ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

หน้าต่างที่ ๓ / ๗.

               พรรณนาสังสัคคคาถา               
               คาถาว่า สํสคฺคชาตสฺส ดังนี้เป็นต้น มีเหตุเกิดขึ้นอย่างไร?
               พระปัจเจกโพธิสัตว์แม้นี้ ก็กระทำสมณธรรมโดยนัยเรื่องก่อนนั้นแล ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสป สองหมื่นปี กระทำกสิณบริกรรมยังปฐมฌานให้บังเกิดแล้ว กำหนดนามและรูป พิจารณาลักษณะ ยังไม่บรรลุอริยมรรค จึงบังเกิดในพรหมโลก.
               พระปัจเจกโพธิสัตว์นั้น์จุติจากพรหมโลกนั้นแล้ว อุบัติในครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี เจริญวัยขึ้นโดยนัยก่อนนั่นแล อาศัยกาลจำเดิมแต่ที่ได้รู้ความแปลกกันว่า ผู้นี้เป็นหญิง ผู้นี้เป็นชายแล้ว ไม่ชอบอยู่ในมือของพวกผู้หญิง ไม่ยินดีแม้มาตรว่าการอบ การอาบน้ำและการประดับเป็นต้น บุรุษเท่านั้นเลี้ยงดูพระปัจเจกโพธิสัตว์นั้น ในเวลาจะให้ดื่มนม แม่นมทั้งหลายสวมเสื้อปลอมเพศเป็นชายให้ดื่มนม.
               พระปัจเจกโพธิสัตว์นั้นได้สูดกลิ่นหรือได้ยินเสียงของหญิงทั้งหลายเข้าก็ร้องไห้ แม้รู้เดียงสาแล้วก็ไม่ปรารถนาจะพบเห็นผู้หญิงทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น คนทั้งหลายจึงให้สมญานามพระโพธิสัตว์นั้นว่า อนิตถิคันธกุมาร.
               เมื่ออนิตถิคันธกุมารนั้นมีพระชนม์ ๑๖ พรรษา พระราชาทรงดำริว่าจักให้ดำรงวงศ์สกุล จึงให้นำสาวน้อยผู้เหมาะสมแก่พระกุมารนั้นมา แล้วทรงสั่งอำมาตย์ผู้หนึ่งว่า ท่านจงทำให้พระกุมารยินดี. อำมาตย์มีความประสงค์จะให้พระกุมารนั้นยินดีด้วยอุบาย จึงให้แวดวงปราการม่านในที่ไม่ไกลพระกุมารนั้น แล้วให้พวกหญิงฟ้อนรำประกอบการแสดง.
               พระกุมารได้ฟังเสียงขับร้องและเสียงประโคมดนตรี จึงตรัสถามว่า นี้เสียงของของใคร. อำมาตย์กราบทูลว่า นี้เป็นเสียงของพวกหญิงฟ้อนรำของพระองค์ ผู้มีบุญทั้งหลายจึงจะมีการฟ้อนรำเช่นนี้ ข้าแต่เทวะ ขอพระองค์จงอภิรมย์เถิด พระองค์เป็นผู้มีบุญมาก.
               พระกุมารให้เฆี่ยนอำมาตย์ด้วยไม้แล้วให้ลากตัวออกไป. อำมาตย์นั้นจึงกราบทูลแก่พระราชา. พระราชาเสด็จไปพร้อมกับพระชนนีของพระกุมาร ให้พระกุมารขอโทษแล้วทรงสั่งอำมาตย์อีก.
               พระกุมารถูกพระบิดาเป็นต้นเหล่านั้นบีบคั้นหนักเข้า จึงให้ทองคำเนื้อดีเยี่ยมแล้วสั่งพวกช่างทองว่า พวกท่านจงทำรูปหญิงให้งดงาม. ช่างทองเหล่านั้นกระทำรูปหญิงประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง ประดุจพระวิสสุกรรมเทวบุตรเนรมิตแล้วให้ทอดพระเนตร.
               พระกุมารทรงเห็นแล้ว ทรงสั่นพระเศียรด้วยความประหลาดพระทัย แล้วให้ส่งไปถวายพระชนกและพระชนนีด้วยคำทูลว่า ถ้าหม่อมฉันได้สตรีผู้เช่นนี้ จักรับเอา. พระชนกและชนนีตรัสกันว่า บุตรของเรามีบุญมาก ทาริกาบางนางผู้ได้ทำบุญร่วมกับบุตรของเรานั้น จักเกิดขึ้นในโลกแล้วอย่างแน่นอน จึงให้ยกรูปทองนั้นขึ้นรถได้สั่งไปแก่พวกอำมาตย์ว่า ท่านทั้งหลายจงไปเที่ยวแสวงหาทาริกาผู้เช่นรูปทองนี้.
               อำมาตย์เหล่านั้นพารูปทองนั้นเที่ยวไปในชนบทใหญ่ๆ ๑๖ ชนบท ไปถึงบ้านนั้นๆ เห็นหมู่ชนในที่ใดๆ มีท่าน้ำเป็นต้น จึงตั้งรูปทองเสมือนหนึ่งเทวดาไว้ในที่นั้นๆ ทำการบูชาด้วยดอกไม้ ผ้าและเครื่องประดับต่างๆ ดาดเพดานแล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งด้วยหวังใจว่า ถ้าใครๆ จักเคยเห็นทาริกาเห็นปานนี้ เขาจักสั่งสนทนาขึ้น.
               อำมาตย์ทั้งหลายท่องเที่ยวไปทั่วทุกชนบทโดยอุบายนั้น ยกเว้นแคว้นมัททราฐ ดูหมิ่นแคว้นมัททราฐนั้นว่าเป็นแคว้นเล็ก ครั้งแรกจึงไม่ไปในแคว้นนั้น พากันกลับเสีย.
               ลำดับนั้น อำมาตย์เหล่านั้นได้ความคิดดังนี้ว่า ก่อนอื่น แม้มัททราฐ พวกเราก็จะไป เราทั้งหลายแม้เข้าไปยังเมืองพาราณสีแล้ว พระราชาจะได้ไม่ส่งไปอีก ครั้นคิดกันดังนี้แล้ว อำมาตย์เหล่านั้นจึงได้ไปยังสาคลนครในแคว้นมัททราฐ.
               ก็ในสาคลนครมีพระราชาพระนามว่ามัททวะ. ธิดาของพระองค์ พระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา มีพระรูปโฉมงดงาม. พวกนางวัณณทาสีของพระราชธิดานั้น พากันไปท่าน้ำเพื่อต้องการจะอาบน้ำ เห็นรูปทองนั้นที่พวกอำมาตย์ตั้งไว้ที่ท่าน้ำนั้นแต่ไกล พากันกล่าวว่า พระราชบุตรีส่งพวกเรามาเพื่อต้องการน้ำ แล้วยังเสด็จมาด้วยพระองค์เอง จึงไปใกล้ๆ แล้วกล่าวว่า นี้ไม่ใช่เจ้านายหญิง เจ้านายหญิงของพวกเรามีรูปโฉมงดงามกว่านี้. อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังดังนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระราชาแล้วทูลขอทาริกา โดยนัยอันเหมาะสม แม้พระราชาก็ได้ประทานให้.
               อำมาตย์เหล่านั้นจึงส่งข่าวแก่พระเจ้าพาราณสีว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ทั้งหลายได้นางกุมาริกาแล้ว พระองค์จะเสด็จมาเอง หรือจะให้ข้าพระองค์ทั้งหลายนำมา พระราชาทรงส่งพระราชสาสน์ไปว่า เมื่อเรามาความลำบากในเพราะชนบทจักเกิดมี พวกท่านนั่นแหละจงนำมา.
               ฝ่ายอำมาตย์ทั้งหลายพานางทาริกาออกจากนคร แล้วส่งข่าวแก่พระกุมารว่า ได้นางกุมาริกาผู้เช่นกับรูปทองแล้ว. พระกุมารพอได้ฟังเท่านั้นถูกราคะครอบงำก็เสื่อมจากปฐมฌาน. พระกุมารนั้นจึงส่งข่าวไปโดยทูตสืบๆ กัน (คือทยอยส่งทูตไปเรื่อยๆ) ว่าพวกท่านจงรีบนำมา พวกท่านจงรีบนำมา โดยการพักแรมอยู่ในที่ทุกแห่งคืนเดียว อำมาตย์เหล่านั้นก็ถึงเมืองพาราณสี จึงตั้งอยู่ภายนอกพระนคร ส่งข่าวถวายพระราชาว่า ควรจะเข้าไปวันนี้หรือไม่.
               พระราชาตรัสว่า กุมาริกานำมาจากสกุลอันประเสริฐ พวกเรากระทำมงคลกิริยาแล้วจักให้เข้าไปด้วยสักการะยิ่งใหญ่ ท่านทั้งหลายจงนำนางไปยังอุทยานก่อน. อำมาตย์เหล่านั้นได้กระทำตามรับสั่งอย่างนั้น.
               กุมาริกานั้นเป็นหญิงละเอียดอ่อนเกินไปบอบช้ำเพราะยานกระแทก เกิดโรคลมเพราะความลำบากในหนทางไกล เป็นประหนึ่งดอกไม้เหี่ยว จึงได้ตายไปในเวลาตอนกลางคืน.
               อำมาตย์ทั้งหลายพากันปริเทวนาการว่า พวกเราเป็นผู้พลาดจากสักการะเสียแล้ว. พระราชาและชาวพระนครต่างร่ำไรว่า สกุลวงศ์พินาศเสียแล้ว. พระนครทั้งสิ้นได้เป็นโกลาหลวุ่นวาย ในเพราะเพียงแต่ได้ฟังข่าวเท่านั้น ความโศกอย่างมหันต์ก็เกิดขึ้นแก่พระกุมารแล้ว.
               ลำดับนั้น พระกุมารเริ่มขุดรากของความโศก พระองค์ทรงดำริอย่างนี้ว่า ชื่อว่าความโศกนี้ ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิด แต่สำหรับผู้เกิดแล้วย่อมมีความโศก เพราะฉะนั้น ความโศกมีเพราะอาศัยชาติ ก็ชาติมีเพราะอาศัยอะไร ทรงรู้ว่าชาติมีเพราะอาศัยภพ.
               เมื่อทรงมนสิการโดยแยบคาย ด้วยอานุภาพของการอบรมภาวนาในกาลก่อนด้วยประการอย่างนี้ จึงได้เห็นปฏิจจสมุปบาททั้งอนุโลมและปฏิโลม และเมื่อกลับพิจารณาสังขารทั้งหลายเป็นอนุโลมอีก ประทับนั่งอยู่ในที่นั้นแหละ ได้กระทำให้แจ้งพระปัจเจกสัมโพธิญาณ.
               อำมาตย์ทั้งหลายเห็นพระกุมารนั้น มีความสุขด้วยสุขในมรรคและผล มีอินทรีย์สงบ มีใจสงบประทับนั่งอยู่ จึงกระทำการหมอบกราบแล้วทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์อย่าได้ทรงเศร้าโศกเลย ชมพูทวีปใหญ่โตข้าพระองค์ทั้งหลายจักนำนางกัญญาอื่นซึ่งงามกว่านั้นมาถวาย.
               พระกุมารนั้นตรัสว่า เรามิได้เศร้าโศก เราหมดโศก เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว.
               เบื้องหน้าแต่นี้ไปเรื่องทั้งปวงเป็นเช่นกับคาถาแรกที่กล่าวมาแล้วนั่นแล ยกเว้นการพรรณนาคาถา.
               ก็การพรรณนาคาถาพึงทราบอย่างนี้.
               บทว่า สํสคฺคชาตสฺส แปลว่า ผู้เกิดความเกี่ยวข้อง.
               ในบทว่า เกิดความเกี่ยวข้อง นั้น ความเกี่ยวข้องมี ๕ อย่างด้วยอำนาจการเกี่ยวข้องด้วยการเห็น เกี่ยวข้องด้วยการฟัง เกี่ยวข้องด้วยกาย เกี่ยวข้องด้วยการเจรจาและเกี่ยวข้องด้วยการกินร่วมกัน.
               ในการเกี่ยวข้อง ๕ อย่างนั้น ราคะเกิดทางจักขุวิญญาณวิถี เพราะเห็นกันและกัน ชื่อว่าทัสสนสังสัคคะ เกี่ยวข้องด้วยการเห็น. ในข้อนั้น มีธิดาของกุฏุมพีชาวกาฬทีฆวาปี ในเกาะสิงหล เห็นภิกษุหนุ่มผู้กล่าวทีฆนิกายผู้อยู่ในกัลยาณวิหาร ซึ่งกำลังเที่ยวบิณฑบาตมีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ ไม่ได้ภิกษุหนุ่มนั้นด้วยอุบายอะไรๆ จึงตายไป และภิกษุหนุ่มรูปนั้นแหละเห็นท่อนผ้านุ่งห่มของนางคิดว่า เราไม่ได้อยู่ร่วมกับนางผู้นุ่งห่มผ้าเห็นปานนี้ มีหทัยแตกตายเป็นตัวอย่าง.
               ราคะเกิดทางโสตวิญญาณวิถี เพราะได้ฟังรูปสมบัติเป็นต้นที่คนอื่นกล่าว หรือได้ฟังเสียงหัวเราะ เสียงเจรจาและเสียงขับร้องด้วยตนเอง ชื่อว่าสวนสังสัคคะ เกี่ยวข้องด้วยการฟัง. แม้ในข้อนั้น ก็มีพระภิกษุหนุ่มชื่อติสสะผู้อยู่ในปัญจัคคฬเลนะ ได้ยินเสียงของธิดาช่างทองผู้อยู่ในคิริคาม ไปสระปทุมพร้อมกับนางกุมาริกา ๕๐๐ นางอาบน้ำ เก็บดอกไม้แล้วขับร้องด้วยเสียงสูง (ท่าน) กำลังไปทางอากาศ เสื่อมจากคุณวิเศษเพราะกามราคะ จึงถึงความพินาศ เป็นตัวอย่าง.
               ราคะที่เกิดขึ้นเพราะการลูบคลำอวัยวะของกันและกัน ชื่อว่ากายสังสัคคะ ความเกี่ยวข้องด้วยกาย. ก็ภิกษุหนุ่มผู้กล่าวธรรมะและราชธิดาเป็นตัวอย่างในข้อนี้.
               ได้ยินว่า ภิกษุหนุ่มในมหาวิหารกล่าวธรรมะ มหาชนพากันมาในวิหารนั้น แม้พระราชากับพระอัครมเหสีและราชธิดาก็ได้เสด็จ มา. แต่นั้น เพราะอาศัยรูปและเสียงของภิกษุหนุ่มนั้น ราคะกล้าจึงเกิดขึ้นแก่ราชธิดา ทั้งเกิดแก่ภิกษุหนุ่มนั้นด้วย.
               พระราชาทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงกำหนดรู้ได้ จึงให้วงปราการคือม่าน. คนทั้งสองนั้นจับต้องสวมกอดกันและกัน. คนทั้งหลายจึงเอาปราการคือม่านออกแล้วมองดูอีกก็ได้เห็นคนทั้งสองตายเสียแล้ว.
               ก็ราคะเกิดขึ้น เพราะอำนาจการเรียกหาและการเจรจากันและกัน ชื่อว่าสมุลสังสัคคะ เกี่ยวข้องด้วยการเจรจากัน.
               ราคะที่เกิดขึ้นเพราะกระทำการบริโภคร่วมกับนางภิกษุณีทั้งหลาย ชื่อว่าสัมโภคสังสัคคะ เกี่ยวข้องด้วยการกินร่วมกัน.
               ในสังสัคคะการเกี่ยวข้องกันทั้งสองนี้ มีภิกษุและภิกษุณีผู้ต้องอาบัติปาราชิกเป็นตัวอย่าง.
               ได้ยินว่า ในคราวฉลองมหาวิหารชื่อว่ามริจวัฏฏิ พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยทรงตระเตรียมมหาทานแล้วอังคาสพระสงฆ์สองฝ่าย. เมื่อเขาถวายยาคูร้อนในมหาทานนั้น สามเณรีผู้ใหม่ในสงฆ์ ได้ถวายกำไลงาแก่สามเณรผู้ใหม่ในสงฆ์ซึ่งไม่มีเชิงรอง แล้วกระทำการเจรจาปราศรัยกัน. คนทั้งสองนั้นได้อุปสมบทแล้ว มีพรรษา ๖๐ ไปยังฝั่งอื่น กลับได้สัญญาเก่าก่อน เพราะการเจรจาปราศรัยกันและกัน ทันใดนั้นจึงเกิดความสิเนหา ได้ล่วงละเมิดสิกขาบท เป็นปาราชิก.
               ความเสน่หาย่อมมีแก่ผู้เกิดการเกี่ยวข้อง ด้วยการเกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาการเกี่ยวข้อง ๕ อย่าง ด้วยประการฉะนี้. ราคะกล้าอันมีราคะเดิมเป็นปัจจัย ย่อมเกิดขึ้น. แต่นั้น ความทุกข์นี้อันเป็นไปตามความเสน่หาย่อมมีมา คือความทุกข์นี้มีประการต่างๆ มีโสกะและปริเทวะเป็นต้น อันเป็นไปในปัจจุบันและเป็นไปในสัมปรายภพ ซึ่งติดตามความเสน่หานั้นนั่นแหละ ย่อมมีมาคือย่อมมีทั่ว ได้แก่ย่อมเกิดขึ้น.
               อาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า การปล่อยจิตในอารมณ์ ชื่อว่าสังสัคคะ. แต่นั้นเป็นเสน่หา และทุกข์อันเกิดจากความเสน่หานี้ ฉะนี้แล.
               พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นกล่าวถึงคาถานี้ ซึ่งมีประเภทแห่งเนื้อความอย่างนี้แล้วจึงกล่าวว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านี้นั้นขุดรากเหง้าของทุกข์ซึ่งมีโศกทุกข์แล้วเป็นต้น อันไปตามความเสน่หานั้นนั่นแหละ ได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้วแล.
               เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว อำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายจะควรกระทำอย่างไร.
               ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า ท่านทั้งหลายหรือคนใดคนหนึ่งมีความประสงค์จะพ้นจากทุกข์นี้ คนแม้ทั้งหมดนั้นเห็นโทษอันเกิดจากความเสน่หา พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               ก็ในที่นี้พึงทราบว่า ท่านหมายเอาคำที่กล่าวว่า ทุกข์นี้อันไปตามความเสน่หาย่อมมีมาก ดังนี้นั้นนั่นแหละ จึงกล่าวคำนี้ว่า เห็นโทษอันเกิดจากความเสน่หาดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง เชื่อมความอย่างนี้ว่า ความเสน่หาย่อมมีแก่ผู้เกิดความเกี่ยวข้องด้วยความเกี่ยวข้องตามที่กล่าวแล้ว ทุกข์นี้เป็นไปตามความเสน่หา ย่อมมีมาก เราเห็นโทษอันเกิดจากความเสน่หาตามความเป็นจริงอย่างนี้ จึงได้บรรลุดังนี้ แล้วพึงทราบว่า ท่านกล่าวบาทที่ ๔ ด้วยอำนาจความเสน่หา โดยนัยดังกล่าวแล้วในเบื้องต้น.
               เบื้องหน้าแต่นั้นไป บททั้งปวงเป็นเช่นกับที่กล่าวแล้วในคาถาแรก ฉะนี้แล.
               จบพรรณนาสังสัคคคาถา               
               พรรณนามิตตสุหัชชคาถา               
               คาถาว่า มิตฺเต สุหชฺเช ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               มีเรื่องเกิดขึ้นว่า พระปัจเจกโพธิสัตว์องค์นี้อุบัติขึ้นแล้วโดยนัยดังกล่าวในคาถาแรกนั้นแล ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี ทำปฐมฌานให้บังเกิดแล้ว ทรงพิจารณาว่า สมณธรรมประเสริฐหรือราชสมบัติประเสริฐ จึงมอบราชสมบัติแก่อำมาตย์ทั้งหลายแล้วได้กระทำสมณธรรม.
               อำมาตย์ทั้งหลายแม้อันพระปัจเจกโพธิสัตว์ตรัสว่า พวกท่านจงกระทำโดยธรรมโดยสม่ำเสมอ ก็รับสินบนกระทำโดยไม่เป็นธรรม. อำมาตย์เหล่านั้นรับสินบนแล้ว ทำเจ้าของทรัพย์ให้แพ้ คราวหนึ่งทำราชวัลลภคนหนึ่งให้แพ้. ราชวัลลภนั้นจึงเข้าไปพร้อมกับพวกปรุงพระกระยาหารของพระราชา แล้วกราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ. ในวันที่สอง พระราชาจึงได้เสด็จไปยังสถานที่วินิจฉัยด้วยพระองค์เอง.
               ลำดับนั้น พวกมหาชนส่งเสียงอื้ออึงขึ้นว่า ข้าแต่สมมติเทพ พวกอำมาตย์กระทำเจ้าของไม่ให้เป็นเจ้าของ พระเจ้าข้า แล้วได้กระทำเหมือนจะรบเป็นการใหญ่. ลำดับนั้น พระราชาจึงเสด็จลุกขึ้นจากที่วินิจฉัยแล้วเสด็จขึ้นยังปราสาท ประทับนั่งเข้าสมาบัติ มีจิตฟุ้งซ่านเพราะเสียงนั้น ไม่อาจเข้าสมาบัติได้.
               พระราชานั้นทรงดำริว่า เราจะประโยชน์อะไรด้วยราชสมบัติ สมณธรรมประเสริฐ จึงทรงสละราชสมบัติ ทำสมาบัติให้บังเกิดขึ้นอีกแล้วเจริญวิปัสสนาโดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อนนั่นแล กระทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณแล้ว และถูกพระสังฆเถระถามกรรมฐานแล้วจึงได้กล่าวคาถานี้.
               บรรดามิตรและสหายนั้น ชื่อว่ามิตร เพราะอำนาจของไมตรีจิต. ชื่อว่าสหาย เพราะความเป็นผู้มีใจดี. คนบางพวกเป็นเพียงมิตร เพราะเป็นผู้หวังเกื้อกูลอย่างเดียว ไม่เป็นสหาย. บางพวกเป็นเพียงสหาย โดยทำความสุขใจให้เกิดในการไป การมา การยืน การนั่งและการโอภาปราศรัย แต่ไม่ได้เป็นมิตร. บางพวกเป็นทั้งสหายและเป็นทั้งมิตร ด้วยอำนาจการกระทำทั้งสองอย่างนั้น.
               มิตรนั้นมี ๒ พวก คือ อคาริยมิตร และ อนคาริยมิตร.
               บรรดามิตร ๒ พวกนั้น อคาริยมิตรมี ๓ คือ มิตรมีอุปการะ ๑ มิตรร่วมสุขและร่วมทุกข์ ๑ มิตรผู้มีความเอ็นดู ๑. อนคาริยมิตร โดยพิเศษเป็นแต่ผู้บอกประโยชน์ให้เท่านั้น.
               มิตรเหล่านั้นเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๔ เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า :-
                             ดูก่อนคฤหบดีบุตร พึงทราบมิตรผู้มีหทัยดี มีอุปการะโดย
                   สถาน ๔ คือ ป้องกันเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ ป้องกันทรัพย์
                   สมบัติของเพื่อนผู้ประมาทแล้ว ๑ เมื่อเพื่อนมีภัย เป็นที่พึ่ง
                   พำนักได้ ๑ เมื่อกิจจำต้องทำเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเพิ่มโภคทรัพย์
                   ให้สองเท่าของจำนวนนั้น ๑
               อนึ่ง เหมือนอย่างที่ตรัสว่า :-
                              ดูก่อนคหบดีบุตร พึงทราบมิตรผู้มีหทัยดี เป็นผู้ร่วมสุข
                    และร่วมทุกข์โดยสถาน ๔ คือบอกความลับของตนแก่เพื่อน ๑
                    ปกปิดความลับของเพื่อน ๑ ไม่ละทิ้งในยามวิบัติ ๑ แม้
                    ชีวิตก็ย่อมสละให้เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้ ๑
               อนึ่ง เหมือนอย่างที่ตรัสว่า :-
                              ดูก่อนคหบดีบุตร พึงทราบมิตรผู้มีหทัยดี ผู้มีความรักใคร่
                    โดยสถาน ๔ คือ ไม่ยินดีเพราะความเสื่อมเสียของเพื่อน ๑
                    ยินดีเพราะความเจริญของเพื่อน ๑ ห้ามคนผู้กล่าวโทษของ
                    เพื่อน ๑ สรรเสริญคนที่กล่าวสรรเสริญเพื่อน ๑
               อนึ่ง เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า :-
                              ดูก่อนคหบดีบุตร พึงทราบมิตรผู้มีหทัยดี ผู้แนะประโยชน์
                    ให้โดยสถาน ๔ คือห้ามจากความชั่ว ๑ ให้ตั้งอยู่ในความ
                    ดีงาม ๑ ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ บอกทางสวรรค์ให้ ๑.
               บรรดามิตร ๒ พวกนั้น ในที่นี้ประสงค์เอาอคาริยมิตร แต่โดยความ ย่อมรวมเอามิตรแม้ทั้งหมด.
               บทว่า มิตฺเต สุหชฺเช อนุกมฺปมาโน ได้แก่ เอ็นดูมิตรสหายเหล่านั้น คือต้องการนำสุขเข้าไปให้มิตรเหล่านั้นและต้องการบำบัดทุกข์ออกไป.
               บทว่า หาเปติ อตฺถํ ความว่า ย่อมทำประโยชน์ ๓ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ สัมปรายิกัตถประโยชน์และปรมัตถประโยชน์. อนึ่ง ทำประโยชน์ ๓ คือประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์ทั้งของตนและของคนอื่น ให้เสื่อมคือให้พินาศไปโดยส่วนทั้งสอง คือ โดยทำสิ่งที่ได้แล้วให้พินาศไป ๑ โดยทำสิ่งที่ยังไม่ได้มิให้เกิดขึ้น ๑.
               ผู้มีจิตพัวพัน คือแม้จะตั้งตนไว้ในฐานะที่ต่ำอย่างนี้ว่า เว้นผู้นี้เสียเราเป็นอยู่ไม่ได้ ผู้นี้เป็นคติ เป็นที่ไปในเบื้องหน้าของเรา ดังนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตพัวพันแล้ว. แม้จะตั้งตนไว้ในฐานะที่สูงอย่างนี้ว่า คนเหล่านี้ปราศจากเราเสียเป็นอยู่ไม่ได้ เราเป็นคติ เป็นที่ไปในเบื้องหน้าของคนเหล่านั้น ดังนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตพัวพันแล้ว.
               ก็ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาผู้มีจิตพัวพันอย่างนี้
               บทว่า เอตํ ภยํ ได้แก่ ภัยคือการทำประโยชน์ให้เสื่อมไปนี้ คำนี้พระราชาตรัสหมายเอาความเสื่อมสมาบัติของพระองค์.
               บทว่า สนฺถเว ความว่า สันถวะมี ๓ อย่าง คือตัณหาสันถวะ ทิฏฐิสันถวะและมิตตสันถวะ.
               ในสันถวะ ๓ อย่างนั้น ตัณหาทั้ง ๑๐๘ ประเภท ชื่อว่าตัณหาสันถวะ ทิฏฐิทั้ง ๖๒ ชนิด ชื่อว่าทิฏฐิสันถวะ การอนุเคราะห์มิตรด้วยความเป็นผู้มีจิตผูกพัน ชื่อว่ามิตตสันถวะ.
               บรรดาสันถวะ ๓ เหล่านั้น ในที่นี้ประสงค์เอามิตตสันถวะนั้น.
               จริงอยู่ สมาบัติของพระราชานั้นเสื่อม เพราะมิตตสันถวะนั้น. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า เราเห็นภัยนี้ในความสนิทสนม จึงได้บรรลุแล้ว.
               คำที่เหลือเช่นกับที่กล่าวแล้วแล.
               จบพรรณนามิตตสุหัชชคาถา               
               พรรณนาวังสกฬีรคาถา               
               คาถาว่า วํโส วิสาโล ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในปางก่อน พระปัจเจกโพธิสัตว์ ๓ องค์บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสป บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรสิ้นสองหมื่นปี แล้วเกิดขึ้นในเทวโลก. จุติจากเทวโลกนั้น บรรดาปัจเจกโพธิสัตว์เหล่านั้น พระปัจเจกโพธิสัตว์องค์ใหญ่บังเกิดในราชสกุลของพระเจ้าพาราณสี พระปัจเจกโพธิสัตว์ ๒ องค์นี้บังเกิดในราชสกุลชายแดน.
               พระปัจเจกโพธิสัตว์ทั้งสองนั้นเรียนกรรมฐานแล้ว สละราชสมบัติออกบวช ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าโดยลำดับ อยู่ที่เงื้อมนันทมูลกะ วันหนึ่งออกจากสมาบัติแล้วรำพึงว่า เราทั้งหลายทำกรรมอะไรไว้จึงได้บรรลุโลกุตรสุขนี้โดยลำดับ พิจารณาอยู่ก็ได้เห็นจริยาของตนๆ ในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า.
               แต่นั้นจึงรำพึงว่าองค์ที่ ๓ อยู่ที่ไหน ก็ได้เห็นครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี ระลึกถึงคุณทั้งหลายของพระปัจเจกโพธิสัตว์องค์นั้น คิดว่า พระปัจเจกโพธิสัตว์นั้นเป็นผู้ประกอบด้วยคุณมีความมักน้อยเป็นต้นตามปกติทีเดียว เป็นผู้โอวาทกล่าวสอนเฉพาะพวกเรา อดทนต่อถ้อยคำ มีปกติติเตียนบาป เอาเถอะ เราจะแสดงอารมณ์นั้นแล้วจึงจะบอก จึงหาโอกาสอยู่.
               วันหนึ่ง เห็นพระราชานั้นทรงประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เสด็จไปยังอุทยาน จึงมาทางอากาศแล้วได้ยืนอยู่ที่ควงพุ่มไม้ไผ่ใกล้ประตูอุทยาน. มหาชนไม่อิ่ม แหงนดูพระราชา โดยการมองดูพระราชา. ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่ามีไหมหนอ ใครๆ ไม่กระทำความขวนขวายในการดูเรา จึงตรวจดูอยู่ ก็ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งสอง ก็ความเสน่หาในพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งสองนั้นเกิดขึ้นแก่พระองค์ พร้อมกับการเห็นทีเดียว.
               พระองค์จึงเสด็จลงจากคอช้าง เสด็จเข้าไปหาด้วยมารยาทอันเรียบร้อย แล้วตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ท่านทั้งหลายชื่ออะไร?
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งสองทูลว่า มหาบพิตร อาตมภาพทั้งสองชื่ออสัชชมานะ.
               พระราชาตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ ชื่อว่าอสัชชมานะ นี้มีความหมายอย่างไร?
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทูลว่า มีความหมายว่า ไม่ข้อง ถวายพระพร.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงชี้ที่กอไม้ไผ่แล้วทูลว่า มหาบพิตร กอไม้ไผ่นี้เอารากลำต้น กิ่งใหญ่และกิ่งน้อยเกี่ยวก่ายกันอยู่โดยประการทั้งปวง บุรุษผู้มีดาบในมือเมื่อตัดรากแล้วดึงออกอยู่ ก็ไม่อาจถอนออกมาได้แม้ฉันใด พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกชัฏภายในและภายนอกทำให้พันกันนุง พัวพันติดข้องอยู่ในอารมณ์นั้น ก็หรือว่า หน่อไม้ไผ่นี้แม้จะอยู่ท่ามกลางกอไผ่นั้น ตั้งอยู่อันอะไรๆ ไม่รัดติด เพราะยังไม่เกิดกิ่ง ก็แต่ว่า ใครๆ ไม่อาจจะตัดยอดหรือโคนต้นแล้วดึงออกมาแม้ฉันใด อาตมภาพทั้งหลายก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ข้องอยู่ในอะไรๆ ไปได้ทั่วทุกทิศ.
               ครั้นกล่าวดังนี้แล้ว ทันใดนั้นจึงเข้าจตุตถฌาน เมื่อพระราชาทอดพระเนตรดูอยู่นั่นแล ได้ไปยังเงื้อมเขาชื่อว่านันทมูลกะ ทางอากาศ.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า เมื่อไรหนอ แม้เราก็จะเป็นผู้ไม่ข้องอย่างนี้ ทั้งที่ประทับยืนอยู่ในที่นั้นนั่นเอง ทรงเห็นแจ้งอยู่ ได้ กระทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณแล้ว. ท่านถูกถามกรรมฐานโดยนัยอันมีในก่อนนั่นแหละ จึงได้กล่าวคาถานี้.
               ไม้ไผ่ ชื่อว่า วังสะ ในคาถานั้น.
               บทว่า วิสาโล ได้แก่ แผ่ออกไป.
                อักษร มีอรรถว่าห้ามเนื้อความอื่น. อีกอย่างหนึ่ง อักษรนี้ คือ เอว อักษร. ในที่นี้ เอ อักษรหายไปด้วยอำนาจสนธิการต่อ. เอ อักษรนั้นเชื่อมเข้ากับบทเบื้องปลาย. เราจักกล่าวข้อนั้นภายหลัง.
               บทว่า ยถา ใช้ในการเปรียบ.
               บทว่า วิสตฺโต ได้แก่ ติด นุงนัง เกี่ยวพัน.
               บทว่า ปุตฺเตสุ ทาเรสุ จ ได้แก่ ในบุตร ธิดาและภรรยา.
               บทว่า ยา เปกฺขา ได้แก่ ความอยากใด คือความเสน่หาอันใด.
               บทว่า วํสกฺกฬีโรว อสชฺชมาโน ความว่า ไม่ติดอยู่ดังหน่อไม้ไผ่.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร?
               (ท่านอธิบายไว้ว่า) ไม้ไผ่แผ่กว้างย่อมเป็นของเกี่ยวพันกันแท้ฉันใด ความห่วงใยในบุตรธิดาและภรรยาแม้นั้นก็ฉันนั้น ชื่อว่าติดข้องวัตถุเหล่านั้น เพราะเป็นสิ่งรึงรัดไว้. เรานั้นมีความห่วงใยด้วยความห่วงใยนั้น จึงติดข้องอยู่ เหมือนไม้ไผ่ซึ่งแผ่กว้างไปฉะนั้น เพราะเหตุนั้น เราเห็นโทษในความห่วงใยอย่างนี้ จึงตัดความห่วงใยนั้นด้วยมรรคญาณ ไม่ข้องอยู่ด้วยตัณหามานะทิฏฐิ ในอารมณ์มีรูปเป็นต้น ในอิฐผลมีลาภเป็นต้นหรือในภพมีกามภพเป็นต้น เหมือนหน่อไม้ไผ่นี้ จึงได้บรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแหละ.
               จบพรรณนาวังสกฬีรคาถา               
               พรรณนามิโคอรัญญคาถา               
               คาถาว่า มิโค อรญฺญมฺหิ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ภิกษุรูปหนึ่งเป็นพระโยคาวจรในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสป กระทำกาละแล้ว เกิดขึ้นในสกุลเศรษฐีในเมืองพาราณสี ซึ่งมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เขาได้เป็นผู้ถึงความงาม แต่นั้นได้เป็นผู้ผิดภรรยาของคนอื่น กระทำกาละแล้วบังเกิดในนรก ไหม้อยู่ในนรกนั้น ด้วยวิบากของกรรมที่เหลือ จึงถือปฏิสนธิเป็นหญิงในท้องของภรรยาเศรษฐี.
               สัตว์ทั้งหลายที่มาจากนรก ย่อมมีความร้อนอยู่ด้วย. ด้วยเหตุนั้น ภรรยาของเศรษฐีมีครรภ์ร้อน ทรงครรภ์นั้นโดยยากลำบาก คลอดทาริกาตามเวลา. ทาริกานั้นจำเดิมแต่วันที่เกิดมาแล้ว เป็นที่เกลียดชังของบิดามารดา และของพวกพ้องกับปริชนที่เหลือ และพอเจริญวัยแล้ว บิดามารดายกให้ในตระกูลใด ได้เป็นที่เกลียดชังของสามี พ่อสามีและแม่สามีในตระกูลแม้นั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจเลย.
               ครั้งเมื่อเขาป่าวร้องงานนักขัตฤกษ์ บุตรของเศรษฐีไม่ปรารถนาจะเล่นกับทาริกานั้น จึงนำหญิงแพศยามาเล่นด้วย. นางทาริกานั้นได้ฟังข่าวนั้นจากสำนักของพวกทาสี จึงเข้าไปหาบุตรของเศรษฐี และแนะนำด้วยประการต่างๆ แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ลูกเจ้า ธรรมดาหญิง ถ้าแม้เป็นพระกนิษฐาของพระราชา ๑๐ พระองค์ หรือเป็นพระธิดาของพระเจ้าจักรพรรดิก็ตาม แม้ถึงอย่างนั้นจะต้องทำการรับใช้สามี เมื่อสามีไม่เรียกหา ก็ย่อมจะได้เสวยความทุกข์ เหมือนถูกเสียบไว้บนหลาว ถ้าดิฉันควรแก่การอนุเคราะห์ก็ควรจะอนุเคราะห์ ถ้าไม่ควรอนุเคราะห์ก็ควรปล่อยไป. ดิฉันจักได้ไปยังสกุลแห่งญาติของตน.
               บุตรของเศรษฐีกล่าวว่า ช่างเถอะ นางผู้เจริญ เธออย่าเสียใจจงตระเตรียมการเล่นเถิด พวกเราจักเล่นงานนักขัตฤกษ์.
               ธิดาของเศรษฐีเกิดความอุตสาหะด้วยเหตุสักว่าการเจรจามีประมาณเท่านั้น คิดว่า จักเล่นงานนักขัตฤกษ์พรุ่งนี้ จึงจัดแจงของเคี้ยวและของบริโภคมากมาย.
               ในวันที่สอง บุตรของเศรษฐีไม่ได้บอกเลย ได้ไปยังสถานที่เล่น. นางนั่งมองดูหนทางด้วยหวังใจว่าประเดี๋ยวเขาจักส่งคนมา เห็นพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว จึงส่งคนทั้งหลายไป. คนเหล่านั้นกลับมาแล้วบอกว่า บุตรของเศรษฐีไปแล้ว.
               ธิดาของเศรษฐีนั้นจึงถือเอาสิ่งของทั้งหมดนั้น ซึ่งจัดเตรียมไว้หมดแล้วยกขึ้นบรรทุกยานเริ่มไปยังอุทยาน.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าที่เงื้อมนันทมูลกะ ในวันที่ ๗ ออกจากนิโรธสมาบัติ เคี้ยวไม้ชำระฟันชื่อนาคลดา ล้างหน้าที่สระอโนดาตแล้วรำพึงว่า วันนี้ เราจักเที่ยวภิกขาจารที่ไหน ได้เห็นธิดาของเศรษฐีนั้นรู้ว่า กรรมนั้นของธิดาเศรษฐีนี้จักถึงความสิ้นไป เพราะได้ทำสักการะด้วยศรัทธาในเรา จึงยืนที่พื้นมโนศิลาประมาณ ๖๐ โยชน์ในที่ใกล้เงื้อมแล้วถือบาตรจีวรเข้าฌานมีอภิญญาเป็นบาท แล้วมาทางอากาศลงที่หนทาง นางเดินสวนทางมา ได้บ่ายหน้าไปยังนครพาราณสี.
               พวกทาสีเห็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเข้า จึงบอกแก่ธิดาเศรษฐี.
               นางจึงลงจากยานไหว้โดยเคารพ บรรจุบาตรให้เต็มด้วยของควรเคี้ยวของควรบริโภค อันสมบูรณ์ด้วยรสต่างๆ แล้วเอาดอกปทุมปิด เอามือถือกำดอกปทุม โดยให้ดอกปทุมอยู่เบื้องล่าง ถวายบาตรในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วไหว้ มือถือกำดอกปทุมอยู่ ได้กระทำความปรารถนาว่า ท่านผู้เจริญ ดิฉันอุปบัติในภพใดๆ พึงเป็นที่รัก ที่ชอบใจของมหาชนในภพนั้นๆ เหมือนดอกปทุมนี้.
               ครั้นปรารถนาอย่างนี้แล้ว จึงปรารถนาครั้งที่สองว่า ท่านผู้เจริญ การอยู่ในครรภ์ลำบากพึงปฏิสนธิในดอกปทุมเท่านั้น โดยไม่ต้องเข้าถึงการอยู่ในครรภ์ ปรารถนาแม้ครั้งที่สามว่า มาตุคามน่ารังเกียจ แม้ธิดาของพระเจ้าจักรพรรดิก็ยังจะต้องไปสู่อำนาจของผู้อื่น เพราะฉะนั้น ดิฉันอย่าได้เข้าถึงความเป็นหญิง พึงเป็นบุรุษ.
               แม้ครั้งที่สี่ก็ปรารถนาว่า ท่านผู้เจริญ ดิฉันพึงล่วงพ้นสังสารทุกข์นี้ ในที่สุดพึงบรรลุอมตธรรมที่ท่านได้บรรลุแล้วนี้.
               นางกระทำความปรารถนา ๔ ประการอย่างนี้แล้ว บูชาดอกปทุมกำหนึ่งนั้นแล้วไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ได้กระทำความปรารถนาครั้งที่หนึ่งนี้ว่า กลิ่นและผิวพรรณของดิฉันจงเป็นเหมือนดอกไม้เท่านั้น.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้ารับบาตรและกำดอกไม้แล้วยืนในอากาศ กระทำอนุโมทนาแก่ธิดาของเศรษฐี ด้วยคาถานี้ว่า
                         สิ่งที่ท่านอยากได้แล้ว ปรารถนาแล้ว จงสำเร็จโดยเร็วพลัน
                         ความดำริทั้งปวงจงเต็ม เหมือนพระจันทร์วันเพ็ญฉะนั้น.

               แล้วอธิษฐานว่า ธิดาเศรษฐีจงเห็นเราไปอยู่ แล้วได้ไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะทางอากาศ.
               เมื่อธิดาของเศรษฐีเห็นดังนั้น เกิดความปีติมากมาย. อกุศลกรรมที่นางกระทำไว้ในระหว่างภพ หมดสิ้นไป เพราะไม่มีโอกาส นางเป็นผู้บริสุทธิ์ ดุจภาชนะทองแดงอันเขาขัดด้วยความเปรี้ยวของมะขามฉะนั้น.
               ทันใดนั้นเอง ชนทั้งปวงในตระกูลสามีและตระกูลญาติของนางยินดีแล้ว. ส่งคำอันน่ารักและบรรณาการไปว่า พวกเราจะทำอะไร (จะให้พวกเราทำอะไรบ้าง). แม้สามีก็ส่งคนไปว่า ท่านทั้งหลายจงรีบนำเศรษฐีธิดามา เราลืมแล้วมาอุทยาน.
               ก็จำเดิมแต่นั้นมา มหาชนรักใคร่คอยบริหารดูแลนาง ดุจจันทน์อันไล้ทาที่น่าอก ดุจแก้วมุกดาหารืที่สวมใส่ และดุจระเบียบดอกไม้ฉะนั้น. นางเสวยสุขอันประกอบด้วยความเป็นใหญ่และโภคทรัพย์ ตลอดชั่วอายุ ตายแล้วเกิดในดอกปทุมในเทวโลก โดยภาวะเป็นบุรุษ.
               เทวบุตรนั้น แม้เมื่อเดินก็เดินไปในห้องดอกปทุมเท่านั้น จะยืนก็ดี จะนั่งก็ดี จะนอนก็ดี ก็ยืน นั่ง นอนเฉพาะในห้องแห่งดอกปทุมเท่านั้น. และเทวดาทั้งหลายพากันเรียกเทวบุตรนั้นว่า มหาปทุมเทวบุตร. มหาปทุมเทวบุตรนั้นท่องเที่ยวไปในเทวบุตรทั้ง ๖ ชั้นเท่านั้น เป็นอนุโลมและปฏิโลม ด้วยอิทธานุภาพนั้นด้วยประการอย่างนี้.
               ก็สมัยนั้น พระเจ้าพาราณสีมีสตรีสองหมื่นนาง บรรดาสตรีเหล่านั้นแม้สตรีนางหนึ่งก็ไม่ได้บุตรชาย. อำมาตย์ทั้งหลายจึงทำพระราชาให้แจ้งพระทัยว่า ข้าแต่สมมติเทพ ควรปรารถนาพระโอรสผู้รักษาสกุลวงศ์ เมื่อพระโอรสผู้เกิดในพระองค์ไม่มี แม้พระโอรสที่เกิดในเขตก็เป็นผู้ ธำรงสกุลวงศ์ได้.
               ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสว่า หญิงที่เหลือ ยกเว้นพระมเหสี จงกระทำการฟ้อนรำโดยธรรมตลอด ๗ วัน ดังนี้แล้วรับสั่งให้เที่ยวไปภายนอกได้ตามความปรารถนา. แม้ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้พระโอรส.
               อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ธรรมดาพระมเหสีเป็นผู้เลิศกว่าหญิงทั้งปวงด้วยบุญและปัญญา ชื่อแม้ไฉน เทพพึงได้พระโอรสในพระครรภ์ของพระมเหสี.
               พระราชาจึงแจ้งเนื้อความนี้แก่พระมเหสี.
               พระมเหสีกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า สตรีผู้มีศีล มีปกติกล่าวคำสัจ พึงได้บุตร สตรีผู้ปราศจากหิริโอตตัปปะ จะมีบุตรมาแต่ไหน จึงเสด็จขึ้นสู่ปราสาท สมาทานศีลห้า แล้วรำพึงถึงบ่อยๆ. เมื่อพระราชธิดาผู้มีศีลรำพึงถึงศีลห้าอยู่ พระทัยปรารถนาบุตรสักว่าเกิดขึ้นแล้ว อาสนะของท้าวสักกะจึงสั่นไหว.
               ลำดับนั้น ท้าวสักกะทรงรำพึงไป ได้ทรงรู้แจ้งเรื่องราวนั้นแล้ว ทรงดำริว่า เราจะให้บุตรผู้ประเสริฐแก่พระราชธิดาผู้มีศีล จึงเสด็จมาทางอากาศ ประทับยืนอยู่ตรงหน้าพระเทวีแล้วตรัสว่า นี่แน่ะเทวี เธอจะปรารถนาอะไร. พระเทวีทูลว่า ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันปรารถนาพระโอรส.
               ท้าวสักกะตรัสว่า นี่แน่ะเทวี เราจะให้โอรสแก่เธอ อย่าคิดไปเลย แล้วเสด็จไปเทวโลก ทรงรำพึงว่า เทวบุตรผู้จะหมดอายุในเทวโลกนี้ มีหรือไม่หนอ ทรงทราบว่า มหาปทุมเทวบุตรนี้จักเป็นผู้ใคร่ จะไปยังเทวโลกเบื้องบนด้วย จึงไปยังวิมานของมหาปทุมเทวบุตรนั้นแล้วอ้อนวอนว่า พ่อมหาปทุม เธอจงไปยังมนุษย์โลกเถิด.
               มหาปทุมเทวบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์อย่าตรัสอย่างนี้ ข้าพระองค์เกลียดมนุษย์โลก.
               ท้าวสักกะตรัสว่า นี่แน่ะพ่อ เธอกระทำบุญไว้ในมนุษยโลก จึงได้อุปบัติในเทวโลกนี้ เธอตั้งอยู่ในมนุษยโลกนั้นนั่นแหละจะพึงบำเพ็ญบารมีได้ ไปเถอะพ่อ.
               มหาปทุมเทวบุตรทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า การอยู่ในครรภ์เป็นทุกข์ ข้าพระองค์ไม่อาจอยู่ในครรภ์นั้น. ผู้อันท้าวสักกะตรัสอยู่แล้วๆ เล่าๆ ว่า นี่แน่ะพ่อ การอยู่ในครรภ์จะไม่มีแก่เธอ เพราะเธอได้กระทำกรรมไว้โดยประการที่จักบังเกิดเฉพาะในห้องแห่งดอกปทุมเท่านั้น จงไปเถอะพ่อ ดังนี้ จึงรับคำเชิญ.
               มหาปทุมเทวบุตรนั้นจุติจากเทวโลกแล้วบังเกิดในห้องแห่งดอกปทุม ในสระโบกขรณีอันดาดด้วยแผ่นศิลา ในอุทยานของพระเจ้าพาราณสี. และคืนนั้น เวลาใกล้รุ่ง พระมเหสีทรงพระสุบินไปว่า พระองค์แวดล้อมด้วยสตรีสองหมื่นนาง เสด็จไปอุทยาน ได้พระโอรสในห้องปทุมในสระโบกขรณีอันดาดด้วยศิลา.
               เมื่อราตรีสว่างแล้ว พระนางทรงศีลอยู่ ได้เสด็จไปในพระอุทยานนั้นทรงเห็นดอกปทุมดอกหนึ่ง. ดอกปทุมนั้นไม่ได้อยู่ริมตลิ่งทั้งไม่ได้อยู่ในที่ลึก. ก็พร้อมกับที่พระนางทรงเห็นเท่านั้น ความรักประดุจดังบุตรเกิดขึ้นในดอกปทุมนั้น. พระนางเสด็จลงด้วยพระองค์เอง ได้เด็ดเอาดอกปทุมนั้นมา. เมื่อดอกปทุมพอสักว่าพระนางทรงจับเท่านั้น กลีบทั้งหลายก็แย้มบาน. พระนางได้ทรงเห็นทารกดุจรูปปฏิมาทองคำในดอกปทุมนั้น. ครั้นทรงเห็นเท่านั้นก็ทรงเปล่งพระสุรเสียงว่า เราได้ลูกชายแล้ว.
               มหาชนได้เปล่งเสียงสาธุการถึงพันครั้ง ทั้งได้ส่งข่าวแด่พระราชาด้วย.
               พระราชาทรงสดับแล้วตรัสถามว่า ได้ที่ไหน ได้ทรงสดับถึงสถานที่ได้ จึงตรัสว่า อุทยานและดอกปทุมเป็นของเรา เพราะฉะนั้น บุตรนี้ชื่อว่าบุตรผู้เกิดในเขต เพราะเกิดในเขตของเรา จึงให้เข้ามายังนคร ให้สตรีสองหมื่นนางกระทำหน้าที่เป็นแม่นม. สตรีใดๆ รู้ว่าพระกุมารชอบ ก็ให้เสวยของเคี้ยวที่ทรงปรารถนาแล้วๆ สตรีนั้นๆ ย่อมได้ทรัพย์หนึ่งพัน. เมืองพาราณสีทั้งสิ้นร่ำลือกัน ชนทั้งปวงได้ส่งบรรณาการตั้งพันไปถวายพระกุมาร.
               พระกุมารไม่ทรงสนพระทัยถึงบรรณาการนั้นๆ อันพวกนางนมทูลว่า จงเคี้ยวกินสิ่งนี้ จงเสวยสิ่งนี้ ทรงเบื่อระอาการเสวย จึงเสด็จไปยังซุ้มประตู ทรงเล่นลูกกลมอันทำด้วยครั่ง.
               ในครั้งนั้น มีพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งอาศัยเมืองพาราณสี อยู่ในป่าอิสิปตนะ ท่านลุกขึ้นแต่เช้ามืด กระทำกิจทั้งปวงมีเสนาสนวัตร บริกรรมร่างกายและมนสิการกรรมฐานเป็นต้น แล้วออกจากที่เร้นรำพึงอยู่ว่า วันนี้เราจักรับภิกษาที่ไหน ได้เห็นคุณสมบัติของพระกุมาร จึงใคร่ครวญว่า พระกุมารนี้เมื่อชาติก่อน ได้ทำกรรมอะไรไว้ ได้ทราบว่า พระกุมารนี้ได้ถวายบิณฑบาตแก่คนเช่นกับเรา แล้วปรารถนาความปรารถนา ๔ ประการ ในความปรารถนา ๔ ประการนั้น ๓ ประการสำเร็จแล้ว ความปรารถนาอีกข้อหนึ่งยังไม่สำเร็จ เราจักให้อารมณ์แก่พระกุมารนั้นด้วยอุบาย
               ครั้นคิดแล้วจึงได้ไปยังสำนักของพระกุมารนั้น ด้วยการภิกขาจาร พระกุมารเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นแล้วตรัสว่า ข้าแต่พระสมณะ ท่านอย่ามาที่นี้ เพราะคนเหล่านี้จะกล่าวแม้กะท่านว่า จงเคี้ยวกินสิ่งนี้ จงบริโภคสิ่งนี้.
               โดยการกล่าวคำเดียวเท่านั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าก็กลับจากที่นั้น ได้ไปยังเสนาสนะของตน พระกุมารจึงกล่าวกะบริวารนั้นว่า พระสมณะนี้เพียงแต่เรากล่าวเท่านั้นก็กลับไป ท่านโกรธเรากระมังหนอ.
               พระกุมารนั้นอันพวกบริวารชนเหล่านั้นทูลว่า ธรรมดาบรรพชิตทั้งหลายย่อมไม่มุ่งหน้าที่จะโกรธ คนอื่นมีใจเลื่อมใสถวายสิ่งใด ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้น จึงทรงดำริว่า สมณะชื่อเห็นปานนี้โกรธแล้ว เราจักให้ท่านอดโทษ จึงกราบทูลแก่พระชนกชนนี แล้วเสด็จขึ้นทรงช้างไปยังป่าอิสิปตนะ ด้วยราชานุภาพอันยิ่งใหญ่ ทอดพระเนตรเห็นฝูงเนื้อจึงตรัสถามว่า พวกเหล่านี้ ชื่ออะไร?
               บริวารชนทูลว่า ข้าแต่เจ้านาย สัตว์เหล่านี้ชื่อว่าเนื้อ.
               พระกุมารตรัสว่า พวกคนผู้กล่าวแก่เนื้อเหล่านี้ว่า จงกินสิ่งนี้ จงบริโภคสิ่งนี้ จงลิ้มสิ่งนี้ ดังนี้แล้วปรนนิบัติอยู่ มีอยู่หรือ.
               บริวารชนทูลว่า ไม่มีพระเจ้าข้า เนื้อเหล่านี้มันอยู่ในที่ที่มีหญ้าและน้ำอันหาได้ง่าย.
               พระกุมารดำริว่า เมื่อไรหนอ แม้เราก็ควรจะอยู่เหมือนพวกเนื้อเหล่านี้ ไม่มีใครรักษาเลยอยู่ในที่ที่ปรารถนา แล้วถือเอาเรื่องนี้ให้เป็นอารมณ์.
               ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้ารู้ว่า พระกุมารเสด็จมา จึงกวาดทางไปเสนาสนะและที่จงกรมทำให้เกลี้ยง แล้วเดินจงกรม ๑-๒-๓ ครั้ง แสดงรอยเท้าไว้ แล้วกวาดสถานที่พักกลางวันและบรรณศาลา กระทำให้เกลี้ยงแสดงรอยเท้าเข้าไป ไม่แสดงรอยเท้าที่ออกแล้วได้ไปเสียที่อื่น.
               พระกุมารเสด็จไปที่นั้น ทรงเห็นสถานที่นั้นเขากวาดไว้เกลี้ยง ได้ทรงสดับบริวารชนกล่าวว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น เห็นจะอยู่ที่นี่ จึงตรัสว่า สมณะนั้นแม้เช้าก็โกรธ ยิ่งมาเห็นสถานที่ของตนถูกช้างและม้าเป็นต้นเหยียบย่ำ จะโกรธมากขึ้น พวกท่านจงยืนอยู่ที่นี้แหละ แล้วเสด็จลงจากคอช้าง พระองค์เดียวเสด็จเข้าไปยังเสนาสนะ ทรงเห็นรอยเท้าในสถานที่ที่กวาดไว้อย่างดี โดยถูกต้องตามระเบียบ จึงทรงดำริว่า บัดนี้ สมณะนี้นั้นจงกรมอยู่ในที่นี้ ไม่คิดเรื่องการค้าขายเป็นต้น สมณะนี้เห็นจะคิดประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนถ่ายเดียวเป็นแน่ มีพระมนัสเลื่อมใส เสด็จขึ้นที่จงกรม ทรงทำวิตกอันแน่นหนาให้ออกห่างไกล เสด็จไปประทับนั่งบนแผ่นหิน ทรงเกิดอารมณ์แน่วแน่เสด็จเข้าไปยังบรรณศาลา ทรงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ ถูกปุโรหิตถามกรรมฐานโดยนัยก่อนนั่นแหละ จึงประทับนั่งบนพื้นท้องฟ้า ได้ตรัสพระคาถานี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิโค ได้แก่ เนื้อ ๒ ชนิด คือ เนื้อทราย ๑ เนื้อเก้ง ๑.
               อีกอย่างหนึ่ง คำว่า มิโค นี้ เป็นชื่อของสัตว์ ๔ เท้าที่อยู่ในป่าทั้งหมด. แต่ในที่นี้ ประสงค์เอาเนื้อเก้ง เกจิอาจารย์ท่านกล่าวไว้ดังนี้.
               บทว่า อรญฺญมฺหิ ความว่า เว้นบ้านและอุปจารของบ้าน ที่เหลือจัดเป็นป่า แต่ในที่นี้ประสงค์เอาอุทยาน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวอธิบายว่าในอุทยาน.
               ศัพท์ ยถา ใช้ในอรรถว่า เปรียบเทียบ.
               บทว่า อพทฺโธ แปลว่า ไม่ถูกผูกด้วยเครื่องผูกคือเชือกเป็นต้น. ด้วยคำนี้ ท่านแสดงถึงจริยาอันปราศจากความน่ารังเกียจ.
               บทว่า เยนิจฺฉกํ คจฺฉติ โคจราย ความว่า ไปหาเหยื่อโดยทิสาภาคที่ตนปรารถนาจะไป.
               สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                         ภิกษุทั้งหลาย เนื้อที่อยู่ในอรัญเที่ยวไปในอรัญป่าใหญ่
               เดินอย่างวางใจ ยืนอย่างวางใจ นั่งอย่างวางใจ นอนอย่างวาง
               ใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่อยู่ใน
               สายตาของนายพราน แม้ฉันใด
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน สงัดจาก
               กามทั้งหลาย ฯลฯ เข้าถึงปฐมฌานอยู่.
                         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เราเรียกว่า กระทำมารให้
               ตามหาร่องรอยไม่ได้ เธอกำจัดดวงตาของมารได้แล้ว ไปยัง
               ที่ที่มารผู้มีจักษุมองไม่เห็น.

               เนื้อความพิสดารแล้ว.
               บทว่า เสริตํ ได้แก่ ความเป็นไปที่มีความพอใจหรือความเป็นผู้เกี่ยวเนื่องกับคนอื่น.
               ท่านกล่าวอธิบายว่า
               เนื้อไม่ถูกผูกในป่าย่อมไปหาเหยื่อตามความปรารถนาฉันใด เมื่อไรหนอ แม้เราก็พึงตัดเครื่องผูกคือตัณหา เที่ยวไปอย่างนั้น ฉันนั้น. วิญญูชนคือคนผู้เป็นบัณฑิตหวังความเสรี พึงเที่ยวไปผู้เดียวฉะนั้นแล.
               จบพรรณนามิโคอรัญญคาถา               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=147&Z=289
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=3800
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=3800
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :