ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 679อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 695อ่านอรรถกถา 31 / 701อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค
๓. อภิสมยกถา

               อรรถกถาอภิสมยกถา               
               บัดนี้จะพรรณนาตามความที่ยังมิได้พรรณาแห่งอภิสมยกถา อันพระสารีบุตรเถระผู้แสดงอภิสมัยอันเป็นฤทธิ์อย่างยิ่งในลำดับแห่งอิทธิกถากล่าวแล้ว.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อภิสมโย ความตรัสรู้ คือถึงพร้อมด้วยธรรมเป็นประธานแห่งสัจจะทั้งหลาย. อธิบายว่าแทงตลอด. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ความตรัสรู้อรรถ.
               บทว่า เกน อภิสเมติ ย่อมตรัสรู้ด้วยอะไร.
               ท่านอธิบายไว้อย่างไร.
               ท่านกล่าวความตรัสรู้ว่า ความตรัสรู้เป็นรสนั้นใดในบทแห่งสูตรมีอาทิว่า๑- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การตรัสรู้ธรรมให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้แล เมื่อความตรัสรู้นั้นเป็นไปอยู่ บุคคลผู้ตรัสรู้ย่อมตรัสรู้สัจจะด้วยธรรมอะไรเป็นผู้มีธรรมเป็นประธาน ย่อมถึงพร้อม.
____________________________
๑- สํ. นิ. เล่ม ๑๖/ข้อ ๓๑๒

               อธิบายว่า แทงตลอดนี้เป็นคำถามของผู้ท้วงก่อน.
               บทว่า จิตฺเตน อภิสเมติ ย่อมตรัสรู้ด้วยจิต คือแก้อย่างนั้นเพราะเว้นจิตเสียแล้วไม่มีความตรัสรู้.
               บทมีอาทิว่า หญฺจิ เป็นการท้วงอีก หญจิ แปลว่า ถ้าว่า. เพราะท่านกล่าวว่า ด้วยจิตผู้ท้วงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นบุคคลผู้ไม่มีญาณก็ตรัสรู้ได้ซิ.
               บทว่า น อญฺญาณี อภิสเมติ บุคคลไม่มีญาณตรัสรู้ไม่ได้ คือปฏิเสธเพราะไม่มีความตรัสรู้โดยเพียงจิตเท่านั้น.
               บทว่า ญาเณน อภิสเมติ ย่อมตรัสรู้ด้วยญาณเป็นการรับรอง.
               บทมีอาทิว่า หญฺจิ อีกครั้งเป็นการท้วงว่า ผู้ไม่มีความรู้ ย่อมตรัสรู้เพราะไม่มีจิตได้ซิ เพราะท่านกล่าวว่า ญาเณน ด้วยญาณ.
               บทว่า น อจิตฺตโก อภิเสเมติ บุคคลผู้ไม่มีจิตก็ตรัสรู้ไม่ได้ เป็นการปฏิเสธเพราะผู้ไม่มีจิตตรัสรู้ไม่ได้.
               บทมีอาทิว่า จิตฺเตน จ เป็นการรับรอง.
               บทมีอาทิว่า หญฺจิ อีกครั้งเป็นการท้วงอำนาจทั่วไปแห่งจิตและญาณทั้งหมด.
               แม้ในการท้วงและการแก้ที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า กมฺมสฺสกตาจิตฺเตน จ ญาเณน จ ด้วยกัมมัสสกตาจิตและด้วยญาณ คือด้วยจิตอันเป็นไปแล้วด้วยกัมมัสสกตาอย่างนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน.
               บท สจฺจานุโลมิกจิตฺเตน จ ญาเณน จ ด้วยสัจจานุโลมิกจิต และด้วยญาณคือด้วยจิตสัมปยุตด้วยวิปัสสนากล่าวคือสัจจานุโลมิกญาณ เพราะช่วยการแทงตลอดสัจจะและด้วยวิปัสสนาญาณ.
               บทว่า กถํ อย่างไร เป็นกเถตุกัมยตาปุจฉา (ถามเองตอบเอง) เหมือนอภิสมัย.
               บทว่า อุปฺปาทาธิปเตยฺยํ จิตเป็นใหญ่ในการให้เกิดขึ้น ได้แก่ เพราะเมื่อไม่มีจิตเกิด เจตสิกก็ไม่เกิด เพราะจิตยึดอารมณ์ เจตสิกก็เกิด พร้อมกับจิตนั้น เมื่อไม่มีอารมณ์จะยึดจักเกิดได้อย่างไรเล่า แม้ในอภิธรรม ท่านก็จำแนกเจตสิกไว้ด้วยการเกิดขึ้นแห่งจิตนั่นแหละ ฉะนั้นจิตจึงเป็นใหญ่ในการเกิดขึ้นแห่งมรรคญาณ.
               บทว่า ญาณสฺส คือ แห่งมรรคญาณ.
               บทว่า เหตุ ปจฺจโย จ เป็นเหตุเป็นปัจจัย คือเป็นผู้ให้เกิดและเป็นผู้อุปถัมภ์.
               บทว่า ตํสมฺปยุตฺตํ คือ จิตสัมปยุตด้วยญาณนั้น.
               บทว่า นิโรธโคจรํ มีนิโรธ เป็นโคจร คือมีนิพพานเป็นอารมณ์.
               บทว่า ทสฺสนาธิปเตยฺยํ ญาณเป็นใหญ่ในการเห็น คือเป็นใหญ่ในการเห็นนิพพาน เพราะไม่มีกิจที่จะเห็นสิ่งที่เหลือ.
               บทว่า จิตฺตสฺส แห่งจิต คือแห่งจิตสัมปยุตด้วยมรรค.
               บทว่า ตํสมฺปยุตฺตํ คือ ญาณอันสัมปยุตด้วยจิตนั้น.
               เพราะปริยายแม้นี้มิใช่ความตรัสรู้ด้วยจิตและญาณเท่านั้น ที่แท้ธรรมคือจิตและเจตสิกอันสัมปยุตด้วยมรรค แม้ทั้งหมดชื่อว่า เป็นความตรัสรู้ด้วย ยังกิจคือความตรัสรู้สัจจะให้สำเร็จ ฉะนั้น พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงปริยายแม้นั้นจึงถามว่าความตรัสรู้มีเท่านั้นหรือ ปฏิเสธว่า นหิ ไม่ใช่มีเท่านั้นแล้วกล่าวคำมีอาทิว่า โลกุตฺมคฺคกฺขเณ ในขณะแห่งโลกุตรมรรค.
               บทว่า ทสฺสนาภิสมโย ความตรัสรู้ด้วยความเห็น คือความตรัสรู้อันเป็นความเห็น. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้.
               บทว่า สจฺจา คือ สัจจญาณ มรรคญาณนั่นแลชื่อว่าวิปัสสนา ด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็นพระนิพพาน.
               บทว่า วิโมกฺโข คือ มรรควิโมกข์.
               บทว่า วิชฺชา คือ มรรคญาณนั้นแหละ.
               บทว่า วิมุตฺติ คือ สมุจเฉทวิมุตติ.
               นิพพานชื่อว่า อภิสมโย เพราะตรัสรู้ ที่เหลือชื่อว่า อภิสมยา เพราะเป็นเหตุตรัสรู้.
               พระสารีบุตรเถระเพื่อแสดงจำแนกอภิสมัยด้วยมรรคและผล จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กินฺนุ ดังนี้.
               อนึ่ง ในที่นี้ เพราะญาณย่อมไม่ได้ในความสิ้นไป ด้วยอรรถว่าตัดขาดในขณะผล ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า อนุปฺปาเท ญาณํ ญาณในนิพพานอันไม่มีความเกิดขึ้น.
               พึงทราบบทที่เหลือตามสมควร.
               บัดนี้ เพราะเมื่อมีการละกิเลส ความตรัสรู้ก็ย่อมมีได้ และเมื่อมีความตรัสรู้การละกิเลสก็ย่อมมีได้ ฉะนั้น พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงถึงการละกิเลสอันมีการท้วงเป็นเบื้องต้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สฺวายํ บุคคลนี้นั้น ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สฺวายํ คือ พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในมรรคนี้นั้น.
               คำ ๔ คำในบทนี้มีบทว่า เอวํ เป็นอาทิ เป็นการถามของผู้ท้วง.
               บทนี้ว่า อตีเต กิเลเส ปชหติ ละกิเลสที่เป็นอดีต เป็นคำแก้เพื่อให้โอกาสแก่การท้วง.
               บทว่า ขีณํ คือ สิ้นไปแล้วด้วยความดับ.
               บทว่า นิรุทฺธํ ดับแล้ว คือดับด้วยไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยสันดาน.
               บทว่า วิคตํ ปราศไป คือปราศไปจากขณะที่กำลังเป็นไปอยู่.
               บทว่า วิคเมติ คือ ให้ปราศไป.
               บทว่า อตฺถงฺคตํ ถึงการดับไป คือถึงความไม่มี.
               บทว่า อตฺถงฺคเมติ คือ ให้ถึงความไม่มี.
               ครั้นแสดงโทษในข้อนั้นแล้วจึงกล่าวปฏิเสธว่า บุคคลละกิเลสอันเป็นอดีตหาได้ไม่.
               บทว่า อชาตํ ที่ไม่เกิดขึ้น คือยังไม่เกิดขึ้นจากการท้วงอันเป็นอนาคต.
               บทว่า อนิพฺพตฺตํ กิเลสที่ยังไม่เกิด คือกิเลสที่ยังไม่ถึงสภาวะ.
               บทว่า อนุปฺปนฺนํ กิเลสที่ยังไม่เกิด คือยังไม่ปฏิบัติในอนาคตจำเดิมแต่เกิด.
               บทว่า อปาตุภูตํ ไม่ปรากฏ คือไม่ปรากฏแห่งจิตโดยความเป็นปัจจุบัน.
               เมื่อผู้ละในอดีตและอนาคต ความพยายามไม่มีผลย่อมได้รับเพราะไม่มีสิ่งที่ควรละ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงปฏิเสธแม้ทั้งสองอย่าง.
               บทว่า รตฺโต ราคํ ปชหติ บุคคลผู้กำหนัดย่อมละราคะได้ คือบุคคลผู้กำหนัดย่อมละราคะนั้นได้ด้วยราคะที่กำลังเป็นไปอยู่. แม้ในกิเลสที่กำลังเป็นไปอยู่ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า ถามคโต ผู้มีกิเลสเรี่ยวแรง คือ ผู้ถึงสภาพมั่นคง.
               บทว่า กณฺหสุกฺกา ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว คือธรรมที่เป็นอกุศลและกุศลซึ่งเป็นคู่กันกำลังเป็นไป คือย่อมถึงเสมอกัน.
               บทว่า สงฺกิเลสิกา มรรคภาวนาอันมีความหม่นหมองด้วยกิเลส คือเมื่อความที่ความหม่นหมองสัมปยุตกันมีอยู่ มรรคภาวนาประกอบด้วยความหม่นหมอง ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อละในปัจจุบันอย่างนี้ มรรคภาวนาอันเป็นความหม่นหมองย่อมมีได้ และความพยายามก็ไม่มีผล เพราะมีสิ่งที่ควรละกับความพยายาม เพราะยังไม่มีการแยกจิตออกจากกิเลสอันเป็นปัจจุบัน.
               บทว่า น หิ ไม่มี คือปฏิเสธคำที่ท่านกล่าวไว้แล้ว ๔ ส่วน.
               บทว่า อตฺถิ มีอยู่ คือรับรอง.
               บทว่า ยถา กถํ วิย เหมือนอะไร เป็นการถาม เพื่อชี้ให้เห็นอุทาหรณ์แห่งความมี คือมีเหมือนโดยประการไร มีเหมือนอะไร.
               บทว่า ยถาปิ แม้ฉันใด.
               บทว่า ตรุโณ รุกฺโข ต้นไม้รุ่น คือถือเอาต้นไม้รุ่นเพื่อจะได้ให้ผล.
               บทว่า อชาตผโล ผลที่ยังไม่เกิด คือแม้เมื่อยังมีการให้ผลอยู่ก็ฉวยเอาก่อนเวลาจากการได้ผล.
               บทว่า ตเมนํ คือ ต้นไม้นั้น.
               บทว่า เอนํ เป็นเพียงนิบาต หรือคือ ตํ เอตํ.
               บทว่า มูลํ ฉินฺเทยฺย พึงตัดราก คือพึงตัดตั้งแต่ราก.
               บทว่า อชาตผลา คือ ผลยังไม่เกิด.
               บทว่า เอวเมวํ ตัดบทเป็น เอวํ เอวํ.
               ท่านกล่าวถึงการสืบต่อขันธ์อันเป็นปัจจุบัน แม้ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ การเกิด ๑ ความเป็นไป ๑ นิมิต ๑ การประมวล ๑.
               ขันธสันดานอันไม่เป็นพืชของกิเลสที่ควรละได้ด้วยมรรคญาณ เพราะขันธสันดานนั้นไม่เป็นพืช กิเลสนั้นมีขันธสันดานนั้นเป็นปัจจัยยังไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่เกิดขึ้น.
               บทว่า อาทีนวํ ทิสฺวา เห็นโทษ คือเห็นโทษโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น. ท่านกล่าวถึงนิพพานเท่านั้นด้วยบท ๔ บท มีอาทิว่า อนุปฺปาโท การไม่เกิดขึ้น.
               บทว่า จิตฺตํ ปกฺจนฺทติ จิตแล่นไป คือจิตสัมปยุตด้วยมรรค ย่อมแล่นไป.
               บทว่า เหตุนิโรธา ทุกฺขนิโรโธ เพราะเหตุดับ ทุกข์ก็ดับ คือเพราะความไม่เกิดสันดานอันเป็นพืชของกิเลสทั้งหลายดับ ก็เป็นอันดับความไม่เกิดกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ อันเป็นขันธ์ในอนาคต. เพราะความไม่เกิดกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์อย่างนี้ดับ จึงเป็นอันดับความไม่เกิดแห่งทุกข์ด้วย.
               พระสารีบุตรเถระกล่าวคำมีอาทิว่า อตฺถิ มคฺคภาวนา มรรคภาวนามีอยู่ เพราะมีข้อยุติในการละกิเลส.
               แต่ในอรรถกถากล่าวไว้ว่า ด้วยบทนี้ท่านแสดงไว้อย่างไร. ท่านแสดงถึงการละกิเลสอันได้ภูมิแล้ว ก็ภูมิที่ได้นั้นเป็นอดีต อนาคตหรือเป็นปัจจุบัน.
               พึงทราบกถาพิสดารแห่งการละกิเลสที่ท่านกล่าวแล้วว่า กิเลสอันได้ภูมิเกิดขึ้นแล้วโดยนัยดังกล่าวแล้วในอรรถกถามรรคสัจจนิเทศแห่งสุตญาณกถา.
               แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอากิเลสที่ควรละได้ด้วยมรรคญาณเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาอภิสมยกถา               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค ๓. อภิสมยกถา จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 679อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 695อ่านอรรถกถา 31 / 701อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=10321&Z=10431
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=7967
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=7967
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :