ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 36
อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก
สโมธานกถา

หน้าต่างที่ ๖ / ๗.

               พึงทราบการจำแนกลักษณะของพาหุสัจจะดังต่อไปนี้ :-
               ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อริยสัจ ๔ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ สติปัฏฐาน ๔ และประเภทธรรมมีกุศลเป็นต้น. วิทยาการอันไม่โทษในโลก การพยากรณ์วิเศษอันประกอบด้วยวิธีนำประโยชน์สุขให้แก่สัตว์ทั้งหลาย.
               พึงให้เกิดสุตมยปัญญาด้วยการหยั่งลงสู่สุตวิสัยทุกอย่างทุกประการด้วยปัญญาอันเป็นความฉลาดในอุบายเป็นเบื้องต้น ด้วยสติ ด้วยวิริยะ ด้วยการเรียนการฟัง การทรงจำ การสะสม การสอบถามด้วยดี แล้วให้ผู้อื่นตั้งอยู่ในปัญญานั้นด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง ปัญญาอันเป็นปฏิภาณที่จะทำให้สัตว์ทั้งหลายบรรลุถึงจุดหมายในสิ่งที่ควรทำ และเป็นผู้ฉลาดในความเจริญ ความเสื่อมและอุบาย พึงให้เป็นไปตามสมควรในปัญญานั้นๆ อาศัยความเป็นผู้แสวงหาประโยชน์.
               อนึ่ง ผู้ที่ยังสัตว์ทั้งหลายให้ทนต่อความเพ่ง ด้วยการวิตกถึงอาการแห่งสภาวธรรมมีขันธ์เป็นต้น พึงให้เกิดจินตามยปัญญา.
               อนึ่ง อันผู้ที่ยังโลกิยปัญญาให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการกำหนดลักษณะของตนและสามัญญลักษณะของขันธ์เป็นต้น พึงให้สมบูรณ์ด้วยภาวนามยปัญญา อันเป็นส่วนเบื้องต้น.
               จริงอยู่ นี้เป็นเพียงนามรูปย่อมเกิดขึ้นและดับไปด้วยปัจจัยทั้งหลายตามสมควร.
               ในเรื่องนี้ไม่มีใครทำเองหรือให้ผู้อื่นทำ เป็นความไม่เที่ยงเพราะเป็นแล้วไม่เป็น เป็นทุกข์เพราะเกิดเสื่อมและบีบคั้น เป็นอนัตตาเพราะไม่อยู่ในอำนาจตน.
               ด้วยเหตุนั้น มหาบุรุษกำหนดรู้ธรรมภายในและธรรมภายนอกไม่ให้เหลือ ละความข้องในธรรมนั้น และให้ผู้อื่นละความข้องในธรรมนั้นด้วยอำนาจแห่งกรุณาอย่างเดียวเท่านั้น.
               พระพุทธคุณยังไม่มาถึงฝ่ามือเพียงใด ยังสัตว์ทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในญาณ ๓ ด้วยการหยั่งลงและการทำให้เจริญ ยังฌานวิโมกข์สมาธิและสมาบัติ อภิญญาอันเป็นโลกิยะให้ถึงความชำนาญ ย่อมบรรลุถึงที่สุดแห่งปัญญา.
               ในโลกิยอภิญญานั้น ภาวนาปัญญาคือโลกิยอภิญญา ๕ พร้อมด้วยบริภัณฑ์ของญาณ ได้แก่กลุ่มคืออิทธิวิธญาณ ทิพพโสตธาตุญาณ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพพจักขุญาณ ยถากัมมูปคญาณ อนาคตังสญาณ.
               อนึ่ง ภาวนาปัญญาอันเป็นโลกิยะและโลกุตระ อันผู้ทำการสะสมญาณด้วยการเรียนการสอบถามในธรรมอันเป็นพื้นฐานมีขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ อริยสัจและปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น แล้วตั้งอยู่ในวิสุทธิ ๒ อันเป็นรากฐานเหล่านี้ คือศีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ
               แล้วพึงเจริญให้วิสุทธิ ๕ เหล่านี้อันเป็นร่างให้สมบูรณ์ ได้แก่ ทิฏฐิวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งทิฏฐิ ๑ กังขาวิตรณวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องพ้นความสงสัย ๑ มัคคามัคญาณทัสสนวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง ๑ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นทางปฏิบัติ ๑ ญาณทัสสนวิสุทธิ คือความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ ๑.
               เพราะวิธีการให้สำเร็จ ภาวนาปัญญาเหล่านั้นท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วพร้อมกับจำแนกลักษณะในวิสุทธิมรรค โดยประการทั้งปวง โดยนัยมีอาทิว่า พระโยคีผู้เป็นอาทิกัมมิกะประสงค์จะทำการแสดงฤทธิ์ มีอาทิว่า แม้คนเดียวก็เป็นคนหลายคนได้ และโดยนัยมีอาทิ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือขันธ์. ฉะนั้นพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในวิสุทธิมรรคนั้นนั่นแล. ปัญญามาแล้วด้วยอำนาจแห่งสาวกโพธิสัตว์ ในภาวนาปัญญานั้นอย่างเดียว.
               ในที่นี้ด้วยอำนาจแห่งพระมหาโพธิสัตว์ พึงกล่าวถึงภาวนาปัญญา ทำความเป็นผู้ฉลาดในอุบายคือกรุณาเป็นเบื้องแรก.
               พึงตั้งวิปัสสนาไว้ในปฏิปทาญาณทัสนวิสุทธิเท่านั้น ยังไม่ถึงญาณทัสสนวิสุทธิ นี้เป็นความต่างกัน.
               พึงทราบลำดับแห่งการปฏิบัติปัญญาบารมีในที่นี้ด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง เพราะพระมหาสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณ พึงเป็นผู้ประกอบความขวนขวายตลอดกาล เพื่อให้บารมีบริบูรณ์ด้วยบำเพ็ญเกี่ยวเนื่องกันไป.
               ฉะนั้น ตลอดเวลาพระมหาสัตว์พิจารณาทุกๆ วันว่า วันนี้ เราจะสะสมบุญสมภารหรือญาณสมภารอะไรหนอ. หรือว่า เราจะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างไรดี พึงทำความอุตสาหะเพื่อประโยชน์แก่สัตว์.
               พระโยคาวจรมีจิตไม่คำนึงถึงกายและชีวิต พึงสละวัตถุอันเป็นที่หวงแหนของตน เพื่อช่วยสัตว์แม้ทั้งปวง. กระทำกรรมอย่างไรอย่างหนึ่งด้วยกายหรือวาจา. พึงทำกรรมนั้นทั้งหมดด้วยใจน้อมไปในสัมโพธิญาณเท่านั้น. พึงมีจิตพ้นจากกามทั้งหลายทั้งที่ยิ่งและยอด.
               พระโยคาวจรพึงเข้าไปตั้งความเป็นผู้ฉลาดในอุบายแล้วพึงปฏิบัติในบารมีทั้งปวงที่ควรกระทำ.
               พึงปรารภความเพียรในประโยชน์ของสัตว์นั้นๆ พึงอดกลั้นสิ่งทั้งปวงมีสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นต้น. พึงไม่พูดผิดความจริง. พึงแผ่เมตตาและกรุณาแก่สัตว์ทั้งปวงโดยไม่เจาะจง. การเกิดขึ้นแห่งทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งจะพึงมีแก่สัตว์ทั้งหลาย พึงหวังการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ทั้งปวงนั้นไว้ในตน.
               อนึ่ง พึงอนุโมทนาบุญของสัตว์ทั้งปวง. พึงพิจารณาเนืองๆ ถึงความที่พระพุทธเจ้าเป็นใหญ่มีอานุภาพมาก. กระทำกรรมใดๆ ด้วยกายหรือวาจา พึงทำกรรมนั้นทั้งหมดให้มีจิตน้อมไปเพื่อโพธิญาณเป็นเบื้องแรก.
               ก็ด้วยอุบายนี้ พระโพธิสัตว์ผู้เป็นมหาสัตว์ประกอบความขวนขวายในทานเป็นต้นมีเรี่ยวแรง มีความเพียรมั่น เข้าไปสะสมบุญสมภารและญาณสมภารหาประมาณมิได้ทุกๆ วัน.
               อีกอย่างหนึ่ง เพื่อให้สัตว์ได้บริโภคและเพื่อคุ้มครองสัตว์ จึงสละร่างกายและชีวิตของตน พึงแสวงหาและพึงนำสิ่งกำจัดทุกข์ มีความหิวกระหาย หนาวร้อน ลมและแดดเป็นต้น. ย่อมได้รับความสุขอันเกิดแต่การกำจัดทุกข์ตามที่กล่าวแล้วด้วยตน.
               อนึ่ง ย่อมได้รับความสุขด้วยตนเพราะไม่มีความร้อนทางกายและใจในสวน ในปราสาท ในสระเป็นต้นและในแนวไพรอันน่ารื่นรมย์.
               อนึ่ง ฟังมาว่า พระพุทธเจ้า พระอนุพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายและพระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลาย ตั้งอยู่ในเนกขัมมปฏิบัติย่อมเสวยสุขในฌานและสมาบัติเช่นนี้ อันเป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันดังนี้ ทำความสุขทั้งหมดนั้นไปในสัตว์ทั้งหลายโดยไม่เจาะจง. นี้เป็นนัยของผู้ตั้งอยู่ในพื้นฐานอันไม่มั่นคง.
               ส่วนผู้ตั้งอยู่ในพื้นฐานอันมั่นคงเมื่อน้อม ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ ยถาภูตญาณอันเกิดด้วยการบรรลุคุณวิเศษตามที่ตนเสวยแล้ว เข้าไปในสัตว์ทั้งหลายย่อมน้อมนำเข้าไป.
               อนึ่ง พระโยคาวจรเห็นหมู่สัตว์จมอยู่ในสังสารทุกข์ใหญ่แลในอภิสังขารทุกข์ คือกิเลสอันเป็นนิมิตแห่งสังสารทุกข์นั้น.
               แม้ในหมู่สัตว์นั้นเห็นสัตว์นรกเสวยเวทนาลำบาก กล้าหนัก เผ็ดร้อนอันเกิดจากการตัด ทำลาย ผ่า บด เผาไฟเป็นต้น.
               สัตว์เดียรัจฉานเสวยทุกข์หนักด้วยการโกรธกันและกัน ทำให้เดือดร้อนเบียดเบียนให้ลำบาก และอาศัยผู้อื่นเป็นต้น.
               เปรตมีนิชฌามตัณหิกเปรตเป็นต้น ถูกความหิวกระหาย ลมและแดดเป็นต้นแผดเผาในร่างกายด้วยกลุ่มมาลัยไฟ ซูบซีดชูมือร้องขออาหาร มีน้ำลายที่เขาคายทิ้งเป็นต้น เสวยทุกข์ใหญ่.
               สัตว์นรกเปรตเดียรัจฉาน ผู้ถึงความย่อยยับใหญ่หลวงมีการแสวงหาอาหารเป็นเหตุ เพราะถูกกรรมอันมีกำลังครอบงำ ด้วยการประกอบเหตุมีการตัดมือเป็นต้น ด้วยการให้เกิดโรคมีหิวกระหายเป็นต้น โดยทำให้เป็นผู้มีผิวพรรณทรามน่าเกลียดเป็นคนจนเป็นต้น เพราะการนำไปของผู้อื่น และเพราะอาศัยผู้อื่น และมนุษย์ผู้เสวยทุกข์หนักอันไม่มีเศษเหลือจากทุกข์ในอบาย.
               และกามาวจรเทพผู้ถูกความเร่าร้อนอันมีราคะเป็นต้น แผดเผาเพราะมีจิตฟุ้งซ่านในการบริโภคของเป็นปกติและมีพิษ มีความเดือดร้อนไม่สงบดุจกองไฟสุมด้วยไม้แห้งมีเปลวไฟโพลงขึ้นด้วยแรงลม อาศัยผู้อื่นกำจัดความไม่สงบ.
               และรูปาวจรเทพ อรูปาวจรเทพว่า เมื่อยังมีความเป็นไปอยู่ได้นาน เทพเหล่านั้นก็เหมือนนกที่โฉบสู่อากาศไกลด้วยความพยายามมาก และเหมือนลูกศรที่คนมีกำลังซัดไปตกในที่ไกล แต่ในที่สุดก็ตกเพราะมีความไม่เที่ยงในที่สุด จึงไม่ล่วงพ้นชาติชราและมรณะไปได้เลย ยังความสังเวชใหญ่หลวงให้ปรากฏ แล้วแผ่เมตตาและกรุณาไปยังสัตว์ทั้งหลายโดยไม่เจาะจง.
               ผู้สะสมโพธิสมภารด้วยกาย วาจาและใจเป็นลำดับอย่างนี้ บารมีย่อมเต็มเปี่ยมฉันใด. ผู้ทำโดยความเคารพ ทำติดต่อ ประพฤติไม่ย่อหย่อน พึงยังความอุตสาหะให้เป็นไป พึงบำเพ็ญวีริยบารมีให้บริบูรณ์ ฉันนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ความเพียรประกอบด้วยความขวนขวายต่อความเป็นพระพุทธเจ้า อันเป็นอจินไตยและเป็นที่ตั้งแห่งการสะสมคุณอันหาประมาณมิได้ ไพบูลย์โอฬารยิ่งนัก ปราศจากมลทิน ไม่มีข้อเปรียบ ไม่มีอุปกิเลส เป็นอานุภาพแห่งอจินไตยนั่นแล. ก็ชนเป็นอันมากสามารถแม้ฟังได้. ไม่ต้องพูดถึงปฏิบัติกันละ.
               อนึ่ง อภินิหารจิตตุปบาท ๓. พุทธภูมิ ๔. สังคหวัตถุ ๔. ความมีกรุณาเป็นรสอย่างเอก. การทนต่อความเพ่งอันเป็นวิเสสปัจจัยด้วยการทำให้แจ้งในพุทธธรรม. การไม่เข้าไปเพียงลูบไล้ในพุทธธรรม. ความสำคัญในสัตว์ทั้งปวงว่าเป็นบุตรที่น่ารัก. ความไม่กระหายด้วยสังสารทุกข์. การบริจาคไทยธรรมทั้งปวง. ความมีใจยินดีด้วยการบริจาคนั้น. การอธิษฐานอธิศีลเป็นต้น. ความไม่หวั่นไหวในอธิษฐานนั้น. ปีติและปราโมทย์ในกุสลกิริยา. ความที่จิตน้อมไปในวิเวก. การประกอบฌานเนืองๆ. การไม่ติเตียนธรรมที่ไม่มีโทษ. แสดงธรรมตามที่ได้ฟังมาด้วยอัธยาศัยเกื้อกูลแก่ผู้อื่น. ให้สัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ในระเบียบ. ความมั่นคงในการริเริ่ม. ความฉลาดและกล้า. ไม่มีข้อเสียหายในการกล่าวร้ายต่อผู้อื่น และทำความเสื่อมเสียแก่ผู้อื่น. ตั้งมั่นในสัจจะ. ชำนาญในสมาบัติ. มีกำลังในอภิญญา. รู้ลักษณะ ๓. สะสมบารมีในโลกุตรมรรค ด้วยการประกอบความเพียรในสติปัฏฐานเป็นต้น. ก้าวลงสู่โลกุตรธรรม ๙.
               การปฏิบัติเพื่อโพธิสมภาร แม้ทั้งหมดมีอาทิอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ย่อมสำเร็จด้วยอานุภาพแห่งวิริยะ.
               เพราะเหตุนั้น ตั้งแต่อภินิหารจนถึงมหาโพธิ พระโยคาวจรไม่สละทิ้ง ยังความเพียรให้สมบูรณ์ เหมือนความเพียรเป็นลำดับโดยเคารพอันนำคุณวิเศษมาให้ยิ่งๆ ขึ้นฉะนั้น. เมื่อความเพียรตามที่กล่าวแล้วสมบูรณ์ พึงทราบการปฏิบัติโดยนัยนี้ แม้ในขันติเป็นต้นว่า โพธิสมภารแม้ทั้งหมดมีขันติ สัจจะ อธิษฐาน ทาน ศีลเป็นต้น เป็นอันสมบูรณ์เพราะประพฤติอาศัยความเพียรนั้น.
               การทำความอนุเคราะห์ด้วยการบริจาคอุปกรณ์ความสุขแก่สัตว์ทั้งหลายโดยส่วนมาก ชื่อว่าปฏิบัติด้วยการให้.
               เหตุทั้งหลายมีอาทิ การรักษาชีวิต สมบัติ ภรรยาและกล่าวคำไม่ให้แตกกันน่ารักเป็นประโยชน์ และไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติด้วยศีล.
               การประพฤติประโยชน์หลายอย่างด้วยรับอามิสและให้ทานเป็นต้นของสัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติด้วยเนกขัมมะ.
               ความเป็นผู้ฉลาดในอุบายทำประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าปฏิบัติด้วยปัญญา.
               มีความอุตสาหะริเริ่มไม่ท้อถอยในการนั้น ชื่อว่าปฏิบัติด้วยวิริยะ.
               การไม่ล่อลวงทำอุปการะสมาทานและไม่พูดผิดจากความจริงเป็นต้นแก่สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติด้วยสัจจะ.
               แม้ตกอยู่ในความพินาศก็มิได้หวั่นไหวในการทำอุปการะ ชื่อว่าปฏิบัติด้วยอธิษฐาน.
               คิดถึงแต่ประโยชน์สุขของสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าปฏิบัติด้วยเมตตา.
               ไม่คำนึงถึงความผิดปกติในความอุปการะความเสียหายของสัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าปฏิบัติด้วยอุเบกขา.
               พระโยคาวจรปรารภสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล้วเป็นผู้สะสมบุญสมภาร และญาณสมภารหาประมาณมิได้ เป็นที่รับรองเสมอของพระมหาโพธิสัตว์ผู้อนุเคราะห์สรรพสัตว์ พึงทราบว่าเป็นการปฏิบัติในบารมีเหล่านี้.
               อะไรเป็นการจำแนก.
               บารมี ๓๐ คือ บารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐.
               บารมีเฉยๆ เป็นธรรมขาวเจือด้วยธรรมดำของพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญอภินิหารในบารมีเหล่านั้น ประกอบด้วยอัธยาศัยน้อมไปในการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น. อุปบารมีเป็นธรรมขาวไม่เจือด้วยธรรมดำ.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ปรมัตถบารมีเป็นธรรมไม่ดำไม่ขาว. หรือบารมีบำเพ็ญในกาลเริ่มต้น. อุปบารมีบำเพ็ญเต็มแล้วในภูมิของพระโพธิสัตว์. ปรมัตถบารมีบริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวงในพุทธภูมิ. หรือบารมีเพราะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นในพุทธภูมิ. อุปบารมีเพราะทำประโยชน์เพื่อตน. ปรมัตถบารมีเพราะบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการบรรลุพลธรรมและเวสารัชธรรม.
               อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า การจำแนกบารมีเหล่านั้น ในตอนตั้งความปรารถนา การเริ่มบำเพ็ญและความสำเร็จ คือเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด.
               อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า การจำแนกบารมีเหล่านั้นโดยประเภทการสะสมบุญของผู้สงบโทสะตั้งอยู่ในกรุณา ผู้บรรลุ ภวสุข วิมุติสุขและบรมสุข.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า การจำแนกบารมีตามที่กล่าวแล้วจากการเกิดขึ้นของพระโพธิสัตว์ คือบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมีของท่านผู้มีความละอาย มีสติ มีการนับถือเป็นที่พึ่งพิง ของท่านผู้มีโลกุตตรธรรมเป็นใหญ่ของผู้หนักอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญาของท่านผู้ข้ามไปได้แล้ว ของพระอนุพุทธ พระปัจเจกพุทธและพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า การสะสมบารมีเป็นไปแล้วตั้งแต่การตั้งความปรารถนาทางใจ จนถึงตั้งความปรารถนาทางวาจาชื่อบารมี. การสะสมบารมีเป็นไปแล้วตั้งแต่ตั้งความปรารถนาทางวาจา จนถึงตั้งความปรารถนาทางกาย เป็นอุปบารมี. ตั้งแต่ตั้งความปรารถนาทางกายไปเป็นปรมัตถบารมี. แต่อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า การสะสมบารมีเป็นไปแล้ว ด้วยอำนาจการอนุโมทนาบุญของผู้อื่นเป็นบารมี. การสะสมบารมีเป็นไปแล้ว ด้วยอำนาจการให้ผู้อื่นทำเป็นอุปบารมี. เป็นไปแล้ว ด้วยการทำเองเป็นปรมัตถบารมี.
               อนึ่ง อาจารย์พวกหนึ่งกล่าวว่า บุญสมภาร ญาณสมภาร อันนำภวสุขมาให้เป็นบารมี. การนำนิพพานสุขมาให้แก่ตนเป็นอุปบารมี. การนำสุขทั้งสองอย่างนั้นมาให้เป็นปรมัตถบารมี.
               อนึ่ง การบริจาคบุตรภรรยาและอุปกรณ์มีทรัพย์เป็นต้นเป็นทานบารมี. การบริจาคอวัยวะเป็นทานอุปบารมี. การบริจาคชีวิตของตนเป็นทานปรมัตถบารมี.
               อนึ่ง ศีลบารมี ๓ อย่างด้วยการไม่ก้าวล่วงเหตุแม้ทั้ง ๓ อย่างมีบุตรและภรรยาเป็นต้น.
               เนกขัมมบารมี ๓ อย่างด้วยการตัดอาลัยในวัตถุ ๓ อย่างเหล่านั้นแล้วออกบวช.
               ปัญญาบารมี ๓ อย่างด้วยการประมวลตัณหาในอุปกรณ์ อวัยวะ ชีวิตแล้วทำการตัดสินประโยชน์มิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย.
               วิริยบารมี ๓ อย่างด้วยการพยายามบริจาคประเภทตามที่กล่าวแล้ว.
               ขันติบารมี ๓ อย่างอดทนต่อผู้ที่จะทำอันตรายแก่อุปกรณ์ อวัยวะและชีวิต.
               สัจจบารมี ๓ อย่างด้วยการไม่สละสัจจะเพราะเหตุอุปกรณ์ อวัยวะและชีวิต.
               อธิษฐานบารมี ๓ อย่างด้วยการอธิษฐานไม่หวั่นไหว แม้ถึงคราวที่อุปกรณ์เป็นต้นพินาศไป โดยเห็นว่าบารมีมีทานบารมีเป็นต้น ย่อมบริสุทธิ์ด้วยอำนาจอธิษฐานไม่กำเริบ.
               เมตตาบารมี ๓ อย่างด้วยไม่ละเมตตาในสัตว์ทั้งหลาย แม้ผู้เข้าไปทำลายอุปกรณ์เป็นต้น.
               อุเบกขาบารมี ๓ อย่างด้วยได้ความที่ตนเป็นกลางในสัตว์และสังขารทั้งหลาย ทั้งที่มีอุปการะและทำความเสียหาย วัตถุ ๓ อย่างตามที่กล่าวแล้ว.
               พึงทราบการจำแนกบารมีเหล่านั้นโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้แล.
               พึงทราบวินิจฉัยในบทนี้ว่า อะไรเป็นการสงเคราะห์.
               พึงทราบบารมี ๖ อย่างโดยสภาวะคือ ทาน ศีล ขันติ วีริยะ ฌานและปัญญา เหมือนบารมี ๓ อย่างโดยการจำแนก ๑๐ โดยความเป็นทานบารมีเป็นต้น.
               จริงอยู่ ในบารมีเหล่านั้น เนกขัมมบารมีสงเคราะห์เข้าด้วยศีลบารมี ในเพราะการบรรพชาของเนกขัมมบารมีนั้น.
               อนึ่ง สงเคราะห์เข้าด้วยฌานบารมีในเพราะความสงัดจากนิวรณ์.
               สงเคราะห์ด้วยแม้ทั้ง ๖ ในเพราะความเป็นกุสลธรรม. สัจจบารมีเป็นเอกเทศของศีลบารมี ในเพราะเป็นฝ่ายแห่งวจีวิรัติสัจจะ.
               อนึ่ง สงเคราะห์เข้าด้วยปัญญาบารมีในเพราะเป็นฝ่ายแห่งญาณสัจจะ. เมตตาบารมีสงเคราะห์เข้าด้วยฌานบารมีเท่านั้น. แม้อุเบกขาบารมีก็สงเคราะห์เข้าด้วยฌานบารมีและปัญญาบารมี. เป็นอันท่านสงเคราะห์อธิษฐานบารมี แม้ด้วยบารมีทั้งหมด.
               บารมีทั้งหลายมี ๑๕ คู่ ของการสัมพันธ์กันแห่งคุณทั้งหลาย ๖ มีทานเป็นต้นเหล่านี้ เป็นอันให้สำเร็จเป็นคู่ๆ ได้ ๑๕ คู่เป็นต้น. เป็นอย่างไร.
               ความสำเร็จแห่งคู่คือทำและไม่ทำสิ่งเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์เพื่อผู้อื่นด้วยคู่ทานกับศีล. ความสำเร็จคู่อโลภะและอโทสะด้วยคู่คือทานกับขันติ. ความสำเร็จคู่จาคะและสุตะด้วยคู่คือทานกับวิริยะ. ความสำเร็จคู่การละกามและโทสะด้วยคู่คือทานกับฌาน. ความสำเร็จแห่งคู่คือยานและแอกของพระอริยะด้วยคู่คือทานกับปัญญา. ความสำเร็จทั้งสองอย่างคือความบริสุทธิ์แห่งปโยคะและอาสยะด้วยคู่ทั้งสองคือศีลและขันติ. ความสำเร็จภาวนาทั้งสองด้วยคู่ทั้งสองคือศีลกับวิริยะ. ความสำเร็จทั้งสองอย่างคือละความเป็นผู้ทุศีลและความหมกมุ่นด้วยคู่ทั้งสองคือศีลกับฌาน. ความสำเร็จทานทั้งสองด้วยคู่คือศีลกับปัญญา. ความสำเร็จคู่ทั้งสองคือความอดทนและความไม่มีเดชด้วยคู่คือขันติกับวิริยะ. ความสำเร็จคู่คือวิโรธคือความพิโรธและอนุโรธะคือความคล้อยตามด้วยคู่คือขันติกับฌาน. ความสำเร็จคู่ทั้งสองคือขันติและปฏิเวธของสุญญตาด้วยคู่คือขันติกับปัญญา. ความสำเร็จคู่ทั้งสองคือปัคคหะคือการประคองไว้และอวิกเขปะคือความไม่ฟุ้งซ่านด้วยคู่คือวิริยะกับฌาน. ความสำเร็จคู่คือสรณะด้วยคู่คือวิริยะกับปัญญา. ความสำเร็จหมวด ๒ คือยานด้วยคู่คือฌานกับปัญญา. ความสำเร็จ ๓ หมวดคือละโลภะโทสะและโมหะด้วย ๓ หมวดคือทานศีลและขันติ. ความสำเร็จ ๓ หมวดคือการให้สิ่งเป็นสาระคือสมบัติ ชีวิตและร่างกาย ด้วย ๓ หมวดคือทาน ศีลและวิริยะ. ความสำเร็จบุญกิริยาวัตถุ ๓ ด้วยหมวด ๓ คือทาน ศีลและฌาน. ความสำเร็จ ๓ หมวดคืออามิสทาน อภัยทานและธรรมทานด้วย ๓ หมวดคือ ทาน ศีลและปัญญา ด้วยประการฉะนี้แล.
               พึงประกอบติกะและจตุกกะเป็นต้น ตามที่ปรากฏด้วยติกะและจตุกกะ แม้นอกนี้อย่างนี้.
               อนึ่ง พึงทราบการสงเคราะห์ด้วยอธิษฐานธรรม ๔ แห่งบารมีเหล่านั้นแม้ ๖ อย่างด้วยประการฉะนี้.
               จริงอยู่ อธิษฐานธรรม ๔ โดยรวมบารมีทั้งหมดไว้. คือสัจจาธิษฐาน จาคาธิษฐาน อุปสมาธิษฐาน ปัญญาธิษฐาน.
               ในอธิษฐานธรรมเหล่านั้น ชื่อว่าอธิษฐาน เพราะเป็นเหตุตั้งมั่น. หรือเป็นที่ตั้งมั่น หรือเพียงตั้งมั่นเท่านั้น. ชื่อว่าสัจจาธิษฐาน เพราะสัจจะและอธิษฐาน. หรือเพราะเป็นที่ตั้งแห่งสัจจะ หรือเพราะมีสัจจะเป็นอธิษฐาน. แม้ในอธิษฐานธรรมที่เหลือก็เหมือนอย่างนั้น.
               ในอธิษฐานธรรมนั้นโดยไม่ต่างกัน
               สัจจาธิษฐานเพราะกำหนดบารมีทั้งปวงสมควรแก่ปฏิญญาของพระมหาสัตว์ผู้อนุเคราะห์สรรพสัตว์ สะสมบุญญาภินิหารในโลกุตตรคุณ.
               จาคาธิษฐาน เพราะสละสิ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อสัจจะ.
               อุปสมาธิษฐาน เพราะสงบจากสิ่งไม่เป็นคุณของบารมีทั้งปวง.
               ปัญญาธิษฐาน เพราะเป็นผู้ฉลาดในอุบายอันเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ด้วยอธิษฐานธรรมเหล่านั้น.
               แต่โดยที่ต่างกัน
               ทานเป็นปทัฏฐานแห่งอธิษฐานธรรม ๔ แห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะปฏิญญาว่า เราจักให้ไม่ให้ยาจกผิดหวัง เพราะให้ไม่ผิดปฏิญญา เพราะอนุโมทนาไม่ผิดทาน เพราะสละสิ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อมัจฉริยะเป็นต้น เพราะสงบจากภัยคือโลภะ โทสะและโมหะในไทยธรรม ปฏิคคาหกทานและความสิ้นไปแห่งไทยธรรม เพราะให้ตามสมควรตามกาลและตามวิธี และเพราะปัญญายิ่ง.
               อนึ่ง ศีลเป็นปทัฏฐานแห่งอธิษฐานธรรม ๔ เพราะไม่ล่วงสังวรสมาทาน เพราะสละความทุศีล เพราะสงบจากทุจริต และเพราะปัญญายิ่ง.
               ขันติเป็นปทัฏฐานแห่งอธิษฐาน ๔ เพราะอดทนได้ตามปฏิญญา เพราะสละการกำหนดโทษของผู้อื่น เพราะสงบความโกรธและความหมกมุ่น และเพราะมีปัญญายิ่ง.
               วิริยะเป็นปทัฏฐานแห่งอธิษฐานธรรม ๔ เพราะทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นตามสมควรแก่ปฏิญญา เพราะสละความสละสลวย เพราะสงบจากอกุศล และเพราะมีปัญญายิ่ง.
               ฌานเป็นปทัฏฐานแห่งอธิษฐานธรรม ๔ เพราะคิดถึงประโยชน์ของโลกตามสมควรแก่ปฏิญญา เพราะสละนิวรณ์ เพราะสงบจิต และเพราะมีปัญญายิ่ง.
               ปัญญาเป็นปทัฏฐานแห่งอธิษฐานธรรม ๔ เพราะฉลาดในอุบายทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นตามปฏิญญา เพราะสละการกระทำอันไม่เป็นอุบาย เพราะสงบความเร่าร้อนอันเกิดแต่โมหะ และเพราะได้ความเป็นพระสัพพัญญู.
               ในอธิษฐานธรรมเหล่านั้น สัจจาธิษฐานด้วยการจัดตามปฏิญญาเพื่อสิ่งควรรู้. จาคาธิษฐานด้วยการสละวัตถุกามและกิเลสกาม. อุปสมาธิษฐานด้วยการสงบทุกข์อันเกิดแต่โทสะ. ปัญญาธิษฐานด้วยการตรัสรู้ตามและการรู้แจ้งแทงตลอด.
               สัจจาธิษฐานมีข้าศึกคือโทสะ ๓ อย่าง กำหนดด้วยสัจจะ ๓ อย่าง. จาคาธิษฐานมีข้าศึกคือโทสะ ๓ อย่าง กำหนดด้วยจาคะ ๓ อย่าง. อุปสมาธิษฐานมีข้าศึกคือโทสะ ๓ อย่าง กำหนดด้วยอุปสมะ ๓ อย่าง. ปัญญาธิษฐานมีข้าศึกคือโทสะ ๓ อย่าง กำหนดด้วยญาณ ๓ อย่าง.
               จาคาธิษฐาน อุปสมาธิษฐานและปัญญาธิษฐาน กำหนดด้วยสัจจาธิษฐาน เพราะพูดไม่ผิดความจริง เพราะจัดตามปฏิญญา. สัจจาธิษฐาน อุปสมาธิษฐานและปัญญาธิษฐาน กำหนดด้วยจาคาธิษฐาน เพราะสละสิ่งเป็นปฏิปักษ์และเพราะผลแห่งการสละทั้งปวง. สัจจาธิษฐาน จาคาธิษฐานและปัญญาธิษฐาน กำหนดด้วยอุปสมาธิษฐาน เพราะสงบจากความเร่าร้อนคือกิเลส เพราะสงบจากกามและเพราะสงบจากความเร่าร้อนคือกาม. สัจจาธิษฐาน จาคาธิษฐานและอุปสมาธิษฐาน กำหนดด้วยปัญญาธิษฐาน เพราะมีญาณถึงก่อน และเพราะหมุนไปตามญาณ.
               บารมีแม้ทั้งหมดประกาศสัจจะ ทำจาคะให้ปรากฏ พอกพูนอุปสมะ มีปัญญาบริสุทธิ์อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
               จริงอยู่ สัจจะเป็นเหตุเกิดบารมีเหล่านั้น.
               จาคะเป็นเหตุกำหนดบารมี. อุปสมะเป็นเหตุเจริญรอบ. ปัญญาเป็นเหตุแห่งความบริสุทธิ์. อนึ่ง สัจจาธิษฐานมีในเบื้องต้น เพราะสัจจปฏิญญา.
               จาคาธิษฐานมีในท่ามกลาง เพราะสละตนเพื่อประโยชน์ผู้อื่นของผู้ทำความตั้งใจแน่วแน่. อุปสมาธิษฐานมีในที่สุด เพราะความสงบทั้งปวงเป็นที่สุด ปัญญาธิษฐานมีในเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด เพราะเมื่อสัจจะจาคะอุปสมะมี ปัญญาก็มี เพราะเมื่อสัจจะจาคะอุปสมะไม่มี ปัญญาก็ไม่มี และเพราะมีตามปฏิญญา.
               ในอธิษฐานธรรมนั้น มหาบุรุษทั้งหลายเป็นคฤหัสถ์ ย่อมอนุเคราะห์สัตว์อื่นด้วยอามิสทาน โดยทำประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่นเนืองๆ โดยทำความเป็นผู้น่าเคารพ น่ารักและด้วยสัจจาธิษฐานและจาคาธิษฐาน.
               อนึ่ง เป็นบรรพชิตย่อมอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยธรรมทาน โดยทำประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น โดยทำความเป็นผู้น่าเคารพ น่ารัก และด้วยอุปสมาธิษฐานและปัญญาธิษฐาน.
               ในภพที่สุดนั้น พระโพธิสัตว์บำเพ็ญอธิษฐานธรรม ๔ ให้บริบูรณ์.
               อาจารย์บางคนกล่าวว่า เป็นความจริงพระโพธิสัตว์มีอธิษฐานธรรม ๔ บริบูรณ์แล้วจะอุบัติในภพสุดท้าย.
               ก็ในการอุบัติในภพสุดท้ายนั้น พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ โดยเริ่มด้วยปัญญาธิษฐาน ในการหยั่งลงสู่พระครรภ์ การดำรงอยู่และการประสูติ เพื่อยังสัจจาธิษฐานให้บริบูรณ์ พอประสูติในบัดเดี๋ยวนั้น ทรงบ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ ย่างพระบาทไป ๗ ก้าว ทรงตรวจดูทิศทั้งปวงมีพระวาจามุ่งมั่นในสัจจะ ทรงบันลือสีหนาท ๓ ครั้งว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก. เราเป็นผู้เจริญแห่งโลก. เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก.
               พระโพธิสัตว์ผู้ฉลาดในการชี้แจงธรรม ๔ ประการ ผู้เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายและบรรพชิต ด้วยการเริ่มอุปสมาธิษฐาน เป็นความสงบของผู้เมาในความเป็นหนุ่ม ความไม่มีโรค ชีวิตและสมบัติทั้งหลาย. การสละไม่คำนึงถึงวงศ์พระญาติใหญ่ และจักรวรรดิราชสมบัติอันจะถึงเงื้อมพระหัตถ์ด้วยเริ่มจาคาธิษฐาน.
               อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อธิษฐานธรรม ๔ บริบูรณ์แล้วในอภิสัมโพธิญาณในฐานะที่ ๒. เพราะในฐานะนั้นการตรัสรู้อริยสัจ ๔ โดยเริ่มด้วยสัจจาธิษฐานตามปฏิญญา แต่นั้นสัจจาธิษฐานจึงบริบูรณ์. การสละกิเลสและอุปกิเลสทั้งปวงโดยเริ่มด้วยจาคาธิษฐาน เพราะแต่นั้นจาคาธิษฐานจึงบริบูรณ์. การบรรลุถึงความสงบอย่างยิ่งโดยเริ่มด้วยอุปสมาธิษฐาน เพราะแต่นั้น อุปสมาธิษฐานจึงบริบูรณ์. การได้อนาวรณญาณโดยเริ่มด้วยปัญญาธิษฐาน เพราะแต่นั้นปัญญาธิษฐานจึงบริบูรณ์.
               ข้อนั้นยังไม่สมบูรณ์นัก เพราะแม้อภิสัมโพธิญาณก็เป็นปรมัตถธรรม.
               อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า อธิษฐานธรรม ๔ บริบูรณ์ ครั้งทรงแสดงพระธรรมจักรในฐานะที่ ๓ เพราะในฐานะนั้นสัจจาธิษฐานบริบูรณ์ด้วยการแสดงอริยสัจ โดยอาการ ๑๒ ของท่านผู้เริ่มด้วยสัจจาธิษฐาน. จาคาธิษฐานบริบูรณ์ด้วยการทำการบูชาใหญ่ ซึ่งพระสัทธรรมของท่านผู้เริ่มด้วยจาคาธิษฐาน. อุปสมาธิษฐานบริบูรณ์ด้วยการสงบกิเลสเหล่าอื่นของผู้สงบด้วยตนเอง ผู้เริ่มด้วยอุปสมาธิษฐาน. ปัญญาธิษฐานบริบูรณ์ด้วยการกำหนดอัธยาศัยเป็นต้นของเวไนยสัตว์ ของผู้เริ่มด้วยปัญญาธิษฐาน.
               แม้ข้อนั้นก็ยังไม่สมบูรณ์นัก เพราะพุทธกิจยังไม่จบ.
               อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า อธิษฐานธรรม ๔ บริบูรณ์ในการปรินิพพานในฐานะที่ ๔. เพราะในฐานะนั้น สัจจาธิษฐานบริบูรณ์ด้วยการสมบูรณ์แห่งปรมัตถสัจ เพราะปรินิพพานแล้ว. จาคาธิษฐานบริบูรณ์ด้วยการสละอุปธิทั้งปวง. อุปสมาธิฐานบริบูรณ์ด้วยการสงบสังขารทั้งปวง. ปัญญาธิษฐานบริบูรณ์ด้วยการสำเร็จประโยชน์ด้วยปัญญา.
               ในอธิษฐานธรรม ๔ นั้น
               ความบริบูรณ์ด้วยสัจจาธิษฐานเป็นความเฉียบแหลมของพระมหาบุรุษผู้เริ่มด้วยสัจจาธิษฐาน ในอภิชาติอันเป็นเขตแห่งเมตตาโดยพิเศษ. ความบริบูรณ์ด้วยปัญญาธิษฐานเป็นความเฉียบแหลมของมหาบุรุษผู้เริ่มด้วยปัญญาธิษฐาน ในอภิสัมโพธิญาณอันเป็นเขตแห่งกรุณาโดยพิเศษ. ความบริบูรณ์ด้วยจาคาธิษฐานเป็นความเฉียบแหลมของพระมหาบุรุษผู้เริ่มด้วยจาคาธิษฐาน เมื่อครั้งทรงแสดงพระธรรมจักรอันเป็นเขตแห่งมุทิตาโดยพิเศษ. ความบริบูรณ์ด้วยอุปสมาธิษฐานเป็นความเฉียบแหลมของพระมหาบุรุษผู้เริ่มด้วยอุปสมาธิษฐาน ในการปรินิพพานอันเป็นเขตแห่งอุเบกขาโดยพิเศษ. พึงเห็นด้วยประการฉะนี้แล.
               ในอธิษฐานธรรม ๔ นั้น
               ศีล พึงทราบด้วยการอยู่ร่วมกัน ของพระมหาบุรุษผู้เริ่มด้วยสัจจาธิษฐาน. ความสะอาด พึงทราบด้วยกิจการของพระมหาบุรุษผู้เริ่มด้วยจาคาธิษฐาน. กำลัง พึงทราบในเวลามีอันตรายของพระมหาบุรุษผู้เริ่มด้วยอุปสมาธิษฐาน. ปัญญา พึงทราบด้วยการสนทนาของพระมหาบุรุษผู้เริ่มด้วยปัญญาธิษฐาน.
               พึงทราบความบริสุทธิ์แห่งศีล อาชีวะ จิตและทิฏฐิ ด้วยอาการอย่างนี้.
               อนึ่ง ไม่ถึงโทสาคติ เพราะหลอกลวงโดยเริ่มด้วยสัจจาธิษฐาน. ไม่ถึงโลภาคติ เพราะไม่เกี่ยวข้องโดยเริ่มด้วยจาคาธิษฐาน. ไม่ถึงภยาคติ เพราะไม่ผิดโดยเริ่มด้วยอุปสมาธิษฐาน. ไม่ถึงโมหาคติ เพราะตรัสรู้ตามความเป็นจริงโดยเริ่มด้วยปัญญาธิษฐาน.
               อนึ่ง ไม่ประทุษร้ายอดกลั้นด้วยอธิษฐานธรรมข้อที่ ๑. ไม่โลภเสพด้วยข้อที่ ๒. ไม่กลัว เว้นด้วยข้อที่ ๓. ไม่หลง บรรเทาได้ด้วยข้อที่ ๔. การบรรลุเนกขัมมสุข ด้วยอธิษฐานธรรมข้อที่ ๑. การได้ปีติสุขเกิดแต่ความสงัด ความสงบ และสัมโพธิ ด้วยอธิษฐานธรรม นอกนั้นพึงทราบด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง การได้อุเบกขาสุขเกิดแต่วิเวก เกิดแต่ปีติสุข สมาธิเกิดแต่สุขทางกายอันเกิดแต่ปีติสุขและไม่มีปีติ และสติบริบูรณ์ ย่อมมีตามลำดับด้วยอธิษฐานธรรม ๔ เหล่านี้.
               พึงทราบการประมวลบารมีทั้งหมดลงด้วยอธิษฐานธรรม ๔ อันเกี่ยวพันด้วยคุณไม่น้อยด้วยประการฉะนี้.
               อนึ่ง พึงเห็นว่า การประมวลบารมีทั้งหมดลงแม้ด้วยกรุณาและปัญญา เหมือนการประมวลบารมีทั้งหมดลงด้วยอธิษฐานรรม ๔. เพราะโพธิสมภารแม้ทั้งหมด ท่านสงเคราะห์ด้วยกรุณาและปัญญา. คุณมีทานเป็นต้น กำหนดด้วยกรุณาและปัญญาเป็นมหาโพธิสมภาร มีความสำเร็จความเป็นพระพุทธเจ้าเป็นที่สุด.
               พึงทราบการสงเคราะห์บารมีเหล่านี้อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้แล.
               อะไรเป็นอุบายให้สำเร็จ?
               คือการสะสมบุญญาทิสมภารแม้ทั้งสิ้น อุทิศสัมมาสัมโพธิญาณโดยไม่ทำให้บกพร่อง. การทำโดยความเคารพในสัมมาสัมโพธิญาณนั้น ด้วยความเอื้อเฟื้อและความนับถือมาก. การทำความเพียรติดต่อด้วยความพยายามเป็นลำดับไป. และความพยายามตลอดกาลนานเป็นต้น ในระหว่างด้วยการให้ถึงที่สุด.
               ปริมาณกาลของอุบายให้สำเร็จนั้นจักมีแจ้งข้างหน้า.
               การประกอบองค์ ๔ เป็นอุบายให้บารมีเหล่านั้นสำเร็จด้วยประการดังนี้.
               อนึ่ง พระมหาสัตว์ผู้ปฏิบัติเพื่อตรัสรู้ ควรมอบตนแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพื่อสัมมาสัมโพธิญาณก่อนทีเดียวว่า ข้าพเจ้าขอมอบอัตภาพนี้แด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย. ควรสละก่อนแต่จะได้วัตถุที่หวงแหนนั้นๆ ในทานมุขว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันของใช้ประจำชีวิตซึ่งเกิดแก่ข้าพเจ้า สิ่งนั้นทั้งหมด เมื่อมีผู้ขอ ข้าพเจ้าจักให้. ข้าพเจ้าจักพึงบริโภคส่วนที่เหลือจากที่ให้แก่ยาจกเหล่านั้นเท่านั้น.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก สโมธานกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 36
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=9478&Z=9526
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=52&A=7027
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=52&A=7027
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :