ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 84อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 85อ่านอรรถกถา 31 / 86อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
มัคคสัจนิทเทส

หน้าต่างที่ ๓ / ๔.

               พึงทราบวินิจฉัยในสัมมาสมาธินิทเทสดังต่อไปนี้
               บทว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ - สงัดจากกาม ได้แก่ สงัด เว้น หลีกจากกามทั้งหลาย.
               พึงทราบว่า เอวศัพท์ในบทนี้มีความว่า แน่นอน. เพราะเอวศัพท์มีความว่าน่นอน ฉะนั้น พระสารีบุตรแสดงถึงความที่กามแม้ไม่มีอยู่ในขณะเข้าถึงปฐมฌาน เป็นปฏิปักษ์ของปฐมฌานนั้น และการบรรลุปฐมฌานนั้นด้วยการสละกามนั่นเอง.
               อย่างไร?
               เพราะเมื่อทำความแน่นอนอย่างนี้ว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ ปฐมฌานนี้ ย่อมปรากฏ, กามทั้งหลายเป็นปฏิปักษ์ของฌานนี้แน่นอน, เมื่อยังมีกามอยู่ฌานนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้, เหมือนเมื่อความมืดยังมีอยู่ แสงประทีปก็ยังส่องไปไม่ได้. การบรรลุฌานนั้นด้วยการสละกามเหล่านั้น เหมือนการถึงฝั่งนอกด้วยการสละฝั่งใน, ฉะนั้นจึงทำความแน่นอน.
               ในบทนั้นพึงมีคำถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวการบรรลุนี้ไว้ในบทก่อน, ไม่กล่าวไว้ในบทหลังเล่า, ภิกษุแม้ไม่สงัดจากอกุศลธรรม ก็ยังจะเข้าฌานได้หรือ?
               ข้อนั้นไม่ควรเห็นอย่างนั้น. เพราะท่านกล่าวการบรรลุนั้นไว้แล้วในบทก่อน เพราะการสลัดออกจากกามนั้น.
               อนึ่ง ฌานนี้เป็นการสลัดออกไปแห่งกามทั้งหลาย เพราะก้าวล่วงกามธาตุ และเพราะเป็นปฏิปักษ์ของกามราคะ.
               ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑- กามานเมตํ นิสฺสรณํ ยทิทํ เนกฺขมฺมํ - เนกขัมมะเป็นการสลัดออกจากกามทั้งหลาย.
               แม้ในบทหลังก็พึงกล่าวเหมือนอย่างที่ท่านนำ เอวอักษรมากล่าวไว้ในบทนี้ว่า๒- อิเธว ภิกฺขเว สมโณ, อิธ ทุติโย สมโณ - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะมีในศาสนานี้เท่านั้น, สมณะที่สองก็มีในศาสนานี้.
____________________________
๑- ขุ. อิติ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๒๕๐  ๒- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๑๕๔

               เพราะไม่สงัดจากอกุศลธรรมอันได้แก่นิวรณ์ แม้อื่นจากนี้ก็ไม่อาจเข้าฌานได้, ฉะนั้น พึงเห็นความแม้ในสองบทอย่างนี้ว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ วิวิจฺเจว อกุสเลหิ - สงัดจากกามนั่นแล สงัดจากอกุศลนั่นแลดังนี้.
               ตทังควิเวก วิกขัมภนวิเวก สมุจเฉทวิเวก ปฏิปัสสัทธิวิเวก นิสสรณวิเวกและจิตตวิเวก กายวิเวก อุปธิวิเวก ย่อมสงเคราะห์ด้วยคำทั่วไปนี้ว่า วิวิจฺจ ก็จริง แม้ถึงอย่างนั้นก็พึงเห็นกายวิเวก จิตตวิเวก วิกขัมภนวิเวก ในส่วนเบื้องต้นด้วย, พึงเห็นกายวิเวก จิตตวิเวก สมุจเฉทวิเวก ปฏิปัสสัทธิวิเวก และนิสสรณวิเวก ในขณะแห่งโลกุตรมรรคด้วย.
               ก็ด้วยบทว่า กาเมหิ นี้ ท่านกล่าวถึงวัตถุกามไว้ในมหานิทเทส โดยนัยมีอาทิว่า๓- กตเม วตฺถุกามา มนาปิกา รูปา - วัตถุกามมีรูปที่น่าพอใจเป็นไฉน
               และท่านกล่าวถึงกิเลสกามไว้ในวิภังค์นั้น อย่างนี้ว่า๓- ฉนฺโท กาโม ราโค กาโม ฉนฺทราโค กาโม, สงฺกปฺโป กาโม ราโค กาโม, สงฺกปฺปราโค กาโม - ฉันทะเป็นกาม ราคะเป็นกาม ฉันทราคะเป็นกาม สังกัปปะเป็นกาม ราคะเป็นกาม สังกัปปราคะเป็นกาม.
               พึงเห็นว่า ท่านสงเคราะห์กามเหล่านั้นไว้ทั้งหมด.
____________________________
๓- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๒

               เมื่อเป็นอย่างนี้ บทว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ ความว่า สงัดจากวัตถุกามนั่นแลสมควร. ด้วยบทนั้น เป็นอันท่านกล่าวถึงกายวิเวก.
               บทว่า วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ - สงัดจากอกุศลธรรม ความว่า สงัดจากกิเลสกามหรืออกุศลทั้งหมด ดังนี้ สมควร. ด้วยบทนั้นเป็นอันท่านกล่าวถึงจิตตวิเวก.
               อนึ่ง ในสองบทนี้ ด้วยบทต้นเป็นอันเจริญการสละกามสุข เพราะคำว่า สงัดจากวัตถุกาม, ด้วยบทที่สองเป็นอันเจริญการกำหนดเนกขัมมสุข เพราะคำว่า สงัดจากกิเลสกาม.
               อนึ่ง เพราะคำว่า สงัดจากวัตถุกามและกิเลสกาม พึงทราบว่า ด้วยบทต้น เป็นอันเจริญการละวัตถุอันเศร้าหมอง, ด้วยบทที่สอง เป็นอันเจริญละความเศร้าหมอง.
               ด้วยบทที่หนึ่ง เป็นอันเจริญการสละเหตุแห่งความโลเล, ด้วยบทที่สอง เป็นอันเจริญการสละเหตุแห่งความเป็นพาล,
               และด้วยบทที่หนึ่ง เป็นอันเจริญความบริสุทธิ์ด้วยความเพียร, ด้วยบทที่สอง เป็นอันเจริญความกล่อมเกลาอัธยาศัย.
               ในบรรดากามทั้งหลายที่ท่านกล่าวไว้ในบทว่า กาเมหิ นี้มีนัยเดียวกันในฝ่ายวัตถุกาม.
               พึงทราบวินิจฉัยในฝ่ายกิเลสกามดังต่อไปนี้
               กามฉันทะมีหลายประเภทด้วยบทมีอาทิอย่างนี้ว่า ฉันทะและราคะ ท่านประสงค์เอาว่า กาม. กามนั้นแม้นับเนื่องในอกุศล ท่านก็กล่าวไว้ต่างหากในวิภังค์ โดยนัยมีอาทิว่า๔- กามเป็นไฉน? ฉันทะเป็นกาม. เพราะเป็นปฏิปักษ์ขององค์ฌานเบื้องบน หรือท่านกล่าวไว้ในบทก่อน เพราะเป็นกิเลสกาม. ท่านกล่าวไว้ในบทที่สอง เพราะนับเนื่องในอกุศล.
               อนึ่ง ท่านไม่กล่าวว่า กามโต - จากกาม เพราะกามนั้นมีหลายประเภท จึงกล่าวว่า กาเมหิ - จากกามทั้งหลาย.
               เมื่อธรรมแม้เหล่าอื่นเป็นอกุศลยังมีอยู่ ท่านกล่าวนิวรณ์ทั้งหลายไว้ในวิภังค์ โดยนัยมีอาทิว่า๔- อกุศลธรรมเป็นไฉน? กามฉันทะเป็นอกุศลธรรม. เพราะความเป็นข้าศึกและเป็นปฏิปักษ์ต่อองค์ฌานเบื้องบน.
____________________________
๔- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๖๕๑

               จริงอยู่ นิวรณ์เป็นข้าศึกต่อองค์ฌาน, องค์ฌานเป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์เหล่านั้น. ท่านอธิบายว่า กำจัด ทำให้พินาศ.
               ท่านกล่าวไว้ในปิฏกว่า สมาธิเป็นปฏิปักษ์ต่อกามฉันทะ, ปีติเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาบาท, วิตกเป็นปฏิปักษ์ต่อถีนมิทธะ, สุขเป็นปฏิปักษ์ต่ออุทธัจจกุกกุจจะ, วิจารเป็นปฏิปักษ์ต่อวิจิกิจฉา ดังนี้.
               ในบทนี้ ด้วยบทว่า วิวิจฺเจว กาเมหิ เป็นอันท่านกล่าวถึงความสงัดด้วยการข่มกามฉันทะ, ด้วยบทว่า วิวิจฺจ อกุสเลหิ ธมฺเมหิ นี้เป็นอันท่านกล่าวถึงการข่มนิวรณ์ทั้ง ๕.
               ก็ด้วยการถือเอาแล้วไม่ถือเอาอีก เป็นอันท่านกล่าวถึงความสงัด ด้วยการข่มกามฉันทะด้วยฌานที่ ๑, เป็นอันท่านกล่าวถึงความสงัด ด้วยการข่มนิวรณ์ที่เหลือด้วยฌานที่ ๒.
               อนึ่ง ท่านกล่าวถึงความสงัด ด้วยการข่มโลภะอันเป็นที่ตั้งของกามคุณ ๕ ในอกุศลมูล ๓ ด้วยฌานที่ ๑, ท่านกล่าวถึงความสงัด ด้วยการข่มโทสะ โมหะ อันเป็นที่ตั้งของประเภทแห่งอาฆาตวัตถุเป็นต้นด้วยฌานที่ ๒.
               หรือในธรรมทั้งหลายมีโอฆะเป็นต้น ท่านกล่าวถึงความสงัดด้วยการข่มกาโมฆะ กามโยคะ กามาสวะ กามุปาทาน อภิชฌากายคันถะ และกามราคสังโยชน์ด้วยฌานที่หนึ่ง, ท่านกล่าวถึงความสงัด ด้วยการละโอฆะ โยคะ อาสวะ อุปาทาน คันถะและสังโยชน์ที่เหลือด้วยฌานที่ ๒.
               ท่านกล่าวถึงความสงัดด้วยการข่มกิเลสอันสัมปยุตด้วยตัณหา ด้วยฌานที่ ๑, ท่านกล่าวความสงัดด้วยการข่มกิเลสอันสัมปยุตด้วยอวิชชา ด้วยฌานที่ ๒.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงความสงัดด้วยการข่มจิตตุปบาท ๘ ดวงอันสัมปยุตด้วยโลภะ ด้วยฌานที่ ๑, ท่านกล่าวถึงความสงัดด้วยการข่มจิตตุปบาทที่เป็นอกุศล ๔ ดวงที่เหลือด้วยฌานที่ ๒.
               ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระสารีบุตรครั้นแสดงองค์แห่งการละฌานที่ ๑ แล้ว บัดนี้เพื่อแสดงองค์แห่งการประกอบร่วมกัน จึงกล่าวบทมีอาทิว่า สวิตกฺกํ สวิจารํ - มีวิตกวิจาร ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น วิตกมีลักษณะยกจิตไว้ในอารมณ์. วิจารมีลักษณะคลุกเคล้าอารมณ์.
               อนึ่ง เมื่ออารมณ์เหล่านั้นยังไม่ออกไปในที่ไหนๆ วิตก คืออารมณ์ที่เกาะจิตเป็นครั้งแรก ด้วยอรรถว่าเป็นอารมณ์หยาบ และด้วยอรรถไปถึงก่อนดุจเคาะระฆัง, วิจาร คืออารมณ์ที่ผูกพันอยู่กับจิต ด้วยอรรถว่าเป็นอารมณ์ละเอียดและมีสภาพคลุกเคล้าด้วยจิต ดุจเสียงครางของระฆัง.
               อนึ่ง วิตกมีการกระจายไปในอารมณ์ ในขณะเกิดครั้งแรกทำให้จิตสั่นสะเทือน ดุจนกประสงค์จะบินไปบนอากาศกระพือปีก, และดุจภมรตามกลิ่นหอมบินมุ่งไปเกาะที่ดอกบัวฉะนั้น. วิจารมีความเป็นไปอย่างสงบ ไม่ทำจิตให้สั่นสะเทือนดุจนกที่บินขึ้นไปบนอากาศเหยียดปีก ออกไป และดุจภมรเกาะที่ดอกบัวเคล้าอยู่บนดอกบัวฉะนั้น.
               ก็ในอรรถกถาทุกนิบาตท่านกล่าวไว้ว่า วิตกเป็นไปด้วยการยกจิตไว้ในอารมณ์ ดุจนกใหญ่ไปในอากาศเอาปีกทั้งสองจับลมไว้แล้ว ทำให้ปีกทั้งสองสงบเงียบบินไป, วิจารเป็นไปด้วยความคลุกเคล้าอารมณ์ ดุจนกกระพือปีกเพื่อจับลมแล้วจึงบินไปฉะนั้น. วิจารย่อมสมควรในการ เป็นไปด้วยความผูกพันอารมณ์นั้น.
               ส่วนความแตกต่างวิตกวิจารนั้นปรากฏในฌานที่ ๑ และฌานที่ ๒.
               อีกอย่างหนึ่ง วิตกเหมือนมือที่จับแน่นของคนผู้จับภาชนะสำริดที่สนิมกัดด้วยมือข้างหนึ่งแน่น. แล้วขัดด้วยแปรงทำด้วยหางสัตว์จุ่มน้ำมันผสมผงละเอียดด้วยมืออีกข้างหนึ่ง, วิจารเหมือนมือที่ขัด.
               อนึ่ง วิตกเหมือนมือที่บังคับของช่างหม้อผู้ใช้ไม้หมุนล้อทำภาชนะ, วิจารเหมือนมือที่เลื่อนไปข้างโน้นข้างนี้.
               อนึ่ง วิตกยกจิตไว้ในอารมณ์เหมือน กณฺฏโก - หนามที่เสียบไว้ท่ามกลางของผู้ทำวงกลม, วิจารการคลุกเคล้าอารมณ์เหมือนหนามที่หมุนอยู่ภายนอก.
               ปฐมฌานย่อมเป็นไปกับด้วยวิตกและวิจาร เหมือนต้นไม้ย่อมเป็นไปกับด้วยดอกไม้และผลไม้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวฌานนี้ว่า สวิตกฺกํ สวิจารํ ดังนี้.
               ในบทว่า วิเวกชํ นี้ ความสงัด คือวิเวก ความว่าปราศจากนิวรณ์.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิเวก เพราะอรรถว่าสงัด, ได้แก่ หมวดธรรมสัมปยุตด้วยฌาน สงัดจากวิเวก.
               เพราะฉะนั้น ชื่อว่า วิเวกชํ เพราะอรรถว่าเกิดจากวิเวกหรือเกิดในวิเวกนั้น.
               ในบทว่า ปีติสุขํ นี้ ชื่อว่าปีติ เพราะอรรถว่าอิ่มใจ,
               ปีตินั้นมีลักษณะอิ่มเอิบ. ปีตินั้นมี ๕ อย่าง คือ
                         ขุททกาปีติ - ปีติอย่างน้อย ๑.
                         ขณิกาปีติ - ปีติชั่วขณะ ๑.
                         โอกกันติกาปีติ - ปีติเป็นพักๆ ๑.
                         อุพเพงคาปีติ - ปีติอย่างโลดโผน ๑.
                         ผรณาปีติ - ปีติซาบซ่าน ๑.
               ในปีติเหล่านั้น บทว่า ขุทฺทกาปีติ ได้แก่ เมื่อเกิดขึ้นสามารถทำเพียงให้ขนชันในร่างกายเท่านั้น.
               บทว่า ขณิกาปีติ ได้แก่ เมื่อเกิดขึ้นเช่นกับสายฟ้าแลบเป็นพักๆ.
               บทว่า โอกฺกนฺติกาปีติ ได้แก่ เมื่อเกิดขึ้นทำร่างกายให้ซู่ซ่าแล้วหายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง.
               บทว่า อุพฺเพงฺคาปีติ ได้แก่ ปีติมีกำลังทำให้กายลอยขึ้นไปถึงกับโลดขึ้นไปบนอากาศชั่วระยะหนึ่ง.
               บทว่า ผรณาปีติ ได้แก่ ปีติมีกำลังยิ่ง.
               จริงอยู่ เมื่อปีตินั้นเกิด สรีระทั้งสิ้นสั่นสะเทือนดุจปัสสาวะเต็มกระเพาะ และหลืบภูเขาที่ยื่นออกไปทางห้วงน้ำใหญ่.
               ปีติ ๕ อย่างนั้นถือเอาซึ่ง คพฺภํ - ท้องถึงการแก่รอบแล้ว ย่อมยังปัสสัทธิ ๒ อย่าง คือ กายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิให้บริบูรณ์. ปีตินั้นถือเอาซึ่งท้องแห่งปัสสัทธิถึงการแก่รอบแล้ว ย่อมยังสุขแม้ ๒ อย่าง คือ กายิกสุขและเจตสิกสุขให้บริบูรณ์.
               สุขนั้นถือเอาท้องคือครรภ์ ถึงการแก่รอบแล้ว ย่อมยังสมาธิ ๓ อย่าง คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิให้บริบูรณ์.
               ในปีติเหล่านั้น ปีติที่ท่านประสงค์เอาในอรรถนี้ ได้แก่ผรณาปีติซึ่งเป็นเหตุของอัปปนาสมาธิเจริญงอกงามอยู่ ถึงความประกอบพร้อมแห่งสมาธิ.
               อนึ่ง บทต่อไป ชื่อว่า สุขํ เพราะอรรถว่าให้ถึงสุข.
               อธิบายว่า ปีติเกิดแก่ผู้ใด ย่อมทำผู้นั้นให้ถึงสุข.
               อีกอย่างหนึ่ง ความสบายชื่อว่า สุขํ, ธรรมชาติใดย่อมเคี้ยวกินดีและการทำลายความเบียดเบียนทางกายและจิต ชื่อว่า สุขํ, บทนี้เป็นชื่อของโสมนัสสเวทนา.
               ความสุขนั้นมีลักษณะเป็นความสำราญ. แม้เมื่อปีติและสุขยังไม่พรากไปในที่ไหนๆ ความยินดีในการได้อารมณ์ที่น่าปรารถนาเป็นปีติ, การเสวยรสที่ได้แล้วเป็นสุข.
               ปีติมีในที่ใด ความสุขย่อมมีในที่นั้น. ความสุขมีในที่ใด ปีติโดยความแน่นอนย่อมไม่มีในที่นั้น, ปีติสงเคราะห์เข้าในสังขารขันธ์, สุขสงเคราะห์เข้าในเวทนาขันธ์.
               ปีติเหมือนในการได้เห็นได้ฟังว่ามีน้ำอยู่ชายป่าของผู้ที่เหน็ดเหนื่อยในทางกันดาร, สุขเหมือนในการเข้าไปอาศัยในเงาป่าและการดื่มน้ำ.
               พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงบทนี้เพราะความปรากฏในสมัยนั้นๆ. ปีตินี้และสุขนี้มีอยู่แก่ฌานนั้น หรือมีอยู่ในฌานนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวฌานนี้ว่า ปีติสุขํ ดังนี้.
               อีกอย่างหนึ่ง ปีติและสุข ชื่อว่า ปีติสุขํ เหมือนธรรมและวินัยเป็นต้น, ปีติสุขเกิดแต่วิเวก ย่อมมีแก่ฌานนั้น หรือมีในฌานนั้น เพราะเหตุนั้น ปีติสุขจึงเกิดแต่วิเวกด้วยประการฉะนี้. แม้ปีติสุขในญาณนี้ก็เกิดแต่วิเวกเท่านั้น เช่นเดียวกับฌาน.
               อนึ่ง ปีติสุขมีแก่ฌานนั้น เพราะฉะนั้น การทำเป็นอโลปสมาส - สมาสที่ไม่ลบวิภัตติ แล้วกล่าวว่า วิเวกชํ ปีติสุขํ - ปีติสุขเกิดแต่วิเวก ดังนี้ โดยบทเดียวเท่านั้น สมควร.
               บทว่า ปฐมํ ชื่อว่าปฐม เพราะตามลำดับของการนับ, ชื่อว่าปฐม เพราะอรรถว่าเกิดก่อนบ้าง.
               บทว่า ฌานํ ฌานมี ๒ อย่าง คือ อารัมณูนิฌาน - เพ่งอารมณ์ และลักขณูนิฌาน - เพ่งลักษณะ.
               ในฌาน ๒ อย่างนั้น สมาบัติ ๘ เข้าไปเพ่งอารมณ์มีปฐวีกสิณเป็นต้น ชื่อว่าอารัมมณูนิชฌาน. วิปัสสนามรรคและผล ชื่อว่าลักขณูปนิชฌาน.
               ในวิปัสสนามรรคและผลเหล่านั้น วิปัสสนาชื่อว่าลักขณูปนิชฌาน เพราะเข้าไปเพ่งซึ่งลักษณะมีอนิจลักษณะเป็นต้น, มรรคชื่อว่าลักขณูปนิชฌาน เพราะกิจทำด้วยวิปัสสนาสำเร็จด้วยมรรค, ส่วนผลชื่อว่าลักขณูปนิชฌาน เพราะอรรถว่าเข้าไปเพ่งนิโรธสัจอันเป็นลักษณะที่จริงแท้.
               ในฌานทั้งสองนั้น ในส่วนเบื้องต้นนี้ ท่านประสงค์เอาอารัมมณูปนิชฌาน.
               ในขณะแห่งโลกุตรมรรค ท่านประสงค์เอาลักขณูปนิชฌาน, เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ชื่อว่าฌาน เพราะเข้าไปเพ่งอารมณ์, เข้าไปเพ่งลักขณะ และเข้าไปเพ่งธรรมเป็นข้าศึก.
               บทว่า อุปสมฺปชฺช คือ เข้าถึง. อธิบายว่า บรรลุแล้ว.
               อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เข้าไปถึงแล้ว คือให้สำเร็จแล้ว.
               บทว่า วิหรติ ได้แก่ เป็นผู้มีความพร้อมด้วยฌานมีประการดังกล่าวแล้ว ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่ในอิริยาบถอันเหมาะสม ควรแก่ฌานนั้น ยังความเป็นไปแห่งอัตภาพให้สำเร็จ.
               ในบทว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา - เพราะวิตกวิจารสงบไปนี้ คือเพราะองค์ฌานสองอย่างนี้ คือวิตกและวิจาร สงบคือก้าวล่วง,
               อธิบายว่า เพราะไม่ปรากฏในขณะทุติยฌาน.
               ในบทนั้น ธรรมคือปฐมฌานแม้ทั้งหมดไม่มีในทุติยฌานก็จริง, แต่ผัสสะเป็นต้นเหล่าอื่นในปฐมฌานยังมีอยู่, ในทุติยฌานนี้ไม่มี.
               พึงทราบว่า ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา เพื่อแสดงว่า การบรรลุทุติยฌานเป็นต้นเหล่าอื่นจากปฐมฌาน ย่อมมีได้เพราะก้าวล่วงองค์หยาบๆ.
               ในบทว่า อชฺฌตฺตํ ในภายในนี้ ท่านประสงค์เอาภายในของตน เพราะฉะนั้นจึงเกิดในตน. อธิบายว่า เกิดในสันดานของตน.
               บทว่า สมฺปสาทนํ อันเป็นความผ่องใส ศรัทธา ท่านกล่าวว่าเป็นความผ่องใส. แม้ฌานก็เป็นความผ่องใส เพราะประกอบด้วยความเชื่อ เหมือนผ้าสีเขียวเพราะย้อมด้วยสีเขียว.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะฌานนั้นเป็นความผ่องใสแห่งจิต เพราะประกอบด้วยความเชื่อและเพราะสงบ ความกำเริบของวิตกวิจาร, ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า สมฺปสาทนํ.
               ในอรรถวิกัปนี้ พึงทราบการเชื่อมบทอย่างนี้ว่า สมฺปสาทนํ เจตโส - ความผ่องใสแห่งจิต.
               ส่วนในอรรถวิกัปก่อน พึงประกอบบทว่า เจตโส นี้ กับด้วยศัพท์ เอโกทิภาวะ - ความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น.
               พึงทราบการแก้อรรถในบทว่า เอโกทิภาวะ นั้นดังต่อไปนี้
               ชื่อว่า เอโกทิ เพราะอรรถว่าเป็นธรรมเอกเกิดขึ้น. อธิบายว่า ทุติยฌานเป็นธรรมเลิศประเสริฐผุดขึ้น เพราะไม่มีวิตกวิจารเกิดขึ้นภายใน.
               จริงอยู่ แม้บุคคลที่ประเสริฐ ท่านก็เรียกว่าเป็นเอกในโลก. หรือควรจะกล่าวว่าทุติยฌานเป็นธรรมเอก ไม่มีสอง เพราะเว้นจากวิตกวิจารดังนี้บ้าง.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อุทิ เพราะเกิดขึ้นในสัมปยุตธรรม. คือยังสัมปยุตธรรมให้เกิดขึ้น.
               ชื่อว่า เอโกทิ เพราะอรรถว่าเป็นธรรมเอกเกิดขึ้น ด้วยอรรถว่าประเสริฐที่สุด. บทนี้เป็นชื่อของสมาธิ. ทุติยฌานนี้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะยังทุติยฌานเป็นธรรมเอกผุดขึ้นให้เจริญงอกงาม.
               อนึ่ง เพราะ เอโกทิ นี้เป็นธรรมเอกเกิดขึ้นแก่จิต มิใช่แก่สัตว์ มิใช่แก่ชีวะ. ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เจตโส เอโกทิภาวํ - ความเป็นธรรมเอกเกิดขึ้นแก่จิต.
               ศรัทธานี้แม้ในปฐมฌานก็มี.
               อนึ่ง สมาธินี้มีชื่อว่า เอโกทิ มิใช่หรือ, เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวว่า สมฺปสาทนํ เจตโส เอโกทิภาวํ - ทุติยฌานอันเป็นการผ่องใสแห่งจิต เป็นธรรมเอกผุดขึ้น.
               แก้ว่า เพราะปฐมฌานนั้นยังไม่ผ่องใสดีด้วยวิตกวิจารกำเริบ เหมือนน้ำกำเริบด้วยลูกคลื่น, ฉะนั้น แม้เมื่อมีศรัทธา ท่านก็ไม่กล่าวว่า สมฺปสาทนํ - เป็นความผ่องใส.
               อนึ่ง แม้สมาธิในปฐมฌานนี้ก็ไม่ปรากฏด้วยดีเพราะไม่ผ่องใส, เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่กล่าวว่า เอโกทิภาวํ.
               อนึ่ง ในฌานนี้ศรัทธามีกำลังได้โอกาส เพราะไม่มีความพัวพันด้วยวิตกและวิจาร, ศรัทธามีกำลังสมาธิก็ปรากฏ เพราะได้เพื่อนนั่นเอง. เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า บทนี้ ท่านจึงกล่าวไว้อย่างนี้.
               บทว่า อวิตกฺกํ อวิจารํ - ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร. ชื่อว่า อวิตกฺกํ เพราะอรรถว่าวิตกไม่มีในฌานนี้หรือแก่ฌานนี้ เพราะละได้ด้วยภาวนา. ชื่อว่า อวิจารํ ก็โดยนัยนี้เหมือนกัน.
               ในบทนี้ พระสารีบุตรกล่าวว่า แม้ด้วยบทนี้ว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา - เพราะวิตกวิจารสงบ ก็สำเร็จความนี้แล้วมิใช่หรือ, เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรท่านจึงกล่าวว่า อวิตกฺกํ อวิจารํ อีกเล่า.
               แก้ว่า เป็นอย่างนั้นแน่นอน. สำเร็จความนี้แล้ว, แต่บทนี้ยังไม่แสดงความข้อนั้น, เราได้กล่าวไว้แล้วมิใช่หรือว่าท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า อวิตกฺกวิจารานํ วูปสมา เพื่อแสดงว่าการบรรลุทุติยฌานเป็นต้นอื่นจากปฐมฌาน เพราะก้าวล่วงองค์หยาบๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบ ฌานนี้จึงเป็นความผ่องใส, มิใช่ผ่องใสเพราะการสะสมของกิเลส,
               อนึ่ง มิใช่เพราะความปรากฏแห่งองค์ดุจปฐมฌาน เพราะเหตุนั้น คำกล่าวนี้จึงแสดงถึงเหตุแห่งการเข้าทุติยฌานเป็นความผ่องใสเป็นธรรมเอกผุดขึ้นอย่างนี้.
               อนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบ ฌานนี้จึงไม่มีวิตกวิจาร, มิใช่เพราะไม่มีดุจตติยฌานและจตุตถฌาน และจักขุวิญญาณเป็นต้น. เพราะเหตุนั้น คำกล่าวนี้จึงแสดงเหตุของความไม่มีวิตกวิจารอย่างนี้. มิใช่แสดงเพียงความไม่มีวิตกวิจาร, แต่คำกล่าวนี้ว่า อวิตกฺกํ อวิจารํ แสดงเพียงความไม่มีวิตกวิจารเท่านั้น. เพราะฉะนั้น แม้กล่าวไว้ก่อนแล้วก็ควรกล่าวอีกได้.
               บทว่า สมาธิชํ - เกิดแต่สมาธิ. อธิบายว่า ทุติยฌานเกิดแต่สมาธิในปฐมฌานหรือแต่สมาธิที่ถึงพร้อมแล้ว.
               ในบทนั้น แม้ปฐมฌานเกิดแต่สมาธิที่ถึงพร้อมแล้วก็จริง ถึงดังนั้น สมาธินี้แลควรจะกล่าวว่าสมาธิได้ เพราะไม่หวั่นไหวนัก และเพราะยังไม่ผ่องใสด้วยดีโดยที่วิตกวิจารยังกำเริบ. เพราะฉะนั้น เพื่อพรรณนาถึงคุณของฌานนี้ ท่านจึงกล่าวว่า สมาธิชํ.
               บทว่า ปีติสุขํ นี้ มีนัยดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า ทุติยํ คือ ฌานที่สองตามลำดับของการนับ, ชื่อ ทุติยํ เพราะเกิดครั้งที่สองบ้าง.
               บทว่า ปีติยา จ วิราคา - อนึ่ง เพราะปีติสิ้นไป. ความว่า การเกลียดหรือการก้าวล่วงปีติมีประการดังกล่าวแล้ว ชื่อว่าวิราคะ,
                ศัพท์ในระหว่างสองบทนั้นเป็นสัมปิณฑนัตถะ ลงในอรรถว่ารวม.
                ศัพท์นั้นย่อมรวมความสงบ หรือวิตกวิจารสงบเข้าด้วยกัน. เพราะปีติสิ้นไปในขณะที่รวมความสงบไว้ได้นั่นเอง, อย่างไรก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พึงทราบการประกอบอย่างนี้ว่า วูปสมา จ ดังนี้.
               อนึ่ง การสิ้นไปแห่งปีติที่ประกอบไว้นี้ มีความว่าน่าเกลียด, เพราะฉะนั้น พึงเห็นความนี้ว่า เพราะน่าเกลียดและก้าวล่วงปีติ, เพราะปีติสิ้นไปในขณะรวมความสงบแห่งวิตกวิจารไว้, อย่างไรก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพึงทราบการประกอบอย่างนี้ว่า เพราะวิตกวิจารสงบดังนี้.
               การสิ้นปีติที่ประกอบไว้นี้ มีความว่าก้าวล่วง, เพราะฉะนั้น พึงเห็นความอย่างนี้ว่า เพราะปีติก้าวล่วงไป และเพราะวิตกวิจารสงบ.
               วิตกวิจารเหล่านี้สงบแล้วในทุติยฌานก็จริง, แต่ถึงดังนั้น เพื่อแสดงมรรคและเพื่อพรรณนาคุณของฌานนี้ ท่านจึงกล่าวบทนี้ไว้.
               จริงอยู่ เมื่อท่านกล่าวว่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมา ฌานนี้ย่อมปรากฏว่ามรรคของฌานนี้มีวิตกวิจารสงบโดยแน่นอน.
               อนึ่ง เหมือนอย่างว่า ท่านกล่าวถึงการละไว้อย่างนี้ว่า๕- ปญฺจนฺนํ โอรมฺภาคิยานํ สํโยชนานํ ปหานา - เพราะละสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ดังนี้ เป็นการพรรณนาคุณของ[การละ]กิเลสมีสักกายทิฏฐิเป็นต้น แม้ไม่ละในอริยมรรคที่ ๓,
               เพื่อบรรลุถึงฌานนั้น การพรรณนาคุณของฌานนั้น ย่อมให้เกิดอุตสาหะ เพื่อความขวนขวายต่อไปฉันใด, ท่านกล่าวถึงความสงบของวิตกวิจาร แม้ยังไม่สงบไว้ในบทนี้ ก็เป็นการพรรณนาคุณฉันนั้นเหมือนกัน.
____________________________
๕- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๒๕๒

               ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวความนี้ไว้ว่า ปีติยา จ สมติกฺกมา วิตกฺกวิจารานญฺจ วูปสมา - ก้าวล่วงปีติและสงบวิตกวิจารดังนี้.
               ในบทว่า อุเปกฺขโก จ วิหรติ ภิกษุเป็นผู้มีอุเบกขานี้มีความดังต่อไปนี้.
               ชื่อว่า อุเปกฺขา เพราะอรรถว่าเห็นโดยบังเกิดขึ้น. อธิบายว่า เห็นเสมอ คือเป็นผู้ไม่ตกไปในพรรค เห็นอยู่. เป็นผู้มีความพร้อมในตติยฌาน เพราะประกอบด้วยอุเบกขานั้น อันบริสุทธิ์ไพบูลย์ มีกำลัง ท่านจึงกล่าวว่า อุเปกฺขโก - เป็นผู้มีอุเบกขา.
               อุเบกขามี ๑๐ อย่าง คือ ฉฬังคุเบกขา ๑ พรหมวิหารุเบกขา ๑ โพชฌังคุเบกขา ๑ วีริยุเบกขา ๑ สังขารุเบกขา ๑ เวทนุเบกขา ๑ วิปัสสนุเบกขา ๑ ตัตรมัชฌัตตุเบกขา ๑ ฌานุเบกขา ๑ ปาริสุทธุเบกขา ๑.
               ในอุเบกขาเหล่านั้น ฉฬังคุเบกขาคืออุเบกขาอันเป็นอาการของความไม่ละความเป็นปรกติอันบริสุทธิ์ ในคลองอารมณ์ ๖ ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาในทวาร ๖ ของพระขีณาสพที่มาอย่างนี้ว่า๖- อิธ ภิกฺขเว ขีณาสโว ภิกฺขุ รูปํ ทิสฺวา เนว สุมโน โหติ น ทุมฺมโน, อุเปกฺขโก จ วิหรติ สโต สมฺปชาโน - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุขีณาสพในศาสนานี้ เห็นรูปแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ, เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ.
               พรหมวิหารุเบกขา คืออุเบกขาอันเป็นอาการของความเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลายที่มาแล้วอย่างนี้ว่า๗- อุเปกฺขาสหคเตน เจตสา เอกํ ทิสํ ผริตฺวา วิหรติ - ภิกษุมีจิตสหรคตด้วยอุเบกขาแผ่ไปยังทิศหนึ่งอยู่.
               โพชฌังคุเบกขา คืออุเบกขาอันเป็นอาการของความเป็นกลางของธรรมอันเกิดร่วมกันที่มาแล้วอย่างนี้ว่า๘- อุเปกฺขาสมฺโพชฺฌงฺคํ ภาเวติ วิเวกนิสฺสิตํ - ภิกษุเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อาศัยวิเวก.
____________________________
๖- องฺ. ฉกฺก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๒๗๒  ๗- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๓๘๔
๘- ม. ม. เล่ม ๑๓/ข้อ ๓๓๘

               วีริยุเบกขา คืออุเบกขาอันได้แก่ความเพียรไม่ย่อหย่อนด้วยการปรารภถึงความไม่เที่ยงที่มาแล้วอย่างนี้ว่า๙- กาเลน กาลํ อุเปกฺขานิมิตฺตํ มนสิกโรติ - ภิกษุใส่ใจถึงอุเบกขานิมิตตลอดกาล.
               สังขารุเบกขา คือ อุเบกขาอันเป็นกลางในความไม่ยึดถือการดำรงอยู่ในความพิจารณานิวรณ์เป็นต้นอันมาแล้วอย่างนี้ว่า๑๐- กติ สงฺขารุเปกฺขา สมถวเสน อุปฺปชฺชนฺติ, กติ สงฺขารุเปกฺขา วิปสฺสนาวเสน อุปฺปชฺชนฺติ, อฏฺฐ สงฺขารุเปกฺขา สมถวเสน อุปฺปชฺชนฺติ, ทส สงฺขารุเปกฺขา วิปสฺสนาวเสน อุปฺปชฺชนฺติ - สังขารุเบกขาย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะเท่าไร, สังขารุเบกขาย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนาเท่าไร, สังขารุเบกขา ๘ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจสมถะ, สังขารุเบกขา ๑๐ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสสนา.
               เวทนุเบกขา คืออุเบกขาที่ไม่รู้ทุกข์ไม่รู้สุขอันมาแล้วอย่างนี้ว่า๑๑- ยสฺมึ สมเย กามาวจรํ กุสลํ จิตฺตํ อุปฺปนฺนํ โหติ อุเปกฺขาสหคตํ - สมัยใด จิตเป็นกามาวจรกุศลสหรคตด้วยอุเบกขาเกิดขึ้น.
____________________________
๙- อง. ติก. เล่ม ๒๐/ข้อ ๕๔๒  ๑๐- ขุ. ป. เล่ม ๓๑/ข้อ ๑๓๓
๑๑- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๓๕

               วิปัสสนุเบกขา คืออุเบกขาที่เป็นกลางในการค้นคว้า อันมาแล้วอย่างนี้ว่า๑๒- ยทตฺถิ ยํ ภูตํ, ตํ ปชหติ, อุเปกฺขํ ปฏิลภติ - ภิกษุย่อมละสิ่งที่มีที่เป็น ย่อมได้อุเบกขา.
               ตัตรมัชฌัตตุเบกขา คืออุเบกขาที่นำสหชาตธรรมไปเสมอ อันมาในเยวาธรรมมีฉันทะเป็นต้น.
               ฌานุเบกขา คืออุเบกขาอันยังธรรมที่ไม่ตกไปในฝักฝ่ายให้เกิดในฌานนั้น แม้เป็นสุขอย่างเลิศ อันมาแล้วอย่างนี้ว่า๑๓- อุเปกฺขโก จ วิหรติ - ภิกษุผู้มีอุเบกขาอยู่.
               ปาริสุทธุเบกขา คืออุเบกขาอันไม่ขวนขวายแม้ในความสงบจากธรรมเป็นข้าศึก บริสุทธิ์จากธรรมเป็นข้าศึกทั้งหมด อันมาแล้วอย่างนี้ว่า๑๔- อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ จตุตฺถํ ฌานํ - ภิกษุเข้าจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์.
____________________________
๑๒- ม. อุ. เล่ม ๑๔/ข้อ ๙๐  ๑๓- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๑๒๘
๑๔- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๑๔๖

               ในอุเบกขาเหล่านั้น ฉฬังคุเบกขา พรหมวิหารุเบกขา โพชฌังคุเบกขา ตัตรมัชฌัตตุเบกขา ฌานุเบกขาและปาริสุทธุเบกขา โดยอรรถเป็นอย่างเดียวกัน, คือเป็นตัตรมัชฌัตตุเบกขา. แต่อุเบกขานั้นต่างกันโดยความต่างแห่งความไม่คงที่ ดุจความต่างของคน แม้คนหนึ่งโดยเป็นกุมาร เป็นหนุ่ม เป็นเถระ เป็นเสนาบดี เป็นพระราชาเป็นต้น.
               เพราะฉะนั้น พึงทราบว่าในอุเบกขาเหล่านั้น ฉฬังคุเบกขามีอยู่ในฌานใด, ในฌานนั้นไม่มีโพชฌังคุเบกขาเป็นต้น, หรือว่าในฌานใดมีโพชฌังคุเบกขา ในฌานนั้นไม่มีฉฬังคุเบกขาเป็นต้น.
               ความเป็นอย่างเดียวกัน โดยอรรถของอุเบกขาเหล่านั้นฉันใด, แม้ของสังขารุเบกขาและวิปัสสนานุเบกขาก็ฉันนั้น.
               จริงอยู่ อุเบกขานั้นคือปัญญานั่นเอง, โดยกิจแยกออกเป็นสองอย่าง.
               เหมือนอย่างว่า บุรุษเมื่อจะจับงูที่เลื้อยเข้าไปยังเรือน ในเวลาเย็นแสวงหาไม้ตีนแพะ เห็นงูนั้นนอนอยู่ที่ห้องเล็ก จึงมองดูว่า งูหรือไม่ใช่งู, ครั้นเห็นเครื่องหมาย ๓ แฉกก็หมดสงสัย ความเป็นกลางในสืบเสาะดูว่า งู, ไม่ใช่งู, ย่อมเกิดขึ้นฉันใด
               เมื่อภิกษุเจริญวิปัสสนาเห็นไตรลักษณ์ด้วยวิปัสสนาญาณ ความเป็นกลางในการค้นหาไตรลักษณ์มีความไม่เที่ยงเป็นต้นของสังขารย่อมเกิดขึ้นฉันนั้น นี้คือวิปัสสนุเบกขา.
               อนึ่ง เมื่อบุรุษนั้นเอาไม้ตีนแพะจับงูจนมั่น คิดว่าทำอย่างไร๑๕- เราจะไม่ทำร้ายงูนี้ และจะไม่ให้งูนี้กัดตนพึงปล่อยไป แล้วหาวิธีที่จะปล่อยงูไป ในขณะจับนั้น ย่อมมีความเป็นกลางฉันใด, ความเป็นกลางในการยึดถือสังขารของภิกษุผู้เห็นภพ ๓ ดุจเห็นไฟติดทั่วแล้ว เพราะเห็นไตรลักษณ์ก็ฉันนั้น นี้คือสังขารุเบกขา.
               เมื่อวิปัสสนุเบกขาสำเร็จแล้ว แม้สังขารุเบกขาก็เป็นอันสำเร็จแล้วด้วยประการฉะนี้.
____________________________
๑๕- กินฺตาหํ อิมํ สปฺปํ อวิเหเฐนฺโต...

               อนึ่ง ด้วยบทนี้ อุเบกขานี้แบ่งเป็นสองส่วนโดยกิจ กล่าวคือความเป็นกลางในการพิจารณาและการจับ.
               ส่วนวิริยุเบกขาและเวทนุเบกขา โดยอรรถยังต่างกันอยู่ คือ เป็นของต่างซึ่งกันและกัน และยังต่างจากอุเบกขาที่เหลือ.
               อนึ่ง ในอธิการนี้ พระสารีบุตรกล่าวว่า
                         มชฺฌตฺตพฺรหฺมโพชฺฌงฺค-   ฉฬงฺคฌานสุทฺธิโย
                         วิปสฺสนา จ สงฺขาร-   เวทนา วิริยํ อิติ ฯ
                         วิตถารโต ทโสเปกฺขา   ฉมชฺฌตฺตาทิโต ตโต
                         ทุเว ปญฺญา ตโต ทฺวีหิ   จตสฺโส ว ภวนฺติมาติ ฯ (๑)
# ๑. สี. ภวนฺติ จาติ ฯ
                                   อุเบกขา ๑๐ โดยพิสดาร คือ มัชฌัตตุเบกขา
                         พรหมวิหารุเบกขา โพชฌังคุเบกขา ฉฬังคุเบกขา
                         ฌานุเบกขา ปาริสุทธุเบกขา วิปัสสนุเบกขา
                         สังขารุเบกขา เวทนุเบกขา และวิริยุเบกขา, จาก
                         นั้นมีมัชฌัตตุเบกขาเป็นต้น ๖ จากปัญญุเบกขา
                         อย่างละ ๒ รวมเป็น ๔.
               ในอุเบกขาเหล่านั้น ในที่นี้ ท่านประสงค์เอาฌานุเบกขา. ฌานุเบกขานั้นมีลักษณะเป็นกลาง.
               ในอธิการนี้ พระสารีบุตรกล่าวว่า อุเบกขานี้โดยอรรถย่อมเป็นตัตรมัชฌัตตุเบกขามิใช่หรือ.
               อนึ่ง อุเบกขานั้นมีอยู่แม้ในปฐมฌานและทุติยฌาน, เพราะเหตุนั้นแม้ในฌานนั้นก็ควรกล่าวถึงอุเบกขาอย่างนี้ว่า อุเปกฺขโก จ วิหรติ,
               เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่กล่าวถึงอุเบกขานั้นเล่า?
               เพราะความไม่เฉียบแหลมเป็นกิจ. กิจในฌานนั้นของภิกษุนั้น ชื่อว่าความไม่เฉียบแหลม เพราะถูกวิตกเป็นต้นครอบงำ, แต่ในอธิการนี้ อุเบกขานี้มีความเฉียบแหลมเป็นกิจ เพราะไม่ถูกวิตก วิจาร ปีติครอบงำ ดุจเงยศีรษะขึ้น, เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้.
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในบทนี้ว่า สโต จ สมฺปชาโน ดังต่อไปนี้
               ชื่อว่า สโต เพราะระลึกได้. ชื่อว่า สมฺปชาโน เพราะรู้พร้อม.
               สติและสัมปชัญญะท่านกล่าวโดยบุคคล.
               ในบทนั้น สติมีความระลึกได้เป็นลักษณะ. สัมปชัญญะมีความไม่หลงเป็นลักษณะ.
               สติสัมปชัญญะนี้มีอยู่แม้ในปุริมฌานก็จริง ถึงดังนั้นผู้มีสติลุ่มหลง ไม่มีสัมปชัญญะ สติสัมปชัญญะแม้เพียงอุปจารก็ยังไม่สมบูรณ์ จะพูดไปทำไมถึงอัปปนา. เพราะสติสัมปชัญญะหยาบ คติแห่งจิตของบุรุษย่อมเป็นสุข ดุจในภูมิแห่งฌานเหล่านั้น, ความไม่เฉียบแหลม มีสติสัมชัญญะในคตินั้นเป็นกิจ.
               ก็เพราะฌานนี้ละเอียดโดยละองค์อย่างหยาบเสีย พึงปรารถนาคติแห่งจิตอย่างนี้ กำหนดสติสัมปชัญญะเป็นกิจ ดุจบุรุษปรารถนาคติในคมมีดฉะนั้น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ในที่นี้.
               อะไรเล่ายิ่งไปกว่านั้น เหมือนลูกโคเข้าไปหาแม่โค ถูกนำออกไปจากแม่โค ไม่ได้รับการดูแล จึงเข้าไปหาแม่โคอีกฉันใด สุขในตติยฌานนี้ก็ฉันนั้น ถูกนำออกจากปีติอันสติสัมชัญญะไม่รักษา พึงเข้าไปหาปีติอีก, สุขในตติยฌานพึงสัมปยุตด้วยปีตินั่นแล. สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีแม้ในความสุข, ความสุขนี้มีรสหวานชื่นยิ่งนัก เพราะไม่มีสุขยิ่งไปกว่านั้น.
               เพื่อแสดงความพิเศษของอรรถนี้ว่า ด้วยอานุภาพของสติสัมปชัญญะ ความไม่ยินดีย่อมมีในความสุขนี้ มิได้มีด้วยประการอื่น พึงทราบว่า ท่านจึงกล่าวบทว่า สโต จ สมฺปชาโน นี้ไว้ในที่นี้.
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในบทนี้ว่า สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํเวเทติ - ภิกษุเสวยสุขด้วยนามกายดังต่อไปนี้
               ภิกษุผู้มีความพร้อมด้วยตติยฌาน ย่อมไม่มีความผูกใจในการเสวยสุขโดยแท้, แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะสุขสัมปยุตด้วยนามกายของภิกษุนั้น, สุขสัมปยุตด้วยนามกายเป็นของธรรมดา, เพราะรูปกายของภิกษุนั้นถูกรูปที่ประณีตยิ่งอันมีความสุขนั้นเป็นสมุฏฐานถูกต้องแล้ว, ภิกษุแม้ออกจากฌาน เพราะรูปประณีตถูกต้องแล้วก็ยังพึงเสวยความสุขอยู่ได้, ฉะนั้น พระสารีบุตรเมื่อจะแสดงความนี้จึงกล่าวว่า สุขญฺจ กาเยน ปฏิสํเวเทติ ดังนี้.
               บัดนี้ พึงทราบวินิจฉัยในบทนี้ว่า ยนฺตํ อริยา อาจิกฺขนฺติ อุเปกฺขโก สติมา สุขวิหารี ดังต่อไปนี้.
               ภิกษุเข้าตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ดังต่อไปนี้.
               พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมบอก ย่อมแสดง ย่อมบัญญัติ ย่อมตั้ง ย่อมเปิดเผย ย่อมแจกแจง ย่อมทำให้ง่าย ย่อมประกาศ.
               อธิบายว่า ย่อมสรรเสริญบุคคลผู้พร้อมด้วยตติยฌานนั้น เพราะฌานเป็นเหตุเป็นปัจจัย.
               สรรเสริญว่าอย่างไร?
               สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข.
               ในบทนี้พึงทราบการประกอบอย่างนี้ว่า ภิกษุเข้าตติยฌานนั้นอยู่เป็นสุข ดังนี้.
               ก็เพราะเหตุไร พระอริยเจ้าเหล่านั้นจึงสรรเสริญบุคคลนั้นอย่างนี้?
               เพราะเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ.
               ด้วยว่า บุคคลนี้แม้เมื่อความสุขมีรสสดชื่นยิ่ง บรรลุบารมีอันเป็นความสุขแล้วก็ยังเป็นผู้มีอุเบกขาในตติยฌาน, ไม่ถูกความข้องต่อความสุขในฌานนั้นฉุดคร่าไว้. ภิกษุชื่อว่ามีสติ เพราะตั้งสติไว้มั่นโดยที่ปีติยังไม่เกิด.
               อนึ่ง เพราะภิกษุเสวยสุขไม่เศร้าหมองที่อริยชนใคร่ และอริยชนเสพด้วยนามกาย ฉะนั้น จึงเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ. เพราะ ภิกษุเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ พระอริยเจ้าเหล่านั้นจึงประกาศบุคคลนั้นในคุณอันเป็นเหตุควรแก่การสรรเสริญอย่างนี้.
               พึงทราบว่า ท่านสรรเสริญไว้อย่างนี้ว่า อุเปกฺขโก สติมา สุขวิหารี - เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุขดังนี้.
               บทว่า ตติยํ ชื่อว่าตติยะ เพราะตามลำดับของการนับ. ชื่อว่าตติยะ เพราะเกิดเป็นครั้งที่ ๓ บ้าง.
               บทว่า สุขสฺส จ ปหานา ทุกฺขสฺส จ ปหานา - เพราะละสุขและละทุกข์ ได้แก่ เพราะละสุขทางกายและทุกข์ทางกาย.
               บทว่า ปุพฺเพว คือ เพราะละสุขและทุกข์นั้นก่อนๆ ได้, มิใช่ละได้ในขณะจตุตถฌาน.
               บทว่า โสมนสฺสโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมา - เพราะดับโสมนัสและโทมนัสได้ คือ เพราะดับโสมนัสและโทมนัสทั้งสองนี้ คือ สุขทางใจและทุกข์ทางใจก่อนๆ ได้, เป็นอันท่านกล่าวว่า ปหานา - เพราะละอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
               ทั้งสองนั้นจะละได้เมื่อไร? ละได้ในขณะอุปจารแห่งฌาน ๔.
               จริงอยู่ โสมนัสละได้ในขณะอุปจารแห่งฌานที่ ๔ เท่านั้น, ทุกข์โทมนัส สุขละได้ในขณะอุปจารแห่งฌานที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓. เมื่อท่านไม่กล่าวฌานเหล่านี้ตามลำดับแห่งการละอย่างนี้ แต่ในอินทริยวิภังค์๑๖- พึงทราบการละสุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัสไว้ในที่นี้ตามลำดับแห่งอุทเทสของอินทรีย์ทั้งหลาย.
____________________________
๑๖- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๒๓๖

               ผิว่า สุข ทุกข์ โสมนัสและโทมนัสเหล่านี้ละได้ในขณะอุปจารแห่งฌานนั้นๆ ไซร้, เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรท่านจึงกล่าวนิโรธนั้นไว้ในฌานอย่างนี้ว่า๑๗-
               ก็ทุกขินทรีย์เกิดแล้วย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ เข้าถึงปฐมฌานอยู่. ทุกขินทรีย์เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่นี้. โทมนัสสินทรีย์ สุขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน.
               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะละสุขและทุกข์ได้ ฯลฯ เข้าถึงจตุตถฌานอยู่. โสมนัสสินทรีย์เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่นี้ เพราะดับวิเศษยิ่ง.
____________________________
๑๗- สํ. มหา เล่ม ๑๙/ข้อ ๙๕๗

               จริงอยู่ การดับอย่างวิเศษยิ่งของทุกขินทรีย์เป็นต้นเหล่านั้นมีในปฐมฌานเป็นต้น, มิใช่นิโรธในอุปจารเท่านั้นดับ. นิโรธดับในขณะแห่งอุปจาร มิใช่ดับอย่างดียิ่ง.
               เป็นความจริงอย่างนั้น ทุกขินทรีย์แม้ดับไปในอุปจารแห่งปฐมฌานในการพิจารณาต่างๆ ก็พึงเกิดขึ้นได้ด้วยถูกเหลือบและยุงเป็นต้นกัด หรือด้วยความลำบากที่มีอาสนะไม่เรียบ มิใช่ภายในอัปปนาเท่านั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ทุกขินทรีย์เป็นต้นนี้ แม้ดับแล้วในอุปจาร, ก็เป็นอันว่ายังดับไม่ดีนัก เพราะยังกำจัดปฏิปักษ์ไม่ได้, แต่กายทั้งหมดหยั่งลงสู่ความสุขด้วยการซ่านไปแห่งปีติในภายในอัปปนา.
               อนึ่ง ทุกขินทรีย์เป็นอันดับไปด้วยดี เพราะกายหยั่งลงสู่ความสุขกำจัดปฏิปักษ์เสียได้.
               อนึ่ง ทุกขินทรีย์นี้เมื่อยังมีความลำบากกายและจิตมุ่งร้าย แม้มีวิตกวิจารเป็นปัจจัย ย่อมเกิดขึ้นแก่โทมนัสสินทรีย์ แม้ละได้แล้วในอุปจารแห่งทุติยฌาน ในการพิจารณาต่างๆ, ทุติยฌานย่อมเกิดขึ้นเพราะไม่มีวิตกวิจารนั่นเอง. ทุกขินทรีย์เกิดขึ้นในความมีวิตกวิจารในฌานที่ทุกขินทรีย์เกิดขึ้น. ทุกขินทรีย์พึงเกิดขึ้นในฌานนั้น เพราะวิตกวิจารยังละไม่ได้ในอุปจารแห่งทุติยฌาน, ในทุติยฌานไม่ต้องพูดถึงกันละเพราะมีปัจจัยอันละได้แล้ว.
               อนึ่ง แม้สุขินทรีย์ละได้แล้วในอุปจารแห่งตติยฌาน กายที่ถูกรูปประณีตมีปีติเป็นสมุฏฐานก็พึงเกิดขึ้นได้, ในตติยฌานไม่ต้องพูดถึงกันละ. เพราะในตติยฌานปีติเป็นปัจจัยแห่งความสุขเป็นอันดับไปโดยประการทั้งปวง.
               เพราะโสมนัสสินทรีย์แม้ละได้ในอุปจารแห่งจตุตถฌานก็ใกล้เข้าไปแล้วเช่นกัน เพราะไม่มีอุเบกขาที่ถึงขั้นอัปปนา และเพราะไม่ก้าวล่วงไปโดยชอบ ปีติก็จะพึงเกิดขึ้นได้. ในจตุตถฌานไม่ต้องพูดถึงกันละ.
               เพราะฉะนั้นจึงถือเอาโดยไม่เหลือในบทนั้นๆ ว่า เอตฺถุปฺปนฺนํ ทุกฺขินฺทฺริยํ อปริเสสํ นิรุชฺฌติ - ทุกขินทรีย์เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปโดยไม่เหลือในที่นี้ ดังนี้ด้วยประการฉะนี้.
               ในบทนี้ พระเถระกล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เวทนาแม้ละได้แล้วในอุปจารแห่งฌานนั้นๆ อย่างนี้ เหตุใดจึงนำมารวมไว้ในที่นี้อีก?
               เพื่อถือเอาสุขเวทนา.
               จริงอย่างนั้น อทุกขมสุขเวทนาที่ท่านกล่าวไว้ในบทนี้ว่า อทุกฺขมสุขํ เป็นเวทนาที่ละเอียดอ่อนรู้ได้ยาก คือไม่สามารถถือเอาได้ง่ายนัก, เพราะฉะนั้น จึงนำเวทนาทั้งหมดมารวมกันเพื่อถือเอาความสุข.
               เหมือนคนเลี้ยงโคนำโคทั้งหมดมารวมกันในคอกเดียวเพื่อจะจับโคดุ ซึ่งไม่มีใครสามารถจะเข้าไปจับใกล้ๆ ได้ เพราะมันเป็นโคดุ, ครั้นแล้วจึงนำออกทีละตัว สั่งให้จับตัวที่มาถึงตามลำดับว่านี้โคตัวนั้นจับมันดังนี้.
               ครั้นแสดงเวทนาเหล่านี้ที่นำมารวมไว้อย่างนี้แล้วว่า สิ่งใดไม่ใช่สุข, ไม่ใช่ทุกข์, ไม่ใช่โสมนัส, ไม่ใช่โทมนัส, สิ่งนี้เป็นอทุกขมสุขเวทนาดังนี้ แล้วจึงสามารถกำหนดถือเอาเวทนานี้ได้.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงเวทนาเหล่านี้ก็เพื่อแสดงเหตุของเจโตวิมุตติด้วยอทุกขมสุขเวทนา. เพราะว่าการละสุขเวทนาและทุกขเวทนาเป็นต้น เป็นปัจจัยแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้น.
               ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๑๘-
               ดูก่อนอาวุโส ปัจจัย ๔ แล เพื่อความถึงพร้อมเจโตวิมุตติ อันเป็นอทุกขมสุขเวทนา, ดูก่อนอาวุโส ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะละสุขและทุกข์ ฯลฯ เข้าถึงจตุตถฌานอยู่, ดูก่อนอาวุโส ปัจจัย ๔ เหล่านี้แล เพื่อความถึงพร้อมแห่งเจโตวิมุตติอันเป็นอทุกขมสุขเวทนา.
____________________________
๑๘- ม. ม. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๐๓

               อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวถึงสักกายทิฏฐิเป็นต้น แม้ละได้แล้วในที่อื่นก็เป็นอันละได้ในที่นั้น เพื่อพรรณนาคุณของอนาคามิมรรคฉันใด, พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงเวทนาเหล่านั้นไว้ในที่นี้ ก็เพื่อพรรณนาคุณของฌานนี้ฉันนั้น.
               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า ในที่นี้ ท่านกล่าวถึงเวทนาเหล่านั้นเพื่อแสดงถึงความที่ราคะโทสะยังไกลนักด้วยการทำลายเหตุ.
               จริงอยู่ ในเวทนาเหล่านั้น สุขเวทนาเป็นปัจจัยแห่งโสมนัส, โสมนัสเป็นปัจจัยแห่งราคะ, ทุกขเวทนาเป็นปัจจัยแห่งโทมนัส, โทมนัสเป็นปัจจัยแห่งโทสะ.
               อนึ่ง ราคะโทสะพร้อมด้วยเหตุถูกทำลายเสียแล้วด้วยการทำลายสุขเวทนาเป็นต้น เพราะเหตุนั้น เวทนาเหล่านั้นจึงอยู่ในที่ไกลนัก.
               บทว่า อทุกฺขมสุขํ ชื่อว่า อทุกฺขํ เพราะไม่มีทุกข์, ชื่อว่า อสุขํ เพราะไม่มีสุข.
               ด้วยบทนี้ ท่านแสดงเวทนาที่ ๓ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อทุกข์และสุขไว้ในที่นี้. ไม่แสดงเพียงความไม่มีทุกข์และสุข. อทุกขมสุขเวทนา ชื่อว่าเวทนาที่ ๓, ท่านกล่าวว่าอุเบกขาบ้าง. อุเบกขาเวทนานั้นมีลักษณะเสวยอารมณ์ตรงกันข้ามกับอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์.
               บทว่า อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ คือ ความบริสุทธิ์ของสติเกิดด้วยอุเบกขา. เพราะสติบริสุทธิ์ด้วยดีในฌานนี้, ความบริสุทธิ์แห่งสตินั้นบำเพ็ญด้วยอุเบกขา, มิใช่ด้วยอย่างอื่น. เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวบทนี้ว่า อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ.
               พึงทราบว่า ความบริสุทธิ์แห่งสติด้วยอุเบกขาในที่นี้โดยอรรถ ได้แก่ตัตรมัชฌัตตา.
               อนึ่ง ในที่นี้มิใช่สติบริสุทธิ์ด้วยอุเบกขาอย่างเดียวเท่านั้น, สัมปยุตธรรมแม้ทั้งหมดก็บริสุทธิ์ด้วย แต่ท่านกล่าวเทศนาด้วยหัวข้อของสติ.
               ในเวทนาเหล่านั้น อุเบกขาเวทนานี้มีอยู่ในฌาน ๓ เบื้องต่ำก็จริง ก็ดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเบกขาแม้นี้ ครอบงำด้วยเดชแห่งธรรมอันเป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้น ไม่ได้ราตรีคืออุเบกขาเวทนาอันเป็นสภาคกันแม้มีอยู่ ก็เป็นอันไม่บริสุทธิ์ในประเภทมีปฐมฌานเป็นต้น เหมือนดวงจันทร์ครอบงำแสงอาทิตย์ในกลางวัน ไม่ได้ราตรีอันเป็นสภาคกันโดยความเป็นดวงจันทร์หรือโดยความเป็นอุปการะของตน แม้มีอยู่ในกลางวันก็ไม่บริสุทธิ์ไม่ผ่องใสฉะนั้น.
               อนึ่ง เมื่อดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้นไม่บริสุทธิ์ สติเป็นต้นแม้เป็นสหชาตปัจจัยก็เป็นอันไม่บริสุทธิ์ด้วย ดุจรัศมีของ ดวงจันทร์ที่ไม่บริสุทธิ์ในกลางวันฉะนั้น. เพราะฉะนั้น ในเวทนาเหล่านั้น ท่านไม่กล่าวถึงเวทนาแม้อย่างหนึ่งว่า อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธิ.
               แต่ในที่นี้ ดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเบกขานี้ไม่มีการครอบงำด้วยธรรมเดชอันเป็นข้าศึกแก่วิตกเป็นต้น และได้ราตรีคืออุเบกขาเวทนาอันเป็นสภาคกันจึงเป็นอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง, เพราะดวงจันทร์คือตัตรมัชฌัตตุเบกขานั้นบริสุทธิ์ สติเป็นต้นแม้เป็นสหชาตธรรมก็เป็นอันบริสุทธิ์ผ่องใส ดุจรัศมีของดวงจันทร์บริสุทธิ์ฉะนั้น.
               เพราะฉะนั้น พึงทราบว่า ท่านกล่าวบทนี้ไว้อย่างนี้ว่า อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ ดังนี้.
               บทว่า จตุตฺถํ ชื่อว่าจตุตถะ เพราะตามลำดับของการนับ, ชื่อว่าจตุตถะ เพราะเกิดเป็นครั้งที่ ๔ บ้าง.
               ฌาน ๔ เหล่านี้ต่างกันในส่วนเบื้องต้นบ้าง, ในขณะแห่งมรรคบ้าง. ในส่วนเบื้องต้นต่างกันด้วยสมาบัติ, ในขณะแห่งมรรคต่างกันด้วยมรรค.
               จริงอยู่ ปฐมมรรคแห่งฌานหนึ่งมีอยู่ในปฐมฌาน, แม้ทุติยมรรคเป็นต้นก็มีอยู่ในปฐมฌาน หรือมีอยู่ในฌานอย่างใดอย่างหนึ่งในทุติยฌานเป็นต้น. ปฐมมรรคแห่งฌานหนึ่งมีอยู่ในฌานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในทุติยฌานเป็นต้น, แม้ทุติยมรรคเป็นต้นก็มีอยู่ในฌานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในทุติยฌานเป็นต้นหรือมีอยู่ในปฐมฌาน.
               มรรคแม้ ๔ อย่างเหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง เหมือนกันบางส่วนบ้าง ด้วยอำนาจของฌานด้วยประการฉะนี้. ความวิเศษแห่งมรรคนั้นย่อมมีโดยกำหนดฌานเป็นบาท.
               จริงอยู่ เมื่อผู้ได้ปฐมฌานออกจากปฐมฌานแล้วเห็นแจ้งมรรคที่เกิดแล้ว ย่อมมีในปฐมฌาน,
               อนึ่ง โพชฌงค์อันเป็นองค์แห่งมรรคเป็นอันบริบูรณ์แล้วในปฐมฌานนี้. เมื่อผู้ได้ทุติยฌานออกจากทุติยฌานแล้วเห็นแจ้งมรรคที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีในทุติยฌาน, องค์แห่งมรรคในทุติยฌานนี้มี ๗ อย่าง. ผู้ได้ตติยฌานออกจากตติยฌานแล้ว เห็นแจ้งมรรคที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีในตติยฌาน. องค์แห่งมรรคในตติยฌานนี้มี ๗ อย่าง, โพชฌงค์มี ๖ อย่างนัยนี้ย่อมได้ตั้งแต่จตุตถฌานจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน. จตุกฌานและปัญจกฌาน ย่อมเกิดในความไม่มีรูป.
               อนึ่ง จตุกฌานและปัญจกฌานนั้นแล เป็นโลกุตระ ท่านกล่าวว่าไม่เป็นโลกิยะ.
               ในฌานนี้ ท่านกล่าวไว้อย่างไร?
               ภิกษุใดออกจากฌานมีปฐมฌานเป็นต้นในฌานนี้แล้ว ได้โสดาปัตติมรรคแล้วเจริญอรูปสมาบัติเกิดแล้วในความไม่มีรูป, มรรค ๓ ในฌานนั้น ย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้นผู้ได้ฌานนั้น. เธอย่อมกำหนดฌานเป็นบาทเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
               ส่วนพระเถระบางรูปกล่าวว่า ขันธ์อันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ย่อมกำหนด. บางรูปกล่าวว่า อัธยาศัยของบุคคลย่อมกำหนด. บางรูปกล่าวว่า วิปัสสนาอันเป็นวุฏฐานคามินี ย่อมกำหนด.
               ในบทนั้นมีกถาตามลำดับอย่างนี้
               มรรคที่เกิดขึ้นแก่พระสุกขวิปัสสกโดยกำหนดวิปัสสนาบ้าง, มรรคที่ไม่ทำฌานให้เป็นบาทเกิดขึ้นแก่ผู้ได้สมาบัติบ้าง, มรรคที่ภิกษุทำปฐมฌานให้เป็นบาทแล้วพิจารณาสังขารเล็กๆ น้อยๆ ให้เกิดขึ้นบ้าง, ย่อมมีอยู่ในปฐมฌานทั้งนั้น.
               ในมรรคทั้งหมด ได้แก่ โพชฌงค์ ๗ องค์มรรค ๘ องค์ฌาน ๕. วิปัสสนาอันเป็นส่วนเบื้องต้นของมรรคเหล่านั้น สหรคตด้วยโสมนัสบ้าง สหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง ถึงความเป็นสังขารุเบกขาในเวลาออก เป็นอันสหรคตด้วยโสมนัสทั้งนั้น.
               พึงทราบวินิจฉัยในปัญจกนัยดังต่อไปนี้
               ฌานมีองค์ ๔ มีองค์ ๓ และมีองค์ ๒ ย่อมมีตามลำดับในมรรคที่ภิกษุทำทุติยฌานตติยฌานและจตุตถฌานให้เป็นบาทแล้วให้เกิดขึ้น. ในฌานทั้งหมดองค์มรรคมี ๗ ในฌานที่ ๔ โพชฌงค์มี ๖. ความวิเศษนี้ย่อมมีได้ด้วยการกำหนดฌานเป็นบาท และด้วยการกำหนดวิปัสสนา.
               จริงอยู่ วิปัสสนาเป็นส่วนเบื้องต้นของฌานเหล่านั้น เป็นอันสหรคตด้วยโสมนัสบ้าง สหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง, วุฏฐานคามินีสหรคตด้วยโสมนัสเท่านั้น. องค์ฌาน ๒ ด้วยสามารถแห่งอุเบกขาและความที่จิตมีอารมณ์เดียว ในมรรคที่ทำปฐมฌานให้เป็นบาทแล้วเกิดขึ้น, องค์แห่งโพชฌงค์ ๖ และ ๗. ความวิเศษแม้นี้ย่อมมีด้วยสามารถความนิยมทั้งสอง.
               จริงอยู่ ในนัยนี้ วิปัสสนาในส่วนเบื้องต้นสหรคตด้วยโสมนัสหรือสหรคตด้วยอุเบกขา, วุฏฐานคามินีสหรคตด้วยอุเบกขาเท่านั้น. แม้ในมรรคที่ภิกษุทำอรูปฌานให้เป็นบาทแล้วให้เกิดขึ้น ก็พึงทราบนัยนี้เหมือนกัน.
               ส่วนในจตุกนัยนี้พึงนำวิตกวิจารออกไป แล้วประกอบส่วนที่เหลือ เพราะทุติยฌานไม่มีวิตกวิจาร. สมาบัติที่ภิกษุอยู่ในที่ที่ใกล้มรรคซึ่งภิกษุออกจากฌานเป็นบาทอย่างนี้แล้วพิจารณาสังขารอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วทำให้เกิดขึ้น ย่อมทำสมาบัติเช่นกับตน เช่นเดียวกับเหี้ยทำสีให้เหมือนสีพื้นดินฉะนั้น.
               ในวาทะของพระเถระรูปที่ ๒ มีอยู่ว่า มรรคย่อมเป็นเช่นกับสมาบัติที่ภิกษุออกแล้วพิจารณาถึงธรรมในสมาบัติเกิดขึ้น. แม้ในวาทะของพระเถระนั้นพึงทราบวิปัสสนานิยม โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               ในวาทะของพระเถระรูปที่ ๓ มีว่า มรรคเป็นเช่นกับฌานที่ทำให้เป็นบาท ตามสมควรแก่อัธยาศัยของตนแล้ว พิจารณาธรรมในฌานเกิดขึ้น. ฌานนั้นเว้นฌานเป็นบาท หรือฌานที่พิจารณาแล้ว ย่อมไม่สำเร็จโดยเพียงอัธยาศัยเท่านั้น.
               อนึ่ง แม้ในวาทะของพระเถระนี้ก็พึงทราบวิปัสสนานิยม โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               บทว่า อยํ วุจฺจติ สมฺมาสมาธิ - นี้ ท่านกล่าวว่าสัมมาสมาธิ.
               ความว่า ความที่จิตมีอารมณ์เดียวในฌาน ๔ เหล่านี้ ในส่วนเบื้องต้นเป็นโลกิยะ, ในส่วนเบื้องปลายเป็นโลกุตระ ท่านกล่าวว่า ชื่อว่าสัมมาสมาธิ.
               พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงมรรคสัจด้วยโลกิยะและโลกุตระด้วยประการฉะนี้.
               องค์มรรคทั้งหมดในโลกิยมรรคนั้น เป็นอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ในอารมณ์ ๖ ตามสมควร.
               ส่วนในโลกุตรมรรค สัมมาทิฏฐิอันเป็นปัญญาจักษุถอนอวิชชานุสัย มีนิพพานเป็นอารมณ์ของความเป็นอริยะ เป็นไปแล้วด้วยการแทงตลอดอริยสัจ ๔,
               อนึ่ง สัมมาสังกัปปะ คือการยกขึ้นสู่บทแห่งนิพพานทางใจ ถอนมิจฉาสังกัปปะ ๓ อย่าง สัมปยุตด้วยสัมมาทิฏฐินั้นของผู้มีทิฏฐิถึงพร้อมแล้ว,
               สัมมาวาจา เว้นมิจฉาวาจา ถอนวจีทุจริต ๔ อย่าง สัมปยุตด้วยสัมมาสังกัปปะนั้นของผู้เห็นและตรึกอย่างนั้น,
               สัมมากัมมันตะ เว้นมิจฉากัมมันตะ ตัดมิจฉากัมมันตะ ๓ อย่างสัมปยุตด้วยสัมมาวาจานั้นของผู้เว้นอย่างนั้น,
               สัมมาอาชีวะ คือเว้นจากมิจฉาอาชีวะ ตัดความหลอกลวงเป็นต้น สัมปยุตด้วยสัมมากัมมันตะนั้น เป็นความผ่องแผ้วของวาจากัมมันตะเหล่านั้นของบุคคลนั้น,
               สัมมาวายามะ ปรารภความเพียร ตัดความเกียจคร้าน สัมปยุตด้วยสัมมากัมมันตะนั้น สมควรแก่สัมมากัมมันตะนั้นของบุคคลผู้ตั้งอยู่ในศีลภูมิ กล่าวคือสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะ และให้สำเร็จโดยไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น ละอกุศลที่เกิดขึ้น ทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ตั้งมั่นอยู่ในกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว,
               สัมมาสติ ความมีจิตไม่ลุ่มหลง กำจัดมิจฉาสติ สัมปยุตด้วยสัมมาวายามะนั้นของผู้พยายามอยู่อย่างนี้ และให้สำเร็จการพิจารณากายในกายเป็นต้น,
               สัมมาสมาธิ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวกำจัดมิจฉาสมาธิ สัมปยุตด้วยสัมมาสตินั้นของผู้ที่คุ้มครองจิต ตั้งจิตไว้ดีด้วยสติอย่างยอดเยี่ยม.
               นี้คืออัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐ เป็นโลกุตระ.
               มรรคที่เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทานั้น พร้อมด้วยโลกิยมรรค ได้แก่วิชชาและจรณะ เพราะสงเคราะห์สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะด้วยวิชชา สงเคราะห์ธรรมที่เหลือด้วยจรณะ.
               อนึ่ง ได้แก่ สมถะและวิปัสสนา เพราะสงเคราะห์ธรรมทั้งสองอย่างนั้นด้วยวิปัสสนายาน สงเคราะห์ธรรมนอกนั้นด้วยสมถยาน. ได้แก่ ขันธ์ ๓ และสิกขา ๓ เพราะสงเคราะห์ธรรมทั้งสองนั้นด้วยปัญญาขันธ์, สงเคราะห์ธรรม ๓ อย่างในลำดับธรรมนั้นด้วยสีลขันธ์, สงเคราะห์ธรรม ๓ อย่างที่เหลือด้วยสมาธิขันธ์ และสงเคราะห์ด้วยอธิปัญญาสิกขา อธิสิลสิกขาและอธิจิตตสิกขา.
               พระอริยสาวกประกอบด้วยมรรค เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดุจคนเดินทางไกลประกอบด้วยตาสามารถเห็นได้ และด้วย เท้าสามารถเดินไปได้ เว้นที่สุด ๒ อย่าง คือ เว้นกามสุขัลลิกานุโยคด้วยวิปัสสนายาน เว้นอัตกิลมถานุโยคด้วยสมถยาน ปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทา ทำลายกองโมหะด้วยปัญญาขันธ์... กองโทสะด้วยสีลขันธ์... กองโลภะด้วยสมาธิขันธ์ ถึงสมบัติ ๓ คือ ปัญญาสัมปทาด้วยอธิปัญญาสิกขา, สีลสัมปทาด้วยอธิสีลสิกขา, สมาธิสัมปทาด้วยอธิจิตตสิกขา แล้วบรรลุนิพพานอันเป็นอมตะ.
               ภิกษุหยั่งลงสู่อริยภูมิกล่าวคือสัมมัตตนิยาม อันวิจิตรด้วยธรรมรัตนะคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ งามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด ด้วยประการฉะนี้.


               จบอรรถกถามรรคสัจนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา มัคคสัจนิทเทส
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓] [๔]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 84อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 85อ่านอรรถกถา 31 / 86อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=906&Z=950
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=3890
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=3890
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :