ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 126อรรถกถา เล่มที่ 33.1 ข้อ 127อ่านอรรถกถา 33.1 / 128อ่านอรรถกถา 33.1 / 180
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๔. กัจจายวรรค
๗. มหาโกฏฐิตเถราปทาน

               ๕๓๗. อรรถกถามหาโกฏฐิกเถราปทาน               
____________________________
๑- บาลีเป็น มหาโกฏฐิตเถราปทาน

               พึงทราบเรื่องราวอปทานที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
               อปทานของท่านพระมหาโกฏฐิกเถระมีคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตโร นาม ชิโน ดังนี้.
               มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               แม้พระเถระรูปนี้ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลที่มีโภคะมากในหังสวดีนคร บรรลุนิติภาวะแล้ว พอมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว ดำรงตำแหน่งกุฎุมพีอยู่ครองฆราวาส.
               วันหนึ่งในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระทรงแสดงธรรม เขาได้มองเห็นชาวหังสวดีนคร ถือของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น ซึ่งกำลังนอบน้อม ค้อมกายไปในที่เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับคนเหล่านั้นด้วย ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาเธอไว้ ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทาจึงคิดว่า ภิกษุรูปนี้ เยี่ยมยอดกว่าพวกภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทาในพระศาสนานี้ ถ้าแม้ไฉนเราพึงเป็นผู้ยอดเยี่ยม กว่าพวกภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทาเหมือนดังภิกษุรูปนี้บ้าง ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่ง ดังนี้
               ในเวลาจบเทศนาของพระศาสดา เมื่อบริษัทลุกไปแล้ว จึงเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลนิมนต์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรุ่งนี้ขอนิมนต์รับภิกษาที่เรือนของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า.
               พระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว.
               เขาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทำประทักษิณแล้ว กลับไปยังเรือนของตน เอาของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น ประดับที่ที่ประทับนั่งของพระพุทธเจ้า และที่นั่งของภิกษุสงฆ์ตลอดทั้งคืนยังรุ่งแล้ว ให้คนจัดแจงขาทนียะและโภชนียะ ณ ที่อยู่ของตน พอล่วงราตรีนั้นไป ได้นิมนต์พระศาสดาซึ่งมีภิกษุแสนรูปเป็นบริวารให้ฉันข้าวสาลีอันมีกลิ่นหอม พร้อมทั้งสูปะและพยัญชนะ อันเป็นบริวารของยาคูและของเคี้ยวนานาชนิด ในเวลาเสร็จภัตรกิจ คิดว่า เราจะขอปรารถนาตำแหน่งให้ยิ่งใหญ่แล แต่เราไม่ควรถวายทานเพียงวันเดียวเท่านั้น ควรถวายทานตลอด ๗ วันตามลำดับเพื่อปรารถนาตำแหน่งนั้น แล้วจักปรารถนา.
               เขาได้ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน โดยทำนองนั้นนั่นแล ในเวลาเสร็จภัตรกิจ ให้คนเปิดโรงเก็บผ้าแล้ว วางผ้าเนื้อละเอียดชั้นเยี่ยมซึ่งเพียงพอทำเป็นไตรจีวรได้ ณ ที่บาทมูลของพระพุทธเจ้า และได้ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุแสนรูปแล้ว เข้าไปใกล้พระตถาคตเจ้า หมอบลงที่บาทมูลของพระศาสดาแล้วตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปใดที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้ปฏิสัมภิทาในวันที่ ๗ นับแต่วันนี้ แม้ข้าพระองค์ก็พึงเป็นเหมือนภิกษุรูปนั้นบ้าง คือขอให้ได้บวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้จะทรงอุบัติในอนาคตกาลแล้ว พึงเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทาเถิด.
               พระศาสดาทรงทราบถึงความสำเร็จของเขา จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาลคือในที่สุดแห่งแสนกัปแต่นี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้นในโลก ความปรารถนาของเธอจักสำเร็จในพระศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล.
               เขากระทำบุญไว้ในที่นั้นเป็นอันมากจนตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วได้เสวยเทวสมบัติวนเวียนอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก. เขาท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลกอย่างนั้น ได้รวบรวมสั่งสมบุญสมภารไว้ในภพนั้นๆ.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลในกรุงสาวัตถี. มารดาบิดาได้ตั้งชื่อเขาว่าโกฏฐิกะ.
               หากจะมีคำถามว่า ทำไม่ไม่ตั้งชื่อตามมารดา หรือตามฝ่ายญาติมีปู่ ตาเป็นต้น เพราะเหตุไรจึงพากันตั้งชื่ออย่างนั้นเล่า.
               บัณฑิตพึงทราบคำตอบว่า มารดาบิดาได้ตั้งชื่อเขาตามความหมายว่า เป็นผู้ทำชนที่ตนเห็นแล้ว เห็นแล้วให้หลบซ่อน เที่ยวเจาะแทงด้วยหอกคือปาก เพราะว่าตนเป็นผู้ฉลาด ในเวทางคศาสตร์ ในตักกศาสตร์ของตนและของผู้อื่น ในนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ของตน ในประเภทแห่งอักษรสมัยของตน และในการพยากรณ์ทั้งหมดแล.
               เขาเจริญวัยแล้วเล่าเรียนไตรเพทจนถึงความสำเร็จในศิลปของพราหมณ์ วันหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระศาสดาฟังธรรมแล้ว ได้มีศรัทธาบวช ตั้งแต่เวลาได้อุปสมบทแล้ว ก็บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการประพฤติในปฏิสัมภิทา ไม่กลัวแม้เข้าไปหาพระมหาเถระก็ถามปัญหา เข้าไปเฝ้าพระทศพลแล้วก็ยังถามปัญหาในปฏิสัมภิทา ๔ นั่นแล.
               พระเถระรูปนี้กลายเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทาได้ ก็เพราะท่านได้สั่งสมบุญไว้ในปฏิสัมภิทานั้น และเพราะท่านชำนาญในการประพฤติปฏิสัมภิทานั้น.
               ลำดับนั้น พระศาสดาได้ทรงกระทำมหาเวทัลลสูตรให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุแล้ว ทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทา และตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มหาโกฏฐิกะนี้เป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้บรรลุปฏิสัมภิทาแล.
               สมัยต่อมา ท่านเมื่อได้เสวยความสุขอันเกิดแต่วิมุตติ เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อนของตน จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตโร นาม ชิโน ดังนี้.
               คำนั้นทั้งหมดมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น เพราะมีนัยดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้วในหนหลังแล.
               คำว่า สุทํ ในบทว่า อิตถํ สุทมายมฺมา มหาโกฏฺฐิโก นี้เป็นนิบาตใช้ลงในการชี้แจงแสดงตัวอย่าง.
               คำว่า อายสฺมา เป็นคำเรียกโดยความเคารพอย่างยิ่ง เหมือนดังคำว่า อายสฺมา มหาโมคฺคลฺลาโน ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ดังนี้แล.
               จบอรรถกถามหาโกฏฐิกเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๔. กัจจายวรรค ๗. มหาโกฏฐิตเถราปทาน จบ.
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 126อรรถกถา เล่มที่ 33.1 ข้อ 127อ่านอรรถกถา 33.1 / 128อ่านอรรถกถา 33.1 / 180
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=3156&Z=3211
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=6308
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=6308
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :