ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 167อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 168อ่านอรรถกถา 32 / 169อ่านอรรถกถา 32 / 412
อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑๗. สุปาริจริยวรรค
๖. สัปปิทายกเถราปทาน (๑๖๖)

               ๑๖๖. อรรถกถาสัปปิยทายกเถราปทาน               
               อปทานของท่านพระสัปปิทายกเถระมีคำเริ่มต้นว่า ผุสฺโส นามาถ๑- ภควา ดังนี้.
____________________________
๑- บาลีว่า นามาสิ.

               พระเถระแม้นี้ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมแต่บุญอันเป็นอุปนิสัยพระนิพพานเป็นประจำเสมอไว้ตั้งหลายภพ.
               ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าผุสสะ ท่านได้เกิดในเรือนอันมีสกุล. ในกาลนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อมเสด็จไปตามหนทาง ถึงประตูเรือนของอุบาสกคนนั้นแล้ว.
               ครั้นพออุบาสกนั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็มีใจเลื่อมใส ถวายบังคมแล้วได้ถวายเนยใสและน้ำมันจนเต็มบาตร. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำอนุโมทนาแล้วเสด็จหลีกไป ด้วยความโสมนัสนั้นนั่นแล เขาดำรงชีวิตอยู่จนตลอดอายุขัย จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว.
               ด้วยบุญอันนั้นจึงได้ไปเกิดในเทวโลก ได้เสวยทิพยสุขแล้ว และได้บังเกิดในหมู่มนุษย์ ทุกๆ ภพที่เขาเกิดแล้วก็ได้เสวยแต่ความสุขเพียบพร้อมไปด้วยอาหารมีรสอร่อยเช่นเนยใส น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น.
               ในพุทธุปบาทกาลนี้ เขาได้เกิดในตระกูลแห่งหนึ่งในกรุงสาวัตถี เจริญวัยแล้ว มีศรัทธาถึงพร้อมด้วยปัญญา ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว มีใจเลื่อมใส บวชแล้วเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ไม่นานนักก็ได้เป็นพระอรหันต์.
               เมื่อระลึกถึงบุพกรรมของตนได้ เกิดความโสมนัสใจ เมื่อจะประกาศถึงเรื่องราวที่ตนเคยได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อน จึงกล่าวคำเริ่มต้นว่า ผุสฺโส นามาถ ภควา ดังนี้.
               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผุสฺโส ความว่า ผุสสะ เป็นพระนามที่พระมารดาและพระบิดาทรงตั้งให้ เพราะพระองค์ประสูติโดยประกอบไปด้วยผุสสนักขัตฤกษ์.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าผุสสะ เพราะพระองค์กระทบถูก เห็นชัดคือได้กระทำให้แจ่มแจ้งซึ่งพระนิพพาน.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าผุสสะ เพราะพระองค์กระทบถูก เห็นชัดคือได้ทราบแล้วซึ่งพระบารมีธรรม ๓๐ ทัศ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการอย่างบริบูรณ์และพระปริยัติธรรมคือพระไตรปิฎกทั้งสิ้น.
               ชื่อว่าภควา เพราะพระองค์เพียบพร้อมไปด้วยส่วนแห่งบุญ เช่นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกอบด้วยความเป็นผู้มีโชค เป็นต้น.
               บทว่า อาหุตีนํ ปฏิคฺคโห เพราะพระองค์สมควรเพื่อจะรับเครื่องบูชาและสักการะเหล่านั้น.
               เชื่อมความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าผุสสะ ผู้แกล้วกล้า ทรงยังมหาชนให้ดับ เสด็จดำเนินไปในถนนในครั้งนั้นแล.
               คำที่เหลือมีเนื้อความปรากฏชัดแล้วทีเดียว.
               จบอรรถกถาสัปปิทายกเถราปทาน               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน ๑๗. สุปาริจริยวรรค ๖. สัปปิทายกเถราปทาน (๑๖๖) จบ.
อ่านอรรถกถา 32 / 1อ่านอรรถกถา 32 / 167อรรถกถา เล่มที่ 32 ข้อ 168อ่านอรรถกถา 32 / 169อ่านอรรถกถา 32 / 412
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=4462&Z=4474
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=4524
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=4524
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :