ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 

อ่าน อรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 659อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 679อ่านอรรถกถา 31 / 695อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค
๒. อิทธิกถา

               อรรถกถาอิทธิกถา               
               บัดนี้จะพรรณนาตามความที่ยังไม่เคยพรรณนาไว้แห่งอิทธิกถา อันพระสารีบุตรเถระแสดงถึงบุญญานุภาพในลำดับแห่งปัญญากถา พึงทราบวินิจฉัยในคำถามเหล่านั้นดังต่อไปนี้ก่อน.
               บทว่า กา อิทฺธิ ฤทธิ์เป็นอย่างไร เป็นสภาวปุจฉา (ถามถึงประเภท).
               บทว่า กติอิทฺธิโย ฤทธิ์มีเท่าไร เป็นปเภทปุจฉา (ถามถึงประเภท).
               บทว่า กติปาทา ภูมิแห่งฤทธิ์มีเท่าไร เป็นสัมภาระปุจฉา (ถามถึงที่ตั้ง).
               บทว่า กติปาทา บาทแห่งฤทธิ์มีเท่าไร เป็นปติฏฐปุจฉา (ถามถึงที่ตั้ง).
               บทว่า กติปทานิ บทแห่งฤทธิ์มีเท่าไร เป็นอาสันนการณปุจฉา (ถามเหตุที่ใกล้เคียง).
               บทว่า กติมูลานิ มูลแห่งฤทธิ์มีเท่าไร เป็นอาทิการณปุจฉา (ถามเหตุเบื้องต้น).
               พึงทราบวินิจฉัยในคำตอบดังต่อไปนี้.
               บทว่า อิชฺฌนฏฺเฐน อิทฺธิ ชื่อว่าฤทธิ์ด้วยอรรถว่าสำเร็จ. อธิบายว่า ด้วยอรรถว่าสำเร็จและด้วยอรรถว่าได้เฉพาะ เพราะสิ่งใดสำเร็จและได้เฉพาะท่านกล่าวสิ่งนั้นว่ายอมสำเร็จ.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า๑- ถ้าว่าวัตถุกามนั้นจะสำเร็จแก่สัตว์ผู้ปรารถนากามอยู่ดังนี้.
               พึงทราบบทมีอาทิว่า ชื่อว่า อิทฺธิ เพราะเนกขัมมะย่อมสำเร็จ ชื่อว่า ปาฏิหาริยํ เพราะเนกขัมมะกำจัดกามฉันทะ.๒-
____________________________
๑- ขุ. สุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๔๐๘  ๒- ขุ. ปฏิ. เล่ม ๓๑/ข้อ ๗๒๒

               พึงทราบนัยอื่นต่อไป.
               ชื่อว่า อิทฺธิ เพราะอรรถว่าสำเร็จ บทที่เป็นชื่อของอุปายสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยอุบาย).
               จริงอยู่ อุปายสัมปทาย่อมสำเร็จเพราะประสบผลที่ประสงค์.
               สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า๓- จิตตคหบดีนี้แลเป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม หากว่าจิตตคหบดีจักปรารถนาว่าเราพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิดังนี้ ความตั้งในของผู้มีศีลจักสำเร็จเพราะเป็นผู้บริสุทธิ์.
____________________________
๓- สํ. สฬา. เล่ม ๑๘/ข้อ ๕๘๔

               พึงทราบนัยอื่นต่อไปอีก.
               ชื่อว่า อิทฺธิ เพราะเป็นเหตุสำเร็จของสัตว์.
               บทว่า อิชฺฌนฺติ ย่อมสำเร็จ ท่านอธิบายว่าเป็นความเจริญงอกงามถึงความอุกฤษฏ์.
               ชื่อว่าฤทธิ์ที่อธิษฐาน เพราะสำเร็จด้วยความอธิษฐานในฤทธิ์ ๑๐.
               ชื่อว่าฤทธิ์ที่แผลงได้ต่างๆ เพราะเป็นไปด้วยการทำให้แปลก โดยละวรรณะปกติ.
               ชื่อว่าฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ เพราะเป็นไปด้วยความสำเร็จแห่งสรีระสำเร็จทางใจอย่างอื่น.
               ชื่อว่าฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณเป็นความวิเศษเกิดด้วยอานุภาพของญาณในเบื้องต้น ในภายหลังหรือในขณะนั้น.
               ชื่อว่าฤทธิ์แผ่ไปด้วยสมาธิเป็นความวิเศษเกิดด้วยอานุภาพของสมถะในเบื้องต้น ในภายหลังหรือในขณะนั้น.
               ชื่อว่าฤทธิ์ของพระอริยะ เพราะเกิดแก่พระอริยะผู้ถึงความชำนาญทางจิต.
               ชื่อว่าฤทธ์เกิดแต่ผลกรรมเป็นความวิเศษเกิดด้วยผลกรรม.
               ชื่อว่าฤทธิ์ของผู้มีบุญ เพราะเป็นความวิเศษเกิดแก่ผู้มีบุญที่ทำไว้ในกาลก่อน.
               ชื่อว่าฤทธิ์สำเร็จแต่วิชชา เป็นความวิเศษเกิดแต่วิชชา ความสำเร็จแห่งกรรมนั้นๆ ด้วยการประกอบชอบนั้น.
               ชื่อว่า อิทธิ ด้วยอรรถว่าสำเร็จ เพราะเหตุแห่งการประกอบชอบในส่วนนั้นๆ.
               บทว่า อิทฺธิยา จตสฺโส ภูมิโย ภูมิ ๔ แห่งฤทธิ์ แม้เมื่อท่านกล่าวไม่แปลกกัน ท่านก็กล่าวถึงภูมิแห่งฤทธิ์ที่อธิษฐานที่แผลงได้ต่างๆ และที่สำเร็จแต่ใจตามแต่จะได้ มิใช่ของฤทธิ์ที่เหลือ.
               บทว่า วิเวกชา ภูมิ เป็นภูมิเกิดแต่วิเวก คือเป็นภูมิเกิดแต่วิเวกหรือในวิเวก ชื่อว่า วิเวกชาภูมิ.
               บทว่า ปีติสุขภูมิ เป็นภูมิแห่งปีติและสุข คือเป็นภูมิประกอบด้วยปีติและสุข.
               บทว่า อุเปกฺขาสุขภูมิ เป็นภูมิแห่งอุเบกขาและสุขคือ ชื่อว่าภูมิ เพราะประกอบด้วยอุเบกขา คือวางตนเองเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ และด้วยสุข.
               บทว่า อทุกฺขมสุขภูมิ เป็นภูมิแห่งความไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เป็นภูมิประกอบด้วยอทุกขมสุขเวทนา ในฌานเหล่านั้น ปฐมฌานและทุติยฌานเป็นความแผ่ไปแห่งปีติ ตติยฌานเป็นความแผ่ไปแห่งสุข จตุตถฌานเป็นความแผ่ไปแห่งจิต.
               อนึ่ง ในบทนี้ เพราะผู้มีกายเบาอ่อนควรแก่การงาน ก้าวล่วงสุขสัญญาและลหุสัญญาด้วยสัญญาด้วยการแผ่ไปแห่งสุขย่อมได้ฤทธิ์ ฉะนั้น ฌาน ๓ ข้างต้น พึงทราบว่าเป็นสัมภารภูมิ เพราะเป็นไปเพื่อได้ฤทธิ์โดยปริยายนี้. ส่วนจตุตถฌานเป็นภูมิปกติเพื่อได้ฤทธิ์เท่านั้น.
               บทว่า อิทฺธิลาภาย เพื่อได้ฤทธิ์คือเพื่อได้ฤทธิ์ทั้งหลายด้วยความปรากฎในสันดานของตน.
               บทว่า อิทฺธิปฏิลาภาย เพื่อได้เฉพาะฤทธิ์คือเพื่อได้ฤทธิ์ที่เสื่อมแล้วคืนมาด้วยปรารภความเพียร เพิ่มบทอุปสรรคลงไป.
               บทว่า อิทฺธิวิกุพฺพนาย เพื่อแผลงฤทธิ์ได้ต่างๆ คือเพื่อแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง.
               บทว่า อิทฺธิวิสวิตาย เพื่อความไหลไปแห่งฤทธิ์. ชื่อว่าวิสวี เพราะไหลไปสู่ความวิเศษต่างๆ คือให้เกิดให้เป็นไป.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าวิสวี เพราะมีการไหลไปหลายอย่าง ความเป็นแห่งผู้มีความไหลไป ชื่อว่าวิสวิตา เพื่อความเป็นผู้ความไหลไปแห่งฤทธิ์นั้น.
               อธิบายว่า เพื่อแสดงความวิเศษของฤทธิ์ได้หลายอย่าง.
               บทว่า อิทฺธิวสีภาวาย เพื่อความเป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ คือเพื่อความเป็นอิสระในฤทธิ์.
               บทว่า อิทฺธิเวสารชฺชาย คือ เพื่อความเป็นผู้แกล้วกล้าด้วยฤทธิ์.
               อิทธิบาทมีอรรถดังได้กล่าวไว้แล้วในญาณกถา.
               บทว่า ฉนฺท เจ ภิกฺขุ นิสฺสาย หากภิกษุอาศัยฉันทะคือถ้าภิกษุอาศัยทะแล้วทำฉันทะให้เป็นใหญ่.
               บทว่า ลภติ สมาธึ ย่อมได้สมาธิ คือย่อมได้เฉพาะทำให้สมาธิเกิด.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               ในบทนั้นพึงทราบบท ๔ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา พึงทราบบท ๓ อย่างนี้คือสมาธิ ๔ สัมปยุตด้วยบทนั้น บททั้งหลาย ๔.
               อนึ่ง เพราะฉันทะคือความใคร่เพื่อให้ฤทธิ์เกิดประกอบโดยความเป็นอันเดียวกันกับสมาธิ ย่อมเป็นไปเพื่อได้สมาธิ วิริยะเป็นต้นก็อย่างนั้น ฉะนั้น พึงทราบว่าท่านกล่าวถึงบท ๘ นี้.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงถึงโยคาวิธีที่พระโยคาวจรใคร่จะยังอภิญญาให้เกิด จึงตรัสถึงความไม่หวั่นไหวแห่งจิตว่า๔- พระโยคาวรจรนั้นเมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงานดำรงมั่นถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ดังนี้.
____________________________
๔- วิ.มหาวิ. เล่ม ๑/ข้อ ๓

               พระเถระเมื่อแสดงถึงความไม่หวั่นไหวนั้นจึงกล่าวคำมีอาทิว่า โสฬสมูลานิ มูล ๑๖ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า อโนนตํ จิตไม่ฟุบลง คือไม่ฟุบลงด้วยความเกียจคร้าน. อธิบายว่าไม่เร้นลับ.
               บทว่า อนุนฺนตํ จิตไม่ฟูขึ้น คือไม่ขึ้นเบื้องบนด้วยความฟุ้งซ่าน. อธิบายว่า จิตไม่ฟุ้งซ่าน.
               บทว่า อนภินตํ จิตไม่น้อมไป คือไม่น้อมไปด้วยความโลภ. ความว่า ไม่ติดแน่น.
               ท่านอธิบายว่า จิตน้อมไป น้อมไปยิ่ง เพราะความใคร่อย่างยิ่ง เพราะเหตุนั้น จิตไม่เป็นเช่นนั้น.
               บทว่า ราเคน ด้วยราคะ คือด้วยความโลภอันมีสังขารเป็นที่ตั้ง.
               บทว่า อนปนํ จิตไม่มุ่งร้าย คือไม่มุ่งร้ายด้วยโทสะ. ความว่า ไม่กระทบกระทั่ง.
               บทว่า นตํ นติ โดยอรรถเป็นอย่างเดียวกัน คือน้อมไป. ท่านอธิบายว่า จิตปราศจากความน้อมไป
               ชื่อว่า อปนตํ คือ มุ่งร้าย จิตนี้ไม่เป็นเช่นนั้น.
               บทว่า อนิสฺสิตํ จิตอันทิฏฐิไม่อาศัย คือไม่อาศัยอย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นตัวตน หรือเป็นสิ่งเนื่องด้วยตัวตน ด้วยอำนาจทิฏฐิ เพราะเห็นโดยความไม่เป็นตัวตน.
               บทว่า อปฺปฏิพทฺธํ จิตไม่พัวพ้น คือไม่พัวพ้นด้วยหวังอุปการะตอบ.
               บทว่า ฉนฺทราเคน เพราะฉันทราคะ คือเพราะความโลภมีสัตว์เป็นที่ตั้ง.
               บทว่า วิปฺปมุตฺตํ จิตหลุดพ้น คือหลุดพ้นจากกามราคะด้วยวิกขัมภนวิมุตติ.
               อีกอย่างหนึ่ง หลุดพ้นจากกามราคะด้วยวิมุตติ ๕.
               อีกอย่างหนึ่ง หลุดพ้นจากความเป็นปฏิปักษ์นั้นๆ ด้วยวิมุตติ ๕.
               บทนี้ท่านกล่าวด้วยกำหนดอย่างอุกฤษฏ์โดยนัยดังกล่าวแล้วว่า ด้วยญาณจริยา ๑๖ ในนิโรธสมาบัติญาณ เพราะยังอภิญญาให้เกิดแก่พระเสขะผู้เป็นปุถุชนและพระอเสขะ แต่ควรถือเอาตามมีตามได้.
               บทว่า กามราเคน เพราะกามราคะ คือเพราะความกำหนัดในเมถุน.
               บทว่า วิสญฺญุตํ จิตไม่เกาะเกี่ยว คือไม่เกาะเกี่ยวด้วยกิเลสที่เหลือเพราะข่มไว้ได้ หรือไม่เกาะเกี่ยว เพราะตัดขาดได้ด้วยความอุกฤษฏ์.
               บทว่า กิเลเส คือ กิเลสที่เหลือ.
               บทว่า วิปริยาทิกตํ จิตปราศจากเครื่องครอบงำ คือจิตกระทำให้ปราศจากขอบเขตของกิเลส ด้วยอำนาจขอบเขตกิเลสที่ควรข่ม หรือด้วยอำนาจขอบเขตกิเลสที่ควรละด้วยมรรคนั้นๆ.
               บทว่า กิเลสปริยาเท เพราะความครอบงำของกิเลส คือเพราะขอบเขตของกิเลสที่ละได้แล้วนั้นๆ.
               บทว่า เอกคฺคตํ คือ จิตมีอารมณ์เดียว.
               บทว่า นานตฺตกิเลเสหิ เพราะกิเลสต่างๆ คือเพราะกิเลสอันเป็นไปอยู่ในอารมณ์ต่างๆ.
               บทนี้ท่านกล่าวเพ่งถึงอารมณ์ แต่บทว่า อโนนตํ จิตไม่ฟุบลงเป็นอาทิ ท่านกล่าวเพ่งถึงกิเลสทั้งหลายนั้นเอง.
               บทว่า โอภาสคตํ จิตที่ถึงความสว่างไสว คือจิตที่ถึงความสว่างไสวเพราะปัญญาด้วยความเป็นไปแห่งความฉลาดเพราะปัญญา.
               บทว่า อวิชฺชนฺธกาเร เพราะความมืดคืออวิชชา คือเพราะอวิชชามีกำลัง ท่านกล่าวภูมิ ๔ มูล ๑๖ ด้วยเป็นส่วนเบื้องต้นของฤทธิ์.
               ท่านกล่าวบาท ๔ และบท ๘ ด้วยเป็นส่วนเบื้องต้นและด้วยการประกอบพร้อม.

               อรรถกถาทสอิทธินิเทศ               
               พระสารีบุตรเถระ ครั้นแสดงธรรมอันเป็นภูมิ บาท บทและมูลแห่งฤทธิ์อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงถึงฤทธิ์เหล่านั้น จึงกล่าวคำมีอาทิว่า กตมา อธิฏฺฐานา อิทฺธิ ฤทธิ์ที่อธิษฐานเป็นไฉน.
               ท่านกล่าวอรรถแห่งบทที่ยกขึ้นในบทนั้นไว้ในอิทธิวิธญาณนิเทศแล้ว.
               บทว่า อิธ ภิกฺขุ คือ ภิกษุในศาสนานี้.
               ด้วยบทนั้น ท่านแสดงถึงความไม่มีแห่งผู้แสดงฤทธิ์ได้โดยประการทั้งปวงไว้ในที่อื่น. นิเทศแห่งบททั้งสองนี้มีอรรถดังที่ท่านได้กล่าวแล้วในหนหลัง.
               อนึ่ง ด้วยบทนั้นนั่นแหละ ภิกษุประกอบแล้วด้วยธรรมอันเป็นภูมิ บาท บทและมูลแห่งฤทธิ์ เป็นอันท่านกล่าวถึงความเป็นผู้มีจิตฝึกแล้วด้วยอาการ ๑๔ หรือ ๑๕ ดังกล่าวแล้วในวิสุทธิมรรค ด้วยสามารถแห่งการเข้าถึงความเป็นใหญ่อย่างหนึ่งๆ มีฉันทะเป็นต้น และความเป็นผู้มีจิตอ่อน ควรแก่การงานด้วยสามารถความเป็นผู้ชำนาญมีอาวัชชนะเป็นต้น.
               ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการประกอบเบื้องต้นมีกำลัง เป็นผู้มีคุณมีได้อภิญญาเป็นต้นด้วยการได้เฉพาะพระอรหัตนั่นเอง ด้วยการถึงพร้อมแห่งการประกอบเบื้องต้น เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมทั้งหลายมีภูมิเป็นต้น เพราะเหตุนั้นจึงเป็นอันท่านกล่าวถึงภิกษุแม้นั้น.
               บทว่า พหุกํ อาวชฺชติ ย่อมนึกให้เป็นหลายคน คือหากภิกษุเข้าจตุตถฌานอันเป็นบทแห่งอภญญามีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ ครั้นออกแล้วย่อมปรารถนาเป็น ๑๐๐ คน ย่อมนึกด้วยทำบริกรรมว่าเราจงเป็น ๑๐๐ คน เราจงเป็น ๑๐๐ คน ดังนี้.
               บทว่า อาวชฺชิตฺวา ญาเณน อธิฏฺฐาติ ครั้นนึกแล้วอธิษฐานด้วยญาณ คือทำบริกรรมอย่างนี้แล้วอธิษฐานด้วยอภิญญาญาณ ครั้นทำบริกรรมในที่นี้แล้วท่านไม่กล่าวถึงการเข้าสมาบัติฌานเป็นบาทอีก ท่านไม่กล่าวไว้ก็จริง แต่ถึงดังนั้นในอรรถกถาท่านก็กล่าวด้วยสามารถบริกรรมว่า อาวชฺชติ ย่อมนึก ครั้นนึกแล้วอธิษฐานด้วยญาณ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวด้วยสามารถแห่งอภิญญาญาณ เพราะฉะนั้น ภิกษุย่อมนึกคนเดียวเป็นหลายคน จากนั้นภิกษุย่อมเข้าสมาบัติในที่สุดแห่งจิตบริกรรม ครั้นออกจากสมาบัติแล้วนึกอีกว่า เราจงเป็นหลายคน.
               ต่อจากนั้นย่อมอธิษฐานด้วยอภิญญาญาณอย่างเดียวเท่านั้น โดยใช้ชื่อว่า อธิฏฺฐานํ ด้วยสามารถให้ความสำเร็จด้วยการเกิดในลำดับแห่งจิตอันเป็นส่วนเบื้องต้น ๓ หรือ ๔ ดวงอันเป็นไปแล้ว เพราะเหตุนั้นอันพึงเห็นอย่างนี้แหละ เพราะท่านกล่าวอันพึงเห็นอรรถในข้อนี้ด้วยประการฉะนี้ เหมือนอย่างเมื่อกล่าวว่า กินแล้วนอนก็มิได้หมายความว่า ไม่ดื่มน้ำ ไม่ล้างมือเป็นต้น แล้วนอนตอนกินเสร็จแล้วนั่นเอง แม้เมื่อมีกิจอื่นในระหว่างก็กล่าวว่า กินแล้วนอนฉันใด พึงเห็นแม้ในข้อนี้ก็ฉันนั้น แม้การเข้าสมาบัติมีญาณเป็นบาทครั้งแรก ท่านก็มิได้กล่าวไว้ในบาลี.
               อนึ่ง พร้อมด้วยอธิษฐานญาณนั้นเป็น ๑๐๐ คน.
               แม้ในพันคน แสนคนก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               หากไม่สำเร็จอย่างนั้น พึงทำบริกรรมอีก พึงเข้าสมาบัติแม้ครั้งที่ ๒ ครั้นออกแล้วพึงอธิษฐาน.
               ท่านกล่าวไว้ในอรรถกถาสังยุตว่า ควรเข้าสมาบัติครั้งหนึ่ง สองครั้ง ในจิตเหล่านั้น จิตมีญาณเป็นบาทมีนิมิตเป็นอารมณ์ จิตบริกรรมมีคน ๑๐๐ เป็นอารมณ์หรือมีคน ๑,๐๐๐ คนเป็นอารมณ์ จิตเหล่านั้นย่อมสำเร็จได้ด้วยวรรณะ มิใช่ด้วยบัญญัติ แม้จิตอธิษฐานก็มีคน ๑๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ เป็นอารมณ์เหมือนกัน จิตอธิษฐานนั้นเป็นรูปาวจรจตุตถฌานย่อมเกิดอย่างนั้นในลำดับโคตรภู ดุจอัปนาจิตดังกล่าวแล้วในก่อน.
               เพื่อแสดงถึงกายสักขีของความเป็นหลายคน ท่านจึงกล่าวว่า เหมือนท่านพระจุลบันถกรูปเดียวเป็นหลายรูปก็ได้ฉะนั้น.
               อนึ่ง ในบทนี้พึงทราบว่า ท่านทำคำเป็นปัจจุบัน เพราะพระเถระเป็นผู้มีปกติทำอย่างนั้น และเพราะพระเถระนั้นยังมีชีวิตอยู่.
               แม้ในวาระว่า เป็นรูปเดียวก็ได้ก็มีนัยนี้เหมือนกัน
               ในข้อนั้นมีเรื่องเล่าว่า
               พระเถระพี่น้องสองรูป ชื่อว่าปันถก เพราะเกิดในหนทาง. พี่น้องสองรูปนั้น พระมหาปันถกผู้พี่บวชแล้วบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา. เพราะมหาปันถกเป็นพระอรหันต์จึงให้จุลบันถกบวชแล้วได้ให้คาถานี้ว่า๑-
                                   ดอกปทุมชื่อโกกนุทบานในเวลาเช้า ยังไม่สิ้นกลิ่น
                         ยังมีกลิ่นหอมอยู่ฉันใด ท่านจงดูพระอังคีรสผู้ไพโรจน์อยู่
                         ดุจดวงอาทิตย์รุ่งโรจน์อยู่ในอากาศฉะนั้น.
____________________________
๑- สํ. ส. เล่ม ๑๕/ข้อ ๓๖๒

               พระจุลบันถกไม่สามารถท่องคาถานั้นให้คล่องได้ล่วงไป ๔ เดือน.
               ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะพระจุลปันถกว่า ท่านไม่สมควรในพระศาสนานี้ จงออกไปจากพระศาสนานี้เสียเถิด.
               อนึ่ง ในเวลานั้น พระเถระเป็นภัตตุเทศก์ (ผู้แจกภัตร). ชีวกโกมารภัจถือเอาดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้เป็นอันมากไปยังอัมพวันของตน บูชาพระศาสดา ฟังธรรมถวายบังคมพระทศพล แล้วเข้าไปหาพระเถระกล่าวว่า พระคุณเจ้าขอรับ พรุ่งนี้ขอพระคุณเจ้าพาภิกษุ ๕๐๐ รูป มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขรับภิกษาที่บ้านของกระผมเถิด.
               พระเถระก็กล่าวว่า อาตมารับนิมนต์แก่ภิกษุที่เหลือเว้นจุลปันถก.
               พระจุลปันถกได้ฟังดังนั้น เสียใจเป็นอย่างยิ่ง รุ่งขึ้นออกจากวัดแต่เช้าตรู่ ยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตูวิหาร เพราะเป็นผู้มีความหวังในพระศาสนา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยของจุลบันถกนั้น จึงเสด็จเข้าไปหาตรัสว่า ร้องไห้ทำไหม. พระจุลบันถกกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ผู้ไม่สามารถทำการท่องจำได้ มิใช่เป็นผู้มิสมควรในศาสนาของเรา อย่าเศร้าโศกไปเลย ปันถก. แล้วเอาฝ่าพระหัตถ์ซึ่งมีรอยจักรลูบศีรษะของพระจุลปันถกนั้น จูงที่แขนเสด็จเข้าสู่พระวิหารให้นั่ง ณ พระคันธกุฎีตรัสว่า ปันถก เธอจงนั่งลูบคลำผ้าเก่าผืนนี้ว่า รโชหรณํ รโชหรณํ นำธุลีออก นำธุลีออก แล้วทรงประทานชิ้นผ้าเก่าบริสุทธิ์อันเกิดด้วยฤทธิ์แก่พระจุลปันถกนั้น.
               เมื่อถึงเวลาทรงแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปเรือนของชีวก ประทับนั่ง ณ อาสนะที่เราปูลาดไว้.
               เมื่อพระจุลปันถกลูบคลำชิ้นผ้าเก่าอยู่อย่างนั้น ผ้าก็หมองได้มีสีดำโดยลำดับ พระจุลปันถกนั้นได้สัญญาว่า ชิ้นผ้าเก่านี้บริสุทธิ์ ไม่มีความหมองคล้ำในผ้านี้ แต่เพราะอาศัยอัตภาพจึงได้หมองคล้ำ ยังญาณให้หยั่งลงในขันธ์ ๕ เจริญวิปัสสนา.
               ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งพระโอภาสปรากฏดุจประทับนั่งข้างหน้าของพระจุลปันถกนั้น ได้ตรัสโอภาสคาถานี้ว่า
                                   ธุลีคือราคะแต่มิใช่เรณู (ละออง) คำว่า รโช
                         (ธุลี) นี้เป็นชื่อของราคะ บัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น
                         ละธุลีนี้แล้วอยู่ในศาสนาของตถาคต ผู้ปราศจากธุลี
                         แล้ว.
                                   ธุลี คือ โทสะ ฯลฯ ในศาสนาของตถาคตผู้
                         ปราศจากธุลีแล้ว.
                                   ธุลี คือ โมหะ ฯลฯ ในศาสนาของตถาคตผู้
                         ปราศจากธุลีแล้ว.๒-
                                   ความโศกทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่ผู้ที่มีจิตยิ่ง
                         ไม่ประมาท เป็นมุนี ศึกษาอยู่ในครองแห่งมุนี คงที่
                         สงบ มีสติทุกเมื่อ.
๓-
____________________________
๒- ขุ. มหา. เล่ม ๒๙/ข้อ ๙๘๐  ๓- ขุ. อุ. เล่ม ๒๕/ข้อ ๑๐๑

               เมื่อจบคาถาพระเถระบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา พระเถระนั้นเป็นผู้ได้ฌานสำเร็จแต่ใจ รูปเดียวเป็นหลายรูปก็ได้ หลายรูปสามารถเป็นรูปเดียวก็ได้. ปิฎก ๓ และอภิญญา ๖ ได้ปรากฏแก่พระเถระด้วยอรหัตมรรคนั่นแล.
               แม้ชีวกก็น้อมทักษิโณทกเข้าไปถวายแด่พระทศพล พระศาสดาทรงปิดบาตร ชีวกทูลถามว่า เป็นอย่างไร พระเจ้าข้า ตรัสว่ายังมีภิกษุรูปหนึ่งอยู่ในวิหาร ชีวกนั้นจึงส่งบุรุษไปบอกว่า เจ้าจงไปนำพระคุณเจ้ามาเร็วพลัน.
               พระจุลปันถกเถระประสงค์จะให้พี่ชายรู้ว่าตนบรรลุธรรมวิเศษแล้ว ก่อนที่บุรุษนั้นจะมาถึงจึงนิรมิตภิกษุ ๑,๐๐๐ รูป แม้รูปหนึ่งก็ไม่เหมือนกับรูปหนึ่ง รูปหนึ่งได้ทำกิจของสมณะมีเย็บจีวรเป็นต้นไม่เหมือนกับรูปอื่น บุรุษไปเห็นภิกษุในวัดมากมายจึงกลับมาบอกแก่ชีวกว่า นาย ภิกษุในวัดมากมาย ผมไม่เห็นพระคุณเจ้าที่ควรจะนิมนต์เลย.
               ชีวกทูลถามพระศาสดาบอกชื่อของพระเถระรูปนั้นแล้ว ส่งบุรุษไปอีก. บุรุษนั้นไปถามว่า ท่านขอรับ รูปไหนชื่อจุลปันถก. ทั้งพันรูปบอกพร้อมกันกล่าวว่า เราคือจุลปันถก เราคือจุลปันถก. บุรุษนั้นกลับไปอีกกล่าวว่า นัยว่า พระคุณท่านทั้งหมดเป็นจุลปันถก ผมไม่รู้จะนิมนต์รูปไหน.
               ชีวกได้รู้โดยนัยว่า ภิกษุมีฤทธิ์ เพราะแทงตลอดสัจจธรรม.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอจงไป จงจับภิกษุที่เห็นเป็นรูปแรกที่ชายจีวรแล้วกล่าวว่า พระศาสดาตรัสเรียกท่านแล้วนำมา.
               บุรุษนั้นไปแล้วได้ทำตามนั้น ทันใดนั้นเอง ภิกษุที่นิรมิตแล้วทั้งหมดก็หายไป พระเถระส่งบุรุษนั้นกลับไป สำเร็จเสร็จกิจล้างหน้าเป็นต้นแล้วไปถึงก่อนนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้.
               ในขณะนั้น พระศาสดาทรงรับทักษิโณทก เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้วให้พระจุลปันถกเถระกล่าวธรรมกถาอนุโมทนาภัตร พระเถระกล่าวธรรมกถามีประมาณเท่าคัมภีร์ทีฆนิกายและมัชฌิมนิกาย.
               ภิกษุรูปอื่นๆ นิรมิตกายสำเร็จแต่ใจด้วยการอธิษฐานย่อมนิรมิตได้ ๓ รูปหรือ ๒ รูป ย่อมนิรมิตหลายรูปให้เป็นเช่นกับรูปเดียวได้ และทำกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น แต่พระจุลปันถกเถระนิรมิตได้ ๑,๐๐๐ รูปโดยนึกครั้งเดียวเท่านั้น มิได้ทำ ๒ คนให้เป็นเช่นกับคนเดียว มิได้ทำกรรมอย่างเดียว เพราะฉะนั้นพระเถระจึงเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุผู้นิรมิตกายสำเร็จแต่ใจ.
               ส่วนภิกษุรูปอื่นๆ ไม่กำหนดจำนวนมากจึงเป็นเช่นผู้มีฤทธิ์นิรมิตได้เท่านั้น ภิกษุรูปอื่นๆ ย่อมทำกรรมที่ผู้มีฤทธิ์ทำมียืนนั่งเป็นต้น และความเป็นผู้พูดนิ่งเป็นต้นได้เท่านั้น แต่หากว่าประสงค์จะทำวรรณะต่างๆ บางพวกก็ทำได้ในปฐมวัย บางพวกก็ในมัชฌิมวัย บางพวกก็ในปัจฉิมวัย อนึ่งประสงค์จะทำผมยาว โล้นทั้งหมด มีผมปน มีจีวรสีแดงครึ่งหนึ่งจีวรสีเหลือง หรือทำบทภาณ ธรรมกถา สรภัญญะ ถามปัญหาแก้ปัญหา ย้อมต้มเย็บซักจีวรเป็นต้นมีประการต่างๆ แม้อย่างอื่น ครั้นออกจากสมาบัติมีฌานเป็นบาท แล้วทำปริกรรมโดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุประมาณเท่านี้จงเป็นผู้มีปฐมวัย แล้วเข้าสมาบัติอีกครั้นออกแล้วพึงอธิษฐาน จึงเป็นผู้มีประการที่ตนปรารถนาแล้วๆ กับด้วยจิตอธิษฐาน.
               ในบทมีอาทิว่า พหุธาปิ หุตฺวา เอโก โหติ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ มีนัยนี้เหมือนกัน.
               แต่ความต่างกันมีดังต่อไปนี้.
               บทว่า ปกติยา พหุโก โดยปกติหลายคน คือโดยปกติที่นิรมิตในระหว่างกาลนิรมิตหลายคน.
               อนึ่ง ภิกษุนี้ครั้นนิรมิตความเป็นหลายรูปอย่างนี้แล้ว จึงดำริต่อไปว่า เราจักจงกลมรูปเดียว จักทำการท่อง จักถามปัญหา เพราะความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยว่าวัดนี้มีภิกษุน้อย หากพวกอื่นจักมา จักรู้จักเราว่า ภิกษุประมาณเท่านี้เหมือนรูปเดียวกันมาแต่ไหน นี้จักเป็นอานุภาพของพระเถระแน่แท้ ดังนี้จึงปรารถนาว่า เราจงเป็นรูปเดียว ในระหว่างเข้าสมาบัติมีฌานเป็นบาท ครั้นออกแล้วทำบริกรรมว่า เราจงเป็นรูปเดียวเข้าสมาบัติอีก ครั้นออกแล้วพึงอธิษฐานว่า เราจงเป็นรูปเดียวพร้อมกับจิตอธิษฐานนั่นเองก็เป็นรูปเดียว เมื่อไม่ทำอย่างนี้ย่อมเป็นรูปเดียวได้เองด้วยตามที่กำหนดไว้.
               เพราะบทว่า อาวิภาวํ ทำให้ปรากฏมาเป็นบทตั้งแล้วกล่าวว่า เกนจิ อนาวฏํ โหติ ทำให้ไม่มีอะไรปิดบัง ท่านจึงกล่าวถึงอรรถแห่งการปรากฏของบทว่า อาวิภาว ด้วยบทว่า เกนจิ อนาวฏํ.
               ท่านกล่าวถึงปาฐะที่เหลือว่า กโรติ ด้วยบทว่า โหติ ดังนี้ เพราะเมื่อทำให้แจ้งก็เป็นอันทำให้ปรากฏ.
               บทว่า เกนจิ อนาวฏํ คือไม่มีอะไรๆ มีฝาเป็นต้นปิดบัง คือปราศจากเครื่องกั้น.
               บทว่า อปฺปฏิจฺฉนฺนํ ไม่ปกปิด คือไม่ปิดข้างบน.
               ชื่อว่า วิวฏํ เปิดเผยเพราะไม่ปิดบัง ชื่อว่า ปากฏํ ปรากฏ เพราะไม่ปกปิด.
               บทว่า ติโรภาวํ ทำให้หายไป คือทำให้อยู่ในระหว่าง
               ชื่อว่า ปิหิตํ ปิดบังเพราะเครื่องกั้นนั้นปิด ชื่อว่า ปฏิกุชฺชิตํ มิดชิดเพราะปิดที่ที่ปิดบังไว้นั้นเอง.
               บทว่า อากาสกสิณสมาปตฺติยา ได้แก่ จตุตถฌานสมาบัติอันเกิดขึ้นแล้วในอากาศกสิณที่กำหนดไว้.
               บทว่า ลาภี เป็นผู้ได้ ชื่อว่าลาภี เพราะเป็นผู้มีลาภ.
               บทว่า อปริกฺขิตฺเต ไม่มีอะไรกันไว้ คือในท้องที่ที่ไม่มีอะไรกั้นไว้โดยรอบ เพราะท่านกล่าวอากาศกสิณไว้ในที่นี้ ฌานที่เจริญแล้วในที่นั้นนั่นแหละย่อมเป็นปัจจัยแห่งอากาศกสิณ ไม่พึงเห็นว่าอย่างอื่น พึงเห็นฌานมีกสิณนั้นเป็นอารมณ์แม้ในบรรดาอาโปกสิณในเบื้องบนเป็นต้น มิใช่อย่างอื่น.
               บทว่า ปฐวี อาวชฺชติ อุทกํ อาวชฺชติ อากาสํ อาวชฺชติ ย่อมนึกถึงแผ่นดิน ย่อมนึกถึงน้ำ ย่อมนึกถึงอากาศ คือย่อมนึกถึงแผ่นดิน น้ำและอากาศตามปกติ.
               บทว่า อนฺตลิกฺเข บนอากาศท่านแสดงถึงที่อากาศนั้นเป็นอากาศไกลกว่าแผ่นดิน เพราะท่านไม่นิยมกสิณในการลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ จึงกล่าวโดยไม่ต่างกันว่าผู้มีฤทธิ์เป็นผู้ถือความชำนาญแห่งจิต.
               บทว่า นิสินฺนโก วา นิปนฺนโก วา คือ นั่งก็ดี นอนก็ดี ด้วยบทนี้เป็นอันท่านกล่าวถึงแม้อิริยาบถทั้งสองนอกนั้นด้วย.
               บทว่า หตฺถปาเส โหตุ คือ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จงมีในที่ใกล้มือ.
               ปาฐะว่า หตฺถปสฺเส โหตุ จงมีที่ข้างมือบ้าง บทนี้ท่านกล่าวด้วยอำนาจของผู้ใคร่จะทำอย่างนั้น.
               อนึ่ง ผู้มีฤทธิ์นี้แม้ไปในที่นั้น แล้วก็ยกมือลูบคลำได้.
               บทว่า อามสติ ลูบ คือถูกต้องนิดหน่อย.
               บทว่า ปรามสติ คลำ คือถูกต้องหนักหน่อย.
               บทว่า ปริมชฺชติ สัมผัส คือถูกต้องโดยรอบ.
               บทว่า รูปคตํ คือ รูปที่ตั้งอยู่ใกล้มือนั่นเอง.
               บทว่า ทูเรปิ สนฺติเก อธิฏฺฐาติ อธิษฐานที่ไกลให้เป็นที่ใกล้คือผู้มีฤทธิ์ครั้นออกจากสมาบัติมีฌานเป็นบาทแล้ว ย่อมนึกถึงเทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี ในที่ไกลกว่า จงมีในที่ใกล้ดังนี้ ครั้นนึกถึงแล้วกระทำบริกรรมเข้าสมาบัติอีก ครั้นออกแล้วอธิษฐานด้วยญาณว่า จงมีในที่ใกล้ดังนี้ ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ย่อมมีในที่ใกล้.
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้.
               อนึ่ง พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงถึงความวิเศษของความวิเศษแห่งฤทธิ์นี้ แม้ไม่เป็นอุปการะแก่ผู้ประสงค์จะไปพรหมโลกกล่าวถึงการกระทำที่ไกลให้เป็นที่ใกล้แล้วไปพรหมโลกได้ จึงกล่าวคำมีอาทิว่า สนฺติเกปิ แม้ในที่ใกล้.
               ในบทนั้นมิใช่การทำเล็กน้อยและทำมากอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งทั้งหมดที่ปรารถนาย่อมสำเร็จแก่ผู้มีฤทธิ์.
               แม้ในบทมีอาทิว่า อมธุรํ มธุรํ ทั้งไม่อร่อยทั้งอร่อย พึงทราบนัยอื่นอีก.
               บทว่า ทูเรปิ สนฺติเก อธิฏฺฐาติ อธิษฐานแม้ที่ไกลให้เป็นที่ใกล้ คืออธิษฐานพรหมโลก ในที่ไกลให้เป็นที่ใกล้ของมนุษยโลก.
               บทว่า สนฺติเกปิ ทูเร อธิฏฺฐาติ อธิษฐานแม้ในที่ใกล้ให้เป็นที่ไกล คืออธิษฐานมนุษยโลกในที่ใกล้ให้เป็นพรหมโลกในที่ไกล.
               บทว่า พหุกมฺปิ โถกํ อธิฏฺฐาติ อธิษฐานของแม้มากให้เป็นของน้อยคือหากว่าพรหมทั้งหลายมาประชุมกันมาก เพราะพรหมมีร่างกายใหญ่จะละทัศนูปจาร (การเห็นใกล้เคียง) สวนูปจาร (การฟังใกล้เคียง) ผู้มีฤทธิ์ย่อรวมกันในทัศนูปจารและสวนูปจาร อธิษฐานแม้ของมากให้เป็นของน้อย.
               บทว่า โถกมฺปิ พหุกํ อธิฏฺฐาติ อธิษฐานแม้ของน้อยให้เป็นของมาก คือหากว่าผู้มีฤทธิ์ประสงค์จะไปกับบริวารมาก เป็นผู้มีบริวารมาก เพราะอธิษฐานตนชื่อว่าน้อยเพราะมีคนเดียวให้มากไปแล้ว พึงเห็นอรรถในบทนี้ด้วยประการฉะนี้แล.
               เมื่อเป็นอย่างนั้นแม้บท ๔ อย่างนี้ย่อมเป็นอุปการะในการไปพรหมโลก.
               บทว่า ทิพฺเพน จกฺขุนา ตสฺส พฺรหฺมุโน รูปํ ปสฺสติ ย่อมเห็นรูปพรหมนั้นด้วยทิพยจักษุ คือผู้มีฤทธิ์ยืนอยู่ในที่นี้เจริญอาโลกกสิณ ย่อมเห็นรูปพรหมที่ประสงค์จะเห็นด้วยทิพยจักษุ ยืนอยู่ในที่นี้นั่นแหละย่อมได้ยินเสียงของพรหมนั้นกำลังพูดกันด้วยทิพโสตธาตุ ย่อมรู้จิตของพรหมนั้นด้วยเจโตปริญาณ.
               บทว่า ทิสฺสมาเนน ด้วยกายที่ปรากฏ คือด้วยการที่เพ่งด้วยจักษุ.
               บทว่า กายวเสน จิตฺตํ ปริณาเมติ คือ น้อมจิตด้วยสามารถแห่งรูปกาย ยึดจิตมีฌานเป็นบาทแล้วยกขึ้นในกาย กระทำการไปของกายด้วยสำคัญว่าเบา ให้เป็นการไปช้าเพราะการไปด้วยกายเป็นความช้า.
               บทว่า อธิฏฺฐาติ เป็นไวพจน์ของบทนั้นนั่นแหละ. ความว่าให้สำเร็จ.
               บทว่า สุขสญฺญญฺจ ลหุสญฺญญฺจ โอกฺกมิตฺวา หยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญา คือหยั่งลงเข้าไปถูกต้องเข้าถึงสุขสัญญาและลหุสัญญาอันเกิดพร้อมกับอิทธิจิต มีฌานเป็นบาทเป็นอารมณ์ สัญญาสัมปยุตด้วยอุเบกขา ชื่อสุขสัญญา เพราะอุเบกขาท่านกล่าวว่า ความสงบเป็นความสุข สัญญานั่นแหละพึงทราบว่าเป็นลหุสัญญาเพราะพ้นจากนิวรณ์และธรรมเป็นข้าศึกมีวิตกเป็นต้น.
               แม้กรชกายของผู้มีฤทธิ์หยั่งลงสู่สัญญานั้นก็เบาดุจปุยนุ่น ผู้มีฤทธิ์นั้นไปสู่พรหมโลกด้วยกายอันปรากฏเบาดุจปุยนุ่นที่ถูกลมพัดไป.
               อนึ่ง เมื่อไปอย่างนี้ หากปรารถนาก็นิรมิตทางบนอากาศด้วยปฐวีกสิณแล้วเดินไป หากปรารถนาก็นิรมิตดอกปทุมทุกๆ ย่างเท้าบนอากาศด้วยปฐวีกสิณนั่นแหละแล้ววางเท้าบนดอกปทุมเดินไป หากปรารถนาก็อธิษฐานลมด้วยวาโยกสิณแล้วไปกับลมดุจปุยนุ่น ความเป็นผู้ใคร่จะไปนั่นแหละเป็นประมาณในเรื่องนี้ เพราะความเป็นผู้ใคร่จะไป ผู้มีฤทธิ์นั้นจึงอธิษฐานจิตทำอย่างนั้น ชัดไปด้วยกำลังของอธิษฐานปรากฏดุจลูกศรแล่นไปด้วยกำลังของสายธนู.
               บทว่า จิตฺตวเสน กายํ ปริณาเมติ น้อมกายไปด้วยอำนาจจิตคือยึดกรชกาย แล้วยกขึ้นในจิตอันมีฌานเป็นบท ทำการไปของจิตให้เป็นการไปเร็ว เพราะการไปด้วยจิตเป็นความเร็ว.
               บทว่า สุขสญฺญญฺจ ลหุสญฺญญฺจ โอกฺกมิตฺวา คือ หยั่งลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญา อันเกิดพร้อมกับอิทธิจิตอันมีรูปกายเป็นอารมณ์.
               บทที่เหลือพึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
               แต่บทนี้เป็นการไปด้วยจิต เมื่อถามว่าผู้มีฤทธิ์นี้ เมื่อไปด้วยกายอันไม่ปรากฏอย่างนี้ ย่อมไปในอุปาทขณะแห่งจิตอธิษฐานนั้นหรือ หรือว่าในฐิติขณะหรือภังคขณะ. พระเถระกล่าวว่าไปในขณะแม้ทั้ง ๓ ไปเองหรือว่าส่งรูปนิรมิตไป ทำตามชอบใจ แต่ในที่นี้ ผู้มีฤทธิ์นั้นไปมาเอง.
               บทว่า มโนมยํ สำเร็จแต่ใจ ชื่อว่า มโนมยํ เพราะเป็นรูปนิมิตด้วยใจอธิษฐาน.
               ชื่อว่า สพฺพงฺคปจฺจงฺคํ มีอวัยวะครบทุกส่วน คือมีอวัยวะน้อยใหญ่ครบทั้งหมด.
               บทว่า อหีนินฺทฺริยํ มีอินทรีย์ไม่บกพร่องนี้ ท่านกล่าวด้วยสามารถแห่งสัณฐานของจักษุและโสตะเป็นต้น เพราะในรูปนิมิตไม่มีประสาท.
               บทมีอาทิว่า สเจ โส อิทฺธิมา จงฺกมติ นิมฺมิโตปิ ตตฺถ จงฺกมติ หากผู้มีฤทธิ์จงกรมอยู่ แม้รูปนิมิตก็จงกรมในที่นั้น ท่านกล่าวหมายถึงสาวกนิมิตทั้งหมด ส่วนพุทธนิมิตทั้งหลายย่อมทำสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำ ทำแม้อย่างอื่นด้วยอำนาจจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               บทว่า ธูมายติ ปชฺชลติ บังหวนควันให้ไฟลุกโพลง ท่านกล่าวด้วยอำนาจเตโชกสิณ.
               สามบทมีอาทิว่า ธมฺมํ ภาสติ กล่าวธรรม ท่านกล่าวไม่แน่นอน.
               บทว่า สนฺติฏฺฐติ ยืนอยู่ คือยืนร่วมกัน.
               บทว่า สลฺลปติ สนทนาอยู่ คือสนทนาร่วมกัน.
               บทว่า สากจฺฉํ สมาปชฺชติ ปราศัยกัน ปราศัยด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกันและกัน.
               อนึ่ง ผู้มีฤทธิ์นั้นยืนอยู่ ณ ที่นี้ ย่อมเห็นรูปด้วยทิพยจักษุ ย่อมได้ยินเสียงด้วยทิพโสตธาตุ ย่อมรู้จิตด้วยเจโตปริยญาณ ย่อมยืนสนทนาปราศรัยกับพรหมนั้น.
               การอธิษฐานของผู้มีฤทธิ์นั้นมีอาทิว่า ย่อมอธิษฐานแม้ในที่ไกลให้เป็นที่ใกล้ได้ ผู้มีฤทธิ์นั้นไปสู่พรหมโลกด้วยกายอันปรากฏหรือไม่ปรากฏ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ย่อมไม่ยังอำนาจให้เป็นไปทางกายได้ ย่อมถึงวิธีดังที่กล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า ผู้มีฤทธิ์นั้นย่อมนิรมิตคนมีรูปไว้ข้างหน้าพรหมนั้นได้ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ชื่อว่าย่อมยังอำนาจให้เป็นไปทางกายได้.
               ส่วนบทที่เหลือท่านกล่าวไว้เพื่อชี้ให้เห็นส่วนเบื้องต้นของการยังอำนาจให้เป็นไปทางกาย นี้เป็นฤทธิ์ที่อธิษฐาน.

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาวรรค ๒. อิทธิกถา
อ่านอรรถกถาหน้าต่างที่ [หน้าสารบัญ] [๑] [๒] [๓]
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 659อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 679อ่านอรรถกถา 31 / 695อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=10090&Z=10320
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=6954
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=6954
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๗  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :