ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 3อ่านอรรถกถา 33.2 / 4อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๒. โกณฑัญญพุทธวงศ์

               พรรณนาวงศ์พระโกณฑัญญพุทธเจ้าที่ ๒               
               ดังได้สดับมา เมื่อพระผู้มีพระเจ้าทีปังกรเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่แสนปี. เพราะอันตรธานแห่งพระสาวกทั้งหลายของพระพุทธะและอนุพุทธะแม้ศาสนาของพระองค์ก็อันตรธาน.
               ต่อมาภายหลังศาสนาของพระองค์ ล่วงไปอสงไขยหนึ่ง พระศาสดาพระนามว่าโกณฑัญญะก็อุบัติในกัปหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงบำเพ็ญบารมีมาสิบหกอสงไขยแสนกัป อบรมบ่มพระญาณแก่กล้าแล้ว ทรงดำรงอยู่ในอัตภาพเช่นเดียวกับอัตภาพเป็นพระเวสสันดร จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ดำรงอยู่ในดุสิตนั้น จนตลอดพระชนมายุ ประทานปฏิญาณแก่เทวดาทั้งหลาย จุติจากดุสิต ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสุชาดาเทวี ในราชสกุลของพระเจ้าสุนันทะ กรุงรัมมวดี.
               ในขณะที่พระองค์ทรงถือปฏิสนธิ ก็บังเกิดพระปาฏิหาริย์ ๓๒ ประการดังกล่าวไว้ในวงศ์ของพระทีปังกรพุทธเจ้า.
               พระองค์มีเหล่าเทวดาถวายอารักขา ถ้วนทศมาสก็ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ทรงเป็นยอดของสรรพสัตว์ บ่ายพระพักตร์ทางทิศอุดร เสด็จย่างพระบาทได้ ๗ ก้าว ทรงแลดูทุกทิศ ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ตั้งแต่บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก.
               ต่อนั้น ในวันขนานพระนามของพระโพธิสัตว์นั้น พระประยูรญาติทั้งหลายก็ขนานพระนามว่า โกณฑัญญะ. ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระโคตร เป็นโกณฑัญญโคตร. เขาว่า พระองค์มีปราสาท ๓ หลังน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง ชื่อว่า รามะปราสาท สุรามะปราสาท สุภะปราสาท.๑-
____________________________
๑- บาลีเป็น รุจิ สุรุจิ และสุภะปราสาท

               ทั้ง ๓ หลังนั้นมีสตรีฝ่ายนาฏกะ ผู้ชำนาญการฟ้อนรำ การขับร้องและการบรรเลง ประจำอยู่ถึงสามแสนนาง. พระองค์มีพระมเหสีพระนามว่ารุจิเทวี มีพระโอรสพระนามว่าวิชิตเสนะ ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่หมื่นปี.
               พระโพธิสัตว์นั้นทรงเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายและนักบวช เสด็จออกอภิเนษกรมณ์ด้วยรถทรงเทียมม้า ทรงผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือน.
               โกณฑัญญกุมารกำลังผนวชอยู่ คนสิบโกฏิก็บวชตามเสด็จโกณฑัญญกุมารนั้น อันคนเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ก็ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือน ณ ดิถีเพ็ญเดือนวิสาขะเสวยข้าวมธุปายาสรสอร่อยอย่างยิ่ง ซึ่งธิดาเศรษฐีชื่อว่ายโสธรา ผู้มีเต้าถันอวบอิ่มเท่ากัน ณ บ้าน สุนันทคาม ถวายแล้ว ทรงยับยั้งพักกลางวัน ณ ป่าต้นสาละ ที่ประดับด้วยผลใบอ่อนและหน่อ.
               เวลาเย็นทรงละหมู่แล้วทรงรับหญ้า ๘ กำที่สุนันทะอาชีวกถวายมาแล้ว ทรงทำประทักษิณต้นสาลกัลยาณี [ต้นขานาง] ๓ ครั้ง ทรงสำรวจดูทิศบูรพา ทรงทำต้นไม้ที่ตรัสรู้ไว้เบื้องพระปฤษฎางค์ ทรงปูลาดหญ้ากว้าง ๕๘ ศอก ทรงนั่งขัดสมาธิ อธิษฐานความเพียรมีองค์ ๔ ทรงกำจัดกองกำลังของมาร.
               ในราตรีปฐมยามทรงชำระปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ในมัชฌิมยามทรงชำระทิพยจักษุ ในปัจฉิมยามทรงพิจารณาปัจจยาการ ทรงออกจากจตุตถฌานที่มีอานาปานสติเป็นอารมณ์ ทรงหยั่งสำรวจในปัญจขันธ์ ก็ทรงเห็นลักษณะทั้งหลายด้วยปัญญาอันสม่ำเสมอ โดยอุทยัพพญาณ ทรงเจริญวิปัสสนาจนถึงโคตรภูญาณ ทรงแทงตลอดมรรคญาณ ๔ ผลญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณกำหนดกำเนิด ๔ ญาณกำหนดคติ ๕ อสาธารณญาณ ๖ และพระพุทธคุณทั้งสิ้น ทรงมีความดำริบริบูรณ์แล้ว ประทับนั่ง ณ โคนไม้ที่ตรัสรู้ ทรงเปล่งอุทานอย่างนี้ว่า
                         เราแสวงหาตัณหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบ
               จึงต้องท่องเที่ยวไปตลอดชาติสงสารเป็นอันมาก ชาติความ
               เกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ ดูก่อนตัณหานายช่างผู้สร้างเรือน เรา
               เห็นท่านแล้ว ท่านจักสร้างเรือนอีกไม่ได้ โครงสร้างเรือนของ
               ท่านเราหักหมดแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อออกแล้ว จิตของเราถึง
               ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว.
                         คติแห่งไฟที่ลุกโพลง ที่ภาชนะสัมฤทธิ์ที่นายช่างตี
               ด้วยพะเนินเหล็กกำจัดแล้วก็สงบเย็นลงโดยลำดับ ไม่มีใครรู้
               คติความไปของมันได้ ฉันใด. คติของพระขีณาสพผู้หลุดพ้น
               โดยชอบ ข้ามเครื่องผูกคือกามโอฆะ บรรลุสุขอันไม่หวั่นไหว
               ก็ไม่มีใครจะรู้คติของท่านได้ ฉันนั้น.๒-

____________________________
๒- ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๗๘.

               ทรงยับยั้งอยู่ด้วยสุขในผลสมาบัติ ณ โคนโพธิพฤกษ์ ๗ สัปดาห์ในสัปดาห์ที่ ๘ ทรงอาศัยการอาราธนาของพรหม ทรงใคร่ครวญว่า เราจะแสดงธรรมครั้งแรกแก่ใครเล่าหนอ ก็ได้ทรงเห็นภิกษุ ๑๐ โกฏิซึ่งบวชกับพระองค์ว่า
               กุลบุตรพวกนี้สะสมกุศลมูลไว้ จึงบวชตามเราซึ่งกำลังบวช บำเพ็ญเพียรกับเรา บำรุงเรา เอาเถิด เราจะพึงแสดงธรรมแก่กุลบุตรพวกนี้ก่อนใครหมด.
               ครั้นทรงใคร่ครวญอย่างนี้แล้ว ก็ทรงตรวจดูว่า ภิกษุเหล่านั้น บัดนี้อยู่ที่ไหนก็ทรงเห็นว่าอยู่กันที่เทวะวัน กรุงอรุนธวดีระยะทาง ๑๘ โยชน์แต่ที่นี้ จึงทรงอันตรธานจากโคนโพธิพฤกษ์ไปปรากฏที่เทวะวัน เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น.
               สมัยนั้น ภิกษุสิบโกฏิเหล่านั้นอาศัยกรุงอรุนธวดีอยู่ที่เทวะวัน.
               ก็แลเห็นพระทศพลทรงพุทธดำเนินมาแต่ไกล พากันมีใจผ่องใสรับเสด็จ รับบาตร จีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปูลาดพุทธอาสน์ ทำความเคารพ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งแวดล้อม ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง.
               ณ ที่นั้น พระโกณฑัญญทศพลอันหมู่มุนีแวดล้อมแล้ว ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อันรุ่งโรจน์ ประดุจท้าวสหัสนัยน์อันหมู่เทพชั้นไตรทศแวดล้อม ประดุจดวงรัชนีกรในฤดูสารทที่โคจร ณ พื้นนภากาศอันไร้มลทิน ประดุจดวงจันทร์เพ็ญ อันหมู่ดาวแวดล้อม.
               ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสพระธัมมจักกัปวัตตนสูตร มีปริวัฏ ๓ อาการ ๑๒ อันยอดเยี่ยม ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงซ่องเสพแล้ว แก่ภิกษุเหล่านั้น ทรงยังเทวดาและมนุษย์แสนโกฏิ มีภิกษุสิบโกฏิเป็นประธานให้ดื่มอมฤตธรรม.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ภายหลังสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพระ
               นามว่าโกณฑัญญะผู้นำโลก ผู้มีพระเดชไม่มีที่สุด ผู้มีบริวาร
               ยศกำหนดไม่ได้ มีพระคุณประมาณมิได้ ยากที่ผู้ใดจะเข้า
               เฝ้า มีพระขันติอุปมาดังแผ่นธรณี มีพระศีลคุณอุปมาดังสาคร
               มีพระสมาธิอุปมาดังเขาเมรุ มีพระญาณอุปมาดังท้องนภากาศ.
                         พระพุทธเจ้าทรงประกาศอินทรีย์ พละ โพชฌงค์และ
               มรรคสัจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ทุกเมื่อ.
                         เมื่อพระโกณฑัญญพุทธเจ้า ผู้นำโลกทรงประกาศพระ
               ธรรมจักร อภิสมัยการตรัสรู้ธรรมครั้งแรกก็ได้มีแก่เทวดาและ
               มนุษย์แสนโกฏิ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทีปงฺกรสฺส อปเรน ความว่า ในสมัยต่อจากสมัยของพระทีปังกรศาสดา.
               บทว่า โกณฺฑญฺโญ นาม ได้แก่ เป็นพระนามาภิไธยที่ทรงได้รับโดยพระโคตรของพระองค์.
               บทว่า นายโก ได้แก่ เป็นผู้นำวิเศษ.
               บทว่า อนนฺตเตโช ได้แก่ มีพระเดชไม่มีที่สุด ด้วยเดชแห่งพระศีลคุณพระญาณและบุญ. เบื้องต่ำแต่อเวจี เบื้องบนถึงภวัคคพรหม เบื้องขวางโลกธาตุอันไม่มีที่สุด ในระหว่างนี้ แม้บุคคลผู้หนึ่งชื่อว่าเป็นผู้สามารถที่จะยืนมองพระพักตร์ของพระองค์ไม่มีเลย ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า อนนฺตเตโช.
               บทว่า อมิตยโส ได้แก่ มีบริวารยศไม่มีที่สุด.
               จริงอยู่ แสนปีของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ตลอดจนถึงสมัยเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในระหว่างนี้ จำนวนภิกษุบริษัทกำหนดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจึงตรัสว่า อมิตยโส. แม้ผู้มีเกียรติคุณที่กำหนดมิได้ ก็ตรัสว่า อมิตยโส.
               บทว่า อปฺปเมยฺโย ได้แก่ ผู้ประมาณมิได้ โดยปริมาณหมู่แห่งคุณ เหตุนั้นจึงชื่อว่า อปฺปเมยฺโย มีพระคุณหาประมาณมิได้.
               เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
                                   พุทฺโธปิ พุทฺธสฺส ภเณยฺย วณฺณํ
                                   กปฺปมฺปิ เจ อญฺญมภาสมาโน
                                   ขีเยถ กปฺโป จิรทีฆมนฺตเร
                                   วณฺโณ น ขีเยถ ตถาคตสฺส.

                         ถ้าแม้ว่าพระพุทธเจ้า พึงตรัสสรรเสริญพระคุณของ
                         พระพุทธเจ้า โดยไม่ตรัสเรื่องอื่นเลย แม้ตลอดทั้งกัป.
                         กัปที่มีในระหว่างกาลอันยาวนาน ก็จะพึงสิ้นไป แต่
                         การสรรเสริญพระคุณของพระตถาคต ยังหาสิ้นไปไม่.

               เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงเรียกว่าอัปปเมยยะ เพราะทรงมีหมู่พระคุณประมาณมิได้.
               บทว่า ทูราสโท ได้แก่ เป็นผู้อันใครๆ เข้าเฝ้าได้ยาก.
               อธิบายว่า ความเป็นผู้อันใครๆ ไม่อาจเบียดเสียดกันเข้าไปเฝ้า ชื่อว่าทุราสทะ คือเป็นผู้อันใครๆ ไม่มีอำนาจเทียบเคียงได้.
               บทว่า ธรณูปโม ได้แก่ ผู้เสมอด้วยแผ่นธรณี.
               บทว่า ขมเนน ได้แก่ เพราะพระขันติ พระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่าผู้อุปมาด้วยแผ่นธรณี เพราะไม่ทรงหวั่นไหวด้วยอิฐารมณ์และอนิฐารมณ์ มีลาภและไม่มีลาภเป็นต้น เหมือนมหาปฐพีอันหนาถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์ ไม่ไหวด้วยลมปกติฉะนั้น.
               บทว่า สีเลน สาครูปโม ได้แก่ ทรงเสมอด้วยสาคร เพราะไม่ทรงละเมิดขอบเขตด้วยศีลสังวร.
               จริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาสมุทรตั้งอยู่เป็นปกติ ไม่ล่วงขอบเขต ดังนี้.

               อนันตะ ความไม่มีที่สุด ๔ ประการ               
               บทว่า สมาธินา เมรูปโม ได้แก่ ทรงเป็นผู้เสมอคือเสมือนด้วยขุนเขาเมรุ เพราะไม่มีความหวั่นไหวอันจะเกิดแต่ธรรมที่เป็นข้าศึกต่อสมาธิ หรือว่ามีพระสรีระมั่นคง เหมือนขุนเขาเมรุ.
               ในบทว่า ญาเณน คคนูปโม นี้ ท่านทำอุปมาด้วยอากาศที่ไม่มีที่สุด เพราะพระญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีที่สุด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนันตะ ไม่มีที่สุดไว้ ๔ อย่าง เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า
                         สตฺตกาโย จ อากาโส จกฺกวาฬา จนนฺตกา
                         พุทฺธญาณํ อปฺปเมยฺยํ น สกฺกา เอเต วิชานิตุํ.

                         หมู่สัตว์ ๑ อากาศ ๑ จักรวาล ไม่มีที่สุด ๑
                         พระพุทธญาณ หาประมาณมิได้ ๑ ทั้ง ๔
                         นี้อันใครๆ ไม่อาจรู้ได้.

               เพราะฉะนั้น จึงทรงทำอุปมาญาณอันไม่มีที่สุด ด้วยอากาศที่ไม่มีที่สุดแล.
               บทว่า อินฺทฺริยพลโพชฺฌงฺคมคฺคสจฺจปฺปกาสนํ ความว่า แม้สติปัฏฐาน สัมมัปปธานและอิทธิบาท ก็เป็นอันทรงถือเอาด้วย ด้วยการถือเอาอินทรีย์ พละ โพชฌงค์และมรรคสัจเหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงทรงประกาศแสดงธรรมเป็นเครื่องประกาศโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการโดยสังเขป ๔ มีอินทรีย์เป็นต้น.
               บทว่า หิตาย แปลว่า เพื่อประโยชน์เกื้อกูล.
               บทว่า ธมฺมจกฺกํ ปวตฺเตนฺเต ได้แก่ เมื่อทรงให้เทศนาญาณเป็นไปอยู่.
               ต่อจากนั้น ในมหามงคลสมาคม เทวดาในหมื่นจักรวาล เนรมิตอัตภาพอันละเอียด ประชุมกันในจักรวาลนี้นี่แล.
               เล่ากันว่า ในมหามงคลสมาคมนั้น เทพบุตรองค์หนึ่งทูลถามมงคลปัญหากะพระโกณฑัญญทศพล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสมงคลทั้งหลายโปรดเทพบุตรองค์นั้น. ในมหามงคลสมาคมนั้น เทวดาเก้าหมื่นโกฏิบรรลุพระอรหัต. จำนวนพระอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้นกำหนดไม่ได้เลย.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมนอกไป
               จากนั้น โปรดมนุษย์และเทวดาทั้งหลายในสมาคม
               อภิสมัยการตรัสรู้ธรรมครั้งที่ ๒ ก็ได้มีแก่เทวดาเก้า
               หมื่นโกฏิ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตโต ปรมฺปิ ได้แก่ แม้ในส่วนอื่นอีก จากนั้น.
               บทว่า เทเสนฺเต ได้แก่ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม.
               บทว่า นรมรูนํ ได้แก่ แก่มนุษย์และเทวดาทั้งหลาย.
               ครั้งใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ย่ำยีมานะของเดียรถีย์ ทรงแสดงธรรม ณ ภาคพื้นนภากาศ. ครั้งนั้น มนุษย์และเทวดาแปดหมื่นโกฏิ บรรลุพระอรหัต ผู้ที่ตั้งอยู่ในผล ๓ เกินที่จะนับได้.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ครั้งใด พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงย่ำยีพวกเดียรถีย์
                         จึงทรงแสดงธรรมโปรด ครั้งนั้น อภิสมัยการตรัสรู้ธรรม
                         ครั้งที่ ๓ จึงได้มีแก่สัตว์แปดหมื่นโกฏิ.

               แก้อรรถ               
               พึงนำ ตทาศัพท์ มาจึงจะเห็นความในคาถานั้นว่า ครั้งใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม ครั้งนั้น ธรรมาภิสมัยจึงได้มีแก่สัตว์แปดหมื่นโกฏิ.
               ได้ยินว่า พระโกณฑัญญศาสดาตรัสรู้พระอภิสัมโพธิญาณแล้ว พรรษาแรก ทรงอาศัยกรุงจันทวดี ประทับอยู่ ณ พระวิหารจันทาราม ในที่นั้น ภัททมาณพ บุตรของพราหมณ์มหาศาลชื่อสุจินธระ และสุภัททมาณพ บุตรของยโสธรพราหมณ์ ฟังพระธรรมเทศนาเฉพาะพระพักตร์ของพระโกณฑัญญพุทธเจ้า มีใจเลื่อมใส ก็บวชในสำนักของพระองค์ พร้อมกับมาณพหมื่นหนึ่งแล้วบรรลุพระอรหัต.
               ครั้งนั้น พระโกณฑัญญศาสดาอันภิกษุแสนโกฏิมีพระสุภัททเถระ เป็นประธานแวดล้อมแล้ว ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ณ เพ็ญเดือนเชษฐะ (เดือน ๗) นั้นเป็นการประชุมครั้งที่ ๑.
               ต่อจากนั้น เมื่อพระโอรสของพระโกณฑัญญศาสดา พระนามว่าวิชิตเสนะ ทรงบรรลุพระอรหัต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ณ ท่ามกลางภิกษุพันโกฏิมีพระวิชิตเสนะนั้นเป็นประธาน นั้นเป็นการประชุมครั้งที่ ๒.
               สมัยต่อมา พระทศพลเสด็จจาริก ณ ชนบท ทรงยังพระเจ้าอุเทนซึ่งมีชนเก้าสิบโกฏิเป็นบริวารให้ทรงผนวชพร้อมด้วยบริษัท เมื่อพระเจ้าอุเทนนั้นทรงบรรลุพระอรหัตแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าอันพระอรหันต์เก้าสิบโกฏิมีพระเจ้าอุเทนนั้นเป็นประธานแวดล้อมแล้ว ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นการประชุมครั้งที่ ๓.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   พระโกณฑัญญพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่
                         ทรงมีการประชุมภิกษุ ผู้เป็นพระขีณาสพ ไร้มลทิน
                         ผู้มีจิตสงบผู้คงที่ ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ ประชุมภิกษุแสน
                         โกฏิ ครั้งที่ ๒ ประชุมภิกษุพันโกฏิ ครั้งที่ ๓ ประชุม
                         ภิกษุเก้าสิบโกฏิ.

               ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่าวิชิตาวี ประทับอยู่ ณ กรุงจันทวดี.
               เล่ากันว่า พระองค์อันคนชั้นดีเป็นอันมากแวดล้อมแล้ว ทรงปกครองแผ่นดิน อันเป็นที่อยู่แห่งน้ำและขุมทรัพย์ พร้อมทั้งขุนเขาสุเมรุและยุคันธร ทรงไว้ซึ่งรัตนะหาประมาณมิได้โดยธรรม ไม่ใช้อาชญา ไม่ใช้ศัสตรา.
               ครั้งนั้น พระโกณฑัญญพุทธเจ้าอันพระขีณาสพแสนโกฏิแวดล้อมแล้ว เสด็จจาริก ณ ชนบท เสด็จถึงกรุงจันทวดีโดยลำดับ.
               เล่ากันว่า พระเจ้าวิชิตาวีทรงสดับข่าวว่า เขาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จถึงนครของเราแล้ว จึงออกไปรับเสด็จ จัดแจงสถานที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า นิมนต์เพื่อเสวยภัตตาหาร ณ วันรุ่งขึ้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์.
               วันรุ่งขึ้นก็ทรงให้เขาจัดภัตตาหารเป็นอย่างดีแล้ว ได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์นับได้แสนโกฏิ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน. พระโพธิสัตว์ทรงให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยแล้ว จบอนุโมทนา ทรงทูลขอว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เมื่อจะทรงทำการสงเคราะห์มหาชน ขอโปรดประทับอยู่ในนครนี้นี่แหละตลอดไตรมาส ได้ทรงถวายอสทิสทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เป็นนิตย์ ตลอดไตรมาส.
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์ว่าจักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ ในอนาคตกาล แล้วทรงแสดงธรรมแก่พระองค์. ท้าวเธอทรงสดับธรรมกถาของพระศาสดาแล้ว ทรงมอบราชสมบัติ ออกทรงผนวช ทรงเล่าเรียนพระไตรปิฎก ทำสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดแล้วมีฌานไม่เสื่อม ก็บังเกิดในพรหมโลก.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   สมัยนั้น เราเป็นกษัตริย์นามว่าวิชิตาวี เป็นใหญ่
                         เหนือปฐพี มีสมุทรสาครเป็นที่สุด.
                                   เรายังพระขีณาสพ ผู้ไร้มลทิน ผู้แสวงคุณอันยิ่ง
                         ใหญ่แสนโกฏิ พร้อมด้วยพระผู้ทรงเป็นนาถะเลิศแห่ง
                         โลก ให้อิ่มหนำด้วยข้าวน้ำอันประณีต.
                                   พระโกณฑัญญพุทธเจ้าผู้นำโลก แม้พระองค์
                         นั้น ก็ทรงพยากรณ์เราว่า จักเป็นพระพุทธเจ้าผู้มีคุณ
                         ที่ประมาณมิได้ในโลก ในกัปต่อจากกัปนี้.
                                   พระตถาคตจักออกทรงผนวชจากกรุงกบิลพัสดุ์
                         อันรื่นรมย์ ทรงกระทำความเพียร คือกระทำทุกกรกิริยา.
                                   พระตถาคตจักประทับนั่งที่โคนต้นอชปาล
                         นิโครธ รับมธุปายาส ณ ที่นั้น แล้วเสด็จไปสู่ฝั่งแห่ง
                         แม่น้ำเนรัญชรา.
                                   พระชินเจ้าพระองค์นั้น ครั้นเสวยมธุปายาส
                         ที่ฝั่งเนรัญชรานั้นแล้ว ก็เสด็จไปที่ควงโพธิพฤกษ์
                         ตามเส้นทางที่มีผู้จัดแจงไว้.

               ลำดับนั้น พระองค์ผู้ทรงพระยศใหญ่ ทรงทำประทักษิณโพธิมณฑ์อันประเสริฐสุด จักตรัสรู้ (พระสัมมาสัมโพธิญาณ) ณ ควงไม้อัสสัตถพฤกษ์.
                         ท่านผู้นี้จักมีพระชนนีพุทธมารดา พระนามว่ามายา
               มีพระชนกพุทธบิดา พระนามว่าสุทโธทนะ ท่านผู้นี้จักมี
               พระนามว่า โคตมะ
                         จักมีอัครสาวก ชื่อว่าโกลิตะและอุปติสสะ ผู้ไม่มี
               อาสวะ ผู้ปราศจากราคะ ผู้มีจิตสงบและมั่นคง จักมีพุทธ
               อุปัฏฐากชื่อ อานันทะ บำรุงพระชินะนั้น.
                         จักมีอัครสาวิกา ชื่อว่าเขมาและอุบลวรรณา ผู้ไม่มี
               อาสวะ ผู้ปราศจากราคะ ผู้มีจิตสงบและมั่นคง. ต้นไม้ที่
               ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเรียกว่าอัสสัตถะ
               ต้นโพธิใบ.
                         จักมีอัครอุปัฏฐาก ชื่อว่าจิตตะและหัตถะอาฬวกะ
               จักมีอัครอุปัฏฐายิกา ชื่อว่านันทมาตาและอุตตรา พระ
               ชนมายุของพระโคตมะผู้มียศพระองค์นั้น ประมาณ
               ๑๐๐ ปี.
                         มนุษย์และเทวดาทั้งหลายฟังพระดำรัสของพระผู้
               แสวงคุณยิ่งใหญ่ ไม่มีผู้เสมอนี้แล้ว ก็พากันปลื้มใจว่า
               ผู้นี้เป็นหน่อพุทธางกูร.
                         เทวดาในหมื่นโลกธาตุ พากันโห่ร้องปรบมือหัวร่อ
               ร่าเริง ประคองอัญชลีนมัสการ กล่าวว่า
                         ผิว่า พวกเราพลาดคำสอนของพระโลกนาถพระ
               องค์นี้ไซร้ ในอนาคตกาล พวกเราก็จักอยู่ต่อหน้าท่าน
               ผู้นี้.
                         มนุษย์ทั้งหลาย เมื่อจะข้ามแม่น้ำ พลาดท่าน้ำ
               ตรงหน้า ก็ถือท่าน้ำข้างหลังข้ามแม่น้ำใหญ่ ฉันใด.
                         พวกเราทุกคน ผิว่า พ้นพระชินเจ้าพระองค์นี้ไป
               ในอนาคตกาล ก็จักอยู่ต่อหน้าท่านผู้นี้ ฉันนั้น.
                         เราได้ฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว ก็ยังจิตให้
               เลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อจะให้สำเร็จประโยชน์นั้น นั่น
               แล จึงถวายมหาราชสมบัติแด่พระชินเจ้า ครั้นถวาย
               มหาราชสมบัติแล้ว ก็บวชในสำนักของพระองค์.
                         เราเล่าเรียนพระสูตร พระวินัย นวังคสัตถุศาสน์
               ทุกอย่าง ยังศาสนาของพระชินเจ้าให้งดงาม.
                         เราอยู่อย่างไม่ประมาท ในพระศาสนานั้น ใน
               อิริยาบถนั่งนอนและเดิน ก็ถึงฝั่งแห่งอภิญญาเข้าถึง
               พรหมโลก.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหํ เตน สมเยน ได้แก่ เราในสมัยนั้น.
               บทว่า วิชิตาวี นาม ได้แก่ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพระนามอย่างนี้.
               ในบทว่า สมุทฺทํ อนฺตมนฺเตน นี้ ความว่า เราเป็นใหญ่ ตลอดปฐพีที่ตั้งจักรวาลบรรพต ทำจักรวาลบรรพตเป็นเขตแดน ทำสมุทรสาครเป็นที่สุด ความเป็นใหญ่มิใช่ปรากฎด้วยเหตุมีประมาณเพียงเท่านี้.
               เล่ากันว่า ด้วยอานุภาพแห่งจักรรัตนะ พระเจ้าจักรพรรดิเสด็จไปยังบุพวิเทหทวีป ซึ่งมีขนาดแปดพันโยชน์ ทางส่วนบนสมุทร มีเขาสิเนรุอยู่เบื้องซ้าย ในที่นั้น พระเจ้าจักรพรรดิจะประทานโอวาทว่า ไม่ควรฆ่าสัตว์มีชีวิต ไม่ควรถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ควรประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ไม่ควรพูดเท็จ ไม่ควรดื่มน้ำเมา จงบริโภคของตามที่บริโภคได้.
               เมื่อประทานโอวาทอย่างนี้แล้ว จักรรัตนะนั้นก็เหาะสู่อากาศหยั่งลงสมุทรด้านทิศบูรพา หยั่งโดยประการใดๆ คลื่นที่หดตัวก็แตกกระจาย เมื่อเดินลงก็เดินลงสู่น้ำในมหาสมุทร ชั่วโยชน์เดียว ตั้งอยู่น่าดูอย่างยิ่ง เหมือนฝาแก้วไพฑูรย์ แก้วมณี ทั้งสองข้างภายในสมุทร โดยประการนั้นๆ จักรรัตนะนั้นไปตลอดที่มีสาครด้านทิศบูรพาเป็นที่สุดอย่างนั้นก็หมุนกลับ.
               เมื่อจักรรัตนะนั้นหมุนกลับ บริษัทนั้นก็อยู่ทางปลาย พระเจ้าจักรพรรดิอยู่ตรงกลาง ตัวจักรรัตนะอยู่ท้าย จักรรัตนะแม้นั้นกระทบน้ำมีมณฑลดื่มเป็นที่สุดเท่านั้น เหมือนไม่ยอมพรากชายน้ำ จึงเข้าสู่ริมฝั่ง.

               พระเจ้าจักรพรรดิทรงแผ่ศักดานุภาพ               
               พระเจ้าจักรพรรดิทรงชนะบุพวิเทหทวีปซึ่งมีสมุทรด้านทิศบูรพาเป็นที่สุดอย่างนี้แล้ว มีพระราชประสงค์จะทรงชนะชมพูทวีป ซึ่งมีสมุทรด้านทิศทักษิณเป็นที่สุดจึงมุ่งพระพักตร์ไปทางทิศทักษิณ เสด็จไปตามทางที่จักรรัตนะแสดง. จักรรัตนะนั้น ครั้นชนะชมพูทวีปซึ่งมีขนาดหมื่นโยชน์แล้ว ก็ขึ้นจากสมุทรด้านทิศทักษิณ ก็ไปโดยนัยที่กล่าวแล้วแต่หนหลัง เพื่อชนะอปรโคยานทวีปซึ่งมีขนาดเจ็ดพันโยชน์.
               ครั้นชนะอปรโคยานทวีปนั้นซึ่งมีสาครเป็นที่สุดแล้ว ก็ขึ้นจากสมุทรด้านทิศปัจฉิมไปอย่างนั้นเหมือนกัน เพื่อชนะอุตตรกุรุทวีป ซึ่งมีขนาดแปดพันโยชน์ ก็ชนะอย่างนั้นเหมือนกัน ทำอุตตรกุรุทวีปนั้น มีสมุทรเป็นที่สุด ก็ขึ้นแม้จากสมุทรด้านทิศอุดร.
               ความเป็นใหญ่เป็นอันพระเจ้าจักรพรรดิทรงประสบแล้วเหนือปฐพี ที่มีสาครเป็นที่สุด ด้วยเหตุมีประมาณเพียงเท่านี้ ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า เราเป็นใหญ่เหนือปฐพีมีสมุทรเป็นที่สุด.
               บทว่า โกฏิสตสหสฺสานํ ได้แก่ แสนโกฏิ. หรือปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า วิมลานํ ได้แก่ พระขีณาสพทั้งหลาย.
               บทว่า สห โลกคฺคนาเถน ความว่า แสนโกฏิกับด้วยพระทศพล.
               บทว่า ปรมนฺเนน แปลว่า ด้วยข้าวอันประณีต.
               บทว่า ตปฺปหึ แปลว่า ให้อิ่มแล้ว.
               บทว่า อปริเมยฺยิโต กปฺเป ความว่า ล่วงไปสามอสงไขยกำไรแสนกัปนับตั้งแต่กัปนี้ คือในภัทรกัปนี้.
               บทว่า ปธานํ แปลว่า ความเพียร.
               บทว่า ตเมว อตฺถํ สาเธนฺโต ความว่า บำเพ็ญประโยชน์คือทานบารมีอันทำความเป็นพระพุทธเจ้านั้นนั่นแลให้สำเร็จ ให้เป็นผล.
               บทว่า มหารชฺชํ ได้แก่ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ.
               บทว่า ชิเน ได้แก่ ในพระผู้มีพระภาคเจ้า หรือพึงเห็นสัตตมีวิภัตติลงในอรรถจตุตถีวิภัตติ.
               บทว่า อทํ แปลว่า ได้ให้แล้ว.
               พึงเห็นการเชื่อมความด้วยบทนี้ว่า เอวมตฺถํ สาเธนฺโต อาจารย์บางพวกสวดว่า มหารชฺชํ ชิเน ททึ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ททิตฺวาน ได้แก่ สละ.
               บทว่า สุตฺตนฺตํ ได้แก่ สุตันตปิฏก.
               บทว่า วินยํ ได้แก่ วินัยปิฏก.
               บทว่า นวฺงคํ ได้แก่ นวังสัตถุศาสน์มีสุตตะเคยยะเป็นต้น.
               บทว่า โสภยึ ชินสาสนํ ได้แก่ ประดับพร้อมด้วยอาคมและอธิคมอันเป็นโลกิยะ.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น.
               บทว่า อปฺปมตฺโต ได้แก่ ถึงพร้อมด้วยสติ.
               บทว่า พฺรหฺมโลกมคญฺฉหํ ตัดบทเป็น พฺรหฺมโลกํ อคญฺฉึ อหํ.
               พระโกณฑัญญพุทธเจ้าพระองค์นี้มีพระนครชื่อว่ารัมมวดี พระชนกทรงพระนามว่าพระเจ้าสุนันทะ พระชนนีพระนามว่าพระนางสุชาดาเทวี. คู่พระอัครสาวกคือพระภัททะและพระสุภัททะ พระอุปัฏฐากชื่อว่าอนุรุทธะ คู่พระอัครสาวิกาคือพระติสสาและพระอุปติสสา ต้นไม้ที่ตรัสรู้คือต้นสาลกัลยาณี [ขานาง] พระสรีระสูง ๘๘ ศอก พระชนมายุประมาณแสนปี พระองค์มีพระมเหสีพระนามว่ารุจิเทวี มีพระโอรสพระนามว่าวิชิตเสนะ มีอุปัฏฐากพระนามว่าเจ้าจันทะ ประทับอยู่ ณ พระวิหารจันทารามแล.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระโกณฑัญญพุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงคุณยิ่งใหญ่
               มีพระนครชื่อว่ารัมมวดี มีพระชนกพระนามว่าพระเจ้า
               สุนันทะ มีพระชนนีพระนามว่าพระนางสุชาดา.
                         พระโกณฑัญญพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ มีคู่
               พระอัครสาวก ชื่อว่าพระภัททะและพระสุภัททะ พุทธ
               อุปัฏฐาก ชื่อว่าพระอนุรุทธะ.
                         พระโกณฑัญญพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ มีคู่
               พระอัครสาวิกา ชื่อว่าพระติสสา และ พระอุปติสสา
               มีต้นไม้ที่ตรัสรู้ ชื่อว่าต้นสาลกัลยาณี.
                         พระมหามุนีพระองค์นั้น สูง ๘๘ ศอก สง่างาม
               เหมือนดวงจันทร์ เหมือนดวงอาทิตย์เที่ยงวัน ฉะนั้น.
                         ในยุคนั้น ทรงมีพระชนมายุแสนปี พระองค์มี
               พระชนม์ยืนถึงเพียงนั้น ก็ยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้าม
               โอฆสงสาร.
                         แผ่นเมทนี งดงาม ด้วยพระขีณาสพทั้งหลาย
               ผู้ไร้มลทิน ก็เหมือนท้องนภากาศ งดงามด้วยเหล่า
               ดวงดาวทั้งหลาย พระโกณฑัญญพุทธเจ้าพระองค์นั้น
               ก็ทรงงดงามอย่างนั้น.
                         พระขีณาสพแม้เหล่านั้น หาประมาณมิได้ อัน
               โลกธรรมให้ไหวมิได้ ยากที่สัตว์จะเข้าไปหา พระผู้มี
               ยศใหญ่เหล่านั้น แสดงตัวเหมือนสายฟ้าแลบแล้วต่าง
               ก็ดับขันธปรินิพพาน.
                         พระวรฤทธิ์ของพระชินเจ้า ที่ไม่มีผู้เทียบได้นั้น
               และพระสมาธิที่พระญาณอบรมแล้ว ทั้งนั้นก็อันตรธาน
               ไปหมดสิ้น สังขารทุกอย่างก็ว่างเปล่าโดยแน่แท้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาลกลฺยาณิโก ได้แก่ ต้นสาลกัลยาณี ต้นสาลกัลยาณีนั้นเกิดในสมัยมีพระพุทธเจ้าและสมัยมีพระเจ้าจักรพรรดิเท่านั้น ไม่เกิดในสมัยอื่น.
               เล่ากันว่า ต้นสาลกัลยาณีนั้นผุดขึ้นวันเดียวเท่านั้น.
               บทว่า ขีณาสเวหิ วิมเลหิ วิจิตฺตา อาสิ เมทนี ความว่า แผ่นเมทนีนี้รุ่งเรืองด้วยผ้ากาสาวะ งดงามด้วยพระขีณาสพทั้งหลายน่าดูอย่างยิ่ง
               ศัพท์ว่า ยถา หิ เป็นนิบาตลงในอรรถอุปมา.
               บทว่า อุฬูภิ แปลว่า ด้วยดวงดาวทั้งหลาย. อธิบายว่า แผ่นเมทนีนี้งดงามด้วยพระขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่าสง่างามเหมือนท้องนภากาศงดงามด้วยหมู่ดาวทั้งหลาย.
               บทว่า อสงฺโขพฺภา ได้แก่ ไม่กำเริบ ไม่วิการด้วยโลกธรรม ๘ ประการ.
               บทว่า วิชฺชุปาตํว ทสฺเสตฺวา แปลว่า แสดงตัวเหมือนสายฟ้าแลบ.
               ปาฐะว่า วิชฺชุปฺปาตํ ว ดังนี้ก็มี.
               ความจริง ครั้งพระโกณฑัญญพุทธเจ้า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อปรินิพพานก็โลดขึ้นสู่อากาศชั่ว ๗ ต้นตาล รุ่งโรจน์ไปรอบๆ เหมือนสายฟ้าแลบลอดหลืบเมฆสีน้ำเงินแก่ เข้าเตโชธาตุแล้วก็ปรินิพพาน เหมือนไฟหมดเชื้อ ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสว่า แสดงตัวเหมือนสายฟ้าแลบ.
               บทว่า อตุลิยา แปลว่า ชั่งไม่ได้ ไม่มีผู้เสมือน.
               บทว่า ญาณปริภาวิโต แปลว่า อันญาณให้เจริญแล้ว.
               คาถาที่เหลือง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยที่กล่าวมาแต่หนหลังแล.
                         พระโกณฑัญญสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน
               ณ พระวิหารจันทาราม ที่น่ารื่นรมย์ เขาสร้างพระเจดีย์สำหรับ
               พระองค์ เจ็ดโยชน์.
                         พระธาตุทั้งหลาย ของพระศาสดาพระองค์นั้นไม่กระจัด
               กระจาย คงดำรงอยู่เป็นแท่งเดียว เหมือนรูปปฏิมาทอง.

               มนุษย์ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นช่วยกันเอาหินอ่อนสีเหลืองก่อแทนดิน ใช้น้ำมันและเนยแทนน้ำสร้างจนแล้วเสร็จแล.
               จบพรรณนาวงศ์พระโกณฑัญญพุทธเจ้า               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒. โกณฑัญญพุทธวงศ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 3อ่านอรรถกถา 33.2 / 4อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=7264&Z=7319
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=4317
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=4317
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :