ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 284อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 285อ่านอรรถกถา 31 / 286อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
มหากรุณาสมาปัตติญาณนิทเทส

หน้าต่างที่ ๒ / ๒.

               บทว่า ฉหิ วิวาทมูเลหิ คือ ด้วยมูลเหตุวิวาท ๖ อย่าง.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มูลเหตุแห่งวิวาทเหล่านี้
                         มี ๖ อย่าง. ๖ อย่าง เป็นไฉน?
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้
                         มักโกรธ มีความผูกโกรธไว้. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
                         ภิกษุใดเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธไว้. ภิกษุนั้นไม่เคารพ
                         ไม่ยำเกรง แม้ในพระศาสดา. ไม่ทำให้บริบูรณ์ แม้ใน
                         พระธรรม แม้ในพระสงฆ์ แม้ในสิกขา.
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดไม่เคารพ ไม่
                         ยำเกรงในพระศาสดา ไม่ทำให้บริบูรณ์ในพระธรรม
                         ในพระสงฆ์ ในการศึกษา. ภิกษุนั้นย่อมยังวิวาทให้
                         เกิดในสงฆ์. วิวาทย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็น
                         ประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความไม่เป็นสุขแก่
                         ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศแก่ชนเป็นอันมาก
                         เพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่เทวดา
                         และมนุษย์ทั้งหลาย.
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากพวกเธอพิจารณา
                         เห็นวิวาทเห็นปานนั้น เป็นมูลเหตุแห่งวิวาทในภาย
                         ในก็ดี ในภายนอกก็ดี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในข้อ
                         นั้น พวกเธอพึงพยายามเพื่อละมูลเหตุแห่งวิวาทอัน
                         ลามกนั้นเสีย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากพวกเธอไม่
                         พิจารณาเห็นวิวาท เห็นปานนี้ เป็นมูลเหตุแห่งวิวาท
                         ในภายในก็ดี ในภายนอกก็ดี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
                         ในข้อนั้น พวกเธอพึงปฏิบัติเพื่อความไม่เกิดผลแห่ง
                         มูลเหตุแห่งวิวาทอันลามกนั้นต่อไปได้. การละมูล
                         เหตุแห่งวิวาทอันลามกนี้ ย่อมมีได้ด้วยประการฉะนี้.
                         ความไม่เกิดผลแห่งมูลเหตุแห่งวิวาทอันลามกนี้
                         ย่อมมีด้วยประการฉะนี้.
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุ
                         เป็นผู้มีความลบหลู่ มักตีเสมอ. เป็นผู้มีความริษยา
                         มักตระหนี่. เป็นผู้โอ้อวด มักเจ้าเล่ห์. เป็นผู้มีความ
                         ปรารถนาลามก มักเป็นมิจฉาทิฏฐิ. เป็นผู้มีทิฏฐิเป็น
                         ของตน มักมีความยึดมั่น มีความถือมั่น มีการสละ
                         ได้ยาก.
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดมีความยึดมั่น
                         ทิฏฐิของตน เป็นผู้มีความถือมั่น มีการสละได้ยาก.
                         ภิกษุนั้นไม่เคารพแม้ในพระศาสดา ฯลฯ ไม่เกิดผล
                         ต่อไป.๑-
____________________________
๑- องฺ. ฉกฺก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๓๐๗

               ในบทเหล่านั้น บทว่า โกธโน - มักโกรธ คือประกอบด้วยความขัดเคืองอันมีอาการขุ่นเคืองเป็นลักษณะ.
               บทว่า อุปนาหี - ผูกโกรธไว้ คือประกอบด้วยอุปนาหะอันมีลักษณะไม่ปล่อยเวร.
               บทว่า อหิตาย ทุกฺขาย เทวมนุสฺสานํ - เพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
               วิวาทของภิกษุ ๒ รูปย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายอย่างไร.
               เมื่อภิกษุ ๒ รูปวิวาทกันดุจในโกสัมพกขันธกะ๒- อันเตวาสิกของภิกษุ ๒ รูปเหล่านั้นในวัดนั้นก็วิวาทกัน.
____________________________
๒- วิ. มหา. เล่ม ๕/ข้อ ๒๓๘

               ภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ผู้รับโอวาทของภิกษุ ๒ รูปนั้นก็วิวาทกัน.
               แต่นั้น อุปฐากของภิกษุ ๒ รูปเหล่านั้นก็วิวาทกัน. ครั้นแล้วเทวดาผู้อารักขามนุษย์ทั้งหลายก็แบ่งเป็น ๒ ส่วน. เทวดาผู้อารักขาธรรมวาทีก็เป็นพวกธรรมวาที. ที่อารักขาอธรรมวาทีก็เป็นพวกอธรรมวาที.
               แต่นั้นภุมมัฏฐเทวดาผู้เป็นมิตรของอารักขเทวดาก็แตกกัน.
               เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เว้นพระอริยสาวกแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย โดยสืบๆ กันอย่างนี้จนถึงพรหมโลก.
               อธรรมวาทีมากกว่าธรรมวาที. แต่นั้นสิ่งที่พวกมากถือจึงเป็นสัจจะ เพราะเหตุนั้น พวกมากกว่าจึงพากันสละธรรม ถือเอาอธรรม. พวกอธรรมเหล่านั้นยึดอธรรมเป็นหลัก ย่อมเกิดในอบาย.
               การวิวาทของภิกษุ ๒ รูปอย่างนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.
               บทว่า อชฺฌตฺตํ วา - ในภายในก็ดี คือในบริษัทภายในของพวกท่าน.
               บทว่า พหิทฺธา วา - ในภายนอกก็ดี คือบริษัทของพวกอื่น.
               บทว่า มกฺขี คือ ประกอบด้วยความลบหลู่อันมีลักษณะลบหลู่คุณท่าน.
               บทว่า ปลาสี คือ ประกอบด้วยตีเสมออันมีลักษณะแข่งดี.
               บทว่า อิสฺสุกี คือ ประกอบด้วยริษยาอันมีลักษณะ คือความริษยามีสักการะเป็นต้นของผู้อื่น.
               บทว่า มจฺฉรี คือ ประกอบด้วยมัจฉริยะ ๕ มีอาวาสมัจฉริยะเป็นต้น.
               บทว่า สโฐ - โอ้อวด คือเต็มไปด้วยความหลอกลวง.
               บทว่า มายาวี - เจ้าเล่ห์ คือปกปิดความชั่วที่ตนทำ.
               บทว่า ปาปิจฺโฉ - มีความปรารถนาลามก คือเป็นผู้ทุศีลปรารถนาความยกย่องที่ไม่มี.
               บทว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิ ได้แก่ นัตถิกวาที - มีวาทะว่าไม่มี, อเหตุกวาที - มีวาทะว่าไม่มีเหตุ, อกิริยวาที - มีวาทะว่าไม่เป็นอันทำ.
               บทว่า สนฺทิฏฺฐิปรามาสี คือ ลูบคลำทิฏฐิของตนเองเท่านั้น.
               บทว่า อาธานคฺคาหี คือ ถือมั่น.
               บทว่า ทุปฺปฏินิสฺสคฺคี คือ ไม่สามารถสละสิ่งที่ตนถือได้.
               ส่วนในขุททกวิภังค์ ท่านกล่าวถึงธรรมอย่างหนึ่งๆ ด้วยสามารถเป็นประธานว่า มูลเหตุแห่งวิวาท ๖ เป็นไฉน? คือ โกธะ ๑ มักขะ ๑ อิสสา ๑ สาเถยยะ ๑ ปาปิจฉา ๑ สันทิฏฐิปรามาสี - การยึดถือทิฏฐิของตน ๑. นี้คือมูลเหตุแห่งวิวาท ๖ อย่าง.๓-
               บทว่า ฉหิ ตณฺหากาเยหิ - ด้วยกองตัณหา ๖ คือ ด้วยตัณหา ๖ ดังที่กล่าวแล้ว คือ รูปตัณหา ๑ สัททตัณหา ๑ คันธตัณหา ๑ รสตัณหา ๑ โผฏฐัพพตัณหา ๑ ธรรมตัณหา ๑.#-
____________________________
๓- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๙๙๑  #- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๙๙๔

               ในตัณหาเหล่านั้น เพราะตัณหาอย่างหนึ่งๆ ย่อมมีไม่น้อย เพราะเกิดบ่อยๆ ในอารมณ์แม้อย่างหนึ่งๆ เพราะมีอารมณ์มาก. ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ตณฺหากายา - กองตัณหา เพราะประกอบกายศัพท์ ด้วยอรรถว่าหมู่. แม้เมื่อกล่าวว่า ตัณหากายา ก็คือตัณหานั่นเอง.
               บทว่า รชฺชติ - ย่อมกำหนัด คือกำหนัดยินดีในอารมณ์ด้วยตนเอง.
               บทว่า ฉหิ ทิฏฺฐิคเตหิ - ด้วยทิฏฐิ ๖ ท่านกล่าวไว้แล้วในสัพพาสวสูตร.
               ในสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๔-
                                   เมื่อภิกษุมนสิการ โดยไม่แยบคายอย่างนี้
                         ทิฏฐิ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น. คือทิฏฐิ
                         โดยความจริง โดยความมั่นคง ย่อมเกิดแก่ภิกษุ
                         นั้นว่า อตฺถิ เม อตฺตา - อัตตาของเรามีอยู่. ทิฏฐิ
                         โดยความจริง โดยความเชื่อถือได้ ย่อมเกิดแก่
                         ภิกษุนั้นว่า นตฺถิ เม อตฺตา - อัตตาของเราไม่มี.
                         ทิฏฐิ ฯลฯ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้นว่า อตฺตนาว
                         อตฺตานํ สญฺชานามิ - เรารู้จักอัตตาด้วยตนเอง.
                         ทิฏฐิ ฯลฯ ย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้นว่า อตฺตนาว
                         อนตฺตานํ สญฺชานามิ - เรารู้จักอนัตตาด้วยตนเอง.
                         หรือทิฏฐิ ฯลฯ ย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้นว่า อนตฺตนาว
                         อตฺตานํ สญฺชานามิ - เรารู้จักอัตตาด้วยอนัตตา.
                         ก็อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิย่อมมีแก่ภิกษุนั้น อย่างนี้ว่า
                         อัตตาของเรานี้ใด เป็นอัตตาที่ผู้กล่าว ผู้รู้ ย่อมเสวย
                         วิบากของกรรมทั้งหลาย ทั้งดีและชั่วในอารมณ์
                         นั้นๆ ก็และอัตตาของเรานี้นั้น แน่นอน ยั่งยืน
                         เที่ยง มีอันไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา จักตั้งอยู่
                         เป็นความเที่ยงเสมออย่างนั้นนั่นแหละ.๔-
____________________________
๔- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๒

               ในบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถิ เม อตฺตา คือ สัสสตทิฏฐิย่อมถือเอาความที่ตนมีอยู่ในกาลทั้งปวง.
               บทว่า สจฺจโต เถตโต คือ โดยความจริงและโดยความมั่นคง. ท่านอธิบายว่า ด้วยความมั่นคงเป็นอย่างดีว่า อิทํ สจฺจํ - นี้เที่ยง.
               บทว่า นตฺติ เม อตฺตา คือ ชื่อว่าอุจเฉททิฏฐิ เพราะถือความไม่มีไม่เป็นในอัตตานั้นๆ ของสัตว์ที่มีอยู่.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าสัสสตทิฏฐิ เพราะถือว่าแม้ทิฏฐิก่อนๆ ก็มีในกาล ๓, อุจเฉททิฏฐิ เพราะถือว่าปัจจุบันเท่านั้นมี, อุจเฉททิฏฐิ เพราะถือว่าแม้ทิฏฐิหลังในอดีตและในอนาคตก็ไม่มี ดุจทิฏฐิของเจ้าทิฏฐิที่ถือว่า "เถ้าถ่านเป็นเครื่องบูชา”. สัสสตทิฏฐิ เพราะถือว่าในอดีตเท่านั้นไม่มี ดุจของผู้มีความเห็นเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล.
               บทว่า อตฺตนาว อตฺตานํ สญฺชานาติ คือ มีทิฏฐิว่า เราย่อมรู้จักอัตตานี้ ด้วยตนนี้ เพราะถือว่าอัตตาในขันธ์โดยปกติคือสัญญาขันธ์ แล้วรู้จักขันธ์ที่เหลือด้วยสัญญาขันธ์.
               บทว่า อตฺตนาว อนตฺตานํ - มีทิฏฐิอย่างนี้ เพราะถือสัญญาขันธ์นั่นแหละว่าเป็นอัตตา. ถือขันธ์ที่เหลือ ๔ อย่างว่าเป็นอนัตตาแล้วรู้จักขันธ์เหล่านั้นด้วยสัญญาขันธ์.
               บทว่า อนตฺตาว อตฺตานํ คือ มีทิฏฐิอย่างนี้ เพราะถือสัญญาขันธ์ว่าเป็นอนัตตา. ถือขันธ์ ๔ พวกนี้ว่าเป็นอัตตา แล้วรู้จักขันธ์เหล่านั้นด้วยสัญญาขันธ์. ทิฏฐิแม้ทั้งหมดก็เป็นสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐินั่นเอง.
               ส่วนบทมีอาทิว่า วโท เวเทยฺโย - เป็นอาการของการยึดมั่นในสัสสตทิฏฐินั่นเอง.
               ในบทเหล่านั้น ชื่อว่า วโท เพราะอรรถว่ากล่าว, ท่านอธิบายว่า ผู้ทำวจีกรรม ชื่อว่า เวเทยฺโย เพราะอรรถว่ารู้.
               ท่านอธิบายว่า รู้และเสวย รู้อะไร? รู้วิบากของกรรมดีและกรรมชั่ว ในอารมณ์นั้นๆ.
               บทว่า ตตฺร ตตฺร คือ ในโยนิ คติ ฐิติ นิวาสและนิกายนั้นๆ หรือในอารมณ์.
               บทว่า นิจฺโจ คือ ไม่มีเกิดดับ.
               บทว่า ธุโว คือ มั่นคงเป็นสาระ.
               บทว่า สสฺสโต คือ เป็นไปตลอดกาลทั้งปวง.
               บทว่า อวิปริณามธมฺโม คือ ไม่ละภาวะเดิมของตน ไม่ถึงความมีประการต่างๆ ดุจกิ้งก่า.
               บท สสฺสติสมํ ท่านกล่าว สสฺสติโย โดยโวหารว่า พระจันทร์ พระอาทิตย์ สมุทร แผ่นดินใหญ่ ภูเขา แสงสว่าง. เสมอด้วยความเที่ยง ชื่อว่า สสฺสติสมํ. ทิฏฐิมีอย่างนี้ เพราะถือว่าจักตั้งอยู่ตราบเท่าที่ความเที่ยงยังปรากฏอยู่.
               แต่ในขุททกวัตถุวิภังค์ ท่านกล่าวถึงทิฏฐิ ๖ แปลกออกไปอย่างนี้ว่า อัตตาเสวยวิบากของกรรมดีและชั่วตลอดกาลนาน ในอารมณ์ นั้นๆ. อัตตานั้นไม่เกิด มิได้มี. อัตตานั้นไม่เกิดแล้ว จักไม่มี. อัตตาเป็นของแน่นอน ยั่งยืน เที่ยง มีอันไม่แปรปรวนไปเป็นธรรมดา. หรือว่า ทิฏฐิย่อมเกิดโดยความจริง โดยความมั่นคงแก่ภิกษุนั้น๕- ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๕- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๐๐๔

               ในบทเหล่านั้น บทว่า น โส ชาโต นาโหสิ คือ อัตตานั้นชื่อว่าไม่เกิด เพราะไม่เกิดเป็นธรรมดา.
               อธิบายว่า มีอยู่ทุกเมื่อ. ด้วยเหตุนั้น อัตตาไม่มีในอดีต. จักไม่มีในอนาคต. เพราะอัตตาใดเกิดแล้ว. อัตตานั้นได้มีแล้ว. และอัตตาใดจักเกิดอัตตานั้นก็จักมี ท่านกล่าวไว้ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า น โส ชาโต นาโหสิ คือ อัตตานั้นไม่เกิด มิได้มีแล้วแม้ในอดีต เพราะเกิดทุกเมื่อ. แม้ในอนาคตไม่เกิดจักไม่มี. อนุสัยทั้งหลายมีอรรถดังได้กล่าวแล้ว.
               บทว่า สตฺตหิ สญฺโญชเนหิ - ถูกสังโยชน์ ๗ คล้องไว้ ท่านกล่าวไว้แล้วในสัตตกนิบาต.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๖-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์ ๗ เหล่านี้.
                         สังโยชน์ ๗ เป็นไฉน? อนุนยสังโยชน์ ๑ ปฏิฆ-
                         สังโยชน์ ๑ ทิฏฐิสังโยชน์ ๑ วิจิกิจฉาสังโยชน์ ๑
                         มานสังโยชน์ ๑ ภวราคสังโยชน์ ๑ อวิชชาสัง-
                         โยชน์ ๑. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์ ๗
                         เหล่านี้แล.๖-
____________________________
๖- องฺ. สตฺตก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๘

               ในบทเหล่านั้น บทว่า อนุนยสญฺโญชนํ ได้แก่ กามราคสังโยชน์. สังโยชน์เหล่านี้ทั้งหมดเรียกว่า สัญโญชน์ เพราะเป็นกิเลสเครื่องผูก.
               บทว่า สตฺตหิ มาเนหิ - โลกสันนิวาสฟูขึ้นเพราะมานะ ๗. ท่านกล่าวไว้แล้วในขุททกวัตถุวิภังค์.
               จริงอยู่ ในวิภังค์นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๗-
                         มานะ อติมานะ มานาติมานะ โอมานะ
                         อธิมานะ อัสมิมานะ มิจฉามานะ.

____________________________
๗- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๐๑๐

               ในบทเหล่านั้น บทว่า มาโน - ความถือตัว คือลูบคลำบุคคลด้วยสามารถแห่งบุคคลผู้ดีกว่าเป็นต้น แล้วเย่อหยิ่งด้วยวัตถุในชาติเป็นต้น.
               บทว่า อติมาโน - ดูหมิ่นท่าน คือผยองเลยไปถึงว่า ไม่มีใครเช่นกับเราโดยชาติเป็นต้น.
               บทว่า มานาติมาโน - ดูหมิ่นด้วยความทะนงตัว คือ เกิดถือตัวว่า คนนี้เมื่อก่อนเช่นกับเรา เดี๋ยวนี้เราดีกว่า คนนี้เลวกว่าเรา.
               บทว่า โอมาโน - ถือตัวว่าเลวกว่าเขา คือ ถือตนว่าต่ำโดยชาติเป็นต้น คือ ถือตัวว่าเราเป็นคนเลวนั่นแหละ.
               บทว่า อธิมาโน - ถือตัวยิ่ง คือ มานะว่า เราบรรลุสัจธรรม ๔ ซึ่งไม่มีผู้บรรลุเลย.
               อธิมานะนี้เกิดแก่ปุถุชนผู้มีศีลบริสุทธิ์ไม่ประมาทในกรรมฐาน กำหนดนามรูปข้ามสงสัยโดยกำหนดปัจจัย ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์พิจารณาสังขาร ปรารภวิปัสสนา, ไม่เกิดแก่ผู้อื่น.
               บทว่า อสฺมิมาโน - ถือเรา คือ มานะว่าเรามีอยู่ในขันธ์มีรูปเป็นต้น. ท่านอธิบายว่า มีมานะเกิดขึ้นด้วยบทมีอาทิว่า อหํ รูปํ - รูปเป็นเรา เราคือรูป.
               บทว่า มิจฺฉามาโน - มานะผิด คือ มานะเกิดขึ้นด้วยบทมีอาทิว่า ปาปเกน กมฺมายตนา - กัมมายตนะเกิดด้วยความลามก.
               บทว่า โลกธมฺมา มีอรรถได้กล่าวแล้ว.
               บทว่า สมฺปริวตฺตติ - เวียนอยู่ คือหมุนเวียนไปด้วยโลกธรรมอันเป็นเหตุ ด้วยความยินดีในโลกธรรม ๔ มีลาภเป็นต้น ด้วยความไม่ยินดีในโลกธรรม ๔ มีเสื่อมลาภเป็นต้น. อธิบายว่า ละภาวะปกติ.
               แม้ มิจฺฉตฺตา ก็มีอรรถดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า นิยฺยาโต - ดิ่งลงแล้ว คือแล่นไป. อธิบายว่าครอบงำแล้ว.
               บทว่า อฏฺฐหิ ปุริสโทเสหิ - เพราะบุรุษโทษ ๘ ในอัฏฐกนิบาต ท่านกล่าวพร้อมด้วยอุปมา.
               ในขุททกวัตถุวิภังค์ ท่านกล่าวเว้นอุปมา.
               สมจริงดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๘-
                                   บุรุษโทษ ๘ เป็นไฉน? ภิกษุทั้งหลายใน
                         ศาสนานี้โจทภิกษุด้วยอาบัติ, ภิกษุนั้นถูกภิกษุ
                         ทั้งหลายโจทด้วยอาบัติย่อมแก้ตัว ด้วยความไม่มี
                         สติว่า ผมนึกไม่ได้ ผมนึกไม่ได้. นี้เป็นบุรุษโทษ
                         ข้อที่ ๑.
                                   ข้อต่อไป ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ
                         ภิกษุนั้นถูกภิกษุทั้งหลายโจทด้วยอาบัติ ย่อมซัด
                         โจทก์ว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพูดกับท่านผู้โง่
                         ไม่ฉลาด, แม้ท่านก็สมควรที่จะพูดกับผมหรือ?
                         นี้เป็นบุรุษโทษข้อที่ ๒.
                                   ข้อต่อไป ภิกษุทั้งหลายโจทภิกษุด้วยอาบัติ.
                         ภิกษุนั้นถูกภิกษุทั้งหลายโจทด้วยอาบัติ ก็ปรับ
                         อาบัติโจทก์ว่า แม้ท่านก็ต้องอาบัติข้อนี้ ท่านจง
                         ทำคืนก่อน. นี้เป็นบุรุษโทษข้อที่ ๓.
                                   ข้อต่อไป ภิกษุ ฯลฯ พูดกลบเกลื่อน พูด
                         นอกเรื่อง ทำความโกรธโทสะและความไม่พอใจ
                         ให้ปรากฏ. นี้เป็นบุรุษโทษข้อที่ ๔.
                                   ข้อต่อไป ภิกษุ ฯลฯ พูดแกว่งแขนใน
                         ท่ามกลางสงฆ์. นี้เป็นบุรุษโทษข้อที่ ๕.
                                   ข้อต่อไป ภิกษุ ฯลฯ ไม่เชื่อสงฆ์ไม่เชื่อ
                         โจทก์เดินหลีกออกไปเสีย. นี้เป็นบุรุษโทษ
                         ข้อที่ ๖.
                                   ข้อต่อไป ภิกษุ ฯลฯ คิดว่า เราไม่ได้ต้อง
                         อาบัติ, เราไม่ได้ต้องอาบัติก็หามิได้ แล้วนิ่งเสีย
                         ทำให้สงฆ์ลำบาก. นี้เป็นบุรุษโทษข้อที่ ๗.
                                   ข้อต่อไป ภิกษุ ฯลฯ กล่าวอย่างนี้ว่า โธ่เอ๋ย
                         พวกท่านจะมาวุ่นวายหนักหนาอะไรกะผม. บัดนี้
                         ผมจะบอกคืนสิกขาลาสึกอยู่แล้ว. ภิกษุนั้นก็สึก
                         แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้พวกท่านจงดีใจเถิด. นี้
                         เป็นบุรุษโทษข้อที่ ๘.
____________________________
๘- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๐๑๗

               ในบทเหล่านั้นบทว่า ปุริสโทสา คือ โทษของบุรุษ.
               ชื่อว่าโทษ เพราะประทุษร้ายสันดานบุรุษ.
               บทว่า น สรามิ คือ ภิกษุนั้นแก้ตัวปลดเปลื้อง ด้วยไม่มีสติว่า ผมจำไม่ได้ ไม่ได้สนใจถึงกรรมที่ผมทำไป.
               บทว่า โจทกํเยว ปฏิปฺผรติ คือ ซัดโต้โจทก์. ตั้งอยู่โดยความเป็นลิ่มตอบ.๙-
____________________________
๙- ในสัมโมหะว่า ตั้งอยู่โดยความกล่าวอย่างฉับไว.

               บทว่า กินฺนุ โข ตุยฺหํ คือ ท่านแสดงว่าประโยชน์อะไรที่จะพูดกับท่านผู้โง่ไม่ฉลาด, ท่านไม่รู้วัตถุ, ไม่รู้อาบัติ ไม่รู้การโจท. ทับถมว่าแม้ท่านก็ไม่รู้อะไรๆ ยังอยากจะพูด.
               บทว่า ปจฺจาโรเปติ - ยกโทษขึ้น คือกล่าวบทมีอาทิว่า แม้ท่านแหละชื่อว่ายกโทษขึ้น คือปรับอาบัติ.
               บทว่า ปฏิกโรหิ - ทำคืน. ท่านแสดงไว้ว่า ท่านจงแสดงเทศนาคามินี คือการแสดงอาบัติ ท่านจงออกจากวุฏฐานคามินี คือออกจากอาบัติ. แต่นั้นท่านตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์แล้วจึงโจทผู้อื่น.
               บทว่า อญฺเญนญฺญํ ปฏิจรติ - พูดจากลบเกลื่อน คือปกปิดเหตุอื่นด้วยเหตุอื่น หรือปกปิดคำพูดด้วยคำอื่น. โจทก์กล่าวว่า ท่านต้องอาบัติแล้ว. ภิกษุนั้นกล่าวว่า ใครต้องอาบัติ ต้องอาบัติอะไรๆ ต้องอาบัติในข้อไหน ต้องอาบัติอย่างไร. ท่านกล่าวอะไรๆ. เมื่อโจทก์กล่าวว่า อาบัติอะไร ท่านก็เห็นอยู่แล้ว. ภิกษุนั้นกล่าวว่า เราไม่ได้ยินแล้วเอียงหูเข้าไป.
               บทว่า พหิทฺธา กถํ อปนาเมติ - พูดนอกเรื่อง คือเมื่อโจทก์ถามว่า ท่านต้องอาบัติข้อนี้หรือ. ภิกษุกล่าวว่า ผมจะไปเมืองปาตลิบุตร. เมื่อโจทก์พูดซ้ำว่า ผมไม่ได้ถามถึงการไปเมืองปาตลิบุตรของคุณ. ผมถามอาบัติ. ภิกษุนั้นกล่าวว่า ต่อแต่นั้นผมจะไปพระราชมนเทียร. เมื่อโจทก์กล่าวว่า คุณจะไปพระราชมนเทียร หรือจะไปเรือนพราหมณ์ก็ตาม. คุณต้องอาบัติแล้ว. ภิกษุนั้นกล่าวคำเป็นอาทิว่า ผมจะได้เนื้อสุกรในที่นั้น พูดนอกเรื่องไป.
               บทว่า โกปํ คือ ความโกรธ.
               บทว่า โทสํ คือ ความประทุษร้าย.
               บททั้งสองนี้เป็นชื่อของความโกรธนั่นแหละ.
               บทว่า อปฺปจฺจยํ คือ อาการไม่พอใจ. บทนี้เป็นชื่อของโทมนัส.
               บทว่า ปาตุกโรติ คือ แสดงประกาศ.
               บทว่า พาหาวิกฺเขปกํ ภณติ คือ แกว่งแขนไปมาแล้วพูดคำไม่มียางอาย.
               บทว่า อนาทิยิตฺวา ความว่า ไม่เชื่อถือด้วยความเคารพ ดูหมิ่น ไม่สนใจ.
               บทว่า วิเหเสติ คือ ให้ลำบาก รำคาญ.
               บทว่า อติพาฬฺหํ คือ หนักมาก เกินขนาด.
               บทว่า มยิ พฺยาวฏา คือ ถึงความขวนขวายในเรา.
               บทว่า หีนายาวตฺติตฺวา คือ เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว คือเป็นคฤหัสถ์.
               บทว่า อตฺตมนา โหถ คือ พวกท่านจงดีใจเถิด ภิกษุนั้นกล่าวโดยความประสงค์ว่า ท่านจงได้สิ่งที่ผมควรได้เถิด. ท่านจงอยู่ในที่ที่ผมควรอยู่เถิด. ผมทำความผาสุกให้แก่พวกท่านแล้ว.
               บทว่า ทุสฺสติ คือ ประทุษร้าย.
               บทว่า นวหิ อาฆาตวตฺถูหิ - ด้วยอาฆาตวัตถุ ๙ ท่านกล่าวด้วยสามารถการเกิดในสัตว์ทั้งหลาย.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑๐-
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาฆาตวัตถุ - วัตถุเป็น
                         เหตุอาฆาตกัน ๙ อย่างเหล่านี้. อาฆาตวัตถุ ๙ อย่าง
                         เป็นไฉน?
                                   ภิกษุผูกอาฆาตว่า เขาได้ประพฤติความ
                         พินาศแก่เรา ๑
                                   เขาย่อมประพฤติความพินาศแก่เรา ๑ เขา
                         จักประพฤติความพินาศแก่เรา ๑ เขาได้ประพฤติ
                         ความพินาศแก่ผู้เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจของเรา ๑
                                   เขาย่อมประพฤติความพินาศแก่ผู้เป็นที่รัก
                         เป็นที่ชอบใจของเรา ๑
                                   เขาจักประพฤติความพินาศแก่ผู้เป็นที่รัก
                         เป็นที่ชอบใจของเรา ๑
                                   เขาได้ประพฤติประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รัก
                         ไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑
                                   เขาย่อมประพฤติประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รัก
                         ไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑
                                   เขาจักประพฤติประโยชน์แก่ผู้ไม่เป็นที่รัก
                         ไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑.
                                   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อาฆาตวัตถุ ๙ อย่าง
                         เหล่านี้แล.๑๐-
____________________________
๑๐- องฺ. นวก. เล่ม ๒๓/ข้อ ๒๓๓

               ในบทเหล่านั้นบทว่า อาฆาตวตฺถูนิ คือ เหตุแห่งความอาฆาต.
               อนึ่ง ในบทว่า อาฆาตํ นี้ ได้แก่ ความโกรธ. ความโกรธนั่นแหละ ท่านเรียกว่าอาฆาตวัตถุ เพราะเป็นวัตถุแห่งความโกรธยิ่งๆ ขึ้น.
               บทว่า อาฆาตํ พนฺธติ คือ ผูก กระทำ ให้ความโกรธเกิด.
               อาฆาตวัตถุ ๙ แม้เหล่าอื่นที่ท่านกล่าวไว้ในนิทเทสว่า๑๑-
               เขามิได้ประพฤติประโยชน์แก่เรา ๑ เขาย่อมไม่ประพฤติ ๑ เขาจักไม่ประพฤติ ๑ เขามิได้ประพฤติประโยชน์แก่ผู้เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของเรา ๑ เขาย่อมไม่ประพฤติ ๑ เขาจักไม่ประพฤติ ๑ เขามิได้ประพฤติความพินาศแก่ผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑ เขาย่อมไม่ประพฤติ ๑ เขาจักไม่ประพฤติ ๑ ดังนี้.๑๑-
               ท่านสงเคราะห์เข้าด้วยอาฆาตวัตถุ ๙ อย่างนี้เหมือนกัน.
____________________________
๑๑- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๓๘๔

               บทว่า อาฆาติโต - มุ่งร้าย คือเสียดสีกัน.
               บทว่า นววิธมาเนหิ - เพราะมานะ ๙ อย่าง.
               มานะ ๙ อย่าง เป็นไฉน?
               มานะ ๙ อย่าง คือ มานะว่าเป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา ๑ เสมอเขา ๑ เลวกว่าเขา ๑. เป็นผู้เสมอเขาสำคัญตนว่าเลิศกว่าเขา ๑ เสมอเขา ๑ เลวกว่าเขา ๑. เป็นผู้เลวกว่าเขาสำคัญตนว่า เลิศกว่าเขา ๑ เสมอเขา ๑ เลวกว่าเขา ๑. มานะ ๙ อย่างเหล่านี้.๑๒-
____________________________
๑๒- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๐๒๒

               พึงทราบความในบทนี้ดังต่อไปนี้.
               บทว่า เสยฺยสฺส เสยฺโยหมสฺมีติ มาโน - มานะว่าเป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญว่าเลิศกว่าเขา ย่อมเกิดแก่พระราชาและบรรพชิตทั้งหลาย. เพราะพระราชาย่อมทรงทำมานะนี้ว่า ใครเช่นกับเราด้วยแว่นแคว้น ทรัพย์หรือพาหนะมีอยู่.
               แม้บรรพชิตก็ทำมานะว่า ใครเช่นกับเราด้วยศีลและธุดงค์มีอยู่.
               บทว่า เสยฺยสฺส สทิโสหมสฺมีติ มาโนปิ - แม้มานะว่าเป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญว่าเสมอเขา ก็ย่อมเกิดแก่พระราชาและบรรพชิตเหล่านั้นเหมือนกัน เพราะพระราชาย่อมทรงทำมานะนี้ว่า อะไรของเราทำให้ต่างกันกับพระราชาอื่นด้วยแว่นแคว้น ทรัพย์หรือพาหนะ.
               แม้บรรพชิตก็ทำมานะนี้ว่า อะไรของเราทำให้ต่างกันกับภิกษุอื่นด้วยศีลและธุดงค์เป็นต้น.
               บทว่า เสยฺยสฺส หีโนหมสฺมีติ มาโนปิ - แม้มานะว่าเป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญว่าเลวกว่าเขา ก็ย่อมเกิดแก่พระราชาและบรรพชิตทั้งหลายเหล่านั้นเหมือนกัน. เพราะแว่นแคว้น ทรัพย์หรือพาหนะเป็นต้นของพระราชาใดยังไม่สมบูรณ์. พระราชานั้นย่อมทรงทำมานะนี้ว่า เพียงเป็นความสุขของคำพูดว่า พระราชาของเราเท่านั้น. เราจะเป็นพระราชาได้อย่างไร.
               แม้บรรพชิตมีลาภสักการะน้อย ย่อมทำมานะนี้ว่า เพียงพูดกันเท่านั้นว่า เราเป็นธรรมกถึก เป็นพหูสูต เป็นมหาเถระ. เราเป็นธรรมกถึกได้อย่างไร เป็นพหูสูต เป็นมหาเถระได้อย่างไร. ลาภสักการะมิได้มีแก่เรา.
               บทมีอาทิว่า สทิสสฺส เสยฺโยหมสฺมีติ มาโน - มานะว่าเป็นผู้เสมอเขา สำคัญว่าเลิศกว่าเขา ย่อมเกิดแก่พวกอำมาตย์เป็นต้น. เพราะอำมาตย์ก็ดี ข้าราชการก็ดี ย่อมทำมานะนี้ว่า ใครเป็นราชบุรุษอื่นเช่นกับเราด้วยโภคะ ยานและพาหนะเป็นต้นมีอยู่. อะไรของเราทำให้ต่างกันกับคนอื่น. หรือว่า ชื่อว่าอำมาตย์เท่านั้นของเรา. แม้เพียงของกินและเครื่องนุ่งห่มของเราก็ไม่มี. เราเป็นอำมาตย์ได้อย่างไรกัน.
               บทมีอาทิว่า หีนสฺส เสยฺโยหมสฺมีติ มาโน - มานะว่าเป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญว่าเลิศกว่าเขา ย่อมเกิดแก่พวกทาสเป็นต้น. เพราะทาสย่อมทำมานะนี้ว่า ใครเป็นทาสอื่นเช่นกับเรา โดยฝ่ายมารดาหรือบิดามีอยู่. คนอื่นไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เกิดเป็นทาสเพราะเหตุท้อง. แต่เราเป็นผู้เลิศกว่าเพราะมาโดยเชื้อสาย. อะไรของเราทำให้ต่างกันกับทาสโน้น ด้วยความเป็นทาสแท้ทั้งสองฝ่าย เพราะมาโดยเชื้อสาย หรือเราถึงความเป็นทาสเพราะท้อง. แต่ฐานะเป็นทาสของเราในที่สุดมารดาบิดาไม่มี. เราจะเป็นทาสได้อย่างไร. แม้คนขนหยากเยื่อและคนจัณฑาลเป็นต้น ก็ทำมานะนั้นเหมือนทาส ฉะนั้น.
               อนึ่ง ในบทนี้ มานะที่เกิดขึ้นว่า เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญว่าเลิศกว่าเขา เป็นมานะแน่นอน. อีกสองพวกนอกนี้ เป็นมานะไม่แน่นอน.
               อนึ่ง มานะที่เกิดขึ้นว่าเป็นผู้เสมอเขา สำคัญว่าเสมอเขา เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญว่าเลวกว่าเขา เป็นมานะแน่นอน. อีกสองพวกนี้ เป็นมานะไม่แน่นอน. การทำลายกิเลสด้วยอรหัตมรรค เป็นมานะแน่นอน. การทำลายกิเลสด้วยโสดาปัตติมรรค เป็นมานะไม่แน่นอน.
               บทว่า ตณฺหามูลกา - มีตัณหาเป็นมูลได้กล่าวไว้แล้ว.
               บทว่า รชฺชติ - กำหนัดอยู่. อธิบายว่า มิใช่กำหนัดด้วยราคะอย่างเดียวเท่านั้น. ที่แท้กำหนัดประกอบผูกพันด้วยอกุศลธรรมทั้งหมดมีตัณหาเป็นมูล เพราะเกิดแม้การแสวงหาเป็นต้น มีตัณหาเป็นมูล.
               บทว่า ทสหิ กิเลสวตฺถูหิ - โลกสันนิวาสเศร้าหมอง เพราะกิเลสวัตถุ ๑๐ ประการ.
               กิเลสวัตถุ ๑๐ เป็นไฉน? กิเลสวัตถุ ๑๐ เหล่านี้ คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ ทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ ถีนะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อหิริกะ ๑ อโนตตัปปะ ๑.##-
____________________________
##- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๐๒๖

               พึงทราบในบทเหล่านั้นดังต่อไปนี้
               กิเลสวัตถุ คือกิเลสนั่นเอง ที่ชื่อว่าวัตถุ เพราะกิเลสเป็นที่อยู่ของสัตว์ผู้ไม่ใช่ขีณาสพ เพราะตั้งอยู่ในโลภะเป็นต้น. ชื่อว่ากิเลสวัตถุ เพราะกิเลสเหล่านั้นเป็นที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลาย.
               อนึ่ง เพราะกิเลสทั้งหลาย แม้เกิดโดยความเป็นอนันตรปัจจัยเป็นต้น ก็ชื่อว่าย่อมอยู่เหมือนกัน. ฉะนั้นจึงชื่อว่ากิเลสวัตถุ เพราะเป็นที่อยู่ของกิเลสทั้งหลาย.
               ชื่อว่าโลภะ เพราะเป็นเหตุได้ หรือย่อมได้ด้วยตนเอง หรือเพียงได้เท่านั้น. ชื่อว่าโทสะ เพราะเป็นเหตุประทุษร้าย หรือประทุษร้ายด้วยตนเอง หรือเพียงประทุษร้ายเท่านั้น. ชื่อว่าโมหะ เพราะเป็นเหตุหลง หรือหลงด้วยตนเอง หรือเพียงความหลงเท่านั้น. ชื่อว่ามานะ เพราะสำคัญ.
               บทมี ทิฏฐิ เป็นต้นมีอรรถดังกล่าวแล้ว.
               ชื่อว่าอหิริกะ เพราะไม่ละอาย. ความเป็นผู้ไม่ละอายนั้น ชื่อว่าอหิริกะ. ชื่อว่าอโนตตัปปะ เพราะไม่เกรงกลัว. ความเป็นผู้ไม่เกรงกลัวนั้น ชื่อว่าอโนตตัปปะ.
               ในสองบทนั้น อหิริกะมีลักษณะไม่รังเกียจด้วยกายทุจริตเป็นต้น. อโนตตัปปะมีลักษณะไม่ยินดีด้วยกายทุจริตเป็นต้น.
               บทว่า กิลิสฺสติ ย่อมเศร้าหมอง คือเผาผลาญเบียดเบียน.
               บทว่า ทสหิ อาฆาตวตฺถูหิ - โลกสันนิวาสมุ่งร้ายกัน เพราะอาฆาตวัตถุ ๑๐.###-
               อาฆาตวัตถุ ๙ กล่าวไว้แล้วในตอนก่อน ด้วยอาฆาตวัตถุ ๑๐ ท่านกล่าวเพิ่มว่า อาฆาตย่อมเกิดในฐานะไม่สมควร. เพราะความอาฆาตย่อมเกิดในฐานะอันไม่สมควรมีตอและหนามเป็นต้น ไม่จัดเข้ากับบทมีอาทิว่า อนตฺถํ เม อจริ เขาได้ประพฤติความพินาศแก่เราแล้ว.
____________________________
###- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๐๒๗

               บทว่า ทสหิ อกุสลกมฺมปเถหิ - โลกสันนิวาสประกอบด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐.
               อกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นไฉน?๑๓- อกุศลกรรมบถ ๑๐ เหล่านี้ คือ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑ ปิสุณาวาจา ๑ ผรุสวาจา ๑ สัมผัปปลาปะ ๑ อภิชฌา ๑ พยาบาท ๑ มิจฉาทิฏฐิ ๑.
____________________________
๑๓- ที. ปา. เล่ม ๑๑/ข้อ ๔๗๐

               ในบทนั้นมีความดังนี้
               ชื่อว่าอกุสลกัมมบถ เพราะอกุศลกรรมเหล่านั้นเป็นทางแห่งทุคติ.
               บทว่า สมนฺนาคโต คือ มีความพรั่งพร้อม.
               บทว่า ทสหิ สญฺโญชเนหิ - โลกสันนิวาสถูกสังโยชน์ ๑๐ คล้องไว้.
               สังโยชน์ ๑๐ เป็นไฉน?๑๔- สังโยชน์ ๑๐ เหล่านี้ คือ กามราคะ ๑ ปฏิฆะ ๑ มานะ ๑ ทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ ภวราคะ ๑ อิสสา ๑ มัจฉริยะ ๑ อวิชชา ๑.
____________________________
๑๔- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๐๒๙

               บทว่า มิจฺฉตฺตา - โลกสันนิวาสดิ่งลง เพราะมิจฉัตตะได้กล่าวไว้แล้ว.
               บทว่า ทสวตฺถุกาย มิจฺฉาทิฏฺฐิยา - โลกสันนิวาสประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐.
               มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ เป็นไฉน?๑๕- มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ๑ การบวงสรวงไม่มีผล ๑ การบูชาไม่มีผล ๑ วิบากอันเป็นผลของกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี ๑ โลกนี้ไม่มี ๑ โลกหน้าไม่มี ๑ มารดาไม่มี ๑ บิดาไม่มี ๑ โอปปาติกสัตว์ไม่มี ๑ สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้โลกหน้าด้วยอภิญญา แล้วรู้ด้วยตนเอง ไม่มีในโลก ๑.
____________________________
๑๕- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๐๓๑

               ในบทเหล่านั้น บทว่า ทสวตฺถุกา ชื่อว่าวัตถุ ๑๐ เพราะมีวัตถุ ๑๐.
               บทว่า นตฺถิ ทินฺนํ คือ รู้ว่า ชื่อว่าทานที่ให้แล้ว ย่อมมีผล, สามารถให้อะไรๆ แก่ใครๆ ได้. แต่คนมิจฉาทิฏฐิถือว่าวิบากอันเป็นผลของทานที่ให้แล้วไม่มี.
               บทว่า นตฺถิ ยิฏฺฐํ คือ มหายาโค๑๖- - การบวงสรวงอย่างใหญ่ ท่านเรียกว่า ยิฏฺฐํ, รู้ว่าการบวงสรวงนั้นสามารถให้ผลได้. แต่คนมิจฉาทิฏฐิถือว่าวิบากอันเป็นผลของการบวงสรวงนั้นไม่มี.
____________________________
๑๖- มหายาโค ๕ คือ อสฺสเมโธ ปุริสเมโธ นิรคฺโค สมฺมาปาโส วาชเปยฺโย

               บทว่า หุตํ คือการทำมงคลด้วยการบูชาต้อนรับ, รู้ว่าการทำนั้นให้ผล. แต่คนมิจฉาทิฏฐิถือว่าผลอันเป็นวิบากของการบูชานั้นไม่มี.
               ในบทว่า สุกฏทุกฺกฏานํ นี้ ได้แก่ กุศลกรรม ๑๐ ชื่อว่ากรรมดี, อกุศลกรรมบถ ๑๐ ชื่อว่ากรรมชั่ว. รู้ความที่กรรมเหล่านั้นมีผล. แต่คนมิจฉาทิฏฐิถือว่า วิบากอันเป็นผลไม่มี.
               บทว่า นตฺถิ อยํ โลโก คือ คนมิจฉาทิฏฐิถือว่า ผู้ตั้งอยู่ในโลกอื่นไม่มีในโลกนี้.
               บทว่า นตฺถิ ปโร โลโก ถือว่า ผู้ตั้งอยู่ในโลกนี้ไม่มีในโลกอื่น.
               บทว่า นตฺถิ มาตา นตฺถิ ปิตา คือรู้ว่ามารดาบิดามีอยู่ แต่คนมิจฉาทิฏฐิถือว่าวิบากไรๆ อันเป็นผลด้วยปัจจัยที่ทำให้มารดาบิดาเหล่านั้นไม่มี.
               บทว่า นตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา คือ ถือว่าสัตว์ (โอปปาติกะ) จุติและเกิดไม่มี.
               บทว่า สมฺมคฺคตา สมฺมาปฏิปนฺนา คือ ถือว่าสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติปฏิทาอันสมควรไม่มีในโลก.
               บทว่า เย อิมญฺจ โลกํ ปรญฺจ โลกํ สยํ อภิญฺญาย สจฺฉิกตฺวา ปเวเทนฺติ คือ ถือว่าพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระสัพพัญญูสามารถรู้โลกนี้และโลกหน้าด้วยพระญาณอันประเสริฐด้วยพระองค์เอง แล้วทรงประกาศไม่มี.
               บทว่า อนฺตคฺคาหิกาย ทิฏฺฐิยา - โลกสันนิวาสประกอบด้วยอันตคาหิกทิฏฐิคือทิฏฐิถือเอาที่สุด. ชื่อว่าอันตคาหิกะ เพราะถือเอาส่วนสุดอย่างหนึ่งๆ มีอาทิว่าโลกเที่ยง.
               อีกอย่างหนึ่ง การถือเอาที่สุด ชื่อว่าอันตคาหะ. ชื่อว่าอันตคาหิกะ เพราะทิฏฐิมีการถือเอาที่สุด. ด้วยการถือเอาที่สุดนั้น. อันตคาหิกทิฏฐินั้นท่านกล่าวไว้แล้ว
               บทว่า อฏฺฐสตตณฺหาปปญฺจสเตหิ - โลกสันนิวาสต้องเนิ่นช้าเพราะตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้า ๑๐๘ ชื่อว่า อฏฺฐสตํ. ชื่อว่า ปปญฺโจ เพราะให้เนิ่นช้าในสังสารวัฏ คือให้อยู่นาน.
               ตัณหานั่นแหละเครื่องให้เนิ่นช้าจึงชื่อว่า ตณฺหาปปญฺโจ. ตัณหาเครื่องให้เนิ่นช้าหนึ่งร้อย ท่านทำให้เป็นพหุวจนะ เพราะตัณหามีมากโดยประเภทแห่งอารมณ์และด้วยการเกิดบ่อยๆ จึงชื่อว่า ตณฺหาปปญฺจสตํ.
               ด้วยเหตุนั้น เมื่อควรจะกล่าวว่า ตณฺหาปปญฺจสเตน ด้วยความคลาดเคลื่อนของวจนะ ท่านจึงทำนิทเทสเป็นพหุวจนว่า ตณฺหาปปญฺจสเตหิ. พึงเห็นอรรถแห่งบทว่า ตณฺหาปปญฺจสเตน ด้วยตัณหาเครื่องทำให้เนิ่นช้าร้อยหนึ่ง คือ อฏฺฐสตํ - ๑๐๘.
               พึงทราบว่า ท่านถือเอา ๑๐๐ เท่านั้น เพราะทำ ๘ เป็นอัพโพหาริกคือมีเหมือนไม่มี.
               บทว่า ตณฺหาวิจริตานิ มาในขุททกวัตถุวิภังค์.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑๗-
                         ตัณหาวิจริต ภายใน ๑๘ ภายนอก ๑๘ รวม
               เป็นตัณหาวิจริต ๓๖ อดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ ปัจจุบัน
               ๓๖ รวมเป็นตัณหาวิจริต ๑๐๘.
____________________________
๑๗- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๐๗๑

               อนึ่ง ในขุททกวัตถุวิภังค์นี้ ท่านกล่าวตัณหาเป็นเครื่องให้เนิ่นช้าว่า ตัณหาวิจริต.
               อธิบายว่า ความเป็นไปแห่งตัณหา เพราะประพฤติอยู่ในตัณหา.
               บทว่า อชฺฌตฺติกสฺส อุปาทาย คือ หมายถึงขันธปัญจกภายใน.
               บทนี้เป็นฉัฏฐีวิภัตติลงในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ.
               ส่วนความพิสดารของบทนั้น พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในนิทเทสแห่งขุททกวัตถุวิภังค์นั้น. แต่ในนิทเทสนี้ พึงทราบนัยอย่างอื่น.
               ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ๑ ภวตัณหา ๑ วิภวตัณหา ๑ มีรูปเป็นอารมณ์อย่างเดียว.
               อนึ่ง ตัณหา ๑๘ ในอารมณ์ ๖ มีเสียงเป็นต้นเป็นอารมณ์. ตัณหามีอารมณ์ภายใน ๑๘ ภายนอก ๑๘ รวมเป็นตัณหา ๓๖. ตัณหาเหล่านั้นมีอารมณ์ในอดีต ๓๖ อารมณ์ในอนาคต ๓๖ อารมณ์ในปัจจุบัน ๓๖ รวมเป็นตัณหาวิจริต ๑๐๘.
               บทว่า ปปญฺจิโต คือ ต้องเนิ่นช้า อยู่นานในอารมณ์หรือในสังสารวัฏ.
               บทว่า ทฺวาสฏฺฐิยา ทิฏฺฐิคเตหิ - โลกสันนิวาสถูกทิฏฐิ ๖๒ กลุ้มรุม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสทิฏฐิ ๖๒ ไว้ในเวยยากรณภาษิตในพรหมชาลสูตร เป็นไฉน?๑๘- ทิฏฐิ ๖๒ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในเวยยากรณภาษิต ในพรหมชาลสูตรมีดังนี้ คือ สัสสตวาทะ - วาทะว่าเที่ยง ๔, เอกัจจสัสสตวาทะ-วาทะว่าเที่ยง ๔, อันตานันติกวาทะ - วาทะว่ามีที่สุดและไม่มีที่สุด ๔, อมราวิกเขปิกวาทะ - วาทะปฏิเสธสิ้นเชิง ๔, อธิจจสมุปปันนิกวาทะ - วาทะที่เชื่อถือไม่ได้ ๒, สัญญีวาทะ - วาทะมีสัญญา ๑๖, อสัญญีวาทะ - วาทะไม่มีสัญญา ๘, เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ - วาทะว่ามีสัญญาก็หามิได้ ไม่มีสัญญาก็หามิได้ ๘, อุจเฉทวาทะ - วาทะว่าสูญ ๗, ทิฏฐธรรมนิพพานวาทะ - วาทะว่านิพพานมีในปัจจุบัน ๕.
____________________________
๑๘- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๑๐๗๒

               ส่วนความพิสดารในนิทเทสนี้ พึงทราบนัยดังกล่าวแล้วในพรหมชาลสูตรนั่นแหละ.
               บทว่า อหญฺจมฺหิ ติณฺโณ - เราเป็นผู้ข้ามได้แล้ว. คือ เราเป็นผู้ข้ามโอฆะ ๔ หรือสมุทรคือสังสารวัฏได้แล้ว.
               บทว่า มุตฺโต - เราเป็นผู้พ้นแล้ว คือพ้นจากเครื่องผูกมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า ทนฺโต - เราทรมานได้แล้ว คือหมดพยศไม่ดิ้นรนแล้ว.
               บทว่า สนฺโต - เราเป็นผู้สงบแล้ว คือมีความเยือกเย็น.
               บทว่า อสฺสตฺโถ - เราเป็นผู้เบาใจ คือได้ความปลอดโปร่งด้วยเห็นนิพพาน.
               บทว่า ปรินิพฺพุโต - เราเป็นผู้ดับรอบแล้ว คือดับรอบด้วยการดับกิเลส.
               บทว่า ปโหมิ คือ เราเป็นผู้สามารถ.
               บทว่า โข เป็นนิบาตลงในอรรถแห่งเอกังสะ คือส่วนเดียว.
               ปเร จ ศัพท์ในบทนี้ว่า ปเร จ ปรินิพฺพาเปตํ เพื่อให้ผู้อื่นดับรอบด้วย พึงประกอบแม้ด้วยบทมีอาทิว่า ปเร จ ตาเรตํ เพื่อให้ผู้อื่นข้ามพ้นไปด้วย.


               จบอรรถกถามหากรุณาญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา มหากรุณาสมาปัตติญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [๑] [๒]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 284อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 285อ่านอรรถกถา 31 / 286อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=3164&Z=3247
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=351
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=351
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :