ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 18อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 19อ่านอรรถกถา 33.3 / 20อ่านอรรถกถา 33.3 / 36
อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญสีลบารมี
๙. ชยทิสจริยา

               อรรถกถาชยทิสจริยาที่ ๙               
               พึงทราบวินิจฉัยในชยทิสจริยาที่ ๙ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปญฺจาลรฏฺเฐ คือ ในชนบทมีชื่ออย่างนี้.
               บทว่า นครวเร กปฺปิลายํ คือ ในอุตตมนครอันได้ชื่ออย่างนี้ว่ากัปปิลา กล่าวว่า นครวเร แล้วยังกล่าวว่า ปรุตฺเม อีก เพื่อแสดงว่านครนั้นเป็นนครเลิศกว่านครทั้งหมด ในชมพูทวีปในกาลนั้น.
               บทว่า ชยทิโส นาม คือ เมื่อพระราชาทรงชนะข้าศึกของพระองค์ หรือทรงชนะชยทิศคือยักษิณีอันเป็นข้าศึกของพระองค์ เพราะเหตุนั้นจึงทรงได้พระนามอย่างนี้.
               บทว่า สีลคุณนุปาคโต คือ ทรงประกอบด้วยอาจารศีลและคุณธรรมของพระราชา มีความสมบูรณ์ด้วยพระอุตสาหะเป็นต้น.
               อธิบายว่า ทรงถึงพร้อมด้วยศีลคุณนั้น.
               บทว่า ตสฺส รญฺโญ คือ แห่งพระเจ้าชยทิสราช.
               มีคำที่เหลือว่า อหํ ปุตฺโต อโหสึ เราเป็นโอรสของพระราชาพระองค์นั้น.
               บทว่า สุตธมฺโม คือ ชื่อว่าธรรมอันพระราชบุตรนั้นนิ่งสดับ.
               ชื่อว่า สุตธมฺโม เพราะทรงสดับธรรมทั้งปวง. อธิบายว่า เป็นพหูสูต.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สุตธมฺโม คือ มีธรรมปรากฏแล้ว ปรากฏชื่อเสียงด้วยธรรมจริยาสมจริยา.
               อธิบายว่า มีธรรมเป็นเกียรติแพร่หลายไปในโลก มีชื่ออย่างนี้ว่า อลีนสัตตกุมาร.
               บทว่า คุณวา มีคุณคือประกอบด้วยคุณของมหาบุรุษอันยิ่งใหญ่.
               บทว่า อนุรกฺขปริชโน สทา สงเคราะห์บริวารชนทุกเมื่อ คือดูแลบริวารชนตลอดกาล เพราะประกอบด้วยคุณวิเศษมีศรัทธาเป็นต้น และเพราะสงเคราะห์ด้วยสังคหวัตถุ ๔ โดยชอบ.
               บทว่า ปิตา เม มิควํ คนฺตฺวา, โปริสาทํ อุปาคมิ คือ พระเจ้าชยทิสพระชนกของเราเสด็จไปทรงล่าเนื้อ ครั้นเสด็จถึงท่ามกลางป่าได้ทรงพบพระยาโปริสาทบุตรยักษิณีกินมนุษย์ จึงเข้าไปหาพระยาโปริสาทนั้น.
               ได้ยินว่า วันหนึ่ง พระเจ้าชยทิศเสด็จออกจากกบิลนครพร้อมด้วยบริวารใหญ่อันสมควรแก่พระองค์ ด้วยมีพระประสงค์ว่าจักไปล่าเนื้อ.
               พอพระราชาเสด็จออกไปได้พักหนึ่ง นันทพราหมณ์ชาวเมืองตักกสิลาถือเอาคาถาชื่อว่าสตารหา ๔ บท เข้าไปหาเพื่อจะบอก แล้วกราบทูลถึงเหตุที่ตนมาแด่พระราชา.
               พระราชาทรงดำริว่าเราจักกลับไปฟัง จึงพระราชทานเรือนเป็นที่อยู่และเสบียงแก่เขาแล้วเสด็จเข้าป่าตรัสว่า เนื้อหนีไปทางข้างของผู้ใด ผู้นั้นจะต้องถูกปรับสินไหม. แล้วทรงเที่ยวล่าเนื้อ.
               ครั้งนั้น เนื้อฟานตัวหนึ่งได้ยินเสียงเท้าของคนเป็นอันมากจึงออกจากที่อยู่หนีไปทางพระราชา. พวกอำมาตย์หัวเราะชอบใจ. พระราชาทรงตามเนื้อนั้นไปสุดทาง ๓ โยชน์ ทรงยิงเนื้อนั้นซึ่งหมดกำลังให้ล้มลง.
               พระราชาทรงเอาพระขรรค์ชำแหละเนื้อที่ล้มลงนั้นออกเป็นสองส่วน แม้พระองค์ไม่ปรารถนา ก็เพื่อปลดเปลื้องคำพูดว่า พระราชาไม่สามารถจับมฤคเอาเนื้อไปได้ จึงทรงทำคานคอนเสด็จมา ประทับนั่งเหนือหญ้าแพรกที่โคนต้นไทรต้นหนึ่ง ทรงพักครู่หนึ่งเตรียมจะเสด็จไป.
               ก็สมัยนั้น พระเชษฐาของพระราชานั้น ในวันประสูติถูกยักษิณีจับไปเพื่อจะกิน ยักษิณีนั้นถูกพวกมนุษย์อารักขาติดตามไปถึงทางทดน้ำ จึงวางพระกุมารไว้ที่อก พระกุมารดูดนมด้วยสำคัญว่าพระมารดา.
               ยักษิณีเกิดความรักคล้ายบุตร จึงเลี้ยงดูอย่างดี พระกุมารเสวยเนื้อมนุษย์เพราะเขาประกอบเป็นอาหารให้เสวย ครั้นเจริญวัยขึ้นตามลำดับ ก็หายตัวได้ด้วยอานุภาพของรากยาที่ยักษิณีให้เพื่อหายตัวได้ จึงเสวยเนื้อมนุษย์เลี้ยงชีพ.
               เมื่อยักษิณีตาย รากยานั้นหายด้วยความประมาทของตน จึงมีร่างปรากฏ เปลือยน่ากลัว เคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ เห็นราชบุรุษที่ติดตามหาพระราชา จึงหนีเข้าป่าอาศัยอยู่ที่โคนต้นไทรนั้น.
               ครั้นเห็นพระราชาจึงพูดว่า ท่านเป็นอาหารของเราแล้ว จึงจับที่พระหัตถ์.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   พระยาโปริสาทนั้นได้จับพระบิดาของเรา แล้ว
                         กล่าวว่า ท่านเป็นอาหารของเรา อย่าดิ้นรน.
                                   พระบิดาของเราทรงสดับคำของพระยาโปริสาท
                         นั้น ทรงกลับสะดุ้งหวาดหวั่น พระองค์มีพระเพลาแข็ง
                         กระด้าง เพราะทรงเห็นพระยาโปริสาท พระยาโปริสาท
                         รับเอาเนื้อแล้ว ปล่อยไป โดยบังคับให้กลับมาอีก.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า โส เม ปิตุมคฺคเหสิ ความว่า พระยาโปริสาทนั้นได้จับพระเจ้าชยทิส พระบิดาของเราซึ่งแสดงมาใกล้ต้นไม้ที่ตนนั่ง ที่พระหัตถ์ด้วยกล่าวว่า ท่านเป็นอาหารของเรามาแล้ว อย่าดิ้นรน ด้วยการสะบัดมือเป็นต้น เราจักกินท่านแม้ดิ้นรนอยู่ ดังนี้.
               บทว่า ตสฺส คือ แห่งบุตรยักษิณีนั้น.
               บทว่า ตสิตเวธิโต คือ สะดุ้งด้วยความกลัว หวาดหวั่นด้วยร่างกายสั่น.
               บทว่า อุรุกฺขมฺโภ คือ พระเพลาทั้งสองกระด้าง.
               พระราชาไม่สามารถจะหนีไปจากนั้นได้.
               บทว่า มิควํ ในบทนี้ว่า มิควํ คเหตฺวา มุญฺจสฺสุ คือเอาเนื้อแล้วปล่อยไป ท่านกล่าวถึงเนื้อของมฤคนั้นว่า มิควํ เพราะได้เนื้อไป.
               อธิบายว่า พระยาโปริสาทถือเอาเนื้อของมฤคนี้แล้วจึงปล่อยเรา. เพราะพระราชาทรงเห็นบุตรยักษิณีนั้น ทรงกลัวถึงกับพระเพลาแข็งกระด้างประทับยืนดุจตอไม้.
               พระยาโปริสาทรีบไปจับพระราชาที่พระหัตถ์แล้วกล่าวว่า ท่านเป็นอาหารของเรามาแล้ว.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงตั้งสติแล้วตรัสกะพระยาโปริสาทว่า หากท่านต้องการอาหาร เราจะให้เนื้อนี้แก่ท่าน ท่านจงรับเนื้อนั้นไปกินเถิด ขอท่านจงปล่อยเราเถิด.
               พระยาโปริสาทได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า ท่านให้ของของเราเองแล้วยังจะมาพูดดีกับเรา ทั้งเนื้อทั้งท่านเป็นของของเราตั้งแต่เราจับมือท่านไว้มิใช่หรือ เพราะฉะนั้น เราจักกินท่านก่อนแล้วจึงกินเนื้อในภายหลัง.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงพระดำริว่า เจ้าโปริสาทนี้คงจะไม่ปล่อยเรา เพราะเอาเนื้อเป็นสินไถ่แน่.
               อนึ่ง เมื่อเรามาล่าเนื้อได้ทำปฏิญญาไว้กับพราหมณ์นั้นว่า เรากลับมาแล้วจะให้ทรัพย์ท่าน หากยักษ์นั้นอนุญาต เราจะรักษาคำสัตย์ไว้กลับไปเรือนปลดเปลื้องปฏิญญานั้นแล้ว จะพึงกลับมาเป็นอาหารของยักษ์นี้อีก ทรงแจ้งความนั้นแก่ยักษ์.
               พระยาโปริสาทฟังดังนั้นแล้วกล่าวว่า หากท่านรักษาคำสัตย์ประสงค์จะไป. ท่านไปให้ทรัพย์แก่พราหมณ์นั้นแล้วรักษาคำสัตย์ พึงรีบกลับมาอีกแล้วปล่อยพระราชาไป.
               พระราชาครั้นพระยาโปริสาทปล่อยแล้วจึงตรัสว่า ท่านอย่าวิตกไปเลย เราจะมาแต่เช้าทีเดียว. แล้วทรงสังเกตเครื่องหมายทาง เสด็จเข้าไปถึงหมู่พลของพระองค์ อันหมู่พลแวดล้อมเสด็จเข้าพระนคร ตรัสเรียกนันทพราหมณ์นั้นมา ให้นั่งเหนืออาสนะอันสมควร ทรงสดับคาถาเหล่านั้นแล้วพระราชทานทรัพย์ ๔,๐๐๐ ให้พราหมณ์ขึ้นยาน มีพระดำรัสว่า พวกท่านจงนำพราหมณ์นี้ไปส่งให้ถึงเมืองตักกสิลา แล้วทรงให้พวกมนุษย์ไปส่งพราหมณ์.
               ในวันที่สองมีพระประสงค์จะไปหาพระยาโปริสาท เมื่อทรงตั้งพระโอรสไว้ในราชสมบัติ จึงทรงให้โอวาทตรัสบอกความนั้น.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   พระยาโปริสาทรับเอาเนื้อแล้ว ปล่อยไปโดยบังคับ
                         ให้กลับมาอีก พระบิดาพระราชทานทรัพย์แก่พราหมณ์
                         แล้วตรัสเรียกเรามาว่า ดูก่อนลูก ลูกจงปกครองราชสมบัติ
                         อย่าประมาท ปกครองนครนี้ พระยาโปริสาทบังคับพ่อ
                         ให้พ่อกลับไปหาอีก.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า อาคมนํ ปุน คือ ได้รับรองไว้แก่พระยาโปริสาทว่าจะกลับมาอีก.
               บทว่า พราหมณสฺส ธนํ ทตฺวา คือ ฟังคาถาของนันทพราหมณ์ ซึ่งมาจากเมืองตักกสิลาแล้วให้ทรัพย์ไปประมาณ ๔,๐๐๐.
               บทว่า ปิตา อามนฺตยี มมํ คือ พระเจ้าชยทิศพระบิดาของเราเรียกเราไปหา.
               หากถามว่า เรียกไปหาเรื่องอะไร.
               ตอบว่า เรื่องราชสมบัติ.
               มีความว่า พระราชาตรัสว่า ดูก่อนลูก ลูกจงปกครองราชสมบัติอันเป็นของตระกูลนี้เถิด พ่อครองราชสมบัติโดยธรรมโดยเสมอไว้อย่างใด แม้ลูกเขายกเศวตฉัตรให้ครองราชสมบัติก็จงเป็นอย่างนั้น. ลูกรักษาพระนครนี้และครองราชสมบัติ อย่าได้ถึงความประมาทเลย. พ่อได้รับรองไว้กับยักษ์โปริสาทที่โคนต้นไทรในที่โน้นว่า พ่อจะมาหาเขาอีก. พ่อรักษาคำสัตย์จึงกลับมาที่นี้ก็เพื่อให้ทรัพย์แก่พราหมณ์นั้นอย่างเดียว. เพราะฉะนั้น พ่อจะกลับ ณ ที่นั้น.
               พระมหาสัตว์ทรงสดับดังนั้นจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระบิดาอย่าเสด็จไป ณ ที่นั้นเลย พระเจ้าข้า. หม่อมฉันจักไป ณ ที่นั้นเอง. ข้าแต่พระบิดา หากพระบิดาจักเสด็จไปให้ได้. แม้หม่อมฉันก็จักไปกับพระบิดาด้วย.
               พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น เราจะไปทั้งสองก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เรานี่แหละจักไป ณ ที่นั้นเอง. ได้รับอนุญาตจากพระราชาผู้ทรงห้ามโดยประการต่างๆ แล้วถวายบังคมพระมารดาบิดา ทรงสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่พระบิดา.
               เมื่อพระบิดาทรงให้โอวาทและเมื่อพระมารดา พระภคินี พระชายากระทำสัจจกิริยา เพื่อความสวัสดีจึงถืออาวุธออกจากพระนคร ตรัสอำลามหาชนผู้มีหน้านองด้วยน้ำตาติดตามไป ทรงดำเนินไปตามทางที่อยู่ของยักษ์โดยนัยที่พระบิดาทรงบอกไว้.
               แม้บุตรยักษิณีก็คิดว่า ขึ้นชื่อว่ากษัตริย์มีมารยามาก. ใครจะรู้ จักเป็นอย่างไร จึงขึ้นต้นไม้นั่งคอยดูการมาของพระราชา เห็นพระกุมารเสด็จมาจึงคิดว่าบุตรจักมาแทนบิดา. ภัยไม่มีแก่เราแน่จึงลงจากต้นไม้ นั่งหันหลังให้พระโพธิสัตว์.
               พระมหาสัตว์เสด็จมาประทับยืนข้างหน้าพระยาโปริสาทนั้น.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   เราถวายบังคมพระมารดาบิดาแล้ว ตกแต่ง
                         ร่างกาย สะพายธนูเหน็บพระแสงขรรค์ ออกไปหา
                         พระยาโปริสาท.
                                   พระยาโปริสาทเห็นมีมือถืออาวุธ บางทีจัก
                         สะดุ้งกลัว แต่เพราะเมื่อเราทำความสะดุ้งกลัวแก่
                         พระยาโปริสาท ศีลของเราจะเศร้าหมอง เพราะเรา
                         กลัวศีลจะขาด จึงไม่นำสิ่งที่น่าเกลียด เข้าไปใกล้
                         พระยาโปริสาทนั้น เรามีเมตตาจิต กล่าวคำเป็น
                         ประโยชน์จึงได้กล่าวคำนี้.


               บทว่า สสตฺถหตฺถูปคตํ เห็นมีมือถืออาวุธ คือพระยาโปริสาทเห็นเรามีมือถืออาวุธเข้าไปหาตน.
               บทว่า กทาจิ โส ตสิสฺสติ คือ บางทียักษ์นั้นจะพึงกลัว.
               บทว่า เตน ภิชฺชิสฺสติ สีลํ ศีลจักแตกด้วยเหตุนั้น คือศีลของเราจักพินาศ เศร้าหมองด้วยเหตุที่ทำให้ยักษ์นั้นเกิดความกลัวนั้น.
               บทว่า ปริตาสํ กเต มยิ คือ เมื่อเราทำให้ยักษ์นั้นหวาดกลัว.
               บทว่า สีลขณฺฑภยา มยฺหํ, ตสฺส เทสฺสํ น พฺยาหรึ เพราะเรากลัวศีลจะขาด จึงไม่นำสิ่งที่น่าเกลียดเข้าไปใกล้พระยาโปริสาทนั้น คือเราได้วางศัสตรา เพราะกลัวศีลจะขาด เข้าไปหาพระยาโปริสาทนั้นอย่างใด เพราะเรากลัวศีลจะขาดอย่างนั้น จึงไม่นำสิ่งที่น่าเกลียดไม่น่าปรารถนาเข้าไปหาพระยาโปริสาทนั้น. แต่เรากล่าวคำเป็นประโยชน์ด้วยจิตเมตตา จึงได้กล่าวคำที่จะกล่าวนี้ในบัดนี้.
               พระมหาสัตว์ครั้นเสด็จไปประทับยืนอยู่ข้างหน้า.
               บุตรยักษิณีประสงค์จะทดลองพระมหาสัตว์นั้น จึงถามว่า ท่านเป็นใคร มาแต่ไหน ท่านไม่รู้จักเราหรือว่าเราเป็นพรานกินเนื้อมนุษย์ เหตุไรท่านจึงมาถึงที่นี่.
               พระกุมารตรัสว่า เราเป็นโอรสของพระเจ้าชยทิส เรารู้ว่าท่านคือโปริสาทผู้กินคน เรามาที่นี่ก็เพื่อจะรักษาพระชนม์ของพระบิดา เพราะฉะนั้น ท่านจงเว้นพระบิดา กินเราแทนเถิด.
               บุตรยักษิณีกล่าวด้วยอาการฉงนอีกว่า เรารู้จักท่านว่าเป็นโอรสของพระราชาชยทิสนั้น แต่ท่านมาอย่างนี้ชื่อว่าท่านกระทำสิ่งที่ทำได้ยาก.
               พระกุมารตรัสว่า ไม่ยากเลย การสละชีวิตในเพราะประโยชน์ของบิดา.
               จริงอยู่ บุคคลทำบุญเห็นปานนี้ เพราะเหตุมารดาบิดา ย่อมบันเทิงในสวรรค์โดยส่วนเดียวเท่านั้น.
               อนึ่ง เรารู้ว่า สัตว์ไรๆ ชื่อว่าไม่มีความตายเป็นธรรมดานั้นย่อมไม่มี และเราจะไม่ระลึกถึงบาปอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนทำไว้. เพราะฉะนั้น เราจึงไม่กลัวต่อความตาย เราสละชีวิตนี้ให้แก่ท่าน.
               แล้วตรัสว่า ท่านจงก่อไฟแล้วกินเราเถิด.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   ท่านจงเอาแก่นไม้มาก่อไฟให้เป็นกองใหญ่
                         เราจะโดดเข้าไป. ท่านผู้เป็นพระเจ้าลุง ท่านทราบ
                         เวลาว่าเราสุกดีแล้ว จงกินเถิด.


               บุตรยักษิณีได้ฟังดังนั้นคิดว่า เราไม่อาจกินเนื้อกุมารนี้ได้. เราจักให้กุมารนี้หนีไปโดยอุบาย จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าป่าหาไม้มีแก่น มาทำให้เป็นถ่านเพลิงไม่มีควัน. เราจะปิ้งเนื้อท่านที่ถ่านเพลิงนั้นแล้วกินเสีย.
               พระมหาสัตว์ได้ทำตามนั้นแล้วจึงบอกแก่โปริสาท.
               โปริสาทแลดูพระกุมารนั้นคิดว่า กุมารนี้เป็นบุรุษสีหราชไม่กลัวแม้แต่ความตาย คนไม่กลัวตายอย่างนี้เราไม่เคยเห็น. เกิดขนลุกชันมองดูพระกุมาร.
               พระกุมารตรัสถามว่า ท่านมองดูเราทำไมเล่า ท่านไม่ทำตามคำพูด.
               บุตรยักษิณีกล่าวกะพระมหาสัตว์ว่า ผู้ใดกินท่าน ศีรษะของผู้นั้นจะพึงแตก ๗ เสี่ยง. พระมหาสัตว์ตรัสว่า หากท่านไม่ประสงค์จะกินเรา ท่านก่อไฟทำไมเล่า.
               ยักษ์ตอบว่า เพื่อข่มท่าน.
               พระกุมารเมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนั้นว่า ท่านจักข่มเราได้อย่างไรในบัดนี้. เราแม้เกิดในกำเนิดเดียรัจฉานก็ยังมิให้ท้าวสักกเทวราชข่มเราได้เลยดังนี้ จึงกล่าวคาถาว่า :-
                                   ก็กระต่ายนั้นสำคัญว่า ท้าวสักกะนี้เป็น
                         พราหมณ์ จึงได้เชิญให้อยู่ ณ ที่นั้น. ข้าแต่เทวะ
                         ด้วยเหตุนั้นแล กระต่ายนั้นจึงเป็นจันทิมาเทพ
                         บุตร ได้ความสรรเสริญด้วยเสียงว่า สส ให้เจริญ
                         ความใคร่จนทุกวันนี้.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า สโส อวาเสสิ สเก สรีเร คือ กระต่ายเมื่อจะให้ร่างกายของตน ในสรีระของตนอย่างนี้ว่า ท่านจงเคี้ยวกินสรีระนี้แล้วจงอยู่ที่นี้เถิด เพราะสรีระของตนเป็นเหตุ จึงให้ท้าวสักกะผู้มีรูปเป็นพราหมณ์นั้นอยู่ ณ ที่นั้น.
               บทว่า สสตฺถุโต คือ ได้ความสรรเสริญด้วยเสียงว่า สส อย่างนี้ว่า สสี ดังนี้.
               บทว่า กามทุโห คือ ให้เจริญความใคร่.
               บทว่า ยกฺข คือ เทวดา.

                                   พระมหาสัตว์ทรงแสดงเครื่องหมายกระต่าย
                         ในดวงจันทร์ อันเป็นปาฏิหาริย์ ตั้งอยู่ตลอดกัปให้
                         เป็นพยาน แล้วได้ตรัสถึงความที่พระองค์ แม้ท้าว
                         สักกะก็ไม่สามารถจะข่มได้.

               พระยาโปริสาทได้ฟังดังนั้นเกิดจิตอัศจรรย์ไม่เคยมี จึงกล่าวคาถาว่า :-
                                   ดวงจันทร์พ้นจากปากราหู ย่อมรุ่งเรืองดุจ
                         แสงสว่างในวันเพ็ญฉันใด. ท่านกปิละผู้มีอานุภาพ
                         ใหญ่ ท่านพ้นจากโปริสาทย่อมรุ่งโรจน์ฉันนั้น.
                         พระองค์ยังพระชนกชนนีให้ปลาบปลื้ม ทั้งผู้ที่เป็น
                         ฝ่ายพระญาติทั้งปวงของพระองค์ก็ยินดี.

               แล้วก็ปล่อยพระกุมารไปด้วยทูลว่า ขอท่านผู้เป็นวีระบุรุษผู้ยิ่งใหญ่จงกลับไปเถิด.
               แม้พระมหาสัตว์ก็ทรงทำให้โปริสาทนั้นหมดพยศได้ แล้วให้ศีล ๕.
               เมื่อจะทรงทดลองดูว่า โปริสาทนี้เป็นยักษ์หรือไม่จึงสันนิษฐานเอาโดยไม่พลาด ดุจด้วยพระสัพพัญญุตญาณโดยอนุมาน คือถือเอาตามนัยดังนี้ คือ นัยน์ตายักษ์มีสีแดงไม่กะพริบ, เงาไม่ปรากฏ, ไม่หวาดสะดุ้ง.
               โปริสาทนี้ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ยักษ์ เป็นมนุษย์นี่เอง.
               นัยว่า พระบิดาของเรามีพระภาดา ๓ องค์ ถูกยักษิณีจับไป. ทั้ง ๓ องค์นั้นถูกยักษิณีกินเสีย ๒ องค์. องค์หนึ่งยักษิณีเลี้ยงดูด้วยความรักเหมือนลูก.
               โปริสาทนี้คงจักเป็นองค์นั้นเป็นแน่แล้วคิดว่า เราจักทูลพระบิดาของเราให้ตั้งโปริสาทไว้ในราชสมบัติ แล้วกล่าวว่า ท่านมิใช่ยักษ์เป็นพระเชษฐาของพระบิดาของเรา มาเถิดท่านจงมาไปกับเรา แล้วครองราชสมบัติอันเป็นของตระกูล.
               ดังที่พระกุมารกล่าวว่า ท่านเป็นลุงของเรา.
               เมื่อโปริสาทกล่าวว่า เราไม่ใช่มนุษย์.
               พระกุมารจึงนำไปหาดาบสผู้มีตาทิพย์ซึ่งโปริสาทเชื่อถือ.
               เมื่อดาบสกล่าวถึงความเป็นพ่อว่า พวกท่านทำอะไรกันทั้งพ่อทั้งลูกเที่ยวไปในป่าดังนี้ โปริสาทจึงเชื่อกล่าวว่า ไปเถิดลูก เราไม่ต้องการราชสมบัติ เราจักบวชละ แล้วบวชเป็นฤๅษีอยู่ในสำนักของดาบส.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                                   เรามิได้รักษาชีวิตของเรา เพราะเหตุแห่ง
                         พระบิดาเป็นผู้ทรงศีล เราได้ให้พระยาโปริสาท
                         ผู้ฆ่าสัตว์เป็นปกติทุกเมื่อนั้นบวชแล้ว.


               ในบทเหล่านั้น บทว่า สีลวตํ เหตุ คือ เพราะเหตุแห่งบิดาของเราเป็นผู้ทรงศีล.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สีลวตํ เหตุ คือ เพราะเหตุแห่งความมีศีลอันเป็นเครื่องหมายแห่งการสมาทานความมีศีลของเรา เพื่อมิให้ศีลขาด.
               บทว่า ตสฺส คือ โปริสาทนั้น.
               ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงนมัสการพระเจ้าลุงของตนซึ่งบวชแล้วไปใกล้พระนคร. พระราชา ชาวพระนคร ชาวนิคม ชาวชนบท ได้ฟังว่าพระกุมารเสด็จกลับมาแล้ว ต่างก็ร่าเริงยินดีลุกไปตั้งรับ. พระกุมารถวายบังคมพระราชา แล้วทูลเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ.
               พระราชาได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว ในขณะนั้นเองจึงทรงรับสั่งให้ตีกลองป่าวประกาศ เสด็จไปหาพระดาบสโปริสาทนั้นด้วยบริวารใหญ่แล้วตรัสว่า ข้าแต่เจ้าพี่ ขอเชิญเจ้าพี่มาครองราชสมบัติเถิด.
               พระดาบสทูลว่า อย่าเลย มหาบพิตร.
               พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น นิมนต์อยู่ในพระราชอุทยานของข้าพเจ้าเถิด.
               พระดาบสทูลว่า อาตมาไม่มา.
               พระราชารับสั่งให้ปลูกบ้านใกล้อาศรมนั้นแล้วจัดตั้งภิกษา. บ้านนั้นชื่อจูฬกัมมาสทัมนิคม.
               พระมารดาพระบิดาในครั้งนั้น ได้เป็นมหาราชตระกูลในครั้งนี้.
               พระดาบส คือพระสารีบุตร.
               โปริสาท คือพระองคุลิมาล.
               พระกนิษฐา คือนางอุบลวรรณา.
               พระอัครมเหสี คือมารดาพระราหุล.
               อลีนสัตตุกุมาร คือพระโลกนาถ.
               แม้ในชยทิสจริยานี้ก็พึงเจาะจงกล่าวถึงบารมีที่เหลือของพระโพธิสัตว์นั้นตามสมควร โดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               อนึ่ง พึงประกาศคุณานุภาพของพระโพธิสัตว์ไว้ในจริยานี้ มีอาทิอย่างนี้ คือ
               การที่พระบิดาทรงห้ามสละชีวิตของตน เพื่อรักษาชีวิตของพระบิดาจึงตัดสินพระทัยว่า จักไปหาโปริสาท.
               การที่วางศัสตราไปเพื่อมิให้โปริสาทนั้นหวาดสะดุ้ง.
               การเจรจาถ้อยคำน่ารักกับโปริสาทนั้นด้วยหวังว่า ศีลของตนจงอย่าขาดเลย.
               การไม่มีความสะดุ้งต่อความตาย ทั้งๆ ที่โปริสาทนั้นข่มขู่โดยนัยต่างๆ.
               การร่าเริงยินดีว่า เราจักทำร่างกายของเราให้มีผลในประโยชน์ของพระบิดา.
               การรู้ภาวะของตนที่ไม่คำนึงถึงชีวิต เพื่อบริจาคในชาติเป็นกระต่าย ซึ่งแม้ท้าวสักกะก็ไม่สามารถจะข่มได้.
               การไม่มีความผิดปกติแม้เมื่อถูกสมาคมปล่อย.
               การรู้ไม่ผิดพลาดของความเป็นมนุษย์ และความเป็นพระเจ้าลุงของโปริสาทนั้น.
               ความเป็นผู้ใคร่เพื่อให้โปริสาทนั้น ดำรงอยู่ในราชสมบัติอันเป็นของตระกูลเพียงได้รู้จักกัน.
               การให้โปริสาทเกิดสลดใจในการแสดงธรรมแล้วให้ตั้งอยู่ในศีล.
               จบอรรถกถาชยทิสจริยาที่ ๙               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญสีลบารมี ๙. ชยทิสจริยา จบ.
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 18อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 19อ่านอรรถกถา 33.3 / 20อ่านอรรถกถา 33.3 / 36
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=9109&Z=9133
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=52&A=4292
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=52&A=4292
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :