ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

หน้าต่างที่ ๖ / ๗.

               พรรณนาปาปสหายคาถา               
               คาถาว่า ปาปํ สหายํ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาองค์หนึ่งในพระนครพาราณสี ทรงทำประทักษิณพระนครด้วยราชานุภาพอันใหญ่ยิ่ง ทรงเห็นคนทั้งหลายนำข้าวเปลือกเก่าเป็นต้นออกจากฉางไปภายนอก จึงตรัสถามอำมาตย์ว่า พนาย นี้อะไรกัน?
               เหล่าอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บัดนี้ข้าวเปลือกใหม่เป็นต้นจักเกิดขึ้น คนเหล่านี้จึงทิ้งข้าวเปลือกเก่าเป็นต้นเสีย เพื่อจะทำที่ว่างแก่ข้าวเปลือกใหม่เป็นต้นเหล่านั้น.
               พระราชาตรัสว่านี่แน่ะพนาย เสบียงของพวกหมู่พลในตำหนักในฝ่ายหญิงเป็นต้น ยังเต็มบริบูรณ์อยู่หรือ. เหล่าอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ยังเต็มบริบูรณ์อยู่พระเจ้าข้า.
               พระราชาตรัสว่า นี่แน่ะพนาย ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงก่อสร้างโรงทาน เราจักให้ทาน ข้าวเปลือกเหล่านี้จงอย่าได้เสียหายไปโดยไม่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลเลย.
               ลำดับนั้น อำมาตย์ผู้มีคติในความเห็นผิดคนหนึ่งปรารภว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ทานที่ให้แล้วไม่มีผลดังนี้ แล้วจึงกราบทูลพระราชาต่อไปว่า คนทั้งที่เป็นพาลและเป็นบัณฑิต แล่นไป ท่องเที่ยวไป จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้เอง ดังนี้แล้วทูลห้ามเสีย.
               พระราชาทรงเห็นคนทั้งหลายแย่งฉางข้าวกันแม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม ก็ตรัสสั่งเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ. แม้ครั้งที่สาม อำมาตย์ผู้มีคติในความเห็นผิดแม้นั้น ก็กล่าวคำมีอาทิว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ทานนี้คนโง่บัญญัติ แล้วทูลห้ามพระราชานั้น.
               พระองค์ตรัสว่า แน่ะเจ้าแม้ของของเราก็ไม่ได้เพื่อจะให้หรือ เราจะได้ประโยชน์อะไรจากพวกสหายลามกเหล่านี้ ทรงเบื่อหน่าย จึงสละราชสมบัติออกผนวช เห็นแจ้งอยู่ได้กระทำให้แจ้งพระปัจเจกสัมโพธิญาณ.
               และเมื่อจะทรงติเตียนสหายลามกผู้นั้น จึงตรัสอุทานคาถานี้.
               เนื้อความย่อแห่งอุทานคาถานั้นมีดังต่อไปนี้.
               สหายนี้ใดชื่อว่าผู้ลามก เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยทิฏฐิลามกอันมีวัตถุ ๑๐ ประการ.
               ชื่อว่าผู้มักเห็นความฉิบหายมิใช่ประโยชน์ เพราะเห็นความฉิบหายมิใช่ประโยชน์แม้ของคนเหล่าอื่น และเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันไม่สม่ำเสมอมีกายทุจริตเป็นต้น.
               กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงงดเว้นสหายผู้ลามกนั้น ผู้มักเห็นแต่ความฉิบหาย มิใช่ประโยชน์ ผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันสม่ำเสมอ.
               บทว่า สยํ น เสเว ได้แก่ ไม่พึงซ่องเสพสหายนั้น ด้วยอำนาจของตน.
               ท่านอธิบายว่า ก็ถ้าคนอื่นมีอำนาจจะอาจทำอะไรได้.
               บทว่า ปสุตํ ได้แก่ ผู้ขวนขวาย. อธิบายว่า ผู้ติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ด้วยอำนาจทิฏฐิ.
               บทว่า ปมตฺตํ ได้แก่ ผู้ปล่อยจิตไปในกามคุณ ๕.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ผู้เว้นจากการทำกุศลให้เจริญ.
               ไม่พึงซ่องเสพ ไม่พึงคบหา ไม่พึงเข้าไปนั่งใกล้สหายนั้น คือผู้เห็นปานนั้น โดยที่แท้ พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้นแล.
               จบพรรณนาปาปสหายคาถา               
               พรรณนาพหุสสุตคาถา               
               คาถาว่า พหุสฺสุตํ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               คำทั้งปวงมีอาทิว่า ได้ยินว่า ในกาลก่อนพระปัจเจกโพธิสัตว์ ๘ องค์บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสป บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรแล้ว อุบัติขึ้นในเทวโลกดังนี้ เป็นเช่นกับที่กล่าวไว้แล้วในอนวัชชโภชีคาถานั่นแหละ.
               ส่วนความแปลกกันมีดังต่อไปนี้.
               พระราชานิมนต์ให้พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งแล้ว จึงตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายเป็นใคร.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นทูลว่า มหาราชเจ้า อาตมาทั้งหลายชื่อว่าพหุสุตะ.
               พระราชาทรงดำริว่า เราชื่อว่าสุตพรหมทัต ย่อมไม่อิ่มการฟัง, เอาเถอะ เราจักฟังธรรมเทศนาซึ่งมีนัยอันวิจิตรในสำนักของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ครั้นดำริแล้ว ทรงดีพระทัย ถวายน้ำทักษิโณทกแล้วทรงอังคาส ในเวลาเสร็จภัตกิจ จึงประทับนั่งในที่ใกล้พระสังฆเถระแล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านได้โปรดกล่าวธรรมกถาเถิด.
               ท่านกล่าวว่า ขอมหาราชเจ้า จงทรงมีพระเกษมสำราญ จงมีความสิ้นไปแห่งราคะเถิด แล้วลุกขึ้น.
               พระราชาทรงดำริว่า ท่านผู้นี้มิได้เป็นพหูสูต ท่านองค์ที่สองคงจักเป็นพหูสูต, พรุ่งนี้เราจักได้ฟังธรรมเทศนาอันวิจิตรในสำนักของท่าน จึงนิมนต์ฉันในวันพรุ่งนี้.
               พระองค์ทรงนิมนต์จนถึงลำดับแห่งพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทุกองค์ ด้วยประการอย่างนี้.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแม้ทั้งหมดนั้นก็กล่าวบทที่เหลือให้เป็นเช่นกับองค์ที่ ๑ ทำบทหนึ่งๆ ให้แปลกกันอย่างนี้ว่า จงสิ้นโทสะเถิด จงสิ้นโมหะเถิด จงสิ้นคติเถิด จงสิ้นภพเถิด จงสิ้นวัฏฏะเถิด จงสิ้นอุปธิเถิด แล้วก็ลุกขึ้น.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า ท่านเหล่านี้กล่าวว่า พวกเราเป็นพหูสูต แต่ท่านเหล่านั้นไม่มีกถาอันวิจิตร ท่านเหล่านั้นกล่าวอะไร จึงทรงเริ่มพิจารณาอรรถแห่งคำของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น.
               ครั้นเมื่อทรงพิจารณาอรรถของคำว่า จงสิ้นราคะเถิด จึงได้ทรงทราบว่าเมื่อราคะสิ้นไป โทสะก็ดี โมหะก็ดี กิเลสอื่นๆ ก็ดี ย่อมเป็นอันสิ้นไปได้ ทรงดีพระทัยว่า สมณะเหล่านี้เป็นพหูสูตโดยสิ้นเชิง เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้เอานิ้วมือชี้มหาปฐพีหรืออากาศ ย่อมเป็นอันชี้เอาพื้นที่ประมาณเท่าองคุลีเท่านั้นก็หามิได้ โดยที่แท้ ย่อมเป็นอันชี้เอามหาปฐพีทั้งสิ้น อากาศก็เหมือนกันแม้ฉันใด พระสมณะเหล่านี้ก็ฉันนั้น เมื่อชี้แจงอรรถหนึ่งๆ ย่อมเป็นอันชี้แจงอรรถทั้งหลายอันหาปริมาณมิได้.
               จากนั้น พระองค์ทรงดำริว่า ชื่อว่าในกาลบางคราว แม้เราก็จักเป็นพหูสูตอย่างนั้น เมื่อทรงปรารถนาความเป็นพหูสูตเห็นปานนั้น จึงทรงสละราชสมบัติออกผนวช เห็นแจ้งอยู่ ได้ทรงทำให้แจ้งพระปัจเจกสัมโพธิญาณ แล้วได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               เนื้อความย่อในอุทานคาถานี้มีดังต่อไปนี้.
               บทว่า พหุสฺสุตํ ความว่า พหูสูตมี ๒ อย่าง คือปริยัติพหูสูตทั้งมวลโดยใจความในพระไตรปิฎก และปฏิเวธพหูสูต โดยแทงตลอดมรรค ผล วิชชาและอภิญญา. ผู้มีอาคมอันมาแล้ว ชื่อว่า ธมฺมธโร ผู้ทรงธรรม.
               อนึ่ง ผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมอันยิ่งใหญ่ ชื่อว่า อุฬาโร ผู้ยิ่งใหญ่.
               ผู้มียุตตปฏิภาณ. มีมุตตปฏิภาณและมียุตตมุตตปฏิภาณ ชื่อว่า ปฏิภาณวา ผู้มีปฏิภาณ.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบผู้มีปฏิภาณ ๓ อย่าง โดยปริยัติ ปริปุจฉาและอธิคม.
               จริงอยู่ ปริยัติย่อมแจ่มแจ้งแก่ผู้ใด ผู้นั้นเป็นผู้มีปริยัติปฏิภาณ แจ่มแจ้งในปริยัติ.
               การสอบถามย่อมแจ่มแจ้งแก่ผู้ใดซึ่งสอบถามถึงอรรถ ญาณ ลักษณะ ฐานะและอฐานะ ผู้นั้นเป็นผู้มีปริปุจฉาปฏิภาณ แจ่มแจ้งในการถาม.
               มรรคเป็นต้นอันผู้ใดแทงตลอดแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้มีอธิคมปฏิภาณ แจ่มแจ้งในการบรรลุ.
               บุคคลคบมิตรนั้นคือเห็นปานนั้น ผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม ผู้ยิ่งใหญ่ มีปฏิภาณ. แต่นั้นพึงรู้ทั่วถึงประโยชน์มีประการมิใช่น้อย โดยชนิดประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นและประโยชน์ทั้งสอง หรือโดยชนิดประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้าและประโยชน์อย่างยิ่ง ด้วยอานุภาพของมิตรนั้น แต่นั้นบรรเทาความกังขา คือบรรเทา ได้แก่ทำให้พินาศไปซึ่งความลังเลสงสัยในฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย มีอาทิว่า ในอดีตกาลอันยาวนาน เราได้มีแล้วหรือหนอ เป็นผู้ทำกิจทั้งปวงเสร็จแล้วอย่างนี้ พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรดฉะนั้นแล.
               จบพรรณนาพหุสสุตคาถา               
               พรรณนาวิภูสัฏฐานคาถา               
               คาถาว่า ขิฑฺฑํ รตึ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาพระนามว่าวิภูสกพรหมทัต ในนครพาราณสี เสวยยาคูหรือพระกระยาหารแต่เช้าตรู่ แล้วให้ช่างประดับพระองค์ด้วยเครื่องประดับนานาชนิด แล้วทรงดูพระสรีระทั้งสิ้นในพระฉายใหญ่ ไม่โปรดสิ่งใดก็เอาสิ่งนั้นออก แล้วให้ประดับด้วยเครื่องประดับอย่างอื่น.
               วันหนึ่งเมื่อพระองค์ทรงกระทำอย่างนั้น เวลาเสวยพระกระยาหารเป็นเวลาเที่ยงพอดี. พระองค์ทรงประดับค้างอยู่ จึงทรงเอาแผ่นผ้าพันพระเศียรเสวยแล้ว เสด็จเข้าบรรทมกลางวัน. เมื่อพระองค์ทรงลุกขึ้นแล้ว ทรงกระทำอยู่อย่างนั้นนั่นแลซ้ำอีก พระอาทิตย์ก็ตก.
               แม้วันที่สอง แม้วันที่สามก็อย่างนั้น.
               ครั้นเมื่อพระองค์ทรงขวนขวายแต่การประดับประดาอยู่อย่างนั้น โรคที่พระปฤษฎางค์ได้เกิดขึ้น.
               พระองค์ได้มีพระดำริดังนี้ว่า พุทโธ่เอ๋ย เราแม้เอาเรี่ยวแรงทั้งหมดมาประดับประดาก็ยังไม่พอใจในการประดับที่สำเร็จแล้วนี้ ทำความดิ้นรนให้เกิดขึ้น ก็ขึ้นชื่อว่าความดิ้นรนเป็นธรรมเป็นที่ตั้งแห่งการไปอบาย เอาเถอะ เราจักข่มความดิ้นรนเสีย จึงทรงสละราชสมบัติออกผนวช ทรงเห็นแจ้งอยู่ ได้ทรงทำให้แจ้งพระปัจเจกสัมโพธิญาณ แล้วได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               การเล่นและความยินดีในอุทานคาถานั้นได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น.
               บทว่า กามสุขํ ได้แก่ ความสุขในวัตถุกาม.
               จริงอยู่ แม้วัตถุกามทั้งหลายท่านก็เรียกว่าสุข เพราะเป็นอารมณ์เป็นต้นของความสุข. เหมือนดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า รูปเป็นสุข ตกไปตามความสุข มีอยู่ดังนี้. เมื่อเป็นอย่างนั้น ไม่ทำให้พอใจ คือไม่ทำว่าพอละซึ่งการเล่น ความยินดีและความสุขนี้ในโลกพิภพนี้ ได้แก่ไม่ถือเอาการเล่นเป็นต้นอย่างนี้ว่า เป็นที่อิ่มใจ หรือว่าเป็นสาระ.
               บทว่า อนเปกฺขมาโน ได้แก่ ผู้มีปกติไม่เพ่งเล็งคือไม่มักมาก ไม่มีความอยาก เพราะการไม่ทำให้พอใจนั้น.
               ในคำว่า วิภูสฏฺฐานา วิรโต สจฺจวาที นั้น การประดับมี ๒ อย่าง คือการประดับของคฤหัสถ์และการประดับของบรรพชิต.
               การประดับด้วยผ้าสาฎก ผ้าโพก ดอกไม้และของหอมเป็นต้น ชื่อว่าการประดับของคฤหัสถ์. การประดับด้วยเครื่องประดับคือบาตรเป็นต้น ชื่อว่าการประดับของบรรพชิต.
               ฐานะที่ประดับก็คือการประดับนั่นเอง. ผู้คลายความยินดีจากฐานะที่ประดับนั้นด้วยวิรัติ ๓ อย่าง.
               พึงเห็นเนื้อความอย่างนี้ว่า ชื่อว่าผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์ เพราะกล่าวคำจริงแท้.
               จบพรรณนาวิภูสัฏฐานคาถา               
               พรรณนาปุตตทารคาถา               
               คาถาว่า ปุตฺตญฺจ ทารํ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า โอรสของพระเจ้าพาราณสีทรงอภิเษกครองราชสมบัติ ในเวลายังทรงเป็นหนุ่มอยู่ทีเดียว.
               พระองค์เสวยสิริราชสมบัติดุจพระปัจเจกโพธิสัตว์ที่กล่าวแล้วในคาถาที่หนึ่ง วันหนึ่งทรงดำริว่า เราครองราชสมบัติอยู่ ย่อมกระทำความทุกข์ให้แก่คนเป็นอันมาก เราจะประโยชน์อะไรด้วยบาปนี้ เพื่อต้องการภัตมื้อเดียว เอาเถอะ เราจะทำความสุขให้เกิดขึ้น จึงทรงสละราชสมบัติออกผนวช เห็นแจ้งอยู่ ได้ทรงทำให้แจ้งพระปัจเจกสัมโพธิญาณแล้ว ได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธนานิ ได้แก่ รัตนะทั้งหลายมีแก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงินและทองเป็นต้น.
               บทว่า ธญฺญานิ ได้แก่ บุพพัณชาติ ๗ ชนิด มีข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือยและหญ้ากับแก้เป็นต้น และอปรัณชาติที่เหลือ (มีถั่ว งา เป็นต้น).
               บทว่า พนฺธวานิ ได้แก่ เผ่าพันธุ์ ๔ อย่าง มีเผ่าพันธุ์คือญาติ เผ่าพันธุ์คือโคตร เผ่าพันธุ์คือมิตร และเผ่าพันธุ์คือศิลป.
               บทว่า ยโถธิกานิ ได้แก่ ซึ่งตั้งอยู่ตามเขตของตนๆ.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบพรรณนาปุตตทารคาถา               
               พรรณนาสังคคาถา               
               คาถาว่า สงฺโค เอโส ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในนครพาราณสี ได้มีพระราชาพระนามว่าปาทโลลพรหมทัต พระองค์เสวยยาคูและพระกระยาหารแต่เช้าตรู่ แล้วทอดพระเนตรละคร ๓ อย่างในปราสาททั้ง ๓.
               การฟ้อนชื่อว่ามี ๓ อย่าง คือการฟ้อนอันมาจากพระราชาองค์ก่อน ๑ การฟ้อนอันมาจากพระราชาต่อมา ๑ การฟ้อนอันตั้งขึ้นในกาลของตน ๑.
               วันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปยังปราสาทที่มีนางฟ้อนสาวแต่เช้าตรู่. หญิงฟ้อนเหล่านั้นคิดว่าจักทำพระราชาให้ยินดี จึงพากันประกอบการฟ้อน การขับและการประโคมเป็นที่ประทับใจอย่างยิ่ง ประดุจนางอัปสรประกอบถวายแก่ท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทวดาฉะนั้น.
               พระราชาไม่ทรงยินดีด้วยดำริว่า นี้ไม่น่าอัศจรรย์สำหรับคนสาว จึงเสด็จไปยังปราสาทที่มีนางฟ้อนปูนกลาง. หญิงฟ้อนแม้เหล่านั้นก็ได้กระทำเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ.
               พระองค์ก็ไม่ทรงยินดีเหมือนอย่างนั้น แม้ในหญิงฟ้อนปูนกลางนั้น จึงเสด็จไปยังปราสาทที่มีหญิงฟ้อนเป็นคนแก่. แม้หญิงฟ้อนเหล่านั้นก็ได้กระทำเหมือนอย่างนั้น.
               พระราชาทรงเห็นการฟ้อนเสมือนกระดูกเล่นแสดง และได้ทรงฟังการขับไม่ไพเราะ เพราะหญิงฟ้อนเหล่านั้นเป็นไปล่วง ๒-๓ ชั่วพระราชาแล้วจึงเป็นคนแก่ จึงเสด็จไปยังปราสาทที่มีหญิงฟ้อนสาวๆ ซ้ำอีก แล้วเสด็จไปยังปราสาทที่มีหญิงปูนกลางซ้ำอีก.
               พระองค์ทรงเที่ยวไปแม้อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ ก็ไม่ทรงยินดีในปราสาทไหนๆ จึงทรงดำริว่า หญิงฟ้อนเหล่านี้ประสงค์จะยังเราให้ยินดี จึงเอาเรี่ยวแรงทั้งหมดประกอบการฟ้อน การขับและการประโคม ประดุจนางอัปสรทั้งหลาย ประสงค์จะให้ท้าวสักกะจอมเทวดาทรงยินดี จึงประกอบถวายฉะนั้น. เรานั้นไม่ยินดีในที่ไหนๆ ทำให้รกโลก.
               ก็ขึ้นชื่อว่าความโลภนี้เป็นธรรมที่ตั้งแห่งการไปสู่อบาย เอาเถอะ เราจักข่มความโลภเสีย จึงสละราชสมบัติแล้วทรงผนวช เจริญวิปัสสนาแล้วได้ทำให้แจ้งปัจเจกโพธิญาณ จึงได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               เนื้อความแห่งอุทานคาถานั้นว่า :-
               พระราชาทรงชี้แจงเครื่องใช้สอยของพระองค์ด้วยบทว่า สงฺโค เอโส นี้. เพราะเครื่องใช้สอยนั้นชื่อว่าสังคะ เพราะเป็นที่ข้องอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ดุจช้างเข้าไป (ติด) อยู่ในเปือกตมฉะนั้น.
               ในบทว่า ปริตฺตเมตฺถ โสขฺยํ นี้ ความสุขชื่อว่านิดหน่อย เพราะอรรถว่าต่ำช้า โดยจะต้องให้เกิดขึ้นด้วยสัญญาวิปริต ในเวลาใช้สอยกามคุณ ๕ หรือโดยนับเนื่องในธรรมอันเป็นกามาวจร คือเป็นของชั่วครู่เหมือนความสุขในการเห็นการฟ้อนด้วยแสงสว่างแห่งแสงฟ้าแลบ. อธิบายว่า เป็นไปชั่วคราว.
               ก็ในบทว่า อปฺปสฺสาโท ทุกฺขเมเวตฺถ ภิยฺโย นี้ ความยินดีใดที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุขโสมนัสอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้นใด นี้เป็นความยินดีในกามทั้งหลาย ความยินดีนั้นคือทุกข์ ในความเกี่ยวข้องนี้ ที่ตรัสไว้โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็โทษของกามทั้งหลายเป็นอย่างไร? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรในพระศาสนานี้ ย่อมเลี้ยงชีวิตด้วยฐานะแห่งศิลปะใด คือด้วยการตีตรา หรือด้วยการคำนวณดังนี้ ว่าด้วยการเทียบเคียงกัน ทุกข์นั้นมีน้อย ประมาณเท่าหยาดน้ำ โดยที่แท้ ทุกข์เท่านั้นมีมากยิ่งเช่นกับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ในความเกี่ยวข้องนี้ มีความยินดีน้อย ทุกข์เท่านั้นมากยิ่ง.
               บทว่า คโฬ เอโส ความว่า ความเกี่ยวข้องคือกามคุณ ๕ นี้ เปรียบดังเบ็ด โดยแสดงความยินดีแล้วฉุดลากมา.
               บทว่า อิติ ญตฺวา มติมา ความว่า บุรุษผู้มีความรู้คือเป็นบัณฑิต รู้อย่างนี้แล้วพึงละความเกี่ยวข้องทั้งหมดนั้นแล้วเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้นแล.
               จบพรรณนาสังคคาถา               
               พรรณนาสันทาลคาถา               
               คาถาว่า สนฺทาลยิตฺวาน ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร ?
               ได้ยินว่า ในนครพาราณสี ได้มีพระราชาพระนามว่าอนิวัตตพรหมทัต พระราชานั้นเข้าสู่สงครามไม่ชนะ หรือทรงปรารภกิจอื่นไม่สำเร็จจะไม่กลับมา. เพราะฉะนั้น ชนทั้งหลายจึงรู้จักพระองค์อย่างนั้น.
               วันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปพระราชอุทยาน.
               ก็สมัยนั้น ไฟป่าเกิดขึ้น ไฟนั้นไหม้ไม้แห้งและหญ้าสดเป็นต้นลามไปไม่กลับเลย.
               พระราชาทรงเห็นดังนั้น จึงทรงทำนิมิตอันมีไฟป่านั้นเป็นเครื่องเปรียบให้เกิดขึ้นว่า ไฟป่านี้ฉันใด ไฟ ๑๑ กองก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไหม้สัตว์ทั้งปวงลามไปไม่กลับมา ทำมหันตทุกข์ให้เกิดขึ้น. ชื่อว่าเมื่อไร เพื่อให้ทุกข์นี้หมดสิ้น แม้เราก็จะเผากิเลสทั้งหลายไม่ให้กลับมาด้วยไฟคืออริยมรรคญาณ เหมือนไฟนี้ไหม้ลามไปไม่พึงหวนกลับมา ฉะนั้น.
               แต่นั้น พระองค์เสด็จไปครู่หนึ่ง ได้ทรงเห็นชาวประมงกำลังจับปลาในน้ำ ปลาใหญ่ตัวหนึ่งเข้าไปภายในแหของชาวประมงเหล่านั้น ได้ทำลายแหหนีไป. ชาวประมงเหล่านี้จึงพากันส่งเสียงว่า ปลาทำลายแห หนีไปแล้ว.
               พระราชาได้ทรงสดับคำแม้นั้น จึงทรงทำนิมิตอันมีปลานั้นเป็นข้อเปรียบเทียบว่า ชื่อว่าเมื่อไร แม้เราก็จะทำลายข่ายคือตัณหาและทิฏฐิ ด้วยอริยมรรคญาณ พึงไปไม่ติดข้องอยู่.
               พระองค์จึงทรงสละราชสมบัติผนวช ปรารภวิปัสสนา ได้ทรงทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณและได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               ในบทที่สองของคาถานั้น สิ่งที่ทำด้วยด้ายเรียกว่า ชาละ. น้ำเรียกว่า อัมพุ. ชื่อว่าอัมพุจารี เพราะเที่ยวไปในน้ำนั้น. คำว่า อัมพุจารี นั้นเป็นชื่อของปลา. ปลาในน้ำชื่อว่า สลิลัมพุจารี. อธิบายว่า เหมือนปลาทำลายแหไปในแม่น้ำนั้น.
               ในบาทที่สาม สถานที่ที่ถูกไฟไหม้เรียกว่า ทัฑฒะ. อธิบายว่า ไฟย่อมไม่หวนกลับมายังที่ที่ไหม้แล้ว คือจะมาเกิดที่นั้นไม่ได้ ฉันใด เราก็จะไม่หวนกลับมายังสถานที่ คือกามคุณที่ถูกเผาไหม้ด้วยไฟคือมรรคญาณ คือจะไม่มาในกามคุณนั้นต่อไปฉันนั้น.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบพรรณนาสันทาลคาถา               
               พรรณนาโอกขิตตจักขุคาถา               
               คาถาว่า โอกฺขิตฺตจกฺขุ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในนครพาราณสี พระราชาพระนามว่าจักขุโลลพรหมทัต เป็นผู้ทรงขวนขวายการดูละคร เหมือนพระเจ้าปาทโลลพรหมทัต.
               ส่วนความแปลกกันมีดังต่อไปนี้.
               พระเจ้าปาทโลลพรหมทัตนั้นเป็นผู้ไม่สันโดษเสด็จไปในที่นั้นๆ. ส่วนพระเจ้าจักขุโลลพรหมทัตพระองค์นี้ทอดพระเนตรการละครนั้นๆ ทรงเพลิดเพลินอย่างยิ่ง เสด็จเที่ยวเพิ่มความอยาก โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทอดพระเนตรการแสดงละคร.
               ได้ยินว่า พระองค์ทรงเห็นภรรยาของกุฎุมพีนางหนึ่งซึ่งมาดูการแสดง ได้ยังความกำหนัดรักใคร่ให้เกิดขึ้น. แต่นั้นทรงถึงความสลดพระทัยขึ้นมา จึงทรงดำริว่า เฮ้อ! เราทำความอยากนี้ให้เจริญอยู่ จักเป็นผู้เต็มอยู่ในอบาย เอาละ เราจักข่มความอยากนั้น จึงออกผนวชแล้วได้เห็นแจ้งอยู่ ได้กระทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ.
               เมื่อจะทรงติเตียนการปฏิบัติแรกๆ ของพระองค์ จึงได้ตรัสอุทานคาถานี้อันแสดงคุณซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัตินั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอกฺขิตฺตจกฺขุ แปลว่า ผู้มีจักษุทอดลงเบื้องล่าง.
               ท่านอธิบายไว้ว่า วางกระดูกคอ ๗ ข้อไว้โดยลำดับแล้วเพ่งดูชั่วแอก เพื่อจะดูสิ่งที่ควรเว้นและสิ่งที่ควรจะถือเอา. แต่ไม่ใช่เอากระดูกคางจรดกระดูกหทัย เพราะเมื่อเป็นอย่างนั้น ความเป็นผู้มีจักษุทอดลงก็ย่อมจะไม่เป็นสมณสารูป.
               บทว่า น จ ปาทโลโล ความว่า ไม่เป็นเหมือนคนเท้าคัน โดยความเป็นผู้ใคร่จะเข้าไปท่ามกลางคณะ ด้วยอาการอย่างนี้ คือเป็นคนที่ ๒ ของคนคนเดียว เป็นคนที่ ๓ ของคน ๒ คน คือเป็นผู้งดเว้นจากการเที่ยวจาริกไปนานและเที่ยวจาริกไปไม่กลับ.
               บทว่า คุตฺตินฺทฺริโย ความว่า เป็นผู้มีอินทรีย์อันคุ้มครองด้วยอำนาจอินทรีย์ที่เหลือดังกล่าวแล้ว เพราะบรรดาอินทรีย์ทั้ง ๖ ในที่นี้ ท่านกล่าวมนินทรีย์ไว้เป็นแผนกหนึ่งต่างหาก.
               บทว่า รกฺขิตมานสาโน ความว่า มานสานํ ก็คือ มานสํ นั่นเอง. ชื่อว่าผู้รักษาใจ เพราะรักษาใจนั้นไว้ได้. ท่านอธิบายว่า เป็นผู้รักษาจิตไว้ได้โดยประการที่ไม่ถูกกิเลสปล้น.
               บทว่า อนวสฺสุโต ความว่า ผู้เว้นจากการถูกกิเลสรั่วรดในอารมณ์นั้นๆ ด้วยการปฏิบัตินี้.
               บทว่า อปริฑยฺหมาโน ได้แก่ ไม่ถูกไฟกิเลสเผา.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ไม่ถูกกิเลสรั่วรดภายนอก ไม่ถูกไฟกิเลสเผาในภายใน.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบพรรณนาโอกขิตตจักขุคาถา               
               พรรณนาปาริจฉัตตกคาถา               
               คาถาว่า โอหารยิตฺวา ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในนครพาราณสีมีพระราชาอีกองค์พระนามว่าจาตุมาสิกพรหมทัต เสด็จไปเล่นอุทยานทุกๆ ๔ เดือน.
               วันหนึ่ง พระองค์เสด็จเข้าไปยังอุทยาน ในเดือนกลางของฤดูคิมหันต์ ทรงเห็นต้นทองหลางดารดาษด้วยใบ มีกิ่งและค่าคบประดับด้วยดอก ที่ประตูอุทยาน ทรงถือเอาหนึ่งดอกแล้วเสด็จเข้าไปยังอุทยาน.
               ลำดับนั้น อำมาตย์คนหนึ่งผู้อยู่บนคอช้าง คิดว่า พระราชาทรงถือเอาดอกชั้นเลิศไปแล้ว จึงได้ถือเอาหนึ่งดอกเหมือนกัน. หมู่พลทั้งหมดต่างได้ถือเอาโดยอุบายเดียวกัน. พวกที่ไม่ชอบดอก แม้ใบก็ถือเอาไป.
               ต้นไม้นั้นไม่มีใบและดอก ได้มีอยู่สักว่าลำต้นเท่านั้น.
               เวลาเย็น พระราชาเสด็จออกจากอุทยาน ทรงเห็นดังนั้น จึงทรงดำริว่า ทำไมคนจึงทำกับต้นไม้นี้ ตอนเวลาที่เรามา ต้นไม้นี้ยังประดับด้วยดอก เช่นกับแก้วประพาฬที่ระหว่างกิ่งอันมีสีดุจแก้วมณี มาบัดนี้กลับไม่มีใบและดอก.
               เมื่อกำลังทรงดำริอยู่ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ไม่มีดอก มีใบสะพรั่งในที่ไม่ไกลต้นทองหลางนั้นเอง และพระองค์ครั้นทรงเห็นแล้ว ได้มีพระดำริดังนี้ว่า ต้นไม้นี้เป็นที่ตั้งแห่งความอยากได้ของชนเป็นอันมาก เพราะมีกิ่งเต็มด้วยดอก ด้วยเหตุนั้น จึงถึงความพินาศไปโดยครู่เดียวเท่านั้น ส่วนต้นไม้อื่นต้นนี้คงตั้งอยู่เหมือนเดิม เพราะไม่เป็นที่ตั้งแห่งความอยากได้.
               ก็ราชสมบัตินี้เล่า ก็เป็นที่ตั้งแห่งความอยากได้ เหมือนต้นไม้มีดอกฉะนั้น ส่วนภิกขุภาวะไม่เป็นที่ตั้งแห่งความอยากได้ เหมือนต้นไม้ที่ไม่มีดอก. เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ราชสมบัติแม้นี้ยังไม่ถูกชิงเหมือนต้นไม้นี้ ตราบนั้น เราจะนุ่งห่มผ้ากาสาวะบวช เหมือนต้นทองหลางต้นอื่นนี้ที่ไม่มีใบดารดาษอยู่ฉะนั้น.
               พระองค์จึงทรงสละราชสมบัติผนวช ทรงเห็นแจ้งอยู่ ได้กระทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ แล้วได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บาทคาถาว่า กาสายวตฺโถ อภินิกฺขมิตฺวา นี้ พึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า เสด็จออกจากตำหนักเป็นผู้นุ่งห่มผ้ากาสายะ.
               คำที่เหลืออาจรู้แจ้งได้โดยนัยดังกล่าวแล้วแล เพราะเหตุนั้น จึงไม่ต้องกล่าวให้พิสดาร.
               จบพรรณนาปาริจฉัตตกคาถา               
               จบวรรคที่ ๓               
               พรรณนารสเคธคาถา               
               คาถาว่า รเสสุ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระเจ้าพาราณสีองค์หนึ่ง อันบุตรอำมาตย์ทั้งหลายห้อมล้อมอยู่ในอุทยาน ทรงเล่นอยู่ในสระโบกขรณีอันมีแผ่นศิลา. พ่อครัวของพระองค์เอารสของเนื้อทุกชนิดมาหุงอันตรภัต (อาหารว่าง) อันปรุงอย่างดีเยี่ยม ประดุจอมฤตรสแล้วน้อมเข้าไปถวาย.
               พระองค์ทรงติดในรสนั้น ไม่ทรงประทานอะไรๆ แก่ใครๆ เสวยเฉพาะพระองค์เท่านั้น. ทรงเล่นน้ำอยู่ จึงเสด็จออกไปในเวลาพลบค่ำเกินไป แล้วรีบๆ เสวย. บรรดาคนที่พระองค์เคยเสวยร่วมด้วยในกาลก่อนนั้น พระองค์มิได้ทรงระลึกถึงใครๆ.
               ครั้นภายหลัง ทรงยังการพิจารณาให้เกิดขึ้น ทรงทราบว่า โอ! เราถูกความอยากในรสครอบงำ ลืมชนทั้งปวงเสีย บริโภคเฉพาะคนเดียวนั้น ได้กระทำกรรมอันลามกแล้ว เอาเถอะ เราจักข่มความอยากในรสนั้น ครั้นทรงดำริแล้วจึงสละราชสมบัติผนวช เจริญวิปัสสนากระทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ.
               เมื่อจะทรงติเตียนการปฏิบัติอันมีในก่อนของพระองค์ จึงได้ตรัสอุทานคาถานี้ อันแสดงคุณตรงกันข้ามกับการปฏิบัตินั้น.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รเสสุ ได้แก่ ในของควรลิ้มอันต่างด้วยรสเปรี้ยว รสหวาน รสขม รสเผ็ด รสเค็ม รสแสบและรสฝาดเป็นต้น.
               บทว่า เคธํ อกรํ แปลว่า ไม่กระทำความอยากได้. อธิบายว่า ไม่ยังตัณหาให้เกิดขึ้น.
               บทว่า อโลโล ไม่หมกมุ่นในความวิเศษของรสทั้งหลายอย่างนี้ว่า เราจักลิ้มสิ่งนี้ เราจักลิ้มสิ่งนี้.
               บทว่า อนญฺญโปสี ได้แก่ ผู้เว้นจากสัทธิวิหาริกที่จะต้องเลี้ยงดูเป็นต้น. อธิบายว่า เป็นผู้สันโดษด้วยเหตุสักว่าทรงร่างกายไว้.
               อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า ชื่อว่าผู้ไม่เลี้ยงดูคนอื่น เพราะไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เรามีปกติกระทำความอยากในรสทั้งหลายในอุทยาน เลี้ยงดูคนอื่น ละตัณหาอันเป็นเหตุให้โลภกระทำความอยากในรสทั้งหลายนั้นเสีย แล้วไม่ทำอัตภาพอื่นซึ่งมีตัณหาเป็นมูลรากให้บังเกิดต่อไป.
               อีกอย่างหนึ่ง ในบทนี้มีเนื้อความดังนี้ว่า กิเลสทั้งหลายเรียกว่าอัญญะ เพราะอรรถว่ายังอัตภาพให้เกิด. ชื่อว่า อนัญญโปสี เพราะไม่เลี้ยงดูกิเลสเหล่านั้น.
               บทว่า สปทานจารี ได้แก่ มีปกติเที่ยวไปไม่แวะออก (นอกทาง) คือมีปกติเที่ยวไปโดยลำดับ อธิบายว่า ไม่ละลำดับเรือน เข้าไปบิณฑบาตติดต่อกันไป ทั้งตระกูลมั่งคั่งและตระกูลเข็ญใจ.
               บทว่า กุเล กุเล อปฺปฏิพทฺธจิตฺโต ได้แก่ มีจิตไม่ข้องอยู่ในตระกูลกษัตริย์เป็นต้นตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ด้วยอำนาจกิเลส. อธิบายว่า เป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิตย์ อุปมาดังพระจันทร์.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบพรรณนารสเคธคาถา               
               พรรณนาอาวรณคาถา               
               คาถาว่า ปหาย ปญฺจาวรณานิ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาองค์หนึ่งในนครพาราณสี เป็นผู้ได้ปฐมฌาน. เพื่อจะทรงอนุรักษ์ฌานนั้น พระองค์จึงทรงละราชสมบัติออกผนวช เห็นแจ้งอยู่ จึงทรงบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ เมื่อจะทรงแสดงปฏิปัตติสัมปทาของพระองค์ จึงได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปญฺจาวรณานิ ได้แก่ นิวรณ์ ๕ นั่นเอง.
               นิวรณ์ ๕ นั้น โดยใจความได้กล่าวไว้แล้วในอุรคสูตร.
               ก็เพราะเหตุที่นิวรณ์เหล่านั้นกั้นจิตไว้ เหมือนหมอกเป็นต้นกั้นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ฉะนั้น จึงเรียกว่าเป็นเครื่องกั้นจิต. อธิบายว่า พึงละ คือละขาดซึ่งนิวรณ์เหล่านั้น ด้วยอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ.
               บทว่า อุปกฺกิเลเส ได้แก่ อกุศลธรรมซึ่งเข้าไปเบียดเบียนจิต.
               อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ อภิชฌาเป็นต้นซึ่งกล่าวไว้ในวัตโถปมสูตรเป็นต้น.
               บทว่า พฺยปนุชฺช แปลว่า บรรเทา. อธิบายว่า ละขาดด้วยวิปัสสนาและมรรค.
               บทว่า สพฺเพ ได้แก่ ไม่เหลือ.
               บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยสมถวิปัสสนาอย่างนี้ ชื่อว่าผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย เพราะละทิฏฐินิสัยได้แล้วด้วยปฐมมรรค, ตัดโทษคือความเสน่หา อธิบายว่า ตัณหาและราคะอันเป็นไปในไตรธาตุ ด้วยมรรคที่เหลือ.
               จริงอยู่ ความเสน่หาเท่านั้นท่านเรียกว่า สิเนหโทษ เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อคุณ.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบพรรณนาอาวรณคาถา               
               พรรณนาวิปิฏฐิคาถา               
               คาถาว่า วิปิฏฺฐิกตฺวาน ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาองค์หนึ่งในนครพาราณสี ได้เป็นผู้ได้จตุตถฌาน.
               แม้พระราชานั้น เพื่อจะอนุรักษ์ฌาน ก็ทรงสละราชสมบัติออกผนวช เห็นแจ้งอยู่ ได้ทรงทำให้แจ้งปัจเจกโพธิญาณ เมื่อจะทรงแสดงปฏิปัตติสัมปทาของพระองค์ จึงได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิปิฏฺฐิกตฺวาน แปลว่า กระทำไว้ข้างหลัง. อธิบายว่า ทิ้งคือละ.
               บทว่า สุขญฺจ ทุกฺขํ ได้แก่ ความยินดีและความไม่ยินดีทางกาย.
               บทว่า โสมนสฺสโทมนสฺสํ ได้แก่ ความยินดีและความไม่ยินดีทางใจ.
               บทว่า อุเปกฺขํ ได้แก่ อุเบกขาในจตุตถฌาน.
               บทว่า สมถํ ได้แก่ สมาธิในจตุตถฌานเท่านั้น.
               บทว่า วิสุทฺธํ ความว่า ชื่อว่าบริสุทธิ์ยิ่ง เพราะพ้นจากธรรมอันเป็นข้าศึก ๙ ประการ คือนิวรณ์ ๕ และวิตก วิจาร ปีติ สุข. อธิบายว่า ปราศจากอุปกิเลส ดุจทองคำอันขัดแล้ว.
               ส่วนวาจารวบรวมความมีดังต่อไปนี้.
               กระทำสุขและทุกข์ในกาลก่อนเท่านั้นไว้ข้างหลัง อธิบายว่า กระทำทุกข์ไว้ข้างหลังในอุปจารแห่งปฐมฌาน กระทำสุขไว้ข้างหลังในอุปจารแห่งตติยฌาน.
               นำ อักษรที่กล่าวไว้เบื้องต้นกลับไปไว้เบื้องปลาย สำเร็จรูปว่า โสมนสฺสํ โทมนสฺสญฺจ วิปิฏฺฐิกตฺวาน ปุพฺเพว ทำโสมนัสและโทมนัสก่อนๆ ไว้ข้างหลัง ดังนี้.
               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงแสดงว่า ทำโสมนัสไว้ข้างหลังในอุปจารแห่งจตุตถฌาน และทำโทมนัสไว้ข้างหลังในอุปจารแห่งทุติยฌาน.
               จริงอยู่ ฌานเหล่านี้เป็นฐานสำหรับละโสมนัสและโทมนัสโดยอ้อม. แต่เมื่อว่าโดยตรง ปฐมฌานเป็นฐานสำหรับละทุกข์ ทุติยฌานเป็นฐานสำหรับละสุข จตุตถฌานเป็นฐานสำหรับละโสมนัส.
               เหมือนดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า คำทั้งปวงมีอาทิว่า พระโยคีเข้าถึงฌานที่หนึ่งอยู่ ทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้วในฌานที่หนึ่งนี้ ย่อมดับสิ้นเชิง. กระทำทุกข์โทมนัสและสุขไว้ข้างหลังในฌาน ๓ มีปฐมฌานเป็นต้น ชื่อว่าในกาลก่อนฉันใด ในที่นี้ก็ฉันนั้น กระทำโสมนัสไว้ข้างหลังในจตุตถฌาน ได้อุเบกขาและสมถะอันบริสุทธิ์ด้วยปฏิปทานี้ แล้วพึงเที่ยวไปผู้เดียว.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้ว ฉะนี้แล.
               จบพรรณนาวิปิฏฐิคาถา               
               พรรณนาอารัทธวีริยคาถา               
               คาถาว่า อารทฺธวีริโย ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาปัจจันตประเทศองค์หนึ่งมีทหารหนึ่งพันเป็นกำลัง เป็นผู้มีราชสมบัติเพียงเล็กน้อย แต่เป็นผู้มีพระปัญญามาก.
               วันหนึ่ง พระองค์ทรงดำริว่า เราเป็นผู้มีราชสมบัติน้อยก็จริง แต่ถึงอย่างนั้น เรามีปัญญาอาจสามารถเพื่อยึดเอาชมพูทวีปทั้งสิ้นได้ จึงทรงส่งทูตไปยังพระราชาใกล้เคียงว่า ภายใน ๗ วันพระเจ้าสามันตราชจงมอบราชสมบัติให้แก่เรา หรือว่าจะทำการรบกับเรา.
               จากนั้น พระองค์ก็ให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ของพระองค์แล้วตรัสว่า เรายังมิได้บอกกล่าวท่านทั้งหลายเลย กระทำกรรมไปโดยพลการ เราส่งสารอย่างนี้ไปให้แก่พระราชาโน้นแล้ว เราควรกระทำอย่างไร. เหล่าอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์อาจให้ทูตนั้นกลับได้หรือ พระเจ้าข้า.
               พระราชาตรัสว่า ไม่อาจ ทูตจักไปแล้ว.
               อำมาตย์กราบทูลว่า ถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้น พระองค์ได้ทรงทำพวกข้าพระบาทให้พินาศเสียแล้ว เพราะการตายด้วยศาสตราของคนอื่นลำบาก เอาเถิดพวกข้าพระบาทจะฆ่ากันและกันตาย จะฆ่าตัวตาย จะแขวน (คอตาย) จะกินยาพิษ (ตาย).
               บรรดาอำมาตย์เหล่านั้นคนหนึ่งๆ พรรณนาเฉพาะความตายเท่านั้น ด้วยประการอย่างนี้.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสว่า เราจะประโยชน์อะไรด้วยอำมาตย์เหล่านี้ นี่แน่ะพนาย ทหารทั้งหลายของเรามีอยู่.
               ลำดับนั้น ทหารพันคนก็ลุกขึ้นกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ข้าพระบาทเป็นทหาร ข้าแต่มหาราช ข้าพระบาทเป็นทหาร.
               พระราชาทรงดำริว่า เราจักทดลองทหารเหล่านี้จึงรับสั่งให้จัดแจงเชิงตะกอนใหญ่แล้วตรัสว่า นี่แน่ะพนาย เรื่องนี้เรากระทำลงไปด้วยความผลุนผลัน อำมาตย์ทั้งหลายคัดค้านเราเรื่องนั้น เรานั้นจักเข้าสู่เชิงตะกอน ใครจักเข้าไปกับเรา ใครจะเสียสละชีวิตเพื่อเรา.
               เมื่อตรัสอย่างนี้แล้ว ทหาร ๕๐๐ คนก็ลุกขึ้นกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช พวกข้าพระบาทจักเข้าไปพระเจ้าข้า.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสกะทหารอีก ๕๐๐ คนนอกนี้ว่า พ่อทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายจักทำอะไร.
               ทหารเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช นี้มิใช่การกระทำเยี่ยงลูกผู้ชาย อันนี้เป็นจริยาของผู้หญิง อีกอย่างหนึ่ง มหาราชก็ได้ส่งทูตไปแก่พระราชาฝ่ายข้าศึกแล้ว พวกข้าพระบาทนั้นจักรบกับพระราชานั้นจนตาย.
               แต่นั้นพระราชาจึงตรัสว่า พวกท่านบริจาคชีวิตเพื่อเรา จึงจัดกองทัพอันประกอบด้วยองค์ ๔ อันทหารพันคนนั้นห้อมล้อมเสด็จไปประทับนั่งในเขตแดนแห่งราชอาณาจักร.
               พระราชาฝ่ายข้าศึกนั้นได้ทรงสดับเรื่องราวนั้น ทรงพระพิโรธว่า ชะช้า! พระราชาน้อยๆ นั้น ไม่เพียงพอแม้แก่ทาสของเรา จึงพา หมู่พลทั้งปวงออกไปเพื่อจะสู้รบ.
               พระราชาน้อยนั้นทรงเห็นพระราชาฝ่ายข้าศึกยกออกมา จึงตรัสกะหมู่พลว่า นี่แน่ะพ่อทั้งหลาย พวกท่านมีไม่มาก ท่านทั้งหมดจงรวมกันถือดาบและโล่ รีบไปตรงหน้าพระราชานี้. ทหารเหล่านั้นได้กระทำเหมือนอย่างนั้น.
               ทีนั้น กองทัพของพระราชานั้น ได้แยกออกเป็นสองฝ่ายให้ระหว่างทหารเหล่านั้น จึงจับเป็นพระราชานั้นได้ แล้วถวายแก่พระราชาของตนผู้เสด็จมาด้วยหวังพระทัยว่า จักฆ่าพระราชานั้น.
               พระราชาฝ่ายข้าศึกทูลขออภัยพระราชาน้อยนั้น.
               พระราชาทรงให้อภัยแก่พระราชาฝ่ายข้าศึกแล้วให้ทรงกระทำการสบถ ทรงทำไว้ในอำนาจของพระองค์แล้วทรงมุ่งเข้าหาพระราชาอื่นพร้อมกับพระราชาฝ่ายข้าศึกนั้น ทรงตั้งอยู่ในเขตแดนแห่งราชอาณาจักรของพระราชานั้นแล้วทรงส่งสารไปว่า จะให้ราชสมบัติแก่เราหรือว่าจะรบ.
               พระราชานั้นทรงส่งสารมาว่า หม่อมฉันย่อมทนไม่ได้แม้แต่การรบครั้งเดียว แล้วมอบถวายราชสมบัติ. พระราชาน้อยทรงจับพระราชาทั้งปวงได้โดยอุบายนี้ แล้วได้ทรงจับเอาแม้พระเจ้าพาราณสีไว้ในภายใน.
               พระราชาน้อยนั้นอันพระราชา ๑๐๑ องค์ห้อมล้อม ทรงครอบครองราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น จึงทรงดำริว่า เมื่อก่อนเราเป็นพระราชาน้อย แต่บัดนี้ เราเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่แห่งมณฑลในชมพูทวีปทั้งสิ้น เพราะญาณสมบัติของตน ก็ญาณของเรานั้นแลประกอบด้วยความเพียรอันเป็นโลกิยะ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด ไฉนหนอ เราพึงแสวงหาโลกุตรธรรมด้วยญาณนี้.
               ลำดับนั้น พระองค์จึงทรงมอบราชสมบัติแก่พระเจ้าพาราณสี และตั้งบุตรและทาระไว้ในชนบทของพระองค์ ทรงละสิ่งทั้งปวง เสด็จออกผนวช ปรารภวิปัสสนาแล้วทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ เมื่อจะทรงแสดงวิริยสมบัติของพระองค์ จึงได้ตรัสอุทานคาถานี้.
               ในอุทานคาถานั้น พึงทำวิเคราะห์ดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่าผู้ปรารภความเพียรเพราะมีความเพียรอันปรารภแล้ว. ด้วยบทนี้ทรงแสดงถึงความที่พระองค์เป็นผู้มีความเพียรใหญ่. พระนิพพาน ท่านเรียกว่าปรมัตถะ. การบรรลุพระนิพพานนั้น ชื่อว่าปรมัตถปัตติ. เพื่อบรรลุพระนิพพานอันชื่อว่าปรมัตถะนั้น. ด้วยบทนี้ ทรงแสดงถึงผลที่พึงบรรลุด้วยการปรารภความเพียรนั้น.
               ด้วยบทว่า อลีนจิตฺโต นี้ ทรงแสดงถึงความไม่หดหู่ของจิตและเจตสิกซึ่งมีความเพียรเป็นผู้อุปถัมภ์.
               ด้วยบทว่า อกุสีตวุตฺติ นี้ ทรงแสดงถึงการไม่จมลงแห่งกาย ในการยืนและการจงกรมเป็นต้น.
               ด้วยบทว่า ทฬฺหนิกฺกโม นี้ ทรงแสดงถึงความเพียรที่เริ่มตั้งไว้ซึ่งเป็นไปอย่างนี้ว่า กามํ ตโจ จ นหารุ จ จะเหลือแต่หนังและเอ็นก็ตามดังนี้. ซึ่งบุคคลเริ่มตั้งไว้ในอนุบุพสิกขาเป็นต้น ท่านเรียกว่า กระทำให้แจ้งปรมัตถสัจจะด้วยกาย.
               อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบทว่า ทฬฺหนิกฺกโม นี้ทรงแสดงถึงความเพียรอันสัมปยุตด้วยมรรค.
               ก็ความเพียรนั้น ชื่อว่ามั่น เพราะถึงความบริบูรณ์แห่งการอบรม ชื่อว่าเป็นเครื่องก้าวออก เพราะออกจากปฏิปักษ์โดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น แม้บุคคลผู้พร้อมพรั่งด้วยความเพียรนั้น ท่านเรียกว่าทัฬหนิกมะ เพราะมีความเพียรเครื่องก้าวออกอันมั่น.
               บทว่า ถามพลูปปนฺโน ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยกำลังแรงกายและกำลังญาณในขณะมรรค. อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยพละกำลังอันเป็นเรี่ยวแรง. ท่านอธิบายว่า เป็นผู้ประกอบด้วยกำลังญาณอันมั่นคง.
               ด้วยบทว่า ถามพลูปปนฺโน นี้ ท่านแสดงถึงความประกอบพร้อมด้วยวิปัสสนาญาณแห่งความเพียรนั้น จึงทำปธานคือความเพียรเครื่องประกอบให้สำเร็จ.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงประกอบบาททั้ง ๓ ด้วยความเพียรอันเป็นชั้นต้น ชั้นกลางและชั้นสูง.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วแล.
               จบพรรณนาอารัทธวีริยคาถา               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=147&Z=289
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=3800
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=3800
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :