปกธรรมอันบัณฑิตเกลียดให้ไหว ให้เคลื่อนไป ให้หวั่นไหว คือให้พินาศ. อีกอย่างหนึ่ง สภาวธรรมใด ย่อมผูกพันโดยอาการที่บัณฑิตเกลียด สภาวธรรมนั้น ชื่อว่ากุสะ ธรรมที่ชื่อว่ากุศล เพราะอรรถว่า ย่อมถอนขึ้น คือย่อมตัดกุสะ กล่าวคืออกุศลเหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง ญาณ ชื่อว่ากุสะ เพราะทำอกุศลอันบัณฑิตเกลียดให้สิ้นสุด หรือเบาบาง. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ากุศล เพราะอรรถว่า อันญาณชื่อกุสะนั้นพึงตัด คือ พึงถือเอา พึงให้เป็นไปทั่วด้วยกุสญาณนั้น. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ากุศล เพราะอรรถว่า ธรรมแม้เหล่านี้ ย่อมตัดส่วนสังกิเลสที่ถึงส่วนทั้งสอง คือที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิด เหมือนหญ้าคาย่อมบาดส่วนแห่งมือที่ลูบคมหญ้าทั้งสอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ากุศล เพราะอรรถว่า ย่อมตัดคือ ย่อมทำลายอกุศลเหมือนหญ้าคา ฉะนั้น.
               ส่วนภาวะที่ชื่อว่าธรรม เพราะอรรถว่า ย่อมทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าธรรม เพราะอรรถว่า อันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้หรือว่า ย่อมทรงไว้ตามสภาวะ. ธรรมที่ชื่อว่า อกุศล เพราะอรรถว่า ไม่ใช่กุศล.
               อธิบายว่า ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล เหมือนอมิตรเป็นปฏิปักษ์ต่อมิตร อโลภะเป็นต้นเป็นปฏิปักษ์ต่อโลภะเป็นต้น.
               ธรรมที่ชื่อว่าอัพยากตะ เพราะอรรถว่า ไม่กระทำให้แจ้ง.
               อธิบายว่า ท่านไม่กล่าวไว้โดยความเป็นกุศลและอกุศล. ในบรรดาธรรมทั้งสามนั้น กุศลมีความไม่มีโทษและมีวิบากเป็นสุขเป็นลักษณะ อกุศลมีโทษและมีทุกข์เป็นวิบากเป็นลักษณะ อัพยากตะมีอวิบากเป็นลักษณะ.
               ถามว่า บทเหล่านี้ คือ กุสลา หรือว่า ธมฺมา เป็นต้น มีอรรถอย่างเดียวกัน หรือมีอรรถต่างกัน.
               ตอบว่า ในข้อนี้เป็นอย่างไร ถ้าภาวะทั้งสองนี้มีอรรถเป็นอันเดียวกัน คำว่า กุสลา ธมฺมา นี้ก็จะเป็นเช่นกับกล่าวคำว่า กุศล กุศล ถ้าว่ามีอรรถต่างกันก็จะปรากฏว่าติกะและทุกะเป็นฉักกะและจตุกะ และบททั้งหลายก็ไม่เกี่ยวเนื่องกัน เหมือนเขากล่าวว่า กุศล รูป คนมีจักษุ เมื่อบททั้งหลายไม่ส่องความถึงกันและกันด้วยสามารถแห่งอรรถ ความเกี่ยวข้องกันอะไรๆ ก็ไม่มี แม้ในคำว่า กุสลา ธมฺมา เป็นต้นนี้ก็เหมือนกัน บททั้งหลายจะไม่สัมพันธ์กัน และบททั้งหลายเว้นจากการสัมพันธ์ในบทเบื้องต้นและเบื้องปลายแล้ว ชื่อว่าประโยชน์ย่อมไม่มี และต่อไปก็จะขัดแย้งกับคำถามที่ว่า กตเม ธมฺมา กุสลา เพราะว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่กุศล.
               ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสคำนี้ว่า กตเม ธมฺมา กุสลา.
               อีกนัยหนึ่ง ถ้าบททั้งหลายเหล่านี้มีอรรถอย่างเดียวกัน แม้ความที่ธรรมทั้ง ๓ มีกุศลเป็นต้น ก็จะปรากฏเป็นเช่นเดียวกัน.
               จริงอยู่ ธรรมทั้ง ๓ มีบทแห่งกุศลเป็นต้น ย่อมปรากฏเป็นอันเดียวกันโดยความเป็นธรรม เพราะฉะนั้น แม้กุศลเป็นต้นอันมีความหมายไม่ต่างกันโดยอรรถกับธรรม ๓ อย่าง ก็จะปรากฏเป็นอย่างเดียวกันไป คือคำใดเป็นกุศล คำนั้นเป็นอกุศล เป็นอัพยากตะ ถ้าหากไม่ยอมรับธรรม ๓ อย่าง เป็นอย่างเดียวกัน ก็จะต้องกล่าวว่า ธรรมที่มีศัพท์ว่า กุศลอยู่ข้างหน้าเป็นอย่างหนึ่ง ธรรมที่มีศัพท์ว่า อกุศลอยู่ข้างหน้าก็เป็นอย่างหนึ่ง ธรรมที่มีอัพยากตะอยู่ข้างหน้าก็เป็นอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาวะก็ดี อภาวะอื่นนอกจากภาวะก็ดี ก็ชื่อว่าธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมที่มีอกุศลศัพท์อยู่ข้างหน้า ก็นอกไปจากธรรมที่มีกุศลศัพท์อยู่ข้างหน้าซึ่งเป็นภาวะก็จะพึงเป็นอภาวะไป แม้ธรรมที่มีอัพยากตะอยู่ข้างหน้า แม้ธรรมมีกุศลศัพท์อยู่ข้างหน้าอื่น ก็เป็นอภาวะเหมือนกัน แม้กุศลเป็นต้นเหล่าอื่นนอกจากธรรมที่ถึงความเป็นอภาวะอย่างนี้ ก็พึงเป็นอภาวะนั่นแหละ คำนั้นทั้งหมดไม่ใช่เหตุสำคัญ.
               ถามว่า เพราะเหตุไร?
               ตอบว่า เพราะคำทั้งหมดนั้นสำเร็จโดยโวหารที่รู้กัน.
               จริงอยู่ โวหารที่เขารู้กัน รับรองกันในอรรถทั้งหลายโดยประการใดๆ ก็สำเร็จได้โดยประการนั้นๆ นั่นแหละ ก็การกล่าวถึงธรรมที่มีกุศลเป็นบทหน้าและการกล่าวถึงกุศลศัพท์ที่มีธรรมเป็นบทหลัง ในคำเป็นต้นว่า กุสลา ธมฺมา ดังนี้ บัณฑิตทั้งหลายไม่ยอมรับ เพราะไม่มีความหมายต่างกับของตน เหมือนอย่างที่ไม่รับรองคำอย่างนี้ว่า กุสลา กุสลา และไม่รับรองว่ามีอรรถะที่ส่องถึงกันและกัน ดุจศัพท์ว่า กุสลา รูปํ จกฺขุมา (กุศล รูป คนมีจักษุ).
               ส่วนกุศลศัพท์ ในคำว่า กุสลา ธมฺมา นี้ บัณฑิตรับรองแล้วโดยส่องถึงอรรถ คือความไม่มีโทษ และมีสุขเป็นวิบาก. อกุศลศัพท์ บัณฑิตรับรองแล้วโดยความส่องถึงอรรถว่าเป็นโทษและมีทุกข์เป็นวิบาก. อัพยากตศัพท์ บัณฑิตรับรองโดยความส่องถึงอรรถว่า ไม่มีวิบาก.
               ธัมมศัพท์ บัณฑิตรับรองโดยความส่องถึงอรรถว่า มีการทรงไว้ซึ่งภาวะของตนเป็นต้น. ธัมมศัพท์นั้น เมื่อท่านกล่าวไว้ในระหว่างศัพท์เหล่านั้น ศัพท์ใดศัพท์หนึ่ง ก็ย่อมแสดงถึงความเสมอกันแห่งอรรถของตน.
               จริงอยู่ ศัพท์เหล่านี้ทั้งหมด ชื่อว่าธรรม เพราะมีการทรงไว้ซึ่งภาวะของตนเป็นต้นเป็นลักษณะ และแม้กุศลศัพท์เป็นต้น ที่ท่านกล่าวอยู่ข้างหน้าของธัมมศัพท์ ก็ย่อมส่องถึงความแปลกกันของอรรถของธัมมศัพท์นั้นของตน.
               จริงอยู่ ธรรมเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นอัพยากตะก็มี ศัพท์เหล่านี้ทั้งหมด เมื่อกล่าวแยกกัน บัณฑิตทั้งหลายในโลก ก็รับรองเพียง ส่องความหมายของตนๆ เมื่อกล่าวรวมกัน ก็ยอมรับเนื้อความที่เสมอกับของตนและความที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น คำใดที่ท่านกำหนดถึงเนื้อความที่เป็นอันเดียวกันและต่างกันในคำว่า กุสลา ธมฺมา นี้ และกระทำให้เป็นข้อที่ควรตำหนิ คำทั้งหมดนั้นจึงไม่ใช่เหตุสำคัญด้วยประการฉะนี้. การพรรณนาตามบทกุสลติกะเพียงเท่านี้ก่อน. แม้ติกะและทุกะที่เหลือ ก็พึงทราบโดยนัยนี้แล.

               ว่าด้วยสุขเวทนาติกะที่ ๒               
               ก็เบื้องหน้าแต่นี้ไป ข้าพเจ้าจักกล่าวถึงข้อที่แตกต่างกันเท่านั้น. เบื้องต้นนี้ สุขศัพท์ ในคำว่า สุขาย เวทนา เป็นต้น ท่านใช้ในความหมายหลายอย่างมีคำว่า สุขเวทนา สุขมูล สุขารมณ์ สุขเหตุ สุขปัจจยฐาน อัพยาปัชฌะ และนิพพานเป็นต้น.
               จริงอยู่ สุขศัพท์นี้ใช้ในอรรถว่า สุขเวทนา ดังในประโยคมีอาทิว่า สุขสฺส จ ปหานา (เพราะละสุขเวทนาได้)
               ใช้ในอรรถว่า สุขมูล ดังในประโยคมีอาทิว่า สุโข พุทฺธานํ อุปฺปาโท สุขา วิราคตา โลเก (ความบังเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นมูลแห่งความสุข การปราศจากความกำหนัดเป็นมูลแห่งความสุขในโลก)
               ใช้ในอรรถว่า สุขารมณ์ ดังในประโยคมีอาทิว่า ยสฺมา จ โข มหาลิ รูปํ สุขํ สุขานุปติตํ สุขาโวกฺกนฺตํ (ดูก่อนมหาลิ ก็เพราะเหตุที่รูปมีอารมณ์เป็นสุข มีสุขตามสนองหยั่งลงสู่ความสุข)
               ใช้ในอรรถว่า สุขเหตุ ดังในประโยคมีอาทิว่า สุขสฺเสตํ ภิกฺขเว อธิวจนํ ยทิทํ ปุญฺญานิ (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า บุญทั้งหลายนี้นั้น เป็นชื่อเหตุแห่งความสุข)
               ใช้ในอรรถว่า สุขปัจจยฐาน ดังในประโยคมีอาทิว่า ยาวญฺจิทํ ภิกฺขเว น สุกรํ อกฺขาเนน ปาปุณิตํ ยาว สุขา สคฺคา น เต สุขํ ปชานนฺติ เย น ปสฺสนฺติ นนฺทนํ (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การถึงฐานะอันเป็นปัจจัยของความสุข ด้วยการบอกเล่านี้ มิใช่ทำได้โดยง่าย และคำว่า เทวดาเหล่าใด ไม่เห็นนันทนวัน ... เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่รู้ฐานะอันเป็นปัจจัยของความสุข)
               ใช้ในอรรถว่า อัพยาปัชฌะ ดังประโยคมีอาทิว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหารา เอเต ธมฺมา (ธรรมเหล่านี้ เป็นเครื่องอยู่ ไม่เบียดเบียนในปัจจุบัน)
               ใช้ในอรรถว่า นิพพาน ดังในประโยคว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ (พระนิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง).
               แต่ในที่นี้ สุขศัพท์นี้ใช้ในสุขเวทนาเท่านั้น. เวทนาศัพท์ใช้ในอรรถว่า เสวยอารมณ์เท่านั้น ดังประโยคมีอาทิว่า วิทิตา เม เวทนา อุปฺปชฺชนฺติ (เวทนาของเราตถาคตกำลังปรากฏเกิดขึ้น) ย่อมสมควร.

               ว่าด้วยทุกขเวทนา               
               ทุกขศัพท์ ท่านใช้ในอรรถหลายอย่าง มีคำว่า ทุกขเวทนา ทุกขวัตถุ ทุกขารัมมณา ทุกขปัจจยฐานะ เป็นต้น.
               จริงอยู่ ทุกขศัพท์นี้ ใช้ในอรรถว่า ทุกขเวทนา ดังในประโยคมีอาทิว่า ทุกฺขสฺส จ ปหานา (เพราะละทุกขเวทนาได้)
               ใช้ในอรรถว่า ทุกขวัตถุ ดังในประโยคมีอาทิว่า ชาติปิ ทุกฺขา (แม้ความเกิดก็เป็นที่ตั้งของทุกข์)
               ใช้ในอรรถว่า ทุกขารมณ์ ดังในประโยคมีอาทิว่า ยสฺมา จ โข มหาลิ รูปํ ทุกฺขํ ทุกฺขานุปติตํ ทุกฺขาโวกฺกนฺตํ (ดูก่อนมหาลิ ก็เพราะเหตุรูปมีอารมณ์เป็นทุกข์ ถูกทุกข์ติดตาม หยั่งลงสู่ความทุกข์)
               ใช้ในอรรถว่า ทุกขปัจจัย ดังในประโยคมีอาทิว่า ทุกฺโข ปาปสฺส อุจฺจโย (การสั่งสมบาป เป็นปัจจัยแห่งทุกข์)
               ใช้ในอรรถว่า ทุกขปัจจยฐาน ดังในประโยคมีอาทิว่า ยาวญฺจิทํ ภิกฺขเว น สุกรํ อกฺขาเนน ปาปุณิตํ ยาว ทุกฺขา นิรยา (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การถึงฐานปัจจัยแห่งทุกข์จนกระทั่งถึงนรกด้วยการบอกเล่านี้ กระทำไม่ได้ง่าย).
               แต่ในที่นี้ ทุกขศัพท์นี้พึงทราบว่าเป็นทุกขเวทนาเท่านั้น.

               ว่าด้วยความหมายของศัพท์               
               ก็พึงทราบวจนัตถะ (ความหมายของคำ) ในที่นี้.
               ชื่อว่า สุข เพราะยังผู้เสวยให้สบาย.
               ชื่อว่า ทุกข์ เพราะทนได้ยาก.
               ชื่อว่า อทุกขมสุข เพราะอรรถว่า ไม่ใช่ทุกข์ และไม่ใช่สุข. อักษรท่านกล่าวไว้ด้วยอำนาจเชื่อมบท.
               ธรรมมีสุขเป็นต้นแม้ทั้งหมด ชื่อว่า เวทนา เพราะอรรถว่า ย่อมรู้ คือย่อมเสวยรสของอารมณ์. บรรดาเวทนาเหล่านั้น สุขเวทนามีความเสวยอารมณ์ที่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ ทุกขเวทนา มีการเสวยอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ อทุกขมสุขเวทนามีการเสวยอารมณ์ผิดแปลกจากเวทนาทั้งสอง.

               ว่าด้วยสัมปยุตตะ               
               ก็สัมปยุตตศัพท์ ในบทแห่งเวทนา ๓ นี้ พึงทราบดังนี้.
               ชื่อว่า สัมปยุตตะ เพราะอรรถว่า ประกอบด้วยการกระทำต่างๆ โดยชอบ.
               ถามว่า การกระทำต่างๆ อย่างไร?
               ตอบว่า ด้วยการทำทั้งหลายมีการเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นต้น.
               ถามว่า ธรรมบางเหล่า สัมปยุตด้วยธรรมบางเหล่าไม่มีหรือ.
               ตอบว่า ใช่ (ไม่มี) เพราะปฏิเสธปัญหานี้ ด้วยประการฉะนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวอรรถแห่งสัมปโยค ด้วยสามารถแห่งธรรมทั้งหลายมีการเกิดพร้อมกันเป็นต้น อย่างนี้ว่า ธรรมบางเหล่าสหรคต เกิดพร้อม ระคนกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีวัตถุเดียวกัน มีอารมณ์เดียวกัน มีอยู่มิใช่หรือ เพราะฉะนั้น ธรรมชื่อว่าสัมปยุตตะ เพราะอรรถว่า ประกอบแล้วด้วยการทำทั่ว โดยชอบ คือมีการเกิดพร้อมกันเป็นต้นเหล่านี้.

               ว่าด้วยวิปากติกะที่ ๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งวิบาก ต่อไป.
               ชื่อว่า วิบาก เพราะอรรถว่า เป็นผลของกุศลและอกุศลกรรมทั้งหลายซึ่งพิเศษกว่ากันและกัน. คำว่า วิบากนี้ เป็นชื่อของอรูปธรรมทั้งหลายที่ถึงความเป็นวิบาก. บทว่า วิปากธมฺมธมฺมา ได้แก่ ธรรมทั้งหลายของวิบากธรรมทั้งหลาย คือธรรมทั้งหลายอันยังวิบากให้เกิดขึ้น เหมือนสัตว์ทั้งหลายมีความเกิดและความแก่เป็นสภาวะ มีปกติตกไปสู่ความเกิดและความแก่ท่านเรียกว่า มีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา. อธิบายว่า ธรรมทั้งหลายมีวิบากเป็นสภาวะ มีปกติตกไปสู่วิบาก เพราะความที่ธรรมเหล่านี้ยังวิบากให้เกิดขึ้น ด้วยประการฉะนี้. บทที่ ๓ ท่านกล่าวไว้โดยการปฏิเสธสภาวะทั้งสอง.

               ว่าด้วยอุปาทินนติกะที่ ๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งอุปาทินนุปาทานิยธรรมต่อไป.
               ธรรมที่ชื่อว่า อุปาทินนะ เพราะกรรมประกอบด้วยตัณหาเป็นต้น ด้วยสามารถกระทำให้เป็นอารมณ์ ยึดถือเอาแล้ว คือ ถือเอาโดยความเป็นผล. ที่ชื่อว่า อุปาทานิยะ เพราะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่อุปาทานทั้งหลาย โดยเข้าถึงความเป็นอารมณ์แล้วสัมพันธ์กับอุปาทาน. คำว่า อุปาทานิยะ นี้เป็นชื่อของธรรมที่เป็นอารัมมณปัจจัยของอุปาทาน. ชื่อว่า อุปาทินนุปาทานิยะ เพราะอรรถว่า เป็นอุปาทินนะด้วย เป็นอุปาทานิยะด้วย. คำว่า อุปาทินนุปาทานิยะ นี้เป็นชื่อของรูปธรรมและอรูปธรรมทั้งหลายอันบังเกิดขึ้นด้วยกรรมที่มีอาสวะ. ใน ๒ บทที่เหลือ พึงทราบเนื้อความอันประโยชน์เกื้อกูลแก่การปฏิเสธโดยนัยนี้.

               ว่าด้วยสังกิลิฏฐติกะที่ ๕               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งสังกิลิฏฐสังกิเลสิกธรรม ต่อไป.
               ธรรมที่ชื่อว่าสังกิเลส เพราะอรรถว่า ยังสัตว์ให้เศร้าหมอง. อธิบายว่า ย่อมเบียดเบียน คือให้สัตว์เร่าร้อน. ที่ชื่อว่าสังกิลิฏฐะ เพราะประกอบพร้อมแล้วด้วยสังกิเลส. ชื่อว่าสังกิเลสิกะ เพราะอรรถว่า ย่อมควรแก่สังกิเลสโดยทำตนให้เป็นอารมณ์เป็นไป หรือว่าเข้าไปประกอบในสังกิเลส โดยความไม่ก้าวล่วงความเป็นอารมณ์ของสังกิเลสนั้น. คำว่าสังกิเลสิกะ นี้ เป็นชื่อของธรรมทั้งหลายที่เป็นอารัมปัจจัยของสังกิเลส. ชื่อว่าสังกิลิฏฐสังกิเลสิกะ เพราะอรรถว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นสังกิลิฏฐะด้วยเป็นสังกิเลสิกะด้วยสองบทที่เหลือ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในติกะต้นนั่นแหละ.

               ว่าด้วยวิตักกติกะที่ ๖               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งวิตักกะ ต่อไป.
               ธรรมที่ชื่อว่าสวิตักกะ เพราะเป็นไปกับด้วยวิตก คือเป็นไปอยู่ด้วยสามารถแห่งสัมปโยคะ. ธรรมที่ชื่อว่าสวิจาระ เพราะเป็นไปกับด้วยวิจาระ. ธรรมที่ชื่อว่าสวิตักกสวิจาระ เพราะธรรมเหล่านั้นมีวิตกและมีวิจาร. ธรรมที่เว้นจากวิตกและวิจารทั้งสอง ชื่อว่าอวิตักกอวิจาระ. ธรรมที่ชื่อว่าวิจารมัตตะ (สักว่าวิจาร) เพราะอรรถว่า บรรดาวิตกและวิจาร ธรรมมีเพียงวิจารเท่านั้นเป็นประมาณ. อธิบายว่า ธรรมนั้นนอกจากวิจารแล้ว ย่อมไม่สัมปโยคะกับวิตก. ธรรมเหล่านั้นไม่มีวิตกด้วย มีเพียงวิจารด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอวิตักกวิจารมัตตา.

               ว่าด้วยปีติติกะที่ ๗               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งปีติธรรม ต่อไป.
               ธรรมที่ชื่อว่า ปีติสหคตะ เพราะอรรถว่า ถึงภาวะแห่งสัมปโยคะ มีการเกิดพร้อมกันเป็นต้นร่วมกับปีติ. อธิบายว่า สัมปยุตด้วยปีติ.
               แม้ใน ๒ บทที่เหลือก็นัยนี้แหละ
               ก็อทุกขมสุขเวทนาท่านกล่าวไว้ในบทที่ ๓ นี้ว่า อุเบกขา เพราะว่า อุเบกขานั้นเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ ซึ่งความเป็นไปแห่งอาการของสุขและทุกข์ คือไม่ให้เป็นไปอยู่ตามอาการแห่งสุขและทุกข์นั้น จึงชื่อว่าอุเบกขา เพราะความดำรงอยู่โดยอาการแห่งความเป็นกลาง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวติกะนี้ โดยถือเอา ๒ หมวดจากเวทนาติกะนั่นแหละ แล้วแสดงสุขที่ไม่มีปีติให้แปลกจากสุขที่มีปีติ.

               ว่าด้วยทัสสนติกะที่ ๘               
               พึงทราบวินิจฉัย ในหมวด ๓ แห่งทัสสนธรรม ต่อไป.
               บทว่า ทสฺสเนน ได้แก่ โสดาปัตติมรรค.
               จริงอยู่ โสดาปัตติมรรคนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ทัสสนะ เพราะเห็นพระนิพพานครั้งแรก ส่วนโคตรภูญาณ ย่อมเห็นพระนิพพานก่อนกว่าแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น โคตรภูญาณนั้น ก็ตั้งอยู่ในฐานะแห่งอาวัชชนะของมรรค เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้มาสู่สำนักของพระราชาด้วยกรณียะอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้เห็นพระราชาผู้ประทับบนคอช้างกำลังเสด็จดำเนินไปตามถนนแต่ที่ไกลเทียว ถูกเขาถามว่า ท่านเฝ้าพระราชาแล้วหรือ แม้เห็นแล้วก็กล่าวว่า ข้าพเจ้ายังมิได้เฝ้า เพราะความที่กิจอันบุคคลพึงกระทำตนยังมิได้กระทำ ฉันใด โคตรภูญาณ แม้เห็นพระนิพพานแล้วก็ไม่เรียกว่า ทัสสนะ เพราะไม่มีการละกิเลสที่ควรกระทำฉันนั้นเหมือนกัน. ทุติยบทว่า ภาวนาย ได้แก่ มรรคทั้ง ๓ ที่เหลือ.
               จริงอยู่ มรรคทั้ง ๓ ที่เหลือย่อมเกิดขึ้นในธรรมอันปฐมมรรคเห็นแล้วนั่นแหละ ด้วยสามารถแห่งภาวนา ย่อมไม่เห็นอะไรๆ ที่ปฐมมรรคไม่เคยเห็น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกว่า ภาวนา. บทที่ ๓ กล่าวไว้ด้วยการปฏิเสธ บททั้ง ๒ ข้างต้น.

               ว่าด้วยทัสสนเหตุติกะที่ ๙               
               พึงทราบวินิจฉัยในติกะในลำดับต่อไป.
               เหตุที่พึงละด้วยโสดาปัตติมรรค มีอยู่แก่ธรรมเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่า ทสฺสเนนปหาตพฺเหตุกา. แม้ในทุติยบทก็นัยนี้เหมือนกัน. ในตติยบทไม่พึงถือเอาเนื้อความอย่างนี้ว่า เหตุที่พึงละด้วยโสดาปัตติมรรค และมรรคเบื้องบน ๓ ไม่มีแก่ธรรมเหล่านั้น พึงถือเอาเนื้อความอย่างนี้ว่า เหตุที่พึงละด้วยโสดาปัตติมรรคก็มิใช่ และด้วยมรรคเบื้องบน ๓ (ภาวนา) ก็ไม่ใช่ มีอยู่แก่ธรรมเหล่านั้น.
               จริงอยู่ เมื่อถือเอาความนอกจากนี้ ก็ไม่พึงถืออเหตุกธรรม เพราะว่า เหตุเท่านั้นไม่มีแก่ธรรมเหล่านั้น. แม้ในสเหตุกธรรมทั้งหลาย ธรรมใดที่ละด้วยโสดาปัตติมรรค และมรรค ๓ เบื้องบนพึงมีได้. การละธรรมที่ไม่มีเหตุ ย่อมถูกต้อง การละธรรมที่มีเหตุ ย่อมไม่ถูก. เพราะว่า เหตุของธรรมเหล่านั้นนั่นแหละ ท่านกล่าวว่าไม่พึงละด้วยโสดาปัตติมรรคและมรรค ๓ เบื้องบน ธรรมเหล่านั้น พระองค์มิได้ตรัสไว้ และแม้เหตุและธรรมทั้ง ๒ นี้ก็ไม่ประสงค์เอา เพราะฉะนั้น พึงถือเอาเนื้อความนี้ว่า เหตุ ธรรมทั้งหลายไม่พึงละด้วยโสดาปัตติมรรค ไม่พึงละด้วยมรรค ๓ เบื้องบน มีอยู่ เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่า มีเหตุที่พึงละด้วยโสดาปัตติมรรคก็มิใช่ ด้วยมรรค ๓ เบื้องบนก็มิใช่.

               ว่าด้วยอาจยคามิติกะที่ ๑๐               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งอาจยคามิธรรม ต่อไป.
               ธรรมใด อันกรรมและกิเลสย่อมก่อสร้างไว้ เพราะเหตุนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อว่า อาจยะ คำว่า อาจยะ นี้ เป็นชื่อของธรรมทั้งหลายที่เป็นไปของสัตว์ผู้ดำเนินไปสู่ปฏิสนธิและจุติ. อธิบายว่า กรรมและกิเลสทั้งหลายย่อมถึงปฏิสนธิและจุตินั้น หรือว่า ย่อมยังบุคคลนั้นให้เป็นไปโดยเป็นเหตุให้ปฏิสนธินั้นสำเร็จ ตามที่กล่าวแล้วนั่นแหละ. ธรรมทั้งหลายที่ชื่อว่า อาจยคามิโน เพราะอรรถว่า ย่อมยังสัตว์ให้ถึงปฏิสนธิและจุติ. คำว่า อาจยคามิ นี้เป็นชื่อของกุศลและอกุศลที่มีอาสวะ พระนิพพานปราศจากความก่อ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าอปัจจยะ เพราะปราศจากความก่อคือปฏิสนธิและจุตินั้นนั่นแหละ ธรรมเหล่าใดย่อมถึงพระนิพพานอันเป็นอปัจจัย ธรรมเหล่านั้นชื่อว่า อปัจจยคามิโน เพราะกระทำพระนิพพานนั้นให้เป็นอารมณ์เป็นไป. คำว่า อปัจจยคามี นี้เป็นชื่อของอริยมรรค. อีกอย่างหนึ่ง กรรมและกิเลสเหล่าใด ก่อสร้างยังปฏิสนธิและจุติให้เป็นไปอยู่ เหมือนช่างอิฐก่อกำแพง เพราะเหตุนั้น กรรมและกิเลสเหล่านั้น จึงชื่อว่าอาจยคามิโน. ธรรมเหล่าใดไม่ก่อสร้างปฏิสนธิและจุตินั้นให้เป็นไป เหมือนบุรุษทำลายอิฐที่ก่อสร้างแล้วๆ เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น จึงชื่อว่า อปัจจยคามิโน. บทที่ ๓ ท่านกล่าวปฏิเสธ ๒ บทต้น.

               ว่าด้วยเสกขติกะที่ ๑๑               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งเสกขธรรม ต่อไป.
               ชื่อว่า เสกขะ เพราะเกิดแล้วในสิกขา ๓ ดังนี้บ้าง ชื่อว่า เสกขะ เพราะเป็นธรรมของพระเสกขะ ๗ ดังนี้บ้าง. ชื่อว่า เสกขะ เพราะกำลังศึกษาอยู่โดยยังไม่สำเร็จการศึกษานั่นแหละ.
               ชื่อว่า อเสกขะ เพราะไม่ต้องศึกษา เพราะไม่มีสิ่งที่พึงศึกษาให้ยิ่งขึ้นไปอีก. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อเสกขะ เพราะพระอเสกขบุคคลถึงความเจริญที่สุดแล้ว. คำว่า อเสขะ นี้ เป็นชื่อของธรรมคืออรหัตผล. บทที่ ๓ ท่านกล่าวไว้โดยปฏิเสธ ๒ บทข้างต้น.

               ว่าด้วยปริตตติกะที่ ๑๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งปริตตธรรม ต่อไป.
               วัตถุมีประมาณน้อย เรียกว่า ปริตตะ เพราะเป็นของแตกหักไปรอบด้าน เหมือนในประโยคมีอาทิว่า ปริตฺตํ โคมยปิณฺฑํ (ก้อนขี้วัวเล็กน้อย) แม้ธรรมเหล่านี้ก็เปรียบเหมือนของเล็กน้อย เพราะฉะนั้น จึงชื่อ ปริตตะ เพราะมีอานุภาพน้อย. คำว่า ปริตตะ นี้ เป็นชื่อของกามาวจร. ธรรมที่ชื่อว่ามหัคคตะ เพราะอรรถว่า ถึงความเป็นใหญ่ เพราะสามารถข่มกิเลส เพราะมีผลไพบูลย์ และเพราะความสืบต่อยาวนาน หรือว่า บุคคลผู้ปฏิบัติแล้วถึงความเป็นผู้ประเสริฐ ด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ ปัญญา ดังนี้บ้าง. ธรรมทั้งหลายมีราคะเป็นต้นกระทำให้มีประมาณ ชื่อว่าประมาณธรรม. ธรรมทั้งหลายที่ชื่อไม่มีประมาณ เพราะอรรถว่า ประมาณธรรมไม่มีแก่ธรรมเหล่านี้โดยอารมณ์ หรือโดยสัมปโยคะ และเป็นธรรมปฏิเสธประมาณธรรม.

               ว่าด้วยปริตตารัมมณติกะที่ ๑๓               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งปริตตารัมมณธรรม ต่อไป.
               ธรรมที่ชื่อว่า ปริตตารัมมณะ เพราะอารมณ์ของธรรมเหล่านี้เล็กน้อยแม้ใน ๒ บทที่เหลือก็นัยนี้แหละ.

               ว่าด้วยหีนติกะที่ ๑๔               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งหีนธรรม ต่อไป.
               บทว่า หีนา ได้แก่ ลามก คืออกุศลธรรม. ธรรมทั้งหลายมีในท่ามกลางแห่งธรรมอันลามกและประณีต มีอยู่ เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่ามัชฌิมา คือ ธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ นอกจากหีนะและปณีตธรรม. โลกุตระ ชื่อว่าธรรมอันประณีต เพราะอรรถว่าสูงสุด และอรรถว่า ชุ่มชื่นยิ่ง ไม่เร่าร้อน.

               ว่าด้วยมิจฉัตตติกะที่ ๑๕               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งมิจฉัตตธรรม ต่อไป.
               ธรรมที่ชื่อว่า มิจฉัตตะ เพราะอรรถว่า ชนทั้งหลายแม้มีความหวังอย่างนี้ว่า ธรรมเหล่านี้จักนำประโยชน์และความสุขมาให้แก่เรา ดังนี้ ก็ไม่ได้เหมือนอย่างนั้นเลย เพราะภาวะของตนเป็นความเห็นผิดจากความเป็นไปอันวิปริต แม้ในอสุภะเป็นต้นว่าเป็นสุภะเป็นต้น. เมื่อการให้วิบากมีอยู่ ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่า นิยตะ เพราะการให้วิบากในระหว่างแห่งการทำลายขันธ์นั่นแหละ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เป็นมิจฉัตตะด้วยเป็นนิยตะด้วย เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า มิจฉัตตนิยตา. ธรรมที่ชื่อว่า สัมมัตตะ เพราะอรรถว่า เป็นสภาวะโดยชอบด้วยอรรถอันผิดจากมิจฉัตตะที่กล่าวแล้ว ธรรมเหล่านั้นเป็นสัมมัตตะด้วย เป็นนิยตะด้วยโดยให้ผลไม่มีระหว่างคั่นนั่นแหละ เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่า สัมมัตตนิยตา. ธรรมเหล่าใดให้ผลไม่แน่นอน แม้โดยประการแห่งบททั้งสองที่กล่าวแล้วมีอยู่ เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น จึงชื่อว่า อนิยตา.

               ว่าด้วยมัคคารัมมณติกะที่ ๑๖               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งมัคคารัมมณธรรม ต่อไป.
               ชื่อว่ามรรค เพราะอรรถว่า ย่อมแสวงหา ย่อมค้นหาพระนิพพาน. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามรรค เพราะอรรถว่า ย่อมฆ่ากิเลสทั้งหลายไป. มรรคเป็นอารมณ์ของธรรมเหล่านั้น ฉะนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่ามัคคารัมมณะ (มีมรรคเป็นอารมณ์). มรรคแม้ประกอบด้วยองค์ ๘ ก็เป็นเหตุของธรรมเหล่านั้น เพราะอรรถว่าเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่ามัคคเหตุกา (มีมรรคเป็นเหตุ). เหตุทั้งหลายสัมปยุตด้วยมรรค หรือว่า เหตุทั้งหลายในมรรค ชื่อว่า มัคคเหตุ. มัคคเหตุเหล่านั้นเป็นเหตุของธรรมเหล่านั้น ฉะนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่า มัคคเหตุกา (มีมรรคเป็นเหตุ). สัมมาทิฏฐิเองเป็นมรรคด้วย เป็นเหตุด้วย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า เป็นทั้งมรรคเป็นทั้งเหตุ. ธรรมที่เป็นทั้งมรรคเป็นทั้งเหตุเหล่านั้น มีอยู่แก่ธรรมเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่ามัคคเหตุกา. มรรคเป็นอธิบดีของธรรมเหล่านั้น ด้วยอรรถว่าครอบงำให้เป็นไป เพราะฉะนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่ามัคคาธิปติ.

               ว่าด้วยอุปปันนติกะที่ ๑๗               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งอุปปันนธรรม ต่อไป.
               ธรรมที่ชื่อว่า อุปปันนะ เพราะอรรถว่า เป็นไปทั่วจำเดิมแต่อุปปาทขณะจนถึงภังคขณะอันยังไม่เลยไป. ธรรมที่ไม่ใช่อุปปันนะ เรียกว่า อนุปปันนะ. ธรรมใดจักเกิดขึ้นแน่นอนเพราะเป็นส่วนหนึ่งแห่งเหตุที่สำเร็จแล้ว เพราะฉะนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อว่า อุปปาทิ.

               ว่าด้วยอตีตติกะที่ ๑๘               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งอตีตธรรม ต่อไป.
               ธรรมที่ชื่อว่า อตีตะ เพราะอรรถว่า ถึงสภาวะของตน หรือถึงอุปปาทขณะเป็นต้นแล้วก็ล่วงเลยไป. ธรรมที่ยังไม่ถึงสภาวะของตน หรืออุปปาทขณะเป็นต้นทั้งสองนั้น ชื่ออนาคตะ ธรรมที่อาศัยเหตุนั้นๆ เกิดขึ้น ชื่อว่า ปัจจุปปันนะ.

               ว่าด้วยอนันตรติกะที่ ๑๙               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งอนันตรธรรม เป็นต้น.
               อดีตธรรมที่เป็นอารมณ์ของธรรมเหล่านั้นมีอยู่ เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น จึงชื่อว่า อตีตารัมมณะ แม้สองบทที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.

               ว่าด้วยอัชฌัตตติกะที่ ๒๐               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งอัชฌัตตธรรม ต่อไป.
               ธรรมที่ชื่อว่า อัชฌัตตะ เพราะอรรถว่า กระทำตนให้เป็นใหญ่เหมือนประสงค์เอาอย่างนี้ว่า พวกเราเมื่อเป็นอยู่อย่างนี้ พวกเราก็จักยึดถือเป็นอัตตา ดังนี้. ส่วนอัชฌัตตศัพท์นี้ใช้ในความหมาย ๔ อย่างคือ
               โคจรัชฌัตตะ (อารมณ์ทั่วไป)
               นิยกัชฌัตตะ (ธรรมที่เกิดอยู่ในตน)
               อัชฌัตตัชฌัตตะ (อัชฌัตตายตนะ ๖)
               วิสยัชฌัตตะ (ผลสมาบัติ).
               จริงอยู่ อัชฌัตตศัพท์นี้ ใช้ในอรรถว่า โคจรัชฌัตตะ เหมือนในประโยคมีอาทิว่า เตนานนฺท ภิกฺขุนา ตสฺมึเยว ปุริมสฺมึ สมาธินิมิตฺเต อชฺฌตฺตเมว จิตฺตํ สณฺฐเปตพฺพํ, อชฺฌตฺตรโต สมาหิโต (ดูก่อนอานนท์ ภิกษุนั้นพึงตั้งจิตอันมีอารมณ์ในภายในนั่นแหละให้มั่นในสมาธินิมิตเดิมนั้นนั่นแหละ เธอมีความยินดีแล้วในภายใน มีจิตตั้งมั่นแล้ว).
               ใช้ในอรรถว่า นิยกัชฌัตตะ เหมือนในประโยคมีอาทิว่า อชฺฌตฺตํ สมฺปสาทนํ, อชฺฌตฺตํ วา ธมฺเมสุ ธมฺมานุปสฺสี วิหรติ (ความผ่องใสภายใน ภิกษุมีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายในภายในอยู่).
               ใช้ในอรรถว่า อัชฌัตตัชฌัตตะ เหมือนในประโยคมีอาทิว่า ฉ อชฺฌตฺติกา อายตนานิ (อายตนะ ๖ เป็นไปในภายใน).
               ใช้ในอรรถว่า วิสยัชฌัตตะ เหมือนในประโยคมีอาทิว่า อยํ โข ปนานนฺท วิหาโร ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺโธ ยทิทํ สพฺพนิมิตฺตานํ อมนสิการา อชฺฌตฺตํ สุญฺญตํ อุปสมฺปชฺช วิหรติ (ดูก่อนอานนท์ ก็ธรรมเป็นเครื่องอยู่นี้แล อันตถาคตตรัสรู้ชอบยิ่งแล้วซึ่งตถาคตเข้าถึงสุญญตะ อันเป็นภายในเพราะไม่ใส่ใจถึงนิมิตทั้งปวงอยู่). อธิบายว่า ใช้ในฐานะอันยิ่งใหญ่.
               จริงอยู่ ผลสมาบัติ ชื่อว่า ฐานะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ส่วนอัชฌัตตศัพท์ในที่นี้ ประสงค์เอานิยกัชฌัตตะ เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นไปในสันดานของตนเป็นเฉพาะแต่ละบุคคล พึงทราบว่า เป็นอัชฌัตตธรรม. ส่วนธรรมที่เป็นภายนอกจากอัชญัตตธรรมนั้น เนื่องด้วยอินทรีย์ก็ตาม ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ก็ตาม ชื่อว่าพหิทธธรรม.
               บทที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ด้วยสามารถแห่งบททั้ง ๒.
               ส่วนหมวด ๓ แห่งอนันตระ (อตีตารัมมณติกะ) ท่านกล่าวกระทำธรรมแม้ทั้ง ๓ ประการ (อัชฌัตตะเป็นต้น) เหล่านั้นนั่นแหละให้เป็นอารมณ์เป็นไป.

               ว่าด้วยสนิทัสสนติกะที่ ๒๒               
               พึงทราบวินิจฉัยในหมวด ๓ แห่งสนิทัสสนธรรม ต่อไป.
               ธรรมที่ชื่อว่า สนิทัสสนะ เพราะเป็นไปกับด้วยความเห็นกล่าวคือ ความที่รูปนั้นอันจักขุวิญญาณพึงเห็น. ธรรมที่ชื่อว่า สัปปฏิฆะ เพราะเป็นไปกับด้วยปฏิฆะ กล่าวคือความเป็นคือการกระทบ. ธรรมเหล่านั้นเป็นไปกับด้วยการเห็นและการกระทบ เพราะฉะนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่า สนิทัสสนะ สัปปฏิฆะ. นิทัสสนธรรม กล่าวคือความที่รูปอันจักขุวิญญาณพึงเห็นไม่มีแก่ธรรมเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้นจึงชื่อว่า อนิทัสสนะ. ธรรมเหล่านั้นเป็นอนิทัสสนะด้วย เป็นสัปปฏิฆะด้วยโดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ชื่อว่า อนิทัสสนสัปปฏิฆะ.
               บทที่ ๓ ท่านปฏิเสธทั้ง ๒ บท.

               นี้เป็นการพรรณนาตามบทติกมาติกาเพียงเท่านี้.               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ มาติกา ติกมาติกา ๒๒ ติกะ จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อรรถกถา เล่มที่ 34 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 34 / 2อ่านอรรถกถา 34 / 970
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=34&A=1&Z=103
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=53&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=53&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๒๙  พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๕๖
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :