ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 127อรรถกถา เล่มที่ 33.1 ข้อ 128อ่านอรรถกถา 33.1 / 129อ่านอรรถกถา 33.1 / 180
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๔. กัจจายวรรค
๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน

               ๕๓๘. อรรถกถาอุรุเวลกัสสปเถราปทาน               
               พึงทราบเรื่องราวในอปทานที่ ๘ ดังต่อไปนี้ :-
               อปทานของท่านพระอุรุเวลกัสสปเถระ อันมีคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตโร นาม ชิโน ดังนี้.
               แม้พระเถระรูปนี้ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านบังเกิดในเรือนอันมีสกุล เจริญวัยแล้ว ได้ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ได้มองเห็นภิกษุรูปหนึ่งซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้มีบริวารมาก แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้ถวายมหาทาน กระทำปณิธานไว้แล้ว.
               และพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นว่าเขาไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาล ในพระศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า เขาจักเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้มีบริวารมาก.
               เขากระทำบุญไว้ในภพนั้นเป็นอันมากจนตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ในที่สุด ๙๒ กัปแต่กัปนี้ ได้บังเกิดเป็นพระกนิษฐภาดาต่างพระมารดาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าผุสสะ เขาได้มีกนิฏฐภาดา ๒ คนแม้เหล่าอื่น.
               คน ๓ คนเหล่านั้นได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข บูชาด้วยเครื่องบูชาอย่างยอดเยี่ยมได้กระทำกุศลไว้จนตลอดชีวิตแล้วท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ได้บังเกิดเป็นพี่น้องกัน ๓ คนในตระกูลพราหมณ์ ในกรุงพาราณสี ก่อนหน้าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายทรงอุบัติขึ้นทีเดียว
               ทั้ง ๓ คนได้มีชื่ออย่างนี้ว่ากัสสปะ ด้วยอำนาจแห่งโคตร. คนทั้ง ๓ คนเหล่านั้นเจริญวัยแล้วก็ได้เล่าเรียนจบไตรเพท.
               บรรดาคนทั้ง ๓ เหล่านั้น คนพี่ชายใหญ่มีบริวาร ๕๐๐ คน คนกลางมีบริวาร ๓๐๐ คน คนน้องเล็กมีบริวาร ๒๐๐ คน. คนทั้ง ๓ นั้นตรวจดูสารถประโยชน์ในคัมภีร์ทั้งหมดของตน ได้เห็นแต่เพียงประโยชน์ปัจจุบันเท่านั้น จึงพากันยินดีการบวช.
               บรรดาพี่น้อง ๓ คนนั้น คนพี่ใหญ่ได้ไปยังตำบลอุรุเวลาพร้อมกับบริวารของตน บวชเป็นฤๅษี ได้ปรากฏชื่อว่าอุรุเวลกัสสปะ. คนกลางบวชอยู่ที่ทางโค้งแม่น้ำคงคา ปรากฏชื่อว่านทีกัสสปะ. คนเล็กบวชอยู่ที่คยาสีสะได้ปรากฏชื่อว่าคยากัสสปะ.
               เมื่อพี่น้อง ๓ คนนั้นได้บวชเป็นฤๅษีอย่างนั้น ต่างก็อยู่กันในที่นั้นๆ โดยล่วงไปได้หลายวัน.
               พระโพธิสัตว์ของพวกเราได้เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไปแล้วโดยลำดับ ทรงให้พระเถระปัญจวัคคีย์ ดำรงอยู่แล้วในพระอรหัต ทรงแนะนำคน ๕๕ คนซึ่งเป็นสหายกันอันมียสกุลบุตรเป็นหัวหน้า (ให้ดำรงอยู่ในพระอรหัต) ทรงส่งพระอรหันต์ ๖๐ องค์ไปด้วยพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวจาริกไปเถิด ดังนี้แล้ว ทรงแนะนำพวกภิกษุภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป แล้วได้เสด็จไปยังที่อยู่ของอุรุเวลกัสสปะ เสด็จเข้าไปยังโรงไฟเพื่อพักอาศัย ณ ที่นั้น ได้ทรงแนะนำอุรุเวลกัสสปะพร้อมทั้งบริวาร ด้วยปาฏิหาริย์ ๓,๕๐๐ มีการทรมานนาคเป็นต้นเสร็จแล้ว จึงให้เขาได้บรรพชา.
               วิธีการบรรพชาของอุรุเวลกัสสปะนั้นและการกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ทั้งหมดจักมีแจ่มแจ้งในอรรถกถาอปทานของท่านนทีกัสสปะแล.
               แม้ถึงพี่น้องที่เหลืออีก ๒ คนนอนกนี้ พอได้ทราบข่าวว่าอุรุเวลกัสสปะผู้พี่ใหญ่นั้นบวชแล้ว ต่างก็พร้อมด้วยบริวาร พากันมาบวชในสำนักของพระศาสดาแล้ว. พี่น้อง ๓ คนทั้งหมดนั้นทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ได้เป็นเอหิภิกขุแล้ว. พระศาสดาทรงพาสมณะ ๑,๐๐๐ องค์นั้น เสด็จไปยังคยาสีสะ ประทับนั่งบนแผ่นหิน ทรงให้สมณะทั้งหมดนั้นดำรงอยู่ในพระอรหัต ด้วยพระอาทิตตปริยายเทศนา.
               พระอุรุเวลกัสสปะนั้นพอได้บรรลุพระอรหัตแล้วอย่างนั้น เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อนของตน จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตโร นาม ชิโน ดังนี้.
               ข้าพเจ้าจักพรรณนาเฉพาะบทที่ยากเท่านั้นแล.
               บทว่า โส จ สฬพํ ตมํ หนฺตฺวา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าผุสสะ พระองค์นั้นทรงกำจัดได้แล้วซึ่ง มหาชฏํ ความว่า สะสาง ทำลายล้างผลาญชัฏเครื่องยุ่งกันใหญ่ ด้วยหมู่แห่งกิเลส ๑,๕๐๐ มีตัณหาและมานะเป็นต้น.
               มีวาจาประกอบความว่า
               ทำเทวโลกคือโลกสันนิวาสทั้งสิ้นให้ยินดี ให้อิ่มใจ ให้ชุ่มใจอยู่ ยังฝนคืออมตะมหานิพพานให้ตกลงไหลเอิบอาบแล.
               บทว่า ตทา หิ พาราณสิยํ มีอรรถวิเคราะห์ว่า
               คำว่า พารส แปลว่า ๑๒ ดุจในประโยคเป็นต้นว่า มนุษย์ ๑๒ คน เมืองที่มี ๑๒ ราศี ฤๅษีจากหิมวันตประเทศ และฤๅษีคือพระปัจเจกมุนีมาจากภูเขาคันธมาทน์โดยทางอากาศ ย่อมพากันไป คือหยั่งลง ได้แก่ย่อมเข้าไปในเมืองที่มี ๑๒ ราศีนั้น เหตุนั้น เมืองนั้นจึงชื่อว่าพาราณสี.
               อีกความหมายหนึ่งว่า สถานที่อันบุคคลคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลายแสนพระองค์ทรงหยั่งลงเพื่อประกาศพระธรรมจักรให้เป็นไปทั่ว.
               บัณฑิตเรียกกันว่าพาราณสี ด้วยอำนาจทางศัพท์เป็นอิตถีลิงค์ เพราะว่า นครศัพท์ให้เป็นลิงควิปลาส. ในพระนครพาราณสีนั้น.
               บทว่า นิกฺขิตฺตสตฺถํ ปจฺจนฺตํ ความว่า ทำปัจจันตชนบทให้ทิ้งศัสตรา ให้วางอาวุธ ให้สิ้นพยศ.
               บทว่า กตฺวา ปุนรุปจิจ ตํ ความว่า แล้วกลับเข้ามาถึงยังพระนครนั้นอีก.
               คำที่เหลือมีเนื้อความพอที่จะกำหนดรู้ได้โดยง่ายทีเดียวแล.
               จบอรรถกถาอุรุเวลกัสสปเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ ๕๔. กัจจายวรรค ๘. อุรุเวลกัสสปเถราปทาน จบ.
อ่านอรรถกถา 33.1 / 1อ่านอรรถกถา 33.1 / 127อรรถกถา เล่มที่ 33.1 ข้อ 128อ่านอรรถกถา 33.1 / 129อ่านอรรถกถา 33.1 / 180
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=3212&Z=3297
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=6362
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=6362
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๕  กรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :