ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
รัตนะจงกรมกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๙ / ๑๒.

               เรื่องความปรารถนาของท่านสุเมธ               
               บัดนี้ถึงโอกาสพรรณนาพุทธวงศ์ ที่ดำเนินไปโดยนัยเป็นต้นว่า
                         ในที่สุดสี่อสงไขยแสนกัป มีนครชื่อว่าอมรวดี
                         งามน่าดู น่ารื่นรมย์.

               ก็การพรรณนาพุทธวงศ์นี้นั้น เพราะเหตุที่จำต้องกล่าววิจารถึงเหตุตั้งสูตรแล้วจึงจะปรากฏชัด ฉะนั้น จึงควรทราบการวิจารเหตุตั้งสูตรก่อน.
               เหตุตั้งสูตรมี ๔ คือ เนื่องด้วยอัธยาศัยของพระองค์ ๑ เนื่องด้วยอัธยาศัยของผู้อื่น ๑ เนื่องด้วยมีการทูลถาม ๑ เนื่องด้วยมีเรื่องเกิดขึ้น ๑.
               ในเหตุตั้งสูตรทั้ง ๔ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าอันผู้อื่นมิได้เชื้อเชิญตรัสพระสูตรเหล่าใด โดยอัธยาศัยของพระองค์อย่างเดียว คือ อากังเขยยสูตร วัตถุสูตรอย่างนี้เป็นต้น เหตุตั้งพระสูตรเหล่านั้น ชื่อว่าเนื่องด้วยอัธยาศัยของพระองค์.
               อนึ่งเล่า พระสูตรเหล่าใดอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูอัธยาศัย ขันติ ใจและความเป็นผู้จะตรัสรู้ของชนเหล่าอื่น อย่างนี้ว่า ธรรมทั้งหลายที่ช่วยบ่มวิมุตติของราหุลแก่กล้าแล้ว ถ้ากระไรพึงแนะนำราหุลยิ่งขึ้นไปในธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น แล้วตรัสโดยอัธยาศัยของผู้อื่น คือ ราหุโลวาทสูตร ธัมมจักกัปวัตตนสูตรอย่างนี้เป็นอาทิ เหตุตั้งพระสูตรเหล่านั้น ชื่อว่าเนื่องด้วยอัธยาศัยของผู้อื่น.
               เทวดาและมนุษย์นั้นเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วทูลถามปัญหา. ก็พระสูตรเหล่าใดอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเทวดาและมนุษย์ทูลถามแล้วตรัสอย่างนี้ มีเทวดาสังยุตและโพชฌงคสังยุตเป็นต้น. เหตุตั้งสูตรเหล่านั้น ชื่อว่าเนื่องด้วยมีการทูลถาม.
               อนึ่งเล่า พระสูตรเหล่าใดอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอาศัยเหตุที่เกิดขึ้น มีธัมมทายาทสูตรและปุตตมังสูปมสูตรเป็นต้น เหตุตั้งสูตรเหล่านั้น ชื่อว่าเนื่องด้วยมีเรื่องเกิดขึ้น.
               บรรดาเหตุตั้งพระสูตรทั้ง ๔ อย่างนี้ เหตุตั้งพุทธวงศ์นี้เป็นเหตุที่เนื่องด้วยมีการทูลถาม.
               จริงอยู่ พุทธวงศ์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ายกตั้งไว้ ก็โดยการถามของใคร. ของท่านพระสารีบุตรเถระ.
               สมจริงดังที่ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ในนิทานนั้นว่า
                                   ท่านพระสารีบุตร ผู้มีปัญญามาก ผู้ฉลาดในสมาธิและ
                         ญาณ ผู้บรรลุสาวกบารมีด้วยปัญญา ทูลถามพระผู้นำโลกว่า
                         ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้สูงสุดแห่งนรชน อภินีหารของพระองค์
                         เป็นเช่นไร

               ดังนี้เป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น พุทธวงศ์เทศนานี้ พึงทราบว่า เนื่องด้วยมีการทูลถาม.

               อธิบาย กัปปศัพท์               
               ในคำว่า กปฺเป จ สตสหสฺเส นี้ ในคาถานั้น กัปปศัพท์นี้ใช้ในอรรถทั้งหลายมีความเชื่อมั่น โวหาร กาล บัญญัติ ตัดแต่ง กำหนด เลศ โดยรอบ อายุกัปและมหากัปเป็นต้น.
               จริงอย่างนั้น กัปปศัพท์ใช้ในอรรถว่าเชื่อมั่น ได้ในประโยคทั้งหลายเป็นต้นว่า โอกปฺปนียเมตํ โภโต โคตมสฺส ยถา ตํ อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ข้อนี้พึงเชื่อมั่นต่อท่านพระโคดมเหมือนอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
               ใช้ในอรรถว่าโวหาร ได้ในประโยคเป็นต้นว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว ปญฺจหิ สมณกปฺเปหิ ผลํ ปริภุญฺชิตุํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ฉันผลไม้ด้วยสมณโวหาร ๕ อย่าง.
               ใช้ในอรรถว่ากาล ได้ในประโยคเป็นต้นว่า เยน สุทํ นิจฺจกปฺปํ วิหรามิ เขาว่า เราจะอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ ด้วยเหตุใด.
               ใช้ในอรรถว่าบัญญัติ ได้ในประโยคทั้งหลายเป็นต้นว่า อิจฺจายสฺมา กปฺโป ท่านกัปปะและว่า นิโคฺรธกปฺโป อิติ ตสฺส นามํ ตยา กถํ ภควา พฺราหมณสฺส ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ชื่อของเขาว่านิโครธกัปปะ พระองค์ก็ทรงตั้งให้แก่พราหมณ์.
               ใช้ในอรรถว่าตัดแต่ง ได้ในประโยคเป็นต้นว่า อลงฺกโต กปฺปิตเกสมสฺสุ แต่งตัวแล้ว ตัดแต่งผมและหนวดแล้ว.
               ใช้ในอรรถว่ากำหนด ได้ในประโยคเป็นต้นว่า กปฺปติ ทวงฺคุลกปฺโป กำหนดว่ากาลเดิมสองนิ้ว ย่อมควร.
               ใช้ในอรรถว่าเลศ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า อตฺถิ กปฺโป นิปชฺชิตุํ มีเลศที่จะนอน.
               ใช้ในอรรถว่าโดยรอบ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า เกวลกปฺปํ เชตวนํ โอภาเสตฺวา ส่องสว่างรอบพระเชตวันทั้งสิ้น.
               ใช้ในอรรถว่าอายุกัป ได้ในบาลีนี้ว่า ติฏฺฐตุ ภนฺเต ภควา กปฺปํ, ติฏฺฐตุ ภนฺเต สุคโต กปฺปํ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงดำรงอยู่ตลอดอายุกัป ขอพระสุคตโปรดทรงดำรงอยู่ตลอดอายุกัปเถิด พระเจ้าข้า.
               ใช้ในอรรถว่ามหากัป ได้ในบาลีนี้ว่า กีว ทีโฆ นุ โข ภนฺเต กปฺโป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหากัปยาวเพียงไรหนอ.
               โดย อาทิศัพท์ กัปศัพท์ใช้ในอรรถว่าเทียบเคียง ได้ในบาลีนี้ว่า สตฺถุ กปฺเปน วต กิร โภ มยํ สาวเกน สทฺธึ มนฺตยมานา น ชานิมฺห. ท่านผู้เจริญ เขาว่าเมื่อเทียบเคียงกับพระศาสดา พวกเราปรึกษากับสาวกก็ไม่รู้.
               ใช้ในอรรถว่าควรแก่วินัย ได้ในบาลีนี้ว่า กปฺโป นฏฺโฐ โหติ กปฺป กโตกาโส ชิณฺโณ โหติ ความสมควรแก่วินัย ก็เสียไป โอกาสที่จะทำให้สมควรแก่วินัย ก็เก่าไป.
               แต่ในที่นี้ พึงเห็นว่าใช้ในอรรถว่ามหากัป. เพราะฉะนั้น บทว่า กปฺเปจ สตสหสฺเส จึงมีความว่า แห่งแสนมหากัป.
               ในคำว่า จตุโร จ อสงฺขิเย พึงเห็นว่าต้องเติมคำที่เหลือว่า จตุนฺนํ อสงฺเขยฺยานํ มตฺถเก ความว่า ในที่สุดแห่งสี่อสงไขย กำไรแสนกัป.
               บทว่า อมรํ นาม นครํ ได้แก่ ได้เป็นนครอันได้นามว่าอมร และอมรวดี แต่ในคำนี้ อาจารย์บางพวกพรรณนาเป็นประการอื่นไป, จะต้องการอะไรกับอาจารย์พวกนั้น. ก็คำนี้เป็นเพียงนามของนครนั้น.
               บทว่า ทสฺสเนยฺยํ ได้แก่ ชื่อว่างามน่าดู เพราะประดับด้วยที่อยู่คือปราสาททิมแถวล้อมด้วยประการมีทาง ๔ แพร่ง ๓ แพร่ง มีประตูมีสนามงาม จัดแบ่งเป็นส่วนสัดอย่างดี.
               บทว่า มโนรมํ ได้แก่ ชื่อว่าน่ารื่นรมย์ เพราะทำใจของเทวดาและมนุษย์เป็นต้นให้รื่นรมย์ เพราะเป็นนครมีภูมิภาคที่เรียบสะอาดน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง เพราะเป็นนครที่พรั่งพร้อมด้วยร่มเงาและน้ำ เพราะเป็นนครที่มีอาหารหาได้ง่าย เพราะเป็นนครที่ประกอบด้วยเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่าง และเพราะเป็นนครที่มั่งคั่ง.
               บทว่า ทสหิ สทฺเทหิ อวิวิตฺตํ ความว่า พระนครไม่ว่างเว้นจากเสียง ๑๐ อย่าง คือ เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงสังข์ เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงขับ เสียงดนตรีไม้ เสียงเชิญบริโภคอาหารที่ครบ ๑๐. นักฟ้อนรำงานฉลอง งานมหรสพหาที่เปรียบมิได้ ก็เล่นกันได้ทุกเวลา.
               บทว่า อนฺนปานสมายุตํ ได้แก่ ประกอบด้วยข้าวคืออาหาร ๔ อย่างและน้ำดีชื่อว่าอันนปานสมายุต. ด้วยบทนี้ ท่านแสดงว่า นครนั้นหาอาหารได้สะดวก. อธิบายว่า พรั่งพร้อมแล้วด้วยข้าวและน้ำเป็นอันมาก.
               บัดนี้ เพื่อแสดงเสียงเหล่านั้น โดยวัตถุจึงตรัสว่า
                         อมรวดีนคร กึกก้องด้วยเสียงช้าง ม้า กลอง สังข์
                         รถ เสียงเชิญบริโภคอาหารด้วยข้าวและน้ำ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หตฺถิสทฺทํ ได้แก่ ด้วยเสียงโกญจนาทของช้างทั้งหลาย.
               คำนี้พึงเห็นว่าทุติยาวิภัตติลงในอรรถตติยาวิภัตติ.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้.
               บทว่า เภริสงฺขรถานิ จ ความว่า ด้วยเสียงกลอง เสียงสังข์และเสียงรถ. ท่านกล่าวเป็นลิงควิปลาส.
               อธิบายว่า อึกทึกกึกก้องด้วยเสียงที่เป็นไปอย่างนี้ว่า กินกันจ้ะ ดื่มกันจ้ะเป็นต้น ประกอบพร้อมด้วยข้าวและน้ำ.
               ผู้ทักท้วงกล่าวในข้อนี้ว่า เสียงเหล่านั้น ท่านแสดงไว้แต่เอกเทศเท่านั้น ไม่ได้แสดงไว้ทั้งหมด หรือ.
               ตอบว่า ไม่ใช่แสดงไว้แต่เอกเทศ แสดงไว้หมดทั้ง ๑๐ เสียงเลย.
               อย่างไรเล่า.
               ท่านแสดงไว้ ๑๐ เสียง คือ เสียงตะโพน ท่านสงเคราะห์ด้วยเสียงกลอง เสียงพิณเสียงขับกล่อมและเสียงดนตรีไม้สงเคราะห์ด้วยเสียงสังข์.
               ครั้นทรงพรรณนาสมบัติของนครโดยปริยายหนึ่งอย่างนี้แล้ว เพื่อแสดงสมบัตินั้นอีก จึงตรัสว่า
                                   นครพรั่งพร้อมด้วยส่วนประกอบทุกอย่างมีการ
                         งานทุกอย่างจัดไว้อย่างดี สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ
                         กลาดเกลื่อนด้วยหมู่ชนต่างๆ เจริญมั่งคั่ง เป็นที่อยู่ของ
                         ผู้ทำบุญ เหมือนเทพนคร.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพงฺคสมฺปนฺนํ ความว่า พรั่งพร้อมด้วยส่วนประกอบนครทุกอย่างมีปราการ ซุ้มประตู หอรบเป็นต้น หรือว่ามีอุปกรณ์ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ ทรัพย์ ข้าวเปลือก หญ้าไม้และน้ำบริบูรณ์.
               บทว่า สพฺพกมฺมมุปาคตํ ได้แก่ ประกอบด้วยการงานทุกอย่าง. อธิบายว่า มีการงานทุกอย่างพรักพร้อม.
               บทว่า สตฺตรตนสมฺปนฺนํ ได้แก่ มีรัตนะ ๗ มีแก้วมุกดาเป็นต้นบริบูรณ์ หรือว่าสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ มีหัตถิรัตนะจากภูมิภาคอันเป็นที่ประทับอยู่ขององค์จักรพรรดิ.
               บทว่า นานาชนสมากุลํ ได้แก่ กลาดเกลื่อนด้วยชนทั้งหลายที่มีถิ่นและภาษาต่างๆ กัน.
               บทว่า สมิทฺธํ ได้แก่ สำเร็จแล้ว เจริญแล้ว ด้วยเครื่องอุปโภคและเครื่องอุปกรณ์ทุกอย่างของมนุษย์.
               บทว่า เทวนครํ ว ท่านอธิบายว่า อมรวดีนครมั่งคั่งเจริญเหมือนนครของเทพ เหมือนอาลกมันทาเทพธานี.
               บทว่า อาวาสํ ปุญฺญกมฺมินํ ความว่า ชนทั้งหลายผู้มีบุญกรรม ย่อมอยู่ในประเทศนั้น เหตุนั้นประเทศนั้นจึงชื่อว่าเป็นที่อยู่.
               พึงทราบว่า เมื่อควรจะกล่าวว่า อาวาโส แต่ก็ทำให้ต่างลิงค์กล่าวว่า อาวาสํ.
               ชื่อว่าบุญ เพราะเป็นเครื่องปรากฏ. อธิบายว่า ปรากฏโดยตระกูล รูป มหาโภคะและความเป็นใหญ่. หรือว่า ชื่อว่าบุญ เพราะชำระ.
               อธิบายว่า บุญกรรมของชนเหล่าใดมีอยู่ เพราะลอยละอองมลทินของกุศลทั้งปวง ชนเหล่านั้นชื่อว่ามีบุญกรรม, นครนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีบุญกรรมเหล่านั้น.
               พราหมณ์ชื่อสุเมธ อาศัยอยู่ในนครอมรวดีนั้น เขาเป็นอุภโตสุชาต เกิดดีทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา เป็นผู้ถือเอาครรภ์บริสุทธิ์มาตลอด ๗ ชั่วสกุล ไม่มีผู้คัดค้านและรังเกียจด้วยเรื่องชาติ สะสวยน่าชมน่าเลื่อมใสประกอบด้วยผิวพรรณงามอย่างยิ่ง เขาศึกษาจบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ ทั้งอักขระประเภท ครบ ๕ ทั้งอิติหาสศาสตร์ ชำนาญบทกวี ชำนาญไวยากรณ์ ชำนาญในโลกายตศาสตร์และมหาปุริสลักษณศาสตร์ แต่มารดาบิดาได้ตายเสียครั้งเขายังเป็นเด็กรุ่น.
               สหายผู้จัดการกองทรัพย์ของเขานำบัญชีทรัพย์สินมาแล้วเปิดห้องหลายห้อง ที่เต็มไปด้วยรัตนะต่างๆ มีทองเงิน แก้วมณี แก้วมุกดาเป็นต้น บอกถึงทรัพย์ว่า ข้าแต่นายหนุ่ม นี่ทรัพย์สินส่วนของมารดา นี่ทรัพย์สินส่วนของบิดา นี่ทรัพย์สินส่วนของปู่ทวด จนตลอด ๗ ชั่วสกุล แล้วมอบให้ว่า ท่านจงดำเนินการทรัพย์นี้เถิด.
               เขารับคำว่า ดีละ ท่าน. แล้วทำบุญทั้งหลายอยู่ครองเรือน.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   ในนครอมรวดี มีพราหมณ์ชื่อว่าสุเมธ สะสม
                         ทรัพย์ไว้หลายโกฏิ มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก.
                                   เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนต์ จบคัมภีร์ไตรเพท
                         ในลักษณศาสตร์และอิติหาสศาสตร์ ก็บรรลุถึงฝั่งใน
                         พราหมณ์ธรรมของตน.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นคเร อมรวติยา ได้แก่ ในนครที่เรียกกันว่าอมรวดี.
               ในบทว่า สุเมโธ นาม นี้ ปัญญา ท่านเรียกว่าเมธา. เมธานั้นของพราหมณ์นั้นดีอันปราชญ์สรรเสริญแล้ว เหตุนั้น พราหมณ์นั้น เขาจึงรู้กันว่าสุเมธ ผู้มีปัญญาดี.
               บทว่า พฺราหฺมโณ ความว่า ชื่อว่าพราหมณ์ เพราะศึกษาซึ่งมนต์ของพรหม. อธิบายว่า ท่องมนต์.
               ปราชญ์ทางอักษรศาสตร์กล่าวว่าเหล่ากอของพรหม ชื่อว่าพราหมณ์.
               แต่ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า พระอริยะทั้งหลายชื่อว่าพราหมณ์ เพราะเป็นผู้ลอยบาปได้.
               บทว่า อเนกโกฏิสนฺนิจโย ความว่า การสะสมแห่งทรัพย์หลายโกฏิ ชื่อว่าโกฏิสันนิจยะ. การสะสมทรัพย์มากโกฏิของผู้ใดมีอยู่ ผู้นี้นั้นชื่ออเนกโกฏิสันนิจยะ
               อธิบายว่า ผู้สะสมทรัพย์มากหลายโกฏิ.
               บทว่า ปหูตธนธญฺญวา แปลว่า ผู้มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก.
               คำต้นพึงทราบว่า ตรัสโดยเป็นทรัพย์และข้าวเปลือกที่อยู่ภาคพื้นดินและอยู่ในห้อง คำนี้พึงทราบว่า ตรัสโดยเป็นทรัพย์และข้าว เปลือกที่กินที่ใช้อยู่ประจำ.
               บทว่า อชฺฌายโก ความว่า ผู้ใดไม่เพ่งฌาน เหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่าอัชฌายกะผู้ไม่เพ่งฌาน.
               อธิบายว่า ผู้เว้นจากการทำการเพ่งฌาน.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนวาเสฏฐะ บัดนี้พราหมณ์เหล่านี้ไม่เพ่ง บัดนี้พราหมณ์เหล่านี้ไม่เพ่ง ดังนั้นแลอักษรที่ ๓ ว่า อชฺฌายโก อชฺฌายกา ผู้ไม่เพ่ง ผู้ไม่เพ่งจึงเกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น คำครหาพราหมณ์พวกที่เว้นจากการเพ่งฌานจึงเกิดขึ้นครั้งมนุษย์ต้นกัปด้วยประการฉะนี้ บัดนี้ชนใดเพ่งมนต์ เหตุนั้นชนนั้นจึงชื่อว่าผู้เพ่งมนต์ พวกพราหมณ์ทั้งหลายทำการสรรเสริญกล่าวด้วยความนี้ว่าร่ายมนต์. ผู้ใดทรงจำมนต์ เหตุนั้น ผู้นั้นชื่อว่าผู้ทรงจำมนต์.
               บทว่า ติณฺณํ เวทานํ ได้แก่ คัมภีร์เวท ๓ (ไตรเพท) คืออิรุเวท ยชุเวทและสามเวท.
               ก็ เวทศัพท์นี้ใช้ในอรรถว่า ญาณ โสมนัสและคันถะ.
               จริงอย่างนั้น เวทศัพท์นี้ใช้ในอรรถว่าญาณ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ยํ พฺราหฺมณ์ เวทคุํ อภิชญฺญา อกิญฺจนํ กามภเว อสตฺตํ เราเห็นผู้ใดเป็นพราหมณ์ บรรลุ ญาณ มีความรู้ยิ่ง ไม่กังวลไม่ขัดข้องในกามภพ.
               ใช้ในอรรถว่าโสมนัส ได้ในประโยคเป็นต้นว่า เย เวทชาตา วิจรนฺติ โลเก ชนเหล่าใดเกิดโสมนัส เที่ยวไปในโลก.
               ใช้ในอรรถว่าคันถะ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ติณฺณํ เวทานํ ปารคู สนิฆณฺฑุเกฏุภานํ ผู้จบคัมภีร์ไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์.
               แม้ในที่นี้ก็ใช้ในอรรถว่าคันถะ คัมภีร์.
               บทว่า ปารคู ได้แก่ ชื่อว่าปารคู เพราะถึงฝั่งแห่งคัมภีร์ไตรเพท ด้วยเพียงทำให้คล่องปาก.
               บทว่า ลกฺขเณ ได้แก่ ในลักษณศาสตร์ มีลักษณะสตรีลักษณะบุรุษและมหาปุริสลักษณะ.
               บทว่า อิติหาเส ได้แก่ ในคัมภีร์พิเศษ กล่าวคือโบราณคดีอันประกอบด้วยคำเช่นนี้ว่าเล่ากันว่าดังนี้ เล่ากันว่าดังนี้.
               บทว่า สธมฺเม ได้แก่ ในธรรมของตนหรือในอาจารย์ของตัวพราหมณ์ทั้งหลาย.
               บทว่า ปารมึ คโต แปลว่า ถึงฝั่ง. อธิบายว่า ได้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์.
               ต่อมาวันหนึ่ง สุเมธบัณฑิตเป็นบัณฑิตผู้เพลินอยู่ด้วยกองคุณ ๑๐ ประการนั้น ก็อยู่ในที่ลับ ณ ปราสาทชั้นบน นั่งขัดสมาธิดำริว่า ขึ้นชื่อว่าการถือปฏิสนธิในภพใหม่เป็นทุกข์ การแตกดับแห่งสรีระในสถานที่เกิดแล้วเกิดเล่า ก็เหมือนกันคือเป็นทุกข์ ก็เรามีชาติ ชรา พยาธิ มรณะเป็นธรรมดา เราเป็นอยู่อย่างนี้ ก็ควรแสวงหาพระนิพพานอันไม่มีชาติ (ชรา) พยาธิ มรณะ เป็นที่จำเริญสุข อันจะพ้นจากการท่องเที่ยวไปในภพ จะพึงมีได้ก็ด้วยมรรคอย่างหนึ่ง ซึ่งจะให้ถึงพระนิพพานแน่แท้.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   ในครั้งนั้น เรานั่งคิดอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อ
                         ว่าการเกิดใหม่และการแตกดับแห่งสรีระเป็นทุกข์.
                                   ครั้งนั้น เรามีชาติชราพยาธิเป็นธรรมดา จำเรา
                         จักแสวงหาพระนิพพาน ซึ่งไม่แก่ไม่ตาย แต่เกษม.
                                   ถ้ากระไร เราผู้ไม่เยื่อใย ไม่ต้องการ จะพึงละ
                         กายอันเน่านี้ ซึ่งเต็มด้วยซากศพต่างๆ ไปเสีย.
                                   มรรคใดมีอยู่ จักมี มรรคนั้นไม่เป็นเหตุหามิได้
                         จำเราจักแสวงหามรรคนั้น เพื่อหลุดพ้นจากภพ.

               แก้อรรถ               
               ก็ในคาถานั้น จำเราจักกล่าวเชื่อมความแห่งคาถา และความของบทที่ยากต่อไป.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รโหคโต แปลว่า ไปแล้วในที่ลับ นั่งในที่ลับ.
               บทว่า เอวํ จินฺเตสหํ ตัดบทเป็น เอวํ จินฺเตสึ อหํ แปลว่า เราคิดแล้วอย่างนี้. ทรงแสดงอาการคือคิดด้วย บทว่า เอวํ นี้.
               บทว่า ตทา ได้แก่ ครั้งเป็นสุเมธบัณฑิตเป็นคนเดียวกันกับพระองค์ ด้วยบทว่า เอวํ จินฺเตสหํ นี้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงประกาศว่า ครั้งนั้น สุเมธบัณฑิตนั้นก็คือเรานี่แล จึงตรัสโดยอุตตมบุรุษว่า เอวํ จินฺเตสหํ ตทา.
               บทว่า ชาติธมฺโม แปลว่า มีชาติเป็นสภาพ.
               แม้ในบทที่เหลือก็นัยนี้.
               บทว่า นิพฺพุตึ ได้แก่ พระนิพพาน.
               ศัพท์ว่า ยนฺนูน เป็นนิบาตลงในอรรถว่าปริวิตก ความว่า ก็ผิว่าเรา.
               บทว่า ปูติกายํ แปลว่า กายอันเน่า.
               บทว่า นานากุณปปูริตํ ได้แก่ เต็มไปด้วยซากศพเป็นอันมากมีปัสสาวะ อุจจาระ หนอง เลือด เสมหะ น้ำลาย น้ำมูกเป็นต้น.
               บทว่า อนเปกฺโข ได้แก่ ไม่อาลัย.
               บทว่า อตฺถิ ได้แก่ อันเขาย่อมได้แน่แท้.
               บทว่า เหหิติ แปลว่า จักมี คำนี้เป็นคำแสดงความปริวิตก.
               บทว่า น โส สกฺกา น เหตุเย ความว่า ไม่อาจจะมีได้ด้วยมรรคนั้นหามีได้ ก็มรรคนั้นเป็นเหตุนั่นเอง.
               บทว่า ภวโต ปริมุตฺติยา ได้แก่ เพื่อหลุดพ้นจากเครื่องผูกคือภพ.
               บัดนี้ เพื่อทรงทำความที่พระองค์ทรงปริวิตกให้สำเร็จผล จึงตรัสว่า ยถาปิ เป็นต้น.
               เหมือนอย่างว่า ธรรมดาสุขอันเป็นข้าศึกของทุกข์มีอยู่ฉันใด เมื่อความเกิดมีอยู่ ความไม่เกิดอันเป็นข้าศึกของความเกิดนั้นก็พึงมีฉันนั้น
               อนึ่ง เมื่อความร้อนมีอยู่ แม้ความเย็นอันระงับความร้อนนั้น ก็มีอยู่ฉันใด นิพพานอันเครื่องระงับไฟคือกิเลสมีราคะเป็นต้นก็พึงมี ฉันนั้น
               อนึ่ง แม้ธรรมอันไม่มีโทษเป็นความดี ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมอันเป็นความชั่วลามก ก็มีอยู่ฉันใด เมื่อความเกิดอันเป็นฝ่ายชั่วมีอยู่ แม้นิพพานที่นับได้ว่าความไม่เกิด เพราะห้ามความเกิดได้ ก็พึงมีฉันนั้นเหมือนกันแล.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   เมื่อทุกข์มีอยู่ แม้ธรรมดาสุขก็ย่อมมีฉันใด เมื่อ
                         ภพมีอยู่ แม้ภาวะที่มิใช่ภพ บุคคลก็พึงปรารถนาฉันนั้น.
                                   เมื่อความร้อนมีอยู่ ความเย็นตรงกันข้ามก็มีอยู่
                         ฉันใด เมื่อไฟ ๓ กองมีอยู่ นิพพานเครื่องดับไฟ บุคคล
                         ก็พึงปรารถนาฉันนั้น.
                                   เมื่อความชั่วมีอยู่ แม้ความดีก็ย่อมมีฉันใด เมื่อ
                         ชาติมีอยู่ แม้ที่มิใช่ชาติ บุคคลก็พึงปรารถนาฉันนั้น.

               แก้อรรถ               
               ในคาถานั้น ศัพท์ว่า ยถาปิ เป็นนิบาตลงในอรรถข้ออุปมา.
               บทว่า สุขํ ได้แก่ สุขทางกายและทางใจ. ที่ชื่อว่าสุข เพราะขุดทุกข์ด้วยดี.
               บทว่า ภเว แปลว่า เมื่อความเกิด.
               บทว่า วิภโว แปลว่า ความไม่เกิด.
               เมื่อความเกิดมีอยู่ แม้ธรรมคือความไม่เกิด บุคคลก็พึงปรารถนา.
               บทว่า ติวิธคฺคิ วิชฺชนฺเต ความว่า เมื่อไฟ ๓ กองมีราคะเป็นต้นมีอยู่.
               บทว่า นิพฺพานํ ความว่า ก็พระนิพพานอันเป็นเครื่องดับเครื่องระงับไฟมีราคะเป็นต้นทั้ง ๓ กองนั้น บุคคลควรปรารถนา.
               บทว่า ปาปเก ได้แก่ เมื่ออกุศลเลวทราม.
               บทว่า กลฺยาณมฺปิ ได้แก่ แม้กุศล.
               บทว่า เอวเมว ได้แก่ เอวเมวํ อย่างนี้ก็ฉันนั้น.
               บทว่า ชาติ วิชฺชนฺเต ความว่า เมื่อความเกิดมีอยู่. ท่านกล่าวให้ต่างลิงค์และลบวิภัตติ.
               บทว่า อชาติปิ ความว่า แม้นิพพานคือความไม่เกิด เป็นเครื่องห้ามกันความเกิด บุคคลก็พึงปรารถนา.
               ครั้งนั้น เราก็คิดถึงแม้ประการอื่นว่า บุรุษผู้จมลงในกองอุจจาระ แลเห็นหนองน้ำที่มีน้ำใสประดับด้วยบัวหลวง บัวสายและบัวขาว ก็ควรแสวงหาหนองน้ำ ด้วยความคำนึงว่า ควรจะไปที่หนองน้ำนั้น โดยทางไหนหนอ. การไม่แสวงหาหนองน้ำนั้น ไม่ใช่ความผิดของหนองน้ำนั้น เป็นความผิดของบุรุษผู้นั้นผู้เดียวฉันใด เมื่อหนองน้ำใหญ่ คืออมตธรรมซึ่งเป็นเครื่องชำระมลทินคือกิเลสมีอยู่ การไม่แสวงหาหนองน้ำใหญ่คืออมตธรรมนั้น นั่นไม่ใช่ความผิดของหนองน้ำใหญ่คืออมตธรรม เป็นความผิดของบุรุษผู้เดียวก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               อนึ่ง บุรุษถูกพวกโจรล้อมไว้ เมื่อทางหนีแม้มีอยู่ ถ้าบุรุษนั้นไม่หนีไปเสีย นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของทางนั้น เป็นความผิดของบุรุษผู้นั้นผู้เดียวฉันใด บุรุษที่ถูกพวกโจรคือกิเลสล้อมจับไว้ เมื่อทางใหญ่อันรุ่งเรืองอันจะไปยังมหานครคือพระนิพพาน แม้มีอยู่ ก็ไม่แสวงหาทางนั้น ก็ไม่ใช่ความผิดของทาง เป็นความผิดของบุรุษแต่ผู้เดียวก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               บุรุษถูกความเจ็บป่วยบีบคั้น เมื่อหมอที่จะเยียวยาความเจ็บป่วยมีอยู่ ถ้าไม่แสวงหาหมอนั้น ไม่ยอมให้หมอนั้นเยียวยาความเจ็บป่วย นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของหมอ เป็นความผิดของบุรุษนั้นแต่ผู้เดียวฉันใด ก็ผู้ใดถูกความเจ็บป่วยคือกิเลสบีบคั้นหนัก ไม่แสวงหาอาจารย์ผู้ฉลาดในทางระงับกิเลสซึ่งมีอยู่ ก็เป็นความผิดของผู้นั้นผู้เดียว ไม่ใช่ความผิดของอาจารย์ผู้ขจัดความเจ็บป่วยคือกิเลสก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   บุรุษตกบ่ออุจจาระ เห็นหนองน้ำมีน้ำเต็ม ก็ไม่
                         ไปหาหนองน้ำนั้น นั่นไม่ใช่ความผิดของหนองน้ำ
                         ฉันใด.
                                   เมื่อหนองน้ำคืออมตะ เป็นเครื่องชำระมลทินคือ
                         กิเลสมีอยู่ บุคคลไปไม่หาหนองน้ำนั้น ก็ไม่ใช่ความ
                         ผิดของหนองน้ำคืออมตะ ก็ฉันนั้น.
                                   บุรุษถูกข้าศึกรุมล้อมไว้ เมื่อทางไปมีอยู่ บุรุษ
                         ผู้นั้นก็ไม่หนีไป นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของทาง ฉันใด.
                                   บุคคลถูกกิเลสรุมล้อมไว้ เมื่อทางอันรุ่งเรืองมี
                         อยู่ ก็ไม่ไปหาทางนั้น นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของทาง
                         อันรุ่งเรือง ก็ฉันนั้น.
                                   บุรุษถูกความเจ็บป่วยเบียดเบียนแล้ว เมื่อหมอที่
                         จะเยียวยามีอยู่ ก็ไม่ยอมให้หมอนั้นเยียวยาความเจ็บ
                         ป่วยนั้น นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของหมอ แม้ฉันใด.
                                   บุคคลถูกความเจ็บป่วยคือกิเลส บีบคั้นเป็นทุกข์
                         ก็ไม่ไปหาอาจารย์นั้น นั่นก็ไม่ใช่ความผิดของอาจารย์
                         ฉันนั้น

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า คูถคโต ได้แก่ ตกลงสู่บ่ออุจจาระ หรือตกบ่อถูกอุจจาระเปื้อน.
               บทว่า กิเลสมลโธวํ ได้แก่ เป็นที่ชำระมลทินคือกิเลส. คำนี้เป็นปฐมาวิภัตติ ลงในอรรถสัตตมีวิภัตติ.
               บทว่า อมตนฺตเฬ แปลว่า ของหนองน้ำกล่าวคืออมตะ. คำนี้เป็นสัตตมีวิภัตติ พึงเห็นว่าลงในอรรถฉัฏฐีวิภัตติ ท่านกล่าวใส่นิคคหิตไว้.
               บทว่า อรีหิ ได้แก่ อันปัจจามิตรทั้งหลาย.
               บทว่า ปริรุทฺโธ ได้แก่ ล้อมโดยรอบ.
               บทว่า คมนมฺปเถ คือ คมนปเถ คือ เมื่อทางไป.
               คำนี้ท่านกล่าวลงนิคคหิตอาคม เพื่อไม่ให้เสียฉันทลักษณ์.
               บทว่า น ปลายติ ได้แก่ ผิว่าไม่พึงหนีไป.
               บทว่า โส ปุริโส ได้แก่ บุรุษที่ถูกพวกโจรรุมล้อมไว้นั้น.
               บทว่า อญฺชสฺส แปลว่า ของทาง.
               จริงอยู่ ทางมีชื่อเป็นอันมาก คือ
                         มคฺโค ปนฺโถ ปโถ ปชฺโช อญฺชสํ วฏุมายนํ
                         นาวา อุตฺตรเสตุ จ กุลฺโล จ ภิสิ สงฺกโม.

               แปลว่า ทาง ทั้งหมด แต่ในที่นี้ ทางนั้น ท่านกล่าวโดยใช้ชื่อว่าอัญชสะ.
               บทว่า สิเว ได้แก่ ชื่อว่า สิวะเพราะไม่มีอุปัทวะทั้งปวง.
               บทว่า สิวมญฺชเส ความว่า ของทางที่ปลอดภัย.
               บทว่า ติกิจฺฉเก ได้แก่ หมอ.
               บทว่า น ติกิจฺ ฉาเปติ ได้แก่ ไม่ยอมให้เยียวยา.
               บทว่า น โทโส โส ติกิจฺฉเก ได้แก่ ไม่ใช่ความผิดของหมอ. อธิบายว่า เป็นความผิดของผู้ป่วยฝ่ายเดียว.
               บทว่า ทุกฺขิโต ได้แก่ มีทุกข์ทางกายทางใจที่เกิดเอง.
               บทว่า อาจริยํ ได้แก่ อาจารย์ผู้บอกทางหลุดพ้น.
               บทว่า วินายเก แปลว่า ของอาจารย์.
               ก็เราครั้นคิดดังกล่าวมานี้แล้ว จึงคิดยิ่งๆ ขึ้นไปอย่างนี้ว่า บุรุษผู้ชอบแต่งตัวสวยๆ ทิ้งซากศพที่คล้องคอเสีย ก็พึงเป็นสุขไปแม้ฉันใด แม้เราก็ทิ้งกายอันเน่านี้เสีย ไม่อาลัย พึงเข้าไปยังมหานครคือนิพพานก็ฉันนั้น.
               อนึ่ง บุรุษสตรีถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงที่พื้นดินอันเปื้อนอุจจาระปัสสาวะแล้ว ก็หาเอาใส่ชายพกหรือเอาชายผ้าห่ออุจจาระปัสสาวะนั้นพาไปไม่ ที่แท้ก็พากันเกลียด ไม่อยากแม้แต่จะดู ไม่อาลัยทิ้งไปเลยฉันใด แม้เราก็ไม่อาลัยกายอันเน่านี้ ควรที่จะละทิ้งเข้าไปยังอมตนครคือนิพพานก็ฉันนั้น.
               อนึ่ง ธรรมดานายเรือทั้งหลายก็ละทิ้งเรือที่นำน้ำอันคร่ำคร่าไม่เยื่อใยไปเลยฉันใด แม้เราก็ละทิ้งกายที่ของโสโครกไหลออกจากปากแผลทั้ง ๙ แผลนี้ ไม่เยื่อใยจักเข้าไปยังมหานครคือนิพพานก็ฉันนั้น.
               อนึ่ง บุรุษบางคนพกพารัตนะมากอย่างมีแก้วมุกดาแก้วมณีและแก้วไพฑูรย์เป็นต้น เดินทางไปกับหมู่โจร จำต้องละทิ้งโจรเหล่านั้น เพราะกลัวสูญเสียรัตนะ เลือกถือเอาแต่ทางที่เกษมปลอดภัยฉันใด กายอันเน่าแม้นี้ก็เสมือนโจรปล้นรัตนะ ถ้าเราจักทำความอยากในกายนี้ รัตนะคืออริยมรรคและกุศลธรรมของเราก็จักสูญเสียไป เพราะฉะนั้นจึงควรที่เราจำต้องละทิ้งกรัชกายที่เสมือนมหาโจรนี้ แล้วเข้าไปยังมหานครคือนิพพานก็ฉันนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   บุรุษเกลียดซากศพที่ผูกคออยู่ ปลดออกไปเสีย
                         ก็มีสุข มีเสรี มีอิสระฉันใด.
                                   เราทิ้งกายอันเน่านี้ ที่สะสมซากศพต่างๆ ไว้ไป
                         เสีย ไม่อาลัย ไม่ต้องการก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
                                   บุรุษสตรีทิ้งอุจจาระไว้ในที่ถ่ายอุจจาระ ไปเสีย
                         ไม่อาลัย ไม่ต้องการฉันใด.
                                   เราทอดทิ้งกายนี้ ที่เต็มไปด้วยซากศพต่างๆ
                         เหมือนทิ้งส้วมไปก็ฉันนั้น.
                                   เจ้าของเรือ ทิ้งเรือลำเก่าชำรุด รั่วน้ำไป ไม่เยื่อใย
                         ไม่ต้องการฉันใด.
                                   เราก็ทอดทิ้งกายนี้ ที่มี ๙ ช่อง เป็นที่ไหลออก
                         ของสิ่งโสโครกอยู่เป็นนิตย์ไป เหมือนเจ้าของเรือสละ
                         ทิ้งเรือลำเก่าก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
                                   บุรุษพกพาของมีค่าไปกับพวกโจร แลเห็นภัย
                         จากการเสียหายของๆ มีค่า จึงละทิ้งโจรไปฉันใด.
                                   กายนี้ก็เปรียบเสมอด้วยมหาโจร เพราะกลัวการ
                         เสียหายแห่งกุศล เราจึงจำต้องละกายนี้ไปก็ฉันนั้น
                         เหมือนกัน.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยถาปิ กุณปํ ปุริโส ความว่า บุรุษวัยรุ่นผู้รักสวยรักงาม อึดอัดระอา เกลียดด้วยซากงู ซากสุนัข หรือซากมนุษย์ที่ถูกผูกคอไว้ จึงปลดซากศพนั้นออกไปเสียแม้ฉันใด.
               บทว่า สุขี ได้แก่ ประสบสุข. บทว่า เสรี ได้แก่ อยู่ตามอำเภอใจ.
               บทว่า นานากุณปสญฺจยํ ได้แก่ เป็นกองซากศพต่างๆ มากหลาย. ปาฐะว่า นานากุณปปูริตํ ดังนี้ก็มี.
               บทว่า อุจฺจารฏฺฐานมฺหิ ความว่า คนทั้งหลายย่อมอุจจาระ คือถ่ายอุจจาระในประเทศนั้น เหตุนั้นประเทศนั้น จึงชื่อว่าเป็นที่ถ่ายอุจจาระ. ประเทศที่ถ่ายอุจจาระนั้นด้วย เป็นฐานด้วย เหตุนั้นจึงชื่อว่าฐานเป็นประเทศถ่ายอุจจาระ.
               อีกอย่างหนึ่ง ประเทศอันเขาถ่ายอุจจาระ เหตุนั้นจึงชื่อว่าประเทศที่ถ่ายอุจจาระ.
               คำนี้เป็นชื่อของอุจจาระ. ที่ของอุจจาระนั้น ชื่อว่าที่ของอุจจาระในฐานแห่งอุจจาระ.
               อธิบายว่า ในฐานที่เปื้อนด้วยของสกปรก.
               บทว่า วจฺจํ กตฺวา ยถา กุฏึ ความว่า เหมือนบุรุษสตรีละทิ้งกุฏิที่ถ่ายอุจจาระ คือส้วมฉะนั้น.
               บทว่า ชชฺชรํ ได้แก่ เก่า.
               บทว่า ปุลคฺคํ ได้แก่ ชำรุด. อธิบายว่า กระจัดกระจาย.
               บทว่า อุทคาหินึ ได้แก่ ถือเอาน้ำ.
               บทว่า สามี ได้แก่ เจ้าของเรือ.
               บทว่า นวจฺฉิทฺทํ ได้แก่ ชื่อว่ามี ๙ ช่อง เพราะประกอบด้วยปากแผล ๙ แผลมีตาหูเป็นต้น ทั้งช่องเล็กช่องน้อย.
               บทว่า ธุวสฺสวํ ได้แก่ เป็นที่ไหลออกเป็นประจำ. อธิบายว่า มีสิ่งไม่สะอาดไหลออกเป็นนิตย์.
               บทว่า ภณฺฑมาทิย ได้แก่ ถือเอาทรัพย์สินมีรัตนะเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง.
               บทว่า ภณฺฑจฺเฉทภยํ ทิสฺวา ความว่า เห็นภัยแต่การชิงทรัพย์สิน.
               บทว่า เอวเมว ความว่า เหมือนบุรุษพกพาทรัพย์สินเดินไปฉะนั้น.
               บทว่า อยํ กาโย ความว่า สภาพนี้ เป็นบ่อเกิดแห่งสิ่งที่เขาเกลียดแล้วที่น่าเกลียดอย่างยิ่ง เหตุนั้นจึงชื่อว่ากาย.
               คำว่า อายะ ได้แก่ ที่เกิด.
               อาการทั้งหลายย่อมมาแต่สภาพนั้น เหตุนั้น สภาพนั้นจึงชื่อว่าอายะ เป็นแดนมา. อาการทั้งหลายมีผมเป็นต้นอันเขาเกลียดแล้ว. สภาพเป็นแดนมาแห่งอาการทั้งหลายมีผมเป็นต้นอันเขาเกลียดแล้ว ด้วยประการฉะนั้น เหตุนั้น สภาพนั้นจึงชื่อว่ากาย.
               บทว่า มหาโจรสโม วิย ความว่า กายชื่อว่ามหาโจรสมะ เพราะเป็นโจรมีปาณาติบาตและอทินนาทานเป็นต้นคอยปล้นกุศลทุกอย่าง โดยอำนาจความยินดีเป็นต้นในปิยรูปทั้งหลายมีรูปารมณ์เป็นต้น ด้วยจักษุเป็นอาทิ เพราะฉะนั้น จึงควรทราบการเชื่อมความว่า บุรุษผู้ถือทรัพย์สินที่เป็นรัตนะ ไปกับหมู่โจรนั้นจำต้องละโจรเหล่านั้นไปเสียฉันใด แม้เราก็จำต้องละกายอันเสมอด้วยมหาโจรนี้ไปเพื่อแสวงหาทางที่ทำความสวัสดีให้แก่ตนฉันนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า กุสลจฺเฉทนาภยา ความว่า เพราะกลัวแต่การปล้นกุศลธรรม.
               ครั้งนั้น สุเมธบัณฑิตครั้นครุ่นคิดถึงเหตุแห่งเนกขัมมะการออกบวชด้วยอุปมานานาประการอย่างนี้แล้ว จึงคิดอีกว่า บิดาและปู่เป็นต้นของเรารวบรวมกองทรัพย์ใหญ่นี้ไว้ เมื่อไปปรโลกก็พาเอาแม้แต่กหาปณะเดียวไปไม่ได้.
               ส่วนเราควรจะถือเอาเพื่อทำเหตุไปปรโลก ดังนี้แล้วก็ไปกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ข้าพระบาทมีหัวใจถูกชาติชราเป็นต้นรบกวน จำจักออกจากเรือนบวชไม่มีเรือน ข้าพระบาทมีทรัพย์อยู่หลายแสนโกฏิ ขอพระองค์ผู้สมมติเทพโปรดทรงดำเนินการกะทรัพย์นั้นเถิด พระเจ้าข้า.
               พระราชาตรัสว่า เราไม่ต้องการทรัพย์ของท่านดอก ท่านนั้นเองจงทำตามปรารถนาเถิด.
               สุเมธบัณฑิตนั้นทูลรับว่า ดีละพระเจ้าข้า.
               แล้วให้ตีกลองร้องป่าวไปในพระนคร ให้ทานแก่มหาชน ละวัตถุกามและกิเลสกามแล้ว ก็ออกจากอมรนครซึ่งเสมือนเทพนครอันประเสริฐไปแต่ลำพังผู้เดียว อาศัยธัมมิกบรรพต ในป่าหิมวันตประเทศที่มีฝูงเนื้อนานาชนิด ทำอาศรม สร้างบรรณศาลาลงในที่นั้น สร้างที่จงกรมที่เว้นโทษ ๕ ประการ ละทิ้งผ้าอันประกอบด้วยโทษ ๙ ประการแล้ว นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้ที่ประกอบด้วยคุณ ๑๒ ประการ เพื่อรวบรวมกำลังแห่งอภิญญาที่ประกอบด้วยคุณ ๘ ประการ บวชแล้ว.
               เขาบวชอย่างนี้แล้ว ก็ละบรรณศาลาที่เกลื่อนด้วยโทษ ๘ ประการ เข้าอาศัยโคนไม้ที่ประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ ละธัญชาติหลากชนิดทุกอย่าง บริโภคแต่ผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ตั้งความเพียรโดยการนั่งยืนและเดิน ก็ได้สมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ภายใน ๗ วันเท่านั้น.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                                   เราคิดอย่างนี้แล้ว ก็ให้ทรัพย์หลายร้อยโกฏิ
                         เป็นทาน แก่คนที่มีที่พึ่งและไม่มีที่พึ่ง แล้วก็เข้าไป
                         ยังหิมวันตประเทศ.
                                   ไม่ไกลหิมวันตประเทศ มีภูเขาชื่อว่าธัมมิกะ
                         เราก็ทำอาศรม สร้างบรรณศาลา.
                                   ณ ที่นั้น เราก็สร้างที่จงกรม อันเว้นโทษ ๕
                         ประการ รวบรวมกำลังแห่งอภิญญา อันประกอบ
                         ด้วยคุณ ๘ ประการ.
                                   เราสละผ้า อันมีโทษ ๙ ประการไว้ ณ ที่นั้น
                         นุ่งผ้าเปลือกไม้ อันมีคุณ ๑๒ ประการ.
                                   เราสละบรรณศาลา อันเกลื่อนด้วยโทษ ๘
                         ประการ เข้าอาศัยโคนไม้ อันประกอบด้วยคุณ ๑๐
                         ประการ
                                   เราสละธัญชาติที่หว่านที่ปลูก โดยมิได้เหลือ
                         เลย บริโภคแต่ผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติอันพรั่ง
                         พร้อมด้วยคุณเป็นอันมาก.
                                   เราตั้งความเพียรในที่นั้นด้วยการนั่งยืนและ
                         เดิน ก็ได้บรรลุกำลังแห่งอภิญญาภายใน ๗ วัน
                         เท่านั้น.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวาหํ ตัดบทว่า เอวํ อหํ ความว่า เราคิดโดยประการที่กล่าวมาแล้วในหนหลัง.
               บทว่า นาถานาถานํ ความว่า เราให้แก่คนที่มีที่พึ่งและคนที่ไม่มีที่พึ่ง คือทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน พร้อมทั้งซุ้มประตูและเรือน ด้วยกล่าวว่า ผู้ต้องการก็จงรับเอา.
               บทว่า หิมวนฺตสฺสาวิทูเร ได้แก่ ในที่ไม่ไกล คือใกล้ขุนเขาหิมวันต์.
               บทว่า ธมฺมิโก นาม ปพฺพโต ได้แก่ ภูเขามีชื่ออย่างนี้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร ภูเขาลูกนี้จึงมีชื่อว่าธัมมิกะ.
               ตอบว่า ก็พระโพธิสัตว์ทั้งหลายโดยมาก บวชเป็นฤาษี เข้าอาศัยภูเขาลูกนั้นทำอภิญญาให้เกิดแล้วทำสมณธรรม เพราะฉะนั้นภูเขาลูกนั้นจึงได้ปรากฏชื่อว่าธัมมิกะ เพราะเป็นที่อาศัยแห่งบุคคลผู้มีสมณธรรม.
               ด้วยคำว่า อสฺสโม สุกโต มยฺหํ เป็นต้น ตรัสไว้เหมือนว่าสุเมธบัณฑิต สร้างอาศรม บรรณศาลาที่จงกรมด้วยฝีมือตนเอง แต่แท้จริง หาได้สร้างด้วยฝีมือตนเองไม่ ท้าวสักกเทวราชทรงส่งวิสสุกรรมเทพบุตรไปสร้าง มิใช่หรือ.
               แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงผลสำเร็จนั้น ซึ่งเกิดด้วยบุญญานุภาพของพระองค์ในครั้งนั้น จึงตรัสเป็นต้นว่า
               ดูก่อนสารีบุตร ณ ภูเขานั้น
                         เราทำอาศรม สร้างบรรณศาลา สร้างที่จงกรม
                         อันเว้นโทษ ๕ ประการ ไว้ ณ ที่นั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปณฺณสาลา ได้แก่ ศาลามุงบังด้วยใบไม้.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ณ อาศรมบทนั้น.
               บทว่า ปญฺจโทสวิวชฺชิตํ ได้แก่ เว้นห่างไกลจากโทษแห่งที่จงกรม ๕ ประการ.
               ชื่อว่าโทษแห่งที่จงกรม ๕ ประการ อะไรบ้าง. อันเว้นจากโทษ ๕ ประการเหล่านี้ คือเป็นที่แข็งขรุขระ ๑ อยู่ในต้นไม้ ๑ มีที่รกกำบัง ๑ แคบเกินไป ๑ กว้างเกินไป ๑ ด้วยการกำหนดอย่างสูง. ท่านกล่าวว่า ที่จงกรมยาว ๖๐ ศอก กว้างศอกครึ่ง.
               อีกนัยหนึ่ง บทว่า ปญฺจโทสวิวชฺชิตํ ได้แก่ เว้นห่างไกลจากโทษ คือนิวรณ์ ๕ ประการ พึงเห็นว่า เชื่อมความกับบทหลังนี้ว่า อภิญฺญาพลมาหริ ดังนี้.
               บทว่า อฏฺฐคุณสมุเปตํ ความว่า ชักนำกำลังแห่งอภิญญาอันประกอบด้วยคุณ ๘ ประการ คือ เมื่อจิตตั้งมั่นอย่างนี้ หมดจด สะอาด ไม่มีมลทิน ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่งาน มั่นคง ไม่หวั่นไหว.
               แต่อาจารย์บางพวกกล่าวเชื่อมความกับอาศรมว่า เราสร้างอาศรมอันประกอบด้วยสมณสุข ๘ ประการ คือ ประกอบพรักพร้อมด้วยสมณสุข ๘ ประการเหล่านี้ คือ ชื่อว่าสมณสุข ๘ ประการเหล่านี้คือ ไม่หวงทรัพย์และข้าวเปลือก แสวงแต่บิณฑบาตที่ไม่มีโทษ บริโภคแต่ก้อนข้าวเย็นแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องเบียดเบียนรัฐในเมื่อพวกราชบุรุษเอาแต่เบียดเบียนรัฐ ถือเอาทรัพย์และข้าวเปลือกเป็นต้น ปราศจากฉันทราคะในเครื่องอุปกรณ์ทั้งหลาย ไม่มีภัย เพราะการปล้นของโจร ไม่คลุกคลีกับพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา ไม่ถูกกระทบกระทั่งใน ๔ ทิศ. คำนั้นไม่สมกับบาลี.
               บทว่า สาฏกํ แปลว่า ผ้า.
               บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในอาศรมนั้น.
               ด้วยบทว่า นวโทสมุปาคตํ ทรงแสดงว่า ดูก่อนสารีบุตร เราเมื่ออยู่ในที่นั้น ก็เสียสละผ้าที่มีค่ามากที่ตนนุ่งห่มเสีย ก็เมื่อจะละผ้า ได้เห็นโทษ ๙ ประการในผ้านั้นจึงละเสีย.
               ความจริงประกาศโทษ ๙ ประการในผ้าแก่ผู้บวชเป็นดาบสทั้งหลาย.
               โทษ ๙ ประการคืออะไร ทรงแสดงว่า เราละผ้าที่ประกอบด้วยโทษ ๙ ประการเหล่านี้คือ ผ้าเป็นของมีค่า ชีวิตนักบวชอยู่ได้ด้วยผู้อื่น ผ้าหมองไปทีละน้อยด้วยการใช้ ผ้าที่หมองแล้วจำต้องซักต้องย้อม ผ้าเก่าไปด้วยการใช้ ผ้าที่เก่าแล้วจำต้องทำการชุน ทำการปะ ผ้าเกิดได้ยากในการแสวงหาใหม่ ไม่เหมาะแก่การบวชเป็นดาบส เป็นของสาธารณะทั่วไปแก่พวกโจร ต้องคุ้มครองโดยที่พวกโจรลักไปไม่ได้ เป็นฐานการแต่งตัวของผู้นุ่งห่ม ผู้ที่พาเที่ยวไปกลายเป็นคนมักมาก แล้วจึงนุ่งผ้าเปลือกไม้.
               บทว่า วากจีรํ ความว่า เราถือเอาผ้าที่สำเร็จด้วยเปลือกไม้ ซึ่งกรองด้วยหญ้ามุงกระต่ายเป็นเส้นๆ ทำแล้ว เพื่อใช้นุ่งห่ม.
               บทว่า ทฺวาทสคุณมุปาคตํ ได้แก่ ประกอบด้วยอานิสงส์ ๑๒ ประการ.
               ในบทนี้ คุณศัพท์มีอรรถว่าอานิสงส์ เหมือนในประโยคเป็นต้นว่า สตคุณา ทกฺขิณา ปาฏิกงฺขิตพฺพา พึงหวังได้ทักษิณามีอานิสงส์ร้อยหนึ่ง.
                อักษรทำการต่อบท ถึงพร้อมด้วยคุณ ๑๒ ประการเหล่านี้ คือ ผ้าเปลือกไม้มีอานิสงส์ ๑๒ ประการคือ มีค่าน้อย ๑ ไม่เนื่องด้วยผู้อื่น ๑ อาจทำได้ด้วยมือตนเอง ๑ แม้เมื่อเก่าเพราะการใช้ก็ไม่ต้องเย็บ ๑ ไม่มีโจรภัย ๑ ผู้แสวงหาก็ทำได้ง่าย ๑ เหมาะแก่การบวชเป็นดาบส ๑ ไม่เป็นฐานการแต่งตัวของผู้ใช้ ๑ มีความมักน้อยในปัจจัยคือจีวร ๑ ใช้สะดวก ๑ เปลือกไม้ที่เกิดก็หาได้ง่าย ๑ แม้เมื่อผ้าเปลือกไม้สูญหายก็ไม่เสียดาย ๑.
               ครั้งนั้น สุเมธบัณฑิตอยู่ ณ บรรณศาลาอาศรมนั้น ตอนใกล้รุ่งก็ลุกขึ้นพิจารณาถึงเหตุออกบวชของตน คิดอย่างนี้ว่า เราละบ้านเรือนซึ่งมีอาการประหนึ่งที่อยู่อันประเสริฐของเทพยดา อันงดงามด้วยสมบัติอันโอฬาร น่ารื่นรมย์ของคฤหัสถ์ชนด้วยการสัมผัสกำไลมือกำไลเท้าทองใหม่เป็นต้นระคนด้วยเสียงและการหัวเราะการพูดที่ไพเราะ เหมือนละก้อนเขฬะ เข้าไปยังป่าตโปวัน บำเพ็ญตบะเครื่องลอยบาปของชนทั้งปวง เพราะเป็นผู้เพลินด้วยวิเวก แต่การอยู่ที่บรรณศาลา ณ อาศรมนี้ของเราก็เป็นเหมือนการครองเรือนครั้งที่สอง เอาเถิด เราจะอยู่เสียที่โคนไม้.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         เราละบรรณศาลาอันเกลื่อนด้วยโทษ ๘ ประการ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฏฺฐโทสสมากิณฺณํ ความว่า เกลื่อนคือประกอบพร้อมด้วยโทษ ๘ ประการ.
               โทษ ๘ ประการอะไรบ้าง.
               พระมหาสัตว์เห็นโทษ ๘ เหล่านี้ คือการที่สร้างให้สำเร็จจำต้องใช้เครื่องสัมภาระมาก ๑ จำต้องบำรุงอยู่เป็นนิตย์ด้วยหญ้าใบไม้และดินเหนียวเป็นต้น ๑ จำต้องออกไปโดยเข้าใจว่า ไม่มีเอกัคคตาจิตสำหรับผู้จำต้องออกไปในเวลาไม่สมควร ด้วยคิดว่า ขึ้นชื่อว่าเสนาสนะ จักทรุดโทรมไป ๑ ต้องทนุถนอมกาย เพราะกระทบเย็นร้อน ๑ ต้องปกปิดคำครหาที่ว่า ผู้เข้าไปบ้านเรือนอาจทำชั่วอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ๑ ต้องหวงแหนว่านี้ของเรา ๑ ต้องนึกอยู่เสมอว่า นี้บ้านเรือน มีอยู่อย่างผู้มีเพื่อน ๑ ต้องเป็นของทั่วไปเป็นอันมาก เพราะต้องทั่วไปแก่สัตว์ทั้งหลายมีเล็น เลือด จิ้งจกเป็นต้น ๑ ดังนี้แล้วจึงละบรรณศาลาเสีย.
               บทว่า คุเณหิ ทสหุปาคตํ ความว่า เราปฏิเสธที่กำบัง เข้าไปยังโคนไม้อันประกอบด้วยคุณ ๑๐ ประการ
               คุณ ๑๐ ประการอะไรบ้าง.
               ตรัสว่า เราเห็นคุณ ๑๐ เหล่านี้ คือ มีความริเริ่มขวนขวายน้อย ๑ ได้ความไม่มีโทษ โดยง่ายว่าเพียงเข้าไปโคนไม้นั้นเท่านั้น ๑ ทำอนิจจสัญญาให้ตั้งขึ้นด้วยการเห็นความแปรปรวนของต้นไม้และใบไม้ ๑ ไม่ตระหนี่เสนาสนะ ๑ เมื่อจะทำชั่ว ณ โคนไม้นั้นย่อมละอาย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีที่ลับทำชั่ว ๑ ไม่ทำความหวงแหน ๑ อยู่กับเทวดาทั้งหลาย ๑ ปฏิเสธที่กำบัง ๑ ใช้สอยสะดวก ๑ ไม่ห่วงใยเพราะเสนาสนะคือโคนไม้ หาได้ง่าย ในทุกสถานที่ไป ๑ แล้วจึงเข้าไปยังโคนไม้.
               และตรัสว่า
                         โคนไม้ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสรรเสริญแล้ว
               และตรัสว่า เป็นนิสสัย ที่อาศัยที่อยู่ของผู้สงัด เสมอ
               ด้วยโคนไม้ จะมีแต่ไหน.
                         แท้จริง ผู้อยู่โคนไม้อันสงัด อันกำจัดความ
               ตระหนี่ที่อยู่ อันเทวดารักษาแล้ว ชื่อว่าผู้มีวัตรดี.
                         ผู้เห็นต้นไม้และใบไม้ ที่มีสีแดง เขียว เหลือง
               อันหล่นแล้ว ย่อมบรรเทานิจจสัญญาเข้าใจว่าเที่ยง
               เสียได้.
                         เพราะฉะนั้นแล ผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ ไม่
               ควรดูหมิ่นโคนไม้อันสงัด ที่เป็นทรัพย์มรดกของ
               พระพุทธเจ้า เป็นที่อยู่ของผู้ยินดียิ่งในภาวนา.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ รัตนะจงกรมกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=6654&Z=6873
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :