ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
รัตนะจงกรมกัณฑ์

หน้าต่างที่ ๘ / ๑๒.

               มหาวิโลกนะ ๕ ประการ               
               ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ แม้ถูกเทวดาทั้งหลายทูลวอนขอ ก็มิได้ประทานปฏิญญาคำรับรองแก่เทวดาทั้งหลาย แต่ทรงตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ คือกำหนดกาล ทวีป ประเทศ ตระกูล พระชนมายุของพระชนนี.
               บรรดามหาวิโลกนะ ๕ นั้น ทรงตรวจดูกาลก่อนว่า เป็นกาลสมควรหรือยังไม่เป็นกาลสมควร. ในกาลนั้น อายุกาล [ของสัตว์] สูงกว่าแสนปีขึ้นไป ยังไม่ชื่อว่ากาล.
               เพราะเหตุไร.
               เพราะทุกข์มีชาติชรามรณะเป็นต้นไม่ปรากฏ ก็ธรรมดาพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ชื่อว่าพ้นจากไตรลักษณ์ ไม่มีเลย. เมื่อพระพุทธเจ้าเหล่านั้นตรัสว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้ สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าเหล่านั้นตรัสเรื่องอะไร แต่นั้นการตรัสรู้ก็ไม่มี เมื่อการตรัสรู้นั้นไม่มี คำสั่งสอนก็ไม่เป็นนิยยานิกกะนำสัตว์ออกจากทุกข์ เพราะฉะนั้น กาลนั้นจึงไม่เป็นกาลสมควร.
               แม้อายุกาล [ของสัตว์] ต่ำกว่าร้อยปีก็ยังไม่เป็นกาลสมควร.
               เพราะเหตุไร
               เพราะกาลนั้น สัตว์ทั้งหลายมีกิเลสหนาแน่น และโอวาทที่ประทานแก่สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสหนาแน่น ไม่อยู่ในฐานะควรโอวาท เพราะฉะนั้น กาลแม้นั้นก็ไม่เป็นกาลสมควร.
               อายุกาลอย่างต่ำตั้งแต่แสนปีลงมา อย่างสูงตั้งแต่ร้อยปีขึ้นไป ชื่อว่ากาลสมควร.
               บัดนี้ มนุษย์ทั้งหลายมีอายุร้อยปี เพราะเหตุนั้น ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ทรงเห็นว่าเป็นกาลที่ควรบังเกิด.
               ต่อนั้น ทรงตรวจดูทวีป ทรงเห็นทวีปว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมบังเกิดในชมพูทวีปเท่านั้น. ธรรมดาชมพูทวีปเป็นทวีปใหญ่มีเนื้อที่ประมาณหมื่นโยชน์.
               เมื่อทรงตรวจดูประเทศว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายบังเกิดในประเทศไหนหนอ ก็ทรงเห็นมัชฌิมประเทศ.
               ต่อจากนั้นก็ทรงตรวจดูตระกูลว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายบังเกิดในตระกูลที่โลกสมมติ. บัดนี้ ตระกูลกษัตริย์เป็นตระกูลที่โลกสมมติ จำเราจักบังเกิดในตระกูลกษัตริย์นั้น พระราชาพระนามว่าสุทโธทนะจักเป็นพระชนกของเรา.
               แต่นั้นก็ตรวจดูพระชนนีว่า สตรีนักเลงสุราเหลวไหลจะเป็นพุทธมารดาไม่ได้ จะต้องเป็นสตรีมีศีล ๕ ไม่ขาด ดังนั้นพระราชเทวีพระนามว่ามหามายานี้ก็เป็นเช่นนี้ พระนางเจ้ามหามายานี้จักเป็นชนนีของเรา. เมื่อทรงนึกว่าพระนางเจ้าจะทรงมี พระชนมายุได้เท่าไร ก็ทรงเห็นว่าได้ต่อไปอีก ๗ วันหลังครบทศมาสแล้ว.
               ครั้นทรงตรวจมหาวิโลกนะ ๕ ประการนี้ดังนี้แล้วก็ประทานปฏิญญาแก่เทวดาทั้งหลายว่า เป็นกาลสมควรที่เราจะเป็นพระพุทธเจ้า ทรงดำรงอยู่ในภพดุสิตนั้นตลอดชนมายุแล้วจุติจากภพดุสิตนั้น ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางเจ้ามายาเทวีในราชสกุลศากยะ.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวเป็นต้นว่า
                                   พระโพธิสัตว์จุติจากหมู่เทพชั้นดุสิตแล้ว เสด็จ
                         ลงในพระครรภ์ ในกาลใด ในกาลนั้น หมื่นโลกธาตุ
                         ก็ไหว แผ่นปฐพีก็ไหว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอกฺกมิ ได้แก่ ก้าวลงเข้าไป.
               บทว่า กุจฺฉิยํ แปลว่า ในพระครรภ์ของพระพุทธมารดา.
               บทว่า ทสสหสฺสีโลกธาตุ กมฺปิตฺถ ความว่า พระโพธิสัตว์ทรงมีสติสัมชัญญะเมื่อลงสู่พระครรภ์ของพระพุทธมารดา ทรงถือปฏิสนธิโดยนักษัตรฤกษ์เดือนอาสาฬหะหลัง ในดิถีเพ็ญอาสาหะ ด้วยมหาวิปากจิตที่เป็นเช่นเดียวกับกุศลจิตอสังขาริก ที่สหรคตด้วยโสมนัสสัมยุตด้วยญาณอันมีเมตตาเป็นบุรพภาค ในบรรดาปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง.
               ครั้งนั้น ทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุก็สะเทือนเลื่อนลั่นหวั่นไหว. ธรรมชาติใดย่อมทรงไว้ซึ่งสภาพที่คงที่และเคลื่อนที่ได้ทั้งหมด เหตุนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่าธรณี คือแผ่นปฐพี.
               ในบทว่า สมฺปชาโน นิกฺขมิ นี้มีอธิบายว่า
               ก็ในกาลใด เรามีสติสัมปชัญญะยืนเหยียดมือทั้งสองออกจากพระครรภ์ของพระชนนี เหมือนพระธรรมกถึกลงจากธรรมาสน์ และเหมือนบุรุษลงจากบันได อันของไม่สะอาดไรๆ ที่เป็นสัมภวะในพระครรภ์ไม่แปดเปื้อนเลย.
               บทว่า สาธุการํ ปวตฺเตนฺติ ได้แก่ เทวดาทั้งหลายยังสาธุการให้เป็นไป.
               อธิบายว่า ถวายสาธุการ.
               บทว่า ปกมฺปิตฺถ แปลว่า ไหวแล้ว. อธิบายว่า หมื่นโลกธาตุไหวทั้งขณะเสด็จลงสู่พระครรภ์ ทั้งขณะประสูติจากพระครรภ์ของพระชนนี.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงเห็นใครๆ ที่เสมอเหมือนพระองค์ในการเสด็จลงสู่พระครรภ์เป็นต้น จึงตรัสคาถานี้ว่า โอกฺกนฺติ เม สโม นตฺถิ เป็นต้นก็เพื่อทรงแสดงความอัศจรรย์ของพระองค์ในการเสด็จลงสู่พระครรภ์เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอกฺกนฺติ แปลว่า ในการเสด็จลงสู่พระครรภ์ ปฐมาวิภัตติลงในอรรถสัตตมีวิภัตติ. อธิบายว่า ในการถือปฏิสนธิ.
               บทว่า เม แปลว่า ด้วยเรา. บทว่า สโม ได้แก่ ไม่มีใครเสมือน.
               ในบทว่า ชาติโต นี้ ความว่า ชนย่อมเกิดจากมารดานี้ เหตุนั้น มารดาท่านจึงเรียกว่าชาตี.
               อธิบายว่า จากมารดาผู้ให้กำเนิดนั้น.
               บทว่า อภินิกฺขเม ได้แก่ เสด็จออก คือไหลออกจากพระครรภ์ของพระชนนี.

               อธิบาย โพธิศัพท์               
               ในบทว่า สมฺโพธิยํ นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังนี้
               ความตรัสรู้อันดีอันท่านสรรเสริญแล้ว ชื่อสัมโพธิ.
               ก็ โพธิศัพท์นี้ใช้ในอรรถทั้งหลายมีต้นไม้ มรรค นิพพาน สัพพัญญุตญาณเป็นต้น.
               จริงอยู่ ต้นไม้ท่านเรียกว่า โพธิ ได้ในอาคตสถานว่า โพธิรุกฺขมูเล ปฐมาภิสมฺพุทฺโธ ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าครั้งแรก ณ โคนต้นโพธิ์ และว่า อนฺตรา จ คยํ อนฺตรา จ โพธึ ระหว่างแม่น้ำคยาและโพธิพฤกษ์
               มรรคเรียกว่าโพธิ ได้ในอาคตสถานว่า โพธิ วุจฺจติ จตูสุ มคฺเคสุ ญาณํ ญาณในมรรค ๔ เรียกว่าโพธิ.
               นิพพานเรียกว่าโพธิ ได้ในอาคตสถานว่า ปตฺวาน โพธิ อมตํ อสงฺขตํ บรรลุพระนิพพานอันเป็นอมตะ เป็นอสังขตะ.
               พระสัพพัญญุตญาณเรียกว่าโพธิ ได้ในอาคตสถานว่า ปปฺโปติ โพธึ วรภูริเมธโส พระผู้มีปัญญาประเสริฐกว้างดังแผ่นดิน ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์พระอรหัตมรรคญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า. อาจารย์พวกอื่นๆ กล่าวว่า สัพพัญญุตัญญาณ ดังนี้ก็มี.
               อธิบายว่า เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในพระสัพพัญญุตญาณนั้น.
               ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอาศัยพระสัมโพธิญาณ สรรเสริญพระองค์เอง.
               ตอบว่า เพราะพระสัมโพธิญาณให้คุณทุกอย่าง.
               จริงอยู่ ความตรัสรู้พร้อมของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้คุณทุกอย่างย่อมให้พระพุทธคุณแม้ทั้งหมด ไม่เหลือเลย แต่ไม่ให้คุณแก่คนอื่นๆ.
               ก็บรรดาคนทั้งหลายอื่นพระอรหัตมรรคย่อมให้อรหัตผลเท่านั้นแก่บางคน ให้วิชชา ๓ แก่บางคน ให้อภิญญา ๖ แก่บางคน ให้ปฏิสัมภิทา ๔ แก่บางคน ให้สาวกบารมีฐาณแก่บางคน ให้ปัจเจกโพธิญาณเท่านั้นแก่พระปัจเจกพุทธะทั้งหลาย แต่ให้คุณสมบัติทุกอย่างแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสรรเสริญพระองค์เองว่า เป็นผู้ประเสริฐสุดในพระสัมโพธิญาณ เพราะพระสัมโพธิญาณให้คุณทุกอย่าง.
               อนึ่ง ทรงทำพื้นแผ่นปฐพีให้ไหวแล้วก็ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในพระสัมโพธิญาณ.
               ในบทว่า ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตเน พึงทราบวินิจฉัยดังนี้.
               ก็ธรรมจักรมี ๒ คือ ปฏิเวธญาณ ๑ เทศนาญาณ ๑
               ในธรรมจักร ๒ อย่างนั้น ธรรมจักรอันพระปัญญาอบรมแล้วนำมาซึ่งอริยผลแด่พระองค์ ชื่อว่าปฏิเวธญาณ. ธรรมจักรอันพระกรุณาอบรมแล้วนำมาซึ่งอริยผลแก่สาวกทั้งหลาย ชื่อว่าเทศนาญาณ. ปฏิเวธญาณเป็นโลกุตรกุศล สหรคตด้วยอุเบกขา ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร. เทศนาญาณเป็นโลกิยะ เป็นอัพยากฤต. แม้ญาณทั้งสองนั้นก็ไม่ทั่วไปกับคนอื่นๆ.
               แต่ในที่นี้ประสงค์เอาเทศนาญาณ.
               บัดนี้เทวดาทั้งหลายฟังเรื่องราวมีแผ่นดินไหวเป็นต้น ในเพราะการเสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็พากันกล่าวคาถานี้ว่า อโห อจฺฉริยํ โลเก เป็นต้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พุทฺธานํ คุณมหนฺตตา ความว่า โอ! พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระคุณมาก โอ! พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอานุภาพมาก.
               บทว่า ทสสหสฺสีโลกธาตุ ฉปฺปการํ ปกมฺปถ ความว่า มหาปฐพีในหมื่นจักรวาลหวั่นไหวด้วย ๖ อาการ คือ ยืดขึ้นข้างหน้าโน้มลงข้างหลัง ยืดขึ้นข้างหลังโน้มลงข้างหน้า ยืดขึ้นข้างซ้ายโน้มลงข้างขวา ยืดขึ้นข้างขวาโน้มลงข้างซ้าย ยืดขึ้นตรงกลางโน้มลงข้างท้าย ยืดขึ้นข้างท้ายโน้มลงตรงกลาง.
               มหาปฐพีนี้หนาถึงสองแสนสี่หมื่นโยชน์ มีน้ำรองแผ่นดินอยู่รอบๆ เหมือนเรือที่ถูกขนาบด้วยการหักของคลื่นแห่งน้ำที่ไหวเพราะแรงลม แม้ไม่มีใจก็เหมือนมีใจ ก็อาการไหวมี ๖ ประการดังกล่าวมานี้ เหมือนฟ้อนรำด้วยปีติ.
               บทว่า โอภาโส จ มหา อาสิ ความว่า ได้มีแสงสว่างล้ำเทวานุภาพของเทวดาทั้งหลาย.
               บทว่า อจฺเฉรํ โลมหํสนํ ความว่า ได้มีความอัศจรรย์และขนลุกชัน.
               บัดนี้ เมื่อความอัศจรรย์ทั้งหลายมีแผ่นดินไหวและปรากฏแสงสว่างเป็นต้น เป็นไปอยู่ ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวคาถาว่า ภควา ตมฺหิ สมเย เป็นต้นก็เพื่อแสดงความเป็นไปของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โลกเชฏฺโฐ ได้แก่ เป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก.
               บทว่า สเทวกํ ได้แก่ แห่งโลก พร้อมทั้งเทวโลก.
               พึงเห็นว่า ทุติยาภัตติใช้ในอรรถฉัฏฐีวิภัตติ.
               บทว่า ทสฺสยนฺโต ได้แก่ เมื่อทรงแสดงปาฏิหาริย์.
               บทว่า จงฺกมนฺโต ว ความว่า เสด็จจงกรม ณ รัตนจงกรมนั้นที่ตั้งครอบหมื่นโลกธาตุตรัส.
               บทว่า โลกนายโก ความว่า ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสธรรมกถาอันไพเราะ ที่ทรงชักมาด้วยไตรลักษณ์ประกอบด้วยสัจจะ ๔ มีนัยวิจิตรต่างๆ ด้วยพระสุรเสียงดั่งเสียงพรหม น่าฟัง น่ารัก ประกอบด้วยองค์ ๘ ประหนึ่งราชสีห์แผดสีหนาทเหนือพื้นแท่นหินอ่อนสีแดง ประหนึ่งเมฆในฤดูฝนคำรามอยู่ และประหนึ่งข้ามอากาศคงคา.
               ในคำว่า อนฺตรา น นิวตฺเตติ จตุหตฺเถ จงฺกเม ยถา นี้มีความว่า ที่จงกรมที่พระศาสดาทรงเนรมิตนั้น ปลายข้างหนึ่งอยู่ที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศตะวันออก ข้างหนึ่งอยู่ที่ขอบปากจักรวาลด้านทิศตะวันตก พระศาสดาเสด็จจงกรม ณ รัตนจงกรมนั้นที่ตั้งอยู่ดังกล่าวนี้ เสด็จถึงปลายทั้งสองข้างจึงจะเสด็จกลับ ระหว่างยังเสด็จไม่ถึงปลายสองข้าง จะไม่เสด็จกลับ.
               พระศาสดา เมื่อเสด็จจงกรม ณ ที่จงกรมประมาณ ๔ ศอก ถึงปลายสองข้างเร็วจึงเสด็จกลับอย่างใด จะไม่เสด็จกลับในระหว่างอย่างนั้น. ทำไม พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงย่นที่จงกรม ซึ่งยาวถึงประมาณหมื่นโยชน์ให้สั้น หรือทรงเนรมิตอัตภาพให้ใหญ่ขนาดนั้น แต่ก็มิได้ทรงกระทำอย่างนั้น พุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอจินไตย ไม่ควรคิด.
               หมื่นโลกธาตุได้เป็นลานอันเดียวกัน นับตั้งแต่อกนิษฐภพจนถึงอเวจีนรก และโดยเบื้องขวางหมื่นจักวาลก็ได้เป็นลานอันเดียวกัน. เทวดาทั้งหลายเห็นมนุษย์ แม้มนุษย์ทั้งหลายก็เห็นเทวดา เทวดาและมนุษย์ทั้งหมดจะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจงกรมโดยปกติได้โดยประการใด ก็เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จจงกรมโดยประการนั้น.
               ก็พระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จจงกรม ก็ทรงแสดงธรรมและทรงเข้าสมาบัติในระหว่างๆ.
               ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า อันหมู่เทพในหมื่นโลกธาตุห้อมล้อมแล้ว เสด็จจงกรมอยู่ด้วยพุทธสิริวิลาส อันหาที่เปรียบมิได้ ด้วยพระพุทธลีลาอันไม่มีอะไรเปรียบ เหมือนภูเขาทองอันประเสริฐเคลื่อนที่ได้ มีพระพุทธสรีระอันประเสริฐ งดงามด้วยพระวรลักษณ์ ๓๒ อันกำลังกุศลที่ทรงสร้างสมมาตลอดสมัยที่ประมาณมิได้ รุ่งเรืองด้วยพระอนุพยัญนะ ๘๐ มีพระสิริแวดล้อมด้วยพระรัศมีวาหนึ่ง สูง ๑๘ ศอก เหมือนดวงจันทร์เต็มดวงในฤดูสารท และเหมือนดอกปาริฉัตตกะ สูงร้อยโยชน์ ออกดอกบานสะพรั่งทั่วต้น.
               ครั้นเห็นแล้วก็ดำริว่า หมื่นโลกธาตุแม้ทั้งสิ้นนี้ประชุมกันแล้ว ก็ในที่ประชุมนี้ควรมีพระธรรมเทศนากัณฑ์ใหญ่. ก็พุทธวงศ์เทศนาจะมีอุปการะมาก นำมาซึ่งความเลื่อมใส ถ้ากระไร เราพึงทูลถามพุทธวงศ์ จำเดิมแต่อภินีหารการบำเพ็ญบารมีของพระทศพล แล้วจึงทำจีวรเฉวียงบ่า เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ประคองอัญชลีที่รุ่งเรืองด้วยทศนขสโมธาน เสมอดอกบัวตูมเกิดอยู่ในน้ำ ไม่มีมลทิน ไม่วิกล ไว้เหนือเศียรแล้ว ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้ามีว่า กีทิโส เต มหาวีร เป็นต้น.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวเป็นต้นว่า
                                   ท่านพระสารีบุตร ผู้มีปัญญามากฉลาดในสมาธิและ
                         ญาณ ผู้บรรลุบารมีด้วยปัญญา ทูลถามพระผู้นำโลกว่า
                                   ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้เป็นยอดนรชน อภินีหารของ
                         พระองค์เป็นเช่นไร.
                                   ข้าแต่พระผู้แกล้วกล้า พระองค์ทรงปรารถนาพระ
                         โพธิอันสูงสุดเมื่อกาลไร พระเจ้าข้า.

               อนุสนธิ ๓ ประการ               
               ถามว่า อนุสนธินี้ชื่ออะไร ตอบว่า ชื่อว่าปุจฉานุสนธิ.
               จริงอยู่ อนุสนธิมี ๓ คือ ปุจฉานุสนธิ อัชฌาสยานุสนธิและยถานุสนธิ.
               ในอนุสนธิทั้ง ๓ นั้น พึงทราบปุจฉานุสนธิ โดยพระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตอบปัญหาของผู้ถามอย่างนี้ว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งก็ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฝั่งในเป็นอย่างไร ฝั่งนอกเป็นอย่างไร.๑-
               อัชฌาสยานุสนธิ พึงทราบตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบอัธยาศัยของผู้อื่นแล้วตรัสอย่างนี้ว่า
               ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเกิดปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ เขาว่ารูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เป็นอนัตตาดังนี้ กรรมที่อนัตตาทำแล้ว จักกระทบตนอย่างไร.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบปริวิตกแห่งใจของภิกษุรูปนั้น ด้วยพระหฤทัย จึงทรงเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ไม่รู้ อยู่ในอวิชชา พึงสำคัญสัตถุศาสน์ว่าพึงแส่ไปด้วยใจที่มีตัณหาเป็นอธิปไตยว่า ท่านผู้เจริญ เขาว่ารูปเป็นอนัตตาอย่างนี้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตาทำแล้วจักกระทบตน อย่างไร ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง.๒-
____________________________
๑- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๓๒๓   ๒- ม. อุปริ. ข้อ ๑๔/ข้อ ๑๒๙

               อนึ่ง เทศนาในชั้นต้นตั้งขึ้นโดยธรรมใด เทศนาชั้นสูงมาในพระสูตรเหล่าใด โดยธรรมสมควรแก่ธรรมนั้นหรือโดยคัดค้าน ยถานุสนธิก็พึงทราบโดยอำนาจพระสูตรเหล่านั้น ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่าเป็นปุจฉานุสนธิ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺญาย ปารมิปฺปตฺโต ความว่า ถึงที่สุดสาวกบารมีญาณ.
               บทว่า ปุจฺฉติ แปลว่า ได้ถามแล้ว.
               ในคำว่า ปุจฺฉติ นั้น ชื่อว่าปุจฉามี ๕ อย่าง คือ อทิฏฐโชตนาปุจฉา ทิฏฐสังสันนาปุจฉา วิมติเฉทนาปุจฉา อนุมติปุจฉา กเถตุกัมตาปุจฉา.
               ถ้าจะถามว่า ในปุจฉาเหล่านั้น ปุจฉาของพระเถระนี้ ชื่อว่าปุจฉาอะไร.
               ตอบว่า เพราะเหตุที่พุทธวงศ์นี้มิใช่วิสัยของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายผู้สร้างสมบุญสมภารมาหนึ่งอสงไขยกำไรแสนกัป และของพระอัครสาวกทั้งสองผู้สร้างสมบุญสมภารมาหนึ่งอสงไขยกำไรแสนกัป หรือของพระมหาสาวกที่เหลือผู้สร้างสมบุญสมภารมาแสนกัป เป็นวิสัยของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น เพราะฉะนั้น ปุจฉาของพระเถระพึงทราบว่าเป็นอทิฏฐโชตนาปุจฉา.
               ศัพท์ว่า กีทิโส เป็นอาการถาม. อธิบายว่า มีประการไร.
               บทว่า เต แปลว่า ของพระองค์.
               บทว่า อภินีหาโร ความว่า การผูกใจเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า นอนอธิษฐานความเพียรว่าเราไม่ได้คำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าจักไม่ลุกขึ้นดังนี้ ชื่อว่าอภินีหาร.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้เป็นยอดนรชน อภินีหารของพระองค์เป็นเช่นไร.
               บทว่า กมฺหิ กาเล แปลว่า ในกาลไร.
               บทว่า ปตฺถิตา แปลว่า ปรารถนาแล้วหวังแล้ว.
               พระเถระทูลถามว่า ทรงทำการตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าไว้เมื่อไร โดยนัยเป็นต้นว่า พึงตรัสรู้เป็นพระผู้ตรัสรู้ พึงพ้นเป็นพระผู้พ้น.
               บทว่า โพธิ ได้แก่ สัมมาสัมโพธิ. คำนี้เป็นชื่อของพระอรหัตมรรคญาณและพระสัพพัญญุตญาณ.
               บทว่า อุตฺตมา ได้แก่ ท่านกล่าวว่าสูงสุด เพราะประเสริฐกว่าสาวกโพธิและปัจเจกโพธิ.
                อักษรทำบทสนธิระหว่างศัพท์ทั้งสอง.
               บัดนี้ พระเถระเมื่อจะทูลถามถึงธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า จึงกล่าวว่า
                                   ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ เป็นเช่นไร
                         ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขาเป็นเช่นไร
                                   ข้าแต่พระมหาวีระ ผู้นำโลก บารมี ๑o เป็น
                         เช่นไร อุปบารมีเป็นเช่นไร ปรมัตถบารมีเป็นเช่นไร.

               แก้อรรถบารมี ๑๐ ประการ               
               บรรดาบารมีเหล่านั้นจะกล่าวทานบารมีก่อน การบริจาคสิ่งของภายนอกชื่อว่าบารมี. การบริจาคอวัยวะชื่อว่าอุปบารมี. การบริจาคชีวิตชื่อว่าปรมัตถบารมี.
               แม้ในบารมีที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน.
               บารมี ๑๐ อุปบารมี ๑o ปรมัตถบารมี ๑o รวมเป็นบารมี ๓o ทัศด้วยประการฉะนี้.
               ในบารมี ๓o ทัศนั้น อัตภาพของพระโพธิสัตว์ที่ทรงบำเพ็ญทานบารมีก็นับไม่ถ้วน ในสสบัณฑิตชาดก ทานบารมีของพระโพธิสัตว์นั้นผู้ทำการเสียสละชีวิตเป็นปรหิตประโยชน์อย่างนี้ว่า
                         ภิกฺขาย อุปคตํ ทิสฺวา   สกตฺตานํ ปริจฺจชึ
                         ทาเนน เม สโม นตฺถิ   เอสา เม ทานปารมี.
                             เราเห็นภิกษุเข้าไปหาอาหาร ก็เสียสละตัวเอง
                         ผู้เสมอเราด้วยทานไม่มี นี่เป็นทานบารมีของเรา.
               ชื่อว่าปรมัตถบารมี โดยส่วนเดียว.
               อัตภาพของพระโพธิสัตว์ที่ทรงบำเพ็ญศีลบารมีก็นับไม่ถ้วนเหมือนกัน ในสังขปาลชาดก ศีลบารมีของพระโพธิสัตว์นั้นผู้ทำการเสียสละตัวอย่างนี้ว่า
                         สูเลหิ วินิวิชฺฌนฺเต     โกฏฺฏยนฺเตปิ สตฺติภิ
                         โภชปุตฺเต น กุปฺปามิ   เอสา เม สีลปารมี.
                         ถึงบุตรนายบ้าน แทงด้วยหลาว ตอกด้วยหอก
                         เราก็ไม่โกรธ นี่เป็นศีลบารมีของเรา.
               ชื่อว่าปรมัตถบารมี โดยส่วนเดียวเหมือนกัน.
               อัตภาพของพระโพธิสัตว์ที่ทรงสละราชสมบัติใหญ่บำเพ็ญเนกขัมมบารมี ก็นับไม่ถ้วนเหมือนกัน ในจุลสุตโสมชาดก เนกขัมมบารมีของพระโพธิสัตว์นั้นผู้สละราชสมบัติ เพราะไม่มีความประสงค์แล้ว ออกทรงผนวชอย่างนี้ว่า
                         มหารชฺชํ หตฺถคตํ      เขฬปิณฺฑํว ฉฑฺฑยึ
                         จชโต น โหติ ลคฺคนํ   เอสา เม เนกฺขมฺมปารมี.
                         เราสละราชสมบัติใหญ่ ที่อยู่ในเงื้อมมือเหมือนก้อนเขฬะ
                         เราผู้สละโดยไม่ติดข้องเลย นี่เป็นเนกขัมมบารมีของเรา.
               ชื่อว่าปรมัตถบารมี โดยส่วนเดียว.
               อัตภาพของพระโพธิสัตว์ที่ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี ในครั้งเป็นมโหสถบัณฑิตเป็นต้นก็นับไม่ถ้วนเหมือนกัน. ครั้งเป็นสัตตุภัตตกบัณฑิต ปัญญาบารมีของพระโพธิสัตว์นั้นผู้แสดงงูที่อยู่ในถุงหนังว่า
                         ปญฺญาย วิจินนฺโตหํ     พฺราหฺมณํ โมจยี ทุกฺขา
                         ปญฺญาย เม สโม นตฺถิ   เอสา เม ปญฺญาปารมี.
                               เราเมื่อพิจารณาเฟ้นด้วยปัญญา ก็เปลื้องทุกข์
                         ของพราหมณ์ได้ ผู้เสมอเราด้วยปัญญาไม่มี นี่เป็น
                         ปัญญาบารมีของเรา.
               ชื่อว่าปรมัตถบารมีโดยส่วนเดียว.
               อัตภาพของพระโพธิสัตว์ที่ทรงบำเพ็ญวิริยบารมี ก็นับไม่ถ้วนเหมือนกัน. ในมหาชนกชาดก วิริยบารมีของพระโพธิสัตว์นั้นผู้ข้ามมหาสมุทร อย่างนี้ว่า
                         อตีรทสฺสี ชลมชฺเฌ       หตา สพฺเพว มานุสา
                         จิตฺตสฺส อญฺญถา นตฺถิ   เอสา เม วิริยปารมี.
                         ท่ามกลางทะเลลึกล้ำ มนุษย์ทั้งหมดถูกภัยกำจัด
                         แล้ว จิตก็ไม่เปลี่ยนไป นี่เป็นวิริยบารมีของเรา.
               ชื่อว่าปรมัตถบารมี โดยส่วนเดียว.
               ในขันติวาทีชาดกก็เหมือนกัน ขันติบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้อดกลั้นทุกข์ใหญ่ ประหนึ่งไม่มีจิตใจ อย่างนี้ว่า
                         อเจตนํว โกฏฺเฏนฺเต   ติณฺเหน ผรสฺนา มมํ
                         กาสิราเช น กุปฺปามิ   เอสา เม ขนฺติปารมี.
                         พระเจ้ากาสี จะทรงใช้ขวานคมกริบ ฟาดฟัน
                         เราผู้ประหนึ่งไม่มีจิตใจ เราก็ไม่โกรธ นี่เป็น
                         ขันติบารมีของเรา.
               ชื่อว่าปรมัตถบารมี.
               ในมหาสุตโสมชาดกก็เหมือนกัน สัจจบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้สละชีวิตรักษาสัจ อย่างนี้ว่า
                         สจฺจวาจํนุรกฺขนฺโต      จชิตฺวา มม ชีวิตํ
                         โมเจสึ เอกสตํ ขตฺติเย   เอสา เม สจฺจปารมี.
                         เราเมื่อตามรักษาสัจวาจา ก็ยอมสละชีวิตของ
                         เราเปลื้องทุกข์กษัตริย์ได้ ๑o๑ พระองค์
                         นี่เป็นสัจจบารมีของเรา.
               ชื่อว่าปรมัตถบารมี.
               ในมูคปักขชาดกก็เหมือนกัน อธิษฐานบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้ยอมสละชีวิต อธิษฐานวัตรอย่างนี้ว่า
                         มาตา ปิตา น เม เทสฺสา   อตฺตา เม น จ เทสฺสิโย
                         สพฺพญฺญตํ ปิยํ มยฺหํ      ตสฺมา วตํ อธฏฺฐหึ.
                             มารดาบิดาไม่เป็นที่เกลียดชังของเรา ตัวก็ไม่
                         เป็นที่เกลียดชังของเรา พระสัพพัญญุตญาณเป็น
                         ที่รักของเรา เพราะฉะนั้นเราจึงอธิษฐานวัตร.
               ชื่อว่าปรมัตถบารมี.
               ในสุวรรณสามชาดกก็เหมือนกัน เมตตาบารมีของพระโพธิสัตว์ผู้ไม่อาลัยแม้แต่ชีวิต ประพฤติเมตตาอย่างนี้ว่า
                         น มํ โกจิ อุตฺตสติ       นปิ ภายามิ กสฺสจิ
                         เมตฺตาพเลนุปตฺถทฺโธ   รมามิ ปวเน ตทา.
                                ใครๆ ทำเราให้หวาดสะดุ้งไม่ได้ แม้เราก็
                         ไม่กลัวต่อใครๆ เราอันกำลังเมตตาอุดหนุนแล้ว
                         จึงยินดีอยู่ในป่าใหญ่ ในครั้งนั้น.
               ชื่อว่าปรมัตถบารมี.
               ในโลมหังสชาดกก็เหมือนกัน อุเบกขาปารมีของพระโพธิสัตว์ เมื่อเด็กชาวบ้านทั้งหลายก่อให้เกิดความสุขและความทุกข์ด้วยการถ่มน้ำลายรดเป็นต้นและด้วยการตีด้วยพวงมาลัยและของหอมเป็นอาทิ ก็ไม่ละเมิดอุเบกขาอย่างนี้ว่า
                         สุสาเน เสยฺยํ กปฺเปมิ     ฉวฏฺฐิกํ อุปนิธายหํ
                         คามณฺฑลา อุปคนฺตฺวา   รูปํ ทสฺเสนฺตินปฺปกํ
                         เราจะวางซากกระดูกไว้แล้วนอนในป่าช้า พวกเด็ก
                         ชาวบ้าน เข้าไปลานบ้าน แสดงรูปหลอกมิใช่น้อย.
               ชื่อว่าปรมัตถบารมี.
               ความสังเขปในข้อนี้มีเท่านี้ ส่วนความพิศดารพึงถือเอาจากคัมภีร์จริยาปิฎก.
               บัดนี้ ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย เมื่อแสดงคำพยากรณ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันพระเถระทูลถามแล้ว จึงกล่าวว่า
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้า อันท่านพระธรรมเสนาบดี
                         สารีบุตรทูลถามแล้ว ผู้มีพระสุรเสียงไพเราะดั่งนกการเวก
                         ทรงยังดวงใจให้ดับร้อน ปลอบประโลมโลก ทั้งเทวโลก
                         ทรงพยากรณ์แล้ว.
                                   ทรงประกาศพระธรรมเทศนา คือจริตของพระ
                         พุทธเจ้าทั้งหลายที่ล่วงมาแล้ว อันพระพุทธเจ้าทรงนำ
                         สืบๆ กันมา คือพุทธวงศ์อันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่
                         โลก ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ด้วยความรู้อันติดตาม
                         ถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในปางก่อน คือ ปุพเพนิวาสา-
                         นุสสติญาณ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺส ปุฏฺโฐ วิยากาสิ ความว่า ทรงเป็นผู้อันพระธรรมเสนาบดีนั้นทูลถามแล้วทรงพยากรณ์แก่ท่าน คือตรัสพุทธวงศ์ทั้งหมดตั้งต้นแต่อภินีหารขององค์ มีการตรัสรู้เป็นที่สุด.
               บทว่า กรวีกมธุรคิโร ความว่า เสียงของผู้ใดไพเราะเหมือนเสียงของนกการเวก ผู้นั้นชื่อว่ามีเสียงไพเราะเหมือนเสียงนกการเวก.
               อธิบายว่า มีเสียงเสนาะเพราะพริ้งเหมือนนกการเวก.
               ในข้อนี้ขอกล่าวดังนี้
               นกการะเวกทั้งหลายมีเสียงไพเราะ. เล่ากันว่า นกการเวกทั้งหลายเอาจะงอยปากจิกผลมะม่วงสุก อันมีรสหวาน ดื่มน้ำผลมะม่วงที่ไหลออกมาก็เริ่มใช้ปีกให้จังหวะร้องเพลงระเริงเล่น เหมือนสัตว์สี่เท้ามัวเมาในเสียงเพลง. ฝูงสัตว์สี่เท้าแม้ง่วนอยู่ด้วยการกินอาหาร ก็ทิ้งหญ้าคาปากเสียแล้วพากันฟังเสียงกังวาลนั้น. สัตว์ร้ายทั้งหลายกำลังไล่ติดตามเนื้อทรายเล็กๆ ก็ไม่วางเท้าที่ยกขึ้น หยุดยืนเหมือนตุ๊กตา แม้ฝูงเนื้อที่ถูกไล่ติดตาม ก็เลิกกลัวตาย หยุดยืน แม้ฝูงนกที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ก็เหยียดปีก ร่อนชลออยู่ แม้ฝูงปลาในน้ำก็ไม่กระดิกแผ่นหู หยุดฟังเสียงนั้น นกการเวกมีเสียงไพเราะอย่างนี้.
               บทว่า นิพฺพาปยนฺโต หทยํ ความว่า ยังใจของชนทุกคนผู้เร่าร้อนด้วยไฟกิเลส ให้เกิดความเยือกเย็นด้วยธรรมกถาดังอมฤตธารา.
               บทว่า หาสยนฺโต ได้แก่ ให้ยินดี.
               บทว่า สเทวกํ ได้แก่ โลกพร้อมทั้งเทวโลก.
               บทว่า อตีตพุทฺธานํ แปลว่า ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ล่วงไปแล้ว.
               ก่อนหน้าอภินีหารของพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา ในกัปหนึ่งบังเกิดพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าตัณหังกร พระพุทธเจ้าเมธังกร พระพุทธเจ้าสรณังกร พระพุทธเจ้าทีปังกร.
               ต่อมาภายหลัง พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์นั้นก็มีพระพุทธเจ้า ๒๓ พระองค์มีพระโกณฑัญญะเป็นต้น ดังนั้น พระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกรเป็นต้นทุกพระองค์ ท่านประสงค์เอาว่า อดีตพระพุทธเจ้าในที่นี้. ของอดีตพระพุทธเจ้าเหล่านั้น.
               บทว่า ชินานํ เป็นไวพจน์ของบทว่า อตีตพุทฺธานํ นั้นนั่นแล.
               บทว่า เทสิตํ ได้แก่ คำตรัส คือธรรมกถาที่ประกอบด้วยสัจจะ ๔ ของพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์.
               บทว่า นิกีลิตํ ได้แก่ จริตของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น.
               ข้อที่กำหนดด้วยกัป ชาติ โคตร อายุ โพธิ สาวกสันนิบาต อุปัฏฐาก มาตา บิดา บุตร ภรรยา เป็นต้น ชื่อว่านิกีลิตะ.
               บทว่า พุทฺธปรมฺปราคตํ ความว่า เทศนาหรือจริต ที่ตั้งต้นแต่พระทศพลพระนามว่าทีปังกร สืบลำดับมาจนถึงพระกัสสปพุทธเจ้า.
               บทว่า ปุพฺเพ นิวาสานุคตาย พุทฺธิยา ความว่า ความรู้ที่ไปตามเข้าถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ปางก่อน กล่าวคือ ขันธสันดานที่อาศัยอยู่ปางก่อน อันจำแนกอย่างนี้ว่า ชาติหนึ่งบ้างสองชาติบ้างเป็นต้น. ด้วยความรู้ที่ไปตามขันธ์ที่อาศัยอยู่ปางก่อน คือด้วยปุพเพนิวาสานุสสติญาณ.
               บทว่า ปกาสยิ ได้แก่ ทรงพยากรณ์.
               บทว่า โลกหิตํ ได้แก่ พุทธวงศ์อันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลก.
               บทว่า สเทวเก ได้แก่ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบโลกพร้อมทั้งเทวโลกไว้ในการฟัง ด้วยพระหฤทัยอันเยือกเย็นด้วยพระกรุณา จึงตรัสว่า ปีติปาโมชฺชนนํ ได้แก่ อันทำปีติและปราโมช คือปราโมชอันเป็นส่วนเบื้องต้นของปีติ.
               อธิบายว่า ยังปีติ ๕ อย่างให้เกิด.
               บทว่า โสกสลฺลวิโนทนํ ได้แก่ บรรเทากำจัดลูกศรทั้งหลาย ที่เรียกว่าโสกะ.
               บทว่า สพฺพสมฺปตฺติปฏิลาภํ ความว่า ชนทั้งหลายย่อมได้สมบัติแม้ทุกอย่างมีเทวสมบัติและมนุษย์สมบัติเป็นต้นด้วยพุทธวงศ์นั้น เหตุนั้น พุทธวงศ์นั้นชื่อว่าเป็นเหตุให้ได้สมบัติทุกอย่าง.
               อธิบายว่า พุทธวังสเทสนาเป็นเหตุให้ได้สมบัติทุกอย่างนั้น.
               บทว่า จิตฺตีกตฺวา ได้แก่ ทำไว้ในจิต. อธิบายว่า ทำพุทธานุสสติไว้เบื้องหน้า.
               บทว่า สุณาถ ได้แก่จงตั้งใจ จงตื่น.
               บทว่า เม แปลว่า ของข้าพเจ้า.
               บทว่า มทนิมฺมทนํ ได้แก่ ทำการบรรเทาความเมาทุกอย่างมีเมาในชาติเป็นต้น.
               บทว่า โสกนุทํ ความว่า ความเร่าร้อนแห่งจิตของผู้ถูกความพินาศแห่งญาติเป็นต้นกระทบแล้ว ชื่อว่าโสกะ โดยอรรถก็เป็นโทมนัสนั่นเองก็จริง แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น ความโศกมีการเผาภายในเป็นลักษณะ มีความแห้งผากแห่งใจเป็นรส มีความเศร้าสร้อยเป็นเครื่องปรากฏ.
               พุทธวงศ์ย่อมบรรเทาความโศกนั้น เหตุนั้นพุทธวงศ์จึงชื่อว่าบรรเทาความโศก. ซึ่งพุทธวงศ์อันบรรเทาความโศกนั้น.
               บทว่า สํสารปริโมจนํ ได้แก่ ทำการปลดเปลื้องจากเครื่องผูกมัดสังสาร.
               ปาฐะว่า สํสารสมติกฺกมํ ดังนี้ก็มี ความของปาฐะนั้นว่า ทำการก้าวล่วงสงสาร.
               ทุกขศัพท์ในคำว่า สพฺพทุกฺขกฺขยํ นี้ใช้ในอรรถทั้งหลายมีทุกขเวทนา ทุกขวัตถุ ทุกขารมณ์ ทุกขปัจจัย ทุกขฐาน เป็นต้น.
               จริงอยู่ ทุกขศัพท์นี้ใช้ในอรรถว่าทุกขเวทนา ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ทุกฺขสฺส จ ปหานา เพราะละทุกขเวทนา.
               ใช้ในอรรถว่าทุกขวัตถุ (ที่ตั้งแห่งทุกข์) ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ชาติปี ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา แม้ชาติก็เป็นที่ตั้งทุกข์ แม้ชราก็เป็นที่ตั้งทุกข์.
               ใช้ในอรรถว่าทุกขารมณ์ ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ยสฺมา จ โข มหาลิ รูปํ ทุกฺขํ ทุกฺขานุปติตํ ทุกฺขาวกฺกนฺตํ ดูก่อนมหาลิ เพราะเหตุที่รูปเป็นทุกข์ตกไปตามทุกข์ ก้าวลงในทุกข์.
               ใช้ในอรรถว่าทุกขปัจจัย ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ทุกฺโข ปาปสฺส อุจฺจโย การสั่งสมบาป เป็นทุกข์.
               ใช้ในอรรถว่าทุกขฐาน ได้ในประโยคเป็นต้นว่า ยาวญฺจิทํ ภิกฺขเว น สุกรา อกฺขาเนน ปาปุณิตุํ ยาว ทุกฺขา นิรยา๑- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเรื่องนรกแม้โดยอเนกปริยายเพียงเท่านี้ จะกล่าวให้ถึงกระทั่งนรกเป็นทุกข์มิใช่ทำได้โดยง่าย.
____________________________
๑- ม. อุปริ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๔๗๕

               แต่ในที่นี้ ทุกขศัพท์นี้พึงเห็นว่า ใช้ในอรรถทุกขวัตถุก็มี ในอรรถว่าทุกขปัจจัยก็มี. เพราะฉะนั้นจึงมีความว่า อันกระทำความสิ้นทุกข์ทั้งปวงมีชาติเป็นต้น.
               จะวินิจฉัยในคำว่า มคฺคํ นี้ ดังนี้.
               พุทธวงศ์เทศนาเรียกว่า มรรค เพราะผู้ต้องการกุศลแสวงหากันหรือฆ่ากิเลสทั้งหลายไป. ซึ่งพุทธวงศ์เทศนาอันเป็นทางแห่งพระนิพพานนั้น.
               บทว่า สกฺกจฺจํ แปลว่า เคารพ ทำความยำเกรง. อธิบายว่า เป็นผู้ตั้งใจฟังพุทธวงศ์เทศนานั้น.
               บทว่า ปฏิปชฺชถ ได้แก่ จงตั้งใจยิ่ง. อธิบายว่า จงฟัง.
               อีกอย่างหนึ่ง พระเถระยังอุตสาหะตั้งความปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าให้เกิดแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งปวงว่า ท่านทั้งหลายฟังพุทธวงศ์เทศนานี้ที่ให้เกิดปิติและปราโมช บรรเทาความโศกศัลย์ อันเป็นเหตุให้ได้สมบัติทุกอย่างแล้ว บัดนี้จงปฏิบัติทางแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าอันเป็นที่สิ้นทุกข์ทั้งปวง นำมาซึ่งคุณวิเศษมีการย่ำยีความมัวเมาเป็นต้น.
               คำที่เหลือในข้อนี้ง่ายทั้งนั้นแล.
               จบกถาพรรณนารัตนจังกมนกัณฑ์               
               แห่งมธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์               
               ด้วยประการฉะนี้               
               จบกถาพรรณนาความอัพภันตรนิทานโดยอาการทั้งปวง               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ รัตนะจงกรมกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=6654&Z=6873
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :