ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 25อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 26อ่านอรรถกถา 33.2 / 27อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๒๕. โคตมพุทธวงศ์

               พรรณาวงศ์พระโคดมพุทธเจ้าที่ ๒๕               
               เรื่องนิทานกาลไกล               
                                   เพราะเหตุที่ถึงลำดับการพรรณนาวงศ์ ของ
                         พระพุทธเจ้าของเราแล้ว ฉะนั้น บัดนี้จะพรรณนา
                         วงศ์พระพุทธเจ้าของเรานั้น ดังต่อไปนี้.

               ในนิทานกาลไกลนั้น พระโพธิสัตว์ของเราทรงทำอธิการในสำนักของพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์มีพระทีปังกรพุทธเจ้าเป็นต้น มาถึงสี่อสงไขยกำไรแสนกัป แต่ส่วนกาลภายหลังของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น เว้นแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้.
               ดังนั้น พระโพธิสัตว์ผู้ได้พยากรณ์ในสำนักพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ ก็ทรงบำเพ็ญพุทธกาธรรมมีทานบารมีเป็นต้น ที่พระโพธิสัตว์ผู้รวบรวมธรรม ๘ ประการเหล่านี้ว่าอภินีหารย่อมสำเร็จได้ เพราะรวบรวมธรรม ๘ ประการ คือ
               ๑. มนุสสัตตะ เป็นมนุษย์
               ๒. ลิงคสัมปัตติ เป็นเพศบุรุษ
               ๓. เหตุ มีอุปนิสสยสมบัติบรรลุมรรคผลได้
               ๔. สัตถารทัสสนะ พบพระพุทธเจ้าขณะที่ยังทรงพระชนม์อยู่
               ๕. ปัพพัชชา บวชเป็นดาบสหรือภิกษุอยู่
               ๖. คุณสมบัติ ได้สมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕
               ๗. อธิการ อาจสละชีวิตแก่พระพุทธเจ้าได้
               ๘. ฉันทตา มีฉันทะ อุตสาหะ บำเพ็ญพุทธการกธรรม.
               แล้วทำอภินีหารแทบเบื้องบาทพระทีปังกรพุทธเจ้า แล้วทำอุตสาหะว่า จำเราจะเลือกเฟ้นพุทธการกธรรม อย่างโน้นอย่างนี้แสดงไว้ว่า ครั้งนั้น เราเมื่อเลือกเฟ้นก็ได้เห็นทานบารมีเป็นอันดับแรก ดังนี้ ตราบจนมาถึงอัตภาพเป็นพระเวสสันดรและเมื่อมาถึงก็มาประสบอานิสงส์แห่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้ทำอภินีหารไว้แล้ว ที่ทรงสรรเสริญไว้ว่า
                         พระนิยตโพธิสัตว์ ถึงพร้อมด้วยองค์ครบถ้วนอย่างนี้
               แม้ท่องเที่ยวไปตลอดกาลยาวนานนับร้อยโกฏิกัป ก็ไม่เกิด
               ในอเวจีและในโลกันตริกนรก ไม่เกิดเป็นนิชฌานตัณหิก-
               เปรต ขุปปิปาสิกเปรต กาฬกัญชิกาสูร แม้เข้าถึงทุคติก็ไม่
               เป็นสัตว์ขนาดเล็ก
                         เมื่อเกิดในหมู่มนุษย์ก็ไม่เป็นคนตาบอดแต่กำเนิด
               โสตก็ไม่วิกลบกพร่อง ไม่เป็นคนประเภทใบ้ ไม่เป็นสตรี
               ไม่เป็นคนสองเพศและไม่เป็นบัณเฑาะก์.
                         พระนิยตโพธิสัตว์ ไม่เป็นผู้นับเนื่องดังกล่าว พ้นจาก
               อนันตริยกรรม มีโคจรบริสุทธิ์ในภพทั้งปวง ไม่เสพมิจฉา
               ทิฏฐิ มีความเห็นว่ากรรมเป็นอันทำมีผล
                         แม้อยู่ในสวรรค์ทั้งหลายก็ไม่เข้าถึงอสัญญีภพ ทั้ง
               ไม่มีเหตุที่ไปเกิดในเทพชั้นสุทธาวาส เป็นผู้น้อมไปใน
               เนกขัมมะ เป็นสัตบุรุษ ไม่เกาะเกี่ยวในภพใหญ่น้อย
               บำเพ็ญแต่โลกัตถจริยาทั้งหลาย บำเพ็ญบารมีทั้งปวง.

               เมื่อมาประสบอานิสงส์อย่างนี้ ก็ตั้งอยู่ในอัตภาพเป็นพระเวสสันดร ทำบุญยิ่งใหญ่ที่ทำให้มหาปฐพีไหวเป็นต้นอย่างนี้ว่า
                         แผ่นปฐพีนี้ไม่มีใจ ไม่รู้สึกสุขทุกข์ แผ่นปฐพี
                         แม้นั้นก็ไหวถึง ๗ ครั้ง เพราะกำลังทานของเรา.

               สุดท้ายแห่งอายุ ก็จุติจากอัตภาพนั้น บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต.

               เรื่องนิทานกาลใกล้               
               โกลาหล ๓               
               เมื่อพระโพธิสัตว์กำลังอยู่ในภพดุสิต ธรรมดาว่าพุทธโกลาหลก็เกิดขึ้น.
               จริงอยู่ เกิดโกลาหลขึ้นในโลก ๓ อย่าง คือ กัปปโกลาหล พุทธโกลาหลและจักกวัตติโกลาหล.
               บรรดาโกลาหลทั้ง ๓ นั้น เหล่าเทวดาชั้นกามาวจรชื่อว่าโลกพยูหะ ทราบว่า ล่วงไปแสนปีกัปจักตั้งขึ้น ดังนี้ ปล่อยผมสยาย ร้องไห้เอาหัตถ์ฟายน้ำตา นุ่งห่มผ้าแดง ทรงเพศแปลกๆ อย่างยิ่ง เที่ยวไปในถิ่นมนุษย์ บอกกล่าวว่า
               ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ล่วงไปแสนปีนับแต่วันนี้ไปกัปจักตั้งขึ้น โลกนี้จักพินาศไป แม้มหาสมุทรก็จักเหือดแห้ง มหาปฐพีแผ่นนี้และขุนเขาสิเนรุ จักมอดไหม้พินาศไป ความพินาศจักมีจนถึงพรหมโลก
               ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ พวกท่านจงเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จงบำรุงมารดาบิดา จงเป็นผู้ยำเกรงในท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ดังนี้
               นี้ชื่อว่ากัปปโกลาหล.
               เทวดาฝ่ายโลกบาลทราบว่า ล่วงไปพันปีจักเกิดพระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้าขึ้นในโลก จึงเที่ยวไปโฆษณาว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ตั้งแต่นี้ล่วงไปพันปี จักเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นในโลก ดังนี้ นี้ชื่อว่าพุทธโกลาหล.
               พวกเทวดาทราบว่า ล่วงไปร้อยปี พระเจ้าจักรพรรดิราชจักเกิดขึ้น จึงเที่ยวโฆษณาไปว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ นับแต่นี้ล่วงไปร้อยปี จักเกิดจักรพรรดิราชขึ้นดังนี้ นี้ชื่อว่าจักกวัตติโกลาหล.
               บรรดาโกลาหล ๓ นั้น เทวดาทั่วหมื่นจักรวาลฟังเสียงข่าวพุทธโกลาหล ก็ประชุมพร้อมกัน รู้ว่าสัตว์ชื่อโน้นจักเป็นพระพุทธเจ้า ก็เข้าไปหาอ้อนวอน แต่เมื่ออ้อนวอนก็จะอ้อนวอนเมื่อบุพนิมิตของสัตว์ผู้นั้นเกิดขึ้น.
               แต่ในครั้งนั้น เทวดาเหล่านั้นแม้ทั้งหมดในแต่ละจักรวาลก็ประชุมกันในจักรวาลเดียว พร้อมกับมหาราชทั้ง ๔ ท้าวสักกะ ท้าวสุยามะ ท้าวสันตุสิตะ ท้าวสุนิมมิตะ ท้าววสวัตตีและท้าวมหาพรหม พากันไปยังสำนักพระโพธิสัตว์ผู้มีนิมิตแห่งการจุติเกิดแล้วในภพดุสิต ช่วยกันอ้อนวอนว่า
               ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ บารมี ๑๐ ท่านก็บำเพ็ญแล้ว แต่เมื่อบำเพ็ญ ท่านมิใช่บำเพ็ญปรารถนาสมบัติท้าวสักกะ สมบัติพรหมเป็นต้น แต่ท่านบำเพ็ญปรารถนาพระสัพพัญญุตญาณเพื่อช่วยโลก. เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า.
                         ข้าแต่ท่านมหาวีระ บัดนี้เป็นเวลาสมควรสำหรับ
               ท่านแล้ว ท่านจงเกิดในพระครรภ์พระชนนี เมื่อจะยัง
               โลกทั้งเทวโลกให้ข้ามโอฆะ ท่านจงตรัสรู้อมตบทเถิด.

               มหาวิโลกนะ ๕ ประการ               
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์อันทวยเทพทูลอ้อนวอนอย่างนั้น มิได้ประทานปฏิญญา [คำรับรอง] แก่เทวดาทั้งหลาย แต่ทรงพิจารณามหาวิโลกนะ ๕ คือ ขั้นตอน ได้แก่ กาละ ทวีป ประเทศ ตระกูล กำหนดพระชนมายุพระชนนี.
               บรรดามหาวิโลกนะ ๕ นั้น พระมหาบุรุษทรงพิจารณาเวลาเป็นอันดับแรกว่าเป็นกาลสมควรหรือยัง. ในข้อว่ากาลนั้น กาลที่อายุคนเจริญขึ้นเกินแสนปีไม่ใช่กาลสมควร. เพราะเหตุไร
               เพราะว่า ในกาลนั้น [กาลที่มนุษย์มีอายุแสนปี] ชาติชรามรณะจักไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย และพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีพ้นจากไตรลักษณ์ [อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา] เลย เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อยู่ สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่สำคัญพระพุทธดำรัสที่ควรฟัง ที่ควรเชื่อว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายกำลังตรัสเรื่องอะไรกันนั่น. แต่นั้น อภิสมัยการตรัสรู้ก็จะไม่มี เมื่ออภิสมัยไม่มี คำสั่งสอนก็ไม่เป็นนิยยานิกะนำสัตว์ออกจากทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการสมควร.
               แม้กาลที่อายุคนต่ำกว่าร้อยปี ก็ยังไม่ใช่กาลอันสมควร. เพราะเหตุไร
               เพราะว่าในกาลนั้น [กาลที่มนุษย์มีอายุต่ำกว่าร้อยปี] สัตว์ทั้งหลายมีกิเลสหนาแน่น และโอวาทที่ประทานแก่สัตว์ที่มีกิเลสหนาแน่นจะไม่คงอยู่ในฐานะควรโอวาท จะขาดหายไปเร็วเหมือนรอยไม้ที่ขีดในน้ำ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่กาลอันสมควร.
               แต่กาลแห่งอายุต่ำกว่าแสนปีลงมา สูงเกินร้อยปีขึ้นไป ชื่อว่ากาลอันสมควร กาลนั้นเป็นเวลาร้อยปี.
               ดังนั้น พระมหาสัตว์จึงทรงเห็นกาลว่าเป็นกาลที่ควรบังเกิด.
               ต่อแต่นั้น เมื่อทรงพิจารณาถึงทวีปก็ทรงพิจารณามหาทวีปทั้ง ๔ พร้อมทั้งทวีปบริวาร ก็ทรงเห็นทวีปว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เกิดในทวีปทั้ง ๓ เกิดในชมพูทวีปเท่านั้น.
               ต่อแต่นั้น เมื่อทรงสำรวจดูโอกาสว่า ธรรมดาชมพูทวีปเป็นทวีปใหญ่ขนาดถึงหมื่นโยชน์ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเกิดที่ไหนกันหนอ ก็ทรงเห็นมัชฌิมประเทศ จึงตกลงพระหฤทัยว่า มีนครกบิลพัสดุ์อยู่ จำเราจะพึงเกิด ณ นครนั้น.
               แต่นั้น เมื่อทรงพิจารณาดูตระกูลก็ทรงเห็นตระกูลว่าธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เกิดในตระกูลแพศย์หรือตระกูลศูทร แต่บังเกิดในตระกูลกษัตริย์หรือตระกูลพราหมณ์ที่โลกสมบัติ บัดนี้ ตระกูลกษัตริย์โลกสมมติ จำเราจักเกิดในตระกูลนั้น พระเจ้าสุทโทธนะจักทรงเป็นพระชนกของเรา.
               แต่นั้น เมื่อทรงพิจารณาดูพระชนนีก็ทรงเห็นว่าธรรมดาพระพุทธมารดามิใช่เป็นสตรีโลเล นักเลงสุรา แต่บำเพ็ญบารมีมาแสนกัป มีศีลไม่ขาดวิ่นมาแต่เกิด ก็พระเทวีพระนามว่าพระนางมหามายาพระองค์นี้เป็นเช่นนี้ พระนางจักเป็นชนนีของเรา. พระชนมายุของพระนางเท่าไรเล่า. ๑๐ เดือนกับ ๗ วัน.
               พระมหาสัตว์ครั้นพิจารณามหาวิโลกนะ ๕ อย่างนี้ดังนี้แล้วจึงทรงรับปฏิญญาของเทวดาทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ เป็นกาลสมควรเป็นพระพุทธเจ้าสำหรับเราแล้วละ จึงส่งเทวดาเหล่านั้นด้วยพระดำรัสว่า พวกท่านไปกันเถิด อันเทวดาชั้นดุสิตแวดล้อมแล้วก็เสด็จเข้าไปยังสวนนันทนวันในชั้นดุสิต.
               ด้วยว่าในเทวโลกทุกชั้นมีสวนนันทนวันทั้งนั้น.
               ในสวนนันทนวัน ในชั้นดุสิตนั้น เทวดาทั้งหลาย เมื่อจะยังพระมหาสัตว์นั้นให้รำลึกถึงโอกาสแห่งกุศลกรรมที่ทำแต่ปางก่อนว่า ท่านจุติจากนี้แล้วจงไปสู่สุคติ จึงเที่ยวไป.
               พระมหาสัตว์นั้นอันเทวดาเหล่านั้นให้ระลึกถึงกุศลแวดล้อมแล้ว ก็เที่ยวไปในนันทวันนั้น ก็จุติไปถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางมหามายาเทวี โดยดาวนักขัตอุตตราสาธ. ในขณะที่พระมหาบุรุษทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระชนนี ทั่วหมื่นโลกธาตุก็ไหวพร้อมกันในคราวเดียวกัน. บุพนิมิต ๓๒ ประการก็ปรากฏ.
               เทวบุตร ๔ องค์ถือพระขรรค์ ทำหน้าที่อารักขาเพื่อป้องกันอุปัทวเหตุแก่พระโพธิสัตว์ผู้ถือปฏิสนธิ และพระชนนีของพระโพธิสัตว์ ด้วยประการฉะนี้. ราคจิตในบุรุษทั้งหลายมิได้เกิดแก่พระมารดาของพระโพธิสัตว์ พระชนนีนั้นประสบลาภอย่างเลิศ ยศอย่างเลิศ มีสุข พระวรกายมิลำบาก พระชนนีแลเห็นพระโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในพระครรภ์ของพระนางเอง เหมือนด้ายขาวร้อยแก้วมณีอันใสฉะนั้น.
               เพราะเหตุที่พระครรภ์ที่พระโพธิสัตว์อยู่ ก็เป็นเสมือนห้องพระเจดีย์ สัตว์อื่นไม่อาจอยู่หรือใช้สอยได้ ฉะนั้น พระมารดาของพระโพธิสัตว์ เมื่อพระโพธิสัตว์เกิดได้ ๗ วัน จึงต้องทำกาละ [ทิวงคต] บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต.
               ก็สตรีอื่นๆ ถึง ๑๐ เดือนก็มี เกินก็มี นั่งคลอดบ้าง นอนคลอดบ้างฉันใด พระมารดาของพระโพธิสัตว์หาเป็นฉันนั้นไม่. แต่พระมารดาของพระโพธิสัตว์บริหารพระโพธิสัตว์ด้วยพระครรภ์ ๑๐ เดือนแล้วทรงยืนประสูติ. นี้เป็นธรรมดาของพระมารดาของพระโพธิสัตว์.
               แม้พระนางมหามายาเทวีทรงบริหารพระโพธิสัตว์ด้วยพระครรภ์ ๑๐ เดือนแล้ว มีพระครรภ์บริบูรณ์ มีพระประสงค์จะเสด็จไปเรือนพระญาติ จึงกราบทูลแด่พระเจ้าสุทโธทนะมหาราชว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม เกล้าหม่อมฉันใคร่จะไปเทวนครเพคะ. พระราชาทรงอนุญาตแล้ว โปรดให้ทำทางตั้งแต่กรุงกบิลพัสดุ์จนถึงเทวนครให้เรียบ ให้ประดับด้วยต้นกล้วย หม้อเต็มน้ำ หมาก ธงผ้าเป็นต้น ให้ประทับนั่งในวอทองใหม่ ทรงส่งไปด้วยสิริสง่าและด้วยบริพารกลุ่มใหญ่.
               ระหว่างพระนครทั้งสองมีมงคลสาลวันชื่อลุมพินี ที่ควรใช้สอยของชาวนครทั้งสอง. มงคลสาลวันนั้น สมัยนั้นออกดอกบานสะพรั่งไปหมด ตั้งแต่โคนจนถึงยอด เพราะทรงเห็นวนะ งามเสมือนสวนนันทนวัน อันเป็นที่สำเริงสำราญแห่งเทพ ซึ่งหมู่แมลงผึ้งอันผึ้งอื่นๆ เลี้ยงดู ผู้เพลินในรสหวานที่ทำความยินดีอย่างยิ่ง อันน่ารื่นรมย์ ยินดีด้วยความเมา มีรวงรังอันเสพแล้ว ร่ำร้องกระหึ่มอยู่ตามระหว่างกิ่ง และระหว่างดอกทั้งหลาย.
               พระเทวีก็เกิดจิตคิดจะลงเล่นสวนสาลวัน.
                                   วิภูสิตา พาลชนาติจาลินี
                                   วิภูสิตงฺคี วนิเตว มาลินี
                                   สทา ชนานํ นยนาลิมาลินี
                                   วิลุมฺปินีวาติวิโรจิ ลุมฺพินี.

                         สวนลุมพินีอันธรรมชาติประดับแล้ว เป็นที่
                         หวั่นไหวของคนปัญญาอ่อน หมู่ภมรแต่งตัว
                         แล้วย่อมชอบชมเชย มีหมู่แมลงผึ้งประหนึ่ง
                         ดวงตาของชนทั้งหลายคอยรุม จึงรุ่งเรืองทุกเมื่อ.

               เหล่าอำมาตย์กราบทูลพระราชาแล้ว พาพระราชเทวีเข้าไปยังลุมพินีวันนั้น. พระนางเสด็จไปยังโคนต้นมงคลสาละ มีพระประสงค์จะทรงจับกิ่งใดของมงคลสาละนั้นซึ่งมีลำต้นตรงเรียบและกลม ประดับด้วยดอกผลและใบอ่อน กิ่งมงคลสาละนั้น ไม่มีแรง รวนเรเหมือนใจชน ก็น้อมลงมาเองถึงฝ่าพระกรของพระนาง.
               ลำดับนั้น พระนางก็ทรงจับกิ่งสาละนั้น ด้วยพระกรที่ทำความยินดีอย่างยิ่งข้างขวา ซึ่งงามด้วยกำไลพระกรทองใหม่ มีพระองคุลีกลมกลึงดังกลีบบัว อันรุ่งเรืองด้วยพระนขานูนมีสีแดง. พระนางประทับยืนจับกิ่งสาละนั้น เป็นพระราชเทวีงดงามเหมือนจันทรเลขาอ่อนๆ ที่ลอดหลืบเมฆสีเขียวครามเหมือนแสงเปลวไฟ ซึ่งตั้งอยู่ได้ไม่นาน และเหมือนเทวีที่เกิดในสวนนันทนวัน.
               ในทันทีนั้นเอง ลมกัมมัชวาตของพระนางก็ไหว ขณะนั้น ชนเป็นอันมากก็กั้นผ้าม่านเป็นกำแพงแล้วหลีกไป. พระนางเมื่อประทับยืนจับกิ่งสาละอยู่นั่นเอง พระโพธิสัตว์ก็ประสูติจากพระครรภ์ของพระนางนั้น.
               ในทันใดนั้นเอง ท้าวมหาพรหมผู้มีจิตบริสุทธิ์ ๔ พระองค์ก็ถือข่ายทองมารองรับพระโพธิสัตว์ด้วยข่ายทองนั้น วางไว้เบื้องพระพักตร์พระชนนี ตรัสว่า ดูก่อนพระเทวี ขอจงทรงดีพระหฤทัยเถิด พระโอรสของพระองค์มีศักดิ์มาก สมภพแล้ว.
               ก็สัตว์อื่นๆ เมื่อออกจากครรภ์มารดาก็เปรอะเปื้อนด้วยของปฏิกูลไม่สะอาดออกไปฉันใด พระโพธิสัตว์หาเป็นฉันนั้นไม่. แต่ พระโพธิสัตว์เหยียดพระหัตถ์ทั้งสอง พระบาททั้งสอง ยืน ไม่เปรอะเปื้อนด้วยของไม่สะอาดไรๆ จากสมภพในพระครรภ์ของพระชนนี หมดจด สดใส รุ่งเรืองเหมือนมณีรัตนะอันเขาวางไว้บนผ้ากาสี ออกจากพระครรภ์พระชนนี.
               เมื่อเป็นเช่นนั้น เพื่อสักการะแด่พระโพธิสัตว์และพระชนนีของพระโพธิสัตว์ ท่อธารน้ำสองท่อก็ออกมาจากอากาศ โสรจสรงที่พระสรีระของพระโพธิสัตว์และพระชนนีของพระโพธิสัตว์.
               ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ พระองค์ก็เอาผ้าขนสัตว์ที่มีสัมผัสอันสบาย ซึ่งสมมติกันว่าเป็นมงคลรับจากพระหัตถ์ของท้าวมหาพรหม ซึ่งยืนรับพระโพธิสัตว์นั้นไว้ด้วยข่ายทอง. พวกมนุษย์ก็เอาเบาะผ้าเนื้อดี รับจากพระหัตถ์ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น.
               พระโพธิสัตว์พ้นจากมือของมนุษย์ ก็ยืนที่แผ่นดินมองดูทิศบูรพา หลายพันจักรวาลก็มีลานเป็นอันเดียวกัน. เทวดาและมนุษย์ในที่นั้น เมื่อบูชาด้วยของหอมดอกไม้มาลัยเป็นต้นก็พากันทูลว่า ข้าแต่พระมหาบุรุษ ผู้ที่เสมือนกับพระองค์ในที่นี้ไม่มี ผู้ที่จะยิ่งกว่าจะมีแต่ไหน.
               พระโพธิสัตว์ทรงเหลียวแลดูทิศทั้ง ๑๐ ทิศ ไม่เห็นผู้ที่เสมือนกับพระองค์จึงบ่ายพระพักตร์มุ่งสู่ทิศอุดร ทรงดำเนินไป ๗ ย่างก้าว. และเมื่อดำเนินไปก็ดำเนินไปบนแผ่นดินนั่นแหละ มิใช่ดำเนินไปทางอากาศ ไม่มีผ้า [ปกปิด] ดำเนินไป มิใช่มีผ้าดำเนินไป เป็นทารกอ่อนดำเนินไป มิใช่ทารกอายุ ๑๖ ขวบดำเนินไป แต่ปรากฏแก่มหาชนเหมือนดำเนินไปทางอากาศ เหมือนประดับตกแต่งพระองค์ และเหมือนมีอายุ ๑๖ ขวบ. แต่นั้น ย่างก้าวที่ ๗ ก็ทรงหยุด เมื่อทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า อคฺโคมสฺมิ โลกสฺส ดังนี้เป็นต้น ทรงเปล่งสีหนาท.
               ความจริง พระโพธิสัตว์พอออกจากครรภ์มารดาก็เปล่งวาจาได้ใน ๓ อัตภาพ คือ อัตภาพเป็นมโหสถ อัตภาพเป็นเวสสันดร อัตภาพนี้.
               เล่ากันว่า ในอัตภาพเป็นมโหสถ พอออกจากครรภ์มารดาเท่านั้น ท้าวสักกเทวราชก็เสด็จมาวางแก่นจันทน์ไว้ในพระหัตถ์แล้วเสด็จไป. พระมโหสถนั้นเอาแก่นจันทน์นั้นไว้ที่หลังแล้วก็คลอดออกมา ขณะนั้น มารดาถามมโหสถนั้นว่า ลูกเอ๋ย เจ้าถืออะไรมาด้วยนะ. มโหสถตอบว่า โอสถจ้ะแม่ ดังนั้น เพราะเหตุที่ถือโอสถมาด้วย มารดาบิดาจึงขนานนามว่า โอสถกุมาร.
               ส่วนในอัตภาพเป็นพระเวสสันดร พอออกจากครรภ์พระมารดา ก็เหยียดพระหัตถ์ขวาบอกว่า แม่จ๋าในเรือนมีทรัพย์ไรๆ อยู่หรือ ลูกจักให้ทานนะ. ขณะนั้น พระมารดาเอาหัตถ์พระโอรสไว้ที่ฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์แล้ว วางถุงทรัพย์นับพันไว้ตรัสว่า ลูกเอ๋ย เจ้าเกิดมาในตระกูลมีทรัพย์แล้วนะ.
               แต่ในอัตภาพนี้ทรงเปล่งสีหนาท ดังนั้น พระโพธิสัตว์พอออกจากครรภ์พระมารดา ก็ทรงเปล่งวาจาใน ๓ อัตภาพด้วยประการฉะนี้.
               แม้ในพระสมภพบุพนิมิต ๓๒ ก็ปรากฏแก่พระองค์.
               แต่ว่า ในสมัยใดพระโพธิสัตว์ของเราสมภพ ณ ลุมพินีวัน ในสมัยนั้นเหมือนกัน พระเทวีมารดา พระราหุล อานันทะ ฉันนะ กาฬุทายีอมาตย์ พระยาม้ากัณฐกะ ต้นมหาโพธิพฤกษ์ และหม้อขุมทรัพย์ทั้ง ๔ ก็เกิด.
               บรรดาขุมทรัพย์ทั้ง ๔ นั้น ขุมทรัพย์ขุมหนึ่งขนาดหนึ่งคาวุต ขุมหนึ่งขนาดครึ่งโยชน์ ขุมหนึ่งขนาดสามคาวุต ขุมหนึ่งขนาดหนึ่งโยชน์.
               เหล่านี้ชื่อว่า สหชาตทั้ง ๗.
               ชาวนครทั้งสองพาพระมหาบุรุษไปยังกรุงกบิลพัสดุ์.
               วันนั้นนั่นแล หมู่เทพในชั้นดาวดึงส์ร่าเริงยินดีว่า โอรสของพระเจ้าสุทโธมหาราชในกรุงกบิลพัสดุ์จักประทับนั่ง ณ โคนโพธิพฤกษ์เป็นพระพุทธเจ้า จึงพากันยกแผ่นผ้าเป็นต้นขึ้นโบกสะพัดเล่นกรีฑา.
               สมัยนั้น ดาบสชื่อกาฬเทวละ ผู้ได้สมาบัติ ๘ ผู้ประจำตระกูลของพระเจ้าสุทโธทนะ ฉันอาหารแล้วก็ไปยังภพดาวดึงส์ เพื่อพักกลางวัน นั่งพักกลางวันในที่นั้นแล้วเห็นเทวดาเหล่านั้นดีใจระเริงเล่นจึงถามว่า เหตุไร พวกท่านจึงพากันดีใจเบิกบานใจระเริงเล่น โปรดบอกเหตุนั้นแก่เราเถิด.
               แต่นั้น เทวดาทั้งหลายก็บอกว่า ท่านผู้นิรทุกข์ โอรสพระเจ้าสุทโธทนะเกิดแล้ว โอรสพระองค์นั้นจักประทับนั่งที่โพธิมัณฑสถานเป็นพระพุทธเจ้าประกาศพระธรรมจักร ด้วยเหตุนี้ เราจึงยินดีต่อพระองค์ว่า พวกเราจะได้เห็นพุทธลีลาอันไม่มีที่สุด.
               ดาบสได้ฟังคำของเทวดาเหล่านั้นแล้ว ก็ลงจากเทวโลกอันสว่างไสวด้วยรัตนะ น่าดูอย่างยิ่ง เข้าไปยังพระราชนิเวศของนฤบดี นั่งเหนือวรอาสน์ที่จัดไว้ ทูลพระราชาผู้ทำปฏิสันถารว่า ขอถวายพระพร ได้ข่าวว่าพระโอรสของมหาบพิตรสมภพแล้ว อาตมภาพอยากเห็นพระราชโอรสนั้น. พระราชาโปรดให้นำพระโอรสที่ประดับตกแต่งพระองค์มาแล้ว นำไปใกล้ชิดเพื่อให้ไหว้เทวลดาบส. พระบาทของพระมหาบุรุษ กลับไปประดิษฐานเหนือชฎาของดาบส เหมือนสายฟ้าแลบกำลังอยู่เหนือยอดเมฆสีเขียวคราม.
               แท้จริง บุคคลอื่นชื่อว่าอันพระโพธิสัตว์พึงไหว้โดยอัตภาพนั้น ไม่มี ดังนั้น ดาบสจึงลุกจากอาสนะประคองอัญชลีต่อพระโพธิสัตว์ พระราชาทรงเห็นความอัศจรรย์นั้นจึงทรงไหว้พระโอรสของพระองค์.
               ดาบสเห็นลักษณสมบัติของพระโพธิสัตว์ ระลึกว่าผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่เป็นพระพุทธเจ้าหนอ พิจารณาทบทวน รู้ได้ด้วยอนาคตังสญาณว่า จักเป็นพระพุทธเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัย จึงทำอาการแย้มว่า ผู้นี้เป็นอัจฉริยบุรุษ.
               ต่อนั้นจึงพิจารณาทบทวนว่า เราจะได้เห็นท่านผู้นี้เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ได้เห็นหนอ เห็นว่าเราไม่ได้เห็นเราจักทำกาละเสียในระหว่างนี่แลไปบังเกิดในอรูปภพ ที่พระพุทธเจ้าร้อยพระองค์ พันพระองค์ ไม่อาจเสด็จไปโปรดให้ตรัสรู้ได้ แล้วร้องไห้ว่า เราจักไม่ได้เห็นอัจฉริยบุรุษเช่นนี้เป็นพระพุทธเจ้า เราจักเสื่อมใหญ่.
               มนุษย์ทั้งหลายเห็นก็ถามว่า พระผู้เป็นเจ้าของเรา เมื่อกี้หัวเราะกลับมาร้องไห้อีก อันตรายไรๆ จักมีแก่พระลูกเจ้าของเราหรือ.
               ดาบสตอบว่า อันตรายไม่มีแก่พระลูกเจ้านั้นดอก พระลูกเจ้าจักเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ต้องสงสัย.
               มนุษย์ทั้งหลายจึงถามอีกว่า เมื่อเป็นดังนี้ เหตุไร ท่านจึงร้องไห้เล่า.
               ดาบสตอบว่า เราเศร้าใจถึงตัวเราว่าจักไม่ได้เห็นอัจฉริยบุรุษเช่นนี้เป็นพระพุทธเจ้า เราจักเสื่อมใหญ่ดังนี้จึงร้องไห้.

               พราหมณ์บัณฑิต ๘ ท่านทำนายพระลักษณะ               
               ต่อแต่นั้น พระประยูรญาติให้สรงสนานพระเศียรพระโพธิสัตว์. ในวันที่ ๕ ปรึกษากันว่าจักเฉลิมพระนาม จึงฉาบทาพระราชนิเวศน์ด้วยของหอม ๔ ชนิด โปรยดอกไม้มีข้าวตอกครบ ๕ ให้หุงข้าวมธุปายาสไม่ผสม นิมนต์พราหมณ์ ๑๐๘ ผู้จบไตรเพท ให้นั่งในราชนิเวศน์ ให้บริโภคข้าวมธุปายาส กระทำสักการะแล้วให้ตรวจทำนายพระลักษณะว่าจักเป็นอย่างไร.
               บรรดาพราหมณ์ ๑๐๘ นั้น พราหมณ์บัณฑิต ๘ ท่านมีรามพราหมณ์เป็นต้น เป็นผู้ตรวจทำนายพระลักษณะ.
               บรรดาพราหมณ์บัณฑิต ๘ ท่านนั้น ๗ ท่านยกสองนิ้ว พยากรณ์เป็นสองส่วนว่า ประกอบด้วยพระลักษณะเหล่านี้ เมื่ออยู่ครอง ฆราวาสวิสัยจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อผนวชจะเป็นพระพุทธเจ้า.
               บรรดาพราหมณ์บัณฑิต ๘ ท่านนั้น พราหมณ์โดยโคตรชื่อโกณฑัญญะหนุ่มกว่าเขาหมด เห็นพระวรลักษณสมบัติของพระโพธิสัตว์ ยกนิ้วเดียวเท่านั้น พยากรณ์เป็นส่วนเดียวว่า ท่านผู้นี้ไม่มีเหตุอยู่ครองฆราวาสวิสัย จักเป็นพระพุทธเจ้าผู้มีหลังคาอันเปิดแล้วโดยส่วนเดียว.
               ครั้งนั้น พระประยูรญาติเมื่อถือพระนามของพระโพธิสัตว์นั้น จึงเฉลิมพระนามว่าสิทธัตถะ เพราะทรงทำความสำเร็จประโยชน์แก่โลกทั้งปวง.
               ครั้งนั้น พราหมณ์เหล่านั้นกลับถึงบ้านเรือนของตนแล้ว ก็เรียกลูกๆ มาพูดสั่งอย่างนี้ว่า พ่อแก่แม่เฒ่าแล้วจะได้อยู่ชมพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ หรือไม่ได้ชมก็ได้ แต่เมื่อพระโอรสพระองค์นั้นทรงผนวชบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ลูกๆ ก็จงบวชในพระศาสนาของพระองค์นะ.
               ต่อนั้น ท่านพราหมณ์บัณฑิต ๗ ท่านอยู่จนตลอดชีวิตแล้วก็ไปตามกรรม โกณฑัญญมาณพไม่มีโรค.
               แต่ในครั้งนั้น พระราชาทรงสดับคำของพราหมณ์บัณฑิตเหล่านั้นแล้วตรัสถามว่า ลูกของเราเห็นอะไรจึงจักผนวช. พราหมณ์เหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่เทวะ เห็นบุพนิมิต ๔ พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่า ก็อะไรกันเล่า. ทูลตอบว่า คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย นักบวช.
               พระราชาตรัสสั่งว่า นับตั้งแต่นี้ไปพวกเจ้าอย่าให้คนแก่ คนเจ็บ นักบวชมาใกล้ลูกเรานะ แล้วทรงตั้งกองรักษาการณ์ ทุกระยะคาวุตหนึ่งๆ ทั้ง ๔ ทิศเพื่อป้องกันคนแก่เป็นต้นมาปรากฏในสายตาพระกุมาร.
               วันนั้น พระประยูรญาติแปดหมื่นตระกูล ประชุมกันในมงคลสถาน พระญาติแต่ละพระองค์ก็ทูลปฏิญญาถวายโอรสแต่ละองค์ว่า พระกุมารนี้จะเป็นพระพุทธเจ้าหรือจะเป็นพระราชาก็ตาม พวกเราก็จะถวายโอรสแต่ละองค์ ถ้าพระกุมารจักเป็นพระพุทธเจ้าไซร้ก็จักมีขัตติสมณะคอยแวดล้อมจาริกไป ถ้าจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิไซร้ก็จักมีขัตติยกุมารคอยแวดล้อมตามเสด็จไป.
               พระราชาพระราชทานพระพี่เลี้ยงนางนม ๖๔ นางผู้ปราศจากโทษทุกอย่าง ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติอย่างยิ่ง แด่พระมหาบุรุษ.
               พระโพธิสัตว์ทรงเจริญวัยด้วยบริวารไม่มีที่สุด ด้วยสิริสมุทัยอย่างใหญ่.
               ต่อมา วันหนึ่งเป็นวันพระราชพิธีวัปมงคล วันนั้นพระราชาเสด็จออกจากพระนครโดยสิริสง่ายิ่งใหญ่ด้วยราชบริพารกลุ่มใหญ่ ทรงพาพระโอรสเสด็จไปด้วย.
               ณ ที่กสิกรรม มีต้นหว้าต้นหนึ่ง มีเงาทึบร่มเย็นน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง. ทรงปูที่บรรทมสำหรับพระกุมารภายใต้ต้นหว้านั้น ผูกเพดานผ้าแดงประดับดาวทอง กั้นม่านตั้งกองรักษาการณ์.
               พระราชาประดับเครื่องอลังการทุกอย่างอันหมู่อำมาตย์แวดล้อมแล้ว เสด็จไปเพื่อจรดพระนังคัล ในที่กสิกรรมนั้น พระราชาทรงถือพระนังคัลทองอันเป็นมงคลอย่างยิ่ง พวกอำมาตย์เป็นต้นถือหางไถเงินเป็นต้น วันนั้นประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลพันหนึ่ง. พระพี่เลี้ยงนางนมนั่งล้อมพระโพธิสัตว์ คิดว่าจักดูสมบัติของพระราชา แล้วพากันออกไปนอกม่าน.
               ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ทรงแลดูข้างโน้นข้างนี้ ไม่เห็นใครๆ ก็พลันลุกขึ้นนั่งขัดสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ ยังปฐมฌานให้เกิด พวกพี่เลี้ยงนางนมเตร่ไปในระหว่างอาหาร ชักช้าอยู่เล็กน้อย เงาของต้นไม้ต้นอื่นๆ คล้อยกลับไป แต่เงาของต้นหว้าต้นนั้นยังเป็นปริมณฑลตั้งอยู่ในที่นั้นนั่นเอง.
               ฝ่ายพระพี่เลี้ยงนางนมของพระโพธิสัตว์นั้น คิดว่าพระลูกเจ้าอยู่แต่ลำพังจึงรีบยกม่านขึ้นหา ก็เห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งขัดสมาธิอยู่บนที่บรรทม และเห็นปาฏิหาริย์นั้น ไปกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา.
               พระราชารีบเสด็จมา ทรงเห็นปาฏิหาริย์นั้น ทรงไหว้พระโอรสตรัสว่า ลูกพ่อเอย นี่พ่อไหว้ลูกเป็นหนที่สองนะ.
               ครั้งนั้น พระมหาบุรุษทรงมีพระชันษา ๑๖ พรรษาตามลำดับ พระราชาโปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลัง ชื่อรัมมะ สุรัมมะและสุภะ ๙ ชั้นหลังหนึ่ง ๗ ชั้นหลังหนึ่ง ๕ ชั้นหลังหนึ่งอันเหมาะแก่ ๓ ฤดูแก่พระโพธิสัตว์ ปราสาทแม้ทั้ง ๓ หลัง ส่วนสูงมีขนาดเท่ากัน แต่ชั้นต่างกัน.
               พระราชาทรงพระดำริว่า ลูกของเราเจริญวัยแล้ว จำเราจะให้ยกฉัตรแก่ลูก จักเห็นสิริราชสมบัติ. ท้าวเธอก็ทรงส่งสาสน์แก่เจ้าศากยะทั้งหลายว่า ลูกเราเจริญวัยแล้ว เราจักสถาปนาลูกเราไว้ในสิริราชสมบัติ เจ้าศากยะทุกพระองค์จงส่งทาริกาที่เจริญวัยแล้วในเรือนของตนไปสู่เรือนนี้.
               เจ้าศากยะเหล่านั้นฟังสาส์นของพระราชา ก็พากันกล่าวว่า พระกุมารงามแต่รูปอย่างเดียว ยังไม่รู้ศิลปะไรๆ เลย จักไม่อาจทำการเลี้ยงภริยาได้ พวกเราจักไม่ให้ธิดาของเรา.
               พระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้วจึงเสด็จไปหาพระโอรส ทรงบอกเรื่องนั้น.
               พระโพธิสัตว์ทูลถามว่า ควรจะแสดงศิลปะอะไร.
               พระราชาตรัสว่าลูกเอ๋ย ควรจะใช้วิชากำลังบุรุษพันคนยกธนูขึ้น.
               พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น โปรดให้นำธนูมา.
               พระราชาโปรดให้นำธนูมาพระราชทาน.
               บุรุษพันหนึ่งยกธนูนั้นขึ้น บุรุษพันหนึ่งยกลง.
               พระมหาบุรุษให้นำธนูนั้นมาแล้ว ประทับนั่งขัดสมาธิ ทรงคล้องหัวสายธนูที่นิ้วแม่พระบาท โน้มขึ้นธนูด้วยนิ้วแม่พระบาทนั่นแหละ ทรงถือคันธนูด้วยพระหัตถ์ซ้ายแล้วขึ้นสายธนูด้วยพระหัตถ์ขวา.
               ทั่วพระนครก็ถึงอาการดังกึกก้องขึ้น และเมื่อถูกถามว่านั่นเสียงอะไร ก็ตอบกันว่า เมฆฝนคำรามดังนั้น.
               คนอื่นๆ จึงบอกว่า พวกท่านไม่รู้ ไม่ใช่เมฆฝนคำรามดอก เมื่อพระกุมารอังคีรสทรงใช้วิชากำลังบุรุษพันคนยกธนูขึ้น ทรงดีดสายธนู นั่นเสียงดีดสายธนูดอกนะ.
               เจ้าศากยะทั้งหลายฟังเรื่องนั้นแล้ว ก็พากันมีจิตคึกคักมีใจยินดี.
               ลำดับนั้น พระมหาบุรุษตรัสว่า ควรทำอะไรต่อไป.
               พระราชาตรัสว่า ควรเอาลูกธนูยิงแผ่นเหล็กหนา ๘ นิ้ว. ทรงยิงทะลุแผ่นเหล็กนั้นแล้วตรัสว่า ควรทำอะไรอย่างอื่น.
               พระราชาตรัสว่า ควรยิงทะลุกระดานไม้ประดู่หนา ๔ นิ้ว. ทรงยิงทะลุแผ่นกระดานไม้ประดู่นั้นแล้วตรัสว่า ควรทำอะไรอย่างอื่น.
               พระราชาตรัสว่า ควรยิงทะลุแผ่นกระดานไม้มะเดื่อหนาคืบหนึ่ง. ทรงยิงทะลุแผ่นกระดานไม้มะเดื่อแล้วตรัสว่า ควรทำอะไรอย่างอื่น.
               เจ้าศากยะทั้งหลายตรัสว่า ยิงเกวียนบรรทุกทราย.
               พระมหาสัตว์ทรงยิงทะลุเกวียนบรรทุกทรายบ้าง เกวียนบรรทุกฟางบ้าง เกวียนบรรทุกไม้เลียบบ้าง ทรงยิงลูกธนูไปในน้ำได้ประมาณอุสภะหนึ่ง บนบกได้ประมาณแปดอุสภะ.
               ครั้งนั้น เจ้าศากยะทั้งหลายตรัสกะพระโพธิสัตว์ว่า ควรยิงขนทรายที่หมายไว้ที่ผลมะอึก.
               พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงผูกผลมะอึก ไกลประมาณโยชน์หนึ่ง แล้วให้ผูกขนทรายที่หมายไว้ที่ผลมะอึก ไกลประมาณโยชน์หนึ่ง ทรงยิงลูกธนูไปในทิศที่ปิดด้วยแผ่นเมฆ ในความมืดแห่งราตรี. ลูกธนูนั้นไปผ่าขนทราย ไกลประมาณโยชน์หนึ่งแล้วเข้าไปสู่แผ่นดิน. มิใช่เพียงเท่านั้นอย่างเดียว วันนั้น พระมหาบุรุษทรงแสดงศิลปะที่ใช้กันอยู่ในโลกทุกอย่าง.
               ครั้งนั้น เจ้าศากยะทั้งหลายประดับธิดาของตนส่งไป สตรีสี่หมื่นนางได้เป็นนางสนมนาฏ ส่วนพระเทวีมารดาพระราหุลได้เป็นอัครมเหสี.
               พระมหาบุรุษอันสตรีรุ่นจำเริญแห่งมนุษย์แวดล้อม เหมือนเทวกุมารอันสตรีรุ่นจำเริญแห่งเทวดาแวดล้อมฉะนั้น อันดนตรีที่ไร้บุรุษบำเรออยู่ เสวยมหาสมบัติ ประทับอยู่ ณ ปราสาท ๓ หลังนั้น เปลี่ยนไปตามฤดู.
               ต่อมาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์มีพระประสงค์จะเสด็จไปยังภาคพื้นที่พระอุทยาน ทรงเรียกสารถีมาแล้วตรัสสั่งว่า จงเทียมรถไว้ เราจะชมสวน.
               สารถีนั้นรับพระดำรัสแล้ว ก็ประดับรถอันเป็นพาหนะที่สมควรยิ่งใหญ่มีทูบและสายรัดงามมั่นคง มีกงและดุมมั่นคง มีงอนและหน้าประดับด้วยทองเงินและแก้วมณี ข้างกงประดับด้วยดวงดาวทองและเงิน มีสิริสง่าด้วยพวงดอกไม้มีกลิ่นหอมชนิดต่างๆ ที่กำรวมกันไว้ เป็นที่น่าดูเสมือนรถพระอาทิตย์ เทียมมงคลสินธพ ๔ ตัวที่เป็นม้าอาชาไนย ฝีเท้าดังพระยาครุฑในอากาศ มีสีเสมือนดวงจันทร์และดอกกุมุท แล้วทูลให้พระโพธิสัตว์ทรงทราบ.
               พระโพธิสัตว์ เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งคันนั้น ซึ่งเสมือนเทพพิมาน เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปสู่พระอุทยาน.
               ลำดับนั้น เทวดาทั้งหลายดำริกันว่า ใกล้เวลาตรัสรู้ของพระสิทธัตถะกุมารแล้ว จำเราจักแสดงบุพนิมิตแด่พระองค์ จึงแสดงเป็นเทพบุตรองค์หนึ่งมีสรีระคร่ำคร่าเพราะชรา ฟันหัก ผมหงอก ตัวค้อมลง สั่นเทา.
               พระโพธิสัตว์และสารถีต่างก็เห็นคนแก่นั้น แต่นั้น พระโพธิสัตว์จึงตรัสถามโดยนัยที่มาในมหาปทานสูตรว่า ดูก่อนสารถี บุรุษนั่นชื่ออะไร แม้แต่ผมของเขาก็ไม่เหมือนของคนอื่นๆ เป็นต้น ครั้นฟังคำของสารถีนั้นแล้ว ก็ทรงสังเวชพระหฤทัยว่าท่านเอ๋ย น่าตำหนิชาติจริงหนอที่คนเกิดมาแล้ว ต้องปรากฏชราความแก่ดังนี้ เสด็จกลับจากที่นั้นแล้วก็เสด็จขึ้นปราสาท.
               พระราชาตรัสถามว่า เพราะเหตุไร ลูกของเราจึงกลับ. สารถีทูลว่า เพราะทรงเห็นคนแก่ พระเจ้าข้า. แต่นั้น พระราชาทรงหวั่นพระหฤทัย ทรงวางกองรักษาการณ์ไว้ในที่กึ่งโยชน์.
               วันรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์เสด็จไปพระอุทยาน ทรงเห็นคนเจ็บซึ่งเทวดาเหล่านั้นนั่นแหละเนรมิต ทรงถามเหมือนนัยก่อน สังเวชพระหฤทัย เสด็จกลับขึ้นปราสาท.
               พระราชาตรัสถามแล้ว ทรงจัดนักฟ้อนทั้งหลาย ทรงพระดำริว่า จำเราจักทำใจลูกเราให้แยกออกไปจากการบวช จึงทรงเพิ่มอารักขา ทรงตั้งกองรักษาการณ์ในที่ประมาณสามคาวุตโดยรอบ.
               แม้รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ก็เสด็จไปพระอุทยาน ทรงเห็นคนตายที่เทวดาเนรมิตอย่างนั้นเหมือนกัน ทรงถามเหมือนนัยก่อน สังเวชพระหฤทัยแล้วเสด็จกลับขึ้นปราสาทเลย. พระราชาตรัสถามถึงเหตุที่เสด็จกลับ ทรงเพิ่มอารักขาอีก ทรงตั้งกองรักษาการณ์ไว้ในที่โยชน์หนึ่ง.
               แม้รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ก็เสด็จไปพระอุทยาน ทรงเห็นนักบวชนุ่งดี ห่มดี ที่เทวดาเนรมิตอย่างนั้นเหมือนกัน ตรัสถามสารถีว่า สหายสารถี ผู้นั้นชื่ออะไร.
               สารถีไม่รู้จักนักบวชหรือคุณของนักบวช เพราะพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น เขาก็ตอบโดยอานุภาพของเทวดาว่า ผู้นี้ชื่อนักบวช พระเจ้าข้า. แล้วพรรณนาคุณของการบวชแก่พระโพธิสัตว์นั้น.
               แต่นั้น พระโพธิสัตว์เกิดความชอบใจการบวช จึงเสด็จไปพระอุทยาน.
               พระโพธิสัตว์ทั้งหลายอายุยืน เมื่อล่วงไปทุกร้อยปีจึงเห็นบุพนิมิตแต่ละอย่าง บรรดาบุพนิมิต ๔ มีคนแก่เป็นต้น.
               ส่วนพระโพธิสัตว์ของเรา เพราะอุบัติในยุคที่มนุษย์มีอายุน้อย ล่วงไปทุก ๔ เดือนจึงเสด็จไปพระอุทยาน ทรงเห็นบุพนิมิตแต่ละอย่างโดยลำดับ. แต่พระอาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์ทีฆนิกายกล่าวว่า ได้เสด็จไปเห็นนิมิต ๔ วันเดียวกันเท่านั้น.
               พระโพธิสัตว์ทรงเล่น ณ พระอุทยานนั้นตลอดทั้งวัน ทรงชื่นชมรสพระอุทยาน แล้วทรงสรงสนาน ณ สระมงคลโบกขรณี เมื่อดวงอาทิตย์อัสดงคต ประทับนั่งเหนือพื้นพระแท่นมงคลศิลา มีพระประสงค์จะทรงแต่งพระองค์.
               ลำดับนั้น วิสสุกรรมเทพบุตรอันท้าวสักกะจอมทวยเทพทรงทราบพระหฤทัยของพระโพธิสัตว์ ทรงใช้แล้ว ก็มาเป็นเสมือนช่างกัลบกสำหรับพระโพธิสัตว์นั้น ก็ประดับด้วยเครื่องอลังการที่เป็นทิพย์.
               เมื่อนักดนตรีสัพพตาลทั้งหลายแสดงปฏิภาณของตนๆ แก่พระโพธิสัตว์นั้นซึ่งประดับด้วยอลังการทุกอย่างแล้ว และเมื่อพราหมณ์ทั้งหลายสรรเสริญด้วยถ้อยคำเป็นต้นว่า ชย นรินฺท ข้าแต่พระจอมนระ ขอจงทรงชนะ และเมื่อผู้ถือมงคลมีสุตมังคลิกะเป็นต้นสรรเสริญด้วยคำมงคลและเสียงสดุดีมีประการต่างๆ พระโพธิสัตว์ก็เสด็จขึ้นรถ ที่ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง.
               สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงสดับข่าวว่า พระมารดาพระราหุลประสูติโอรส ก็ทรงส่งข่าวไปว่า พวกเจ้าจงแจ้งความยินดีแก่ลูกของเรา.
               พระโพธิสัตว์ฟังข่าวนั้นแล้วตรัสว่า ห่วงเกิดแล้ว เครื่องผูกเกิดแล้ว.
               พระราชาตรัสถามว่า ลูกของเราพูดอะไร. ทรงสดับคำนั้นแล้วตรัสว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หลานเราจงมีชื่อว่าราหุลกุมาร.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๕. โคตมพุทธวงศ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 25อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 26อ่านอรรถกถา 33.2 / 27อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=8517&Z=8562
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=8601
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=8601
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :