ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 3อ่านอรรถกถา 32 / 4อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๓. สารีปุตตเถราปทาน (๑)

หน้าต่างที่ ๒ / ๓.

               พระดาบสครั้นแสดงสมบัติแห่งอาศรมของตน ด้วยลำดับคำมีประมาณเท่านี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงคุณสมบัติมีศีลเป็นต้นของตน จึงกล่าวว่า
                         ในกาลนั้น เราเป็นดาบสชื่อสุรุจิ มีศีลสมบูรณ์ด้วยวัตร
                         เพ่งฌาน ยินดีในฌาน บรรลุอภิญญาพละ ๕.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลวา ความว่า สมบูรณ์ด้วยศีล ๕ เช่นปาริสุทธิศีล ๔ อันประกอบพร้อมด้วยฌาน.
               บทว่า วตฺตสมฺปนฺนา ความว่า บริบูรณ์ด้วยการสมาทานวัตรว่า ตั้งแต่นี้ไป เราจักไม่เสพฆราวาสและกามคุณ ๕.
               บทว่า ฌายี ได้แก่ ผู้มีปกติเพ่ง คือมีการเพ่งเป็นปกติ ด้วยลักขณูนิชฌานและอารัมมณูนิชฌาน.
               บทว่า ฌานรโต ความว่า ยินดีแล้ว คือเร้นอยู่ ได้แก่ สมบูรณ์อยู่ทุกเมื่อในฌานทั้งหลายเหล่านี้.
               บทว่า ปญฺจาภิญฺญาพลสมฺปนโน ความว่า สมบูรณ์ด้วยพละ.
               อธิบายว่า บริบูรณ์ด้วยอภิญญา คือปัญญาพิเศษ ๕ ประการ คืออิทธิวิธะ แสดงฤทธิ์ได้ ทิพพโสตะ หูทิพย์ ปรจิตตวิชานนะ รู้ใจคนอื่น ปุพเพนิวาสานุสสติ ระลึกชาติก่อนได้ ทิพพจักขุ ตาทิพย์.
               เชื่อมความว่า เราเป็นดาบส โดยชื่อว่าสุรุจิ อยู่.
               ครั้นแสดงคุณสมบัติของตนด้วยคำมีประมาณเท่านี้แล้ว เมื่อจะแสดงปริสสมบัติ คือความสมบูรณ์ด้วยบริษัท จึงกล่าวคำมีอาทิว่า
                         ศิษย์ของเราทั้งหมดนี้ เป็นพราหมณ์ ๒๔,๐๐๐ คน
                         มีชาติ มียศ บำรุงเราอยู่.

               ในคาถานั้น เชื่อมความว่า ศิษย์ของเราทั้งหมดนี้เป็นพราหมณ์ ๒๔,๐๐๐ คน มีชาติคือสมบูรณ์ด้วยชาติกำเนิด มียศคือสมบูรณ์ด้วยบริวาร บำรุงเราอยู่.
                         มวลศิษย์ของเรานี้ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์
                         ในตำราทำนายลักษณะ และในคัมภีร์อิติหาสะ พร้อมทั้ง
                         คัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกฏุภะ ถึงความเต็มเปี่ยมใน
                         ธรรมของตน.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลกฺขเณ ได้แก่ ในตำราทำนายลักษณะ. ย่อมรู้ลักษณะของสตรีและบุรุษชาวโลกีย์ทั้งปวงว่า ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้จะมีทุกข์ ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้จะมีสุข. ตำราอันประกาศลักษณะนั้น ชื่อว่าลักขณะ. ในตำราทายลักษณะนั้น.
               บทว่า อิติหาเส ได้แก่ ในตำราอันแสดงเฉพาะคำที่พูดว่า เรื่องนี้เป็นแล้วอย่างนี้ เรื่องนี้เป็นแล้วอย่างนี้.
               เชื่อมความว่า ถึงความเต็มเปี่ยมคือที่สุดในตำราทายลักษณะและตำราอิติหาสะ. ตำราอันประกาศชื่อต้นไม้และภูเขาเป็นต้น เรียกว่านิฆัณฑุ.
               บทว่า เกฏุเภ ได้แก่ ตำราว่าด้วยการกำหนดใช้คำกิริยา อันเป็นอุปการะแก่กวีทั้งหลาย.
               ชื่อว่าสนิฆัณฑุ เพราะเป็นไปกับด้วยคัมภีร์นิฆัณฑุ. ชื่อว่าสเกฏุกะ เพราะเป็นไปกับด้วยคัมภีร์เกฏุภะ.
               เชื่อมความว่า ถึงความสำเร็จในไตรเพทอันเป็นไปกับด้วยคัมภีร์นิฆัณฑุและเกฏุภะนั้น.
               บทว่า ปทกา ได้แก่ ผู้ฉลาดในบทนาม สมาส ตัทธิต อาขยาตและกิตก์เป็นต้น.
               บทว่า เวยฺยากรณา ได้แก่ ผู้ฉลาดในพยากรณ์มีจันทปาณินียกลาปะเป็นต้น.
               อธิบายว่า สธมฺเม ปารมึ คตา ความว่า ถึงคือบรรลุความเต็มเปี่ยม คือที่สุดในธรรมของตน คือในธรรมของพราหมณ์ ได้แก่ไตรเพท.
                         ศิษย์ทั้งหลายของเรา เป็นผู้ฉลาดในลางดีร้าย ในนิมิต
                         และในลักษณะ ศึกษาดีแล้วในแผ่นดิน พื้นที่และอากาศ.
               พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้นต่อไป :-
               เป็นผู้ฉลาดคือเฉลียวฉลาดในลางดีร้ายมีอุกกาบาต คือดวงไฟตกและแผ่นดินไหวเป็นต้น ในนิมิตดีและนิมิตร้าย และในอิตถีลักษณะ ปุริสลักษณะและมหาปุริสลักษณะ.
                                   ศิษย์ทั้งหลายของเราศึกษาดีแล้วในสิ่งทั้งปวง คือ
                         ในแผ่นดิน ในพื้นที่ และในกลางหาว คืออากาศ.
                                   ศิษย์เหล่านี้เป็นผู้มักน้อย มีปัญญา มีอาหารน้อย
                         ไม่โลภ สันโดษด้วยลาภและความเสื่อมลาภ ห้อมล้อม
                         เราอยู่ทุกเมื่อ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปิจฺฉา ได้แก่ ผู้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารแม้มีประมาณน้อย.
               บทว่า นิปกา คือ เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา กล่าวคือปัญญาเครื่องรักษาตน.
               บทว่า อปฺปาหารา ได้แก่ มีอาหารมื้อเดียว. อธิบายว่า บริโภคภัตมื้อเดียว.
               บทว่า อโลลุปา ได้แก่ เป็นผู้ไม่เป็นไปด้วยตัณหาคือความอยาก.
               บทว่า ลาภาลาเภน ความว่า ศิษย์ทั้งหลายของเราเหล่านี้สันโดษ คือมีความพอใจด้วยลาภและความไม่มีลาภ ห้อมล้อมคือบำรุงเราอยู่ทุกเมื่อ คือเป็นนิตยกาล.
                                   (ศิษย์ของเรา) เป็นผู้เพ่งฌาน ยินดีในฌาน เป็น
                         นักปราชญ์ มีจิตสงบ มีใจตั้งมั่น ปรารถนาความไม่มี
                         กังวล ห้อมล้อมเราอยู่ทุกเมื่อ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฌายี คือ ประกอบด้วยลักขณูปนิชฌานและในอารัมมณูปนิชฌาน.
               อีกอย่างหนึ่ง แปลว่า ผู้มีปกติเพ่ง.
               บทว่า ฌานรตา ได้แก่ เป็นผู้ยินดี คือแนบแน่นในฌานเหล่านั้น.
               บทว่า ธีรา ได้แก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา เครื่องทรงจำ.
               บทว่า สนฺตจิตฺตา แปลว่า ผู้มีใจสงบ.
               บทว่า สมาหิตา ได้แก่ ผู้มีจิตแน่วแน่.
               บทว่า อากิญฺจญฺญํ ได้แก่ ความเป็นผู้ไม่มีปลิโพธกังวล.
               บทว่า ปตฺถยนฺตา แปลว่า ปรารถนาอยู่.
               เชื่อมความว่า ศิษย์ทั้งหลายของเราถึงซึ่งความเป็นอย่างนี้ ห้อมล้อมเราอยู่ทุกเมื่อ.
                                   (ศิษย์ของเรา) บรรลุอภิญญาบารมี คือความยอดเยี่ยม
                         แห่งอภิญญา ยินดีในโคจร คืออาหารอันเป็นของมีอยู่ของ
                         บิดา ท่องเที่ยวไปในอากาศ มีปัญญา ห้อมล้อมเราอยู่ทุกเมื่อ.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิญฺญาปารมิปฺปตฺตา ความว่า บรรลุความเต็มเปี่ยม คือที่สุดในอภิญญา ๕ ได้แก่ ทำให้บริบูรณ์แล้ว.
               บทว่า เปตฺติเก โคจเร รตา ความว่า ยินดีแล้วในอาหารที่ได้ด้วยการไม่วิญญัติ คือการไม่ขอ อันเป็นพุทธานุญาต.
               บทว่า อนฺตลิกฺขจรา ความว่า ไปและมาทางห้วงเวหา คืออากาศ.
               บทว่า ธีรา ความว่า เป็นผู้มั่นคง คือมีสภาวะไม่หวั่นไหวในอันตรายมีสีหะ และพยัคฆ์เป็นต้น. อธิบายความว่า หมู่ดาบสของเราเป็นแล้วอย่างนี้ ห้อมล้อมเราอยู่ทุกเมื่อ.
                                   หมู่ศิษย์ของเราเหล่านั้นสำรวมทวาร ๖ ไม่หวั่นไหว
                         รักษาอินทรีย์ ไม่คลุกคลี เป็นนักปราชญ์ หาผู้ทัดเทียม
                         ได้ยาก.

               ในคาถานั้นมีความว่า สำรวมแล้ว คือกั้นแล้ว ได้แก่ปิดแล้วในทวาร ๖ มีจักขุทวารเป็นต้น และในอารมณ์ ๖ มีรูปารมณ์เป็นต้น. อธิบายว่า เป็นผู้รักษาและคุ้มครองทวาร.
               บทว่า ทุราสทา แปลว่า เข้าถึงยาก อธิบายว่า ไม่อาจ คือไม่สมควรเข้าไปใกล้ คือกระทบกระทั่ง.
                                   ศิษย์ของเราเหล่านั้นหาผู้ทัดเทียมได้ยาก ยับยั้งอยู่
                         ตลอดราตรี ด้วยการนั่งคู้บัลลังก์ ด้วยการยืน และการจงกรม.

               ในคาถานั้น เชื่อมความว่า ศิษย์ทั้งหลายของเรายังราตรีทั้งสิ้นให้น้อมล่วงไป คือให้ก้าวล่วงไปโดยพิเศษ ด้วยการนั่งคู้บัลลังก์ คือนั่งให้ขาอ่อนเนื่องกัน เว้นการนอน ด้วยการยืน และด้วยการจงกรม.
                                   ศิษย์ทั้งหลายของเราเข้าใกล้ได้ยาก ไม่กำหนัดใน
                         อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่ขัดเคืองในอารมณ์
                         เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง ไม่หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่ง
                         ความหลง.

               อธิบายความในคาถานั้นว่า
               หมู่ศิษย์ของเราคือดาบสเหล่านั้นถึงซึ่งอาการอย่างนี้ ย่อมไม่กำหนัดคือไม่ทำความกำหนัดให้เกิดขึ้นในวัตถุอันน่ากำหนัด คืออันควรกำหนัด, ไม่ขัดเคืองคือไม่ทำความขัดเคืองในวัตถุที่น่าขัดเคือง คือควรขัดเคือง ได้แก่ ควรทำความขัดเคืองให้เกิดขึ้น, ไม่หลงคือไม่ทำความหลงในวัตถุอันน่าหลง คือควรให้หลง. อธิบายว่า เป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยปัญญา.
                                   ศิษย์เหล่านั้นทดลองการแผลงฤทธิ์ ประพฤติอยู่
                         ตลอดกาลเป็นนิจ ศิษย์เหล่านั้นทำแผ่นดินให้ไหว ยาก
                         ที่ใครจะแข่งได้.

               เชื่อมความว่า ศิษย์ของเราเหล่านั้นทดลองประพฤติอยู่เป็นนิตยกาลซึ่งการแผลงฤทธิ์มีอาทิว่า คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้.
               อธิบายว่า ศิษย์ของเราเหล่านั้นนิรมิตแผ่นดินในอากาศบ้าง ในน้ำบ้าง แล้วทำอิริยาบถให้สั่นไหว.
               อธิบาย (บท สารมฺเภน) ว่า อันใครๆ ไม่พึงได้ด้วยการแข่งดี คือด้วยการถือเอาเป็นคู่ คือด้วยการกระทำการทะเลาะ.
                                   ศิษย์ของเราเหล่านั้น เมื่อจะเล่นย่อมเล่นฌาน
                         ไปนำเอาผลหว้าจากต้นหว้ามา หาผู้เข้าถึงได้ยาก.

               อธิบายว่า ศิษย์ของเราเหล่านั้นเมื่อเล่นกีฬา คือเล่น ได้แก่ยินดีการเล่นปฐมฌานเป็นต้น.
               บทว่า ชมฺพุโต ผลมาเนนฺติ ความว่า ไปด้วยฤทธิ์แล้วนำเอามาซึ่งผลหว้าประมาณเท่าหม้อ จากต้นหว้าสูงร้อยโยชน์ ในหิมวันตประเทศ.
                                   ศิษย์พวกหนึ่งไปอปรโคยานทวีป พวกหนึ่งไป
                         ปุพพวิเทหทวีป พวกหนึ่งไปอุตตรกุรุทวีป ศิษย์เหล่า
                         นั้นไม่มีผู้ทัดเทียมด้วยการแสวงหา.

               เชื่อมความในคาถาว่า ระหว่างศิษย์ของเราเหล่านั้น ศิษย์อื่นคือพวกหนึ่งไปทวีปโคยาน คืออปรโคยานทวีป พวกหนึ่งไปปุพพวิเทหทวีป พวกหนึ่งไปอุตตรกุรุทวีป, ศิษย์เหล่านั้นหาผู้เข้าถึงได้ยาก ย่อมไปหาคือแสวงหา ได้แก่แสวงหาปัจจัยในสถานที่เหล่านี้.
                                   ศิษย์เหล่านั้นส่งหาบไปข้างหน้า ส่วนตนเอง
                         ไปข้างหลัง ท้องฟ้าถูกดาบส ๒๔,๐๐๐ บดบังไว้.

               ความในคาถาว่า ศิษย์ของเราเหล่านั้นเมื่อไปทางอากาศ ส่งหาบคือกระเช้าอันเต็มด้วยบริขารดาบส ก็ครั้นส่งหาบนั้นไปข้างหน้าก่อนแล้ว ตนเองไปข้างหลังหาบนั้น.
               เชื่อมความ (ในบาทคาถาต่อมา) ว่า ท้องฟ้าคือพื้นอากาศมีดาบส ๒๔,๐๐๐ ผู้ไปอยู่อย่างนั้น บดบังไว้คือปิดบังไว้.
                                   ศิษย์บางพวกปิ้งให้สุกด้วยไฟ บางพวกกินดิบๆ
                         บางพวกเอาฟันแทะกิน บางพวกซ้อมด้วยครกกิน บาง
                         พวกทุบด้วยหินกิน บางพวกกินผลไม้ที่หล่นเอง.

               ในคาถานั้นมีการเชื่อมความว่า
               ศิษย์ของเราบางเหล่าคือบางพวกปิ้งไฟคือเผาผลาผลและผักเป็นต้นแล้วจึงกิน, บางพวกไม่ปิ้งไฟคือไม่ปิ้งให้สุกด้วยไฟ กินทั้งดิบๆ, บางพวกเอาฟันนั่นแหละแทะเปลือกกิน. บางพวกตำด้วยครกคือใช้ครกตำกิน บางพวกทุบด้วยหินคือเอาหินทุบกิน บางพวกกินผลไม้ที่หล่นเอง.
                                   ศิษย์ของเราบางพวกชอบสะอาด ลงอาบน้ำทั้งเช้า
                         และเย็น บางพวกเอาน้ำราดรดตัว หาผู้เข้าถึงได้ยาก.

               ความของคาถาว่า ศิษย์ทั้งหลายของเราหาผู้เข้าถึงได้ยาก บางพวกชอบสะอาดคือต้องการความบริสุทธิ์ ลงอาบน้ำ คือเข้าไปในน้ำทั้งเช้าและเย็น. บางพวกเอาน้ำราดรดตัว. อธิบายว่า ทำการรดที่ตัวด้วยน้ำ.
                                   ศิษย์ทั้งหลายของเราหาผู้ทัดเทียมมิได้ ปล่อยเล็บมือ
                         เล็บเท้าและขนรักแร้งอกยาว ขี้ฟันเขลอะ มีธุลีบนเศียร แต่
                         หอมด้วยกลิ่นศีล.

               ความในคาถานั้นว่า ศิษย์ของเราเหล่านั้นหาผู้ทัดเทียมมิได้ มีเล็บและขนยาวงอกคือเกิดที่รักแร้ทั้งสอง และที่มือและเท้า. อธิบายว่า ไม่ประดับไม่ตกแต่ง เพราะเว้นจากขุรกรรม คือโกนด้วยมีดโกน.
               บทว่า ปงฺกทนฺตา ความว่า มีมลทินจับที่ฟัน เพราะไม่ได้กระทำให้ขาวด้วยผงอิฐหรือผงหินน้ำนม.
               บทว่า รชสฺสิรา ได้แก่ มีศีรษะเปื้อนธุลี เพราะเว้นจากการทาน้ำมันเป็นต้น.
               บทว่า คนฺธิตา สีลคนฺเธน ความว่า เป็นผู้มีกลิ่นหอมไปในที่ทุกแห่งด้วยกลิ่นโลกียศีล เพราะเป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยศีลอันประกอบด้วยฌาน สมาธิและสมาบัติทั้งหลาย.
               ในบทว่า มม สิสฺสา ทุราสทา มีความว่า ศิษย์ทั้งหลายของเรา ใครๆ ไม่อาจเข้าถึง คือกระทบได้ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยคุณมีประการดังกล่าวแล้วนี้.
                                   ชฎิลทั้งหลายมีตบะแรงกล้า ประชุมกันเวลาเช้า
                         แล้วไปประกาศลาภน้อยลาภมากในท้องฟ้าในกาลนั้น.

               บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า ปาโตว สนฺนิปติตฺวา นี้ โต ปัจจัยลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ. อธิบายว่า เป็นหมวดหมู่กันอยู่ในสำนักของเราในเวลาเช้าตรู่ทีเดียว.
               ชฎิล คือดาบสผู้สวมชฎา มีตบะกล้า คือมีตบะปรากฏ ได้แก่มีตบะแผ่ไปแล้ว.
               เชื่อมความในตอนนี้ว่า ชฎิลทั้งหลายประกาศลาภน้อยลาภใหญ่ คือกระทำลาภเล็กและลาภใหญ่ให้ปรากฏ ในครั้งนั้น คือในกาลนั้น จึงไปในอัมพรคือพื้นอากาศ.
               สุรุจิดาบสเมื่อจะประกาศคุณทั้งหลายเฉพาะของดาบสเหล่านั้นอีก จึงกล่าวคำว่า เอเตสํ ปกฺกมนฺตานํ ดังนี้เป็นต้น.
               ในคำนั้นมีความว่า เสียงดังอันเกิดจากผ้าคากรองของดาบสเหล่านี้ ผู้หลีกไปคือผู้ไปอยู่ในอากาศหรือบนบก ย่อมสะพัดไป.
               ในบทว่า มุทิตา โหนฺติ เทวตา นี้ เชื่อมความว่า เพราะเสียงหนังเสือของเหล่าดาบสผู้ทำเสียงดังให้สะพัดไปอยู่อย่างนั้น เทวดาทั้งหลายจึงยินดี เกิดความโสมนัสว่า สาธุ สาธุ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ยินดีคือพอใจด้วย.
               ในบทว่า ทิโส ทิสํ นี้ เชื่อมความว่า ฤาษีเหล่านั้นไปในห้องกลางหาว คือเที่ยวไปในอากาศเป็นปกติ ย่อมหลีกไปคือไปยังทิศใหญ่และทิศน้อย.
               ในบทว่า สเก พเลนุปตฺตทฺธา นี้เชื่อมความว่า เป็นผู้ประกอบด้วยกำลังร่างกาย และกำลังฌานของตน ย่อมไปในที่ที่ประสงค์จะไปตามความต้องการ.
               เมื่อจะประกาศอานุภาพเฉพาะของดาบสเหล่านั้นอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปฐวี กมฺปกา เอเต ดังนี้.
                                   ในกาลนั้น ดาบสเหล่านั้น มีความต้องการเที่ยวไป
                         ในที่ทุกแห่ง ทำแผ่นดินให้ไหว คือทำเมทนีให้เคลื่อนไหว
                         มีปกติเที่ยวไปในท้องฟ้า คือมีปกติเที่ยวไปในอากาศ.

               บทว่า อุคฺคเตชา เป็นต้น ความว่า มีเดชพลุ่งขึ้น คือมีเดชแพร่สะพัดไป ผู้ข่มขี่ได้ยาก คือไม่อาจข่มขี่ คือครอบงำเป็นไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้ข่มได้ยาก.
               ในบทว่า สาคโรว อโขภิยา นี้ เชื่อมความว่า เป็นผู้อันคนอื่นให้กระเพื่อมไม่ได้ คือไม่อาจให้หวั่นไหวได้ เหมือนสาคร คือเหมือนสมุทรอันคนอื่นให้กระเพื่อมไม่ได้ คือให้ขุ่นไม่ได้.
               ในบทว่า ฐานจงฺกมิโน เกจิ นี้ เชื่อมความว่า ในระหว่างศิษย์ของเราเหล่านั้น ฤาษีบางพวกถึงพร้อมด้วยอิริยาบถยืน และอิริยาบถจงกรม ฤาษีบางพวกถือการนั่งเป็นวัตร คือถึงพร้อมด้วยอิริยาบถนั่ง ฤาษีบางพวกกินปวัตตโภชนะ คือกินใบไม้ที่หล่นเอง ชื่อว่ายากที่จะหาผู้ทัดเทียม เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยคุณทั้งหลายเห็นปานนี้.
               เมื่อจะชมเชยดาบสทั้งหมดนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เมตฺตาวิหาริโน ดังนี้.
               ในคำนั้นมีเนื้อความว่า
               ศิษย์ของเราเหล่านี้ชื่อว่ามีปกติอยู่ด้วยเมตตา เพราะแผ่เมตตาอันมีความเสน่หาเป็นลักษณะโดยนัยมีอาทิว่า สัตว์หาประมาณมิได้ ในจักรวาลอันหาประมาณมิได้ จงเป็นสุขเถิด ดังนี้แล้วอยู่ คือยังอัตภาพให้เป็นไปอยู่.
               อธิบายว่า ฤาษีเหล่านั้นทั้งหมดเป็นผู้แสวงหาประโยชน์ คือแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์คือสัตว์ทั้งปวง ไม่ยกตนคือไม่ถือตัว ไม่ข่มใครๆ คือคนไรๆ ได้แก่ไม่สำคัญโดยทำให้เป็นคนต่ำกว่า.
               เชื่อมความ (ในคาถานี้) ว่า ศิษย์ของเราเหล่านั้นเป็นผู้ไม่สะดุ้ง คือไม่กลัวดุจราชสีห์ เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยคุณคือศีล สมาธิและสมาบัติ มีเรี่ยวแรง คือถึงพร้อมด้วยกำลังกายและกำลังฌาน ดุจคชราชคือดุจพญาช้าง ยากที่จะเข้าถึงคือไม่อาจกระทบ ดุจพญาเสือโคร่งย่อมมาในสำนักของเรา.
               ลำดับนั้น พระดาบสเมื่อจะประกาศโดยเลศ คือการแสดงอานุภาพของตน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า วิชฺชาธรา ดังนี้.
               ในคำนั้นมีการเชื่อมความว่า วิชาธรมีการท่องมนต์เป็นต้น ภุมเทวดาผู้อยู่ที่ต้นไม้และภูเขาเป็นต้น นาคผู้ตั้งอยู่ในภาคพื้นและผู้ตั้งอยู่บนบก คนธรรพ์ เทพ รากษสผู้ดุร้าย กุมภัณฑเทพ ทานพเทพและครุฑผู้สามารถนิรมิตสิ่งที่ปรารถนาแล้วๆ ย่อมเข้าไปอาศัยสระนั้นเลี้ยงชีวิต. อธิบายว่า อยู่ที่สระนั้น คือที่ใกล้สระ.
               เมื่อจะพรรณนาคุณทั้งหลายของเหล่าดาบสผู้เป็นศิษย์ของตนนั่นแหละแม้อีก จึงกล่าวคำว่า เต ชฏา ขาริภริตา ดังนี้เป็นต้น.
               คำทั้งหมดนั้นมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า ขาริภารํ ได้แก่ บริขารของดาบสมีกระบวยตักน้ำและคนโทน้ำเป็นต้น.
               เมื่อจะประกาศคุณทั้งหลายของตนแม้อีก จึงกล่าวคำว่า อุปฺปาเต สุปิเน จาปิ ดังนี้เป็นต้น.
               ในคำนั้นเชื่อมความว่า
               เพราะถึงความสำเร็จในศิลปะของพราหมณ์ และเพราะเป็นผู้ฉลาดในเรื่องราวของนักษัตร เราถูกใครๆ ถามถึงความเป็นไปในลักษณะแห่งอุปบาตและในสุบินว่า นักขัตฤกษ์ที่ราชกุมารนี้เกิดงามหรือไม่งาม เราเป็นผู้ศึกษามาดีแล้วในการบอกถึงความสำเร็จแห่งสุบินว่า สุบินนี้งาม สุบินนี้ไม่งาม และในการบอกลักษณะมือเท้าของสตรีและบุรุษทั้งปวง ชื่อว่าทรงไว้ซึ่งบทมนต์คือโกฏฐาสของมนต์ทำนายลักษณะทุกอย่าง ซึ่งเป็นไปอยู่ในชมพูทวีปทั้งสิ้นในกาลนั้น คือในกาลที่เราเป็นดาบส.
               เมื่อจะประกาศการพยากรณ์ของตนให้มีพุทธคุณเป็นเบื้องหน้า จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อโนมทัสสี ดังนี้.
               ในคำนั้นเชื่อมความว่า
               ที่ชื่อว่าอโนมะ เพราะไม่ต่ำทราม.
               การเห็นสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยมังสจักษุ ทิพยจักษุ สมันตจักษุ ธรรมจักษุและพุทธจักษุ ชื่อว่าทัสสนะ. ทัศนะของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดไม่ต่ำทราม พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นชื่อว่าอโนมทัสสี. ชื่อว่าภควา เพราะเหตุทั้งหลายมีความเป็นผู้มีภาคยะคือบุญเป็นต้น. ชื่อว่าโลกเชษฐ์ เพราะเป็นผู้เจริญที่สุดและประเสริฐสุดของโลก.
               โคผู้เจริญที่สุดมี ๓ พวก คือโคอุสภะ โคนิสภะและโคอาสภะ.
               ในโค ๓ พวกนั้น โคผู้เป็นจ่าฝูงแห่งโคร้อยตัว ชื่ออุสภะ. โคผู้เป็นจ่าฝูงแห่งโคพันตัว ชื่อว่านิสภะ. โคผู้นำบุรุษที่ประเสริฐสุด, โคผู้เป็นจ่าฝูงแห่งโคแสนตัว ชื่อว่าอาสภะ โคผู้ยิ่งใหญ่,
               นระผู้ยิ่งใหญ่แห่งนรชนทั้งหลาย ชื่อว่านราสภะ, นระผู้แทงตลอดธรรมทั้งปวง ชื่อว่าสัมมาสัมพุทธะ, นระผู้ทรงใคร่ความวิเวก คือผู้ปรารถนาความเป็นผู้เดียว เสด็จเข้าไปยังหิมวันต์คือเขาหิมาลัย.
               บทว่า อชฺโฌคาเหตฺวา หิมวนฺตํ ความว่า หยั่งลง คือเสด็จเข้าไปใกล้เขาหิมวันต์.
               คำที่เหลือง่ายทั้งนั้น.
               เชื่อมความว่า เราได้เห็นพระโลกนายกผู้ประทับนั่งอยู่ รุ่งเรืองคือโชติช่วงดุจดอกบัวเขียว เป็นตั่งแห่งเครื่องบูชายัญ คือเป็นตั่งแห่งเครื่องบูชาเทพคือเครื่องสังเวย สว่างจ้า คือประกอบด้วยรัศมีดังกองไฟโพลงอยู่ในอากาศดุจสายฟ้า บานสะพรั่งดุจพญารัง.
               เทพของเทพทั้งหลาย ชื่อว่าเทวเทวะ. เพราะได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นผู้เป็นเทพของเทพ เราจึงตรวจคือพิจารณาพระลักษณะ คือเหตุเป็นเครื่องให้รู้มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของพระองค์ว่า จะเป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่หนอแล.
               เชื่อมความว่า เราเห็นพระชินเจ้าผู้มีพระจักษุคือผู้มีพระจักษุ ๕ ด้วยเหตุอะไร.
               ความในคาถานี้ว่า
               กำหนึ่งพัน คือจักรลักษณะปรากฏที่พระบาทอันอุดม คือที่พื้นฝ่าพระบาทอันอุดม. เราได้เห็นลักษณะเหล่านั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จึงได้ตกลงคือถึงสันนิษฐาน.
               อธิบายว่า เป็นผู้หมดความสงสัยในพระตถาคต.
               คำที่เหลือง่ายทั้งนั้น.
               ความในคาถานี้ว่า พระสยัมภู คือพระผู้เป็นเอง. ผู้เป็นแดนเกิดแห่งพระคุณนับไม่ได้ คือเป็นแดนเกิดขึ้น ได้แก่เป็นฐานที่ตั้งขึ้นแห่งพระคุณทั้งหลายนับไม่ได้ คือประมาณไม่ได้,
               บททั้งสองนี้เป็นอาลปนะทั้งนั้น พระองค์ทรงรื้อขนชาวโลกนี้ คือสัตวโลกนี้ด้วยดี คือทรงขนขึ้นจากสังสารให้ถึงบนบกคือนิพพาน.
               เชื่อมความว่า มวลสัตว์เหล่านั้นมาสู่ทัสสนะของพระองค์แล้ว ย่อมข้ามคือก้าวล่วงกระแสคือความแคลงใจ ได้แก่โอฆะใหญ่ คือวิจิกิจฉา.
               พระดาบสเมื่อจะสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ตุวํ สตฺถา ดังนี้.
               ในคำนั้นเชื่อมความว่า ข้าแต่พระสัพพัญญูผู้เจริญ พระองค์เป็นศาสดาคือเป็นอาจารย์ของชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก, พระองค์เท่านั้นชื่อว่าเป็นเกตุ คือเป็นของสูง เพราะอรรถว่าสูงสุด, พระองค์เท่านั้นชื่อว่าเป็นธง เพราะอรรถว่าปรากฏในโลกทั้งสิ้น. พระองค์เท่านั้นชื่อว่าเป็นเสา คือเป็นเช่นกับเสาที่ปักไว้ เพราะอรรถว่าสูงขึ้น. พระองค์เท่านั้นเป็นที่อาศัย คือเป็นฐานะที่จะพึงถึงชั้นสูงสุดของสัตว์ทั้งหลายคือของสรรพสัตว์ พระองค์เท่านั้นเป็นที่พึ่งคือเป็นฐานที่พึ่งพิง. พระองค์เท่านั้นชื่อว่าเป็นประทีป คือเป็นดุจประทีปน้ำมัน เพราะกำจัดความมืดคือโมหะของสัตวโลก เป็นผู้สูงสุดกว่าสัตว์ ๒ เท้า คือเป็นผู้สูงสุดประเสริฐสุดแห่งเหล่าเทพ พรหมและมนุษย์ผู้มี ๒ เท้า.
               เมื่อจะสรรเสริญเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้อีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สกฺกา สมุทฺเท อุทกํ ดังนี้.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า ใครๆ อาจประมาณ คือนับน้ำในมหาสมุทรอันลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ได้ด้วยเครื่องตวง ข้าแต่พระสัพพัญญูผู้เจริญ พระญาณของพระองค์ใครๆ ไม่อาจเลยที่จะประมาณ คือนับว่ามีประมาณเท่านี้.
               เชื่อมความว่า ใครๆ วางที่มณฑลตาชั่ง คือที่ช่องตาชั่งแล้วอาจชั่งปฐพีคือดินได้ ข้าแต่พระสัพพัญญูผู้เจริญ พระญาณของพระองค์ ใครๆ ไม่อาจชั่งได้เลย.
               ความในคาถานี้ว่า ข้าแต่พระสัพพัญญูผู้เจริญ อากาศคือห้วงเวหาทั้งสิ้น ใครๆ อาจนับได้ด้วยเชือกหรือนิ้วมือ แต่ญาณได้แก่อากาศ คือญาณของพระองค์ ใครๆ ไม่อาจประมาณคือนับไม่ได้เลย.
               ในบทว่า มหาสมุทฺเท อุทกํ นี้ ความว่า พึงละคือทิ้ง ได้แก่ก้าวล่วงน้ำทั้งสิ้นในสาครลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ และแผ่นดินทั้งสิ้นหนาได้ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ คือพึงทำให้เสมอได้ จะถือเอาพระญาณของพระพุทธเจ้ามาชั่งคือทำให้เสมอ ย่อมไม่ควรด้วยอุปมา คือด้วยอำนาจอุปมา พระญาณเท่านั้นเป็นคุณชาติอันยิ่ง.
               ข้าแต่พระผู้มีจักษุ คือข้าแต่พระผู้มีจักษุด้วยจักษุ ๕ คำนี้เป็นอาลปนะคือคำร้องเรียก.
               โลกเป็นไปกับด้วยเทวดาทั้งหลาย คำนี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ.
               เชื่อมความว่า จิตของสัตว์ทั้งหลายเหล่าใด คือมีประมาณเท่าใด ย่อมเป็นไปในระหว่างโลกพร้อมทั้งเทวโลก สัตว์ทั้งหลายผู้มีจิตเหล่านั้น คือมีประมาณเท่านั้นอยู่ในภายในข่ายคือญาณของพระองค์ คือเข้าไปในภายในข่ายคือพระญาณ.
               อธิบายว่า ทรงเห็นสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยข่ายคือพระญาณ.
               เชื่อมความในคาถานี้ว่า
               ข้าแต่พระสัพพัญญูคือผู้รู้ธรรมทั้งปวงผู้เจริญ พระองค์ทรงถึงคือบรรลุพระโพธิญาณ คือพระนิพพานทั้งสิ้นด้วยพระญาณใดอันสัมปยุตด้วยมรรค ทรงย่ำยีคือครอบงำเดียรถีย์เหล่าอื่นคืออัญเดียรถีย์ทั้งหลาย ด้วยพระญาณนั้น.
               พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลาย เมื่อจะประกาศอาการที่ดาบสนั้นสรรเสริญ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อิมา คาถา ถวิตฺวาน ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิมา คาถา ความว่า ดาบสชื่อว่าสุรุจิโดยชื่อ แต่มาในอรรถกถาที่เหลือว่า สรทมาณพสรรเสริญคือทำการสรรเสริญด้วยคาถาทั้งหลายเหล่านี้.
               บาลีตามอรรถกถานัยนั้นเป็นประมาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสุรุจิ เพราะมีความชอบใจ คืออัธยาศัย ได้แก่นิพพานาลัยงาม, ชื่อว่าสรทะ เพราะแล่นคือไป ได้แก่เป็นไปในการฝึกอินทรีย์. ดังนั้น แม้ทั้งสองอย่างก็เป็นชื่อของดาบสนั้น.
               สุรุจิดาบสนั้นลาดหนังเสือแล้วนั่งบนแผ่นดิน อธิบายว่า สรทดาบสนั่งเว้นโทษของการนั่ง ๖ ประการมีใกล้เกินไปเป็นต้น.
               พระดาบสนั่งในที่นั้นแล้ว เมื่อจะสรรเสริญเฉพาะพระญาณของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเท่านั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า จุลฺลาสีติสหสฺสานิ ดังนี้.
               ในบทว่า จุลฺลาสีติสหสฺสานิ ในคาถานั้นมีการเชื่อมความว่า ขุนเขาคือขุนเขาเมรุ หยั่งคือหยั่งลง ได้แก่ ลงไปในห้วงมหรรณพ คือในสาครลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงคือพุ่งขึ้น ๘๔,๐๐๐ โยชน์เพียงนั้น คือมีประมาณเท่านั้น อันท่านกล่าวไว้ในบัดนี้.
               เขาเนรุสูงเพียงนั้นคือสูงขึ้นไปอย่างนั้น เขามหาเนรุนั้นคือขุนเขาเนรุใหญ่อย่างนั้น โดยส่วนยาว ส่วนสูงและส่วนกว้าง เป็นขุนเขาถูกทำให้ละเอียด คือถูกทำให้แหลกละเอียดถึงแสนโกฏิ โดยส่วนแห่งการนับ.
               เชื่อมความว่า ข้าแต่พระสัพพัญญูผู้เจริญ พระญาณของพระองค์เมื่อตั้งคะแนนนับไว้ คือเมื่อทำร้อย พัน หรือแสนก็ตาม ให้เป็นหน่วยหนึ่งๆ แล้วตั้งไว้ในพระญาณ จุณแห่งเขาเนรุใหญ่นั้นนั่นแหละพึงสิ้นไป พระญาณของพระองค์ใครๆ ไม่อาจประมาณคือทำการประมาณได้เลย.
               อธิบายความในคาถานี้ว่า
               บุคคลใดพึงล้อม คือพึงทำการล้อมไว้โดยรอบ ซึ่งน้ำในมหาสมุทรทั้งสิ้น ด้วยตาข่ายตาถี่ๆ คือมีช่องละเอียด เมื่อบุคคลนั้นล้อมน้ำไว้อย่างนี้ สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งที่เกิดในน้ำ สัตว์ทั้งหมดนั้นจะต้องถูกกักไว้ในภายในข่าย.
               พระดาบสเมื่อจะแสดงความอุปไมยนั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ตเถว หิ ดังนี้.
               ในข้อที่กล่าวมานั้น สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในน้ำ ย่อมอยู่ในภายในข่ายฉันใด ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีความเพียรใหญ่ คือผู้กระทำความเพียรเพื่อบรรลุพระมหาโพธิญาณก็ฉันนั้นเหมือนกัน. เดียรถีย์คือเจ้าลัทธิผิดเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นอันมาก คือไม่ใช่น้อย ผู้แล่นไปในการถือผิด คือผู้เข้าไปสู่การยึดถือกล่าวคือทิฏฐิ เป็นผู้ถูกปรามาสคือการยึดมั่น ได้แก่ถูกทิฏฐิอันมีลักษณะยึดถือไปข้างหน้าโดยสภาพ ให้ลงอยู่คือปิดกั้นไว้.
               เชื่อมความในคาถานี้ว่า เดียรถีย์เหล่านี้ทั้งหมดอยู่ในข่าย หรือเข้าไปในภายในข่ายแห่งพระญาณ ด้วยพระญาณอันบริสุทธิ์ คือไม่มีกิเลสของพระองค์ อันมีปกติเห็นโดยไม่ติดขัด คือเห็นธรรมทั้งปวงเว้นจากเครื่องกั้นเป็นปกติ อย่างนั้นเหมือนกัน.
               บทว่า ญาณํ เต นาติวตฺตเร ความว่า พวกเดียรถีย์เหล่านั้นไม่ล่วงพ้นพระญาณของพระองค์ไปได้.
               ในเวลาเสร็จสิ้นการสรรเสริญที่ล่วงแล้วอย่างนี้ เพื่อจะแสดงการเริ่มพยากรณ์ของตน พระดาบสจึงกล่าวคำมีอาทิว่า ภควา ตมฺหิ สมเย ดังนี้
               ในคำนั้นเชื่อมความว่า ในสมัยใด ดาบสสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้า ในสมัยนั้น คือกาลเสร็จสิ้นการสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ชื่อว่าผู้มีพระยศใหญ่ เพราะทรงมีบริวารล่วงพ้นการนับ ชื่อว่าพระชินะ เพราะทรงชนะกิเลสมารเป็นต้น ทรงออกจากสมาธิ คือจากอัปปนาสมาธิ ทรงตรวจดูสกลชมพูทวีปทั้งสิ้นด้วยทิพยจักษุ.
               เชื่อมความในคาถานี้ว่า
               พระสาวกนามว่านิสภะ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสีนั้น ผู้เป็นมุนี คือผู้ประกอบด้วยพระญาณกล่าวคือโมนะ อันพระขีณาสพหนึ่งแสนผู้มีจิตสงบ คือมีกิเลสในใจอันสงบระงับ ผู้เป็นตาทีบุคคล ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะเป็นผู้มีสภาพไม่หวั่นไหวในสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ผู้บริสุทธิ์คือผู้ประกอบด้วยกายกรรมเป็นต้นอันบริสุทธิ์ มีอภิญญา ๖ ผู้คงที่คือมีสภาวะอันไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ ห้อมล้อมแล้ว รู้คือทราบพระดำริของพระพุทธเจ้า จึงเข้าไปเฝ้าพระโลกนายก คือได้ไปยังที่ใกล้ในทันใดนั้นเอง.
               ท่านเหล่านั้นเป็นผู้มาแล้วอย่างนั้น ณ ที่นั้น คือ ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า. ทั้งที่ยังอยู่ในกลางหาวคือในอากาศ ได้กระทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว. เชื่อมความว่า ท่านเหล่านั้นทั้งหมดประคองอัญชลีนมัสการอยู่ จากอากาศลงมาในสำนักของพระพุทธเจ้า.
               พระดาบส เมื่อจะประกาศเหตุอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งการให้การพยากรณ์อีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สิตํ ปาตุกริ ดังนี้.
               คำทั้งหมดนั้นมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
               บทว่า โย มํ ปุปฺเผน ความว่า ดาบสใดยังจิตให้เลื่อมใสในเราแล้วบูชาเราด้วยดอกไม้มิใช่น้อย และสรรเสริญคือชมเชยญาณของเราเนืองๆ คือบ่อยๆ.
               บทว่า ตมหํ ความว่า เราจักประกาศ คือจักกระทำดาบสนั้นให้ปรากฏ. ท่านทั้งหลายจงฟังคือจงกระทำอารมณ์ในการที่จะฟัง คือจงใส่ใจคำเรากล่าว.
               พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงประทานการพยากรณ์ จึงตรัสว่า ปจฺฉิเม ภวสมฺปตฺเต ดังนี้.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า
               เมื่อภพอันมีในสุดท้าย คือเป็นที่สุดถึงพร้อมแล้ว ดาบสนี้จักถึงความเป็นมนุษย์คือชาติกำเนิดมนุษย์ ได้แก่จักเกิดขึ้นในมนุษย์โลก. นางพราหมณีชื่อว่าสารี เพราะเป็นผู้มีสาระด้วยสาระทั้งหลาย มีสาระคือรูปทรัพย์ตระกูลโภคทรัพย์และสาระคือบุญเป็นต้น จักตั้งครรภ์.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเริ่มมูลพยากรณ์ว่า อปริเมยฺเย อิโต กปฺเป ดังนี้.
               ในมูลพยากรณ์นี้ พึงเห็นว่า พระอัครสาวกทั้งสองบำเพ็ญบารมีหนึ่งอสงไขยแสนกัปก็จริง แม้ถึงอย่างนั้น เพื่อความสะดวกในการประพันธ์คาถา ท่านจึงถือเอาอันตรกัปแล้วกล่าวไว้อย่างนั้น.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานพยากรณ์ว่า จักได้เป็นพระอัครสาวกโดยชื่อว่าสารีบุตร พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นครั้นประทานพยากรณ์แล้ว เมื่อจะสรรเสริญดาบสนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า อยํ ภาคีรถี (บาลีว่า ภาคีรสี) ดังนี้.
               อธิบายว่า ระหว่างแม่น้ำ ๕ สายนี้ คือ คงคา ยมุนา สรภู มหี อจิรวดี แม่น้ำใหญ่สายที่หนึ่งชื่อว่าภาคีรถีนี้ เกิดจากเขาหิมวันต์ คือไหลมาจากเขาหิมวันต์ คือเกิดจากสระอโนดาต ไหลไปถึงทะเลใหญ่คือห้วงน้ำใหญ่ ย่อมถึงคือเข้าไปยังมหาสมุทรคือมหาสาครฉันใด สารีบุตรนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้อาจหาญในเวททั้งสามของตน คือเป็นผู้กล้าหาญมีญาณไม่พลั้งพลาด คือมีญาณแผ่ไปในเวททั้งสามอันเป็นไปอยู่ในตระกูลของตน ถึงความเต็มเปี่ยมด้วยปัญญาคือถึงที่สุดแห่งสาวกญาณของตน จักยังสัตว์ทั้งหลายคือสัตว์ทั้งมวลให้อิ่ม คือให้อิ่มหนำ คือจักกระทำความอิ่มหนำให้.
               บทว่า หิมวนฺตมุปาทาย ความว่า กระทำภูเขาหิมาลัยให้เป็นต้นแล้วกระทำห้วงน้ำใหญ่คือมหาสมุทร ได้แก่สาครอันมีน้ำเป็นภาระให้เป็นที่สุด ในระหว่างนี้คือในท่ามกลางภูเขาและสาครนี้ ทรายใดคือกองทรายประมาณเท่าใดมีอยู่ว่าด้วยการนับคือว่าด้วยอำนาจการนับทรายนั้นนับไม่ถ้วน คือล่วงพ้นการนับ.
               บทว่า ตมฺปิ สกฺกา อเสเสน ความว่า แม้ทรายนั้น ใครๆ อาจคือพึงอาจนับได้หมด. เชื่อมความว่า การนับนั้นย่อมมีได้ด้วยประการใด. ที่สุดคือปริโยสานแห่งปัญญาของพระสารีบุตรจักไม่มีเลยด้วยประการนั้น.
               บทว่า ลกฺเข ฯเปฯ ภวิสฺสติ ความว่า เมื่อคะแนน ได้แก่คะแนนแห่งญาณ คือเวลาหนึ่งของญาณ ที่ใครๆ วางคือตั้งไว้มีอยู่ ทรายในแม่น้ำคงคาพึงสิ้นไป คือพึงถึงความหมดสิ้นไป.
               ในบทว่า มหาสมุทฺเท นี้ เชื่อมความว่า คลื่นทั้งหลายคือกลุ่มคลื่นชนิดหนึ่งคาวุตเป็นต้น ในมหาสาครทั้ง ๔ อันลึกได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ว่าถึงการนับ นับไม่ถ้วนคือเว้นจากการนับ ย่อมมีด้วยประการใด ที่สุดคือความสิ้นสุดแห่งปัญญาของพระสารีบุตร จักไม่มีด้วยประการนั้น.
               เชื่อมความในคาถานี้ว่า
               พระสารีบุตรนั้นมีปัญญาอย่างนี้ ยังพระสัมพุทธเจ้าชื่อว่าโคตมะ เพราะเป็นโคตมโคตร ผู้เป็นใหญ่ในศากยตระกูล ชื่อว่าผู้เป็นศากยะผู้ประเสริฐ ให้ทรงโปรดแล้ว คือทำความยินดีแห่งจิตด้วยวัตรปฏิบัติ ศีลและอาจาระเป็นต้น ถึงความเต็มเปี่ยมคือที่สุดแห่งสาวกญาณด้วยปัญญา จักเป็นอัครสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น.
               อธิบายความในคาถานี้ว่า
               พระสารีบุตรนั้นได้รับตำแหน่งอัครสาวกอย่างนี้แล้ว จักประกาศตามพระธรรมจักรคือพระสัทธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าศากยบุตรทรงประกาศแล้ว คือทรงทำให้ปรากฏแล้ว ด้วยสภาวะอันไม่หวั่นไหวในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ คือจักทรงจำไว้ ไม่ให้พินาศ. จักยังฝนคือธรรม ได้แก่ฝนคือพระธรรมเทศนาให้ตกลง ได้แก่จักแสดง ประกาศ เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นเป็นไป.
               เชื่อมความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้โคตมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงรู้ยิ่งสิ่งทั้งหมดนั้นคือทรงรู้ด้วยญาณวิเศษ ประทับนั่งในหมู่ภิกษุ คือในท่ามกลางพระอริยบุคคล จักทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศ คือในตำแหน่งอันสูงอันเป็นที่อภิรมย์แห่งหมู่ของคุณความดีมีปัญญาทั้งสิ้นเป็นต้น.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๓. สารีปุตตเถราปทาน (๑)
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 2อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 3อ่านอรรถกถา 32 / 4อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=290&Z=675
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=6204
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=6204
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :