ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
รัตนะจงกรมกัณฑ์

               มธุรัตถวิลาสินี               
               อรรถกถาขุททกนิกาย พุทธวงศ์               
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
               กถาปรารภคัมภีร์               
                                   ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระพุทธเจ้า ผู้มีพระญาณ
                         อันหาที่สุดมิได้ มีพระกรุณาเป็นที่อาศัย ทรงทำลาย
                         มลทิน มีพระหฤทัยมั่นคง อำนวยประโยชน์เกื้อกูล.
                                   ขอนอบน้อมพระธรรมอันประเสริฐ เครื่องป้อง
                         กันภพ.
                                   ขอนอบน้อมพระสงฆ์ ผู้ปราศจากมลทินและ
                         เป็นบ่อเกิดคุณความดี.
                                   ท่านพระสารีบุตรผู้เป็นธรรมเสนาบดี แม่ทัพ
                         ธรรม ผู้เป็นเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าเหล่าพุทธสาวก
                         ทางปัญญา ได้ทูลถามพระศาสดาผู้เป็นพระธรรมราชา
                         จอมทัพธรรมผู้ทรงถึงฝั่ง ที่หาขอบเขตมิได้ ผู้ไร้มลทิน
                         ถึงพุทธวงศ์ใด ท่ามกลางหมู่พระประยูรญาติ. พุทธวงศ์
                         ใด อันพระตถาคต วงศ์ผู้ตรัสรู้ดี วงศ์พระผู้บริสุทธิ์ดี
                         ผู้มีสมาธิเป็นธรรมเครื่องอยู่ ผู้เป็นนายกพิเศษ ทรง
                         เปิดโอกาสประกาศไว้แล้ว ณ ท่ามกลางหมู่พระประยูร
                         ญาตินี้.
                                   เหล่าโอรสพระสุคต ไม่ทำลำดับบาลี และอรรถ
                         แห่งบาลีให้เสื่อมเสีย ช่วยกันรวบรวมตามที่ศึกษาสดับ
                         ฟังสืบต่อเรื่องกันมา จนตราบเท่าปัจจุบันนี้.
                                   เพราะเหตุที่การพรรณนาพุทธวงศ์นั้นนั่นแล
                         อันไม่ขาดสายแห่งพระสัมพุทธะผู้ประเสริฐ ซึ่งเป็น
                         เรื่องไม่ตาย ฟังกันได้ให้เกิดความเลื่อมใสและปัญญา
                         แก่ชนทั้งหลายทุกเมื่อ เป็นไปตามลำดับ.
                                   ฉะนั้น ข้าพเจ้าอันท่านพุทธสีหะ ผู้ยินดีใน
                         พระสัทธรรมโดยเคารพ อันคุณมีศีลเป็นต้นบันดาล
                         ใจ อ้อนวอนแล้วจึงจักเริ่มพรรณนาพุทธวงศ์นั้น เพื่อ
                         กำจัดความชั่วร้าย ของชนทั้งหลายทุกเมื่อ เพื่อความ
                         ตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อความเกิดและเจริญ
                         แห่งบุญ แม้ของข้าพเจ้าเอง และเพื่อยังมหาชนให้
                         เลื่อมใส.
                                   ก็การพรรณนาพุทธวงศ์โดยสังเขปนี้ อาศัยทาง
                         บาลีที่มาจากสำนักมหาวิหาร ละโทษคือการปะปนกัน
                         เสีย จักเป็นสาระ. แต่เพราะเหตุที่ในที่นี้ ไม่มีเรื่องที่
                         ควรฟัง ที่จะเป็นเครื่องยังผู้ยินดีในพระพุทธคุณให้
                         เลื่อมใส เป็นเครื่องลอยบาป ซึ่งเป็นมลทินใหญ่ นอก
                         จากเรื่องพุทธวงศ์ ฉะนั้นแล ขอท่านทั้งหลายจงเป็น
                         ผู้ประกอบอยู่ในสมาธิโดยเคารพ ละความฟุ้งซ่าน ไม่
                         มีจิตเป็นอื่น จงตั้งโสตประสาทดังภาชนะทองรองรับ
                         สดับมธุรสของข้าพเจ้าผู้กำลังกล่าวพรรณนา.
                                   ก็กถาพรรณนาพุทธวงศ์ ควรที่จะมัจจะคนที่
                         ต้องตาย เป็นผู้รู้จะต้องละกิจอื่นเสียให้หมดแล้ว ฟัง
                         ก็ดี กล่าวก็ดี ในที่นี้ได้ตลอดกาลเป็นนิจ โดยเคารพ
                         ด้วยว่ากถานี้ แต่งได้แสนยากแล.
               ควรกำหนดพุทธวงศ์ก่อน เพราะในคาถาปรารภนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ว่า กถาพรรณนาพุทธวงศ์จักเป็นสาระดังนี้ ก็การกำหนดในพุทธวงศ์นั้นมีดังนี้ การกล่าวประเพณีอย่างพิศดาร โดยปริเฉทมีกัปปปริเฉทเป็นต้นอันเกิดขึ้นแต่พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ ซึ่งเสด็จอุบัติใน ๔ อสงไขยกำไรแสนกัป นับถอยหลังแต่กัปนี้ไป พึงทราบว่า ชื่อว่าพุทธวงศ์.

               พุทธวงศ์กำหนดด้วยปริเฉท               
               ก็พุทธวงศ์นั้น ท่านกำหนดไว้เป็นปริเฉท ๒๒ ปริเฉท ที่มาตามบาลีเหล่านี้คือ
               ๑. กัปปปริเฉท ตอนว่าด้วย กัป
               ๒. นามปริเฉท ตอนว่าด้วย พระนาม
               ๓. โคตตปริเฉท ตอนว่าด้วย พระโคตร
               ๔. ชาติปริเฉท ตอนว่าด้วย พระชาติ
               ๕. นครปริเฉท ตอนว่าด้วย พระนคร
               ๖. ปิตุปริเฉท ตอนว่าด้วย พระพุทธบิดา
               ๗. มาตุปริเฉท ตอนว่าด้วย พระพุทธมารดา
               ๘. โพธิรุกขปริเฉท ตอนว่าด้วย ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้
               ๙. ธัมมจักกัปวัตตนปริเฉท ตอนว่าด้วย การประกาศพระธรรมจักร
               ๑๐. อภิสมยปริเฉท ตอนว่าด้วย การตรัสรู้
               ๑๑. สาวกสันนิบาตปริเฉท ตอนว่าด้วย การประชุมพระสาวก
               ๑๒. อัคคสาวกปริเฉท ตอนว่าด้วย พระอัครสาวก
               ๑๓. อุปัฏฐากปริเฉท ตอนว่าด้วย พุทธอุปัฏฐาก
               ๑๔. อัครสาวิกาปริเฉท ตอนว่าด้วย พระอัครสาวิกา
               ๑๕. ปริวารภิกขุปริเฉท ตอนว่าด้วย ภิกษุบริวาร
               ๑๖. รังสิปริเฉท ตอนว่าด้วย พุทธรังสี
               ๑๗. สรีรปริมาณปริเฉท ตอนว่าด้วย ขนาดพระพุทธสรีระ
               ๑๘. โพธิสัตตาธิการปริเฉทตอนว่าด้วย บารมีของพระโพธิสัตว์
               ๑๙. พยากรณปริเฉท ตอนว่าด้วย การพยากรณ์
               ๒๐. โพธิสัตตปณิธานปริเฉท ตอนว่าด้วย การตั้งความปรารถนาของพระโพธิสัตว์
               ๒๑. อายุปริเฉท ตอนว่าด้วย พระชนมายุ
               ๒๒. ปรินิพพานปริเฉท ตอนว่าด้วย การเสด็จปรินิพพาน.
               ก็แม้ว่าวาระมากวาระที่ท่านมิได้ยกไว้โดยบาลี ก็พึงนำมาไว้ในกถานี้ด้วย. วาระนั้นเป็นอันท่านกำหนดไว้เป็นปริเฉท ๑๐ ปริเฉท คือ
               ๑. อคารวาสปริเฉท ตอนว่าด้วย การอยู่ครองเรือน
               ๒. ปาสาทัตตยปริเฉท ตอนว่าด้วย ปราสาท ๓ ฤดู
               ๓. นาฏกิตถีปริเฉท ตอนว่าด้วย สตรีนักฟ้อน
               ๔. อัคคมเหสีปริเฉท ตอนว่าด้วย พระอัครมเหสี
               ๕. ปุตตปริเฉท ตอนว่าด้วย พระโอรส
               ๖. ยานปริเฉท ตอนว่าด้วย พระราชยาน
               ๗. อภินิกขมนปริเฉท ตอนว่าด้วย อภิเนษกรมณ์
               ๘. ปธานปริเฉท ตอนว่าด้วย ทรงบำเพ็ญเพียร
               ๙. อุปัฏฐากปริเฉท ตอนว่าด้วย พุทธอุปัฏฐาก
               ๑๐. วิหารปริเฉท ตอนว่าด้วย พุทธวิหาร
                         แต่ครั้นแสดงวาระมากวาระ แม้นั้น ตามฐาน
                         แล้ว ก็จักกล่าวแต่โดยสังเขปในที่นั้นๆ.

               พุทธวงศ์นั้น ข้าพเจ้ากำหนดไว้ดังนี้ว่า
                                   พุทธวงศ์นี้ใครแสดง แสดงที่ไหน แสดงเพื่อ
                         ประโยชน์แก่ใคร แสดงเพื่ออะไร แสดงเมื่อไร คำของ
                         ใคร ใครนำสืบมา.
                                   ครั้นกล่าววิธีนี้โดยสังเขปหมดก่อนแล้วภาย
                         หลัง จึงจักทำการพรรณนาความแห่งพุทธวงศ์.

               ในคาถานั้น บทว่า เกนายํ เทสิโต ได้แก่
               ถามว่า พุทธวงศ์นี้ใครแสดง
               ตอบว่า พระตถาคต ผู้สำรวจด้วยพระญาณ อันไม่ติดขัดในธรรมทั้งปวง ทรงทศพลญาณ ทรงแกล้วกล้าในเวสารัชญาณ ๔ จอมทัพธรรม เจ้าของแห่งธรรม ผู้เป็นสัพพัญญู สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว.
               ถามว่า ทรงแสดงที่ไหน.
               ตอบว่า พระตถาคตเจ้า ซึ่งกำลังเสด็จจงกรม เหนือรัตนจงกรมอันเป็นจุดที่ชุมนุมดวงตาของเทวดาและมนุษย์ งดงามน่าทอดทัศนายิ่งนัก ทรงแสดง ณ นิโครธารามมหาวิหาร ใกล้กบิลพัศดุ์มหานคร.
               ถามว่า และทรงแสดงเพื่อประโยชน์แก่ใคร.
               ตอบว่า ทรงแสดงเพื่อประโยชน์แก่พระประยูรญาติ ๘๒,๐๐๐ และแก่เทวดาและมนุษย์หลายโกฏิ.
               ถามว่า ทรงแสดงเพื่ออะไร.
               ตอบว่า ทรงแสดงเพื่อช่วยสัตว์โลกให้ข้ามโอฆะทั้ง ๔.
               ถามว่า ทรงแสดงเมื่อไร.

               การอยู่จำพรรษาของพระพุทธเจ้า               
               ตอบว่า ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับไม่ประจำอยู่ ๒๐ พรรษา ในปฐมโพธิกาล ที่ใดๆ เป็นที่ผาสุก ก็เสด็จไปประทับอยู่ ณ ที่นั้นๆ นั่นแหละ คือ
               ๑. พรรษาแรก ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนะ ให้เหล่าพรหม ๑๘ โกฏิดื่มน้ำอมฤต ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะ มิคทายวัน กรุงพาราณสี.
               ๒. พรรษาที่ ๒ ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์.
               ๓. พรรษาที่ ๓ ที่ ๔ ก็ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหารนั้นเหมือนกัน.
               ๔. พรรษาที่ ๕ ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวันกรุงเวสาลี.
               ๕. พรรษาที่ ๖ ประทับอยู่ ณ มกุลบรรพต.
               ๖. พรรษาที่ ๗ ประทับอยู่ ณ ดาวดึงส์พิภพ.
               ๗. พรรษาที่ ๘ ประทับอยู่ ณ เภสกฬาวัน สุงสุมารคิรี แคว้นภัคคะ.
               ๘. พรรษาที่ ๙ ประทับอยู่ ณ กรุงโกสัมพี.
               ๙. พรรษาที่ ๑๐ ประทับอยู่ ณ ราวป่าปาลิเลยยกะ.
               ๑๐. พรรษาที่ ๑๑ ประทับอยู่ ณ บ้านพราหมณ์ ชื่อนาฬา.
               ๑๑. พรรษาที่ ๑๒ ประทับอยู่ ณ เมืองเวรัญชา.
               ๑๒. พรรษาที่ ๑๓ ประทับอยู่ ณ จาลิยบรรพต.
               ๑๓. พรรษาที่ ๑๔ ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร.
               ๑๔. พรรษาที่ ๑๕ ประทับอยู่ ณ กบิลพัศดุ์มหานคร.
               ๑๕. พรรษาที่ ๑๖ ทรงทรมานอาฬวกยักษ์ ให้สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ดื่มน้ำอมฤต ประทับอยู่ ณ เมืองอาฬวี.
               ๑๖. พรรษาที่ ๑๗ ประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์.
               ๑๗. พรรษาที่ ๑๘ ประทับอยู่ ณ จาลิยบรรพต.
               ๑๘. พรรษาที่ ๑๙ ก็ประทับอยู่ ณ จาลิยบรรพตเหมือนกัน.
               ๑๙. พรรษาที่ ๒๐ ประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์นั่นเอง.
               ด้วยเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ไม่ประจำ ๒๐ พรรษาในปฐมโพธิกาล ที่ใดๆ เป็นที่ผาสุก ก็เสด็จไปประทับอยู่ ณ ที่นั้นๆ นั่นแล.
               แต่นับตั้งแต่นั้นไป ก็ประทับอยู่เป็นประจำ ณ พระเชตวันมหาวิหารและบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี.
               ก็เมื่อใด พระศาสดาเป็นพระพุทธเจ้า เสด็จจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนะมิคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ออกพรรษา ปวารณาแล้ว เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา จำพรรษาไตรมาส ณ ที่นั้น ทรงทรมาณชฎิลสามพี่น้อง ทำภิกษุจำนวนหนึ่งพันรูปเป็นบริวาร แล้วเสด็จไปกรุงราชคฤห์กลางเดือนผุสสมาส ประทับอยู่ ณ ที่นั้นสองเดือน เมื่อนั้น เมื่อพระองค์เสด็จออกจากกรุงพาราณสี ก็กินเวลาเข้าไปห้าเดือน. ล่วงฤดูหนาวไปสิ้นทั้งฤดู นับแต่วันที่ท่านพระอุทายีเถระมาถึง ก็ล่วงไป ๗-๘ วัน.
               ก็ท่านพระอุทายีเถระนั้น ในราวกลางเดือนผัคคุน [เดือน ๔] ก็ดำริว่า ฤดูเหมันต์ล่วงไปทั้งฤดู ฤดูวสันต์ก็มาถึงแล้ว เป็นสมัยควรที่พระตถาคตจะเสด็จไปกรุงกบิลพัศดุ์ได้ ท่านครั้นดำริอย่างนี้แล้วจึงกล่าวพรรณาการเสด็จไปด้วยคาถา ๖๐ คาถา เพื่อประโยชน์แก่องค์พระศาสดาจะเสด็จไปยังพระนครแห่งสกุล.
               ครั้งนั้น พระศาสดาทรงสดับคำของท่าน มีพระพุทธประสงค์จะทรงทำการสงเคราะห์พระประยูรญาติ จึงแวดล้อมด้วยพระขีณาสพหมดด้วยกันสองหมื่นรูป คือที่เป็นกุลบุตรชาวอังคะและมคธะหมื่นรูป ที่เป็นกุลบุตรชาวกรุงกบิลพัสดุ์หมื่นรูป นับจากกรุงราชคฤห์ถึงกรุงกบิลพัศดุ์ ระยะทาง ๖๐ โยชน์ สองเดือนจึงถึง ได้ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ เพื่อให้พระญาติทั้งหลายถวายบังคม ณ กรุงกบิลพัสดุ์นั้น.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพุทธวงศ์นี้.
               ถามว่า คำของใคร.
               ตอบว่า พระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว ไม่ทั่วไปแก่พระสาวกและพระปัจเจกพุทธเจ้า.
               ถามว่า ใครนำมาเล่า.
               ตอบว่า อาจารย์นำสืบๆ กันมา.
               จริงอยู่ พุทธวงศ์นี้อันพระเถระทั้งหลายเป็นต้นอย่างนี้ คือ พระสารีบุตรเถระ พระภัทชิ พระติสสะ พระสิคควะ พระโมคคัลลีบุตร พระสุทัตตะ พระธัมมิกะ พระทาสกะ พระโสณกะ พระเรวตะ นำสืบกันมาถึงสังคายนาครั้งที่ ๓ แม้ต่อแต่นั้นไป ศิษยานุศิษย์ของพระเถระเหล่านั้นนั่นแหละก็ช่วยกันนำมา เหตุนั้นจึงควรทราบว่า อาจารย์นำสืบๆ กันมาตราบเท่าปัจจุบันนี้ อย่างนี้ก่อน.
               คาถานี้
                                   พุทธวงศ์นี้ใครแสดง แสดงที่ไหน แสดงเพื่อ
                         ประโยชน์แก่ใคร แสดงเพื่ออะไร แสดงเมื่อไร คำของ
                         ใคร และใครนำสืบกันมา.

               เป็นอันมีความตามที่ข้าพเจ้ากล่าวแล้ว ด้วยกถามีประมาณเท่านี้.

               นิทานกถา               
               พาหิรนิทาน               
               บัดนี้จะพรรณาความแห่งพุทธวงศ์นั้นที่นำกันสืบมาอย่างนี้ ก็เพราะเหตุที่การพรรณาความนี้จำต้องแสดงนิทาน ๓ เหล่านี้คือ ทูเรนิทาน อวิทูเรนิทานและสันติเกนิทานแล้วพรรณนา จึงชื่อว่าเป็นอันพรรณนาด้วยดี และชื่อว่าผู้ที่ฟังนิทานนั้นรู้เรื่องได้ เพราะรู้มาตั้งแต่ต้นเหตุที่เกิด ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักแสดงนิทานเหล่านั้นแล้ว จึงจักพรรณนา.
               ในนิทานนั้น พึงทราบปริเฉทตอนของนิทานเหล่านั้น เริ่มตั้งแต่ต้นก่อน การแสดงความโดยสังเขป ในนิทานนั้นดังนี้ ตั้งแต่พระมหาสัตว์บำเพ็ญบารมี แทบเบื้องบาทของพระทศพลพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร จนจุติจากอัตภาพเป็นพระเวสสันดรแล้ว บังเกิดในภพดุสิต. กถาที่เป็นไปเพียงเท่านั้น ชื่อว่าทูเรนิทาน.
               ตั้งแต่จุติจากภพดุสิต จนเกิดพระสัพพัญญุตญาณ ที่โพธิมัณฑสถาน. กถาที่เป็นไปเพียงเท่านั้น ชื่อว่าอวิทูเรนิทาน.
               ตั้งแต่ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ณ มหาโพธิมัณฑสถาน จนถึงเตียงเป็นที่ปรินิพพาน ในระหว่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใดๆ ที่นั้นๆ เช่นว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร อารามของท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี กรุงสาวัตถี ว่าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ และว่าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลีดังนี้ พึงทราบว่า ชื่อว่าสันติเกนิทาน.
               การพรรณนาพาหิรนิทาน นิทานนอก ๓ นิทาน คือทูเรนิทาน อวิทูเรนิทานและสันติเกนิทาน โดยสังเขปนี่แล เป็นอันจบด้วยนิทานกถาเพียงเท่านี้.
               จบพาหิรนิทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ รัตนะจงกรมกัณฑ์
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 180อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 2อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=6654&Z=6873
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :