ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

หน้าต่างที่ ๒ / ๗.

               บัดนี้ จะได้กล่าวการเกิดขึ้นแห่งขัคควิสาณสูตร โดยพิเศษ.
               ในข้อนั้น พึงทราบการเกิดขึ้นแห่งคาถานี้อย่างนี้ก่อน :-
               ได้ยินว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้หยั่งลงสู่ภูมิปัจเจกโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่สองอสงไขยแสนกัป บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสปะ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรให้บริบูรณ์ ได้กระทำสมณธรรมแล้ว. เขาว่า ขึ้นชื่อว่าผู้ไม่บำเพ็ญวัตรให้บริบูรณ์อย่างนี้แล้วบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ ย่อมไม่มี.
               ก็วัตรอะไรที่ชื่อว่าคตปัจจาคตวัตร. อธิบายว่า การนำไปและนำกลับมา. เราทั้งหลายจักกล่าวโดยประการที่วัตรจะแจ่มแจ้ง.
               ภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้นำไปแต่ไม่นำกลับมา บางรูปนำกลับมาแต่ไม่นำไป บางรูปทั้งไม่นำไป ไม่นำกลับมา บางรูปทั้งนำไปและนำกลับมา.
               บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุใดลุกขึ้นแต่เช้ามืด กระทำวัตรที่ลานพระเจดีย์และลานโพธิ์ รดน้ำที่ต้นโพธิ์ ทำหม้อน้ำดื่มให้เต็มแล้ว ตั้งไว้ในโรงน้ำดื่ม กระทำอาจริยวัตรและอุปัชฌายวัตร สมาทานขันธกวัตร ๘๒ และมหาวัตร ๑๔ ประพฤติอยู่. ภิกษุนั้นกระทำบริกรรมร่างกายแล้วเข้าสู่เสนาสนะ ยับยั้งอยู่ในที่นั่งอันสงัดจนถึงเวลาภิกขาจาร รู้เวลาแล้ว นุ่งสบง ผูกรัดประคด ห่มจีวรเฉวียงบ่า เอาสังฆาฏิพาดไหล่คล้องบาตรที่บ่า ใส่ใจถึงกรรมฐาน เดินไปลานพระเจดีย์ ไหว้พระเจดีย์และต้นโพธิ์ แล้วห่มจีวรในที่ใกล้บ้าน แล้วถือบาตรเข้าบ้านไปบิณฑบาต.
               ก็ภิกษุผู้เข้าไปแล้วอย่างนี้ เป็นผู้มีลาภ มีบุญ อันพวกอุบาสกอุบาสิกาสักการะเคารพ กลับมาที่ตระกูลของอุปัฏฐากหรือโรงเป็นที่กลับ ถูกพวกอุบาสกและอุบาสิกาถามปัญหานั้นๆ อยู่ ย่อมละทิ้งมนสิการนั้นแล้วออกไป เพราะตอบปัญหาของอุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้น และเพราะความฟุ้งซ่านอันเกิดจากการแสดงธรรม แม้มายังวิหารถูกพวกภิกษุถามปัญหา ก็จะต้องตอบปัญหา กล่าวธรรมะและถึงการขวนขวายนั้นๆ จะชักช้าอยู่กับภิกษุเหล่านั้นด้วยประการอย่างนี้ ตลอดทั้งเวลาหลังภัต ทั้งปฐมยามและมัชฌิมยาม ถูกความชั่วหยาบทางกายครอบงำ แม้ในตอนปัจฉิมยามก็จะนอนเสีย, ไม่ใส่ใจถึงกรรมฐาน. ภิกษุนี้เรียกว่านำไปแต่ไม่นำกลับมา.
               ส่วนภิกษุใดเป็นผู้มีความป่วยไข้มากมาย ฉันภัตตาหารแล้ว ในเวลาใกล้รุ่งก็ยังย่อยไม่เรียบร้อย ในเวลาเช้ามืด ไม่อาจลุกขึ้นกระทำวัตรตามที่กล่าวได้ หรือไม่อาจมนสิการกรรมฐานได้ โดยที่แท้ ต้องการยาคู ของเคี้ยว เภสัชหรือภัต พอได้เวลาเท่านั้น ก็ถือบาตรและจีวรเข้าบ้านได้ยาคูของเคี้ยว เภสัชหรือภัตในบ้านนั้นแล้ว นำบาตรออกมา ทำภัตกิจให้เสร็จแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ กระทำไว้ในใจซึ่งพระกรรมฐาน จะบรรลุคุณวิเศษหรือไม่ก็ตาม กลับมายังวิหารแล้วอยู่ด้วยมนสิการนั้นนั่นแหละ ภิกษุนี้เรียกว่านำกลับมาแต่ไม่ได้นำไป.
               จริงอยู่ ภิกษุทั้งหลายผู้เช่นนี้ ดื่มยาคูแล้วเจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตในพระพุทธศาสนาล่วงพ้นคลองแห่งการนับ. ในโรงฉันในบ้านนั้นๆ ในเกาะสิงหล อาสนะที่ภิกษุทั้งหลายนั่งดื่มข้าวยาคูแล้วไม่บรรลุพระอรหัต ย่อมไม่มี.
               ส่วนภิกษุใดเป็นผู้มักอยู่ด้วยความประมาท ทอดธุระ ทำลายวัตรทั้งปวงเสีย มีจิตถูกผูกด้วยเครื่องผูกดุจตะปูตรึงใจ ๕ อย่างอยู่ ไม่หมั่นประกอบมนสิการกรรมฐาน เข้าไปบิณฑบาตยังบ้าน ก็เนิ่นช้าด้วยการกล่าวกับพวกคฤหัสถ์ เป็นคนเปล่าๆ ออกมา ภิกษุนี้เรียกว่าไม่นำไปทั้งไม่นำกลับมา.
               ส่วนภิกษุใดลุกขึ้นแต่เช้ามืด ทำวัตรทุกอย่างให้ครบบริบูรณ์โดยนัยอันมีในก่อนนั่นแหละ ขัดสมาธิ มนสิการถึงกรรมฐานจนถึงเวลาภิกขาจาร.
               ธรรมดากรรมฐานมี ๒ อย่าง คือสัพพัตถกรรมฐาน คือกรรมฐานที่ใช้ทั่วทุกที่ และปาริหาริยกรรมฐาน กรรมฐานที่จะต้องบริหาร.
               ในกรรมฐาน ๒ อย่างนั้น เมตตาและมรณานุสสติ ชื่อว่าสัพพัตถกรรมฐาน เพราะกรรมฐานดังกล่าวนั้นจำต้องการ จำต้องปรารถนาในที่ทุกแห่ง เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่าสัพพัตถกรรมฐาน. ธรรมดาเมตตาจำปรารถนาในที่ทั้งปวงมีอาวาสเป็นต้น.
               จริงอยู่ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตาในอาวาสทั้งหลาย ย่อมเป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น ย่อมอยู่เป็นผาสุก ไม่กระทบกระทั่งกัน. ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตาในเทวดาทั้งหลาย จะเป็นผู้อันเหล่าเทวดารักษาคุ้มครองอยู่เป็นสุข. ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตาในพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาเป็นต้น จะเป็นผู้อันพระราชาและมหาอำมาตย์เหล่านั้นรักใคร่หวงแหนอยู่เป็นสุข. ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตาในคามและนิคมเป็นต้น จะเป็นผู้อันคนทั้งหลายในที่เที่ยวภิกขาจารเป็นต้นในที่ทุกแห่ง สักการะ เคารพ ย่อมอยู่เป็นสุข.
               ภิกษุละความชอบใจในชีวิตเสียด้วยการเจริญมรณานุสสติ ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่.
               ส่วนกรรมฐานที่จะต้องบริหารทุกเมื่อ อันพระโยคีเรียนเอาแล้วตามสมควรแก่จริตนั้น เป็นกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอสุภ ๑๐ กสิณ ๑๐ และอนุสสติ ๑๐ หรือเป็นเฉพาะจตุธาตุวัตถาน การกำหนดธาตุ ๔ เท่านั้น กรรมฐานนั้นเรียกว่าปาริหาริยกรรมฐาน เพราะจำต้องบริหาร จำต้องรักษา และจำต้องเจริญอยู่ทุกเมื่อ ปาริหาริยกรรมฐานนั้นนั่นแล เรียกว่ามูลกรรมฐานก็ได้.
               อันกุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์บวชในพระศาสนาอยู่ร่วมกัน ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง ๕๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง กระทำกติกวัตรอยู่ว่า อาวุโสทั้งหลาย ท่านทั้งหลายมิได้บวชเพราะเป็นหนี้ ไม่ได้บวชเพราะมีภัย ไม่ได้บวชเพราะจะทำการเลี้ยงชีพ แต่ประสงค์จะพ้นจากทุกข์ จึงได้บวชในพระศาสนานี้ เพราะฉะนั้น กิเลสที่เกิดในตอนเดิน ท่านทั้งหลายจงข่มเสียเฉพาะในตอนเดิน กิเลสที่เกิดในตอนยืนจงข่มเสียเฉพาะในตอนยืน กิเลสที่เกิดในตอนนั่งจงข่มเสียในตอนนั่ง กิเลสที่เกิดในตอนนอนจงข่มเสียเฉพาะในตอนนอน.
               กุลบุตรเหล่านั้นครั้นกระทำกติกวัตรอย่างนี้แล้ว เมื่อจะไปภิกขาจารในระหว่างทางกึ่งอุสภะ หนึ่งอุสภะ กึ่งคาวุตและหนึ่งคาวุต มีหินอยู่ ก็กระทำไว้ในใจถึงกรรมฐานด้วยสัญญานั้นเดินไปอยู่. ถ้าในตอนเดินไป กิเลสเกิดขึ้นแก่ผู้ใด ผู้นั้นย่อมข่มกิเลสนั้นเสียในตอนเดินนั่นแหละ เมื่อไม่อาจอย่างนั้นจึงยืนอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้ท่านผู้มาข้างหลังของผู้นั้นก็จะต้องหยุดยืนอยู่.
               ผู้นั้นจะโจทท้วงตนขึ้นว่า ภิกษุนี้ย่อมรู้ความดำริที่เกิดขึ้นแล้วแก่ท่าน ข้อนี้ไม่สมควรแก่ท่าน ดังนี้แล้วเจริญวิปัสสนาย่อมก้าวลงสู่อริยภูมิในตอนยืนนั้นนั่นเอง เมื่อไม่อาจอย่างนั้น จึงนั่งอยู่นัยนั้นเหมือนกันว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้ท่านผู้มาข้างหลังของผู้นั้นก็จะต้องนั่ง ดังนี้. เมื่อไม่อาจก้าวลงสู่อริยภูมิ ก็ข่มกิเลสนั้นแล้วใส่ใจถึงกรรมฐานเท่านั้นเดินไป (ถ้า) มีจิตเคลื่อนจากกรรมฐานอย่ายกเท้าไป ถ้าจะยกเท้าไป ต้องกลับมายืน ณ ที่เดิมให้ได้. เหมือนพระมหาผุสสเทวเถระผู้อยู่ในอาลินทกะ.
               ได้ยินว่า พระเถระนั้นบำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรเท่านั้นอยู่ถึง ๑๙ ปี. ฝ่ายคนทั้งหลายไถนา หว่านข้าว นวดข้าวและทำการงานอยู่ในระหว่างทาง เห็นพระเถระเดินไปอย่างนั้น จึงเจรจากันว่า พระเถระเดินกลับมาบ่อยๆ ท่านหลงทางหรือว่าลืมอะไร. พระเถระไม่สนใจข้อนั้น มีจิตประกอบด้วยกรรมฐานอย่างเดียว กระทำสมณธรรมอยู่ ภายใน ๒๐ ปีก็ได้บรรลุพระอรหัต.
               ในวันที่พระเถระนั้นบรรลุพระอรหัตนั่นแล เทวดาผู้สิงอยู่ท้ายที่จงกรม ได้ยืนเอานิ้วทั้งหลายทำแสงสว่างให้โพลงขึ้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ท้าวสักกะจอมเทพ และท้าวสหัมบดีพรหมต่างมายังที่บำรุง.
               และพระมหาติสสเถระผู้อยู่ในป่า ได้เห็นแสงสว่างนั้น ในวันที่สองจึงถามท่านว่า ในตอนกลางคืน ได้มีแสงสว่างในสำนักของท่านผู้มีอายุ แสงสว่างนั้นคือแสงอะไร? พระเถระเมื่อจะทำความสับสนคือพรางเรื่อง จึงกล่าวคำมีอาทิอย่างนี้ว่า ธรรมดาแสงสว่างเป็นแสงของประทีปก็มี เป็นแสงของแก้วมณีก็มี ท่านถูกแค่นได้ว่า พระคุณเจ้าปกปิดหรือ จึงรับว่าครับ แล้วจึงได้บอก.
               และเหมือนพระมหานาคเถระผู้อยู่ในกาฬวิลลิมัณฑปะ.
               ได้ยินว่า พระเถระแม้นั้น เมื่อจะบำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรจึงคิดว่า เบื้องต้น เราจักบูชาพระมหาปธานความเพียรใหญ่ของพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน แล้วจึงอธิษฐานการยืนและการจงกรมเท่านั้นถึง ๗ ปี ได้บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรอีก ๑๖ ปีจึงบรรลุพระอรหัต.
               พระเถระมีจิตประกอบตามกรรมฐานอยู่อย่างนี้ทีเดียว จึงยกเท้าไป เมื่อมีจิตพรากจากกรรมฐาน ยกเท้าจะหวนกลับมา ท่านไปจนใกล้บ้านแล้วยืนอยู่ในสถานที่อันน่าสงสัยว่า จะเป็นแม่โคหรือบรรพชิตหนอ จึงห่มสังฆาฏิถือบาตรไปถึงประตูบ้าน แล้วเอาน้ำจากคนโทน้ำที่หนีบรักแร้มาอม แล้วจึงเข้าบ้านด้วยคิดว่า ความสับสนแห่งกรรมฐานของเราอย่าได้มี แม้ด้วยเหตุสักว่าการกล่าวกะพวกคนผู้เข้าไปหาเพื่อถวายภิกษาหรือเพื่อจะไหว้ว่า จงมีอายุยืนเถิด. ก็ถ้าพวกเขาถามท่านถึงวันว่า ท่านผู้เจริญ วันนี้ ๗ ค่ำหรือ ๘ ค่ำ. ท่านจะกลืนน้ำแล้วจึงบอก ถ้าผู้ถามถึงวันไม่มีในเวลาออกไป ท่านจะบ้วนทิ้งที่ประตูบ้านแล้วจึงไป.
               และเหมือนภิกษุ ๕๐ รูปจำพรรษาอยู่ในกลัมพติตถวิหาร ในเกาะสิงหล.
               ได้ยินว่า ในวันอุโบสถใกล้เข้าพรรษา ภิกษุเหล่านั้นได้กระทำกติกวัตรกันว่า เราทั้งหลายยังไม่บรรลุพระอรหัต จักไม่พูดกะกันและกัน. และเมื่อจะเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต อมน้ำที่ประตูบ้านแล้วจึงเข้าไป. เมื่อเขาถามถึงวันก็กลืนน้ำแล้วจึงบอก เมื่อไม่มีผู้ถามก็บ้วนที่ประตูบ้านแล้วกลับมายังวิหาร.
               คนทั้งหลายในที่นั้นเห็นที่ที่บ้วนน้ำก็รู้ได้ว่า วันนี้ มารูปเดียว วันนี้มาสองรูป. และพากันคิดอย่างนี้ว่า ภิกษุเหล่านี้ไม่พูดกับพวกเราหรือว่าไม่พูดแม้กะกันและกัน. ถ้าไม่พูดแม้กะกันและกัน จักเกิดวิวาทกันแน่แท้ เอาเถอะ พวกเราจักให้ภิกษุเหล่านั้นขอโทษกะกันและกัน. คนทั้งปวงได้พากันไปยังวิหาร.
               เมื่อภิกษุ ๕๐ รูปในวิหารนั้นเข้าพรรษาแล้ว จึงไม่ได้เห็นภิกษุ ๒ รูปในที่เดียวกัน.
               ลำดับนั้น บรรดาคนเหล่านั้น บุรุษผู้มีดวงตากล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โอกาสของคนผู้ทำการทะเลาะกัน ย่อมไม่เป็นเช่นนี้ ลานพระเจดีย์ ลานโพธิ์เกลี้ยงเกลา ไม้กวาดก็เก็บไว้เรียบร้อย น้ำดื่มน้ำใช้ก็ตั้งไว้ดี แต่นั้นคนเหล่านั้นจึงพากันกลับ.
               ภิกษุแม้เหล่านั้นเจริญวิปัสสนาภายในพรรษาเท่านั้น ได้บรรลุพระอรหัต ในวันมหาปวารณาจึงปวารณาเป็นวิสุทธิปวารณา.
               ภิกษุมีจิตประกอบด้วยกรรมฐานเท่านั้น เหมือนพระมหานาคเถระผู้อยู่ในกาฬวัลลิมัณฑปะ และเหมือนภิกษุผู้จำพรรษาอยู่ในกลัมพติตถวิหาร ด้วยประการอย่างนี้ ย่างเท้าไปใกล้บ้านจึงอมน้ำ กำหนดถนนในถนนใดไม่มีคนก่อการทะเลาะมีนักเลงสุราเป็นต้น หรือช้างดุม้าดุเป็นต้นจึงดำเนินไปตามถนนนั้น. และเมื่อเที่ยวบิณฑบาตไปในถนนนั้นก็รีบร้อนไปโดยรวดเร็ว. ชื่อว่าธุดงค์ของภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตโดยรวดเร็วเป็นวัตรย่อมไม่มี.
               อนึ่ง ไปถึงภูมิภาคอันไม่สม่ำเสมอ ก็เป็นผู้นิ่งเดินไป เหมือนเกวียนเต็มน้ำ และเข้าไปตามลำดับบ้าน เพื่อที่จะกำหนดผู้ใคร่จะให้หรือไม่ให้ จึงรอเวลาอันเหมาะสมแก่กิจนั้น รับภิกษาได้แล้วนั่งอยู่ในโอกาสอันสมควร เมื่อมนสิการกรรมฐานจึงเข้าไปตั้งความสำคัญว่าปฏิกูลในอาหาร พิจารณาโดยเปรียบด้วยน้ำมันหยอดเพลา ยาทาแผลและเนื้อของบุตร บริโภคอาหารอันประกอบด้วยองค์ ๘ ว่า มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา ฯลฯ และบริโภคแล้วทำกิจด้วยน้ำ บรรเทาความลำบากเพราะภัตครู่หนึ่ง แล้วกระทำไว้ในใจถึงกรรมฐาน ตลอดกาลภายหลังภัต ตลอดยามแรกและยามสุดท้าย เหมือนกาลก่อนภัต.
               ภิกษุนี้เรียกว่านำไปและนำกลับมาด้วย.
               การนำไปและนำกลับมานี้ด้วยประการอย่างนี้ เรียกว่าคตปัจจาคตวัตร.
               ภิกษุผู้บำเพ็ญวัตรนี้อยู่ ถ้าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ย่อมบรรลุพระอรหัตในปฐมวัยทีเดียว ถ้าไม่บรรลุในปฐมวัยก็จะบรรลุในมัชฌิมวัย ถ้าไม่บรรลุในมัชฌิมวัยก็จะบรรลุในเวลาใกล้จะตาย ถ้าไม่บรรลุในเวลาใกล้จะตายก็จะเป็นเทวบุตรแล้วบรรลุ ถ้าเป็นเทวบุตรไม่บรรลุ ก็จะได้เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน. ถ้าไม่ได้เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน ก็จะได้เป็นผู้ตรัสรู้ได้เร็วพลัน ในความเป็นผู้พร้อมหน้าต่อพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เหมือนพระพาหิยเถระ หรือจะเป็นผู้มีปัญญามากเหมือนพระสารีบุตรเถระ.
               พระปัจเจกโพธิสัตว์นี้บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสป เป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรนี้อยู่สองหมื่นปี กระทำกาละแล้วบังเกิดขึ้นในกามาวจรเทวโลก. จุติจากนั้นแล้วได้ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี. สตรีทั้งหลายผู้ฉลาดย่อมรู้การตั้งครรภ์ได้ในวันนั้นเอง.
               ก็พระอัครมเหสีนั้นเป็นสตรีคนหนึ่งบรรดาสตรีเหล่านั้น เพราะฉะนั้น พระอัครมเหสีแม้นี้ก็กราบทูลการตั้งครรภ์นั้นแด่พระราชา. ข้อที่เมื่อสัตว์ผู้มีบุญเกิดขึ้นในครรภ์ มาตุคามย่อมได้การบริหารครรภ์นั้น เป็นของธรรมดา. เพราะฉะนั้น พระราชาจึงได้ประทานการบริหารครรภ์แก่พระอัครมเหสีนั้น.
               จำเดิมแต่นั้น พระนางไม่ได้กลืนกินอะไรๆ ที่ร้อนจัด เย็นจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัดและขมจัด. เพราะเมื่อมารดากลืนกินของที่ร้อนจัด สัตว์ที่เกิดในครรภ์ย่อมเป็นเหมือนอยู่ในโลหกุมภี เมื่อกลืนกินของเย็นจัด ย่อมเป็นเหมือนอยู่ในโลกันตนรก เมื่อบริโภคของเปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัด ขมจัด อวัยวะของทารกย่อมมีเวทนากล้า เหมือนถูกผ่าด้วยมีดแล้วราดด้วยของเปรี้ยวเป็นต้น.
               ผู้บริหารครรภ์ทั้งหลายย่อมห้ามพระนางจากการเดินมาก ยืนมาก นั่งมากและนอนมาก ด้วยหวังใจว่า ทารกที่อยู่ในครรภ์อย่าได้มีความลำบากเพราะการเคลื่อนไหว. พระนางได้การเดินเป็นต้นบนภาคพื้นที่ลาดด้วยเครื่องอันนุ่มโดยพอประมาณ ย่อมได้เสวยข้าวน้ำที่เป็นสัปปายะ อร่อย สมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นเป็นต้น ผู้บริหารครรภ์กำหนดให้พระนางเดิน ให้ประทับนั่งและให้ออกไป.
               พระนางอันเขาบริหารอยู่อย่างนี้ ในเวลาพระครรภ์แก่ เสด็จเข้าเรือนประสูติ ในเวลาใกล้รุ่ง ประสูติพระโอรสผู้เช่นกับก้อนมโนศิลาที่เคล้าด้วยน้ำมันที่หุงแล้ว ประกอบด้วยธัญญลักษณะและบุญลักษณะ.
               ในวันที่ ๕ จากวันนั้น พระญาติทั้งหลายจึงแสดงพระโอรสนั่นผู้ตกแต่ง ประดับประดาแล้วแด่พระราชา. พระราชาทรงดีพระทัย ให้บำรุงด้วยแม่นม ๖๖ นาง. พระราชโอรสนั้นเจริญด้วยสมบัติทั้งปวง ไม่นานนักก็ทรงบรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสา.
               พระราชาทรงอภิเษกพระโอรสนั้นผู้มีพระชนม์ ๑๖ พรรษาด้วยราชสมบัติ และให้บำรุงบำเรอด้วยนางฟ้อนต่างๆ.
               พระราชโอรสผู้อภิเษกแล้ว ทรงพระนามว่าพระเจ้าพรหมทัตโดยพระนาม ครองราชสมบัติในสองหมื่นนครในสกลชมพูทวีป.
               ได้ยินว่า ในชมพูทวีป เมื่อก่อนได้มีนครอยู่แปดหมื่นสี่พันนคร นครเหล่านั้นเสื่อมไปเหลืออยู่หกหมื่นนคร แต่นั้นเสื่อมไปเหลืออยู่สี่หมื่นนคร ก็ในเวลาเสื่อมหมดมีเหลืออยู่สองหมื่นนคร. ก็พระเจ้าพรหมทัตนี้อุบัติขึ้นในเวลาเสื่อมหมด เพราะเหตุนั้น พระเจ้าพรหมทัตจึงได้มีสองหมื่นนคร มีปราสาทสองหมื่นองค์ มีพลช้างสองหมื่นเชือก มีพลม้าสองหมื่นตัว มีพลรถสองหมื่นคัน มีพลเดินเท้าสองหมื่นคน มีสตรีสองหมื่นนางคือนางในและหญิงฟ้อน มีอำมาตย์สองหมื่นคน.
               พระเจ้าพรหมทัตนั้นทรงครองมหาราชสมบัติอยู่นั่นแล ทรงกระทำกสิณบริกรรม ทรงทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดแล้ว. ก็เพราะเหตุว่าพระราชาผู้อภิเษกแล้ว ต้องประทับนั่งในศาลเป็นประจำ ฉะนั้น วันหนึ่งเวลาเช้าตรู่ เสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว ประทับนั่งในที่วินิจฉัย.
               พวกคนได้กระทำเสียงดังลั่นเอ็ดอึงในที่นั้น.
               พระองค์ทรงดำริว่า เสียงนี้เป็นอุปกิเลสแห่งสมาบัติ จึงเสด็จขึ้นสู่พื้นปราสาทประทับนั่งด้วยหวังว่าจะเข้าสมาบัติ ก็ไม่อาจเข้าได้ สมาบัติเสื่อมไปเพราะความสับสนในตอนเป็นพระราชา.
               ลำดับนั้น จึงทรงดำริว่า ราชสมบัติประเสริฐหรือสมณธรรมประเสริฐ. แต่นั้น ทรงทราบว่าความสุขในราชสมบัตินิดหน่อย มีโทษมาก แต่ความสุขในสมณธรรมไพบูลย์ มีอานิสงส์มิใช่น้อย และบุรุษชั้นสูงเสพแล้ว.
               จึงทรงสั่งอำมาตย์คนหนึ่งว่า เธอจงปกครองราชสมบัตินี้โดยธรรมโดยสม่ำเสมอ อย่าครอบครองโดยไม่เป็นธรรม ดังนี้แล้วทรงมอบสมบัติทั้งปวงให้แก่อำมาตย์นั้น แล้วเสด็จขึ้นปราสาท ทรงยับยั้งอยู่ด้วยสุขในสมาบัติ ใครๆ จะเข้าไปเฝ้าไม่ได้ ยกเว้นแต่ผู้จะถวายน้ำสรงพระพักตร์และไม้ชำระฟัน กับคนผู้จะนำพระกระยาหารไปถวายเป็นต้น.
               ลำดับนั้น เมื่อเวลาล่วงไปประมาณกึ่งเดือน พระมเหสีตรัสถามว่า พระราชาไม่ปรากฏในที่ไหนๆ ในการเสด็จไปอุทยาน การทอดพระเนตรกำลังพลและการฟ้อนเป็นต้น พระราชาเสด็จไปไหน.
               อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระมเหสี.
               พระนางทรงให้ส่งข่าวแก่อำมาตย์ (ผู้รับมอบราชสมบัติ) ว่า เมื่อท่านรับมอบราชสมบัติ แม้เราก็เป็นอันท่านรับมอบด้วย ท่านจงมาสำเร็จการอยู่ร่วมกับเรา. อำมาตย์นั้นปิดหูทั้งสองข้างเสีย แล้วห้ามว่าคำนี้ไม่น่าฟัง. พระนางจึงให้ส่งข่าวไปอีก ๒-๓ ครั้ง ให้คุกคามเขาผู้ไม่ปรารถนาว่า ถ้าท่านไม่ทำ เราจะปลดท่านแม้จากตำแหน่ง จะให้ปลงแม้ชีวิตท่าน. อำมาตย์นั้นกลัวคิดว่า ธรรมดามาตุคามเป็นผู้ตัดสินใจได้เด็ดเดี่ยว บางครั้งจะให้กระทำแม้อย่างที่ตรัสนั้น.
               วันหนึ่งไปที่ลับสำเร็จการอยู่ร่วมกันบนพระที่สิริไสยากับพระนาง. พระนางเป็นหญิงมีบุญ มีสัมผัสสบาย. อำมาตย์นั้นกำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดในสัมผัสของพระนาง ทั้งระแวงทั้งสงสัยนั่นแหละก็ได้ไปในที่นั้นเนืองๆ ต่อมาหมดความระแวงสงสัย เริ่มเข้าไปโดยลำดับดุจเจ้าของเรือนของตน.
               ลำดับนั้น คนของพระราชาได้กราบทูลเรื่องราวนั้นแก่พระราชา. พระราชาไม่ทรงเชื่อ. จึงพากันกราบทูลแม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สาม.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงแอบไป ได้ทรงเห็นด้วยพระองค์เอง จึงรับสั่งให้ประชุมอำมาตย์ทั้งหมดแล้วแจ้งให้ทราบ. อำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า อำมาตย์ผู้นี้ผิดต่อพระราชา ควรตัดมือ ควรตัดเท้า ดังนี้แล้ว ชี้กรรมกรณ์ การลงโทษทางกายทั้งหมดจนกระทั่งถึงการเสียบหลาว.
               พระราชาตรัสว่า ในการฆ่า การจองจำและการทุบตีผู้นี้ การเบียดเบียนก็จะพึงเกิดขึ้นแก่เรา ในการปลงชีวิต ปาณาติบาตก็จะพึงเกิด ในการริบทรัพย์ อทินนาทานก็จะพึงเกิดขึ้น ไม่ควรทำกรรมเห็นปานนี้ พวกท่านจงขับไล่อำมาตย์ผู้นี้ออกไปเสียจากอาณาจักรของเรา.
               อำมาตย์ทั้งหลายได้กระทำเขาให้เป็นคนไม่มีเขตแดน. เขาจึงพาเอาทรัพย์และบุตรของตนที่พอจะนำเอาไปได้ ไปยังเขตแดงของพระราชาอื่น.
               พระราชาในเขตแดนนั้นได้ทรงทราบเข้าจึงตรัสถามว่า ท่านมาทำไม? อำมาตย์นั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ปรารถนาจะคอยรับใช้พระองค์. พระราชานั้นจึงรับเขาไว้.
               พอล่วงไป ๒-๓ วัน อำมาตย์ได้ความคุ้นเคยแล้วได้กราบทูลคำนี้กะพระราชานั้นว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์เห็นน้ำผึ้งไม่มีตัวอ่อน คนผู้จะเคี้ยวกินน้ำผึ้งนั้นก็ไม่มี. พระราชาทรงดำริว่า อะไรนี่ คนที่จะประสงค์จะเย้ยจึงจะกล่าว จึงไม่ทรงเชื่อฟัง. อำมาตย์นั้นได้ช่องจึงได้กราบทูลพรรณนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก. พระราชาตรัสถามว่า นี้อะไร? อำมาตย์นั้นกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ราชสมบัติในเมืองพาราณสี พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ท่านประสงค์จะนำเราไปฆ่าให้ตายหรือ.
               อำมาตย์นั้นกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์อย่าได้ตรัสอย่างนั้น ถ้าพระองค์ไม่ทรงเชื่อ ขอพระองค์จงส่งคนไป.
               พระราชาจึงทรงส่งคนทั้งหลายไป. คนเหล่านั้นไปถึงแล้วจึงขุดซุ้มประตูแล้วโผล่ขึ้นในตำหนักที่บรรทมของพระราชา.
               พระราชาทรงเห็นแล้วตรัสถามว่า พวกท่านพากันมาเพื่ออะไร? คนเหล่านั้นกราบทูลว่า พวกข้าพระองค์เป็นโจร พระเจ้าข้า. พระราชาได้ให้ทรัพย์แก่คนเหล่านั้นแล้วตรัสสอนว่า พวกท่านอย่าได้กระทำอย่างนี้อีกแล้วปล่อยตัวไป. คนเหล่านั้นจึงมากราบทูลให้พระราชานั้นทรงทราบ.
               พระราชานั้นทรงทดลองอย่างนั้นแหละครั้งที่สองอีก ทรงทราบว่า พระราชาทรงมีศีล จึงคุมกองทัพมีองค์ ๔ เข้าประชิดนครหนึ่งในระหว่างแดน แล้วให้ส่งข่าวแก่อำมาตย์ในนครนั้นว่า ท่านจะให้นครแก่เราหรือว่าจะรบ.
               อำมาตย์นั้นจึงให้คนกราบทูลเนื้อความนั้นแก่พระเจ้าพรหมทัตว่า ขอพระองค์ผู้สมมติเทพจงสั่งมาว่า จะรบหรือจะให้นคร.
               พระราชาทรงส่งข่าวไปว่า ไม่จำต้องรบ ท่านจงให้นครแล้วจงมาในนครพาราณสีนี้.
               อำมาตย์นั้นได้กระทำตามรับสั่งอย่างนั้น ฝ่ายพระราชาที่เป็นข้าศึกยึดนครนั้นได้แล้ว ทรงส่งทูตทั้งหลายไปแม้ในนครที่เหลือเหมือนอย่างนั้นแหละ อำมาตย์แม้เหล่านั้นก็กราบทูลแก่พระเจ้าพรหมทัตอย่างนั้นเหมือนกัน อันพระเจ้าพรหมทัตนั้นตรัสว่า ไม่จำต้องรบ พึงมา ณ ที่นี้ จึงพากันมายังเมืองพาราณสี.
               ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลพระเจ้าพรหมทัตว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์จักรบกับพระราชานั้น. พระราชาทรงห้ามว่าปาณาติบาตจักมีแก่เรา.
               อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์จักจับเป็นพระราชานั้น แล้วนำมาในที่นี้ทีเดียว ทำให้พระราชาทรงยินยอมด้วยอุบายต่างๆ แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงเสด็จมา ดังนี้แล้วเริ่มจะไป.
               พระราชาตรัสว่า ถ้าท่านทั้งหลายจะไม่กระทำสัตว์ให้ตาย ด้วยการประหารและปล้น เราก็จะไป.
               อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พวกข้าพระองค์จะไม่ทำ พวกข้าพระองค์จะแสดงภัยแล้วให้หนีไป ดังนี้แล้วจึงคุมจตุรงคินีเสนา ใส่ดวงประทีปในหม้อแล้วไปในตอนกลางคืน. วันนั้น พระราชาที่เป็นข้าศึกยึดนครในที่ใกล้เมืองพาราณสีได้แล้ว ทรงดำริว่าบัดนี้จะมีอะไร จึงให้ปลดเครื่องผูกสอดในตอนกลางคืน เป็นผู้ประมาท จึงก้าวลงสู่ความหลับพร้อมกับหมู่พล.
               ลำดับนั้น อำมาตย์ทั้งหลายได้พาพระเจ้าพรหมทัตไปถึงค่ายของพระราชาผู้เป็นข้าศึก จึงให้นำดวงประทีปออกจากหม้อทุกหม้อ ทำให้โชติช่วงเป็นอันเดียวกัน แล้วกระทำการโห่ร้อง. อำมาตย์ของพระราชาที่เป็นข้าศึก เห็นหมู่พลมากมายก็กลัว จึงเข้าไปเฝ้าพระราชาของตนแล้วได้กล่าวเสียงดังลั่นว่า ขอพระองค์จงลุกขึ้นเคี้ยวกินน้ำผึ้งที่ไม่มีตัวอ่อนเถิด. แม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สามก็ได้กระทำเหมือนอย่างนั้น.
               พระราชาผู้เป็นข้าศึกทรงตื่นขึ้นเพราะเสียงนั้น ถึงความกลัวหวาดสะดุ้ง. เสียงโห่ร้องตั้งร้อยลั่นไปแล้ว. พระราชานั้นทรงดำริว่า เราเชื่อคำของคนอื่นจึงตกไปอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู ทรงบ่นถึงเรื่องนั้นๆ ไปตลอดทั้งคืน ในวันรุ่งขึ้นทรงดำริว่า พระราชาทรงตั้งอยู่ในธรรม คงไม่ทำการขัดขวาง เราจะไปให้พระองค์อดโทษ จึงเข้าไปเฝ้าพระราชา คุกเข่าลงแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงอดโทษผิดของหม่อมฉัน.
               พระราชาทรงโอวาทพระราชาที่เป็นข้าศึกนั้นตรัสว่า จงลุกขึ้นเถิด หม่อมฉันอดโทษแก่พระองค์. พระราชาข้าศึกนั้น เมื่อพระราชาสักว่า ตรัสอย่างนั้นเท่านั้น ก็ได้ถึงความโล่งพระทัยอย่างยิ่ง ได้ราชสมบัติในชนบทใกล้เคียงพระเจ้าพาราณสีนั่นเอง พระราชาทั้งสองนั้นได้เป็นพระสหายกันและกัน.
               ลำดับนั้น พระเจ้าพรหมทัตทอดพระเนตรเสนาทั้งสองฝ่ายรื่นเริง บันเทิงยืนร่วมกันได้ จึงทรงดำริว่า เพราะเราผู้เดียวเท่านั้นตามรักษาจิตหยาดโลหิตสักเท่าแมลงวันตัวเล็กๆ ดื่มได้ จึงไม่เกิดขึ้นในหมู่มหาชนนี้ โอ สาธุ โอ ดีแล้ว! สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุข อย่าได้มีเวรกัน อย่าเบียดเบียนกัน แล้วทรงทำเมตตาฌานให้เกิดขึ้น ทรงทำเมตตาฌานนั้นนั่นแหละให้เป็นบาท พิจารณาสังขารทั้งหลาย กระทำให้แจ้งปัจเจกโพธิญาณ บรรลุความเป็นพระสยัมภูแล้ว.
               อำมาตย์ทั้งหลายหมอบกราบลงแล้ว กราบทูลพระเจ้าพรหมทัตผู้มีความสุขด้วยสุขในมรรคและผล ผู้ประทับนั่งอยู่บนคอช้างว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า การที่จะเสด็จไป พึงทำสักการะแก่หมู่พลผู้ชนะ พึงให้เสบียงคือภัตแก่หมู่พลผู้แพ้.
               พระเจ้าพรหมทัตนั้นตรัสว่า นี่แน่ะพนาย เราไม่ได้เป็นพระราชา เราชื่อว่าพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า.
               อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า พระองค์ผู้ประเสริฐตรัสอะไร พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่เป็นผู้เช่นนี้.
               พระราชาตรัสว่า พนายทั้งหลาย พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นเช่นไร.
               อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ธรรมดาพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเป็นผู้มีผมและหนวดยาวสองนิ้ว ประกอบด้วยบริขาร ๘.
               พระราชาจึงเอาพระหัตถ์ขวาลูบพระเศียร. ทันใดนั้นเพศคฤหัสถ์อันตรธานหายไป เพศบรรพชิตปรากฏขึ้น. พระองค์มีพระเกสาและพระมัสสุประมาณสองนิ้ว ประกอบด้วยบริขาร ๘ เป็นเช่นกับพระเถระมีพรรษาหนึ่งร้อย. พระราชาทรงเข้าจตุตถฌานเหาะจากคอช้างขึ้นสู่เวหาส ประทับนั่งบนดอกปทุม.
               อำมาตย์ทั้งหลายถวายบังคมแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นกรรมฐาน พระองค์บรรลุได้อย่างไร?
               พระราชานั้น เพราะเหตุที่พระองค์มีกรรมฐานมีเมตตาฌานเป็นอารมณ์ และทรงเห็นแจ้งวิปัสสนานั้น จึงได้บรรลุ ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนั้น จึงได้ตรัสคาถานี้แหละอันเป็นอุทานคาถา และพยากรณ์คาถาว่า สพฺเพสุ ภูเตสุ นิธาย ทณฺฑํ ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺเพสุ แปลว่า ไม่เหลือ.
               บทว่า ภูเตสุ ได้แก่ สัตว์ทั้งหลาย.
               ในที่นี้มีความสังเขปเท่านี้ ส่วนความพิสดาร ข้าพเจ้าจักกล่าวในอรรถกถารัตนสูตร.
               บทว่า นิธาย แปลว่า วางแล้ว.
               บทว่า ทณฺฑํ ได้แก่ อาชญาทางกาย วาจาและใจ.
               คำนี้เป็นชื่อของกายทุจริตเป็นต้น.
               จริงอยู่ กายทุจริตชื่อว่าทัณฑ์ เพราะย่อมลงโทษ. อธิบายว่า เบียดเบียน คือทำให้ถึงความพินาศฉิบหาย. วจีทุจริตและมโนทุจริตก็เหมือนกัน.
               อีกอย่างหนึ่ง ทัณฑ์ ได้แก่ ทัณฑ์คือการประหาร. อธิบายว่า วางทัณฑ์คือการประหารนั้น ดังนี้ก็มี.
               บทว่า อวิเหฐยํ แปลว่า ไม่เบียดเบียน.
               บทว่า อญฺญตรมฺปิ ได้แก่ คนใดคนหนึ่ง คือแม้คนหนึ่ง.
               บทว่า เตสํ โยคว่า สัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น.
               บทว่า น ปุตฺตมิจฺเฉยฺย ความว่า ไม่พึงปรารถนาบุตรชนิดใดชนิดหนึ่ง ในบรรดาบุตร ๔ จำพวกนี้ คือบุตรที่เกิดแต่ตน บุตรเกิดแต่ภริยา บุตรที่เขาให้ และอันเตวาสิกคือลูกศิษย์.
               บทว่า กุโต สหายํ ความว่า แต่สหายควรปรารถนา เพราะเหตุนั้น จะปรารถนาสหายนั้นแต่ไหนเล่า.
               บทว่า เอโก ความว่า ชื่อว่าผู้เดียว เพราะการบรรพชา.
               ชื่อว่าผู้เดียว เพราะอรรถว่าไม่มีเพื่อน. ชื่อว่าผู้เดียว เพราะอรรถว่าละตัณหา. ชื่อผู้เดียว เพราะอรรถว่าปราศจากกิเลสโดยส่วนเดียว, ชื่อว่าผู้เดียว เพราะตรัสรู้พร้อมเฉพาะพระปัจเจกสัมโพธิญาณผู้เดียว.
               จริงอยู่ ท่านเป็นไปอยู่ในท่ามกลางสมณะตั้งพันองค์ ก็ชื่อว่าผู้เดียว เพราะตัดความเกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์เสีย, ชื่อว่าผู้เดียว เพราะการบรรพชาอย่างนี้, ยืนผู้เดียว เดินผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว ไปอยู่คือเป็นไปผู้เดียว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าผู้เดียว เพราะอรรถว่าไม่มีเพื่อนด้วยประการอย่างนี้.
                                   บุคคลมีตัณหาเป็นเพื่อน จึงท่องเที่ยวอยู่ตลอดกาล
                         อันยาวนาน ย่อมไม่ล่วงพ้นสงสารอันมีภาวะเป็นอย่างนี้และ
                         มีภาวะเป็นอย่างอื่น. ภิกษุรู้โทษนี้แล้วปราศจากตัณหา ไม่
                         ถือมั่น มีสติ พึงงดเว้นตัณหาอันเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์เสีย.

               เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าผู้เดียว เพราะอรรถว่าละตัณหาได้ด้วยประการอย่างนี้. กิเลสทั้งปวงเป็นอันท่านละได้แล้ว มีมูลรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดุจวัตถุคือที่ตั้งของต้นตาล ทำให้ถึงความไม่มีต่อไป มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าผู้เดียว เพราะอรรถว่าปราศจากกิเลสโดยส่วนเดียว ด้วยประการอย่างนี้. ท่านไม่มีอาจารย์ เป็นสยัมภู ตรัสรู้พร้อมเฉพาะพระปัจเจกสัมโพธิญาณด้วยตนเอง เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าผู้เดียว เพราะตรัสรู้พร้อมเฉพาะพระปัจเจกสัมโพธิญาณผู้เดียว ด้วยประการอย่างนี้.
               บทว่า จเร ความว่า จริยา ๘ เหล่านี้ใด คืออิริยาบถจริยาในอิริยาบถ ๔ ของผู้ที่สมบูรณ์ด้วยปณิธิ.
               อายตนจริยาในอายตนะภายในและภายนอก ๖ ของผู้ที่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย. สติจริยาในสติปัฏฐาน ๔ ของผู้ที่มีปกติอยู่ด้วยความไม่ประมาท. สมาธิจริยาในฌาน ๔ ของผู้ที่ประกอบเนืองๆ ในอธิจิต. ญาณจริยาในอริยสัจ ๔ ของผู้ที่สมบูรณ์ด้วยพุทธิปัญญา. มรรคจริยาในอริยสัจ ๔ ของผู้ที่ปฏิบัติชอบ. ปัตติจริยาในสามัญญผล ๔ ของผู้ที่บรรลุผล. และโลกัตถจริยาในสรรพสัตว์ของพระพุทธเจ้า ๓ จำพวก.
               บรรดาจริยาเหล่านั้น จริยาของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้าโดยบางส่วน.
               เหมือนดังท่านกล่าวไว้ว่า บทว่า จริยา ได้แก่ จริยา ๘ คืออิริยบถจริยา. ความพิสดารแล้ว. พึงเป็นผู้ประกอบด้วยจริยาเหล่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ความว่า จริยา ๘ แม้อื่นอีกท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ผู้น้อมใจเชื่อย่อมประพฤติด้วยศรัทธา ผู้ประคองไว้ย่อมประพฤติด้วยความเพียร ผู้เข้าไปตั้งมั่นย่อมประพฤติด้วยสติ ผู้ไม่ฟุ้งซ่านย่อมประพฤติด้วยสมาธิ ผู้รู้อยู่ย่อมประพฤติด้วยปัญญา ผู้รู้แจ้งอยู่ย่อมประพฤติด้วยวิญญาณ ย่อมประพฤติอายตนจริยาโดยมนสิการว่า กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเกิดแก่ผู้ปฏิบัติอย่างนี้. ย่อมประพฤติวิเสสจริยาโดยมนสิการว่า ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ย่อมบรรลุคุณวิเศษพึงเป็นผู้ประกอบด้วยจริยา ๘ แม้เหล่านั้น.
               ในคำว่า ขคฺควิสาณกปฺโป นี้ เขาของแรดชื่อว่านอแรด.
               ความหมายของกัปปศัพท์ ข้าพเจ้าจักประกาศในอรรถกถามงคลสูตร.
               แต่ในที่นี้กัปปศัพท์นี้ พึงทราบว่าให้พิสดาร เช่น ดังในประโยคว่า ผู้เจริญทั้งหลาย นัยว่า พวกเราปรึกษาหารืออยู่กับพระสาวกผู้เช่นกับพระศาสดา.
               บทว่า ขคฺควิสาณกปฺโป ท่านจึงอธิบายว่า เช่นกับนอแรด. พรรณนาความโดยบทในที่นี้ เพียงเท่านี้ก่อน.
               แต่เมื่อว่าด้วยความเกี่ยวเนื่องกันโดยอธิบาย พึงทราบอย่างนี้. อาชญามีประการดังกล่าวนี้ใด อันบุคคลให้เป็นไปในสัตว์ทั้งหลาย ย่อมไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เราปล่อยวางอาชญานั้นในสัตว์ทั้งมวล โดยไม่ให้อาชญาเป็นไปในสัตว์เหล่านั้น และโดยนำเข้าไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์อื่น ด้วยเมตตาอันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับอาชญานั้น และเพราะเป็นผู้ปล่อยวางอาชญาเสียแล้ว จึงไม่เบียดเบียนโดยประการที่พวกสัตว์ผู้ที่ยังไม่วางอาชญาเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยท่อนไม้ ศาสตรา ฝ่ามือหรือก้อนดิน อาศัยเมตตากรรมฐานนี้แม้ข้อหนึ่งบรรดาพรหมวิหาร ๔ เหล่านั้น เห็นแจ้งเวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ในกรรมฐานนั้นและสังขารอื่นจากนั้น ตามแนวของเวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณนั้นนั่นแล จึงได้บรรลุพระปัจเจกโพธิญาณนี้ อธิบายว่า ดังกล่าวมานี้เพียงเท่านี้ก่อน.
               ส่วนเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกันมีดังต่อไปนี้.
               เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว อำมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้พระองค์จะเสด็จไปไหน. ดับนั้น เมื่อพระองค์ทรงรำพึงว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนอยู่ ณ ที่ไหน ทรงรู้แล้วจึงตรัสว่า เราจะอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์ อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลอีกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ พระองค์จะละพวกข้าพระองค์ จะไม่พึงประสงค์พวกข้าพระองค์.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงตรัสคำทั้งปวงว่า น ปุตฺตมิจฺเฉยฺย ดังนี้เป็นต้น.
               ในคำนั้นมีอธิบายว่า บัดนี้ เราไม่ปรารถนาแม้บุตรชนิดใดชนิดหนึ่ง บรรดาบุตรที่เกิดในตนเป็นต้น จะปรารถนาสหายผู้เช่นท่าน แต่ที่ไหนเล่า. เพราะฉะนั้น บรรดาพวกท่าน ผู้ใดปรารถนาจะไปกับเรา หรือจะเป็นเช่นกับเรา ผู้นั้นพึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไปเหมือนนอแรด.
               อีกอย่างหนึ่ง เมื่ออำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ พระองค์จะละพวกข้าพระองค์ จะไม่ต้องการพวกข้าพระองค์.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงตรัสว่า บุคคลไม่ปรารถนาบุตร จะปรารถนาสหายมาแต่ไหนเล่า ได้เห็นคุณของการเที่ยวไปผู้เดียว โดยเนื้อความตามที่กล่าวแล้ว จึงร่าเริง เกิดปีติโสมนัส เปล่งอุทานนี้ว่า พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น ดังนี้.
               ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เมื่อมหาชนเห็นอยู่นั่นแล ได้เหาะขึ้นในอากาศไปยังภูเขาคันธมาทน์.
               ชื่อว่าภูเขาคันธมาทน์นี้ได้มีอยู่เลยภูเขา ๗ ลูกไป คือจูฬกาฬบรรพต มหากาฬบรรพต นาคปลิเวฐนบรรพต จันทคัพภบรรพต สุริยคัพภบรรพต สุวัณณปัสสบรรพตและหิมวันตบรรพต ในป่าหิมพานต์.
               ณ ภูเขาคันธมาทน์ มีเงื้อมเขาชื่อว่านันทมูลกะ เป็นสถานที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย และมีคูหา ๓ คูหา คือสุวรรณคูหา ๑ มณิคูหา ๑ รัชตคูหา ๑.
               บรรดาคูหาทั้ง ๓ นั้น ที่ประตูมณิคูหามีต้นไม้ชื่อว่ามัญชูสกะ ต้นไม้สวรรค์สูงหนึ่งโยชน์ กว้างหนึ่งโยชน์. ต้นไม้นั้นย่อมเผล็ดดอกในน้ำหรือบนบกทั่วไปโดยพิเศษ ในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเสด็จมา. เบื้องบนต้นไม้นั้นมีโรงรัตนะทุกชนิด ในโรงรัตนะนั้น ลมที่กวาดก็ปัดกวาดหยากเยื่อทิ้ง ลมที่กระทำที่ให้เรียบ ก็กระทำทรายอันล้วนแล้วด้วยรัตนะทั้งปวงให้เรียบ ลมที่รดน้ำก็นำน้ำจากสระอโนดาตมารดน้ำ ลมที่ทำให้มีกลิ่นหอม ก็นำกลิ่นหอมของต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมมาจากป่าหิมพานต์ ลมที่โปรยก็โปรยดอกไม้ทั้งหลายให้ตกลงมา ลมที่ลาดก็ลาดที่ทั้งปวง และในโรงนั้นปูลาดอาสนะไว้เรียบร้อยเป็นประจำ สำหรับเป็นที่ที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงนั่งประชุม ในวันที่พระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้น และในวันอุโบสถ. นี้เป็นปกติในที่นั้น. พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นี้ไปในที่นั้นแล้ว นั่งบนอาสนะที่ลาดไว้แล้ว.
               ลำดับนั้น ถ้าในเวลานั้นมีพระปัจเจกพุทธเจ้าอื่นๆ อยู่ พระปัจเจกพุทธเจ้าแม้เหล่านั้น ก็จะประชุมกันในทันทีนั้นแล้วต่างก็นั่งบนอาสนะที่ลาดไว้แล้ว ก็แลครั้นนั่งแล้ว จะพากันเข้าสมาบัติบางสมาบัติแล้วจึงออกจากสมาบัติ แต่นั้น เพื่อที่จะให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงอนุโมทนา พระสังฆเถระจะถามกรรมฐานกะพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มาไม่นานอย่างนี้ว่า ท่านบรรลุอย่างไร.
               แม้ในกาลนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้มายังไม่นานนั้น ก็จะกล่าวอุทานคาถาและพยากรณ์คาถาของตนนั้นนั่นแหละ.
               แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าถูกท่านพระอานนท์ถาม ก็ตรัสคาถานั้นนั่นแหละซ้ำอีก แม้พระอานนท์ก็กล่าวคาถานั้นนั่นแหละในคราวสังคายนา รวมความว่า คาถาหนึ่งๆ ย่อมเป็นอันกล่าว ๔ ครั้ง คือในที่ที่ตรัสรู้พระปัจเจกสัมโพธิญาณ ๑ ในโรงบนต้นไม้สวรรค์ ๑ ในเวลาที่พระอานนท์ทูลถาม ๑ ในคราวสังคายนา ๑ ด้วยประการอย่างนี้แล.

               จบพรรณนาคาถาที่ ๑               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=147&Z=289
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=3800
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=3800
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :