ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 14อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 15อ่านอรรถกถา 33.3 / 16อ่านอรรถกถา 33.3 / 36
อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญสีลบารมี
๕. มหิสราชจริยา

               อรรถกถามหิสราชจริยาที่ ๕               
               พึงทราบวินิจฉัยในมหิสราชจริยาที่ ๕ ดังต่อไปนี้.
               บทว่า มหึโส ปวนจารโก โยชนาแก้ว่า ในกาลเมื่อเราเป็นกระบือป่าเที่ยวอยู่ในป่าใหญ่.
               บทว่า ปวฑฺฒกาโย มีกายอ้วนพี คือมีกายเติบใหญ่ด้วยวัยสมบูรณ์และด้วยความอ้วนของอวัยวะน้อยใหญ่.
               บทว่า พลวา คือ มีกำลังมาก สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรง.
               บทว่า มหนฺโต คือ มีร่างใหญ่.
               นัยว่า กายของพระโพธิสัตว์ในครั้งนั้นประมาณเท่าช้างหนุ่ม.
               บทว่า ภีมทสฺสโน ดูน่ากลัวพิลึก คือดูน่ากลัวเพราะให้เกิดความกลัวแก่ผู้ไม่รู้จักศีล เพราะร่างใหญ่โตและเพราะเป็นกระบือป่า.
               บทว่า ปพฺภาเร คือ ที่เงื้อมเขามีหินย้อย. บทว่า ทกาสเย คือ ที่ใกล้บึง.
               บทว่า โหเตตฺถ ฐานํ คือ ในป่าใหญ่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของกระบือป่า.
               บทว่า ตหึ ตหึ คือในป่านั้นๆ.
               บทว่า วิจรนฺโต คือเที่ยวไปเพื่อหาความผาสุกในการอยู่.
               บทว่า ฐานํ อทฺทส ภทฺทกํ ได้เห็นสถานที่อันเจริญ คือเมื่อเราเที่ยวไปอย่างนี้ได้เห็นสถานที่โคนไม้อันเป็นที่เจริญในป่าใหญ่นั้น เป็นความผาสุกของเรา. ครั้นเห็นแล้วเราจึงเข้าไปยังที่นั้น ยืนและนอน หาอาหารในตอนกลางวันแล้วไปยังโคนต้นไม้นั้น ยังกาลเวลาให้ล่วงไปด้วยการยืนและการนอน. ท่านแสดงไว้ดังนี้.
               ได้ยินว่า ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์ บังเกิดในกำเนิดกระบือในหิมวันตประเทศ ครั้นเจริญวัย สมบูรณ์ด้วยเรี่ยวแรงมีร่างใหญ่ประมาณเท่าช้างหนุ่มเที่ยวไปตามเชิงเขา เงื้อมเขา ซอกเขา ป่าและห้วยเป็นต้น เห็นโคนต้นไม้ใหญ่น่าสบายต้นหนึ่ง หาอาหารแล้วก็มาอาศัยอยู่ที่โคนต้นไม้นั้นในเวลากลางวัน.
               ครั้งนั้น มีลิงลามกตัวหนึ่งลงจากต้นไม้ขึ้นหลังพระมหาสัตว์ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะรด จับเขาโหนตัว จับหางเล่นห้อยโหน.
               พระโพธิสัตว์ไม่สนใจการทำอนาจารของลิงนั้น เพราะถึงพร้อมด้วยขันติ เมตตาและความเอ็นดู.
               ลิงยิ่งกำเริบทำอย่างนั้นบ่อยๆ.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อเถตฺถ กปิ มาคนฺตฺวา คือ ลิงมา ณ ที่นั้น.
                อักษรเป็นบทสนธิ.
               บทว่า ปาโป คือ ลามก.
               บทว่า อนริโย คือ ลิงนั้นเหลาะแหละด้วยความประพฤติ ในความเสื่อมและด้วยไม่ประพฤติในความเจริญ. อธิบายว่า มีมารยาทเลว.
               บทว่า ลหุ คือ ล่อกแล่ก. บทว่า ขนฺเธ คือ ที่ลำคอ.
               บทว่า มุตฺเตติ คือ ถ่ายปัสสาวะ. บทว่า โอหเนติ๑- คือ ถ่ายอุจจาระ.
               บทว่า ตํ คือ มํ ได้แก่ เราผู้เป็นกระบือในครั้งนั้น.
               บทว่า สกิมฺปิ ทิวสํ คือ เบียดเบียนเราวันหนึ่งบ้าง ตลอดกาลทั้งปวงบ้าง.
____________________________
๑- ในอรรถกถาเป็น โอหเหติ.

               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ทูเสติ มํ สพฺพกาลํ เบียดเบียนเราตลอดกาลทั้งปวง.
               คือไม่เบียดเบียนเราเพียง ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ที่แท้เบียดเบียนเราด้วยการถ่ายปัสสาวะเป็นต้นแม้ตลอดกาลทั้งปวง.
               ท่านแสดงไว้ว่า ลิงนั้นขึ้นหลังเราในเวลาที่จะถ่ายปัสสาวะเป็นต้นเท่านั้น.
               บทว่า อุปทฺทุโต คือ เบียดเบียน.
               อธิบายว่า เราถูกลิงนั้นเบียดเบียนด้วยการห้อยโหนเป็นต้นที่เขา ด้วยการเอาของสกปรกมีปัสสาวะเป็นต้นมา และด้วยรดน้ำปนเปือกตมและฝุ่นล้างหลายครั้งที่ปลายเขา และปลายหางเพื่อนำสิ่งสกปรกออก.
               บทว่า ยกฺโข คือ เทวดาที่สิงสถิตอยู่บนต้นไม้นั้น.
               บทว่า มํ อิทมพฺรวิ คือ เทวดาที่สิงสถิตอยู่บนต้นไม้ เมื่อจะประกาศเนื้อความนี้ว่า
               ท่านมหิสราช เพราะเหตุไร ท่านจึงอดทนความดูแคลนของลิงชั่วนี้อยู่ได้ จึงได้กล่าวคำนี้กะเราว่า ท่านจงยังลิงลามกตัวนี้ให้ฉิบหายเสียด้วยเขาและกีบเถิด.
               บทว่า เอวํ วุตฺเต ตทา ยกฺเข คือ เมื่อเทวดากล่าวอย่างนี้ในกาลนั้นแล้ว.
               บทว่า อหํ ตํ อิทมพฺรวึ คือ เราได้กล่าวตอบกะเทวดานั้นผู้กล่าวอยู่.
               บทว่า กุณเปน คือ ด้วยซากศพเพราะเป็นสิ่งน่าเกลียดอย่างยิ่งของคนดีมีชาติสะอาดด้วยการไหลออกแห่งอสุจิ คือกิเลสและเพราะเป็นเช่นกับซากศพ ด้วยมีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป.
               บทว่า ปาเปน คือ ลามกด้วยการฆ่าสัตว์.
               บทว่า อนริเยน ท่านแสดงไว้ว่า ท่านเทวดาเพราะเหตุไรท่านจึงดูแคลนเราด้วยสิ่งอันไม่เจริญ เพราะเป็นธรรมของคนเลวมีพรานเนื้อเป็นต้น ผู้ไม่เจริญไม่ใช่คนดี ถ้อยคำที่ท่านกล่าวชักชวนเราในความชั่วนั้นไม่สมควรเลย.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงประกาศโทษในธรรมอันลามกนั้น จึงตรัสพระดำรัสมีอาทิว่า ยทิหํ ดังนี้.
               บทนั้นมีความดังต่อไปนี้
               ท่านเทวดาผู้เจริญ ผิว่าเราโกรธลิงนั้น เราก็เลวกว่ามัน เพราะลิงนั้นเป็นลิงพาล เป็นลิงเลว ด้วยไม่ประพฤติธรรม. หากเราพึงประพฤติธรรมลามกอันมีกำลังกว่าลิงนั้น เราก็จะพึงเป็นผู้ลามกกว่าลิงนั้นด้วยเหตุนั้นมิใช่หรือ. ข้อที่เรารู้โลกนี้โลกหน้าอย่างดียิ่ง แล้วดำรงอยู่ได้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นโดยส่วนเดียวเท่านั้น พึงประพฤติธรรมลามกเห็นปานนั้นมิใช่ฐานะที่จะมีได้.
               มีอะไรยิ่งไปกว่านั้นอีก. มีซิ.
               บทว่า สีลญฺจ เม ปภิชฺเชยฺย ศีลของเราก็จะพึงแตก คือเราพึงทำความลามกเห็นปานนั้น. ศีลบารมีของเราจะพึงแตก.
               บทว่า วิญฺญู จ ครเหยฺยุ มํ คือ เทวดาและมนุษย์ผู้เป็นบัณฑิตจะพึงติเตียนเราได้ว่า พ่อแม่พี่น้องทั้งหลายจงดูพระโพธิสัตว์นี้เที่ยวแสวงหาโพธิญาณ ได้ทำความชั่วเห็นปานนี้แล้ว.
               บทว่า หีฬิตา ชีวิตา วาปิ. วาศัพท์เป็นอวธารณะ.
               อธิบายว่า ตายด้วยความบริสุทธิ์ คือเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ยังประเสริฐ อุดมดีกว่ามีชีวิตอยู่ ถูกวิญญูชนทั้งหลายติฉินนินทาด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า กฺยาหํ ชีวิตเหตูปิ, กาหามิ ปรเหฐนํ อย่างไร เราจักเบียดเบียนผู้อื่นแม้เพราะเหตุแห่งชีวิตเล่า คือเมื่อเรารู้อยู่อย่างนี้ เราจักทำการเบียดเบียนสัตว์อื่น เอาชีวิตของเราเป็นเดิมพันได้อย่างไรเล่า.
               อธิบายว่า ไม่มีเหตุในการทำความเบียดเบียนนี้.
               กระบือกล่าวว่า ลิงนี้สำคัญสัตว์อื่นว่าเป็นเหมือนเรา จักทำอนาจารอย่างนี้. แต่นั้นกระบือที่ดุจักฆ่าลิงที่ทำไปอย่างนั้นเสีย. การตายของลิงนี้ด้วยสัตว์อื่น จักเป็นอันพ้นจากทุกข์และจากการฆ่าสัตว์ของเรา.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า :-
                         ลิงนี้จะสำคัญสัตว์อื่นเป็นเหมือนเรา จักทำอย่างนี้
                         แม้แก่สัตว์อื่นบ้าง. สัตว์เหล่านั้นจักฆ่าลิงนั้นเสีย.
                         ความตายของลิงนั้นจักเป็นอันพ้นเราไปดังนี้.

               ในบทเหล่านั้น บทว่า มเมวายํ ตัดบทเป็น มํ อิว อยํ.
               บทว่า อญฺเญปิ คือ แม้แก่สัตว์เหล่าอื่น.
               บทที่เหลือมีความดังได้กล่าวแล้ว.
               บทว่า หีนมชฺฌิมอุกฺกฏฺเฐ คือ เป็นนิมิตในเพราะของคนเลว คนปานกลางและคนชั้นสูง.
               บทว่า สหนฺโต อวมานิตํ คือ อดกลั้นคำดูหมิ่นเหยียดหยามที่คนเหล่านั้นมิได้จำแนกไว้เป็นไปแล้ว.
               บทว่า เอวํ ลภติ สปฺปญฺโญ คนมีปัญญามิได้ทำการจำแนกในคนเลวเป็นต้นอย่างนี้ เข้าไปตั้งขันติ เมตตาและความเอ็นดูไว้ อดกลั้นความผิดนั้น เพิ่มพูนศีลบารมีเป็นต้น ย่อมได้คือแทงตลอดสัพพัญญุตญาณ ตามใจปรารถนาคือตามต้องการ ความปรารถนาของเขานั้นอยู่ไม่ไกลนัก ด้วยประการฉะนี้.
               พระมหาสัตว์เมื่อจะประกาศอัธยาศัยของตนอย่างนี้ จึงแสดงธรรมแก่เทวดา.
               กระบือนั้นล่วงไป ๒-๓ วันก็ได้ไปที่อื่น. กระบือดุตัวอื่นได้ไปตั้งหลักฐานอยู่ ณ ที่นั้นเพราะเป็นที่อยู่สบาย. ลิงชั่วสำคัญว่ากระบือตัวนี้ก็คือกระบือตัวนั้นนั่นเองจึงขึ้นหลังกระบือดุนั้น แล้วได้ทำอนาจารในที่นั้นอย่างเดียวกัน. กระบือดุตัวนั้นจึงสลัดลิงให้ตกลงบนพื้นดินเอาเขาขวิดที่หัวใจ เอาเท้าเหยียบจนแหลกเหลวไป.
               มหิสราชในครั้งนั้น คือพระโลกนาถในครั้งนี้.
               แม้ในมหิสราชจริยานี้ก็พึงเจาะจงกล่าวถึงบารมีที่เหลือของพระโพธิสัตว์นั้นตามสมควรโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.
               อนึ่ง พึงทราบคุณานุภาพของพระมหาสัตว์ในจริยานี้ ดุจในหัตถินาคจริยา ภูริทัตตจริยา จัมเปยยจริยาและนาคราชจริยา.
               จบอรรถกถามหิสราชจริยาที่ ๕               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก การบำเพ็ญสีลบารมี ๕. มหิสราชจริยา จบ.
อ่านอรรถกถา 33.3 / 1อ่านอรรถกถา 33.3 / 14อรรถกถา เล่มที่ 33.3 ข้อ 15อ่านอรรถกถา 33.3 / 16อ่านอรรถกถา 33.3 / 36
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=9030&Z=9050
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=52&A=3634
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=52&A=3634
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :