ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 66อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 67อ่านอรรถกถา 32 / 68อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๗. สกจิตตนิยวรรค
๕. ภิสทายกเถราปทาน (๖๕)

               ๖๕. อรรถกถาภิสทายกเถราปทาน               
               อปทานของท่านพระภิสทายกเถระมีคำเริ่มต้นว่า เวสฺสภู นาม นาเมน ดังนี้.
               พระเถระแม้นี้ได้บำเพ็ญบุญสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าเวสสภู บังเกิดในกำเนิดช้างในป่าหิมวันต์ อยู่อาศัย ณ ที่นั้น.
               สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าเวสสภู ทรงประสงค์วิเวก จึงเสด็จไปหิมวันตประเทศ. ช้างเชือกประเสริฐนั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล้ว มีใจเลื่อมใส ถือเหง้ามันถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสวย.
               ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านจุติจากกำเนิดช้างนั้นแล้ว เกิดในเทวโลกเสวยกามาวจรสมบัติ ๖ ชั้นในเทวโลกนั้น แล้วมาสู่ความเป็นมนุษย์ เสวยสมบัติมีจักรพรรดิสมบัติเป็นต้น.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลหนึ่งซึ่งมีโภคะมาก เลื่อมใสในพระศาสดา ด้วยกำลังแห่งวาสนา ในกาลก่อนบวชแล้วไม่นานนักก็ได้เป็นพระอรหันต์.
               ท่านได้ปรากฏนามตามกุศลที่ตนบำเพ็ญไว้ในกาลก่อนว่า ภิสทายกเถระ ดังนี้.
               ท่านระลึกถึงบุพกรรมของตน เมื่อจะประกาศปุพพจริตาปทาน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า เวสฺสภู นาม นาเมน ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวสฺสภู ความว่า ชื่อว่าเวสสภู เพราะล่วงรู้ คือก้าวล่วงวิชชาของแพศย์.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเวสสภู เพราะก้าวล่วงคือครอบงำ แพศย์คือวาณิชกรรม กิเลสมีกามราคะเป็นต้น กรรมมีกุศลกรรมเป็นต้น หรือวัตถุกามและกิเลสกาม พระผู้มีพระภาคเจ้าโดยพระนามว่าเวสสภู.
               บทว่า อิสีนํ ตติโย อหุ ความว่า ชื่อว่าอิสิ เพราะแสวงหาคือหากุศลธรรมทั้งหลาย.
               อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเป็นฤษี หรือเป็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงมีพระนาม ๓ พระนาม เพราะเรียกกันว่า วิปสฺสี สิขี เวสฺสภู.
               บทว่า กานนํ วนโมคฺคยฺหา ความว่า เข้าไปยึดเอาป่า กล่าวคือป่าใหญ่.
               บทว่า ภิสมุฬาลํ ครฺหิตฺวา ความว่า ชื่อว่า ภิสํ เพราะเบียดเบียน คือทำความหิวของสัตว์ ๒ เท้าและสัตว์ ๔ เท้าให้พินาศ.
               ภิส นั้นคืออะไร? ได้แก่เหง้ามัน, เหง้ามันและรากบัว ชื่อว่าภิสมุฬาละ ถือเอาเหง้ามันและรากบัวนั้น.
               บทว่า กเรน จ ปรามฏฺโฐ ความว่า ทานที่เราให้แล้วนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าเวสสภู ผู้มีปัญญาสูงสุดลูบคลำแล้วด้วยพระกรคือด้วยฝ่าพระหัตถ์ ได้เป็นอันพระองค์ทรงสัมผัสแล้ว.
               บทว่า สุขาหํ นาภิชานามิ สมํ เตน กุโตตฺตรึ ความว่า เราไม่รู้สึกความสุขด้วยความสุขนั้น. อธิบายว่า สุขอื่นที่ยิ่งกว่าสุขนั้นจะมีแต่ที่ไหน.
               คำที่เหลือมีอรรถที่พึงรู้ได้ง่ายตามกระแสแห่งนัยแล.
               จบอรรถกถาภิสทายกเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๗. สกจิตตนิยวรรค ๕. ภิสทายกเถราปทาน (๖๕) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 66อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 67อ่านอรรถกถา 32 / 68อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=2697&Z=2714
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=2416
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=2416
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :