ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 36
อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก
สโมธานกถา

หน้าต่างที่ ๕ / ๗.

               อนึ่ง พระมหาบุรุษเมื่อให้อามิสทานแก่สัตว์ทั้งหลาย ย่อมให้ทานข้าวด้วยตั้งใจว่า เราพึงยังสมบัติมีอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณเป็นต้นและสมบัติคือผลเลิศน่ารื่นรมย์ให้สำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยทานนี้.
               อนึ่ง ให้น้ำเพื่อระงับความกระหายคือกามกิเลสของสัตว์ทั้งหลาย. ให้ผ้าเพื่อให้ผิวพรรณงาม และเพื่อให้สำเร็จเครื่องประดับคือหิริโอตตัปปะ. ให้ยานเพื่อให้สำเร็จอิทธิวิธีคือการแสดงฤทธิได้ และนิพพานสุข. ให้ของหอมเพื่อให้สำเร็จความหอมคือศีล. ให้ดอกไม้และเครื่องลูบไล้เพื่อให้สำเร็จความงามด้วยพุทธคุณ. ให้อาสนะเพื่อให้สำเร็จอาสนะ ณ โพธิมณฑล. ให้ที่นอนเพื่อให้สำเร็จตถาคตไสยาคือนอนแบบพระตถาคต. ให้ที่พักเพื่อให้สำเร็จความเป็นสรณะ. ให้ประทีปเพื่อให้ได้ปัญจจักขุ.
               ให้รูปเป็นทานเพื่อให้สำเร็จรัศมีออกจากกายวาหนึ่ง. ให้เสียงเป็นทานเพื่อให้สำเร็จเสียงดุจเสียงพรหม. ให้รสเป็นทานเพื่อเป็นที่รักของโลกทั้งปวง. ให้โผฏฐัพพะเป็นทานเพื่อความเป็นพุทธสุขุมาล คือความละเอียดอ่อนของพระพุทธเจ้า.
               ให้เภสัชเป็นทานเพื่อความไม่แก่ไม่ตาย. ให้ความเป็นไทแก่ทาสทั้งหลายเพื่อปลดเปลื้องความเป็นทาสคือกิเลส. ให้ความยินดีในของเล่นที่ไม่มีโทษเป็นทานเพื่อความยินดีในพระสัทธรรม. ให้บุตรเป็นทานเพื่อนำสัตว์ทั้งหมดออกไปจากความเป็นบุตรของตนในชาติเป็นอริยะ. ให้ภรรยาเป็นทานเพื่อถึงความเป็นใหญ่แห่งโลกทั้งสิ้น.
               ให้ทองแก้วมณี แก้วมุกดา แก้วประพาฬเป็นต้นเป็นทานเพื่อความสมบูรณ์ด้วยลักษณะงาม. ให้เครื่องประดับนานาชนิดเป็นทานเพื่อความสมบูรณ์แห่งอนุพยัญชนะ. ให้คลังสมบัติเป็นทานเพื่อบรรลุพระสัทธรรม. ให้ราชสมบัติเป็นทานเพื่อความเป็นพระธรรมราชา. ให้สวน สระ ป่า เป็นทานเพื่อความสมบูรณ์แห่งฌานเป็นต้น.
               ให้เท้าเป็นทานเพื่อก้าวไปสู่รัศมีโพธิมณฑลด้วยเท้ามีรอยจักร. ให้มือเป็นทานเพื่อให้มือคือพระสัทธรรมแก่สัตว์ทั้งหลาย เพื่อถอนออกจากโอฆะ ๔. ให้หูและจมูกเป็นทานเพื่อได้อินทรีย์มีสัทธินทรีย์เป็นต้น. ให้จักษุเป็นทานเพื่อได้สมันตจักขุ คือจักษุโดยรอบ. ให้เนื้อและเลือดเป็นทานด้วยหวังว่าจะนำประโยชน์สุขมาให้แก่สรรพสัตว์ตลอดกาลทั้งปวง ในการเห็น การฟัง การระลึกถึง การบำเรอเป็นต้น และกายของเราพึงเป็นกายอันโลกทั้งปวงพึงเข้าไปอาศัย. ให้อวัยวะสูงที่สุดเป็นทานด้วยหวังว่าเราจะพึงเป็นผู้สูงที่สุดในโลกทั้งปวง.
               อนึ่ง มหาบุรุษเมื่อให้อย่างนี้ไม่ให้เพื่อแสวงหาผิด ไม่ให้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ให้เพราะกลัว เพราะละอาย เพราะเคืองทักขิไณยบุคคล. เมื่อมีของประณีตไม่ให้ของเศร้าหมอง. ไม่ให้ด้วยการยกตน ด้วยการข่มผู้อื่น ด้วยหวังผล ด้วยเกลียดยาจก ด้วยไม่เคารพ. ที่แท้ให้ด้วยความเคารพ ให้ด้วยมือของตน ให้ตามกาล ทำความเคารพแล้วให้ ให้ด้วยไม่แบ่งออก. ให้มีใจยินดีใน ๓ กาล. ครั้นให้แล้วก็ไม่เดือดร้อนในภายหลัง ไม่ยกย่องและดูหมิ่นปฏิคาหก. เปล่งถ้อยคำน่ารัก รู้คำพูด ผู้เข้าไปขอให้พร้อมทั้งบริวาร. เพราะเมื่อให้ข้าวเป็นทานย่อมให้พร้อมด้วยผ้าเป็นต้นด้วยตั้งใจว่า เราจักทำสิ่งนั้นให้เป็นบริวารแล้วให้.
               อนึ่ง เมื่อให้ผ้าเป็นทานย่อมให้พร้อมกับข้าวเป็นต้น ด้วยตั้งใจว่า เราจักทำผ้านั้นให้เป็นบริวารแล้วให้.
               แม้ในการให้ยานเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               อนึ่ง มหาบุรุษเมื่อให้รูปเป็นทานกระทำแม้อารมณ์นอกนั้น ให้เป็นบริวารของรูปนั้นแล้วให้.
               แม้ในบทที่เหลือก็อย่างนี้.
               ได้รูปเป็นทานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาดอกไม้และผ้าเป็นต้น มีสีเขียว เหลือง แดงและขาวเป็นต้น แล้วนั่งขัดสมาธิกำหนดรูปคิดว่า เราจักให้รูปเป็นทาน. รูปเป็นทาน เป็นของเราทำพร้อมวัตถุยังทานให้ตั้งอยู่ในทักขิไณยบุคคลเช่นนั้น. นี้ชื่อว่ารูปเป็นทาน.
               พึงทราบการให้เสียงเป็นทานด้วยเสียงกลองเป็นต้น ในการให้เสียงเป็นทานนั้นไม่สามารถให้เสียงได้ดุจถอนเง่าและรากบัว และดุจวางกำดอกบัวเขียวลงบนมือ. แต่ทำให้พร้อมกับวัตถุแล้วให้ชื่อว่าให้เสียงเป็นทาน.
               เพราะฉะนั้น ในกาลใดทำเองและใช้ให้ทำเพลงบูชาพระรัตนตรัยด้วยดนตรีอย่างใดอย่างหนึ่งมีกลองและตะโพนเป็นต้น ด้วยคิดว่าเราจักให้เสียงเป็นทาน. ตั้งไว้เองและให้ผู้อื่นตั้งกลองเป็นต้น ด้วยตั้งใจว่าเสียงเป็นทานของเรา. ให้ยาเสียงมีน้ำมันและน้ำผึ้งเป็นต้นแก่พระธรรมกถึกทั้งหลาย. ประกาศฟังธรรม. สวดสรภัญญะ. กล่าวธรรมกถา. ทำเองและให้ผู้อื่นทำอุปนิสินนกถาคือกถาของผู้เข้าไปนั่งใกล้ และอนุโมทนากถาคือกถาอนุโมทนา. ในกาลนั้นชื่อว่าให้เสียงเป็นทาน.
               อนึ่ง มหาบุรุษได้วัตถุมีกลิ่นหอมน่ายินดีอย่างใดอย่างหนึ่ง มีกลิ่นหอมที่รากของต้นไม้มีกลิ่นเป็นต้น หรือกลิ่นไรๆ ที่อบแล้ว นั่งขัดสมาธิกำหนดกลิ่นคิดว่า เราจักให้กลิ่นเป็นทาน. กลิ่นเป็นทานของเราแล้วทำเองและให้ผู้อื่นทำการบูชาพระพุทธรัตนะเป็นต้น. มหาบุรุษบริจาควัตถุมีกลิ่นมีกฤษณาและจันทน์เป็นต้นเพื่อบูชากลิ่น. นี้ชื่อว่าให้กลิ่นเป็นทาน.
               อนึ่ง มหาบุรุษได้วัตถุมีรสน่ายินดีอย่างใดอย่างหนึ่งมีรสที่รากเป็นต้น นั่งขัดสมาธิกำหนดรสคิดว่าเราจักให้รสเป็นทาน รสเป็นทานของเราแล้วให้แก่ทักขิไณยบุคคล. หรือสละข้าวเปลือกและโคเป็นต้นอันมีวัตถุเป็นรส. นี้ชื่อว่าให้รสเป็นทาน.
               อนึ่ง ให้โผฏฐัพพะเป็นทานพึงทราบด้วยสามารถเตียงและตั่งเป็นต้น และด้วยสามารถเครื่องลาดและเครื่องคลุมเป็นต้น.
               มหาบุรุษได้วัตถุเป็นโผฏฐัพพะไม่มีโทษน่ายินดี มีสัมผัสสบาย มีเตียงตั่งฟูกหมอนเป็นต้น หรือมีผ้านุ่งผ้าห่มเป็นต้น นั่งขัดสมาธิกำหนดโผฏฐัพพะคิดว่า เราจักให้โผฏฐัพพะเป็นทาน. โผฎฐัพพะเป็นทานของเราแล้วให้แก่ทักขิไณยบุคคล. ได้วัตถุเป็นโผฏฐัพพะตามที่กล่าวแล้วสละ. นี้ชื่อว่าให้โผฏฐัพพะเป็นทาน.
               อนึ่ง พึงทราบธรรมทานด้วยสามารถแห่งชีวิตดื่มด่ำมีโอชะ เพราะประสงค์เอาธรรมารมณ์.
               จริงอยู่ มหาบุรุษได้วัตถุน่ายินดีอย่างใดอย่างหนึ่งมีรสโอชาเป็นต้น แล้วนั่งขัดสมาธิคิดว่า เราจักให้ธรรมเป็นทาน. ธรรมเป็นทานของเราแล้วให้ของมีรสอร่อยมีเนยใสเนยข้นเป็นต้นเป็นทาน.
               ให้ปานะ ๘ อย่างมีอัมพปานะเป็นต้น. มหาบุรุษนั่งขัดสมาธิคิดว่าจะให้ชีวิตเป็นทาน จึงให้สลากภัตรและปักขิกภัตรเป็นต้น. จัดหาหมอเยียวยาคนเจ็บป่วย ทำลายตาข่าย รื้อไซดักปลา เปิดกรงนก ให้ปล่อยสัตว์ที่ผูกไว้ด้วยเครื่องผูก ตีกลองป่าวประกาศมิให้ฆ่าสัตว์. ทำเองและให้ผู้อื่นทำกรรมอย่างอื่นและกรรมเห็นปานนี้เพื่อป้องกันชีวิตสัตว์ทั้งหลาย. นี้ชื่อว่าให้ธรรมเป็นทาน.
               มหาบุรุษน้อมทานสัมปทาตามที่กล่าวแล้วนี้ทั้งหมด เพื่อประโยชน์สุขแก่โลกทั้งสิ้น.
               อนึ่ง น้อมทานสัมปทาเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณของตน เพื่อวิมุติไม่กำเริบ เพื่อฉันทะ วิริยะ สมาธิ ปฏิภาณ ญาณ วิมุติไม่สิ้นไป. พระมหาสัตว์ปฏิบัติทานบารมีนี้พึงปรากฏอนิจจสัญญาในชีวิต. ในโภคะก็เหมือนกัน.
               พึงมนสิการถึงความเป็นสาธารณะอย่างมากแก่สัตว์เหล่านั้น.
               พึงให้ปรากฏมหากรุณาในสัตว์ทั้งหลายเนืองๆ สม่ำเสมอ. ถือเอาทรัพย์สินที่ควรถือเอาไปได้ นำสมบัติทั้งหมดและตนออกจากเรือนดุจออกจากบ้านที่ถูกไฟไหม้ไม่ให้มีอะไรเหลือ. ไม่ทำการแบ่งในที่ไหนๆ. โดยที่แท้เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งสละหมดเลย.
               นี้เป็นลำดับแห่งการปฏิบัติทานบารมี.
               อนึ่ง พึงทราบลำดับแห่งการปฏิบัติศีลบารมีต่อไป.
               มหาบุรุษผู้ประสงค์จะตกแต่งสัตว์ทั้งหลายด้วยเครื่องประดับ คือศีลของพระสัพพัญญู ควรชำระศีลของตนตั้งแต่ต้นก่อน.
               อนึ่ง ศีลย่อมบริสุทธิ์โดยอาการ ๔ อย่าง คือโดยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย ๑ โดยการสมาทาน ๑ โดยไม่ก้าวล่วง ๑ และโดยทำให้เป็นปกติเมื่อมีการก้าวล่วง ๑.
               จริงอยู่ บางคนมีตนเป็นใหญ่ เพราะอัธยาศัยบริสุทธิ์ เกลียดบาปยังหิริให้ปรากฏในภายใน แล้วมีสมาจารบริสุทธิ์ด้วยดี.
               อนึ่ง บางคนเมื่อมีการสมาทาน ถือโลกเป็นใหญ่ สะดุ้งต่อบาปยังโอตตัปปะให้ปรากฏ เป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ด้วยดี.
               ด้วยประการฉะนี้ คนหล่านั้นย่อมตั้งอยู่ในศีล เพราะไม่ล่วงแม้ทั้งสองอย่าง. ก็แต่ว่าบางคราว เพราะหลงลืมไปศีลก็จะพึงขาดไปเป็นต้น. กระทำศีลที่ขาดไปนั้นให้เป็นปกติโดยเร็ว ด้วยการอยู่กรรมเป็นต้น เพื่อความถึงพร้อมแห่งหิริโอตตัปปะตามที่กล่าวแล้วนั้น.
               ศีลนี้มี ๒ อย่าง คือวาริตตศีล ๑ จาริตตศีล ๑.
               ในศีล ๒ อย่างนั้น พึงทราบลำดับการปฏิบัติในวาริตตศีลของพระโพธิสัตว์ดังต่อไปนี้.
               พึงเป็นผู้มีจิตเอ็นดูในสรรพสัตว์โดยที่แม้ฝันก็ไม่พึงเกิดความอาฆาต. ไม่พึงจับต้องของของคนอื่นดุจงู เพราะยินดีในการช่วยเหลือผู้อื่น. หากเป็นบรรพชิต เป็นผู้ประพฤติห่างไกลจากอพรหมจรรย์ ปราศจากเมถุนสังโยค ๗ อย่าง ไม่ต้องพูดถึงจากการล่วงภรรยาคนอื่นละ.
               อนึ่ง หากว่าเป็นคฤหัสถ์ไม่ใช่บรรพชิต แม้จิตลามกก็มิให้เกิดขึ้นในภรรยาของผู้อื่นทุกเมื่อ. เมื่อพูดก็พูดคำพอประมาณเป็นคำจริงมีประโยชน์ น่ารักและกล่าวธรรมตามกาละ. ไม่โลภ ไม่พยาบาท ไม่เห็นวิปริต ประกอบด้วยกัมมัสสกตญาณ มีศรัทธามั่นคงในการปฏิบัติชอบ มีความรักมั่นคงในที่ทั้งปวง.
               เมื่อมหาบุรุษงดเว้นจากอกุศลกรรมบถอันเป็นทางแห่งอบาย ๔ และวัฏฏทุกข์และจากอกุศลธรรม แล้วตั้งอยู่ในกุศลกรรมบถอันเป็นทางแห่งสวรรค์และนิพพาน ความปรารถนาอันเข้าไปประกอบประโยชน์สุขแก่สัตว์ทั้งหลายตามปรารถนา เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยบริสุทธิ์ย่อมสำเร็จเร็วพลัน. บารมีย่อมบริบูรณ์. มหาบุรุษนี้เป็นอย่างนี้.
               มหาบุรุษย่อมให้อภัยทานแก่สรรพสัตว์ด้วยไม่ประพฤติเบียดเบียน ยังเมตตาภาวนาให้สมบูรณ์โดยไม่ยาก ย่อมบรรลุอานิสงส์เมตตา ๑๑ ประการ มีอาพาธน้อย ไม่ป่วยเจ็บ มีอายุยืน มีสุขมากย่อมถึงลักษณะวิเศษและตัดวาสนาอันเป็นโทษได้.
               อนึ่ง เพราะไม่ลักทรัพย์จึงได้โภคสมบัติอันไม่ทั่วไปด้วยโจรเป็นต้น. คนอื่นไม่รังเกียจ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ น่าคบหามีใจไม่ข้องวิภวสมบัติ ชอบบริจาคและตัดวาสนาอันเป็นโลภะได้.
               เพราะไม่ประพฤติผิดพรหมจรรย์จึงเป็นผู้ไม่โลเลมีกายใจสงบ เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจ ไม่เป็นที่รังเกียจของสัตว์ทั้งหลาย กิตติศัพท์อันงามของเขาย่อมฟุ้งไป ไม่มีจิตข้องในมาตุคามทั้งหลาย มีอัธยาศัยไม่โลภ มากไปด้วยเนกขัมมะ ย่อมได้ลักษณะวิเศษและตัดวาสนาอันเป็นโลภะได้.
               เพราะไม่พูดเท็จจึงเป็นประมาณของสัตว์ทั้งหลาย เป็นที่เชื่อถือได้ไว้ใจได้ มีถ้อยคำควรถือได้. เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของทวยเทพ มีปากหอม รักษากายสมาจารวจีสมาจาร ย่อมได้ลักษณะวิเศษและตัดวาสนาอันเป็นกิเลสได้.
               เพราะไม่พูดส่อเสียดจึงมีกายไม่แตกแยก มีบริวารไม่แตกแยก แม้ด้วยความพยายามของคนอื่น. มีเสียงไม่แตกแยกในพระสัทธรรม มีมิตรมั่นคง เป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลายโดยส่วนเดียวดุจสะสมไว้ในระหว่างภพ มากด้วยความไม่เศร้าหมอง.
               เพราะไม่พูดหยาบจึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งหลาย มีปกติอยู่เป็นสุข พูดเพราะ น่ายกย่อง. เสียงของเขาประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมเกิดขึ้น.
               เพราะไม่พูดเพ้อเจ้อจึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ น่าเคารพ น่ายกย่องของสัตว์ทั้งหลาย มีถ้อยคำควรเชื่อถือได้ พูดพอประมาณ มีศักดิ์และอานุภาพมาก ฉลาดในการแก้ปัญหาด้วยปฏิภาณฉับพลัน สามารถในการแก้ปัญหามากมายของสัตว์ทั้งหลาย หลายภาษาด้วยคำคำเดียวเท่านั้นในพุทธภูมิ.
               เพราะเป็นผู้ไม่โลภ จึงมีลาภที่ต้องการ. ได้ความชอบใจในโภคะมากมาย. เป็นที่ยอมรับของกษัตริย์มหาศาลเป็นต้น. ข้าศึกครอบงำไม่ได้ ไม่ถึงความเป็นผู้มีอินทรีย์พิกลพิการ และเป็นบุคคลหาผู้เปรียบมิได้.
               เพราะไม่พยาบาทจึงเป็นผู้ดูน่ารัก เป็นที่ยกย่องของสัตว์ทั้งหลาย ให้สัตว์เลื่อมใสโดยไม่ยาก เพราะเป็นผู้พอใจยิ่งในประโยชน์ของผู้อื่น.
               อนึ่ง เป็นผู้มีสภาวะไม่เศร้าหมอง อยู่ด้วยเมตตา. เป็นผู้มีศักดิ์มีอานุภาพมาก.
               เพราะเป็นผู้ไม่เห็นผิดจึงย่อมได้สหายดี. แม้จะถึงตัดศีรษะก็ไม่ทำกรรมชั่ว. เป็นผู้ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าวเพราะเห็นความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน. ศรัทธาของเราเป็นรากตั้งมั่นในพระสัทธรรม. เชื่อการตรัสรู้ของพระตถาคต ไม่ยินดีในลัทธิอื่น ดุจพระยาหงส์ไม่ยินดีในที่มีขยะฉะนั้น.
               เป็นผู้ฉลาดในการกำหนดรู้ลักษณะ ๓ อย่างไร. และเป็นผู้ได้อนาวรณญาณในที่สุด. ยังไม่บรรลุโพธิญาณเพียงใด จะเป็นผู้เด่นในหมู่สัตว์นั้นๆ เพียงนั้นและถึงสมบัติมากมายก่ายกอง.
               พึงยังการนับถืออย่างมากให้เกิดขึ้นว่า ชื่อว่าศีลนี้เป็นที่ตั้งแห่งสรรพสมบัติ เป็นแดนเกิดของพระพุทธคุณทั้งปวง เป็นเบื้องต้น เป็นจรณะ เป็นหน้า เป็นประมุขของพุทธการกธรรมทั้งปวงแล้ว พึงเป็นผู้ไม่ประมาทในการสำรวมกายวาจา ในการฝึกอินทรีย์ ในความบริสุทธิ์ของอาชีวะและในการบริโภคปัจจัยทั้งหลาย ด้วยกำลังแห่งสติสัมปชัญญะ กำหนดลาภสักการะและความสรรเสริญ ดุจศัตรูต่อหน้า ทำเป็นมิตรแล้วให้ศีล สมบูรณ์โดยเคารพตามนัยดังกล่าวแล้ว มีอาทิว่า กิกิว อณฺฑํ ดังนี้.
               นี้เป็นลำดับของการปฏิบัติในวาริตตศีล.
               ส่วนการปฏิบัติในจาริตตศีลพึงทราบอย่างนี้.
               พระโพธิสัตว์กระทำอภิวาท ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่กัลยาณมิตรผู้ดำรงอยู่ในฐานะครูตลอดเวลา.
               อนึ่ง ทำการบำรุงกัลยาณมิตรเหล่านั้นตลอดเวลา ทำการช่วยเหลือคนไข้ทั้งหลาย ฟังบทสุภาษิตแล้วทำสาธุการ. พรรณาคุณของผู้มีคุณธรรม อดทนในการทำความเสียหายของคนอื่น. ระลึกถึงผู้ทำอุปการะ. อนุโมทนาบุญ. น้อมบุญของตนเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณ. อยู่ในความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลายตลอดกาล. เมื่อมีโทษเห็นโดยความเป็นโทษแล้วแจ้งแก่สหธรรมิกเช่นนั้นตามความเป็นจริง. บำเพ็ญสัมมาปฏิบัติให้ยิ่งโดยชอบ.
               อนึ่ง เมื่อควรทำสิ่งเป็นประโยชน์อันสมควรของตนแก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านถึงความเป็นสหาย.
               อนึ่ง เมื่อทุกข์มีความเจ็บป่วยเป็นต้นเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้จัดการช่วยเหลือตามสมควร.
               เมื่อสัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในความเสื่อมมีความเสื่อมจากญาติและสมบัติเป็นต้น ก็ช่วยบรรเทาความเศร้าโศก เป็นผู้ตั้งอยู่ในสภาพที่จะช่วยเหลือ ข่มผู้ที่ควรข่มโดยถูกธรรม เพื่อให้พ้นจากอกุศลแล้วตั้งอยู่ในกุศล. ยกย่องผู้ที่ควรยกย่องโดยธรรม.
               กรรมใดที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง กว้างขวางที่สุด มีอานุภาพเป็นอจินไตยอันนำประโยชน์สุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลายโดยส่วนเดียวอันพระมหาโพธิสัตว์แต่ก่อนได้ประพฤติแล้ว. โพธิสมภารของพระมหาโพธิสัตว์เหล่านั้นได้ถึงความแก่กล้าโดยชอบด้วยกรรมใด. ฟังกรรมเหล่านั้นแล้วไม่หวาดสะดุ้ง มหาบุรุษแม้เหล่านั้นก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีอัตภาพอบรมเพื่อความบริบูรณ์แห่งการศึกษาตามลำดับ ได้บรรลุถึงบารมีอย่างอุกฤษฏ์ในโพธิสมภารเพื่อถึงพร้อม ด้วยอานุภาพอันยอดเยี่ยมเช่นนั้น.
               เพราะฉะนั้น แม้เราก็พึงปฏิบัติอย่างนั้นโดยชอบในสิกขามีศีลสิกขาเป็นต้น. ไม่สละความเพียรอันมีศรัทธาเป็นบุเรจาริกด้วยคิดว่า แม้เราก็จะบำเพ็ญสิกขาให้บริบูรณ์ตามลำดับด้วยการปฏิบัติ แล้วจักบรรลุตามถึงบทนั้นโดยส่วนเดียว ดังนี้ชื่อว่าเป็นผู้ทำความบริบูรณ์ในศีลทั้งหลายโดยชอบ.
               อนึ่ง มหาบุรุษเป็นผู้ปกปิดความดี เปิดเผยโทษ. มักน้อย สันโดษ สงัด ไม่คลุกคลี ทนต่อทุกข์ ไม่หวาดสะดุ้ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เย่อหยิ่ง ไม่หวั่นไหว ไม่ปากร้าย ไม่แส่หาเรื่อง มีอินทรีย์สงบ ใจสงบ ปราศจากมิจฉาชีพมีการหลอกลวงเป็นต้น ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัย ในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบท ปรารภความเพียร มีตนมั่นคง ไม่คำนึงถึงกายและชีวิต. ไม่ยอมรับ ละ บรรเทาความเพ่งในกายและชีวิตแม้มีประมาณน้อย. ไม่ต้องพูดถึงมีประมาณมากละ.
               ละ บรรเทาอุปกิเลสมีโกรธและผูกโกรธเป็นต้น อันเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้ทุศีลแม้ทั้งปวง. เป็นผู้ไม่ยินดีด้วยการบรรลุธรรมวิเศษอันมีประมาณน้อย. ไม่ท้อแท้ใจ พยายามเพื่อบรรลุธรรมวิเศษยิ่งๆ ขึ้นไป.
               สมบัติตามที่ได้แล้วไม่มีส่วนแห่งความเสื่อมหรือความมั่นคง.
               อนึ่ง มหาบุรุษเป็นผู้นำคนตาบอด บอกทางให้. ให้สัญญาด้วยนิ้วมือแก่คนหูหนวก. อนุเคราะห์ประโยชน์. คนใบ้ก็เหมือนกัน. ให้ตั่งให้ยานแก่คนพิการหรือนำไป.
               คนไม่มีศรัทธาพยายามให้มีศรัทธา คนเกียจคร้านพยายามให้เกิดอุตสาหะ คนหลงลืมพยายามให้ได้สติ คนมีใจวุ่นวายพยายามให้ได้สมาธิ คนมีปัญญาทรามพยายามให้มีปัญญา. คนหมกมุ่นในกามฉันทะ พยายามบรรเทากามฉันทะ. คนหมกมุ่นในพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะและวิจิกิจฉา พยายามให้บรรเทาวิจิกิจฉา. คนไม่ปกติมีกามวิตกเป็นต้น พยายามบรรเทามิจฉาวิตกมีกามวิตกเป็นต้น. อาศัยความเป็นผู้รู้คุณที่ทำแล้วแก่สัตว์ผู้เป็นบุรพการี จึงพูดขึ้นก่อน พูดน่ารัก สงเคราะห์ นับถือ โดยทำการตอบแทนเช่นเดียวกันหรือยิ่งกว่า.
               มหาบุรุษย่อมติดตามช่วยเหลือสหายในอันตรายทั้งหลาย. มหาบุรุษกำหนดรู้ตนและสภาพปกติของสหายเหล่านั้นๆ แล้ว อยู่รวมกับสหายเหมือนที่เคยอยู่ร่วมกันมา.
               อนึ่ง ปฏิบัติในสหายเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา. ด้วยให้พ้นจากอกุศลแล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล มิใช่ให้ตั้งอยู่โดยอย่างอื่น. เพราะการตามรักษาจิตของผู้อื่นของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ก็เพียงเพื่อความเจริญอย่างยิ่งเท่านั้น. เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่น. ไม่ควรทะเลาะ. ไม่ควรให้ถึงความเป็นผู้เก้อเขิน เพราะอัธยาศัยนั้น. ไม่ควรให้เกิดความรังเกียจสัตว์อื่น. ควรทักท้วงในฐานะที่ควรข่ม. เมื่อเขาอยู่ต่ำกว่าไม่ควรวางตนในที่สูงกว่า. ไม่ควรคบในผู้อื่นจนหมดสิ้นก็หามิได้. ไม่ควรคบมากเกินไป. ไม่ควรคบพร่ำเพรื่อ.
               แต่คบสัตว์ที่ควรคบตามสมควรแก่กาละเทศะ. ไม่ติเตียนคนที่รักหรือสรรเสริญคนที่ไม่รัก ต่อหน้าผู้อื่น. ไม่วิสาสะกับคนที่ไม่คุ้นเคย. ไม่ปฏิเสธการเชื้อเชิญที่เป็นธรรม. ไม่แสดงตัวมากไป. ไม่รับของมากเกินไป. ย่อมยินดีกับผู้ที่มีศรัทธาด้วยการกล่าวอานิสงส์ของศรัทธา.
               อนึ่ง หากว่าพระโพธิสัตว์เป็นผู้ถึงกำลังปัญญา แสดงนรกเป็นต้น ตามสมควรด้วยกำลังอภิญญา ยังสัตว์ผู้ถึงความประมาทให้สังเวชแล้วยังสัตว์ผู้ไม่มีศรัทธาเป็นต้น ให้ตั้งอยู่ในศรัทธาเป็นต้น. ให้หยั่งลงในศาสนา ให้เจริญงอกงามในคุณสมบัติมีทานเป็นต้น.
               สัตว์นี้เป็นผู้ประพฤติตามจารีตของมหาบุรุษ เป็นผู้หลั่งไหลบุญกุศลหาประมาณมิได้ ย่อมเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป พึงทราบด้วยประการฉะนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านตั้งคำถามไว้ว่า ศีลคืออะไร ศีลด้วยอรรถว่ากระไร แล้วกล่าวความพิสดารของศีลไว้ในวิสุทธิมรรคด้วยประการต่างๆ โดยนัยมีอาทิว่า ธรรมมีเจตนาเป็นต้นของผู้งดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น หรือผู้บำเพ็ญวัตรปฏิบัติ ชื่อว่าศีล. กถาทั้งหมดนั้นควรนำมากล่าวในที่นี้.
               ในวิสุทธิมรรคนั้น ศีลกถามาด้วยอำนาจแห่งสาวกโพธิสัตว์อย่างเดียว.
               ในที่นี้ ท่านกล่าวถึงศีลกถา ทำความเป็นผู้ฉลาดในอุบายคือกรุณาเป็นส่วนเบื้องต้นด้วยอำนาจแห่งพระมหาโพธิสัตว์ เพราะเหตุนั้น นี้แหละเป็นความต่างกัน.
               มหาบุรุษไม่น้อมไปเพื่อวิชชา ๓ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ สาวกโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ เหมือนศีลนี้ไม่น้อมไปเพื่อพ้นความเศร้าหมองในทุคติของตน ไม่น้อมไปเพื่อราชสมบัติ เพื่อจักรพรรดิสมบัติ เพื่อเทวสมบัติ เพื่อสักกสมบัติ เพื่อมารสมบัติ เพื่อพรหมสมบัติ แม้ในสุคติ.
               ที่แท้ พระมหาโพธิสัตว์ย่อมน้อมไปเพื่อให้ถึงศีลาลังการอันยอดเยี่ยมของสัตว์ทั้งหลายด้วยความเป็นพระสัพพัญญูฉะนี้แล.
               นี้คือลำดับแห่งการปฏิบัติศีลบารมี.
               อนึ่ง เพราะการเกิดขึ้นแห่งกุศลจิตเป็นไปแล้วด้วยการออกจากกามและภพทั้งหลาย มีการเห็นโทษเป็นเบื้องต้น กำหนดด้วยความเป็นผู้ฉลาดในอุบายคือกรุณา ชื่อว่าเนกขัมมบารมี.
               ฉะนั้น กามทั้งหลายมีความยินดีน้อย มีการผูกพันด้วยสิ่งไม่เป็นประโยชน์มากมายลิ้มเลีย ความที่ฆราวาสไม่มีโอกาสหาความสุขในเนกขัมมะได้และความใคร่ ดุจลิ้มเลียหยาดน้ำผึ้งที่ติดอยู่บนคมมีด เพราะตั้งอยู่กับความเศร้าหมองทั้งสิ้น เพราะคับแค้นมากด้วยบุตรภรรยาเป็นต้น เพราะวุ่นวายด้วยการตั้งใจทำการงานหลายอย่างมีกสิกรรมและพาณิชยกรรมเป็นต้น.
               ได้เวลานิดหน่อยดุจการฟ้อนรำที่ต้องใช้แสงไฟ. ได้สัญญาวิปริตดุจเครื่องประดับของคนบ้า. เป็นการตอบแทนดุจปกปิดไว้ด้วยคูถ. ไม่อิ่มดุจดื่มน้ำที่นิ้วมืออันเปียกด้วยน้ำ. มีความไม่สบายดุจบริโภคอาหารในเวลาหิว. เป็นเหตุรวมความพินาศดุจเหยื่อที่เบ็ด. เป็นเหตุเกิดทุกข์ใน ๓ กาลดุจความร้อนของไฟ. มีการผูกเป็นเครื่องหมายดุจยางดักลิง. มีการปิดไว้ด้วยสิ่งไม่มีประโยชน์ดุจปิดด้วยเปรียง. เป็นที่ตั้งแห่งภัยดุจอยู่บ้านศัตรู. เป็นเหยื่อของกิเลสมารเป็นต้นดุจเลี้ยงศัตรู. มีทุกข์เกิดจากการปรวนแปรไปดุจสมบัติมหรสพ. มีการเผาภายในดุจไฟในโพรงไม้. มีโทษไม่น้อยดุจหญ้าปล้องห้อยลงไปในหลุมเก่า. เป็นเหตุแห่งความกระหายดุจดื่มน้ำเค็ม. การเสพของชนชั้นต่ำดุจสุราเมรัย. อุปมาด้วยโครงกระดูกเพราะมีความยินดีน้อย.
               อนึ่ง เพราะเนกขัมมะเป็นเหตุของบรรพชา. ฉะนั้นจึงไม่ยกบรรพชาขึ้นมาก่อน. และเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ พระมหาสัตว์ดำรงอยู่ในบรรพชา จึงไม่ยกบรรพชาของดาบสปริพาชกผู้เป็นกรรมวาที กิริยาวาที ขึ้นมากล่าว.
               ก็เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอุบัติแล้ว ควรบวชในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น.
               อนึ่ง ครั้นบวชแล้วอันผู้ตั้งอยู่ในศีลตามที่กล่าวแล้วควรสมาทานธุดงค์คุณ เพื่อความผ่องแผ้วแห่งศีลบารมีนั้นนั่นแล.
               จริงอยู่ มหาบุรุษทั้งหลายสมาทานธุดงค์ธรรม แล้วบริหารธุดงค์ธรรมเหล่านั้นโดยชอบเป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีสมาจารทั้งปวงบริสุทธิ์ด้วยคุณของผู้มีศีลอันหาโทษมิได้ เพราะเป็นผู้มีมลทินคือกิเลสบ้วนออกด้วยน้ำคือคุณธรรม มีความขัดเกลากิเลส สงัด ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร เลี้ยงง่าย คงที่เป็นต้น ตั้งอยู่ในอริยวงศ์ ๓ อันเป็นของเก่า เข้าถึงฌานอันมีประเภทเป็นอุปจารฌานและอัปนาฌานตามสมควรในอารมณ์ ๔๐ เพื่อบรรลุอริยวงศ์คือความเป็นผู้ยินดีในภาวนาที่ ๔ อยู่.
               ด้วยประการฉะนี้ เป็นอันมหาบุรุษนั้นบำเพ็ญเนกขัมมบารมีโดยชอบแล้ว.
               อนึ่ง ในที่นี้พึงกล่าวกรรมฐานและวิธีภาวนาแห่งสมาธิภาวนา ๔๐ คือ กสิณ ๑๐ พร้อมด้วยธุดงค์ธรรม ๑๓ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อรูปฌาน ๔ สัญญา ๑ ววัตถานะ คือการกำหนดธาตุ ๑ โดยพิสดาร. เพราะทั้งหมดนั้นท่านกล่าวไว้พิสดารแล้วในวิสุทธิมรรค โดยประการทั้งปวง ฉะนั้นพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในวิสุทธิมรรคนั้นแล.
               จริงอยู่ ในวิสุทธิมรรคนั้นท่านกล่าวด้วยอำนาจแห่งสาวกโพธิสัตว์อย่างเดียว. ในที่นี้ควรกล่าวทำความเป็นผู้ฉลาดในอุบาย คือกรุณาด้วยอำนาจแห่งพระมหาโพธิสัตว์ ความต่างกันมีด้วยประการฉะนี้.
               พึงทราบลำดับแห่งเนกขัมมบารมีในที่นี้อย่างนี้แล.
               อนึ่ง ปัญญาเป็นดุจแสงสว่าง ย่อมไม่ร่วมกับโมหะอันเป็นความมืด ฉะนั้นพระโพธิสัตว์ผู้หวังในปัญญาบารมีสมบูรณ์ จึงควรเว้นเหตุแห่งโมหะก่อน.
               พึงทราบถึงเหตุแห่งโมหะเหล่านี้ดังต่อไปนี้ :-
               ความริษยา ความเฉื่อยชา ความซบเซา ความเกียจคร้าน ความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ ความหลับง่าย การไม่ตั้งใจแน่วแน่ ความไม่สนใจในญาณ ถือตัวผิด การไม่สอบถาม การไม่บริหารร่างกายให้ดี จิตไม่ตั้งมั่น คบบุคคลปัญญาทราม ไม่เข้าไปใกล้คนมีปัญญา ดูหมิ่นตน ใคร่ครวญผิด ยึดถือวิปริต มั่นในกายมาก ไม่มีความสังเวชใจ นิวรณ์ ๕ ผู้เสพธรรมโดยย่อ ปัญญายังไม่เกิด ย่อมไม่เกิด ที่เกิดแล้วย่อมเสื่อม. ผู้เว้นเหตุแห่งความหลงเหล่านี้ พึงทำความเพียรในพาหุสัจจะและในฌานเป็นต้น ด้วยประการฉะนี้.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก สโมธานกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 35อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 36
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=9478&Z=9526
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=52&A=7027
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=52&A=7027
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๔  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :