ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค
๒. ปัจเจกพุทธาปทาน

หน้าต่างที่ ๔ / ๗.

               พรรณนาอามันตนาคาถา               
               คาถาว่า อามนฺตนา โหติ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า อำมาตย์ทั้งหลายเข้าไปเฝ้าในสมัยเป็นที่บำรุงใหญ่ของพระเจ้าพาราณสี. บรรดาอำมาตย์เหล่านั้น อำมาตย์คนหนึ่งกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มีสิ่งที่ควรจะทรงสดับ จึงทูลขอให้เสด็จไป ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พระราชาได้เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะแล้วเสด็จไป. อีกคนหนึ่งทูลขอให้ประทับนั่งในที่บำรุงใหญ่อีก. อำมาตย์คนหนึ่งทูลขอให้ประทับนั่งบนคอช้าง อำมาตย์คนหนึ่งทูลขอให้ประทับนั่งบนหลังม้า. อำมาตย์คนหนึ่งทูลขอให้ประทับนั่งในรถทอง อำมาตย์คนหนึ่งทูลขอให้ประทับนั่งวอเสด็จไปอุทยาน. พระราชาได้เสด็จลงจากวอนั้นเสด็จไป. อำมาตย์อื่นอีกทูลขอให้เสด็จจาริกในชนบท. พระราชาทรงสดับคำของอำมาตย์แม้นั้น จึงเสด็จลงจากคอช้าง แล้วได้เสด็จไป ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               เมื่อเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงระอาพวกอำมาตย์เหล่านั้น จึงทรงผนวช. อำมาตย์ทั้งหลายจึงเจริญด้วยความเป็นใหญ่. บรรดาอำมาตย์เหล่านั้น อำมาตย์คนหนึ่งไปกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์โปรดประทานชนบทชื่อโน้นแก่ข้าพระบาท.
               พระราชาตรัสกะอำมาตย์นั้นว่า คนชื่อโน้นกินอยู่ อำมาตย์นั้นไม่เอื้อเฟื้อพระดำรัสของพระราชากราบทูลว่า ข้าพระบาทจะไปยึดเอาชนบทนั้นกิน ดังนี้แล้วไปในชนบทนั้นก่อการทะเลาะกัน คนทั้งสองพากันมายังสำนักของพระราชาอีกแล้วกราบทูลโทษของกันและกัน.
               พระราชาทรงดำริว่า เราไม่อาจให้พวกอำมาตย์เหล่านี้ยินดีได้ ทรงเห็นโทษในความโลภของอำมาตย์เหล่านั้น เห็นแจ้งอยู่กระทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ. พระองค์ได้กล่าวอุทานนี้ โดยนัยอันมีในก่อน.
               ความหมายของอุทานนั้นว่า.
               บุคคลผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสหาย ย่อมจะมีการเรียกร้องโดยประการนั้นโดยนัยมีอาทิว่า จงฟังเรื่องนี้ จงให้สิ่งนี้แก่เรา ทั้งในการอยู่กล่าวคือการนอนกลางวัน ในการยืนกล่าวคือที่บำรุงใหญ่ ในการไปกล่าวคือการไปอุทยาน และในการจาริกกล่าวคือการจาริกไปในชนบท เพราะฉะนั้น เราจึงระอาในข้อนั้น การคบหาอริยชนนี้มีอานิสงส์มิใช่น้อย เป็นสุขโดยส่วนเดียว แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น คนเลวทุกคนผู้ถูกความโลภครอบงำก็ไม่ปรารถนาการบรรพชา เราเห็นความไม่โลภนั้นและความประพฤติตามความพอใจตน ด้วยอำนาจภัพพบุคคล โดยไม่ตกอยู่ในอำนาจของคนอื่น เริ่มวิปัสสนาแล้ว จึงบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณโดยลำดับ.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.
               จบพรรณนาอามันตนาคาถา               
               พรรณนาขิฑฑารติคาถา               
               คาถาว่า ขิฑฺฑา รติ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในนครพาราณสี ได้มีพระราชาพระนามว่า เอกปุตตกพรหมทัต พระราชานั้นมีพระโอรสน้อยผู้เดียวเป็นที่โปรดปรานเสมอด้วยชีวิต. พระราชาจะทรงพาเอาแต่พระโอรสน้อยเสด็จไปในทุกพระอิริยาบถ วันหนึ่งเสด็จไปยังพระราชอุทยาน ทรงเว้นพระโอรสนั้นเสีย เสด็จไปแล้ว.
               ฝ่ายพระกุมารสิ้นพระชนม์ด้วยพยาธิอันเกิดขึ้นแล้วในวันนั้นเอง. อำมาตย์ทั้งหลายปรึกษากันว่า แม้พระทัยของพระราชาก็จะแตกเพราะความเสน่หาในพระโอรส จึงไม่กราบทูลให้ทรงทราบ พากันเผาพระกุมารนั้น.
               พระราชาทรงเมาน้ำจัณฑ์อยู่ในพระราชอุทยาน ไม่ได้ระลึกถึงพระโอรส แม้ในวันที่ ๒ ก็เหมือนกัน ในเวลาสรงสนานและเวลา เสวยก็มิได้ทรงระลึกถึง. ลำดับนั้น พระราชาเสวยแล้วประทับนั่งอยู่ ทรงระลึกขึ้นได้จึงรับสั่งว่า พวกท่านจงนำลูกชายของเรามา.
               อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องราวนั้นแก่พระราชา โดยวิธีอันเหมาะสม.
               ลำดับนั้น พระองค์ถูกความโศกครอบงำประทับนั่ง ทรงทำไว้ในพระทัยโดยอุบายอันแยบคายอย่างนี้ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด พระองค์ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาททั้งอนุโลมและปฏิโลมโดยลำดับอยู่อย่างนี้ ได้ทรงทำให้แจ้งพระปัจเจกสัมโพธิญาณ.
               คำที่เหลือเช่นกับที่กล่าวแล้วในวรรณนาแห่งสังสัคคคาถานั่นแหละ เว้นพรรณนาความในคาถา.
               ก็พรรณนาความมีว่า
               การเล่นชื่อว่า ขิฑฺฑา. การเล่นนั้นมี ๒ อย่างคือเล่นทางกาย ๑ เล่นทางวาจา ๑.
               บรรดาการเล่น ๒ อย่างนั้น การเล่นมีอาทิอย่างนี้ คือเล่นช้างบ้าง เล่นม้าบ้าง เล่นรถบ้าง เล่นธนูบ้าง เล่นดาบบ้าง ชื่อว่าเล่นทางกาย. การเล่นมีอาทิอย่างนี้คือ การขับร้อง การกล่าวโศลก เอาปากทำกลองและเปิงมาง ชื่อว่าการเล่นทางวาจา.
               ความยินดีในกามคุณ ๕ ชื่อว่า รติ.
               บทว่า วิปุลํ ได้แก่ เอิบอาบไปทั่วอัตภาพ โดยการตั้งอยู่จนกระทั่งจรดเยื่อในกระดูก.
               คำที่เหลือปรากฏชัดแล้ว.
               ก็แม้วาจาประกอบความอนุสนธิในคาถานี้ ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวแล้วในสังสัคคคาถานั่นแล. และเบื้องหน้าแต่นั้นไป เรื่องราวทั้งปวงก็เหมือนกัน.
               จบพรรณนาขิฑฑารติคาถา               
               พรรณนาจาตุททิสคาถา               
               คาถาว่า จาตุทฺทิโส ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในปางก่อน พระปัจเจกโพธิสัตว์ ๕ องค์บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสป บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรอยู่สองหมื่นปีแล้วบังเกิดในเทวโลก. จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว บรรดาพระปัจเจกโพธิสัตว์เหล่านั้น พระปัจเจกโพธิสัตว์องค์ใหญ่ได้เป็นพระเจ้าพาราณสี. พระปัจเจกโพธิสัตว์ที่เหลือได้เป็นพระราชาตามปกติ.
               ฝ่ายพระราชาทั้ง ๔ องค์นั้นเรียนกรรมฐานแล้วทรงสละราชสมบัติออกบวช ได้เป็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าโดยลำดับแล้วอยู่ที่เงื้อมนันทมูลกะ วันหนึ่งออกจากสมาบัติแล้วรำพึงถึงกรรมและสหายของตน โดยนัยดังกล่าวแล้วในวังสกฬีรคาถา ครั้นรู้แล้วจึงหาโอกาสเพื่อจะแสดงอารมณ์แก่พระเจ้าพาราณสีด้วยอุบาย.
               ก็พระราชานั้นตกพระทัยในเวลากลางคืนถึง ๓ ครั้ง ทรงกลัวจึงทรงร้องด้วยความระทมพระทัย เสด็จวิ่งไปที่พื้นใหญ่. แม้ถูกปุโรหิตผู้ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ทูลถามถึงการบรรทมเป็นสุขสบายก็ตรัสว่า ท่านอาจารย์ เราจะมีความสุขมาแต่ไหน แล้วทรงบอกเรื่องราวทั้งหมดนั้น.
               ฝ่ายปุโรหิตคิดว่า โรคนี้ใครๆ ไม่อาจแนะนำด้วยเภสัชกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งมีการถ่ายยาเบื้องสูงเป็นต้น แต่อุบายสำหรับจะกินเกิดขึ้นแก่เราแล้ว จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า นี้เป็นบุพนิมิตแห่งความเสื่อมราชสมบัติและอันตรายแห่งพระชนมชีพเป็นต้น ทำให้พระราชาตกพระทัยมากขึ้น แล้วกราบทูลว่า เพื่อจะให้บุพนิมิตนั้นสงบ พระองค์พึงประทานช้าง ม้าและรถเป็นต้นมีประมาณเท่านี้ๆ กับทั้งเงินและทองให้เป็นทักษิณาบูชายัญ ดังนี้แล้วให้จัดแจงการบูชายัญ.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเห็นสัตว์มีปราณหลายพันที่เขาประมวลมาเพื่อประโยชน์แก่ยัญ จึงคิดว่า เมื่อพระราชาทรงกระทำกรรมนี้ พระองค์จักเป็นผู้อันใครๆ ให้ตรัสรู้ได้ยาก เอาเถอะ เราทั้งหลายจะล่วงหน้าไปคอยดูพระราชานั้น จึงมาเที่ยวบิณฑบาต ได้ไปที่พระลานหลวงตามลำดับ โดยนัยดังกล่าวแล้วในวังสกฬีรคาถา.
               พระราชาประทับยืนที่สีหบัญชร ทอดพระเนตรพระลานหลวง ได้เห็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น และพร้อมกับการเห็นนั่นแหละ ความเสน่หาได้เกิดขึ้นแก่พระองค์. ลำดับนั้น จึงรับสั่งให้นิมนต์พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นมา นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้ว ณ พื้นกลางแจ้งให้ฉันโดยเคารพ แล้วตรัสถามพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้กระทำภัตกิจเสร็จแล้วว่า ท่านทั้งหลายเป็นใคร?
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าตอบว่า มหาบพิตร พวกอาตมาชื่อว่าจาตุทิศ.
               พระราชาถามว่า ท่านผู้เจริญ ความหมายของคำว่าจาตุทิศนี้เป็นอย่างไร?
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าตอบว่า มหาบพิตร พวกอาตมาไม่มีความกลัว หรือความสะดุ้งใจในที่ไหนๆ จากที่ไหนๆ ในทิศทั้ง ๔.
               พระราชาถามว่า ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุไร ความกลัวนั้นจึงไม่มีแก่ท่านทั้งหลาย.
               พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าถวายพระพรว่า มหาบพิตร อาตมาทั้งหลายเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ด้วยเหตุนั้น ความกลัวนั้นจึงไม่มีแก่พวกอาตมา ดังนี้แล้วลุกจากอาสนะได้ไปยังสถานที่อยู่ของตน.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า สมณะเหล่านี้พากันกล่าวว่า ไม่มีความกลัว เพราะเจริญเมตตาเป็นต้น แต่พวกพราหมณ์พากันพรรณนาการฆ่าสัตว์หลายพันตัว คำของพวกไหนหนอเป็นคำจริง.
               ลำดับนั้น พระองค์ได้มีความดำริดังนี้ว่า สมณะทั้งหลายล้างของไม่สะอาดด้วยของสะอาด แต่พวกพราหมณ์ล้างของไม่สะอาดด้วยของไม่สะอาด ก็ใครๆ ไม่อาจล้างของไม่สะอาดด้วยของไม่สะอาด คำของบรรพชิตเท่านั้นเป็นคำสัจจริง.
               พระองค์จึงเจริญพรหมวิหารทั้ง ๔ มีเมตตาเป็นต้นโดยนัยมีอาทิว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุขๆ เถิด ทรงมีพระทัยแผ่ประโยชน์เกื้อกูล ทรงสั่งอำมาตย์ทั้งหลายว่า พวกท่านจงปล่อยสัตว์ทั้งหมด สัตว์ทั้งหมดจงดื่มน้ำเย็น กินหญ้าเขียวสด และลมเย็นจงรำเพยพัดสัตว์เหล่านั้น.
               อำมาตย์เหล่านั้นได้กระทำตามรับสั่งทุกประการ.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า เราพ้นจากกรรมชั่ว เพราะคำของกัลยาณมิตร จึงประทับนั่งอยู่ ณ ที่นั้นนั่นเอง เจริญวิปัสสนา ได้ทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ. ก็ในเวลาเสวย เมื่อพวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงเสวย ถึงเวลาแล้ว พระเจ้าข้า.
               พระองค์ได้ตรัสคำทั้งปวงโดยนัยก่อนนั่นแลว่า เรามิใช่พระราชา ดังนี้เป็นต้นแล้วได้ตรัสอุทานคาถาและพยากรณ์คาถานี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จาตุทฺทิโส ความว่า มีปกติอยู่ตามสบายในทิศทั้ง ๔.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าจาตุทิศ เพราะมีทิศทั้ง ๔ อันแผ่ไปด้วยพรหมวิหารภาวนา โดยนัยมีอาทิว่า แผ่ไปยังทิศหนึ่งอยู่.
               ชื่อว่าผู้ไม่มีปฏิฆะ เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์หรือสังขารในที่ไหนๆ ในทิศทั้ง ๔ นั้น เพราะความกลัว.
               บทว่า สนฺตุสฺสมาโน ได้แก่ ผู้สันโดษด้วยอำนาจสันโดษ ๑๒ อย่าง.
               บทว่า อิตรีตเรน ได้แก่ ด้วยปัจจัยสูงๆ ต่ำๆ.
               ในคำว่า ปริสฺสยานํ สหิตา อฉมฺภี นี้ มีวินิจฉัยดังนี้
               ชื่อว่าปริสสยะ เพราะเบียดเบียนรอบกายและจิต หรือยังสมบัติแห่งกายและจิตให้เสื่อมไปรอบ หรืออาศัยกายและจิตนั้นนอนอยู่.
               คำว่า ปริสสยะ นี้เป็นชื่อของอุปัทวันตรายทางกายและจิต ที่เป็นภายนอกมีสีหะและพยัคฆ์เป็นต้น ที่เป็นภายในมีกามฉันทะเป็นต้น.
               ชื่อว่าอดกลั้นอันตรายอันเบียดเบียนเหล่านั้น ด้วยอธิวาสนขันติ และด้วยธรรมทั้งหลายมีวิริยะเป็นต้น.
               ชื่อว่าผู้ไม่หวาดสะดุ้ง เพราะไม่มีความกลัวอันทำให้ตัวแข็ง.
               ท่านกล่าวอธิบายไว้อย่างไร?
               ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า
               สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ เหมือนสมณะ ๔ จำพวกเหล่านั้นดำรงอยู่ในสันโดษอันเป็นปทัฏฐานของการปฏิบัตินี้ ชื่อว่าอยู่ตามผาสุกในทิศ ๔ เพราะเจริญเมตตาเป็นต้นในทิศทั้ง ๔ และชื่อว่าเป็นผู้ไม่ขัดเคือง เพราะไม่มีความกลัวแต่การเบียดเบียนในสัตว์และสังขารทั้งหลาย. ผู้นั้นชื่อว่าผู้อดกลั้นอันตรายอันเบียดเบียน เพราะเป็นผู้อยู่ตามความสบายในทิศทั้ง ๔ และชื่อว่าเป็นผู้ไม่หวาดสะดุ้ง เพราะความเป็นผู้ไม่ขัดเคือง เราเห็นคุณของการปฏิบัติอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ แล้วปฏิบัติโดยแยบคาย ได้บรรลุพระปัจเจกโพธิญาณแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบายว่า เรารู้ว่า บุคคลผู้สันโดษด้วยปัจจัยตามมีตามได้ เป็นผู้อยู่ตามความสบายใน ๔ ทิศ โดยนัยดังกล่าวแล้ว เหมือนพระสมณะเหล่านั้น จึงปรารถนาความเป็นผู้อยู่ตามสบายในทิศ ๔ อย่างนั้น ปฏิบัติโดยแยบคายจึงได้บรรลุ เพราะฉะนั้น แม้ผู้อื่นเมื่อปรารถนาฐานะเช่นนี้ พึงเป็นผู้อดทนอันตรายอันเบียดเบียน โดยความเป็นผู้อยู่ตามสบายในทิศ ๔ และเป็นผู้ไม่หวาดสะดุ้ง โดยความเป็นผู้ไม่ขัดเคือง เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด.
               คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               จบพรรณนาจาตุททิสคาถา               
               พรรณนาทุสสังคหคาถา               
               คาถาว่า ทุสฺสงฺคหา ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสีสวรรคตแล้ว แต่นั้น เมื่อวันโศกเศร้าล่วงเลยไปแล้ว วันหนึ่ง อำมาตย์ทั้งหลายทูลอ้อนวอนว่า ธรรมดาพระราชาทั้งหลายจำต้องปรารถนาพระอัครมเหสีในราชกิจนั้นๆ อย่างแน่นอน ดังพวกข้าพระบาทขอโอกาส ขอสมมติเทพทรงนำพระเทวีองค์อื่นมา.
               พระราชาตรัสว่า นี่แน่ะพนาย ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลายจงรู้กันเองเถิด.
               อำมาตย์เหล่านั้นพากันแสวงหาอยู่ พระราชาในราชอาณาจักรใกล้เคียงสวรรคต พระเทวีของพระราชานั้นปกครองราชสมบัติ และพระเทวีนั้นได้มีพระครรภ์. อำมาตย์ทั้งหลายรู้ว่าพระเทวีนี้เหมาะสมแก่พระราชา จึงทูลอ้อนวอนพระนาง.
               พระนางตรัสว่า ธรรมดาหญิงมีครรภ์ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของคนทั้งหลาย ถ้าพวกท่านจะรอจนกว่าเราจะคลอด เมื่อเป็นอย่างนั้น ย่อมเป็นการดี ถ้าไม่รอ พวกท่านก็จงหาหญิงอื่นเถิด.
               อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลความนั้นแม้แก่พระราชา.
               พระราชาตรัสว่า พระนางแม้จะมีครรภ์ก็ช่างเถอะ พวกท่านจงนำมาเถิด. อำมาตย์เหล่านั้นจึงนำมา. พระราชาทรงอภิเษกพระเทวีนั้นแล้ว ได้ประทานเครื่องใช้สอยสำหรับพระมเหสีทุกอย่าง. ทรงสงเคราะห์พระนางและบริวารชน ด้วยเครื่องบรรณาการมีอย่างต่างๆ.
               พระมเหสีนั้นประสูติพระโอรสตามกาลเวลา. พระราชาทรงกระทำโอรสของพระนางนั้นไว้ที่พระเพลา และพระอุระในพระอิริยาบถทั้งปวง ดุจพระโอรสของพระองค์.
               ครั้งนั้น บริวารชนของพระเทวีนั้นพากันคิดว่า พระราชาทรงสงเคราะห์อย่างยิ่ง ทรงกระทำความคุ้นเคยเป็นล้นพ้นในพระกุมาร เอาเถอะ พวกเราจักยุยงพระกุมารนั้นให้แตกกัน.
               แต่นั้น จึงพากันทูลพระกุมารว่า ข้าแต่พ่อ พระองค์เป็นโอรสแห่งพระราชาของข้าพระบาททั้งหลาย ไม่ได้เป็นพระโอรสของพระราชาองค์นี้ พระองค์อย่าทรงไว้วางพระทัยพระราชาองค์นี้.
               ทีนั้น พระกุมารอันพระราชาตรัสว่า มาซิลูก ดังนี้ก็ดี เอาพระหัตถ์ดึงมาก็ดี ก็ไม่ติดพระราชาเหมือนแต่ก่อน.
               พระราชาทรงพิจารณาอยู่ว่า เหตุอะไรกัน ทรงทราบเรื่องราวนั้น ทรงเบื่อหน่ายว่า คนเหล่านี้แม้เราจะสงเคราะห์อยู่ ก็ยังมีความประพฤติวิปริตอยู่นั่นเอง จึงทรงสละราชสมบัติออกทรงผนวช.
               ฝ่ายอำมาตย์และบริวารชนทั้งหลายทราบว่า พระราชาทรงผนวชก็พากันบวชเป็นอันมาก.
               พระราชาพร้อมด้วยบริวารชน แม้บวชแล้วคนทั้งหลายก็ยังน้อมนำปัจจัยอันประณีตเข้าไปถวาย. พระราชาทรงให้ปัจจัยอันประณีต ตามลำดับคนผู้แก่กว่า. บรรดาคนเหล่านั้น คนที่ได้ของดีก็พากันยินดี คนที่ได้ของไม่ดีก็พากันยกโทษว่า พวกเรากวาดบริเวณเป็นต้น กระทำกิจการทั้งปวงอยู่ ก็ได้ภัตตาหารเศร้าหมองและผ้าเก่า.
               พระราชานั้นทรงทราบแม้ดังนั้นจึงทรงดำริว่า พวกเหล่านี้แม้เราให้อยู่ตามลำดับผู้แก่กว่า ก็ยังยกโทษอยู่ โอ! บริษัทสงเคราะห์ยาก จึงทรงถือบาตรและจีวร พระองค์เดียวเสด็จเข้าป่า ปรารภวิปัสสนา ได้ทรงทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ. และถูกชนผู้มาในที่นั้นถามถึงกรรมฐาน จึงได้ตรัสคาถานี้.
               คาถานั้นปรากฏชัดแล้วโดยอรรถ แต่มีวาจาประกอบความดังนี้
               แม้บรรพชิตบางพวกผู้ถูกความไม่สันโดษครอบงำก็สงเคราะห์ยาก อนึ่ง คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็อย่างนั้นเหมือนกัน. เราเกลียดความเป็นผู้สงเคราะห์ยากนี้ จึงปรารภวิปัสสนาได้บรรลุแล้ว.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแล.
               จบพรรณนาทุสสังคหคาถา               
               พรรณนาโกวิฬารคาถา               
               คาถาว่า โอโรปยิตฺวา ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาในนครพาราณสี พระนามว่าจาตุมาสิกพรหมทัต เสด็จไปพระราชอุทยานในเดือนแรกของฤดูคิมหันต์ ทรงเห็นต้นทองหลางเต็มไปด้วยใบเขียวและแน่นทึบ ในภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ ในพระราชอุทยานนั้น จึงตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงปูลาดที่นอนของเราที่ โคนต้นทองหลาง แล้วทรงเล่นในพระราชอุทยาน เวลาเย็น ทรงสำเร็จการบรรทมอยู่ ณ ที่โคนต้นทองหลางนั้น.
               ในเดือนกลางฤดูคิมหันต์ ได้เสด็จไปยังพระราชอุทยานอีก ในคราวนั้น ต้นทองหลางกำลังออกดอก แม้ในคราวนั้น ก็ได้ทรงกระทำเหมือนอย่างนั้นแหละ. ในเดือนท้ายฤดูคิมหันต์ ได้เสด็จไปแม้อีก ในคราวนั้น ต้นทองหลางสลัดใบ เป็นเหมือนต้นไม้แห้ง. แม้ในคราวนั้น พระราชาก็ไม่ทันดูต้นไม้นั้น ด้วยความคุ้นเคยในกาลก่อน จึงรับสั่งให้ปูลาดที่บรรทม ณ ที่โคนต้นทองหลางนั้นนั่นเอง.
               อำมาตย์ทั้งหลายแม้จะรู้อยู่ ก็ให้ปูลาดที่บรรทมที่โคนต้นทองหลางนั้น ตามคำสั่งของพระราชา.
               พระองค์ทรงเล่นในพระราชอุทยาน พอเวลาเย็น เมื่อจะบรรทม ณ ที่นั้น ทรงเห็นต้นไม้นั้นเข้าจึงทรงดำริว่า ร้ายจริง ต้นไม้นี้ เมื่อก่อนมีใบเต็ม ได้เป็นต้นไม้งามน่าดู ประดุจสำเร็จด้วยแก้วมณี จากนั้นได้มีสง่าน่าดูด้วยดอกทั้งหลายเช่นกับหน่อแก้วประพาฬอันวางอยู่ระหว่างกิ่งมีสีดังแก้วมณี และภูมิภาคภายใต้ต้นไม้นี้ก็เกลี่ยด้วยทราย เช่นกับข่ายแก้วมุกดา ดาดาษด้วยดอกอันหล่นจากขั้ว ได้เป็นดุจลาดไว้ด้วยผ้ากัมพลแดง วันนี้ ต้นไม้ชื่อนั้นเหมือนต้นไม้แห้ง เหลือสักว่ากิ่งยืนต้นอยู่ โอ! ต้นทองหลางก็ยังถูกชราทำร้ายแล้ว ทรงได้เฉพาะอนิจจสัญญาว่า แม้สิ่งที่ไม่มีวิญญาณครอง ก็ยังถูกชรานั้นเบียดเบียน จะป่วยกล่าวไปไยถึงสิ่งที่มีวิญญาณเล่า.
               พระองค์ทรงเห็นแจ้งสังขารทั้งปวงตามแนวนั้นนั่นแล โดยความเป็นทุกข์และโดยความเป็นอนัตตา ทรงปรารถนาอยู่ว่า โอหนอ! แม้เราก็พึงเป็นผู้ปราศจากเครื่องหมายคฤหัสถ์ เหมือนต้นทองหลางสลัดใบฉะนั้น ทรงบรรทมอยู่โดยข้างเบื้องขวา ณ พื้นที่บรรทมนั้น โดยลำดับ เจริญวิปัสสนา ทรงทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณแล้ว.
               ในเวลาเสด็จไปจากที่นั้น เมื่อพวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ได้เวลาเสด็จไปแล้วพระเจ้าข้า จึงตรัสคำมีอาทิว่า เราไม่ใช่พระราชา แล้วได้ตรัสคาถานี้ โดยนัยก่อนนั่นแหละ.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอโรปยิตฺวา แปลว่า นำออกไป.
               บทว่า คิหิพฺยญฺชนานิ ได้แก่ ผม หนวด ผ้าขาว เครื่องประดับ ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ บุตร ภรรยา ทาสีและทาสเป็นต้น. สิ่งเหล่านี้ทำความเป็นคฤหัสถ์ให้ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า คิหิพฺยญฺชนานิ.
               บทว่า สนฺฉินฺนปตฺโต แปลว่า มีใบร่วงไปแล้ว.
               บทว่า เฉตฺวาน ได้แก่ ตัดด้วยมรรคญาณ.
               บทว่า วีโร ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยความเพียรในมรรค.
               บทว่า คิหิพนฺธนานิ ได้แก่ เครื่องผูกคือกาม.
               จริงอยู่ กามทั้งหลายเป็นเครื่องผูกของคฤหัสถ์.
               เนื้อความของบทเพียงเท่านี้ก่อน. ส่วนอธิบายมีดังนี้
               พระราชาทรงดำริอย่างนี้ว่า โอหนอ! แม้เราก็พึงปลงเครื่องหมายของคฤหัสถ์เสีย พึงเป็นเหมือนต้นทองหลางสลัดใบฉะนั้น ทรงปรารภวิปัสสนาได้บรรลุแล้ว.
               คำที่เหลือพึงทราบโดยนัยก่อนนั่นแล.
               จบพรรณนาโกวิฬารคาถา               
               พรรณนาสหายคาถา               
               คาถาว่า สเจ ลเภถ ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า ในปางก่อน พระปัจเจกโพธิสัตว์ ๒ องค์บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ากัสสป บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตรอยู่สองหมื่นปีแล้วบังเกิดขึ้นในเทวโลก จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว บรรดาปัจเจกโพธิสัตว์เหล่านั้น พระปัจเจกโพธิสัตว์องค์พี่ใหญ่ได้เป็นโอรสของพระเจ้าพาราณสี องค์น้องชายได้เป็นบุตรของปุโรหิต.
               พระปัจเจกโพธิสัตว์ทั้งสองนั้นถือปฏิสนธิวันเดียวกัน ออกจากท้องมารดาวันเดียวกัน ได้เป็นสหายเล่นฝุ่นด้วยกัน. บุตรปุโรหิตได้เป็นผู้มีปัญญา เขากราบทูลพระราชบุตรว่า ข้าแต่พระสหาย เมื่อพระราชบิดาล่วงลับไปแล้ว พระองค์จักได้ราชสมบัติ ข้าพระองค์จักได้ตำแหน่งปุโรหิต อันคนผู้ศึกษาดีแล้ว อาจปกครองราชสมบัติได้ พระองค์จงมา พวกเราจักเรียนศิลปศาสตร์.
               แต่นั้น คนทั้งสองได้เป็นผู้สร้างสมยัญ (คล้องสายยัญ) เที่ยวภิกขาไปในคามและนิคมเป็นต้น ไปถึงบ้านปัจจันตชนบท.
               พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕ องค์เข้าไปยังบ้านนั้นในเวลาภิกขาจาร. คนทั้งหลายในบ้านนั้นเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว เกิดความอุตสาหะ พากันปูลาดอาสนะ น้อมของเคี้ยวและของบริโภคอันประณีตเข้าไปบูชาอยู่.
               คนทั้งสองนั้นมีความคิดดังนี้ว่า ชื่อว่าคนผู้มีตระกูลสูงเช่นกับพวกเรา ย่อมไม่มี ก็อีกอย่างหนึ่ง คนเหล่านี้ ถ้าต้องการก็จะให้ภิกษาแก่พวกเรา ถ้าไม่ต้องการก็จะไม่ให้ จะกระทำสักการะเห็นปานนี้แก่บรรพชิตเหล่านี้ บรรพชิตเหล่านี้ย่อมรู้ศิลปศาสตร์ไรๆ เป็นแน่ เอาเถอะ พวกเราจักเรียนศิลปศาสตร์ในสำนักของบรรพชิตเหล่านี้.
               เมื่อพวกคนกลับไปแล้ว คนทั้งสองนั้นได้โอกาส จึงพูดอ้อนวอนว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านทั้งหลายจงให้พวกกระผมศึกษาศิลปะที่ท่านทั้งหลายทราบเถิด.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า พวกเราไม่อาจให้คนที่มิใช่บรรพชิตศึกษา. คนทั้งสองนั้นจึงขอบรรพชาแล้วบวช.
               ลำดับนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายจึงบอกอภิสมาจาริกวัตรแก่คนทั้งสองนั้น โดยนัยมีอาทิว่า ท่านทั้งหลายพึงนุ่งอย่างนี้ พึงห่มอย่างนี้ แล้วกล่าวว่า ความยินดีในความเป็นผู้เดียว เป็นความสำเร็จแห่งศิลปะนี้ เพราะฉะนั้น พึงนั่งผู้เดียว พึงจงกรมผู้เดียว พึงยืนผู้เดียว พึงนอนผู้เดียว ดังนี้ แล้วได้ให้บรรณศาลาแยกกัน.
               แต่นั้น บรรพชิตทั้งสองนั้นจึงเข้าไปยังบรรณศาลาของตนๆ แล้วนั่งอยู่.
               จำเดิมแต่กาลที่นั่งแล้ว บุตรปุโรหิตได้ความตั้งมั่นแห่งจิต ได้ฌานแล้ว. พอชั่วครู่เดียว พระราชบุตรรำคาญ จึงมายังสำนักของบุตรปุโรหิต. บุตรปุโรหิตนั้นเห็นดังนั้นจึงถามว่า อะไรกันสหาย? ราชบุตรกล่าวว่า เรารำคาญเสียแล้ว. บุตรปุโรหิตกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนั่งที่นี้.
               ราชบุตรนั้นนั่งในที่นั้นได้ครู่หนึ่งแล้วกล่าวว่า นี่แน่ะสหาย ได้ยินว่า ความยินดีในความเป็นผู้เดียว เป็นความสำเร็จแห่งศิลปะนี้. บุตรปุโรหิตกล่าวว่า อย่างนั้น สหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงไปยังโอกาสที่ตนนั่งเท่านั้น เราจักเรียนเอาความสำเร็จของศิลปะนี้. ราชบุตรนั้นจึงไป พอครู่เดียวเท่านั้นก็รำคาญอีก จึงกลับมาโดยนัยก่อนนั่นแหละถึง ๓ ครั้ง.
               ลำดับนั้น บุตรปุโรหิตจึงส่งราชบุตรนั้นไปเหมือนอย่างเดิม เมื่อราชบุตรนั้นไปแล้ว จึงคิดว่า ราชบุตรนี้ทำกรรมของตนและกรรมของเราให้เสื่อมเสีย มาในที่นี้เนืองๆ. บุตรปุโรหิตนั้นจึงออกจากบรรณศาลาเข้าป่า.
               ฝ่ายราชบุตรนั่งอยู่ในบรรณศาลานั่นแหละ พอชั่วครู่เดียวก็รำคาญขึ้นอีก จึงมายังสำนักของบุตรปุโรหิตนั้น แม้หาไปรอบๆ ก็ไม่เห็นบุตรปุโรหิตนั้น จึงคิดว่า ผู้ใดแม้พาเอาเครื่องบรรณาการในคราวเป็นคฤหัสถ์มา ก็ไม่ได้เห็นเรา บัดนี้ ผู้นั้น เมื่อเรามาแล้วประสงค์จะไม่ให้แม้แต่การเห็น จึงได้หลีกไป โอ เจ้าจิตร้าย เจ้าไม่ละอาย เราถูกเจ้านำมาที่นี้ถึง ๔ ครั้ง บัดนี้ เราจักไม่เป็นไปในอำนาจของเจ้า โดยที่แท้ เราจักให้เจ้านั่นแหละเป็นไปในอำนาจของเรา ดังนี้ แล้วเข้าไปยังเสนาสนะของตน เริ่มวิปัสสนาทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ แล้วได้ไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะ ทางอากาศ.
               ฝ่ายบุตรปุโรหิตนอกนี้เข้าป่าแล้ว เริ่มวิปัสสนา ทำให้แจ้งปัจเจกโพธิญาณ แล้วได้ไปที่นั้นเหมือนกัน.
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งสองนั้นนั่งอยู่ที่พื้นมโนศิลา ได้กล่าวอุทานคาถาเหล่านี้โดยแยกกัน.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิปกํ ได้แก่ ผู้มีปัญญารักษาตนตามปกติ คือเป็นบัณฑิต ได้แก่ผู้ฉลาดในการบริกรรมกสิณเป็นต้น.
               บทว่า สาธุวิหารํ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยธรรมเครื่องอยู่อันแนบแน่น หรือด้วยธรรมเครื่องอยู่อย่างเฉียดๆ.
               บทว่า ธีรํ คือ ผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาเครื่องทรงจำ.
               ในข้อนั้น ท่านกล่าวธิติสัมปทา ความถึงพร้อมด้วยปัญญาเครื่องทรงจำ ด้วยความเป็นผู้มีปัญญารักษาตน. แต่ในที่นี้หมายความว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยธิติเท่านั้น.
               ความบากบั่นไม่ย่อหย่อน ชื่อว่าธิติ.
               คำนี้เป็นชื่อของความเพียรซึ่งเป็นไปอย่างนี้ว่า กามํ ตโจ จ นหารุ จ จะเหลือแต่หนังและเอ็นก็ตาม ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าธีระ เพราะเกลียดชังบาป ดังนี้ก็มี.
               บทว่า ราชาว รฏฺฐํ วิชิตํ ปหาย ความว่า พึงละสหายผู้เป็นพาลเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนพระราชาตามปกติรู้ว่า แว่นแคว้นที่เราชนะแล้ว นำอนัตถพินาศมาให้ จึงละราชสมบัติเที่ยวไปพระองค์เดียวฉะนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ราชาว รฏฺฐํ นั้น มีความแม้ดังนี้ว่า
               ผู้เดียวเที่ยวไป เหมือนพระเจ้าสุตโสมทรงละแว่นแคว้นที่ชนะแล้ว เที่ยวไปพระองค์เดียว และเหมือนพระเจ้ามหาชนกฉะนั้น.
               คำที่เหลืออาจรู้ได้ตามแนวที่กล่าวแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงไม่ต้องกล่าวให้พิสดารฉะนี้แล.
               จบพรรณนาสหายคาถา               
               พรรณนาอัทธาปสังสาคาถา               
               เหตุเกิดคาถาว่า อทฺธา ปสํสาม ดังนี้เป็นต้น เหมือนกับเหตุเกิดขึ้นแห่งจาตุททิสคาถา ตราบเท่าที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งบนอาสนะที่ลาดไว้ในพื้นที่โล่งแจ้ง.
               ส่วนความแปลกกันมีดังต่อไปนี้.
               พระราชานี้ไม่ตกพระทัย เหมือนพระราชานั้นตกพระทัยถึง ๓ ครั้งในตอนกลางคืน. พระราชานี้มิได้ทรงเข้าไปตั้งยัญ พระองค์นิมนต์ให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ในพื้นที่โล่งแจ้ง แล้วตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายเป็นใคร?
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทูลว่า มหาบพิตร พวกอาตมาชื่อว่าอนวัชชโภชี.
               พระราชาตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ คำว่า อนวัชชโภชี นี้ มีความหมายว่าอย่างไร?
               พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทูลว่า มหาบพิตร พวกอาตมาได้ของดีหรือไม่ดี ไม่มีอาการผิดแผกบริโภคได้.
               พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงได้มีพระดำริดังนี้ว่า ถ้ากระไร เราควรจะได้พิสูจน์ดูท่านเหล่านี้ว่า เป็นผู้เช่นนี้หรือไม่.
               วันนั้น พระองค์จึงทรงอังคาสด้วยข้าวปลายเกรียน มีน้ำผักดองเป็นที่สอง. พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีอาการผิดแผก ฉันข้าวปลายเกรียนนั้นดุจเป็นของอมฤต.
               พระราชาทรงพระดำริว่า ท่านเหล่านี้เป็นผู้ไม่มีอาการผิดแผกในวันเดียว เพราะปฏิญญาไว้ พรุ่งนี้เราจักรู้อีก จึงนิมนต์เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้. แม้ในวันที่สองก็ได้ทรงกระทำเหมือนอย่างนั้น. แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นก็ฉันเหมือนอย่างนั้น.
               ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า เราจักถวายของดีทดลองดู จึงนิมนต์อีก ทรงทำมหาสักการะถึง ๒ วัน ทรงอังคาสด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตวิจิตรยิ่ง.
               แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นก็ไม่มีอาการผิดแผก ฉันเหมือนอย่างนั้นแหละ กล่าวมงคลแก่พระราชาแล้วหลีกไป.
               เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นหลีกไปไม่นาน พระราชาทรงดำริว่า ท่านเหล่านี้เป็นอนวัชชโภชีมีปกติฉันหาโทษมิได้ โอหนอ! แม้เราก็ควรเป็นอนวัชชโภชีบ้าง จึงสละราชสมบัติใหญ่ สมาทานการบรรพชา เริ่มวิปัสสนาแล้ว ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อจะชี้แจงอารมณ์ของตนในท่ามกลางพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ณ ควงต้นไม้สวรรค์ ได้กล่าวคาถานี้.
               คาถานั้นโดยใจความของบทง่ายมาก แต่ในบทว่า สหายสมฺปทํ นี้ สหายผู้เพียบพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้นอันเป็นอเสขะ พึงทราบว่าสหายสัมปทาทั้งสิ้น.
               ส่วนวาจาประกอบความในคำว่า สหายสมฺปทํ นี้ มีดังต่อไปนี้ :-
               เราสรรเสริญสหายสัมปทาที่กล่าวแล้วนั้นโดยแท้ อธิบายว่า เราชมเชยโดยส่วนเดียวเท่านั้น.
               สรรเสริญอย่างไร? สรรเสริญว่า ควรคบหาสหายผู้ประเสริฐกว่า หรือผู้เสมอกัน.
               เพราะเหตุไร?
               เพราะเมื่อบุคคลคบหาผู้ที่ประเสริฐกว่าด้วยคุณ มีศีลเป็นต้นของตน ธรรมทั้งหลายมีศีลเป็นต้นที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดแล้ว ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์. เมื่อคบหาคนผู้เสมอกัน ธรรมที่ได้แล้วก็ไม่เสื่อม เพราะเสมอเท่ากันและกัน ทั้งเพราะบรรเทาความรำคาญใจเสียได้.
               ก็กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ ไม่ได้สหายเหล่านั้นผู้ประเสริฐกว่าและเสมอกัน แล้วละมิจฉาชีพมีการหลอกลวงเป็นต้น บริโภคโภชนะที่เกิดขึ้นโดยธรรม โดยเสมอ และไม่ทำความยินดียินร้ายให้เกิดขึ้นในโภชนะนั้น เป็นผู้มีปกติบริโภคโดยหาโทษมิได้ เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น.
               แม้เราก็ประพฤติอยู่อย่างนี้ จึงได้บรรลุสมบัตินี้แล.
               จบพรรณนาอัทธาปสังสาคาถา               
               พรรณนาสุวัณณวลยคาถา               
               คาถาว่า ทิสฺวา สุวณฺณสฺส ดังนี้เป็นต้น มีเรื่องเกิดขึ้นอย่างไร?
               ได้ยินว่า พระราชาในนครพาราณสีองค์หนึ่ง ได้เสด็จเข้าบรรทมกลางวันในฤดูร้อน และนางวัณณทาสีในสำนักของพระราชานั้น กำลังบดจันทน์แดงอยู่ ที่แขนข้างหนึ่งของนางวัณณทาสีนั้นมีกำไลมือทองคำอันหนึ่ง ที่แขนอีกข้างหนึ่งมีสองอัน. กำไลทอง ๒ อันนั้นกระทบกัน กำไลทองอันเดียวนอกนั้น ไม่กระทบ (อะไร).
               พระราชาทรงเห็นดังนั้นจึงดำริว่า ในเพราะการอยู่เป็นคณะอย่างนี้แหละ จึงมีการกระทบกันในเพราะการอยู่โดดเดี่ยว จึงไม่มีการกระทบกัน แล้วทอดพระเนตรดูนางทาสีบ่อยๆ.
               ก็สมัยนั้น พระเทวีประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทุกชนิด ยืนถวายการพัดอยู่ พระเทวีนั้นทรงดำริว่า พระราชาเห็นจะมี พระทัยปฏิพัทธ์นางวัณณทาสี จึงรับสั่งให้นางทาสีนั้นลุกขึ้น แล้วเริ่มบดด้วยพระองค์เอง. ก็ครั้งนั้น ที่พระพาหาทั้งสองของพระนางมีกำไลทองคำมิใช่น้อย กำไลทองเหล่านั้นกระทบกัน ทำให้เกิดเสียงดังลั่น.
               พระราชาทรงเบื่อระอายิ่งนัก จึงทรงบรรทมโดยพระปรัศว์เบื้องขวาเท่านั้น ทรงเริ่มวิปัสสนาแล้วกระทำให้แจ้งพระปัจเจกโพธิญาณ.
               พระเทวีถือจันทน์เข้าไปหาพระราชานั้นผู้บรรทมสบายด้วยสุขอันยอดเยี่ยม แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์จงทรงลูบไล้. พระราชานั้นตรัสว่า จงหลีกไป อย่าลูบไล้. พระเทวีกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช หม่อมฉันจะลูบไล้ให้แก่ใคร. พระราชาตรัสว่า เราไม่ใช่พระราชา.
               อำมาตย์ทั้งหลายได้ฟังถ้อยคำปราศรัยของพระราชาและพระเทวีนั้นอย่างนั้น จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระองค์.
               แม้อำมาตย์เหล่านั้นร้องทูลด้วยวาทะว่าพระราชา ก็ตรัสว่า เราไม่ใช่พระราชาดอกพนาย.
               คำที่เหลือเช่นกับที่กล่าวแล้วในคาถาแรกนั่นแหละ.
               ส่วนการพรรณนาคาถามีดังต่อไปนี้ :-
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิสฺวา แปลว่า ทรงแลดูแล้ว.
               บทว่า สุวณฺณสฺส แปลว่า ทองคำ.
               บาลีที่เหลือว่า วลยานิ. ก็อรรถะพร้อมทั้งอรรถะของบทที่เหลือมีเพียงเท่านี้.
               บทว่า ปภสฺสรานิ แปลว่า มีแสงสุกปลั่งเป็นปกติ มีอธิบายว่า โชติช่วงอยู่.
               คำที่เหลือมีอรรถะของบทง่ายทั้งนั้น.
               ส่วนวาจาประกอบความมีดังต่อไปนี้ :-
               เราเห็นกำไลทองที่แขนจึงคิดอย่างนี้ว่า เมื่อมีการอยู่เป็นคณะ การกระทบกันย่อมมี เมื่ออยู่ผู้เดียวก็ไม่มีการกระทบกัน จึงเริ่มวิปัสสนาได้บรรลุแล้ว.
               คำที่เหลือเข้าใจได้ง่ายทั้งนั้นแล.
               จบพรรณนาสุวัณณวลยคาถา               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑. พุทธวรรค ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔] [๕] [๖] [๗]
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 1อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 2อ่านอรรถกถา 32 / 3อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=147&Z=289
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=3800
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=3800
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :