ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 139อรรถกถา เล่มที่ 33.1 ข้อ 140อ่านอรรถกถา 33.1 / 141อ่านอรรถกถา 33.1 / 180
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๕. ภัททิยวรรค
๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน

หน้าต่างที่ ๓ / ๑๒.

               ยสวรรคที่ ๕๖#-               
               นทีกัสสปเถราปทานที่ ๒ (๕๕๒)               
               ว่าด้วยบุพจริยาของพระนทีกัสสปเถระ               
____________________________
#- วรรคนี้ในบาลีไทย ขาดหายไป แต่ของฉบับภาษาอื่นและอรรถกถา (มีอยู่) จึงนำมาเพิ่มให้ครบ พร้อมทั้งเพิ่มเลขข้อต่อจากข้อ ๑๔๐ ไปตามลำดับ.

                                   [๑๔๒] ข้าพเจ้าปฏิเสธความเป็นผู้มียศ
                         สูงแล้ว บวชเป็นดาบส ถือเอาผลมะม่วงสุกอัน
                         มีรสเลิศ ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระนาม
                         ว่า ปทุมุตตระ ผู้เป็นใหญ่ที่สุดในโลก ผู้คงที่
                         ผู้เป็นพระศาสดา ซึ่งกำลังเสด็จจาริกไป เพื่อ
                         บิณฑบาต.
                                   ด้วยกรรมนั้น ข้าพเจ้าได้อุปบัติเป็น
                         จอมเทวดา เป็นนราสพ ผู้เป็นใหญ่ในโลก ได้
                         ดำรงตำแหน่งอันมั่นคง ครั้นละโลกนั้นแล้ว ก็
                         เป็นผู้มีชัยในเบื้องหน้า.
                                   ในแสนกัปแต่กัปนี้ ข้าพเจ้าได้ถวาย
                         ผลไม้ใดไว้ ในครั้งนั้น ด้วยการถวายผลไม้นั้น
                         ข้าพเจ้าไม่รู้จักทุคติเลย อันนี้เป็นผลแห่งการ
                         ถวายผลไม้อันมีรสเลิศ.
                                   ข้าพเจ้า ได้เผากิเลสทั้งหลายชิ้นแล้ว
                         ข้าพเจ้าเป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่.
                                   ข้าพเจ้าได้เป็นผู้มาดีแล้วแล คำสอน
                         ของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้กระทำเสร็จแล้ว.
                                   ปฏิสัมภิทา ๔ ฯลฯ คำสอนของพระพุทธ
                         เจ้า ข้าพเจ้าได้ทำเสร็จแล้ว.
               ทราบว่า ท่านพระนทีกัสสปเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ไว้ ด้วยประการฉะนี้แล.
               จบนทีกัสสปเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               
               ยศวรรคที่ ๕๖               
               ๕๕๒. อรรถกถานทีกัสสปเถราปทาน               
               พึงทราบเรื่องราวในอปทานที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-
               อปทานของท่านพระนทีกัสสปเถระมีคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตรสฺส ภวคโต ดังนี้.
               แม้พระเถระรูปนี้ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในเรือนอันมีสกุล บรรลุนิติภาวะแล้ว วันหนึ่งได้มองเห็นพระศาสดาเสด็จไปบิณฑบาตแล้ว มีใจเลื่อมใส ได้น้อมถวายผลมะม่วงผลหนึ่งมีสีดุจมโนศิลาซึ่งบังเกิดผลครั้งแรก ของต้นมะม่วงที่ตนเองปลูกไว้.
               ด้วยบุญกรรมอันนั้น เขาจึงท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้บังเกิดเป็นน้องชายของท่านอุรุเวลกัสสปะ ในตระกูลพราหมณ์ ในแคว้นมคธะ ไม่ปรารถนาอยู่เป็นฆราวาส เพราะมีอัธยาศัยเพื่อออกจากทุกข์ จึงบวชเป็นพระดาบสได้พร้อมกับพวกพระดาบสจำนวน ๓๐๐ คน ช่วยกันสร้างอาศรมอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา. ได้มีสมัญญาว่านทีกัสสปะ เพราะอาศัยอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำ และเพราะมีโคตรว่ากัสสปะ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานอุปสมบท ด้วยความเป็นเอหิภิกขุแก่เขาพร้อมทั้งบริษัทด้วย. นทีกัสสปะนั้นดำรงอยู่ในพระอรหัต ด้วยพระธรรมเทศนาอาทิตปริยายสูตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ คยาสีสประเทศ.
               ในเรื่องนั้นมีอนุปุพพิกถาดังต่อไปนี้ :-
               พระศาสดาทรงประทานอนุญาตให้ยสกุลบุตรได้บวชแล้ว ได้เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเพื่อทรมานชฎิล ๓ พี่น้อง ณ อุรุเวลาประเทศ. ก็โดยสมัยนั้นแล ชฎิล ๓ พี่น้องคือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะและคยากัสสปะ ย่อมอยู่อาศัยในอุรุเวลประเทศ.
               บรรดาชฎิลทั้ง ๓ นั้น อุรุเวลกัสสปชฎิลเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้า เป็นผู้เลิศ เป็นประมุข เป็นปาโมกข์ ของพวกชฎิล ๕๐๐ คน. นทีกัสสปชฎิลเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้า เป็นผู้เลิศ เป็นประมุข เป็นปาโมกข์ของพวกชฎิล ๓๐๐ คน, คยากัสสปชฎิลก็เป็นผู้นำ เป็นหัวหน้า เป็นผู้เลิศ เป็นประมุข เป็นปาโมกข์ของพวกชฎิล ๒๐๐ คน.
               ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังอาศรมของอุรุเวลกัสสปชฎิล ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้ตรัสกะอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้นว่า กัสสปะ ถ้าท่านไม่มีความหนักใจแล้วไซร้ เราจะขอพักอาศัยอยู่ที่โรงไฟนี้สักราตรีหนึ่งเถิด.
               อุรุเวลกัสสปะกล่าวว่า มหาสมณะ เราไม่มีความหนักใจอะไรเลย แต่ว่า นาคราชดุร้าย มีฤทธิ์ มีพิษ มีพิษร้ายแรงอาศัยอยู่ในโรงไฟนั้น เขาอย่าเบียดเบียนท่านเลย.
               แม้ถึงวาระที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสกะอุรุเวลกัสสปชฏิลนั้นอีก ฯลฯ แม้ถึงวาระที่ ๓ ฯลฯ เขาอย่าเบียดเบียนท่านเลย. พระศาสดาตรัสว่า ถึงอย่างไร เขาก็ไม่เบียดเบียนเราดอก กัสสปะ ขอท่านจงอนุญาตโรงไฟให้เราเถิด.
               อุรุเวลกัสสปะกล่าวว่า มหาสมณะ ตามใจท่าน ท่านจงอยู่ตามสบายเถิด.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จเข้าไปยังโรงไฟ ทรงปูลาดสันถัตหญ้า ประทับนั่ง คู้บัลลังก์ ทรงตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เฉพาะหน้าอย่างมั่นคง.
               นาคราชนั้นได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปแล้ว เดือดดาลใจ จึงบังหวนควัน.
               ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพระดำริว่า ถ้าอย่างไร เราพึงครอบงำเดชด้วยเดชให้จรดผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อใน กระดูกของนาคราชนี้.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรุงแต่งอิทธาภิสังขารเช่นนั้น ทรงบังหวนควันแล้ว. ลำดับนั้นแล นาคราชเจ้าไม่สามารถจะอดทนความลบหลู่ได้โพลงไฟขึ้นแล้ว.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ทรงเข้าเตโชกสิณโพลงไฟขึ้นแล้ว.
               โรงไฟมีกองไฟ ๒ กอง ลุกโพลงดุจแสงพระอาทิตย์ ลุกโชติช่วงโพลงไปทั่ว.
               ลำดับนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้นพากันแวดล้อมโรงไฟแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ชาวเราเอ๋ย! พระมหาสมณะผู้มีพระรูปพระโฉมอันแสนจะงดงาม กำลังถูกนาคราชเบียดเบียนอยู่.
               ลำดับนั้นแล เมื่อราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้เดชครอบงำเดชของนาคราชนั้น จนจรดถึงผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกและเยื่อในกระดูกแล้วจับใส่ในบาตร แสดงให้อุรุเวลกัสสปชฎิลได้เห็นประจักษ์แล้ว ตรัสว่า กัสสปะ นาคราชของท่านนี้ได้ถูกเราใช้เดชครอบงำเดชจนหมดฤทธิ์แล้ว.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะนี้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากนักหนา จึงได้ใช้เดชครอบงำเดชของนาคราชที่ดุร้ายมีฤทธิ์ มีพิษ มีพิษร้ายแรงนี้ได้ ถึงกระนั้น ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา.
                                   พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ใกล้แม่น้ำ
                         เนรัญชราได้ตรัสกะอุรุเวลกัสสปชฎิลว่า กัสสปะ
                         ถ้าว่าความไม่หนักใจ มีอยู่แก่ท่านไซร้ วันนี้
                         เราจะขอพักอาศัยอยู่ ณ ที่โรงไฟ.
                                   อุรุเวลกัสสปะกล่าวว่า มหาสมณะ ข้าพ-
                         เจ้าไม่มีความหนักใจแต่อย่างไรเลย ข้าพเจ้าผู้
                         ประสงค์ความผาสุก จึงห้ามท่านว่า นาคราชดุร้าย
                         มีฤทธิ์ มีพิษ มีพิษร้าย มีอยู่ในที่นั้น นาคราชนั้น
                         อย่าเบียดเบียนท่านเลย.
                                   พระศาสดาตรัสว่า ถึงอย่างไร นาคราช
                         ก็ไม่พึงเบียดเบียนเราแน่ กัสสปะ ขอท่านจง
                         อนุญาตโรงไฟให้เราเถิด
                                   พระศาสดาทรงทราบว่า อุรุเวลกัสสปะ
                         นั้น อนุญาตให้แล้ว ไม่ทรงหวาดกลัว ก้าวล่วง
                         เสียได้ซึ่งภัย เสด็จเข้าไปแล้ว.
                                   นาคราช พอได้เห็นพระฤๅษีเจ้า (พระ-
                         พุทธเจ้า) เข้าไปจึงเดือดดาลใจ บังหวนควันแล้ว
                         พระศาสดา ทรงมีพระหฤทัยอันสม่ำเสมอ มีน้ำ
                         พระทัยเยี่ยมยอด แม้ (จะถูก) นาคราชในร่าง
                         มนุษย์ บังหวนควันในที่นั้นก็ตาม.
                                   ส่วนนาคราชไม่สามารถจะอดกลั้นต่อ
                         ความลบหลู่ได้ ได้บังหวนควันโพลงไฟทั่วแล้ว.
                         พระศาสดาทรงเป็นผู้ฉลาดอย่างยอดเยี่ยมในเตโช-
                         ธาตุกสิณ ได้ทรงบังหวนควันจนโพลงไฟทั่วแล้ว
                         โรงไฟมีเปลวไฟโพลงของทั้งสองฝ่าย ลุกโพลง
                         โชติช่วง ดุจแสงพระอาทิตย์. พวกชฎิลพากัน
                         พูดว่า ชาวเราเอ่ย! พระมหาสมณะ ผู้มีรูปงาม
                         ยิ่ง กำลังถูกนาคราชเบียดเบียนอยู่.
                                   พอราตรีนั้นผ่านไป เปลวไฟของนาคราช
                         นั้นก็ถูกเบียดเบียน. ส่วนพระศาสดาก็คงทรงมี
                         พระฤทธิ์อยู่ เปลวไฟจึงมีวรรณะมากมาย สีเขียว
                         สีแดง สีหงสบาท สีเหลือง และสีแก้วผลึก
                         มีเป็นสีเปลวไฟหลายสีมากมายที่พระกายของ
                         พระอังคีรส. พระศาสดา ทรงให้นาคราชขดลง
                         ในบาตรแล้ว แสดงแก่พราหมณ์ว่า กัสสปเอ่ย
                         นี่อย่างไร นาคราชของท่านถูกเราใช้เดชทำลาย
                         เดชของนาคราชนั้นแล้วแล.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลเลื่อมใสยิ่งแล้วในอิทธิปาฏิหาริย์นี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ ขอพระองค์จงประทับอยู่ในที่นี้เท่านั้นเถิด ข้าพเจ้าจักถวายภัตรเป็นประจำแก่พระองค์.
               จบปาฏิหาริย์ครั้งแรก               
               -----------------------------------------------------               

               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ไกลจากอาศรมของอุรุเวลกัสสปชฎิลนัก.
               ลำดับนั้นแล ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เมื่อปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว มีรัศมีงดงามยิ่งนัก ยังราวป่าทั้งสิ้นให้สว่างไสวแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ยืนอยู่ทั้ง ๔ ทิศ เปรียบเหมือนกองไฟใหญ่.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิล พอราตรีนั้นล่วงพ้นไป จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วจึงได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ภัตรสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ข้าแต่พระมหาสมณะ บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ภัตรสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ข้าแต่พระมหาสมณะ เมื่อปฐมยามแห่งราตรีล่วงไปแล้ว ใครหนอแลมีรัศมีงดงามยิ่งนัก ยังราวป่าทั้งสิ้นให้สว่างไสวแล้ว จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระองค์ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ได้ถวายบังคมพระองค์แล้ว ได้ยืนอยู่ในทิศทั้ง ๔ เปรียบด้วยกองไฟอันใหญ่ยิ่ง.
               พระศาสดาตรัสว่า กัสสป ท่านเหล่านั้นคือท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้ามาหาเรา ก็เพื่อฟังธรรม.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ซึ่งท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้าเฝ้าเพื่อฟังธรรม ถึงอย่างไร ก็ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยภัตรของอุรุเวลกัสสปชฎิลแล้วประทับอยู่ในราวป่านั้นนั่นแล.
               จบปาฏิหาริย์ครั้งที่สอง               
               -----------------------------------------------------               

               ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะเทวานมินทะ เมื่อปฐมยามแห่งราตรีล่วงพ้นผ่านไป มีรัศมีงดงามยิ่งนัก ยังราวป่าทั้งสิ้นให้สว่างไสวเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับยืน ณ ที่สมควรด้านหนึ่งเปรียบเหมือนกองไฟใหญ่ มีรัศมีมากกว่าและประณีตกว่ารัศมีสีแสงที่มีมาก่อน.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิล เมื่อราตรีนั้นล่วงผ่านไป จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ภัตรสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ข้าแต่พระมหาสมณะ ใครกันหนอแล เมื่อปฐมยามแห่งราตรีผ่านไป มีรัศมีงดงามยิ่งนัก ยังราวป่าทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระองค์ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้ถวายบังคมพระองค์ ยืนอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง เปรียบเหมือนกองไฟใหญ่ยิ่ง มีรัศมีมากกว่าและประณีตกว่ารัศมีสีแสงที่มีมาก่อน.
               พระศาสดาตรัสว่า กัสสป ผู้นั้นคือท้าวสักกะเทวานมินทะเข้ามาหาเรา ก็เพื่อฟังธรรม.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ซึ่งแม้ท้าวสักกะทวานมินทะก็ยังเข้ามาเฝ้าเพื่อฟังธรรม ถึงอย่างไรก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสวยภัตรของอุรุเวลกัสสปชฎิลแล้ว ประทับอยู่ที่ราวป่านั้นนั่นแล.
               จบปาฏิหาริย์ครั้งที่สาม               
               -----------------------------------------------------               

               ลำดับนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม เมื่อปฐมยามแห่งราตรีผ่านพ้นไป ทรงมีรัศมีงดงามยิ่งนัก ยังราวป่าทั้งสิ้นให้สว่างไสวแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ยืนอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่งเปรียบเหมือนกองไฟอันใหญ่ยิ่ง มีรัศมีมากกว่าและประณีตกว่าแสงสีที่มีมาก่อน.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลเมื่อราตรีนั้นผ่านพ้นไป จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ภัตรสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ข้าแต่พระมหาสมณะ ใครหนอแล เมื่อปฐมยามแห่งราตรีผ่านไปแล้ว ทรงมีพระรัศมีงดงามยิ่งนัก ยังราวป่าทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระองค์ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวายบังคมพระองค์แล้วได้ยืน ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง เปรียบเหมือนกองไฟอันใหญ่ยิ่ง มีรัศมีมากกว่าและประณีตกว่าแสงสีที่มีมาก่อน.
               พระศาสดาตรัสว่า กัสสป ผู้นั้นคือท้าวสหัมบดีพรหมเข้ามาหาเรา เพื่อฟังธรรม.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ซึ่งแม้ท้าวสหัมบดีพรหมยังเข้าไปเฝ้าเพื่อฟังธรรมเลย ถึงอย่างไรก็ตงไม่เป็นพระอรหันต์ เหมือนเราแน่นอน.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยภัตรของอุรุเวลกัสสปชฎิลแล้ว ประทับอยู่ที่ราวป่านั้นนั่นแล.
               จบปาฏิหาริย์ครั้งที่สี่               
               -----------------------------------------------------               

               ก็โดยสมัยนั้นแล มหายัญได้ตั้งขึ้นเฉพาะแล้วเพื่ออุรุเวลกัสสปชฎิลและชาวแคว้นอังคะและมคธะทั้งสิ้น ตั้งใจถือเอาขาทนียะโภชนียะเป็นอันมากมุ่งหน้าไป.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า บัดนี้ มหายัญตั้งขึ้นแล้วเพื่อเรา ชาวแคว้นอังคะและมคธะทั้งสิ้นจักถือเอาขาทนียะโภชนียะเป็นอันมากมุ่งหน้าไป ถ้าว่า พระมหาสมณะจักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ในหมู่มหาชน ลาภและสักการะจักเจริญยิ่งแก่พระมหาสมณะ ลาภและสักการะของเราจักเสื่อมไป โอ ทำไฉน พระมหาสมณะไม่พึงมาในวันพรุ่งนี้.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทราบถึงความปริวิตกทางใจของอุรุเวลกัสสปชฎิลด้วยใจแล้ว เสด็จไปยังอุตตรกุรุ ทรงนำเอาบิณฑบาตมาจากที่นั้นแล้ว เสวยใกล้สระอโนดาดแล้ว ได้ทรงกระทำการพักผ่อนเวลากลางวันในที่นั้นนั่นแหละ.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิล ครั้นราตรีนั้นล่วงผ่านไปแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วจึงได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ภัตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ข้าแต่พระมหาสมณะ เพราะเหตุไรหนอ เมื่อวานนี้ พระองค์จึงไม่เสด็จมา พวกเราได้แบ่งขาทนียะและโภชนียะวางไว้สำหรับพระองค์แล้ว.
               พระศาสดาตรัสว่า กัสสป เธอได้มีความคิดอย่างนี้มิใช่หรือว่า บัดนี้แล มหายัญเกิดขึ้นเฉพาะเพื่อเรา และชาวแคว้นอังคะและมคธะทั้งสิ้นจักถือเอาขาทนียะโภชนียะเป็นอันมากมุ่งหน้าไป ถ้าว่า พระมหาสมณะจักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ในหมู่มหาชนไซร้ ลาภและสักการะของพระมหาสมณะก็จักเจริญยิ่งขึ้น ส่วนลาภสักการะของเราก็จักเสื่อมสิ้นไป โอ ทำไฉน พระมหาสมณะจะไม่พึงมาในวันพรุ่งนี้ ดังนี้
               ดูก่อนกัสสป เรานั้นแลได้ทราบความปริวิตกทางใจของท่านด้วยใจ จึงไปยังอุตตรกุรุ นำเอาบิณฑบาตมาจากที่นั้นแล้วฉันใกล้สระอโนดาต ได้ทำการพักผ่อนกลางวันในที่นั้นนั่นเอง.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก จึงจักทราบชัดถึงจิตใจได้ด้วยใจ ชื่อเห็นปานนี้ ถึงอย่างไรก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสวยภัตรของอุรุเวลกัสสปชฎิลแล้ว ประทับอยู่ ณ ป่านั้นนั่นแล.
               จบปาฏิหาริย์ครั้งที่ห้า               
               -----------------------------------------------------               

               ก็โดยสมัยนั้นแล ผ้าบังสุกุลเกิดขึ้นแล้วแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมีพระดำริว่าเราจะพึงซักผ้าบังสุกุลในที่ไหนหนอแล.
               ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะเทวานมินทะได้ทรงทราบถึงความปริวิตกแห่งพระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยใจแล้ว จึงใช้มือขุดสระโบกขรณีเสร็จแล้ว ก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงซักผ้าบังสุกุลในสระโบกขรณีนี้เถิด.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมีพระดำริว่า เราพึงขยำผ้าบังสุกุล ณ ที่ไหนหนอแล.
               ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะเทวานมินทะได้ทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยใจแล้ว จึงทรงยกแผ่นศิลาใหญ่มาวางไว้แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงขยำผ้าบังสุกุล ณ ที่แผ่นศิลานี้เถิด.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมีพระดำริว่า เราจะพึงห้อยตากผ้าบังสุกลในที่ไหนหนอแล.
               ลำดับนั้นแล เทพยดาผู้สิงสถิตอยู่ ณ ที่ต้นไม้รกฟ้า ได้ทราบถึงความปริวิตกแห่งใจของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยใจแล้ว จึงน้อมเอากิ่งไม้ลงมาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงตากผ้าบังสุกุลไว้ที่กิ่งไม้นี้.
               ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมีพระดำริว่า เราพึงเปลี่ยนผ้าบังสุกุลในที่ไหนหนอแล.
               ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะเทวานมินทะได้ทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยใจแล้ว จึงได้ยกเอาแผ่นศิลาใหญ่มาวางไว้แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปลี่ยนผ้าบังสุกุล ณ ที่นี้เถิด.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิล พอเมื่อราตรีนั้นผ่านพ้นไปแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วจึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ บัดนี้ถึงกาลเวลาแล้ว ภัตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ข้าแต่พระมหาสมณะ เพราะเหตุไรในกาลก่อนสระโบกขรณีนี้ไม่มีในที่นี้ เย็นนี้จึงมีสระโบกขรณีในที่นี้ได้ ก้อนศิลานี้ในกาลก่อนไม่มีวางไว้ ใครยกเอาก้อนศิลานี้มาวางไว้ กิ่งแห่งต้นรกฟ้านี้ในกาลก่อนมิได้น้อมลง เย็นนี้มีกิ่งไม้น้อมลงแล้ว.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนกัสสป ผ้าบังสุกุลได้เกิดขึ้นแก่เราในที่นี้ ดูก่อนกัสสป เราได้มีความดำรินี้ว่า เราจะพึงซักผ้าบังสุกุลในที่ไหนหนอแล กัสสป. ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะเทวานมินทะได้ทราบถึงความปริวิตกแห่งใจของเราด้วยใจ จึงใช้ฝ่ามือขุดสระโบกขรณีแล้ว ได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงซักผ้าบังสุกุลในที่นี้เถิด.
               ดูก่อนกัสสป เย็นนี้ เทวดาซึ่งมิใช่มนุษย์ใช้ฝ่ามือขุดเป็นสระโบกขรณี.
               ดูก่อนกัสสป เราได้มีความดำริว่า เราจะพึงขยำผ้าบังสุกุลในที่ไหนหนอแล ดูก่อนกัสสป ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะเทวานมินทะ ได้ทราบถึงความปริวิตกแห่งใจของเราด้วยใจ จึงได้เอาแผ่นศิลาใหญ่มาวางไว้ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงขยำผ้าบังสุกุล ณ ที่แผ่นศิลานี้เถิด ดูก่อนกัสสป เย็นวานนี้ เทวดามิใช่มนุษย์จึงได้วางแผ่นศิลาไว้แล้ว.
               ดูก่อนกัสสป เราได้มีความดำริว่า เราจะพึงตากผ้าบังสุกุลในที่ไหนหนอแล ดูก่อนกัสสป ลำดับนั้นแล เทพยดาผู้สิงสถิตอยู่ ณ ต้นรกฟ้าได้ทราบถึงความปริวิตกแห่งใจของเราด้วยใจแล้วจึงน้อมเอากิ่งไม้ลงมาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงห้อยตาก ณ ที่กิ่งไม้นี้เถิด ก็ต้นรกฟ้านั้นสูงแค่เอื้อมถึง.
               ดูก่อนกัสสป เราได้มีความดำริว่าเราจะพึงเปลี่ยนผ้าบังสุกุล ณ ที่ไหนหนอแล. ดูก่อนกัสสป ลำดับนั้นแล ท้าวสักกะเทวานมินทะได้ทราบถึงความปริวิตกแห่งใจของเราด้วยใจ ยกเอาแผ่นศิลาใหญ่มาวางไว้แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปลี่ยนผ้าบังสุกุล ณ ที่นี้เถิด ดูก่อนกัสสป แผ่นศิลานี้เทวดามิใช่มนุษย์ยกมาวางไว้.
               ลำดับนั้นแล ท่านอรุเวลกัสสปได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะนี้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ซึ่งแม้ท้าวสักกะเทวานมินทะก็ยังมาทำการช่วยเหลือถึงที่ ถึงอย่างไรก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสวยภัตรของอุรุเวลกัสสปชฎิลแล้วก็ประทับอยู่ ณ ราวป่านั้นนั่นแล.
               ลำดับนั้นแล อุระเวลกัสสปชฎิล พอเมื่อราตรีนั้นผ่านพ้นไปแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นพอเข้าไปเฝ้าแล้ว จึงกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระมหาสมณะเจ้า บัดนี้ถึงภัตกาลแล้ว ภัตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนกัสสป เธอไปก่อนเถอะแล้ว เราจะตามไป ดังนี้แล้ว เสด็จส่งท่านอุรุเวลกัสสปชฎิล.
               ชมพูทวีปย่อมปรากฏมีต้นหว้า จึงทรงถือเอาผลจากต้นหว้านั้นแล้ว รีบเสด็จมาประทับนั่ง ณ ที่โรงไฟก่อนกว่า.
               อุรุเวลกัสสปชฎิลพอได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ ที่โรงไฟจึงกราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระสมณะ พระองค์เสด็จมาโดยหนทางไหน พระเจ้าข้า ข้าพระองค์หลีกไปก่อนกว่าพระองค์ แต่ทำไม พระองค์จึงมาถึงก่อนกว่าข้าพระองค์ แล้วยังประทับนั่ง ณ ที่โรงไฟ (อย่างสำราญเสียอีก).
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนกัสสป เราส่งเธอ ณ ที่นั้นแล้ว ชมพูทวีปเกิดมีต้นหว้าใหญ่ เราจึงเก็บผลหว้าจากต้นหว้านั้นแล้ว มานั่ง ณ โรงไฟก่อนกว่า ดูก่อนกัสสป ผลหว้านี้แลสมบูรณ์ด้วยสีสมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรสชาติ ถ้าเธอประสงค์ก็จงบริโภคเถิด.
               อุรุเวลกัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ พอแล้ว พระองค์เท่านั้นสมควรแก่ผลไม้นั้น พระองค์เท่านั้นจงบริโภคผลไม้นั้นเถิด.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแล ทรงส่งเราให้ไปก่อนกว่าแล้ว ชมพูทวีปก็ปรากฏมีต้นหว้าขึ้น เก็บผลไม้จากต้นหว้านั้น มาถึงประทับนั่ง ณ โรงไฟก่อนกว่าเรา ถึงอย่างไรก็คงไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยภัตรของอุรุเวลกัสสปชฎิลแล้ว ประทับอยู่ ณ ราวป่านั้นแล.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิล เมื่อพอว่าราตรีนั้นล่วงไปแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วจึงได้กราบทูลภัตกาลให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ บัดนี้ถึงภัตกาลแล้ว ภัตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนกัสสป เธอจงไปก่อน เราจะตามไปแล้วทรงส่งอุรุเวลกัสสปชฎิลไป ชมพูทวีปปรากฏมีต้นหว้าขึ้น ต้นมะม่วงมีไม่ไกลต้นหว้านั้นนัก ฯลฯ ต้นมะขามป้อมมีไม่ไกลกว่าต้นหว้านั้นนัก ฯลฯ ต้นสมอไทยมีไม่ไกลต้นกว้านั้นนัก ฯลฯ จึงไปยังดาวดึงส์ ถือเอาดอกปาริฉัตตกะมาประทับนั่ง ณ โรงไฟก่อนกว่า.
               อุรุเวลกัสสปชฎิลได้เห็นแล้วแลซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับนั่ง ณ โรงไฟ ครั้นได้เห็นแล้วจึงได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ พระองค์เสด็จมาโดยหนทางไหน ข้าพระองค์หลีกไปก่อนกว่าพระองค์ พระองค์นั้นกลับมาประทับนั่ง ณ โรงไฟก่อนกว่าข้าพระองค์.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนกัสสป เราส่งเธอในที่นั้นแล้ว ก็ไปยังดาวดึงส์ ถือเอาดอกปาริฉัตตกะ มานั่ง ณ โรงไฟก่อนกว่า ดูก่อนกัสสป ดอกปาริฉัตตกะนี้แลสมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น ถ้าเธอประสงค์ก็จงถือเอาเถิด.
               อุรุเวลกัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ พอแล้ว พระองค์เท่านั้นสมควรแก่ดอกไม้นั้น พระองค์เท่านั้นจงถือเอาดอกไม้นั้นเถิด.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากกมายนักแล ทรงส่งเราไปล่วงหน้าก่อนแล้ว พระองค์เสด็จไปยังดาวดึงส์ เลือกเก็บดอกปาริฉัตตกะแล้วมาประทับนั่ง ณ โรงไฟก่อนกว่าเราอีก ถึงอย่างไรก็คงไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
               ก็โดยสมัยนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้นมีความประสงค์เพื่อจะทำการบูชาไฟ แต่ไม่อาจเพื่อจะผ่าฟืนได้.
               ลำดับนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้นจึงได้มีความคิดว่า ต้องเป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะเป็นแน่ อย่างมิต้องสงสัย พวกเราจึงไม่อาจจะผ่าฟืนได้.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกะอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้นว่า ดูก่อนกัสสป พวกของเธอจงผ่าฟืนเถิด. อุรุเวลกัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่มหาสมณะ พวกชฎิลจะผ่าฟืน.
               พวกชฎิลได้ผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อนครั้งเดียวเท่านั้น.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมากนักแล ทรงบันดาลให้พวกเราผ่าฟืนทั้งหลายได้ ถึงอย่างไรก็คงจะไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
               ก็โดยสมัยนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้นมีความประสงค์จะบูชาไฟแต่ไม่อาจเพื่อจะก่อไฟได้. ลำดับนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้นได้มีความคิดว่า คงจะเป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะแน่นอน อย่างมิต้องสงสัย พวกเราจึงไม่อาจเพื่อจะก่อไฟได้.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกะอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้นว่า ดูก่อนกัสสป ไฟจงลุกโพลงขึ้นเถิด. อุรุเวลกัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ ขอไฟจงลุกโพลงขึ้นเถิด.
               พวกชฎิลได้ให้กองไฟ ๕๐๐ กองลุกโพลงขึ้นแล้วคราวเดียวเท่านั้น.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดนี้ว่า พระมหาสมณะทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมากนักแล ทรงสามารถบันดาลแม้กระทั่งไฟให้ลุกโพลงขึ้นได้ ถึงอย่างไรก็คงไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
               ก็โดยสมัยนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้นบูชาไฟแล้ว แต่ไม่สามารถเพื่อจะทำการดับไฟได้. ลำดับนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้นได้มีความคิดว่า คงเป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะอย่างมิต้องสงสัย พวกเราจึงไม่สามารถเพื่อจะทำการดับไฟได้.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกะอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้นว่า ดูก่อนกัสสป พวกชฎิลจงดับไฟเถิด. อุรุเวลกัสสปกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ พวกชฎิลจงดับไฟเถิด. พวกชฎิลพากันดับไฟ ๕๐๐ กองคราวเดียวเท่านั้น.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดนี้ว่า พระมหาสมณะทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมากนักแล ซึ่งบันดาลให้เราดับไฟได้ ถึงอย่างไรก็คงไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
               ก็โดยสมัยนั้นแล ในราตรีที่เย็นหนาว ในสมัยที่มีหิมะตกในวันที่หนาวที่สุด ๘ วันในฤดูหิมะตก พวกชฎิลเหล่านั้นต่างก็พากันอาบน้ำโผล่ขึ้นบ้าง ดำลงบ้างในแม่น้ำเนรัญชรา กระทำการโผล่ขึ้นและดำลงบ้าง.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงเนรมิตเชิงกรานก่อไฟขึ้นประมาณ ๕๐๐ ที่ ซึ่งพวกชฎิลเหล่านั้นต่างก็พากันผิงไฟ.
               ลำดับนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้นจึงคิดว่า คงจะเป็นอิทธานุภาพของพระมหาสมณะเป็นแน่มิต้องสงสัย จึงเกิดมีการเนรมิตเชิงกรานก่อไฟขึ้น.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดนี้ว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากนักแล ทรงเนรมิตเขิงกรานก่อไฟขึ้นมาก ถึงอย่างไรก็คงไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
               ก็โดยสมัยนั้นแล มหาเมฆก้อนใหญ่ตกลงมา มิใช่ตามฤดูกาล ได้มีน้ำท่วมมาก พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในประเทศถิ่นที่ใด ประเทศถิ่นที่นั้นก็ไม่มีน้ำท่วม.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมีพระดำริว่า ไฉนไหนเราจะพึงยังน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไปในทิศโดยรอบได้.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงยังน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นไปในทิศโดยรอบ เสด็จจงกรมตรงกลางที่มีพื้นเป็นธุลีฟุ้งขึ้น.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลคิดว่า พระมหาสมณะ อย่าได้ถูกน้ำท่วมทับพัดพาไปเลย จึงได้ไปยังถิ่นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่พร้อมกับพวกชฎิลมากมาย โดยมีเรือเป็นพาหนะ.
               อุรุเวลกัสสปชฎิลได้เห็นแล้วแลซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ผู้ทรงเนรมิตน้ำนั้นให้เป็นขอบสูงขึ้นโดยรอบ ทรงจงกรมตรงกลางที่มีพื้นเป็นฝุ่นฟุ้งขึ้น. ครั้นได้เห็นแล้วจึงได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ นี่พระองค์หรือ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนกัสสป นี้เราเอง แล้วเสด็จเหาะขึ้นสู่เวหาส ได้เสด็จขึ้นไปพร้อมกับเรือ.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้มีความคิดว่า พระมหาสมณะทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมากนักแล ซึ่งแม้กระทั่งน้ำก็ยังไม่พัดพาไปได้ ถึงอย่างไรก็คงไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงมีพระดำริว่า เป็นเวลานานหนอ จึงจักมีโมฆบุรุษเช่นนี้โดยที่คิดว่า พระมหาสมณะทรงมีฤทธิ์มาก ทรงมีอานุภาพมากนักแล ถึงอย่างไรก็คงไม่เป็นพระอรหันต์เช่นกับเราแน่ดังนี้ ถ้ากระไร เราพึงทำชฎิลนี้ให้เกิดความสังเวช.
               ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะอุรุเวลกัสสปชฎิลนั้นว่า ดูก่อนกัสสป เธอยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังไม่ได้เข้าถึงแม้อรหัตมรรคด้วย เธอจักเป็นพระอรหันต์ หรือว่าจักเข้าถึงอรหัตมรรค ด้วยปฏิปทาใด ปฏิปทาแม้นั้นของเธอยังไม่มีเลย.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลได้ซบศีรษะลงที่พระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้การบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด.
               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนกัสสป เธอแลเป็นนายกผู้คอยแนะนำ เป็นผู้เลิศเป็นประมุข เป็นประธานของพวกชฎิล ๕๐๐ คน เธอจงบอกลาพวกชฎิลเหล่านั้นเสียก่อน พวกชฎิลเหล่านั้นจักได้ทำตามที่เธอสำคัญเข้าใจได้.
               ลำดับนั้นแล อุรุเวลกัสสปชฎิลจึงเข้าไปหาพวกชฎิลเหล่านั้น ครั้นเข้าไปหาแล้วจึงได้กล่าวกะชฎิลเหล่านั้นว่า ชาวเราเอ่ย เราต้องการจะประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ ขอพวกท่านจงทำตามที่ท่านผู้เจริญเข้าใจเถิด.
               พวกชฎิลกล่าวว่า ชาวเราเอ่ย ตั้งแต่กาลนานมาแล้ว พวกเราได้มีความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งในพระมหาสมณะ ถ้าท่านผู้เจริญจักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะไซร้ แม้พวกเราทั้งหมดก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะนั้นด้วยเหมือนกัน.
               ลำดับนั้นแล ชฎิลเหล่านั้นจึงปล่อยให้สิ่งเจือปนด้วยเส้นผม ชฎา สาแหรก เครื่องบูชาไฟ ลอยไปในน้ำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วจึงซบศีรษะลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วตรัสต่อไปอีกว่า ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด.
               พระวาจานั้นแลได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น.
               นทีกัสสปชฎิลได้เห็นแล้วซึ่งมวยผม ชฎา สาแหรก เครื่องบูชาไฟ ลอยน้ำมา ครั้นเขาได้เห็นแล้วจึงมีความคิดว่าคงจะมีอันตรายแก่พระพี่ชายของเราแน่ จึงส่งชฎิลไปสืบว่าท่านจงไปให้รู้เรื่องพี่ชายของเราให้ได้ ดังนี้ และตนเองพร้อมกับชฎิล ๓๐๐ คนได้ไปหาท่านอุรุเวลกัสสป ครั้นเข้าไปหาแล้วจึงกล่าวกะท่านอุรุเวลกัสสปนั้นว่า พี่กัสสป การบวชนี้เป็นสิ่งประเสริฐดีหรือ.
               ท่านอุรุเวลกัสสปตอบว่า ใช่ การบวชแบบนี้เป็นสิ่งประเสริฐแน่.
               ลำดับนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้นจึงได้เอามวยผม ชฎา สาแหรก เครื่องบูชาไฟ ลอยน้ำไปแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว จึงซบศีรษะลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วจึงได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าบ้าง.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วตรัสอีกว่า ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด.
               พระวาจานั้นแลได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น.
               คยากัสสปชฎิลได้เห็นแล้วซึ่งมวยผม ชฎา สาแหรก เครื่องบูชาไฟ อันลอยน้ำมา ครั้นเขาได้เห็นแล้วจึงได้มีความคิดว่า อันตรายจะมีแก่พี่ชายทั้งสองของเราแน่นอน แล้วได้ส่งชฎิลไปสืบให้รู้ว่า พวกท่านจงไป จงรู้เรื่องราวแห่งพี่ชายของเราดังนี้ และตนเองพร้อมด้วยพวกชฎิล ๒๐๐ คนจึงพากันเข้าไปหาท่านอุรุเวลกัสสป ครั้นเข้าไปหาแล้วจึงได้กล่าวกะท่านอุรุเวลกัสสปนั้นว่า ข้าแต่พี่กัสสป การทำอย่างนี้ประเสริฐแล้วหรือ.
               ท่านอุรุเวลกัสสปตอบว่า ใช่แล้ว การทำอย่างนี้เป็นสิ่งประเสริฐแน่.
               ลำดับนั้นแล พวกชฎิลเหล่านั้นจึงได้พากันลอยมวยผม ชฎา สาแหรก เครื่องบูชาไฟในน้ำแล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้วจึงได้ซบศีรษะลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วตรัสอีกว่า ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด.
               พระวาจานั้นแลได้เป็นอุปสมบทของท่านผู้มีอายุเหล่านั้น.
                                   ด้วยการอธิษฐานของพระผู้มีพระภาคเจ้า
                         ปาฏิหาริย์ ๓,๕๐๐ วิธี ซึ่งมีโดยนัยนี้คือ พวกชฎิล
                         ผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อนไม่ออก พอผ่าฟืนออกแล้ว ก็
                         ก่อไฟไม่ติด พอก่อไฟติดแล้ว จะดับไฟก็ดับไม่ได้
                         ครั้นพอดับไฟได้แล้ว ก็ทรงนิรมิตเชิงกราน ๕๐๐
                         ที่ให้.
                                   ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ
                         อยู่ในอุรุเวลาตามความพอพระทัย ทรงพร้อมกับ
                         ภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ร่วมกับปราณชฎิลทั้งหมด
                         ๑,๐๐๐ คน เสด็จหลีกจาริกไปยังคยาสีสะประเทศ
                                   ได้ทราบว่า ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า
                         ประทับอยู่ ณ คยาสีสะประเทศ ใกล้แม่น้ำคยา
                         พร้อมกับภิกษุจำนวน ๑,๐๐๐.
                                   ในกาลนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัส
                         เตือนภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวง
                         เป็นของร้อน ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเล่า ชื่อว่า
                         สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ภิกษุทั้งหลาย จักษุเป็น
                         ของร้อน รูปทั้งหลายก็เป็นของร้อน วิญญาณ
                         อาศัยจักษุก็เป็นของร้อน.
                                   จักษุสัมผัสก็เป็นของร้อน ความเสวย
                         อารมณ์นี้เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย แม้
                         อันใด เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข
                         ก็ดี แม้อันนั้นก็เป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร
                         ร้อนเพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ
                         ร้อนเพราะความเกิด เพราะความแก่ และเพราะ
                         ความตาย เพราะความเศร้าโศก เพราะความคร่ำ
                         ครวญ เพราะความทุกข์ เพราะความโทมนัส
                         เพราะความคับแค้นใจ เราจึงกล่าวว่าเป็นของ
                         ร้อน.
                                   โสตเป็นของร้อน เสียงทั้งหลายก็เป็น
                         ของร้อน ฯลฯ ฆานะเป็นของร้อน กลิ่นทั้งหลาย
                         ก็เป็นของร้อน ฯลฯ ลิ้นเป็นของร้อน รสก็เป็น
                         ของร้อน ฯลฯ กายเป็นของร้อน โผฏฐัพพะก็
                         เป็นของร้อน ฯลฯ ใจเป็นของร้อน ธรรมทั้งหลาย
                         ก็เป็นของร้อน
                                   มโนวิญญาณก็เป็นของร้อน มโนสัมผัส
                         ก็เป็นของร้อน ความเสวยอารมณ์นี้เกิดขึ้นเพราะ
                         มโนสัมผัสเป็นปัจจัยแม้อันใดเป็นสุขก็ดี เป็น
                         ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี แม้อันนั้นก็เป็น
                         ของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ
                         เพราะไฟคือโทสะ เพราะไฟคือโมหะ ร้อนเพราะ
                         ความเกิด เพราะความแก่ และความตาย เพราะ
                         ความเศร้าโศก เพราะความคร่ำครวญ เพราะ
                         ความทุกข์ เพราะความโทมนัส เพราความคับ
                         แค้นใจ เราจึงกล่าวว่าเป็นของร้อนแล.
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้เห็น
                         ได้ฟังแล้วอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในจักษุ ย่อม
                         เบื่อหน่ายในรูป ย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณที่
                         อาศัยจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายในสัมผัสอาศัยจักษุ
                         ความเสวยอารมณ์นี้ เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสแม้
                         อันใด เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่
                         สุขก็ดี ย่อมเบื่อหน่ายในความเสวยอารมณ์นั้น
                         ย่อมเบื่อหน่ายในโสต ย่อมเบื่อหน่ายในกลิ่น ฯลฯ
                         ย่อมเบื่อหน่ายในฆานะ ย่อมเบื่อหน่ายในกลิ่น ฯลฯ
                         ย่อมเบื่อหน่ายในชิวหา ย่อมเบื่อหน่ายในรสทั้งหลาย
                         ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน
                         โผฏฐัพพะ ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ ย่อมเบื่อ
                         หน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน
                         โผฏฐัพพะ ฯลฯ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ ย่อมเบื่อ
                         หน่ายแม้ในธรรมทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ใน
                         มโนวิญญาณ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในมโนสัมผัส
                                   ความเสวยอารมณ์นี้เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัส
                         เป็นปัจจัยแม้อันใด เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี ไม่ใช่
                         ทุกข์ ไม่ใช่สุขก็ดี ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวย
                         อารมณ์นั้น เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายความกำหนัด
                         เพราะคลายความกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิต
                         หลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
                                   พระอริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดว่าชาติสิ้น
                         แล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจอื่นที่ควรทำได้
                         ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้
                         มีอีกต่อไป ดังนี้.
               ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังตรัสไวยากรณ์นี้อยู่ จิตของภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปนั้นก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นแล.
               เพราะได้ฟังอาทิตตปริยายเทศนาอย่างนี้ พระนทีกัสสปเถระจึงได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๕ เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อน จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า ปทุมมุตฺตรสฺส ภควโต ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บท อคฺคผลํ คือ ผลอันสูงสุด หรือผลที่ตนเก็บเอาในครั้งแรกแห่งต้นมะม่วงที่ตนเองได้ปลูกไว้.
               คำที่เหลือมีเนื้อความพอที่จะกำหนดรู้ได้โดยง่ายทีเดียวแล.
               จบอรรถกถานทีกัสสปเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

               เนื้อความในพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=33&siri=142

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๕. ภัททิยวรรค ๑๐. จูฬสุคันธเถราปทาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗] [๘] [๙] [๑๐] [๑๑] [๑๒]
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 139อรรถกถา เล่มที่ 33.1 ข้อ 140อ่านอรรถกถา 33.1 / 141อ่านอรรถกถา 33.1 / 180
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=3969&Z=4056
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=7129
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=7129
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :