ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

หน้าต่างที่ ๗ / ๗.

               พรรณนาปฏิสัลลานคาถา               
               คาถาว่า ปฏิสลฺลานํ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               การเกิดขึ้นแห่งคาถานี้ เหมือนดังอาวรณคาถาไม่มีความพิเศษไรๆ.
               ส่วนพรรณนาอรรถแห่งคาถานี้มีความว่า การกลับเฉพาะจากหมู่สัตว์และสังขารนั้นๆ หลีกเร้นอยู่ ชื่อว่าปฏิสัลลานะ ได้แก่ ความเป็นผู้มีปกติเสพ ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง คือความเป็นผู้เดียว ได้แก่กายวิเวก สงัดกาย.
               จิตตวิเวก สงัดจิต ท่านเรียกว่าฌาน เพราะเผากิเลสดังข้าศึกและเพราะเข้าไปเพ่งอารมณ์และลักษณะ.
               ในคำว่า ฌาน นั้น สมาบัติ ๘ เรียกว่าฌาน เพราะเผากิเลสดังข้าศึกมีนิวรณ์เป็นต้น และเพราะเข้าไปเพ่งอารมณ์มีกสิณเป็นต้น. วิปัสสนา มรรค ผล ก็เรียกว่าฌาน เพราะเผากิเลสดังข้าศึกมีสัตตสัญญาความสำคัญว่าสัตว์เป็นต้น และเพราะเข้าไปเพ่งลักษณะ.
               แต่ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาอารัมมณูปนิชฌานการเข้าไปเพ่งอารมณ์เท่านั้น.
               ไม่ละ คือไม่ทิ้ง ได้แก่ไม่สละ การหลีกเร้นและฌานนั้น ด้วยอาการอย่างนั้น.
               บทว่า ธมฺเมสุ ได้แก่ ในธรรมคือเบญจขันธ์เป็นต้นอันเข้าถึงวิปัสสนา.
               บทว่า นิจฺจํ แปลว่า ติดต่อ คือไปเสมอๆ ได้แก่ ไม่เกลื่อนกล่นแล้ว.
               บทว่า อนุธมฺมจารี ได้แก่ ประพฤติวิปัสสนาธรรมอันไปแล้วเนืองๆ โดยปรารภธรรมนั้นๆ เป็นไป.
               อีกอย่างหนึ่ง ในบทว่า ธมฺเมสุ นี้ โลกุตรธรรม ๙ ชื่อว่าธรรม. ชื่อว่า อนุธรรม เพราะธรรมอันอนุโลมแก่ธรรมเหล่านั้น.
               คำว่า อนุธรรม นี้เป็นชื่อของวิปัสสนา. ในคาถานั้นควรจะกล่าวว่า ธมฺมานํ นิจฺจํ อนุธมฺจารี มีปกติประพฤติธรรมอนุโลมแก่ธรรมเป็นนิจ แต่เพื่อสะดวกในการประพันธ์คาถา จึงเป็นอันกล่าวว่า ธมฺเมสุ เพราะความเป็นผู้ฉลาดในเรื่องวิภัตติ.
               ในบทว่า อาทีนวํ สมฺมสิตา ภเวสุ นี้ พึงทราบวาจาประกอบความอย่างนี้ว่า พิจารณาเห็นโทษมีอาการไม่เที่ยงเป็นต้นในภพทั้ง ๓ ด้วยวิปัสสนากล่าวคือความเป็นผู้มีปกติประพฤติอันเป็นอนุโลมนั้น พึงกล่าวว่า เป็นผู้บรรลุด้วยปฏิปทาคือวิปัสสนาอันถึงยอดแห่งกายวิเวกและจิตตวิเวกนี้ด้วยอาการอย่างนี้ พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป.
               จบพรรณนาปฏิสัลลานคาถา               
               พรรณนาตัณหักขยคาถา               
               คาถาว่า ตณฺหกฺขยํ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระเจ้าพาราณสีองค์หนึ่งกระทำประทักษิณพระนครด้วยราชานุภาพอันใหญ่ยิ่ง. คนทั้งหลายผู้มีหทัยรำพึงถึงความงามแห่งพระสรีระของพระราชานั้น แม้ไปข้างหน้า ก็ยังกลับมาแหงนดูพระองค์ แม้ไปข้างหลังก็ดี ไปทางข้างทั้งสองก็ดี ก็ยังหันกลับมาแหงนดูพระองค์.
               ก็ตามปกติทีเดียวชาวโลกไม่อิ่มในการดูพระพุทธเจ้า และในการดูพระจันทร์เพ็ญ มหาสมุทรและพระราชา.
               ครั้งนั้น ฝ่ายภรรยาของกุฎุมพีนางหนึ่ง อยู่ในปราสาทชั้นบนได้เปิดหน้าต่างยืนแลดูอยู่. พระราชาทรงเห็นนางนั้น มีพระทัยปฏิพัทธ์รักใคร่ จึงสั่งอำมาตย์ว่า แน่ะพนาย เธอจงรู้ว่า หญิงนี้มีสามีหรือไม่มีสามีเท่านั้น. อำมาตย์นั้นรู้แล้ว จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ หญิงนี้มีสามีพระเจ้าข้า.
               ทีนั้น พระราชาจึงทรงดำริว่า หญิงฟ้อนรำสองหมื่นนางเหล่านี้เปรียบปานดังนางเทพอัปสร ยังเราคนเดียวเท่านั้นให้อภิรมย์ บัดนี้ เรานั้นไม่ยินดีหญิงแม้เหล่านี้ มาทำตัณหาให้เกิดขึ้นในหญิงของชายอื่น ตัณหานั้นเกิดขึ้นแล้ว ย่อมคร่าไปสู่อบายถ่ายเดียว ดังนี้ ทรงเห็นโทษของตัณหาแล้ว ทรงดำริว่าจักข่มตัณหานั้น จึงละทิ้งราชสมบัติผนวช ทรงเห็นแจ้งอยู่ จึงได้กระทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ แล้วได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตณฺหกฺขยํ ได้แก่ พระนิพพาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ความไม่เป็นไปแห่งตัณหาซึ่งมีโทษอันเห็นแล้วอย่างนั้น.
               บทว่า อปฺปมตฺโต ได้แก่ มีปกติกระทำโดยติดต่อ คือมีปกติกระทำโดยเคารพ.
               บทว่า อเนลมูโค ได้แก่ ผู้ไม่มีน้ำลายที่ปาก.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ไม่เป็นคนบ้าและคนใบ้. ท่านอธิบายว่า เป็นบัณฑิตเป็นผู้เฉียบแหลม.
               ชื่อว่าผู้มีสุตะ เพราะมีสุตะอันยังหิตสุขให้ถึงพร้อม. ท่านอธิบายว่า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปริยัติ.
               บทว่า สติมา ได้แก่ เป็นผู้ระลึกถึงสิ่งที่ได้กระทำไว้นานเป็นต้นได้.
               บทว่า สงฺขาตธมฺโม ได้แก่ ผู้มีธรรมอันกำหนดรู้แล้วด้วยการเข้าไปพิจารณาธรรม.
               บทว่า นิยโต ได้แก่ ผู้ถึงความเป็นผู้เที่ยงด้วยอริยมรรค.
               บทว่า ปธานวา ได้แก่ ผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียรเป็นเครื่องตั้งไว้โดยชอบ. พึงประกอบปาฐะนี้โดยนอกลำดับ.
               ผู้ประกอบด้วยธรรมมีความไม่ประมาทเป็นต้นเหล่านั้นด้วยประการอย่างนี้นั่นแล เป็นผู้มีปธานความเพียรด้วยปธานความเพียรอันให้ถึงความแน่นอน เป็นผู้เที่ยงแท้แล้วโดยความแน่นอนที่ถึงพร้อมด้วยปธานความเพียรนั้น แต่นั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมอันพิจารณาเสร็จแล้ว เพราะได้บรรลุพระอรหัต.
               จริงอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายท่านเรียกว่าผู้มีธรรมอันพิจารณาเสร็จแล้ว เพราะไม่มีธรรมที่จะต้องพิจารณาอีก. เหมือนดังที่ท่านกล่าวว่า ผู้ใดเป็นผู้มีธรรมอันพิจารณาแล้ว ผู้ใดยังเป็นพระเสขะ และผู้ใดยังเป็นปุถุชน ในพระศาสนานี้ดังนี้.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วเช่นเดียวกันแล.
               จบพรรณนาตัณหักขยคาถา               
               พรรณนาสีหาทิคาถา               
               คาถาว่า สีโหว ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า อุทยานของพระเจ้าพาราณสีองค์หนึ่ง มีอยู่ในที่ไกล พระองค์ทรงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่เสด็จไปอุทยาน ในระหว่างทางเสด็จลงจากพระยานเสด็จเข้าไปยังที่ที่มีน้ำด้วยหวังพระทัยว่า จักชำระล้างพระพักตร์.
               ก็ในถิ่นนั้น มีนางสีหะคลอดลูกสีหะแล้วตนก็ไปหาเหยื่อ.
               ราชบุรุษเห็นลูกสีหะนั้นแล้วจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ลูกสีหะ พระเจ้าข้า.
               พระราชาทรงดำริว่า เขาว่าสีหะไม่กลัวใคร เพื่อจะทดลองลูกสีหะนั้นจึงให้ตีกลองเป็นต้นขึ้น ลูกสีหะแม้ได้ยินเสียงนั้น ก็ยังนอนอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่อเป็นเช่นนั้น พระราชาจึงทรงตีกลองจนถึงครั้งที่สาม ในครั้งที่สาม ลูกสีหะนั้นยกศีรษะขึ้นแลดูบริษัททั้งหมด แล้วก็นอนอยู่เหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสว่า พวกเราจงไปตราบเท่าที่แม่ของมันยังไม่มา เมื่อกำลังเสด็จไปก็ทรงดำริว่า ลูกสีหะแม้เกิดในวันนั้น ก็ไม่สะดุ้ง ไม่กลัว ชื่อว่ากาลไรเล่า แม้เราก็พึงทิ้งความสะดุ้ง คือตัณหาและทิฏฐิ แล้วไม่สะดุ้ง ไม่กลัว.
               พระองค์ทรงถือเอาเรื่องนั้นให้เป็นอารมณ์เสด็จไป ทรงเห็นชาวประมงจับปลาแล้วผูกไว้ที่กิ่งไม้ แล้วไปเหมือนลมไม่ติดตาข่ายที่ขึงไว้ ได้ทรงถือเอานิมิตในเรื่องนั้นอีกว่า ชื่อว่ากาลไรเล่า แม้เราก็พึงฉีกข่าย คือตัณหา ทิฏฐิและโมหะ แล้วไม่ข้องอยู่อย่างนั้นไปเสีย.
               ครั้งนั้น พระราชาเสด็จไปยังอุทยานประทับนั่งที่ฝั่งสระโบกขรณีมีแผ่นศิลา ทรงเห็นดอกปทุมที่ถูกลมกระทบจึงน้อมลงแตะน้ำ แล้วกลับตั้งอยู่ในที่เดิมในเมื่อปราศจากลม อันน้ำไม่ฉาบทา ได้ทรงถือเอานิมิตในข้อนั้นว่า ชื่อว่ากาลไรเล่า แม้เราก็เกิดแล้วในโลก อันโลกฉาบทาไม่ได้ตั้งอยู่ เหมือนปทุมเหล่านี้เกิดแล้วในน้ำ อันน้ำฉาบทาไม่ได้ตั้งอยู่ฉะนั้น.
               พระองค์ทรงดำริบ่อยๆ ว่า เราพึงเป็นผู้ไม่สะดุ้ง ไม่ข้องอยู่ ไม่ถูกฉาบทา เหมือนสีหะ ลมและปทุมฉะนั้น จึงทรงละราชสมบัติผนวช เห็นแจ้งอยู่ ทรงทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณแล้ว ได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               ชื่อว่าสีหะ ในคาถานั้น สีหะมี ๔ จำพวก คือติณสีหะ ปัณฑุสีหะ กาฬสีหะและไกรสรสีหะ. บรรดาสีหะเหล่านั้น ไกรสรสีหะ ท่านกล่าวว่าเป็นเลิศ ไกรสรสีหะนั้นท่านประสงค์เอาในที่นี้.
               ลมมีหลายอย่างเช่นลมทิศตะวันออกเป็นต้น. ปทุมก็มีหลายอย่างเช่นสีแดงและสีขาวเป็นต้น. บรรดาลมและปทุมเหล่านั้น ลมชนิดใดชนิดหนึ่ง และปทุมชนิดใดชนิดหนึ่งย่อมควรทั้งนั้น.
               เพราะเหตุว่า บรรดาความสะดุ้งกลัวเป็นต้นนั้น ชื่อว่าความสะดุ้งกลัวย่อมมีเพราะรักตน อันธรรมดาความรักตนเป็นการฉาบทาด้วยตัณหา แม้ความรักตนนั้นก็ย่อมมีเพราะความโลภ อันประกอบด้วยทิฏฐิหรือปราศจากทิฏฐิก็ตาม และความรักตนแม้นั้นก็คือตัณหานั่นเอง.
               อนึ่ง ความข้องย่อมมีแก่บุคคลผู้เว้นจากการเข้าไปพิจารณาเป็นต้นในอารมณ์นั้น เพราะโมหะ. และโมหะก็คืออวิชชา. ในตัณหาและอวิชชานั้น ละตัณหาด้วยสมถะ ละอวิชชาด้วยวิปัสสนา.
               เพราะฉะนั้น พึงละความรักตนด้วยสมถะ ไม่สะดุ้งในลักษณะทั้งหลายมีลักษณะไม่เที่ยงและเป็นทุกข์เป็นต้น เหมือนสีหะไม่สะดุ้งกลัวในเสียงทั้งหลาย ละโมหะด้วยวิปัสสนา ไม่ข้องอยู่ในขันธ์และอายตนะเป็นต้น เหมือนลมไม่ติดตาข่าย ละโลภะและทิฏฐิอันประกอบด้วยโลภะ ด้วยสมถะเหมือนกัน ไม่ติดเปื้อนด้วยความโลภในภวสมบัติทั้งปวง เหมือนปทุมไม่ติดน้ำฉะนั้น.
               ก็บรรดาธรรมเหล่านี้ ศีลเป็นปทัฏฐานของสมถะ สมถะเป็นปทัฏฐานของสมาธิ สมาธิเป็นปทัฏฐานของวิปัสสนา รวมความว่า เมื่อธรรม ๒ ประการสำเร็จแล้ว ขันธ์คือคุณทั้ง ๓ ย่อมเป็นอันสำเร็จได้แท้.
               บรรดาขันธ์คือคุณเหล่านั้น บุคคลย่อมเป็นผู้กล้าหาญด้วยศีลขันธ์ คุณคือศีล.
               บุคคลนั้นย่อมไม่สะดุ้งกลัว เหมือนสีหะไม่สะดุ้งกลัวในเสียงทั้งหลาย เพราะความที่มันเป็นสัตว์ที่ต้องโกรธ ในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความโกรธ, บุคคลผู้มีสภาวะอันแทงตลอดแล้วด้วยปัญญาขันธ์ คุณคือปัญญา ย่อมไม่ข้องอยู่ในประเภทแห่งธรรมมีขันธ์เป็นต้น เหมือนลมไม่ขังอยู่ในตาข่าย เป็นผู้มีราคะไปปราศแล้วด้วยสมาธิขันธ์ คุณคือสมาธิ ย่อมไม่แปดเปื้อนด้วยราคะ เหมือนปทุมไม่ติดน้ำฉะนั้น.
               เมื่อเป็นอย่างนั้น บัณฑิตพึงทราบบุคคลผู้ไม่สะดุ้ง ไม่ข้องและไม่แปดเปื้อน ด้วยอำนาจการละตัณหา อวิชชา และอกุศลมูล ๓ ตามที่มีด้วยสมถะกับวิปัสสนา และด้วยคุณคือศีล สมาธิและปัญญา.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วแล.
               จบพรรณนาสีหาทิคาถา               
               พรรณนาทาฐพลีคาถา               
               คาถาว่า สีโห ยถา ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระเจ้าพาราณสีองค์หนึ่ง เพื่อที่จะยังชนบทชายแดนที่กำเริบให้สงบ จึงทรงละหนทางเป็นที่ไปตามลำดับแห่งหมู่บ้านเสีย ถือเอาทางลัดในดง อันเป็นทางตรง เสด็จไปด้วยกองทัพใหญ่.
               ก็สมัยนั้น ที่เชิงเขาแห่งหนึ่งมีราชสีห์นอนผิงความร้อนของพระอาทิตย์อ่อนๆ อยู่.
               ราชบุรุษทั้งหลายเห็นราชสีห์นั้น จึงกราบทูลแด่พระราชา.
               พระราชาทรงดำริว่า นัยว่าราชสีห์ไม่สะดุ้งกลัว จึงให้กระทำเสียงกลองและบัณเฑาะว์เป็นต้น ราชสีห์คงนอนอยู่เหมือนอย่างเดิม แม้ครั้งที่สองก็ทรงให้กระทำ ราชสีห์ก็คงนอนอยู่เหมือนอย่างเดิม ทรงให้กระทำแม้ครั้งที่สาม. ในกาลนั้น ราชสีห์คิดว่า สีหะผู้เป็นศัตรูเฉพาะต่อเรา คงจะมี จึงยืนหยัดด้วยเท้าทั้ง ๔ แล้วบันลือสีหนาท.
               ควาญช้างเป็นต้นได้ฟังเสียงสีหนาทนั้น จึงลงจากช้างเป็นต้นแล้วเข้าไปยังพงหญ้า. หมู่ช้างและม้าต่างๆ หนีไปยังทิศใหญ่ทิศน้อย แม้ช้างของพระราชาก็พาพระราชาไปกระทบหมู่ไม้หนีไป.
               พระราชาไม่อาจทรงช้างนั้นได้ จึงทรงโหนกิ่งไม้ไว้ แล้วจึงปล่อยให้ตกลงยังพื้นดิน แล้วเสด็จไปตามทางที่เดินได้คนเดียว ถึงสถานที่เป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้ตรัสถามพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ในที่นั้นว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายได้ยินเสียงบ้างไหม?
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทูลว่า ขอถวายพระพร ได้ยิน มหาบพิตร.
               พระราชา. เสียงของใคร ท่านผู้เจริญ.
               พระปัจเจกพุทธเจ้า. ครั้งแรก เสียงของกลองและสังข์เป็นต้น ภายหลังเสียงของราชสีห์.
               พระราชา. ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายไม่กลัวหรือ.
               พระปัจเจกพุทธเจ้า. มหาบพิตร พวกอาตมาไม่กลัวต่อเสียงไรๆ.
               พระราชา. ท่านผู้เจริญ ก็ท่านอาจทำแม้ข้าพเจ้าให้เป็นเช่นนี้ได้ไหม
               พระปัจเจกพุทธเจ้า. อาจ มหาบพิตร ถ้าพระองค์จักผนวช.
               พระราชา. ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะบวช.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายให้พระราชานั้นผนวชแล้ว ให้ศึกษาอภิสมาจาริกวัตร โดยนัยดังกล่าวแล้วในเบื้องต้นนั่นแหละ. แม้พระราชานั้นก็ทรงเห็นแจ้งอยู่โดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อนเหมือนกัน จึงทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ แล้วได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               ที่ชื่อว่าสีหะ ในคาถานั้น เพราะอดทน เพราะการฆ่าและเพราะแล่นไปรวดเร็ว. ในที่นี้ ประสงค์เอาไกรสรราชสีห์เท่านั้น.
               ชื่อว่าทาฐพลี เพราะราชสีห์นั้นมีเขี้ยวเป็นกำลัง.
               บททั้งสองว่า ปสยฺห อภิภุยฺย พึงประกอบกับศัพท์ จารี ว่า ปสยฺหจารี อภิภุยฺยจารี.
               ในสองอย่างนั้น ชื่อว่าปสัยหจารี เพราะประพฤติข่ม คือข่มขี่ ชื่อว่าอภิภุยยจารี เพราะประพฤติครอบงำ คือทำให้สะดุ้งกลัว ได้แก่ทำให้อยู่ในอำนาจ.
               ราชสีห์นี้นั้นมีปกติประพฤติข่มขี่ด้วยกำลังกาย และมีปกติประพฤติครอบงำด้วยเดช.
               ในข้อนั้น หากใครๆ จะกล่าวว่า ราชสีห์มีปกติประพฤติข่มขี่ครอบงำอะไร. แต่นั้นพึงทำอรรถแห่งฉัฏฐีวิภัตติว่า มิคานํ ลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ แล้วพึงกล่าวเฉพาะว่า มีปกติประพฤติข่มขี่ครอบงำมฤคทั้งหลาย.
               บทว่า ปนฺตานิ แปลว่า ไกล.
               บทว่า เสนาสนานิ ได้แก่ สถานที่อยู่.
               คำที่เหลืออาจรู้ได้โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล เพราะเหตุนั้น จึงไม่ต้องให้พิสดารแล.
               จบพรรณนาทาฐพลีคาถา               
               พรรณนาอัปปมัญญาคาถา               
               คาถาว่า เมตฺตํ อุเปกฺขํ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาองค์หนึ่งทรงได้เมตตาฌานเป็นต้น. พระองค์ทรงดำริว่า ราชสมบัติเป็นอันตรายต่อความสุขในฌาน เพื่อจะทรงอนุรักษ์ฌาน จึงสละราชสมบัติออกผนวช เห็นแจ้งอยู่ ได้ทรงทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ แล้วได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               บรรดาเมตตาเป็นต้นนั้น ความเป็นผู้ใคร่จะนำเข้าไปซึ่งหิตสุข โดยนัยมีอาทิว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้มีความสุขเถิด ดังนี้ ชื่อว่าเมตตา ความรักใคร่ปรารถนาจะให้เป็นสุข.
               ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะบำบัดสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เกื้อกูลและทุกข์ โดยนัยมีอาทิว่า โอหนอ สัตว์ทั้งหลายพึงพ้นจากทุกข์นี้ ดังนี้ ชื่อว่ากรุณา ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์.
               ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะไม่ให้พลัดพรากจากหิตสุข โดยนัยมีอาทิว่า สัตว์ทั้งหลายผู้เจริญจงยินดีหนอ จงยินดีด้วยดี ดังนี้ ชื่อว่ามุทิตา ความพลอยยินดี.
               ความวางเฉยในสุขและทุกข์ โดยนัยมีอาทิว่า สัตว์ทั้งหลายจักปรากฏตามกรรมของตน ดังนี้ ชื่อว่าอุเบกขา ความวางเฉย.
               ก็เพื่อความสะดวกในการประพันธ์คาถา ท่านกล่าวเมตตา แล้วจึงกล่าวอุเบกขา และมุทิตาทีหลัง โดยสับลำดับกัน.
               บทว่า วิมุตฺตึ ความว่า อัปปมัญญาแม้ทั้ง ๔ นี้ ชื่อว่าวิมุตติ เพราะหลุดพ้นจากธรรมอันเป็นข้าศึกของตน. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พึงเจริญเมตตาวิมุตติ อุเบกขาวิมุตติ กรุณาวิมุตติและมุทิตาวิมุตติในลำดับกาล.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาเสวมาโน ความว่า เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา ทั้ง ๓ ด้วยอำนาจติกฌานและจตุกฌาน เจริญอุเบกขาด้วยอำนาจจตุกฌาน.
               บทว่า กาเล ความว่า เจริญเมตตา ออกจากเมตตานั้นแล้วเจริญกรุณา ออกจากกรุณาแล้วเจริญมุทิตา ออกจากกรุณา หรือจากฌานที่ไม่มีปีตินอกนี้ แล้วเจริญอุเบกขานั่นแล ท่านเรียกว่าเจริญในลำดับกาล.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ เจริญในเวลามีความผาสุก.
               บทว่า สพฺเพน โลเกน อวิรุชฺฌมาโน ความว่า ไม่พิโรธสัตวโลกทั้งปวงใน ๑๐ ทิศ.
               จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลายไม่วุ่นวาย เพราะเจริญเมตตาเป็นต้น และปฏิฆะอันเป็นตัวข้าศึกในสัตว์ทั้งหลายย่อมสงบระงับ. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ไม่พิโรธด้วยสัตวโลกทั้งปวง.
               ความสังเขปในที่นี้เพียงเท่านี้ ส่วนความพิสดาร ท่านกล่าวกถาว่าด้วยเมตตาเป็นต้นไว้ในอรรถกถาธรรมสังคหะ ชื่อว่าอัฏฐสาลินี.
               คำที่เหลือเช่นกับที่กล่าวแล้วแล.
               จบพรรณนาอัปปมัญญาคาถา               
               พรรณนาชีวิตสังขยคาถา               
               คาถาว่า ราคญฺจ โทสญฺจ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่ามาตังคะ อาศัยนครราชคฤห์อยู่ เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หลังสุดแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวง บรรดาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย.
               ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลายอุบัติขึ้นแล้ว เทวดาทั้งหลายมาเพื่อจะบูชาพระโพธิสัตว์ เห็นพระมาตังคปัจเจกพุทธเจ้า จึงพากันกล่าวว่า นี่แน่ะ ท่านผู้นิรทุกข์ พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก.
               พระมาตังคปัจเจกพุทธเจ้านั้นกำลังออกจากนิโรธ ได้ฟังดังนั้น เห็นตนจะสิ้นชีวิต จึงเหาะไปที่ภูเขาชื่อมหาปปาตะในหิมวันตประเทศอันเป็นที่ปรินิพพานของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วโยนร่างกระดูกของพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ปรินิพพานแล้วในกาลก่อนลงในเหว แล้วตนเองก็นั่งบนพื้นศิลา ได้กล่าวอุทานคาถานี้.
               ราคะ โทสะ โมหะ ในคาถานั้นได้กล่าวไว้แล้วในอุรคสูตร.
               บทว่า สํโยชนานิ ได้แก่ สังโยชน์ ๑๐. ทำลายสังโยชน์ทั้ง ๑๐ นั้นด้วยมรรคนั้นๆ.
               บทว่า อสนฺตสํ ชีวิตสงฺขยมฺหิ ความว่า ความแตกหมดแห่งจุติจิต เรียกว่าความสิ้นชีวิต.
               ก็ชื่อว่าผู้ไม่สะดุ้งกลัวในความสิ้นชีวิตนั้น เพราะละความใคร่ในชีวิตได้แล้ว.
               โดยลำดับคำเพียงเท่านี้ ท่านแสดงสอุปาทิเสสนิพพานของตน ในเวลาจบคาถา จึงปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ฉะนี้แล.
               จบพรรณนาชีวิตสังขยคาถา               
               คาถามีอาทิว่า (พรรณนาคาถาที่เหลือ ที่ไม่มีชื่อ รวม ๑๐ คาถา)
                         คนทั้งหลายมุ่งประโยชน์ จึงคบหาสมาคมกัน, ในทุกวันนี้
                         มิตรทั้งหลายผู้ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก ดังนี้.

               คาถาว่า ภชนฺติ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาองค์หนึ่งในนครพาราณสี ทรงปกครองราชอาณาจักรอันรุ่งเรือง มีประการดังกล่าวแล้วในคาถาต้นนั่นแหละ อาพาธกล้าเกิดขึ้นแก่พระองค์ ทุกขเวทนาทั้งหลายย่อมเป็นไป. สตรีสองหมื่นนางห้อมล้อมพระองค์ กระทำการนวดฟั้นพระหัตถ์และพระบาทเป็นต้น.
               พวกอำมาตย์คิดกันว่า พระราชาจักสวรรคตในบัดนี้ ช่างเถอะ พวกเราจะแสวงหาที่พึ่งของตน จึงไปยังสำนักของพระราชาองค์หนึ่ง ทูลขออยู่รับใช้. อำมาตย์เหล่านั้นรับใช้อยู่ในที่นั้น ไม่ได้อะไรๆ.
               พระราชาทรงหายจากประชวรแล้วตรัสถามว่า อำมาตย์ชื่อนี้ๆ ไปไหน? จากนั้นได้ทรงสดับเรื่องราวนั้น ได้ทรงสั่นพระเศียรนิ่งอยู่.
               ฝ่ายอำมาตย์เหล่านั้นได้ฟังข่าวว่า พระราชาทรงหายประชวรแล้วทั้งไม่ได้อะไรในที่นั้น ถูกความเสื่อมอย่างยิ่งบีบคั้น จึงกลับมาอีก ถวายบังคมพระราชาแล้วได้ยืนอยู่ ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง. และถูกพระราชานั้นตรัสถามว่า นี่แน่ะพ่อทั้งหลาย พวกท่านไปไหน จึงพากันกราบทูลว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายเห็นสมมติเทพทรงทุรพล จึงพากันไปยังชนบทชื่อโน้น เพราะความกลัวอันเกิดจากการเลี้ยงชีพ.
               พระราชาทรงสั่นพระเศียรแล้วดำริว่า ถ้ากระไร เราจักแสดงอาพาธนั้นอีก พวกอำมาตย์จักกระทำอย่างนั้นอีกครั้งหรือไม่.
               พระราชาเมื่อจะทรงแสดงเวทนากล้า เหมือนโรคถูกต้องแล้วในกาลก่อน จึงได้ทรงกระทำการลวงว่าเป็นไข้. เหล่าสตรีพากันห้อมล้อม ได้กระทำกิจทั้งปวงเช่นกับครั้งก่อนนั่นแล.
               ฝ่ายพวกอำมาตย์ก็พาชนมากกว่าก่อน หลีกไปอีกเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ.
               พระราชาทรงกระทำกรรมทุกอย่างเช่นกับครั้งก่อน จนถึงครั้งที่สาม ด้วยอาการอย่างนี้ ฝ่ายอำมาตย์เหล่านั้นก็พากันหลีกไปเหมือนอย่างนั้นนั่นแล.
               แม้ครั้งที่สี่จากนั้น พระราชาทรงเห็นอำมาตย์เหล่านั้นมาทรงดำริว่า พุทโธ่เอ๋ย พวกอำมาตย์ผู้ละทิ้งเราผู้ป่วยไข้ไม่ห่วงใยหลีกไปจำพวกนี้ ได้กระทำกรรมที่ทำได้ยาก จึงทรงเบื่อหน่าย ได้ละราชสมบัติผนวช ทรงเห็นแจ้งอยู่ ได้กระทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ จึงได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภชนฺติ ความว่า เข้าไปนั่งชิดร่างกาย.
               บทว่า เสวนฺติ ความว่า บำเรออัญชลีกรรมเป็นต้น โดยคอยฟังว่าจะให้ทำอะไร ชื่อว่าผู้มุ่งประโยชน์ เพราะมีประโยชน์เป็นเหตุ. ท่านอธิบายว่า การคบหาสมาคมไม่มีเหตุอื่น ประโยชน์เท่านั้นเป็นเหตุของคนเหล่านั้น คนทั้งหลายคบหากันเพราะประโยชน์เป็นเหตุ.
               บทว่า นิกฺการณา ทุลฺลภา อชฺช มิตฺตา ความว่า ชื่อว่าไม่มุ่งประโยชน์ เพราะประโยชน์ที่ได้เฉพาะแก่ตนอย่างนี้ว่า พวกเราจักได้อะไรๆ จากคนนี้. มิตรทุกวันนี้ผู้ประกอบด้วยความเป็นมิตรอันประเสริฐซึ่งท่านกล่าวไว้โดยสิ้นเชิงอย่างนี้ว่า
                         มิตรมีอุปการะ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์
                         มิตรผู้แนะประโยชน์ มิตรมีความเอ็นดู
ดังนี้.
               บทว่า อตฺตฏฺฐปญฺญา ความว่า ปัญญาของชนเหล่านี้ตั้งอยู่ในตน. อธิบายว่า เห็นแก่ตน ไม่เห็นแก่คนอื่น.
               บาลีว่า อตฺตตฺถปญฺญา ดังนี้ก็มี บาลีนั้นมีความว่า เห็นแก่ประโยชน์ของตนเท่านั้น ไม่เห็นประโยชน์ของคนอื่น.
               ได้ยินว่า บาลีว่า ทิฏฺฐตฺถปญฺญา แม้นี้ เป็นบาลีเก่า.
               บาลีนั้นมีใจความว่า ชนเหล่านั้นมีปัญญาในประโยชน์เดี๋ยวนี้คือในปัจจุบัน ไม่มีปัญญาในอนาคต. ท่านอธิบายว่า เห็นแก่ประโยชน์ปัจจุบัน ไม่เห็นแก่ประโยชน์ภายหน้า.
               บทว่า อสุจินา ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมอันไม่สะอาด คือไม่ประเสริฐ.
               บทว่า ขคฺควิสาณกปฺโป ความว่า ชื่อว่ามีเขาดังมีด เพราะเที่ยวทำภูเขาเป็นต้นให้เป็นจุณวิจุณ ด้วยเขาของตน เหมือนคนเอามีดดาบตัดต้นไม้ฉะนั้น. ชื่อว่าวิสาณะ เพราะมีอำนาจเช่นกับยาพิษ. ชื่อว่าขัคคะ เพราะดุจมีดดาบ. มฤคใดมีเขาดุจมีดดาบ มฤคนี้นั้นชื่อว่าขัคควิสาณะ มีเขาดุจมีด. นอของมฤคที่มีเขาดุจมีดนั้น ชื่อว่าขัคควิสาณกัปปะ คือนอแรด.
               อธิบายว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเปรียบเสมือนนอแรดฉะนั้น องค์เดียวไม่มีเพื่อน ไม่มีสหาย เที่ยวไปคืออยู่ เป็นไป ดำเนินไป ให้ดำเนินไป.
               บทว่า วิสุทฺธสีลา แปลว่า ผู้มีศีลหมดจดโดยพิเศษ คือผู้มีศีลหมดจดด้วยความบริสุทธิ์ ๔ ประการ.
               บทว่า สุวิสุทฺธปญฺญา แปลว่า ผู้มีปัญญาบริสุทธิ์ด้วยดี คือชื่อว่ามีปัญญา คือความแตกฉานในมรรคและผลอันบริสุทธิ์ เพราะเว้นจากราคะเป็นต้น.
               บทว่า สมาหิตา แปลว่า ตั้งมั่นดี คือด้วยดี ได้แก่ มีจิตตั้งอยู่ในที่ใกล้.
               บทว่า ชาคริยานุยุตฺตา ความว่า ความตื่น ชื่อว่าชาคระ. อธิบายว่า ก้าวล่วงความหลับ. ความเป็นแห่งความตื่นอยู่ ชื่อว่าชาคริยะ, ผู้หมั่นประกอบในความตื่นอยู่ ชื่อว่าผู้ประกอบตามในความตื่นอยู่.
               บทว่า วิปสฺสกา ได้แก่ ผู้มีปกติเห็นโดยพิเศษว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา. อธิบายว่า เริ่มตั้งวิปัสสนาอยู่.
               บทว่า ธมฺมวิเสสทสฺสี แปลว่า ผู้มีปกติเห็นโดยพิเศษซึ่งกุศลธรรม ๑๐ ซึ่งสัจธรรม ๔ หรือโลกุตรธรรม ๙.
               บทว่า มคฺคงฺคโพชฺฌงฺคคเต ได้แก่ อริยธรรมอันถึง คือประกอบด้วยองค์แห่งมรรคมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น และด้วยโพชฌงค์มีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น.
               บทว่า วิชญฺญา แปลว่า รู้ อธิบายว่า รู้โดยพิเศษ.
               บทว่า สุญฺญตาปฺปณิหิตญฺจานิมิตฺตํ ได้แก่ สุญญตวิโมกข์ด้วยอนัตตานุปัสสนา ซึ่งอัปปณิหิตวิโมกข์ด้วยทุกขานุปัสสนา และซึ่งอนิมิตตวิโมกข์ด้วยอนิจจานุปัสนา.
               บทว่า อาเสวยิตฺวา ได้แก่ เจริญแล้ว.
               ธีรชนเหล่าใดกระทำบุญสมภารไว้ ยังไม่ถึงคือยังไม่บรรลุความเป็นพระสาวกในศาสนาแห่งพระชินเจ้า ธีรชนเหล่านั้นได้กระทำบุญสมภารไว้ ย่อมเป็นพระปัจเจกชินเจ้า คือเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้สยัมภู คือผู้เป็นเอง.
               ถามว่า ท่านเป็นอย่างไร?
               ตอบว่า ท่านเป็นผู้มีธรรมยิ่งใหญ่ คือมีบุญสมภารใหญ่อันได้บำเพ็ญมาแล้ว มีธรรมกายมาก คือมีสภาวธรรมมิใช่น้อยเป็นร่างกาย.
               ถามว่า ท่านเป็นอย่างไรอีก?
               ตอบว่า ท่านมีจิตเป็นอิสระ คือเป็นไปในคติของจิต. อธิบายว่า ถึงพร้อมด้วยฌาน.
               ผู้ข้ามห้วงทุกข์ทั้งมวล คือข้าม ได้แก่ก้าวล่วงโอฆะ คือสงสารทั้งมวล มีจิตเบิกบานคือมีจิตโสมนัส. อธิบายว่า มีใจสงบ เพราะเว้นจากกิเลสมีโกธะและมานะเป็นต้น.
               ผู้มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือมีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือประโยชน์สูงสุด เช่นขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ อาการ ๓๒ สัจจะ ๔ และปฏิจจสมุปบาท.
               เปรียบด้วยราชสีห์ฉะนั้น อธิบายว่า ประดุจราชสีห์ เพราะอรรถว่าไม่หวั่นไหวและไม่กลัว. ผู้เช่นกับนอแรด อธิบายว่า ชื่อว่าผู้เช่นกับนอของแรด เพราะไม่มีการคลุกคลีด้วยหมู่.
               บทว่า สนฺตินฺทฺริยา ความว่า ผู้มีอินทรีย์มีสภาวะอันสงบแล้ว เพราะจักขุนทรีย์เป็นต้น ไม่ดำเนินไปในอารมณ์ของตนๆ.
               บทว่า สนฺตมนา แปลว่า มีจิตสงบ, อธิบายว่า มีความดำริแห่งจิตมีสภาวะสงบแล้ว เพราะความเป็นผู้หมดกิเลส.
               บทว่า สมาธี ได้แก่ ผู้มีจิตเป็นเอกัคคตาด้วยดี.
               บทว่า ปจฺจนฺตสตฺเตสุ ปติปฺปจารา ความว่า มีปกติประพฤติด้วยความเอ็นดู และความกรุณาเป็นต้นในเหล่าสัตว์ในปัจจันตชนบท.
               บทว่า ทีปา ปรตฺถ อิธ วิชฺชลนฺตา ความว่า เป็นดวงประทีป คือเป็นเช่นกับดวงประทีป อันโพลงอยู่ในโลกหน้าและโลกนี้ ด้วยการกระทำความอนุเคราะห์แก่ชาวโลกทั้งสิ้น.
               บทว่า ปจฺเจกพุทฺธา สตตํ หิตาเม ความว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกทั้งมวล ติดต่อกันคือตลอดกาล.
               บทว่า ปหีนสพฺพาวรณา ชนินฺทา ความว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นเป็นใหญ่ คือเป็นผู้สูงสุดแห่งมวลชน ชื่อว่าผู้ละเครื่องกั้นทั้งปวงได้แล้ว เพราะเป็นผู้ละเครื่องกั้น ๕ ประการทั้งหมดมีกามฉันทนิวรณ์เป็นต้น.
               บทว่า ฆนกญฺจนาภา ความว่า ผู้มีรัศมีเช่นกับความสุกสกาวแห่งทองสีแดงและทองชมพูนุท.
               บทว่า นิสฺสํสยํ โลกสุทกฺขิเณยฺยา ได้แก่ เป็นผู้ควร คือสมควรเพื่อรับทักษิณาชั้นดี คือทานชั้นเลิศของชาวโลกโดยส่วนเดียว. อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นผู้ควรรับสุนทรทาน เพราะเป็นผู้ไม่มีกิเลส.
               บทว่า ปจฺเจกพุทฺธา สตตปฺปิตาเม ความว่า พระพุทธะผู้บรรลุปัจเจกญาณเหล่านี้เป็นผู้แนบแน่น คืออิ่มหนำบริบูรณ์เป็นนิตย์ คือเป็นนิตยกาล. อธิบายว่า แม้จะไม่มีอาหารตลอด ๗ วัน ก็บริบูรณ์อยู่ได้ด้วยอำนาจนิโรธสมาบัติและผลสมาบัติ.
               อสาธารณพุทธะทั้งหลายเป็นใหญ่เป็นเอก คือเป็นส่วนหนึ่ง ได้แก่ไม่เหมือน เป็นอย่างอื่น จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่าปัจเจกสัมพุทธเจ้า
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะ ปติ ศัพท์เป็นอุปสรรคในความว่าเป็นเอก ท่านกล่าวไว้ว่า
                         ศัพท์ทั้ง ๓ นี้ คืออุปสรรค นิบาตและปัจจัย นักนิรุตติ-
                         ศาสตร์ทั้งหลายกล่าวว่า มีวิสัยแห่งอรรถมิใช่น้อย.

               ท่านจึงเป็นใหญ่ คือเป็นประธานเป็นเจ้าของ เพราะรับอาหารมีประมาณน้อยของเหล่าทายกมากมาย แล้วให้ได้บรรลุถึงสวรรค์ และนิพพาน.
               จริงอย่างนั้น ท่านเป็นใหญ่เป็นประธานโดยรับส่วนแห่งภัตของคนหาบหญ้า ชื่อว่าอันนภาระ เมื่อเขามองเห็นอยู่ ก็ฉันให้ดู ยังเหล่าเทวดาให้ให้สาธุการ แล้วทำนายอันนภาระผู้เข็ญใจให้ได้รับตำแหน่งเศรษฐี แล้วยังทรัพย์นับด้วยโกฏิให้เกิดขึ้น และโดยรับบิณฑบาตที่พระโพธิสัตว์เหยียบฝักปทุมอันผุดขึ้นในหลุมถ่านเพลิง ไม้ตะเคียนที่มารนิรมิตขึ้นถวาย เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นมองเห็นอยู่นั่นแหละ ได้ทำความโสมนัสให้เกิดขึ้นด้วยการเหาะไป (ดังกล่าวไว้) ในขทิรังคารชาดกและโดยที่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้เป็นโอรสของพระอัครมเหสีอรุณวตี ยังความโสมนัสให้เกิดขึ้นแก่มหาชนกโพธิสัตว์และเทวี ด้วยการเหาะมาจากเขาคันธมาทน์ ด้วยการอาราธนาของพระเทวีแห่งพระเจ้ามหาชนกแล้วรับการถวายทาน.
               อนึ่ง ในกาลที่พระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น เมื่อฉาตกภัยเกิดขึ้นในชมพูทวีปทั้งสิ้น พาราณสีเศรษฐีทำข้าวเปลือกในฉางหกหมื่นฉางซึ่งบรรจุไว้เต็มรักษาไว้ให้หมดไป เพราะอาศัยฉาตกภัย ทำข้าวเปลือกที่ฝังไว้ในแผ่นดินและข้าวเปลือกที่บรรจุไว้ในตุ่มหกพันตุ่มให้หมดไป ข้าวเปลือกที่ขยำกับดินเหนียวแล้วทาไว้ที่ฝาปราสาททั้งสิ้นให้หมดไป ในคราวนั้นเหลือข้าวเพียงทะนานเดียวเท่านั้น จึงนอนทำความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักกินข้าวนี้แล้วตายวันนี้.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งมาจากเขาคันธมาทน์ได้ยืนอยู่ที่ประตูเรือน.
               เศรษฐีเห็นท่านเข้าจึงเกิดความเลื่อมใส เมื่อจะบริจาคชีวิตถวาย จึงเกลี่ยภัตตาหารลงในบาตรของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จไปยังที่อยู่ เมื่อเศรษฐีมองเห็นอยู่นั่นแล ได้ฉันพร้อมกับพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ด้วยอานุภาพของตน.
               ในคราวนั้น ท่านเศรษฐีและภรรยาได้ปิดหม้อข้าวที่หุงภัตแล้วตั้งไว้.
               เมื่อความหิวเกิดขึ้นแก่เศรษฐีผู้กำลังหลับ เขาจึงลุกขึ้นกล่าวกะภรรยาว่า นางผู้เจริญ เธอจงดูสักว่าภัตอันเป็นข้าวตังในภัต.
               นางผู้มีการศึกษาดีไม่กล่าวว่า ให้หมดแล้วมิใช่หรือ (นาง) เปิดฝาหม้อข้าว (ดู). ทันใดนั้น หม้อข้าวนั้นได้เต็มไปด้วยภัตแห่งข้าวสาลีมีกลิ่นหอมเช่นกับดอกมะลิตูม. นางกับเศรษฐีดีใจ ตนเอง คนที่อยู่ในเรือนทั้งสิ้นและชาวเมืองทั้งสิ้นพากันบริโภค. ที่ที่คนตักเอาๆ ด้วยทัพพีกลับเต็มอยู่. ข้าวสาลีมีกลิ่นหอม เต็มในฉางทั้งหกหมื่นฉาง. ชนชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นถือเอาพืชข้าวเปลือกจากเรือนของเศรษฐีนั่นแหละ จึงพากันมีความสุข
               พระพุทธเจ้าเป็นใหญ่ คือเป็นเจ้าของในการก้าวลงสู่ความสุข การบริบาลรักษาและการให้บรรลุสวรรค์และนิพพานในสัตตนิกายมิใช่น้อย มีอาทิอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าปัจเจกสัมพุทธเจ้า.
               บทว่า ปจฺเจกพุทฺธานํ สุภาสิตานิ ได้แก่ คำที่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ภาษิตคือกล่าวไว้ดีแล้ว ด้วยอำนาจโอวาทและอนุสาสนี.
               บทว่า จรนฺติ โลกมฺหิ สเทวโลกมฺหิ ความว่า ย่อมเที่ยวไป คือเป็นไปในสัตวโลก อันเป็นไปกับเทวโลก.
               บทว่า สุตฺวา ตถา เย น กโรนฺติ พาลา ความว่า พาลชนเหล่าใดไม่กระทำ คือไม่ใส่ใจถึงคำภาษิตของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเห็นปานนั้น พาลชนเหล่านั้นย่อมเที่ยวไปคือเป็นไป. อธิบายว่า แล่นไปในกองทุกข์ คือในสงสารทุกข์ด้วยอำนาจการเกิดขึ้นบ่อยๆ.
               บทว่า ปจฺเจกพุทฺธานํ สุภาสิตานิ ความว่า คำที่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวดีแล้ว คือกล่าวเพื่อต้องการความหลุดพ้นจากอบายทั้ง ๔.
               ถ้อยคำเป็นอย่างไร? เป็นดุจรวงน้ำผึ้งอันหลั่งออก คือกำลังไหลออก. อธิบายว่า เป็นคำหวานเหมือนน้ำผึ้ง.
               ความว่า แม้บัณฑิตชนเหล่าใด ผู้ประกอบด้วยการปฏิบัติ ปฏิบัติอยู่ในข้อปฏิบัติทั้งหลายตามแนวที่กล่าวแล้ว ได้ฟังคำอันไพเราะเห็นปานนั้นแล้วกระทำตามถ้อยคำ บัณฑิตชนเหล่านั้นย่อมเป็นผู้เห็นสัจจะ คือมีปกติเห็นสัจจะทั้ง ๔ เป็นผู้มีปัญญา คือเป็นไปกับด้วยปัญญา.
               บทว่า ปจฺเจกพุทฺเธหิ ชิเนหิ ภาสิตา ความว่า ชื่อว่าชินะ เพราะชนะคือได้ชนะกิเลส กถาที่พระชินปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นกล่าวคือภาษิตไว้ กล่าวไว้ เป็นคำโอฬาร คือมีโอชะปรากฏอยู่คือเป็นไปอยู่.
               เชื่อมความว่า กถาเหล่านั้น คือกถาอันพระศากยสีหะ ได้แก่พระตถาคตผู้เป็นสีหะในวงศ์แห่งศากยราช ผู้ออกบวชแล้วได้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นนระชั้นสูง คือเป็นผู้สูงสุดประเสริฐกว่านรชนทั้งหลาย ทรงประกาศไว้คือทรงทำให้ปรากฏ ได้แก่ตรัสเทศนาไว้แล้ว. เพื่อจะเฉลยคำถามว่า ทรงประกาศไว้เพื่ออะไร จึงตรัสว่า เพื่อให้รู้แจ้งธรรม. อธิบายว่า เพื่อให้รู้โลกุตรธรรม ๙ โดยพิเศษ.
               บทว่า โลกานุกมฺปาย อิมานิ เตสํ ความว่า เพราะความเป็นผู้อนุเคราะห์โลก คือเพราะอาศัยความอนุเคราะห์แก่ชาวโลก พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นจึงกล่าวคำเหล่านี้ คือคาถาเหล่านี้ให้วิเศษ คือแต่งไว้ กล่าวไว้โดยพิเศษ.
               บทว่า สํเวคสงฺคมติวฑฺฒนตฺถํ ความว่า เพื่อเพิ่มพูนความสังเวช เพื่อเพิ่มพูนความไม่คลุกคลี คือเพื่อเพิ่มพูนความเป็นผู้เดียว และเพื่อเพิ่มพูนความรู้ คือเพื่อเพิ่มพูนปัญญา พระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นสยัมภูสีหะ คือเป็นผู้ไม่มีอาจารย์ เป็นแล้ว เกิดแล้ว แทงตลอดแล้วเฉพาะพระองค์เอง เป็นดุจสีหะไม่กลัว ได้ประกาศคำเหล่านี้. อธิบายว่า ประกาศ เปิดเผย ทำให้ตื้นซึ่งความเหล่านี้.
               ศัพท์ว่า อิติ เป็นนิบาตลงในอรรถจบข้อความ.
               พรรณนาปัจเจกพุทธาปทาน               
               ในวิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาอปทาน               
               จบบริบูรณ์เท่านี้               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=147&Z=289
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=3800
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=3800
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :