ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 34อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 35อ่านอรรถกถา 32 / 36อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๔. กุณฑธานวรรค
๓. มหากัจจายนเถราปทาน (๓๓)

               ๓๓. อรรถกถามหากัจจานเถราปทาน               
               อปทานของท่านพระมหากัจจานเถระมีคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตรนาถสฺส ดังนี้.
               พระเถระแม้นี้ได้บำเพ็ญบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพานในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล เจริญวัยแล้ว วันหนึ่ง ฟังธรรมในสำนักพระศาสดา เห็นภิกษุรูปหนึ่งอันพระศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศแห่งภิกษุผู้จำแนกอรรถแห่งคำที่พระองค์ตรัสโดยย่อให้พิสดารได้ แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น ตั้งปณิธานแล้ว บำเพ็ญบุญมีทานเป็นต้น ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าสุเมธะ เป็นวิทยาธรไปโดยอากาศ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ ไพรสณฑ์ มีจิตเลื่อมใส ได้กระทำการบูชาด้วยดอกกรรณิการ์.
               ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ในสุคตินั่นเอง.
               ในกาลแห่งพระทศพลพระนามว่ากัสสปะ บังเกิดในเรือนมีตระกูลในกรุงพาราณสี เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้กระทำการบูชาด้วยแผ่นอิฐอันสำเร็จด้วยทองมีค่าแสนหนึ่ง ที่ฐานอันเป็นที่กระทำสุวรรณเจดีย์ ตั้งความปรารถนาว่า ด้วยวิบากเป็นเครื่องไหลออกแห่งบุญกรรมนี้ ขอสรีระของเราจงมีวรรณะเพียงดังว่าสีแห่งทอง ในที่ๆ ตนเกิดแล้ว.
               แต่นั้นกระทำกุศลกรรมตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย สิ้นพุทธันดรหนึ่ง.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในเรือนแห่งปุโรหิต ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี ในวันตั้งชื่อของท่าน มารดาคิดว่า บุตรของเรามีวรรณะเพียงดังสีแห่งทอง ถือเอาชื่อของตนมาจึงตั้งชื่อว่า กาญจนมาณพ นั่นเอง. ท่านเจริญวัยแล้วเรียนไตรเพท โดยล่วงไปแห่งบิดาจึงได้ตำแหน่งปุโรหิต. ด้วยอำนาจโคตร ท่านปรากฏนามว่ากัจจานะ.
               พระเจ้าจัณฑปัชโชตทราบกาลเสด็จอุบัติแห่งพระพุทธเจ้า ทรงส่งสาสน์ไปว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ท่านจงไปในที่นั้น กราบเรียนให้พระศาสดาทรงทราบ. ท่านมีตนเป็นที่แปดเข้าไปเฝ้าพระศาสดา.
               พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาแล้ว. ในที่สุดแห่งเทศนา ท่านกับชน ๗ คนดำรงอยู่ในพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิดดังนี้. ในขณะนั้นนั่นเอง ภิกษุเหล่านั้นมีผมและหนวดเพียงสององคุลี ทรงไว้ซึ่งบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ได้เป็นเหมือนพระเถระผู้มีพรรษาตั้งร้อย.
               พระเถระประนมมือของตนแล้ว กราบทูลพระศาสดาอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าจัณฑปัชโชตปรารภจะถวายบังคมพระบาทของพระองค์และฟังธรรม.
               พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุ เธอเท่านั้นจงเป็นผู้มีตนเป็นที่แปดไปในที่นั้น แม้เมื่อเธอไปแล้ว พระราชาจักเลื่อมใส. พระเถระมีตนเป็นที่แปดไปในที่นั้น ยังพระราชาให้เลื่อมใส ให้พระศาสนาประดิษฐานในอวันตีชนบททั้งหลายแล้ว กลับมาเฝ้าพระศาสดาอีกตามเดิม.
               ท่านบรรลุพระอรหัตผลอย่างนี้แล้ว พระศาสดาได้ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศด้วยพระดำรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้สาวกของเรา ผู้จำแนกอรรถที่เรากล่าวโดยย่อให้พิสดารนี้ มหากัจจานะเป็นเลิศ,
               ท่านได้รับตำแหน่งเอตทัคคะแล้ว ระลึกถึงกรรมของตน เมื่อจะประกาศปุพพจริตาปทาน จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปทุมุตฺตรนาถสฺส ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปทุมํ นาม เจติยํ ความว่า เพราะได้ปกปิดด้วยดอกปทุม และเพราะกระทำด้วยอาการแห่งดอกปทุม วิหารคือพระคันธกุฎีอันเป็นที่ประทับอยู่แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั่นแล ได้เป็นเจดีย์โดยเป็นที่ควรบูชา ที่ประทับอยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ ท่านเรียกว่าเจดีย์ เหมือนที่เขากล่าวว่า โคตมกเจดีย์ อาฬวกเจดีย์ สถานที่อยู่ของยักษ์เหล่านั้น ท่านเรียกว่า เจดีย์ เพราะเป็นสถานที่ควรบูชา.
               พึงทราบว่า ไม่ใช่เจดีย์อันเป็นที่บรรจุพระธาตุ. ก็ท่านไม่ได้สร้างธาตุเจดีย์ เพราะไม่มีสรีรธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ยังไม่ปรินิพพาน.
               บทว่า สิลาปฏํ กายิตฺวา ความว่า ได้สร้างแผ่นศิลา อันสำเร็จด้วยแก้วผลึก ในภายใต้แห่งพระคันธกุฎี อันมีชื่อว่าปทุมนั้น เพื่อเป็นที่รองรับดอกไม้.
               บทว่า สุวณฺเณนาภิเลปยึ ความว่า เราได้ฉาบปกปิดแผ่นศิลานั้นด้วยอาการพิเศษยิ่ง ด้วยทองชมพูนุท. เราได้ยกฉัตรอันแล้วด้วยรัตนะ คือทำด้วยรัตนะ ๗ แล้วกั้นไว้บนยอด แล้วยกพัดวาลวิชนีและพัดบวรจามรีขาว เพื่อพระพุทธเจ้า.
               บทว่า โลกพนฺธุสฺส ตาทิโน ความว่า เราได้กั้นไว้เพื่อพระพุทธเจ้าผู้พรั่งพร้อมด้วยคุณมีสติเป็นต้น เช่นกับเผ่าพันธุ์แห่งโลกทั้งสิ้น.
               คำที่เหลือมีอรรถง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถามหากัจจานเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๔. กุณฑธานวรรค ๓. มหากัจจายนเถราปทาน (๓๓) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 34อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 35อ่านอรรถกถา 32 / 36อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1934&Z=1965
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=1396
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=1396
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :