ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 7อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 8อ่านอรรถกถา 33.2 / 9อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์
๗. อโนมทัสสีพุทธวงศ์

               พรรณนาวงศ์พระอโนมทัสสีพุทธเจ้าที่ ๗               
               เมื่อพระโสภิตพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ภายหลังสมัยของพระองค์อสงไขยหนึ่ง ก็ว่างเว้นพระพุทธเจ้าทรงอุบัติ. เมื่ออสงไขยนั้นล่วงไปแล้ว ในกัปหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็บังเกิด ๓ พระองค์ คือ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระนารทะ.
               บรรดาพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าอโนมทัสสีทรงบำเพ็ญบารมีสิบหกอสงไขยแสนกัป บังเกิด ณ สวรรค์ชั้นดุสิต อันทวยเทพอ้อนวอนแล้วก็จุติจากดุสิตสวรรค์นั้น ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางยโสธรา ผู้มีพระเต้าถันงามช้อน อัครมเหสีในราชสกุลของพระเจ้ายสวา กรุงจันทวดีราชธานี.
               เล่ากันว่า เมื่อพระอโนมทัสสีกุมารอยู่ในครรภ์ของพระนางยโสธราเทวี ด้วยอานุภาพบุญบารมี พระรัศมีแผ่ไปตลอดเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ศอก รัศมีดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ข่มไม่ได้. ถ้วนกำหนดทศมาส พระนางก็ประสูติพระโพธิสัตว์.
               ปาฏิหาริย์ทั้งหลายมีนัยที่กล่าวไว้แต่หนหลัง.
               ในวันรับพระนาม พระประยูรญาติเมื่อขนานพระนามของพระองค์ เพราะเหตุที่รัตนะ ๗ ประการ หล่นจากอากาศในขณะประสูติ ฉะนั้นจึงขนานพระนามว่า อโนมทัสสี เพราะเป็นเหตุเกิดรัตนะอันไม่ทราม. พระองค์ทรงเจริญวัยโดยลำดับ ถูกบำเรอด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่หมื่นปี. เขาว่า ทรงมีปราสาท ๓ หลัง ชื่อ สิริ อุปสิริ สิริวัฑฒะ ทรงมีพระสนมนารีสองหมื่นสามพันนางมีพระนางสิริมาเทวีเป็นประมุข.
               เมื่อพระอุปวาณะ โอรสของพระนางสิริมาเทวีประสูติ พระโพธิสัตว์นั้นก็ทรงเห็นนิมิต ๔ เสด็จออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือวอ ทรงผนวชแล้ว ชนสามโกฏิก็บวชตามเสด็จพระองค์.
               พระมหาบุรุษอันชนสามโกฏินั้นแวดล้อมแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียร ๑๐ เดือน. แต่นั้น ในวันวิสาขบูรณมี เสด็จบิณฑบาตในหมู่บ้าน อนูปมพราหมณ์ เสวยข้าวมธุปายาสที่ธิดาอนูปมเศรษฐีถวายแล้ว ทรงยับยั้งพักกลางวัน ณ สาละวัน ทรงรับหญ้า ๘ กำที่อาชีวกชื่ออนูปมะถวายแล้ว ทรงทำประทักษิณโพธิพฤกษ์ชื่อต้นอัชชุนะ ไม้กุ่ม ทรงลาดสันถัตหญ้ากว้าง ๓๘ ศอก ประทับนั่งขัดสมาธิอธิษฐานความเพียรมีองค์ ๔ ทรงกำจัดกองกำลังมารพร้อมทั้งตัวมาร ทรงยังวิชชา ๓ ให้เกิดในยามทั้ง ๓ ทรงเปล่งพระอุทานว่า อเนกชาติสํสารํ ฯลฯ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         ต่อจาก สมัยของพระโสภิตพุทธเจ้า พระสัมพุทธ
               เจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้เป็นยอดของสัตว์สองเท้า มี
               พระยศประมาณมิได้ มีพระเดชอันใครๆ ละเมิดได้ยาก.
                         พระองค์ทรงตัดเครื่องผูกพันทั้งปวง รื้อภพทั้ง ๓
               เสียแล้ว ทรงแสดงมรรคาที่สัตว์ไปไม่กลับแก่เทวดาและ
               มนุษย์.
                         พระองค์ไม่ทรงกระเพื่อมเหมือนสาคร อันใครๆ
               เข้าเฝ้าได้ยากเหมือนบรรพต มีพระคุณไม่มีที่สุดเหมือน
               อากาศ ทรงบานเต็มที่แล้วเหมือนพญาสาลพฤกษ์.
                         แม้ด้วยการเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น สัตว์ทั้ง
               หลายก็ยินดี สัตว์เหล่านั้นฟังพระดำรัสของพระองค์ซึ่ง
               กำลังตรัสอยู่ ก็บรรลุอมตธรรม.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโนมทสฺสี ได้แก่ น่าดูไม่มีที่เทียบ หรือน่าดูหาประมาณมิได้.
               บทว่า อมิตยโส ได้แก่ มีบริวารหาประมาณมิได้ หรือมีพระเกียรติหาประมาณมิได้.
               บทว่า เตชสฺสี ได้แก่ ทรงประกอบด้วยเดชคือศีลสมาธิปัญญา.
               บทว่า ทุรติกฺกโม ได้แก่ อันใครกำจัดได้ยาก. อธิบายว่า ทรงเป็นผู้อันไม่ว่าเทวดาหรือมาร หรือใครๆ ไม่อาจละเมิดได้.
               บทว่า โส เฉตฺวา พนฺธนํ สพฺพํ ได้แก่ ทรงตัดสัญโยชน์ ๑๐ อย่างได้หมด.
               บทว่า วิทฺธํเสตฺวา ตโย ภวา ได้แก่ กำจัดกรรมที่ไปสู่ภพทั้ง ๓ ด้วยญาณเครื่องทำให้สิ้นกรรม. อธิบายว่า ทำไม่ให้มี.
               บทว่า อนิวตฺติคมนํ มคฺคํ ความว่า พระนิพพานอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการกลับ.
               การเป็นไป ท่านเรียกว่า อนิวตฺติ บุคคลย่อมถึงพระนิพพานอันไม่กลับนั้น ด้วยมรรคานั้น เหตุนั้นมรรคานั้น ชื่อว่าอนิวัตติคมนะ เครื่องไปไม่กลับ.
               อธิบายว่า ทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นเครื่องไปไม่กลับนั้น.
               ปาฐะว่า ทสฺเสติ ดังนี้ก็มี. ความก็อย่างนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า เทวมานุเส ได้แก่ สำหรับเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. พึงเห็นว่าทุติยาวิภัตติลงในอรรถฉัฏฐีวิภัตติ.
               บทว่า อสงฺโขโภ ความว่า ทรงเป็นผู้อันใครๆ ไม่อาจให้กระเพื่อมให้ไหวได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่ออักโขภิยะ ผู้อันใครให้กระเพื่อมมิได้.
               อธิบายว่า เหมือนอย่างว่า สมุทรลึกแปดหมื่นสี่พันโยชน์ เป็นที่อยู่แห่งภูตหลายพันโยชน์ อันอะไรๆ ให้กระเพื่อมมิได้ฉันใด พระองค์ก็ทรงเป็นผู้อันใครๆ ให้กระเพื่อมมิได้ฉันนั้น.
               บทว่า อากาโสว อนนฺโต ความว่า เหมือนอย่างว่า ที่สุดแห่งอากาศไม่มี ที่แท้ อากาศมีที่สุดประมาณมิได้ ไม่มีฝั่งฉันใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่มีที่สุด ประมาณมิได้ ไม่มีฝั่งด้วยพระพุทธคุณทั้งหลายก็ฉันนั้น.
               บทว่า โส ได้แก่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น.
               บทว่า สาลราชาว ผุลฺลิโต ความว่า ย่อมงามเหมือนพระยาสาลพฤกษ์ที่ดอกบานเต็มที่ เพราะทรงมีพระสรีระประดับด้วยพระลักษณะและอนุพยัญชนะทุกอย่าง.
               บทว่า ทสฺสเนนปิ ตํ พุทฺธํ ความว่า แม้ด้วยการเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น.
               แม้ในฐานะเช่นนี้ ปราชญ์ทางศัพทศาสตร์ย่อมประกอบฉัฏฐีวิภัตติ.
               บทว่า โตสิตา ได้แก่ ยินดี อิ่มใจ.
               บทว่า พฺยาหรนฺตํ ได้แก่ พฺยาหรนฺตสฺส ของพระองค์ผู้กำลังตรัสอยู่. ทุติยาวิภัตติ ลงในอรรถฉัฏฐีวิภัตติ.
               บทว่า อมตํ ได้แก่ พระนิพพาน. บทว่า ปาปุณนฺติ แปลว่า บรรลุ.
               บทว่า เต ความว่า สัตว์เหล่าใดฟังพระดำรัสคือพระธรรมเทศนาของพระองค์ สัตว์เหล่านั้นย่อมบรรลุอมตธรรม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยับยั้ง ณ โคนโพธิพฤกษ์ ๗ สัปดาห์ อันท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ เพื่อทรงแสดงธรรม ทรงเห็นชนสามโกฏิซึ่งบวชกับพระองค์ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ทรงใคร่ครวญว่า เดี๋ยวนี้ชนเหล่านั้นอยู่กันที่ไหน ก็ทรงเห็นชนเหล่านั้นอยู่ ณ สุธัมมราชอุทยาน กรุงสุภวดี เสด็จไปทางอากาศ ลงที่สุธัมมราชอุทยาน.
               พระองค์อันชนเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ท่ามกลางบริษัทพร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ณ ที่นั้น อภิสมัย ที่ ๑ ได้มีแก่สัตว์ร้อยโกฏิ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระอโนมทัสสีพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีธรรมาภิสมัย
               สำเร็จเจริญไป ครั้งนั้น ในการทรงแสดงธรรมครั้งที่ ๑
               สัตว์ร้อยโกฏิตรัสรู้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผีโต ได้แก่ถึงความเจริญโดยชนเป็นอันมากรู้ธรรม.
               บทว่า โกฏิสตานิ ได้แก่ ร้อยโกฏิ ชื่อว่าโกฏิสตะ. ปาฐะว่า โกฏิสตโย ดังนี้ก็มี. ปาฐะนั้นความว่า ร้อยโกฏิ.
               ภายหลังสมัยต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ณ โคนต้นประดู่ ใกล้ประตูโอสธีนคร ประทับนั่งเหนือแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภพดาวดึงส์ ซึ่งพวกอสูรครอบงำได้ยาก ทรงยังฝนคือพระอภิธรรมให้ตกลงตลอดไตรมาส.
               ครั้งนั้น เทวดาแปดสิบโกฏิตรัสรู้.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         เมื่อพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าทรงหลั่งฝนคือธรรมตกลง
                         ในอภิสมัยต่อจากนั้น ในการที่ทรงแสดงธรรมครั้งที่ ๒
                         เทวดาแปดสิบโกฏิตรัสรู้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วสฺสนฺเต ได้แก่ เมื่อมหาเมฆคือพระพุทธเจ้า หลั่งฝนตกลง.
               บทว่า ธมฺมวุฏฺฐิโย ได้แก่ เมล็ดฝน คือธรรมกถา.
               สมัยต่อจากนั้น สัตว์เจ็ดสิบแปดโกฏิตรัสรู้ในการที่ทรงแสดงมงคลปัญหา นั้นเป็นอภิสมัยครั้งที่ ๓.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         เมื่อพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ทรงหลั่งฝนคือธรรม
                         ต่อจากนั้น ยังสัตว์ทั้งหลายให้อิ่ม อภิสมัยครั้งที่ ๓
                         ก็ได้มีแก่สัตว์เจ็ดสิบแปดโกฏิ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วสฺสนฺเต ได้แก่ ทรงหลั่งธารน้ำคือธรรมกถา.
               บทว่า ตปฺปยนฺเต ได้แก่ ให้เขาอิ่มด้วยน้ำฝนคืออมตธรรม. อธิบายว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำเขาให้อิ่ม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าอโนมทัสสีทรงมีสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง.
               ใน ๓ ครั้งนั้น ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงท่ามกลางพระอรหันต์แปดแสน ซึ่งเลื่อมใสในธรรมที่ทรงแสดงโปรดพระเจ้าอิสิทัตตะ ณ กรุงโสเรยยะ แล้วบวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชา ในเมื่อทรงแสดงธรรมโปรดพระสุนทรินธระ กรุงราธวดี นี้เป็นสันนิบาตครั้งที่ ๒. ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงท่ามกลางพระอรหันต์หกแสนผู้บวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชา พร้อมกับพระเจ้าโสเรยยะ กรุงโสเรยยะ อีก นี้เป็นสันนิบาตครั้งที่ ๓.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่พระองค์
               นั้นทรงมีสันนิบาต ประชุมพระอรหันต์ผู้ถึงกำลังแห่ง
               อภิญญา ผู้บานแล้วด้วยวิมุตติ.
                         ครั้งนั้น ประชุมพระอรหันต์แปดแสนผู้ละความเมา
               และโมหะ มีจิตสงบ คงที่.
                         ครั้งที่ ๒ ประชุมพระอรหันต์เจ็ดแสนผู้ไม่มีกิเลส
               ปราศจากกิเลสดังธุลี ผู้สงบคงที่.
                         ครั้งที่ ๓ ประชุมพระอรหันต์หกแสนผู้ถึงกำลังแห่ง
               อภิญญา ผู้เย็น ผู้มีตบะ.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสฺสาปิ จ มเหสิโน ได้แก่ แม้พระอโนมทัสสีพุทธเจ้าผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่พระองค์นั้น.
               ปาฐะว่า ตสฺสาปิ ทฺวิปทุตฺตโม ดังนี้ก็มี.
               ความว่า พระผู้เป็นเลิศกว่าสัตว์สองเท้า พระองค์นั้น. พึงถือเอาลักษณะโดยอรรถแห่งศัพท์.
               บทว่า อภิญฺญาพลปฺปตฺตานํ ได้แก่ ผู้ถึงกำลังแห่งอภิญญาทั้งหลาย.
               อธิบายว่า ถึงความมั่นคงในอภิญญาทั้งหลาย โดยความพินิจอย่างฉับพลัน เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญ.
               บทว่า ปุปฺผิตานํ ได้แก่ ถึงความงามอย่างเหลือเกิน เพราะบานสะพรั่งเต็มหมด.
               บทว่า วิมุตฺติยา ได้แก่ ด้วยอรหัตผลวิมุตติ.

               อังคณะ ๓               
               ในบทว่า อนงฺคณานํ นี้ อังคณศัพท์นี้บางแห่งใช้ในกิเลสทั้งหลาย เช่น ตตฺถ กตมานิ ตีณิ องฺคณานิ. ราโค องฺคณํ โทโส องฺคณํ โมโห องฺคณํ ในข้อนั้น อังคณะมี ๓ คือ อังคณะคือราคะ อังคณะคือโทสะ อังคณะคือโมหะ และเช่น ปาปกานํ โข เอตํ อาวุโส อกุสลานํ อิจฺฉาวจรานํ อธิวจนํ ยทิทํ องฺคณํ ผู้มีอายุ คำคืออังคณะ เป็นชื่อของอกุศลบาปธรรม ส่วนที่มีความอยากเป็นที่หน่วงเหนี่ยว.
               บางแห่งใช้ในมลทินบางอย่าง เช่น ตสฺเสว รชสฺส วา องฺคณสฺส วา ปหานาย วายมติ พยายามเพื่อละกิเลสธุลี หรือมลทินนั้นนั่นแล.
               บางแห่งใช้ในภูมิภาคเห็นปานนั้น เช่น เจติยงฺคณํ ลานพระเจดีย์, โพธิยงฺคณํ ลานโพธิ, ราชงฺคเณ พระลานหลวง.
               ส่วนในที่นี้ พึงเห็นว่าใช้ในกิเลสทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงมีความว่า ผู้ไม่มีกิเลส.
               คำว่า วิรชานํ เป็นไวพจน์ของคำว่า อนงฺคณานํ นั้นนั่นแหละ.
               บทว่า ตปสฺสินํ ความว่า ตบะกล่าวคืออริยมรรค อันทำความสิ้นกิเลสของภิกษุเหล่าใดมีอยู่ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าตปัสสี ผู้มีตบะ. ภิกษุผู้มีตบะเหล่านั้นคือพระขีณาสพ.
               ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นเสนาบดียักษ์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ตนหนึ่ง มีฤทธานุภาพมาก เป็นอธิบดีของยักษ์หลายแสนโกฏิ.
               พระโพธิสัตว์นั้นสดับว่า พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลก ก็มาเนรมิตมณฑป สำเร็จด้วยรัตนะ ๗ งามน่าดูอย่างยิ่ง เสมือนวงดวงจันทร์งามนักหนา ถวายมหาทานแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ณ มณฑปนั้น ๗ วัน.
               เวลาอนุโมทนาภัตทาน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาล เมื่อล่วงไปหนึ่งอสงไขยกำไรแสนกัป ท่านผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         สมัยนั้น เราเป็นยักษ์มีฤทธิ์มาก เป็นใหญ่ มี
               อำนาจเหนือยักษ์หลายโกฎิ
                         แม้ครั้งนั้น เราก็เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
               ผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่พระองค์นั้น เลี้ยงดูพระผู้นำโลก
               พร้อมทั้งพระสาวกให้อิ่นหนำสำราญด้วยข้าวน้ำ
                         ครั้งนั้นพระมุนีผู้มีพระจักษุบริสุทธิ์ แม้พระองค์
               นั้น ก็ทรงพยากรณ์เราว่า ท่านผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า
               ในกัปที่หาประมาณมิได้ นับแต่กัปนี้ไป
                         เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้วก็ร่าเริง สลดใจ
               อธิษฐานข้อวัตรยิ่งยวดขึ้นไปเพื่อบำเพ็ญบารมีให้บริบูรณ์.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุตฺตรึ วตมธิฏฺฐสึ ความว่า เราได้ทำความยากนั่นมั่นคงยิ่งขึ้นไป เพื่อให้บารมีบริบูรณ์
               พระผู้มีพระภาคเจ้าอโนมทัสสีพระองค์นั้นทรงมีพระนครชื่อว่าจันทวดี พระชนกพระนามว่าพระเจ้ายสวา พระชนนีพระนามว่ายโสธรา คู่พระอัครสาวกชื่อว่าพระนิสภะและพระอโนมะ พระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่าพระวรุณะ คู่พระอัครสาวิกาชื่อว่าพระสุนทรีและพระสุมนา โพธิพฤกษ์ชื่อว่าต้นอัชชุนะ พระสรีระสูง ๕๘ ศอก พระชนมายุแสนปี พระอัครมเหสีพระนามว่าพระนางสิริมา พระโอรสพระนามว่าอุปวาณะ ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่หมื่นปี พระองค์เสด็จอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือวอ.
               ส่วนการเสด็จไป พึงทราบความตามนัยที่กล่าวมาแล้ว ในการเสด็จโดยปราสาท ในการพรรณนาวงศ์ของพระโสภิตพุทธเจ้า.
               พระเจ้าธัมมกะเป็นอุปัฏฐาก เล่ากันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารธัมมาราม.
               ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า
                         พระศาสดาอโนมทัสสี มีพระนครชื่อว่าจันทวดี
               พระชนกพระนามว่าพระเจ้ายสวา พระชนนีพระนาม
               ว่า พระนางยโสธรา.
                         พระศาสดาอโนมทัสสี มีพระอัครสาวก ชื่อว่า
               พระนิสภะ และ พระอโนมะ พระอุปัฏฐากชื่อว่าวรุณะ
               พระอัครสาวิกา ชื่อว่า พระสุนทรี และพระสุมนา
               โพธิพฤกษ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียก
               ว่าต้นอัชชุนะ ไม้กุ่ม.
                         พระมหามุนีสูง ๕๘ ศอก พระรัศมีของพระองค์
               แล่นออกเหมือนดวงอาทิตย์.
                         ในยุคนั้น มนุษย์มีอายุแสนปี พระองค์เมื่อทรง
               มีพระชนม์ยืนถึงเพียงนั้น จึงทรงยังหมู่ชนเป็นอันมาก
               ให้ข้ามโอฆสงสาร.
                         ปาพจน์ คือ ธรรมวินัย อันพระอรหันต์ทั้งหลาย
               ผู้คงที่ ปราศจากราคะ ไร้มลทิน ทำให้บานดีแล้ว
               ศาสนาของพระชินพุทธเจ้า จึงงาม.
                         พระศาสดา ผู้มีพระยศประมาณมิได้นั้นด้วย คู่
               พระอัครสาวก ผู้มีคุณที่วัดไม่ได้เหล่านั้นด้วย ทั้งนั้นก็
               อันตรธานไปสิ้น สังขารทั้งปวงก็ว่างเปล่า แน่แท้.

               แก้อรรถ               
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปภา นิทฺธาวตี ความว่า พระรัศมีแล่นออกจากพระสรีระของพระองค์. พระรัศมีแห่งพระสรีระแผ่ไปตลอดเนื้อที่ประมาณสิบสองโยชน์อยู่เป็นนิตย์.
               บทว่า ยุคานิ ตานิ ได้แก่ คู่มีคู่พระอัครสาวกเป็นต้น.
               บทว่า สพฺพํ ตมนฺตรหิตํ ความว่า ประการดังกล่าวแล้วเข้าสู่ปากอนิจจลักษณะแล้วก็หายไปสิ้น.
               ปาฐะว่า นนุ ริตฺตกเมว สงฺขารา ดังนี้ก็มี. ปาฐะนั้นความว่า สังขารทั้งปวงก็ว่างเปล่าทั้งนั้นแน่แท้.
                อักษรทำบทสนธิต่อบท.
               ในคาถาที่เหลือทุกแห่ง ง่ายทั้งนั้นแล.
               คู่พระอัครสาวกคู่นี้คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ก็ได้ทำปณิธานเพื่อเป็นพระอัครสาวกในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าอโนมทัสสีพระองค์นี้.
               ก็เรื่องพระเถระเหล่านี้ควรกล่าวในเรื่องนี้ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ยกขึ้นโดยนัยที่พิศดารในคัมภีร์.
               จบพรรณนาวงศ์พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๗. อโนมทัสสีพุทธวงศ์ จบ.
อ่านอรรถกถา 33.2 / 1อ่านอรรถกถา 33.2 / 7อรรถกถา เล่มที่ 33.2 ข้อ 8อ่านอรรถกถา 33.2 / 9อ่านอรรถกถา 33.2 / 28
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=7553&Z=7604
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=51&A=5593
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=51&A=5593
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :