ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 10อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 11อ่านอรรถกถา 33.2 / 12อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๑๐. ปทุมุตรพุทธวงศ์

               พรรณนาวงศ์พระปทุมุตตรพุทธเจ้าที่ ๑๐               
               พระศาสนาของพระนารทพุทธเจ้าเป็นไปได้เก้าหมื่นปีก็อันตรธาน. กัปนั้นก็พินาศไป ต่อจากนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่อุบัติในโลกตลอดอสงไขยแห่งกัปทั้งหลาย ว่างพระพุทธเจ้า มีแสงสว่างที่ปราศจากพระพุทธเจ้า.
               แต่นั้น เมื่อกัปและอสงไขยทั้งหลายล่วงไปๆ ในกัปหนึ่งที่สุดแสนกัปนับแต่กัปนี้ พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพิชิตมาร ปลงภาระ มีพระเมรุเป็นสาระ ไม่มีสังสารวัฏ มีสัตว์เป็นสาระ ยอดเยี่ยมเหนือโลกทั้งปวง พระนามว่าปทุมุตตระ ก็อุบัติขึ้นในโลก.
               แม้พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต จุติจากดุสิตนั้นแล้วก็ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสุชาดาเทวีผู้เกิดในสกุลที่มีชื่อเสียง อัครมเหสีของพระเจ้าอานันทะ ผู้ทำความบันเทิงจิตแก่ชนทั้งปวง กรุงหังสวดี.
               พระนางสุชาดาเทวีนั้นอันทวยเทพอารักขาแล้ว ถ้วนกำหนดทศมาสก็ประสูติพระปทุมุตตรกุมาร ณ พระราชอุทยานหังสวดี. ในสมัยปฏิสนธิและสมภพก็มีปาฏิหาริย์ดังกล่าวแล้วแต่หนหลัง.
               ดังได้สดับมา ในสมัยพระราชกุมารพระองค์นั้นทรงสมภพ ฝนดอกปทุมก็ตกลงมา. ด้วยเหตุนั้น ในวันเฉลิมพระนามพระกุมาร พระประยูรญาติทั้งหลายจึงเฉลิมพระนามว่า ปทุมุตตรกุมาร. พระกุมารพระองค์นั้นทรงครองฆราวาสวิสัยหมื่นปี. พระองค์มีปราสาท ๓ หลังเหมาะแก่ฤดูทั้งสาม ชื่อนรวาหนะ ยสวาหนะและวสวัตดี มีพระสนมนารีแสนสองหมื่นนางมีพระนางวสุทัตตาเทวีเป็นประมุข.
               เมื่อพระอุตตรกุมารผู้ยอดเยี่ยมด้วยพระคุณทุกอย่าง พระโอรสของพระนางวสุทัตตาเทวีทรงสมภพแล้ว พระองค์ก็ทรงเห็นนิมิต ๔ ทรงพระดำริจักเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ พอทรงพระดำริเท่านั้น ปราสาทที่ชื่อว่าวสวัตดีก็ลอยขึ้นสู่อากาศ เหมือนจักรของช่างหม้อไปทางท้องอัมพร เหมือนเทพวิมานและเหมือนดวงจันทร์เพ็ญ ทำโพธิพฤกษ์ไว้ตรงกลางลงที่พื้นดิน เหมือนปราสาทที่กล่าวแล้วในการพรรณนาวงค์ของพระโสภิตพุทธเจ้า.
               ได้ยินว่า พระมหาบุรุษเสด็จลงจากปราสาทนั้น ทรงห่มผ้ากาสายะอันเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์ ซึ่งเทวดาถวาย ทรงผนวชในปราสาทนั้นนั่นเอง ส่วนปราสาทกลับมาตั้งอยู่ในที่ตั้งเดิมของตน. บริษัททุกคนที่ไปกับพระมหาสัตว์พากันบวช เว้นพวกสตรี.
               พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียร ๗ วันพร้อมกับผู้บวชเหล่านั้น วันวิสาขบูรณมี เสวยข้าวมธุปายาสที่ธิดารุจานันทเศรษฐี อุชเชนีนิคม ถวายแล้ว ทรงพักกลางวัน ณ สาลวัน เวลาเย็นทรงรับหญ้า ๘ กำที่สุมิตตะอาชีวกถวาย เสด็จเข้าไปยังโพธิพฤกษ์ชื่อต้นสลละ ช้างน้าว ทรงทำประทักษิณโพธิพฤกษ์นั้น ทรงลาดสันถัตหญ้ากว้าง ๓๘ ศอก ทรงนั่งขัดสมาธิอธิษฐานความเพียรมีองค์ ๔ ทรงกำจัดกองกำลังมารพร้อมทั้งตัวมาร.
               ยามที่ ๑ ทรงระลึกได้บุพเพนิวาส. ยามที่ ๒ ทรงชำระทิพยจักษุให้บริสุทธิ์, ยามที่ ๓ ทรงพิจารณาปัจจยาการ ออกจากจตุตถฌานมีอานาปานัสสติเป็นอารมณ์ แล้วหยั่งลงในขันธ์ ๕ ทรงเห็นลักษณะ ๕๐ ถ้วนด้วยสามารถแห่งความเกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป ทรงเจริญวิปัสสนาจนถึงโคตรภูญาณ แทงตลอดพระพุทธคุณทั้งสิ้นด้วยอริยมรรค ทรงเปล่งพระอุทานที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ประพฤติมาว่า อเนกชาติสํสารํ ฯเปฯ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา. ได้ทราบว่า ครั้งนั้น ฝนดอกปทุมตกลงมาประหนึ่งประดับทั่วภายใน ทั้งหมื่นจักรวาล.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ต่อจากสมัยของพระนารทพุทธเจ้า พระสัมพุทธเจ้า
               พระนามว่าปทุมุตตระ ผู้เป็นยอดแห่งสัตว์สองเท้า พระชินะ
               ผู้ไม่หวั่นไหว เปรียบดังสาครที่ไม่กระเพื่อมฉะนั้น.
                         พระพุทธเจ้าได้อุบัติในกัปใด กัปนั้นเป็นมัณฑกัป
               หมู่ชนผู้สั่งสมกุศลไว้ ก็ได้เกิดในกัปนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาครูปโม ได้แก่ มีภาวะลึกล้ำเสมือนสาคร.
               ในคำว่า มณฺฑกปฺโป วา โส อาสิ นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์อุบัติในกัปใด กัปนี้ชื่อว่ามัณฑกัป.

               กัปมี ๒ อสุญญกัปมี ๕               
               จริงอยู่ กัปมี ๒ คือสุญญกัปและอสุญญกัป.
               บรรดากัปทั้งสองนั้น พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมไม่อุบัติในสุญญกัป เพราะฉะนั้น กัปนั้นจึงเรียกว่าสุญญกัป เพราะว่างเปล่าจากบุคคลผู้มีคุณ.
               อสุญญกัปมี ๕ คือ สารกัป มัณฑกัป วรกัป สารมัณฑกัป ภัททกัป.
               ในอสุญญกัปนั้น กัปที่ประกอบด้วยสาระคือคุณ เรียกว่าสารกัป เพราะปรากฏพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่พระองค์เดียว. ผู้กำเนิดคุณสาร ยังคุณสารให้เกิด.
               ส่วนในกัปใด เกิดพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ กัปนั้นเรียกว่ามัณฑกัป.
               ในกัปใด เกิดพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์. บรรดาพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นั้น พระองค์ที่ ๑ พยากรณ์พระองค์ที่ ๒ พระองค์ที่ ๒ พยากรณ์พระองค์ที่ ๓. ในกัปนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีใจเบิกบาน ย่อมเลือกโดยปณิธานที่ตนปรารถนา เพราะฉะนั้น กัปนั้นจึงเรียกว่าวรกัป.
               ส่วนในกัปใดเกิดพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ กัปนั้นเรียกว่าสารมัณฑกัป เพราะประเสริฐกว่า มีสาระกว่ากัปก่อนๆ
               ในกัปใดเกิดพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ กัปนั้นเรียกว่าภัททกัป.
               ก็ภัททกัปนั้น หาได้ยากยิ่ง. ก็กัปนั้นโดยมาก สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มากด้วยกัลยาณสุข. โดยมาก ติเหตุกสัตว์ย่อมทำความสิ้นกิเลส ทุเหตุกสัตว์ย่อมถึงสุคติ. อเหตุกสัตว์ก็ได้เหตุ. เพราะฉะนั้น กัปนั้น จึงเรียกว่าภัททกัป.
               ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า อสุญญกัปมี ๕ เป็นต้น.
               สมจริงดังที่พระโบราณาจารย์กล่าวไว้ว่า
                         เอโก พุทฺโธ สารกปฺเป     มณฺฑกปฺเป ชินา ทุเว
                         ปญฺจ พุทฺธา ภทฺทกปฺเป   สารมณฺเฑ จตุโร พุทฺธา
                         สพฺพญฺญุเต จ ญาณสฺมึ    ตโต นตฺถาธิกา ชินา.
                                   ในสารกัป มีพระพุทธเจ้า ๑ พระองค์
                                   ในมัณฑกัป มีพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์
                                   ในวรกัป มีพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์
                                   ในสารมัณฑกัป มีพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์
                                   ในภัททกัป มีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์
                                   พระพุทธเจ้ามากกว่านั้นไม่มี ดังนี้.

               ส่วนในกัปใด พระปทุมุตตรทศพลอุบัติ กัปนั้นแม้เป็นสารกัป ท่านก็เรียกว่ามัณฑกัป เพราะเป็นเช่นเดียวกับมัณฑกัป ด้วยคุณสมบัติ.
               วาศัพท์พึงเห็นว่า ลงในอรรถอุปมา.
               บทว่า อุสฺสนฺนกุสลา ได้แก่ ผู้สั่งสมบุญไว้.
               บทว่า ชนตา ได้แก่ ชุมชน
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ ผู้เป็นยอดบุรุษ ทรงยับยั้ง ณ โพธิบัลลังก์ ๗ วัน ทรงย่างพระบาทเบื้องขวา ด้วยหมายพระหฤทัยว่าจะวางพระบาทลงที่แผ่นดิน.
               ลำดับนั้น ดอกบัวบกทั้งหลายมีเกสรและช่อละเอียดไร้มลทิน มีใบดังเกิดในน้ำไม่หม่นหมองไม่บกพร่องแต่บริบูรณ์ ชำแรกแผ่นดินผุดขึ้นมา บัวบกเหล่านั้นมีใบชิดกัน ๙๐ ศอก เกสร ๓๐ ศอก ช่อ ๑๒ ศอก เรณูของดอกแต่ละดอกขนาดหม้อใหม่.
               ส่วนพระศาสดาสูง ๕๘ ศอก ระหว่างพระพาหาสองข้างของพระองค์ ๑๘ ศอก พระนลาต ๕ ศอก พระหัตถ์และพระบาท ๑๑ ศอก. พอพระองค์ทรงเหยียบช่อ ๑๒ ศอก ด้วยพระบาท ๑๑ ศอก เรณูขนาดหม้อใหม่ ก็ฟุ้งขึ้นกลบพระสรีระ ๕๘ ศอก แล้วกลับท่วมทับ ทำให้เป็นเหมือน ฝุ่นมโนศิลาป่นเป็นจุณ.
               หมายเอาข้อนั้น พระอาจารย์ผู้รจนาคัมภีรสังยุตตนิกายจึงกล่าวว่า พระศาสดาปรากฏในโลกว่า พระปทุมุตตระ ดังนี้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ ผู้ยอดเยี่ยมเหนือโลกทั้งปวง ทรงรับอาราธนาของท้าวมหาพรหม ทรงตรวจดูสัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นดังภาชนะรองรับพระธรรมเทศนา ทรงเห็นพระราชโอรส ๒ พระองค์คือเทวละและสุชาตะ กรุงมิถิลา ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ทันใดก็เสด็จโดยทางอากาศ ลงที่พระราชอุทยานกรุงมิถิลา ใช้พนักงานเฝ้าพระราชอุทยานให้เรียกพระราชกุมารทั้งสองพระองค์มาแล้ว ทั้งสองพระองค์นั้นทรงดำริว่า พระปทุมุตตรกุมารโอรสของพระเจ้าอาของเรา ทรงผนวช. ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เสด็จถึงนครของเรา จำเราจักเข้าไปเฝ้าพระองค์พร้อมด้วยบริวาร ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ นั่งแวดล้อม.
               ครั้งนั้น พระทศพลอันพระราชกุมารและบริวารเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงรุ่งโรจน์ดุจจันทร์เพ็ญ อันหมู่ดาวแวดล้อมแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ ที่นั้น.
               ครั้งนั้น ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์แสนโกฏิ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ในการแสดงธรรมครั้งที่ ๑ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
                         ปทุมุตตระ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์แสนโกฏิ.

               สมัยต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังมหาชนให้ร้อน ด้วยความร้อนในนรก ทรงแสดงธรรมในสมาคมของสรทดาบส ทรงยังหมู่สัตว์นับได้สามล้านเจ็ดแสน ให้ดื่มอมตธรรม.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ต่อจากนั้น เมื่อทรงหลั่งฝนธรรม ให้สัตว์ทั้งหลายเอิบอิ่ม
                         อภิสมัยครั้งที่ ๒ ได้มีแก่สัตว์สามล้านเจ็ดแสน.

               ก็ครั้งพระเจ้าอานันทมหาราชปรากฏพระองค์ในกรุงมิถิลา ในสำนักของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยบุรุษ [ทหาร] สองหมื่นและอมาตย์ยี่สิบคน. พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระทรงให้ชนเหล่านั้นบวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชาทุกคน อันชนเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว เสด็จไปทำการสงเคราะห์พระชนก ประทับอยู่ ณ กรุงหังสวดีราชธานี.
               ในที่นั้น พระองค์เสด็จจงกรม ณ รัตนจงกรมในท้องนภากาศ ตรัสพุทธวงศ์เหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ในกรุงกบิลพัสดุ์ ครั้งนั้น ธรรมาภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่สัตว์ห้าล้าน.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ครั้งพระมหาวีระ เข้าไปโปรดพระเจ้าอานันทะ
               เสด็จเข้าไปใกล้พระชนก ทรงลั่นอมตเภรี.
                         เมื่อทรงลั่นอมตเภรีแล้ว ทรงหลั่งฝนคือ ธรรม
               อภิสมัยครั้งที่ ๓ ได้มีแก่สัตว์ห้าล้าน.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อานนฺทํ อุปสงฺกมิ ตรัสหมายถึงพระเจ้าอานันทะ พระชนก.
               บทว่า อาหนิ แปลว่า ลั่น (ตี). บทว่า อาหเต ก็คือ อาหตาย ทรงลั่นแล้ว.
               บทว่า อมตเภริมฺหิ ก็คือ อมตเภริยา เมื่อกลองอมตะ. พึงเห็นว่าเป็นลิงควิปลาส. ปาฐะว่า อาเสวิเต ดังนี้ก็มี ปาฐะนั้นมีความว่า อาเสวิตาย อันเขาซ่องเสพแล้ว.
               บทว่า วสฺสนฺเต ธมฺมวุฏฺฐิยา ความว่า หลั่งฝนคือธรรม บัดนี้ เมื่อทรงแสดงอุบายเพื่อกระทำอภิสมัย จึงตรัสว่า
                         พระพุทธเจ้าผู้ทรงฉลาดในเทศนา ทรงสั่งสอน
               ให้สัตว์เข้าใจ ให้สัตว์ทั้งหลายข้าม ทรงยังหมู่ชนเป็น
               อันมากให้ข้ามโอฆสงสาร.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอวาทกะ ได้แก่ ชื่อว่าโอวาทกะ เพราะสั่งสอนด้วยพรรณนาคุณานิสงส์ของสรณะและการสมาทานศีล และธุดงค์.
               บทว่า วิญฺญาปโก ได้แก่ ชื่อว่าวิญญาปกะ เพราะให้เขารู้สัจจะ ๔ คือให้เขาตรัสรู้.
               บทว่า ตารโก ได้แก่ ให้ข้ามโอฆะ ๔.
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงมีพระพักตร์เสมือนจันทร์เพ็ญในวันเพ็ญมาฆบูรณมี ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงท่ามกลางภิกษุแสนโกฏิ ณ มิถิลาราชอุทยาน กรุงมิถิลา นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๑.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   พระศาสดาปทุมุตตระทรงมีสันนิบาตประชุม
                         สาวก ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๑ เป็นการประชุมสาวกแสนโกฏิ.

               ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าจำพรรษา ณ ยอดเวภารบรรพต ทรงแสดงธรรมโปรดมหาชนที่มาชมบรรพต ทรงยังชนเก้าหมื่นโกฏิให้บวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชา อันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นสันนิบาตครั้งที่ ๒.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   ครั้งพระพุทธเจ้า ผู้เสมอด้วยพระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีผู้เสมอ
                         เสด็จจำพรรษา ณ เวภารบรรพต ภิกษุเก้าหมื่นโกฏิประชุมกัน
                         เป็นสันนิบาตครั้งที่ ๒.

               เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีพระคุณ ผู้เป็นนาถะของ ๓ โลก ทรงทำการเปลื้องมหาชนจากเครื่องผูก เสด็จจาริกไปตามชนบท ภิกษุแปดหมื่นโกฏิประชุมกัน.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปอีก ภิกษุที่ออกบวชจาก
               คามนิคมและรัฐ แปดหมื่นโกฏิประชุมกันเป็นสันนิบาตครั้ง
               ที่ ๓.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คามนิคมรฏฺฐโต ก็คือ คามนิคมรฏฺเฐหิ จากคามนิคมรัฐชนบท. หรือปาฐะก็อย่างนี้เหมือนกัน ปาฐะนั้นความว่า ผู้ออกบวชจากคามนิคมและรัฐทั้งหลาย.
               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นผู้ครองรัฐใหญ่ชื่อว่าชฏิล มีทรัพย์หลายโกฏิ ได้ถวายทานอย่างดีพร้อมทั้งจีวร แต่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เสร็จอนุโมทนาภัตทาน พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็ทรงพยากรณ์เราว่า ในอนาคตกาลจักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ ในที่สุดแสนกัป.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         สมัยนั้น เราเป็นผู้ครองรัฐ ชื่อชฏิล ได้ถวาย
               ภัตตาหารพร้อมทั้งผ้า แด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็น
               ประธาน.
                         พระพุทธเจ้าแม้พระองค์นั้น ประทับนั่งท่ามกลาง
               สงฆ์ ทรงพยากรณ์เราว่า ท่านผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า
               ในแสนกัปนับแต่กัปนี้ไป.
                         พระตถาคต ตั้งความเพียร ฯลฯ จักอยู่ต่อหน้า
               ของท่านผู้นี้.
                         เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้ว ก็อธิษฐาน
               ข้อวัตรยิ่งยวดขึ้น ได้ทำความเพียรมั่นคงอย่างยิ่ง เพื่อ
               บำเพ็ญบารมี ๑๐ ให้บริบูรณ์.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺพุทฺธปฺปมุขํ สงฺฆํ ก็คือ พุทฺธปฺปมุขสฺส สงฺฆสฺส แด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ทุติยาวิภัตติลงในอรรถฉัฏฐีวิภัตติ.
               บทว่า สภตฺตํ ทุสฺสมทาสหํ ความว่า เราได้ถวายภัตตาหารพร้อมด้วยจีวร.
               บทว่า อุคฺคทฬฺหํ แปลว่า มั่นคงยิ่ง.
               บทว่า ธิตึ ความว่า ได้ทำความเพียร.
               ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระ ไม่มีพวกเดียรถีย์ เทวดาและมนุษย์ทุกคนถึงพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเป็นสรณะ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ครั้งนั้น พวกเดียรถีย์ ผู้มีใจผิดปกติ มีใจเสีย
               ถูกกำจัดมานะหมด บุรุษบางพวกของเดียรถีย์เหล่านั้น
               ไม่ยอมบำรุงบำเรอ ก็ขับไล่เดียรถีย์เหล่านั้น ออกไป
               จากแว่นแคว้น.
                         ทุกคนมาประชุมกันในที่นั้น ก็เข้าไปที่สำนัก
               ของพระพุทธเจ้า ทูลวอนว่า ข้าแต่พระมหาวีระ ขอ
               พระองค์ทรงเป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระผู้มีพระจักษุ ขอพระ
               องค์ทรงเป็นสรณะ.
                         พระพุทธเจ้าผู้ทรงมีความเอ็นดู มีพระกรุณา
               แสวงประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ก็ทรงยังเดียรถีย์ที่
               ประชุมกันทั้งหมดให้ตั้งอยู่ในศีล ๕.
                         ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ไม่อากูล
               อย่างนี้ ว่างเปล่าจากเดียรถีย์ทั้งหลาย งดงามด้วยพระ
               อรหันต์ทั้งหลาย ผู้ชำนาญ ผู้คงที่.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺยาหตา ได้แก่ ผู้มีความถือตัวและความกระด้างถูกขจัดแล้ว.
               ในคำว่า ติตฺถิยา นี้ พึงทราบว่าติตถะ พึงทราบว่าติตถกระ พึงทราบว่าติตถิยะ.
               ใน ๓ อรรถนั้น ชื่อว่าติตถะ เพราะคนทั้งหลายข้ามไปด้วยอำนาจทิฏฐิมีสัสสตะทิฏฐิเป็นต้น ได้แก่ลัทธิ. ผู้ยังลัทธินั้นให้เกิดขึ้น ชื่อว่าติตถกระ. ผู้มีในลัทธิชื่อว่าติตถิยะ.
               พึงทราบว่าที่ตรัสว่า พวกเดียรถีย์ถูกกำจัดความถือตัวและกระด้างเสียแล้วเป็นต้น ก็เพื่อแสดงว่า เขาว่า ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระไม่มีเดียรถีย์ ถึงเดียรถีย์เหล่าใดยังมี เดียรถีย์แม้เหล่านั้นก็เป็นเช่นนี้.
               บทว่า วิมนา ได้แก่ มีใจผิดแผกไป.
               บทว่า ทุมฺมนา เป็นไวพจน์ของคำว่า วิมนา นั้นนั่นแหละ.
               บทว่า น เตสํ เกจิ ปริจรนฺติ ความว่า บุรุษแม้บางพวกของเดียรถีย์เหล่านั้นไม่ทำการนวดฟั้น ไม่ให้ภิกษาหาร ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่ยอมลุกจากที่นั่ง ไม่ทำอัญชลีกรรม.
               บทว่า รฏฺฐโต ได้แก่ แม้จากรัฐทั่วไป.
               บทว่า นิจฺฉุภนฺติ ได้แก่ นำออกไป รุกราน. อธิบายว่า ไม่ให้ที่อยู่แก่เดียรถีย์เหล่านั้น.
               บทว่า เต ได้แก่ เดียรถีย์ทั้งหลาย.
               บทว่า อุปคญฺฉุํ พุทฺธสนฺติเก ความว่า พวกอัญญเดียรถีย์แม้ทั้งหมดที่ถูกพวกมนุษย์ชาวแว่นแคว้นรุกรานอย่างนี้ มาประชุมแล้วก็ถึงพระปทุมุตตรทศพลพระองค์เดียวเป็นสรณะ พากันกล่าวถึงสรณะอย่างนี้ว่า ขอพระองค์โปรดทรงเป็นศาสดา เป็นนาถะ เป็นคติ เป็นที่ไปเบื้องหน้า เป็นสรณะของพวกข้าพระองค์เถิด.
               ชื่อว่าอนุกัมปกะ เพราะทรงเอ็นดู.
               ชื่อว่าการุณิกะ เพราะทรงประพฤติด้วยความกรุณา.
               บทว่า สมฺปตฺเต ได้แก่ พวกเดียรถีย์ที่มาประชุมเข้าถึงสรณะ.
               บทว่า ปญฺจสีเล ปติฏฺฐหิ ความว่า ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕.
               บทว่า นิรากุลํ ได้แก่ ไม่อากูล. อธิบายว่า ไม่ปะปนด้วยลัทธิอื่น.
               บทว่า สุญฺญกํ ได้แก่ ว่างเปล่าจากเดียรถีย์เหล่านั้น.
               บทว่า ตํ พึงเติมคำลงไปว่า พระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น.
               บทว่า วิจิตฺตํ ได้แก่ งามวิจิตร. บทว่า วสีภูเตหิ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระพระองค์นั้นมีพระนครชื่อว่าหังสวดี พระชนกพระนามว่าพระเจ้าอานันทะ พระชนนีพระนามว่าพระนางสุชาดาเทวี คู่พระอัครสาวกชื่อพระเทวิละและพระสุชาตะ พระพุทธอุปัฏฐากชื่อพระสุมนะ คู่พระอัครสาวิกาชื่อพระอมิตาและพระอสมา.
               โพธิพฤกษ์ชื่อต้นสลละ ช้างน้าว. พระสรีระสูง ๕๘ ศอก พระรัศมีของพระองค์แผ่ไปกินเนื้อที่ ๑๒ โยชน์โดยรอบ พระชนมายุแสนปี พระอัครมเหสีพระนามว่าพระนางวสุทัตตา พระโอรสพระนามว่าอุตตระ.
               เล่ากันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าปทุมุตตระดับขันธปรินิพพาน ณ พระวิหารนันทารามอันเป็นที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง.
               ส่วนพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์กระจัดกระจายทั่วไป พวกมนุษย์ทั่วชมพูทวีป ชุมนุมกันช่วยกันสร้างพระเจดีย์สำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการสูง ๑๒ โยชน์.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระปทุมุตตรศาสดา มีพระนคร ชื่อว่าหังสวดี
               พระชนกพระนามว่าพระเจ้าอานันทะ พระชนนีพระ
               นามว่าพระนางสุชาดา.
                         พระปทุมุตตรพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่ มีพระ
               อัครสาวิกาชื่อว่าพระอมิตาและพระอสมา โพธิพฤกษ์ของ
               พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ชื่อต้นสลละ (ต้นช้างน้าว).
                         พระมหามุนีสูง ๕๘ ศอก พระลักษณะอันประเสริฐ
               ๓๒ เช่นเดียวกับรูปปฏิมาทอง.
                         พระรัศมีแห่งพระสรีระ แผ่ไปรอบๆ ๑๒ โยชน์
               ยอดเรือน บานประตู ฝา ต้นไม้ กองศิลาคือภูเขา ก็กั้น
               พระรัศมีนั้นไม่ได้.
                         ในยุคนั้น มนุษย์มีอายุแสนปี พระปทุมุตตระ
               พุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระชนม์ยืนถึงเพียงนั้น
               ย่อมยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆสงสาร.
                         พระองค์ทั้งพระสาวก ยังชนเป็นอันมากให้ข้าม
               โอฆสงสาร ตัดความสงสัยทุกอย่างแล้ว ก็เสด็จดับขันธ-
               ปรินิพพาน เหมือนกองไฟลุกโพลงแล้วก็ดับฉะนั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นคสิลุจฺจยา ได้แก่ กองศิลากล่าวคือภูเขา.
               บทว่า อาวรณํ ได้แก่ ปกปิด ทำไว้ภายนอก.
               บทว่า ทฺวาทสโยชเน ความว่า พระรัศมีแห่งพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า แผ่ไปในที่ ๑๒ โยชน์โดยรอบ ตั้งอยู่ทั้งกลางคืนกลางวัน.
               ในคาถาที่เหลือในที่ทุกแห่งความชัดแล้วทั้งนั้นแล.
               ตั้งแต่นี้ไป เราจักย่อความที่มาแล้วซ้ำซากมีการบำเพ็ญบารมีเป็นต้นจะกล่าวแต่ความที่แปลกกันเท่านั้น ก็หากว่า เราจะกล่าวซ้ำซากความที่กล่าวมาแล้ว เมื่อไรจักจบการพรรณนามีอย่างนี้แล.
               จบพรรณนาวงศ์พระปทุมุตตรพุทธเจ้า               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๑๐. ปทุมุตรพุทธวงศ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 10อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 11อ่านอรรถกถา 33.2 / 12อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=7720&Z=7777
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=6136
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=6136
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :