ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 285อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 286อ่านอรรถกถา 31 / 294อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
สัพพัญญุตญาณนิทเทส

               ๗๒-๗๓. อรรถกถาสัพพัญญุตญาณนิทเทส               
               [๒๘๖-๒๙๓] พึงทราบวินิจฉัยในสัพพัญญุตญาณนิทเทสดังต่อไปนี้
               พระสารีบุตรเถระถามว่า พระสัพพัญญุตญาณของพระตถาคต เป็นไฉน? แล้วแสดงอนาวรณญาณ - ญาณไม่มีสิ่งปิดกั้น กับด้วยพระสัพพัญญุตญาณนั้นนั่นแหละ เพราะมีคติเสมอกันด้วยอนาวรณญาณนั้น.
               จริงอยู่ อนาวรณญาณมิได้มีต่างหากจากธรรมดา. เพราะญาณนี้ญาณเดียวเท่านั้น ท่านกล่าวเป็น ๒ อย่าง ดุจประเภทแห่งอาการสัทธินทรีย์และสัทธาพละเป็นต้น.
               พระสัพพัญญุตญาณนั่นแหละ ท่านกล่าวว่าอนาวรณะ เพราะไม่มีเครื่องปิดกั้น เพราะอันธรรมไรๆ หรือบุคคลไม่สามารถจะทำการปิดกั้นได้ เพราะธรรมทั้งปวงเนื่องด้วยการคำนึง. แต่ผู้อื่นแม้คำนึงก็รู้ไม่ได้.
               ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะเป็นไปในอารมณ์ทั้งปวง ดุจมโนวิญญาณ.
               สัพพัญญุตญาณนั้นนั่นแหละเป็นอนาวรณญาณ เพราะไม่มีอะไรขัดขวางในอารมณ์ทั้งหลาย ดุจวชิราวุธของพระอินทร์.
               พระสัพพัญญุตญาณปฏิเสธความเป็นสัพพัญญูตามลำดับ. อนาวรณญาณปฏิเสธความเป็นสัพพัญญูคราวเดียว. พระผู้มีพระภาคเจ้าอันบัณฑิตกล่าวว่าพระสัพพัญญู เพราะการได้พระสัพพัญญุตญาณ มิใช่การได้สัพพัญญูตามลำดับ. บัณฑิตกล่าวว่าพระสัพพัญญู เพราะการได้อนาวรณญาณ มิใช่การได้สัพพัญญูคราวเดียว.
               บทว่า สพฺพํ ในบทนี้ว่า สพฺพํ สงฺขตมสงฺขตํ อนวเสสํ ชานาติ - พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้สังขตธรรมและอสังขตธรรมทั้งปวงไม่มีส่วนเหลือ เป็นบทถือเอาความไม่มีส่วนเหลือของธรรมทั้งปวงโดยชาติ.
               บทว่า อนวเสสํ - ไม่มีส่วนเหลือ เป็นบทถือเอาความไม่มีส่วนเหลือแห่งธรรมอย่างหนึ่งๆ ด้วยสามารถอาการทั้งปวง.
               บทว่า สงฺขตมสงฺขตํ เป็นบทแสดงประเภท ๒ อย่าง. เพราะสังขตะเป็นประเภทหนึ่ง. อสังขตะเป็นประเภทหนึ่ง. ขันธปัญจกเป็นสังขตะ เพราะอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง. นิพพานเป็นอสังขตะ เพราะไม่ปรุงแต่งอย่างนั้น. ย่อมรู้สังขตะไม่มีส่วนเหลือโดยอาการมีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเป็นต้น. ย่อมรู้อสังขตะไม่มีส่วนเหลือโดยอาการมีสุญญตนิมิตและอัปปณิหิตนิมิตเป็นต้น.
               ชื่อว่า อนวเสสํ เพราะไม่มีสังขตะและอสังขตะเหลือ. บัญญัติแม้หลายประเภทย่อมเข้ากับฝ่ายอสังขตะ เพราะปัจจัยมิได้ปรุงแต่ง.
               จริงอยู่ พระสัพพัญญุตญาณย่อมรู้บัญญัติแม้ทั้งปวงโดยประการไม่น้อย.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สพฺพํ เป็นบทถือเอาธรรมทั้งหมด.
               บทว่า อนวเสสํ เป็นบทถือเอาไม่มีอาศัย.
               บทว่า ตตฺถ อาวรณํ นตฺถิ - ไม่มีเครื่องปิดกั้นในญาณนั้น
               ความว่า เครื่องปิดกั้นพระสัพพัญญุตญาณไม่มี เพราะไม่มีเครื่องปิดกั้นของในสังขตะและอสังขตะอันไม่มีส่วนเหลือนั้น. เพราะฉะนั้น พระสัพพัญญุตญาณนั้นนั่นแหละจึงชื่อว่าอนาวรณญาณ.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระ เพื่อจะแสดงโดยประเภทแห่งอารมณ์หลายอย่างจึงกล่าวบทมีอาทิว่า อตีตํ - ธรรมส่วนอดีต.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า อตีตํ อนาคตํ ปจฺจุปฺปนฺนํ - ท่านแสดงโดยประเภทของกาล.
               บทมีอาทิว่า จกฺขุญฺเจว รูปาจ - ท่านแสดงโดยประเภทแห่งอารมณ์และวัตถุ.
               บทว่า เอวํ ตํ สพฺพํ - รู้ธรรมทั้งหมดนั้นอย่างนี้ เป็นบทถือเอาโดยไม่มีส่วนเหลือของจักษุและรูปเหล่านั้น.
               ในบทที่เหลือก็อย่างนี้.
               บทว่า ยาวตา ตลอดทั้งหมด เป็นบทถือเอาโดยไม่มีส่วนเหลือ.
               บทมีอาทิว่า อนิจฺจฏฺฐํ - มีสภาพไม่เที่ยง ท่านแสดงโดยประเภทแห่งสามัญลักษณะ.
               บทว่า อนิจฺจฏฺฐํ คือ มีอาการไม่เที่ยง.
               ในบทเช่นนี้ก็มีนัยนี้.
               บทมีอาทิว่า รูปสฺส ท่านแสดงโดยประเภทแห่งขันธ์.
               บทว่า จกฺขุสฺส ฯลฯ ชรามรณสฺส พึงประกอบโดยนัยแห่งไปยาลที่กล่าวไว้แล้วในหนหลัง.
               ในบทมีอาทิว่า อภิญฺญาย - ด้วยอภิญญา ได้แก่ญาณดังได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               บทว่า อภิญฺญฏฺฐํ คือ สภาพที่ควรรู้ยิ่ง.
               ในบทเช่นนี้ก็มีนัยนี้.
               บทมีอาทิว่า ขนฺธานํ ขนฺธฏฺฐํ รู้สภาพที่เป็นเองแห่งขันธ์ พึงทราบโดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               บทมีอาทิว่า กุสเล ธมฺเม - กุศลธรรมทั้งหลาย คือเป็นประเภทด้วยสามารถแห่งกุสลัตติกะ - หมวด ๓ แห่งกุศล.
               บทมีอาทิว่า กามวจเร ธมฺเม - กามาวจรธรรมเป็นประเภทด้วยสามารถแห่งธรรมเป็นไปในภูมิ ๔. แม้ในปาฐะเป็นพหุวจนะว่า สพฺเพ ชานาติ ย่อมรู้ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นปาฐะดี. แต่เพราะตกไปในกระแสแห่งเอกวจนะในคัมภีร์ ท่านจึงเขียนด้วยเอกวจนะ.
               บทมีอาทิว่า ทุกฺขสฺส เป็นประเภทแห่งอารมณ์แห่งพุทธญาณ ๑๔ อย่าง.
               บทมีอาทิว่า อินฺทฺริยปโรปริยตฺเต ญาณํ - อินทริยปโรปริยัตตญาณ.
               หากถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวฌาน ๔ ไม่กล่าวพระสัพพัญญุตญาณ.
               ตอบว่า เพราะฌาน ๔ ที่ท่านกล่าวเป็นสัพพัญญุตญาณ. เมื่อกล่าวสัพพัญญุตญาณโดยประเภทแห่งอารมณ์ ก็ไม่ควรกล่าวถึงญาณนั้น.
               อนึ่ง พระสัพพัญญุตญาณย่อมเป็นวิสัยแห่งพระสัพพัญญุตญาณนั่นแหละ.
               พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงภูมิแห่งพระสัพพัญญุตญาณ โดยนัยดังกล่าวแล้วในกาลการามสูตร๑- เป็นต้น จึงกล่าวบทมีอาทิว่า ยาวตา สเทวกสฺส โลกสฺส - แห่งโลกพร้อมทั้งเทวโลกตลอดทั้งหมด.
____________________________
๑- องฺ. จตุกฺก. เล่ม ๒๑/ข้อ ๒๔

               ในบทเหล่านั้น พึงทราบความดังต่อไปนี้
               โลกพร้อมทั้งเทวดาชื่อว่า สเทวกสฺส. พร้อมทั้งมารชื่อว่า สมารกสฺส. พร้อมทั้งพรหมชื่อว่า สพฺรหฺมกสฺส. พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ชื่อว่า สสฺสมณพฺราหฺมณิยา. หมู่สัตว์พร้อมด้วยเทวดาและมนุษย์ชื่อว่า สเทวมนุสฺสาย.
               บทว่า ปชา นี้เป็นคำกล่าวโดยปริยายของสัตวโลก เพราะเป็นผู้เกิดแล้ว.
               ในบทนั้นพึงทราบ การถือเอากามวจรเทพ ๕ ด้วยคำว่าพร้อมทั้งเทวโลก. ถือเอากามาวจรเทพที่ ๖ ด้วยคำว่าพร้อมทั้งมารโลก. ถือเอาพวกพรหมมีพรหมกายิกาเป็นต้นด้วยคำว่าพร้อมทั้งพรหมโลก. ถือเอาสมณพราหมณ์ผู้เป็นข้าศึกศัตรูของศาสนา และถือเอาสมณพราหมณ์ผู้สงบ ผู้ลอยบาปแล้ว ด้วยคำว่าพร้อมทั้งสมณพราหมณ์. ถือเอาสัตวโลกด้วยคำว่าปชา. ถือเอาสมมติเทพและมนุษย์ที่เหลือด้วยคำว่าพร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์.
               ในนิทเทสนี้ พึงทราบว่า ท่านถือเอาโอกาสโลกด้วย ๓ บท. สัตวโลกด้วยสามารถหมู่สัตว์ด้วย ๒ บท.
               พึงทราบนัยอื่นต่อไป.
               ถือเอาอรูปาวจรโลกด้วย สเทวกศัพท์. ถือเอาฉกามาวจรเทวโลกด้วย สมารกศัพท์. ถือเอารูปาวจรพรหมโลกด้วย สพฺรหฺมกศัพท์. ถือเอามนุษยโลกหรือสัตวโลกที่เหลือพร้อมด้วยบริษัท ๔ หรือสมมติเทพด้วย สสฺสมณพฺราหฺมณศัพท์เป็นต้น.
               อีกอย่างหนึ่ง ในนิทเทสนี้ ท่านยังความเป็นคือความรู้มีอารมณ์ที่ได้เห็นแห่งสัตวโลกทั้งหมดให้สำเร็จโดยกำหนดอย่างอุกฤษฏ์ด้วยคำว่าสเทวกะ. แต่นั้นพระสารีบุตรเถระ เมื่อจะกำจัดความสงสัยของชนทั้งหลายที่จะพึงมีปัญหาว่า มารมีอานุภาพมาก เป็นใหญ่ในฉกามาวจรเทพ เป็นผู้มีอำนาจ. ย่อมรู้อารมณ์ที่เห็นแล้วเป็นต้นของมารนั้นหรือ จึงกล่าวว่า สมารกสฺส - พร้อมทั้งมารโลก.
               พระสารีบุตรเถระ เมื่อจะกำจัดความสงสัยของชนทั้งหลายที่จะพึงมีความสงสัยว่า พรหมมีอานุภาพมาก ย่อมแผ่แสงสว่างในหนึ่งพันจักรวาลด้วย ๑ องคุลี. ย่อมแผ่แสงสว่างในหมื่นจักรวาล ด้วย ๒ องคุลี ฯลฯ ๑๐ องคุลี และย่อมเสวยสุขในฌานสมาบัติอย่างเยี่ยม. ย่อมรู้อารมณ์ที่ได้เห็นเป็นต้นของพรหมนั้นหรือ จึงกล่าวว่า สพฺรหฺมกสฺส - พร้อมทั้งพรหมโลก.
               แต่นั้นพระสารีบุตรเถระ เมื่อจะกำจัดความสงสัยของชนทั้งหลายที่จะพึงมีปัญหาว่า สมณพราหมณ์เป็นอันมากเป็นศัตรูของศาสนา จะรู้อารมณ์ที่เห็นเป็นต้นของสมณพราหมณ์เหล่านั้นหรือ จึงกล่าวว่า สสฺสมณพฺราหฺมณิยา ปชาย หมู่สัตว์พร้อมด้วยสมณพราหมณ์.
               พระสารีบุตรเถระครั้นประกาศความเป็นคือการรู้อารมณ์ที่เห็นแล้วเป็นต้นอย่างอุกฤษฏ์อย่างนี้ แล้วจึงประกาศความเป็นคือการรู้อารมณ์ที่เห็นแล้วเป็นต้นของสัตวโลกที่เหลือด้วยกำหนดอย่างอุกฤษฏ์ อาศัยสมมติเทพและมนุษย์ที่เหลือ.
               นี้เป็นลำดับอนุสนธิในนิทเทสนี้.
               ส่วนพระโบราณาจารย์กล่าวว่า บทว่า สเทวกสฺส คือ โลกที่เหลือพร้อมด้วยเทวโลก.
               บทว่า สมารกสฺส คือ โลกที่เหลือพร้อมด้วยมารโลก.
               บทว่า สพฺรหฺมกสฺส คือ โลกที่เหลือพร้อมด้วยพรหมโลก.
               เพื่อเพิ่มสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดในภพ ๓ แม้ทั้งหมดอย่างนี้เข้าใน ๓ บทด้วยอาการ ๓ แล้วถือเอาโดยอาการ ๒ อีก พระสารีบุตรเถระจึง กล่าวว่า สสฺสมณพฺราหฺมณิยา ปชาย สเทวมนุสฺสาย แห่งหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์. เป็นอันท่านถือเอาไตรธาตุนั่นแหละโดยอาการนั้นๆ ด้วยบท ๕ บท ด้วยประการฉะนี้.
               บทว่า ทิฏฺฐํ - อารมณ์ที่เห็นแล้ว ได้แก่ รูปายตนะ.
               บทว่า สุตํ - อารมณ์ที่ได้ฟังแล้ว ได้แก่ สัททายตนะ.
               บทว่า มุตํ - อารมณ์ที่ทราบแล้ว ได้แก่ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ เพราะถึงแล้วจึงถือเอาได้.
               บทว่า วิญฺญาตํ - อารมณ์ที่ได้รู้แล้ว ได้แก่ธรรมารมณ์มีสุขทุกข์เป็นต้น.
               บทว่า ปตฺตํ - อารมณ์ที่ได้ถึงแล้ว ได้แก่อารมณ์ที่ถึงแล้ว เพราะแสวงหาก็ตาม ไม่แสวงหาก็ตาม.
               บทว่า ปริเยสิตํ - อารมณ์ที่แสวงหาแล้ว ได้แก่อารมณ์ที่แสวงหาแล้ว ถึงก็ตาม ไม่ถึงก็ตาม.
               บทว่า อนุวิจริตํ มนสา คือ อารมณ์ที่เที่ยวตามหาด้วยใจ. พระสารีบุตรเถระแสดงบทนี้ด้วยบทนี้ว่า สพฺพํ ชานาติ - รู้อารมณ์ทั้งปวง.
               รูปารมณ์ใดมีอาทิว่า นีลํ ปีตํ๒- - เขียวเหลือง มาสู่คลองในจักษุทวารของโลกพร้อมทั้งเทวโลกนี้ในโลกธาตุอันหาประมาณมิได้ พระสัพพัญญุตญาณของพระตถาคตย่อมรู้รูปารมณ์ทั้งปวงนั้นว่า สัตว์นี้เห็นรูปารมณ์ชื่อนี้ในขณะนี้แล้วเป็นผู้ดีใจ เสียใจหรือเป็นกลาง เกิดแล้วดังนี้.
____________________________
๒- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๕๒๑

               สัททารมณ์มีอาทิว่า เภริสทฺโท มุทิงฺคสทฺโท๓- - เสียงกลอง เสียงตะโพน มาสู่คลองในโสตทวาร, คันธารมณ์มีอาทิว่า มูลคนฺโธ ตจคนฺโธ๔- - กลิ่นที่ราก กลิ่นที่เปลือก มาสู่คลองในฆานทวาร, รสารมณ์มีอาทิว่า มูลรโส ขนฺธรโส๕- - รสที่ราก รสที่ลำต้น มาสู่คลองในชิวหาทวาร,
               โผฏฐัพพารมณ์มี ๓ ประเภท คือ ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ มีอาทิว่า กกฺขฬํ มุทุกํ๖- - แข็งอ่อน มาสู่คลองในกายทวารของโลกพร้อมทั้งเทวโลกนี้ในโลกธาตุ หาประมาณมิได้. พระสัพพัญญุตญาณของพระตถาคตก็ย่อมรู้อารมณ์นั้นทั้งหมดว่า สัตว์นี้ถูกต้องโผฏฐัพพารมณ์ชื่อนี้ในขณะนี้แล้วดีใจ เสียใจหรือเป็นกลาง ดังนี้เหมือนกัน.
____________________________
๓- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๕๒๒  ๔- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๕๒๓
๕- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๕๒๔  ๖- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๕๔๐

               อนึ่ง ธรรมารมณ์ใดมีประเภทเป็นสุขและทุกข์เป็นต้นมาสู่คลองในมโนทวารของโลกพร้อมทั้งเทวโลกนี้ ในโลกธาตุหาประมาณมิได้. พระสัพพัญญุตญาณของพระตถาคตย่อมรู้ธรรมารมณ์นั้นทั้งหมดว่าสัตว์นี้รู้ธรรมารมณ์ ชื่อนี้ในขณะนี้แล้วดีใจ เสียใจหรือเป็นกลางดังนี้.
               อนึ่ง มหาชนนี้แม้แสวงหาแล้วมิได้บรรลุก็มี. แม้แสวงหาแล้วบรรลุก็มี. แม้ไม่แสวงหาแล้วไม่บรรลุก็มี. แม้ไม่แสวงหาแล้วบรรลุ ก็มี ชื่อว่าการไม่บรรลุทั้งหมดมิได้มีด้วยสัพพัญญุตญาณแก่พระตถาคต.
               พระสารีบุตรเถระกล่าวคาถามีอาทิว่า น ตสฺส เพื่อให้ความเป็นพระสัพพัญญุตญาณสำเร็จโดยปริยายอื่นอีก.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า น ตสฺส อทฺทิฏฺฐมิธตฺถิ กิญฺจิ - บทธรรมไรๆ ที่พระตถาคตไม่ทรงเห็นแล้วไม่มีในโลกนี้.
               ความว่า บทธรรมไรๆ แม้เพียงเล็กน้อย ที่พระตถาคตนั้นมิได้ทรงเห็นแล้วด้วยปัญญาจักษุมิได้มีในโลกอันเป็นไตรธาตุนี้ หรือในปัจจุบันกาลนี้.
               บทว่า อตฺถิ นี้เป็นบทอาขยาต เป็นไปในปัจจุบันกาล. ด้วยบทนี้ พระสารีบุตรเถระแสดงความที่พระตถาคตทรงรู้ธรรมทั้งปวงในปัจจุบันกาล.
               อนึ่ง ในบทนี้ ท่านใช้ อักษร เพื่อสะดวกในการประพันธ์คาถา.
               บทว่า อโถ ในบทนี้ว่า อโถ อวิญฺญาตํ เป็นนิบาต บอกเนื้อความต่างๆ.
               บทว่า อวิญฺญาตํ คือ ธรรมไรๆ ที่พระตถาคตไม่ทรงรู้แล้วในอดีตกาล. ตกปาฐะว่า นาโหสิ ไป. ในการถือเอา อตฺถิศัพท์เป็นอัพยยศัพท์ แม้ตกปาฐะไปก็ใช้ได้. ด้วยบทนี้ พระสารีบุตรเถระแสดงความที่พระตถาคตทรงรู้ธรรมทั้งปวงอันเป็นอดีตกาล.
               บทว่า อชานิตพฺพํ - ธรรมที่ไม่ควรรู้ คือธรรมที่ไม่ควรรู้อันเป็นอนาคตกาล จักไม่มีหรือไม่มี. ด้วยบทนี้ พระสารีบุตรเถระแสดงความที่พระตถาคตทรงรู้ธรรมทั้งปวงอันเป็นอนาคตกาล.
                อักษรในบทนี้เป็นเพียงกิริยาวิเสสนะของชานนะคือความรู้.
               พึงทราบความในบทนี้ว่า สพฺพํ อภิญฺญาสิ ยทตฺถิ เนยฺยํ - พระตถาคตทรงทราบยิ่งธรรมเป็นเครื่องนำไปทั้งปวง ดังต่อไปนี้.
               พระตถาคตทรงทราบยิ่ง คือทรงรู้ ทรงแทงตลอดธรรมทั้งปวงเป็นเครื่องนำไป คือความรู้ใน ๓ กาล หรือพ้นจากกาลด้วยพระสัพพุตญาณอันยิ่ง.
               การถือ ๓ กาลและพ้นจากกาลด้วย อตฺถิ ศัพท์ ในบทนี้.
               พึงทราบว่า อตฺถิ เป็นอัพยยศัพท์.
               บทว่า ตถาคโต เตน สมนฺตจกฺขุ - ด้วยเหตุนั้น พระตถาคตจึงเป็นพระสมันตจักษุ.
               ความว่า ชื่อว่าสมันตจักษุ เพราะมีญาณจักษุเป็นไปแล้วโดยรอบ คือโดยประการทั้งปวง เพราะไม่มีที่ติดขัดโดยกาลและโดยโอกาส. ด้วยเหตุตามที่กล่าวแล้วนั้น พระตถาคตจึงเป็นพระสมันตจักษุ. ท่านอธิบายว่า เป็นพระสัพพัญญู. ด้วยบุคลาธิฏฐานเทศนาแห่งคาถานี้ จึงสำเร็จเป็นพระสัพพัญญุตญาณ.
               พระสารีบุตรเถระประสงค์จะแสดงพระสัพพัญญุตญาณ โดยวิสัยแห่งพระพุทธญาณ จึงกล่าวบทมีอาทิว่า สมนฺตจกฺขูติ เกนฏฺเฐน สมนฺตจกฺขุ.
               บทว่า สมนฺตจกฺขุ ความว่า ชื่อว่าสมันตจักษุ เพราะอรรถว่ากระไร?
               ความแห่งคาถา ในบทนั้นว่า ชื่อว่าสมันตจักษุ ในบทที่ท่านกล่าวว่า สมนฺตจกฺขุ เพราะอรรถว่ากระไร?
               พระสารีบุตรเถระกล่าวอรรถแห่งบทนั้นด้วยบทมีอาทิว่า ยาวตา ทุกฺขสฺส ทุกฺขฏฺโฐ ชื่อว่าสัพพัญญุตญาณ เพราะอรรถว่ามีสภาพทนได้ยากแห่งทุกข์.
               จริงอยู่ สมันตจักษุ คือพระสัพพัญญุตญาณ.
               สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า พระสัพพัญญุตญาณ เรียกว่าสมันตจักษุ. เมื่อกล่าวถึงอรรถแห่งพระสัพพัญญุตญาณนั้น เป็นอันกล่าวถึงอรรถแห่งสมันตจักษุนั้นเอง. ญาณของพระพุทธเจ้านั่นแหละ ชื่อว่าพุทธญาณ.
               แม้บทมีอาทิว่า ทุกฺเข ญาณํ - ญาณในทุกข์ก็ย่อมเป็นไปแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าโดยอาการทั้งปวง, เป็นไปแก่สาวกนอกนี้เพียงเอกเทสเท่านั้น.
               อนึ่ง บทว่า สาวกสาธารณานิ - ทั่วไปแก่พระสาวก ท่านกล่าวหมายถึงความมีอยู่แม้โดยเอกเทสคือบางส่วน.
               บทว่า สพฺโพ ญาโต คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบทั้งหมดด้วยพระญาณ.
               พระสารีบุตรเถระทำให้แจ้งโดยปฏิเสธอรรถที่ท่านกล่าวว่า อญฺญาโต ทุกฺขฏโฐ นตฺถิ - สภาพแห่งทุกข์ที่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้ทรงทราบไม่มี.
               บทว่า สพฺโพ ทิฏฺโฐ - ทรงเห็นแล้วทั้งหมด คือมิใช่เพียงทรงรู้อย่างเดียวเท่านั้น. ที่แท้ทรงทำดุจรู้ด้วยจักษุอีกด้วย.
               บทว่า สพฺโพ วิทิโต - ทรงรู้แจ้งทั้งหมด คือมิใช่เพียงทรงเห็นอย่างเดียวเท่านั้น ที่แท้ทรงทำให้ปรากฏอีกด้วย.
               บทว่า สพฺโพ สจฺฉิกโต - ทรงทำให้แจ้งแล้วทั้งหมด คือมิใช่เพียงทรงรู้แจ้งอย่างเดียวเท่านั้น ที่แท้ทรงทำให้ประจักษ์ด้วยการได้พระญาณในญาณนั้นอีกด้วย.
               บทว่า สพฺโพ ผสฺสิโต - ทรงถูกต้องแล้วทั้งหมด คือมิได้ทรงทำให้แจ้งอย่างเดียวเท่านั้น ที่แท้ทรงถูกต้องด้วยอำนาจทรงประพฤติตามชอบใจบ่อยๆ.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ญาโต คือ ทรงรู้ด้วยลักษณะของสภาวธรรม.
               บทว่า ทิฏฺโฐ - ทรงเห็นด้วยสามัญลักษณะ.
               บทว่า วิทิโต - ทรงรู้แจ้งด้วยรส.
               บทว่า สจฺฉิกโต - ทรงทำให้แจ้งด้วยอาการปรากฏ.
               บทว่า ผสฺสิโต - ทรงถูกต้องด้วยเหตุใกล้.
               อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ญาโต - ทรงรู้ด้วยความเกิดขึ้นแห่งญาณ.
               บทว่า ทิฏฺโฐ - ทรงเห็นด้วยความเกิดขึ้นแห่งจักษุ.
               บทว่า วิทิโต - ทรงรู้แจ้งด้วยความเกิดขึ้นแห่งปัญญา.
               บทว่า สจฺฉิกโต - ทรงทำให้แจ้งด้วยความเกิดขึ้นแห่งวิชชา.
               บทว่า ผสฺสิโต - ทรงถูกต้องด้วยความเกิดขึ้นแห่งแสงสว่าง.
               พึงทราบความพิสดารโดยนัยมีอาทิว่า สภาพที่ทนได้ยากแห่งทุกข์. ทรงเห็นทั้งหมด. สภาพที่ทนได้ยากมิได้ทรงเห็นไม่มี และโดยนัยมีอาทิว่า ที่เที่ยวตามหาด้วยใจแห่งโลกพร้อมทั้งเทวโลก ฯลฯ ทรงทราบแล้วทั้งหมดที่ไม่ทรงทราบไม่มี. ท่านกล่าวคาถาอีกด้วยสรุปคาถาที่กล่าวไว้ครั้งแรก เมื่อสรุปคาถานั้นแล้วเป็นอันสรุปญาณด้วย.

               จบอรรถกถาสัพพัญญุตญาณนิทเทส                
               อรรถกถาญาณกถา               
               อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค ชื่อว่าสัทธัมมปกาสินี จบ               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา สัพพัญญุตญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 285อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 286อ่านอรรถกถา 31 / 294อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=3248&Z=3331
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=905
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=905
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :