ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ  พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  พระอภิธรรมปิฎก  ค้นพระไตรปิฎก  ชาดก  หนังสือธรรมะ 
 
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 246อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 253อ่านอรรถกถา 31 / 254อ่านอรรถกถา 31 / 737
อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา
อิทธิวิธญาณนิทเทส

               ๕๐. อรรถกถาอิทธิวิธญาณนิทเทส               
               [๒๕๓] พึงทราบวินิจฉัยในอิทธิวิธญาณนิทเทสดังต่อไปนี้.
               บทว่า อิธ ภิกฺขุ คือ ภิกษุในศาสนานี้.
               ในบทนี้ว่า ฉนฺทสมาธิปธานสงฺขารสมนฺนาคตํ - อันประกอบด้วยสมาธิยิ่งด้วยฉันทะและสังขารเป็นประธาน มีอธิบายดังต่อไปนี้.
               สมาธิมีฉันทะเป็นเหตุ หรือสมาธิยิ่งด้วยฉันทะ ชื่อว่าฉันทสมาธิ.
               บทนี้เป็นชื่อของสมาธิที่ได้เพราะทำกัตตุกัมยตาฉันทะ - ความพอใจ เพราะใคร่จะทำการงาน ให้เป็นอธิบดี.
               สังขารเป็นประธาน ชื่อว่าปธานสังขารทั้งหลาย.
               บทนี้เป็นชื่อของความเพียร คือสัมมัปธานอันให้สำเร็จกิจ ๔ อย่าง.
               ท่านทำเป็นพหุวจนะด้วยสามารถทำกิจ ๔ อย่างให้สำเร็จ.
               บทว่า สมนฺนาคตํ - ประกอบแล้ว คือเข้าถึงแล้วด้วยสมาธิยิ่งด้วยฉันทะและสังขารเป็นประธาน.
               บทว่า อิทฺธิปาทํ - อิทธิบาท. ความว่า หมวดจิตและเจตสิกที่เหลืออันเป็นบาท ด้วยความอธิฏฐานแห่งสมาธิยิ่งด้วยฉันทะและสังขารเป็นประธาน อันสัมปยุตด้วยจิตเป็นกุศล มีอุปจารฌานเป็นต้นอันได้ชื่อว่าอิทธิ เพราะอรรถว่าสำเร็จโดยปริยายแห่งความสำเร็จ หรือโดยปริยายนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้สำเร็จแล้ว เจริญแล้ว ถึงความดีเลิศแล้ว ย่อมสำเร็จด้วยอิทธินั้น.
               สมดังที่ท่านอธิบายไว้ในสุตตันตภาชนีย์ในอิทธิปาทวิภังค์ว่า๑-
               บทว่า อิทฺธิปาโท คือ เวทนาขันธ์ ฯลฯ วิญญาณขันธ์ของผู้เป็นอย่างนั้น.
____________________________
๑- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๕๐๘

               อนึ่ง ท่านกล่าวไว้ในอภิธรรมภาชนีย์ว่า๒-
               บทว่า อิทฺธิปาโท คือ ผัสสะ เวทนา ฯลฯ ปัคคาหะ - การประคองไว้, อวิกเขปะ - ความไม่ฟุ้งซ่านของผู้เป็นอย่างนั้น.
____________________________
๒- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๕๒๑

               เพราะฉะนั้น ในบทนี้ว่า เสสจิตฺตเจตสิกราสี - หมวดแห่งจิตเจตสิกที่เหลือ พึงทราบว่า ท่านทำอิทธิอย่างหนึ่งๆ ในสมาธิยิ่งด้วยฉันทะและสังขารเป็นประธาน แล้วทำคำที่เหลือกับด้วยบทละสองๆ.
               จริงอยู่ ท่านสงเคราะห์ขันธ์ ๔ และธรรมมีผัสสะเป็นต้นทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างนี้.
               โดยนัยนี้ แม้ในบทที่เหลือ พึงทราบความดังต่อไปนี้.
               สมาธิที่ได้เพราะทำวีริยะ จิตตะ วีมังสาให้เป็นอธิบดี ท่านกล่าวว่า วีมังสาสมาธิเหมือนอย่างสมาธิที่ได้เพราะทำฉันทะให้เป็นอธิบดี ท่านกล่าวว่าฉันทสมาธิ ฉะนั้น.
               ในอิทธิบาทหนึ่งๆ ธรรมอย่างละ ๓ๆ#- คือ มีฉันทะเป็นต้น มีวีริยะเป็นต้น มีจิตตะเป็นต้น มีวีมังสาเป็นต้น ท่านกล่าวว่า อิทธิบ้าง อิทธิบาทบ้างด้วยประการฉะนี้. ส่วนขันธ์ ๔ อย่างสัมปยุตกันที่เหลือเป็นอิทธิบาทอย่างเดียว.
____________________________
#- มีฉันทะเป็นต้น ได้แก่ ธรรม ๓ คือ วีริยะ จิตตะ วีมังสา เกิดร่วมกับฉันทะที่เป็นประธาน เรียกว่าฉันทสมาธิ.

               อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่า เพราะธรรมอย่างละ ๓ๆ เหล่านี้ ย่อมสำเร็จพร้อมกับขันธ์ ๔ อันสัมปยุตกัน. เว้นขันธ์ ๔ เหล่านั้นเสียย่อมไม่สำเร็จ. ฉะนั้น โดยปริยายนั้น แม้ขันธ์ ๔ ทั้งหมดก็ชื่อว่าอิทธิ เพราะอรรถว่าให้สำเร็จ. ชื่อว่าปาทะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ตั้ง.
               ส่วนในบทนี้ว่า วีริยสมาธิปธานสงฺขารสมนฺนาคตํ - ประกอบด้วยสมาธิยิ่งด้วยวีริยะและสังขารเป็นประธาน มีความดังต่อไปนี้.
               วีริยะและสังขารเป็นประธาน เป็นอันเดียวกัน.
               หากถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวไว้เป็นสองอย่าง.
               ตอบว่า ในที่นี้ท่านมุ่งเอาวีริยะก่อน ด้วยการแสดงความที่วีริยะเป็นอธิบดี เพื่อแสดงความที่วีริยะนั้นแหละให้สำเร็จกิจ ๔ อย่าง ท่านจึงกล่าวสังขารเป็นประธาน.
               อนึ่ง ในบทนี้ เพราะท่านกล่าวไว้สองอย่างนั่นแหละ เป็นอันท่านกล่าวธรรมอย่างละ ๓ๆ.
               ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า ชื่อว่าอิทธิ ยังไม่สำเร็จ. ชื่อว่าอิทธิบาท สำเร็จแล้ว เพราะท่านกล่าวไว้ในวิภังค์ว่า๒- ความสำเร็จ ความสำเร็จด้วยดี ความปรารถนา ความปรารถนาด้วยดีซึ่งธรรมนั้นๆ ชื่อว่า อิทธิ.
               แต่ในที่นี้ ท่านตัดสินว่าอิทธิก็ดี อิทธิบาทก็ดี สำเร็จแล้วกำจัดเครื่องกำหนดได้แล้วด้วยบทมีอาทิว่า อิทฺธิ สมิทฺธิ พึงทราบว่า ท่านกล่าวถึงธรรมโดยอาการ คือความสำเร็จ.
____________________________
๒- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๕๒๑

               บทว่า ภาเวติ - ย่อมเจริญ คือ ย่อมเสพ.
               แม้ในบทนี้ การเจริญอิทธิบาทเป็นโลกิยะ ดุจในสุตตันตภาชนีย์๓- เพราะฉะนั้น พระโยคาวจรผู้ประสงค์จะยังอิทธิบาทให้สมบูรณ์ก่อน เจริญอิทธิบาทอันเป็นโลกิยะ เป็นผู้เข้าสมาบัติ ๘ ถึงความชำนาญ บรรลุแล้วในกสิณ ๘ มีปฐวีกสิณเป็นต้น ฝึกจิตโดยอาการ ๑๔ เหล่านี้ คือ โดยอนุโลมกสิณ ๑ โดยปฏิโลมกสิณ ๑ โดยอนุโลมและปฏิโลมกสิณ ๑, โดยอนุโลมฌาน ๑ โดยปฏิโลมฌาน ๑ โดยอนุโลมปฏิโลมฌาน ๑, โดยก้าวไปสู่ฌาน ๑ โดยก้าวไปสู่กสิณ ๑ โดยก้าวไปสู่ฌานและกสิณ ๑, โดยเคลื่อนไปสู่องค์ ๑ โดยเคลื่อนไปสู่อารมณ์ ๑ โดยเคลื่อนไปสู่องค์และอารมณ์ ๑, โดยกำหนดองค์ ๑ โดยกำหนดอารมณ์ ๑ แล้วจึงเข้าฌานบ่อยๆ ด้วยสามารถฉันทะ วีริยะ จิตตะ วีมังสาเป็นประธาน.
____________________________
๓- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๕๑๘

               อาจารย์บางพวกปรารถนาแม้การกำหนดองค์และอารมณ์. ผู้ถึงพร้อมด้วยเหตุเบื้องต้น สะสมความชำนาญในเหตุเพียงฌาน ๔ หมวด ในกสิณทั้งหลายกระทำ ย่อมสมควร เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรเจริญอิทธิบาทสมาธินั้นๆ ย่อมอธิฏฐานวีริยะ ๔ ประการมีอาทิว่า เพื่อมิให้เกิดอกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น๔- ครั้นรู้ความเสื่อมและความเจริญของสมาธินั้นแล้วย่อมอธิฏฐานวีริยะไว้เสมอ. พระโยคาวจรนั้นอบรมจิตในอิทธิบาท ๔ อย่างนี้แล้วย่อมยังอิทธิวิธให้สำเร็จได้.
____________________________
๔- อภิ. วิ. เล่ม ๓๕/ข้อ ๕๐๙

               บทว่า โส ในบทมีอาทิว่า โส อิเมสุ จตูสุ อิทฺธิปาเทสุ คือ ภิกษุผู้เจริญอิทธิบาท ๔ นั้น.
               บทว่า จตูสุ อิทฺธิปาเทสุ จิตฺตํ ปริภาเวติ - ภิกษุย่อมอบรมจิตในอิทธิบาท ๔ คือ ภิกษุทำอิทธิบาทอย่างหนึ่งๆ ในฉันทะทั้งหลายบ่อยๆ แล้ว ชื่อว่าอบรมจิต ในอิทธิบาทเหล่านั้นด้วยการเข้าฌาน. อธิบายว่า ให้ถือเอาการอบรมฉันทะเป็นต้น.
               บทว่า ปริทเมติ - ย่อมข่มจิต คือทำจิตให้หมดพยศ.
               บทก่อนกล่าวถึงเหตุของบทหลัง เพราะจิตที่อบรมแล้ว ย่อมเป็นจิตที่ข่มได้แล้ว.
               บทว่า มุทํ กโรติ - ทำให้เป็นจิตอ่อน คือทำจิตที่ข่มไว้ได้แล้วอย่างนั้นให้ถึงความชำนาญ. เพราะจิตเป็นไปในอำนาจ กล่าวว่า มุทุ - อ่อน.
               บทว่า กมฺมนิยํ - ควรแก่การงาน คือทำให้เหมาะแก่การงาน ให้สมควรแก่การงาน. เพราะจิตอ่อนย่อมควรแก่การงาน ดุจทองคำที่ขัดดีแล้ว.
               แต่ในที่นี้ ได้แก่ จิตควรแก่การงาน คือแสดงฤทธิ์ได้
               บทว่า โส คือ ภิกษุผู้มีจิตอบรมแล้วนั้น. ท่านกล่าวบทมีอาทิว่า กายมฺปิ จิตฺเต สโมทหติ - ย่อมตั้งกายไว้ในจิตบ้าง เพื่อแสดงวิธีโยคะ เพื่อความสำเร็จแห่งการท่องเที่ยวไปของจิตตามสบายในเวลาทำอิทธิ.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า กายมฺปิ จิตฺเต สโมทหติ - ย่อมตั้งกายไว้ในจิตบ้าง.
               ความว่า ย่อมตั้ง คือให้เข้าไปยกกรชกายไว้ในจิตมีฌานเป็นบาทบ้าง.
               อธิบายว่า ทำกายให้เป็นไปตามจิต.
               การทำอย่างนี้ย่อมมีเพื่ออุปการะแก่การไปด้วยกายอันไม่ปรากฏ.
               บทว่า จิตฺตมฺปิ กาเย สโมทหติ - ย่อมตั้งจิตไว้ในกายบ้าง.
               ความว่า ย่อมตั้ง คือยกจิตมีฌานเป็นบาทในกรชกายของตน.
               อธิบายว่า ทำจิตให้เป็นไปตามกายบ้าง. การทำอย่างนี้ย่อมมีเพื่ออุปการะแก่การไปด้วยกายอันปรากฏ.
               ปาฐะว่า สมาทหติ บ้าง. ความว่า ให้ตั้งไว้.
               บทว่า กายวเสน จิตฺตํ ปริณาเมติ - ย่อมน้อมจิตไปด้วยสามารถแห่งกายบ้าง.
               ความว่า ถือจิตมีฌานเป็นบาทยกขึ้นในกรชกาย. ทำให้เป็นไปตามกาย.
               บทนี้เป็นไวพจน์ของการตั้งจิตไว้ในกาย.
               บทว่า จิตฺตวเสน กายํ ปริณาเมติ - ย่อมน้อมกายไปด้วยอำนาจของจิตบ้าง.
               ความว่า ยึดกรชกายแล้วยกไว้ในจิตที่มีฌานเป็นบาท ทำให้เป็นไปตามจิต.
               บทนี้เป็นไวพจน์ของการตั้งกายไว้ในจิต.
               บทว่า อธิฏฺฐาติ - ย่อมอธิฏฐาน คือ อธิฏฐานว่า ขอจงเป็นอย่างนี้เถิด. ท่านกล่าวถึงการน้อมไปเพื่อไขอรรถแห่งความตั้งไว้. ท่านกล่าวถึงอธิฏฐานเพื่อไขอรรถแห่งความน้อมไป. เพราะบทว่า สโมทหติ เป็นบทตั้ง.
               บทว่า ปริณาเมติ อธิฏฺฐาติ - เป็นบทขยายอรรถของบทว่า สโมทหติ นั้น. ฉะนั้น ด้วยสามารถแห่งบททั้งสองนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปริณาเมตฺวา - น้อมไปแล้ว
               อธิฏฺฐหิตฺวา - อธิฏฐานแล้ว. ไม่กล่าวว่า สโมทหิตฺวา - ตั้งไว้แล้ว.
               บทว่า สุขสญฺญญฺจ ลหุสญฺญญฺจ กาเย โอกฺกมิตฺวา วิหรติ - ย่อมหน่วงสุขสัญญาและลหุสัญญาลงในกายอยู่.
               ความว่า ย่อมหน่วงสุขสัญญาอันเกิดร่วมกับจตุตถฌาน และลหุสัญญาให้เข้าไปในกรชกายอยู่ แม้กรชกายของภิกษุนั้นผู้มีกายหน่วงลงในสัญญานั้น ก็เป็นกรชกายเบาดุจปุยนุ่น.
               บทว่า โส คือ ภิกษุผู้ทำโยควิธีนั้น.
               บทว่า ตถา ภาวิเตน จิตฺเตน - มีจิตอันอบรมแล้ว เป็นตติยาวิภัตติลงในลักษณะแห่งอิตถัมภูต - มี หรือลงในอรรถแห่งเหตุ - เพราะ.
               ความว่า มีจิตอันอบรมแล้ว คือ เป็นเหตุ.
               บทว่า ปริสุทฺเธน - บริสุทธิ์ คือ ชื่อว่าความบริสุทธิ์แห่งสติในอุเบกขา. ชื่อว่าผ่องแผ้วเพราะบริสุทธิ์นั่นเอง.
               อธิบายว่า จิตประภัสสร - ผ่องใส.
               บทว่า อิทฺธิวิธญาณาย - เพื่ออิทธิวิธญาณ คือในส่วนแห่งอิทธิ. หรือ เพื่อต้องการญาณในการกำหนดอิทธิ.
               บทว่า จิตฺตํ อภินีหรติ - ย่อมโน้มจิตไป คือภิกษุนั้นเมื่อจิตนั้นมีอภิญญาเป็นบาทเกิดแล้วด้วยสามารถประการดังกล่าวแล้ว ย่อมโน้มบริกรรมจิตไปเพื่อบรรลุอิทธิวิธญาณ. นำออกจากอารมณ์กสิณแล้วส่งไปมุ่งอิทธิวิธ.
               บทว่า อภินินฺนาเมติ - ย่อมน้อมไป คือทำการโน้มไปสู่อิทธิที่ควรบรรลุให้โอนไปสู่อิทธิ.
               บทว่า โส คือ ภิกษุผู้ทำจิตให้มีอภินิหารอย่างนี้.
               บทว่า อเนกวิหิตํ - หลายอย่าง คือ หลายอย่างมีประการต่างๆ.
               บทว่า อิทฺธิวิธํ - แสดงฤทธิ์ได้ คือ ส่วนแห่งฤทธิ์ หรือกำหนดฤทธิ์.
               บทว่า ปจฺจนุโภติ คือ ย่อมเสวยผล. อธิบายว่า ย่อมสัมผัสทำให้แจ้ง คือบรรลุ.
               บัดนี้ พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงความที่ภิกษุนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง จึงกล่าวบทมีอาทิว่า เอโกปิ หุตฺวา.
               ในบทเหล่านั้นบทว่า เอโกปิ หุตฺวา - คือ แม้เป็นคนเดียว.
               ความว่า ตามปกติก่อนแสดงฤทธิ์เป็นคนเดียว.
               บทว่า พหุธา โหติ - เป็นหลายคน คือ ประสงค์จะเดินจงกรมในสำนักของภิกษุมากก็ดี ประสงค์จะสาธยายก็ดี ประสงค์จะถามปัญหาก็ดี เป็นร้อยก็ได้ เป็นพันก็ได้.
               ถามว่า เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร?
               ตอบว่า หากภิกษุนั้นยังธรรมอันเป็นบทมูลของบาทแห่งภูมิของฤทธิ์ให้สมบูรณ์ แล้วเข้าฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา ครั้นออกแล้วปรารถนาเป็นร้อยก็ทำบริกรรมว่า ขอเราจงเป็นร้อย ขอเราจงเป็นร้อยแล้วเข้าฌานอันเป็นบาท ครั้นออกแล้วอธิฏฐาน พร้อมกับอธิฏฐานนั่นแหละจะเป็นร้อยได้. แม้ในพันเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. หากว่าไม่ปรารถนาอย่างนั้นควรทำบริกรรม อีกแล้วเข้าครั้งที่สอง ครั้นออกแล้วจึงอธิฏฐาน.
               ในอรรถกถาสังยุตท่านกล่าวว่า ควรเข้า ๑ ครั้ง ๒ ครั้ง ในการเข้านั้นจิตมีฌานเป็นบาท มีนิมิตเป็นอารมณ์. จิตบริกรรมมีร้อยหรือมีพันเป็นอารมณ์. จิตเหล่านั้นแหละด้วยสามารถแห่งวรรณะ มิใช่ด้วยสามารถแห่งบัญญัติ. แม้จิตอธิฏฐานมีร้อยหรือมีพันเป็นอารมณ์ ก็อย่างนั้นเหมือนกัน. จิตนั้นมีอารมณ์เดียวเท่านั้นเป็นรูปาวจรจตุตถฌาน ย่อมเกิดขึ้นในลำดับโคตรภู ดุจอัปปนาจิตครั้งแรก.
               ในบทว่า พหุธา โหติ นั้น ผู้ที่นิรมิตได้มากย่อมเป็นเช่นเดียวกันกับผู้มีฤทธิ์ เพราะนิรมิตไม่กำหนดไว้. ย่อมทำสิ่งที่ผู้มีฤทธิ์ทำได้ในการยืน การนั่งเป็นต้น หรือในการพูด การนิ่งเป็นต้น. หากประสงค์จะทำรูปนิรมิตชนิดต่างๆ ทำบางพวกในปฐมวัย. บางพวกในมัชฌิมวัย. บางพวกในปัจฉิมวัย. ทำบางพวกให้มีผมยาว โกนผมได้ครึ่งหนึ่ง มีผมดอกเลา มีจีวรสีแดงครึ่งหนึ่ง สีขาวครึ่งหนึ่ง สวดบทภาณ แสดงธรรมกถา สวดสรภัญญะ ถามปัญหา แก้ปัญหา ย้อมจีวร ต้มจีวร เย็บและซักจีวรเป็นต้นก็เหมือนกัน หรือประสงค์จะทำนานัปการอย่างอื่น.
               ครั้นออกจากฌานอันเป็นบาท ด้วยเหตุนั้นแล้วทำบริกรรมโดยนัยมีอาทิว่า ภิกษุประมาณเท่านี้จงเป็นปฐมวัย แล้วเข้าสมาบัติอีก
               ครั้นออกแล้วพึงอธิฏฐานพร้อมกับจิตอธิฏฐาน ภิกษุย่อมเป็นไปตามที่ตนอธิฏฐานด้วยประการฉะนี้.
               ในบทมีอาทิว่า พหุธาปิ หุตฺวา เอโก โหติ - หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ก็มีนัยนี้. แต่มีความต่างกันดังต่อไปนี้
               จริงอยู่ ภิกษุนี้ ครั้นนิรมิตรูปเป็นอันมากอย่างนี้แล้วคิดต่อไปว่า เราจักเดินจงกรมแต่ผู้เดียวเท่านั้น. เราจักทำการสาธยาย. เราจักถามปัญหาดังนี้ก็ดี คิดว่า วิหารนี้มีภิกษุน้อย. หากภิกษุบางพวกจักมา. ภิกษุประมาณเท่านี้เหล่านี้จักอยู่ที่ไหน. จักรู้จักเราว่านี้อานุภาพของพระเถระแน่นอนก็ดี จึงปรารถนาว่าขอเราจงเป็นผู้เดียวในระหว่าง เพราะเป็นผู้ปรารถนาน้อย เข้าฌานเป็นบาท ครั้นออกแล้วจึงทำบริกรรมว่าขอเราจงเป็นผู้เดียว แล้วเข้าฌานอีก ครั้นออกแล้วพึงอธิฏฐานว่าขอเราจงเป็นผู้เดียวเถิด. ภิกษุนั้นก็จะเป็นรูปเดียวพร้อมกับจิตอธิฏฐานนั่นเอง.
               เมื่อไม่ทำอย่างนี้ ย่อมเป็นรูปเดียวด้วยตนเองเท่านั้นด้วยสามารถกาลตามที่กำหนดไว้.
               บทว่า อาวิภาวํ คือ ทำให้ปรากฏ.
               บทว่า ติโรภาวํ - ทำให้ปกปิดก็ได้.
               พึงเชื่อมด้วยบทก่อนว่า อาวิภาวํ ปจฺจนุโภติ. ติโรภาวํ ปจฺจนุโภติ - แสดงให้ปรากฏก็ได้. แสดงให้หายไปก็ดี. ในบทนี้ผู้มีฤทธิ์ประสงค์จะทำให้ปรากฏ ย่อมทำความมืดให้สว่างได้. หรือทำที่ปกปิดให้เปิดเผยได้. หรือทำที่ไม่ใช่คลองสายตา ให้เป็นคลองสายตา.
               ถามว่า อย่างไร?
               ตอบว่า เหมือนอย่างว่า ภิกษุนี้แม้อยู่ในที่กำบัง หรือแม้อยู่ในที่ไกล ก็ปรากฏได้ฉันใด. ประสงค์จะแสดงตน หรือผู้อื่นให้ปรากฏก็ฉันนั้น ครั้นออกจากฌานเป็นบาทแล้วคำนึงว่า ขอที่กำบังนี้จงเปิดเผย. หรือขอที่มิใช่คลองจักษุนี้จงเป็นคลองจักษุเถิดดังนี้ แล้วทำบริกรรมอธิฏฐานโดยนัยดังกล่าว แล้วนั่นแหละ. พร้อมกับอธิฏฐานย่อมเป็นไปตามที่อธิฏฐาน. ผู้อื่นแม้ยืนอยู่ในที่ไกลก็เห็นได้. ประสงค์เห็นแม้ตนเองก็เห็นได้. ประสงค์จะทำให้หายไป? ย่อมทำแสงสว่างให้มืดได้ หรือทำที่ไม่ปกปิดให้ปกปิดได้. หรือทำที่เป็นคลองจักษุ มิให้เป็นคลองจักษุได้.
               ถามว่า อย่างไร?
               ตอบว่า เหมือนอย่างว่า แม้อยู่ในที่ปกปิด หรือแม้ยืนอยู่ในที่ใกล้ก็ไม่ปรากฏฉันใด. ภิกษุประสงค์จะแสดงตน หรือผู้อื่นก็ฉันนั้น ครั้นออกจากฌานเป็นบาทแล้ว คำนึงว่า ขอที่ไม่ปกปิดนี้จงปกปิด. หรือขอที่เป็นคลองจักษุนี้ จงมิใช่คลองจักษุ แล้วทำบริกรรมอธิฏฐานโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ. พร้อมกับอธิฏฐาน ย่อมเป็นไปตามอธิฏฐานทีเดียว. ผู้อื่นแม้ยืนอยู่ใกล้ก็ไม่ปรากฏ. แม้ประสงค์จะไม่เห็นตนเองก็ไม่เห็น.
               อีกอย่างหนึ่ง ปาฏิหาริย์ที่ปรากฏแม้ทั้งหมด ชื่อว่าทำให้ปรากฏ. ปาฏิหาริย์ที่ไม่ปรากฏ ชื่อว่าทำให้หายไป.
               ในปาฏิหาริย์ทำให้ปรากฏนั้น ฤทธิ์ก็ดี ผู้มีฤทธิ์ก็ดี ย่อมปรากฏ. พึงแสดงปาฏิหาริย์ที่ปรากฏนั้นด้วยยมกปาฏิหาริย์. ในปาฏิหาริย์ที่ไม่ปรากฏ ฤทธิ์เท่านั้นย่อมปรากฏ ผู้มีฤทธิ์ไม่ปรากฏ. พึงแสดงปาฏิหาริย์ที่ไม่ปรากฏนั้นด้วยยมกสูตรและด้วยพรหมนิมันตนิกสูตร.๕-
____________________________
๕- ม. มู. เล่ม ๑๒/ข้อ ๕๕๒

               บทว่า ติโรกุฑฺฑํ - ภายนอกฝา. คือฝาอื่น. อธิบายว่า ส่วนอื่น. ในภายนอกกำแพงภายนอกภูเขาก็มีนัยนี้.
               บทว่า กุฑฺโฑ คือ ฝาเรือน.
               บทว่า ปากาโร คือ กำแพงล้อมเรือนวิหารและบ้านเป็นต้น.
               บทว่า ปพฺพโต คือ ภูเขาดินหรือภูเขาหิน.
               อสชฺชมาโน คือ ไม่ติดขัด.
               บทว่า เสยฺยถาปิ อากาเส คือ เหมือนไปในที่ว่าง.
               อนึ่ง ผู้ประสงค์จะไปอย่างนี้ พึงเข้าอากาสกสิณ ครั้นออกแล้วคำนึงถึงฝาก็ดี กำแพงก็ดี ภูเขาก็ดี แล้วทำบริกรรมอธิฏฐานว่า ขอ จงเป็นที่ว่างเถิด. ย่อมเป็นที่ว่างได้ทีเดียว. ผู้ประสงค์จะลงไปเบื้องต่ำก็ดี. ประสงค์ขึ้นไปเบื้องบนก็ดี ย่อมเป็นโพรง. ผู้ประสงค์จะทะลุไป ย่อมเป็นช่อง
               ภิกษุนั้นไปได้ไม่ติดขัดในที่นั้น. อนึ่ง หากว่าภูเขาก็ดี ต้นไม้ก็ดี ขึ้นในระหว่างภิกษุนั้นอธิฏฐานแล้วไป. การเข้าฌานแล้วอธิฏฐานอีกไม่ผิดหรือ ไม่ผิด. เพราะการเข้าฌานแล้วอธิฏฐานอีกย่อมเป็นเช่นกับการถือนิสัยในสำนักของพระอุปัชฌาย์. เพราะภิกษุนี้อธิฏฐานว่าขอจงเป็นที่ว่างเถิดดังนี้ย่อมเป็นที่ว่างทันที. ข้อที่ภูเขาก็ดี ต้นไม้ก็ดี จักขึ้นตามฤดูกาลในระหว่างภิกษุนั้นด้วยกำลังอธิฏฐานมีมาก่อน มิใช่ฐานะ. แต่การนิรมิตครั้งแรกย่อมเป็นกำลัง ในการที่ผู้มีฤทธิ์อื่นนิรมิตแล้ว. ผู้มีฤทธิ์นอกนี้ควรไปเบื้องบนหรือเบื้องต่ำของภิกษุนั้น.
               ในบทนี้ว่า ปฐวิยาปิ อุมฺมุชฺชนิมฺมุชฺชํ - ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินก็ได้มีความดังต่อไปนี้.
               บทว่า อุมฺมุชฺชํ - ผุดขึ้น ได้แก่ โผล่ขึ้น.
               บทว่า นิมฺมุชฺชํ - ดำลง ได้แก่ จมลง.
               การผุดขึ้นและดำลง ชื่อว่า อุมฺมุชฺชนิมฺมุชฺชํ.
               อนึ่ง ภิกษุประสงค์จะทำอย่างนี้เข้าอาโปกสิณ ครั้นออกแล้วกำหนดว่า ขอแผ่นดินในที่ประมาณเท่านี้ จงเป็นน้ำเถิดแล้วทำบริกรรม พึงอธิฏฐานโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ. แผ่นดินย่อมเป็นน้ำในที่ตามที่กำหนดไว้พร้อมด้วยการอธิฏฐาน.
               ภิกษุนั้นย่อมทำการผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินนั้นเหมือนในน้ำ. มิใช่เพียงการผุดขึ้นดำลงอย่างเดียวเท่านั้น ยังทำสิ่งปรารถนาจะทำก็ได้เป็นต้น การอาบ การดื่ม การล้างหน้าและการล้างของใช้.
               อนึ่ง มิใช่ทำแต่น้ำอย่างเดียวเท่านั้น ยังนึกถึงสิ่งที่ปรารถนาเป็นต้นว่า เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยว่า ขอสิ่งนี้ๆ จงเป็นสิ่งประมาณเท่านี้เถิดดังนี้แล้วทำบริกรรมอธิฏฐาน ย่อมเป็นไปตามอธิฏฐานได้. เมื่อยกขึ้นใส่ภาชนะ เนยใสก็เป็นเนยใสนั่นเอง. น้ำมันเป็นต้นก็เป็นน้ำมัน น้ำก็เป็นน้ำ. ภิกษุนั้นประสงค์จะให้เปียกในน้ำนั้น ก็เปียก. ประสงค์จะไม่ให้เปียก ก็ไม่เปียก.
               อนึ่ง แผ่นดินนั้นเป็นน้ำแก่ภิกษุนั้น. เป็นแผ่นดินแก่ชนที่เหลือ. บนแผ่นดินนั้นมนุษย์ยังเดินไปได้. ขับยานเป็นต้นได้. แม้กสิกรรมเป็นต้นก็ยังทำกันได้เช่นเดิม.
               หากภิกษุนี้ปรารถนาว่าแผ่นดินจงเป็นน้ำแก่ชนเหล่านั้นเถิด ก็ย่อมเป็นทีเดียว. ครั้นล่วงเลยกาลที่กำหนดไว้ที่ที่กำหนดไว้ที่เหลือเว้นน้ำในหม้อและในสระเป็นต้น ตามปกติก็ย่อมเป็นแผ่นดินได้.
               ในบทนี้ว่า อุทเกปิ อภิชฺชมาเน คจฺฉติ - เดินไปบนน้ำไม่แยกก็ได้ มีอธิบายดังต่อไปนี้.
               ท่านกล่าวน้ำที่เหยียบแล้วจมว่า ภิชฺชมานํ คือ น้ำแยก. น้ำตรงกันข้ามไม่แยก. ภิกษุประสงค์จะไปอย่างนี้ เข้าปฐวีกสิณ ครั้นออกแล้วกำหนดว่า ขอน้ำจงเป็นแผ่นดินในที่ประมาณเท่านี้เถิดแล้วทำบริกรรม พึงอธิฏฐานโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ. น้ำย่อมเป็นแผ่นดินในที่ตามที่กำหนดพร้อมด้วยอธิฏฐาน.
               ภิกษุนั้นเดินไปบนน้ำนั้นดุจเดินไปบนแผ่นดิน. มิใช่เดินไปอย่างเดียว. ยังให้สำเร็จอิริยาบถที่ปรารถนาได้. มิใช่ทำให้เป็นแผ่นดินได้อย่างเดียวเท่านั้น. ยังนึกอธิฏฐานสิ่งที่ปรารถนาเป็นต้นว่า แก้วมณี ทองคำ ภูเขาและต้นไม้ โดยนัยดังกล่าวแล้วได้อีกด้วย. ย่อมเป็นไปตามที่อธิฏฐานนั่นแหละ. น้ำนั้นย่อมเป็นแผ่นดินแก่ภิกษุนั้นเท่านั้น. ย่อมเป็นน้ำแก่ชนที่เหลือ. ปลาและเต่าและกาน้ำเป็นต้น ย่อมเที่ยวไปได้ตามความพอใจ. หากว่าภิกษุนี้ปรารถนาจะทำแผ่นดินนั้นแก่มนุษย์ทั้งหลายอื่น ก็ย่อมทำได้. แต่ย่อมเป็นน้ำโดยล่วงเลยกาลตามที่กำหนดไว้.
               บทว่า อากาเสปิ ปลฺลงฺเกน จงฺกมติ - เหาะไปในอากาศก็ได้ คือไปโดยนั่งขัดสมาธิโดยรอบบนอากาศก็ได้.
               บทว่า ปกฺขี สกุโณ คือ นกมีปีก มิใช่นกที่มีปีกไม่สมบูรณ์หรือนกปีกหัก. เพราะว่า นกเช่นนั้นไม่สามารถบินไปบนอากาศได้. ภิกษุผู้ประสงค์จะไปในอากาศอย่างนี้เข้าปฐวีกสิณ ครั้นออกแล้ว. หากปรารถนาจะนั่งไป. ควรกำหนดที่ขนาดบัลลังก์ทำบริกรรมแล้วอธิฏฐานโดยนัยดังกล่าวแล้ว.
               หากประสงค์จะนอนไป ควรกำหนดขนาดเตียง. หากประสงค์จะเดินไป ควรกำหนดระยะทาง. ครั้นกำหนดที่ตามสมควรอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้ แล้วควรอธิฏฐานว่าขออากาศจงเป็นแผ่นดินโดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแหละ. อากาศก็จะเป็นแผ่นดินพร้อมกับอธิฏฐานนั่นเอง.
               อนึ่ง ภิกษุประสงค์จะไปในอากาศควรได้ทิพจักษุด้วย. เพราะเหตุไร? เพราะในระหว่างย่อมมีภูเขาและต้นไม้เป็นต้น อันเกิดตามฤดูกาล. หรือนาคและครุฑเป็นต้น หวงห้าม สร้างไว้. เพื่อจะได้เห็นสิ่งเหล่านั้น. ก็ครั้นเห็นสิ่งเหล่านั้นแล้วควรทำอย่างไร? ควรเข้าฌานเป็นบาท ครั้นออกแล้วทำบริกรรมว่า ขอจงเป็นอากาศเถิดแล้วอธิฏฐาน.
               อีกอย่างหนึ่ง แม้เพื่อจะลงในที่ว่างก็ควรได้ทิพจักษุนี้. เพราะหากว่าภิกษุนี้ลงที่ท่าอาบน้ำ หรือที่ประตูบ้านอันมิใช่ที่ว่าง. จะปรากฏแก่มหาชน. เพราะฉะนั้น มองดูด้วยทิพจักษุแล้วเว้นที่ไม่ว่าง ลงในที่ว่างด้วยประการฉะนี้.
               ในบทนี้ว่า อิเมปิ จนฺทิมสุริเย เอวํมหิทฺธิเก เอวํ มหานุภาเว - ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์แม้เหล่านี้ ซึ่งมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พึงทราบความดังต่อไปนี้.
               พึงทราบความมีฤทธิ์มากของพระจันทร์พระอาทิตย์ ด้วยการโคจรตลอดสี่หมื่นสองพันโยชน์. ความมีอานุภาพมากด้วยการทำแสงสว่างในขณะเดียวกัน ๓ ทวีป. หรือมีฤทธิ์มากด้วยการโคจรไปเบื้องบนและแผ่แสงสว่างไป ด้วยอาการอย่างนี้. มีอานุภาพมากด้วยความมีฤทธิ์มากนั้นนั่นเอง.
               บทว่า ปรามสติ คือ ลูบหรือสัมผัสในส่วนหนึ่ง,
               บทว่า ปริมชฺชติ คือ คลำดุจคลำพื้นกระจกโดยรอบ.
               อนึ่ง ฤทธิ์ของภิกษุนั้น นี้ย่อมสำเร็จด้วยสามารถแห่งฌานมีอภิญญาเป็นบาท. ในฤทธิ์นี้ไม่นิยมกสิณสมาบัติ. ผิว่าภิกษุนี้ปรารถนาจะไปลูบ ก็ไปลูบได้. หากปรารถนาเพื่อจะนั่งหรือนอนลูบที่พระจันทร์พระอาทิตย์นี้. ก็อธิฏฐานว่าขอพระจันทร์พระอาทิตย์จงมีที่บ่วงมือเถิด. ด้วยกำลังอธิฏฐานภิกษุจะลูบพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมาปรากฏที่บ่วงมือ ดุจผลตาลหลุดจากขั้วฉะนั้น. หรือเอื้อมมือไปลูบได้.
               อนึ่ง เมื่อภิกษุเอื้อมมือไปอุปาทินนกะ หรือว่าอนุปาทินนกะ เอื้อมไป. อนุปาทินกะเอื้อมไป เพราะอาศัยอุปาทินนกะ. ภิกษุทำอย่างนี้มิใช่ลูบพระจันทร์พระอาทิตย์ได้อย่างเดียว.
               หากปรารถนาทำให้เป็นที่เช็ดเท้าก็ตั้งไว้ที่เท้า. ทำตั่งนั่งก็ได้. ทำเตียงนอนก็ได้. ทำหมอนหนุนก็ได้. แม้จะมีอย่างอื่นอีกก็เหมือนมีอย่างเดียว. เพราะเมื่อภิกษุแสนรูปทำอย่างนี้ ฤทธิ์ของภิกษุเหล่านั้นย่อมสำเร็จอย่างนั้นแก่รูปหนึ่งๆ เท่านั้น. การโคจรการทำแสงสว่างของพระจันทร์พระอาทิตย์ย่อมมีเป็นปกติ. เหมือนอย่างว่ามณฑลพระจันทร์ย่อมปรากฏที่ถาดทั้งหมดอันเต็มด้วยน้ำตั้งพันถาด. การโคจรและการทำแสงสว่างของพระจันทร์ก็มีเป็นปกติฉันใด. ปาฏิหาริย์นี้ก็อุปมาฉันนั้น.
               บทว่า ยาว พฺรหฺมโลกาปิ กิเยน วสํ วตฺเตติ - ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้.
               ความว่า ทำพรหมโลกให้เป็นที่กำหนด แล้วทำอภิญญาหลายอย่างในระหว่างนี้ใช้อำนาจ คือความเป็นอิสระทางกายของตน.
               ส่วนความพิสดารในนิทเทสนี้ จักมีแจ้งในอิทธิกถาด้วยประการฉะนี้.

               จบอรรถกถาอิทธิวิธญาณนิทเทส               
               -----------------------------------------------------               

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ๑. ญาณกถา อิทธิวิธญาณนิทเทส จบ.
อ่านอรรถกถา 31 / 0อ่านอรรถกถา 31 / 246อรรถกถา เล่มที่ 31 ข้อ 253อ่านอรรถกถา 31 / 254อ่านอรรถกถา 31 / 737
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎก
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=31&A=2797&Z=2821
อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=47&A=7889
The Pali Atthakatha in Roman
https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=47&A=7889
- -- ---- ----------------------------------------------------------------------------
ดาวน์โหลด โปรแกรมพระไตรปิฎก
บันทึก  ๑๓  สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๕๕๐
หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :