ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 14อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 15อ่านอรรถกถา 33.2 / 16อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๑๔. อัตถทัสสีพุทธวงศ์

               พรรณนาวงศ์พระอัตถทัสสีพุทธเจ้าที่ ๑๔               
               เมื่อพระปิยทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระศาสนาของพระองค์ก็อันตรธานแล้วเสื่อมไป เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุนับประมาณมิได้เจริญแล้วก็เสื่อมลงโดยลำดับ จนมีอายุแสนปี พระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ผู้เห็นอรรถอย่างยิ่ง ก็อุบัติขึ้นในโลก.
               พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากนั้นแล้วถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสุทัสสนเทวี อัครมเหสีในราชสกุลของพระเจ้าสาคระ กรุงโสภณะ ที่งามอย่างยิ่ง อยู่ในพระครรภ์ ๑๐ เดือน ประสูติจากพระครรภ์พระชนนี ณ สุจินธนราชอุทยาน.
               พอพระมหาบุรุษประสูติจากพระครรภ์พระชนนี เจ้าของทรัพย์ทั้งหลายก็พากันได้ขุมทรัพย์ใหญ่ที่ฝังกันไว้นาน สืบๆ ตระกูลกันมา เพราะเหตุนั้น ในวันรับพระนามของพระองค์ พระชนกชนนีจึงเฉลิมพระนามว่าอัตถทัสสี.
               พระองค์ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่หมื่นปี. ทรงมีปราสาท ๓ หลังที่มีกลิ่นหอมอย่างยิ่ง ชื่ออมรคิรี สุรคิรีและคิริวาหนะ มีพระสนมนารีสามหมื่นสามพันนางมีพระนางวิสาขาเทวีเป็นประมุข.
               เมื่อพระโอรสพระนามว่าเสลกุมาร ของพระนางวิสาขาเทวี ทรงสมภพ พระองค์ก็ทรงเห็นนิมิต ๔ ขึ้นทรงพญาม้าชื่อสุทัสสนะ เสด็จออกมหาอภิเนษกรมณ์ทรงผนวช มนุษย์เก้าโกฏิก็บวชตามเสด็จ.
               พระมหาบุรุษอันบรรพชิตเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียร ๘ เดือน ในวันวิสาขบูรณมี เสวยข้าวมธุปายาสที่มหาชนนำมาเป็นเครื่องสังเวยนางนาคชื่อว่าสุจินธรา นางนาคที่มีเรือนร่างทุกส่วนอันมหาชนเห็นอยู่ ถวายพร้อมด้วยถาดทอง ทรงยับยั้งพักกลางวัน ณ สวนสาละรุ่น ที่ประดับด้วยต้นไม้รุ่น ๑๐ ต้น เวลาเย็นทรงรับหญ้าคา ๘ กำที่พญานาคชื่อมหารุจิ ผู้ชอบใจธรรมถวาย แล้วเสด็จเข้าไปยังโพธิพฤกษ์ชื่อจัมปกะ ต้นจำปา ทรงลาดสันถัตหญ้าคากว้างยาว ๕๓ ศอก ประทับนั่งขัดสมาธิ ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณ ทรงเปล่งพระอุทานว่า อเนกชาติสํสารํ ฯลฯ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงประพฤติมา.
               ทรงยับยั้งอยู่ ณ ที่ใกล้โพธิพฤกษ์ ๗ วัน ทรงรับอาราธนาแสดงธรรมของท้าวมหาพรหม ทรงเห็นภิกษุใหม่เก้าโกฏิที่บวชกับพระองค์ เป็นผู้สามารถแทงตลอดอริยธรรมได้ เสด็จไปทางอากาศลงที่อโนมราชอุทยาน ใกล้อโนมนคร อันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ ที่นั้น ครั้งนั้น ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์แสนโกฏิ.
               ต่อมาอีก เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้นำโลกเสด็จจาริกไปในเทวโลก ทรงแสดงธรรมโปรดในที่นั้น อภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์แสนโกฏิ.
               ก็ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าอัตถทัสสี เสด็จเข้าไปยังกรุงโสภณะ เหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงแสดงธรรมโปรด ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ ก็ได้มีแก่สัตว์แสนโกฏิ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ในมัณฑกัปนั้นนั่นเอง พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า
               ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ก็ทรงกำจัดความมืดใหญ่ บรรลุ
               พระโพธิญาณอันอุดม.
                         พระองค์อันท้าวมหาพรหมอาราธนาแล้วก็ทรง
               ประกาศพระธรรมจักร ทรงยังหมื่นโลกธาตุ พร้อมทั้ง
               เทวโลกให้อิ่มด้วยอมฤตธรรม.
                         พระโลกนาถแม้พระองค์นั้น ก็ทรงมีอภิสมัย ๓
               ครั้ง อภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์แสนโกฏิ.
                         ครั้งพระอัตถทัสสีพุทธเจ้า เสด็จจาริกไปใน
               เทวโลก อภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์แสนโกฏิ.
                         ต่อมา ครั้งพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในสำนัก
               พระชนก อภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่สัตว์แสนโกฏิ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตตฺเถว ความว่า ในกัปนั้นนั่นเอง แต่ในที่นี้ วรกัปท่านประสงค์เอาว่ามัณฑกัป ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในหนหลัง ในการพรรณนาวงศ์ของพระปทุมุตตรพุทธเจ้าว่า ในกัปใดบังเกิดพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ กัปนั้นชื่อว่าวรกัป เพราะฉะนั้นในที่นี้ วรกัป ท่านจึงประสงค์เอาว่า มัณฑกัป.
               บทว่า นิหนฺตฺวาน แปลว่า กำจัดแล้ว หรือปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน.
               บทว่า สนฺโต แปลว่า มีอยู่.
               บทว่า อมเตน ได้แก่ ด้วยดื่มอมฤตธรรมคือการบรรลุมรรคผล.
               บทว่า ตปฺปยิ แปลว่า ให้อิ่มแล้ว. อธิบายว่าให้อิ่มหนำสำราญ.
               บทว่า ทสสหสฺสี ก็คือ ทสสหสฺสิโลกธาตุํ.
               บทว่า เทวจาริกํ ความว่า จาริกไปในเทวโลก เพื่อแนะนำเทวดาทั้งหลาย
               ได้ยินว่า ในสุจันทกนคร พระสันตราชโอรสและอุปสันตะบุตรปุโรหิต ไม่เห็นสาระในไตรเพทและลัทธิสมัยอื่นทุกอย่าง จึงวางคนที่รอบรู้และแกล้วกล้าไว้ ๔ คนที่ประตูทั้ง ๔ ของพระนคร โดยสั่งว่า พวกท่านเห็นหรือได้ยินสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นบัณฑิตผู้ใด พวกท่านจงมาบอกเรา.
               สมัยนั้น พระโลกนาถอัตถทัสสีเสด็จถึงสุจันทกนคร. ลำดับนั้น พวกบุรุษที่คนเหล่านั้นบอกแล้ว ก็พากันไปแจ้งการเสด็จมาในที่นั้นของพระทศพลแก่สองท่านนั้น.
               แต่นั้นพระสันตราชโอรสและอุปสันตะบุตรปุโรหิต ฟังข่าวการเสด็จมาของพระตถาคต ก็มีใจร่าเริง มีบริวารพันหนึ่งไปรับเสด็จพระทศพลผู้ไม่มีผู้เสมอ ถวายบังคมแล้วนิมนต์ ถวายมหาทานที่ไม่มีใครเทียม แด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน.
               วันที่ ๗ ก็ฟังธรรมกถาพร้อมด้วยผู้คนชาวนครทั้งสิ้น เขาว่า วันนั้น บุรุษเก้าหมื่นแปดพันพากันบวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชาแล้วบรรลุพระอรหัต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงท่ามกลางบริษัทนั้น. นั้นเป็นสันนิบาต ครั้งที่ ๑.
               ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงธรรมแก่พระเสลเถระ โอรสของพระองค์ ทรงยังบุรุษแปดหมื่นแปดพันให้เลื่อมใสแล้ว ให้บวชด้วยเอหิภิกขุภาวะให้เขาบรรลุพระอรหัตแล้ว ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๒. ต่อมาอีก เมื่อทรงแสดงธรรมแก่เทวดาและมนุษย์วันมาฆบูรณมี ในมหามงคลสมาคม ทรงยังสัตว์เจ็ดหมื่นแปดพันให้บรรลุพระอรหัต ทรงยก ปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๓.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ พระองค์
               นั้น ทรงมีสันนิบาตประชุมพระสาวกขีณาสพ ผู้ไร้มลทิน
               มีจิตสงบ คงที่ ๓ ครั้ง.
                         พระสาวกเก้าหมื่นแปดพันประชุมกันเป็นสันนิบาต
               ครั้งที่ ๑
                         พระสาวกแปดหมื่นแปดพันประชุมกันเป็นสันนิบาต
               ครั้งที่ ๒.
                         พระสาวกขีณาสพ ผู้หลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่น ผู้ไร้
               มลทิน ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่เจ็ดหมื่นเจ็ดพันประชุมกันเป็น
               สันนิบาตครั้งที่ ๓.

               ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราอันโลกสมมติว่าเป็นพราหมณ์มหาศาล ชื่อสุสิมะ ในนครจัมปกะ พระโพธิสัตว์นั้นสละสมบัติทุกอย่างแก่คนจน คนอนาถา คนกำพร้า คนเดินทางไกลเป็นต้น ไปใกล้ป่าหิมพานต์ บวชเป็นดาบส ยังสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดแล้ว เป็นผู้มีฤทธานุภาพมาก แสดงความไม่มีโทษและความมีโทษ แห่งกุศลธรรมและ อกุศลธรรมทั้งหลายแก่มหาชน รอคอยการอุบัติแห่งพระพุทธเจ้า.
               สมัยต่อมา เมื่อพระอัตถทัสสีพุทธเจ้าผู้นำโลกทรงอุบัติในโลกแล้ว ทรงยังฝนคืออมฤตธรรมให้ตกลงในท่ามกลางบริษัท ๘ ณ กรุงสุทัสสนมหานคร.
               พระโพธิสัตว์ฟังธรรมของพระองค์แล้ว ก็ไปสู่โลกสวรรค์แล้วนำเอาดอกไม้ทิพย์มีมณฑารพ ปทุม ปาริฉัตตกะเป็นต้นมาจากเทวโลก เมื่อจะสำแดงอานุภาพของตนจึงปรากฏตัว ยังฝนดอกไม้ให้ตกลงในทิศทั้ง ๔ เหมือนมหาเมฆตกใน ๔ ทวีป แล้วสร้างสิ่งที่สำเร็จด้วยดอกไม้มีที่บูชา เสาระเนียด ข่ายทองที่สำเร็จด้วยดอกไม้เป็นต้น เป็นมณฑปดอกไม้โดยรอบ บูชาพระทศพลด้วยฉัตรดอกมณฑารพ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นก็ทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์นั้นว่า ในอนาคตกาล จักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         สมัยนั้น เราเป็นชฎิลมีตบะสูง โดยชื่อว่าสุสีมะ
               อันแผ่นดินคือโลกสมมติว่า เป็นผู้ประเสริฐ
                         เรานำดอกไม้ทิพย์ คือมณฑารพ ปทุม ปาริฉัตตกะ
               จากเทวโลก บูชาพระสัมพุทธเจ้า
                         พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า มหามุนีพระองค์นั้นทรง
               พยากรณ์เราว่า ล่วงไป ๑,๘๐๐ กัป ท่านผู้นี้จักเป็นพระ
               พุทธเจ้า
                         พระตถาคตทรงตั้งความเพียร ฯลฯ จักอยู่ต่อหน้า
               ของท่านผู้นี้
                         เราฟังพระดำรัสของพระองค์ ก็ร่าเริง สลดใจ จึง
               อธิษฐานข้อวัตรยิ่งขึ้นไปเพื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้บริบูรณ์.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชฏิโล ได้แก่ ชื่อว่าชฎิล เพราะมีชฎา มุ่นมวยผม.
               บทว่า มหิยา เสฏฺฐสมฺมโต ความว่า อันโลกแม้ทั้งสิ้นสมมติยกย่องอย่างนี้ว่า เป็นผู้ประเสริฐสุด สูงสุด เลิศ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าอัตถทัสสีพระองค์นั้นทรงมีพระนครชื่อว่าโสภณะ พระชนกพระนามว่าพระเจ้าสาคระ พระชนนีพระนามว่าพระนางสุทัสสนา คู่พระอัครสาวกชื่อว่าพระสันตะและพระอุปสันตะ พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่าพระอภยะ คู่พระอัครสาวิกาชื่อว่าพระธัมมาและพระสุธัมมา โพธิพฤกษ์ชื่อว่าจัมปกะ พระสรีระสูง ๘๐ ศอก พระรัศมีแห่งพระสรีระแผ่ไปโดยรอบ ประมาณโยชน์หนึ่งทุกเวลา พระชนมายุแสนปี. พระอัครมเหสีพระนามว่าพระนางวิสาขา พระโอรสพระนามว่าเสละ ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือม้า.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระอัตถทัสสีศาสดา ทรงมีพระนครชื่อว่าโสภณะ
               พระชนกพระนามว่าพระเจ้าสาคระ พระชนนีพระนามว่า
               พระนางสุทัสสนา
                         พระอัตถทัสสีศาสดา มีพระอัครสาวกชื่อว่าพระ
               สันตะและพระอุปสันตะ พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่าพระ
               อภยะ.
                         พระอัครสาวิกาชื่อว่าพระธัมมาและพระสุธัมมา
               โพธิพฤกษ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียกว่า
               จัมปกะ.
                         พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เสมอด้วยพระพุทธเจ้า
               ผู้ไม่มีผู้เสมอ สูง ๘๐ ศอก งามเหมือนพญาสาลพฤกษ์
               เต็มบริบูรณ์เหมือนพระจันทร์.
                         พระรัศมีตามปกติของพระองค์ มีหลายร้อยโกฏิ
               แผ่ไปโยชน์หนึ่ง สิบทิศทั้งเบื้องสูงเบื้องต่ำทุกเมื่อ.
                         พระพุทธเจ้าเป็นผู้องอาจในนรชน เป็นมุนียอด
               แห่งสรรพสัตว์ ผู้มีพระจักษุพระองค์นั้นทรงดำรงอยู่ใน
               โลกแสนปี.
                         พระอัตถทัสสีพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้น ทรงแสดง
               พระรัศมีที่ไม่มีอะไรเทียบ เจิดจ้าไปในโลกทั้งเทวโลก
               ก็ทรงถึงความเป็นผู้ไม่เที่ยงแท้ ดับขันธปรินิพพาน
               เพราะสิ้นอุปาทาน เหมือนดวงไฟดับเพราะสิ้นเชื้อฉะนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุฬุราชาว ปูริโต ความว่า เหมือนดวงจันทร์ราชาแห่งดวงดาว บริบูรณ์ไร้มลทินทั่วมณฑลในฤดูสารท.
               บทว่า ปากติกา ความว่า เกิดขึ้นตามปกติ ไม่ใช่ตามอธิษฐาน เมื่อใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์ เมื่อนั้นก็ทรงแผ่พระรัศมีไปในจักรวาลแม้หลายแสนโกฏิ.
               บทว่า รํสี แปลว่า พระรัศมีทั้งหลาย.
               บทว่า อุปาทานสงฺขยา ได้แก่ เพราะสิ้นอุปาทาน.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเสด็จดับขันธปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เพราะสิ้นอุปาทาน ๔ เหมือนไฟดับเพราะสิ้นเชื้อ พระธาตุทั้งหลายของพระองค์เรี่ยรายไปด้วยพระอธิษฐาน.
               คำที่เหลือในคาถาทั้งหลายทุกแห่งง่ายทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาวงศ์พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๔. อัตถทัสสีพุทธวงศ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 14อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 15อ่านอรรถกถา 33.2 / 16อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=7951&Z=7998
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=6913
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=6913
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :