ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 268อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 269อ่านอรรถกถา 31 / 277อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
อินทริยปโรปริยัตตญาณนิทเทส

               ๖๘. อรรถกถาอินทริยปโรปริยัตตญาณนิทเทส               
               [๒๖๙] พึงทราบวินิจฉัยในอินทริยปโรปริยัตตญาณนิทเทสดังต่อไปนี้.
               เมื่อคำว่า ตถาคตสฺส แม้ไม่มีโดยสรูปในอุทเทส ท่านก็กล่าวว่า ตถาคตสฺส เพราะท่านกล่าวไว้ว่า ญาณ ๖ ไม่ทั่วไปด้วยสาวกทั้งหลาย. เพราะฉะนั้นจึงถือเอาในนิทเทสแห่งคำว่า ตถาคต อันสำเร็จแล้วโดยอรรถในอุทเทส.
               บทว่า สตฺเต ปสฺสติ - เห็นสัตว์ทั้งหลาย คือชื่อว่าสัตว์ เพราะข้องคือเพราะถูกคล้องด้วยฉันทราคะในรูปเป็นต้น.
               พระตถาคตทรงเห็นทรงตรวจดูสัตว์เหล่านั้นด้วยจักษุอันเป็นอินทริยปโรปริยัตตญาณ - ญาณกำหนดรู้ความหย่อนและยิ่งแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย.
               บทว่า อปฺปรชกฺเข - ผู้มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ นี้มีวิเคราะห์ว่า ชื่อว่า อปฺปรชกฺขา - เพราะอรรถว่าสัตว์มีธุลีมีราคะเป็นต้นน้อยในจักษุคือปัญญา. หรือว่า เพราะอรรถว่าสัตว์มีธุลีคือราคะเป็นต้นน้อย. ซึ่งสัตว์เหล่านั้นผู้มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ.
               บทว่า มเหสกฺเข - ผู้มีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ.
               มีวิเคราะห์ว่า ชื่อว่า มเหสกฺขา เพราะอรรถว่าสัตว์มีธุลีมีราคะเป็นต้นมากในจักษุคือปัญญา. หรือว่า สัตว์มีธุลีมีราคะเป็นต้นมาก.
               บทว่า ติกฺขินฺทฺริเย มุทินฺทฺริเย - มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน.
               มีวิเคราะห์ว่า ชื่อว่า ติกฺขินฺทฺริยา คือมีอินทรีย์แก่กล้า เพราะอรรถว่า สัตว์มีอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นแก่กล้า. ชื่อว่า มุทินฺทฺริยา มีอินทรีย์อ่อน เพราะอรรถว่าสัตว์มีอินทรีย์มีศรัทธาเป็นต้นอ่อน.
               บทว่า สฺวากาเร ทฺวาการา - มีอาการดี มีอาการชั่ว.
               ความว่า ชื่อว่า สฺวาการา คือมีอาการดี เพราะอรรถว่า สัตว์มีอาการคือมีส่วน มีศรัทธาเป็นต้นดี.
               ชื่อว่า ทฺวาการา คือ มีอาการชั่ว เพราะอรรถว่าสัตว์มีอาการคือมีส่วน มีศรัทธาเป็นต้น น่าเกลียด น่าติเตียน.
               บทว่า สุวิญฺญาปเย ทุวิญฺญาปเย - พึงให้รู้แจ้งได้โดยง่าย พึงให้รู้แจ้งได้โดยยาก คือ สัตว์เหล่าใดกำหนดเหตุที่กล่าว เป็นผู้สามารถรู้แจ้งได้โดยง่าย สัตว์เหล่านั้นชื่อว่า สุวิญฺญาปยา. ตรงกันข้ามกับรู้แจ้งได้โดยง่ายนั้น ชื่อว่า ทุวิญฺญาปยา.
               บทว่า อปฺเปกจฺเจ ปรโลกวชฺชภยทสฺสาวิโน - บางพวกมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย คือชื่อว่า ปรโลกวชฺชภยทสฺสาวิโน คือมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย เพราะอรรถว่ามีปกติเห็นภัยอื่นหนักในโลกมีขันธโลกเป็นต้น และโทษมีราคะเป็นต้น เพราะเมื่อบางพวกเห็นปรโลกและโทษมีราคะเป็นต้น โดยเป็นภัยในนิทเทสแห่งบทนี้ ท่านจึงไม่กล่าวถึงปรโลกเท่านั้น.
               พึงถือเอาความอย่างนี้ว่า สัตว์เหล่านั้นมีปกติเห็นภัยในปรโลก และในโทษมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า อปฺเปกจฺเจ น ปรโลกวชฺชภยทสฺสาวิโน - บางพวกมิได้เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยนี้ มีความตรงกันข้ามกับบทที่กล่าวแล้วนั้น.
               อนึ่ง บทว่า โลโก เพราะอรรถว่าสลายไป.
               บทว่า วชฺชํ คือโทษ เพราะอรรถว่าควรติเตียน.
               ด้วยบทประมาณเท่านี้ เป็นอันท่านชี้แจงบทอุทเทสแล้ว.
               [๒๗๐] พระสารีบุตรเถระ เมื่อจะทำปฏินิทเทสคือการชี้แจงทวนนิทเทสอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า อปฺปรชกฺเข มหารชกฺเข - สัตว์มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ สัตว์มีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น บทว่า สทฺโธ - บุคคลผู้มีศรัทธา เพราะบุคคลมีศรัทธากล่าวคือความก้าวลงในพระรัตนตรัย.
               บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธานั้น ชื่อว่า อปฺปรชกฺโข คือมีธุลีน้อยในปัญญาจักษุ เพราะธุลีคือความไม่มีศรัทธา และธุลีคืออกุศลที่เหลืออันเป็นมูลรากของความไม่ศรัทธาน้อย.
               ชื่อว่า อสฺสทฺโธ คือ ผู้ไม่มีศรัทธา เพราะไม่มีศรัทธา บุคคลนั้นชื่อว่า มหารชกฺโข คือมีธุลีมากในปัญญาจักษุ เพราะธุลีมีประการดังกล่าวแล้วมาก.
               ชื่อว่า อารทฺธวีริโย - ผู้ปรารภความเพียร เพราะมีใจปรารภความเพียร, บุคคลผู้ปรารภความเพียรนั้น ชื่อว่า อปฺปรชกฺโข เพราะธุลีคือความเกียจคร้าน และธุลีคืออกุศลที่เหลืออันเป็นมูลรากของความเกียจคร้านน้อย.
               ชื่อว่า กุสีโท - ผู้เกียจคร้าน เพราะอรรถว่าจมอยู่โดยอาการน่าเกลียด เพราะมีความเพียรเลว. กุสีโท นั่นแหละคือ กุสีโต. บุคคลผู้เกียจคร้านนั้นชื่อว่า มหารชกฺโข เพราะธุลีที่จมมีประการดังกล่าวแล้วมาก.
               ชื่อ อุปฏฺฐิตสฺสติ - ผู้มีสติตั้งมั่น เพราะมีสติเข้าไปตั้งอารมณ์ไว้มั่น. บุคคลนั้นชื่อว่า อปฺปรชกฺโข เพราะธุลีคือความลุ่มหลง และธุลีคืออกุศลที่เหลืออันเป็นมูลรากของความลุ่มหลงน้อย.
               ชื่อว่า มุฏฺฐสฺสติ คือ ผู้มีสติหลงลืม เพราะมีสติหลงลืม. บุคคลนั้นชื่อว่า มหารชกฺโข เพราะธุลีมีประการดังกล่าวแล้วมาก.
               ชื่อว่า สมาหิโต คือ บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น เพราะตั้งไว้เสมอ หรือว่าโดยชอบในอารมณ์ ด้วยอัปปนาสมาธิหรือด้วยอุปจารสมาธิ.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า สมาหิโต เพราะอรรถว่ามีจิตตั้งมั่น. บุคคลนั้นชื่อว่า อปฺปรชกฺโข เพราะธุลีคือความฟุ้งซ่าน และธุลีคืออกุศลที่เหลืออันเป็นมูลรากของความฟุ้งซ่านน้อย.
               บุคคลมีจิตไม่ตั้งมั่น ชื่อว่า อสมาหิโต. บุคคลนั้นชื่อว่า มหารชกฺโข เพราะธุลีมีประการดังกล่าวแล้วมาก.
               ชื่อว่า ปญฺญวา คือ บุคคลผู้มีปัญญา เพราะมีปัญญาเห็นความเกิดและความดับ. บุคคลผู้มีปัญญานั้นชื่อว่า อปฺปรชกฺโข เพราะธุลีคือโมหะ และธุลีคืออกุศลที่เหลืออันเป็นมูลรากของโมหะน้อย.
               ชื่อว่า ทุปฺปญฺโญ คือ บุคคลผู้มีปัญญาทราม เพราะมีปัญญาทราม เพราะลุ่มหลงด้วยโมหะ. บุคคลนั้นชื่อว่า มหารชกฺโข เพราะมีธุลีมีประการดังกล่าวแล้วมาก.
               [๒๗๑] บทว่า สทฺโธ ปุคฺคโล ติกฺขินฺทฺริโย - บุคคลผู้มีศรัทธาเป็นคนมีอินทรีย์แก่กล้า คือมีศรัทธาด้วยศรัทธามีกำลังอันเกิดขึ้นมาก. มีอินทรีย์แก่กล้าด้วยสัทธินทรีย์นั้นนั่นเอง.
               บทว่า อสฺสทฺโธ ปุคฺคโล มุทินฺทฺริโย - บุคคลผู้ไม่มีศรัทธาเป็นคนมีอินทรีย์อ่อน คือไม่มีศรัทธาด้วยความไม่เชื่อเกิดขึ้นมาก. เป็นผู้มีอินทรีย์อ่อนด้วยสัทธินทรีย์มีกำลังน้อยอันเกิดขึ้นในระหว่างๆ .
               แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้.
               [๒๗๒] บทว่า สทฺโธ ปุคฺคโล สฺวากาโร - บุคคลผู้มีศรัทธาเป็นผู้มีอาการดี คือมีอาการงดงามด้วยศรัทธานั้นนั่นเอง.
               บทว่า อสฺสทฺโธ ปุคฺคโล ทฺวากาโร - บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เป็นผู้มีอาการชั่ว คือมีอาการผิดรูปด้วยความเป็นผู้ไม่เชื่อนั้นนั่นเอง.
               แม้ในคำที่เหลือก็มีนัยนี้.
               [๒๗๓] บทว่า สุวิญฺญาปโย คือ พึงสามารถให้รู้โดยง่าย.
               บทว่า ทุวิญฺญาปโย คือ พึงสามารถให้รู้โดยยาก.
               [๒๗๔] ในบทว่า ปรโลกวชฺชภยทสฺสาวี นี้ พึงทราบความดังต่อไปนี้.
               เพราะศรัทธาเป็นต้นของผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นความบริสุทธิ์ด้วยดี. ฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์ด้วยดีเป็นต้น เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยศรัทธานั้น จึงเป็นผู้มีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย. หรือแม้ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาอันบริสุทธิ์ด้วยดีเป็นต้น ก็เป็นผู้มีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัยด้วยปัญญาอันมีศรัทธานั้นเป็นปัจจัย. เพราะฉะนั้นแหละ ท่านจึงกล่าวธรรม ๔ อย่างมีศรัทธาเป็นต้นว่า ปรโลกวชฺชภยทสฺสาวี - เป็นผู้มีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย.
               [๒๗๕] บัดนี้ พระสารีบุตรเถระ เพื่อจะแสดงโลกและโทษดังกล่าวแล้ว ในบทนี้ว่า ปรโลกวชฺชภยทสฺสาวี จึงกล่าวคำมีอาทิว่า โลโก ดังนี้.
               ในบทเหล่านั้น ขันธ์ทั้งหลายนั่นเอง ชื่อว่าขันธโลก เพราะอรรถว่ามีอันต้องสลายไป.
               แม้ในสองบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
               บทว่า วิปตฺติภวโลโก - โลกคือภพวิบัติ ได้แก่ อบายโลก. เพราะอบายโลกนั้น เป็นโลกเลว เพราะมีผลไม่น่าปรารถนา จึงชื่อว่าวิบัติ. ชื่อว่าภพ เพราะเกิด. ภพคือความวิบัตินั่นเอง ชื่อว่าภพวิบัติ. โลกคือภพวิบัตินั่นเอง ชื่อว่าโลกคือภพวิบัติ.
               บทว่า วิปตฺติสมฺภวโลโก - โลกคือสมภพวิบัติ ได้แก่ กรรมอันเข้าถึงอบาย ชื่อว่าสมภพ เพราะเป็นแดนเกิดแห่งผลกรรม. แดนเกิดแห่งวิบัติ ชื่อว่าสมภพวิบัติ. โลกมีแดนเกิดวิบัตินั่นแหละชื่อว่าโลกคือสมภพวิบัติ.
               บทว่า สมฺปตฺติภวโลโก - โลกคือภพสมบัติ ได้แก่ สุคติโลก. เพราะสุคติโลกนั้นเป็นโลกดี เพราะมีผลน่าปรารถนา จึงชื่อว่าสมบัติ. ชื่อว่าภพ เพราะเกิด. ภพอันเป็นสมบัตินั่นแหละ ชื่อว่าภพสมบัติ. โลกคือแดนเกิดแห่งสมบัตินั้นแหละ ชื่อว่า โลกคือภพสมบัติ.
               บทว่า สมฺปตฺติสมฺภวโลโก - โลกคือสมภพสมบัติ ได้แก่กรรมอันเข้าถึงสุคติ. ชื่อว่าสมภพ เพราะเป็นแดนเกิดแห่งผลกรรม. แดนเกิดแห่งสมบัติ ชื่อว่าสมภพสมบัติ. โลกคือแดนเกิดแห่งสมบัตินั่นแล ชื่อว่า โลกคือสมภพสมบัติ.
               บทมีอาทิว่า เอโก โลโก โลก ๑ มีอรรถดังได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ.
               [๒๗๖] บทว่า วชฺชํ - โทษ ท่านทำเป็นนปุงสกลิงค์ เพราะไม่ได้แสดงด้วยบทว่า อสุโก.
               บทว่า กิเลสา คือ กิเลสมีราคะเป็นต้น.
               บทว่า ทุจฺจริตา คือ ทุจริตมีปาณาติบาตเป็นต้น.
               บทว่า อภิสงฺขารา คือ สังขารมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น.
               บทว่า ภวคามิกมฺมา - กรรมอันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่ภพ ชื่อว่าภวคามิโน เพราะสัตว์ทั้งหลายไปสู่ภพด้วยอำนาจการให้วิบากของตน. ท่านกล่าวกรรมอันให้เกิดวิบากแม้ในอภิสังขารทั้งหลาย.
               บทว่า อิติ เป็นบทแสดงประการดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า อิมสฺมิญฺจ โลเก อิมสฺมิญฺจ วชฺเช - ในโลกนี้และในโทษนี้ คือในโลกและในโทษดังกล่าวแล้ว.
               บทว่า ติพฺพา ภยสญฺญา - ความสำคัญว่าเป็นภัยอันแรงกล้า คือความสำคัญว่าเป็นภัยมีกำลัง แต่ท่านกล่าวอรรถแห่งพลศัพท์ว่า ติพฺพา.
               ท่านกล่าวอรรถแห่ง ภย ศัพท์ว่า ภยสญฺญา. เพราะว่าโลกและโทษทั้งสอง ชื่อว่าภัย เพราะเป็นวัตถุแห่งภัย และเพราะเป็นภัยเอง. ความสำคัญว่าภัย ก็ชื่อว่า ภยสญฺญา.
               บทว่า ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ - ปรากฏแล้ว คือปรากฏเพราะอาศัยภัยนั้นๆ.
               บทว่า เสยฺยถาปิ อุกฺขิตฺตาสิเต วธเก - เหมือนความสำคัญในศัตรูผู้เงื้อดาบ คือความสำคัญว่าเป็นภัยกล้าแข็งปรากฏในโลกและในโทษ เหมือนความสำคัญว่าเป็นภัยปรากฏในศัตรูผู้เงื้อดาบเพื่อประหารฉะนั้น.
               บทว่า อิเมหิ ปญฺญาสาย อากาเรหิ - ด้วยอาการ ๕๐ นี้ คือด้วยอาการ ๕๐ ด้วยสามารถแห่งอาการอย่างละ ๕ ในปัญจกะ ๑๐ มีอัปปรชักขปัญจกะเป็นต้นอย่างหนึ่งๆ .
               บทว่า อิมานิ ปญฺจินฺทฺริยานิ ได้แก่ อินทรีย์ ๕ มีสัทธินทรีย์เป็นต้น.
               บทว่า ชานาติ คือ พระตถาคตย่อมทรงรู้ด้วยพระปัญญา.
               บทว่า ปสฺสติ คือ ทรงกระทำดุจเห็นด้วยทิพจักษุ.
               บทว่า อญฺญาติ ทรงทราบชัด คือทรงทราบด้วยมารยาทแห่งอาการทั้งปวง.
               บทว่า ปฏิวิชฺฌติ - ทรงแทงตลอด คือทรงทำลายด้วยพระปัญญาด้วยสามารถการเห็นหมดสิ้นมิได้เหลือเป็นเอกเทศ.

               จบอรรถกถาอินทริยปโรปริยัตตญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา อินทริยปโรปริยัตตญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 268อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 269อ่านอรรถกถา 31 / 277อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=3035&Z=3078
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=48&A=1
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=48&A=1
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :