ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 18อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 19อ่านอรรถกถา 32 / 20อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๒. สีหาสนิวรรค
๗. อุปเสนวังคันตปุตตเถราปทาน (๑๗)

               ๑๗. อรรถกถาอุปเสนวังคันตปุตตเถราปทาน               
               อปทานของท่านพระอุปเสนวังคันตปุตตเถระ มีคำเริ่มต้นว่า ปทุมุตฺตรํ ภควนฺตํ ดังนี้.
               พระเถระแม้นี้ได้บำเพ็ญบุญญาธิการในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยของพระนิพพานในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ บังเกิดในเรือนมีตระกูลในหังสวดีนคร เจริญวัยแล้วไปยังสำนักพระศาสดาฟังธรรม เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุผู้น่าเลื่อมใสทั้งหลาย กระทำกรรมคือการดูแลพระศาสดา ปรารถนาตำแหน่งนั้น บำเพ็ญกุศลจนตลอดชีวิต ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั่งหลาย บังเกิดในครรภ์ของนางรูปสารีพราหมณี ในนาลันทคาม ในพุทธกาลนี้.
               ท่านได้นามว่าอุปเสนะ. ท่านเจริญวัยแล้ว เรียนจบเวท ๓ ฟังธรรมในสำนักพระศาสดา กลับได้ศรัทธาบวชแล้ว มีพรรษาเดียวโดยอุปสมบท คิดว่าเราจะยังห้องแห่งพระอริยะให้เจริญ จึงให้กุลบุตรคนหนึ่งบวชในสำนักของตน แล้วไปเฝ้าพระศาสดากับกุลบุตรนั้น. ก็แลพระศาสดาทรงสดับว่า ภิกษุนั้นเป็นสัทธิวิหาริกของเธอผู้ไม่มีพรรษานั้น จึงทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ เธอเป็นผู้เวียนมาเพื่อความมักมากเกินไปแล ท่านคิดว่า บัดนี้ถ้าเราอาศัยบริษัทถูกพระศาสดาทรงติเตียน แต่เราจักอาศัยบริษัทนั้นแหละทำความเลื่อมใสในพระศาสดา ดังนี้แล้วจึงบำเพ็ญวิปัสสนา ไม่ช้านักก็บรรลุพระอรหัต.
               ก็ท่านเป็นพระอรหันต์ สมาทานประพฤติธุดงคธรรมทั้งหมดแม้ด้วยตนเอง. ทั้งชวนผู้อื่นให้สมาทานเพื่อธุดงคธรรมนั้นด้วย. ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้น่าเลื่อมใส.
               ท่านอันภิกษุรูปหนึ่งประสงค์จะเว้นการทะเลาะกันถามว่า บัดนี้ความทะเลาะเกิดขึ้นแล้ว ภิกษุสงฆ์แตกเป็นสองพวก เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ จึงแสดงข้อปฏิบัติแก่ท่านจำเดิมแต่การอยู่สงัด. พระเถระแสดงภาวะที่ตนปฏิบัติอย่างนั้น ด้วยการแสดงอ้างถึงการให้โอวาทแก่ภิกษุนั้น จึงพยากรณ์พระอรหัตผลด้วยประการฉะนี้.
               ท่านได้ตำแหน่งเอตทัคคะอย่างนี้แล้ว ระลึกถึงบุพกรรมของตน เมื่อจะประกาศอปทานแห่งบุพจริยาด้วยอำนาจโสมนัส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ปทุมุตฺตรํ ภควนตํ ดังนี้.
               บทว่า ปพฺภารมฺหิ นิสีทนฺตํ ความว่า เข้าไปเฝ้ายังที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประทับนั่งที่เงื้อมเขาอันเกิดเอง ในท่ามกลางป่า ผู้สูงสุดกว่านระ ผู้ปรารถนาเงื้อมเขาที่ชื่อว่าน้อมไป โอนไป สู่ภาระข้างหน้าว่าเป็นสถานวิเวก.
               บทว่า กณิการปุปฺผํ ทิสฺวา ความว่า เมื่อเข้าไปใกล้เช่นนั้น เห็นดอกกรรณิการ์บานสะพรั่งอยู่ในประเทศนั้น. บทว่า วณฺเฏ เฉตฺวานหํ ตทา ความว่า เด็ดดอกไม้นั้นที่ขั้วคือที่ก้านให้ขาด ในกาลที่พระตถาคตประทับอยู่นั้น.
               คำว่า อลงฺกริตฺวาน ฉตฺตมฺหิ ความว่า ทำฉัตรให้สำเร็จด้วยดอกไม้นั้น.
               บทว่า พุทฺธสฺส อภิโรปยึ ความว่า ได้ยกขึ้นกั้นไว้เบื้องบนพระเศียรของพระพุทธเจ้าผู้ประทับอยู่.
               บทว่า ปิณฺฑปาตญฺจ ปาทาสึ ความว่า ได้ถวายบิณฑบาตแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประทับอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแลให้เสวยโดยประการทั่วถึง.
               บทว่า ปรมนฺนํ สุโภชนํ ความว่า เป็นข้าวปรุงด้วยน้ำนม คือเป็นอาหารอันสงสุด กล่าวคือโภชนะอย่างดี
               บทว่า พุทฺธน นวเม ตตฺถ ความว่า เราได้นิมนต์พระสมณะคือผู้ลอยบาป ได้แก่ภิกษุผู้ขีณาสพ ๘ รูป พร้อมด้วยพระพุทธเจ้าเป็นที่ ๙ ให้ฉันในที่อันสงัดนั้น.
               บทว่า ยํ วทนฺติ สุเมโธ ความว่า ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้โคตมะ ผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน (กว้างขวาง) คือผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน คือผู้มีปัญญาดีงาม ผู้มีปัญญามีสัพพัญญุตสญาณเป็นต้น. บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า สุเมโธ แปลว่า ผู้มีปัญญาดี สุนฺทรปญฺโญ ผู้มีปัญญางาม เชื่อมความว่า ท่านผู้นี้จักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะ. ในแสนกัปนับแต่กัปนี้.
               คำที่เหลือมีเนื้อความรู้ได้ง่ายทั้งนั้นแล.
               จบอรรถกถาอุปเสนวังคันตปุตตเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๒. สีหาสนิวรรค ๗. อุปเสนวังคันตปุตตเถราปทาน (๑๗) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 18อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 19อ่านอรรถกถา 32 / 20อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=1380&Z=1403
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=435
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=435
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๘  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๙
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :