ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 85อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 86อ่านอรรถกถา 31 / 92อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
สีลมยญาณนิทเทส

หน้าต่างที่ ๓ / ๔.

               [๘๗-๘๘] บัดนี้ เพื่อแยกแสดงศีลอย่างหนึ่งๆ ออกเป็น ๕ ส่วนในศีล ๒ หมวด คือ ปริยันปาริสุทธิศีล - ศีลบริสุทธิ์มีที่สุด ๑ อปริยันตปาริสุทธิศีล - ศีลบริสุทธิ์ไม่มีที่สุด ๑ พระสารีบุตรจึงกล่าวบทมีอาทิว่า อตฺถิ สีลํ ปริยนฺตํ, อตฺถิ สีลํ อปริยนฺตํ ศีลมีที่สุดก็มี, ศีลไม่มีที่สุดก็มี.
               ก็ในศีล ๒ อย่างนั้น ไม่มีความต่างกันอย่างนั้นในศีล ๓ อย่าง.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า ลาภปริยนฺตํ - ศีลมีที่สุดเพราะลาภ คือ ชื่อว่า ลาภปริยนฺตํ เพราะศีลมีที่สุด คือขาดเพราะลาภ.
               แม้บทที่เหลือก็อย่างนี้.
               ในบทว่า ยโส นี้ ได้แก่ บริวาร.
               บทว่า อิธ คือ ในโลกนี้.
               บทว่า เอกจฺโจ คือ คนหนึ่ง.
               บทว่า ลาภเหตุ - เพราะเหตุแห่งลาภ คือ ลาภนั่นแลเป็นเหตุ, เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าว ลาภเหตุโต - เพราะเหตุแห่งลาภ.
               บทนี้เป็นปัญจมีวิภัตติลงในอรรถว่า เหตุ.
               บทว่า ลาภปจฺจยา ลาภการณา เป็นไวพจน์ของบทว่า ลาภเหตุนั้นนั่นแล.
               ความจริง ผลนั้นย่อมมาถึงเพราะอาศัยเหตุนั่นแล เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปจฺจโย, และเหตุทำให้เกิดผล เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า การณํ.
               บทว่า ยถาสมาทินฺนํ - ตามที่ตนสมาทาน ได้แก่ ล่วงคือประพฤติล่วงสิกขาบทที่ตนสมาทานคือถือไว้แล้ว.
               บทว่า เอวรูปานิ คือ มีสภาพอย่างนี้. อธิบายว่า มีประการดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า สีลานิ คือ จะเป็นศีลของคฤหัสถ์ก็ตาม ศีลของบรรพชิตก็ตาม, ศีลหนึ่งข้อในข้อต้นหรือข้อสุดท้ายขาด ชื่อว่า ขณฺฑานิ - ศีลขาด ดุจผ้าสาฎกขาดในที่สุด.
               ศีลข้อหนึ่งขาดในท่ามกลาง ชื่อว่า ฉิทฺทานิ - ศีลทะลุ ดุจผ้าสาฎกถูกเจาะในท่ามกลาง.
               ศีลข้อสองหรือข้อสามขาดไปตามลำดับ ชื่อว่า สพลานิ - ศีลด่าง ดุจแม่โคมีสีที่ตัวอย่างใดอย่างหนึ่งมีดำและแดงเป็นต้น โดยมีสีไม่เหมือนกันมีสัณฐานยาวและกลมเป็นต้น ตั้งขึ้นที่หลังหรือที่ท้อง.
               ศีลข้อหนึ่งๆ ในระหว่างๆ ขาด ชื่อว่า กมฺมาสานิ - ศีลพร้อย ดุจแม้โคมีสีเป็นจุดๆ ไม่เหมือนกันในระหว่างๆ.
               ศีลแม้ทั้งหมด ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย เพราะเมถุนสังโยค - การประกอบพร้อมด้วยเมถุน ๗ อย่าง และเพราะถูกธรรมลามกมี โกรธและผูกโกรธไว้เป็นต้น ทำลายเสีย.
               ศีลเหล่านั้น ชื่อว่า น ภุชิสฺสานิ - ไม่เป็นไทย โดยไม่ปล่อยให้เป็นไทย เพราะเป็นทาสแห่งตัณหา.
               ศีลทั้งหลาย ชื่อว่า น วิญฺญุปฺปสฏฺฐานิ - อันวิญญูชนไม่สรรสริญ เพราะวิญญูชนมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ไม่สรรเสริญ.
               ชื่อว่า ปรามฏฺฐานิ เพราะตัณหาและทิฏฐิจับต้องแล้ว, หรือเพราะใครๆ สามารถจะจับได้ว่า นี้เป็นโทษในศีลของท่าน,
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อสมาธิสํวตฺตนิกานิ - ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ เพราะไม่พึงทำให้มรรคสมาธิหรือผลสมาธิเป็นไปได้. ปาฐะว่า น สมาธิสํวตฺตนิกานิ ดังนี้บ้าง ความอย่างเดียวกัน.
               ส่วนอาจารย์บางพวกพรรณนาความไว้อย่างนี้ว่า ชื่อว่า ขณฺฑานิ เพราะไม่เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย, แม้ชื่อว่า ฉิทฺทานิ ก็อย่างนั้น. ชื่อว่า สพลานิ เพราะมีสีต่างๆ กัน, แม้ชื่อว่า กมฺมาสานิ ก็อย่างนั้น. ชื่อว่า น ภุชิสฺสานิ เพราะถึงความเป็นทาสของตัณหา. ชื่อว่า น วิญฺญุปฺปสฏฐานิ เพราะถูกผู้ฉลาดติเตียน. ชื่อว่า ปรามฏฺฐานิ เพราะถูกตัณหาจับต้อง. ชื่อว่า อสมาธิสํวตฺตนิกานิ เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน.
               บทว่า น อวิปฺปฏิสารวตฺถุกานิ - เป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน. ความว่า เป็นที่ตั้งแห่งความไม่เดือดร้อนหามิได้ เพราะนำมาซึ่งความเดือดร้อน.
               บทว่า น ปามุชฺชวตฺถุกานิ - ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความปราโมทย์. ความว่า ไม่เป็นที่ตั้งแห่งปีติอย่างอ่อนอันไม่เกิดความเดือดร้อน เพราะไม่นำปีติอย่างอ่อนนั้นมา. แม้ในบทที่เหลือก็พึงประกอบอย่างนี้.
               บทว่า น ปีติวตฺถุกานิ - ไม่เป็นที่ตั้งแห่งปีติ. ความว่า ไม่เป็นที่ตั้งแห่งปีติอย่างแรงอันเกิดแต่ปีติอย่างอ่อน.
               บทว่า น ปสฺสทฺธิวตฺถุกานิ - ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความระงับ. ความว่า ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความระงับกายและจิตอันเกิดแต่ปีติอย่างแรง
               บทว่า น สุขวตฺถุกานิ - ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความสุข. ความว่า ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความสุขทางกายและทางใจอันเกิดแต่ความสงบ.
               บทว่า น สมาธิวตฺถุกานิ - ไม่เป็นที่ตั้งแห่งสมาธิ. ความว่า ไม่เป็นที่ตั้งแห่งสมาธิอันเกิดแต่ความสุข.
               บทว่า น ยถาภูตญาณทสฺสนวตฺถุกานิ - ไม่เป็นที่ตั้งแห่งยถาภูตญาณทัสนะ. ความว่า ไม่เป็นที่ตั้งแห่งยถาภูตญาณทัสนะอันเป็นปทัฏฐานแห่งสมาธิ.
               ในบทมีอาทิว่า น เอกนฺตนิพฺพิทาย - ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว พึงนำ อักษรมาประกอบแม้ในบทที่เหลือโดยนัยมีอาทิว่า น วิราคาย - ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด,
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะมี อักษรในบทมีอาทิว่า น วิราคาย.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า เอกนฺตนิพฺพิทาย พึงทราบความเชื่อมว่า ศีลทั้งหลายย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายในวัฏฏะโดยส่วนเดียว.
               แม้ในบทที่เหลือก็พึงประกอบอย่างนี้.
               บทว่า วิราคาย คือ เพื่อความคลายกำหนัดในวัฏฏะ.
               บทว่า นิโรธาย คือ เพื่อความดับแห่งวัฏฏะ.
               บทว่า อุปสมาย คือ เพื่อความสงบแห่งวัฏฏะด้วยความไม่เกิดอีกแห่งวัฏฏะที่ดับแล้ว.
               บทว่า อภิญฺญาย คือ เพื่อความรู้ยิ่งแห่งวัฏฏะ.
               บทว่า สมฺโพธาย - เพื่อความตรัสรู้ คือ เพื่อความตื่นจากวัฏฏะโดยปราศจากการหลับคือกิเลส.
               บทว่า นิพฺพานาย คือ เพื่อนิพพานอันเป็นอมตะ.
               บทว่า ยถาสมาทินฺนํ สิกฺขาปทํ วีติกฺกมาย - เพื่อล่วงสิกขาบทตามที่ตนสมาทานไว้ ในบทนี้ท่านประกอบเป็นทุติยาวิภัตติด้วยวิภัตติวิปลาส.
               บทว่า จิตฺตมฺปิ น อุปฺปาเทติ แม้ความคิดก็ใช่ให้เกิดขึ้น ท่านกล่าวเพื่อแสดงความที่ศีลบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ด้วยความบริสุทธิ์แห่งจิตตุปบาท. ศีลมิใช่ขาดไปด้วยเพียงจิตตุปบาท.
               บทว่า กึ โส วีติกฺกมิสฺสติ เขาจักล่วงสิกขาบทได้อย่างไรเล่า คือเขาจักทำการล่วงเพื่ออะไร, อธิบายว่า เขาจักไม่ทำการล่วงนั่นเอง.
               บทมีอาทิว่า อขณฺฑานิ พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามดังที่กล่าวแล้วในหนหลัง.
               ปาฐะว่า น ขณฺฑานิ บ้าง.
               ในบทมีอาทิว่า เอกนฺตนิพฺพิทาย พึงประกอบโดยนัยมีอาทิว่า เอกนฺเตน วฏฺเฏ นิพฺพินฺนตฺถาย เพื่อความเบื่อหน่ายในวัฏฏะโดยส่วนเดียว.
               อนึ่ง ในบทเหล่านี้ บทว่า นิพฺพิทาย ได้แก่ วิปัสสนา.
               บทว่า วิราคาย ได้แก่ มรรค.
               บทว่า นิโรธาย อุปสมาย ได้แก่ นิพพาน.
               บทว่า อภิญฺญาย สมฺโพธาย ได้แก่ มรรค.
               บทว่า นิพฺพานาย ได้แก่ นิพพาน เท่านั้น.
               พึงทราบกถาที่ยังไม่ชัดอย่างนี้ว่า ท่านกล่าวว่า วิปัสสนาในฐานะ ๑, มรรคในฐานะ ๒, นิพพานในฐานะ ๓. แต่โดยปริยายบททั้งหมดเหล่านี้เป็นไวพจน์ของมรรคบ้าง เป็นไวพจน์ของนิพพานบ้าง.
               [๘๙] บัดนี้ พระสารีบุตรครั้นแสดงประเภทของศีลที่มีอยู่ด้วยมีที่สุดและไม่มีที่สุดแล้ว เพื่อแสดงประเภทของศีลโดยสัมปยุตด้วยธรรม ด้วยชาติ ด้วยปัจจัยต่อไป จึงกล่าวบทมีอาทิว่า กึ สีลํ - อะไรเป็นศีลดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น ชื่อว่า สมุฏฺฐานํ เพราะมีวิเคราะห์ว่าศีลเป็นเหตุตั้งขึ้น.
               บทนี้เป็นชื่อของปัจจัย.
               ชื่อว่า กึ สมุฏฺฐานํ เพราะมีวิเคราะห์ว่า ศีลมีอะไรเป็นสมุฏฐาน.
               ชื่อว่า กติธมฺมสโมธานํ เพราะมีวิเคราะห์ว่า ศีลเป็นที่ประชุมเป็นที่ประมวลแห่งธรรมอะไร.
               บทว่า เจตนา สีลํ - เจตนาเป็นศีล. ความว่า เจตนาของผู้เว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น หรือของผู้บำเพ็ญวัตรปฏิบัติ.
               บทว่า เจตสิกํ สีลํ - เจตสิกเป็นศีล. ความว่า การเว้นของผู้เว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง เจตนาชื่อว่าเป็นศีล ได้แก่ เจตนาในกรรมบถ ๗ ของผู้เว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น.
               เจตสิกชื่อว่าเป็นศีล ได้แก่ ธรรมคืออนภิชฌา อัพยาบาทและสัมมาทิฏฐิที่ท่านกล่าวไว้ โดยนัยมีอาทิว่า อภิชฺฌํ โลเก ปหาย วิคตาภิชฺเฌน เจตสา วิหรติ๑- - ภิกษุละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌาอยู่.
____________________________
๑- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๒๕

               ในบทว่า สํวโร สีลํ ความสำรวมเป็นศีลนี้ พึงทราบความสำรวมมี ๕ อย่าง คือ ปาติโมกขสังวร - ความสำรวมในปาติโมกข์ ๑ สติสังวร - ความสำรวมในสติ ๑ ญาณสังวร - ความสำรวมในญาณ ๑ ขันติสังวร - ความสำรวมในขันติ ๑ วีริยสังวร - ความสำรวมในความเพียร ๑.
               ในความสำรวม ๕ อย่างนั้นภิกษุเข้าถึง เข้าถึงเสมอด้วยความสำรวมในปาติโมกข์นี้ นี้ชื่อว่าปาติโมกขสังวร.๒-
               ภิกษุรักษาจักขุนทรีย์, ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์นี้ ชื่อว่าสติสังวร.๓-
____________________________
๒- อภิ. วิ เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๐๒  ๓- องฺ. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๔๕๕

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า๔-
                         ยานิ โสตานิ โลกสฺมึ  สติ เตสํ นิวารณํ
                         โสตานํ สํวรํ พฺรูมิ     ปญฺญาเยเต ปิถิยฺยเร.
                         ดูก่อนอชิตะ สติเป็นเครื่องห้ามกระแสในโลก
                         เรากล่าวการสำรวมกระแสเหล่านั้น บัณฑิต
                         พึงปิดกั้นกระแสเหล่านี้ด้วยปัญญา.
____________________________
๔- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๒๕

               นี้ชื่อว่าญาณสังวร.
               แม้การเสพเฉพาะปัจจัย ก็ย่อมเข้าในบทนี้ด้วยเหมือนกัน.
               ความสำรวมมาแล้วโดยนัยมีอาทิว่า๕- ขโม โหติ สีตสฺส อุณฺหสฺส - ภิกษุเป็นผู้อดทนต่อความหนาวความร้อน นี้ชื่อว่าขันติสังวร.
               ความสำรวมมาแล้วโดยนัยมีอาทิว่า๖- อุปฺปนฺนํ กามวิตกฺกํ นาธิวาเสติ - ภิกษุอดกลั้นกามวิตกที่เกิดขึ้น นี้ชื่อว่าวีริยสังวร.
               แม้อาชีพบริสุทธิ์ก็รวมเข้าในบทนี้ด้วยเหมือนกัน.
               ความสำรวม ๕ อย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๕- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๕  ๖- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๗

               อนึ่ง เจตนาเว้นจากวัตถุที่มาถึงของกุลบุตรผู้กลัวบาป, พึงทราบว่าทั้งหมดนั้นเป็นสังวรศีล.
               บทว่า อวีติกฺกโม สีลํ - ความไม่ก้าวล่วงเป็นศีล ได้แก่ ความไม่ก้าวล่วงทางกายและทางวาจาของผู้สมาทานศีล.
               นี้เป็นการแก้ปัญหาว่า กึ สีลํ อะไรเป็นศีลไว้เพียงนี้ก่อน.
               ในการแก้ปัญหาว่า กติ สีลานิ - ศีลมีเท่าไร เพราะปกติของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ ในโลก ท่านกล่าวว่า สีลํ ไว้ในบทนี้ว่า กุสลสีลํ - กุศลเป็นศีล อกุสลสีลํ - อกุศลเป็นศีล อพฺยากตสีลํ - อัพยากฤตเป็นศีล,
               อาจารย์ทั้งหลายกล่าวหมายถึงศีลว่า นี้เป็นสุขศีล - ความสุขเป็นศีล นี้เป็นทุกขศีล - ความทุกข์เป็นศีล นี้เป็นกลหศีล - การทะเลาะกันเป็นศีล นี้เป็นมัณฑนศีล - การตบแต่งเป็นศีล. ฉะนั้นโดยปริยายนั้น แม้อกุสลศีล ท่านก็กล่าวว่าเป็นศีลด้วยการยกเอาความขึ้น แต่ศีลที่ท่านประสงค์เอาในที่นี้ไม่มีเพราะบาลีว่า สุตฺวาน สํวเร ปญฺญา - ปัญญาในการฟังแล้วสำรวม ดังนี้.
               อนึ่ง เพราะจิตที่สัมปยุตเป็นสมุฏฐานของศีลอันเป็นประเภทมีเจตนาเป็นต้น, ฉะนั้นพระสารีบุตรจึงกล่าวบทมีอาทิว่า กุสลจิตตสมุฏฺฐานํ กุสลสีลํ - กุศลศีลมีกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน,
               บทว่า สํวรสโมธานํ สีลํ - ศีลเป็นที่ประชุมแห่งสังวร ได้แก่ขันธ์สัมปยุตด้วยความสำรวม.
               จริงอยู่ ขันธ์เหล่านั้นมาพร้อมกับด้วยความสำรวม ท่านจึงกล่าวว่า มิสฺสีภูตา - เป็นสิ่งปนกัน สํวรสโมธานํ - เป็นที่ประชุมแห่งสังวร.
               แม้ศีลเป็นที่ประชุมแห่งการไม่ก้าวล่วง ก็พึงทราบอย่างนี้.
               บทว่า ตถาภาเว ชาตเจตนา สโมธานํ สีลํ - ศีลเป็นที่ประชุมแห่งเจตนาอันเกิดในความเป็นอย่างนั้น ได้แก่ ขันธ์อันสัมปยุตด้วยเจตนาอันเกิดในความสำรวม ในความไม่ก้าวล่วง.
               อนึ่ง ท่านประสงค์เอาธรรมสัมปยุตด้วยเจตนานั้น ในเจตนาแม้ทั้ง ๓, ฉะนั้นพึงทราบว่า ท่านไม่ชี้แจงศีลเป็นที่ประชุมแห่งเจตสิกไว้ต่างหากกัน เพราะแม้เจตสิกท่านก็สงเคราะห์ด้วยการประชุมแห่งเจตนา. ธรรมทั้งหลายมีเจตนาเป็นต้น ท่านกล่าวว่า สีลํ ไว้ในภายหลังแล้ว.
               พึงทราบว่า ท่านกล่าวติกะนี้เพื่อแสดงว่า ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ศีลอย่างเดียว, แม้ธรรมสัมปยุตด้วยศีลนั้นก็เป็นศีลเหมือนกัน.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา สีลมยญาณนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 85อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 86อ่านอรรถกถา 31 / 92อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=951&Z=1087
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=4865
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=4865
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :